รู้ทันธรรมกาย (สารส้ม)
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รู้ทันธรรมกาย (สารส้ม)  (อ่าน 2232 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13326


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 10, 2012, 09:18:05 AM »

http://archive.naewna.com/news.asp?ID=307740





จากกิจกรรมการตลาดของวัดพระธรรมกายที่เฟื่องฟุ้ง-ฟู่ฟ่า
เป็นที่กล่าวขาน และด่าทอกันกว้างขวาง

ไม่เพียงพฤติกรรมประหนึ่งธุรกิจบุญ ทำนองว่ายิ่งบริจาคให้วัดมากๆ ยิ่งได้บุญมาก
หรือการขายตั๋วทัวร์นมัสการพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
แม้แต่หลักคำสอนของสำนักพระธรรมกาย ก็เคยถูกพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิปัญญา
ในพระพุทธศาสนาหลายท่าน ออกมาวิเคราะห์
วิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นระบบมาก่อนหน้านี้แล้ว

ลองย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เรื่อง "กรณีธรรมกาย"

บางช่วงบางตอนที่น่าสนใจ เช่น

1) "ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยก็ร้าย แต่ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ร้ายยิ่งกว่า"

"ปัญหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายที่กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นี้มีหลายเรื่อง
แยกได้หลายแง่หลายประเด็น เช่น เรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระ
เรื่องการดำเนินงานขององค์กรคือวัดและมูลนิธิ เกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น
ตลอดจนการดำเนินธุรกิจต่างๆ การแสวงหาเงินทอง โดยวิธีซึ่งเป็นที่สงสัยว่าจะไม่ถูกต้อง
ในแง่กฎหมายบ้าง ในแง่พระวินัยบ้าง โดยเฉพาะการยกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมาเผยแพร่
ในลักษณะที่เป็นการชักจูงให้คนบริจาคเงิน
การใช้วิธีกึ่งเกณฑ์ให้เด็กนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนข้าราชการ เป็นต้น จำนวนมากๆ
เข้าร่วมกิจกรรมโดยมีเป้าหมายที่น่าสงสัยว่าจะมุ่งไปที่การให้บริจาคเงินหรือไม่

สุดท้ายก็คือ ปัญหาที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยโดยตรง
โดยเฉพาะการแสดงหลักการของพระพุทธศาสนา
เรื่องนิพพานเป็นอัตตา เรื่องธรรมกาย และเรื่องอายตนนิพพาน..."

2) "จาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยีพระธรรมวินัย สร้างความสับสน ไขว้เขวและความหลงผิดแก่ประชาชน"

"วัดพระธรรมกายเผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น

1.สอนว่านิพพานเป็นอัตตา

2.สอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพนิมิต
และให้มีธรรมกายที่เป็นตัวตนเป็นอัตตาของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์
ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน

3.สอนเรื่องอายตนนิพพานที่ปรุงถ้อยคำ ขึ้นมาเองใหม่
ให้เป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้
 ถึงกับมี พิธีถวายข้าวพระที่จะนำข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานนั้น

ความสอนเหล่านี้ ทางสำนักพระธรรมกายสอนขึ้นใหม่
ผิดเพี้ยนออกไปจากธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
แต่แทนที่จะให้รู้กันตามตรงว่าเป็นหลักคำสอนและการปฏิบัติของครูอาจารย์
ทางวัดพระธรรมกายกลับพยายามนำเอาคำสอนใหม่ของตนเข้ามาสับสนปะปน
หรือจะแทนที่หลักคำสอนเดิมที่แท้ของพระพุทธศาสนา

ยิ่งกว่านั้น เพื่อให้สำเร็จวัตถุประสงค์ข้างต้น
วัดพระธรรมกายยังได้เผยแพร่เอกสารที่จ้วงจาบพระธรรมวินัย
ชักจูงให้คนเข้าใจผิด สับสน หรือแม้แต่ลบหลู่พระไตรปิฎกบาลี
ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น

ให้เข้าใจว่าพระไตรปิฎกบาลีบันทึกคำสอนไว้ตกหล่น หรือมีฐานะ
เป็นเพียงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เชื่อถือหรือใช้เป็นมาตรฐานไม่ได้

ให้นำเอาพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ เช่น พระไตรปิฎกภาษาจีน และ คำสอนอื่นๆ ภายนอก
มาร่วมวินิจฉัยพระพุทธศาสนาเถรวาท
ให้เข้าใจเขวไปว่าหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องอภิปรัชญา
ขึ้นต่อการตีความและความคิดเห็น ตลอดจนการถกเถียงทางวิชาการ

อ้างนักวิชาการต่างประเทศ และการปฏิบัติของตน ดังว่าจะใช้วินิจฉัยหลักพระพุทธศาสนาได้ ฯลฯ

อีกทั้งสิ่งที่ยกมาอ้าง เช่น คัมภีร์ของมหายาน
และทัศนะของนักวิชาการ ตะวันตก ก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือไม่ก็เลื่อนลอย

นอกจากนั้น ยังนำคำว่า "บุญ" มาใช้ในลักษณะที่ชักจูงประชาชนให้วนเวียนจมอยู่กับการบริจาคทรัพย์
เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ชนิดที่ส่งเสริมความยึดติด
ถือมั่นในตัวตนและในตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนวโน้มที่บั่นทอนสังคมไทย
ในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้รางเลือนไปด้วย

พฤติการณ์ของสำนักวัดพระธรรมกายอย่างนี้
เป็นการจาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยีพระธรรมวินัย
สร้างความสับสนไขว้เขวและความหลงผิดแก่ประชาชน..."

3) อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อุตริมนุสธรรม กับการใช้ปัญญา

"ชาววัดพระธรรมกายจำนวนมากได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธาสุภาพเรียบร้อย
มีระเบียบ รักษาศีล ใจบุญ พร้อมที่จะบริจาค และน้อมใจไปในสมาธิ
ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น่านิยม ชาวพุทธทั้งหลายผู้รักประเทศชาติและพระศาสนาย่อมชื่นชมอนุโมทนา
ด้วยหวังว่าจะเป็นกำลังสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคงต่อไป
แต่ในท่ามกลางความดีงามนั้นก็มีอาการความเป็นไปต่างๆ
ที่น่าห่วงกังวล และบางอย่างก็ทำให้สูญเสียความไว้วางใจ

ชาววัดพระธรรมกายจำนวนมากนั้น ตามเกณฑ์นิยมของสังคมไทยเวลานี้
ถือว่าเป็นผู้มีการศึกษาดี ได้เล่าเรียนมาสูง
แต่ท่านเหล่านั้นส่วนมากก็คงต้องยอมรับความจริงว่า
ตนเข้ามาวัดโดยไม่มีพื้นฐานความรู้ในพระพุทธศาสนามาก่อน
จึงเป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และเป็นผู้มาเริ่มต้น

ความเป็นผู้มีการศึกษาสูงที่ติดตนมานั้น จะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำเอาจิตใจของผู้ศึกษาติดมาใช้ด้วย
อย่างน้อยก็เปิดใจรับหรือหาความรู้พระพุทธศาสนาด้วยความใฝ่รู้
และการค้นคว้าไตร่ตรองของตนเองบ้าง
มิใช่รอรับฟังแต่คำบอกจากแหล่งศรัทธาเพราะในพระพุทธศาสนานั้น
ถือปัญญาเป็นสำคัญ...

...ที่ทางสำนักพระธรรมกายจัดทำพิธีถวายข้าวพระเป็นประจำ
โดยมีการเข้าสมาธินำข้าวบูชานั้นไปถวายแก่พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน
ชาววัดพระธรรมกายก็จะต้องเห็นใจว่า ชาวพุทธทั่วไปย่อมไม่อาจเห็นชอบได้
เพราะไม่มีหลักการในพระพุทธศาสนาที่จะอ้างอิงหรือแนะนำให้กระทำเช่นนั้น
หากแค่นำไปสวรรค์ก็ยังทำเนา
นี่ไปถึงนิพพาน ชาวพุทธที่รู้หลักย่อมอาจมองได้ว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิด
ก่อความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา
 เมื่อเขาเห็นอย่างนั้น ชาววัดพระธรรมกายก็ควรจะต้องศึกษา
เพื่อให้เข้าใจเหตุผลของเขาว่าเป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่

อีกทั้งการปฏิบัติเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องของการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
และโยงไปหาพุทธบัญญัติเกี่ยวกับอุตริมนุสธรรม
ย่อมก่อความไม่สบายใจ แก่พุทธบริษัทที่รู้ธรรมวินัย
 และปรารถนาจะรักษาภิกษุบริษัทไว้ให้บริสุทธิ์
ไม่ต้องพูดถึงผลเสียที่เกิดจากการวุ่นวายกับเรื่องเช่นนี้"



ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนบางตอน จากหนังสือ "กรณีธรรมกาย"
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ท่านแสดงธรรมอย่างละเอียด จำแนกแจกแจงชัดแจ้ง
อ้างอิงพระไตรปิฎกชัดเจน ด้วยหนังสือความหนามากกว่า 400 หน้า ตั้งแต่ปี 2542

น่าเสียดาย... กระทั่ง พ.ศ.นี้ กรณีสำนักวัดพระธรรมกาย
ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ตามหลักแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
กลับได้รับการปกป้องอุ้มชูโดยฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม
โดยเฉพาะระบอบทักษิณ ซึ่งอุ้มสม เอาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ถึงขนาดให้อัยการถอนฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นศาล
และให้การสนับสนุนทางการเมืองให้แก่กัน

ถึงวันนี้จึงยังคงเฟื่องฟุ้งฟู่ฟ่า และอหังการมากขึ้นทุกวัน!

สารส้ม
วันที่ 9/4/2012


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: