พิมพ์หน้านี้ - ดอกอีนูน ผักป่าบ้านเขาดิน

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

สารพัดช่าง-แนวทางอาชีพ => ●การเกษตร => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2008, 07:10:36 AM



หัวข้อ: ดอกอีนูน ผักป่าบ้านเขาดิน
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2008, 07:10:36 AM
ดอกอีนูน ผักป่าบ้านเขาดิน

(http://www.matichon.co.th/khaosod/images/ks.gif)

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/you01220251p1.jpg)

บ้านเขาดิน อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ มีผักเศรษฐกิจที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าชุมชน คือ "ดอกอีนูน" เป็นดอกไม้ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและเด็กๆ แต่ออกดอกและเก็บได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น

ดอกอีนูนจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม และมีมากในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในป่าชุมชนของชาวบ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี 2539 จึงทำให้มีผลผลิตต่างๆ จากป่ามากขึ้นทุกปีๆ รวมทั้งดอกอีนูนด้วย

ลุงถนอม มาหมอบ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเขาดินเล่าว่า "หลังจากที่ชาวบ้านหันมาสนใจการอนุรักษ์ป่า ทำให้ดอกอีนูนมีให้เก็บเยอะมากกว่าเดิม และมีให้เก็บมากทุกปี"

น้องหนิง ด.ญ.ประไพรศรี เนินผา เข้าไปเก็บดอกอีนูนจากป่ากับเพื่อนๆ เป็นประจำ หนิงเล่าว่า "วันเสาร์-อาทิตย์จะไปเก็บดอกอีนูน เข้าป่าทั้งวัน เก็บดอกและผลมาแล้วก็เอาไปขายที่ร้านค้าชุมชน จะมีแม่ค้ามารับซื้อดอกอีนูนอยู่ทุกวัน ดอกอีนูนขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนผลกับยอดกิโลกรัมละ 30 บาท พอขายได้ก็จะเอาเงินไปให้แม่เก็บไว้ค่ะ" สำหรับเด็กๆ ถือเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ดอกอีนูน ดอกนางนูน หรือชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ผักสาบ" ผักพื้นบ้าน ปัจจุบันพบเห็นได้มากตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง เป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นของประเทศไทย

ต้นอีนูนมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีอายุยืน เถาที่ยังอ่อนจะมีลักษณะกลม สีเขียวเข้ม ผิวเรียบ หากเป็นเถาที่มีอายุหลายปีจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและผิวขรุขระ มีร่องเล็กๆ ตามต้น มีใบลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบสั้น ต้นอีนูนมีสรรพคุณในการแก้ท้องเสีย บำรุงตับ บำรุงเลือดหลังคลอด แก้ไข้ เมื่อทานแล้วช่วยเรียกน้ำย่อยทำให้เจริญอาหารได้ดี รสชาติขมนิดๆ เมื่อถึงฤดูแล้งเถาอีนูนจะผลัดใบแล้วแตกดอกออกลูก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บมาขาย พอหมดฤดูกาลที่ออกดอกและผล เถาอีนูนก็จะผลิใบแตกยอดและขยายพันธุ์ต่อไป

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/you01220251p2.jpg)

วิธีการเก็บดอกอีนูนต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว เพราะเครืออีนูนจะเลื้อยไปเกาะตามต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่า เด็กๆ และชาวบ้านต้องปีนขึ้นไปเก็บ ถ้าดอกหรือผลอยู่สูงก็จะใช้วิธีเขย่าจนร่วงลงมา ลุงถนอมเล่าให้ฟังว่า "ดอกอีนูนมีให้เก็บทุกวัน ออกดอกทุกวัน จึงทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้มีรายได้จากป่าชุมชนอยู่มากมาย รายได้ทั้งหมดที่ชาวบ้านได้จากป่าชุมชนที่นี่ตกปีละกว่า 4 แสนบาท ชาวบ้านพึ่งพาป่าชุมชนในการดำรงชีวิตที่ผูกพันกับป่า เป็นที่มาซึ่งรายได้ของพวกเขาด้วย"

จากการที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บกันมากทุกปี และบางคนก็ดึงเถาลงมาเก็บ ทำให้ต้นอีนูนลดจำนวนลง ลุงถนอมจึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ จัดทำบัตรเข้าป่า เพื่อให้ทราบถึงจำนวนคนที่เข้าไปเก็บดอกอีนูน สำหรับคนในหมู่บ้านเขาดินต้องรับบัตรก่อนเข้าป่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นบุคคลนอกหมู่บ้านจะต้องเสียค่าบำรุงป่าคนละ 40 บาท และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นลักลอบเข้าไปเก็บดอกอีนูนแบบผิดวิธี

ลุงถนอมเล่าถึงกฎของการเข้าไปเก็บดอกอีนูนว่า "ทุกคนที่เข้าไปเก็บดอกอีนูนในป่าต้องมีบัตรติดตัวไว้เสมอ จะมีเจ้าหน้าที่เดินตรวจ และเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านนำของมีคมหรืออุปกรณ์ตัดไม้ต่างๆ เข้ามา เนื่องจากต้นอีนูนเมื่อโดนของแหลม ของมีคม หรืออุปกรณ์ที่ทำให้เครืออีนูนเป็นรอยจะทำให้ต้นอีนูนตายได้ง่ายขึ้น เพราะต้นอีนูนเป็นต้นไม้ที่สะสมน้ำไว้มาก อมน้ำได้เยอะ ถ้าโดนของมีคมหรือโดนตัด น้ำหล่อเลี้ยงก็จะไหลออกมาจนหมดและทำให้ต้นอีนูนตาย"

น้องหนิงเล่าถึงประโยชน์อีกอย่างของดอกอีนูนว่า "ชาวบ้านที่เข้าป่าสมัยก่อน เวลาหิวน้ำมักจะตัดเครืออีนูนเพื่อกินน้ำจากลำต้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า เครือน้ำ"

หลังจากที่เก็บทั้งดอก ผล และยอดอีนูนมาแล้ว ชาวบ้านจะนำไปขายหรือนำไปทำอาหาร ดอกและผลเอาไปลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ส่วนยอดไปผัดกับน้ำมันหอย ก็จะได้เมนูอร่อยเด็ดหลายอย่าง ด้วยความที่อีนูนเป็นพืชที่มีรสชาติเฉพาะตัวและหากินยาก มีให้กินแค่ปีละครั้ง ทำให้มีแม่ค้าพ่อค้ามาจากต่างที่ต่างถิ่นมาจองคิวรับซื้อดอกอีนูนไปขายทุกวัน โดยจะสลับกันมาวันละคน

รายได้จากดอกอีนูนถือเป็นผลตอบแทนจากการช่วยดูแลป่าของชาวบ้าน หากชาวบ้านเขาดินไม่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไว้คงไม่มีผลผลิตและอาหารจากป่าที่ไม่ต้องลงทุนปลูกแต่ให้รายได้ดีอย่างนี้

ตามเด็กๆ บ้านเขาดิน อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ เข้าไปเก็บดอกอีนูนผลผลิตจากป่า ในรายการทุ่งแสงตะวัน วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 06.25 น. ทางไทยทีวีสีช่อง 3 www.payai.com


(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/you01220251p3.jpg)