พิมพ์หน้านี้ - การเลี้ยงปลาสวยงาม.........

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => สัตว์เลี้ยงน่ารัก... => ข้อความที่เริ่มโดย: Nattawut-LSV Team ที่ มิถุนายน 07, 2009, 11:56:48 AM



หัวข้อ: การเลี้ยงปลาสวยงาม.........
เริ่มหัวข้อโดย: Nattawut-LSV Team ที่ มิถุนายน 07, 2009, 11:56:48 AM
หลักการเลี้ยงปลาสวยงาม   

(http://learners.in.th/file/ninjatonkhow/post/1376/1144152241.jpg)

จากการที่การเลี้ยงปลาสวยงามมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆให้ทันสมัยดูสวยงามมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงปลาสวยงามกันมากขึ้น ซึ่งมีทั้งที่เลี้ยงเป็นงานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลิน เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมและเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ถึงแม้การเลี้ยงปลาสวยงามจะดูเป็นเรื่องง่าย แต่ก็มีผู้เลี้ยงหลายรายที่ประสบปัญหาปลาเกิดโรค และปลาตาย ทำให้ถึงกับเลิกเลี้ยงไปบ้างก็มี ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง ผู้เลี้ยงควรจะต้องทราบหรือเข้าใจเพื่อป้องกันความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น หรือผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นอาชีพ ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ ศึกษาหาความรู้ และประสบการณ์ในการเลี้ยงปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความสนใจ และหมั่นสังเกตุลักษณะอาการของปลาอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้
 

               สิ่งสำคัญที่ควรจะได้ทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง คือ ความเป็นอยู่ของปลาและลักษณะของการเลี้ยงปลาสวยงาม ที่กระทำกันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่แคบๆ ในสภาพขาดการเปลี่ยนแปลงน้ำ คุณภาพน้ำจะถูกควบคุมโดยขนาดและจำนวนสัตว์น้ำ กับปริมาณการให้อาหาร   กล่าวคือการเลี้ยงปลาสวยงามโดยทั่วไป เมื่อผู้เลี้ยงซื้อตู้ปลาและปลามาจัดเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีแต่การให้อาหารปลาเท่านั้น มักจะไม่มีการถ่ายเทน้ำหรือเปลี่ยนน้ำในตู้เลี้ยงปลา แต่ที่เห็นว่าปลามีลักษณะอาการสดชื่นเป็นปกติ และเห็นน้ำใสสะอาด เนื่องจากมีระบบการเพิ่มอากาศ(ออกซิเจน)และมีการกรองน้ำด้วยระบบต่างๆ ซึ่งผู้เลี้ยงได้รับการแนะนำมาจากผู้ขายจากร้านขายปลาสวยงามนั่นเอง จากสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวถึงแม้จะดูเหมือนว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับปลาที่เลี้ยง แต่ถ้าผู้เลี้ยงปล่อยปละละเลยไม่ทำความสะอาดระบบกรองเลย จะพบว่าปลาที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตน้อยมาก คือขนาดตัวยังเท่าเดิม สีสันไม่สดใสแต่กลับจะซีดลง จนถึงระยะหนึ่งปลาจะมีอาการผิดปกติ เกิดการติดเชื้อ แล้วปลาส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดจะตายไป

          ดังนั้นหากผู้เลี้ยงได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจเรื่องความต้องการของปลา และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ปลาสวยงามที่เลี้ยงมีความสมบูรณ์ สวยงาม หรือประสบผลสำเร็จในกิจการเลี้ยงปลาสวยงามได้

1.      การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยง  
การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงภายในตู้ใดตู้หนึ่ง ผู้เลี้ยงจะต้องเลือกปลาให้ถูกต้อง จึงจะทำให้ได้ปลาสวยงามไว้ดูตามที่ต้องการ โดยที่ไม่มีภาระยุ่งยากจนเกินไป หลักการสำคัญสำหรับการเลือกชนิดปลามีดังนี้
   1.1 ชนิดของปลาสวยงามที่จะเลือกเลี้ยง การเลือกชนิดปลานั้นย่อมต้องขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล เนื่องจากปลาสวยงามที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันมีมากมายถึง 100 กว่าชนิด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นว่าสวยงามทั้งหมด ดั้งนั้นการเลือกชนิดปลาก็จะขึ้นกับความชอบของแต่ละคนเป็นหลัก โดยอาจใช้หลักต่อไปนี้ช่วยพิจารณาด้วย คือ

       1.1.1 ความสวยงามกับปัจจัยการเลี้ยง ความสวยงามของปลามีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปบางคนอาจชอบปลาขนาดเล็กๆที่มีสีสันฉูดฉาด ว่ายน้ำไปมาตลอดเวลา เช่นพวกปลาหางนกยูงปลาสอด และปลาซิวชนิดต่างๆ บางคนอาจชอบปลาที่ว่ายน้ำช้าๆดูสง่างาม เช่นปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา หรือบางคนอาจชอบปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาออสการ์ ปลามังกร ปลากราย และปลาแรด ปลาที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้บางชนิดมีความต้องการความจำเพาะในระหว่างการเลี้ยง เช่นปลานีออน และปลาปอมปาดัวร์ ต้องการอุณหภูมิน้ำค่อนข้างสูง ทำให้ต้องมีการใช้เครื่องให้ความร้อนช่วยในช่วงฤดูหนาว มิฉะนั้นปลาจะตายได้ง่าย ปลาบางชนิดต้องการอาหารที่มีชีวิตหรืออาหารสด เช่นปลามังกร ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจการเตรียมอาหารไว้ให้ปลา ปลาบางชนิดเป็นปลาขนาดใหญ่ เช่นปลามังกร ปลาออสการ์ ปลากราย และปลาแรด จำเป็นต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่ ดังนั้นการเลือกชนิดปลาอาจทำให้เกิดภาระแก่ผู้เลี้ยงมากเกินกว่าที่คาดคิดไว้ จึงควรที่จะต้องศึกษาข้อมูลของปลาที่ต้องการเลี้ยง โดยอาจหาอ่านจากเอกสาร ตำราซึ่งมีผู้เขียนออกมาจำหน่ายกันมากขึ้น หรือสอบถามจากร้านขายปลาสวยงามก็จะช่วยให้เลือกปลาได้อย่างเหมาะสม
       1.1.2 ความหลากหลาย ผู้เลี้ยงควรจะต้องรู้ว่าปลาที่ต้องการเลี้ยงนั้นมีความหลากหลายทางสายพันธุ์อย่างไรบ้าง เนื่องจากปลาเป็นสัตว์ที่ให้ลูกในแต่ละครั้งได้เป็นจำนวนมาก และสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือข้ามพันธุ์ได้โดยการดำเนินการของมนุษย์ ทำให้ปลาบางกลุ่มหรือบางชนิดค่อนข้างมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ดังนั้นลักษณะของปลาที่เห็นนั้นอาจไม่ใช่ลักษณะแท้ของสายพันธุ์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น ปลาทอง ปลาเทวดา ปลาหางนกยูง และปลาสอดชนิดต่างๆ จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากปลาเหล่านี้มีการเพาะเลี้ยงกันมานาน และมีการคัดลักษณะเด่นของลูกปลาที่ได้นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ หรือผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาจากแหล่งอื่นๆ ทำให้ได้ปลาที่มีรูปทรง สีสัน และลักษณะครีบแตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงปลาหลายรายที่หลงเชื่อซื้อปลาลักษณะเด่นๆตามที่ต้องการ เพื่อนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ แต่เมื่อดำเนินการเพาะพันธุ์แล้ว พบว่าลูกปลาที่ออกมาจะมีรูปร่างหลายลักษณะเช่นกัน ดังนั้นควรจะได้ศึกษาว่าปลาชนิดใดหรือกลุ่มใดมีความหลากหลายทางสายพันธุ์อย่างไรบ้าง หากนำมาเลี้ยงปะปนกันแล้วจะทำให้เกิดปัญหาการผสมข้ามสายพันธุ์ได้หรือไม่
1.1.3  ความต้องการของตลาด หากจะดำเนินการเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องศึกษาการตลาดของปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ว่ามีความต้องการปลาสวยงามชนิดใด ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ง่าย เช่น ปลากัด และปลาหางนกยูง เป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการสูงมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ ร้านขายปลาสวยงามที่เปิดขายในจังหวัดต่างๆนั้น จะไม่ดำเนินการเพาะเลี้ยงปลากัด และปลาหางนกยูงขึ้นมาเอง แต่จะเข้าไปหาซื้อมาจากกรุงเทพฯ ดังนั้นการดำเนินการเพาะเลี้ยงปลากัด และปลาหางนกยูง ตามจังหวัดต่างๆ ก็น่าที่จะสามารถหาตลาดได้ไม่ยากนัก ตัวอย่างเช่นในจังหวัดขอนแก่น มีความต้องการปลากัดเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 10,000 ตัว

(http://learners.in.th/file/ninjatonkhow/jj004.jpg)

1.2 นิสัยของปลาสวยงาม  จากจำนวนปลาสวยงามที่มีอยู่มากมาย การเลือกเลี้ยงปลาสวยงามนอกจากจะเลือกที่ความสวยงามแล้ว ยังต้องศึกษานิสัยของปลาให้รอบคอบด้วย เนื่องจากปลาบางชนิดจะมีนิสัยดุร้าย เกเร หากนำไปเลี้ยงปะปนกัน อาจมีปลาบางชนิดที่ถูกทำร้ายหรือถูกจับกินเป็นอาหารได้ หลักการพิจารณานิสัยของปลามีดังนี้
      

1.2.1 นิสัยการกินอาหารของปลา การเลือกเลี้ยงปลาสวยงามควรจะต้องรู้ว่าปลาที่จะเลี้ยงนั้นปกติกินอาหารประเภทใดเป็นหลัก ซึ่งจากจำนวนชนิดปลาสวยงามที่มีอยู่มากมายนั้น จะเห็นความแตกต่างของลักษณะอาหารที่ปลาชอบกินได้อย่างเด่นชัด การจัดแบ่งกลุ่มนิสัยการกินอาหารของปลามีดังนี้
         (1) ปลากินพืช(Forage or Herbivorous Fishes) หมายถึงปลาที่ปกติจะหากินพวกพืชเป็นอาหารหลัก เช่น กินรากหรือใบพืช รวมทั้งตะไคร่น้ำ ตัวอย่างปลาพวกนี้ ได้แก่ ปลาสร้อย และปลาตะเพียนชนิดต่างๆ ปลากลุ่มนี้สามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปได้ดี
         (2) ปลากินเนื้อ(Carnivorous Fishes) หมายถึงปลาที่ปกติจะหากินพวกเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก ซึ่งมีทั้งที่ชอบไล่ล่าเหยื่อที่มีชีวิตหรือกัดแทะซากของสิ่งมีชีวิต ปลาพวกนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกดังนี้
•ปลาล่าเหยื่อ(Piscivores or Predator) เป็นปลาที่ชอบไล่ล่าเหยื่อที่มีชีวิต จัดว่าเป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย อาหารในธรรมชาติจะเป็นลูกปลา ปลาขนาดเล็ก กุ้ง ลูกกบ และลูกเขียด ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ เช่น ปลามังกร ปลากราย ปลาตองลาย ปลากระทิง ปลาชะโด ปลาเสือตอ ปลาบู่ ปลาปักเป้า และปลา Gar (ปลาต่างประเทศ) ปลาพวกนี้หัดให้กินอาหารสำเร็จรูปค่อนข้างยาก ยังคงชอบกินอาหารมีชีวิต ผู้เลี้ยงต้องซื้อปลาเหยื่อมาใช้เลี้ยง หรือพยายามหัดให้กินเนื้อปลาสดหั่นเป็นชิ้นๆก็สามารถทำได้
•ปลาแทะซาก(Scavenger) เป็นปลาที่กินอาหารประเภทเนื้อแต่เป็นพวกที่ตายแล้ว ชอบกัดแทะหรือฮุบกินทั้งชิ้น ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ เช่น ปลากด ปลาแขยง และปลาดุก ปลาพวกนี้ให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ดี
(http://learners.in.th/file/ninjatonkhow/spd_20071009114233_b.jpg)

•ปลากินแมลงและตัวอ่อนของแมลง(Insectivores) เป็นปลาที่ชอบกินอาหารที่มีชีวิตเช่นกัน แต่เป็นพวกตัวอ่อนของแมลงหรือแมลงขนาดเล็กต่างๆ เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไรแดง มวนวน และมวนกรรเชียง ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ได้แก่ ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเสือพ่นน้ำ และปลากัด ปลาพวกนี้ปกติหัดให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ยาก แต่เนื่องจากมีการเลี้ยงมาหลายชั่วอายุของปลา ทำให้ปลากินอาหารสำเร็จรูปได้ดีขึ้น เช่น ปลาเทวดา และปลากัด ส่วนปลาปอมปาดัวร์ และปลาเสือพ่นน้ำ ถ้าเลี้ยงไว้จำนวนหลายตัวก็จะสามารถหัดให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ เนื่องจากจะมีปลาตัวใดตัวหนึ่งขึ้นกิน แล้วตัวอื่นที่เห็นจะขึ้นกินตามกัน แต่เมื่อซื้อมาเลี้ยงเพียงไม่กี่ตัวจะไม่ค่อยยอมกินอาหารสำเร็จรูป อาจต้องให้อาหารพิเศษ เช่น หนอนแดงอบแห้ง หรืออาหารสำเร็จรูปชนิดพิเศษ
•ปลากินแพลงตอนสัตว์(Zooplankton Feeder) เป็นปลาที่ชอบกินพวกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้แก่ ไรน้ำชนิดต่างๆ ตัวอย่างปลากลุ่มนี้ได้แก่ พวกปลาสวยงามที่มีขนาดเล็ก เช่นปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาม้าลาย ปลานีออน และปลาซิวอื่นๆ ปลาพวกนี้ให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ดี ซึ่งในปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดเล็กพิเศษเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารปลาพวกนี้

(3) ปลากินทั้งเนื้อและพืช(Omnivorous Fishes) หมายถึงปลาที่ไม่เจาะจงชนิดของอาหารสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพรรณไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลง ลูกกุ้ง และลูกปลาขนาดเล็ก ตัวอย่างปลาพวกนี้ได้แก่ ปลาทอง ปลาคาร์พ และปลาหมอชนิดต่างๆ ปลาพวกนี้ค่อนข้างตะกละหากินอาหารตลอดเวลา จึงให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ดีมาก





       1.2.2 การอยู่ร่วมกัน ผู้เลี้ยงปลาสวยงามส่วนใหญ่มักนิยมเลี้ยงปลาหลายชนิดภายในตู้เดียวกัน เพื่อจะได้เห็นปลาหลายลักษณะและหลายสีสัน ถึงแม้ปลาที่เลือกเลี้ยงจะไม่ถูกระบุว่าเป็นปลาที่ล่าเหยื่อหรือทำอันตรายปลาอื่น แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่ามีปลาบางชนิดมีการทำอันตรายกันเสมอ ทำให้ปลากลุ่มหนึ่งถูกทำลายหรือเกิดการติดเชื้อจนตายได้ ตัวอย่างเช่นการเลี้ยงปลาทองร่วมกับปลาหางนกยูงและปลานีออน ถ้าปลาทองมีขนาดเล็กก็จะไม่ทำอันตรายปลาทั้งสองชนิด แต่เมื่อปลาทองมีขนาดใหญ่ขึ้น จากนิสัยที่กินอาหารเก่งและมักว่ายน้ำหาอาหารตลอดเวลา ก็มักจะทำอันตรายปลาหางนกยูงและปลานีออนจนตาย โดยเฉพาะเวลากลางคืนเมื่อปิดไฟปลาทั้งสองชนิดจะเชื่องช้า ทำให้ถูกทำอันตรายได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นลูกปลาก็มักจะถูกปลาทองไล่จับกินอย่างง่ายดาย แต่ถ้านำปลาทองไปเลี้ยงร่วมกับปลาสอดชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาหางดาบ ปลาสอดแดง ปลาสอดดำ หรือปลาเซลฟิน ซึ่งปลาเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าปลาหางนกยูง และค่อนข้างมีความว่องไว พวกปลาสอดจะกลายเป็นตัวทำอันตรายปลาทอง ถึงแม้ว่าปลาสอดจะมีขนาดเล็กกว่าปลาทองมาก แต่จากการที่มีความว่องไวและมักเข้าไปกัดแทะหรือตอดตามตัวและครีบของปลาทอง จะค่อยๆทำให้ปลาเกิดบาดแผล หรือปลาที่มีบาดแผลอยู่แล้วก็ยิ่งชอบเข้าไปกัดแทะบริเวณแผลเพื่อกินเนื้อเยื่อ ทำให้ปลาบอบช้ำเนื่องจากแผลไม่หายและมักขยายลุกลามติดเชื้ออื่นๆมากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงปลาทองร่วมกับปลาสอด ผู้เลี้ยงจึงมักพบว่าปลาทองเกิดแผลเป็นโรครักษายากและมักตายไป หรือการเลี้ยงปลาเสือสุมาตราร่วมกับปลานีออน ปลาเสือสุมาตราจะค่อนข้างมีความดุร้ายในฤดูกาลผสมพันธุ์ ก็มักจะทำอันตรายปลานีออนจนตายได้ จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาพิจารณาให้รอบคอบ




   1.3 ความอดทนของปลา ปลาแต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ต่างกัน จากการที่ปลาสวยงามถูกนำมาเลี้ยงไว้ในพื้นที่แคบๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกระทันหันย่อมเกิดได้ตลอดเวลา เช่น การให้อาหารมากเกินไปจนเศษอาหารไปหมักหมมบูดเน่าอยู่ในวัสดุกรอง หรือการเปลี่ยนน้ำใหม่โดยขาดประสบการณ์ เติมน้ำที่มีคลอรีนสูงมากเกินไป หรือปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องทำให้เครื่องให้อากาศและระบบกรองน้ำไม่ทำงาน ซึ่งหากเกิดเป็นเวลานานเกินกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป ปริมาณออกซิเจนจะลดต่ำลง ปลาจะได้รับอันตรายมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นกับขนาดและจำนวนปลาที่เลี้ยง ดังนั้นการเลือกชนิดปลาก็ยังอาจต้องพิจารณาถึงความอดทนของปลาประกอบด้วย เช่น ปลาหางไหม้ และปลานีออน ถูกกระทบจากปริมาณคลอรีนจนมีผลทำให้ปลาตายได้อย่างง่ายดาย ปลาปอมปาดัวร์ และปลานีออน ไม่อดทนต่อสภาพอุณหภูมิต่ำ กลุ่มปลาตะเพียน ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลาทอง ปลาคาร์พ และปลาสร้อยชนิดต่างๆ ไม่อดทนต่อสภาพการขาดออกซิเจน สำหรับปลาที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี จัดว่าเป็นปลาที่มีความอดทนไม่ตายง่ายๆก็มีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาสอดชนิดต่างๆ ปลากระดี่ชนิดต่างๆ ปลาชะโด และปลาแรด นอกจากนั้นยังอาจใช้วิธีการป้องกันร่วมด้วย เช่น ใช้เครื่องให้ความร้อน (Heater) ควบคุมอุณหภูมิในฤดูหนาว หรือเตรียมเครื่องให้อากาศที่ใช้ไฟจากถ่านไฟฉายสำรองไว้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ปลาได้
   1.4 การขยายพันธุ์  การแพร่พันธุ์ของปลาค่อนข้างแตกต่างจากการแพร่พันธุ์ของสัตว์บกโดยทั่วไป คือปลาส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นไข่ และเป็นการผสมพันธุ์ภายนอกตัวแม่ โดยพ่อแม่พันธุ์ปลาจะปล่อยน้ำเชื้อและไข่ออกมาผสมกันในน้ำ นอกจากนั้นลักษณะของไข่ปลายังมีรูปแบบแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ซึ่งประเภทของไข่ปลาและวิธีการเพาะพันธุ์ปลาจะได้กล่าวโดยละเอียดในหัวข้อการเพาะพันธุ์ปลา สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องศึกษาวิธีการเพาะและอนุบาลลูกปลาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ดีขึ้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก หากต้องการเห็นลูกปลาที่เกิดจากปลาที่เลี้ยงไว้เอง ก็อาจจะต้องเลือกปลาที่มีการแพร่พันธุ์อย่างง่ายๆ และลูกปลามีอัตราการรอดดีเนื่องจากกินอาหารได้ง่าย ซึ่งจะได้แก่กลุ่มปลาที่ออกลูกเป็นตัว ปลาพวกนี้มีจำนวนชนิดอยู่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาที่มีจำนวนไข่หรือลูกไม่มาก เมื่อเทียบกับปลาที่ออกลูกเป็นไข่ แต่ปลาพวกนี้มักจะออกลูกได้เกือบตลอดปี โดยจะออกลูกครั้งละ 30 - 100 ตัว ลูกปลาที่คลอดออกมาจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับลูกปลาของปลาที่ออกลูกเป็นไข่ และค่อนข้างมีความแข็งแรง ว่ายน้ำหลบหนีศัตรู(ซึ่งรวมทั้งพ่อแม่ของตัวเอง)ได้ทันทีที่คลอดออกจากท้องแม่ปลา ตัวอย่างของปลาที่ออกลูกเป็นตัวได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาสอดชนิดต่างๆ และปลาเข็ม                                                                                                                      
                                                                                                
2 วิธีการเลือกซื้อปลาสวยงาม


(http://learners.in.th/file/ninjatonkhow/jj003.jpg)

    

               เมื่อตัดสินใจว่าจะเลี้ยงปลาสวยงามและได้ตัดสินใจเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงแล้ว ขั้นตอนสำคัญอันดับต่อไปคือการไปร้านขายปลาสวยงาม เพื่อเลือกซื้อปลาที่ต้องการมาเลี้ยง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากได้ปลาที่ไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ หรือมีเชื้อโรคติดมา ปลาที่ซื้อมาเลี้ยงอาจตายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หรืออาจต้องทนเลี้ยงปลาที่ไม่สมสัดส่วนหรือไม่สมประกอบไปอีกนาน วิธีการเลือกซื้อปลาควรจะพิจารณาสิ่งต่อไปนี้

2.1 ควรเลือกซื้อปลาในเวลากลางวัน เนื่องจากจะสังเกตสีสันที่แท้จริงของปลาได้ดี แต่ในปัจจุบันการจัดตู้ปลามีความทันสมัยมากขึ้น โดยร้านขายปลาสวยงามมักจะติดหลอดไฟพวกแสงสะท้อน แล้วเปิดไว้ตลอดเวลาเพื่อทำให้เห็นปลามีสีสดใสมากกว่าที่เป็นจริง
2.2 สังเกตสภาพของตัวปลา คือเลือกปลาที่ไม่มีร่องรอยความบอบช้ำ เช่นเกล็ดหลุด ครีบแหว่ง หรือมีแผลตามลำตัว เพราะอาจเป็นปลาที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการลำเลียง หรือมีการระบาดของโรคพยาธิเกิดขึ้น ถ้าเลือกซื้อปลาที่บอบช้ำมาเลี้ยงอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ ยิ่งถ้ามีการระบาดของโรคพยาธิอยู่แล้ว ปลาที่เลือกซื้อมาก็มักจะตายหมด
2.3 สังเกตลักษณะการว่ายน้ำหรือการทรงตัวของปลา ควรสังเกตว่าชนิดปลาที่จะซื้อมีลักษณะการว่ายน้ำอย่างไร เช่น พวกปลานีออน ปลาเสือสุมาตรา ปลาสอด และปลาซิวชนิดอื่นๆ มักชอบว่ายน้ำวนเวียนไปมาตลอดเวลาบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ต้องไม่เซื่องซึมลงไปพักอยู่ก้นตู้หรือลอยตัวอยู่แต่ผิวน้ำ พวกปลาเทวดา และปลาปอมปาดัวร์ ชอบว่ายน้ำช้าๆลักษณะเป็นสง่า ต้องไม่ไปซุกตามหินหรือมุมตู้
2.4 สังเกตลักษณะการกางของครีบต่างๆ คือปลาปกติที่ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือการเกิดโรค จะกางครีบออกเกือบตลอดเวลา แต่ปลาที่มีอาการผิดปกติมักจะหุบครีบลู่ติดตัวไม่ค่อยกางออก
2.5 สังเกตสีสันของปลา ควรสังเกตเปรียบเทียบปลาในกลุ่มเดียวกัน ปลาที่มีสีสันสดเข้มกว่า ลวดลายเด่นชัด ย่อมมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแกร่งกว่า
2.6 สังเกตความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ควรเป็นปลาที่มีอวัยวะครบถ้วนตรงตามชนิด ลำตัวโดยเฉพาะคอดหางไม่คดงอ ครีบไม่โค้งพับหรือขาดหายไป
2.7 สังเกตว่าไม่มีปลาตายปะปนอยู่ในตู้ปลาที่จะเลือกซื้อ หรือไม่มีปลาที่แสดงอาการติดเชื้อปะปนอยู่
นอกจากนั้นเมื่อนำปลามาปล่อยเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้แล้ว หากพบว่าปลาตัวใดมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกปลาดังกล่าวออกไปเลี้ยงต่างหาก จนแน่ใจว่าอาการดีเป็นปกติจึงค่อยนำกลับมาปล่อยเลี้ยงในตู้ต่อไป

(http://learners.in.th/file/ninjatonkhow/jj001.jpg)
3 วิธีการเลี้ยงปลาสวยงาม          
     ปลาสวยงามแต่ละชนิดมีความต้องการปัจจัยในการเลี้ยงต่างกัน ดังนั้นหากต้องการให้ปลาที่เลี้ยงมีความสวยงาม แข็งแรง และเจริญเติบโตดีตามต้องการ ควรพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้
3.1 ภาชนะสำหรับเลี้ยงปลา ปลาสวยงามแต่ละชนิดจะมีความสวยงามมากขึ้น หากเลือกภาชนะในการเลี้ยงได้ถูกต้องเหมาะสม เช่น ปลาคาร์พ และปลาอะราไพม่า เหมาะที่จะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ภายนอกอาคาร ปลาแรด และปลามังกร เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้กระจกขนาดใหญ่และเลี้ยงเพียงตัวเดียวโดดๆ ปลานีออน ปลาก้างพระร่วง ปลาตะเพียนทอง ปลาเสือสุมาตรา ปลาม้าลาย ปลาซิวข้างขวาน ปลาหางนกยูง และปลาสอด เหมาะที่จะเลี้ยงในตู้กระจกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยเลี้ยงเป็นฝูงจะยิ่งทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ส่วนปลากัด เหมาะสำหรับเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กเช่นขวดเหลี่ยม หรือขวดโหลรูปทรงต่างๆ
3.2 สถานที่ คือการเลือกที่สร้างบ่อหรือที่จัดวางตู้ปลา พร้อมอุปกรณ์ประกอบอื่นๆให้เหมาะสมสอดคล้องกับอาคาร หรือลักษณะของห้อง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด มุมใด หรือห้องใด เพราะเมื่อสร้างบ่อหรือจัดวางตู้เรียบร้อยแล้ว หากเกิดเปลี่ยนใจอยากเปลี่ยนสถานที่ใหม่ จะมีความยุ่งยากในการเคลื่อนย้าย เพราะต้องมีการถ่ายน้ำออกและเคลื่อนย้ายปลา มักมีผลทำให้ปลาบอบช้ำหรือตู้เลี้ยงปลาชำรุดแตกร้าวได้ง่าย โดยเฉพาะหากทำให้ตู้ปลาเกิดการรั่วซึม ก็จะทำให้เกิดปัญหากับบริเวณข้างเคียง หรือการซ่อมแซมตู้อาจทำให้ความสวย

ที่มาการเลี้ยงปลาสวยงาม (http://learners.in.th/blog/aummmblog/206781)
 wav!!  wav!!  wav!!