การจัดห้องพระ เพื่อเป็นสิริมงคล
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การจัดห้องพระ เพื่อเป็นสิริมงคล  (อ่าน 60563 ครั้ง)
ANR
Senior Member
member
*

คะแนน101
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 64


« เมื่อ: มิถุนายน 17, 2008, 08:12:19 PM »

การจัดห้องพระ เพื่อเป็นสิริมงคล


ห้องพระ เป็นห้องอีกห้องหนึ่งที่สำคัญของบ้านชาวพุทธที่มีมาแต่โบราณ การอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าประดิษฐาน ณ ที่ใด เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ตามพระบาลีกล่าวว่า “พุทธัปปมุโข ภิกขุสังโฆ” แปลว่า พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยความเป็นประธาน แต่การใช้ห้องพระ กลับเป็นห้องที่มีคนใช้น้อยกว่าห้องอื่นๆ เช่นห้องนั่งเล่น ดูทีวี ห้องฟังเพลง ห้องออกกำลังกาย ห้องคาราโอเกะ ฯลฯ และคนที่ใช้ก็มักจะเป็นคนที่สูงอายุแล้วเท่านั้น จะหาเด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ ใช้กันน้อยเหลือเกิน เพราะเรานับถือพุทธกันไม่ถูกวิธี ใกล้เกลือกินด่าง สิ่งดีๆไม่รู้จักใช้



การที่ห้องพระ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเยาวชนนั้น ก็ต้องโทษผู้ใหญ่ด้วยอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่รู้จักสอนลูกหลานในทางที่ควร อาจเป็นไปได้ว่าคนไทยสมัยก่อน ใช้ห้องพระเหมือนกับเป็นที่เก็บพระเท่านั้น หรือการไหว้พระก็จะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หรือคนแก่ ไม่ใช่เรื่องของคนทั้งบ้าน ในการจัดห้องพระตอนนี้ ผมจึงอยากให้มีมิติใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง คือใส่ function ของห้องพระเพิ่มขึ้น ไม่ใช่คิดในแง่ของการตั้งที่บูชาพระอย่างเดียว แต่ห้องพระ น่าจะเป็นห้องที่เราใช้ปฏิบัติธรรม เป็นปฏิบัติบูชา เป็นที่ทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส เยือกเย็น อย่างน้อยก็เป็นที่สวดมนต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่สวดนะโมสามจบก่อนนอนเท่านั้น ตอนเด็กๆผมอยู่โรงเรียนประจำ ก่อนนอนครูต้องให้สวดมนต์ก่อนทุกครั้ง สมัยนี้ไม่รู้ว่าจะยังมีอยู่หรือเปล่า



การจัดโต๊ะหมู่แบบดั้งเดิม

บ้านหลังใหญ่ๆมีห้องออกกำลังกายหรือบริหารร่างกายได้ ก็น่าจะมีห้องที่บริหารจิต เสียอีกห้องหนึ่ง และชักชวนกันทำทั้งครอบครัว ห้องพระที่ผมว่า จึงน่าจะมีขนาดใหญ่สักหน่อย เพื่อให้สามารถนั่งกันได้หลายคน ไม่ใช่ทำแค่ห้องเล็กๆที่พอวางหิ้งพระ นั่งจุดธุปเสร็จแล้วก็ไปนอน ส่วนบ้านที่มีขนาดเล็ก ไม่พอทำห้องพระ ก็ต้องจัดวิธีอื่น ซึ่งจะมาว่ากันทีหลังต่อไปครับ

การกำหนดห้องพระให้อยู่ส่วนไหนของบ้านนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่หลายประการ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และใช้หลักเหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีเรื่องของจิตวิญญาณและคติความเชื่อมาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเรื่อง “ฮวงจุ้ย” ที่พิจารณาในแง่ของพลังงานธรรมชาิติ ห้องพระคือสถานที่ ที่มีการตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีการจุดธูป จุดเทียน หรือ ติดไฟสีแดง ซึ่งเป็นพลังธาตุไฟตามหลักการของฮวงจุ้ย จึงทำให้จุดนั้นมีพลังธาตุไฟมากกว่าปกติ ก็จะมีข้อห้ามอยู่บ้าง แต่ผมจะเอามาสรุปรวมกันเลยเพื่อความสะดวกในการเป็นแนวทางการสร้าง หรือตกแต่ง เพื่อให้ง่ายต่อผู้ที่ไม่ใช่สถาปนิก สามารถเรียนลัด เอาหลักการไปใช้ได้เลย

1. ห้องพระวางชั้นบนดีกว่าชั้นล่าง การกำหนดผังบ้าน พยายามเลือกวางห้องพระเอาไว้ชั้นบนสุด ไม่ว่าบ้านจะกี่ชั้นก็ตาม เพราะพระเป็นของสูง เป็นที่สักการะบูชา การวางต่ำกว่าคนในบ้าน หรือมีความรู้สึกว่าอยู่เหนือหรือเดินข้าม หรือนอนคล่อม ก็จะทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นมงคล แม้แต่หันปลายเท้าใส่ตำแหน่งของพระก็ไม่ดีแล้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะวางห้องพระชั้นล่างไม่ได้ เพียงแต่ว่า การวางห้องพระชั้นล่าง จะมีข้อจำกัดมากมายขึ้น การหาตำแหน่งในการวางห้องพระจึงค่อนข้างจะยาก นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาห้องที่อยู่ชั้นบนเหนือขึ้นไป อีกด้วยว่า ห้องที่ตรงกับห้องพระชั้นล่าง เป็นห้องอะไร ถ้าเป็นห้องส้วม ห้องนอน ก็ไม่เหมาะสม ควรจะเป็นห้องว่าง ที่ไม่มีคนอยู่ถึงจะใช้ได้ หรือห้องนอนตรงกับห้องพระชั้นล่าง ถ้าพระตรงกับเตียงก็ถือเป็นข้อห้ามเช่นกัน

2. ห้องพระไม่ควรต่ำกว่าห้องอื่น กรณีที่เป็นบ้านเล่นระดับ ห้องพระจะต้องเลือกวางในตำแหน่งที่สูงกว่าห้องอื่นๆ โดยเฉพาะห้องที่มีคนอยู่ เพราะโดยหลักแล้ว คนห้ามนอนสูงกว่าพระ แม้แต่พระสงฆ์ เรายังถือกันเลยว่า ไม่ควรอยู่เสมอ ควรอยู่ต่ำกว่า แม้กระทั่งมีพรมรองก็ยังดี แล้วนี่เป็นพระพุทธรูปยิ่งควรจัดห้องที่สูงกว่าเสมอ

3.ห้องพระควรอยู่ในตำแหน่งที่มีการระบายอากาศได้ดี เพราะการบูชาพระ จะต้องจุดธูปเทียน มีควันธูป การจะไหว้พระ สวดมนต์ ก็จะได้กระทำอย่างมีสมาธิ ไม่มีอะไรรบกวน

4. ห้องพระต้องอยู่ในทำเลที่สงบ เป็นมุมที่ไม่พลุกพล่าน เพราะห้องพระต้องการความสงบนิ่ง ไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งที่วุ่นวาย เช่น ติดกับห้องเอนเตอร์เทน ที่มีเสียงดังจากทีวี วิทยุ ห้องครัว ซึ่งนอกจากมีเสียงทำกับข้าวแล้ว ยังมีกลิ่นมารบกวนความสงบอีกด้วย หรือห้องรับแขกที่มีเสียงคุยกัน เพราะฉะนั้น การเลือกวางห้องพระเอาไว้ชั้นบน ก็น่าจะหามุมสงบได้ง่ายกว่า เพราะจะมีแต่ห้องนอนเป็นส่วนใหญ่ หรือในกรณีที่จะเลือกด้านหน้าบ้านกับหลังบ้าน ทางฮวงจุ้ยถือว่าตำแหน่งหน้าบ้านเป็นตำแหน่ง โชคลาภ ตำแหน่งหลังบ้านเป็นตำแหน่งบารมี ซึ่งในแง่นี่ก็จะเหมาะสมไปด้วย เพราะตำแหน่งหน้าบ้านจะพลุกพล่าน กว่าตำแหน่งหลังบ้าน ซึ่งจะสงบกว่า

5.ห้องพระควรหันทิศไปทางตะวันออก หรือทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศมงคล ในการวางพระพุทธรูป

6. ห้องพระติดห้องนอน ต้องระวังเรื่องการวางเตียง ห้ามวางเตียงในลักษณะหันปลายเท้าไปที่ห้องพระ เพราะถือเป็นการไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตำแหน่งเตียงนอน ควรวางในลักษณะที่ขวางกับห้องพระ ห้ามวางเอาปลาย เตียงหันไปที่ห้องพระ เพราะคนนอนจะเอาเท้าหันไปที่ห้องพระ ซึ่งถือว่าไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นมงคลกับคนที่นอน แต่กรณีที่หันหัวเตียงไปที่ห้องพระ ต้องพิจารณาว่า ถ้าตำแหน่งขององค์พระหรือโต๊ะหมู่บูชาไม่ติดกับหัวเตียงก็สามารถวางได้ แต่ถ้าติดกันจะถือว่าเสีย เพราะคนนอนจะได้รับอิทธิพลของธาตุไฟ ทำให้ปวดหัวได้ง่าย นอนไม่ค่อยหลับ

7. ห้องพระไม่ควรติดกับห้องส้วม เหตุผลในเชิงฮวงจุ้ยบอกว่า ห้องส้วมเป็นธาตุน้ำ ห้องพระเป็นธาตุไฟ ตามกฎเบญจธาตุ ( 5 ธาตุ) ธาตุน้ำพิฆาตธาตุไฟ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องวางห้องพระติดกับห้องส้วม ควรหาตู้มาพิงผนังห้องส้วม แล้วหันพระไปทางอื่นที่ไม่ตรงกับห้องส้วม บ้านที่เอาห้องพระวางติดกับห้องส้วม ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระจะเสื่อม เพราะถูกพลังของธาตุน้ำบั่นทอนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงวางห้องพระติดกับห้องส้วม ถ้ามีความจำเป็นจะต้องวางติดกัน ก็ไม่ควรวางองค์พระพิงผนังห้องส้วม และหาตู้มาพิงด้านที่เป็นกำแพงห้องส้วมเอาไว้ ก็จะถือว่าใช้ได้

8.ในทางฮวงจุ้ยเชื่อว่า บ้านหรือร้านค้าไม่ควรนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คนภายนอกเห็น เพราะจะมีคนแกล้งเอาของสกปรกมาทำลายสิ่งศักดิ์สิทธ์



แท่นบูชาพระแบบพม่าก็นิยมใช้ เพราะดูสวยและศักดิ์สิทธิ์ดี แต่เดี๋ยวนี้หายาก และราคาแพงมาก

ส่วนในกรณีที่บ้านเล็ก คับแคบ ผู้ที่มีที่อันจำกัดไม่สามารถจัดห้องพระได้ หรือที่มุมบูชาพระได้ตามตำรา ท่านก็ไม่ต้องกังวลใจ ขอแต่เพียงให้จัดที่บูชาพระ ในจุดที่เหมาะสม และอยู่ในระดับสูงพอสมควรเท่านั้น โดยตั้งเป็นหิ้งพระบูชาขึ้น ในมุมต่างๆที่พอมีพื้นที่ ซึ่งการหาจุดที่ตั้งที่เหมาะสม ก็ใช้หลักเกณฑ์การเลือกตำแหน่งเช่นเดียวกับห้องพระนั่นเอง ทั้งนี้อาจจะมีตำแหน่งที่จัดวางได้ง่ายกว่า แต่ก็มีตำแหน่งห้ามที่ไม่เหมาะสมเช่นเดียวกัน คือ
1.ไม่ควรตั้งในห้องนอนถ้าเป็นคนโสดยังพออนุโลม ถ้ามีคู่แล้วห้ามเด็ดขาด ถ้าที่คับแคบจำเป็นต้องรวมให้กั้นฉากเป็นสัดส่วน
2.ไม่ควรตั้งตรงบันได หรือใต้บันได ไม่เป็นมงคล
3.ห้ามตั้งอยู่ใต้คาน
4.ห้ามตั้งอยู่บนห้องน้ำ เป็นสิ่งไม่สมควร
5.ห้ามเอาหลังอิงห้องน้ำ ไม่เป็นมงคล (คือห้ามแขวนหิ้งพระกับผนังห้องน้ำ)



การจัดวางพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆองค์เดียว ก็ดูเรียบง่าย และศักดิ์สิทธิ์กว่าวางพระพุทธรูปหลายๆองค์ แต่คนไทยเรานอกจากจะนับถือธรรมดาแล้ว ยังนิยมสะสมอีกด้วย จึงมักมีพระพุทธรูปบูชากันมากๆ

การจัดตั้งที่บูชา
เมื่อเลือกจัดตำแหน่งห้องพระได้แล้ว อันดับต่อไปก็จะเป็นการจัดตั้งที่บูชา ซึ่งปัจจุบัน นิยมกันอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่
1.แบบประเพณีนิยม คือการใช้โต๊ะหมู่บูชา ซึ่งสามารถหาซื้อมาใช้ได้เลย มีที่นิยมคือหมู่ 5 หมู่ 7 หมู่ 9 แล้วแต่จำนวนของพระพุทธรูปที่เรามี และมีขนาดต่างๆให้เลือกมากมาย ที่มีขายมากที่สุดคือแถวเสาชิงช้า เป็นแหล่งที่สามารถหาซื้อได้มากที่สุด
2.แบบทันสมัย ที่ออกแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้าน โดยมีลักษณะเป็นแท่นเป็นชั้นแบบอัฒจันทร์ เรียงลำดับลงมา ซึ่งแบบนี้สามารถวางพระพุทธรูปได้มากกว่า โต๊ะหมู่บูชา อีกทั้งการทำความสะอาด จะง่ายกว่ามาก ผมเองจะได้รับมอบหมายให้ทำความสะอาดโต๊ะหมู่ที่บ้านทุกๆวันสงกรานต์ ขนาดปีละครั้งยังจะแย่เลยครับ เพราะโต๊ะหมู่มีซอกซอยมาก ยิ่งถ้ามีพระพุทธรูปมากๆ ต้องทำความสะอาดทั้งโต๊ะหมู่ และพระพุทธรูปด้วย การจะเคลื่อนย้ายก็ทำได้ยาก ยกเว้นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ

การจัดวางตำแหน่งโต๊ะหมู่ก็ต้องถือเอาตำแหน่งของพระพุทธรูปเป็นสำคัญ โดยอาศัยตามความนิยมนับถือมาแต่ครั้งโบราณ ที่โบราณาจารย์ได้กำหนดเอาความถูกต้องไว้เป็นหลักเกณฑ์ ความเหมาะสมในการจัดตั้งพระพุทธรูปตามทิศต่างๆ การจะกำหนดเอาทิศใดนั้น ขอให้ยึดถือพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเป็นเกณฑ์ แล้วหาที่จัดตั้งพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนี้
๑.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศอีสาน(ตะวันออกเฉียงเหนือ) เรียกว่า ทิศเศรษฐ์ จะประกอบการงานใดๆ เป็นที่หนึ่ง
๒.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศบูรพา(ตะวันออก) เรียกว่าทิศราชา จะประกอบการงานใดๆ ใหญ่โต จะสำเร็จสมดังใจหมาย
๓.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศอาคเนย์(ตะวันออกเฉียงใต้) เรียกว่า ทิศปฐม ท่านว่า ไม่ดี และจะกระทำการใดๆ มิค่อยเกิดลาภผล ตกต่ำ แต่พอมีใช้
๔.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศทักษิณ(ใต้) เรียกว่า ทิศจัณฑาล จะประกอบการงานใดๆ แสนยาก ลำบากกาย ผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรง
๕.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศหรดี(ตะวันตกเฉียงใต้) เรียกว่า ทิศวิปฏิสาร จะประกอบการงานใดๆ ก็มักนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียง
๖.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศประจิม(ตะวันตก) ทิศกาลกิณี จะทำงานสิ่งใดก็เกิดลังเล ไม่เป็นมงคล ระวังจะเกิดภัยร้ายแรงแก่ตนเองด้วยประการต่างๆนานา
๗.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ) เรียกว่า ทิศอุทธัจจะ จะทำงานสิ่งใดๆ ผลงานไม่แน่นอน รวนเร ไม่ได้เรื่อง ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
๘.ตั้งพระพุทธรูปให้พระพักตร์หันไปสู่ทิศอุดร(เหนือ) เรียกว่า ทิศมัชฌิมาปฏิปทา จะทำการงานใดๆ ผลงานอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่สูง ไม่ต่ำ



การออกแบบหิ้งวางพระพุทธรูป แบบสมัยใหม่ มีการออกแบบส่วนประกอบอื่นๆเข้าเสริมอีกด้วย

การเรียงลำดับพระพุทธรูป
เมื่อได้ที่ตั้ง ทิศทางแล้ว ต่อมาคือเรื่องการเรียงลำดับพระพุทธรูป ซึ่งบางครั้งไม่ได้มีแต่พระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่เรา นับถือ บูชา อีกหลายอย่าง ทั้งที่เป็นรูปเคารพของพระอริยสงฆ์ แม้แต่องค์กวนอิม หรือเทพทางพราหมณ์ เช่นพระพิฆเนศ เป็นต้น ทำให้การจัดวาง สับสน ปนเปกันไปหมด จึงให้เรายึดหลักดังนี้ คือ
1.พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูป ให้ตั้งไว้สูงสุด เรียงตามลำดับ พระพุทธรูปเหมือนกัน ควรเอาองค์ที่ใหญ่ที่สุด เป็นประธานอยู่กลาง หรืออยู่สูงสุด ลดหลั่นกันลงมา
2.รองลงมาก็เป็นรูปของพระอริยสงฆ์ ลดหลั่นกันลงมา ตามลำดับอาวุโส
3.รูปบูชาอย่างอื่น เช่น องค์กวนอิม เทพอื่นๆเช่น พระพิฆเนศ พระพรหม หรือ พระรูป ร. 5 ควรแยกหิ้งบูชาไว้ต่างหาก ถ้าแยกไม่ได้จะต้องไม่สูงกว่าพระพุทธรูป



การจัดแยกรูปเคารพอื่นๆออก ไม่รวมอยู่กับโต๊ะหมู่บูชา


สุดท้ายเมื่อจัดวางทุกอย่างถูกต้องดีแล้ว ก็ถึงการบูชาพระ ซึ่งการบูชา แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. อามิสบูชา ได้แก่การบูชาด้วยอามิส มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น
๒. ปฏิบัติบูชา ได้แก่ การบูชาด้วยการเจริญสมาธิวิปัสสนา

ในบรรดาการบูชาทั้ง ๒ แบบนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การปฏิบัติบูชา ถือว่าเป็นเยี่ยม ดังนั้น จึงขอวกกลับไปเรื่องการใช้ห้องพระที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า ควรใช้ห้องพระในการปฏิบัติบูชา ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แล้วท่านทั้งหลาย ก็จะมีชีวิตที่ สุขสงบ ร่มเย็น และเจริญรุ่งเรือง ทั้งในทางโลก และทางธรรมครับ


ข้อมูลประกอบจาก
อ.มาโนช ประภาษานนท์
http://www.homedd.com/HomeddWeb/home...fengsui_36.jsp
http://www.fengshuiinter.com/node/137
www.travelaround.bl oggang.com


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: