สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปีพ.ศ. 2553
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
พฤษภาคม 21, 2024, 12:21:22 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปีพ.ศ. 2553  (อ่าน 2042 ครั้ง)
eskimo_bkk-LSV team♥
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม..
member
*

คะแนน1883
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13338


ไม่แล่เนื้อเถือหนังพวก


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 07:04:09 AM »





เดินมาพลางคิดว่า...เดินจากไปพลางคิดว่า...

 
 อากาศร้อนอ้าวพอเหงื่อซึมๆ แดดบ่ายสาดแรง ปลายเดือนเมษายน ราวปี พ.ศ.  2533...ผมนั่งหันหลังให้แสงจัดจ้าน อยู่ในคอกแคชเชียร์ของร้านขายหนังสือที่ชื่อ “นาคร-บวรรัตน์” แหล่งมั่วสุมทางปัญญา หนึ่งคูหากว้างสี่เมตรแต่ยาวลึกตามแบบของตึกโบราณปักษ์ใต้หลังหนึ่งริมถนน ราชดำเนิน แวบหนึ่ง...หางตาขวาเห็นเงาดำทาบยาวและสั้นกระชับขึ้นบนชั้นหนังสือด้านใน ร้าน

ผมรีบหันไปหรี่ตามองย้อนแสงตามสัญชาตญาณของพ่อค้าฝึกหัด-ฝืนยิ้มร่ารับ แขก แล้วยิ้มก็ค้าง หัวใจค่อยพองโตขึ้นเงียบๆ ตามประสาเด็กหนุ่มรุ่นกระทงที่หลงใหลกับเรื่องเล่าผ่านถ้อยสำนวนท่วงทำนอง ภาษา เป็นตัวของตัวเองของนักเขียนเรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่ (ในสายตาของผม)

เนื่องเพราะตรงหน้าผม ปรากฏเงาร่างของชายคนนั้น---สุรชัย จันทิมาธร---

วันที่ผมเจอเขา วันนั้น-เป็นวันที่งานรวมเรื่องสั้น “มาจากที่ราบสูง”, “เดินไปสู่หนไหน”, “ความบ้ามาเยือน” และ “ข้างถนน” วางเรียงแถวอยู่ภายในร้านหนังสือแล้ว-ผมอ่านหมดแล้วทั้งในฐานะของลูกค้าและ ผู้ขาย

ผมยอมรับกับใครต่อใครมานานแล้วว่า เป็นแฟนเพลงของวงดนตรี “คาราวาน” เป็นแฟนเรื่องสั้นของ “สุรชัย จันทิมาธร” นายวงดนตรีกองเกวียนคนทุกข์คณะนี้...แต่เป็นแฟนเพลง-แฟนหนังสือที่ไม่ ทะลึ่ง-ทะเล้นริจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ ที่รู้ทุกเรื่องทุกซอกหลืบของชีวิตเขา ผมอยู่ในฐานะที่เป็นแฟนพันทางดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ มากกว่า (ฮา)

ฉะนั้น-ทันทีที่เห็นหน้าผมรีบยกมือไหว้แบบเคอะเขิน...ตามประสาเด็กบ้าน นอกที่เจอศิลปินใหญ่ตัวเป็นๆ คนฟังเพลงเพื่อชีวิตและวรรณกรรมไทย มักนับญาติเหมือนคนครอบครัวเดียวกันกับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเสมอ

 “สวัสดีครับน้าหงา”
น้าหงา-สุ รชัย จันทิมาธร ยิ้มรับ พยักหน้าให้ (แกคงชินกับอาการของพวกไก่กระทงพวกนี้) ก่อนจะก้าวผ่านเข้าไปในร้าน คงเดินระเรื่อยดูหนังสือตามชั้นต่างๆ เงียบๆ ปล่อยผมนั่งนิ่งอึดอัด อยากทักทาย อยากคุยด้วย อยากถามไถ่ อยาก ฯลฯ...นานหลายนาที น้าหงา ก็เดินกลับออกมาจะผ่านหน้าผมอีกครั้ง

“จะ..จะกลับแล้วเหรอครับ”
“อ๋อ ครับ...เดินเล่นๆ พอดีนัดเพื่อนไว้ ตรงร้านกาแฟด้านหลัง” แกชะงัก หันมาตอบเสียงแหบห้าว ผมรีบถามสั้นๆ จนได้ความว่า ที่มานครศรีฯ เพราะมีงานคอนเสิร์ตเล็กๆ ค่ำนี้ที่ร้านเพลงเพื่อชีวิตในเมือง แกขยับตัวจะเดินต่อ ผมเลยกลืนคำถามอีกหลายคำลงคอ ก่อนยกมือไหว้ลาแล้วปล่อยตัวให้นั่งใจเต้นตึกตักๆ ต่อไป
...หงา คาราวาน....หงา คาราวาน รังสีของศิลปินมันเผาใจดีแท้น้อ
...นั่งกินกาแฟ...เอาไงดี...เอาไงดี...ผมถามตัวเอง แวบหนึ่งนึกได้-ขอลายเซ็น เออ...ขอลายเซ็น..เซ็น..เซ็นบนหนังสือ


ผมลุกพรวดจากเก้าอี้ตรงดิ่งตรงไปที่ชั้นหนังสือ ตะแคงคอมองหาเล่มรวมเรื่องสั้น ดึง "ความบ้ามาเยือน" ออกมา แล้วตะโกนเรียก “พี่สุมาลี” แคชเชียร์ตัวจริงที่อยู่หลังร้านให้ออกมาเฝ้าคอกแทน ก่อนจะพรวดพราดวิ่งกึ่งเดินเลี้ยวซ้ายเข้าซอกเล็กๆ ข้างร้านเดินเลาะไปยืนอยู่หน้ากาแฟที่ใกล้ๆ กัน...
นั่นไง---หงา คาราวาน---นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่คนเดียว ในความเงียบใต้ร่มชายคาร้านกาแฟ ผมรู้สึกเหมือนว่า อากาศรอบตัวมันควบแน่นบีบรัดจนตัวลีบ พยายามข่มใจสูดลมเข้าปอดแล้ว สืบก้าวเข้าไปช้าๆ ไปหยุดตรงหน้า
“เอ่อ...ขอโทษครับ ผมขอลายเซ็นได้ไหมครับ?”
แกเงยหน้ามองแล้วคลี่ยิ้มพราย พยักหน้า ผมยื่นหนังสือรวมเรื่องสั้นให้พร้อมปากกา
“อ่านด้วยเหรอ” รับแล้วถามด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง
“ครับ” ผมตอบอย่างประหม่า แกเปิดปก กางก่อนตวัดลายมือลากไปมาอย่างรวดเร็วบนใบกระดาษรองปกสีขาว ชั่วอึดใจก็ปิดปกแล้วยื่นส่งคืน ผมรับยกมือไหว้ขอบคุณ หันหลังทันที เดินกึ่งวิ่งกลับมาร้านด้วยใจพองโต พี่สุมาลีมองเด็กบ้าดารานักร้องอย่างขำๆ

ผมกลับมานั่งเปิดอ่านด้วยความตื่นเต้นระคนดีใจ
ลายมือหวัดๆ เขียนว่า “เดินมาพลางคิดว่า...เดินจากไปพลางคิดว่า...” ลงชื่อ ลายเซ็น (อ่านไม่ออก)..อืมม์..แต่ผมอ่านออกว่า สุรชัย จันทิมาธร..อา......ลุ่มลึก..สมเป็นคำของศิลปินจริงๆ
 ผม เก็บความปลื้มใจคมๆ นี้ มาครุ่นคิดอยู่นานหลายปี เดินมาพลางคิดว่า...อืมม์...คิดว่า....ช่างมันเถอะ....เอาเป็นว่า...ผมหอบ หิ้วหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกับกองทัพหนังสือของผมอย่างสมบุกสมบัน..

แต่สุดท้ายวันนี้ผมจำไม่ได้แล้วว่า “ข้างถนน” เล่มนั้นหล่นหายไปไหนแล้ว...ลายมือลายเซ็นหาย..แต่ลายคำยังประทับรอยอยู่ใน ความทรงจำไม่ลืม
แต่เรื่องที่สำคัญกว่า---อย่างเรื่องผมจ่ายค่าหนังสือเล่มนั้นคืนให้กับทางร้านแล้วหรือยัง...ผมกลับจำไม่ได้จริงๆ....
   

 

“เฮ้ย...จริงเหรอว่ะ เราเขียนอะไร..อย่างนั้นให้ด้วยเหรอ” น้าหงา หัวเราะร่วนจนตาหยี ทันทีที่ได้ยินเรื่องเล่าของผม เมื่อย่ำค่ำวันที่  15 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

กาลเวลาพัดผ่านชะตาชีวิตให้ล่องละลิ่ว ท่องทะยานไปตามเส้นทางของแต่ละคน ผ่านมา 20 ปี ผมไม่คิดฝันว่าจะมีโอกาสมานั่งเล่าเรื่องนี้ให้ เจ้าของวลีนั้นฟังด้วยปากของตัวเอง-ผมพยักหน้า เรามีโอกาสเจอกันก่อนหน้านี้หลายสิบครั้งตามกาละ-วาระ ต่างๆ กันไป แต่ไม่มีจังหวะจะเล่า

“แหม..เขียนเป็นเซ็นเชียว...ไหนผมเขียนว่าไงนะ..ขออีกที” ตะแกถามย้ำกลั้วเสียงหัวเราะพลางมวนยาเส้นอย่างบรรจงพลาง คาบมวนใบจากแล้วจุดไฟแช็กไฟโชนแสง จ่อปลายมวนสูดควันแล้วพ่นโขมง ม่านสีเทาคลี่ขจายแล้วตวัดวับระเหินหายไปในอากาศที่มีม่านมืดคลี่คลุมอย่าง รวดเร็ว---ผมทวนคำ แกพยักหน้ารับยิ้มให้อย่างคนกันเอง----
 วันนี้ของ สุรชัย จันทิมาธร เป็นอีกวันหนึ่งบนเส้นทางปลายปีที่เดินทางไกลมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 62 ...อีกเดือนกว่าๆ ก็จะก้าวสู่เขตของหลักกิโลเมตรที่ 63 ...เป็นเส้นทางชีวิตของลูกผู้ชายจบโรงเรียนช่างศิลป์ที่ได้รับการยกย่องให้ เป็น ครูใหญ่เพลงเพื่อชีวิต ซึ่งถือเป็นพันธกิจแห่งโลกดนตรี ที่ทำให้วันนี้... ชีวิตก็แล้วแต่ขาพาไป

วันนี้...ขาสองข้างยังต้องพาร่างขนาดสันทัดพร้อมทรงผมหยิกหย็องหนวดเครา รุงรัง สวมแว่นสายตาใส่เสื้อยืดนุ่งยีนส์ เดินทางตะลอนไปทั่วแคว้นแดนสยาม ไปปรากฏตัว ยืนหยัดบนเวทีเพื่อเล่นดนตรี...ขับขานกู่ร้องเพลงเพื่อชีวิต...เพลง แล้ว...เพลงเล่า...

ตารางชีวิตแน่นเอี๊ยดแทบทุกวันตลอดทั้งปี
...เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 13 พ.ย. 2553... ต้องเล่นดนตรีที่ จ.สุรินทร์ เสร็จแล้วบึ่งรถกลับมากรุงเทพฯให้ทันค่ำวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย. 2553 เพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือรวมเรื่องสั้นของตัวเองเล่มล่าสุดที่ห่างจากเล่ม ก่อนนานถึง 23 ปี  จากเล่มก่อนชื่อว่า “ข้างถนน” มีบรรณาธิการเล่มชื่อว่า “นิรันศักดิ์ บุญจันทร์” ส่วนเล่มล่า...ชื่อว่า “ทางเส้นเก่า” มีบรรณาธิการเล่มชื่อว่า “เวียง วชิระ บัวสนธิ์”

บรรยากาศงานเปิดตัวที่หน้าร้านบาร์โค้ด ริมถนนอาร์ซีเอ วันเปิดตัวสบายๆ เป็นกันเองคลาคล่ำไปด้วยคนแห่งโลกวรรณกรรมคละรุ่น  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,ทิวา สาระจูฑะ,ไพวรินทร์ ขาวงาม,ชูเกียรติ ฉาไธสงค์,พิสิฐ ภูศรี,อธิคม คุณวุฒิ,ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร,พรชัย แสงยะมูล,คมสัน นันทจิต ฯลฯ..ต่างดื่มกินสรวลเสเฮฮาถ้อยทีถ้อยปราศรัย

จนเข็มนาฬิกาไหลเรื่อยไปหลังเที่ยงคืนจนค่อยเลิกรา...
 และหัวค่ำนี้...วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน ผมกับน้าหงา...นัด เจอกันที่ชานระเบียงร้านครัวป้านงค์ ริมทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ส่วนค่ำวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน แกมีคิวงานดนตรีต้องไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างจังหวัด

การเดินทางคือชีวิตของผม-แกพูดยืนยัน
 “ปีหนึ่งๆ เราอยู่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันหรอก หยุดไม่ได้ หยุดเดินทางแล้วป่วยเลย ต้องไป..ไม่มีงานก็ขับรถไปคนเดียว...ไปเที่ยว..เข้าป่า...นี่..เราคงกินข้าว ไปคุยกันไปก็ได้มั้ง...หิว” แกว่า ก่อนจะสั่งต้มแซบเนื้อตุ๋นมาเพิ่มอีกอย่าง

น้าหงาชอบ กินเนื้อ ผมเชื่อยิ่งขึ้นหลังจากที่อ่านเรื่องสั้น “ร้านก๋วยเตี๋ยว” ที่เริ่มเรื่องตรงหน้า 69 ของงานรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุด รู้เลยว่า น้าหงาชอบเนื้อมาก

กินข้าวแกล้มเบียร์ดาวแดงและน้ำสีอำพันตราบักจอร์นี่เหยาะย่างไประยะสาม สี่ช่วงแก้วแล้ว..แล้ว...เรื่องเล่า...กลางวงเหล้าของเราจะเริ่มต้นจากตรง ไหนนะ?

ช่าง มันเถอะ-ผมขอเล่าเท่าที่จำได้กระท่อนกระแท่นก็แล้วกันนะ ส่วนเรื่องก่อนหน้านั้นไปหาอ่านกันเอาเองเถอะ..ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่า...น้าหงาเริ่ม สนใจงานเขียนหนังสือมาตั้งแต่อายุเท่าไร ,ทำไมชอบวาดการ์ตูนแต่งเรื่องให้เพื่อนอ่านเล่นกันในห้องเรียน,แล้วชอบอ่าน หนังสืออะไรในวัยเด็ก,ข่าวที่ว่าเสถียร จันทิมาธร ญาติผู้พี่เป็นผู้จุดประกายให้สนใจในหนังสือหนังหาจริงหรือไม่,น้าหงาเขียน กลอนเกี่ยวกับปีใหม่ไปลงนิตยสารชัยพฤกษ์ครั้งแรกราวปี 2508 จริงหรือเปล่า,แล้วที่บอกว่าเรื่องสั้น “แล้งเข็ญ” กับเรื่อง “คนและคนบ้า” สร้างความฮือฮาเพราะว่าลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในคราวเดียวกันเพราะครู ประมูล อุณหธูป บก.คัดเรื่องสั้นชอบขนาด-จริงหรือไม่...ฯลฯ
 เรื่องที่ผ่านมา...คงมีคนถาม-คนเขียนถึงไปเยอะแล้วกระมัง...??

เอาเรื่องไม่เป็นเรื่อง...เมื่อค่ำวานนี้หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยดีกว่า...
 “เมื่อ คืนก่อนเหรอ...งานเปิดตัวหนังสือก็ดี เพื่อนฝูงเยอะ พี่เนาว์ก็มา (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) แดงก็มา (แดง-สหชาติ จันทิมาธร-น้องชาย) โอ๊ย...หลายคน เราเมานิดหน่อย ร้องเพลงเล่นดนตรีกัน...ว่าไงนะ..อ้อ.ที่มาของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เหรอ มันเป็นความตั้งใจเดิม คือ ความตั้งใจเดิม เราอยากจะออกหนังสือสวยๆ ตอนวันแซยิด อายุ 60 ปี (หัวเราะ) แต่มันออกช้าไปสองปีก็ไม่เสียหายอะไรนะ...ทำหนังสือแต่ละเล่มมันไม่ง่าย”
 

แกยืนยันเสียงเรียบๆ ว่า เรื่องสั้นในชุดนี้สไตล์การเขียนคือเก่า คือ เขียนแบบสดๆ เหมือนเขียนรูป เส้นสดๆ ตวัดเส้นสาย จนกลายเป็นภาพแจ่มชัดตามความรู้สึกของคนวาด
 “งานเราเหมือนเขียนรูปนะ เราเขียนเรื่องสั้นก็เหมือน เขียนรูป เหมือนรูปสเกตช์ มันเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ไม่รู้ซิ...เรื่องสั้นในเล่มนี้ถ้าไปอ่านดูจะเห็นว่าเราทดลองเขียนเรื่อง สั้นในหลายๆ แบบ บางเรื่องไม่มีพล็อตร่างไว้ในหัวเลยนะ...ด้นสดๆ สนุกไปกับเรื่องราวของมัน ไม่รู้ท่อนกลาง ท่อนจบ ตั้งต้นได้ก็ไปกันเลย..ผจญภัย... แต่บางเรื่องก็เห็นภาพชัด ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง มองเห็นไปถึงปลายทาง..ไม่รู้...บอกไม่ถูก รู้แต่ว่า เราต้องมีแรงบันดาลใจ ถึงเขียนได้ การเขียนเรื่องสั้นก็เหมือน การวาดรูป การเขียนเพลง ศิลปินต้องมีแรงบันดาลใจ”
 

แสดงว่าที่ผ่านมา แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้นไม่มากเท่ากับงานเพลง-ผมถาม
 “อืม ม์..อีกเหตุผลที่ห่างหายไปจากเรื่องสั้นนานพอสมควร หลายปี เพราะไปทำเพลงมันก็ใช่ คือ ที่ผ่านมา เราต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยงานเพลงด้วยไง...ทำไปแล้วมีเสียงตอบรับค่อนข้างดี เราเลยต้องทำตรงนั้น เพราะเพลงเราแต่ง ถ้าเราไม่ร้องแล้วใครจะร้อง เหมือนสวนดอกไม้ หลายแปลง ปลูกแล้ว มันเกิดแล้วก็ต้องดูแล แล้ว...สวนดอกไม้ในบทเพลง มันเติบโตงดงามคนชื่นชมก็ต้องดูแลสวนดอกไม้ตรงนั้นมันไป สมัยก่อน สุวรรณี สุคนธา เคยบอกเราว่า หงาเลิกเล่นดนตรีมาเขียนหนังสือดีกว่า ..อืม...มันพูดยาก เราต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพลงมันเป็นอาชีพ เราทำมานานแล้ว การเดินทางเล่นดนตรีมันเป็นอาชีพ เป็นชีวิตไปแล้ว สมัยก่อนเราเป็นคาราวาน ตอนนี้เราทำวงของตัวเองมาสิบกว่าปีแล้ว ทำจนมือกลองตายไป 3 คนแล้ว..เรา.ก็ยังต้องทำต่อไป เพราะยังมีแฟนเพลงอยู่ อย่างในต่างจังหวัดมีงานเล่นแทบทุกคืนตลอดปี งาน เพลงสำหรับเราวันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่เราต้องทำเกือบทุกวัน”
 

ส่วนการเขียนเรื่องสั้น,บทกวี,เรื่องยาว เขาบอกว่า ใช้เวลามากกว่างานเพลงมาก จึงต้องพยายามเก็บพยายามเขียนเท่าที่มีเวลาเอื้ออำนวยและเกิดความรู้สึกที่ จะเขียน...ถ้า ไม่มีความรู้สึกก็เขียนไม่ออก ดูหลักฐานได้จากงานชุดนี้ที่ต้องรออีกสองปีกว่าจะได้เรื่องสั้นเพิ่ม เพื่อให้เข้าชุด  15 เรื่องกับบทกวี 1 ชิ้นยาวรวมเล่มออกมาเป็น “ทางเส้นเก่า”

 “ตอนอายุครบหกสิบ คิดหวังตั้งใจว่าจะมีรวมเรื่องสั้นออกมาสักเล่ม แต่เรื่องสั้นมีอยู่ 7 เรื่อง เวียงเขาบอกว่า น้อยไปหน่อย ให้เขียนเพิ่ม งั้น...ก็รอหน่อย...รอเวลา...เขียน...ใช้เวลากับงานไป ไม่รีบร้อน ปล่อยไป จนมันมาของมันเอง บางปีเราเขียนได้เรื่องเดียวเอง แต่ไม่เป็นไร..สะสมจนได้ 13 เรื่องก็รอต่อไป..จนเรื่องสั้นสองเรื่องใหม่ มันมาตอนลงไปเล่นดนตรีที่ภาคใต้ วันสองวันก็เขียนได้สองเรื่องรวดชื่อ “วันหนึ่งที่ตะเข็บชายแดน” กับเรื่อง “อีแก่” ดีใจนะที่เขียนจบไม่ต้องทวนไม่ต้องเกลามาก ดูแค่คำถูกผิด...เพราะ เขียนด้วยลายมือนี้แหละเรา เขียนบนกระดาษเอสี่  เขียนจบอ่านทวนเสร็จก็รีบส่งให้เวียงมาเรียงพิมพ์...ครบ 15 เรื่องก็รวมออกมาเป็นเล่มนี้

คือ..เราพยายามหารูปแบบการเขียนใหม่ๆ ของตัวเองเหมือนกันนะ  หยิบเรื่องเล่าในวงเหล้าเก่าๆ มาเล่าในรูปแบบเรื่องสั้นบ้างอะไรบ้าง อย่างเรื่อง อีแก่ หรือหามุมมองใหม่ๆ ให้ตัวเองอย่างเรื่อง แสงตะเกียง ก็เขียนแบบวาดโครงความคิดนึกไปถึงพวกกำลังภายใน ที่จอมยุทธ์ดั้นด้นไปคารวะปรมาจารย์กลางป่าเขา แต่ว่าเขียนแบบเราไง...เอาภาพของนายผี อัสนี พลจันทร์มาวาดใหม่เป็นต้นร่างของจินตนาการ จนกลายเป็นเรื่องการเดินทางของคนหนุ่มสาวไปคารวะจิตวิญญาณของ นักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่กลางป่าเขาลำเนาไพรและหลุมศพของนักรบนิรนาม...อะไรแบบ นั้น...

แต่ว่าไป...ในหัวเรามีเรื่องสั้นที่เขียนไม่จบเยอะเลยนะ (หัวเราะ) แต่มันไม่สุกงอม มันก็ไม่หล่นออกมา อย่างที่บอกเราเดินทางตลอด เห็นอะไรต่อมิอะไรมากมายเป็นเรื่องได้ทั้งนั้น  อย่างเรื่อง ชายคนหนึ่งนั่งเกาะโลงศพอยู่หลังรถปิกอัพในบ่ายวันหนึ่ง คือ เราขับรถไปต่างจังหวัดไง..เขานั่งอยู่คันข้างหน้าเรา  นั่งเอามือจับโลงศพไว้สองข้างแล้วนั่งมองโลงนิ่งๆ ผมก็คิดตาม- เขาคิดอะไรอยู่ ในโลงเป็นใคร พ่อ แม่ เมีย พี่น้อง...เขาอาจจะกำลังคุยกับคนในโลงอยู่ก็ได้...

เนี้ย..พล็อตเรื่องมันไปได้สารพัดสารพัน หรืออย่างเราขับรถไปเล่นดนตรีแถวอีสาน เจอคนแก่คู่หนึ่งเป็นผู้หญิง กำลังเดินงกๆ เงิ่นๆ กลางทุ่งโล่ง เราแวะลงไปคุยด้วย ถามว่ายายจะไปไหนกัน แกบอกว่าจะไปทุ่งไปหาปลาเก็บผักกัน ท่าทางแกสองคนมีความสุขมากนะ ตาเป็นประกายเลย  คนแก่สองคนเหมือนเด็กสาวสองคนกำลังชวนกันเที่ยวเล่นในทุ่งนาเลยนะ  มันเป็นภาพที่สวยมาก...เนี้ยเป็น.เรื่องสั้นได้เลย...แต่มันยังอยู่ในหัวเรา ไง...ยังไม่เสร็จ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นบทกวีมีเยอะนะ เราเขียนกวีเยอะมาก แต่ตกหล่นไปไหนไม่รู้ไม่เคยเก็บ เขียนให้คนไปเยอะ อย่างเวลาเราไปเที่ยวตามหน่วยพิทักษ์ป่า เราจะเขียนบทกวีไว้ให้เลยนะทุกแห่ง เป็นที่ระลึก ได้ยินว่ามีคนตามเก็บให้นะเป็นสิบๆ แห่งเลยที่เราไม่เขียนไว้ บทกวีมันพรั่งพรูง่าย เหมือนเพลง มาถึงวันนี้สำหรับเรา มันง่ายมาก...เขียนอะไรก็ได้มันเขียนบ่อย แต่เรื่องสั้น รูปเขียน มันยังออกมาน้อยนะสำหรับเรา คงต้องให้เวลากับมันหน่อย”

น้าหงา อิ่มแล้ว-เอนหลังพิงพนัก พ่นควันบางๆ ยกแก้วจิบบ้างนานๆ ครั้ง แกบอกว่า ทุกวันนี้ดื่มแต่น้อย หนังสือก็ไม่ค่อยได้อ่านเพราะมีปัญหาเรื่องสายตา ถ้าเพ่งอ่านนานๆ จะเจ็บถึงขนาดน้ำตาไหลเลยทีเดียว
 “ผมกำลังหาทางแก้ไข อยู่นะเรื่องสายตา เจ็บปวดมาก อ่านแล้วน้ำตาไหลเลยก็พยายามอ่าน ในรถเรามีหนังสือเยอะเป็นห้องสมุดส่วนตัวเลยแหละ เดือนหนึ่งซื้อหนังสือเยอะเหมือนกันหนังสือที่บ้านปลวกกินไปก็เยอะ... บางทีบางเดือนจ่ายเงินซื้อหนังสือเป็นหมื่นบาทเลย บางทีก็มีคนโน้นคนนี้หามาให้อ่านก็พยายามอ่านนะ แต่....”

แต่...เรื่องสั้นของคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยได้อ่าน?
 “อืม...เราไม่ค่อย ได้อ่านงานคนรุ่นใหม่สักเท่าไร อ่านน้อยมาก น้อยจนไม่สามารถออกความเห็นอะไรได้เลยนะเกี่ยวกับงานของคนรุ่นใหม่ นักเขียนรุ่นใหม่ แต่ เราเองก็อยากรู้ความคิดของคนรุ่นใหม่นะ มุมมองใหม่ๆ เราสนใจนะ แต่ยังไม่มีเวลาหางานของพวกเขามาอ่านเลย”

แล้ว คนรุ่นเก่าล่ะ...เพื่อนนักเขียน-กวี ร่วมสมัยเดียวกันที่วันนี้หลายคนแตกแยกกัน-ผมถาม?
 น้าหงานิ่ง ครุ่นคิดก่อนจะพูดช้าๆ อย่างตรึกตรองว่า “เพื่อนเราก็ยังเป็นนักเขียนอยู่นะเราเชื่อ... พวกเราเป็นนักเขียน เป็นกวี คือ โลกวรรณกรรมมันเป็นโลกใบเดียวกันไง ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีแต่โลกวรรณกรรม อย่างทุกวันนี้เพลงของวัฒน์ วรยางกูร อย่าง จากภูผาถึงลานโพธิ เราก็ยังร้องบนเวที เพลงของวิสา คัญทัพ เราก็ยังเอาไปร้อง เวลาคนขอมาเราก็ร้อง

ผมว่าเพื่อนเราคิดไม่เหมือนกันไม่เป็นไร แต่...แต่มีอย่างหนึ่งเราไม่ค่อยสบายใจคือการที่เพื่อนบางคนเอาพื้นที่ สาธารณะในโลกวรรณกรรมมากระแหนะกระแหนเหน็บแนมกัน...ไม่รู้สิ เราว่า ไม่ควรเอาวรรณกรรมมาเป็นอาวุธทำร้ายกันนะ”
 

นักเขียน-กวี-นักดนตรี วัย 62 ปีที่ผ่านมาอะไรต่อมิอะไรมากมายจนถึงวันนี้...ยังบอกเล่าถึงความนึกฝันว่า มาถึงวันนี้แล้ว เขาอยากเพียงให้โลกวรรณกรรมมีความอบอุ่นอบอวลด้วยบรรยากาศและมิตรภาพของ เพื่อนพี่น้อง ที่กลับมาพบปะสุมหัวพูดคุยกันเรื่องงานเขียน หนังสือ ศิลปะ
 

“เราชอบนะ...เราชอบบรรยากาศอย่างนั้นคิดถึงวันเก่าๆ เราอยากมีบรรยากาศของโลกวรรณกรรมอย่างนั้น...คนเป็น นักเขียนต้องเจอกัน ต้องมานั่งถกเถียงกันเรื่องแลกเปลี่ยนกระตุ้นไฟซึ่งกันและกันแล้วแยกย้ายไป ทำงานในมุมของตัวเอง อย่างเนี้ยสนุก  เราว่าหนังสือมีส่วนสำคัญนะในการขัดเกลานิสัย มันอาจจะไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาที่ชัดเจนได้ แต่เรารู้สึกได้เวลาที่ห่างหายไปจากเส้นทางสายเก่า...สายหนังสือไปนานๆ รู้สึกตัวเองเลยว่า คิดง่ายเกินไปในบางเรื่อง...คิดหยาบขึ้น นิสัยสามานย์ขึ้นในบางครั้ง ซึ่งเราไม่ชอบเลย มันไม่ใช่ชีวิตที่ต้องการ...มาวันนี้ดีใจที่ยังเขียนเรื่องสั้นได้ เพราะชั่วเวลาของเรา มันยังมีคุณค่ายังสามารถแปรสภาพให้ออกมาเป็นงานได้อีกมากมาย  อย่างมีรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ออกมาแล้ว ยังหวังลึกๆ ว่า จะมีเรื่องสั้นเล่มต่อไปออกมา แต่เมื่อไร...ไม่รู้...(หัวเราะ) ไม่ต้องคิดมากหรอก

ถ้ามันจะมาเดี๋ยวมันก็มาเองแหละน่า...อีกกี่ปีก็ช่างมันเถอะ...ทุกวันนี้ บอกกับตัวเองว่า เขียนรูปได้ก็จะเขียน เขียนเรื่องสั้นได้ก็จะเขียน เขียนเพลงได้ก็จะเขียน...ทำอะไรได้ก็ทำไปว่างั้นเถอะ รวมไปถึงเรื่องการเดินทาง...เรายังคงเดินทางต่อไป”

 
   

โลกปัจจุบันของสุรชัย จันทิมาธร คือ โลกของนักเดินทางที่สลับบทบาทไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่สภาวการณ์....

ชีวิตก็แล้วแต่ขาพาไป....

อยู่บนเวทีคอนเสิร์ต เขาคือ ครูใหญ่เพลงเพื่อชีวิตนายวงหงา คาราวาน ผู้เป็นทั้งนักร้องนำ,มือกีตาร์,นักแต่งเพลง ผู้มีผลงานล่าสุดเป็นอัลบั้มคู่ “หนังสือในชื่อเธอ”
อยู่กลางสนามหญ้าตัดเรียบเสมอกันแห่งเกมลูกหนังเขาคือนักฟุตบอลฝีเท้าจัด-แรงไม่ตก
อยู่หลังพวงมาลัยเขาคือคนขับรถที่ควบโตโยต้าโฟร์วีลสีขาวปลอดห้อทะยานเหมือนม้าหนุ่มคะนองคึกควบห้อ...ไปทุกหย่อมย่านพร้อมกีตาร์คู่ชีพ

อยู่หน้าจอโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เขาคือ นักท่องโลกโซเชียลมีเดีย ที่มีเฟซบุ๊คเป็นของตัวเองและมีเพื่อนใหม่ๆ เข้ามาทักทายเยอะแยะมากมายทุกวัน
อยู่ที่อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน เขาคือ เจ้าของที่ดินที่ไร่ทุ่งโล่งกว้างกว่า 3  ไร่ ที่ตระเตรียมไว้สร้างเป็นบ้านนักเขียน-เรือนนักดนตรี

 ในวันนั้น....วันที่การเดินทางตะลอนไปทั่วไทย...อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต...



...ผมเดิมมาพลางคิดว่า....(จะคุยอะไรกับน้าหงา ดีว่ะ?)
...ผมเดินจากไปพลางคิดว่า (ที่คุยกับน้าหงามาจะเขียนรู้เรื่องไหมว่ะ?)
ฯลฯ........

ตื่นเช้าขึ้นมาก็นั่งคิด----นี่แหละหนอชีวิตของฉัน...ฯลฯ


http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110131/363738/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%A3-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.-2553.html

http://www.youtube-nocookie.com/v/N4_jKNUlfCM?fs=en&fs=1&autoplay=1&loop=1=en_US" type="application/x-shockwave-flash

Post by : eskimo_bkk


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!