ปัญญา เกิดจากการปฏิบัติ

ปัญญา เกิดจากการปฏิบัติ

<< < (2/2)

ช่างเล็ก(LSV):
ปกิณกธรรม

พระราชสุทธิญาณมงคล

P11012

 

            วันนี้เป็นวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันสิ้นเดือนอ้าย เป็นเดือนขาด เราก็คิดว่าเป็นวันพระใหญ่ ข้อเท็จจริงก็เหมือนกันทุกวันพระ จะเดือนขาดหรือเดือนเต็มก็ตาม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราแสวงหาพระไว้ในใจ ทำใจให้สบาย ทำใจให้เป็นปกติด้วยการเจริญกรรมฐาน เจริญกุศล ตั้งสติโดยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ดีที่สุด ไม่มีอะไรจะดีกว่าการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อีกแล้ว ก็คือ บำเพ็ญ ศีลภาวนา ต้องการให้มีสติสัมปชัญญะ

          คำสอนของพระพุทธเจ้าตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ย่อให้เราแล้ว พระองค์แสวงหาตั้ง ๖ ปี ที่เสด็จออกบรรพชา กว่าจะสำเร็จสัมโพธิญาณ พระองค์ได้รวมตำรับตำรามาให้เราแล้ว แต่ทำไมเราเอาไปทิ้ง เราไม่ต้องไปหาที่ไหนอีกแล้ว และไม่ต้องไปเหนื่อยยากแสวงหาโมกขธรรม แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงเหนื่อยยากพระวรกายและจิตใจเพื่อแสวงหาความดีในวิชานี้เอามาแก้ทุกข์ เอามาเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต พระองค์ทรงรวบรวมตำรับตำราให้เราไว้ครบถ้วนขบวนการ ต้องการให้เราทั้งหลายได้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์ แล้วทำไมเราเอาไปทิ้งล่ะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราครบถ้วนทุกอย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าใครมีแล้วก็มีพระประจำใจ มีพระประจำกาย มีพระประจำครอบครัว มีแต่ความสุขในเรื่องประกอบกิจหน้าที่การงาน ไม่มีทุกข์ ไม่มียาก ไม่มีความลำบากแต่ประการใด จะประกอบอาชีพค้าขายหรือทำอะไรก็ดีหมด พระพุทธเจ้าท่านสอนทุกแง่คิด สอนให้เรามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถในการปฏิบัติชอบทุกประการ

          เมื่อวันพระก่อน เทศน์เรื่อง ฆ่าความโกรธ วันพระต่อมาเทศน์เรื่อง ขันติ ความอดทน วันนี้จะบอกสรุปอานิสงส์คือขันติ เมื่อวันพระที่ผ่านมาที่เทศนาไปแล้ว ท่านได้รับฟังแล้วว่าวิธีฆ่าความโกรธทำอย่างไร ก็คือการเจริญกรรมฐาน ฆ่าอะไรก็ไม่เท่าฆ่าความโกรธในตัวเอง ถ้าเราฆ่าความโกรธในตัวเองออกได้ คนนั้นก็จะมีความสุขไม่มีทุกข์ มีแต่ปัญญา ในด้านอกุศลกรรมก็จะไม่มีแก่บุคคลนั้น วันพระต่อมาเทศน์เรื่องขันติ ความอดทน จะอดทนได้อย่างไร ก็ด้วยการเจริญกรรมฐาน กำหนดจิตทำให้มีความอดทน แต่ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำอย่างนั้น ไม่ได้อดทนเลย มีเวทนาก็เลิกแล้ว เลิกปฏิบัติ จิตฟุ้งซ่านก็เลิก ไม่มีการกระตือรือร้นในการปฏิบัติธรรมแต่ประการใด แล้วมันจะได้อะไรหรือ จะไม่ได้อะไรแน่นอน

          การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นั้นก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ทางสายเอกนี่เอง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายจะเดิน จะนั่ง จะนอน เหลียวซ้าย แลขวา คู้แขน เหยียดขา ตั้งสติไว้ ในเมื่อมีสติดีอยู่ในกายอย่างนี้ ก็เรียกว่าเรามีพระประจำกายแล้ว ไม่ใช่เอาเครื่องรางของขลังมาแขวนคอ แล้วก็เรียกว่ามีพระประจำกาย ไม่ใช่ แต่แล้วเรามีสติดีในการยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา คู้แขน เหยียดขาในตัวของตนเอง จิตก็เป็นกุศล ภายในก็มีพระประจำใจ จิตใจของท่านก็จะประเสริฐ จิตใจท่านก็ล้ำเลิศ แสดงขันติความอดทนได้แน่นอนออกมาอย่างนี้ซิ แสดงไปแล้วเมื่อวันพระก่อนนี้

          เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้นเราก็จะได้รู้ว่ามีสติกำหนดเวทนาได้ มันจะเกิดขึ้นในตัวเรา จะดีใจหรือเสียใจก็กำหนด ตั้งสติไว้ได้ หรือระยะหนึ่งไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีความดีใจเสียใจ จิตใจก็ว้าเหว่ จิตใจก็ออกไปนอกประเด็น เพราะมันไม่ได้คิดอะไร จิตใจก็ลอยออกไป เรียกว่า อุเบกขา เวทนาก็ต้องมีสติกำหนดอยู่ตลอดรายการอย่างนั้น ปวดเมื่อยก็กำหนด เสียใจก็กำหนด โกรธก็กำหนดไว้ ตัวกำหนดนี่เป็นตัวกำชะตากรรมในชีวิตของเราไว้ดีมาก  ตัวกำหนดก็ตัวตั้งสติ ตัวมีบำเพ็ญศีล ตัวบำเพ็ญสมาธิของตนเองไปโดยอัตโนมัติภายในตัวของมันเอง ตัวแก้ปัญหาก็ตัวสติ ตัวสัมปชัญญะก็คือตัวรู้ รู้จริงในร่างกายและสังขาร รู้รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ รู้เหตุผลที่ควรจะแก้ควรจะไม่แก้ ควรจะตัดควรจะเติม ควรจะต่อ ขาดเติม เกินตัดนั่นสัมปชัญญะ คือตัวรู้นี้แปละมันเข้าไปในหลักนี้คือเวทนา เราจะได้รู้ว่ามันปวดเมื่อยอย่างไร ไม่สบายใจอย่างไร ดีใจตรงไหน ถูกต้องตรงไหนประการใด ต้องกำหนดที่ไหนเสียใจกำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ กำหนดให้ลึก ๆ หายใจลึก ๆ เดี๋ยวท่านจะหายเสียใจ หายฟุ้งซ่าน คิดไม่ออกก็กำหนดตรงนั้น เดี๋ยวกำหนดไปกำหนดมา มันก็จะคิดออกมาอย่างนี้เป็นต้น และเมื่อคิดออกได้แล้วเราก็ดำเนินงานต่อไป แต่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ติดตามผลงานอย่างนี้ ไม่ได้ปฏิบัติ ปล่อยตามเรื่อง ปวดศีรษะก็ไม่กำหนด เสียใจก็ไม่กำหนด จิตใจออกไปฟุ้งซ่านก็ไม่กำหนด ปล่อยตามเรื่องตามราว น่าเสียดายปล่อยไปตามยถากรรม จะไม่ได้ผลจะไม่ได้อานิสงส์แต่ประการใด นี่คือความหมายของ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตต้องเป็นธรรมชาติ คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เป็นเวลานานเหมือนเทปบันทึกเสียง มันก็เหลวแหลกแตกความคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเอาสติตามคิด เอาสติตามไปดูว่ามันคิดเรื่องอะไร กำหนด คิดหนอ คิดหนอ กำหนดตรงไหน กำหนดที่ลิ้นปี่ก็ทำความเข้าใจลิ้นปี่ด้วยนะ เอาเชือกวัดจากจมูกไปถึงสะดือแล้วก็พับครึ่งนั้นแหละลิ้นปี่แล้ว

          คนที่โกรธง่าย คนที่โมโหเก่งนี่ใจร้อนหายใจสั้น มันไม่ทันคิดเหนือใต้อะไรเลยนะ ลุกลี้ลุกลน จะไม่มีทางที่จะคิดที่ดีได้ จะคิดไม่เป็นเรื่องเป็นราว คิดออกมาผิดทั้งนั้นไม่มีสติปัญญา ที่จะเข้าไปสู่จุดมุ่งหมายอันนี้ เช่น ยืนหนอ ๕ ครั้ง นี่สอนให้มันถูกหน่อย ตั้งแต่ศีรษะลงปลายเท้า ตจปัญจกกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา โดยวิธีปฏิบัติภาษาไทยไม่ต้องใช้บาลี ก็เลยเอาสติกำหนดตรงนี้ ยืน....หนอ ถ้าไม่เข้าใจทำรุ่นใหม่ก็ให้เว้นวรรคที่สะดือ ยืน....ถอนหายใจที่สะดือ แล้วก็ หนอ ลงไป แล้วยืนจากเท้า มโนภาพสำรวมขึ้นมาถึงสะดือ ถอนหายใจแล้วก็หนอลงไป ทำได้แล้วไม่ต้องถอนหายใจ ทำความเข้าใจด้วยบางทีไปสอนผิด บางทีไปถอนหายใจเรื่อยจนกระทั้งเข้าใจแล้ว ถ้าเข้าใจแล้วไม่ต้อง ยืน...หนอ ไปถึงเท้า หนอมันจะคล่องขึ้น สติมันจะอยู่กับจิตตลอดรายการ อย่างนี้สิ บางคนที่ทำไม่ได้แล้วก็กลับบ้าน แล้วยังไม่ได้ ๕ ครั้ง โดยมโนภาพ บางทีทำไม่ได้เลย จะมาแลกเปลี่ยนอะไรกันก็ไม่ทราบ ถ้าทำได้แล้วมันจะคล่องแคล่วว่องไว มันจะเกิดทัศนศึกษาโดยวิสุทธิ จะเกิดความบริสุทธิ์ขึ้น สติก็ดี ปัญญาก็เกิด จะรอบรู้ในกองการสังขาร จะแก้ปัญหาได้ทุกทิศทาง มันจะออกมาอย่างนี้เป็นต้น และ พองหนอ ยุบหนอ นี่ ขอเจริญพรว่าหายใจยาว ๆ บางคนทำไม่ได้จนกระทั่งกลับ พองหนอ ยุบหนอ กลับไปพองขึ้นยุบลง ๆ บางคนไป พองหนอ ยุบหนอ ที่ลิ้นปี่ คนละเรื่องกันแท้ ๆ เอาไปสอนกันมาให้มันพองที่ท้องให้ได้ ไม่ใช่ว่าพองหนอ ยุบหนอ แล้วท้องก็ไม่พอง ไม่ยุบ อันนี้ขอเน้นตรงนี้ให้มาก ขอฝากไว้ บางคนก็ไป พองหนอ ยุบหนอ ตรงลิ้นปี่ มันคนละเรื่องกัน อันนี้สำหรับโกรธ กำหนดเสียใจ หรือหายใจสั้น ผูกพยาบาท ผูกความโกรธ ผูกเคียดแค้น ต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ให้หายใจยาว ๆ กำหนดต่างหาก ไม่ใช่พอง ยุบ มันคนละเรื่องกัน

          ถ้ากำหนดพองหนอ ยุบหนอ ก็ให้หายใจยาว ๆ เดี๋ยวมันก็พองแล้วก็หนอ ยุบหนอพอดี ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้ มันกำหนดยาว ๆ พอง ๑ ส่วน หนอ ๓ ส่วน เป็น ๔ ส่วน ก็ออกไปได้ชัดมาก บางคนกำหนดไม่ได้ จนกระทั่งกลับออกจากวัดไปก็ทำไม่ได้ อันนี้ขอเน้นนะ อย่างไรท่านก็ต้องทำให้ได้อย่างนี้ เดินจงกรมพยายามเดินให้ช้า ๆ หน่อย ขอเตือนพวกครู อาจารย์ ไปสอนกันให้ช้าและต้องดูที่ปลายเท้า อย่าไปเหลียวซ้าย แลขวา ดูเหนือดูใต้ และไปหลับตาเดินไม่ได้ ต้องดู มันเมื่อยก็กำหนดเวทนา มันจะปวดก็กำหนดเวทนา เป็นต้น นั่งก็เช่นเดียวกัน มีคิดอะไรก็กำหนดคิด เห็นนิมิตอะไรขึ้นมาอย่าไปดู กำหนดเห็นหนอ เสียอย่าไปสนใจดูนิมิตเครื่องหมาย มันเป็นเครื่องที่ไม่เป็นนิสัยปัจจัยในเรื่องฌาน ว่าอันนี้จะเกิดขึ้น มันจะได้ตั้งอยู่ มันจะได้ดับไป สภาวรูปที่มันเปลี่ยนแปลงมาทำให้เราหลอนสมอง มันจะหลอนไปก็ต้องกำหนดเสียอย่างนี้ เป็นต้น

          นี่แหละ การเจริญกรรม๘นต้องทำให้เราอดทน ลบเรื่องตนออกจากนี้ได้ อดทน อดกลั้น ทนต่อความเจ็บใจได้ด้วย เพราะทุกคนเราเห็นหรือในตัวเอง เช่น กราบไหว้พระพุทธรูปก็ดี อย่าลืมระลึกถึงว่าอนุสาวรีย์นี้แหละ คือผู้เป็นยอดแห่งความอดทน และเราจะสวดมนต์ไหว้พระนึกถึงความอดทน คือกรรมฐานนี้ทำให้อดทน ทนตรากตรำทนลำบากได้ เราจะต้องโอปนยิโก คือน้อมนำเอาพระคุณความดีที่มีอยู่ในพระองค์ท่านคือพระพุทธเจ้า ที่ท่านสอนเรานั้นอันเป็นรูปธรรมอยู่ในพระองค์มาประพฤติ ปฏิบัติสวมใส่ไว้ในตัวเรา นี่เป็นรูปธรรม คือ รูปธรรมะ คือ ภาวนารูปที่เรียกว่าพระประจำกาย คือปรับปรุงแก้ไขนิสัยตัวให้มีความเข้มแข็งเข้าไปภายใน เรียกว่า เปลี่ยนแปลงนิสัย อดทนต่อการศึกษา การประกอบกิจเลี้ยงชีพ การฝึกซ้อมจิตใจให้เยือกเย็นเพราะการปฏิบัติตนเช่นนี้ เป็นวิถีทางแห่งความสวัสดี เกิดขึ้นจากการนั่งกรรมฐาน มันจะเป็นวิถีทางที่เกิดความสวัสดีให้แก่ชีวิตนี้ เพราะขันติที่กล่าวไว้เมื่อวันพระก่อนนั้น แปลว่า ความอดทน เป็นธรรมะที่มีอานุภาพมากมายนัก ชาวโลกที่ประสบความสวัสดีมีชัยล้วนต้องอาศัยธรรมะข้อนี้ ส่วนผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมะข้อนี้ก็รังแต่จะตกต่ำ การเจริญกรรมฐานจำทำให้มีธรรมะขันติแน่นอน

          ถ้าเจริญกรรมฐานแล้วจะรู้ว่าความทุกข์เกิดจากอะไรหาคำตอบได้ ความทุกข์เกิดจากการตามใจตนเอง ถ้านักปฏิบัติกรรมฐานตามใจตนเอง เมื่อยเลิก อะไรก็เลิกหมด ไม่อดทนอะไรเลย นี่แหละความทุกข์เกิดจากตามใจตนเองทั้งนั้น คนที่ไม่ตามใจตนเอง ฝืนใจตนได้ มีความอดทนจะสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ มีความหมายอย่างที่กล่าวไว้วันพระก่อนแล้วนั่นแหละ ความทุกข์ของคนเราเกิดจากการตามใจตัวเองตลอด อาตมาก็กล่าวมานานแล้ว ผู้หญิงที่น่าเกลียดคือผู้หญิงที่ตามใจตัว ผู้ชายที่น่ากลัวคือผู้ชายที่ไม่รู้จักเกรงใจคน คนที่ตามใจตัวเองไม่ต้องมาเจริญกรรมฐาน ไม่ได้ผลอย่างแน่นอน ตั้งใจจะเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงเลิกแล้ว นี่แหละคนตามใจตัวเอง จะไม่สามารถกู้ชีวิตให้เป็นความสวัสดีในใจได้

          ถ้าพิจารณาถึงความทุกข์ยากลำบากในโลกที่มวลมนุษย์ประสบพบพานอยู่ทุกยุคทุกสมัยแล้ว ล้วนเกิดจากการตามใจตัวเอง ยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล เหมือนอย่างท่านมานั่งกรรมฐานตามใจตนเอง ปวดเลิกแล้ว จิตฟุ้งซ่านก็เลิก ตามใจตัวเองตลอด อยู่ภายใต้อิทธิพลของชีวิตนั่นท่านจะหาความสุขความเจริญไม่ได้ ชนะใจไม่ได้ นี่แหละตามภายใต้อิทธิพลของกิเลสความชั่วร้าย บางครั้งมาในรูปต่าง ๆ ที่เรียกว่า ผีบ้าง ปีศาจบ้าง พญามารบ้าง ซาตานบ้าง จะมาในรูปไหนก็ตาม ชื่อว่าความชั่วร้ายทั้งสิ้น ผู้ที่ปล่อยตัวให้ตกอยู่ในอำนาจของความชั่วนั้นเพราะขาดขันติความอดทน ไม่มีขันติเป็นฐานรองรับชะตาชีวิตของท่าน จึงอาภัพตลอดกัลปาวสาน

          แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ใดมั่นอยู่ในคุณธรรมข้อนี้ คือ ขันติตั้งอยู่ เจริญกรรมฐานตายเป็นตาย ถ้าท่านมีคุณธรรมในข้อนี้แล้วรับรองว่าต้องเจริญแน่นอน ถ้าเป็นพระสงฆ์องค์เจ้าหรือแม่ชี หรือเป็นฆราวาสทั้งหญิงชายเจริญแน่นอน คนยากจนจะตั้งตัวได้ คนมีฐานะดีอยู่แล้วไม่ล่มจม เรื่องวิวาทบาดหมาง เช่น ฆ่าอาฆาตไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย จะไม่เกิดขึ้นในตัวท่าน บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข ยิ่งกว่านั้นผู้ที่มั่นอยู่ในคุณธรรมข้อนี้ยังมีผลให้ไปสวรรค์ ทั้งเป็นรากฐานให้ถึงนิพพานอีกด้วย

          อาตมาเมื่อสมัยโบราณเป็นเด็ก เดินไปเรียนหนังสือระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร ต้องเดินไปมาตั้ง ๒๐ กว่ากิโลทุกวัน แสนจะยากลำบากจริง ๆ ยานพาหนะก็ไม่สะดวกในสมัยนั้น บางคราวฝนตก บางคราวหนาว บางคราวร้อน และต้องประสบกับความเมื่อย ปวดหัว กระหาย ความเจ็บไข้ บางครั้งอาตมาไปโรงเรียนไม่มีข้าวกินเลย สตางค์ก็ไม่มี นี่อาตมาขึ้นมาด้วยตนเอง ไปอยู่โรงเรียนวัดบางพุทรากลับมาถึงบ้านมืดทุกวัน ตี ๔ ก็ต้องเตรียมตัวเดินทาง บางครั้งก็ห่อข้าวไปห่อหนึ่ง ปลาทูตัว ปูเค็มตัว จำได้ ด้วยความหิวกระหายเหลือเกิน ความเจ็บไข้ความคร่ำเคร่งในการดูตำราอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ จะขอสตางค์ยายขอแม่แค่ ๑๐ บาท ๑๐๐-๒๐๐ ก็ขอยาก ซื้อเครื่องลูกเสือ ขอ ๑๐๐ ให้ ๑๐ บาท ต้องอดทนต่อความยากลำบาก นี่แหละชีวิตของอาตมาล้วนต้องอาศัยความอดทนทั้งสิ้น เดินบนถนนลูกรังจากถนนสายลพบุรี ไม่ใช่ราดยาง กว่าจะได้จักรยานสักคัน ต้องอดทนทุกประการ บางครั้งดื่มแต่น้ำตลอดวันยังค่ำ พอประทังชีวิตด้วยความอดทนต่อการศึกษาของอาตมา ชีวิตของอาตมาแร้นแค้นตลอดมา ต้องอดทน อดทนต่อสิ่งยั่วยวนกวนใจอันเป็นทางก่อให้เกิดการเสียสุขภาพอนามัย บางคนสูบบุหรี่ สุราเมรัย ฝิ่น เฮโรอีน มวย ม้า การพนัน ตลอดจนการเที่ยวเตร่จนติดเป็นนิสัย

          อบายมุขเหล่านี้แหละทำให้เสียการเรียน อาตมาผ่านมาหมดแล้วท่านทั้งหลาย นี่แหละมาศึกษาประวัติของอาตมาบ้าง ว่านี่ต้องอดทน ต้องการเรียนจริง ๆ

          อนึ่งการรักในวัยเรียน มันก็เคยผ่านมาแต่ก็เลวที่สุดแล้วนับว่าเป็นมารอย่างร้ายกาจ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยนี้ควรระวังให้จงหนัก คือ พ่อ แม่ ระวังดูลูกวัยรักวัยเรียน วัยรกวัยสกปรก ยาเสพติด จงอย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าไปลอง บอกลูกหลานระวังให้มากที่สุด จงยับยั้งชั่งคิดชั่งใจถึงอนาคตตลอดไป

          ชีวิตของอาตมายังไม่สิ้นหวัง ยอดนักรบก็ต้องชนะจิตใจตนเอง คือ ไม่ปล่อยใจให้ตกไปเป็นทาสของความชั่ว อาตมาโดยมาด้วยตนเอง โรงเรียน ๘ โรงเรียนอยู่หมด แต่ไม่ได้จบเลยสักโรงเรียนเดียว ก็ขอฝากไว้ แต่ก็ยังดี มาตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในทางธรรม ถึงหาไม่ได้เป็นดอกเตอร์ แต่เขาก็เอาปริญญาเอกมาถวายได้ถึง ๓ สาขาแล้ว เราก็ดีใจขอนุโมทนา ท่านทั้งหลายอย่าปล่อยใจให้ตกไปเป็นทาสของความชั่ว มาเจริญกรรมฐานดีที่สุด สามารถจะกำจัดความชั่วได้ ในเมื่อนักเรียนลูกหลานักศึกษาใช้ความมานะอดทนเข้าประกอบเช่นนี้แล้ว จะทำการศึกษาวิชาการทุกชนิดก็สำเร็จได้ดังใจหวัง ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ ความอดทนต่อกิจการตั้งตัวอีกประเด็นหนึ่ง ความอดทนกับความตั้งตัวสอนผู้ที่จะตั้งตัวเป็นหลักฐานมั่นคง สิ่งสำคัญคือความอดทนอันเป็นผลให้เกิดการประหยัด บางท่านอยากร่ำรวย แต่ผิดหวังเพราะนิสัยสุรุ่ยสุร่าย จ่ายง่าย ใช้เปลือง ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ มีความเป็นอยู่ที่เรียกว่าวันนี้เพื่อวันนี้ วิถีชีวิตมืดมนไร้ความหวังจัดว่าเป็นผู้ฆ่าตัวเองแท้ ๆ พฤติกรรมเช่นนี้ก็ให้เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ มีจี้ปล้นเป็นต้น

          บางท่านเข้าใจผิดคิดโทษเวรโทษกรรม โทษเทวดาฟ้าดิน ญาติพี่น้องว่าให้โทษ คอยกีดกันอย่างนั้นอย่างนี้ ทำตัวไม่ดีกลับมองไม่เห็น ยิ่งไปกว่านั้นบางรายไปบนบานศาลกล่าวต่อเทวดาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอลาภผล หรือทำอยู่กับบ่อนการพนัน เพื่อให้รวยทางใจ ผลสุดท้ายต้องล่มจมเพราะการพนัน ท่านว่าคนที่คอยพึ่งโชคชะตาราศีนั้นย่อมไม่ผิดอะไรกับราชสีห์ที่ทำด้วยหินที่เขาตั้งไว้หน้าปราสาท แม้เขาได้ส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นอยู่แต่เพียงร่างแต่ไม่มีจิตใจหรือใช้อำนาจกำลัง จะสู้กับอุปสรรคปัญหาเป็นการปล่อยชีวิตไปตามยถากรรมเช่นเดียวกับสวะในแม่น้ำลำธาร ซึ่งล่องลอยไปตามกระแสน้ำไปใช้การบังคับทั้งนั้น คนประหยัดต้องมีความอดทน ต้องตัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นออกเสีย นับตั้งแต่อาหารการบริโภคต้องระวัง ซึ่งตั้งใจให้เงินไปเท่าที่จำเป็นไม่ต้องไปกินกุ้ง กินปลาอะไรที่เขาเลือกกันพอจะมีอะไรกินได้ก็กินเข้าไป อย่ากินทิ้งกินขว้าง ได้ครึ่งเสียครึ่ง อย่าได้ตกเป็นทาสของความอยากเป็นอันขาด แม้ในเรื่องอื่น ๆ เช่นการแต่งตัว การเที่ยวเตร่การพักผ่อนหย่อนใจก็เช่นกัน ก็ควรจะมีการประหยัดทุกกรณี อย่าทะเยอทะยานเอาอย่างคนร่ำคนรวยเขา เข้าทำนองว่า ช้างขี้ขี้ตามช้าง

          หากทุกคนตั้งใจกำจัดนิสัยฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่ายกลับตัวเป็นคนประหยัด ฝึกหัดตัวเอง กลัวจน ต้องประหยัด กลัววิบัติต้องเลิกทำชั่ว อันนี้ฝากคติธรรมไว้ด้วย อีกข้อหนึ่งขอให้มีความอดทนต่อการครองรักครองเรือนภายในครอบครัวระหว่างสามีภรรยา รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักถนอมน้ำใจกันอย่าทะเลาะกัน อาตมาขอบิณฑบาตตั้งแต่นานแล้ว หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยกันระหว่างสามีภรรยา มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ค่อยพูดค่อยจาพาทีกัน ถ้าเป็นผู้เจริญกรรมฐาน ต้องอดทน ภรรยาว่าอย่างไรสามีต้องนิ่ง สามีว่าอย่างไรภรรยาก็อดทนนิ่ง ต่างคนต่างนิ่งอดทนดูสิจะมีเรื่องราวไหม พูดดีเข้าใจง่าย พูดร้ายเข้าใจยาก ถ้าพูดดี ๆ เพราะ ๆ เอาอกเอาใจกันนะ เจ้าคะ เจ้าขา วาจาดีมันจะทะเลากันไหม จะไม่ทะเลาะกันเลย สามีก็เอาใจภรรยาด้วย ภรรยาเขาก็เหนื่อยยากต้องเอาใจลูกเอาใจผัวหาอาหารให้รับประทาน สามีก็ต้องเห็นใจเขาบ้าง สามีเห็นใจภรรยาต่างคนต่างเห็นใจกันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ค่อย ๆ พูดจากันหาเหตุผลหาต้นหาปลายตกลงกันด้วยสันติวิธี ด้วยการเจริญกรรมฐาน โกรธหนอ โกรธหนอ ถ้าสามีด่าภรรยาก็บอกว่า โกรธหนอ โกรธหนอ อย่าด่าฉันหนอ อย่าด่าฉันหนอ เพราะฉันนั่งกรรมฐานหนอ ฉันไม่โกรธหนอ และต้องเอาอย่างนี้นี่แหละตกลงกันด้วยสันติวิธีดีกว่า อย่าเอาแพ้ชนะกันเลย วิธีการอย่างนี้ทำให้บรรยากาศในครอบครัวอบอุ่น สามีภรรยาจะได้อบอุ่นใจ และถ้าภรรยานั่งเจริญกรรมฐานได้แล้วแผ่เมตตา สามีเขาจะชอบสาวแก่แม่หม้ายก็โปรดอนุโมทนาร่วมกัน อย่าไปหึงไปหวงเลย พวกไปหึงไปหวงนี่ไม่ใช่นักกรรมฐานจะไม่อบอุ่นในครอบครัว เขาจะชอบใครก็อนุโมทนาทำได้ไหม ถ้าทำได้ขออนุโมทนาด้วย

          ชาวพุทธที่แท้ต้องทำอะไรบ้าง ต้องไม่ตกเป็นทาสของความโกรธ จะว่ากล่าวสั่งสอนใครก็กล่าวแต่โดยดี มีเมตตาปรารถนาประโยชน์สุขเป็นที่ตั้ง คราวเกิดเรื่องกัน เกิดชังกันยอมแพ้เสีย ถ้ามีเรื่องยอมแพ้กันต่างคนต่างยอมแพ้เสียข้างหนึ่ง เรื่องจะยุติลงได้ การยอมแพ้นั้นในสายตาของทางโลกอาจหาว่าเป็นคนที่ขี้ขลาดตาขาว แต่ในสายตาของนักปฏิบัติธรรมกลับให้เกียรติว่าเป็นผู้ชนะดังที่ท่านว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร แพ้แบบพระชนะแบบมาร ชาวพุทธที่ดีแท้ต้องรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน เพราะการให้อภัยเป็นการให้ที่ลงทุนน้อย แต่กำไรมากมาย การให้อภัยจัดเป็นทานชั้นยอด เหนือกว่าทานใด ๆ ผู้ที่มีน้ำใจให้อภัยเป็นนิตย์ ย่อมมีชีวิตสูงค่าซึ่งชาวโลกเรียกว่าพระผู้ใจประเสริฐ หรือในด้านหนึ่งเรียกว่า อภัยทาน เป็นเภสัชขนานเอกที่จะไถ่ถอนความอาฆาตพยาบาทจองเวรให้หลุดพ้นจากจิตใจได้ เพื่อให้ชีวิตประสบสุขสมหวัง ฉะนั้นสามีภรรยาจึงควรฝึกฝนตนเองให้รู้จักอภัยแก่กันด้วยการเจริญกรรมฐาน แผ่เมตตาให้กัน การให้อภัยจะเกิดได้ง่ายย่อมต้องอาศัยขันติความอดทน การกำหนดเวทนากรรมฐานอดทนทุกด้าน เป็นรากฐานแห่งกรรมฐาน ขันติมีประโยชน์มากมายดังกล่าวมา จึงขอเชิญท่านอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เจริญกรรมฐานได้ช่วยกันปลูกขันติธรรมให้งอกงามไพบูลย์ในอาณาจักรของจิตใจอย่าได้หยุดยั้ง จงบำเพ็ญกุศลให้สมความมุ่งมาดปรารถนา ก็ชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอทุกท่านพุทธบริษัท ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกาโดยทั่วหน้ากัน จงประสบแต่ความสุขความเจริญ ให้อภัยไม่มีแพ้ไม่มีชนะแก่ท่านผู้ใดแล้ว ขอสร้างตนให้เป็นความสุขอย่างกลาง ๆ ให้อภัยโทษให้อภัยทาน หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่มีเรื่องตลอดไปจนกระทั่งตาย อยู่ด้วยขันติวิธีเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรโดยทั่วหน้ากัน ขอทุกท่านจงเจริญไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ อำนาจ และสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใดสมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้เทอญ.

 

          วันพระครั้งนี้ได้มีบริษัทห้างหุ้นส่วน จำกัด ที่ท่านเคยมาโดยคุณโยมดาวเหลียง รัศมีเจริญ และครอบครัว ญาติทั้งหลาย ดังที่ทายกทายิกาสร้างพรมปูศาลาหอประชุม พร้อมด้วยเครื่องพุ่ม พุ่มนี้ก็หลายปีมาแล้วก็ไม่ได้เปลี่ยน คุณโยมดาวเหลียงก็ยังทำบุญประจำเดือนทุกเดือน สามหมื่นถึงสี่หมื่นบาท เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารการบริโภคให้ผู้ปฏิบัติธรรม พระสงฆ์องค์เจ้า โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใด ๆ  ก็ขออนุโมทนาแก่คุณโยมดาวเหลียงด้วย อาตมาเหมือนกันชอบทำบุญ ปีนี้ก็เจริญพรว่าตั้งแต่ปี ๓๙ ไม่นับเรื่องเงินก่อสร้าง ได้ให้ทุนการศึกษาทั้งในประเทศทั้งนอกประเทศ ๒๔ ล้าน รวมกับที่ถวายสมเด็จพระเทพฯ เพื่อพระราชทานให้มูลนิธิชัยพัฒนา ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท เราสวดธรรมจักรทุกวันที่ ๙ ของเดือนตลอดมา ถวายวัวในหลวง ๒๐๐ ตัว ถวายรถจิ๊ปสมเด็จพระเทพฯ เพื่อทรงอนุเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดน ๑ คัน ล้านกว่าทั้งเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมด ทุกอย่างรวมแล้วล้านห้าหมื่นบาท ถวายทุนไปช่วยเด็กชายแดน ๓,๓๐๐,๐๐๐ ไปถวายสมเด็จพระเทพฯ มาเมื่อสองวันมานี้

          พี่น้องที่รักทั้งหลายเพียงตั้งใจเราก็ได้บุญแล้ว ตั้งใจจะสวดธรรมจักร ๒ ปี เพื่อถวายในหลวง ก็ได้มีผู้มาร่วมทำบุญถึง ๗ ล้าน หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศสกุล หม่อมอรพินท์ทราบข่าวมาว่า หลวงพ่อจะไปถวาย ท่านก็มาร่วมบริจาค ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ได้ถวายผ่านสมเด็จพระเทพฯ แล้วโดยให้เฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ แล้วรุ่นก่อนเราก็ไปบริจาคให้โรงพยาบาลมูลนิธิสมเด็จย่าทั้งหมด ๒-๓ แสน

          อาตมารู้สึกดีใจมากที่เราไปรับช่วยสร้างศูนย์เวฬุวัน ขอนแก่น ๓ ครั้ง สร้าง ๓ ปีเสร็จ อบรมเด็กได้แล้ว ๒-๓ ร้อยคน ศาลาราคา ๕.๕ ล้าน ก็จะเสร็จ ทอดกฐินก็มีพญานาคมาช่วยเรา เพราะว่าข้างศูนย์นั้นมีบ่อ มีถ้ำพญานาค ฝนตกมาน้ำไหลลงบ่อไม่มีเต็ม เข้าไปในถ้ำพญานาค ไปอยู่โน่นหนองคาย แม่น้ำโขง ท่านได้ช่วยเราตลอดมา

          ท่านทั้งหลาย จะทำบุญนี่อยากให้สมใจ ปีนี้จะสร้างส้วม ๑๐๐ ห้อง อยากจะทำให้สบายใจไม่มีเงินไม่เป็นไร เดี๋ยวรอที่พึ่งที่อื่นได้ อาตมามีแต่ให้ มีแต่ช่วยเท่านั้น อาตมาซื้อที่ ๒๑ ไร่ ให้เขาทำถนนเดินกันเข้าศูนย์ปฏิบัติธรรม ดร. อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีก็ช่วยราดยางให้เสร็จแล้ว รพช. เขาก็ช่วยทำถนน ชาวบ้านดีอกดีใจ นักเรียนบางโรงเรียนที่อยู่มหาสารคามที่ติดยาเสพติด ได้เข้ามาปฏิบัติที่ศูนย์นี้แล้ว

          อาจารย์ดาวเรือง ศิริลักษณ์ สอนพระพุทธศาสนาที่อุทัยธานี เคยเป็นคริสต์ ต่อมา ผอ.ให้สอนวิชาพระพุทธศาสนา มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดนี้ กลับไปสอนได้ดีมาก อาตมาช่วยทำห้องจริยธรรมให้เด็ก ม. ๑ ถึง ม.๖ สวดมนต์ไหว้พระที่อุทัยธานีไปถามดูได้

          อาตมามีแต่ให้ ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด หมดก็ไม่มา เราไม่หวง เราไม่อด หมดก็มาเรื่อย ๆ อาตมาไปขอนแก่นมา เอาเงินที่มีอยู่ในย่ามนิดหน่อยไปสร้างธนาคารข้าวสาร โยมคณะกรรมการจะเห็นด้วยไหม อาตมาลงไปนี่เทย่ามให้เลย มีเท่านี้เอง แสนกับหมื่นหนึ่งตั้งธนาคารข้าวสาร ธนาคารเก็บข้าวก็จะได้ไว้เลี้ยงกัน อาตมาชอบให้ ชอบเลี้ยง เหมือนแขกมาบ้านเราก็ต้องเลี้ยงอาหาร เมื่อสมัยโบราณอาตมาเป็นเด็กต้องยกเชี่ยนหมากก่อน กล่องยาสูบกล่องบุหรี่นี่คนโบราณ เอายามามวนเส้นยังจำได้ แล้วก็ตักน้ำให้แขกที่มาบ้านเรา ถ้าได้เวลากินข้าวต้องหาข้าวเลี้ยงอย่าให้บอก ถ้ามาตอนเช้าก็เลี้ยงอาหารเช้า มาตอนกลางวันก็เลี้ยงอาหารกลางวัน มาตอนเย็นก็เลี้ยงอาหารเย็น นี่คนไทย เดี๋ยวนี้คนไทยประเภทนี้หายไป เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น เวลาไปบ้านเขาละเขาต้อนรับ เวลาเขามาบ้าน...ไม่ดูหน้าดูตาเลย ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้มีการต้อนรับขับสู้ดูความงามแต่ประการใด คนไทยขาดประเพณีไทย พระพุทธเจ้าสอนให้ช่วยต้อนรับโอภาปราศรัย พระบางวัดบางองค์นี่ไปฉันบ้านเขาบ่อย เขาถวายบ่อย แต่เวลาเขามาวัดตัวเองไม่เคยทักเลย ผ่านหน้ากุฏิยังไม่ทัก มีหลายแห่งเท่าที่ไปเห็นมา องค์นี้เคยไปกินข้าวบ้านเขาบ่อย เขาผ่านมาน่าจะทักสักคำ โยมมาธุระอะไรหรือ มาอย่างไร ให้เขาชื่นใจ ทักทายปราศรัยกันหน่อยก็จะชื่นใจนะ

          ขอญาติโยมที่ร่วมทำบุญกุศลอยู่ขณะนี้ โปรดอนุโมทนาสาธุการ โยมดาวเหลียง ยังมีเจตนาดีเป็นมหากุศล ทั้งครอบครัวบุตรหลาน และบรรดาญาติทั้งหลาย ที่มีส่วนร่วมอนุโมทนาสาธุการในโอกาสนี้ด้วย ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย บุญกุศลทั้งหลายโปรดประทานพร ขอให้ทุกท่านจงเจริญรุ่งเรืองในธรรมสัมมาปฏิบัติในหน้าที่ทุกท่าน และทุกท่านเจริญไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใดสมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูป ทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้เทอญ

๗ มกราคม ๒๕๔๐
 

ช่างเล็ก(LSV):


พระราชสุทธิญาณมงคล ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒
ขออนุโมทนาสาธุการแก่บรรดาญาติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา สร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศลบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ในช่วงจังหวะเวลาอันสมควรเช่นนี้ การปฏิบัติธรรม 7 วัน 7 คืน เพื่อหาเส้นทางของชีวิตให้ได้ การมาสร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศลนั้นน้อยคนจะระลึกได้ ทำกันโดยที่ว่าแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น สร้างความรู้ก็หามีไม่ ไปทำบุญตักบาตรวัดโน้นวัดนี้ ทัวร์บุญกันมากหลายแล้วก็ว่าได้บุญ ข้อเท็จจริงไม่ใช่ น่าจะเดินเส้นทางของชีวิตให้ถูกต้อง สร้างความดีของใครของมันให้เกิดปัญญาให้ได้ ในเมื่อเกิดปัญญาแล้วถึงจะเกิดข้อคิดในเส้นทางของชีวิตได้ ความเป็นอยู่ของชีวิตก็จะดีขึ้น จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองมาก

วันนี้อาตมาจะพูดในเรื่องการพัฒนาภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้าที่สอนเรา ให้เราต่ออายุตรงไหนบ้าง การเจริญกรรมฐานเป็นการแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร ทำไมไม่แก้ให้ตรงกับปัญหา ไปแก้ปัญหาด้วยการหาพระสะเดาะเคราะห์ เด็กรุ่นใหม่เรียนปริญญาโทปริญญาเอกก็ยังเชื่อเรื่องแบบนี้ เป็นที่น่าเสียดายเวลาที่มีประโยชน์มากที่สุด
 
เส้นทางชีวิตนี่ของใครของมันนะญาติโยม เราจะไปเดินเส้นเขาก็ไม่ได้ ต่างคนต่างเดิน แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ หาความถูกต้องเอามาอย่าหาความถูกใจ ก็คือใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำงานร่วมกันได้แน่นอน แต่เราก็หาความถูกต้องร่วมกันยังไม่ได้ น่าเสียดายที่เราไม่เข้าใจตัวเราเองและเข้ากับใครเขาไม่ได้ น่าจะปรับตัวได้แล้ว เหมือนอย่างรับประทานอาหาร รสเปรี้ยวหวานมันเค็มไม่เหมือนกัน ก็สามารถรับประทานร่วมวงเดียวกันได้ ต่างคนต่างเติม ถ้าเรามีธรรมะของเส้นทางชีวิตถูกต้องแล้ว จะไม่มีปัญหาเลย
 

การเจริญพระกรรมฐานเป็นบทความของชีวิต คือเส้นทางของชีวิตแท้ๆ ต่างคนต่างเดิน เดินคนละเส้นทาง แต่ทำไมหนอจึงไม่ใช้หลักธรรมดำเนินวิถีชีวิตเล่า พระพุทธเจ้าสอนเน้นเรื่อง ภูมิ เป็นอันดับแรก คือกรรมฐานนี่เอง กรรมฐานทำให้คนเกิดปัญญา พิจารณาละเอียดอ่อนด้วยปัญญา ยกตัวอย่างปัญญาของคนโบราณ สร้างศาลาการเปรียญสำหรับทำบุญและเรียนหนังสือ ไม่มีฝา ลมเข้าทั้งสี่ด้าน ไม่ร้อน บ้านทรงไทยมีห้องรับแขก เรียกว่าหอนั่ง เป็นที่โล่งไม่มีฝา ลมเข้าทั้งสี่ด้านเย็นสบาย คนละสมัยกับปัจจุบันนี้ นี่คือภูมิปัญญาของคน

เมื่อสมัยอาตมาเป็นเด็ก เขามีงานกันจะให้พวกสาวๆ ที่มาช่วยงานนอนในห้อง พวกผู้ชายนอนข้างนอก เพราะผู้หญิงเวลานอนหลับไม่มีสติเป็นภาพที่ไม่น่าดู พระพุทธเจ้าท่านละเอียดอ่อนมากได้กำหนดพระวินัย เวลาพระจะจำวัดให้เข้ากุฏิ ไม่ให้นอนข้างนอกเป็นอาบัติโทษ ต้องจำวัดที่มุมบังให้เรียบร้อย ถ้าหากว่าพระท่านเจริญกรรมฐาน ไม่ใช่พระบวชใหม่ จะหลับก็กำหนดพองหนอยุบหนอ ตั้งสติไว้แล้วหลับไปด้วยกัน จะรู้ภายในเลยว่าพลิกตัวกี่ครั้ง แต่ภายนอกไม่รู้

ผู้ปฏิบัติกรรมฐานทำให้ได้หน่อยได้ไหม หายใจยาวๆ ค่อยๆ จับว่าจะหลับตอนไหน ก่อนจะหลับมันจะเผลอ มันจะเพลิน เพลินแล้วเผลอแวบไปเลย จับไม่ค่อยได้ ถ้าเรามีสติครบวงจรจะจับได้ เพลินก่อนแวบดับลงไป มันจะดิ่งลงไป ข้างนอกไม่รู้ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ไม่รับสัมผัส แต่ข้างในรู้ จะพลิกตัวกี่ครั้งก็รู้ ถ้าจิตตกกังวลเอาจิตมาตั้งไว้ที่ลูกกระเดือก หายใจยาวๆ ถ้าสมาธิดีจะหลับทันที หลับแล้วจิตจะเลื่อนลงไปที่พองยุบ มันจะบอก และข้างในรู้หมด แต่ข้างนอกไม่รับสัมผัส

ถ้าสติยังไม่พอ แต่สมาธิดี กำหนดพองหนอ ยุบหนอ มันจะวูบไปตอนพอง ถ้าวูบไปตอนยุบแสดงว่าสติใช้ไม่ได้เลย เวลานอนให้กำหนดไปเรื่อยๆ ตั้งสติไว้ครบวงจร ถ้าทำได้สักครั้งได้หมด กำหนดยืนหนอ 5 ครั้งก็เหมือนกัน ถ้าทำได้สักครั้งได้หมด

เรานั่งฝึกกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ก่อนจะนอน ถ้ากำหนดพองหนอ ยุบหนอได้จังหวะแล้ว จิตออกจะรู้ ถ้าไม่ได้จังหวะจิตออกจะไม่รู้เลย บางทีกำหนดพองหนอ ยุบหนอ จิตไปคิดถึงคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง จิตหนึ่งก็พองหนอ ยุบหนอ อีกจิตหนึ่งก็คิดไปเรื่อยๆ เราทราบหรือไม่ว่าจิตออกไปตอนไหน ถ้าขาดสติจะจับไม่ได้ ถ้าสติดีครบวงจรจะจับได้เลย

การเจริญสติปัฏฐานสี่ทำให้จิตมีสติได้มาก ถ้าสมาธิมากกว่าสติ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ จิตออกไปแล้ว พองหนอ ยุบหนอ มันจะเพลิน สติน้อยนี่จะเพลิน เพลินแล้วจะเผลอตัว เผลอแวบเดียวจิตออกไปคิดแล้ว จิตหนึ่งก็ยังอยู่ ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตตรงนี้ ถ้าหากว่าเราสติดีครบวงจร จิตจะออก มันจะเพลินก่อน แวบไปแล้ว ถ้าขาดไม่ติดตามนะ ไม่กำหนดรู้หนอนะ รับรองจิตพองหนอ ยุบหนอ จิตหนึ่งคิด หลายอย่างรวมกันเลยในเวลาเดียวกัน สมาธิดี แต่สติไม่เกิด คิดตั้ง 5-6 อย่างรวมเป็นอันเดียว อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เมื่อนั่งแล้วมานอน ถ้าสติครบวงจร หลับจะรู้เลยว่าหลับตอนพองหรือตอนยุบ มันจะบอกทันที มันจะเพลินนะ เพลินแล้วตั้งสติไว้ มันก็จะไม่หลับ พอสติครบวงจร แวบ พองหายไปเลย แล้วจะไม่รู้ข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น จะไม่รับสัมผัส จะไม่รับแขก แขกที่มาเยือนเราคือ รูป เสียง กลิ่น รส ปิดประตูแล้ว แขกไม่มา แต่อายตนะภายในรู้แน่ รู้ข้างในว่าเราจะพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด และตั้งสัจจะว่าข้าพเจ้าจะตื่นตีสี่ พอถึงตีสี่ปับสัมผัสทันที หูจะสัมผัสก่อน ขอให้ผู้ปฏิบัติจับไว้ให้เป็นหลัก จะรู้ได้เลย ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สังเกต ปล่อยไปตามอัธยาศัย ถึงเวลาก็เดินจงกรมแล้วก็นั่ง ไม่มีทางที่จะรู้รายละเอียด จะไม่เข้าใจด้วย
 
การพัฒนาปัจจุบัน หมายถึงเรามานั่งกรรมฐานพัฒนาความรู้ รู้เวทนา รู้กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา กายใน กายนอก มันปวดเมื่อยเหลือเกิน กำหนด ปวดหนอ ปวดหนอ กายนอกปวดมาก ที่เราต้องกำหนดเพื่อจะรู้กายใน เรียกว่ากายทิพย์ คือกายที่มีรูป นาม ขันธ์ห้า เป็นอารมณ์ มีสติครบวงจร พอมีสติดีแล้วจะรู้เลยว่า เวทนานี่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตก็คลายอุปาทาน ไม่ยึด กายปวดจะหายไปเลย เพราะเราไม่ได้ไปจับมัน อันนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา พอเรารู้จริงแล้วเป็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระไตรลักษณ์ก็คือวิปัสสนา รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้ของจริง ของจริงเรียกว่าวิปัสสนา ของไม่จริงคือการศึกษา เรียกว่าสมถะ ถือบัญญัติ เป็นอารมณ์ ถ้าเราจับได้นะ มีสติครบ เรียกว่า กายในกาย
 

เวทนาในเวทนาคืออะไร ปวดหนอ ปวดหนอ กำหนดไป อย่าเลิกนะ ปวดหนอเป็นสมถะ ถือบัญญัติเป็นอารมณ์ ความปวดเป็นอารมณ์ แต่เวทนาบังคับไม่ได้ มันเกิดเอง บังคับมันไม่ได้จะทำอย่างไร ก็ตั้งสติไว้ ปวดหนอ ยิ่งปวดหนัก อย่าหนี ศึกษาต่อไป พอศึกษาพบของจริงแล้ว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นพระไตรลักษณ์ อนิจจังเอ๋ยไม่เที่ยงเป็นทุกข์ จับทุกข์เป็นอนัตตา อนัตตาแปลว่าศูนย์ เป็นความจริงแล้ว ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรคงที่ คงวา คงศอก นั่นคือพระไตรลักษณ์ รูป นาม ขันธ์ห้า เป็นอารมณ์ พระไตรลักษณ์เป็นวิปัสสนา

ที่เราเดินจงกรมนี่เป็นสมถะทั้งนั้น ขวาย่างหนอ ยึดบัญญัติเป็นอารมณ์ ซ้ายย่างหนอ เป็นสมถะ พอจับจิตได้ จิตมีกี่ดวง จิตขวาและจิตซ้ายเป็นคนละดวงแล้ว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอขวาย่างหนอ จิตนี่ดับ ซ้ายย่างหนอ จิตเกิดใหม่แล้ว อ๋อ ขันธ์ห้า รูปนามเป็นอารมณ์ แยกรูปแยกนามได้ถึงจะเป็นวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจแยก ถ้าแยกได้ถึงจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ถ้าเราแยกรูปนามกันไม่ออก จะไม่รู้ว่าดีหรือชั่วเป็นประการใด ถ้าเราแยกออกจะรู้ว่าดีหรือชั่ว นั่นคือรูปนามขันธ์ห้าเป็นอารมณ์นั่นเอง อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เสียงเป็นอะไร หูเป็นอะไร คนละอันแท้ๆ เรากลับรับเสียงไม่ดีเข้ามา ถ้าจิตดีมีปัญญา จะไม่เอาเสียงชั่วมาไว้ในใจ จะไม่เก็บความโกรธไว้ในใจเลย ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาทำอย่างไร กำหนดโกรธหนอที่ลิ้นปี่ กำหนดให้ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความโกรธหายไปเลย เป็นการขัดเกลากิเลสของตนที่มันเกิดขึ้น ณ บัดนี้ เป็นข้าศึก เป็นศัตรูของเราอย่างชัดเจน

การปฏิบัติกรรมฐานเป็นการกำจัดศัตรูที่เกิดขึ้นมาในตัวเราให้เบาบางลงไป ถ้าผู้ปฏิบัติทำได้นะ นี่ปวด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านี้เองนะ ถ้าแยกไม่ได้ มันจะปวด รู้จริงถึงจะเป็นพระไตรลักษณ์ รู้ไม่จริงเป็นอัตตา หาได้เป็นอนัตตาไม่ จะเป็นพระไตรลักษณ์ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นพระไตรลักษณ์ไม่ได้มันก็ต้องปวดอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะเวทนาอยู่เป็นประจำ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายในกาย จับกายภายในให้ได้ทั้งนอกทั้งใน เวทนาในเวทนาคือจิตนี่เอง ไม่ไปยึดอุปาทาน เรียกว่าในเวทนา จิตในจิต จิตมีความคิด จิตมีปัญญา ปัญญาในตัว ปัญญาภายนอก นี่คือจิตในจิต จิตเป็นธรรมชาติต้องคิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เป็นเวลานานเหมือนเทปบันทึกเสียง ไม่มีตัวตนให้คลำ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตมีตั้ง 121 อารมณ์ ถ้าจับได้ เป็นจิตในจิต

ตัวอยากคือเจตสิก อยากดื่มน้ำ อยากทานอาหาร เจตสิกอาศัยหทัยเดียวกันเกิด มีหลายอย่าง ถ้าเรารู้จิตในจิตเกิดขึ้น คือเจตสิก ตัวหทัยอยากหยิบมันก็เป็นตัวอยาก ถ้าเราตั้งสติดีแล้ว รู้หยิบน้ำไปดื่ม ตั้งสติไว้ จิตในจิตก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป จิตเป็นธรรมชาติและกระแสไฟดังที่กล่าวมา
 
 
 

ธรรมในธรรม กุศล อกุศล กุศลคืออะไร อกุศลคืออะไร จะบอกออกมาชัดเจนมาก นั่นแหละเป็นภาคปฏิบัติโดยเฉพาะ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่เน้นตรงนี้ จะไม่รู้อะไรเลยนะ จะผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เห็นด้วยปัญญาเสียหน่อยได้ไหม สมาธิดี สติดี จะรู้ เข้าใจ ตัวรู้นั้นรู้จริง เข้าใจจริง แปลว่า รู้กาละ เทศะ กิจจะลักษณะ เป็นภูมิปัญญา

อาตมากล่าวอยู่เสมอ คิดหนอกำหนดตรงลิ้นปี่นี่ หายใจยาวๆ ถ้าหากว่าสติครบวงจร จะคิดออกมาเลย แปลว่าคิดออกมาได้ด้วยวงจรโดยอ่านหนังสือไม่ต้องมีตัว มันจะไหลออกมาทันที เรียกว่าตัวปัญญา ปัญญารอบรู้สิ่งที่เคยรู้ สิ่งที่ไม่เคยรู้ สิ่งที่เคยรู้ที่จะต้องแก้ไขปัญหา คิดหนอ รู้หนอที่ลิ้นปี่ เมื่อสมัยอาตมาคอหัก สติอยู่ที่ลิ้นปี่ มันอยู่ตรงนี้ แต่อาตมาไม่รู้ว่าปากพูดหรืออะไรพูด มันไม่รู้สึก แต่รู้สึกขึ้นมาตรงที่ลิ้นปี่ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้งตรงนี้นะ

เมื่อเกิดความโกรธกำหนดโกรธหนอ โกรธหนอ ที่ลิ้นปี่ พยายามอย่าฝากความโกรธความแค้นเคืองไว้ มันจะเป็นอารมณ์ค้าง ตอนเช้าจะไม่เกิดประโยชน์เลย ต้องแก้ไขขณะปัจจุบัน เรียกว่าภูมิปัจจุบัน

ถ้าเสียใจ เราปล่อยความเสียใจไว้มันจะเน่า เขาเรียกว่าสิ่งแวดล้อมเสีย พระพุทธเจ้านี่ยอดเลยสอนสิ่งแวดล้อม ต้องบำบัดน้ำเน่าในหัวใจก่อน นี่คือกรรมฐาน เป็นภูมิปัญญาที่กำจัดสิ่งแวดล้อมเสียในตัวออก พูดกับฝรั่งต้องพูดตรงนี้ นี่แหละพระพุทธเจ้าสอนชัด สิ่งแวดล้อมคืออะไร กำจัดน้ำเน่าออกจากหัวใจเสียให้ได้ ความเสียหายของชีวิต โลภ โกรธ หลง เป็นน้ำเสียที่หัวใจ มันเน่า แถมริษยาอีก ถ้ากำจัดน้ำเน่าตรงนี้ออกได้ อย่างอื่นดีหมด นี่คือกรรมฐาน

ญาติโยมทำกรรมฐานอย่าหวังผลไปสวรรค์นิพพาน เอาพื้นฐานนี่ก่อนได้ไหม บางคน เสียงหนอ มึงด่ากูหรือ วิ่งออกไปเลย พูดอยู่แค่นี้ยังไม่พอ จะออกไปฟังให้ใกล้ๆขึ้นอีก โกรธหนอ โกรธหนอ มึงด่ากูหนอ กูจะต้องตบมึงก่อนหนอ ถ้ากำหนดได้จะมีไปตบเขาไหม จะมีเรื่องไหม กำจัดน้ำเน่าออกเสีย

กรรมฐานทำให้เกิดปัญญา ปัญญาแปลว่ารอบรู้ทุกอย่าง รู้สิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ รู้กาละ เทศะ กิจจะ ลักษณะ รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ รู้สิ่งที่เป็นไปได้ตามความเป็นจริง รอบรู้อย่างนั้น และรู้บาป รู้บุญ รู้คุณ รู้โทษ อย่างนี้เรียกว่าตัวปัญญาพื้นฐาน

เห็นหนอ เห็นด้วยปัญญา อย่าไปเห็นด้วยกิเลส ถ้าเราขาดสติปัญญาจะเห็นเป็นกิเลสหมด จะมองคนในแง่ร้าย จะไม่มองคนในแง่ดีเลย ถ้าเรามีปัญญาดี สติครบวงจร 80% จะมองคนดีหมด จะไม่มองคนในแง่ร้าย เพราะทุกคนที่นั่งนี่มีดีทั้งหมด ไม่ใช่มีเสียทั้งหมด ถ้าคนมีจิตดีจะมองคนในแง่ดีก่อน ถ้าจิตเสีย จิตเน่า จะมองคนไม่ดีหมด

พระพุทธเจ้าสอนให้เกิด ภูมิรู้ อันดับหนึ่ง การเจริญกรรมฐานเป็นการศึกษาความรู้ รู้เส้นทางของชีวิต อ่านตัวให้ออก บอกตัวให้ได้ ใช้ตัวให้เป็น จะได้เห็นตัวตาย จะได้คลายทิฏฐิ จะได้ดำริชอบ จะได้ประกอบกุศล ได้ผลอนันต์ เป็นหลักฐานสำคัญ เอาตราชั่งขึ้นมาดู เอาตราชูขึ้นมาชั่ง ไม่ใช่มานั่งกรรมฐานไปสวรรค์นิพพานนะ

การเจริญกรรมฐานไม่มีทางจบ ไม่ใช่วิชาการ ถ้าใครบอกจบก็เป็นพระอรหันต์ จะบังอาจเกินไป เรียนความรู้วิชาการจบตามหน่วยกิตเท่านั้น แต่ความดีให้กันมันมีหมดหรือ มันไม่มีทางหมด ถ้าพูดประสบการณ์กับปัญหาต่างๆไม่มีทางจบ มันเป็นหน่วยกิตของชีวิต

ภูมิรู้เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของคนที่ต้องสร้าง 4 ประการ ได้แก่
1. 1. สิ่งที่ต้องเรียนให้รู้
2. 2. สิ่งที่ต้องละความชั่วทั้งหมด
3. 3. สิ่งที่ทำให้แจ้งถึงใจ
4. 4. สิ่งที่ต้องพัฒนา


กิจกรรมทั้งสี่ประการนี้เป็นกรรมฐานเบื้องต้น เรียกว่าภูมิรู้ เมื่อมีภูมิรู้แล้วสามารถแสดงพฤติกรรม ให้คนอื่นเขาเห็นได้ แยกความดี ความชั่วออกไป แล้วแสดงให้คนอื่นเขาเห็น ด้วยการเดิน ยืน นั่ง นอน คู้เหยียด เหยียดขา คนอื่นเขาเห็นดีชั่วประการใด จะบอกได้ชัดเจน พฤตินัย แปลว่าประสบการณ์ด้วยตนเอง เรียกว่าเส้นทางของชีวิตนำมาเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ได้ สอนอนุชนรุ่นหลังต่อไป เรียกว่าพฤตินัย นี่คือกรรมฐานทั้งนั้นเลย แล้วทำไมแยกไปสวรรค์ ไปนิพพาน น่าจะปฏิบัติพื้นฐานนี้ให้ได้ก่อน
 

อาตมาพูดอยู่เสมอว่า เดินตามกฎจราจรของชีวิต เรียกว่าเส้นทางของชีวิต ถึงจะถูกต้อง จะเกิด 5 ภูมิ ได้แก่ ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิฐาน ภูมิปัญญา และภูมิปัจจุบัน

ภูมิรู้ ได้แน่นอน เรียกว่ากิจกรรมต้องสร้าง แสวงหาความรู้ทุกอย่าง ต้องละทุกอย่าง ละแล้วยังไม่พอ ต้องทำให้แจ้งถึงใจ เรียกว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม นั่นคืออะไร ทำให้แจ้ง รู้แจ้งด้วยตนของตนเอง รู้แจ้งในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หาเหตุที่มาของทุกข์ได้ และดับทุกข์ได้ด้วย รู้จริง รู้เข้าใจ รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

แจ้งถึงใจนี่เป็นปัจจัตตัง ของใครของมัน อย่าไปเอาความรู้ของคนอื่นมา เป็นทิฏฐิมานะของคน จริตของคนไปเอาของเขามาไม่ได้ ความรู้เรียนทันกันได้ แต่โดยนิสัยปัจจัยเรียนทันกันไม่ได้ เป็นกฎแห่งกรรมจากการกระทำของตน ทำให้แจ้งถึงใจได้จากการนั่งกรรมฐาน รู้เฉพาะตัวของท่านเอง คนอื่นไม่รู้หรอก นี่แหละท่านจะแก้ไขปัญหาของท่านได้เอง

ความรู้เรียนทัน เป็นดอกเตอร์ด้วยกันได้ จะเรียนวิชาอะไรก็ตาม คณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์ จะเรียนวิชาไหนได้เหมือนกัน แต่ความดีของตัวเองที่จะแก้ปัญหาของชีวิตได้ไม่เหมือนกัน ต้องฝึกเอง ปฏิบัติเอง คือความดีส่งเสริมวิชาการให้ดีขึ้น เรียกว่าความรู้คู่กับความดี เป็นการพัฒนาภูมิรู้

ภูมิรู้คู่ความดีคือพัฒนาธรรม ภูมิธรรมเกิดขึ้นแล้ว ภูมิฐานก็เกิดขึ้น ฐานะจะดีมีปัญญา จะแก้ไขปัญหาได้ มีภูมิธรรมแล้วเกิดอะไร ที่แก้ไขปัญหาได้เพราะมีภูมิปัญญา ภูมิปัญญาเกิดขึ้นแล้วจะเกิด ภูมิปัจจุบัน เอาปัจจุบัน อดีตเป็นความฝัน ปัจจุบันเป็นความจริง อนาคตไม่แน่นอน ที่ผ่านมานี่เป็นความฝันทั้งหมด อย่าไปคิดมัน นี่เป็นภูมิปัจจุบัน เป็นข้อสุดท้าย
 

ขอให้นักกรรมฐานทั้งหลายถือปัจจุบันเป็นหลัก เรื่องเก่าอย่ารื้อฟื้น เรื่องของคนอื่นอย่านำมาคิด กิจที่ชอบทำ ไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ หยิกเล็บมันจะเจ็บเนื้อ อาตมาจึงเขียนขึ้นมาเป็นประสบการณ์ว่า ไปไหนปากอย่าไว ใจอย่าเบา เรื่องเก่าอย่ามารื้อฟื้น เรื่องของคนอื่นอย่านำมาคิด กิจที่ชอบทำ อนาคตไม่แน่นอน อย่าจับให้มั่น คั้นให้ตาย ผิดหวังจะเสียใจ

เห็นหนอ โปรดส่งกระแสจิตทางหน้าผาก อุณาโลมา ปจชายเต พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะมีตัว อุ ที่อุณาโลม เข้าหลักกับของอาตมาที่ได้จากขอนแก่น อุ ตัวนี้ อยากเรียนรู้ถามหญิงคันหูก อยากทำถูกถามเด็กเลี้ยงควาย คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียว เดินทางเดียวอย่าเหยียบรอยกัน นะอยู่หัว สามตัวอย่าละ นะอยู่ที่ไหนตามเอามาให้ได้ มะอะอุมาจากไหน สามตัวอย่าละมาจากไหน ศีล สมาธิ ปัญญา มะอะอุ อุอะมะ คือธาตุทั้งสี่ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้จากขอนแก่น หลวงพ่อในป่าขอนแก่นบอกไว้ชัดเจนมาก

ยืนหนอ 5 ครั้ง ท่านบอกว่า กรรมฐานต้องแปลว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนตั้งแต่ปลายท้าขึ้นมา ท่านถามว่า เธอบวชอุปัชฌาย์ให้กรรมฐานหรือเปล่า ถ้าไม่ได้กรรมฐานท่านจะไม่ให้ห่มผ้าอย่างนี้ ทำให้ได้หน่อยได้ไหม ถ้าได้แล้ว เห็นคนเดินมา เห็นหนอ มันจะสัมผัสบอก แขกที่มาเยือนเรานิสัยไม่ดี แขกคนนี้อย่านับถือ อย่าคบค้าสมาคม จะไปไม่รอด พอเห็นปับ สัมผัสเลย

ขอฝากนักกรรมฐานไว้ด้วยเป็นปัจจัตตัง ของใครของมัน ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ต้องได้จากการปฏิบัติขึ้นมา ถ้าได้แล้วจะได้ตลอดไป พอเห็นปับ มันจะบอกยี่ห้อ คนนี้คบได้หรือไม่ได้ แล้วเราจะรู้โดยปัจจัตตังว่า คนนี้เคยเป็นญาติกับเราไหม มันจะบอกชัด คนนี้เป็นศัตรูกับเรา ในเมื่อเป็นศัตรูกับเราแล้วแก้อย่างไร ก็แผ่เมตตาให้เป็นมิตรกับเรา อย่าไปเป็นศัตรูกับเขาเลย นี่วิธีแก้ หลวงพ่อในป่าบอกให้ทั้งนั้น จงแผ่เมตตาให้ศัตรูเป็นมิตรกับเรา เรารักกันอย่ารักด้วยกิเลส จงมองคนด้วยเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน เราจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่ามองคนในแง่ร้าย นี่คือกรรมฐาน
 

ญาติโยมที่มาปฏิบัติขอให้ทำตามนี้ แล้วเอาของดีถวายพระราชกุศล บรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าให้จงได้ ขอเน้นหลักนี้ให้แน่น อนาคตอย่าจับให้มั่น คั้นให้ตาย อันนี้เรียกว่าภูมิปัจจุบัน นั่งกรรมฐานนี้ให้ได้ภูมิปัจจุบันเป็นข้อสุดท้าย ถ้าโยมไม่มีภูมิรู้ ไม่มีภูมิธรรม ไม่มีภูมิฐาน ไม่มีภูมิปัญญา ภูมิปัจจุบันจะไม่รู้เรื่อง ปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้ คนเราถ้ามี 5 ภูมิ รับรองรู้จักนิสัยกัน จะไม่แหนงแคลงใจต่อกันเลย พี่จะรักน้อง น้องจะรักพี่ สร้างความดีให้พ่อแม่ จะไม่โกงกัน จะไม่แย่งสมบัติกันแน่

กรรมฐานสามารถต่ออายุได้ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายโปรดพิจารณาเดี๋ยวนี้ว่า เมื่อสมัยโบราณอาตมาบวชใหม่ๆ เขานิมนต์พระไปสวดต่อนาม พ่อแม่เขาป่วย นิมนต์พระไปสวดให้ฟัง อาตมาก็เป็นพระบวชใหม่ไม่รู้ก็สวดไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถามสมภารว่าต่อนามเป็นอย่างไร สมภารบอกว่าถ้าเราสวดแล้วเขาฟื้นจะมีชื่อเสียง แต่ถ้าเราไปสวดแล้วเขาตาย จะไม่มีใครมานิมนต์อีก อาตมาก็พยายามสวด นึกในใจขอให้เขาฟื้นหน่อยเถอะ เขาก็เกิดฟื้นขึ้นมา
 

ไปสวดต่อนามก็คือไปสอนกรรมฐาน อวิชา ปัจย สังขารา มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญจักขันธา รูปักขันโธ สวดคิริมานนท์สูตร ที่พระอานนท์สวดถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอาพาธ หายได้ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าเป็นยอดในโลกยังต้องรับฟัง ไปสวดต่อนามก็คือไปสวดสอนกรรมฐานนั่นเอง คนป่วยฟังรู้เรื่อง พนมมือฟัง สวดสอนกรรมฐานและสวดสติปัฏฐานสี่

สรุปใจความว่า การเจริญกรรมฐานเป็นการต่ออายุต่อนามของเราเอง ไม่ต้องไปหาหมอต่ออายุ ไม่ต้องไปหาหมอดูสะเดาะเคราะห์ใดๆ โบราณเขาบอกว่า หากเคราะห์หามยามร้ายสร้างพระเข้าตัว เลยจำผิดเป็นสร้างพระเท่าตัว สร้างถวายกันเกะกะศาลาเขาไปหมด สร้างพระเข้าตัวคือเอาพระมาไว้ในใจนี่ คือนั่งเจริญกรรมฐาน อายุมั่นขวัญยืน ต่ออายุได้ ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องด้วย
 

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว