เสกศิลป์ด้วยปาก พิการกาย ... แต่หัวใจเต็มร้อย
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"
มีนาคม 28, 2024, 08:17:49 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เสกศิลป์ด้วยปาก พิการกาย ... แต่หัวใจเต็มร้อย  (อ่าน 3289 ครั้ง)
watchareeya
member
*

คะแนน175
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 495



อีเมล์
« เมื่อ: ธันวาคม 12, 2007, 09:26:04 PM »

เสกศิลป์ด้วยปาก พิการกาย ... แต่หัวใจเต็มร้อย
โดย : Give2all  เมื่อ : 29/10/2006 08:55 PM
ที่โต๊ะไม้ตัวเล็กๆ ริมหน้าต่างบนบ้านไม้หลังเก่าๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ย้อนหลังไปเกือบ 20 ปี ชายหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังเสกสรรค์งานศิลปะของตนมองผ่านช่องหน้าต่างเห็นเด็กเล็กๆ 2 คนกำลังร้องไห้ เธอเป็นเด็กบกพร่องทางกาย ซ้ำยังมียายตาบอดเป็นผู้เลี้ยงดูอย่างอัตคัตยากจน ชายหนุ่มรู้สึกอยากจะช่วย แล้วเขาก็ลงมือเขียนจดหมายเล่าเรื่องราวไปยังนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้มีความช่วยเหลือกับยายหลานทั้ง 3 ชีวิต

มันอาจจะไม่แปลกอะไรเลยถ้าคุณอยากจะช่วยใครสักคนที่เห็นว่าน่าสงสารและกำลังลำบากกว่า หลายคนเพียงคิดแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ความพิเศษที่น่าบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ก็คือชายหนุ่มที่ได้ลงมือกระทำคนนี้ พิการทั้งมือและแขน อีกทั้งอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ แต่เขากลับขอความช่วยเหลือให้กับคนอื่น แทนที่จะเป็นตัวเองและพี่น้อง

เรื่องราวของ ทนง โคตรชมพู คือทางเดินชีวิตแห่งการต่อสู้อันยาวนานเกือบ 30 ปี กระทั่งวันนี้เขาได้การยอมรับจากแวดวงศิลปะในฐานะศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการชื่นชมจากสังคมในฐานะคนพิการที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนมากมาย และได้รับการยกย่องในฐานะคนดีที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม

บุญทิ้ง หรือ ทนง โคตรชมพู เป็นลูกชาวนา ซุกซน แข็งแรง เรียนดี เป็นความหวังของครอบครัว กระทั่งวันหนึ่งในชั่วโมงพละ เขาหกล้มเป็นแผลถลอกที่หัวเขา จากนั้นก็วิ่งล้ม-วิ่งล้มเรื่อยมา แม่เป็นผู้สังเกตเห็นก่อนใครว่าขาของลูกชายเริ่มลีบเล็กลงเรื่อยๆ จึงตัดสินใจพาไปหาหมอ หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ทุกคนก็พยายามบำรุงต่างๆนานา รวมทั้งคะยั้นคะยอให้เด็กชายออกกำลังกาย แต่ยิ่งเขาออกแรงมากเท่าไรก็ยิ่งไม่มีเรี่ยวแรง..

"ผมได้ยินเสียงถอนหายใจของคนที่มองดูอยู่ รู้สึกเหมือนกับเขากำลังตำหนิว่าเราขี้เกียจ ทั้งๆ ที่ผมพยายามเต็มที่ที่จะเอาชนะสภาพร่างกายตัวเอง กว่าจะลุกขึ้นมาได้แต่ละครั้งมันยากเย็น แล้วยังต้องแบกรับสายตาของทุกคนที่มองมาด้วยความคาดหวัง ลับหลังคนอื่นผมยิ่งพยายามที่จะเอาชนะแต่มันกลับยัดเยียดความพ่ายแพ้มาให้ ครั้งหนึ่งเดินจนขาลากไปกับพื้นซีเมนต์จนเลือดออก มือที่ยันกำแพงก็ล้าจนหมดแรงล้มลง พอฟื้นขึ้นมาก็รู้ตัวแล้วว่าสภาพร่างกายเราไม่ไหวแล้ว..."

โรคกล้ามเนื้อเสื่อมซึ่งชนบทสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จัก ได้คุกคามเด็กชายตั้งแต่วัยชั้นประถม 5 และทำให้สภาพร่างกายของเขาแย่ลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดขาก็ลีบไร้เรี่ยวแรง (ก่อนจะตามมาด้วยมือและแขน) แต่ก็มานะบากบั่นจนเรียนจบประถม 6 โดยความช่วยเหลือของเพื่อนที่เอาการบ้านมาส่งให้ทำที่บ้าน และครูโรงเรียนบ้านถ่อนที่เปิดโอกาสให้เข้าสอบ เขาสอบได้ที่ 1 ของโรงเรียน

ความที่รักการวาดรูปมาตั้งแต่เล็กๆ ยิ่งเมื่อความพิการทางกายค่อยๆ คุกคาม เด็กชายก็พยายามกลบเกลื่อนปมด้อยด้วยการสร้างงานศิลปะของตนอย่างหนัก

"ผมเริ่มวาดรูปอย่างจริงจังตอนประถม 5 ครูเห็นวาดดีก็ให้ช่วยทำเป็นสื่อการสอนเรื่อยมา พอเริ่มเดินไม่ได้ ผมก็พยายามกลบเกลื่อนความรู้สึกด้วยการสร้างงานอย่างหนักหน่วง ทำสื่อการสอนให้โรงเรียนในหมู่บ้าน ขยายเป็นตำบล อำเภอ และโรงเรียนในจังหวัด วาดรูปจนกระทั่งมือที่จับพู่กันไม่มีแรงและตกลง แล้วก็ไม่สามารถใช้มือวาดรูปได้อีกต่อไป มันท้อแท้และหมดหวัง แต่สภาพอย่างนั้นเกิดขึ้นไม่นาน เมื่อสติกลับคืนมา ทำให้สามารถมองเห็นทางที่มีอยู่นิดเดียว ..."

ภาพของชาวต่างชาติที่วาดด้วยปาก เป็นแรงบันดาลใจให้ ทนง เห็นแนวทางที่จะทำสิ่งที่เขารักคือการสร้างงานศิลปะได้ต่อไป

"... ครั้งแรกใช้ฟันหน้าคาบพู่กัน ตั้งใจจะวาดรูปนก แต่มันส่าย มันทำไม่ได้ ต่อมาก็ลองใช้ฟันกรามทำให้จับพู่กันได้แน่นขึ้น แล้วก็หมุนคอเพื่อส่ายพู่กันแทนการสะบัดข้อมือ แม่เห็นผมทำก็ช่วยคิดให้ว่าเฟรมและพู่กันมันเล็กเกินไปทำให้ผมวาดยาก เลยหาเฟรมใหญ่แล้วก็ประดิษฐ์พู่กันจากไม้ไผ่อันใหญ่ยาวให้ ทำให้ผมสนุกและตื่นเต้นในการวาดรูปมาก ผมยังจำกลิ่นหอมหวานของพู่กันอันนั้นได้

... แม่มีบทบาทมากกับชีวิตผม เช่นตอนที่ครูจะให้วาดรูปผึ้งเป็นสื่อการสอน ผมวาดไม่ได้เพราะไม่เคยเห็นรายละเอียด แม่ก็ไปจับผึ้งในป่าใส่ถุงมาให้ดู 2 ตัว บางครั้งแม่เข้าป่าไปเก็บเห็ดแล้วเห็นขอนไม้เก่าๆก็แบกกลับมาให้ผมวาดรูป เพราะแกรู้ว่าผมเข้าไปหาธรรมชาติไม่ได้ ก็เลยแบกธรรมชาติมาให้ผมวาด ...

...ตอนนี้ใครๆ ก็บอกว่าผมประสบความสำเร็จแล้วจากผลงานที่ออกมา แต่ผมมีความสุขตั้งแต่ที่วาดรูปด้วยปากได้แล้ว ส่วนผลงานจะภูมิใจก็ตรงที่คนดูแล้วมันไม่ต่างจากใช้มือวาด ..."

เมื่อประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ทนง โคตรชมพู ก็ไม่หยุดอยู่ที่ตัวเอง แต่ได้แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแรงบันดาลใจให้กับผู้คน เพื่อเป็นการตอบแทนสิ่งที่เขาได้รับจากคนรอบข้าง และด้วยความรู้สึกที่อยากช่วยเหลือสังคม ตั้งแต่การทำสื่อการเรียนการสอนและสอนศิลปะให้กับเด็กโรงเรียนในชุมชนต่างๆ มาสู่การเป็นวิทยากรแก่นักศึกษาตามสถาบันต่างๆทั่วประเทศ สอนศิลปะให้กับคนพิการในโครงการ ART FOR ALL หรือมอบผลงานของตนแก่องค์กรการกุศลต่างๆ

"...หลังจาก บก.นิตยสารชีวิตรัก ได้มาเห็นสภาพผมที่เป็นอย่างนี้แล้วยังคิดจะช่วยเด็กกับยายแทนที่จะขอใช้ช่วยตัวเองซึ่งลำบากกว่าก่อน เขาก็เอาเรื่องของผมไปเผยแพร่ แล้วก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้การช่วยเหลือ มีสื่อต่างๆ มาสัมภาษณ์ จากนั้นก็มีคนมาเยี่ยมเยอะแยะ มาขอบคุณที่เราเป็นแรงบันดาลใจให้เขาต่อสู้ชีวิต

...เพื่อนๆ ก็ดึงผมไปช่วยกิจกรรมทางสังคม เช่น อบรมเยาวชน มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ให้ไปช่วยสอนนักศึกษา ไปอบรมศิลปะ เช่น โครงการ ART FOR ALL ที่อบรมศิลปะแก่คนพิการ..."
...กลุ่มจิตรกรสร้างสรรค์ด้วยปากและเท้า ซึ่งในต่างประเทศมีอยู่ก่อนแล้ว ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2534 โดยการรวมกลุ่มของ ทนง และเพื่อนๆ นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานด้วยปากและเท้า ยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆโดย ใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง

สมาคมศิลปะเพื่อชีวิตคนพิการ ก่อตั้งในปี 2547 โดยมี ทนง เป็นอุปนายก ด้วยความคิดที่ว่าคนพิการนั้นยากที่จะออกมาเรียนรู้ด้วยตนเอง สมาคมฯ จึงทำหน้าที่เป็นองค์กรที่จะช่วยนำคนพิการออกมาเรียนรู้ หรือนำการเรียนรู้เข้าไปสู่คนพิการ

"..ผมไม่ได้คิดว่าจะให้คนพิการหรือเด็กๆ มาเรียนรู้ตรงนี้เพื่อที่จะไปวาดรูปขาย แต่มองว่าศิลปะเป็นกุศโลบายที่จะดึงพลังสร้างสรรค์ของคนออกมาได้เต็มที่ ทำให้เกิดสติ เกิดสมาธิ ซึ่งสำหรับคนพิการมันก็จะทำให้เขามีความมั่นคงทางจิตใจ ตามมาด้วยศรัทธาในตัวเองที่จะทำอะไรต่อไปได้..."
ทนง โคตรชมพู ได้รับรางวัลคนพิการดีเด่นจากผลงานอันมุมานะและการให้แก่สังคมรอบข้าง ในขณะที่ในโลกของคนพิการส่วนใหญ่ ซึ่งข้อจำกัดทางร่างกายนำไปสู่ปมด้อยและการสร้างกำแพงทางใจกีดกันตนเองให้แปลกแยกออกจากสังคมภายนอก อยู่กับความโดดเดี่ยว เหงา และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ทว่า ทนง กลับขอบคุณความเจ็บป่วยทางกายที่สอนให้หัวใจเขาเติบโต สอนให้เข้าใจแก่นสาระแห่งชีวิต และฝากข้อคิดและแรงบันดาลใจไปถึงผู้คนในสังคมว่า

"...จริงๆ แล้วผมเหมือนประตูที่ถูกปิดตายแล้ว แม้แต่จะยกช้อนตักข้าวก็ยังไม่ได้ แต่เมื่อมันมีทางเลือกแม้เพียงน้อยนิดก็ต้องต่อสู้ ผมมักพูดกับคนที่ท้อแท้และหมดหวังอย่างนี้

...คนที่มีความบกพร่องไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางความคิด ทางจิตใจ หลายๆ คนมักจำนนต่อสภาพของตน ขณะที่บางกลุ่มมัวไปเรียกร้องหาความเสมอภาคจากสังคม โดยที่ยังไม่ได้พยายามต่อสู้เพื่อซ่อมแซมตัวเอง พัฒนาความบกพร่องของตัวเองเสียก่อน มันก็ยากที่จะให้สังคมยอมรับ..

...ส่วนสังคมไทยก็ยังไม่มีความปราณีตบรรจงในการคิดและมอง คือแบ่งแยกคนพิการเป็นคนชั้น 2 ชั้น 3 โดยไม่ได้มองว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้างหรือเปล่า..."

ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ทนง โคตรชมพู ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วจากผลงานสร้างสรรค์ของเขาที่ปรากฏต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และในฐานมนุษย์คนหนึ่งบนโลกใบนี้ เขาก็ได้ให้แรงบันดาลใจอันยิ่ง ใหญ่แก่ผู้คนซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่คนพิการ แต่เป็นทุกคนที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง !!!


บันทึกการเข้า

watchareeya
member
*

คะแนน175
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 495



อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: ธันวาคม 12, 2007, 09:28:58 PM »

น้ำใจเด็กน้อย..โพลล์ไปชม..และให้กำลังใจ..ได้เกิดมาเพียงหนึ่งครั้งในชีวิต
ไม่สามารถขิขิตชีวิตได้
แต่สามารถกำหนดด้วยหัวใจ
ว่าจะเดินทางไหนในสังคม
ถึงเรือนร่างไม่ครบสามสิบสอง
แต่ยังมีสมองอันสุขสม
ด้วยดวงจิตศิลปะน่านิยม
ใช้ปากอมพู่กันและวาดงาน
ขอชื่นชมทุกท่านที่สรรค์สร้าง
เป็นแนวทางชีวิตคิดสืบสาน
หนูจะเป็นกำลังใจในผลงาน
ที่ทุกท่านสืบสานศิลปะไทย

หนูแต่งกลอนบทนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พี่ๆทุกๆคนเลยนะค่ะ ในสังคมไทยต้องการพี่ค่ะ

หนึ่งแรงใจ
น้องจิ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!