พิมพ์หน้านี้ - "เรย์ สแตนฟอร์ด"นักล่าไดโนเสาร์ จบแค่ประกาศนียบัตร-แต่ความรู้เทียบดร.

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => นานาสาระ => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มีนาคม 11, 2008, 06:07:47 AM



หัวข้อ: "เรย์ สแตนฟอร์ด"นักล่าไดโนเสาร์ จบแค่ประกาศนียบัตร-แต่ความรู้เทียบดร.
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ มีนาคม 11, 2008, 06:07:47 AM
"เรย์ สแตนฟอร์ด"นักล่าไดโนเสาร์ จบแค่ประกาศนียบัตร-แต่ความรู้เทียบดร.

(http://www.matichon.co.th/khaosod/images/ks.gif)

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/03/col01110351p1.jpg)

"เรย์ สแตนฟอร์ด" อายุ 69 ปี เป็นชาวเท็กซัส แต่ย้ายมาอยู่ที่แมรี่แลนด์ มีความรู้เพียงขั้นประกาศนียบัตร แต่ความรู้ความสามารถในการเสาะหาฟอสซิลไดโนเสาร์ ทำให้นักวิชาการด้านสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ซูฮกและนับถือสแตนฟอร์ดในฐานะปรมาจารย์คนหนึ่ง

สแตนฟอร์ด ใช้เวลา 13 ปีที่ผ่านมา หาร่องรอยของไดโนเสาร์ จนสะสมฟอสซิลรอยเท้าที่หลงเหลือมาจากเมื่อ 112 ล้านปีก่อนได้จำนวนหนึ่ง และยังพบในพื้นที่ที่ไม่เคยพบฟอสซิลมาก่อนเสียด้วย

แต่เดิมนั้น สแตนฟอร์ดอยากใช้เวลาในบั้นปลายของชีวิตค้นหายูเอฟโอ แต่เมื่อบังเอิญพบฟอสซิลไดโนเสาร์ ทำให้เขามุ่งมาศึกษาศาสตร์ด้านนี้แทน จนพบรอยเท้าไดโนเสาร์หลายร้อยรอยในแถบวอชิงตัน ดี.ซี. และเมืองบัลติมอร์ แสดงให้เห็นว่า มีไดเสาร์หลายพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ในยุคครีเทเชียส ทั้งยังพบฟอสซิลที่ทั้งเขาและนักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์จากจอห์นส ฮอปกินส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ลงความเห็นว่า "เป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน" พร้อมกับตั้งชื่อว่า "ครีเทเชียส โร้ดคิล"

"ผมแค่พบแต่ฟอสซิล ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน" สแตนฟอร์ดกล่าว

การค้นพบฟอสซิลของสแตนฟอร์ดทำให้นักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ยกย่องความรู้ของเขาในแง่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าสแตนฟอร์ดจะมีความรู้เพียงชั้นประกาศนียบัตร แต่ความเชี่ยวชาญและชำนาญในการเสาะหาฟอสซิล ทำให้เขามีโอกาสร่วมงานกับสถาบันสมิธโซเนียนรวมทั้งกับผู้เชี่ยวชาญที่จบการศึกษาระดับดอกเตอร์หลายคน

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/03/col01110351p2.jpg)

นายแมทธิว ที. คาร์ราโน ภัณฑารักษ์ด้านไดโนเสาร์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ของสมิธโซเนียน กล่าวว่า "ผมได้รับโทรศัพท์จากคนที่เชื่อว่าเจอฟอสซิลหรือไข่ไดโนเสาร์มาหลายครั้ง ส่วนใหญ่แล้วพบว่าไม่ใช่ แต่ในกรณีของสแตนฟอร์ดนั้นแตกต่างออกไป เพราะสิ่งที่เขาพูดมานั้น ล้วนแต่เป็นลักษณะฟอสซิลไดโนเสาร์ทุกประการ"

สแตนฟอร์ดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2537 ขณะค้นหาโบราณวัตถุของอินเดียนแดงกับลูกๆ ซึ่งในตอนนั้น ลูกของเขายังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ตอนที่เขาพบสิ่งที่ดูคล้ายกับว่าเป็นรอยเท้านั้น เขามีความรู้เรื่องไดโนเสาร์น้อยมาก จน 2-3 อาทิตย์ถัดมา เขาพบรอยคล้ายๆ กันนี้อีก ตอนแรกคิดว่ามันเป็นแค่รอยธรรมดาๆ แต่เมื่อเก็บเอาไปคิดแล้วคิดอีก เขาก็คิดได้ว่า รอยเหล่านั้นเป็นรอยของไดโนเสาร์อีกัวโนดอน

ดร.เดวิด ไวแชมเพล นักวิชาการด้านสัตว์และพืชดึกดำ จากจอห์นส ฮอปกินส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ซึ่งกำลังจะตีพิมพ์หนังสือร่วมกับสแตนฟอร์ดถึงฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ กล่าวว่า "การค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ของสแตนฟอร์ด ทำให้พวกเราคิดว่า ทำไมนะเราถึงไม่เห็นฟอสซิลนี้ก่อนเขา มันเหมือนกับเส้นผมบังภูเขา ถ้าจะเปรียบแล้วการค้นพบของสแตนฟอร์ดก็เหมือนปรากฏการณ์พบนก หรือ "เบิร์ดเดอร์ ฟีโนมีนอน" ที่ผู้อยากพบนกหายากใช้เวลาหลายปีก็ไม่พบสักที แต่เมื่อจู่ๆ พบสักตัวนึง ก็พบนกหายากตามมาติดๆ กันหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับการเปิดกว้างของความคิดด้วย เพราะถ้าคิดว่า ใช่แล้วมันอยู่ที่นี่ ก็จะเห็นว่ามันอยู่ที่นี่จริงๆ"

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/03/col01110351p3.jpg)

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค้นพบฟอสซิลมากในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาคือ มีการพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างอาคารมากขึ้น การพัฒนาที่ดินอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อแม่น้ำลำธารจนเกิดการกัดเซาะ ทำให้หินชั้นใต้ดินที่มีฟอสซิลล่อนออกมาและเสี่ยงที่จะหลุดเข้าไปอยู่ในสายน้ำ การหาฟอสซิลจึงเป็นภารกิจที่เร่งด่วน "เพราะถ้าฟอสซิลไปอยู่ในสายน้ำโปโตแมกแล้ว ไม่มีทางจะหามันเจอ" สแตนฟอร์ดกล่าว

การที่นักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์นับถือสแตนฟอร์ด ไม่ใช่เพียงแต่ความสามารถในการพบฟอสซิลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในการระบุว่า มันเป็นฟอสซิล โดยสแตนฟอร์ดสามารถระบุได้ว่า ร่องรอยนั้นเกิดขึ้นจากไดโนเสาร์พันธุ์ใด เป็นเท้าข้างใด เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ที่กำลังวิ่ง ลื่นไถลหรือว่ากำลังหมอบ

สแตนฟอร์ดหยิบฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ขึ้นมา 2 ชิ้น พร้อมจินตนาการว่า "ไดโนเสาร์ตัวแรกกำลังวิ่งอยู่ ส่วนอันนี้เป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินสัตว์ที่ตัวใหญ่กว่ากำลังวิ่งไล่ตาม..." ดร. ไวแชมเพล เห็นว่า สแตนฟอร์ดเป็นนักจินตนาการ ซึ่งคุณสมบัตินี้ควรจะเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของนักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ที่ดี

นอกจากฟอสซิลไดโนเสาร์แล้ว สแตนฟอร์ดยังสนใจความลึกลับของยูเอฟโอตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่เขาไม่ใช่พวกงมงาย และเห็นว่าต้องนำวิธีทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เพื่อเรียนรู้ปรากฏการณ์ด้านยูเอฟโอ และด้วยการสนับสนุนของผู้ที่เชื่อในเรื่องยูเอฟโอที่มีสตางค์ สแตนฟอร์ดได้จัดตั้งโครงการ "โปรเจ็กต์ สตาร์ไลต์ อินเตอร์เนชันแนล" ขึ้นมา เพื่อรวบรวมหลักฐานต่างๆ โดยใช้เครื่องมืออย่างกล้องสเปกตรัมและแม็กนีโตมิเตอร์ อย่างไรก็ตาม เขาได้ปลีกตัวออกมาจากโครงการและหันมาทำการศึกษาเองคนเดียว

สแตนฟอร์ดมีความเห็นว่า "มีผู้สนใจเรื่องยูเอฟโอแสดงความไม่เข้าท่า ด้วยการขอร้องให้รัฐบาลเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับยูเอฟโอ แต่ผมคิดว่า ถ้าอยากได้ข้อมูลจริง ก็ต้องออกไปหาข้อมูลเอง ด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และถ้าพบหลักฐาน ก็ควรจะนำมาตีพิมพ์โดยให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจทานดูก่อน"

อย่างไรก็ตาม ผลงานด้านยูเอฟโอของสแตนฟอร์ดไม่ก้าวหน้าเท่ากับการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ และไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญ แต่สแตนฟอร์ดไม่ยอมแพ้ และรอเวลาที่ภรรยาเกษียณอายุจากการทำงานที่องค์การนาซ่า เพื่อย้ายมาอยู่ที่รัฐเท็กซัส ซึ่งที่นี่สแตนฟอร์ดจะอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการศึกษายูเอฟโอ ส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์ที่เก็บสะสมไว้มากมายนั้น จะบริจาคให้กับสถาบันสมิธโซเนียน ก่อนที่จะย้ายออกจากแมรี่แลนด์ ซึ่งเขาหวังว่า เจ้า "ครีเทเชียส โร้ดคิล" จะนำออกแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และการค้นพบอาจจุดประกายให้กับเยาวชนให้หันมาล่าฟอสซิลแทนที่จะเสียเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์