พิมพ์หน้านี้ - สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => ลึกลับ-เหลือเชื่อ-ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:20:49 AM



หัวข้อ: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:20:49 AM
เป็นเรื่องจริงปนเรื่องแต่ง และเพิ่มอรรถรสในเนื้อเรื่องให้น่าสนใจ น่าติดตาม ทั้งยังให้ประโยชน์กับผู้อ่านในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกรรม โดยคุณสุทัสสา อ่อนค้อม มี ๘๐ ตอนจบ

....ผมได้รับแผ่นซีดีชุดนี้มาเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน แด่ผู้ที่สนใจ น้อมนำรับสิ่งที่ดีๆมาสู่ตัวเอง ...หวังใจว่าคงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นใหม่ในธรรมะปฎิบัติ..
...และขอภาวนาให้กุศลบุญจงบังเกิดแด่คุณพ่อ-คุณแม่-ญาติมิตร-พี่น้อง-ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติชอบด้วยเทอญ...
.... จากอนุชิต สุวรรณรัตน์..ศิษย์หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี..... :P :)

"...อยากให้ทุกท่าน ติดตามอ่านให้ครบทั้ง 80 ตอน ...อย่างน้อยจิตใจท่านจะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอน ."


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:21:42 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00001

 

คำนำ
         

ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวที่บรรพบุรุษนับถือพุทธศาสนา พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พาเข้าวัดตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะเทศกาล “เทศน์มหาชาติ” จะพากันไปวัดตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เพื่อจะได้ฟังพระสวด “คาถาพัน” ได้ครบ ๑,๐๐๐ คาถา ด้วยเชื่อวันว่าเมื่อตายจะได้ขึ้นสวรรค์

ก่อนนอน คุณพ่อคุณแม่ก็จะเล่านิทานที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ให้ฟังเสมอ ๆ เช่น เรื่องเทพบุตร เทพธิดา ที่มีความสุขอยู่ในวิมานสวย ๆ หรือเรื่องพระมาลัยไปเทศน์โปรดสัตว์ที่เมืองนรก เป็นต้น ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดคำนึงและจินตนาการไปต่าง ๆ ตามประสานเด็ก ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาในวัยขนาดนั้น คือ ต้องทำความดีจึงจะได้ขึ้นสวรรค์ แล้วไม่อยากทำความชั่ว เพราะกลังจะไปตกนรก ความเชื่อเรื่องกรรมจึงมีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เมื่อจบมัธยมต้นจากต่างจังหวัด ได้เข้ามาสอบเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่น ๒๙) ในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับครอบครัวมุสลิมซึ่งเขารักเหมือนลูกสาว คุณยายของบ้านเป็นชาวพุทธและไปฟังเทศน์ที่วัดทุกวันอาทิตย์ ไปวัดโพธิ์บ้าง วัดพระแก้วบ้าง ข้าพเจ้าก็ตามคุณยายไปแล้วก็สังเกตว่าคนที่ไปวัด มีแต่คนแก่ ๆ ข้าพเจ้าตอนนั้นอายุ ๑๘ ปี จึงเป็นคนเดียวที่อายุน้อยที่สุด

จบโรงเรียนเตรียมฯ ก็สอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา พักที่หอพักนิสิตหญิงจุฬาฯ (ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้ามาบุญครอง) วันอาทิตย์ก็ได้ไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดบวรนิเวศ เป็นลูกศิษย์ ท่านเจ้าคุณธมฺมสาโร ภิกขุ

จบปริญญาตรีแล้ว ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในระดับนรกสวรรค์ ต่อเมื่อเรียนปริญญาโท สาขาปรัชญา ที่คณะและมหาวิทยาลัยเดิม ทำให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้น อาจารย์ผู้ให้ความรู้และเป็นแรงจูงใจให้หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง คือ ท่านรองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร ณ รังสี ส่วนพระสงฆ์นั้น ข้าพเจ้าเคารพและศรัทธา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในความเป็นปราชญ์ทางด้านพระพุทธศาสนาของพระคุณท่าน และท่านก็ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านปริยัติแก่ข้าพเจ้าด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบมิได้

ในด้านการปฏิบัติ ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเมื่อปี ๒๕๒๖ เมื่อทางวิทยาลัยส่งให้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมที่ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ข้าพเจ้าได้เป็นศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ตั้งแต่บัดนั้น (ปัจจุบันหลวงพ่อได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ พระราชสุทธิญาณมงคล) และชีวิตก็พลิกผันหันเข้าหาธรรมะอย่างเต็มภาคภูมิ นับแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้ก้าวพ้นจากระดับนรกสวรรค์ขึ้นมา ข้าพเจ้าไม่อยากเกิดในสวรรค์ เพราะเป็นภูมิที่ยังต้องเวียนว่าย ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันที่จะข้ามพ้นจากสงสารสาคร แต่ก็คงจะเป็นได้เพียงความฝัน เพราะยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งพบว่าการจะเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน นั้นยากแสนยาก และหากผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็อาจหลงทางได้ง่าย

การไปวัดอย่างสม่ำเสมอ เรื่องได้ฟังธรรมเทศนาจากท่านเจ้าคุณหลวงพ่อหลายต่อหลายครั้ง บางเรื่องก็ฟังซ้ำถึงหกเจ็ดครั้ง (แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเบื่อ) และความที่เป็นคนช่างจดช่างจำ เรื่อง “ไฟไหนเล่าร้อนเท่าไฟนรก” และ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” จึงเกิดขึ้น

ความปลาบปลื้มใจพูนทวีจนสุดจะพรรณนา เมื่องานเขียนของข้าพเจ้าได้รับความนิยมจากท่านผู้อ่านมากมายเกินความคาดหมาย ข้าพเจ้ารู้สึกปีติที่ได้ทำหน้าที่ช่วยเผยแผ่คำสอนของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้ซึ่งดำเนินตามรอยบาทขององค์พระศาสดาอย่างแน่วแน่ ข้าพเจ้าจึง “ได้บุญ” จาก ธัมมัสสวนมัย และ ธัมมเทสนามัย ในเวลาเดียวกัน

ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้มีพระคุณต่อข้าพเจ้า ท่านเมตตาช่วยเหลือข้าพเจ้าทุกอย่าง และยังสนับสนุนส่งเสริมให้ข้าพเจ้าไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอินเดีย การได้ใช้ชีวิตใน “แดนพุทธภูมิ” ทำให้ข้าพเจ้าได้ความรู้และประสบการณ์ด้านพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านอาจารย์ เขมานันทะ (พระมหาบาง สิมพลี) ได้เมตตาช่วยเหลือในเรื่องการสมัครเรียนที่ มหาวิทยาลัยมคธ ตลอดจนช่วยสงเคราะห์ให้ได้พำนักในวัดทิเบต อันเป็นวัดของฝ่ายมหายาน ข้าพเจ้าจึงได้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นกำไรชีวิต

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนิตยสาร กุลสตรี โดยเฉพาะ คุณยุพา งามสมจิตร ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือดุจครูอาจารย์ ด้วยท่านทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เกิดในบรรณพิภพ

ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ แสดงคารวะและกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านผู้มีพระคุณทุกท่านที่กล่าวข้างต้น และต่อท่านผู้อ่านที่ได้เมตตาช่วยค้ำจุนให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ในโลกของตัวหนังสือได้อย่างมั่นใจ

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านเทอญ

                                                                                      สุทัสสา  อ่อนค้อม

 

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
 

๑...

          กิจวัตรประจำวันของท่านพระครูคือ ตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ แล้วปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปจนถึงหกโมงเข้า จากนั้นจึงจะออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ให้ชาวบ้านร้านถิ่นได้มีโอกาสสร้างคุณความดี ด้วยการบริจาคทาน เพื่อขจัดความตระหนี่เหนียวแน่นออกไปจากจิตใจ

          ท่านพระครูถือว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญเป็นลำดับแรก พระ เณร ทุกรูปที่อาศัยอยู่ในวัดป่ามะม่วงแห่งนี้ จะต้องปฏิบัติทุกวัน เพื่อขัดเกลากิเลสเครื่องเศร้าหมองในตัวให้ลดน้อยลง และต้องนำไปสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม เป็นอันได้ประโยชน์ทั้งสองส่วน คือประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน

          ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส ท่านพระครูย้ำเตือนพระลูกวัดอยู่เสมอว่า “หน้าที่ของบรรพชิตที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ มีสามข้อคือ ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรม ผู้ใดเกียจคร้านละเลยต่อหน้าที่ถือว่าบวชเสียข้าวสุก และได้ชื่อว่ายังชีพอยู่ด้วยการเบียดเบียนชาวบ้าน พวกญาติโยมเขาไม่เลื่อมใสศรัทธาพระประเภทนี้”

            “ถ้าอย่างนั้นพวกพระที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ใบ้หวย รับปลุกเสกลงเลขยันต์ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของพระใช่ไหมครับหลวงพ่อ” พระบวชใหม่รูปหนึ่งถามขึ้น

          “ฉันไม่อยากเรียกคนประเภทนั้นว่าพระ เรียกว่าพวกอาศัยผ้าเหลืองหากินดูจะเหมาะกว่า คนสมัยนี้มักหากินกันแปลก ๆ ไม่ยักกลัวบาปกลัวกรรม”

          “เขาคงไม่เชื่อว่าบาปกรรมมีจริงกระมังครับ”

          “แต่บางคนทั้ง ๆ ที่เชื่อก็ยังทำฉันไม่อยากจะพูด พระบางองค์เป็นถึงท่านเจ้าคุณแต่เบื้องหลัง.....อย่าพูดดีกว่า ฉันไม่อยากพูดเรื่องนี้ มันกระทบกระเทือนสถาบันสงฆ์ เพราะพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมีอีกมาก” ท่านพระครูพูดอย่างปลงตก

          “หลวงพ่อครับ ผมเคยฟังมาว่า ท่านเจ้าคุณบางองค์ ค้ายาเสพติดจริงหรือเปล่าครับ” ภิกษุหนุ่มถามอีก

          “อย่าคิดอะไรมาก ตั้งหน้าตั้งตาเจริญกรรมฐานไปดีกว่า บางครั้งการรู้อะไรมาก ๆ มันก็เป็นภัยกับตัวเราเอง คิดเสียว่า....ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์... พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ....ข้อนี้เป็นสัจธรรม”

            “ครับ ผมสบายใจมากขึ้นที่ได้มาบวชอยู่วัดนี้” ผู้บวชใหม่พูดอย่างปลาบปลื้ม

          “ที่นี่ไม่รับคนโกนหัวห่มผ้าเหลือง แต่ไม่ทำหน้าที่ของพระ ใครมาอยู่วัดนี้แล้วไม่เอากรรมฐานก็นิมนต์ไปอยู่วัดอื่น ฉันต้องการคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ขึ้นชื่อว่าสงฆ์ต้องเป็น “สุปฏิปันโน” ที่แท้จริง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นศากยบุตรอย่างสมบูรณ์แบบ” ท่านพระครูพูดเสียงหนักแน่น ชื่อเสียงด้านความเคร่งครัดในการปฏิบัติของพระวัดนี้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ทั้งบรรพชิตและฆราวาสผู้มุ่งความสงบทางจิต พากันมุ่งหน้ามายังวัดแห่งนี้ซึ่งตั้งเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และ มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน

          กุฏิกรรมฐานถูกสร้างขึ้นหลังแล้วหลังเล่าจนเต็มบริเวณวัด กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของบรรดาผู้แสวงหาโมกขธรรม ผู้ไม่ถือว่าเรื่องที่พักอาศัยเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบุญบารมี ด้วยเหตุนี้จึงมักปรากฏอยู่เสมอที่พวกเขาพากันไปกางกลดอยู่นอกวัดโดยไม่อาทรต่อความร้อนหนาวของอากาศ ขอเพียงให้จิตสงบเย็นเท่านั้น

          เช้าวันหนึ่งในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากที่ท่านพระครูปฏิบัติกรรมฐานเสร็จก็เตรียมตัวออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ โดยมีลูกศิษย์หิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง เมื่อท่านอุ้มบาตรเดินออกมาถึงหน้าประตูเข้าวัด ก็พบชาย ฉกรรจ์ผู้หนึ่งอายุราว ๆ สามสิบปี สะพายกระเป๋าเสื้อผ้าใบย่อมไว้บนบ่าข้างขวา เดินเข้ามานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้แล้วถามท่านด้วยอาการตื่นเต้นว่า “ท่าน... ท่านพระครูเจริญ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงใช่หรือเปล่าครับ” เสียงที่พูดฟังแปร่งหู แสดงว่าไม่ใช่คนถิ่นนี้

“ฉันนี่แหละ เธอคงไม่ใช่คนแถวนี้ใช่ไหม” ท่านถาม ท่าทางเขาดีใจและประหลาดใจระคนกัน รีบตอบท่านไปว่า “ครับ ผมมาจากกาฬสินธุ์”

          “มีธุระอะไรกับฉันหรือ”

          “มีครับ สำคัญมาก แต่...ผม...คือ...มันเป็นความลับครับ” เขาพูดอึก ๆ อัก ๆ ครั้นจะบอกไปตามตรงว่าไม่อยากให้ลูกศิษย์ของท่านรู้ ก็เกรงว่าเจ้าหมอนั้นจะตั้งตัวเป็นศัตรู

          “เอาละฉันเข้าใจ ว่าแต่ว่าธุระของเธอด่วนมากหรือเปล่า ถ้าไม่รีบร้อน รอฉันกลับจากบิณฑบาตเสียก่อนจะได้ไหม” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงหาทางออกให้

          “ได้ครับ ได้ ผมจะรอท่านอยู่ตรงนี้” ชายต่างถิ่นรีบตอบ ท่านพระครูตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” แล้วเพ่งสายตาไปยังที่หน้าผากของเขา ก็ได้รู้ว่า บุคคลนี้มิได้มาร้าย จึงชี้มือไปที่กุฏิของท่านแล้วพูดว่า

          “ไปนั่งรอที่กุฏิของฉันดีกว่า นั้นหลังนั้น” ชายหนุ่มยกมือไหว้อีกครั้ง แล้วจึงเดินไปรอที่กุฏิตามคำสั่งของท่าน เขาดีใจและแปลกใจมากที่เหตุการณ์ช่างตรงกับความฝัน พระรูปนั้นมาปรากฏให้เขาเห็นในฝันติด ๆ กันถึงสามคืนจนเขาจำท่านได้ติดตา ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

          เขาปลดกระเป๋าออกจากบ่าวางมันลงที่พื้น แล้วเดินสำรวจไปรอบ ๆ วัด ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่เขาเห็นในฝัน เสียงประหลาดสั่งให้เขามา “แก้กรรม” ที่วัดแห่งนี้ บอกชื่อวัด ที่ตั้ง พร้อมทั้งชื่อสมภารเสร็จสรรพ เขาสู้อุตส่าห์เดินทางดั้นด้นมาเพื่อจะพิสูจน์และก็ได้พบแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้เท่านั้นว่า “แก้กรรม” เป็นอย่างไร แต่ก็แปลกที่เสียงนั้นช่างไม่เหมือนกับเสียงของท่านพระครูเลยสักนิด มันก้องกังวานและดูมีอำนาจลึกลับอย่างไรชอบกล จะเป็นเสียงใครหนอ คงจะต้องถามท่านพระครูดู ท่านคงจะรู้ เขาแน่ใจว่าท่านต้องรู้

          เกือบแปดโมงท่านพระครูและลูกศิษย์จึงกลับมา ท่านวางบาตรไว้บนอาสนะแล้วจึงเข้าไปล้างมือล้างเท้าในห้องน้ำ ลูกศิษย์จัดเตรียมสำรับไว้พร้อมแล้วจึงถอยออกมานั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ

          ท่านพระครูตั้งสติพิจารณาอาหารแล้วจึงลงมือฉันพร้อมทั้งทำกรรมฐานเริ่มตั้งแต่ “เห็นหนอ...ตัก...ยก...มา...อ้า...ใส่...เคี้ยว...กลืน” ทุกอิริยาบถถูกกำกับด้วย “หนอ” ข้าวแต่ละคำจึงถูกท่านฉันอย่างมีสติ

          ฉันเสร็จ ลูกศิษย์ยกสำรับมาวางที่พื้นเพื่อจะกินอาหารที่เหลือและเก็บไว้กินมื้อกลางวันกับมื้อเย็น ส่วนท่านพระครูท่านฉันมื้อเดียว บางวันมีงานยุ่งมากก็ไม่ฉัน ไม่จำวัด แต่ท่านก็ไม่มีอาการอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้า เพราะอยู่ด้วยอำนาจของสมาธิที่คนธรรมดา ๆ ไม่อาจทำเช่นนั้นได้

          “เอ้า กินข้าวกินปลาเสียก่อน มีเรื่องอะไรค่อยว่ากันทีหลัง” ท่านบอกชายแปลกหน้า ลูกศิษย์วัดตักข้าวใส่จานสองจานแล้วเรียกเขามาร่วมวง ท่านพระครูลุกออกไปแปรงฟันบ้วนปากในห้องน้ำ

          รับประทานอาหารเสร็จ ชายหนุ่มช่วยลูกศิษย์วัดล้างจาน เสร็จแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระครู เป็นท่านนั่งขัดสมาธิก็นั่งท่านั้นบ้าง ลูกศิษย์วัดต้องมากระซิบว่า ให้นั่งพับเพียบ

          “เธอชื่ออะไร มาที่นี่ได้อย่างไร” ท่านพระครูถาม

          “บัวเฮียวครับ ผมเดินมา” ชายหนุ่มผู้มีนามว่าบัวเฮียวตอบ

          “เดินมาจากไหน คงไม่ใช่จากกาฬสินธุ์นะ”

          “ครับ ผมเดินมาจากกาฬสินธุ์ กว่าจะถึงที่นี่กินเวลาสิบห้าวันพอดี” เขาตอบ

          “ทำไมถึงไม่ขึ้นรถมาล่ะ รถโดยสารก็มีออกเยอะแยะ”

          “ในฝันเขาบอกให้เดินมาครับ”

          “อ้อ เชื่อฝัน” ท่านพระครูยิ้มอย่างใจดี บางครั้งคนที่มาหาท่านก็มีเรื่องแปลก ๆ มาเล่าให้ฟังเสมอ ๆ

          “เอ ชื่อแปลกดีนะ ฟังเหมือนชื่อญวน เป็นญวนหรือเปล่า” ท่านวกกลับมาถามเรื่องชื่อ

          “ผม...อ้า...เป็นไทยครับ” นายบัวเฮียวรีบตอบ เขากลัวท่านพระครูจะไม่ยอมให้บวช ถ้ารู้ว่าเป็นคนญวน

            “แล้วไปยังไงมายังไง จึงได้มาถึงที่นี่”

          “เรื่องมันแปลกประหลาดมาเชียวครับ ท่านพระครู”

          “เรียกฉันว่าหลวงพ่อ เหมือนที่คนอื่นเขาเรียกก็แล้วกัน”

          “ครับ หลวงพ่อ ผมจะเล่าให้หลวงพ่อฟังตั้งแต่ต้นเลยนะครับ” ชายหนุ่มนิ่งไปอึดใจหนึ่ง เหมือนจะทบทวนความทรงจำ แล้วจึงเริ่มต้นเล่า

          “ผมเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อกับแม่ทำงานอยู่ในโรงฆ่าสัตว์ พ่อมีหน้าที่ฆ่าวัวฆ่าควาย ซึ่งวันหนึ่ง ๆ จะฆ่าหลายตัว ส่วนแม่ก็ช่วยแล่เนื้อ หนัง กระดูก ตลอดจนพวกเครื่องในออกจากกัน เพื่อเตรียมส่งขาย มีร้านค้าย่อยมารับเอาไปขายราว ๆ ตีสี่ ผมก็เกิดและโตมาในโรงฆ่าสัตว์ ได้เห็นพ่อกับแม่ทำงานทุกวัน เถ้าแก่เขาให้พวกเรากินอยู่ในนั้นเสร็จ เมื่อผมโต พ่อก็พาไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลพอจบประถมสี่ ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แรก ๆ ก็ช่วยแม่แล่เนื้อ พอโตอายุสิบสี่สิบห้า ก็ช่วยพ่อฆ่าวัดควาย ปีต่อมาพ่อตาย เถ้าแก่เลยให้ผมทำงานแทนพ่อ...”

          “พ่อเธอเป็นอะไรตาย” ท่านพระครูถามขึ้น นายบัวเฮียวนิ่งไปพักใหญ่ ๆ เมื่อถูกถามเรื่องที่ทำให้สะเทือนใจ ในที่สุด จึงเล่าให้ท่านฟังว่า “พ่อถูกแม่แทงตายครับ พ่อผมแกชอบกินเหล้า พอเมาแล้วก็หาเรื่องทะเลาะกับแม่ วันที่แกจะตายนั้นแกเมามาก ถึงกับลงไม้ลงมือกับแม่ แม่สู้ไม่ไหว เลยคว้ามีดที่ใช้แทงคอสัตว์นั้น แทงพ่อ” ถึงตอนนี้เขาหยุดเล่า ภาพเหตุการณ์สยดสยองในครั้งนั้นผุดขึ้นในความทรงจำ มันแจ่มแจ้งชัดเจน เหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้น ทั้งที่วันเวลาล่วงเลยมาถึงสิบปีแล้ว

          “แม่เธอก็ต้องติดคุกนะสิ”

          “ครับ แม่ถูกจับฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ศาลตัดสินให้จำคุกยี่สิบปี แต่ลดให้ครึ่งหนึ่ง เพราะแม่รับสารภาพ พอปี ๒๕๐๖ ก็ได้รับการลดโทษอีกครึ่งหนึ่ง เนื่องในโอกาสที่ในหลวงอายุสามรอบ”

          “เป็นคนไทยต้องพูดราชาศัพท์ได้เขาเรียกว่า ทรงเจริญพระชนมายุครบสามสิบหกพรรษา” ท่านพระครูขัดขึ้น นายบัวเฮียวหน้าซีดรีบแก้ตัวเป็นพัลวัน

          “ผมจบแค่ ป.๔ พูดไม่เป็นหรอก แต่ผมก็เป็นคนไทย”

          “เอาละ เอาละ ไหนเล่าต่อไปซิ”

          “ครับ แม่ติดคุกอยู่ห้าปี พอออกจากคุก ก็มาทำงานอยู่ที่เก่า ผมก็อยู่กับแม่มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมอายุได้ยี่สิบห้าปี ก็มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับผม หลวงพ่ออาจไม่เชื่อก็ได้” เขาหยุดเล่าและมองหน้าท่านเหมือนจะหยั่งดูท่าทีของอีกฝ่าย

          “เล่าไปเถอะ เชื่อหรือไม่เชื่อแล้วฉันจะบอกทีหลัง” ท่านพระครูกล่าวเสียงเรียบ ชายหนุ่มจึงเล่าต่อไปว่า

          “คือเมื่อปีที่แล้ว ผมฝันประหลาดติด ๆ กันถึงสามคืน ตอนที่ฝัน ตื่นอยู่ก็ไม่เชิง ในฝัน ผมเห็นแสงสว่างวาบขึ้น แล้วเห็นหลวงพ่อ เห็นวัดภาพที่เห็นในฝันนั้นชัดเจนมาก จากนั้น ก็มีเสียงก้องกังวานดังขึ้น ไม่ทราบว่าเป็นเสียงใคร แต่คงไม่ใช่เสียงหลวงพ่อ มันเหมือนลอยมาจากอากาศ เสียงนั้นบอกว่า “บัวเฮียว ภาพที่เห็นคือวัดป่ามะม่วง พระรูปนั้นชื่อพระครูเจริญ เป็นเจ้าอาวาส เจ้าจงไปหาท่าน แล้วให้ท่านบวชให้ วัดนี้อยู่ท่างทิศตะวันตก ให้เจ้าเดินทางไปสิบห้าวันก็จะถึงวัด เจ้าจะสามารถแก้กรรมได้ที่วัดนี้”  แล้วภาพและเสียงก็หายไป ผมสะดุ้งตื่น ก็ได้เวลาทำงานพอดี ตอนแรกผมไม่ได้ใส่ใจ คิดว่า กินมาก ก็ฝันมาก พอคืนที่สองที่สามก็ฝันแบบเดียวกันนี้อีก เล่าให้แม่ฟัง แกก็บอกให้ลองทำตามฝันดู ผมจึงไปขอลางานเถ้าแก่ แกไม่ให้ลาเพราะไม่มีคนแทน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ทำงานมาอีกปีหนึ่ง แล้วก็ได้โอกาสเมื่อแม่มีผัวใหม่ คือ ผัวใหม่แม่สมัครมาทำงานแทนผม เถ้าแก่เลยยอมให้ลาออกและเดินทางมานี่แหละครับ”

          “แล้วตอนนั้นแม่ของเธออายุเท่าไร”

          “สี่สิบกว่าครับ”

          “อ้อ สี่สิบหว่ายังแต่งงานใหม่ได้” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ

          “ครับ เอ้อ พ่อใหม่ผมอายุแก่กว่าผมสักสองสามปีเห็นจะได้”

          “เรียกว่า ได้ผัวเด็กคราวลูกงั้นเถอะ”

          “ครับ แต่เขาเป็นคนดี ขยันขันแข็งแล้วไม่กินเหล้า” นายบัวเฮียวพูดราวกับว่าความดีของพ่อเลี้ยงจะทำให้ความผิดของแม่ลดน้อยลง เพราะการแต่งงานกับเด็กคราวลูกคราวหลาน ถือเป็นเรื่องผิดในสายตาของคนทั่ว ๆ ไป ถึงจะมีบางคนว่าไม่ผิด แต่อย่างน้อยมันก็ผิดปกติ

            ท่านพระครูเชื่อตามที่ชายหนุ่มเล่ามาทุกประการ แต่เพื่อความแน่ใจ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คิดดังนั้น ท่านจึงตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” อีกครั้ง และก็รู้ว่าสิ่งที่เขาเล่ามาเป็นความจริงเกือบหมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือ พ่อหนุ่มผู้นี้เป็นคนญวน ไม่ใช่คนไทย ท่านเข้าใจถึงสาเหตุที่เขาต้องพูดปด และคนที่พูดปดได้ก็เพราะจิตยังหยาบ ต่อเมื่อปฏิบัติกรรมฐานจนจิตละเอียดประณีตขึ้น ก็จะเกิดหิริโอตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เมื่อนั้น เขาก็จะเลิกทำชั่ว พูดชั่ว และคิดชั่ว

          “ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเสียงนั้นบอกให้ผมมาแก้กรรมที่วัดนี้ ผมมีกรรมอะไรที่ต้องแก้ ในเมื่อผมไม่เคยทำเวรทำกรรมกับใคร” หนุ่มวัยเกือบสาบสิบเอ่ยขึ้น เขายังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ การเติบโตมาในโรงฆ่าสัตว์ ได้เห็น ได้ทำปาณาติบาตจนชิน ทำให้จิตใจของเขาหยาบกระด้างเกินกว่าคนปกติ

          “ลองนึกดูให้ดี ๆ ซิ ถ้าเหตุไม่มีแล้วผลมันจะเกิดได้อย่างไร” ท่านพระครูลองทดสอบคุณสมบัติทางใจของเขา นายบัวเฮียวนั่งนึกอยู่หลายนาที แต่ก็นึกไม่ออก จึงปฏิเสธเสียงหนักแน่น

          “ไม่เคยจริง ๆ ครับ ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยทำร้ายใคร ไม่เคยลักขโมย ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน”

          “ไม่จริงมั้ง” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “จริงครับหลวงพ่อ ผมสาบานได้”

          “อย่าเลย ฉันไม่ชอบการสบถสาบาน เอาเถอะ ถ้ายังนึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่สงสัยบ้างเลยหรือว่า ในเมื่อเธอไม่เคยทำบาปแล้ว ทำไมถึงเกิดนิมิตว่าจะต้องมาแก้กรรมที่นี่ สิ่งที่เธอเล่ามานั้นไม่ใช่ความฝันแน่นอน เขาเรียกว่านิมิต คนที่จะเห็นนิมิตเช่นนี้ได้ จะต้องเป็นคนโชคดี เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่เกิดกับใครง่าย ๆ เหมือนคนที่ตายไปตกนรก แล้วกลับฟื้นขึ้นมาเล่าให้คนอื่นฟังนั้น เป็นคนโชคดีมาก”

            “ทำไมหลวงพ่อถึงคิดว่า คนที่ไปนรกเป็นคนโชคดีเล่าครับ” ชายหนุ่มถามอย่างสงสัย

          “ไม่เรียกว่าโชคดี แล้วจะเรียกอะไร ก็คนประเภทนี้มีสักกี่คนกันเล่าที่โชคดี เพราะเขาได้กลับมาแก้ตัวอีกครั้ง ฉันเห็นมานักต่อนักแล้ว พวกคนที่ว่าไม่เชื่อนรก พอฟื้นขึ้นมาก็เห็นรีบทำบุญสร้างคุณความดีกันทุกราย เพราะได้ไปเห็นของจริงมาแล้ว พอเขาทำดี เมื่อตายลงอีกครั้งก็ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ” ท่านพระครูอธิบาย

          “อบายภูมิแปลว่านรกหรือครับ” คนฟังเริ่มสนใจด้วยไอละออกของ “บุญเก่า” ยังพอมีเชื้อเหลือหลงอยู่บ้าง

          “อบายภูมิ หมายถึง ภูมิที่ไม่เจริญ ได้แต่ นรก เปรต อสุรกาย และ เดรัจฉาน คนที่ทำความชั่ว เมื่อตายลงไปจะไปเกิดในอบายภูมินี้”

          “ทำอะไรบ้างครับ จึงจะเรียกว่าทำชั่ว” เขาถามอีก

          “ก็ละเมิดศีลห้านี่แหละ รู้จักศีลไหมล่ะ พ่อแม่เคยพาไปทำบุญที่วัดบ้างหรือเปล่า” ท่านพระครูถามทั้งที่รู้คำ   ตอบดี “เห็นหนอ” ทำให้ท่านรู้กฎแห่งกรรมของบุรุษผู้นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง

          “ไม่เคยครับ พ่อกับแม่ไม่เคยเข้าวัดไปทำบุญ แต่ถ้าเข้าไปดูหนังดูลิเกในวัดละก็บ่อย” ตอบอย่างพาซื่อ

          “ถ้าอย่างนั้น เธอก็ไม่รู้น่ะซีว่า การกระทำที่ละเมิดศีลห้ามีอะไรบ้าง อยากรู้ไหมล่ะ”

          “อยากครับ หลวงพ่อช่วยบอกผมหน่อยเถิดครับ”

          “งั้นก็ตั้งใจฟังให้ดีนะ การกระทำที่ละเมิดศีลก็ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักขโมย การเป็นชู้กับลูกเมียคนอื่น การพูดปด การดื่มสุราเมรัย”  ท่านพระครูอธิบาย เพราะถือว่า การสั่งสอนธรรมเป็นหน้าที่ของพระโดยตรง

          ได้ฟังถ้อยคำของเจ้าอาวาส นายบัวเฮียวรู้สึกสะท้านสะเทือนในหัวอก เขาละเมิดศีลไปสองข้อแล้ว คือฆ่าสัตว์กับพูดปด ส่วนอีกสามข้อยังไม่เคยทำ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนั้น เขาจะไม่ล่วงละเมิดอย่างเด็ดขาด ก็ไม่ใช่เพราะดื่มสุราเมรัยหรอกหรือ พ่อจึงต้องจบชีวิตอย่างเอนจอนาถ

          “หลวงพ่อครับ ฆ่าสัตว์ก็บาปด้วยหรือครับ” เขากังขา

          “แน่นอน”

          “ถ้าอย่างนั้น ผมคงบาปมากเลย เพราะฆ่าวัวฆ่าควายทุกวัน ยกเว้นวันพระซึ่งทางการเขาห้าม ผมคิดว่าฆ่าคนถึงจะบาป” ชายหนุ่มเพิ่งจะเข้าใจ สิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูได้หล่อหลอมให้เขาเป็นผู้มีจิตใจหยาบกระด้าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาเป็นคนจิตใจดี มีเมตตากรุณา และด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงบังเกิดขึ้นเมื่อกุศลผลบุญแต่ปางก่อนดลใจให้มาพบกัลยาณมิตร

          “ทีนี้ เธอคงรู้แล้ววีนะว่า ทำไมถึงต้องแก้กรรม” ท่านพระครูถามเขา

          “ครับ” นายบัวเฮียวตอบ เขาก้มหน้านิ่งด้วยความรู้สึกละอายใจที่โกหกท่านเรื่องเชื้อชาติของตน ในที่สุดจึงตัดสินใจถามขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ คนที่ไม่ใช่คนไทย จะบวชที่วัดนี้ได้ไหมครับ”

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า ที่นี่ไม่จำกัดเชื้อชาติ ถ้ามีจิตศรัทธามาขอบวชและมีคุณสมบัติครบ ก็บวชได้ทั้งนั้น” ท่านพระครูตอบ

          “แล้วคุณสมบัติที่ว่า มีอะไรบ้างครับ”

          “อันดับแรก ก็ต้องเป็นคนมีอาการครบ ๓๒ ไม่พิกลพิการ หรือ บ้า ใบ้ บอด หนวก แล้วก็ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ หรือถ้ามีเมีย ก็ต้องให้เมียอนุญาต”

          “ถ้าเมียไม่มีแล้วพ่อตาย จะบวชได้ไหมครับ”

          “ก็แม่อนุญาตหรือเปล่าเล่า”

          “อนุญาตครับ”

          “ถ้าเช่นนั้นก็บวชได้ไม่มีปัญหา ถามทำไมหรือ” ท่านแกล้งถามไปอย่างนั้นเอง ความจริงท่านรู้วาระจิตของชายที่นั่งตรงหน้าหมดสิ้นแล้ว

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอโทษที่โกหกหลวงพ่อ” หากได้รับการศึกษาอบรมมาดีกว่านี้ นายบัวเฮียวคงจะพูดว่า “พระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ กระผมต้องกราบขออภัยที่ไม่ได้พูดความจริงกับหลวงพ่อ...”

          “ขอโทษเรื่องอะไรหรือ”

          “เรื่องที่ผมโกหกว่าเป็นคนไทยน่ะครับ จริง ๆ แล้ว ผมไม่ใช่คนไทย พ่อแม่ผมเป็นญวน แต่ผมเกิดในเมืองไทยจึงได้สัญชาติไทย แต่เชื้อชาติญวน

          “แล้วทำไมต้องพูดปดด้วยเล่า” แม้ท่านพระครูจะล่วงรู้เหตุผลกลในของเขาเป็นอย่างดี หากท่านก็จำต้องถามเพื่อให้เขาได้พูดออกมาเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า เขาได้ขอขมาในความผิดนั้นแล้ว

          “ก็ถ้าพูดความจริง ผมกลัวหลวงพ่อจะไม่ยอมรับบวชให้ผมครับ” เขาตอบ

          “อ้าวแล้วกัน นี่ฉันไปรับปากรับคำว่าจะบวชให้เธอตั้งแต่เมื่อไหร่” ท่านตั้งใจจะล้อเล่น แต่นายบัวเฮียวเข้าใจว่า ท่านพูดจริง ใจที่กำลังฟูฟ่องนั้น กลับฟุบแฟบลงเสียทันใด

มีต่อ.......๒
         


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:22:53 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00002

 

๒...

          นายบัวเฮียวนั่งพับเพียบมานานจนรู้สึกเมื่อย จึงเปลี่ยนเป็นนั่งชันเข่า รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่ท่านพระครูปฏิเสธที่จะบวชให้ เขามองท่านตาละห้อย คิดหาถ้อยคำที่จะพูดอ้อนวอนท่าน หากก็คิดไม่ออก จึงไม่มีคำพูดใด ๆ เล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากค่อนข้างหนาคู่นั้น เห็นท่าทางผิดหวังของเขา ท่านพระครูได้นึกสงสาร จึงพูดขึ้นว่า

          “ฉันพูดเล่นหรอกนะ เอาเถอะในเมื่ออยากบวชก็จะบวชให้  เธออ่านหนังสือออกไม่ใช่หรือ จบประถมสี่นี่นะ” ใจที่ฟุบแฟบกลับฟูฟ่องขึ้นอีกครั้ง จึงตอบท่านว่า “ครับ พออ่านออกเขียนได้”

          “ดีแล้ว ต้องหัดท่องคำบาลีที่เรียกกันว่า “ขานนาค” ให้คล่อง ท่องได้เมื่อไหร่ก็บวชให้เมื่อนั้น”

          “ใช้เวลาสักกี่วันครับหลวงพ่อกว่าจะท่องได้”  ถามอย่างปีติ

          “ก็ต้องแล้วแต่เธอ ถ้าความจำดีก็ได้เร็ว ไม่เกินสามวันเจ็ดวันก็ได้ แต่ถ้าความจำไม่ดีก็อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เอาละ เดี๋ยวจะหาพระให้มาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลบอกกล่าว ฉันไม่ค่อยมีเวลา ไหนจะต้องคอยรับแขกที่มาเข้ากรรมฐาน บางวันเขาก็นิมนต์ไปบรรยายธรรมต่างที่ต่าง ๆ ครั้นจะไม่รับนิมนต์เขาก็จะติฉินนินทาเอาได้ ว่าไม่ทำหน้าที่พระ” ประโยคหลังท่านบ่นกราย ๆ

          “พระที่หลวงพ่ออยู่ที่ไหนครับ”

          “อยู่วัดนี้แหละ สมชายมานี่หน่อยซิ” ท่านเรียกลูกศิษย์วัดซึ่งกำลังทำความสะอาดกุฏิอยู่ชั้นบน เด็กหนุ่มคลานเข้ามาหาท่าน แล้วจึงถาม

          “หลวงพ่อมีอะไรจะใช้ผมหรือครับ”

          “ช่วยไปดูซิว่าพระมหาบุญอยู่หรือเปล่า ถ้าอยู่บอกให้มาพบฉันหน่อย มีธุระจะพูดด้วย” เด็กหนุ่มคลานออกไปจนถึงประตูแล้วจึงลุกขึ้นเดิน สักครู่ก็กลับมาพร้อมพระรูปหนึ่งอายุประมาณสี่สิบปี เมื่อมาถึงภิกษุรูปนั้นนั่งกราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงถามขึ้นว่า

          “หลวงพ่อมีอะไรจะให้ผมรับใช้หรือครับ”

          “มีสิท่านมหา นี่เขาจะมาขอบวช จะให้ท่านมหาช่วยสอนเรื่องการเตรียมตัวบวช รู้จักท่านมหาเสียสิ บัวเฮียว” นายบัวเฮียวยกมือไหว้แบบเดียวกับที่ไหว้ท่านพระครู พร้อมกับยิ้มให้ท่านมหา

          “คงต้องสอนเรื่องการกราบการไหว้ให้ด้วย คงหนักหน่อยนะ นึกว่าเอาบุญก็แล้วกัน” ท่านพระครูพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรครับ ผมจะช่วยดูแลให้ดีที่สุด หลวงพ่อวางใจได้ แล้วจะให้เขาพักที่ไหนครับ”

          “คงต้องให้อยู่กุฏิเดียวกับท่านมหาไปก่อน ออกพรรษามีกุฏิว่างแล้วค่อยให้แยก อีกสองวันพระ ก็จะออกพรรษาแล้วนะ ทนอึดอัดไปก่อนนะบัวเฮียวนะ”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมต้องขอบคุณหลวงพ่อและท่านมหาที่ช่วยเหลือผมมาก”

          คำพูดนั้นไม่ไพเราะนัก ทว่าก็ออกมาจากใจจริง

          “เอาละ เป็นอันว่าเสร็จธุระแล้ว ท่านมหาพาไปที่กุฏิเลย มีอะไรขัดข้องก็มาบอกฉันได้ ขอให้เชื่อฟังท่านมหาเขานะบัวเฮียวนะ” ท่านหันไปสั่งนายบัวเฮียว ซึ่งชายหนุ่มก็รับคำแข็งขัน พระมหาบุญกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงบอกให้นายบัวเฮียวกราบบ้าง หนุ่มญวนทำตามอย่างว่าง่ายแม้ท่าทางจะดูเก้ ๆ กัง ๆ ด้วยไม่เคยทำมาก่อน

          นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา หากผู้ใดเดินผ่านกุฏิของพระมหาบุญก็จะได้ยินเสียง “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา...” หรือไม่ก็เป็น “....อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต...” ดังออกมาจากกุฏิ บางครั้งก็เป็นเสียงสวดยถาสัพพี บางวันก็เป็นเสียงสวดธรรมจักร แล้วแต่ใครจะผ่านไปได้ยินตอนใด

          พระมหาบุญลงความเห็นว่า แม้นายบัวเฮียวจะดูเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ แต่ก็ว่านอนสอนง่าย และมีความจำเป็นเลิศ ชั่วเวลาเพียงสี่วัน เขาก็สามารถท่อง “ขานนาค” ได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้องแม่นยำ การไหว้การกราบก็ทำได้สวยงามดูไม่เคอะเขินขัดหูขัดตาเหมือนตอนที่มาใหม่ ๆ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรับฟังรายงานจากพระมหาบุญด้วยความยินดี

          ก่อนออกพรรษาห้าวัน นายบัวเฮียวก็เขาพิธีอุปสมบท โดยมีท่านพระครูเจริญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดได้แก่ พระมหาบุญซึ่งรับหน้าที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระมหาเปล่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ อีก ๒๕ รูปเป็นพระอันดับ ทุกรูปล้วนเป็นพระวัดป่ามะม่วงทั้งสิ้น

          วันที่นายบัวเฮียวบวช ท่านพระครูงดออกบิณฑบาตโปรดสัตว์หนึ่งวัน เมื่อออกจากกรรมฐานในตอนเช้าแล้ว จึงจัดการให้ช่างตัดผมมาโกนผมให้นายบัวเฮียว โดยท่านนั่งดูอยู่ใกล้ ๆ ช่างตัดผมใช้กรรไกรตัดผมให้สั้นเสียก่อน แล้วจึงใช้มีดโกน ทันทีที่ใบมีดโกนสัมผัสหนังศีรษะ นายบัวเฮียวรู้สึกเสียบวาบไปทั่วร่างกาย พลันก็ระลึกนึกถึงบิดามารดา อยากให้บุคคลทั้งสองมาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบิดานั้นเขาคิดถึงมาก ไม่รู้ว่าป่านฉะนี้จะไปเกิด ณ ที่ใด แต่ก็คงไม่พ้นอบายภูมิ เพราะท่านพระครูบอกว่า คนที่ทำกรรมชั่วจะต้องไปเกิดที่นั่น คิดแล้วชายหนุ่มก็ร้องไห้ แรก ๆ ก็น้ำตาไหลเฉย ๆ หนักเข้าก็ถึงกับสะอื้นฮัก ๆ จนท่านพระครูสังเกตรู้ ส่วนช่างตัดผมไม่พูดว่ากระไร คงทำหน้าที่ของตนต่อไป “เธอร้องไห้ทำไมหรือบัวเฮียว” ว่าที่อุปัชฌาย์ถาม

          “ผม...ผมคิดถึงพ่อกับแม่ครับ” ตอบปนสะอื้น ท่านพระครูเข้าใจความรู้สึกของเขา จึงพูดปลอบว่า

          “คิดถึงทำไม ก็แม่เธอเขามีความสุขไปแล้ว ไหนเธอบอกว่าพ่อเลี้ยงเขาเป็นคนดียังไงล่ะ”

          “ครับ แต่ผมก็อยากให้แม่มาร่วมงานในวันนี้ อยากให้แกมาเห็นชายผ้าเหลือง” พูดพลางใช้มือปาดน้ำตา

          “ยังไง ๆ เสียเขาก็ต้องได้เห็น แก้กรรมแล้วก็กลับไปเยี่ยมเขาได้ จะมานั่งเสียอกเสียใจทำไม”

          “ครับ” เขารับคำและหยุดร้องไห้ แต่ยังสะอึกสะอื้น พระครูท่านหยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาเช็ดน้ำมูกและน้ำตา เงียบกันไปครู่หนึ่ง หนุ่มวัยเกือบสามสิบก็เอ่ยขึ้นว่า

          “หลวงพ่อครับ แล้ว...พ่อ...พ่อ...ผมไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้” พูดแล้วก็ร้องไห้อีก ท่านพระครูจึงพูดตัดบทว่า

          “อย่าเพิ่งไปคิดอะไรมาก ทำใจให้สบาย วันนี้เป็นวันมงคลของเธอนะ ขอให้ห่วงตัวเอง ช่วยตัวเองให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดช่วยคนอื่น ผู้อื่นจะกระโจนลงไปช่วยคนตกน้ำ จะต้องว่ายน้ำเป็นเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะพากันจบน้ำตายทั้งสองคน เรื่องพ่อของเธอนั้น หากเธอหมั่นทำกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาไปให้ ก็อาจจะช่วยแกได้บ้าง” พูดแล้วก็หยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาอีกครั้ง

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ” ถามพลางรับกระดาษไปเช็ดน้ำตาและน้ำมูก ไม่ลืมที่จะประนมมือไหว้และกล่าวคำขอบคุณทุกครั้งก่อนรับของ

          “ฉันจะโกหกเธอทำไมกันเล่า” นายบัวเฮียวเกรงท่านจะโกรธ จึงพูดขึ้นว่า “ขอโทษครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ดีที่สุด”

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาด้วย จำไว้เถิดว่า อะไร ๆ ก็ไม่เหลือวิสัยของบุคคลที่มีความเพียรไปได้” เจ้าอาวาสพูดให้กำลังใจ

          เสร็จจากโกนผม ท่านพระครูจึงบอกให้นายบัวเฮียวไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจน เพื่อเตรียมเข้าพิธีในพระอุโบสถ พิธีจะเริ่มในเวลา ๙.๐๙ นาฬิกา

          ค่ำวันเดียวกันนั้น พระบัวเฮียวได้นำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอขึ้นกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระครูเจริญอธิบายให้พระใหม่เข้าใจว่า การขอกรรมฐานในพิธีซึ่งทำกันในพระอุโบสถเมื่อเช้านี้ เป็นการทำตามประเพณีเท่านั้น เพราะหลังจากบวชแล้ว พระส่วนใหญ่ก็มิได้นำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎสำหรับพระวัดนี้ว่า พระบวชใหม่จะต้องมาขอกรรมฐานอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่า จะตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงเพศเป็นบรรพชิต

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานแล้ว ท่านพระครูจึงลงมือสอนด้วยตนเอง

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ท่านมีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติมามาก สมัยที่บวชใหม่ ๆ ท่านเจริญสมถกรรมฐาน โดยการกำหนด “พุทโธ” เป็นองค์บริกรรม ปฏิบัติสมถกรรมฐานอยู่หลายปี จนได้อภิญญา แต่ก็เป็นโลกียอภิญญา ซึ่งเมื่อมีได้ก็เสื่อมได้ ไม่แน่นอนและไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น

          เมื่ออายุได้ ๔๕ ปี ท่านได้ธุดงค์ไปในป่าดงพระยาเย็น เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะแนะนำเรื่องการปฏิบัติได้ ป่าดงพระยาเย็นนี้ แต่เดิมมีชื่อว่า ป่าดงพระยาไฟ ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเปลี่ยนมาเป็น ดงพระยาเย็น เพื่อให้ฟังดูไพเราะและไม่น่ากลัวเหมือนชื่อเดิม

          ที่ป่าดงพระยาเย็น ท่านพระครูเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ จาก “พระในป่า” แล้วท่านก็ได้พบว่า ไม่มีทางสายใดที่จะประเสริฐเท่ากับทางสายนี้อีกแล้ว ท่านเพิ่งจะเข้าใจซาบซึ้งในพุทธวจนะที่เคยอ่านพบในพระไตรปิฎก ความว่า “....ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกแลปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี่คือ สติปัฏฐาน ๔...”

          นับเป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐของท่านพระครูที่ได้ไปพบกัลยาณมิตร ด้วย “พระในป่า” รูปนั้นท่านประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการครบบริบูรณ์คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูดยอมให้ว่า แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ และไม่ชักนำในเรื่องที่ไม่ควร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่กับ “พระในป่า” เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

          การดำเนินมรรคาที่ถูกต้องหนึ่ง การพบกัลยาณมิตรหนึ่ง ความไม่ย่อหย่อนในการประกอบความเพียรหนึ่ง และบุญบารมีที่ได้สะสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนหนึ่ง องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเหตุปัจจัยให้การปฏิบัติของท่านก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้บรรลุโลกุตตรธรรมในที่สุด

          นับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ท่านได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง และได้ตระหนักชัดแล้วว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ – สุขอื่นที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี

          ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา ปรารถนาจะให้เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้เข้าสู่ภาวะอันประเสริฐบริสุทธิ์นั้นบ้าง ท่านจึงทำวัดให้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกอบรมพระเณรในวัดให้รู้วิธีปฏิบัติ เช่น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ตลอดจนการกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น

          วัดป่ามะม่วงจึงหลายเป็นสถานที่ดับร้อนผ่อนทุกข์ของชนเป็นอันมาก เพราะเป็นที่สัปปายะ คือความสะดวก ๔ ประการ ได้แก่ เสนา – สนสัปปายะ – มีที่พักอาศัยสะดวก อาหารสัปปายะ – มีอาหารการบริโภคสะดวก บุคคลสัปปายะ – มีบุคคลที่เกี่ยวข้องทำให้สบายใจ เพราะธรรมสัปปายะ – มีหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะแก่จริตของผู้ปฏิบัติธรรม ความสะดวก ๔ ประการนี้มีอยู่พร้อมมูลในวัดป่ามะม่วงที่ท่านพระครูเจริญเป็นเจ้าอาวาส

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงซักถามพระบวชใหม่เพื่อต้องการทราบพื้นฐานความรู้

          “พระมหาบุญท่านสอนอะไรมาบ้างหรือยัง” ท่านหมายถึงเรื่องการปฏิบัติ

          “สอนแล้วครับ” พระบวชใหม่ตอบ

          “ท่านสอนอะไรบ้าง”

          “ท่านอนเมือนกับหลวงพ่อสอนนั่นแหละครับ พระบัวเฮียวตอบซื่อ ๆ       

          “ฉันยังไม่ได้สอนเธอนี่นา ก็กำลังจะสอนอยู่นี่ไง” พระอุปัชณาย์ท้วง

          “สอนครับ ก็หลวงพ่อเคยสอนให้ผมเชื่อฟังท่านมหา ท่านมหาก็สอนให้ผมเชื่อฟังพลวงพ่อ” พระใหม่ขยายความ

          “อ้อ...แต่ที่ฉันถามนั้น หมายถึงการปฏิบัติกรรมฐานต่างหากล่ะ พระมหาบุญท่านสอบการเดินจงกรม การนั่งสมาธิให้บ้างหรือยัง” ผู้อาวุโสกว่าเริ่มจะรู้สึกถึงความซื่อที่มีระดับใกล้เคียงกับ “เซ่อ” ของพระผู้เป็นลูกศิษย์

          “ยังครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบแข็งขัน

          “ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มต้นกันเลย เอาละ ยืนขึ้น ฉันจะสอนเดินจงกรมระยะที่หนึ่งให้” แล้วท่านก็ลุกขึ้น ผู้บวชใหม่ลุกตาม แต่ตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้ดีที่สุด เพราะศรัทธาปสาทะที่มีต่อท่านพระครูนั้น เป็นเสมือนโอสถขนาดเอกที่จะทำให้ตนหายจากโรคได้

          “การเดินจงกรม มีทั้งหมด ๖ ระยะ ระยะที่หนึ่งมีหนึ่ง “หนอ” ระยะที่สองก็มีสอง “หนอ” แล้วก็เพิ่มขึ้นระยะละหนึ่ง “หนอ”ไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะที่หก ก็มีหก “หนอ” ผู้เป็นอุปัชฌาย์อธิบาย

          “หนอ แปลว่าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามอย่างใคร่รู้ หากในใจนั้นคิดเล่น ๆ ว่า “หนอ ๆ แหน ๆ อะไรกันวุ้ย หลวงพ่อนี่พิกลจริง ๆ”

          “ถ้าจะเอาคำแปลกันจริง ๆ มันก็ไม่มี เพราะมันเป็นคำอุทาน เหมือนเวลาเราพูดว่า สุขจริงหนอ ดีใจหนอ อะไรพวกนี้ แต่ในการปฏิบัติธรรม เราเอา “หนอ” มาใช้เป็นองค์บริกรรม เช่น ขวา – ย่าง – หนอ   ซ้าย – ย่าง – หนอ “หนอ” ในที่นี้แปลว่า “กำลัง” หรือจะแปลว่า “รู้” ก็ได้เหมือนกัน คือ รู้ปัจจุบัน เช่นรู้ว่าเรากำลังเดิน รู้ว่ากำลังกิน สรุปก็คือ “หนอ” เป็นตัวบอกให้เรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เข้าใจหรือยังล่ะ” ท่านพระครูอธิบาย ท่านไม่รู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดพระบวชใหม่ทุกรูปก็เคยถามท่านแบบเดียวกันนี้มานักต่อนักแล้ว

          “เข้าใจแล้วครับ ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อสอนผมเดินทั้งหกระยะเลยได้ไหมครับ วันหลังจะได้ไม่ต้องมารบกวนหลวงพ่อ” พระใหม่พูดด้วยความเกรงใจ

          “ไม่ได้หรอก ต้องเดินวันละหนึ่งระยะแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน อย่าใจร้อน ปฏิบัติธรรมต้องใจเย็น ๆ จึงจะได้ผล เอาละฉันจะเดินระยะที่หนึ่งให้ดู ลำดับแรก ยืนตัวตรง เอามือไขว้หลัง นี่อย่างนี้” พระบัวเฮียวทำตาม หากมือที่ไขว้นั้นเอามือซ้ายทับมือขวาและแขนห้อยลงแบบสบาย ๆ

          “ทำอย่างนั้นไม่ได้ นี่ต้องเอามือขวาทับมือซ้าย แล้วยกมือที่ไขว้ขึ้นมาไว้บริเวณกระเบนเหน็บ ไม่ใช่ห้อยสบาย ๆ แบบนั้น” ท่านจับมือทั้งสองของพระใหม่ และจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

          “เอาละ เสร็จแล้วกำหนด “ยืนหนอ” ห้าครั้ง หายใจยาว ๆ เอาสติไว้ที่ศีรษะ พอบอก “ยืน....ค่อย ๆ ลากสติลงมาช้า ๆ พอถึงคำว่า “หนอ” สติก็จะมาอยู่ที่เท้าพอดี แล้วจึงลากขึ้นด้วยวิธีเดียวกัน เพราะฉะนั้น “ยืน....หนอ” ห้าครั้ง เราก็จะลากสติ ลง...ขึ้น ลง...ขึ้น ลง ลองทำซิ” พระใหม่ทำตามคำบอก และก็ทำได้โดยไม่ข้องขัด ท่านพระครูพอใจที่เขาเป็นคนสอนง่าย

          “หลวงพ่อครับ ทำไมต้องพูดว่า “ยืน...หนอ” ตั้งห้าครั้งเล่าครับ” ถึงจะสอนง่ายแต่ก็ชอบซัก

          “ที่ต้องบริกรรมห้าครั้งก็เอามาจาก ตจปัญจกกรรมฐาน นั่นไง ไหนบอกมาซิว่า ตจปัญจกกรรมฐานมีอะไรบ้าง”

          “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครับ” พระบัวเฮียวว่าเร็วปรื๋อ เพราะเป็นคนจำแม่น

          “แปลด้วย”

          “เกสา – ผม โลมา – ขน นขา – เล็บ ทันตา – ฟัน ตโจ – หนัง ครับ”

          “ดีมาก นี่แหละการให้ ยืน...หนอ ห้าครั้ง ก็เพื่อจะให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่บางสำนักเขาก็ให้ “ยืน...หนอ” สามครั้ง โดยลากสติขึ้นลงเฉย ๆ อันนี้ก็แล้วแต่ใครจะถนัดอย่างไร เพราะถึงจะปฏิบัติแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็มีจุดหมายอันเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ เอาละ เมื่อ ยืน...หนอ ห้าครั้งแล้วก็จะเริ่มต้น ไหนบอกมาก่อนซิว่า ตอนนี้สติอยู่ที่ไหน”

          “ที่เท้าครับ”

          “ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าขวา เพราะเราจะก้าวเท้าขวาก่อน นี่ก้าวที่หนึ่งบริกรรมว่าอย่างนี้ “ขวา – ย่าง – หนอ” ต้องก้าวช้า ๆ แล้วการบริกรรมที่ต้องให้ทันปัจจุบันด้วย นี่เห็นไหม เดินหนึ่งก้าวก็หนึ่ง “หนอ” เอาละ ทีนี้จะก้าวเท้าซ้ายก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย บริกรรมว่า “ซ้าย – ย่าง – หนอ” พร้อมกับก้าวไปด้วย” ท่านลองเดินให้ดูสี่ห้าก้าว แล้วจึงให้พระใหม่ลองทำให้ดู พระบัวเฮียวก็เดินอย่างรวดเร็ว

          “หยุดก่อน หยุดก่อน เดินเร็วอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเดินช้า ๆ เหมือนอย่างที่ฉันเดินให้ดูนั่งไง”

          “ทำไมต้องเดินช้า ๆ ด้วยครับหลวงพ่อ” ถามเพราะไม่เข้าใจ

          “ที่ต้องเดินช้า ๆ ก็เพื่อจะได้เห็นสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรมหมด รู้หรือยัง”

          “สัจธรรมคืออะไรครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “ถ้าอยากรู้ก็ต้องเร่งทำความเพียร หมั่นเดินจงกรมนั่งสมาธิ ฝึกสติให้มาก ๆ สติดีเมื่อไหร่ก็จะรู้เอง”

          “งั้นก็แปลว่า ตอนนี้ผมสติไม่ดีน่ะซี เปล่านะครับหลวงพ่อ ผมไม่ได้บ้านะครับ” พระใหม่ร้อนตัวด้วยเข้าใจความหมายไม่ตรงกับผู้พูด

          “ฉันก็ไม่ได้ว่าเธอบ้านี่นา จำไว้นะ เมื่อเธอจะไปสอนคนอื่นต่อไปในวันข้างหน้า คนบ้าอย่าเอามาเข้ากรรมฐานเด็ดขาด บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าเอาคนบ้ามาเข้ากรรมฐานจะทำให้หายได้ ไม่จริงเลย มีแต่จะทำให้บ้าหนักขึ้น ก็อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สติไม่ค่อยดี ญาติเลยพามาเข้ากรรมฐาน ฉันก็ไม่รู้ เพราะพระมหาบุญท่านเป็นคนสอน แหม พอเดินจงกรมได้สามวันก็ออกฤทธิ์เลย ลุกขึ้นรำป้อ ใครห้ามก็ไม่ฟัง คนเขามาตามฉันไปดู ฉันเลยให้ญาติมาพาส่งปากคลองสาน”

          “แล้วเขายอมไปแต่โดยดีหรือครับ”

          “อ้าว ถ้ายอมก็ไม่ใช่คนบ้าซี”

          “แล้วทำยังไงถึงไปได้ล่ะครับ”

          “พระมหาบุญท่านใช้อุบายให้ญาติหลอกว่าสำนักนี้สอนไม่ดี รำก็ไม่สวยสู้สำนักโน้นไม่ได้ เขาก็ต้อนขึ้นรถบอกจะพาไปสำนักโน้น ก็เลยพาไปได้”

          “ทำไมคนบ้าถึงปฏิบัติไม่ได้เล่าครับ” พระใหม่ถามอีก

          “เอาละ ฉันจะยังไม่ตอบเธอ ให้เธอรู้เอาเองเมื่อได้ปฏิบัติถึงระดับหนึ่งแล้ว อยากเตือนสักนิดว่า ความลังเลสงสัยจนเกินขอบเขต มันจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เก็บความสงสัยไว้ก่อน ปฏิบัติมาก ๆ เข้าก็จะหายสงสัยไปเอง” ผู้เป็นอุปัชฌาย์แนะแนว

          “ครับหลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าโดยเร็ว” ว่าแล้วก็เดินจงกรมอย่างตั้งอกตั้งใจ

          “เอาละ ทีนี้พอเดินสุดทางซึ่งไม่ควรจะมากว่าสามเมตร ก็กำหนดกลับโดยบริกรรมว่า “กลับ – หนอ” อย่างนี้” ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระบัวเฮียวทำตามโดยไม่ยากนัก

          “เอาละ เมื่อเดินเป็น กลับเป็นแล้ว พรุ่งนี้ฉันจะสอนการนั่งให้ สำหรับวันนี้เดี๋ยวเธอกลับไปเดินจงกรมต่อที่กุฏิของเธอให้ได้หนึ่งชั่วโมง จากนั้น ก็ให้นอนหงายเอามือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ ของท้อง เมื่อท้องพองให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ” เมื่อยุบก็ให้บริกรรมว่า “ยุบ – หนอ” ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ เอาละ กลับไปได้แล้ว”

          “ผมต้องอขกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาสอนให้” พูดพร้อมกับก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงค่อย ๆ คลานถอยหลังออกมา ครั้นถึงประตูจึงหันหลังกลับ ลุกขึ้นเดินไปยังกุฏิของตน ซึ่งอยู่รวมกับพระมหาบุญ ขณะเดินท่านก็กำหนด ซ้าย – ขวา ไปตลอดทาง กระนั้นเสียง “หนอ ๆๆ” และ “เอาละ ๆๆ” ก็ยังก้องอยู่ในโสตประสาท วันนี้ พระอุปัชฌาย์ของท่านใช้คำว่า “หนอ” กับ “เอาละ” มากที่สุด

 

มีต่อ.....๓


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:24:30 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00003

 

๓...

          พระบัวเฮียวกลับกุฏิด้วยความเอิบอิ่มใจ ท่านจัดการล้างมือล้างเท้าให้สะอาดเรียบร้อย แล้วจึงสวดมนต์ทำวัตรเย็น พระวัดนี้จะลงโบสถ์สวนมนต์ทำวัตร เช้า – เย็น และสวดปาติโมกข์ พร้อมกันก็เฉพาะในวันพระเท่านั้น และหากรูปใดทำผิดวินัยเล็ก ๆ น้อย ที่ไม่ใช่อาบัติขึ้นปาราชิก ก็จะปลงอาบัติกันในวันนี้ ส่วนวันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วันธรรมสวนะ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติอยู่ในกุฏิของตน มีปัญหาหรือสงสัยในเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ก็จะไปเรียนถามท่านเจ้าอาวาส

          พระมหาบุญมอบนาฬิกาปลุกขนาดเล็กให้พระบวชใหม่หนึ่งเรือน

          “เอาไว้จับเวลา ตอนแรก ๆ ต้องอาศัยนาฬิกาปลุก แต่พอปฏิบัติไปนาน ๆ จิตมันรู้ได้เอง อย่างผมเดี๋ยวนี้ไม่ต้องพึ่งนาฬิกา อยากปฏิบัติกี่ชั่วโมงก็กำหนดจิตเอาไว้เหมือนกับการตั้งนาฬิกาปลุก พอถึงเวลาที่กำหนด จิตมันบอกเอง มันก็แปลกนะคุณบัวเฮียว ตอนปฏิบัติใหม่ ๆ ท่านพระครูก็บอกผมอย่างนี้ ตอนนั้นผมไม่เชื่อ ผมมันคนหัวรั้น ไม่ยอมเชื่อใครง่าย ๆ แต่ก็ชอบลองชอบพิสูจน์และผมก็ได้พิสูจน์แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง”

          ท่านสอนวิธีใช้ให้ด้วย พระบัวเฮียวตั้งเวลาไว้หนึ่งชั่วโมง แล้วจึงเริ่มต้นเดินจงกรม อาศัยที่ความจำดี จึงเดินได้ถูกต้องตามขึ้นตอนทุกประการ ท่านเดินไปเดินมาในกุฏิซึ่งมีความยาวประมาณสามเมตรด้วยความเพลิดเพลินกระทั่งเสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้น กดปุ่มนาฬิกาให้หยุดคำรามแล้วตั้งใหม่ให้ปลุกตอนตีสี่

          หยิบเครื่องนอนซึ่งมีเสื่อ หมอนกับผ้าห่ม มาจัดการปูที่นอนข้าง ๆ พระมหาบุญ คลี่ผ้าออกคลุมกายด้วยอากาศเริ่มหนาวเย็น เพราะย่างเข้าฤดูเหมันต์ ปิดไฟแล้วจึงเอนกายลงใช้มือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ พร้อมกับบริกรรม “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ตามที่พระอุปัชฌาย์สอน สักครู่ก็ม่อยหลับไปโดยจับไม่ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ

          เสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้นเมื่อเวลาตีสี่พร้อม ๆ กับเสียงพระตีระฆัง ตามด้วยเสียงเห่าหอนของสุนัขซึ่งจะพากันหอนเห่าทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเหง่งหง่างของระฆัง ซึ่งดังก้องกระหึ่มไปทั่วบริเวณ พระบัวเฮียวสะดุ้งตื่นแต่ยังงัวเงียเพราะหลับไม่เต็มอิ่ม

          อากาศตอนเช้ามืดหนาวเย็นน่าที่จะซุกกายอยู่ภายใต้ผ้าห่มอันอบอุ่น ท่านจึงเอื้อมมือไปกดปุ่มนาฬิกาหมายจะนอนต่อ แต่เสียงที่ดังอยู่ริมหูทำให้ท่านหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง

          “บัวเฮียว ถ้าเจ้าเกียจคร้านเห็นแก่หลับแก่นอน ไม่รีบเร่งทำความเพียร เจ้าก็จะไม่สามารถแก้กรรมได้ เจ้าเดินมาถูกทางแล้ว ขอให้เดินต่อไปอย่าท้อถอย ตื่นขึ้นเดินจงกรมเดี๋ยวนี้”

          จำได้แม่นยำว่าเป็นเสียงลึกลับที่เคยได้ยินเมื่อปีที่แล้ว พระบวชใหม่รีบลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟัน สวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้วเดินจงกรม พระมหาบุญลุกออกไปปฏิบัติที่หน้าพระอุโบสถ เพื่อเปิดโอกาสให้พระบัวเฮียวได้ปฏิบัติอย่างอิสระ

          ไก่ป่าที่ส่งเสียงขันประชันกับเสียง “กาเว้า กาเว้า” ของเจ้านกกาเหว่านั้นมิได้สร้างความรำคาญให้กับผู้บวชใหม่ เพราะท่านรู้จักกำหนดว่า “ไก่ขันหนอ” “นกร้องหนอ” และเมื่อได้ยินเสียงสุนัขเห่า ท่านก็กำหนดว่า “หมาเห่าหนอ”

          เดินจงกรมได้สักครู่หนึ่ง ก็รู้สึกว่าท้องร้องโครกครากด้วยไม่ชินกับการอดข้าวมื้อเย็น สักครู่เสียง “ปู้ด ๆ    ป้าด ๆ” ก็ดังขึ้นเป็นระยะ คราวนี้พระบวชใหม่ต้องใช้เวลาขบคิดว่าจะกำหนดอย่างไร ก็ท่านพระครูสอนเพียงให้กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แต่ตอนผายลมท่านไม่ได้บอกไว้ ภิกษุคนซื่อเลยกำหนดเอาเองว่า “ตด – หนอ” แล้วก็มีอันต้องกำหนดอย่างนี้บ่อยครั้ง

          ท่านไม่เข้าใจระบบการทำงานของร่างกายว่า เมื่อไม่มีอาหารอยู่ในกระเพาะ ลมที่อัดอยู่ในช่องท้องก็ปั่นป่วนและหาทางระบายออก อาการเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพระบัวเฮียวเท่านั้น ผู้เริ่มปฏิบัติกรรมฐานทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต คฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี เด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมมีอาการแบบเดียวกันนี้ แท้จริงมันเป็นเพียงการปรากฏของสภาวธรรมเท่านั้น

          เดินจงกรมเสร็จท่านก็เอนกายลงนอน เอามือวางบนท้อง ครั้งนี้ท่านลง “หนอ” ไม่ทัน จึงได้แต่ “พอง – ยุบ พอง – ยุบ” เท่านั้น

          เวลาหกนาฬิกา พระบัวเฮียวออกบิณฑบาตกับพระอีกสี่รูป มีพระมหาบุญนำหน้า ส่วนท่านเดินหลังสุดเพราะเพิ่งบวช ท่านพระครูไม่ให้พระในวัดนี้ไปบิณฑบาตทางเดียวกันเกินห้ารูป และให้แบ่งแยกกันไปเป็นสาย ๆ จะได้โปรดสัตว์ได้ทั่วถึง

          กลับจากบิณฑบาตจึงไปฉันรวมกันที่หอฉัน ยกเว้นท่านพระครูซึ่งจะบิณฑบาตเดี่ยว และกลับมาฉันตามลำพังที่กุฏิของท่าน แต่ถ้าเป็นวันพระ หรือในโอกาสพิเศษที่มีคนมาทำบุญเลี้ยงเพล ท่านก็จะไปฉันที่ศาลาการเปรียญพร้อมกับภิกษุอื่น ๆ และวันนั้นท่านก็จะฉันสองมื้อเพื่อไม่ให้ญาติโยมเขาเสียความตั้งใจ ท่านรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่เคร่ง ครัดรัดตัวจนเกินไป แต่ก็ไม่ให้ผิดวินัยของสงฆ์

          เมื่อพระฉันเสร็จ พวกลูกศิษย์ก็จะแบ่งอาหารเก็บไว้ถวายเพลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งพวกเขาก็ตั้งวงรับประทานกัน วันใดอาหารมีไม่พอ ทางโรงครัวก็จะทำขึ้นมาเสริม งานหนักที่สุดเห็นจะได้แก่งานโรงครัว เพราะมีคนมาเข้ากรรมฐานแทบไม่เว้นแต่ละวัน บางครั้งก็มากันเป็นคณะคราวละร้อยสองร้อย ท่านพระครูก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี ทั้งเรื่องที่พักและอาหาร เท่าที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ได้ ผู้ที่มาวัดต่างพากันประทับใจในอัธยาศัยไม่ตรีของท่าน ไม่มีใครที่มาวัดนี้แล้วจะไม่อยากมาอีก

          พระบัวเฮียวกลบไปกุฏิของท่าน เดินจงกรมให้อาหารย่อยแล้ว จึงสรงน้ำทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นก็ไปหาท่านพระครูเพื่อให้ท่าน “สอบอารมณ์” และสอนวิธีนั่งสมาธิ

          “เป็นยังไง เมื่อคืนนอนหลับสบายไหม” ท่านพระครูถามหลังจากที่พระใหม่ทำความเคารพและนั่งในที่อันสมควรแล้ว

          “สบายครับ” พระบัวเฮียวตอบ แต่มิได้เล่าเรื่อง “เสียงลึกลับ” ให้ฟัง ด้วยเกรงจะถูกท่านดุว่าเกียจคร้าน

          “หลับไปตอนยุบหรือตอนพองล่ะ”

          “เอ้อ... จะ... จับไม่ได้ครับ” ผู้บวชใหม่สารภาพ คิดว่าคงจะถูกพระอุปัชฌาย์ดุ แต่ท่านกลับพูดว่า

          “เอาละ ยังจับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืนนี้ค่อยลองอีกที” ภิกษุวัยใกล้สามสิบค่อยโล่งอก แถมยังแอบล้อเลียนท่านในใจว่า “ฮั่นแน่ หลวงพ่อพูด “เอาละ” อีกแล้ว สงสัยท่านคงใช้คำนี้วันละหลายร้อยหน” พระใหม่มิได้รู้ตัวดอกว่าผู้อาวุโส “อ่านใจ” อยู่เงียบ ๆ

          “เป็นศิษย์อย่าหัดล้อเลียนครูบาอาจารย์” ท่านพระครูกล่าวเสียงเรียบ แต่พระบัวเฮียวถึงกับสะดุ้ง

          “ทำไมหลวงพ่อรู้ครับ” ถามเสียงอ่อย

          “ก็ทำไมฉันจะไม่รู้เล่า ท่านย้อนถาม พระบวชใหม่อดคิดไม่ได้ว่า “ท่านพระครูนี่ยังกับเป็นผู้วิเศษ สงสัยคงเป็นพระอรหันต์”

          “ฉันไม่ใช่ผู้วิส่งวิเศษอะไรหรอก แล้วก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าจะเป็นก็คงเป็นได้แค่พระอรเห” ท่านพูดยิ้ม ๆ คนเป็นศิษย์ยิ่งพิศวงงงงวยหนักขึ้น ไม่รู้ว่าท่านอ่านใจผู้อื่นได้อย่างไร

          “อย่าเพิ่งไปสงสัยว่าทำไมฉันถึงทำได้ ถ้าเธอปฏิบัติเคร่งครัดไม่ช้าก็ต้องทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร” ฟังพระอุปัชฌาย์พูดแล้ว พระบวชใหม่ได้กำลังใจขึ้นอีกเป็นกองและคิดว่าจะทำให้ดีที่สุด

          “เอาละ ทีนี้เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า เธอจับพอง – ยุบ ได้ชัดหรือยัง”

          “พองชัดครับ แต่ยุบยังไม่ค่อยชัดแล้วก็ลง “หนอ” ไม่ค่อยทัน บางทีเลยได้แค่ พอง – ยุบ พอง – ยุบ”

          “ต้องพยายามลง “หนอ” ให้ได้ เอาละ ถ้าจิตไวขึ้นก็จะได้เอง ไม่ต้องไปเครียดกับมันมาก แต่เรื่องกำหนดนั่น เธอยังทำไม่ถูกนะ เอาละ ฉันอธิบายสติปัฏฐาน ๔ ให้เธอฟังอย่างคร่าว ๆ สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม วันนี้จะเอากายก่อน การตั้งสติกำหนดพิจารณากายหรือพิจารณาเห็นกายในกายที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องการเอาสติตามรู้กาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การหายใจเข้าออก ยืน เดิน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อย่างที่ฉันเกริ่นไว้เมื่อคราวที่แล้ว คำว่า “กาย” ในที่นี้จึงหมายถึงร่างกายของเราเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่ต้องสนใจ เพราะฉะนั้นเธอกำหนดว่า “ไก่ขันหนอ” “หมาเห่าหนอ” นั้นใช้ไม่ได้เพราะมันไม่เป็นกายานุปัสสนา

          พระบัวเฮียวแปลกใจเป็นครั้งที่เท่าไหร่ของเช้านี้ก็นับไม่ถ้วนเสียแล้ว ท่านพระครูมีอะไร ๆ ให้ท่านพิศวงหลงใหล และท้าทายต่อการพิสูจน์ทดลองไปเสียทุกเรื่อง พลันพระบวชใหม่ก็นึกได้ถึงคำบริกรรมของท่านตอนผายลม นึกหวั่นหวาดในใจว่า ท่านจะรู้หรือไม่หนอ ก็พอดีท่านพูดขึ้นว่า

          “ทำไมจะไม่รู้ นั้นก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ไม่มีใครเขาบริกรรมพิลึกพิลั่นอย่างเธอหรอก” พระใหม่รู้สึกอายเป็นกำลัง จึงโอดครวญว่า

          “โธ่ หลวงพ่อครับ ก็ผมบริกรรมในใจแท้ ๆ ทำไมหลวงพ่อถึงได้ยินเล่าครับ อีกอย่างผมก็ทำอยู่ที่กุฏิผมโน่น”

          “ฉันก็กำหนด “เห็นหนอ” นั่นซี จะไว้นะบัวเฮียว “เห็นหนอ” นี้มีค่าหลายล้าน อย่าไปคิดว่าหนอ ๆ แหน ๆ เป็นเรื่องเหลวไหล ถ้าเธอฝึกสติดีจนถึงขึ้นแล้ว เธอจะใช้ “เห็นหนอ” ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาลทีเดียว”

          “ใช้ดูเลขดูหวยได้ไหมครับหลวงพ่อ”

          “ได้ แต่เขาไม่ทำกันเพราะการปฏิบัติธรรมเป็นไปเพื่อละกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเธอเอาไปใช้ในทางนั้นมันเป็นการเพิ่มกิเลส ผิดจุดประสงค์ที่แท้จริงของการปฏิบัติ”

          “ครับ ผมเข้าใจแล้ว หลวงพ่อกรุณาอธิบายกายาสนาต่อเถิดครับ”

          “กายานุปัสสนา ต้องเรียกให้ถูก เวลาไปสอนคนอื่นจะได้ไม่เลอะเลือน เลื่อนเปื้อน”

          “ครับ กายานุปัสสนา” ผู้เป็นศิษย์ทวนคำ

          “นั่นแหละถูกต้อง เอาละ ก่อนจะเข้าใจกายานุปัสสนา จะต้องเข้าใจอายตนะเสียก่อน อายตนะ แปลว่า สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แบ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในทำหน้าที่เป็นตัวรู้ ส่วนอายตนะภายนอกเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพะ และธัมมารมณ์ สิ่งที่ตาเห็นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราเรียกว่า รูป ตาจึงคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ไหนลองบอกซิว่าลิ้นคู่กับอะไร”

          “อาหารที่กินเข้าไปครับ” ตอบอย่างภาคภูมิด้วยคิดว่าคำตอบนั้นถูกต้องแล้ว

          “ผิด ตอบใหม่อีกทีซิ”

          “ลิ้นคู่กับฟันครับ” คราวนี้ไม่ค่อยมั่นใจนัก

          “ผิดอีก จะลองอีกทีไหม”

          “ไม่แล้วครับ”

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นเวลาที่เรากินอาหารแล้วรู้ว่า เผ็ด หวาน มัน เค็ม เราเรียกว่าอะไร”

          “เรียกว่า แซ่บ ครับ” ท่านพระครูรู้สึกอ่อนใจ จึงเฉลยให้ฟังจะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว

          “เขาเรียกว่า รส จำไว้ ส่วนสิ่งที่มากระทบกายเราเรียกว่า โผฏฐัพพะ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และสิ่งที่มากระทบใจ เรียกว่า ธัมมารมณ์ เช่น ดีใจ เสียใจ ทุกข์ใจ จำได้หรือยังล่ะ เอาละ ไหนลองทบทวนซิ อายตนะภายนอกมีอะไรบ้าง”

            “ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ”

          “อ้อ... ตาเธอ หูเธอ ลอยอยู่ข้างนอกว่างั้นเถอะ ไหนตอบใหม่ซิ เอาให้แน่ ๆ”

          “รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และกามารมณ์ ครับ”

          “ธัมมารมณ์เว้ย ไม่ใช่กามารมณ์ คนละเรื่องเลย” คนสอนบ่นอุบและเผลอพูดคำว่า “เว้ย” ออกมา

          “เอาละ ทีนี้อายตนะภายในเธอก็รู้แล้วสินะ ต่อไปจะได้กำหนดได้ถูกต้อง”

          “หลวงพ่อครับ กำหนดกับบริกรรมนี่เหมือนกันไหมครับ”

          “เหมือนกัน จะใช้ว่ากำหนดก็ได้ หรือจะใช้ว่าบริกรรมก็ได้ ทีนี้เมื่อเธอได้ยินเสียงไก่ขัน สุนัขเห่า หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ที่รับรู้โดยทางหูให้เธอกำหนดว่า “เสียงหนอ” เท่านั้น ไม่ต้องไปใส่ใจ ไม่ต้องไปวิจัยว่ามันเป็นเสียงอะไร ตาเห็นอะไรก็ตามให้กำหนดว่า “เห็นหนอ” แล้วก็จบกัน เวลาผายลม ถ้ามันดังก็กำหนดว่า “เสียงหนอ” ถ้ามันไม่ดังก็กำหนดว่า “รู้หนอ” คือเอาใจไปรู้มัน เอาละทีนี้ ถ้ามันมีกลิ่นด้วย เธอจะกำหนดว่าอย่างไร” พระใหม่ถูกทดสอบอีก

          “ถ้าเป็นของตัวเองก็ “หอมหนอ” แต่ถ้าเป็นของคนอื่นก็ “เหม็นหนอ” ครับ” คราวนี้ท่านพระครูหัวเราะชอบใจ

          “เออ เข้าทีดีนี่ เข้าใจตอบ” คนตอบก็เลยหน้าบานด้วยคิดว่าถูกต้องดีแล้ว

          “จริง ๆ นะบัวเฮียว คนอย่างเธอจะว่าสอนง่ายก็ไม่ใช่ ครั้นจะว่าสอนยากก็ไม่ใช่อีก” ยังไม่ทันที่ท่านจะพูดต่อ พระบัวเฮียวก็ขัดขึ้นว่า

          “จะว่าสอนง่ายก็ใช่ จะว่าสอนยากก็ใช่ ต่างหากเล่าครับ”

          “เอาละ ๆ นี่บอกตามตรงนะบัวเฮียว ฉันไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้ว เธอโง่หรือฉลาดกันแน่”

          “จะว่าโง่ก็ใช่ จะว่าฉลาดก็ใช่ ยังงันหรือเปล่าครับ”

          “ก็ทำนองนั้นแหละ เอาละ เอาเป็นว่าฉันคิดว่าเธอฉลาดก็แล้วกัน ขอให้ฉลาดอย่างนี้ตลอดไปนะ” ท่านตั้งใจประชด

          “สมพรปากครับ” พูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ” ท่านพระครูคร้านที่จะต่อปากต่อคำ จึงวกกลับมาเข้าเรื่องเดิม

          “เอาละ เมื่อเธอเข้าใจอายตนะภายใน ภายนอก แล้วทีนี้เวลาปฏิบัติจะได้กำหนดได้ถูกต้อง จำไว้ว่าอย่าไปปรุงแต่ง ให้กำหนด “รู้” เฉย ๆ

          “ทำไมถึงปรุงแต่งไม่ได้เล่าครับหลวงพ่อ”

          “ก็ถ้าปรุงแต่งมันก็เป็นกิเลสน่ะซี อย่างเช่นที่เธอกำหนดว่า “หอมหนอ” มันเป็นโลภะ “เหม็นหนอ” ก็เป็นโทสะ ถ้าทำเฉยไม่กำหนดรู้ มันก็เป็นโมหะ ดังนั้นถ้าจะให้ถูกก็ต้องกำหนดว่า “กลิ่นหนอ” โดยไม่ไปปรุงแต่งว่า มันจะหอมหรือจะเหม็น เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจแล้วครับ”

          “ดีแล้ว เอาละ ทีนี้บอกมาซิว่า ถ้าได้ยินเสียงนกร้อง จะกำหนดว่าอย่างไร”

          “เสียงหนอ ครับ”

          “ทำไมไม่กำหนดว่า “นกร้องหนอ” ล่ะ”

          เพราะถ้ากำหนดอย่างนั้นมันก็ไม่เป็นกายานุปัสสนา มันอยู่นอกกายของเรา เราต้องกำหนดรู้เฉพาะที่อยู่ในกาย”

          “ดีมาก ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ฝึกนั่งสมาธิได้แล้ว จงจำไว้ว่าเมื่อเดินจงกรมเสร็จต้องนั่งสมาธิทันที ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเสียก่อนแล้วจึงค่อยมานั่ง ต้องทำให้มันติดต่อกันจะได้รักษาอารมณ์กรรมฐานเอาไว้ไม่ให้รั่วไหลไปทางอื่น วิธีนั่งก็กำหนด “นั่งหนอ” ก่อนแล้วค่อย ๆ นั่งลงไป การนั่งสมาธิมี ๓ แบบ คือ สมาธิชั้นเดียว นั่งอย่างนี้ งอเข่าขาซ้ายและขาขวาวางบนพื้น ถ้าสมาธิสองชั้นก็ยกขาขวาวางทับบนขาซ้าย ถ้าสามชั้นหรือที่เรียกว่าสมาธิเพชร ก็ยกขาซ้ายทับขาขวาแล้วยกขาขวาทับขาซ้ายอีกทีหนึ่ง”

          แล้วท่านก็สาธิตวิธีนั่งทั้งสามแบบให้พระบัวเฮียวดู พระใหม่ทำตามได้สองแบบแรก และพยายามจะทำแบบที่สามแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมันรู้สึกเหมือนขาจะหัก

          “ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ประเดี๋ยวขาแข้งหักไปจะยุ่งกันใหญ่ ปฏิบัตินาน ๆ เข้าก็ทำได้เอง เอาละวันนี้นั่งสองชั้นไปก่อน นั่นอย่างนั้นถูกแล้ว เอาละ ทีนี้ก็เอามือวางบนหน้าตัก ให้มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ค่อย ๆ หลับตาลงช้า ๆ เอาสติไปไว้ที่ท้องเหนือสะดือขึ้นมาประมาณสองนิ้ว รู้สึกหรือยังว่าท้องมันพองแล้วก็ยุบ”

          “รู้แล้วครับ”

          “มันพองก่อนหรือว่ายุบก่อน”

          “พองก่อนครับ”

          “นั่นแหละถูกต้องแล้ว คนที่บอกว่า ยุบก่อน แสดงว่ายังจับไม่ได้ โดยธรรมชาติแล้วเราจะจับพองได้ก่อนยุบเสมอ จึงให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แสดงว่ารู้ไม่จริง เอาละ ต่อไปนี้ลองนั่งดูสักสี่สิบนาที อย่าไปคิดเรื่องอื่น พยายามให้สติจับอยู่ที่ พอง – ยุบ ตลอดเวลาได้ยินเสียง ได้กลิ่นอะไรก็กำหนดไปตามจริง ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันด้วย แล้วอย่าไปปรุงแต่ง เอาละนั่งไป ครบกำหนดเวลาแล้วฉันจะบอกเอง”

 

มีต่อ......๔

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:25:26 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00004

 

๔...

                ในความรู้สึกของพระบัวเฮียว เวลาสี่สิบนาทีช่างดูยาวนานเสียหนักหนา ท่านจับ พอง – ยุบ ได้ในช่วงแรก ๆ กระนั้นก็ยังลง “หนอ” ไม่ค่อยจะทัน เพราะมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นั่งไปสักครู่ให้รู้สึกอึดอัดขัดข้อง ลมในท้องเริ่มปั่นป่วนอีกครั้ง ท่านพยายามกลั้นเอาไว้ หากปล่อยปู้ดป้าดออกมาเกรงจะต้องอับอายขายหน้า เมื่ออั้นไว้หนักเข้าก็กลายเป็นความกังวลจนจับ พอง – ยุบ ไม่ได้

            “อย่าไปกังวลแล้วก็ไม่ต้องไปกลั้น เขาอยากจะออกมาก็ให้เขาออกอย่าไปฝืนเขา มันเป็นการปรากฏของสภาวธรรม ให้กำหนด “เสียงหนอ” หรือ “กลิ่นหนอ” ไปตามความเป็นจริง” ท่านพระครูซึ่งนั่งควบคุมอยู่ห่าง ๆ พูดขึ้น พระใหม่จึงหมดกังวลเรื่องลม ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ หันมาจับ พอง – ยุบต่อ หากก็จับได้ไม่นานเพราะอาการปวดเมื่อยเริ่มปรากฏ ท่านรู้สึกปวดขาเป็นกำลัง คิดอยากจะถามพระอุปัชฌาย์ว่าจะเปลี่ยนท่านั่งได้หรือไม่ ฝ่ายนั้นก็พูดขึ้นทันทีว่า

            “อย่าเปลี่ยน นี่แหละเขาเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องให้เห็นของจริงถึงจะเข้าใจ เอาสติไปเพ่งตรงที่ปวดแล้วกำหนดว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” จากนั้นก็ไม่ต้องไปในใจ ให้กลับมากำหนด พอง – ยุบ อีก”

            เมื่อมีคนคอยช่วยเหลืออยู่เช่นนี้ทั้งยังสามารถ “อ่านใจ” ผู้อื่นได้ด้วย พระบัวเฮียวจึงหายกังวล ท่านพระครูอยากให้การนั่งของพระใหม่เป็นไปตามธรรมชาติ ครั้นเห็นว่าได้แนะนำพอสมควรแล้ว จึงลุกจากที่นั้นไปอย่างเงียบ ๆ ปล่อยผู้เป็นศิษย์ให้นั่งอยู่ตามลำพัง

            พระบัวเฮียวไม่รู้ว่าพระอุปัชฌาย์ลุกออกไป ท่านพยายามจับ พอง – ยุบ อย่างเคร่งครัด ต่อเมื่ออาการปวดขาทวีความรุนแรงขึ้น พระใหม่ก็หมดความอดทน ค่อย ๆ เปลี่ยนท่านั่งจากขาขวาทับขาซ้าย มาเป็นขาซ้ายทับขาขวา รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้น ทั้งอุปัชฌาย์ก็มิได้ว่ากระไร จึงกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนปฏิบัติถูกต้องแล้ว

            “อหังการ” ก็เกิดขึ้น ท่านเริ่มคิดฟุ้งซ่าน จิตซึ่งโดยธรรมชาติไม่อยู่นิ่งอยู่แล้วก็ซัดส่ายหนักขึ้น คิดเรื่องโน้นไปเรื่องนี้ เตลิดเปิดเปิงไปยกใหญ่ ชั่วเวลาไม่กี่นาทีที่ท่านพระครูลุกออกไป พระบัวเฮียวก็คิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด เมื่อจิตฟุ้งซ่าน สติก็จับ พอง – ยุบ ไม่ได้ สมาธิไม่เกิด

            อีกสิบนาทีจะครบกำหนดเวลา ท่านพระครูก็กลับมา ท่าน “ตรวจสอบ” คนที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้วาระจิตของเขา จึงพูดขึ้นว่า

            “สนุกใหญ่เลยนะบัวเฮียวนะ ทำไมถึงไม่กำหนด “ฟุ้งซ่านหนอ” ล่ะ”

            พระใหม่จึงตั้งสติกำหนด “ฟุ้งซ่านหนอ” “ฟุ้งซ่านหนอ” แล้วกลับมากำหนด พอง – ยุบ ประเดี๋ยวหนึ่งอาการปวดขาก็ประดังขึ้นมาอีก ปวดราวกับว่ามันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ คิดที่จะเปลี่ยนท่านั่ง ท่านพระครูก็กำชับขึ้นว่า

            “อย่าเปลี่ยน ให้กำหนด “อดทนหนอ พากเพียรหนอ” แล้วกลับไปที่ พอง – ยุบ อีก”

            “มันไม่ไหวแล้วครับหลวงพ่อ พระบัวเฮียวคร่ำครวญอยู่ในใจ คราวนี้รู้แล้วว่าท่านต้องรู้ อะไร ๆ ในใจของท่าน พระอุปัชฌาย์รู้หมด

            “ต้องไหวซี ตั้งใจไว้เลยว่า ตายเป็นตาย”

            “ผมยังไม่อยากตายที่ครับ” พระใหม่แอบเถียงในใจ

            “ยังไม่อยากตาย แต่ถ้าถึงที่มันก็ต้องตาย แต่ถ้าตายในขณะปฏิบัติก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ ไม่ต้องไปอบายภูมิ เลือกเอาว่าจะเอาอย่างไหน”

            “งั้นก็เอาอย่างหลังครับ” ตอบในใจเช่นเคย

            “ดีแล้ว ต้องกล้าหาญอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ศากยบุตร นี่แหละ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา”

          “เวทนาที่แปลว่าสงสารใช่ไหมครับ” คนถามถามในใจ แต่คนตอบตอบออกมาดัง ๆ เพราะคลื่นใน “เครื่องรับ” กับ “เครื่องส่ง” ไม่ตรงกัน คนตอบสามารถเข้าใจในความในใจของคนถาม หากคนถามไม่สามารถ “อ่านใจ” ของคนตอบได้

            “ไม่ใช่ เวทนา แปลว่า ความรู้สึก มี ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความ รู้สึกสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ หรือที่เรียกว่า เฉย ๆ รู้สึกอย่างไรก็กำหนดไปอย่างนั้น เช่นขณะที่เธอปวด เธอเป็นทุกข์ ก็กำหนด “ปวดหนอ” ถ้าสุข ก็กำหนด “สุขหนอ” ถ้ารู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็กำหนด “เฉยหนอ” คือ ต้องตามรู้ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็กำหนดรู้เท่านั้น ห้ามไปจับไปยึด”

            ภิกษุหนุ่มตั้งสติข่มทุกขเวทนาไว้อย่างยากเย็น พยายามทำตามที่พระอุปัชฌาย์สอน หากอาการปวดก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นราวกับชีวิตจะแตกดับลงเสียเดี๋ยวนั้น ท่านจึงฮึดสู้ด้วยการกำหนดว่า “ตายเป็นตาย” แล้วก็นั่งต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้าน พยายามให้สติจับอยู่ที่อาการ พอง – ยุบ ของท้อง

            “เอาละ ได้เวลาแล้ว กำหนด “อยากพักหนอ” สามครั้งแล้วค่อย ๆ ลืมตา เห็นอะไรก็กำหนดเห็นหนอ”

            “ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น เสียงของท่านพระครูจึงประดุจเสียงสวรรค์ที่ล่องลอยมาจากนภากาศ การต่อสู้กับทุกขเวทนาสิ้นสุดลง พระบัวเฮียวกำหนดตามที่ท่านสอน

            เมื่อลืมตาขึ้น สิ่งแรกที่เห็นก็คือ ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาของผู้เป็นอาจารย์ รู้สึกร้อนวูบทั่วร่างแล้วเปลี่ยเป็นเย็นซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน น้ำตาไหลพราก ๆ ด้วยความปีติ ท่านก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์ด้วยความรู้สึกสำนึกในพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

            ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ซักฟอก และ ขัดเกลาจิตใจที่เคยหยาบกระด้างของท่านให้ละเอียดประณีตขึ้น กตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเกิดเองโดยมิต้องมีผู้ใดมาบอกกล่าว

            “เอาละ ทีนี้ก็มาสอบอารมณ์กัน ประเดี๋ยวจะได้กลับไปพักผ่อน คืนนี้จะได้สอนการเดินระยะที่สองให้”

            “ครับ เอ้อ... ผมอยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำไมจิตของเรามันจึงอยู่นิ่งไม่ได้ ชั่วเวลาที่ผมนั่ง ผมคิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด มันไม่สงบเลยครับ ที่แปลกก็คือ เวลาที่ไม่ได้นั่งสมาธิกลับไม่คิดอะไร”

            “นั่นแหละธรรมชาติของจิตละ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเปรียบเทียบจิตว่า ไม่อยู่นิ่งเหมือนลิง ปกติลิงจะไม่อยู่เป็นสุข ต้องหลุกหลิกวางนี่จับโน่น ทำท่านั้นท่านี้อยู่ตลอดเวลา นอกจากจะหลับเสียเท่านั้น แม้แต่หลับก็ยังหานอนหลับนานไม่ เพราะฉะนั้นถึงต้องมาฝึกจิตกันยังไงล่ะ”

            “ทำไมจิตมันถึงฟุ้งซ่านเฉพาะเวลานั่งสมาธิเล่าครับ ในเวลาปกติทำไมมันจึงไม่ฟุ้งซ่าน” ภิกษุหนุ่มถามอีก

            “จิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ ไม่ว่าจะตอนนั่งหรือไม่นั่ง เพราะจิตมันมีหน้าที่รู้อารมณ์ แต่ตอนนั่งเรารู้สึกว่ามันฟุ้งซ่าน เพราะเราเอาสติไปกำกับมัน บังคับมันให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว มันเลยต่อต้าน แต่ในเวลาปกติราไม่ได้เอาสติไปกำกับมัน เราจึงไม่รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน พูดง่าย ๆ ก็คือจิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ค่อยจะรู้ เมื่อใดที่เอาสติไปกำกับมัน เราจึงจะรู้ชัด เข้าใจหรือยังล่ะ”

            ท่านพระครูนึกชมพระมหาบุญที่สามารถอบรมบ่มนิสัย จนกระทั่งพระบัวเฮียวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ทั้งกิริยามารยาท ตลอดจนการพูดการจาดูดีขึ้น ผิดกับเมื่อตอนมาใหม่ ๆ ราวกับเป็นคนละคน

            “หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่หลวงพ่อสอนตอนผมนั่งสมาธิ มีบางตอนที่ผมยังไม่เข้าใจครับ เช่นที่หลวงพ่อบอกไม่ให้ยึด สุขก็ไม่ให้ยึด ทุกข์ก็ไม่ให้ยึด หมายความว่าอย่างไรครับ”

            “หมายความว่า เวทนามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลาย นั่นคือมันไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ พูดให้เข้าใจง่ายเข้าก็คือ มันมีลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จึงไม่มีอะไรให้ยึด ฉะนั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏบาน ก็คือ การใช้สติตามดูเวทนา และ กำหนดรู้ในขณะนั้น ๆ ว่า มันสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันเหมือนกับเวลาเธอนั่ง เมื่อปวดก็เป็นทุกขเวทนา เธอก็กำหนด “ปวดหนอ” แล้วก็วางมันเสีย ไม่ไปจับไปยึด ประเดี๋ยวมันก็หายไปเอง”

            “การกำหนดว่า “ปวดหนอ” ก็เพื่อให้หายปวดใช่ไหมครับ”

            “ไม่ใช่ บางคนไปเข้าใจผิดคิดว่า การกำหนดเช่นนี้ จะทำให้หายปวด ซึ่งความจริงแล้วจะกำหนดหรือไม่กำหนด มันก็ต้องหายปวดตามสภาพของมันอยู่แล้ว เพราะเวทนามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย เราไม่สามารถไปบังคับบัญชามันได้ เราทำได้ก็เพียงกำหนดรู้มันเท่านั้น”

            ท่านพระครูอธิบาย พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นลูกศิษย์วัดยืนลับ ๆ ล่อ อยู่ตรงประตู จึงถามออกไปว่า

            “มีอะไรหรือสมชาย” เด็กหนุ่มคลานเข้ามา กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า “มีคนจากนครสวรรค์เขามาขอขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อครับ”

            “บอกให้เขาเข้ามาได้เลย” พระบัวเฮียวตั้งท่าจะลา แต่ท่านพระครูห้ามไว้ สักครู่ชายวัยกลางคนก็ประคองพานดอกไม้ธูปเทียนเดินเข่าเข้ามาหาท่านพระครู พร้อมกับเพื่อนวัยเดียวกันอีกสองคน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงสั่งให้พระบัวเฮียว นำคนทั้งสามกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐาน แล้วให้สอนการเดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วย

            พระใหม่รู้สึกขัดเขินเพราะตัวท่านเองก็เพิ่งจะหัดมาได้สองวันเข้าวันนี้ หากท่านก็สอนอย่างตั้งอกตั้งใจที่สุด จนชายทั้งสามสามารถเดินจงกรมระยะที่หนึ่งได้และรู้วิธีนั่งสมาธิ

            “เอาละ เดี๋ยวไปทานข้าวทานปลา แล้วกลับไปปฏิบัติยังกุฏิของตน สองทุ่มค่อยมาสอบอารมณ์ ได้ที่พักหรือยัง” ท่านถามคนที่ถือพานเมื่อตอนเข้ามา เพราะเขามีลักษณะเป็นผู้นำมากกว่าอีกสองคน

            “ยังครับ พวกผมเพิ่งมาถึงครับ” เขาตอบอย่างนอบน้อม

            “สมชายไปดูซิว่ามีกุฏิกรรมฐานหลังไหนว่างอยู่บ้าง”

            “ไม่มีเลยครับหลวงพ่อ ผมไปสำรวจมาแล้ว” เด็กหนุ่มตอบ

            “ถ้าอย่างนั้นไปพักบนศาลาก็แล้วกัน เดี๋ยวจะให้เขาจัดมุ้งจัดหมอนไปให้ บนศาลาไม่มีมุ้งลวด” แล้วจึงถามอีกว่า

            “จะอยู่ปฏิบัติกันกี่วันล่ะ”

            “สามวันครับ พอรู้วิธีก็จะกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน”

            “ทำไม่ไม่อยู่สักเจ็ดวันล่ะ สามวันมันน้อยไป”

            “อยู่ไม่ได้ครับหลวงพ่อ พวกผมเป็นครูต้องกลับไปสอนนักเรียน ช่วงนี้หยุดเทอมจึงมาได้”

            “หยุดแค่สามวันเองหรือ”

            “หยุดมาสิบกว่าวันแล้วครับ แต่พวกผมเกิดนึกอยากมาเอาเมื่อตอนใกล้จะเปิด”

            “อ้อ... เอาละ ถึงจะอยู่แค่สามวัน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ก็จะได้ผลพอสมควร ไหนชื่ออะไรกันบ้าง เผื่อวันหลังเจอกันจะได้ทักทายได้ถูกต้อง”

            “ผมชื่อสฤษดิ์ครับ เป็นครูใหญ่”

            “ผมชื่อบุญมี อีกคนชื่ออรุณ เป็นครูน้อย มาเป็นเพื่อนครูใหญ่ครับ” ครูบุญมีพูดเป็นครั้งแรก ส่วนครูอรุณยังไม่ยอมพูด

            “อ้อ... มาเป็นเพื่อนเท่านั้นหรอกหรือ อาตมานึกว่าตั้งใจมาปฏิบัติ ที่แท้ก็มาเป็นเพื่อน แต่เอาเถอะไหน ๆ ก็ชื่อว่าได้มาแล้ว ตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่ก็แล้วกัน เดี๋ยวสมชายพาแขกไปทานอาหารด้วยนะ”

            ประโยคหลังท่านพูดกับลูกศิษย์วัด แล้วหันมาบอกคนเป็นครูใหญ่ว่า “ตามเด็กวัดไป ทานข้าวทานปลาให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติ มีปัญหาอะไรก็มาถามอาตมาได้ทุกเวลา”

            คนทั้งสามกราบท่านแล้วจึงลุกตามเด็กวัดออกไป คนเป็นครูใหญ่เดินนำหน้า

            “นี่บัวเฮียว เธอจำไว้นะ คนที่เดินออกหน้าจะต้องถูกรางวัลที่หนึ่ง เชื่อฉันไหมล่ะ”

            “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ”

            “ก็ “เห็นหนอ” บอก คอยดูก็แล้วกัน เขาจะต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวันนับแต่วันกลับไป”

            “แล้วหลวงพ่อจะบอกเขาก่อนไหมครับว่า เขาจะถูกรางวัลที่หนึ่ง”

            “บอกไม่ได้ซี เดี๋ยวก็ไม่เป็นอันปฏิบัติ”

            “หลวงพ่อครับ แล้วผมจะได้ “เห็นหนอ” อย่างหลวงพ่อไหมครับ” ถามอย่างสนใจ

            “ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเธอหมั่นประกอบความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ก็พอจะมีทาง” ท่านตอบแบ่งรับแบ่งสู้

            “นอกจากหลวงพ่อแล้วมีคนอื่นได้อีกไหมครับ”

            “มีหลายคนเหมือนกัน มันไม่ยากอะไรนี่ อย่างคุณนานลำไยแกก็ได้ ขนาดแกอ่านหนังสือไม่ออก เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ไม่เป็น แต่แกมีความเพียรดี เรื่องมันยาว ถ้าอยากรู้วันหลังจะเล่าให้ฟัง อย่าลืมว่าจุดประสงค์สำคัญที่เธอมาที่นี่ก็เพื่อมาแก้กรรม ส่วนอย่างอื่นถือว่าเป็นผลพลอยได้ เอาละ ไปได้แล้วเดี๋ยวคนอื่นเขาจะรอ สิบเอ็ดโมงกว่าแล้ว”

            รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชายทั้งสามจึงตามเด็กวัดไปยังศาลา พวกเขามีกระเป๋าเดินทางใบเล็กมาคนละใบ เด็กหนุ่มนำเครื่องนอนมาแจกให้คนละชุดแล้วจึงลงมา ปล่อยให้เขาได้พักผ่อนกันตามลำพัง ครูสฤษดิ์เตรียมตัวเดินจงกรม ขณะที่ครูบุญมีและครูอรุณ จัดแจงปูเสื่อพร้อมกับพูดออกตัวว่า

            “ของีบเอาแรงสักพัก ครูใหญ่ปฏิบัติไปคนเดียวก่อนนะครับ”

            คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นด้วยเสียงปกติว่า

            “คุณจะนอนกันผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะ เท่าที่อุตส่าห์มาเป็นเพื่อนผมก็ดีถมไปแล้ว แต่คุณจะไม่ลองดูสักหน่อยหรือ ว่าที่นี่มีดีอะไรคนถึงพากันหลั่งไหลมาจนกุฏิไม่พอให้พัก เวลานอนเรายังมีอีกมาก น่าจะตักตวงวิชาความรู้เอาไว้ ไหน ๆ ก็เสียเวลามาแล้ว”

            พูดจบก็เริ่มเดินจงกรมอย่างขะมักเขม้น ครูน้อยสองคนมองตากันแล้วต่างก็ได้คิด จึงพากันลุกขึ้นเดินจงกรมบ้าง

            ช่วงเวลานั้น หากใครมองขึ้นไปบนศาลา ก็จะเห็นคนสามคนกำลังเดิน “ขวา – ย่าง – หนอ  ซ้าย – ย่าง – หนอ”  อยู่อย่างเพลิดเพลินตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงหกโมงเย็นโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย

            ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบดูก็รู้ว่าพวกเขา “รื่นเริงในธรรม” เสียจนไม่สามารถกำหนดนั่งได้ จึงเดินไปยังศาลาเพื่ออนุเคราะห์ คนทั้งสามเห็นเจ้าอาวาสเดินขึ้นมาก็รู้สึกตัว รีบนั่งลงกราบท่านพร้อมกันราวกับนัด

            “ไงโยม เดินกันตั้งหกชั่วโมงไม่รู้สึกเมื่อยกันบ้างหรือ”

            “หกชั่วโมงเชียวหรือครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่ามันเพลินจนลืมกำหนดนั่ง นี่ถ้าหลวงพ่อไม่ขึ้นมา สงสัยพวกผมคงเดินกันจนถึงเช้า” คนเป็นครูใหญ่พูด

            “แน่นอน แบบนี้เขาเรียกว่า “รื่นเริงในธรรม””

            “แล้วดีไหมครับ” ครูอรุณเพิ่งจะพูดเป็นครั้งแรก

            “ไม่ดีแน่ เพราะสมาธิกับวิริยะมีมากจนสติตามไม่ทัน การปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลดีจะต้องให้ สมาธิ วิริยะ และสติ สมดุลกัน ไม่ให้อันหนึ่งอันใดล้ำหน้าอันอื่น เอาละ ทีนี้ก็กำหนดนั่ง ให้นั่งคนละหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย สองทุ่มไปหาอาตมาที่กุฏิ”

            คนทั้งสามก้มลงกราบท่านสามครั้ง แล้วจึงกำหนดนั่งสมาธิ ท่านพระครูนั่งอยู่อีกครู่หนึ่ง เห็นเขาปฏิบัติกันถูกต้องดีแล้ว จึงเดินกลับกุฏิของท่าน

             เมื่อพระบัวเฮียวมาสอบอารมณ์ที่กุฏิของพระอุปัชฌาย์ ก็พบว่าครูทั้งสามคนนั่งคุยกับท่านพระครูอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาทำความเคารพเมื่อท่านไปถึง แล้วเจ้าอาวาสก็ถามคนเป็นครูใหญ่ขึ้นว่า

            “มีอาการอย่างไรบ้าง กำหนด พอง – ยุบ ชัดไหม”

            “ชัดครับ แต่รู้สึกอึดอัด มีลมอัดอยู่ในท้องมากจนทำให้ปั่นป่วน” ครูใหญ่รายงาน

            “แล้วโยมทำยังไง”

            “ก็ปล่อยให้มันออกมาโดยวิธีธรรมชาติครับ”

            “กำหนดหรือเปล่า”

            “กำหนดครับ ผมก็กำหนดไปตามจริง “เสียงหนอ” บ้าง “กลิ่นหนอ” บ้าง ครูใหญ่ตอบอย่างฉะฉาน

            “แล้วโยมล่ะ” ท่านหันไปถามครูบุญมี

            “เหมือนครูใหญ่ครับ” ครูบุญมีตอบ ท่านจึงหันไปทางครูอรุณ “ผมนั่งหลับน้ำลายไหลยืดเลยครับ” ครูอรุณตอบ คนอื่น ๆ พากันหัวเราะ รวมทั้งท่านพระครูและพระบัวเฮียว

            ที่เจ้าอาวาสสอบอารมณ์คนทั้งสามต่อหน้าพระบัวเฮียว ก็เพื่อต้องการสอนพระบวชใหม่ทางอ้อม ท่านมองหน้าผู้เป็นศิษย์เหมือนจะพูดว่า “เห็นไหมบัวเฮียว คนอื่น ๆ เขาไม่เห็นเรื่องมากอย่างเธอเลย”

            ชะรอยพระบวชใหม่จะเดาความคิดของท่านออก จึงแอบเถียงในใจว่า “โธ่ หลวงพ่อครับ ก็พวกเขาเป็นครู ผมมันแค่ ป.๔ จะให้เก่งกาจเท่าเขาได้ยังไง”

            พระอุปัชฌาย์นึกขำที่คนเป็นลูกศิษย์ชักจะอ่านความคิดของท่านออก จึงสัพยอกขึ้นว่า

            “รู้สึกว่าเธอจะได้ “เห็นหนอ” แล้วนะบัวเฮียว”

 

มีต่อ.....๕


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:26:07 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00005

 

๕...

          พระบัวเฮียวนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ทั้งที่รู้ว่าท่านสัพยอก แต่ใจก็แสนจะปลื้ม อย่างน้อยมันเป็นนิมิตหมายอันดีว่าสักวันหนึ่ง ท่านคงจะได้ “เห็นหนอ” เช่นคนอื่น ๆ บ้าง ก็คุณนายสำไยอ่านหนังสือไม่ออกแท้ ๆ ยังได้นี่นา ท่านมีภาษีกว่าคุณนายคนนั้นตั้งแยะ แถมยังเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นอีกด้วย กำลังคิดเพลิน ๆ ท่านพระครูก็เอ่ยขึ้นว่า
                “เอาละ ต่อไปนี้อาตมาจะสอนเดินจงกรมระยะที่สอง ซึ่งเป็นระยะที่ยากที่สุดในบรรดาการเดินหกระยะ ไหนบัวเฮียวลองบอกมาซิว่า เดินจงกรมระยะที่สอง มีกี่หนอ”

          “สองหนอครับ ระยะที่สามมีสามหนอ”

          “ถูกแล้ว ระยะที่สองให้บริกรรมว่า “ยก – หนอ เหยียบ – หนอ” ขณะที่ปากว่า “ยก” ก็ให้ยกเท้าขวาขึ้นช้า ๆ สูงจากพื้นประมาณสามนิ้ว ยกเสร็จจึงว่า “หนอ” แล้วนิ่งไว้สักหนึ่งวินาที จึงค่อย ๆ เลื่อนเท้าไปข้างหน้าช้า ๆ โดยไม่ต้องบริกรรม ที่ว่ายากมันยากตอนนี้ ตอนที่ไม่มีองค์บริกรรม เลื่อนเท้าเสร็จก็นิ่งไว้หนึ่งวินาที แล้วจึงว่า “เหยียบ” พร้อมกับเหยียบลงไปช้า ๆ เมื่อเท้าถึงพื้นเรียบร้อยแล้ว จึงว่า “หนอ” จากนั้นจึงย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย ทำแบบเดียวกัน เมื่อเดินจนสุดทางแล้วให้กำหนดกลับ”

            ท่านเดินให้ดูอีกสามสี่ก้าว แล้วจึงบอกคนทั้งสี่ มีพระหนึ่ง คฤหัสถ์สามทดลองเดิน คนเป็นครูเดินได้โดยไม่ยากนัก แต่คนเป็นพระถึงกับเหงื่อตก คิดจะค้านพระอุปัชฌาย์ว่า

          “ก็ไหนหลวงพ่อว่าให้เดินวันละหนึ่งระยะยังไงล่ะ แล้วทำไมสามคนนี้ถึงเดินวันละสองระยะได้” ก็เลยเลิกล้มความตั้งใจ กระนั้นเสียงพระอุปัชฌาย์ก็ยังลอยมาเข้าหูว่า

          “สามคนนี้เดินระยะที่หนึ่งหกชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก ก็เลยให้มาเดินระยะที่สองได้”

          เมื่อเห็นว่าแต่ละคนเดินได้ถูกต้องดีแล้ว ท่านพระครูจึงสั่งว่า

          “เอาละ กลับไปเดินระยะที่หนึ่งกับระยะที่สองอย่างละครึ่งชั่วโมง นั่งอีกหนึ่งชั่วโมง พยายามใช้เวลาเดินกับนั่งให้เท่า ๆ กัน ใครปฏิบัติครบสองชั่วโมงแล้วยังไม่ง่วง ก็ให้ทำใหม่อีกรอบหนึ่งจนกว่าจะง่วง เมื่อล้มตัวลงนอนก็ให้เอามือวางบนท้อง พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ แล้วก็อย่าลืม ตีสี่ต้องลุกมาเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง พรุ่งนี้แปดโมงเช้าค่อยมาสอบอารมณ์ แต่ถ้าใครมีปัญหาก็มาที่กุฏิอาตมาได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเกรงใจ ถ้าหลับอยู่ก็ให้เด็กปลุกได้”

          ท่านพระครูพูดเปิดทางเอาไว้เพราะ “เห็นหนอ” บอกว่าคืนนี้พระใหม่จะเจอปัญหา

          แยกกันไปยังที่พักของตนแล้วครูสามคนก็ลงมือปฏิบัติตามที่ท่านเจ้าอาวาสสอน คือเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วครูบุญมีกับครูอรุณจึงสวดมนต์ไหว้พระ ปูเสื่อกางมุ้งแล้วก็นอน ส่วนครูสฤษดิ์คิดว่า จะต้องตักตวงความรู้กลับไปบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงปฏิบัติต่ออีกรอบหนึ่ง ดังนั้นขณะที่ครูน้อยสองคนกำลังหลับอย่างมีความสุขอยู่นั้น ครูเป็นครูใหญ่ก็กำลัง “ยก – หนอ เหยียบ – หนอ” อย่างมีความสุขไม่แพ้กัน

          สวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จ พระบัวเฮียวตั้งนาฬิกาปลุกไว้หนึ่งชั่วโมง แล้วจึงเดินจงรมระยะที่หนึ่ง เดินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเปลี่ยนเป็นระยะที่สองซึ่งท่านไม่ถนัดนัก หากก็เดินจนกระทั่งเสียงกริ่งนาฬิกาดังขึ้น ท่านเดินไปกดปุ่ม ตั้งใหม่อีกหนึ่งชั่วโมง แล้วกำหนดนั่งสมาธิ อาการ พอง – ยุบ คล่องตัวขึ้น ไม่อึดอัดขัดข้องเหมือนเมื่อตอนเช้า

          ท่านนั่งไปเรื่อย ๆ กระทั่งสี่สิบห้านาทีผ่านพ้นไป จึงรู้สึกปวดขาทั้งสองข้าง แรก ๆ ก็พอทนได้ ท่านจึงกำหนด “รู้หนอ” ครั้นปวดมากเข้าจึงเปลี่ยนเป็น “ปวดหนอ” แล้วก็ไม่ใส่ใจกลับไปจับ พอง – ยุบ ต่อไปไม่ยอมเปลี่ยนท่านั่ง

          เมื่อจิตเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ อาการปวดดูเหมือนจะทุเลาลง ท่านรู้สึกสบายขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขึ้นกำหนด “สุขหนอ” ได้ จึงเสียดายนักเมื่อกริ่งนาฬิกาดังขึ้น พระใหม่กำหนดลืมตา เอื้อมมือไปกดปุ่มนาฬิกา แล้วลุกขึ้นเดินจงกรมระยะที่หนึ่งใหม่

          คราวนี้ท่านไม่ตั้งเวลา จะเดินจะนั่งจนเป็นที่พอใจโดยไม่ต้องให้เวลามาเป็นตัวกำหนด ท่านเดิน “ขวา – ย่าง – หนอ  ซ้าย – ย่าง – หนอ” อยู่พักใหญ่ ๆ จึงเปลี่ยนมาเป็น “ยก – หนอ  เหยียบ – หนอ” ระยะที่สองเดินยาก ท่านเลยเดินน้อยหน่อย เสร็จแล้วจึงกำหนดนั่ง อยากได้อารมณ์เหมือนเมื่อตะกี้ เพราะมันสุขสบายดีแท้ ๆ ภิกษุหนุ่มไม่รู้ตัวดอกว่า กำลังจะถูกมารหลอกล่อให้หลงทางเสียแล้ว ท่านนั่งกำหนด “พอง – หนอ  ยุบ -  หนอ” ไปเรื่อย ๆ รู้สึกชุ่มชื่นเย็นฉ่ำในหัวใจ อาการปวดเมื่อยไม่ปรากฏ ท่านสบายเสียจนไม่ยอมกำหนด “สุขหนอ” เพราะกลัวมันจะหายไป

          พระบัวเฮียวเพลิดเพลินในสุขกระทั่งลืมแม้องค์บริกรรม เมื่อไม่กำหนด พอง – ยุบ สติก็เผลอไผล จิตจึงฟุ้งซ่านล่องลอยไป ในภาวะนั้น ท่านเห็นตัวเองลอยอยู่กลางนภากาศ มีรัศมีสวยงามแผ่ซ่านออกมาจากกาย เสียงไพเราะกระซิบข้างหูว่า

          “ท่านสำเร็จแล้ว ท่านสำเร็จแล้ว ไปสิท่องเที่ยวไป อยากไปไหนก็ไปได้ทุกแห่งหน”

          “ถ้าอย่างนั้นฉันอยากไปนรก ช่วยพาฉันไปหน่อย” ท่านพูดโต้ตอบกับเสียงไพเราะนั้น

          “ไม่ต้องพา ท่าไปเองได้เพียงแค่นึกก็ถึงแล้ว”

          “จริงหรือ เอาละ ถ้าอย่างนั้นฉันนึกอยากไปเมืองนรก แล้วท่านก็รู้สึกว่าตัวเองล่องลอยไปถึงเมืองนรก เห็นยมบาลกำลังตักน้ำที่กำลังเดือดอยู่ในกระทะทองแดงกรอกปากบิดา ท่านจึงพูดกับยมบาลว่า

          “ท่านยมบาล อาตมาจะพาไปเที่ยวเมืองสวรรค์ ขอให้ช่วยโยมบิดาของอาตมาขึ้นจากนรกด้วยเถิด คนที่ท่านกำลังเอาน้ำร้อนกรอกปากอยู่นั้นแหละ คือโยมบิดาของอาตมา”

          “หลวงพี่ที่เคารพ นับประสาอะไร ที่จะช่วยโยมบิดาของหลวงพี่ได้เล่า แม้แต่แม่ยายผม ผมยังช่วยไม่ได้ ช่วยไม่ได้จริง ๆ ภรรยาเขาก็ขอร้องมา บอกให้ช่วยแม่ด้วยนะพี่นะ นึกว่าสงสารแก”

          “แม่ยายท่านทำบาปอะไรมาล่ะ”

          “แกฆ่าสัตว์ พวกหมู เป็ด ไก่ ห่าน ฆ่ามาไหว้เจ้าตอนตรุษจีนน่ะ ใจคอแกโหดเหี้ยม ทารุณดุร้าย”

          “ก็ท่านยมบาลทำไม่ช่วยไม่ได้เล่า”

          “โธ่หลวงพี่ ไอ้ผมก็อยากจะช่วย แต่โจทก์มันมาประท้วงกันเต็มไปหมด ทั้งหมู เป็ด ไก่ ห่าน ดูสิมันยืนประท้วงอยู่นั่น ส่งเสียงร้องระงมเลย”

          พระบัวเฮียวมองออกไปก็เห็นจริงดังยมบาลว่า สัตว์เหล่านั้นส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ จับความได้ว่า

          “ไม่ได้นะยมบาล ช่วยไม่ได้ ยายคนนี้ทำให้พวกฉันทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ถ้ายมบาลช่วยมัน พวกฉันจะไปฟ้องพญายมราช ให้ลงโทษท่าน” โจทก์ขู่

          “เห็นไหมหลวงพี่ เห็นหรือยังว่า ผมช่วยไม่ได้จริง ๆ ถ้าผมช่วยโยมบิดาของหลวงพี่ เดี๋ยวพวกวัวควายมันก็ไล่ขวิดผมตายเท่านั้น ก็โยมบิดาของหลวงพี่ฆ่าวัว ฆ่าควายไว้เป็นร้อยเป็นพันตัว ถ้าไม่เชื่อผมจะไปเปิดบัญชีให้ดูก็ได้”

          “ไม่ต้องหรอกท่านยมบาล อาตมาเชื่อท่าน” พูดกับยมบาลแล้วจึงหันไปพูดกับโยมบิดาว่า

          “โยมพ่อ อาตมาพยายามช่วยแล้ว แต่ยมบาลเขาไม่ยอม โยมพ่ออดทนไปก่อนนะ อาตมากำลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดป่ามะม่วง แล้วจะแผ่ส่วนกุศลมาให้ อาตมาขอลา จะไปดูสวรรค์สักหน่อย”

          แล้วท่านก็ล่องลอยออกจากเมืองนรกไปเมืองสวรรค์ เยี่ยมเยียนสวรรค์เสียทุกชั้นตั้งแต่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี ได้เห็นเทพบุตร เทพธิดาเหาะไปมาอยู่ในอากาศ รูปร่างสะสวยงดงาม มีเครื่องประดับทำด้วยเพชรนิลจินดา ส่องแสงเป็นประกายวูบวาบ

          เมื่อเห็นท่านลอยผ่านหน้า เทพบุตร เทพธิดาเหล่านั้นต่างยกมือทำความเคารพ ท่านทักทายปราศรัยอยู่กับพวกเขา จนได้เวลาอันสมควรแล้วจึงลอยกลับมายังกุฏิ เห็นกายเนื้อของท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้ว่า ร่างที่ล่องลอยอยู่นี้เป็น “กายทิพย์” จึงลอยไปเข้ากายเนื้อ แล้วจึงกำหนดลืมตา

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านสด ๆ ร้อน ๆ นี้ ทำให้ท่านเข้าใจผิดคิดไปว่าตัวเองสำเร็จแล้ว จึงอยากจะไปกราบเรียนให้ท่านพระครูทราบ ขณะนั้นเป็นเวลาตีสอง คงจะรอให้ถึงรุ่งเช้าไม่ไหว เพราะใจมันร้อนรน อยากให้พระอุปัชฌาย์ได้รู้ว่า ลูกศิษย์ของท่านสำเร็จแล้ว ได้ “เห็นหนอ” แล้ว

          พลันก็นึกถึงที่ท่านพูดอนุญาตไว้ เพราะตอนสามทุ่มเศษ ๆ แสดงว่าท่านจะต้องรู้ว่าศิษย์ของท่านจะมาหาในคืนนี้ คิดได้ดังนั้นจึงเดินดุ่ม ๆ ไปยังกุฏิเจ้าอาวาส โดยไม่สะทกสะท้านต่อความหนาวเย็นของอากาศ

          สุนัขสามสี่ตัวเห็นคนเดินดุ่ม ๆ มาในยามวิกาลเช่นนั้น ก็ส่งเสียงเห่ากรรโชกขึ้น แล้วพากันวิ่งกรูเข้ามา พระบัวเฮียวจึงต้องส่งเสียงทักทายออกไป สุนัขเหล่านั้นพร้อมใจกันหยุดเห่า แล้ววิ่งกลับไปยังที่ที่ตนนอน

          “สมชาย สมชาย เปิดประตูหน่อย” ท่านตะโกนเรียกลูกศิษย์วัด เด็กหนุ่มงัวเงียลุกขึ้นมาเปิดประตู แล้วจึงถามอย่างไม่พอใจนัก

          “หลวงพี่มาทำไมดึก ๆ ดื่น ๆ ผมกำลังหลับสบาย ๆ”

          “หลวงพ่อหลับหรือยัง” ถามแทนคำตอบ ศิษย์วัดมองขึ้นไปเห็นไฟยังสว่างอยู่จึงตอบว่า

          “ยังมั้ง ไฟยังเปิดอยู่นี่”

          “ขอขึ้นไปพบท่านหน่อยได้ไหม”

          “ให้ผมไปถามท่านดูก่อน ปกติท่านไม่อนุญาตให้ใครขึ้นไปข้างบน” พูดแล้วก็ขึ้นไปหาท่านพระครู ยังไม่ทันพูดอะไร ท่านก็พูดขึ้นเสียก่อนว่า

          “พระบัวเฮียวใช่ไหม บอกให้รออยู่ก่อน ประเดี๋ยวฉันจะลงไป” แล้วท่านก็ก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสือต่อไปอีกสักครู่ จึงลงมาข้างล่าง

          “มีอะไรหรือ” ท่านทักขึ้น

          “หลวงพ่อยังไม่จำวัดอีกหรือครับ” พระใหม่ถาม

          “ยัง หมู่นี้งานยุ่งมาก ฉันลืมนอนมาหลายวันแล้ว”

          “หลวงพ่อไม่ง่วงหรือครับ”

          “ฉันกำหนดสติอยู่ตลอดเวลา มันก็เลยแก้ง่วงได้ จำไว้เวลาเธอง่วงมาก ๆ ให้ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่แล้วกำหนด “ง่วง – หนอ  ง่วง – หนอ”  รับรองหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง”

            พระบัวเฮียวกำลังจะเอ่ยปากพูด ก็พอดีท่านพระครูพูดขึ้นว่า

          “นี่เธอรู้ไหม ฉันกำลังเขียนหนังสือคู่มือสอบกรรมฐาน เขียนมาได้ร้อยกว่าหน้าแล้ว เผื่อว่าฉันตายไป จะได้มีตำราไว้สอบอารมณ์ในการปฏิบัติ หนังสือแบบนี้ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน”

            “จวนเสร็จหรือยังครับ”

          “ยัง คงอีกหลายปี นี่ฉันเขียนมาปีกว่าแล้ว เพิ่งได้ร้อยกว่าหน้าเอง มันไม่ใช่จะเขียนได้ง่าย ๆ เอาละทีนี้ เธอมีอะไรก็ว่าไป เสร็จธุระแล้วฉันจะได้กลับไปเขียนหนังสือต่อ” ท่านต้องพูดกันเอาไว้ก่อนเพื่อให้ผู้เป็นศิษย์รู้ว่าท่านมีงานที่จะต้องทำรออยู่

          “หลวงพ่อครับ ผมได้ “เห็นหนอ” แล้วครับ” บอกอย่างปีติ

          “อ้อ... เร็วถึงขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วรู้ได้ยังไงว่าได้ หรือว่ามีใครมาบอก”

          “ครับ มีเสียงมากระซิบข้างหูผม”

          “กระซิบว่ายังไง”

          “บอกว่า “ท่านสำเร็จแล้ว ท่านสำเร็จแล้ว” ครับ”

            “อ้อ...” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ พระบัวเฮียวเลยทำหน้าปั้นยาก ท่านพระครูยิ้มแบบนี้ทีไร เป็นได้เรื่องทุกที

          “แล้วเสียงที่เธอได้ยิน เป็นเสียงเดียวกันกับที่ได้ยินเมื่อปีที่แล้วหรือเปล่า”

          “ไม่ใช่แน่ ๆ ครับ เสียงเมื่อคืนไพเราะน่าฟังกว่า”

          “แล้วเขาว่ายังไงอีก” พระอุปัชฌาย์ซัก

          “เขาบอกให้ผมท่องเที่ยวไป อยากไปไหนก็ไปได้ทุกหนทุกแห่ง เพียงแต่นึกเท่านั้นก็ไปได้ แล้วผมก็เลยไปเที่ยวเมืองนรกเมืองสวรรค์ ที่เมืองนรกผมพบโยมพ่อด้วย ผมขอร้องให้ยมบาลให้ช่วยพ่อ แต่ท่านบอกว่าช่วยไม่ได้เพราะแม้แต่แม่ยายท่านเอง ท่านก็ยังช่วยไม่ได้”

          “เหมือนฉันเปี๊ยบเลย” ฉันก็เคยไปเห็นเมืองนรกมาแล้ว ก็เจออย่างที่เธอเล่ามานี่แหละ” พระบัวเฮียวยิ้มแป้นเมื่อท่านพระครูบอกว่า ท่านก็เคยเห็นนรกมาแล้วเช่นเดียวกัน

          “ถ้าอย่างนั้นผมก็สำเร็จแล้วจริง ๆ ใช่ไหมครับ” ถามอย่างตื่นเต้น

          “ใครบอกเธอล่อบัวเฮียว เธอถูกมารมันหลอกเอาน่ะซิ ถูกมารหลอกเหมือนกับที่ฉันเคยถูกหลอกมาแล้ว”

          คราวนี้พระบัวเฮียวถึงกับใจฝ่อแฟบลงไป ถามท่านเสียวอ่อยว่า

          “หมายความว่าอย่างไรครับ แสดงว่าผมเห็นไม่จริงใช่ไหมครับ”

          “จริงซิ เธอเห็นจริง ๆ แต่สิ่งที่เธอเห็นมันไม่จริง เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “ยังไม่เข้าใจครับ หลวงพ่อกรุณาขยายความหน่อยเถิดครับ ผมชักงง” คนซื่อตอบซื่อ ๆ

          “คือที่เธอไปเห็นนรกสวรรค์น่ะ เธอเห็นจริง ๆ เหมือนกับตอนที่ฉันเห็น ฉันก็เห็นจริง ๆ แต่นรกสวรรค์ที่เธอเห็นหรือที่ฉันเห็นนั้น มันไม่จริง เรียกว่า เราสองคนต่างก็ไปเห็นของไม่จริงมาว่างั้นเถอะ ที่ว่าไม่จริง เพราะมันเป็นภาพลวงตาที่จิตของเราเป็นผู้สร้างขึ้น เขาเรียกว่า เทวบุตตมาร ฉันถึงว่าเธอถูกมารหลอกเอาไงล่ะ”

          “ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า นรกสวรรค์ไม่ได้มีอยู่จริงใช่ไหมครับ”

          “มีซี เป็นชาวพุทธจะว่านรกสวรรค์ไม่มีได้ยังไง อีกหน่อยถ้ามีเวลาไปอ่านพระไตรปิฎกซะ จะได้หายสงสัย นั่นอยู่ในตู้นั่น” ท่านชี้ไปที่ตู้พระไตรปิฎก ซึ่งมีหนังสือเล่มสีน้ำเงินบรรจุอยู่เต็ม

          “หลวงพ่อครับ ในเมื่อนรกสวรรค์มีจริง แล้วทำไมสิ่งที่ผมกับหลวงพ่อเห็นจึงไม่จริงเล่าครับ” พระใหม่ยังไม่หายสงสัย แทนคำตอบ ท่านพระครูกลับย้อนถามว่า

          “เธอไม่แปลกใจบ้างหรือบัวเฮียว ว่าเธอมาปฏิบัติแค่สองวันก็สามารถเห็นนรกสวรรค์ ทีคนอื่น ๆ เขาปฏิบัติกันมาเป็นสิบ ๆ ปี ก็ยังไม่เห็น”

          “มันแล้วแต่บุญบารมีของแต่ละคนนี่ครับ” คนซื่อเลี่ยงตอบไปอีกทางหนึ่ง

          “ตอบอย่างนั้น มันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกัน นี่จำไว้นะบัวเฮียว อะไรก็ตามที่เธอเห็นตอนนั่งสมาธิ เธอสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันจริงหรือไม่จริง”

          “พิสูจน์อย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “ง่ายนิดเดียว เมื่อไหร่ที่เธอทิ้งองค์บริกรรม ก็แน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่เธอเห็นมันเป็นภาพลวง แต่ถ้าเธอเห็นทั้ง ๆ ที่ยังมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม สิ่งนั้นมันก็จริง พูดง่าย ๆ ก็คือต้องใช้สติไปเห็น ทีนี้เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อครับ เมื่อกี้หลวงพ่อพูดถึงเทวปุตตมาร มันเป็นอย่างไรครับ”

          “อ้อ... มารที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่มาขัดขวางไม่ให้เราทำความดี อย่างการนั่งสมาธินี่ถือว่าทำความดีขั้นสูงสุด อย่าลืม ทาน ศีล ภาวนา สามอย่างนี้มีระดับไม่เท่ากัน

          การให้ทาน ถือเป็นความดีขั้นธรรมดา

          การรักษาศีล เป็นความดีขั้นสูงกว่าทาน

          การบำเพ็ญภาวนา เช่นการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ถือเป็นความดีขั้นสูงสุด

เมื่อไรที่เราทำความดี เมื่อนั้นจะต้องผจญมาร มารมี ๕ ประเภทด้วยกันคือ

            ขันธมาร       ได้แก่ ความปวดเมื่อย คนตรงโน้น เจ็บตรงนี้ เวลาที่เธอปวดขาแทบหลุด นั้นแหละเธอกำลังผจญกับขันธมาร

          กิเลสมาร       ได้แก่ กิเลสต่าง ๆ เช่น นั่งแล้วอยากเห็นเลข ก็เป็นโลภะ นึกขัดเคืองเคียดแค้นคนอื่น ก็เป็นโทสะ หรือนั่งเพลิน ๆ ติดสุข ก็เป็นโมหะ

          เทวปุตตมาร ก็เช่นเห็นเทพบุตร เทพธิดา เห็นนรกสวรรค์ อย่างที่เธอเผชิญมาแล้ว

          อภิสังขารมาร ก็ได้แก่ ความคิดปรุงแต่ง อยากเห็นโน่นเห็นนี่ อยากได้ “เห็นหนอ” อยากสำเร็จเป็นพระอรหันต์

          ส่วนอันสุดท้ายคือ มัจจุราช อันนี้ร้ายที่สุด เพราะถ้าตายเสียแล้วโอกาสที่จะมานั่ง พอง – หนอ  ยุบ – หนอ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเธอจะต้องรู้เท่าทันมารเหล่านี้ ขอให้จำไว้ว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” เพราะฉะนั้น เธอต้องเอาชนะมารให้ได้”

          พระบวชใหม่เดินกลับกุฏิอย่างเหงาหงอย แอบรำพึงในใจว่า “ไม่น่าเล้ยตูเอ๊ย ถูกมารหลอกเข้าจนได้”

 

มีต่อ......๖

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:26:54 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00007

 

๗...

          ลูกศิษย์วัดนำรัฐมนตรีและคณะไปยังโรงครัว ซึ่งอุบาสกอุบาสิกากำลังนั่งรับประทานอาหารกันเป็นโต๊ะ ๆ ละประมาณ ๑๐ คน
                พวกเขาพากันมานั่งกรรมฐาน โดยมาส่วนตัวบ้าง มาเป็นคณะบ้าง บางคนก็มาเข้าสามวัน เจ็ดวัน บางคนก็มาอยู่เป็นเดือน และก็มีไม่น้อยที่ตั้งใจมาอยู่ ๗ วัน แต่พอครบกำหนดแล้วก็ไม่ยอมกลับ เพราะซาบซึ้งในรสพระธรรม ร้อนถึงสามีหรือภรรยาต้องมาอ้อนวอนขอให้กลับไปช่วยกันเลี้ยงลูก

            ส่วนประเภทที่มาแล้วอยู่ไม่ได้เพราะไม่ถูกชะตากับ พอง – หนอ ยุบ – หนอ ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปก็พอมีบ้าง แต่พวกที่มาแล้วไม่ยอมกลับนั้นมีมากกว่า

            รสชาติของอาหารมื้อนั้น ช่างอร่อยถูกปากคุณหญิงเสียนัก แม้จะเป็นอาหารพื้น ๆ ที่ดูแล้วไม่เชิญชวนให้รับประทาน แต่เมื่อได้ลิ้มลองเข้าไปแล้ว จึงรู้ว่าฝีมือระดับนี้ หาตัวจับยาก

            “แกงหน่อไม้อร่อยจัง ก่อนแกงต้องเอาหน่อไม่มาต้มก่อนหรือเปล่าจ๊ะ” คุณหญิงถามแม่ครัว

            “ไม่ใช่หน่อไม้หรอกค่ะคุณ นั่นแกงยอดมะพร้าวค่ะ ดูแล้วเหมือนหน่อไม้ รสชาติก็คล้าย ๆ กัน ใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นหน่อไม้” แม่ครัวไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังพูดด้วยเป็นคุณหญิง นายตำรวจผู้ทำหน้าที่หิ้วกระเป๋าถือราคาแพงจึงต้องบอกว่า “ป้า นี่คุณหญิงนะป้า”

            “ขอโทษเจ้าค่ะคุณหญิง อีฉันไม่ทราบจริง ๆ อย่าถือสาคนบ้านนอกคอกนาเลยนะเจ้าค่ะ” แม่ครัวพูดพร้อมกับยกมือไหว้ประหลก ๆ

            “ไม่เป็นไรจ้ะ แหมกับข้าวอร่อยทุกอย่างเลย ปลาเกลือทอด เค็มกำลังพอดี แกงส้มผักกาดดองก็รสกลมกล่อม ใส่ผงชูรสหรือเปล่าจ๊ะ”

            “ไม่ได้ใส่เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้ใส่สติแทน บอกว่าผงชูรสก็สู้ไม่ได้”

            “เป็นยังไงจ๊ะ ใส่สติ” คุณหญิงไม่เข้าใจ

            “คือท่านให้แม่ครัวเข้ากรรมฐานเจริญสติปัฏฐาน ๔ คนละเจ็ดวัน เวลาทำกับข้าว ก็ให้กำหนดสติเจ้าค่ะ” ถึงตอนนี้ คุณหญิงไม่ค่อยเข้าใจ ได้ยิน “สติปัฏฐาน ๔” เป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อิ่มข้าวแล้วจะต้องไปเรียนถามท่านพระครูสักหน่อย เรื่องอะไร จะต้องมาถามแม่ครัวให้เสียชื่อคุณหญิงท่านรัฐมนตรี

            “คนมากจริง นี่ค่ากับข้าววันหนึ่ง ๆ คงตกหลายพันบาทซีนะ” คุณหญิงพูดพลาง หันไปมองโต๊ะอื่น ๆ ที่คนนุ่งขาวห่มขาวทั้งชายหญิงกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่

            “เจ้าค่ะ แล้วแต่แขกมากแขกน้อย ก็เลี้ยงคนทั้งวัดนี่เจ้าคะ บางวันมีคนถึงห้าร้อย คากับข้าวก็ตกสามพันบาท เฉลี่ยหัวละหกบาทต่อวัน นี่ขนาดวันละสองมื้อนะเจ้าคะ หลวงพ่อท่านให้ถือศีลแปดทุกคน”

            “แล้ววัดเอาเงินที่ไหนมาจ่ายล่ะจ๊ะ”

            “ก็มีคนมาบริจาคเรื่อย ๆ เจ้าค่ะ แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ หลวงพ่อท่านก็...

            “ก็ทำไมจ๊ะ” คนเป็นคุณหญิงอยากรู้ แม่ครัวค้อมตัวลง เอามือป้องปากกระซิบว่า “หลวงพ่อท่านก็เชื่อเขามาเจ้าค่ะ พอมีเงิน ท่านก็เอาไปใช้เขา”

            “ตายจริง แล้วพวกที่มาอยู่วัดหลาย ๆ วัน ทางวัดไม่เก็บเงินเขาหรือ”

            “ไม่เก็บเจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านไม่ให้เก็บ ท่านบอกว่า เขามาสร้างฟามดี เราต้องสนับสนุนเขา แต่ว่าบางคนเขาก็ทำบุญให้วัดบ้างเหมือนกัน ก็พลอยได้ประสมประเสกันไป ว่าก็ว่าเถอะนะคะคุณหญิง คนสมัยนี้ จะทำฟามดีทั้งที ก็ต้องให้จ้างกัน” แม่ครัวออกเสียง “ความ” เป็น “ฟาม”

            นายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีแอบสังเกตว่า คณะอุบาสกอุบาสิกาที่มาบำเพ็ญศีลภาวนา ต่างพากันรับประทานอย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีเสียงพูดคุยกันเลย พวกเขาซึ่งคุยกันเสียงดังเมื่อตอนเดินเข้ามา จึงต้องหยุดไปโดยปริยาย

            อีกประการหนึ่ง รสชาติของอาหารซึ่งแม้จะมีเพียงสามอย่างหากก็อร่อยถูกปากไปเสียทุกอย่าง ทำไมปากไม่ว่างพอที่จะคุยได้

            เสร็จจากอาหารคาว ก็เป็นอาหารหวาน ซึ่งมีเพียงอย่างเดียว คือ ข้าวเม่าพล่ารสเลิศ ที่ว่ารสเลิศเพราะหวาน มัน เค็ม พอดิบพอดี คุณหญิงมีอันต้องเรียกแม่ครัวคนเดิมมาถามอีกว่า

            “ป้าจ๊ะ ข้าวเม่าพล่าอร่อยจัง ทำยังไงจ๊ะ ฉันจะได้ไปบอกแม่ครัวที่บ้านให้ทำบ้าง” แม่ครัวหน้าบานอีกครั้ง สาธยายว่า ทำไม่ยากหรอกเจ้าค่ะคุณหญิง แต่ถ้าจะให้อร่อย มันต้ออาศัยแท้คติก”

            “อะไรจ๊ะ แท้คติค” คุณหญิง “เป็นงง”

            “เป็นภาษาฝาหรั่งน่ะเจ้าค่ะ คุณหญิงไม่เคยได้ยินหรือเจ้าคะ หล่อนออกเสียง ฝรั่ง ไม่ได้ เลยเป็น “ฝาหรั่ง” ไป

            “ไหน ลองสะกดให้ฟังหน่อยซิ มีตัวอะไรบ้าง เผื่อฉันจะรู้จัก”

            “โอ๊ย ไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ อีฉันไม่ได้เรียนหนังสือ อย่าว่าแต่ภาษาฝาหรั่งเลย ภาษาไทยก็ยังไม่กระดิกหู”

            “อ้าว แล้วทำไมใช้คำภาษาฝรั่งได้ล่ะจะ”

            “อีฉันจำเขามาเจ้าค่ะ” แม่ครัวสารภาพ

            “สงสัยคงจะเป็น “เทคนิค” มั้งป้า” คนเป็นรัฐมนตรีท้วง

            “เออ เออ ใช่ ใช่ ค่ะ” แกหันไปพยักพเยิดกับรัฐมนตรี แล้วจึงหันไปพูดกับคุณหญิงว่า “มันต้องอาศัยเทคนิคเจ้าค่ะ คุณหญิง”

            “เทคนิคอะไรบ้าง ป้าบอกหน่อยได้ไหม”

            “อุ๊ย ทำไมจะไม่ได้ล่ะเจ้าคะ เทคนิคขั้นแรกก็คือ การเลือกข้าวเม่าที่จะนำมาพล่านั้น ต้องเลือกชนิดนิ่ม ๆ วิธีที่จะได้ข้าวเม่านิ่ม ๆ ก็ต้องอาศัยเทคนิคอีกเหมือนกัน คือข้าวที่จะเอามาคั่วนั้น จะต้องเกี่ยวมาตอนมันสด ๆ ที่เม็ดยังไม่ทันเหลือง แต่ถ้าเขียวเกินไปก็แสดงว่า ยังเป็นน้ำนมอยู่ ใช้ไม่ได้ ต้องให้สีอมเขียวอมเหลือง ถึงจะกำลังดี

            เสร็จแล้ว ก็เอามานวด ให้เหลือแต่เม็ด แล้วคั่ว คั่วเสร็จ ก็ใส่ครกตำทั้งที่ยังร้อน ๆ อย่าปล่อยให้เย็น เพราะข้าวเม่าที่ได้จะแข็ง ต้องตำร้อน ๆ ถึงจะนิ่ม เห็นมั๊ยคะว่าเวลาตำก็ต้องใช้เทคนิค พอตำเสร็จ ก็เอามาฝัดอย่างมีเทคนิค คือต้องเก็บกากออกให้หมด”

            “แหม เทคนิคแยะจังนะป้านะ” รัฐมนตรีขัดขึ้น

            “เจ้าค่ะ ไม่งั้นก็ไม่อร่อยซะเจ้าคะ”

            “จ้ะ ๆ แล้วยังไงอีกจ๊ะ” คุณหญิงอยากรู้

            “เมื่อฝัดเสร็จ ก็เอาเกลือมาละลายกับน้ำฝนที่อบด้วยดอกมะลิ ชิมพอให้เค็มปะแล่ม ๆ อย่าให้เค็มหรือจืดเกิน เสร็จแล้ว จึงเอาน้ำเกลือพรมข้าวเม่าให้ทั่ว เวลาพรมต้องใช้เทคนิคนะเจ้าคะ คือพรมให้พอหมาด ๆ ถ้าแฉะเกินไป ข้าวเม่าจะติดกันเป็นก้อน ถ้าพรมน้อยเกินไป ข้าวเม่าก็จะนิ่มไม่เสมอกัน

            เมื่อพรมน้ำเกลือทั่วแล้ว ก็หากาละมัง หรือ ฝาหม้อมาครอบหมักเอาไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างที่รอก็เอามะพร้าวมาขูด มะพร้าวก็ต้องเลือกที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เวลาขูดก็ต้องใช้กระต่ายขูด ไม่ใช้เครื่องเพราะจะทำให้บูดเร็ว แล้วก็ไม่ต้องขูดให้ถึงก้นกะลา เดี๋ยวจะดูดำไม่น่ากิน

            เสร็จแล้ว จึงเอาไปคลุกกับข้าวเม่าที่หมักไว้ คลุกให้ทั่ว ๆ นะเจ้าคะ เวลาจะรับทาน ก็เอาน้ำตาลโรงหน้า บางคนก็นิยมรับทานกับกล้วยไข่ ไม่มีกล้วยไข่ จะใช้กล้วยน้ำว้าแทนก็พอได้

            อ้อ...น้ำตาลที่จะใช้ก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ คือต้องเลือกชนิดที่เม็ดเล็ก ๆ ถ้าเม็ดใหญ่ต้องนำมาป่นเสียก่อน เวลาป่นต้องใช้ครกที่สะอาด เพราะหากมีกลิ่นพริกหรือกลิ่นกระเทียมปน มันก็เสียฟามอร่อยได้เจ้าค่ะ” สาธยายจบก็หอบฮั่ก ๆ เพราะเสียงที่ใช้ดังเกินพิกัดไปหน่อย

            “ขอบใจจ้ะป้า นี่ได้ความรู้อีกแยะเลย” พูดพลางยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เพิ่งจะสังเกตว่า แม้แต่น้ำก็ยังอร่อย จึงออกปากชมว่า

            “น้ำนี่ดื่มแล้วชื่นใจจัง น้ำฝนหรือจ๊ะป้า”

            “เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้รองไว้ในแท้งค์ การรองน้ำฝนก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ” คนเทคนิคมากอธิบายเห็นคนฟังไม่ซัก จึงพูดต่อไปว่า “คือตกหนแรกหนสอง อย่าเพิ่งไปรอง เพราะฝุ่นละอองยังไม่หมด ต้องหนสามหนสี่ถึงจะใช้ได้”

            ดังนั้น นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว คุณหญิงยังได้เทคนิคการทำข้าวเม่าพล่าเป็นของแถมอีกด้วย อารมณ์เธอจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ขัดข้องที่สามีจะกลับไปคุยกับท่านพระครูอีก เธอเองก็เริ่มจะสนใจ ท่านพระครูมีอะไร ๆ ที่พิเศษไปกว่าพระที่เธอเคยรู้จัก

            หลังอาหารเพล คณะของครูสฤษดิ์กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก เวลาสองทุ่มท่านพระครูนัดให้ไปสอบอารมณ์และจะสอนเดินจงกรมระยะที่สี่ให้ วันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ท่านก็จะสอนเดินระยะที่ห้าและที่หก พวกเขาจะรู้จักวิธีเดินจงกรมทั้งหกระยะภายในสามวัน ท่านพระครูท่านยืดหยุ่นได้เสมอ กระนั้นท่านก็ต้องดูพื้นฐานและความสนใจของผู้เรียนด้วยว่า จะรับไหวหรือไม่

            รับประทานอาหารกันเป็นที่อิ่มหนำสำราญแล้ว รัฐมนตรีนำคณะของตนกลับมายังกุฏิเจ้าอาวาสอีกครั้ง ท่านพระครูรู้ว่า วันนี้จะต้องเล่าเรื่องคุณนายลำไย จึงให้ลูกศิษย์วัดไปตามพระบัวเฮียวมาฟังด้วย

            “พระคุณเจ้าไม่รู้สึกหิวหรือครับ” นายตำรวจถาม เพราะตัวเขาแม้จะรับประทานวันละสามมื้อ ก็ยังต้องหาอะไรรองท้องแทบทุกครั้งก่อนเข้านอน

            “ไม่หิว อาตมาชินแล้ว สมัยเดินธุดงค์ในป่าดงพระยาเย็น เคยอดเจ็ดวันเจ็ดคืนติด ๆ กัน ยังอยู่ได้” ท่านพระครูตอบ

            “พระคุณเจ้าคะ ดิฉัน เอ้อ...สงสัยจังค่ะว่า พระคุณเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าคนนี้คิดอะไร หรือมีความเป็นมาอย่างไร” คุณหญิงถามขึ้น

            “อาตมาก็ใช้ “เห็นหนอ” น่ะซี คุณหญิงสนใจไหมเล่า”

            “สนใจค่ะ ทำยังไงคะ”

            “ไม่ยากหรอกคุณหญิง วิธีง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ต้องทำจริง ๆ ทำไม่จริงก็ไม่ได้ วิธีที่ว่าก็คือให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ พอสติดีถึงขึ้น “เห็นหนอ” ก็เกิดเอง อย่าลืมว่า “เห็นหนอ” นี่มีค่ามหาศาลทีเดียว ใช้ดูกฎแห่งกรรมได้ชัดแจ๋วเลย

            ดิฉันขอเรียนวิชาที่ว่านี้ได้ไหมคะ หรือว่าผู้หญิงเรียนไม่ได้”

            “ทำไมจะไม่ได้ ผู้หญิงผู้ชายเรียนได้ทั้งนั้น ขอให้มีจิตกับกายก็แล้วกัน ถ้าคุณหญิงอยากเรียน ต้องมาเข้าชั้นเรียนที่วัดนี้อย่างน้อยเจ็ดวัน แล้วกลับไปฝึกต่อที่บ้านจนกว่าจะได้ อาตมาจะเล่าเรื่องคนที่ได้ “เห็นหนอ” ให้ฟัง อยากฟังไหมเล่า”

            “อยากฟังครับ” “อยากฟังค่ะ” ทุกคนตอบขึ้นพร้อมกัน

            “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง คุณนายลำไยแกเป็นเมียครูวงษ์ บ้านอยู่อ่างทอง ครูวงษ์เป็นครูประชาบาลจังหวัดอ่างทอง สอนวิชาศีลธรรม แต่กินเหล้าเมาทุกวัน นอกจากกินเหล้าแล้ว ยังเจ้าชู้อีกด้วย ส่วนคุณนายลำไยก็ปากจัด ด่าไฟแลบเลย แกอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่เคยเรียน

            วันหนึ่ง แกมาหาอาตมา มาฟ้องเรื่องผัวเจ้าชู้ อาตมากับครูวงษ์รู้จักกันดี แกมาที่วัดนี้บ่อย ๆ พอคุณนายลำไยมาฟ้อง อาตมาเลยบอกแกว่า ถ้าอยากให้ผัวเลิกเจ้าชู้ ต้องมาเข้ากรรมฐานที่วัดเจ็ดวัน คุณนายลำไยก็มา อาตมาก็สอนให้แกเจริญสติปัฏฐาน ๔ ปรากฏว่า แกทำไม่ได้เลย เดินจงกรมก็ไม่ได้ ขวาย่างเป็นซ้ายย่าง ซ้ายย่างเป็นขวาย่าง เพราะแกไม่รู้กระทั่งว่าข้างไหนเท้าซ้าย ข้างไหนเท้าขวา

            อาตมาก็ลองให้แก่นั่งสมาธิด้วย การกำหนดว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แกก็ว่า ทำได้สบายมาก แล้วแกก็นั่งขัดสมาธิ ปากก็ว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ  พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ว่าเสียงดังเชียว แต่พออาตามาถามว่า พองท้องเป็นยังไง ยุบท้องเป็นยังไง แกก็ไม่รู้เรื่อง อาตมาก็จนปัญญา จึงถามแกว่าท่องพุทธคุณได้ไหม แกก็ว่าไม่ได้อีก เลยบอกให้แกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นให้มาใหม่ เอาลูกมาด้วยคนหนึ่ง แกก็กลับไป

            รุ่งขึ้น ก็มากับลูกชายคนหนึ่งเป็นหนุ่มแล้ว อาตมาก็ให้ลูกแกจดบทสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ แล้วบอกไปสอนให้แม่ท่อง ท่องได้แล้วให้มาหา ลูกแกก็ไปสอนแม่ท่องวันละตัวสองตัว หายไปเดือนนึง แกก็กลับมา มาท่องให้อาตมาฟังได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว อาตมาก็บอกว่าดีแล้ว

            ทีนี้ เวลาไหว้พระสวดมนต์ให้ท่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ หนึ่งจบ แล้วท่องพุทธคุณอย่างเดียวเท่าอายุบวกหนึ่ง อายุแก ๕๒ ก็ให้ท่องวันละ ๕๓ แรก ๆ แกใช้นับเม็ดมะขามเวลาท่อง พอสติดีขึ้น ก็จำได้ไม่ต้องนับเม็ดมะขาม พอดีขึ้นอีก แกบอกแกท่องได้วันละ ๑๐๘ จบโดยไม่ต้องนับเม็ดมะขาม เพราะสติมันบอกเอง รู้เอง เหมือนกับที่เราตั้งนาฬิกาปลุกไว้จับเวลาตอนนั่งสมาธิ พอสติดี รู้เอง ไม่ต้องใช้นาฬิกา

            เมื่อสติดีขึ้น ๆ แกก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ คือ แกมีอาชีพเลี้ยงหมูเลี้ยงวัวส่งขายโรงฆ่าสัตว์ แกก็เลิก เพราะสติมันบอกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เคยด่าเป็นไฟแลบก็เลิก

            ต่อมา แกก็เดินจงกรมนั่งสมาธิเป็น โดยไม่ต้องมีใครบอกใครสอน มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เพราะสติดีถึงขั้น แกเดินจงกรมวันละสองชั่วโมง นั่งสมาธิวันละสองชั่วโมง ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน อย่าลืม พอสติดีเสียอย่าง อะไร ๆ มันก็ดีหมด”

            ท่านพระครูเน้น แล้วจึงเล่าต่อไปว่า

            “วันหนึ่ง ครูวงษ์ ผัวแกโกหกว่า จะไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาท แต่ที่แท้ไปหาเมียน้อย ซึ่งเป็นแม่หม้ายอยู่ที่ปากน้ำโพ หายไป ๔ วัน ขากลับให้เงินแม่หม้ายไว้สามร้อย คุณนายลำไยแกอยากจะรู้ว่าผัวไปไหน แกก็ไหว้พระสวดมนต์ แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิอย่างละสองชั่วโมง

            ขณะที่จิตเป็นสมาธิ แกก็อธิษฐานว่า ขอให้แกได้ตาทิพย์ แกอยากจะรู้ว่านายวงษ์ไปทำอะไร อยู่ที่ไหน อธิษฐานจิตเสร็จ แกก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” แล้วแกก็เห็นหมดว่า ผัวไปทำอะไรที่ไหน คุณหญิงว่าดีไหม เรียน “เห็นหนอ” ไว้คอยตรวจดูว่าท่านรัฐมนตรีไปไหน” ท่านพระครูถามคุณหญิง

            “ดีค่ะ ดิฉันสงสัยอยู่บ่อย ๆ เหมือนกันว่า ที่เขากลับบ้านดึกดื่นอยู่บ่อย ๆ นั้น แอบไปจุ๋งจิ๋งกับอีหนูบ้างหรือเปล่า” คุณหญิงได้ทีเลยขี่แพะไล่เสีย

            “ผมไม่มีหรอกครับพระคุณเจ้า คุณหญิงตามแจไม่ยอมให้คลาดสายตาออกอย่างนี้” คนเป็นรัฐมนตรีกล่าวแก้ เลยถูกภรรยาขว้างค้อนเข้าให้

            “เอาละ มาฟังเรื่องคุณนายลำไยกันต่อ เป็นอันว่าแกรู้หมด เพราะ “เห็นหนอ” บอก เมื่อครูวงษ์กลับมา แกก็ชี้หน้า แต่ไม่ด่าเพราะเลิกด่าแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนละก็ด่าแหลกเลย เดี๋ยวนี้แกไม่ด่า แต่ก็เท้าสะเอวชี้หน้า

            “แกไปไหนมา”

            “ครูวงษ์ตอบว่า “อ้าว ก็ไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาทไง”

            “แล้วที่ไหนล่ะค่าเช่า” ครูวงษ์ก็ตอบอึก ๆ อัก ๆ ว่า

            “เขา...เอ้อ...เขาขอผลัดไปเดือนหน้า”

            คราวนี้คุณนายลำไยก็เลยสั่งสอนผัวเสียเลยว่า

            “ตาวงษ์ แกน่ะเป็นครูสอนศีลธรรมเสียเปล่า แต่ตัวแกไม่มีศีลธรรมเอาเสียเลย ทั้งขี้เหล้าเมายา เจ้าชู้ประตูดิน หมูหมาเกี้ยวสิ้นไม่เลือกหน้า แถมยังโกหกพกลมอีก ข้ารู้นะ แกไม่ได้ไปเก็บค่าเช่านา แต่แกไปหาเมียน้อยที่ปากน้ำโพ ให้เงินมันไปสามร้อย จริงไหม”

          ครูวงษ์ก็นึกในใจว่า “เอ...เมียเรารู้ได้ยังไงนะ สงสัยท่านพระครูวัดป่ามะม่วงบอกมา พรุ่งนี้จะต้องไปต่อว่าสักหน่อย”

            นี่ ครูวงษ์คิดอย่างนี้ หนอยแน่ะมาโทษอาตมาได้” ท่านพระครูพูดขัน ๆ

            “พอครูวงษ์คิดจะมาต่อว่าอาตมา คุณนายลำไยก็รู้เสียอีก เลยดุเอาว่า “นี่แกไม่ต้องไปโทษหลวงพ่อนะ ท่านไม่ได้บอกข้า ข้ารู้เอง” ครูวงษ์ก็ไม่เชื่อ รุ่งเช้าก็มาถามอาตมา อาตมาก็ปฏิเสธ ผลสุดท้าย ครูวงษ์ต้องยอมจำนน เลิกกินเหล้า เลิกเจ้าชู้ หันมาถือศีลกินเพล เลยกลายเป็นคนดีไปเลย ท่านรัฐมนตรีเห็นด้วยหรือยังว่า “เห็นหนอ” นั้นมีค่ามหาศาลทีเดียว”

            “เห็นด้วยครับ”

            “ดี เห็นด้วยน่ะดีแล้ว จะได้เล่าต่อ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร” แล้วท่านจึงเล่าต่อไปว่า

            “ในกาลต่อมา คุณนายลำไยก็ป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ หมอบอกว่า แกจะต้องตายภายในหนึ่งเดือน รักษาไม่ได้เพราะเป็นมาก อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด แกก็มานอนป่วยที่บ้าน นอนเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพราะเดินไม่ไหว นั่งไม่ไหว แกนอนกำหนด “ปวดหนอ ๆ” เพราะมะเร็งนี่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ปวดทั้งนั้น

            คุณนายลำไยแกก็ใช้สติสู้กับทุกขเวทนา แกตั้งสติอธิษฐานจิตว่า ยังไม่อยากตาย เป็นห่วงลูก ขอให้ลูกเรียนจบได้งานการทำก่อนค่อยตาย ที่บ้านแกมีผึ้งหลวงมาอาศัยทำรังอยู่บนหลังคา รังใหญ่เท่ากระด้ง

            วันหนึ่ง ลูก ๆ ห้าคนก็มากันพร้อมหน้า แกก็บอกลูกว่า “ลูกดูนะ แม่จะแผ่เมตตาให้ผึ้ง และบอกให้เขามาช่วยดูดพิษมะเร็งให้แม่” แล้วแกก็หลับตา สักพักก็ลืมตาพูดดัง ๆ ว่า “ผึ้งจ๋า ช่วยข้าหน่อย ข้าปวดเหลือเกิน ช่วยมาดูดพิษมะเร็งออกให้ข้าด้วย” พอแกพูดจบ ผึ้งก็บินมาฝูงหนึ่ง มาเกาะที่ท้องแก ช่วยดูดพิษให้ ดูดเสร็จก็ร่วงลงมาตายเกลื่อนพื้นเลย

            วันต่อมา ก็มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามา ขณะที่แกนอนอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ลูก ๆ แกนึกว่าจะมากัดแม่ก็เตรียมจะฆ่า แต่แกห้ามไม่ให้ฆ่า แกแผ่เมตตาให้งูแล้วพูดว่า “งูเอ๋ย ช่วยมาดูดพิษมะเร็งให้ข้าหน่อย” งูตัวนั้นก็เลื้อยมาบนท้องแก ทำท่าเหมือนกัด ที่แท้ไม่ได้กัด แต่ดูดมะเร็งให้

            เสร็จแล้วก็เลื้อยออกไปได้สักสามสี่วา ก็นอนตายอยู่ตรงนั้น ลูก ๆ แกก็เอาไปฝัง เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก

            พวกนักข่าวจะมาขอเอาไปลงหนังสือพิมพ์ แต่อาตมาไม่อนุญาต เพราะถ้าคนอ่านเขาเกิดไม่เชื่อก็จะเป็นบาปเป็นกรรมเปล่า ๆ ปรากฏว่า คุณนายลำไยอยู่มาได้อีกสามปี กระทั่งลูก ๆ เรียนจบ เข้าทำงานได้หมด แกก็ตาย นี่ศพยังมาเผาที่วัดนี้” พูดพลางชี้ให้ดูเมรุซึ่งอยู่หลังวัด

            วันเผาศพแกยังแสดงฤทธิ์อีกนะ คือวันนั้น อาตมาไปธุระ กำหนดเขาจะเผาห้าโมงเย็น อาตมามาไม่ทันเขาก็ไม่รอ พอห้าโมงตรงเขาก็จุดไฟ ปรากฏว่าเผาเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ยอมไหม้ ไฟก็ไม่ยอมติด อาตมากลับมาถึงประมาณทุ่มนึง ก็เลยไปจุดไฟ ปรากฏว่าไหม้เรียบร้อย

            อาตมาก็นึกถึงคำพูดของแกตอนก่อนตายว่า “หลวงพ่อต้องเป็นคนจุดไฟนะ ไม่งั้นฉันไม่ยอมไหม้เด็ดขาด” นี่แหละเรื่องของคุณนายลำไย อาตมาเล่าย่อ ๆ นะนี่ ถ้าเล่าละเอียดวันนี้ไม่จบหรอก” ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังต่างเงียบกันไปพักหนึ่ง แล้วคุณหญิงจึงถามว่า

            “พระคุณเจ้าคะ สมมุติมีคนด่าพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจะโกรธเขาไหมคะ”

            “โกรธทำไม เขาด่าเขาก็บาปอยู่แล้ว ถ้าอาตมาโกรธ ก็ต้องบาปไปด้วยอีกคนนะซี”

            “แล้วถ้าเขาขอขมาลาโทษ จะยังบาปอยู่ไหมคะ”

            “ถ้าคนถูกด่าเขาอโหสิให้ ก็ไม่บาป แต่กรรมบางอย่างก็อโหสิให้กันไม่ได้ เช่น กรรมที่เป็นครุกรรม หรือที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ซึ่งมี ๕ อย่าง คือ มาตุฆาต – ฆ่าแม่   ปิตุฆาต – ฆ่าพ่อ   อรหันตฆาต – ฆ่าพระอรหันต์       โลหิตุปบาท – ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต    และ สังฆเภท – การยุยงสงฆ์ให้แตกกัน

            ห้าอย่างนี้ อโหสิให้กันไม่ได้ เพราะเป็นกรรมหนัก และไม่เปิดโอกาสให้กรรมอื่นมาแทนที่ เหมือนที่พระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้า ๆ ไม่ถือโกรธแต่พระเทวทัตก็ต้องตกนรก เพราะทำกรรมหนักไว้ถึงสองอย่างคือ นอกจากทำร้ายพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทำสังฆเภทอีกด้วย หรือเหมือนกับที่ลูกฆ่าแม่ แม่อโหสิให้ แต่ลูกก็ต้องตกนรก เพราะเป็นกรรมหนัก อโหสิให้แล้ว ผู้กระทำก็ยังไม่หมดบาป”

            คุณหญิงเกิดกลัวบาปกลัวกรรม เพราะแอบด่าท่านในใจเมื่อตอนเช้า จึงตัดสินใจสารภาพผิด

            “พระคุณเจ้าที่เคารพ ดิฉันแอบด่าพระคุณเจ้าในใจเมื่อตอนเช้า ดิฉันขออโหสิค่ะ” พูดจบก็ก้มลงกราบสามครั้ง

            “อาตมาอโหสิให้คุณหญิงตั้งแต่คุณหญิงด่านั่นแล้ว อย่างไรก็ตาม อาตมาขอชมเชยในความกล้าหาญของคุณหญิง คนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิดนั้น หาได้ยาก อาตมาขอชมเชยคุณหญิงด้วยใจจริง” คุณหญิงปลาบปลื้มเสียจนน้ำตาไหล ท่านพระครูจึงชักชวนคุยเรื่องอื่นเสีย

            วันนั้น รัฐมนตรีและคณะออกจากกุฏิท่านพระครูเอาเมื่อตอนพลบค่ำ คุณหญิงถวายเช็คเงินสดแก่ท่านพระครูเป็นค่าอาหารพระเณรและผู้มาเข้ากรรมฐาน จำนวนเงินที่ระบุในเช็คค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าหากนำไปซื้อทอง ก็จะได้ทองหนักถึงสิบสองบาทสองสลึง!

 

มีต่อ.......๘

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 09, 2007, 09:28:13 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00008
 

๘...

        รัฐมนตรี คุณหญิง และผู้ติดตามพากันกลับไปแล้ว พระบัวเฮียวซึ่งนั่งสงบเสงี่ยมฟังท่านพระครูเล่าเรื่องคุณนายลำไยตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ถามขึ้นว่า

        “หลวงพ่อครับ ทำไมคุณหญิงนั่นแกกราบเบญจางคประดิษฐ์ไม่ได้ แต่ยังได้เป็นคุณหญิงเล่าครับ

        ท่านพระครูมองหน้าคนถาม ยิ้มตามแบบฉบับของท่านที่ใคร ๆ ชมว่ามีเสน่ห์ แล้วจึงพูดขึ้นว่า

        “เอ...ถามแปลกดี รู้สึกว่าเธอชอบถามอะไรแปลก ๆ อยู่เรื่อยนะ”

        “ก็ผมอยากรู้นี่ครับ” ตอบซื่อ ๆ

        “จะรู้ไปทำไม” บางครั้งท่านพระครูก็คิดว่า การได้ต่อปากต่อคำกับคนช่างซักก็ทำให้เพลินดีเหมือนกัน

        “รู้ไว้เพื่อประดับความรู้ซีครับหลวงพ่อ”

        “อ้อ...ถ้าอย่างนั้นก็จะได้บอกให้เอาบุญ”

        “ครับ รับรองว่าหลวงพ่อได้บุญล้ายหลาย”

        “เอ...เธอถามว่าอะไรนะ จำไม่ได้แล้ว” ท่านแกล้งยั่ว

        “หลวงพ่อความจำชักไม่ดีแล้วน่ะซีครับ แสดงว่าแก่แล้ว” คนซื่อได้ที

        “ชะชะ ได้ทีขี้แพะไหลเชียวนะ บัวเฮียวนะ”

        “เขาเรียกว่า ได้ทีขี่แพะไล่ต่างหากล่ะครับ”

        “ไล่ใครล่ะ”

        “ไล่แมวครับ”

        “งันก็แล้วไป นึกว่าไล่เธอละก็ยุ่งเชียวละ” คนซื่ออยากรู้เร็ว ๆ จึงถามขึ้นอีกว่า “หลวงพ่อยังไม่ได้ตอบผมเลยครับว่า ทำไมคนกราบเบญจางคประดิษฐ์ไม่เป็น ถึงได้เป็นคุณหญิง”

        “ก็ทำไมคนกราบเป็นถึงไม่ได้เป็นคุณหญิงเล่า การเป็นคุณหญิงเขาตัดสินหรือวัดกันที่การกราบการไหว้เมื่อไหร่ล่ะ คนที่จะได้เป็นคุณหญิงเขาต้องได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือที่เรียกว่า สายสะพายนั่นไง สงสัยอีกซีว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คืออะไร” ท่านพระครูแกล้งดักคอ

        “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็คือสายสะพายน่ะซีครับ” คนความจำดีตอบ

        “อ้อ...เก่งนี่” ท่านพระครูออกปากชม

        “แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ไอ้สายสะพายนี่มันเป็นแบบเดียวกับสายตะพายที่เขาเอามาร้อยจมูกวัวจมูกควายหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบเดียวกัน คุณหญิงคุณนายมิต้องถูกร้อยจมูกหรือ” คนขี้สงสัยถามอย่างสงสัย

        “มันไม่เหมือนกันหรอก สายตะพายนั่นมันเป็นเชือก เวลาเขาเอาเชือกมาร้อยจมูกวัวจมูกควาย เขาเรียกว่า สนตะพาย แต่สายสะพายเป็นผ้าแถบยาว ๆ กว้างประมาณคืบนึง พอจะเข้าใจหรือยังล่ะ”

        “ครับ ถ้าอย่างนั้นก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมแอบสังเกตเห็นคือ คุณหญิงแกท่าทางข่มผัวน่าดูเลย แล้วก็ไม่มีมารยาท ไปแอบฟังท่านคุยกัน ขนาดสมชายไปบอกก็ไม่ยอมลงมา นี่ถ้าเป็นเมียผมละก็ ฮึ่ม...ตบล้างน้ำเลย”

        คนช่างสังเกตยกมือขวาขึ้นตบอากาศอยู่ไปมาพลางทำเสียง “เฟี้ยว ๆ” ไปด้วย เห็นคนฟังไม่ว่ากระไร จึงวิจารณ์ต่อ

        “ท่าทางรัฐมนตรีก็กลัวเมียน่าดูเลย เสียเชิงชายหมด”

        “เอาเถอะน่า ใครเขาจะข่มกัน จะกลัวกันยังไงก็เรื่องของเขา มันหนักกบาลเธอหรือไงเล่า ถึงได้เดือดร้อนนัก” ท่านพระครูว่าให้

        “มันก็ไม่หนักหรอกครับ แต่ว่ามันก็ไม่ดีนัก ตัวเองออกใหญ่โตทั้งรูปร่างและตำแหน่ง ไม่น่ามากลัวผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียว”

        “นี่แน่ะบัวเฮียว” คราวนี้ท่านพระครูพูดเป็นงานเป็นการ

        “นักปฏิบัติน่ะเขาไม่สนใจเรื่องของคนอื่นหรอก คือสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่มีข้อไหนที่บอกให้สนใจสิ่งนอกตัว กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น เอาละทีนี้จะได้อธิบาย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติปัฏฐานข้อที่สาม สองข้อแรกมีอะไรบ้าง ไหนบอกมาซิ” ท่านทดสอบความจำคนเป็นศิษย์

        “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครับ”

        “เธอเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าคืออะไร”

        “ครับ”

        “ดีแล้ว คราวนี้ก็มาพูดถึง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เธอกำลังคิด กำลังพูดอยู่นี่ มันเป็นจิตตานุปัสสนา เพราะเธอเอาจิตออกไปนอกตัว ไม่ใช้สติตามดูจิตของตัวเอง ปล่อยให้จิตซัดส่ายไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เหมือนอย่างที่เธอกำลังพูดเรื่องคนอื่นอยู่ขณะนี้

        ดังนั้นนักปฏิบัติที่ดีจะต้องไม่มองออกนอกตัว ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา หน้าที่ของนักปฏิบัติคือ ใช้สติตามดู ตามรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เกิดขึ้นในตัวเอง อย่ามองออกนอกตัว จำไว้”

        “หลวงพ่อครับ การใช้สติตามดูกายกับเวทนานั้น ผมพอจะเข้าใจ แต่ตามดูจิตนี่ผมยังไม่เข้าใจครับ หลวงพ่อกรุณาอธิบายได้ไหมครับ”

        “ก็กำลังจะอธิบายอยู่นี่ไง เอาละ ฟังให้ดี จิตตานุปัสสนานั้น ถ้าว่ากันโดยหลักก็คือ การใช้สติตามดุจิตของตน ตามรู้จิตของตน รู้ชัดว่าจิตของตนในขณะนั้น ๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่ ฟุ้งซ่าน หรือเป็นสมาธิ หลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น เป็นต้น

        ขณะที่เธอเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิแล้วจิตคิดไปในเรื่องต่าง ๆ เธอก็ต้องรู้ในขณะนั้นว่า จิตกำลังฟุ้งซ่าน ก็พยายามทำให้มันเป็นสมาธิ ด้วยการเอาสติมาจดจ่ออยู่กับอิริยาบถ จะเป็นขวาย่าง ซ้ายย่าง หรือ พอง – ยุบ ก็แล้วแต่เธอกำลังเดินหรือนั่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต อย่าลืม

        พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น เมื่อย่อลงแล้วเหลือเพียงข้อเดียวคือสติ ปัจฉิมโอวาทที่ประท่านแก่พระอานนท์และภิกษุห้าร้อยรูป ตอนใกล้จะปรินิพพานก็ทรงเน้นเรื่องสติ รู้ไหมปัจฉิมโอวาทนั้นว่าอย่างไร” ท่านถามพระบวชใหม่ทั้งที่รู้ว่าฝ่ายนั้นไม่รู้

        “ไม่ทราบครับ หลวงพ่อก็ทราบว่าผมไม่ทราบ แล้วยังจะแกล้งถามให้ผมอับอายขายหน้า” พระใหม่ตัดพ้อ

        “อ้าว ก็เปิดโอกาสให้เธอได้พูดบ้างยังไงล่ะ เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันตีตั๋วพูดอยู่คนเดียว”

        “นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะครับ ผมขอตีตั๋วฟังอย่างเดียว”

        “เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็ฟังต่อ ปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ทรงประทานแก่บรรดาภิกษุมีใจความว่า.........ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราผู้ตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด....

        นี่แหละเป็นพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธองค์ เพราะหลังจากตรัสเช่นนี้แล้วมิได้ตรัสอะไรอีก ทีนี้เธอเห็นหรือยังว่า คำสอนทั้งปวงที่ได้ประทานตลอด ๔๕ พรรษานั้นมาจบลงที่สติตัวเดียวนี้”

        “ไม่เห็นมีคำว่าสติเลยนี่ครับหลวงพ่อ” คนจำเก่งแต่คิดไม่เก่งท้วงขึ้น

        “อ้าว ก็ที่ทรงเตือนให้ไม่ประมาทนั้นไม่ใช่สติหรอกหรือ ไม่ประมาทก็คือให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกลมหายใจนั่นเอง ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่นั้น ทรงให้ภิกษุตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่มาเดินจงกรม นั่งสมาธิ และกำหนดรู้อิริยาบถ ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ไหนเธอลองบอกมาซิว่า หน้าที่ของนักบวชในพุทธศาสนามีอะไรบ้าง”

        “แห่ะ แห่ะ ไม่ทราบครับ ก็หลวงพ่อยังไม่เคยสอน ท่านมหาก็สอนแต่กิจวัตรสิบอย่างตอนก่อนจะบวช มีหนึ่ง ลงอุโบสถ สอง บิณฑบาตเลี้ยงชีพ สาม สวดมนต์ไหว้พระ สี่ กวาดอาวาสวิหาร ลานพระเจดีย์ ห้า รักษาผ้าครอง หก อยู่ปริวาสกรรม เจ็ด โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ แปด ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ เก้า เทศนาบัติ สิบ พิจารณาปัจเวกขณ์ทั้ง ๔ เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะเป็นอันเดียวกับที่หลวงพ่อถามหรือเปล่า

        “ที่เธอว่ามานั้นเป็นรายละเอียด แต่หน้าที่หลักของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเพียงสามข้อ คือศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรม อันนี้เป็นหน้าที่หลัก ศึกษาธรรม ก็คือต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติ เช่น วิธีเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อรู้แล้วต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่รู้เฉย ๆ เหมือนอย่างพวกนักปรัชญา เมื่อปฏิบัติได้แล้วก็ต้องสั่งสอนคนอื่นได้”

        “เหมือนกับที่หลวงพ่อปฏิบัติอยู่ใช่ไหมครับ”

        “ใช่ ฉันเป็นลูกพระพุทธเจ้า ก็ต้องปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอน ถึงเธอก็เช่นเดียวกัน กล่าวกันว่า ในสมัยพุทธกาล มีเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งชื่อ กุรุ ชาวเมืองกุรุนิยมเจริญสติปัฏฐาน ๔ กันมาก ถึงขนาดเอามาเป็นคำทักทายปราศรัยกันในชีวิตประจำวัน

        เช่นเวลาเขาเดินไปพบคนรู้จัก แทนที่จะถามว่า “สวัสดี ไปไหนมาจ๊ะ ทานข้าวหรือยัง” อะไรทำนองนี้ เขากลับทักทายกันว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือยัง” ถ้าเขาตอบว่า “ฉันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่จ้ะ” เขาก็จะยกมือขึ้นสาธุ สาธุ แปลว่า ดีแล้ว ดีแล้ว แต่ถ้าคนตอบ บอกว่า “ยังเลยจ้ะ” คนถามก็จะพูดว่า “อัปเปหิ อัปเปหิ” แปลว่า จงหลีกไป จงหลีกไป” แล้วเขาก็จะรีบเดินหนีเหมือนดั่งว่า พบสิ่งอัปมงคล

        เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องรีบปฏิบัติ จะได้เป็นมงคลทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เมื่อชาวเมืองกุรุพากันเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นนิจศีล ก็ทำให้เมืองเล็ก ๆ นั้นเจริญรุ่งเรือง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

        ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงเสด็จไปที่เมืองนั้น และทรงทำนายว่าต่อไปในกาลข้างหน้า เมืองกุรุจะกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งก็เป็นจริงตามพุทธทำนาย เพราะเมืองกุรุในปัจจุบันก็คือ เมืองนิวเดลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดีย

        ทีนี้เธอเห็นหรือยังล่ะว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีประโยชน์ มีอานิสงส์มากมายเพียงใด”

        “เห็นแล้วครับ และผมตั้งใจว่าจะพากเพียรให้ถึงที่สุด”

        “ดีแล้ว เดี๋ยวกลับไปเดินจงกรมชั่วโมงครึ่ง เอาระยะละครึ่งชั่วโมง แล้วนั่งสมาธิอีกชั่วโมงครึ่ง เวลานอนก็อย่าลืมกำหนด พอง – ยุบ ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนยุบหรือตอนพอง จับได้หรือยังล่ะ”

        “ยังครับ”

        “เอาละ ยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืนนี้พยายามใหม่ ได้เมื่อไหร่ให้มาบอกทันที เข้าใจไหม”

        “ครับ แล้วตอนสองทุ่มผมก็ไม่ต้องมาสอบอารมณ์ใช่ไหมครับ เพราะนี่ก็ทุ่มกว่าแล้ว”

        “ไม่ต้อง กลับไปอาบน้ำอาบท่า แล้วลงมือปฏิบัติไปจนกว่าจะถึงเวลานอน พรุ่งนี้ก็ตื่นตี ๔ มันจะง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องฝืนใจ การทำความดีต้องฝืนใจจึงจะสำเร็จ เอาละ กลับไปได้แล้ว คืนนี้ฉันจะสอนครูสามคนให้เดินจงกรมระยะที่ ๔ เหลือเวลาพรุ่งนี้อีกวันเดียว เขาก็จะกลับกันแล้ว”

        “พรุ่งนี้หลวงพ่อจะให้เขาต่อระยะที่ ๕ กับ ๖ เลยไหมครับ”

        “ก็คิดว่ายังงั้น แต่ก็ต้องดูกำลังเขาก่อนว่าจะรับได้ไหม คนเป็นครูใหญ่คงได้ แต่อีกสองคนไม่ค่อยแน่ใจ สำหรับเธอวันละหนึ่งระยะดีแล้ว ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเธอต้องอยู่ที่นี่อีกนาน”

        ท่านอธิบายเพื่อไม่ให้คนเป็นพระน้อยใจว่าท่านให้ความสำคัญกับคนเป็นฆราวาสมากกว่า

        “ถ้าเช่นนั้น ผมกราบลาละครับ เดี๋ยวต้องกลับไปสรงน้ำแล้วสวดมนต์ ทำวัตรเย็น จากนั้นจึงจะลงมือปฏิบัติ”

        “ไปเถอะ ขอให้พากเพียรให้ดี บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร นี่แหละ จำเอาไว้”

        พระบัวเฮียวกลับไปแล้ว ท่านพระครูจึงได้สรงน้ำชำระร่างกาย เหลือเวลาอีก ๒๐ นาทีจะสองทุ่ม ท่านจึงเขียนหนังสือคู่มือสอบอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเขียนมาได้ปีเศษแล้ว และคงต้องใช้เวลาเขียนอีกหลายปีกว่าจะเขียนเสร็จ

        วันใดที่ภารกิจรัดตัวมาก อย่าว่าแต่จะเจียดเวลามาเขียนหนังสือเลย แม้เวลาจะจำวัดก็ยังไม่มี ยิ่งเรื่องขบฉันด้วยแล้ว ท่านให้ความสนใจน้อยที่สุด

        ด้วยเหตุนี้ สุขภาพของท่านจึงไม่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าสมบูรณ์แข็งแรงเท่าใดนัก แม้จิตของท่านจะปลอดโปร่ง ไม่หิว ไม่ง่วง และไม่รู้สึกกระวนกระวาย แต่สังขารร่างกายของท่านก็ยังอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ซึ่งย่อมจะต้องทรุดโทรมและร่วงโรยไปเร็วกว่าร่างกายที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีและสม่ำเสมอ

        เวลาสองทุ่มตรง คณะของครูสฤษดิ์ก็มาถึง ท่านพระครูสอบอารมณ์ให้ทีละคน แล้วจึงสอนการเดินจงกรมระยะที่สี่ซึ่งมี “สี่หนอ” โดยเพิ่ม “ยกส้น – หนอ”  ลงไปอีกหนึ่ง นอกนั้นเหมือนกับระยะที่สามทุกประการ การเดินจงกรมระยะที่สี่ จึงบริกรรมว่า “ยกส้น – หนอ ยก – หนอ ย่าง – หนอ เหยียบ – หนอ” เดินเป็นกันแล้ว ท่านจึงให้กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก คนทั้งสามลุกออกไปเมื่อเวลาสามทุ่มครึ่ง

        ท่านพระครูกำลังจะขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ ก็พอดีลูกศิษย์วัดมาเรียนว่า มีแขกมาขอพบ เมื่อท่านอนุญาต ชายหญิงคู่หนึ่งจึงเดินเข่าเข้ามาหาในมือประคองพานคนละใบ มีผ้าไตรเนื้อดีหนึ่งสำรับวางอยู่ในพานของผู้ชาย ส่วนของผู้หญิงเป็นดอกไม้ธูปเทียน เมื่อเดินเข่าเข้ามาใกล้ในระยะหัตถบาส จึงวางพานไว้ทางขวามือของตน แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

        “เจริญพร โยมมายังไงกันค่ำ ๆ มืด ๆ” ท่านเจ้าอาวาสทัก

        “กระผมขับรถมาเองครับ จะพาภรรยามาขอขึ้นกรรมฐานจากหลวงพ่อครับ” ชายผู้เป็นสามีตอบ

        “อ้อ...แล้วจะอยู่กี่วันล่ะ”

        “ไม่อยู่ครับ จะให้เขากลับไปปฏิบัติที่บ้าน ผมสอนเดินจงกรม นั่งสมาธิให้เขาบ้างแล้ว มีปัญหาอะไรค่อยมากราบเรียนถามหลวงพ่อ” สามีเป็นคนตอบเช่นเคย

        ท่านพระครูจำได้ว่าชายผู้นี้ได้มาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้เป็นเวลาเจ็ดวัน เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไป ๆ มา ๆ อยู่เสมอ

        “ถ้ายังงั้นก็ตามใจ แต่ถ้ามีโอกาสก็น่าจะมาอยู่สักเจ็ดวัน อยู่บ้านมันรักษาอารมณ์ได้ไม่ค่อยต่อเนื่อง เดี๋ยวเรื่องโน้นเรื่องนี้มากระทบ”

        “ค่ะ ดิฉันก็ว่าจะหาโอกาสมาให้ได้ รอให้ลูกคนเล็กโตอีกสักหน่อย ตอนนี้เพิ่งจะได้สามขวบกับสี่เดือน” ภรรยาพูดบ้าง

        “จะเอายังงั้นก็ได้ แต่บางคนลูกยังเล็กอยู่เขาก็มา ลูกศิษย์อาตมาคนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่กรุงเทพฯ เขามาเข้ากรรมฐานครั้งแรกเมื่อลูกชายอายุได้สี่เดือน มาอยู่ตั้งเจ็ดวัน แล้วก็มาบ่อย ๆ ใจเด็ดดีเหลือเกิน เขาบอกอาตมาว่า “หลวงพ่อคะ หนูไม่ยอมให้ลูกเต้ามาเป็นเกาะแก่งกันกลางทางกุศลเหมือนคนอื่น ๆ เขาหรอกค่ะ” อาตมาฟังแล้วก็นึกว่า เออเข้าใจคิด เข้าใจพูด”

        “อาจารย์ตัวที่เล็ก ๆ หน้าคม ๆ สวย ๆ ใช่ไหมครับ ผมเคยเห็นมาที่นี่บ่อย ดูเหมือนอายุจะราว ๆ ยี่สิบ ไม่น่าเชื่อว่ามีลูกแล้ว”

        “นั่นแหละ อายุสามสิบกว่าแล้วแต่ดูหน้าเด็ก ระวังนะ ชมคนอื่นว่าสวยต่อหน้าแม่บ้าน กลับไปเนื้อเขียว อาตมาไม่รู้นะ”

        “ดิฉันชินแล้วค่ะหลวงพ่อ ลูกคนอื่น เมียคนอื่นเขาชมว่าดีว่าสวยไปหมด ทีลูกตัวเมียตัว ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ถึงดีก็ว่าไม่ดี” ฝ่ายภรรยาตั้งท่า “เปิดศึก” ท่านพระครูเห็นท่าไม่ดีจึงพูดจาไกล่เกลี่ยว่า

        “ผู้ชายก็อย่างนี้ทุกคนแหละโยม ไปถือสาให้เสียอารมณ์ทำไมเล่า ว่าแต่ว่าที่โยมจะกลับไปทำกรรมฐานที่บ้านน่ะ อาตมาขออนุโมทนาด้วย ทำได้วันละนิดละหน่อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ นึกว่าสะสมหน่วยกิตเอาไว้ ท่านใช้คำพูดทันสมัย

        เสร็จจากพิธีขอกรรมฐาน สองสามีภรรยาจึงช่วยกันประเคนผ้าไตรถวายแด่ท่านพระครู แล้วจึงบอกลา

        “เดี๋ยวก่อนอย่างเพิ่งกลับ ประเดี๋ยวจะให้ดูของดี โน่นมากกันโน่นแล้ว”

        ท่านบุ้ยใบ้ไปที่ชายหญิงกลุ่มใหญ่ซึ่งพากันเดินตรงมาที่กุฏิของท่าน คนเดินหน้าถือถาดทองขนาดใหญ่มาด้วยใบหนึ่ง เมื่อมาถึง ยังไม่ทันได้ทำความเคารพเจ้าของกุฏิ พวกเขาก็พากันถอดเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ แหวน นาฬิกาข้อมือ สร้อยข้อมือ ออกใส่ถาดจนเต็มแล้วจึงช่วยกันยกไปวางต่อหน้าท่านพระครู

        สามีภรรยาผู้มาก่อนแอบนึกในใจว่า “โธ่เอ๋ย เราเอาแค่ผ้าไตรสำรับเดียวมาถวาย แต่คนกลุ่มนี้ช่างใจบุญ ใจกุศลกว่าเราหลายเท่านัก ขนาดของมีค่าในตัวก็พากันถอดมาถวายจนหมด ใจบุญแท้ ๆ”

        แล้วพวกเขาเหล่าก็พากันคะยั้นคะยอว่า “หลวงพ่อเสกหน่อย ช่วยเสกให้หน่อยจะได้ขลัง” ท่านพระครูจึงทำทีเป็นนั่งหลับตาทำปากขมุบขมิบแล้วเป่าพรวด ๆ ลงไปสามครั้งจึงลืมตา พูดว่า

        “เอ้าเสกแล้ว เสกให้แล้ว พอท่านพูดจบ คนเหล่านั้นก็กรูกันเข้ามาที่ถาด หยิบคนละหมุบคนละหมับเอาของของตัวคืน แล้วจึงพากันลากลับ ไม่ลืมเอาถาดทองใบใหญ่กลับไปด้วย เพราะเดี๋ยวนี้จะต้องไปให้หลวงพ่อวัดโน้นเสกอีก

        ท่านพระครูส่ายหน้าแล้วพูดกับสองสามีภรรยาว่า “พวกนี้เขาอีกระดับหนึ่ง ชวนให้มาเข้ากรรมฐาน เขาไม่เอา ชอบให้เสกให้เป่าตะพรึด ของจริงไม่ชอบ ชอบของปลอม” ท่านพูดยิ้ม ๆ

        “หลวงพ่อไม่อธิบายให้เขาฟัง หรือครับ” ชายผู้สามีถาม

        โธ่โยม ต่อให้อธิบายจนขาดใจเขาก็ไม่ฟัง เขารับได้แค่นั้น ก็ต้องแล้วแต่กรรมของแต่ละคน พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสสอนไว้ว่า “กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทราบและให้ประณีต....ถ้าคนเราเข้าใจอะไร ๆ ได้เหมือนกันหมด โลกมันก็ไม่ยุ่งซี โยมเคยได้ยินชื่อหลวงพ่อเต๋ไหมเล่า”

“เคยครับ ได้ยินกิตติศัพท์ว่าท่านเก่งทางเสกเป่า”

“นั่นแหละ เสกจนตายคาที่เลย ขนาดท่านนอนพะงาบ ๆ จวนจะมรณภาพอยู่แล้ว พวกลูกศิษย์ยังเอาตุ๊กตามาให้เสกทีละหลายร้อยตัว ท่านก็ต้องเป่าต้องเสก เป่าจนลมไม่มี พวกลูกศิษย์ก็ว่าหลวงพ่ออดทนเอาหน่อย อดทนเอาหน่อย จวนเสร็จแล้ว ท่านก็ตามใจ เป่าให้จนลมหายใจสุดท้าย อาตมาเห็นแล้วสงสารท่าน แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพวกลูกศิษย์เขาจะกันเอาอย่างนั้น พอพวกเขารู้ว่าท่านสิ้นลมกลับพากันบ่นเสียอีกว่า “แหมหลวงพ่อ ให้ช่วยแค่นี้ก็ต้องตายด้วย”

“หลวงพ่อครับ แล้วที่ว่าเสกเป่าแล้วจะทำให้ศักดิ์สิทธิ์หรือขลังจริงไหมครับ”

“มันจะไปขงไปขลังอะไรเล่า ก็เชื่อกันไปผิด ๆ หลวงพ่อเต๋เองท่านก็รู้ แต่ท่านบอกว่าห้ามเขาไม่ได้ อธิบายเขาก็ไม่ยอมฟัง ก็เหมือนกันที่อาตมาไม่สามารถอธิบายให้คนกลุ่มเมื่อกี้เข้าใจได้นั้นแหละ ถ้าจะเปรียบกับบัวสี่เหล่า ก็คงได้แก่พวกปทปรมะ สอนยังไงก็รับไม่ได้เพราะสติปัญญามีแค่นั้น แค่รับของปลอม”

“พวกบัวที่ติดโคลนตม ไม่มีโอกาสโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงอาทิตย์ได้ใช่ไหมครับ”

“นั่นแหละ พวกนั้นแหละ ผลสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของพวกเต่าพวกปลาไป โยมจำไว้เป็นตัวอย่างก็แล้วกัน

“ครับ เมื่อก่อนผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ต่อเมื่อมาพบหลวงพ่อถึงได้ตาสว่างขึ้น เพราะบารมีของหลวงพ่อแท้ ๆ เชียว”

        “ไม่ใช่บารมีของอาตมาหรอก บารมีของโยมเองนั่นแหละ ไม่งั้นคนกลุ่มเมื่อกี้เขาก็เหมือนโยมแล้วซี เรื่องอย่างนี้ต้องทำเองสร้างเองนะโยม”

        “ครับ เอ้อ...หลวงพ่อครับ กระผมกับภรรยารบกวนเวลาของหลวงพ่อมานาน เห็นจะต้องลากลับเสียที หลวงพ่อจะได้พักผ่อน”

        “จะกลับแล้วหรือ เอาละ ขอให้เจริญสุขนะโยมนะ หมั่นพากันเจริญกรรมฐานทุกวัน ไม่มีอะไรจะช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง แล้วว่าง ๆ อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวันนะโยมนะ” ท่านหันไปพูดกับคนเป็นภรรยา

        “ค่ะ” ฝ่ายนั้นตอบ แล้วสองสามีภรรยาจึงพากันลากลับ เมื่อเวลาเกือบสองยาม

 

มีต่อ........๙
 

 

 

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:26:15 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00009
 

๙...

               เสียงระฆังตอนตีสี่เงียบหายไปนานแล้ว แต่เสียงเห่าหอนของสุนัขยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่าย ๆ เพราะเมื่อตัวหนึ่งหยุด อีกตัวก็ตั้งต้นหอนใหม่ ผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่อย่างนี้เป็นเวลาเกือบชั่วโมงแล้ว

         ครูใหญ่กำลังเดินจงกรมระยะที่หกอยู่ รู้สึกรำคาญขึ้นมาตะหงิด ๆ เพราะแม้จะกำหนด “เสียงหนอ” ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกมันก็ยังไม่ยอมหยุดเห่าหอน เหตุนี้กระมังที่เขาเปรียบเทียบคนพูดพร่ำไม่รู้จักกาลเทศะว่า “พวกปากหมา” แต่ก็แปลกตรงที่ว่าวันนี้ เสียงของพวกมันช่างโหยหวนชวนให้ขนลุกขนพองกว่าทุกวัน

         “หรือจะเป็นเพราะพวกมันรู้ว่าวันนี้เป็นวันพระ ถึงได้หอนนานกว่าปกติ” เขาคิด

         เดินจงกรมได้หนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ จึงกำหนดนั่ง หากยังไม่ทันได้นั่งก็เห็นพระรูปหนึ่งเดินขึ้นศาลาตรงมา แสงจากดวงไฟสี่สิบแรงเทียนแม้จะไม่สว่างไสวเท่าไฟนีออน แต่ก็ทำให้เห็นชัดว่า ภิกษุรูปนั้นอายุอยู่ในราวเจ็ดสิบเศษ ร่างการทรุดโทรมซูบผอม จีวรดูเก่าสกปรก แถมยังขาดกะรุ่งกะริ่ง เหมือนเอาผ้าขี้ริ้วมาห่อหุ้มร่างเอาไว้

         ภิกษุชราเดินตัวแข็งทื่อตรงมา ดวงตาจับจ้องอยู่ที่ใบหน้าของครูใหญ่ ครั้นใกล้เข้ามาในระยะสักสามเมตร จึงได้รู้ว่าท่านมิได้เดิน หากลอยมาในลักษณะเท้าเรี่ย ๆ กับพื้น สติบอกทันทีว่า สิ่งที่เห็นข้างหน้านั้นมาจากต่างภพภูมิ
               หันไปดูครูน้อยสองคน เห็นจะเริ่มเดินจงกรม เพราะมัวอิด ๆ ออด ๆ กว่าจะตื่นกันได้ก็เกือบ ๆ ตีห้าเข้าไปแล้ว มิหนำซ้ำ ยังเสียเวลาไปกับการล้างหน้าแปรงฟันอีกหลายนาที

         มีคนตื่นอยู่ถึงสองคนเช่นนี้ความกลัวก็ลดน้อยลง แต่เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ภาพลวงตา จึงกำหนด “เห็นหนอ” สามครั้ง กำหนดแล้ว ภาพนั้นก็ยังไม่หายไป ครูวัยกลางคนจึงรวบรวมสติแล้วถามออกไปว่า

         “ท่านเป็นใคร ขึ้นมาทำอะไรที่นี่”

         “อาตมาเป็นพระอยู่วัดนี้ เขาเรียกอาตมาว่าหลวงตาเฟื่อง” เสียงนั้นแหลมเล็ก ผิดแผกไปจากเสียงมนุษย์ธรรมดาสามัญ

         “แล้วทำไมหลวงตาไม่ไปลงโบสถ์กับเขาล่ะครับ”

         “อาตมาไม่ต้องลงโบสถ์ อย่าตกใจ อาตมาไม่ได้มาร้าย คือว่า อาตมาตายไปเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปไหน” ฟังแล้วขนลุกซู่ เมื่อภิกษุชราบอกว่าตายแล้ว แต่เมื่อท่านบอกว่าไม่ได้มาร้าย จึงกลั้นใจถามออกไปว่า “แล้วท่านขึ้นมาบนนี้ มีจุดประสงค์อะไรหรือครับ”

         “มีสิ อาตมาจะมาขอส่วนบุญจากโยม อาตมาลำบากเหลือเกิน ต้องอด ๆ อยาก ๆ หนาวก็หนาว โยมช่วยบอกท่านพระครูด้วยว่า อาตมาขอผ้าไตรสักหนึ่งสำรับ แล้วเวลาโยมปฏิบัติกรรมฐาน ช่วยแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้หลวงตาเฟื่อง วัดป่ามะม่วงด้วย อาตมาจะได้ไปเกิดเสียที วนเวียนอยู่ที่นี่มาสิบปีแล้ว เพราะยังใช้กรรมไม่หมด”

         “เมื่อตอนท่านบวช ไม่ได้เจริญกรรมฐานหรือครับ จึงได้มีสภาพอย่างนี้”

            “เปล่า อาตมาหัวดื้อ ท่านพระครูบอกอาตมาก็ไม่เชื่อ เพราะเป็นคนทิฐิสูง เห็นว่าท่านพระครูเด็กกว่า ไหนเลยจะมาสอนอาตมาได้ ก็เพราะไม่เชื่อท่านนี่แหละ ถึงต้องมาเป็นเปรตอย่างที่โยมเห็นอยู่นี่”

         “เปรตหรือครับ ทำไมรูปร่างไม่เหมือนกับที่แม่เล่าให้ฟังสมัยผมเด็ก ๆ คือแม่บอกว่า เปรตตัวนั้นสูงเท่าต้นตาล ปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบลาน แสดงว่าแม่หลอกผมใช่ไหมครับ”

         “ไม่ได้หลอกหรอกโยม เปรตมีหลายประเภท อย่างอาตมานี่ เป็นประเภทปรหัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่มีการเลี้ยงชีวิตอยู่ โดยอาศัยบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ อาตมาถึงต้องมาขอส่วนบุญจากโยม โปรดเมตตาด้วยเถิด” เสียงนั้นทั้งขอร้องและวิงวอน

         “ถ้าอย่างนั้นผมจะแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ทุกครั้งที่ทำกรรมฐาน ชื่อหลวงตาเฟื่องนะครับ”

         “ถูกต้อง อาตมาต้องขอขอบใจโยมเป็นอย่างมาก ขอให้โยมจงตั้งอกตั้งใจปฏิบัติต่อไป ทางนี้เป็นทางที่ประเสริฐที่สุดแล้ว อาตมายังนึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่มัวหลงประมาทมัวเมาในชีวิต จึงต้องมาตกระกำลำบากอย่างนี้ กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว จงอย่างได้เอาเยี่ยงอย่างอาตมาเลย นี่ถ้าได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง อาตมาจะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนตลอดชีวิตทีเดียว จะไม่ประมาทมัวเมาอีกแล้ว เข็ดแล้ว อาตมาลานะโยม”

         ร่างนั้นค่อย ๆ ลอยห่างออกมาแล้วจึงหายวับไปกับความสลัวของรุ่งอรุณ บัดดลนั้น บรรดาสุนัขที่ส่งเสียงเห่าหอนมาตั้งแต่ตีสี่ ต่างพากันเงียบเสียงลงราวกับนัด

         “ครูใหญ่ไม่สบายหรือเปล่าครับ ถึงได้ยืนพูดอยู่คนเดียวอย่างนั้น” ครูบุญมีเดินเข้ามาถามด้วยความสงสัย

         “ผมกำลังคุยกับหลวงตาเฟื่อง คุณไม่เห็นหรอกหรือ พระแก่ ๆ ที่เดินขึ้นมาเมื่อครู่นี้เอง”

         “ผมไม่เห็นใครสักคน ไม่เชื่อถามครูอรุณดูได้”

         “จริงครับ ครูใหญ่ยืนพูดงึมงำอยู่คนเดียว ฟังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดอะไรบ้าง ไม่สบายหรือเปล่าครับนี่” ครูน้อยอีกคนถามอย่างเป็นห่วง

         “ปละ....เปล่า ผมไม่ได้เป็นอะไร ประเดี๋ยวผมจะไปพบหลวงพ่อสักหน่อย คุณสองคนไปเป็นเพื่อนผมหน่อยซี” ครูบุญมีดูนาฬิกาข้อมือแล้วท้วงว่า “เพิ่งจะตีห้าครึ่ง อีกตั้งครึ่งชั่วโมงท่านจึงจะออกจากโบสถ์ เราปฏิบัติกันไปพลาง ๆ ก่อนดีกว่า”

         “คุณสองคนไม่รำคาญเสียงหมาหอนหรือ มันเพิ่งหยุดไปเดี๋ยวนี้เอง อะไรของมันนักหนา หอนอยู่ได้เป็นชั่วโมง” ครูใหญ่บ่น

         “ใครว่า มันหอนตอนพระตีระฆังเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เอ...เช้านี้ครูใหญ่มีอะไรแปลก ๆ พิกล หรือว่ายังไม่อยากกลับบ้าน” ครูบุญมีเย้า ครูใหญ่จึงตัดสินใจไม่เล่าเรื่องประหลาดให้คนทั้งสองฟัง เพราะสองคนนี้จะต้องคิดว่าเขา “ไม่สบาย” สู้เก็บไว้ถามท่านพระครูจะดีกว่า

         “ว่าไง จะไปกุฏิท่านพระครูกับผมได้ไหม” ครูใหญ่ชวนอีก

         “ไปก็ไป ไปนั่งสมาธิรอท่านก็ได้” ครูอรุณพูด แล้วทั้งสามคนจึงพากันไปนั่งรออยู่ที่กุฏิท่านพระครู อากาศภายนอกค่อนข้างหนาวเย็น เพราะย่างเข้าฤดูหนาว แต่ในจิตใจของครูใหญ่กลับร้อนรุ่มดั่งไฟสุมขอน ทั้งร้อนใจและใจร้อนอยากพบท่านพระครูเป็นที่สุด

         เสร็จจากสังฆกรรมในโบสถ์แล้ว ท่านพระครูจึงเดินกลับกุฏิเพื่อเตรียมออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เช่นเดียวกับภิกษุอื่น ๆ ในวัด ครั้นถึงกุฏิก็ต้องแปลกใจเมื่อเห็นครูสามคนนั่งรออยู่ ท่านคิดว่าเขามาลา จึงชวนให้อยู่รับประทานอาหารเช้าก่อน

         “พวกผมยังไม่กลับหรอกครับ แต่ผมมีปัญหาบางอย่างจะมาเรียนถามหลวงพ่อครับ ต้องขอประทานโทษที่มารบกวนแต่เช้า” ครูใหญ่ออกตัว

         “มีอะไรหรือ ท่าทางดูร้อนใจพิกล”

         “หลวงพ่อครับ ที่วัดนี้มีพระชื่อ หลวงตาเฟื่องหรือเปล่าครับ” ท่านพระครูนั่งนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง จึงตอบว่า

         “มี แต่ตายไปนานแล้ว แกเป็นจ่าสิบตำรวจ เกษียณอายุแล้วมาบวชที่นี่ ครูใหญ่รู้จักแกหรือ”

         “ไม่รู้จักหรอกครับ แต่ท่านมาหาผมเมื่อกี้นี้ มาแนะนะตัวว่าชื่อหลวงตาเฟื่อง” แล้วครูใหญ่จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านพระครูฟังอย่างละเอียด ฟังแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

         “น่าอายเหลือเกิน ตัวเป็นพระแต่มาขอส่วนบุญจากญาติโยม ครูเห็นหรือยังล่ะว่า พระก็ไปทุคติ ไปอบายได้ถ้าประมาท หลวงตาเฟื่องแกดื้อ อาตมาเตือนด้วยความหวังดี แกก็ไม่เชื่อ เกียจคร้านเอาแต่กินกับนอน นอกจากนี้ยังขโมยของวัดไปฝากลูกฝากหลานเป็นประจำ โน่นบ้านแกอยู่ใต้วัดไปโน่น

            อาตมาบอกว่ามันบาปนะหลวงตา แกก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เสร็จแล้วเป็นยังไง ไปเกิดเป็นเปรตเลยเห็นไหม ครูใหญ่น่าจะถามแกดูว่าทำไมถึงใช้ให้ครูมาขอผ้าไตร ทำไมแกไม่มาขอเอง”

         “ผมก็คิดจะถามอยู่เหมือนกัน แต่ยังไงไม่ทราบ ลืมเสียได้ สงสัยจะกลัวมากไปหน่อย”

         “แกคงรู้ว่า เมื่อคืนมีคนเขาเอาผ้าไตรมาถวายอาตมาหนึ่งสำรับ เลยใช้ให้ครูใหญ่มาขอ ฉลาดดีนี่ ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวโยมกลับไปปฏิบัติต่อจนถึงเวลาอาหาร รับทานอาหารกันแล้วค่อยมาหาอาตมา อาตมาจะออกไปบิณฑบาตอยู่เหมือนกัน เรื่องนั้นค่อยว่ากันใหม่”

         แล้วท่านพระครูจึงออกบิณฑบาต โดยมีนายสมชายหิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง ครูสามคนกลับมายังศาลา ไม่มีใครพูดถึงหลวงตาเฟื่องอีก ด้วยกลัวว่าแก่จะมาปรากฏตัว ฟ้ายังไม่ทันสาง เพราะดวงตะวันยังไม่ขึ้น พวกอมนุษย์จึงมีสิทธิที่จะมาป้วนเปี้ยนให้เห็นได้

         ท่านพระครูฉันเช้าเสร็จได้สักพัก ครูใหญ่หนึ่งคนก็นำครูน้อยสองคนเข้ามาหา แต่ละคนมีกระเป๋าเสื้อผ้ามาด้วย แสดงว่าเตรียมพร้อมที่จะกลับ

         “อยู่กันอีกซักคืนเถอะน่า” ท่านเจ้าอาวาสแกล้งเย้า

         “ไม่ไหวครับ” สามเสียงตอบขึ้นพร้อมกัน

         “อ้าว เผื่อจะได้เลขเด็ด หลวงตาเฟื่องแกให้หวยแม่นนา” คราวนี้ครูบุญมีกับครูอรุณทำท่าสนใจ ครูบุญมีพูดว่า

         “อยากได้น่ะอยากหรอกครับ แต่กลัวจะช็อคไปเสียก่อน”

         “หลวงพ่อครับ ตกลงว่าหลวงพ่อจะให้ผ้าไตรหลวงตาเฟื่องใช่ไหมครับ” ครูใหญ่ทวงถาม เพราะไม่แน่ใจว่า “ภาระ” ที่รับปากมานั้นเสร็จสิ้นหรือยัง

         “เออแน่ะ เกือบลืม เอาอย่างนี้ เดี๋ยวอาตมาจะฝากผ้าให้ครูใหญ่นำไปถวายพระ ต้องถวายพระกรรมฐานนะ อย่าไปถวายซี้ซั้ว” ท่านพูดภาษาจีนก็เป็นเหมือนกัน

         “ทำไมต้องถวายเฉพาะพระกรรมฐานเล่าครับหลวงพ่อ” ครูอรุณถาม

         “ก็ท่านจะได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้หลวงตาเฟื่องได้ ถ้าพระที่ไม่ปฏิบัติ จะอุทิศไปไม่ถึง พระบางรูปทองบทกรวดน้ำไม่เป็นด้วยซ้ำ อย่างหลวงตาเฟื่องนี่ท่องได้เสียที่ไหน ขนาดบวชมาตั้งสิบพรรษา เวลาเขานิมนต์ไปสวด ก็ทำปากขมุบขมิบไปยังงั้นเอง แต่อย่าพูดไปนะ พระแบบหลวงตาเฟื่องเดี๋ยวนี้มีเยอะ แล้วท่านก็หัวเราะ จากนั้นจึงหยิบผ้าไตรส่งให้ครูใหญ่

         “ถือไปยังงี้แหละ ไม่ต้องห่งต้องห่อหรอก เดี๋ยวก็ได้ถวายแล้ว” ท่านพูดเช่นนี้ด้วยรู้ว่าคนทั้งสามจะไปพบพระธุดงค์กลางทาง เพราะ “เห็นหนอ” บอกอย่างนั้น

         “เอาเถอะ แล้วอาตมาจะช่วยแผ่เมตตาให้แกอีกแรงหนึ่ง จะได้ไปเกิดเร็ว ๆ นี่ถ้าครูใหญ่ไม่บอก อาตมาก็ไม่รู้ว่าแกไปเกิดเป็นเปรต ลืมไปเลย”

         “หลวงพ่อได้ “เห็นหนอ” แต่ทำไมไม่รู้เล่าครับ” ครูอรุณสงสัย

         “อ้อ...นี่แสดงว่าครูยังเข้าใจ “เห็นหนอ” ไม่ถ่องแท้ ดีแล้วที่พูดขึ้น อาตมาจะได้ถือโอกาสอธิบายเสียเลย จริงอยู่ แม้อาตมาจะได้ “เห็นหนอ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้ตลอดเวลาเมื่อไหร่กัน แหม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยุ่งเลยน่ะซี วัน ๆ ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว เพราะเที่ยวไปเห็นคนโน้นคนนี้วุ่นวายไปหมด

         โปรดจำไว้ว่าเราจะ “เห็นหนอ” ก็ต่อเมื่อเราตั้งสติกำหนดจิตเท่านั้น อย่างที่อาตมากำลังคุยกับโยมอยู่นี่ อาตมาก็เห็นโยมเป็นโยมเหมือน ๆ กับที่คนอื่น ๆ เห็น แต่ถ้าอาตมาอยากรู้ว่าโยมกำลังคิดอะไรอยู่ อาตมาก็จะตั้งสติกำหนดจิต แล้ว “เห็นหนอ” จึงจะเกิด นี่มันเป็นยังงั้น พอจะเข้าใจหรือยังเล่า”

            “ครับ เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อครับ แล้วคนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ มีโอกาสได้ “เห็นหนอ” ทุกคนไหมครับ” ครูบุญมีสงสัย

         “ไม่ทุกคน ก็คนที่จบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมทุกคนหรือเปล่าเล่า”

         “ได้เป็นบางคนครับ” ครูอรุณตอบ

         “เหมือนกันนั่นแหละ คนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ บางคนก็ไม่ได้ “เห็นหนอ” เพราะมันไม่ใช่จุดหมายของการปฏิบัติ เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น อาตมาจะยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาลเรื่อง พระอุบลวัณณาเถรี  คนนี้เป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์มาก

         ในบรรดาพระเถระผู้มีฤทธิ์ ต้องยกให้พระโมคคัลลานะ แต่ถ้าพระเถรี ต้องยกให้พระอุบลวัณณา แต่ถึงแม้จะมีฤทธิ์ ก็ยังถูก นันทมาณพ ข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าครั้งอดีตชาติที่ท่านประพฤติผิดศีลข้อสาม คนก็พากันสงสัยว่า ทำไมทั้ง ๆ ที่มีฤทธิ์ยังถูกข่มขืนได้ นี่ก็เหมือนกัน คือเมื่อท่านยังไม่ตั้งสติกำหนดจิต ฤทธิ์มันก็ยังไม่เกิด

         ในคัมภีร์กล่าวว่า ตอนจะถูกข่มขืนนั้น ท่านไปข้างนอกมา ทั้งเหนื่อยทั้งร้อน กำลังจะนอนพัก นันทมาณพซึ่งซ่อนอยู่ใต้เตียงก็ถือโอกาสข่มขืนตอนนี้ เมื่อนันทมาณพข่มขืนเสร็จก็ถูกธรณีสูบ เพราะว่าทำร้ายพระอรหันต์ ถือว่ามีโทษหนัก บาปมาก เห็นไหมว่า ถ้าไม่ตั้งสติ กำหนดจิต ฤทธิ์ก็ไม่เกิด เหมือนอย่างที่อาตมาลืมหลวงตาเฟื่อง แล้วแกก็ไม่มาปรากฏให้เห็น ก็เลยไม่รู้กัน อ้อ...ยังเป็นเปรตอยู่หรือนี่”

         “ครับ ท่านบอกว่า เป็นปรทัตตุปชีวิกเปรต พวกเปรตนี่มีหลายประเภทหรือครับหลวงพ่อ”

         “เท่าที่อาตมาทราบ มีสี่ประเภท คือ ปรทัตตุปชิวิกเปรต คือ พวกที่มีชีวิตอยู่ด้วยการขอส่วนบุญจากผู้อื่น ชุปปิปาลิกเปรต คือ พวกที่ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าวหิวน้ำ นิชฌามตัฒหิกเปรต คือ พวกที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ และ กาลกัญจิกเปรต เป็นชื่อของอสุราที่เป็นเปรต ครูอยากจะเป็นเปรตประเภทไหนล่ะ” ท่านถามครูอรุณ

         “ไม่อยากเป็นสักประเภทเดียวครับ”

         “ทำกรรมอะไรจึงไปเกิดเป็นเปรตครับหลวงพ่อ” ครูบุญมีถาม

         “ก็ความโลภน่ะซี เขาเรียกว่า “จิตมีโลภะ” อย่างหลวงตาเฟื่องที่ขโมยของวัดไปให้ลูกกิน เพราะจิตยังมีโลภะ ยังห่วงลูก คนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ เช่นยังห่วงโน่นห่วงนี่ ไม่ว่าจะห่วงสมบัติหรือห่วงลูกหลาน ก็ถือว่ายังมีโลภะ ถ้าไม่ไปเกิดเป็นเปรต ก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

         ฉะนั้นโยมจงจำเอาไว้ เวลาตายต้องทำจิตให้ผ่องใส จะได้ไปสุคติภูมิ ถ้าตายขณะจิตมีกิเลส เช่นถ้ามีโทสะ จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้ามีโลภะจะไปเกิดเป็นเปรตหรืออสุรกาย ถ้ามีโมหะก็จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

         ดังนั้น ถ้ารู้ว่ากำลังจะตายก็อย่าไปห่วง อย่าไปโลภ โกรธ หลง จะได้ไม่ต้องไปอบายภูมิ อาตมาจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังเรื่องหนึ่ง อยากฟังไหมเล่า”

         “อยากฟังครับ” คนทั้งสามตอบ

         “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง มีเจ้าคณะอำเภอรูปหนึ่ง อย่าให้อาตมาเอ่ยชื่อเลยนะ เพราะไหน ๆ ท่านก็มรณภาพไปแล้ว เจ้าคณะอำเภอรูปนี้ท่านสะสมผ้าไตรไว้เป็นร้อย ๆ สำรับ ใส่ตู้เรียงรายเต็มกุฏิไปหมดแล้วท่านก็หวงมาก ไม่ยอมแจกไตร เพราะตั้งใจว่า อายุครบ ๘๐ จะทำบุญใหญ่ แล้วค่อยแจกตอนนั้น

         แต่ปรากฏว่า พออายุ ๗๕ ปี ท่านก็มรณภาพแล้วไปเกิดเป็นเปรต เห็นไหม ประมาทนิดเดียว ไปเกิดเป็นเปรตเลย จะว่าท่านโลภก็ไม่เชิง เพราะท่านตั้งใจไว้ว่า อายุ ๘๐ ถึงจะแจก ทีนี้ท่านก็เลยตายขณะที่จิตมีโลภะ คือห่วงผ้าไตร

         “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ ว่าท่านไปเกิดเป็นเปรต” ครูใหญ่ถาม

         “ท่านมาบอกอาตมา มาแบบเดียวกับที่หลวงตาเฟื่องมาหาครูใหญ่นั้นแหละ แต่แย่กว่าหลวงตาเฟื่องตรงที่ไม่มีอะไรนุ่งห่ม มาแบบชีเปลือย ว่างั้นเถอะ มาถึงก็บอกอาตมาว่า

         “ท่านพระครู ผมหนาวเหลือเกินวันเผาศพ ช่วยเอาผ้าไตรแจกให้หมด แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ผมด้วย”

         อาตมาก็จัดการให้ คืนนั้นก็มาขอบใจ นุ่งห่มเรียบร้อย บอกว่าสบายแล้ว นี่เห็นหรือยัง ประมาทไม่ได้เลย เผลอไปนิดเดียวยังไปทุคติเสียได้

         นี่แหละ พระพุทธองค์ถึงได้ทรงเตือนนักว่า ไม่ให้ประมาท ทีนี้เห็นความสำคัญของสติหรือยังว่า การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั้น มีประโยชน์มาก เห็นด้วยไหมเล่า”

         “เห็นด้วยครับ” ครูสามคนตอบ แล้วครูใหญ่จึงพูดขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ พวกผมเห็นจะต้องกราบลาและต้องขอกราบของพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาพวกผมให้ได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง ได้อาหารบำรุงร่างกาย แล้วยังได้ธรรมะบำรุงจิตใจอีกด้วย และในฐานะที่พวกผมเป็นครูบาอาจารย์ ก็จะนำความรู้นี้ ไปอบรมสั่งสอนแก่เยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไปในอนาคต

         สุดท้ายนี้ พวกผมไม่มีอะไรจะตอบแทนพระคุณของหลวงพ่อ นอกจากจะขออนุญาตถวายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสมทบทุนเป็นค่าอาหาร เลี้ยงพระ เณร และญาติโยมที่มาเข้ากรรมฐาน ได้ทราบมาว่า หลวงพ่อต้องรับภาระหนักในเรื่องนี้ พวกผมพอจะช่วยแบ่งเบาได้บ้างตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์” ครูใหญ่พูดค่อนข้างยาว แล้วจึงถวายเงินจำนวนหนึ่งซึ่งใส่ซองปิดผนึกอย่างเรียบร้อย

         “ขออนุโมทนา ขอให้ครูใหญ่และคณะจงเดินทางกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ แล้วขอให้หมั่นเจริญกรรมฐานกันทุกวัน ในสามคนนี้จะมีคนหนึ่งถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ อาตมาขอบิณฑบาต ขอให้เลิกเสีย เพราะมันเป็นการพนัน แต่ที่ซื้อไว้แล้วก็ไม่เป็นไร เอาเถอะ ที่จะถูกน่ะ ซื้อไว้แล้ว ไม่ต้องซื้อใหม่”

         บังเอิญคนทั้งสามต่างก็ซื้อไว้คนละฉบับ จึงพากันคิดว่าคนโชคดีที่ท่านพระครูพูดถึงนั้น คือตัวเขา คนเป็นครูใหญ่นั้นตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะเลิกอย่างเด็ดขาด ไม่ว่างวดนี้จะถูกหรือไม่ก็ตาม การได้มีโอกาสมาลิ้มรสพระธรรมในครั้งนี้ มีค่ากว่าการถูกรางวัลที่หนึ่งเป็นไหน ๆ

         เวลาตีสี่ของวันรุ่งขึ้น ท่านพระครูตื่นขึ้นปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลาสองชั่วโมงเช่นเคย และไม่ลืมที่จะแผ่เมตตาไปให้หลวงตาเฟื่องดังที่ได้ลั่นวาจาไว้กับครูใหญ่ เมื่อคืน ก่อนจำวัด ท่านก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ภิกษุนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ก็คงจะพอช่วยได้บ้าง แผ่เมตตาเสร็จ ท่านจึงกำหนดออกจากกรรมฐาน พอลืมตาขึ้น จึงเห็นหลวงตาเฟื่องนั่งพับเพียบพนมมือแต้อยู่ต่อหน้า

         “ผมมาขอบคุณท่านพระครูที่ได้ช่วยสงเคราะห์ ผมสบายแล้ว” ภิกษุชราบอกกล่าว

         “ท่านมาก็ดีแล้ว ผมอยากจะต่อว่าสักหน่อย” ท่านพระครูพูดขึ้น

         “ต่อว่ามาก ๆ ก็ได้ คราวนี้ผมยอมจำนนทุกอย่าง เข็ดแล้ว ถ้าผมเชื่อท่านพระครูเสียแต่แรกก็คงไม่ลำบากถึงปานนี้” ฝ่ายนั้นรำพึงรำพัน

         “เรื่องที่ผมอยากจะต่อว่าก็คือ ทำไมท่านไม่มาบอกผมตั้งแต่ทีแรก เพราะอย่างน้อยผมก็ช่วยท่านไม่ให้ต้องอด ๆ อยาก ๆ แล้วทำไมไม่มาบอกผมตรง ๆ ต้องไปผ่านทางครูใหญ่ ท่านไม่อายเขาหรือไง ที่เป็นพระ แต่ไปขอส่วนบุญจากฆราวาส มาขอจากพระด้วยกันก็ยังดี ท่านเห็นผมเป็นอะไร ถึงได้ข้ามหน้าข้ามตาไป” เจ้าของกุฏิต่อว่าต่อขานเป็นการใหญ่

         “ผมกลัวท่านพระครูจะไม่อภัยให้ก็เลยไม่กล้า อีกอย่าง ผมก็อยากจะรับกรรมที่ก่อขึ้นนั้นด้วยตนเอง ก็ท่านพระครูเคยสอนไว้ไม่ใช่หรือว่า รับกรรมแทนกันไม่ได้ ใครสร้างเหตุคนนั้นก็ต้องรับผล”

         “ถูกแล้ว แต่ผมหมายความว่า อย่างน้อยก็ยังช่วยให้ทุเลาเบาลางลงได้บ้าง”

         “แต่ตอนนี้ท่านก็ได้ช่วยผมแล้ว ผมเป็นหนี้บุญคุณท่านพระครูมากเหลือเกิน นี่ถ้าได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ผมจะตั้งหน้าตั้งตาเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนตลอดชีวิต ผมรู้แล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดมันทุกข์อย่างไร ผมเห็นจะต้องลา ขอบพระคุณสำหรับผ้าไตรใหม่เอี่ยมที่ผมนุ่งห่มอยู่นี้”

         พูดจบ ภิกษุชราก้มลงกราบสามครั้ง แล้วร่างนั้นก็ค่อย ๆ เลือนหายไปในความสลัวของยามอรุณ

 

มีต่อ.........๑๐


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:27:09 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00010
 

๑๐...

               บ่ายจัดของวันที่แปดนับแต่วันบวช ขณะที่พระบัวเฮียวกำลังเดินไปยังกุฏิท่านพระครู เพื่อให้ท่านทดสอบอารมณ์ รถตู้สีครีมใหม่เอี่ยมคันหนึ่งก็แล่นเข้าประตูวัดมา มีรถเก๋งสีฟ้าแล่นตามมาติด ๆ เมื่อรถสองคันแล่นเข้ามาจอดคู่กันที่ลานวัด บุรุษสองคนกับสตรีสามคนได้ลงมาจากรถ พระใหม่ไม่ทันได้สังเกตว่า คนไหนลงมาจากคันไหน แต่ที่จำได้แม่นยำคือ บุรุษที่เดินนำหน้าคนทั้งสี่มานั้น คือครูที่มาจากนครสวรรค์ และเพิ่งออกจากกรรมฐานกลับไปเมื่อสามสี่วันก่อน

            คนทั้งห้าเดินตรงไปยังกุฏิท่านพระครูและถึงก่อนหน้าท่านเล็กน้อย เมื่อท่านไปถึงและทำความเคารพพระอุปัชฌาย์แล้ว ครูใหญ่จึงแนะนำกับคนทั้งสี่ว่า

            “นี่หลวงพี่บัวเฮียว อาจารย์สอนกรรมฐานให้พ่อ”

            แล้วทั้งหมดจึงก้มลงกราบสามครั้ง พระใหม่รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ คนที่เป็นครูใหญ่ยกย่องให้เกียรติท่านถึงปานนั้น อีกทั้งหญิงสาวสองคนที่มาด้วยก็สวยหยาดเยิ้มจนท่านรู้สึกขวยเขิน

            “เจริญพรครูใหญ่ ครูบุญมีกับครูอรุณไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านพระครูทักทาย กระบวนจำชื่อคนแม่นไม่มีใครเกินท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง

            “ไม่ได้มาครับเพราะโรงเรียนเปิดแล้ว ตัวผมก็ลางานมา จะพาครอบครัวมากราบหลวงพ่อ” แล้วจึงแนะนำสมาชิกทีละคน

            “คุณผ่องพักตร์แม่บ้านของผม สามคนเป็นลูกชื่อ ผ่องพรรณ วรรณวิไล ชัยชนะ อายุห่างกันคนละปี เรียนจนได้งานทำกันแล้วครับ”

         ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” พิจารณาคนทั้งสี่ทีละคน แล้วพูดขึ้นว่า “นี่คนนี้ฉลาด จะได้เป็นด็อกเตอร์” ท่านชี้ไปที่วรรณวิไล หญิงสาวยิ้มอาย ๆ ยกมือขึ้น “สาธุ” พร้อมกล่าวว่า “ขอให้สมพรปากเถิดเจ้าค่ะ”

         พระบวชใหม่แอบชื่นชมในใจว่า “เจ้าประคุณเอ๋ย รูปก็สวย เสียงก็ใส แถมยังความรู้สูงเสียด้วย ข้างฝ่ายพี่สาวก็สวยไม่แพ้กัน นี่ถ้าให้เราเลือกคงเลือกไม่ถูกกระมังหนอ มันเข้าทำนอง รักพี่เสียดายน้อง ครั้นจะรักน้องก็เสียดายพี่ จะเอายังไงดีวุ้ย”

            ท่านพระครูแอบสำรวจความคิดของพระใหม่ เห็นกำลังฟุ้งซ่านหนัก จึงพูดขึ้นว่า

         “เห็นไหมบัวเฮียว ที่ฉันบอกเธอว่าครูใหญ่ต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวัน ก็กลับมาจริง ๆ

         “แต่หลวงพ่อบอกว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่งด้วยนี่ครับ” พระใหม่ทักท้วง คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นว่า

         “เป็นความจริงครับ ผมกำลังจะกราบเรียนหลวงพ่ออยู่พอดี” พระอุปัชฌาย์มองหน้าลูกศิษย์เหมือนจะบอกว่า “เห็นไหมบัวเฮียว ที่ฉันพูดไว้น่ะ ผิดเสียที่ไหน”

            “ผมต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาให้ผมมีโชค” ครูใหญ่พูดพร้อมกับยกมือไหว้อย่างนอบน้อม

         “ไม่เกี่ยวกับอาตมาหรอกโยม” บางครั้งท่านก็เรียกครูใหญ่ว่า “โยม”

         “มันเป็นโชคของโยมเอง อาตมาเพียงแต่รู้เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าอาตมาจะรู้หรือไม่โยมก็ต้องถูกอยู่ดี เพราะโยมทำกรรมมาอย่างนั้น เรื่องของกรรมใครทำใครได้ ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว ลูกศิษย์ของอาตมาคนหนึ่งเขาไม่เล่นหวย ไม่เคยซื้อ ไม่ว่าจะเป็นหวยใต้ดินหรือหวยรัฐบาล แต่เมื่อถึงคราวที่กรรมดีมาให้ผล เขาก็ถูกรางวัลที่ ๑ จนได้

         เรื่องมีอยู่ว่าตาขี้เมาคนหนึ่งมาอ้อนวอนขายให้เขา เพื่อจะเอาเงินไปซื้อเหล้ากิน เขาบอกไม่ซื้อ ๆ ตานั่นก็เซ้าซี้จนเขารำคาญ เลยควักเงินให้ไปสิบบาทแล้วเอาล็อตเตอรี่มา ตกเย็นล็อตเตอรี่ออก ปรากฏว่าเขาถูกรางวัลที่ ๑ เห็นไหมคนมีชี อยู่ดี ๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ตั้งห้าแสน

         เขาก็สำนึกถึงบุญคุณตาขี้เมา ตั้งใจจะเอาเงินไปแบ่งให้บ้าง พอไปตามหาถึงได้รู้ว่า หมอนั่นช็อคตายไปแล้ว แกไปเที่ยวเร่ขายจนจำเลขได้ พอรู้ว่าถูกรางวัลที่ ๑ เกิดความเสียดาย เลยช็อค”

         ท่านพระครูเล่าจบ ลูกสาวคนโตของครูใหญ่จึงถามขึ้นว่า

         “แล้วแบบนี้คนที่ซื้อไปจะบาปไหมคะหลวงพ่อ”

         “ไม่บาปหรอกหนู เพราะเขาไม่ได้เจตนา แล้วจิตของเขาก็ไม่มีโลภะ แต่ซื้อเพื่อตัดรำคาญ”

         “ผมว่าตาขี้เมาคนนั้นไม่มีโชคมากกว่าใช่ไหมครับหลวงพ่อ” ครูใหญ่ถาม

         “ก็คงเป็นยังงั้นแหละ เงินมาอยู่ในมือแล้วยังเอามายัดเยียดให้คนอื่น พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า ดวงจะไม่ได้ใช้เงิน”

         “อย่างคนที่ผมรู้จักคนหนึ่งครับหลวงพ่อ รายนี้ก็ถูกรางวัลที่ ๑ เหมือนกัน แกเอาเงินไปซื้อรถเก๋งแล้วก็ไปแต่งนางงามบ้านหมี่มาเป็นเมียน้อย ทั้งที่เมียแกยังอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่กับอบายมุข ทั้งสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ผลที่สุดก็เลยวิบัติ คือ ถูกหวยได้ไม่ถึงเดือนก็ขับรถไปชนกับสิบล้อตายคาที่เลยครับ” ชัยชนะเล่า

         “นั่นแหละเขาเรียกว่าทุกขลาภ เพราะเขาไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เข้าใจว่าที่ตนร่ำรวยขึ้นมานั้นกรรมดีมันมาให้ผล แทนที่จะสร้างกรรมดีเพื่อเติมเชื้อบุญต่อไปอีก กลับไปทำบาปคือประพฤติผิดศีล ก็เลยต้องพบกับความหายนะทันตาเห็น”

         “แสดงว่าคนที่มีเมียน้อยทุกคน จะต้องพบกับความหายนะใช่ไหมคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์ถามขึ้น

         “ก็คงงั้นมั้ง หรือ ครูใหญ่ว่ายังไง”

         “ข้อนั้นผมไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่าแม่บ้านผม เธอเป็นโรคหึงครับ ที่ถามหลวงพ่อเพราะแรงหึง กลัวว่าผมจะมีเมียน้อย” คนเป็นครูใหญ่ “ฟ้อง” กราย ๆ

         “ผู้หญิงเป็นโรคหึงทุกคนแหละโยม ต่างกันแต่ว่าใครจะมีอาการมากน้อยกว่ากัน”

         “หลวงพ่อไม่ได้เป็นผู้หญิง แล้วทราบได้อย่างไรคะว่า ผู้หญิงเป็นโรคหึงทุกคน” ผ่องพรรณถามขึ้น

         “ก็หนูไม่ได้เป็นหลวงพ่อ แล้วหนูทราบได้อย่างไรล่ะจ๊ะ ว่าหลวงพ่อไม่ทราบ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ หญิงสาวมิรู้จะตอบประการใด จึงหันไปสบตากับหลวงพี่บัวเฮียว หวังให้ท่านช่วย

         “คุณโยมคงได้ “เห็นหนอ” น่ะครับหลวงพ่อ พระใหม่เอื้อนเอ่ยหมายจะช่วย “คุณโยม” ทว่ากลับทำให้เธองุนงงหนักขึ้น ท่านพระครูเห็นว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ จึงวกกลับเข้ามาเรื่องเดิม

            “ตกลงครูใหญ่จะใช้ชีวิตแบบที่ลูกชายเล่ามาหรือเปล่าล่ะ น่าสนุกดีเหมือนกันนะ”

         “ไม่หรอกครับหลวงพ่อ ผมมันเข้าวัดเข้าวาเสียแล้ว บ้านเรามีห้าคนผมก็เอาห้าหาร ได้กันคนละแสน ทีนี้ผมก็บอกภรรยาและลูก ๆ ว่าหลวงพ่อรับนิมนต์ไปเทศน์ตามที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ ถ้ามีรถไว้ใช้สักคันก็จะสะดวกขึ้น ผมเลยบอกจะซื้อรถตู้ถวายหลวงพ่อ พวกเขาก็ช่วยกันลงขันมาซื้อรถ แล้วยังมีเงินเหลือสำรองเป็นค่าน้ำมันอีกสองหมื่น”

         พูดจลก็ถวายเงินสดและทะเบียนรถพร้อมลูกกุญแจแด่ท่านเจ้าอาวาส ท่านพระครูรับประเคนแล้ว ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ คนทั้งหมดรวมทั้งพระบัวเฮียวต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ

         “หลวงพ่อคงต้องหาคนขับรถสักคนหนึ่งแล้วละครับ” ครูใหญ่เสนอแนะ

         “ก็มีแต่สมชายนี่แหละ ขับพอเป็นแล้ว แต่ยังไม่มีใบขับขี่”

         “ไม่ยากหรอกครับหลวงพ่อ ใบขับขี่ต่างจังหวัดทำง่ายกว่าในกรุงเทพฯ เพื่อน ๆ ผมมีใบขับขี่เกือบทุกคน ทั้งที่บางคนยังขับรถไม่เป็นด้วยซ้ำ” ชัยชนะออกความเห็น

         “แต่แบบนั้นไม่ค่อยดีนะเจ้าคะ เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเองแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอีกด้วย” วรรณวิไลเอ่ยขึ้น

         “จริงค่ะ หนูเห็นด้วยกับน้องวรรณ อย่างเพื่อนหนูนะคะ กำลังยืนพูดโทรศัพท์อยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งตั้งอยู่ริมถนน คนที่เขากำลังคุยด้วยก็คือหนูเอง จู่ ๆ รถเก๋งคันหนึ่งก็พุ่งเข้ามาชนโครม เพื่อนหนูคอขาดกระเด็นออกมานอกตู้ซึ่งพังยับเยิน กระจกแตก คนชนก็ถูกอัดก๊อปปี้ตายคาพวงมาลัย

         หนูก็แปลกใจว่าเอ....กำลังคุยกันดี ๆ ก็มีเสียงดังโครมแล้วก็เงียบหายไป เลยขับรถออกตามหา ดีที่เขาบอกชื่อถนนไว้ตอนคุยกัน พอหนูเห็นเพื่อนหนูแทบช็อคเลยค่ะ

         ตำรวจสอบสวนได้ความว่า ผู้หญิงคนชนนั้นเพิ่งหัดขับรถ แถมวันนั้นแกทะเลาะกับสามีเลยขโมยรถขับไปกินเหล้า พอเมาก็ประมาทขับเสียเร็วเลยทำให้เพื่อนหนูพลอยเคราะห์ร้ายไปด้วย”

         ท่าทางคนเล่ายังไม่หายหวาดเสียว แต่พระใหม่กลับเพลิดเพลินกับเสียงใส ๆ ของคุณโยมจนเผลอสติ จ้องหน้าหล่อนไม่วางตา ครั้นเมื่อหญิงสาวเล่าจบจึงถามเชย ๆ ออกมาว่า

         “แล้วอย่างนี้จะเอาผิดกับใครเล่าครับหลวงพ่อ เพราะคนทำผิดก็ตายไปแล้ว”

         “อ้าว...ก๊อเอาผิดกะพระบัวเฮียวน่ะซี” ท่านพระครูตอบหน้าเฉย

         “ถ้างั้นหลวงพ่อก็ยุ่งแล้วละครับ เพราะถ้าพระลูกวัดถูกจับ สมภารก็ต้องถูกสอบสวนด้วย” คราวนี้คนเชยทำเป็นรู้

         “งั้นครูใหญ่ช่วยไปประกันตัวให้ด้วยก็แล้วกัน ไหนว่าเป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันไม่ใช่หรือ” ท่านพระครูโยนกลองไปที่ครูใหญ่

         “ครับ ไม่เป็นไร ผมประกันตัวให้หลวงพี่เอง” ครูสฤษดิ์พลอยเออออห่อหมกด้วย

         “แหม...คุณก็ หลวงพ่อท่านพูดเล่น ๆ คุณก็เอาเป็นจริงเป็นจังไปได้” คุณผ่องพักตร์ปรามสามี

         “คุณพ่อก็พูดเล่น ๆ นะคะคุณแม่” วรรณวิไลแก้แทนบิดา พระบัวเฮียวมีอันต้องคิดหนัก ว่าพี่น้องสองศรีคู่นี้ใครเสียงหวานกว่ากัน ก็เลยตัดสินใจไม่ได้อีกครั้ง

         “กรณีของเพื่อนหนู ก็ต้องโทษว่ากรรมใช่ไหมคะหลวงพ่อ” ผ่องพรรณถาม

         “แน่นอน โดยเฉพาะคนขับนั้นเป็นกรรมประเภททิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบันทันตาเห็น การดื่มสุราถือว่าละเมิดศีลข้อร้ายแรงที่สุดในบรรดาศีลห้า เฉพาะทำให้ขาดสติ เมื่อขาดสติเสียแล้วก็ละเมิดศีลข้ออื่น ๆ ได้หมด อันนี้แสดงให้เห็นว่าทำชั่วได้ชั่วทันตาเห็น

         ส่วนเพื่อนของหนูก็แสดงว่าต้องมีเวรมีกรรมเกี่ยวเนื่องมากับคนที่ชน คือมันต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล หนูลองคิดง่าย ๆ ก็ได้ว่า ทำไมถึงต้องเป็นเพื่อนของหนู ทำไมไม่เป็นคนอื่น เพราะคนใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ วัน ๆ มีมากมาย แต่ทำไมเขาไม่ถูกชน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมา จริงไหมล่ะจ๊ะ” ท่านหันไปถามวรรณวิไล

         “จริงเจ้าค่ะ เหมือนอย่างคุณพ่อกับคุณแม่ ก็คงเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาใช่ไหมเจ้าคะหลวงพ่อ” หญิงสาวถามหมายจะยั่วบิดาและมารดา

         “แน่นอนจ้ะ ไม่เฉพาะคุณพ่อคุณแม่หรอก ถึงหนูเองก็เถอะ หลวงพ่อเห็นหมดแล้วว่าหนูจะต้องใช้เวรใช้กรรมกับคูกของหนูมากกว่านี้อีกหลายเท่า ถึงดวงการศึกษาหนูจะดี แต่ดวงคู่ครองค่อนข้างจะแย่ หนูต้องอดทนมาก ๆ ถึงจะอยู่กันได้ คู่ของหนูเข้าเป็นคนเจ้าทิฏฐิ ใจร้อน พูดก็ไม่เพราะ คือไม่เพราะแต่กับหนู แต่กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ เขาพูดเพราะมากเชียวละ หนูก็เลยเป็นโรคหึง แล้วโรคนี้มันจะทรมานจิตใจหนูมากทีเดียว”

         “เมื่อรู้อย่างนี้แล้วหนูก็ไม่แต่งกับเขาซีเจ้าคะหลวงพ่อ”

         “ไม่แต่งได้แหละดี ดีมาก ๆ เชียวละ แต่ถึงเวลานั้นจริง ๆ หนูจะไม่คิดอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้ หนูจะมาหาหลวงพ่อแล้วพูดว่า...หลวงพ่อเจ้าคะ หนูไม่ได้รักเค้าหรอกเจ้าคะ แต่หนูสงสารเค้าถึงได้ยอมแต่งงานด้วย จริง ๆ นะเจ้าคะ....”

         “ท่านพูดเลียนเสียงวรรณวิไล ทำให้คนอื่น ๆ พากันหัวเราะทั้งหญิงสาวที่ชื่อวรรณวิไลด้วย

         “แล้วเขาเจ้าชู้ไหมเจ้าคะหลวงพ่อ” หล่อนถามอีก

         “จะว่าเจ้าชู้ก็ไม่เชิง แต่ผู้ชายที่พูดหวาน ๆ น่ะผู้หญิงชอบใช่ไหม นี่แหละสาวแก่แม่หมายตอมกันหึ่งเชียวละ”

         “แหม หนูชักใจไม่ดีแล้วซีเจ้าคะ หนูเชื่อว่าสิ่งที่หลวงพ่อพูดจะต้องเกิดขึ้นกับหนูจริง ๆ เห็นคุณพ่อบอกว่าหลวงพ่อได้ทิพยจักษุกับเจโตปริยญาณ” ประโยคหลังหล่อนพูดตามหลักวิชาที่เคยเรียน

         “จริงหรือไม่จริง หนูคอยดูไปก็แล้วกัน อีกแปดปีก็จะรู้ ถ้าไม่จริงมาต่อว่าหลวงพ่อได้” พระบัวเฮียวแอบคิดในใจว่า “เอ...เนื้อคู่ของคุณโยมจะใช่เราหรือเปล่าหนอ” ก็พอดีกับหญิงสาวถามขึ้น

         “แล้วตอนนี้เจอกันหรือยังเจ้าคะ พระใหม่ตั้งใจฟังเต็มที่ หากก็ต้องผิดหวังเมื่อท่านพระครูตอบว่า

         “เดินผ่านกันไปผ่านกันมาหลายครั้งแล้วที่มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่เคยพูดกัน เขาไม่สนใจหนูหรอกเพราะเขามีคู่รักอยู่แล้ว ต้องชดใช้กรรมกับคนนั้นก่อนแล้วถึงจะมาเจอกับหนู”

         “แล้วตอนนี้เขาแต่งงานกันหรือยังเจ้าคะ”

         “ยัง อีกสองปีถึงจะแต่ง แต่งแล้วก็หย่ากันในปีนั้น ผู้หญิงเขาใจเด็ดทิ้งลูกทิ้งผัวไปอยู่กับชายอื่น คู่ของหนูก็เลยเป็นพ่อหม้ายลูกติด”

         “ก็ดีซีเจ้าคะหนูจะได้ไม่ต้องมีลูกของตัวเอง ลูกเขาก็เหมือนลูกเราจริงไหมคะพี่ผ่อง” หล่อนหันไปถามพี่สาว

         “พอถึงเวลานั้นจริง ๆ มันไม่เป็นอย่างที่หนูหวังไว้หรอกจ้ะ จำคำพูดของหลวงพ่อไว้นะจ๊ะคุณด็อกเตอร์ ว่าหนูน่ะจะต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าเพราะสามี”

         หญิงสาวกลับมีอารมณ์ขันเพราะไม่เคยจริงจังกับชีวิต แต่เล็กจนโต หล่อนได้รับความรักความอบอุ่นมาโดยตลอด ทั้งคนในครอบครัวทั้งเพื่อนฝูงต่างรักใคร่หล่อนกันทุกคน ชีวิตของวรรณวิไลจึงยังไม่รู้จักคำว่าทุกข์ ทั้งไม่เคยคิดว่าจะต้องพบกับมัน

         หล่อนมิรู้ดอกว่า ความร่าเริงน่ารักและมองโลกในแง่ดีอันเป็นคุณสมบัติประจำตัวหล่อนนั้น อีกแปดปีมันจะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย นอกจากจะไม่เหลือแล้วมันยังเปลี่ยนเป็นคุณสมบัติที่ตรงข้าม...ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง อีกแปดปีหล่อนจะต้องมานั่งร้องไห้คร่ำครวญต่อหน้าพระภิกษุรูปนี้ หล่อไม่รู้ แต่ท่านพระครูท่านรู้

         “ก็แล้วแต่จังหวะจ้ะ หัวเข่าหนูน่ะแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนโชคร้ายหน่อยก็จะเป็นหัวเข่าเขา ทำหัวเราะไปเถอะแล้วหลวงพ่อจะคอยดู”

         “ถึงขนาดนั้นเชียวหรือคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์รู้สึกเป็นห่วงลูกสาวคนเล็ก

         “ก็เขาทำกรรมมาอย่างนั้นนี่โยม” ท่านพระครูตอบ

         “คนมีการศึกษาเขาจะทำกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือคะหลวงพ่อ” เธอคัดค้าน

         “การศึกษาไม่เกี่ยวหรอกโยม ที่อาตมาเห็น ๆ มาน่ะ ขนาดจบปริญญาโท ปริญญาเอก ยังเตะกันตกบ้านไม่รู้กี่คู่ต่อกี่คู่” คราวนี้มารดาของวรรณวิไลนั่งเงียบกริบ นึกสงสารบุตรสาวที่จะต้องมารับกรรมทั้งที่อะไร ๆ ก็ดีมาโดยตลอด ท่านพระครูรู้จึงพูดปลอบว่า”

         “ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอกโยม ขอให้ถือว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม อาตมาเองก็ชดใช้กรรมมามากต่อมาก หนักกว่าลูกสาวโยมหลายเท่านัก คิดเสียว่าใช้ ๆ กันเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องมีเวรมีกรรมต่อกันอีก”

         “ดิฉันห่วงลูกสาวน่ะค่ะ”

         “ห่วงเขาทำไมกันเล่า กรรมใครใครก็ใช้ แต่ไม่นานหรอกโยม เก้าปีหลังจากแต่งงานเขาก็จะสบาย คู่ของเขานั้นโดยเนื้อแท้ก็เป็นคนดี แต่ต้องมีเรื่องระหองระแหงกันจนหาความสุขไม่ได้ก็เพราะกรรมเก่า ก็ทำกับเขวไว้มากนี่นา”

         ท่านหันไปทางวรรณวิไล เห็นกฎแห่งกรรมของหล่อนอย่างถ้วนทั่ว ทว่าเจ้าตัวกลับไม่รู้ไม่เห็นกรรมของตัวเอง

         ฟังเขาคุยกันแล้วพระบัวเฮียวจึงรู้ว่า คู่ของวรรณวิไลไม่ใช่ท่าน ภิกษุหนุ่มจึงย้ายความหวังไปไว้ที่คนเป็นพี่สาวของหล่อน พอดีที่ผ่องพรรณถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อคะ แล้วหนูพบเนื้อคู่หรือยังคะ” พระใหม่ใจเต้นระริกด้วยหวังจะได้ยินคำตอบว่า “พบแล้วจ้ะ ตอนนี้ยังบวชเป็นพระอยู่” ใจแทบหยุดเต้นเมื่อท่านพระครูตอบว่า

         “จะมีเนื้อคู่สักกี่คนกันล่ะจ๊ะ ก็เพิ่งแต่งงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง รถคันที่ขับมาก็ไม่ใช่ที่สามีเขาซื้อให้หรือจ๊ะ”

         พระบัวเฮียวหน้าซีดลงทันใด รู้สึกวาบหวิวคล้ายจะเป็นลม เพราะต้องพบกับความผิดหวังถึงสองครั้งสองคราติด ๆ กัน ใจหนึ่งท่านพระครูอยากจะสมน้ำหน้า แต่อีกใจก็นึกสงสาร จึงพูดเป็นเชิงปลอบโยนว่า

         “แต่บางคนก็โชคดีที่เกิดมาไม่มีเนื้อคู่ ไม่ต้องไปใช้เวรใช้กรรมกับใคร อย่างพระบัวเฮียวนี้ ดวงจะต้องบวชตลอดชีวิต และจะมีความสุขกว่าคนครองชีวิตคู่”

         “ผมขออนุโมทนาด้วยครับ” ครูใหญ่ยกมือขึ้น “สาธุ” แล้วพูดต่ออีกว่า “บุญของท่านเหลือเกินที่ไม่ต้องมารับผิดชอบชีวิตใคร ๆ ผมเข็ดแล้ว กว่าลูกจะโต จะเรียนจบ ผมลำบากแทบเลือดตากระเด็น ถ้ากลับไปเป็นโสดได้อีกครั้ง ผมจะขอบวชไปจนตลอดชีวิต”

         ภิกษุหนุ่มฟัง “ศิษย์อาวุโส” ของท่านพูดแล้วก็มีกำลังใจขึ้น พระอุปัชฌาย์รู้จึงเสริมอีกว่า

         “ถ้าชีวิตการครองเรือนให้ความสุขได้จริง เจ้าชายสิทธัตถะก็คงไม่สละราชสมบัติออกผนวชหรอก อยากรู้ไหมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวอาตมาจะหาหลักฐานมายืนยัน”

         ท่านลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระไตรปิฎก หยิบเล่มที่ต้องการออกมาแล้ว จึงกลับมานั่งที่เดิม

         นี่ พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของกามไว้ในเล่มนี้” พูดพลางส่งคัมภีร์เล่มใหญ่ และบอกให้เปิดไปหน้า ๓๖๐

         “ไหนลองอ่าน ซัคควิสณสุตตนเทศ ตั้งแต่ข้อ๗๖๔ – ๗๖๖ ให้พรรคพวกฟังซิ” ครูสฤษดิ์จึงต้องอ่านด้วยเสียงที่ทุกคนได้ยินกันทั่วกันว่า

         “...ข้อ ๗๖๔ กามนี้เป็นเครื่องข้องมีความสุขน้อย มีทุกข์มาก บุคคลผู้มีปัญญารู้ว่ากามนี้เป็นดังฝี ดังนั้น แล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

            ข้อ ๗๖๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น สุขโสมนัสนั้นแลเรากล่าวว่า กามสุข กามสุขชุดนี้ กามสุขนี้เลว กามสุขนี้ลามก กามสุขนี้ให้เกิดทุกข์ กามนี้เป็นเครื่องช้อง มีความสุขน้อย

            ข้อ ๗๖๖...คำว่ากามนี้มีความยินดีน้อย มีความทุกข์ยาก กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก

            กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เหมือนโครงกระดูก...เหมือนชิ้นเนื้อ...เหมือนคบเพลิง...เหมือนหลุมถ่านเพลิง...เหมือนความฝัน...เหมือนของที่ยืมเขามา...เหมือนผลไม้...เหมือนดาบ และสุนัขไล่เนื้อ...เหมือนหอกและหลาว...เหมือนศีรษะงูเห่า...มีทุกข์มาก มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า กามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก...

         ครูใหญ่อ่านจบ ท่านพระครูจึงถามขึ้นว่า
         “เป็นยังไง ซาบซึ้งหรือยัง เห็นแล้วใช่ไหมว่าเป็นพระนั้นได้เปรียบกว่าเป็นฆราวาสเป็นไหน ๆ”

         “แหม...หนูชักอิจฉาหลวงพ่อกับหลวงพี่แล้วซีเจ้าคะ ถ้าหนูเป็นผู้ชายคงต้องขอบวชแน่ ๆ เลย” วรรณวิไลพูดขึ้น หล่อนเป็นคนอ่อนไหวง่าย จึงซาบซึ้งและซึมซับอะไร ๆ ได้รวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ

         “เป็นผู้หญิงก็บวชได้ คือบวชใจยังไงล่ะ บางคนกายบวชแต่ใจไม่ได้บวช เช่น พวกที่อาศัยผ้าเหลืองหากิน คนพวกนี้เขาเรียกว่า ตัวเป็นพระแต่ใจเป็นมาร”

            “บวชใจทำอย่างไรคะหลวงพ่อ” ถามอย่างสนใจ

         “ก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหมือนที่คุณพ่อหนูเขาปฏิบัตินั่นยังไงล่ะ”

         “ถ้าเช่นนั้น ปิดเทอมหน้าหนูจะมาอยู่วัดสักเจ็ดวันนะคะคุณพ่อ” หล่อนบอกบิดา

         “ดีแล้วลูก เผื่อกรรมมันจะได้เบาบางลง” ครูใหญ่สนับสนุน

         “หลวงพ่อคะ แล้วชีวิตครอบครัวของหนูจะดีไหมคะ” ผ่องพรรณถามขึ้นบ้าง ฟังเรื่องราวของน้องสาวแล้วหล่อนพลอยใจไม่ดีไปด้วย วรรณวิไลทั้งสวยทั้งเก่ง ไม่น่าจะต้องมีกรรมอะไรหนักหนา

         “ดีจ้ะ ตอนนี้ดีเพราะกำลังข้าวใหม่ปลามัน แต่ต่อไปแย่หน่อย เพราะสามีเขาจะเลี้ยงหนูด้วยลำแข้งชนิดซี่โครงเหน็บข้างฝาเชียวละ รู้สึกจะหนักกว่ารายน้องสาวด้วยซ้ำ เพราะสามีหนูเขาเจ้าชู้ พอไปเจอคนใหม่ก็เบื่อคนเก่า” ท่านพระครูบอกไปตามที่ได้เห็นกฎแห่งกรรมของสองพี่น้อง

         “ลูกสาวดิฉันโชคร้ายทั้งสองคนเลยหรือคะหลวงพ่อ” คุณผ่องพักตร์ถาม รู้สึกหดหู่เศร้าหมองด้วยสงสารลูก

         “อย่าไปคิดอะไรมากเลยโยม ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรื่องของกรรมเก่าก็ต้องชดใช้กันไป อย่าไปสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาอีกแล้วกัน ชีวิตการครองเรือนก็เป็นอย่างนี้ สุขบ้างทุกข์บ้างปะปนกันไป”

         หลวงพ่อคะ แล้วหนูพอจะมีทางทำให้กรรมเบาบางลงบ้างไหมคะ” ผ่องพรรณถาม หล่อนเริ่มวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

         “จะกังวลล่วงหน้าไปทำไมเล่าหนู อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เราต้องกล้าเผชิญกับความจริง การจะให้กรรมเบาบางลงมีวิธีเดียวคือมาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้สักเจ็ดวันเป็นอย่างน้อย”

         “สามีหนูไม่ยอมให้มาแน่ ๆ ค่ะ ตั้งเจ็ดวัน นี่หนูขอมาหาคุณพ่อคุณแม่วันเดียวเขายังไม่ค่อยพอใจ”

         “ใช่ซีจ๊ะ ก็กำลังรักอยู่นี่ เขาไม่อยากให้คลาดสายตาสักเวลานาทีเอาเถอะ แล้วหนูจะได้มาอยู่วัดตอนที่เขาเบื่อหนูแล้ว ถึงเวลานั้นหลวงพ่อคงจะช่วยแนะนำได้บ้าง”

         “หนูต้องกราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ” พูดจบจึงก้มกราบสามครั้ง เป็นการฝากเนื้อฝากตัว คุยกันอีกพักใหญ่ ๆ คนทั้งห้าจึงลากลับ ท่านพระครูย้ำเตือนสตรีทั้งสองว่า

         “อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานนะหนูนะ แล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ ที่หลวงพ่อบอกก็เพื่อจะให้หนูตั้งสติได้เมื่อพบกับเหตุการณ์อย่างนั้น จะได้ไม่ตกใจเกินไป อย่าลืมว่าใช้ ๆ ให้หมดกันไปเสียแล้วก็อย่างไปสร้างกรรมใหม่”

         ท่านจำเป็นต้องบอกต้องพูด เพราะคนส่วนมากเมื่อประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ต่างผลุนผลัน พากันฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่าคนที่ทำให้ตัวเองเจ็บช้ำบ้าง ด้วยคิดว่าเป็นทางหนีทุกข์ แต่ข้อเท็จจริงนั้นนอกจากจะหนีทุกข์ไปไม่ได้แล้วยังทำให้เพิ่มทุกข์ผูกเวรกันหนักขึ้นไปอีก

         “จำไว้นะหนูนะ” ท่านย้ำเตือนอีกครั้ง

         “เจ้าคะ”

         “ค่ะ” สตรีทั้งสองรับคำพร้อมกับก้มลงกราบท่านพระครูและหลวงพี่บัวเฮียว แล้วจึงเดินไปยังลานจอดรถที่บิดามารดาและน้องชายรออยู่

 

มีต่อ........๑๑

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:27:55 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00011
 

๑๑...

         พระบัวเฮียวมองตามรถเก๋งคนงามที่กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ออกจากลานวัด มุ่งสู่ถนนสายเอเชีย โดยมีผ่องพรรณทำหน้าที่เป็นคนขับ

         “จ้องตาไม่กระพริบเชียวนะ” เสียงพระอุปัชฌาย์ค่อนขอด

         “โธ่...หลวงพ่อ ก็ผมสงสารเขานี่ครับ” คนเป็นศิษย์ว่า

         “อ้อ...สงสารเลยมองตามตาละห้อยเลย”

         “ไม่สงสารได้ไงล่ะครับหลวงพ่อ ผู้หญิงหน้าตาสวย รวยความรู้ แต่ต้องมามีเวรมีกรรม” พระใหม่พูดจากใจจริง

         “เธอเลือกสงสารแต่คนสวย ๆ งั้นหรือ” ท่านพระครูไม่วายยั่ว

         “ก็ไม่เชิงหรอกครับ หรือว่าหลวงพ่อไม่สงสารเขา”

         “ทำไมจะไม่สงสาร ก็ที่ฉันยอมตรากตรำทำงานจนลืมกินลืมนอนอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะความสงสารหรอกหรือ เธอจำไว้นะบัวเฮียว ว่าทั้งคนทั้งสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนน่าสงสารด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเขามีทุกข์เราพอจะช่วยได้ก็ต้องช่วยไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มาจากไหน จะสวยหรือไม่สวยก็ตาม เข้าใจหรือยัง”

         “หมายความว่า เราต้องเป็นกัลยาณมิตรสำหรับทุกคนใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว ต้องอย่างนี้ถึงจะเป็นศากยบุตรขนานแท้ เธอรู้ไหม เสด็จพ่อของพวกเรา ทรงเรียกพระองค์เองว่า เป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างเสมอหน้ากัน มิได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด”

            “หลวงพ่อครับ ที่ผมสงสารสองพี่น้องนั้นไม่ได้แปลว่าผมเลือกที่รักมักที่ชังอะไร เพียงแต่ผมคิดว่าคนที่มีบุญแล้วไม่น่าจะต้องมีกรรม” พระบัวเฮียวชี้แจง

         “นั่นเพราะเธอยังไม่เข้าใจความหมายของกรรมอย่างถ่องแท้ ฟังให้ดีนะฉันจะอธิบายให้ฟัง คำว่า กรรม หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเป็นพื้นฐาน ถ้าเจตนาดีกรรมนั้นก็เป็นกรรมดี ถ้าเจตนาชั่วกรรมนั้นก็เป็นกรรมชั่ว ดังนั้นกรรมจึงมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกรรมไปในทางลบ คือไปเข้าใจว่า คือ บาป หรือ ความชั่ว และที่ว่า...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...ก็หมายความว่า ใครทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว เพราะกรรมย่อมเกิดจากผู้กระทำ เหมือนสนิมเหล็กเกิดจากเหล็ก ฉะนั้นถ้าไม่มีผู้กระทำ กรรมก็ไม่มี อย่างแม่หนูสองคนนั้น ถ้าเขาไม่ทำกรรมเขาก็ไม่ต้องรับผลของมัน” ท่านพระครูอธิบายละเอียดชัดเจน

         “หลวงพ่อพูดราวกับว่าคนเราเลือกที่จะทำกรรมได้อย่างนั้นแหละครับ”

         “ก็ทำไมจะเลือกไม่ได้เล่า จริงอยู่ กรรมในอดีตเราเลือกไม่ได้ เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว เราต้องชดใช้ไปตามหน้าที่ แต่กรรมในปัจจุบันเราเลือกได้ บางคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมโดยไม่แก้ไขปรับปรุง อย่างเช่นคนขี้เหล้าเมายาก็ไปโทษว่า เพราะเป็นกรรมจึงเลิกไม่ได้ อันนี้เป็นข้อแก้ตัวเสียมากกว่า เพราะถ้าเขาตั้งใจที่จะเลิกจริง ๆ เขาก็เลิกได้ หรืออย่างคนที่เกิดมาจน เพราะกรรมเก่าส่งผล เนื่องจากชาติก่อน ๆ เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ทำบุญบริจาคทาน เมื่อทำเหตุไว้ไม่ดีก็ต้องรับผลไม่ดี ถ้าเขาคิดว่าเพราะกรรมจึงทำให้เกิดมายากจนแล้วเลยงอมืองอเท้าเกียจคร้าน ไม่ขวนขวายทำมาหากิน เขาก็ต้องจนอยู่อย่างนั้น”

         “แปลว่าเขาต้องฝืนดวงใช่ไหมครับ คือต้องขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เป็นการสร้างกรรมใหม่ในทางที่ดี ที่เป็นกรรมเก่าก็ชดใช้ไปแล้ว คือการเกิดมายากจนขัดสน อย่างนั้นใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาขยันหมั่นเพียรจนร่ำรวยขึ้นมา ก็ยังตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ทำบุญบริจาคทาน ชาติต่อไปเขาก็ต้องยากจนขัดสนอีก” เงียบกันไปครู่หนึ่ง พระบัวเฮียวจึงถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องคุณโยมสองคนนั่นมีทางจะแก้กรรมไหมครับ”

         “มี แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า เขามีความอดทนพอไหม มีความเพียรถึงขึ้นหรือเปล่า วิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดคือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เช่นที่เธอปฏิบัติอยู่นั่นแหละ แต่ตอนนี้เขายังไม่สนใจเพราะยังไม่เห็นทุกข์ อีกแปดปีคนน้องจะแต่งงานแล้วก็จะเห็นทุกข์ ถึงตอนนั้นเขาจะนึกถึงฉันและมาให้ฉันช่วย คนพี่ก็เหมือนกัน”

         “แต่คนน้องเขาบอกจะมาปิดเทอมหน้า ไม่ใช่หรือครับ” พระบัวเฮียวติง

         “เขาตั้งใจอย่างนั้นจริง แต่เชื่อสิว่าเขามาไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ถึงเวลาของเขา ต้องรออีกแปดปีถึงมาได้”

         “หลวงพ่อครับ คุณโยมคนน้องทำกรรมอะไรไว้ครับถึงต้องมาเป็นอย่างนี้” ถึงอย่างไรพระใหม่ก็ยังไม่วายสงสัย เดี๋ยวนี้ท่านบอกตัวเองได้แล้วว่า คนน้องน่าสนใจกว่าคนพี่ด้วยเหตุว่าเธอยังโสด หน้าตาของเธอสะสวย สดใส ไม่ช้าไม่นานจะต้องเปลี่ยนเป็นเศร้าสร้อยเพราะโศกศัลย์ น่าสงสารแท้

         “มันพูดยาก ถ้าจะว่าไปแล้วมันมาจากทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมเก่านั้นแก้ไขไม่ได้ คือ แม่หนูวรรณวิไลกับผู้ชายคนนั้น เคยทำกรรมร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ยังไงเสียชาตินี้จะต้องมาอยู่ด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนกรรมใหม่ก็คือเรื่องโรคหึงกับเรื่องลูกเลี้ยง แม่หนูคนนี้เขามาแปลกตรงที่อยากแต่งงาน แต่ไม่อยากมีลูก เลยคิดจะเลี้ยงลูกเขาให้เหมือนลูกตัว แต่ทีนี้มันไม่เป็นยังงั้น เพราะเด็กคนนี้แกก็มีกรรมของแกคือแกอยากดีแต่ไม่ยอมฝืนใจตัวเอง อย่าลืมนะบัวเฮียว การทำความดีจะต้องฝืนใจ ถ้าฝืนใจไม่ได้ทำความดีไม่ได้ เพราะธรรมชาติของคนนั้นมักจะตามใจตัวเอง ซึ่งก็คือตามใจกิเลสตัณหา แล้วเธอคิดว่ากิเลสตัณหามันพาเราไปทางดีหรือทางชั่ว” ท่านถาม

         “ทางชั่วครับ”

         “นั่นแหละ ถ้าใครฝืนใจตัวเองไม่ได้ก็เป็นคนดีไม่ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เอาเรื่องใกล้ ๆ ตัวเรานี่แหละ ไหนบอกมาซิว่าตอนตี ๔ เธออยากนอนต่อหรืออยากลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐาน”

         “อยากนอนต่อครับ”

         “แล้วนอนหรือเปล่า”

         “ไม่นอนครับ ผมฝืนใจลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐาน เพราะผมอยากเป็นคนดีครับ การทำความดีต้องฝืนใจ” พระใหม่ตอบฉะฉาน เงียบกันไปครู่หนึ่ง พระบัวเฮียวก็ถามขึ้นอีกว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วคุณโยมคนน้องทำกรรมอะไรไว้อีกครับ”

         “ปกติคนเราก็ทำกรรมอยู่ตลอดเวลานั่นแหละบัวเฮียว สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว นี่เรายังไม่พูดลึกเข้าไปถึงกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่ากรรมกลาง ๆ คือกรรมไม่ดีไม่ชั่วหรอกนะ เรื่องนั้นมันลึกซึ้ง เอาเป็นว่าขณะนี้เรารู้จักแต่กรรมดีกับกรรมชั่วก็พอ การทำกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้ามันแรงมันก็จะให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ อย่างหนูวรรณวิไลเขาเป็นโรคหึงรุนแรงมากก็เลยทุกข์มาก ซึ่งข้อนี้เขาแก้ไขได้แต่ไม่ยอมแก้ไข จะโทษฝ่ายหญิงข้างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับเขานั้นเป็นคนชอบทำให้เมียหึง เห็นเมียหึงแล้วเขามีความสุข คือเป็นความสุขของผัว แต่เป็นความทุกข์ของเมีย”

         “แปลว่าถ้าคุณโยมเขาไม่หึง เขาก็ไม่มีความทุกข์ใช่ไหมครับ”

         “แน่นอน”

         “ถ้าผมเป็นเขา จ้างผมก็ไม่หึง เรื่องอะไรจะทำให้ตัวเองทุกข์”

         “เธอไม่ได้เป็นเขา เธอก็พูดได้ ลองเธอไปเป็นเขาดูบ้าง ก็ต้องทำอย่างที่เขาทำ เชื่อไหมล่ะ”

         “เชื่อก็ได้ครับ”

         “ไม่เชื่อก็ไม่ว่าอะไรนะ”

         “เชื่อดีกว่าไม่เชื่อครับ เป็นลูกศิษย์ไม่เชื่ออาจารย์ แล้วจะไปเชื่อใครที่ไหน ผมไม่อยากเป็นคนอกตัญญูหรอกครับหลวงพ่อ”

         “ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี”

         “ขอบคุณครับ”

         “ขอบคุณเรื่องอะไร” ท่านพระครูไม่เข้าใจ

         “ก็ขอบคุณที่หลวงพ่อชมว่าผมดีน่ะซีครับ”

         “ฉันไปชมเธอตั้งแต่เมื่อไหร่” ท่านนึกไม่ออกจริง ๆ

         “เมื่อกี้นี้เอง แหม...หลวงพ่อไม่น่าลืมง่ายอย่างนี้เลย ก็ที่...ที่หลวงพ่อพูดว่า ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี หลวงพ่อว่าดีน่ะไม่ใช่ชมผมหรือครับ” คราวนี้ท่านพระครูถึงรูว่าตกหลุมพรางของพระบัวเฮียวเข้าแล้ว ครั้นจะพูดโต้ตอบไปก็เกรงจะขายหน้า เพราะเดี๋ยวนี้ลูกศิษย์ของท่านชักมีเล่ห์เหลี่ยมมาขึ้นทุกวัน จนท่านตามไม่ทัน ทางที่ดีที่สุดคือนิ่งเสีย

         “แต่เอ...หลวงพ่อครับ” พระใหม่เพิ่งจะนึกได้ว่าเรื่องที่ตนกำลังพูดถึงอยู่นั้น ไม่เกี่ยวกับกาย เวทนา จิต ธรรม ดังที่พระอุปัชฌาย์เคยสอน

         “นี่เรากำลังเผลอสติหรือเปล่าครับ ที่พูดเรื่องของคนอื่น เพราะมันไม่เกี่ยวกับสติปัฏฐานข้อใดเลย”

         “ทำไม่จะไม่เกี่ยว นี่แหละจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานละ เพราะถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไรก็เท่ากับเรารู้ในขณะนั้น ๆ ว่าจิตของเราปราศจากโมหะ เธอรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่คุยหรือเปล่าเล่า”

         “บางครั้งก็รู้ แต่บางครั้งก็เผลอไปเหมือนกันครับ” พระบัวเฮียวตอบตามตรง

         “แสดงว่าเธอยังฝึกสติไม่ถึงขั้น จะต้องใช้ความเพียรอีกมาก เรื่องที่เรากำลังคุยอยู่นี้ไม่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะฉันกำลังจะบอกเธอว่า หนูวรรณวิไลนี่แหละจะมาเป็นกำลังสำคัญช่วยฉันเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ ฉันกับเขาเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้ก็ต้องมาช่วยเหลือกันอีก” พระใหม่ทำตาลุก พูดตะกุกตะกักว่า “หมาย...หมายความว่า...หลวงพ่อ...กับ...เอ้อ...โยมวรรณวิไลเคย...เคยเป็น....”

         “ไม่ใช่ ไม่ใช่ยังงั้น อย่าเข้าใจผิด” ท่านพระครูรีบปฏิเสธ ด้วยรู้ว่าพระบัวเฮียวเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง

         “เอาละ เมื่ออยากจะรู้ก็จะบอก แต่เธอต้องไม่เอาไปพูดต่อนะ ใครเขาไม่เชื่อจะเป็นบาปเป็นกรรมของเขาเปล่า ๆ เรื่องนี้ฉันยังไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน เธอรับปากได้ไหมล่ะว่าจะไม่ไปเล่าต่อ”

         “ได้ครับ คนอยากรู้รับคำหนักแน่น ท่านพระครูหลับตาเพื่อลำดับเรื่องราวแล้วจึงเริ่มต้นเล่า

         “ชาติที่แล้ว ฉันเป็นแม่ทัพสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หนูวรรณวิไลเป็นทหารคนสนิทของฉัน ในชาตินั้นเขาชื่อนายจันสม”

         “แล้วหลวงพ่อชื่ออะไรครับ”

         “อ้าว...ก็ชื่อเจริญน่ะซี นี่เธอยังไม่รู้จักชื่อฉันหรอกหรือ” ถึงคราวที่ต้องแก้เผ็ด ท่านพระครูก็ต้องทำไปตามหน้าที่

         “ผมหมายถึงชื่อของหลวงพ่อเมื่อชาติที่แล้วน่ะครับ” พระใหม่อดคิดไม่ได้ว่า “กรรมช่างให้ผลรวดเร็วเหลือเกิน หลวงพ่อท่านฉลาดหลักแหลมไปเสียทุกด้าน เราอยู่ใกล้ท่าน ยังรู้ตัวเองว่าฉลาดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เศษธุลีของท่าน ดูสิ...เมื่อกี้เราหลงลำพองคะนองใจ ว่าเถียงชนะท่าน ยังไม่ทันถึงห้านาทีลับแพ้อย่างไม่เป็นท่า”

         “อันนี้บอกเธอไม่ได้จริง ๆ ที่บอกไม่ได้เพราะมันถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ฉันไปพิสูจน์มาแล้วที่หอสมุดแห่งชาติ มีชื่อฉันอยู่ด้วยในฐานะเป็นแม่ทัพก่อนกรุงแตก”

         “ถ้าอย่างนั้นนิมนต์เล่าต่อเถิดครับ”

         “ฉันกับนายจันสม เคยออกรบด้วยกันหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๓๑๐ ก่อนหน้ากรุงแตกเล็กน้อย กองทัพของฉันพ่ายแพ้แก่พม่า เพราะขาดขวัญและกำลังใจ ฉันบอกให้นายจันสมหนีเอาตัวรอด ครั้งแรกเขาจะไม่หนี ฉันก็ให้เหตุผลว่าถ้าไม่หนีก็ต้องตาย แต่ถ้าหนีอาจจะไปรวบรวมสมัครพรรคพวกมากู้ชาติบ้านเมืองได้ในภายหลัง เขาก็เลยหนีขึ้นไปทางนครสวรรค์ ต้องตกระกำลำบากมาก จึงรำพึงกับตัวเองว่าเกิดเป็นชายชาติทหารต้องทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้หญิง เขาเลยไปตายที่นครสวรรค์แล้วก็ได้เกิดเป็นผู้หญิงสมใจ เนื่องจากเขากับฉันยังมีจิตผูกพันห่วงหากัน ก็ต้องได้มาพบกันอีก มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีก”

         “แล้วหลวงพ่อหนีมาที่นี่หรือครับ”

         “ฉันเป็นถึงแม่ทัพ ถ้าหนีก็เสียชื่อหมด ฉันรบกับพม่ากระทั่งขาดใจตายแต่ฉันก็ตายอย่างมีสติ ขออโหสิกรรมกับคนที่ฉันฆ่า และอโหสิกรรมให้คนที่ฆ่าฉัน เพราะถือว่าเราต่างทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีความอาฆาตมาดร้ายกันเป็นการส่วนตัวก็เลยไม่บาปมาก ฉันไปชดใช้กรรมอยู่ ๑๖๑ ปี จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก เธออย่าถามนะว่าไปใช้กรรมอยู่ที่ไหนอย่างไร มันเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ ฉันจึงไม่บอกเธอ”

         “แล้วคุณโยมเขาทราบไหมครับ ว่าเคยเกิดร่วมชาติมากับหลวงพ่อ”

         “ไม่ทราบ แล้วเธอก็ไม่ต้องไปบอกเขาล่ะ”

         “ครับ ผมรับรองว่าไม่บอก แล้วเนื้อคู่ของคุณโยมเมื่อชาติที่แล้วเป็นอะไรครับ”

         “ก็เป็นเมียนายจันสม ถูกผัวซ้อมเป็นประจำ แกก็อาฆาต บอกชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้ชาย จะได้แก้แค้น ก็มาตามล้างตามแค้นกันจนได้ ยังกะเรื่องนวนิยายนะเธอนะ”

         “ครับ ผมว่านวนิยายก็คงมาจากเรื่องจริงนั่นแหละครับ”

         “คงงั้นมั้ง เธอเห็นหรือยังล่ะว่า ชีวิตคนเราต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ฉันถึงเบื่อหน่ายการเกิด ไม่อยากเกิดอีกเลยแม้แต่ชาติเดียว”

        “การที่พระพุทธเจ้ามาบวชก็เพราะท่านเบื่อหน่ายการเกิดใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสรู้และได้ญาณ ๓ แต่ไหนเธอตอบมาก่อนว่า ญาณ ๓ มีอะไรบ้าง”

         “ญาณ ๓ หรือ วิชชา ๓ หรือ เตวิชชา ใช่ไหมครับ”

         “นั่นแหละ จำได้หรือเปล่าว่ามีอะไรบ้าง ฉันเพิ่งสอนเธอไปเมื่อวานนี้เอง”

         “จำได้ครับ ญาณ ๓ ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ และ อาสวักขยญาณ ครับ”

        “ดีมาก ลองแปลให้ฟังซิว่า แต่ละญาณ มีความหมายอย่างไร”

         “แปลไม่ได้ครับ”

         “ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ”

         “ก็หลวงพ่อยังไม่ได้สอนแปลนี่ครับ”

         “อ้าว...ก็เห็นเธอไม่ถาม ฉันก็นึกว่าเธอรู้”

         “บางทีไม่รู้ แต่ผมก็ไม่ถามครับ”

         “ก็ดี งั้นฉันก็จะไม่บอก เอาไวเธอไปศึกษาเอาเอง”

         “โธ่...บอกเถอะครับหลวงพ่อ ผมไหว้ล่ะ” แล้วทำไหว้ประหลก ๆ

         “ไม่บอกแน่นอน ฉันบอกว่าไม่บอกก็ไม่บอก ทำไมฉันจะไม่รู้ว่าเมื่อบอกเธอแล้ว เธอก็ต้องย้อนว่า...ไหนหลวงพ่อว่าจะไม่บอกไงละครับ แล้วบอกทำไม่...จริงไหม” คนเป็นศิษย์เลยได้แต่ยิ้มแหย ๆ เพราะตั้งใจไว้อย่างนั้นจริง ๆ

         “เอาละ ทีนี้ก็มาต่อเรื่องที่พูดค้างเอาไว้ คือเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้และได้ญาณ ๓ ทรงเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งของพระองค์เองและของสรรพสัตว์ เวลาพระองค์สอนก็ย้ำเสมอ โดยทรงอุปมาอุปไมยว่า...ในพื้นปฐพีนี้ไม่ว่าจะเอาเข็มแทงลงไป ณ ที่ใด ก็ไม่พ้นหลุมศพของตถาคต หากเอากระดูกในแต่ละชาติมากองรวมกัน ก็จะสูงกว่าเขาพระสุเมรุ และน้ำตาที่ร้องไห้คร่ำครวญเพราะความทุกข์ความพลัดพรากก็ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรมารวมกัน ตถาคตเบื่อหน่ายการเกิดเสียนัก ตถาคตจะไม่เกิดอีก...พระองค์ตรัสเช่นนี้บ่อยครั้ง เพื่อให้สรรพสัตว์ ได้เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่เชื่อฟัง จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่อย่างนี้มิรู้จักจบสิ้น”

         “แล้วหลวงพ่อจะเกิดอีกไหมครับ” พระลูกวัดถาม

         “ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย” ท่านสมภารตอบ

         “เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมีอะไรบ้างครับ”

         “มี ๓ อย่างคือ

กมฺมํ เขตฺตํ-มีกรรมเป็นนา

วิญญาณํ พีชํ-มีวิญญาณเป็นพืช และ

ตณฺหา สิเนหํ-มีตัณหาเป็นยางเหนียวที่จะสามารถนำพืชไปเพาะให้งอกงาม

ถ้าเหตุปัจจัย ๓ อย่างนี้มาประจวบกันเข้า การเกิดก็จะต้องมีขึ้น”

“แล้วหลวงพ่อดับเหตุปัจจัยเหล่านี้หมดหรือยังครับ” คนเป็นศิษย์พยายามที่จะหยั่งรู้ภูมิธรรมของอาจารย์

“เรื่องอย่างนี้จะไปพูดสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ฉะนั้นฉันจะไม่ตอบเธอ ถ้าเธออยากรู้ต้องปฏิบัติให้มาก ๆ ของอย่างนี้จะต้องรู้ด้วยตัวเอง บอกเล่ากันไม่ได้ อย่าลืมว่า คติกรรมฐาน คือ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก จำเอาไว้แล้วปฏิบัติให้ได้ตามนี้”

ถ้าอย่างนั้นผมขออนุญาตถามเรื่องเดียว เรื่องเดียวจริง ๆ และผมเชื่อว่าหลวงพ่อต้องตอบได้”

“ไม่ต้องถาม เอาละอยากรู้ก็จะบอกให้” ท่านรู้สึกขัดเขินด้วยรู้ว่าพระบัวเฮียวจะถามเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่ท่านรู้แต่ผู้เดียวและยังไม่เคยบอกใคร พระบัวเฮียวเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่รู้เรื่องนี้

“ภรรยาของฉันเมื่อชาติที่แล้วก็จะมาร่วมสร้างกุศลที่วัดนี้ เขาจะมาสร้างหอระฆังให้ ตอนนี้เขาแต่งงานกับนายแพทย์ เขาสวยยังกะนางฟ้าแน่ะเธอ สวยกว่าเมื่อชาติที่แล้วเสียอีก”

“สวยเท่าอาภัสราไหมครับ” พระบัวเฮียวหมายถึงนางสาวไทยที่ชนะการประกวดนางงามจักรวาลเมื่อห้าหกปีที่แล้ว

“สวยกว่า สวยกว่าหลายเท่าเลยแหละ แล้วยังใจบุญใจกุศลอีกด้วย”

“แล้วหลวงพ่อไม่เสียดายหรือครับที่คุณหมอเขามาแย่งไปเสียได้” คนเป็นศิษย์ยั่วเย้า

“เสียดงเสียดายอะไรกัน ก็มันคนละภพละชาติ ถ้าเสียดายฉันก็คงไม่มาบวชอย่างนี้ เอาละไม่ต้องถามอะไรอีก เราคุยกันมานานพอสมควรแล้ว เธอกลับไปปฏิบัติต่อที่กุฏิของเธอได้แล้ว มีอะไรสงสัยก็มาถาม อย่าลืม กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก แล้วจะได้ไม่ต้องเกิดอีก” พระบัวเฮียวกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงลุกออกมา ความรู้สึกของพระใหม่ ขณะเดินกลับกุฏินั้นเป็นสิ่งที่บรรยายไม่ถูก มันหดหู่ ขัดข้องและหวิวโหวงในอารมณ์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้จะพยายามใช้สติกำหนดอิริยาบถอยู่ตลอดเวลา หากก็ไม่อาจสลัดความรู้สึกเช่นนั้นออกไปได้ จะว่าสงสารสองพี่น้องก็คงไม่ใช่ เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ท่านจะต้องค้นให้พบว่า ความรู้สึกที่เป็นอยู่นี้ มันมีเหตุมาจากอะไร

ถึงกุฏิ ท่านจัดการสรงน้ำชำระร่างกายจนสะอาดสะอ้าน รู้สึกสดชื่นขึ้น หากความหวิวโหวงในอารมณ์ก็ยังไม่เหือดหาย ท่านเริ่มต้นเดินจงกรมตั้งแต่ระยะที่ ๑ ไล่ไปจนถึงระยะที่ ๖ ซึ่งกินเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง จากนั้นจึงกำหนดนั่ง เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว จึงใช้ปัญญาพิจารณาหาสาเหตุของความอึดอัดขัดข้องในหัวใจ ก็ได้ความว่า คำพูดของท่านพระครูที่ว่า ท่านไม่มีเนื้อคู่นั้น ทำให้เกิดความรู้สึกแปลก ๆ นี้ขึ้น สัญชาตญาณของมนุษย์ปุถุชนย่อมต้องการมีความรัก มีคู่ครอง และชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีทายาทไว้สืบสกุล เมื่อรู้ว่าดวงชะตาของท่านไม่อาจมีในสิ่งเหล่านี้ จึงเกิดความรู้สึกเก็บกดอยู่ภายใต้จิตสำนึก จนกลายเป็นความหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่ในจิตใจ เออหนอ...ขนาดท่านเป็นชายอกสามศอก ทั้งยังดำรงเพศเป็นบรรพชิต เจ้าความรู้สึกนี้มันยังทำร้ายท่านได้ถึงเพียงนี้ แล้วพวกผู้หญิงซึ่งเป็นเพศอ่อนแอนั้นเล่า หากหล่อนรู้ว่าตัวเองไร้เนื้อคู่ จะต้องอยู่เดียวเปลี่ยวดายไปจนตลอดชีวิต หล่อนจะทุกข์ทรมานสักเพียงใดเล่าหนอ...

 

มีต่อ........๑๒

 

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:28:40 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00012
 

๑๒...

               ฉันเช้าเสร็จ ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือยังกุฏิชั้นบน สั่งนายสมชายไว้ว่าจะเขียนสัก ๒ ชั่วโมง หากมีผู้ใดมาขอพบในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ขอให้รออยู่ก่อน ท่านขึ้นไปได้สักประเดี๋ยว ชายหนุ่มผู้หนึ่งก็มาขอพบ เขามากับสตรีรูปร่างหน้าตาจัดว่าสวย ท่าทางคงจะเป็นคู่รักกัน

         เมื่อลูกศิษย์วัดแจ้งให้ทราบตามที่ท่านสั่งไว้ ชายหนุ่มผู้นั้นแสดงความไม่พอใจออกมานอกหน้า และทำทีจะขึ้นไปพบด้วยตัวเอง มิใยที่นายสมชายจะห้ามปราม บังเอิญประตูทางขึ้นถูกใส่กลอนเอาไว้ เขาจึงตะโกนขึ้นไปว่า

         “หลวงน้าครับผมมาเยี่ยม เปิดประตูหน่อยครับ” เงียบ ไม่มีเสียงตอบลงมา ลูกศิษย์วัดทราบดีว่าถ้าท่านลงตั้งใจจะทำงานแล้ว ก็จะไม่ยอมรับรู้รับฟังเรื่องอะไรของใคร จะเรียกจะหาอย่างไรท่านก็ไม่ลงมา ชายหนุ่มผู้นั้นจึงตะโกนดังกว่าเดิม

         “หลวงน้าครับ ผมจ่อยไงครับ จ่อยหลานแท้ ๆ ของหลวงน้าจะมาขอพบครับ” เมื่อไม่มีเสียงตอบอนุญาต นายจ่อยรู้สึกเสียหน้า อายทั้งลูกศิษย์ อายทั้งหญิงคู่หมั้นที่ตนหมายพามากราบท่านพระครู

         “ท่านไม่ลงมาหรอกครับ ถึงผมจะเรียกท่านก็ไม่ลงมา เวลาท่านเขียนหนังสือ ท่านไม่ยอมพบใครหรอกครับ” นายสมชายพูดอย่างพยายามผูกมิตรทั้งที่รู้สึกไม่ค่อยจะชอบหน้า ถึงจะเป็นหลานหลวงพ่อจริงตามที่เขาเอ่ยอ้าง ก็ไม่ควรจะมาแสดงอำนาจบาตรใหญ่อย่างนี้

         “ถ้างั้นเราออกไปดูแม่น้ำหลังวัดกันเถอะ แม่น้ำเจ้าพระยายังไงล่ะ” เขาหันไปพูดกับคู่หมั้น ไม่อยากอยู่สู้หน้ากับลูกศิษย์วัด อีกตั้งเกือบ ๒ ชั่วโมงกว่าหลวงน้าจะลงมา

         เมื่อท่านพระครูลงมายังกุฏิชั้นล่าง จึงพบว่าชายหญิงคู่หนึ่งนั่งรออยู่ ขณะทำงานท่านทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียงใด ๆ จากภายนอก จึงไม่ทราบว่าหลานมาหา

         “อ้าว เอ็งหรอกหรือเจ้าจ่อย ไปยังไงมายังไงกัน” ท่านทักหลานชายซึ่งเคยมาบวชเณรอยู่วัดนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น แต่ยังไม่ทันได้บวชพระก็ชิงสึกออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพเสียก่อน ส่วนหญิงสาวที่มาด้วยท่านไม่เคยเห็นหน้า แต่ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเหมือนใครสักคน

         “หลวงน้าสบายดีหรือครับ” หลานชายทัก

         “ก็เรื่อย ๆ ว่าแต่เอ็งเถอะ หายหัวไปเลยนะเอ็ง” ท่านต่อว่าหลานชาย เพราะตั้งแต่สิกขาลาเพศแล้ว นายจ่อยไม่เคยไปมาหาสู่ท่านอีกเลย

         “ผมต้องขออภัย งานยุ่งมากเลยครับ พอดีพ่อเขาย้ายไปทำไร่ที่ท่าตะโก หนทางไกลไปมาลำบากก็เลยไม่ได้มา”

         “อ้อ ไม่ได้อยู่ที่โคกสำโรงหรอกหรือ แล้วพ่อเอ็งเขาเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามถึงคนเป็นพี่เขย ส่วนพี่สาวซึ่งเป็นมารดาของนายจ่อยนั้นเสียชีวิตตั้งแต่ลูกชายยังเป็นเณร

         “แกก็ไม่เจ็บไม่ไข้อะไร ตอนนี้มีเมียใหม่ มีน้องเล็ก ๆ อีกสามคน” นายจ่อยรายงาน

         “อะไรกัน อายุจะหกสิบแล้วยังมานั่งเลี้ยงลูกอ่อน” ท่านพระครูพูดเหมือนตำหนิคนเป็นสามีของพี่สาว

         “แกไม่ได้เลี้ยงหรอกครับหลวงน้า ผมเห็นเมียเขาเลี้ยงอยู่คนเดียว”

         “อ้าว เอ็งไม่เรียกเขาว่าแม่หรอกหรือ”

         “แม่ เม่อะไรล่ะหลวงน้า ก็มันเป็นเพื่อนผมเอง เคยเลี้ยงควายมาด้วยกันสมัยเด็ก ๆ ผมก็เลยเรียกไม่ลง กรรมของมันที่ต้องมาเป็นเมียพ่อ หลวงน้าไม่รู้อะไร พ่อน่ะแกเมาเช้าเมาเย็น งานการไม่ทำ ผมบอกให้แกมาบวชอยู่กับหลวงน้า แกก็ไม่เอา”

         “เรื่องอะไรเขาจะเอา ก็ทีลูกชายเขายังไม่ยอมบวชเลยนี่นา” ท่านประชดคนเป็นหลาน

         “โธ่ หลวงน้าครับ เรื่องมันแล้วไปแล้ว” หลานชายครวญ

         “แล้วไปแล้วก็แล้วกันไป ว่าแต่ว่าที่มานี่ เอ็งมีธุระอะไรกับข้าหรือเปล่า”

         “ก็มีเหมือนกันครับ คือผมพาคู่หมั้นมากราบหลวงน้า แล้วก็จะนิมนต์หลวงน้าไปงานแต่งงานของผมด้วยครับ”

         “อ้อ นี่คู่หมั้นหรอกเรอะ แล้วหนูเป็นคนที่ไหนล่ะจ๊ะ” ท่านถามคู่หมั้นหลานชาย

         “หลวงน้าจำไม่ได้หรือครับ จุกไงล่ะครับ” หลานชายตอบแทนคนเป็นคู่หมั้น

         “จุกไหน” ท่านพระครูยังนึกไม่ออก

         “ก็จุกที่เคยใส่บาตรหลวงน้ากับผมสมัยที่เราพายเรือบิณฑบาตกันยังไงล่ะครับ” หลานชายช่วยทบทวนความจำ แต่หลวงน้าก็ยังนึกไม่ออกจึงต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าช่วย

         “อ๋อ อีจุกน่ะเอง แม่เจ้าไวยเป็นสาวแล้วสวยจนข้าจำไม่ได้” ท่านอุทานด้วยนึกไม่ถึงว่าจะได้พบกันอีก นางสาวจุกนั่งบิดไปบิดมาเพราะความขวยอาย ท่านพระครูนึกย้อนไปถึงอดีตเมื่อสิบปีก่อนโน้น ครั้งที่ท่านยังเจริญสมถกรรมฐานและเล่นทางไสยศาสตร์ด้วย ท่านมี “กระจกหมอดู” อยู่บานหนึ่งที่ใช้ดูเหตุการณ์ในอนาคต โดยภาพของเหตุการณ์จะมาปรากฏในกระจก แต่หลังจากที่ท่านได้พบ “พระในป่า” จึงได้เปลี่ยนมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานและเลิกเล่นไสยศาสตร์ เพราะเห็นว่าไม่ได้ให้ประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิต

         สมัยนั้นท่านบิณฑบาตทางเรือ ทุกเช้าท่านกับเณรจ่อยจะช่วยกันพายเรือลัดเลาะไปตามริมน้ำเจ้าพระยาเพื่อโปรดสัตว์ เด็กหญิงผิวขาววัยสิบเอ็ดขวบที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “อีจุก” เพราะไว้ผมจุกกลางศีรษะ จะออกมาใส่บาตรที่ท่าน้ำในสภาพขี้หูขี้ตาเกรอะกรัง ขี้มูกไหลยืดเพราะเป็นหวัดทั้งปี บ่อยครั้งที่น้ำมูกของเด็กหญิงหยดลงไปในบาตรโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ใส่ใจ และเมื่อเรือแล่นผ่านพ้นบ้านอีจุกไปแล้ว เณรจ่อยก็มีอันต้องเทข้าวทิ้งน้ำทุกครั้ง เพราะทนสะอิดสะเอียนไม่ไหว ส่วนท่านพระครูนั้นแม้จะผ่านการเจริญ “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” มาแล้วก็ยังต้องทำแบบเดียวกับเณรหลานชาย คือ เทข้าวทิ้งจนเกลี้ยงบาตร

         “แหม หลวงน้าเมื่อไหร่อีจุกมันจะตาย ๆ ไปสักทีนะ” เณรจ่อยบ่นอุบ เพราะต้องเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน

         “ไปแช่งเขา ระวังบาปจะกินหัวเอ็ง” หลวงน้าว่าให้

         “ก็มันโมโหนี่หลวงน้า จริง ๆ จะ ผมน่ะโกรธมันจริง ๆ เชียว”

         “คนโกรธคือคนโง่ คนโมโหคือคนบ้า เอ็งอยากโง่อยากบ้าก็ตามใจเอ็ง”

         “หลวงน้า เราไม่รับบิณฑบาตบ้านมันดีกว่านะ” เณรหลานชายแนะ

         “ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เราจะเลือกที่รักมักที่ชังอย่างนั้นไม่ได้”

         “ถ้างั้นก็บอกมันตรง ๆ เลยว่า อย่าให้มันเป็นคนใส่ ให้เปลี่ยนเป็นพ่อหรือแม่มันแทน

         “เอ็งก็บอกเขาเองซิ”

         “ผมมันเป็นเด็ก หลวงน้านั่นแหละดีแล้ว”

         “ข้าไม้เอากับเอ็งด้วยหรอก อยู่ดีไม่ว่าดี จะให้ข้าถูกติเตียนเสียแล้วไหมล่ะ” ท่านพระครูปฏิเสธ เป็นอันว่าท่านจำต้องรับบิณฑบาตจากเด็กหญิงจุกเรื่อยมา กระทั่งมีการตัดถนนเข้าวัด ท่านจึงเลิกบิณฑบาตทางเรือ เณรจ่อยดีใจจนเนื้อเต้น ที่จะได้ไม่ต้องเทข้าวทิ้งน้ำ

         คืนวันหนึ่งไม่รู้ว่าเณรจ่อยนึกยังไงขึ้นมา ถึงได้บอกให้หลวงน้าช่วยดูเนื้อคู่ให้ ท่านพระครูจึงบอกให้เณรจ่อยตั้งจิตอธิษฐานขอให้คนที่จะมาเป็นเนื้อคู่ จงปรากฏเป็นภาพขึ้นกระจกหมอดู อธิษฐานเสร็จ หลวงน้าจึงยื่นกระจกให้เณรหลาน เณรจ่อยมองไปที่กระจกแล้วก็โวยลั่น “อีจุกอีเด็กสกปรก ดูซีขี้มูกไหลยืดเชียว หลวงน้าแกล้งผมใช่ไหม ผมไม่เอา ยกให้หลวงน้าก็แล้วกัน” พูดพลางส่งกระจกคืน ท่านพระครูรับไปดูก็ปรากฏว่าภาพที่เห็นในกระจกนั้นเป็นภาพเด็กหญิงจุก คิดมาถึงตอนนี้ ท่านอดขำไม่ได้จึงพูดขึ้นว่า “ไงล่ะเจ้าจ่อย ก็ไหนเอ็งว่าเกลียดอีจุกนักไง ทำไม่ถึงจะมาร่วมหอลงโลงกันล่ะ”

         “ร่วมหอเฉย ๆ โลงน่ะยังไม่อยากลงหรอกหลวงน้า ขออยู่ไปอีกซักเจ็ดแปดสิบปีก่อนถึงค่อยลง” นายจ่อยรีบชี้แจง

         “นั่นแหละ ๆ นึกยังไงถึงมารักกันได้เล่า” ท่านถามอีก

         “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคือ...เอ้อ...คืออีจุกเด็กขี้มูกมากคนนั้น เพราะไม่เคยเจอกันอีกเลยนับตั้งแต่ผมสึก เพิ่งมารู้เอาอีตอนที่มันรักเขาจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว ก็เลยต้องตกบันไดพลอยโจน”

         “นี่พี่จ่อยอย่ามาพูดดีนะ จะถอนหมั้นกันวันนี้เลยก็ได้ ฉันน่ะไม่ยั่นหรอก คนชอบฉันยังมีอีกเป็นพะเรอเกวียน” สาววัยยี่สิบสองพูดโกรธ ๆ

         “เอ็งจะโกรธจะขึ้งไปทำไม่ล่ะจุก ไหน ๆ ก็จะมาเป็นหลานสะใภ้ข้าแล้ว ข้าล้อเล่นบ้างไม่ได้หรือไง” ท่านพระครูปราม

         “ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรหลวงน้านี่นา ฉันว่าพี่จ่อยเขาต่างหาก” ว่าที่หลานสะใภ้เถียงฉอด ๆ หน้าบึ้งตึงจนหมดสวย

         “เอาละ ๆ เอ็งไม่ต้องมาเถียง ไหนเอ็งจะแต่งกันเมื่อไหร่ เผื่อข้าติดธุระจะได้สับหลีกทัน”

         “ผมคิดกันไว้ว่าวันที่ ๙ ธันวา หลวงน้าช่วยดูอีกทีเถอะว่าฤกษ์นี้ใช้ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ดีหลวงน้าก็ช่วยหาให้ใหม่ด้วย”

         “ฤกษ์ยามมันไม่สำคัญเท่าตัวของเราหรอก ถ้าตัวเราดีมันก็ต้องดีวันยังค่ำ เป็นชาวพุทธไม่ต้องไปถือเรื่องฤกษ์ยาม ถ้าเชื่อข้าก็จำเอาไว้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็แล้วไป”     

            “ไม่เชื่อหลวงน้าแล้วผมจะไปเชื่อใครเล่าครับ แม่ผมก็ตายไปแล้ว พ่อก็เมาเช้าเมาเย็น เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ ก็เห็นแต่หลวงน้านี่แหละที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร” หลานชายอ้อน

         “คิดยังงั้นได้มันก็ดี แต่ว่าก็ว่าเถอะ ใจจริงข้าอยากให้เอ็งบวชมากกว่า จะได้ตัดภพตัดชาติให้มันสั้นเข้า ไม่งั้นก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบสิ้น” ท่านพระครูพูดจากใจจริง หลานชายจึงพูดเอาใจหลวงน้าว่า “ใจผมก็อยากบวชเหมือนกัน แต่ทีนี้สงสารจุกเขา เขาจะอยู่กับใครเพราะพ่อแม่ก็ตายไปหมดแล้ว”

         “จะยากอะไรเล่า ก็มาบวชชีอยู่เสียที่วัดนี่ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติ ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน” หลวงน้าเสนอทางออกให้

         “ถ้าเป็นอย่างนั้นได้มันก็ดีครับหลวงน้า แต่ผมกลัวจะต้องอาบัติปาราชิก เพราะหักห้ามใจไม่ได้ อีกอย่างดวงผมกับผ้าเหลืองมันก็ไม่ค่อยจะถูกกันซักเท่าไหร่” หลานชายปฏิเสธอย่างนิ่มนวลชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น

         “ถ้าดวงไม่ถูกกับผ้าเหลืองก็อย่าบวช เดี๋ยวจะบาปเสียเปล่า ๆ การกระทำบางอย่าง ถ้าพระทำถือว่าบาป แต่ถ้าฆราวาสทำไม่ถือเป็นบาป เช่น การร้องรำทำเพลง การเสพเมถุน เป็นต้น แต่ถึงเอ็งจะไม่บวช ข้าก็อยากให้พากันมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน แล้วกลับไปปฏิบัติที่บ้านวันละนิดละหน่อย ลืมบ้างนึกได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ปฏิบัติเสียเลย” ท่านแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่หลาน หากฝ่ายนั้นรีบออกตัวว่า “งานผมยุ่งครับหลวงน้า คงหาเวลามายาก ถึงมาแล้วก็คงเอากลับไปปฏิบัติที่บ้านไม่ได้เพราะต้องทำไร่ไถนา ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา เอาไว้แก่ ๆ ผมค่อยพากันมาก็แล้วกันนะครับ” หลานชายผัดผ่อน

         “อ้อ...รอให้แก่เรอะ แล้วถ้าเกิดเอ็งตายไปตอนยังไม่ทันแก่ล่ะ จะว่ายังไง” เป็นเป็นน้าทักท้วง

         “ก็สุดแล้วแต่เวรแต่กรรมเถอะครับ”

         “ถ้าเอ็งปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมนับว่าเอ็งประมาทมาก คนทุกวันนี้ก็พากันประมาทเหมือนเอ็งนั่นแหละ แล้วคิดหรือว่าแก่แล้วเอ็งจะมาเข้าวัด ข้าว่าจะเมาเช้าเมาเย็นเหมือนพ่อเอ็งน่ะซี” ท่านยกพี่เขยเป็นตัวอย่าง

         “โธ่ หลวงน้าครับ นาน ๆ ผมจะมาสักที หลวงหน้าก็ตั้งหน้าตั้งตาเทศน์อยู่ได้ คุยเรื่องที่มันมีประโยชน์กว่านี้ดีกว่าน่า” นายจ่อยเริ่มหงุดหงิด ข้างนางสาวจุกก็รู้สึกรำคาญไม่แพ้กัน

         “ก็ถ้าเอ็งไม่ใช่หลานข้า ข้าจะไม่ยุ่งเลยเชียว เอ็งก็เหมือนกันจุก อย่าคิดว่าสิ่งที่ข้าแนะนำเอ็งเป็นเรื่องไร้สาระ นี่แหละคือประโยชน์สูงสุดของชีวิตเชียวนา ถ้าอยากให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขก็หาโอกาสมาเข้ากรรมฐานให้ได้ ไม่ต้องมาพร้อมกันหรอก ผลัดกันมาก็ได้ ไม่ต้องอ้างว่าไม่มีเวลา การอ้างเช่นนั้นแสดงว่าเอ็งยังไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ ใช่ว่าเอ็งต้องมาเดิน ขวาย่าง ซ้ายย่าง พองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลาเมื่อไหร่กัน ถ้าเป็นยังงั้นก็ไม่ต้องทำมาหากินกันแล้ว”

         “ก็นั่นซีครับ ผมถึงมองไม่เห็นประโยชน์ว่าเราจะปฏิบัติไปทำไมกัน เสียเวลาทำมาหากินเปล่า ๆ” นายจ่อยรีบแถลง

         “นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เชียวละ โปรดเข้าใจเสียใหม่นะหลานนะ ว่าที่ข้าให้มาอยู่วัดเจ็ดวัน ก็เพื่อมาเอาหลักการและวิธีการเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ทำงานไปด้วย เอาอย่างนี้ ไหนเอ็งลองบอกข้ามาซิว่า เวลาทำงานเอ็งหายใจหรือเปล่า เอ็งหายใจเข้าออกตลอดเวลาไหมหือจุก” ท่านถามนางสาวจุกด้วย

         “หายใจจ้ะ” สาววัยยี่สิบสองตอบ

         “นั่นแหละ เอ็งก็กำหนดไปซี หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ หรือ กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้กำหนดไปตามจริง จะไถนา จะดำนา หว่านข้าว ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา นี่ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว มันยากเย็นอะไรล่ะ เอ็งไม่ต้องคิดไกลไปถึงขั้นมรรคผลนิพพานหรอก เอาแค่ให้เป็นสุขร่มเย็นในชีวิตนี้ก็พอ เวลาตายจะได้มีสติไม่หลงตาย คนที่ไม่เคยฝึกสติ ข้าเห็นหลงตายทุกราย”

         “แล้วเป็นยังไงครับ หลงตายกับตายอย่างมีสติ มันต่างกันตรงไหน” หลานชายยังไม่เข้าใจ

         “ต่างกันตรงที่ไปนะสิ คนหลงตายก็ต้องไปทุคติ แปลว่าไปไม่ดี ส่วนคนที่ตายอย่างมีสติก็ไปสุคติ คือไปดี” ท่านอธิบาย

         “ไปดีไปไหนครับ แล้วไปไม่ดีไปไหน”

         “ไปดีก็ไปสุคติภูมิ คือ ตั้งแต่ภูมิมนุษย์ไปจนถึงขั้นพรหม ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ ถ้าทำกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าได้รูปฌานก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือไดอรูปฌานก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ถ้าทำชั่วก็ไปทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน ภูมิมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ซึ่งล้วนแต่ขึ้นอยู่กับกรรมทั้งสิ้น”

         “งั้นถ้าเราไม่ทำกรรมเลยก็ไม่ต้องเกิดใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว เขาเรียกว่าบรรลุนิพพาน”

         “แปลว่าคนไม่ทำกรรมจะได้ไปนิพพานใช่ไหมครับ”

         “มันเป็นไปไม่ได้ที่คนจะไม่ทำกรรม แล้วจะว่าไปนิพพานก็ไม่ได้ เพราะนิพพานไม่ใช่สถานที่ที่คนจะมาจะไป แต่เป็นความดับกิเลส ถ้าเราปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดจนถึงขั้นปัญญา สามารถทำลายตัณหาอุปาทานหมดสิ้น นิพพานก็จะปรากฏขึ้นมาเอง เอาละอย่าพูดไปไกลถึงขนาดนั้น มันเข้าใจยากสำหรับปุถุชน”

         “หลวงน้าจ๊ะ แล้วคนที่หลงตายเป็นยังไงจ๊ะ คือเวลาจะตายเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาหลงหรือไม่หลง” นางสาวจุกถามบ้าง

         “รู้ซี ที่เองถามน่ะมีตัวอย่างมากมายเลย อย่างตาอิ่มบ้านอยู่ติดวัดแต่ไม่เคยมาเข้ากรรมฐาน ข้าชวนทีไรแกก็ผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย พอใกล้ตายก็บอกลูกหลานมานิมนต์ข้า ข้าก็ไป แกก็พะงาบ ๆ จะตายมิตายอยู่รอมร่อ แต่ยังพอพูดได้ ข้าก็บอกให้ว่า พุทโธ พุทโธ ลูก ๆ เขาก็ไปบอกใกล้ ๆ บอกพ่อพนมมือแล้วว่า พุทโธ พุทโธ นะพ่อ แกก็ด่าใส่ลูกเลย ด่าเสียงดังเสียด้วย ขนาดจะตายแล้วนะ ด่าว่า ไอ้พวกเวร กูจะตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้วพวกมึงยังมาพุทโธ่ พุทโธ่ ใส่กูอีก ลูกก็บอกไม่ใช่พุทโธ่ พุทโธต่างหากล่ะพ่อ ไหนว่าซิ พุทโธ พุทโธ แกก็ไม่รู้เรื่อง ว่าไม่ได้ เพราะไม่เคยฝึก ก็เลยหลงตาย”

         “แสดงว่าตอนแกตาย แกโกรธลูกด้วยใช่ไหมจ๊ะ”

         “โกรธน่ะซี เมื่อโกรธ จิตก็เศร้าหมอง พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หมาย

            อีกรายนึงก็ยายอ่อน รายนี้งมหอยขาย พวกหอยโข่ง หอยขม หอยกาบ อะไรพวกนี้ วัน ๆ แกงมได้เป็นกระแต๋ง ๆ พอจะตายก็เกิดนิมิตเห็นหอยมาลอยตรงหน้าเต็มไปหมด ลูก ๆ ก็บอกแม่พนมมือว่า อะระหัง อะระหัง ยายอ่อนก็ว่า อะระหอย อะระหอย ไม่เป็นอะระหัง เพราะไม่เคยฝึก ท่องอะระหอย ๆ จนขาดใจ” ท่านยกตัวอย่างที่เคยพบมา

         “แล้วที่ตายแบบไม่หลงมีไหมจ๊ะ” ว่าที่หลานสะใภ้ถามอีก

         “มี ยายจันทร์ไง รายนี้มาเข้ากรรมฐานตอนแก่ ลูกหลานพามาเข้าเพราะเริ่มจะหลง สติสตังไม่ค่อยดี แต่ไม่ได้แปลว่าบ้านะ เพราะคนบ้ามาเข้ากรรมฐานไม่ได้ คือยายจันทร์แกขี้หลงขี้ลืม อายุหกสิบกว่า ๆ ก็หลงแล้ว ลูกเต้าเขาก็ให้แกเฝ้าบ้านเลี้ยงหลาน ตักน้ำ ผ่าฟืนไปตามเรื่อง แกแก่แต่ยังแข็งแรง วันหนึ่งแกจะเดินไปหยิบดุ้นฟืนมาก่อไฟต้มข้าวให้หมากิน ไปเห็นหมานอนหลับอยู่ แกก็ไปคว้าเอาขามันเข้า มันตกใจตื่นเลยกัดเอา แกก็อุทานว่า เฮ้อ กุนี่มันแย่จริง ๆ ดูซิอจะไปหยิบดุ้น หมาดันไปคว้าเอาขาฟืน  นี่ขนาดบ่นก็ยังบ่นผิด ๆ ถูก ๆ ลูกเขาก็พามาขอกรรมฐานกับข้า ข้าก็แนะแนวไปให้แกกลับไปทำที่บ้าน แกไม่ยอมมาค้างวัด กลับไปได้สักสามวันแกก็มาอีก บอกเอากรรมฐานมาคืน ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีเวลา ลูกหลานมันกวน ข้าก็บอกให้แล้วไม่รับคืน ก็เลยสอนแกไปว่าเวลาทำอะไรให้ท่องให้กำหนดทุกอย่าง เช่นจะเดินไปหยิบฟืนก็เดินท่องไปว่า หยิบฟืน หยิบฟืน จะได้ไม่ไปคว้าเอาขาหมา สอนจนแก่เข้าใจดี แล้วก็กลับไปปฏิบัติที่บ้าน ไม่ช้ายายจันทร์ก็หายจากโรคหลง ๆ ลืม ๆ เพราะสติดีขี้น”

         เดี๋ยวนี้แกยังอยู่หรือเปล่าครับ หลวงน้า” หลานขายถามขึ้น

         “เข้าเมรุไปแล้ว น่าเสียดายวันที่แกตายนั้นอายุครบแปดสิบพอดี ลูกหลานเขารายงานว่า ตั้งแต่ปฏิบัติกรรมฐาน แกสติดีมาก ไม่หลง ๆ สืม ๆ เหมือนแต่ก่อน จะกินจะถ่ายก็เรียบร้อย คนแก่บางคนใช้ไม่ได้เลย ทั้งกินทั้งถ่ายเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด แบบนี้ลูกหหลานเขาก็เบื่อ ไม่อยากเลี้ยง แต่คนที่มาเจริญสติปัฏฐาน ลูกหลานเขาไม่รำคาญ เพราะเลี้ยงง่าย ไม่เลอะเลือนเลื่อนเปื้อน นี่ประโยขน์ของการมาเข้ากรรมฐานอยู่ตรงนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามาเข้าเจ็ดวันแล้วทิ้งเลยไม่เอากลับไปปฏิบัติที่บ้าน อย่างนี้ก็ไม่ได้ผล”

         “ถ้าอย่างนั้นฉันขออยู่เข้ากรรมฐานเลยนะพี่จ่อย พี่ช่วยกลับไปเอาเสื้อผ้ามาให้ฉันด้วยก็แล้วกัน เอ...แต่ฉันไม่มีชุดขาวนี่หลวงน้า” นางสาวจุกเกิดศรัทธา ขณะเดียวกันก็กังวลเรื่องเสื้อผ้า

         “เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง มีญาติโยมเขาใจบุญบริจาคให้วัดเอาไว้เป็นของกลาง ใครไปใครมาก็เบิกไปใส่ได้ แล้วซักมาคืน ถ้าเอ็งจะอยู่ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น ว่าแต่เอ็งจะอยู่พร้อมกันเลยไหมเล่า” ท่านถามหลานชาย นายจ่อยพลอยเกิดศรัทธาตามคนเป็นคู่หมั้น จึงตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องไป ๆ มา ๆ” เห็นคนทั้งสองมีศรัทธาปสาทะเช่นนั้น ท่านพระครูก็พอใจ จึงพูดให้กำลังใจว่า

         “ดีแล้ว เอ็งสองคนเริ่มต้นเดินในทางที่ถูกต้องแล้ว ทางนี้เป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ถ้าเอ็งไม่เปลี่ยนทิศทางเดิน สักวันหนึ่งก็จะถึงจุดหมายจนได้ ไม่ถึงชาตินี้ก็ต้องเป็นชาติหน้า ถ้าชาติหน้ายังไม่ถึงก็จะต้องถึงในชาติต่อ ๆ ไป ขอให้มีความเพียร อย่าท้อถอยเสียก่อนก็แล้วกัน”

         “แล้วเรื่องแต่งงานผม หลวงน้าไม่ลืมนา” นายจ่อยยังห่วงเรื่องทางโลก

         “รับรอง ข้าจะช่วยจัดการให้เรียบร้อย เอาละ เดี๋ยวข้าจะให้สมชายพาจุกมันไปฝากที่สำนักชี ส่วนเอ็งไปอยู่กับพระบัวเฮียว ประเดี๋ยวจะให้สมชายพาไป รอให้จัดการเรื่องคู่หมั้นเอ็งเสร็จก่อน” แล้วท่านพระครูจึงเรียกนายสมชายมาสั่งการ จากนั้นจึงขึ้นไปเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐานยังชั้นบนของกุฏิ

 

มีต่อ........13

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:30:04 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00013
 

๑๓...

               “หลวงพี่บวชถึง ๑๐ พรรษาหรือยังครับ” นายจ่อยถามพระบัวเฮียว หลังจากลูกศิษย์วัดกลับไปแล้ว

            “อาตมาบวชครบเดือนเมื่อวานนี้เอง” หลวงพี่ตอบ รู้ว่าชายผู้นี้เป็นหลานพระครู เห็นจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ อย่างน้อยก็เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ท่านพระครูมีต่อท่าน

            “จริงหรือครับ ผมนึกว่าหลวงพี่บวชมาไม่ต่ำกว่า ๑๐ พรรษาเสียอีก” นายจ่อยคิดว่าอายุของหลวงพี่รูปนี้คงประมาณสัก ๔๐ หรือกว่านั้น

            “อาตมาดูแก่มากขนาดนั้นเชียวหรือ” ท่านถาม

            “ไม่แก่หรอกครับ” ผมว่าหลวงพี่ดูเหมือนคนสักสามสิบหกสามสิบเจ็ด” พูดหมายเอาใจหลวงพี่ หากฝ่ายนั้นกลับโวยวายว่า

            “เห็นไหม ในที่สุดคุณก็ว่าอาตมาแก่จริง ๆ นั่นแหละ มีอย่างหรืออาตมาเพิ่งอายุยี่สิบหก กลับมาว่าแก่กว่าอายุตั้งสิบปี” พูดอย่างน้อยใจ

            “จริงหรือครับ ถ้างั้นหลวงพี่ก็แก่กว่าผมปีเดียวเอง แหม ผมนึกว่าหลวงพี่อายุสี่สิบเสียอีก ว่าแต่ว่าพหลวงพี่จำไม่ผิดนะครับ หรือว่าโยมแม่เขาไปแจ้งเกิดตอนหลวงพี่สิบขวบ” นายจ่อยไม่วายกังขา

            “พูดยังงั้นมันไม่สวยนาคุณนาอยู่ดีไม่ว่าดี มาเที่ยวค่อนแคะคนอื่นเขา ไม่เคยมีใครว่าอาตมาอย่างนี้นอกจากคุณ” พระบัวเฮียวออกโกรธ ๆ นายจ่อยเห็นท่าไม่ดีจึงรีบแก้ว่า

            “ใจเย็น ๆ ซิครับหลวงพี่ ผมล้อเล่นเท่านั้นเอง ก็หลวงพี่ดูสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใสผิดกับพระทั่ว ๆ ไปที่ผมเคยรู้จัก ผมก็เลยนึกว่าหลวงพี่แก่พรรษา พวกพระแถวบ้านผมเสียอีกยังไม่ได้เรื่อง”

            “ไม่ได้เรื่องยังไง” พระบัวเฮียวอารมณ์ดีขึ้นนิดหนึ่ง

            “ก็ไม่น่าเลื่อมใสเหมือนอย่างหลวงพี่น่ะซีครับ เป็นต้นว่าไม่สำรวมกิริยา จะเดินจะเหินก็ว่ากันเสียจีวรปลิว แถมตอนเย็น ๆ ก็ถกเขมรเตะตะกร้อกันเป็นที่ครื้นเครง ยิ่งองค์ที่ชื่อหลวงตาทองยิ่งหนักกว่าเพื่อนเมาเช้าเมาเย็น เดินโซซัดโซเซไม่ตรงทางเหมือนคนอื่นเขา”

            “แล้วสมภารเขาไม่เข้มงวดเอาหรือ”

            “สมภารน่ะตัวร้าย ไม่เคยอยู่วัดหรอกครับ ชาวบ้านเขาลือกันว่าแกไปอยู่กับเมีย วันโกนกันพระถึงกลับวัด” นายจ่อยอ้าง “ชาวบ้าน”

            “เป็นพระมีเมียได้หรือ” หลวงพี่ค้านด้วยไม่เคยฟังเรื่องนี้มาก่อน

            “พระแท้น่ะมีไม่ได้แน่ แต่นี่มันพระปลอมน่ะครับ พวกมาอาศัยผ้าเหลืองหากิน อย่างหลวงตาทองนี่แกติดเหล้ามาก่อน ที่มาบวชก็เพื่อจะให้เลิกเหล้า แต่ก็เลิกไม่ได้ ส่วนสมภารนั่น ผมก็ไม่ได้ใส่ร้ายแกหรอก เคยมีชาวบ้านเขาแอบไปดูที่บ้านเมียแก ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ” นายจ่อยไม่ได้บอกว่าตัวเขาก็ไปดูกับ “ชาวบ้าน” ด้วย

            “แล้วทำไมเขาไม่จับสึกเสียล่ะ” แบบนี้เสียชื่อเสียงวัด แล้วก็ยังทำให้พระศาสนามัวหมอง” พระบัวเฮียวรู้สึกไม่สบายใจที่ได้ยินได้ฟัง

            “เรื่องมันยาวครับหลวงพี่ คือ สมภารแกเป็นคนมีอิทธิพล นัยว่าก่อนบวชเคยเป็นนักเลงมาก่อน พอชาวบ้านเขาจะเอาเรื่อง แกก็ใช้วิธีเชือดไก่ให้ลิงดู คืออยู่ ๆ กรรมการวัดคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีก็ถูกฆ่าตาย เขารู้กันทั้งบางว่าสมภารเป็นผู้บงการ แต่ไม่มีใครกล้าฟ้องร้อง เรื่องก็เลยเงียบไป”

            “แบบนี้ก็แย่น่ะซี” คนฟังรู้สึกเศร้าสลดในหัวใจยิ่งนัก

            “แย่หรือไม่แย่พวกชาวบ้านเขาก็ประท้วงด้วยการเลิกทำบุญตักบาตรก็ในเมื่อพระทำตัวไม่ดี คนก็หมดความเลื่อมใส”

            “ผมว่าทำอย่างนั้นก็ไม่ถูก การที่เราเห็นพระไม่ดีเพียงบางส่วน แล้วจะมาเหมาเอาว่าพระเป็นอย่างนั้นทั้งหมดมันก็ไม่ยุติธรรมกับพระ เพราะพระดี ๆ ยังมีอีกมาก อีกประการหนึ่ง การเลิกทำบุญทำทาน ก็เป็นการตัดทางกุศลของตัวเอง”

            “หมายความว่าอย่างไรครับ”

            “ก็หมายความว่า เมื่อเราเลิกทำบุญ ก็เป็นการตัดโอกาสทางสวรรค์ ตัดโอกาสการสร้างสมบารมี เช่น ทานบารมี เป็นต้น คุณต้องเข้าใจนะว่า พระก็คือคนนั่นแหละ แล้วคนก็มีทั้งคนดีและคนชั่ว เมื่อคนมาบวชพระ ก็เลยมีทั้งพระดีและพระชั่ว แต่ถึงเราจะทำบุญกับพระชั่ว ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องชั่วตามท่านไปด้วย”

            “อ้าว ถ้าอย่างนั้น สมมุติว่าผมทำบุญกับหลวงตาทองยี่สิบบาท แล้วแกเอาเงินนั้นไปซื้อเหล้ากัน ในฐานะที่ผมเป็นเจ้าของเงิน ผมไม่บาปหรือไง” นายจ่อยค้าน

            “นั่นแสดงว่าคุณเข้าใจผิด การทำบุญนั้น ไม่ว่าจะทำกับใคร ถ้าเราทำด้วยบริสุทธิ์ใจ และของทำบุญนั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เราก็ได้บุญแล้ว สมมุติว่ามีพระรูปหนึ่งมาบอกบุญว่าจะเอาเงินไปสร้างโบสถ์ คุณเชื่อ จึงทำบุญไปยี่สิบบาทด้วยความเต็มใจ เมื่อคุณทำ คุณก็ได้บุญทันทีนั่นคือคุณเกิดปีติ อิ่มเอิบใจว่าได้ทำบุญ ทีนี้ถ้าพระรูปนั้นเองเงินไปซื้อเหล้ากิน ท่านก็บาปเอง โดยที่บาปนั้นไม่มาถึงคุณแน่นอน เพราะคุณไม่รู้เห็นเป็นใจกับท่าน แต่ถ้าท่านนำไปสร้างโบสถ์จริง คุณก็ได้บุญสองต่อ เพราะฉะนั้นการทำบุญทำเมื่อไหร่ก็ได้บุญเมื่อนั้น สุดแต่ว่าจะได้มากได้น้อย และที่สำคัญคือ การทำบุญเป็นการสืบต่อพระศาสนา เพราะถ้าคนพากันคิดเหมือนกันหมดว่า เมื่อพระทำตัวไม่ดีเขาก็เลิกทำบุญ ต่อไปพระศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ จริงไหม” หลวงพี่อธิบายเสียยืดยาว ชั่วเวลาเพียงเดือนเดียวของการบวช ท่านหูตากว้างขึ้น สามารถเข้าใจอะไร ๆ ได้ลึกซึ้งกว่าแต่ก่อน

            “คงจะจริงอย่างที่หลวงพี่ว่า คนที่มาบวชเป็นพระ บางคนเขาก็ไม่ได้ตั้งใจบวช คือไม่ได้มาบวชเพื่อละกิเลส แต่บวชด้วยเหตุผลอื่น บางคนลูกเกเรไม่เอาถ่านก็จับบวช บางคนไปปล้นไปฆ่าเขามา ก็มาอาศัยผ้าเหลืองหลบภัย วัดก็เลยกลายเป็นที่รวมของคนชั่ว แม้แต่หมาแมวที่ไม่ดีคนเขาก็เอามาปล่อยวัด ก็ต้องรับกรรมกันไป” นายจ่อยพูดปลง ๆ

            “แต่ถึงจะเป็นคนชั่วมาก่อน ถ้าบวชแล้วกลับตัวกลับใจได้ ก็นับเป็นวาสนาของเขา” พระบัวเฮียวอดนึกไปถึงของตัวท่านเองไม่ได้

            “ครับ มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เป็นต้นว่าสิ่งแวดล้อม หรือโชควาสนาของคน ๆ นั้น”

            “ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าได้ครูบาอาจารย์ดี ก็มีโอกาสจะเปลี่ยนนิสัยได้ อย่างอาตมานี่ ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็ใช่ว่าเป็นคนดิบคนดีมาก่อน ครูดีที่วัดนี้ หลวงพ่อท่านเคร่งครัดมาก พระรูปใดทำตัวไม่ดี ท่านก็นิมนต์ไปอยู่วัดอื่น”

            “เอ...หลวงพี่บอกว่าเพิ่งบวชได้เดือนเดียว แสดงว่าหลวงพี่บวชในพรรษาใช่ไหมครับ โชคดีจังที่หลวงน้ายอมให้บวช ถ้าเป็นวัดอื่นเขาต้องรอให้ออกพรรษาเสียก่อน”

            “ใช่ ท่านพระครูท่านเมตตาอาตมามากทีเดียว ท่านบอกว่าจะบวชในพรรษาหรือนอกพรรษาไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ว่า บวชแล้วตั้งใจปฏิบัติหรือเปล่า ท่านบอกคนที่บวชหลายพรรษาแต่ไม่ปฏิบัติ ก็ยังสู้พวกมาเข้ากรรมฐานแค่เจ็ดวันไม่ได้”

            “ถึงว่าซี หลวงน้าถึงอยากให้ผมกับคู่หมั้นอยู่เข้ากรรมฐาน ฟังหลวงพี่พูดอย่างนี้แล้วผมก็สบายใจ เวลาถูกคนอื่นค่อนแคะว่าเป็นคนดิบ ผมจะได้อธิบายให้เขาฟังได้”

            “เป็นยังไง คนดิบ” หลวงพี่ไม่เข้าใจ

            “คนดิบ ก็คือ คนไม่ได้บวชได้เรียนไงครับ อย่างผมความจริงก็บวชเณรมาตั้งหลายพรรษา แต่ไม่ได้บวชพระ คนเขาก็เลยชอบมาเปรียบเปรยถากถางว่าเป็นคนดิบ ยังกะพวกคนสุกมันดีกันนัก หลวงพี่รู้ไหม บางคนบวชกันที ก็ฆ่าวัวฆ่าหมู จัดงานเลี้ยงกันใหญ่โต ร่ำสุรายาเมากันเปรอะไปหมด เผลอ ๆ คนเป็นนาคก็เอากับเขาด้วย ตอนนั่งทำขวัญนาค ก็สัปหงกเพราะความเมา บวชได้สิบห้าวันก็สึกออกมาแล้ว แบบนี้จะว่าได้บุญหรือก็เปล่า ไอ้ที่ฆ่าวัวฆ่าหมู ก็ต้องไปตกนรกใช้กรรมอีก” ผู้พูดไม่ทันสังเกตว่าผู้ฟังหน้าถอดสี เมื่อได้ยินข้อความว่า “ไอ้ที่ฆ่าวัวฆ่าหมู ก็ต้องไปตกนรกกันอีก”

         “ตอนอาตมาบวช ไม่ได้ฆ่าวัวฆ่าหมูอย่างที่คุณว่า หลวงพ่อท่านไม่ทำอะไรยุ่งยากอย่างนั้น” พระบัวเฮียวร้อนตัว

            “หลวงน้าท่านเป็นคนตรง แล้วก็เจ้าระเบียบ อย่างเวลามีงานบวช ท่านไม่อนุญาตให้แห่สิงโตหรือกลองยาว เพราะเสียงมันจะไปรบกวนคนที่เขากำลังปฏิบัติกรรมฐาน ท่านบอกว่าการทำอย่างนั้นไม่ได้บุญ แล้วยังสิ้นเปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ผมเคยไปงานบวชเพื่อนที่วัดวัดนึง ชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว”

            “ชื่อวัดหรือชื่อเพื่อนที่ว่าจำไม่ได้น่ะ”

            “ชื่อวัดซีครับ ส่วนชื่อเพื่อนผมจำแม่นมาก เพราะมันชื่อเดียวกับผม”

            “แล้วเป็นยังไง งานบวชเพื่อนคุณ”

            “ทุเรศที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา คือมันเมากันเละเลย ตอนแห่นาครอบโบสถ์ก็พากันรำแอ่นหน้าแอ่นหลัง ทั้งผู้หญิงผู้ชาย แถมทิ้งขวดเหล้าขวดเบียร์ไว้เกลื่อนกลาดตามกำแพงโบสถ์บ้าง ตามพื้นบ้าง ถ้าเป็นที่วัดป่ามะม่วงหลวงน้าเอาตายแน่เลย” นายจ่อยเล่าฉอด ๆ

            อาตมาว่าเป็นเพราะเขาเข้าใจไม่ถูกต้อง คิดว่าทำอย่างนั้นจะได้บุญ ที่จริงชาวพุทธเรายังเข้าใจศาสนาผิด ๆ กันอีกมาก อาตมาเองก็เพิ่งมาเข้าใจถูกต้องเอาเมื่อบวชนี่แหละ”

            “ผมว่าเขาทำตามประเพณีมากกว่า คือทำตาม ๆ กันมา จนกลายเป็นประเพณี หลวงพี่เห็นด้วยไหมครับว่าประเพณีบางอย่างมันก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการทำตามประเพณีจึงไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป”

            “อันนี้เห็นจะจริง อาตมาก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลาย ๆ อย่างของชาวพุทธซึ่งเขาอ้างว่าทำตามประเพณี เป็นต้นว่า ไปทำบุญ แต่ดื่มเหล้า อย่างงานผ้าป่า งานกฐิน ซึ่งเป็นงานบุญก็พากันดื่มเสียเมาแอ๋ เมื่อเมาก็ขาดสติ แล้วมันจะไปได้บุญยังไง ก่อนถวายผ้ากฐิน พระท่านก็ให้รับศีล ก็รับกันไปงั้น ๆ พอออกจากวัด ก็ร่ำสุรากันโดยไม่เกรงใจศีลที่รับจากพระมากหยก ๆ อย่างนี้อาตมาว่า ขาดทุนนะ โบราณท่านถึงสอบไว้ว่า ...ถ้าคิดจะทำบาปแลกบุญ มักขาดทุนอยู่ร่ำไป...”

            “นั่นซีครับ อย่างเรื่องบวชก็เหมือนกัน สมมุติตอนบวช เขาต้องฆ่าหมูฆ่าวัวเพื่อนำมาเลี้ยงพระเลี้ยงคน พอสึกออกมา ปรากฏว่าบาปกับบุญที่ได้ มันไม่สมดุลกัน บาปมากกว่าก็ต้องไปตกนรก” นายจ่อยย้อนมาพูดเรื่องปาณาติบาต ทำให้พระบัวเฮียวใจหดหู่อีกครั้ง แม้คนพูดจะไม่ล่วงรู้การกระทำแต่หนหลังของท่าน แต่ตัวท่านรู้ และรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งเมื่อถูกสะกิด ขึ้นชื่อว่าบาป หากใครทำเข้าก็ต้องพกพามันติดตัวติดใจไปทุกแห่งหน ดุจเงาติดตามตัวฉะนั้น พระบัวเฮียวกำลังเสวยผลของบาป!

            “คุณบวชเณรอยู่นานไหม” ถามเพื่อต้องการเปลี่ยนเรื่อง ไม่อยากได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง

            “ห้าพรรษาครับ ตั้งแต่อายุสิบปีถึงสิบห้าปี”

            “อยู่กับหลวงพ่อมาตลอดเลยหรือ”

            “ครับ”

            “งั้นก็ได้วิชาดี ๆ จากหลวงพ่อไว้มากน่ะซี เห็นมหาบุญเล่าให้อาตมาฟังว่า หลวงพ่อท่านเก่งทางคุณไสยด้วย

            “จริงครับ แต่ท่านไม่ให้ใครหรอก ท่านว่าวิชาพวกนี้ไม่มีประโยชน์ ช่วยให้พ้นทุกข์ไม่ได้ ถึงท่านจะเก่งทางคุณไสย แต่หลังจากที่ธุดงค์ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อในป่าแล้ว ท่านก็ทิ้งไสยศาสตร์หมด ใครขอเรียน ท่านก็ไม่สอนให้ ท่านว่ามันเป็นเดรัจฉานวิชา ได้ไปแล้วก็รังแต่จะก่อเวรก่อกรรมกันมากขึ้น”

            “แปลว่า ท่านไม่เคยนำวิชาเหล่านี้มาใช้เลย”

            “ก็ใช้บ้างเหมือนกัน คือใช้เท่าที่จำเป็น ทว่าไม่สอนให้ใคร ท่านจะสอนคนอื่นก็เฉพาะวิชากรรมฐานเท่านั้น ท่านว่า นี่เป็นของจริง ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ส่วนไสยศาสตร์เป็นของปลอม แต่ท่านก็เคยเอามาใช้บ่อย เป็นต้นว่า เวลาคนถูกผีเข้า ท่านก็มีคาถาไล่ผี ผมเคยไปกับท่านบ่อย ๆ บางทีคนเขามาตามตอนตีหนึ่งตีสอง บอกเมียถูกผีเข้า หลวงพ่อก็ให้ผมไปด้วย ท่านไล่ผีเก่งจริง ๆ นอกจากนี้ ท่านยังมีคาถาออกลูกง่าย ท่านก็เอาผลมะตูมเสกให้กิน กินปุ๊บเด็กออกมาปั๊บ ราวกับปาฏิหาริย์”

            “แล้วเนื้อคู่ล่ะ ท่านดูเนื้อคู่แม่นไหม” อยากให้นายจ่อยตอบว่าไม่แม่น เผื่อจะมีความหวังได้พบเนื้อคู่กับเขาบ้าง หากนายจ่อยกลับตอบชัดเจนว่า

            “แม่นที่สุดในโลก แม่นพันเปอร์เซ็นต์เลย ดูอย่างเรื่องของผมก็แล้วกัน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาเป็นคู่รักกับอีจุก เอ๊ยจุกเขา แต่ก็ต้องเป็น เพราะความดูแม่นของหลวงน้า หลวงพี่ฟังไหมครับ ถ้าไม่ฟังผลจะได้ไม่เล่า”

            “เล่าไปซี อาตมากำลังฟัง”

            “แต่ถ้าหลวงพี่ไม่อยากฟัง” ผมไม่เล่าก็ได้นะครับ” คนเล่าทำเล่นตัว

            “อยากฟังนะซี” พระบัวเฮียวยืนยัน

            “เรื่องมันเป็นอย่างนี้” นายจ่อยเริ่มต้นเล่าอย่างตั้งอกตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบ คนฟังจึงขัดขึ้นว่า

            “เทข้าวทิ้งน้ำก็เป็นอาบัติน่ะซิ มันผิดวินัยข้อไม่เคารพบิณฑบาต” หลวงพี่อ้างพระวินัย

            “หลวงน้าท่านบอกว่า มันอยู่ที่เจตนา เราไม่ได้เททิ้งเทขว้าง แต่เราเจตนาจะเลี้ยงปลา ปลาชุมมากเลยหลวงพี่ เทไปแป๊บเดียว ปลามันฮุบกินหมดเลย มันพากันมาเป็นฝูง ๆ”

            “แต่ก็น่าเห็นใจท่านนะ ท่านเป็นคนสะอาดสะอ้าน เป็นอาตมา อาตมาก็ฉันไม่ลงเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่คนสะอาดสักเท่าไหร่ แต่จะให้ฉันข้าวผสมน้ำมูก ไม่ไหวแน่”

            “นั่นซิครับ พูดก็พูดเถอะหลวงพี่ เมื่อก่อนนี้ผมเกลียดจุกมาก ๆ เลยโกรธหลวงน้าอยู่หลายวัน นึกว่าท่านแกล้ง ผมบอกยกให้หลวงน้าก็แล้วกัน ผมไม่เอาหรอก”

            “แล้วตอนนี้ยังคิดจะยกเขาให้หลวงพ่ออยู่อีกหรือเปล่า” พระบัวเฮียวแกล้งถาม นายจ่อยหัวเราะแหะแหะก่อนตอบว่า “เป็นตายยังไงก็ไม่ยอม ใครจะมาแย่งจุกไปจากผม ก็ต้องข้ามศพกันไปก่อนละ หลวงพี่ไม่รู้อะไร จุกตอนเด็กกับตอนนี้น่ะ ดูผิดกันราวฟ้ากับดิน ตอนเด็กดูสกปรกขี้มูกมาก แต่ตอนนี้สะอาดสะอ้านแล้วก็สวยยังกะนางฟ้า เดี๋ยวหลวงพี่ก็จะได้เห็น เขาจะมาขึ้นกรรมฐานพร้อมผม หลวงน้าสั่งไว้ว่า ให้ไปขึ้นกรรมฐานตอนหกโมงเย็น เสร็จแล้วให้ผมมาปฏิบัติกับหลวงพี่ที่กุฏิ ส่วนเขาไปปฏิบัติกับแม่ชี”

            “ก็ดีสิ อาตมาจะดูว่า ระหว่างคู่รักของคุณกับคู่รักของหลวงพ่อ ใครจะสวยกว่ากัน” พระบัวเฮียวเผลอพูดในสิ่งที่เป็นความลับ ความจริงท่านยังไม่เคยเห็นคนที่เป็นคู่รักของหลวงพ่อเมื่อชาติที่แล้ว แต่ก็คิดว่า วันหนึ่งจะต้องได้เห็น เพราะท่านพระครูบอกว่า เขาจะมาช่วยสร้างหอระฆังถวาย

         “หลวงพี่หมายความว่ายังไง หลวงน้าน่ะหรือมีคู่รัก ไม่น่าเป็นไปได้ ผมอยู่กับท่านมาห้าปี ยังไม่เคยได้ยินข่าว หรือว่าท่านเพิ่งมามีเอาตอนหลัง” นายจ่อยซัก

         “อาตมาเผลอไป คุณอย่าไปถามท่านนะ ไม่งั้นผมตายแน่ ๆ”

         “ก็ได้ แต่หลวงพี่ต้องเล่าให้ผมฟัง”

         “อาตมารับปากกับท่านแล้วว่าจะไม่เล่าให้ใครฟัง อย่าให้ต้องเสียคำพูดเลยนะ” พระบัวเฮียววิงวอน

         “งั้นหลวงพี่ก็เลือกเอาก็แล้วกัน ว่าจะให้ผมไปถามหลวงน้า หรือว่าจะเล่าให้ผมฟัง” คนถือไพ่เหนือกว่ายื่นข้อเสนอ

         “นี่อาตมาไม่มีทางเลือกอื่นเลยหรือไง” หลวงพี่ถามเชิงต่อรอง

         “ไม่มีครับ” นายจ่อยตอบเสียงหนักแน่น พระบัวเฮียวยกมือทั้งสองประนมไว้หว่างอก แล้วพูดด้วยเสียงที่นายจ่อยได้ยินชัดเจนว่า “หลวงพ่อครับ ผมขออภัยที่ต้องผิดสัญญา ขอให้บาปกรรมในครั้งนี้ จงตกอยู่ที่นายจ่อยแต่เพียงผู้เดียว”

         “อ้าว ไหงเป็นยังงั้นล่ะหลวงพี่” นายจ่อยโวยวาย

         “ก็อาตมาบอกแล้วว่า มันเป็นความลับ ในเมื่อคุณอยากรู้ ก็ต้องรับเอาบาปไปด้วย อยากมาคาดคั้นอาตมาทำไม”

         “หลวงพี่นะหลวงพี่ บอกตรง ๆ ว่า ในชีวิตผม ยังไม่เคยเห็นใครฉลาดเท่าหลวงน้า เพิ่งมาเจอหลวงพี่นี่แหละ ที่แม้จะฉลาดน้อยกว่าหลวงน้านิดนึง แต่ก็ต้องนับว่าเป็นคนฉลาดอย่างหาตัวจับยาก” พระบัวเฮียวฟังแล้วก็ไม่กล้าดีใจ เพราะไม่รู้ว่านายจ่อยพูดติหรือชมท่านกันแน่ ครั้นจะถามออกไปตรง ๆ ก็เกรงจะเสียเหลี่ยม จึงนั่งเฉยอยู่

         “นิมนต์เล่าได้แล้วครับ” นายจ่อยเตือน

         “ไม่เล่าแล้ว อาตมาไม่อยากให้คุณบาป” หลวงพี่เปลี่ยนใจไม่เล่า

         “งั้นผมไปถามหลวงน้าก็ได้” นายจ่อยขู่ หากไม่ได้ผล เพราะพระบัวเฮียวกลับยุส่ง

         “ไปเลย รีบไปเสียเร็ว ๆ เดี๋ยวท่านขึ้นไปเขียนหนังสือแล้วจะต้องรอนาน ไปสิ” นายจ่อยถึงกับอึ้ง ไม่นึกไม่คิดว่า ท่านจะมาไม้นี้ แต่สมองอันเฉียบไวก็สั่งปากว่า

         “ผมนึกออกแล้ว ที่หลวงพี่ไม่เล่า ก็เพราะมันเป็นเรื่องไม่จริงใช่ไหม หลวงพี่ไม่กล้าเล่าเรื่องไม่จริงใช่ไหม ที่แท้หลวงพี่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าผม แต่แกล้งทำเป็นรู้” คิดว่าคราวนี้คงจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจนมุมได้ หากก็ผิดหวัง เมื่อหลวงพี่พูดว่า

         “อาตมาจะดีใจ ถ้าคุณคิดอย่างนั้นจริง ๆ ว่าแต่ว่า คุณอยู่กับหลวงพ่อมานาน เคยเห็นผู้หญิงสวย ๆ มาหาท่านบ้างไหม” ท่านหมายถึงสตรีที่ท่านพระครูเคยเล่าให้ฟัง แต่นายจ่อยไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน จึงตอบไปตามที่ตนมีประสบการณ์ว่า

         “หลายคนเชียวแหละหลวงพี่ ทั้งสาวแก่แม่หม้าย ตั้งแต่สวยหยาดเยิ้มไปจนถึงผีหลงหลุม”

         “เป็นยังไงที่ว่าผีหลงหลุมนะ” คนฟังไม่เข้าใจ

         “อ้าว...ก๊อขี้เหร่เหมือนกับผีหลงหลุมน่ะซี แต่เชื่อไหม หลวงน้าไม่สนใครสักคน บางทีท่านก็ว่าให้ด้วยซ้ำ อย่างคนนึงเป็นด็อกเตอร์สวยด้วย มาหาท่านบ้อยบ่อย ถามโน่นถามนี่ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะ แล้วก็แต่งตัวชะเวิกชะวาก ก้มทีงี้ แหม! อย่าให้พูดดีกว่า” นายจ่อยยังจำภาพด็อกเตอร์สาวผู้นั้นได้ติดตา

         “แหม! ถ้าอาตมาเป็นหลวงพ่อคงตบะแตกแน่เลย”

         “แต่ถ้าหลวงพี่เห็นจริง ๆ ผมว่าคงไม่พูดยังงี้หรอก มันทุเรศมากกว่า ผมยังนึกทุเรศไม่หาย คนอะไรก็ไม่รู้มีความรู้ซะเปล่า แต่ไม่มีหัวคิด”

         “แล้วท่านพระครูท่านว่าอย่างไรบ้าง ที่เขาทำอย่างนั้น”

         “ตอนแรกท่านก็สอนทางอ้อมว่าคนที่จะมาวัดมาว่า ควรจะแต่ตัวให้เรียบร้อย แต่ยายคนนั้นแกไม่เข้าใจ เพราะวันหลัง ๆ แกก็แต่งแบบนี้มาอีก ท่านก็เลยว่าเอาตรง ๆ ท่านพูดว่า “นายจ่อยเลียนเสียงและท่าทางของท่านพระครู

         “นี่โยม อาตมารู้นะว่าโยมคิดยังไงกับอาตมา แต่โยมสิไม่ยอมรับรู้ว่าอาตมาคิดยังไงกับโยม ถ้าอาตมาคิดจะสึก ก็คงสึกไปเสียนานแล้ว เพราะคู่รักของอาตมาสวยกว่าโยมหลายเท่านัก ทั้งสวยทั้งดี อาตมายังไม่หวั่นไหว แล้วทำไมจะต้องมาสนใจคนอย่างโยม ผู้ซึ่งหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ น่าเสียดายที่เป็นถึงด็อกเตอร์ ทำอะไรไม่สมกับภูมิรู้ของตัวเลย”

         “ทำไมคุณจำแม่นจัง แน่ใจนะว่าไม่ได้เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมา” พระบัวเฮียวถือโอกาสขัดคอ

         “รับรองว่าไม่ได้แต่งได้เติมอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวผมจะบอกว่าทำไมถึงจำได้” นายจ่อยยืนยันหนักแน่น

         “แล้วผู้หญิงคนนั้นว่ายังไง”

         “จะว่ายังไง้ ก๊อสะบัดก้นลุกหนีไปเลย ตั้งแต่นั้นก็ไม่มาอีก”

         “ถ้ามาอีก ก็อายยางมะตูมยางมะตอยแย่นะซี”

            “แหม...หลวงพี่นี่ปากไม่เบาเหมือนกันนะ ให้ตายซิ”

         “อ้าว...จะรีบตายไปทำไมล่ะ ยังหนุ่มยังแน่นอยู่เลย” คนเป็นพระแกล้งว่า หากคนเป็นฆราวาสกลับเฉยเสีย

         “หลวงพี่ว่าพวกผู้หญิงที่ชอบสึกพระนี่ ตกนรกไหมครับ” นายจ่อยถามความเห็น

         “มันก็พูดยากนาคุณนา แต่บาปนะบาปแน่ ส่วนจะถึงขั้นตกนรกหรือเปล่า อาตมาเองก็ไม่แน่ใจ ให้แน่ต้องถามหลวงพ่อ ว่าแต่ว่า รายอื่นมีอีกหรือเปล่า หรือว่ามีรายด็อกเตอร์รายเดียว”

         “มีอีกหลายรายเชียวครับ ที่ผมจำคำพูดของหลวงน้าได้ก็เพราะเหตุนี้แปละ คือต้องฟังหลวงน้าพูดอย่างนี้บ่อย ๆ”

         “แสดงว่า หลวงพ่อเนื้อหมอมากเชียว สาว ๆ ถึงได้มารุมตอม”

            “ก็ท่านรูปหล่อนี่ครับ ตอนที่ท่านหนุ่ม ๆ น่ะ สมบัติ เมทะนีงี้ชิดซ้ายเลยละ” นายจ่อยอวดอ้างคุณสมบัติหลวงน้า

         “งั้นเชียวเหรอ เอ...แต่อาตมาว่าสมบัติหล่อกว่านะ” หลวงพี่แย้ง นายจ่อยจึงรีบแก้ว่า

            “นั่นเพราะหลวงน้าท่านฉันยาลดความหล่อมากไปหน่อย”

         “อะไรกัน ยาลดความหล่อก็มีด้วย มันเป็นยังไงนะ ไอ้เจ้ายาขนาดนี้” พระบัวเฮียวรู้สึกสนใจ

         “ขอที ขอที อย่างหลวงพี่อย่าฉันเลยครับยาขนานนี้ ขนาดยังไม่ฉันผมก็ว่า....”

         “ว่ายังไง เอาอีกแล้วนะ เมื่อกี้ว่าแก่ คราวนี้มาว่าอาตมาไม่หล่ออีก ประเดี๋ยวก็ลาออกจากตำแหน่งพี่เลี้ยงของคุณเสียหรอก” ท่านขู่

         “ใจเย็น ๆ น่าหลวงพี่ ผมพูดเล่นก็เอาเป็นจริงไปได้ ถ้าอย่างหลวงพี่ยังไม่เรียกว่ารูปหล่อแล้ว ใคร้จะมาหล่อ”

         “คุณก็พูดไปเรื่อย ระวังบาปจะกินหัวเอานาคุณนา” หลวงพี่เตือน “ว่าแต่ว่า หลวงพ่อท่านฉันยาลดความหล่อจริง ๆ หรือ” พระบัวเฮียวยังติดใจเรื่องยา

         “จะจริงหรือไม่จริง อันนั้นผมไม่รู้ แต่ท่านเคยปรารภกับผมบ่อย ๆ ว่า “นายจ่อยทำเลียนเสียงท่านพระครู “จ่อยเอ๊ย หลวงน้าเห็นท่าจะต้องกินยาลดความหล่อเสียแล้วละ ไม่งั้นก็ต้องสู้รบตบมือกับพวกมารพรหมจรรย์อยู่บ่อย ๆ ความหล่อนี่มันเป็นมารพรหมจรรย์พอ ๆ กับความสวย นั่นแหละ”

            “อ้าว...หลวงพี่ไม่เข้าใจ ก็พระหล่อ ๆ น่ะ ถูกผู้หญิงสึกมาเสียมากต่อมาก หลวงน้าถึงว่าพวกผู้หญิงสวยหนึ่ง พระรูปหล่อหนึ่ง เหล่านี้เป็นศัตรูของพรหมจรรย์ พระบางองค์เป็นถึงท่านเจ้าคุณ ยังถูกผู้หญิงสึกเอาไปเป็นผัวเลย”

         “อย่างอาตมานี่จะมีใครมาสึกบ้างไหม” พระหนุ่มยังหวังว่าจะมีโอกาสออกไปใช้ชีวิตคู่ “เมินเสียเถอะ ชาตินี้ไม่มีหวัง”  นายจ่อยเกือบจะโพล่งออกไปอย่างนี้ หากก็ยั้งปากไว้ทัน จึงพูดเสียใหม่ว่า “อยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว เรื่องอะไรจะต้องไปรบกับพวกมาร หลวงน้าท่านว่าผู้หญิงน่ะเป็นมารพรหมจรรย์อันดับหนึ่ง”

         “แล้วมารอันดับสองล่ะ”

         “อันดับสองได้แก่ ลาภ สักการะ สองอย่างนี้ ทำเอาพระเสียพระมานักต่อนักแล้ว

         “ก็ในเมื่อผู้หญิงเป็นมาร แล้วทำไมคุณถึงไปรักโยมจุกล่ะ นั่นเขาเป็นผู้หญิงไม่ใช่หรือ” พระบัวเฮียวแกล้งยั่ว

         “หลวงน้าสอนว่า...มารไม่มี บารมีไม่เกิด...ผมอยากสร้างบารมีครับ” นายจ่อยตอบเสียงดังฟังชัด

 

มีต่อ........๑๔

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:30:53 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๑๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00014

 

๑๔...

          พระบัวเฮียวกับนายจ่อยมาถึงกุฏิท่านพระครูก่อนเวลาสิบแปดนาฬิกาเล็กน้อย นางสาวจุกเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียนรออยู่แล้ว หล่อนมากับแม่ชีวัยกลางคน ซึ่งนายจ่อยไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน แม่ชีก้มลงกราบพระบัวเฮียวสามครั้ง และนางสาวจุกก็ทำตาม
                “จุกมารอที่นี่นานแล้วหรือ” นายจ่อยถามคู่หมั้น หล่อนดูแปลกตาเมื่ออยู่ในชุดแม่ชี แม้จะไม่ได้โกนผม

          “ก่อนหน้าพี่จ่อยนิดเดียวเองจ้ะ” หญิงสาวตอบ พระบัวเฮียวดูคู่หมั้นของนายจ่อย ตั้งข้อสังเกตว่าปากของหล่อนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ ไม่ยักกะเป็นสีแดงเหมือนปากโยมผ่องพรรณกับโยมวรรณวิไล สามเมืองกรุงกับสาวบ้านนอกคงจะต่างกันตรงสีของปากนี่เอง แต่ถึงอย่างไรคุณโยมสองพี่น้องก็สวยกว่า ท่านคิดเองสรุปเองเสร็จสรรพ

          “หลวงพี่อย่ามองคู่หมั้นผมนานนักซี หึงนะ” นายจ้อยเย้า

          “อ้าว...คู่หมั้นคุณหรอกหรือ ก็ไม่แนะนำแล้วอาตมาจะไปรู้ได้ยังไง” พระบัวเฮียวเย้าบ้าง

          “ก็ใครจะไปทราบได้ล่ะครับว่าหลวงพี่ไม่รู้ หลวงพี่ฉลาดปราดเปรื่องออกจะตายไป ไม่น่ามาตกม้าตายตอนจบเล้ย” นายจ่อยเปรียบเทียบไปคนละเรื่อง

          “อ้าว นี่จะจบแล้วหรือ ก็ยังไม่ทันได้ออกแขก ไหงจะลาโลงเสียแล้ว” พระบัวเฮียวอุตส่าห์โต้ตอบให้เข้าเรื่อง นางสาวจุกมองหน้าคู่หมั้นที มองหน้าพระที ออกสงสัยว่าเขากำลังพูดเรื่องอะไรกัน นึกได้ว่ายังไม่ได้ให้นายจ่อยรู้จักแม่ชี จึงพูดขึ้นว่า “พี่จ่อยจ๊ะ นี่แม่ชีเจียนที่หลวงน้าให้ฉันไปอยู่ด้วย เป็นหัวหน้าสำนักชีของวัดนี้” นายจ่อยยกมือไหว้ พลางออกปากฝากฝัง “ผมขอฝากคู่หมั้นด้วยนะครับ”

          “ไม่ต้องห่วงหรอกจ้ะ สมชายเขาบอกฉันแล้วว่าหนูจุกเขาเป็นคู่หมั้นของหลานชายหลวงพ่อ” แม่ชีเรียกท่านพระครูว่า “หลวงพ่อ” เช่นเดียวกับที่คนอื่น ๆ เรียก แม้เธอจะแก่กว่าท่านหลายปีก็ตาม

“แม่ชีมาอยู่วัดนี้นานแล้วหรือครับ” นายจ่อยถาม

          สมัยที่เขาเป็นเณรอยู่ที่วัดนี้ยังไม่มีชีอยู่ในวัด

          “เข้าปีที่หกแล้วจ้ะ ฉันมาจากวัดบ้านใต้โน่น” พูดพลางชี้มือไปทางทิศใต้ของวัด

          “แล้วทำไมย้ายวัดเสียล่ะครับ”

          “โอ๊ย ไม่ย้ายยังไงไหว ทั้งพระทั้งเณรขาดระเบียบวินัย ศีลขาด ศีลพร่องจนแทบไม่มีเหลือ ข้างฝ่ายพวกชีด้วยกันก็อิจฉาตาร้อน ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่เว้นแต่ละวัน หาความสงบไม่ได้” แม่ชีเล่า นายจ่อยแอบคิดในใจว่า “เอาอีกแล้ว รายการตำหนิพระอีกแล้ว เฮ้อ ไม่เข้าใจเลยว่าพระสมัยนี้ ท่านคิดยังไงกันถึงได้ทำให้คนเขาว่าอยู่เรื่อย”

            “ฉันก็เลยมาขอหลวงพ่ออยู่วัดนี้ พาเพื่อนชีมาด้วยอีกสามคน หลวงพ่อท่านให้พวกฉันอยู่บนศาลา สองปีต่อมาท่านถึงสร้างสำนักชีให้ ก็ค่อยเป็นสัดเป็นส่วนหน่อย ตอนนี้มีแม่ชีอยู่ราว ๆ สามสิบคน” แม่ชีชี้แจง

          “แล้วเป็นไง พระวัดนี้ดีหมดทุกรูปไหม” นายจ่อยตั้งใจ “จับผิด” พระวัดนี้ โดยเฉพาะองค์ที่ชื่อ “บัวเฮียว”

          “ถ้าหลวงพ่อละก็ดีไม่มีที่ติ แต่รูปอื่น ๆ ฉันไม่รับประกัน” แม่ชีแบ่งรับแบ่งสู้

          “โยม อาตมาก็ไม่เคยทำเสียหายอะไรนะโยม” พระบัวเฮียวร้อนตัว

          “ก็ดีแล้วนี่คะ จะได้อยู่ไปนาน ๆ ขืนทำเสียหายมีหวังถูกสั่งย้ายวัด” แม่ชีพูดตรงไปตรงมา พระใหม่เลยนิ่ง

          ท่านพระครูลงมาเวลาสิบแปดนาฬิกาตรง ทุกคนที่นั่ง ณ ที่นั้นต่างพากันทำความเคารพ ยิงมิทันที่ท่านจะได้พูดจาทักทายผู้ใด อาคันตุกะสามคน เป็นสตรีสอง บุรุษหนึ่งก็พากันคลานเข้ามา ท่าคลานของคนอายุน้อยที่สุดนั้นดูตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเนื่องจากเจ้าตัวน้ำหนักมาก หล่อนกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วบอกบุรุษกับสตรีสูงอายุที่มาด้วยว่า

          “เตี่ยจ๊ะ แม่จ๊ะ นี่ท่านพระครูไงกราบท่านเสียซิ” บิดามารดาทำตามคำสั่งของบุตรสาว แล้วสตรีผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นว่า

          “หลวงพ่อจำหนูได้หรือเปล่าคะ” หล่อนแทนตัวเองว่า “หนู” ทั้งที่อายุอานามแก่กว่าท่านพระครูถึงสามปี

          “จำได้สิ คุณนายดวงสุด ท่านผู้ว่าไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านถามถึงสามีของคุณนายซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

          “ไม่ได้มาค่ะ หนูมาจากท่าพระไปรับเตี่ยกับแม่มาเข้ากรรมฐาน เตี่ยชื่อเส็งค่ะ คนเขาเรียกกันว่า เถ้าแก่เส็ง ส่วนแม่ชื่อกิมง้อ” หล่อนแนะนำ

          “ดีจริง อุตส่าห์พาพ่อแม่มาสร้างกุศล ลูกดี ๆ อย่างนี้หายากนะเถ้าแก่นะ” ท่านพูดกับเถ้าแก่เส็ง ฝ่ายนั้นยิ้มพลางพยักหน้ารับ

          “แล้วคุณนายจะให้พ่อแม่อยู่กี่วันละ” ท่านถาม

          “เจ็ดวันค่ะ หรือเตี่ยกับแม่ว่าไง” หล่อนถามความเป็นจากบิดามารดา

          “ตามใจลื้อ ลื้อจาให้เตี่ยอยู่กี่วังก็แล้วแต่ลื้อ” ถ้าแก่เส็งตอบ เขาไม่เคยขัดใจบุตรสาว ไม่ว่าหล่อนจะให้ทำอะไร เขาทำได้ทั้งนั้น ก็มีลูกสาวอยู่คนเดียว อุตส่าห์ทะนุถนอมมาตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น แล้วหล่อนก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่ต้องผิดหวัง ความรู้ก็จบถึงมหาวิทยาลัย ฐานะก็เป็นถึงคุณนายผู้ว่าราชการจังหวัด และที่สำคัญที่สุดก็คือ หล่อนมีหลานชายหัวแก้วหัวแหวนให้เขาถึงสี่คน คนโตเรียนหมอใกล้จบแล้ว

          “งั้นก็ลองดูสักเจ็ดวันก่อน ถ้าชอบค่อยอยู่ต่อ” ลูกสาวสรุป

          “เมื่อไหร่คุณนายจะมาเข้าบ้างล่ะ” ท่านพระครูถาม คุณนายดวงสุดามาที่วัดนี้บ่อย มาทำบุญบ้าง ฟังเทศน์บ้าง แต่ยังไม่เคยเข้ากรรมฐาน

          “หนูยังไม่ว่างเลยค่ะหลวงพ่อ เดี๋ยวก็ต้องเตรียมจัดงาน หาเงินช่วยกาชาด เอาไว้ให้คุณเอี่ยมปลดเกษียณแล้วค่อยพากันมาเข้า” หล่อนหมายถึงสามีซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

          “อาตมาว่ามันจะไม่ยังงั้นน่ะซี พอถึงเวลานั้นเข้าจริง ๆ ก็จะมาบอกว่าต้องเลี้ยงหลาน มีหลายรายเชียวที่อาตมาชวนแล้วมาไม่ได้ เช่นอ้างว่าลูกยังไม่โต พอลูกโตก็มาไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงหลาน พอหลานโตยังไม่ทันได้เลี้ยงเหลน ก็กลับบ้านเก่าเสียแล้ว เลยไม่ได้บุญกุศลติดตัวไป อาตมากลัวว่าคุณนายจะเป็นเหมือนเขาน่ะสิ”

          “ไม่เหมือนค่ะ ไม่เหมือนแน่ ๆ หนูกับคุณเอี่ยมสัญญากันไว้แล้วค่ะ ว่าจะไม่ยอมเลี้ยงหลานเด็ดขาด ลูกใครใครก็เลี้ยงกันเอาเอง”

          “อ้อ คุณนายเลี้ยงลูกเองว่างั้นเถอะ” คราวนี้คุณนายยิ้มเขิน ๆ กล่าวแก้ว่า

          “ก็เตี่ยกับแม่เขาเห่อหลาน ไม่ยอมให้หนูเลี้ยงสักคน เขาคงสงสารหนู สงสารหลานที่ต้องระหกระเหินย้ายตามคุณเอี่ยมไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ก็เลยเหมาไปเลี้ยงให้ทั้งหมด”

            “ฉันเลี้ยงลูกคนเดียวมันไม่ทันเบื่อ ก็เลยเลี้ยงหลานเสียเบื่อเลยค่ะ” คุณกิมง้อพูดบ้าง เธอพูดไทยชัดกว่าผู้เป็นสามี เพราะเพื่อนฝูงของเธอเป็นคนไทยเสียเป็นส่วนใหญ่

          “ประเดี๋ยวมีหลานของลูกมาให้เลี้ยง ก็หายเบื่อมั้ง” ท่านพระครูหมายจะลองใจ

          “ไม่หายค่ะหลวงพ่อ ฉันสัญญากับเตี่ยหนูดวงไว้แล้วว่า ออกจากวัดไป เราจะปฏิบัติกรรมฐานกันทุกวัน งานการก็เลิกทำ เราสบายแล้ว เก็บหอมรอมริบไว้มากพอสมควร ในชัยชราก็จะหาบุญหากุศลใส่ตัวไปเป็นเสบียงในชาติหน้า ที่ฉันได้ดิบได้ดีในชาตินี้ก็คงจะเพราะทำบุญมาดี ก็ต้องทำดีต่อ ๆ ไป อีกเป็นการเติมเสบียงเข้าไว้” คุณกิมง้อจาระไน

          “แหม แจ๋วจริง ๆ ความคิดของอาม้านี่แจ๋ว ๆ” ท่านพระครูชมเปาะ ท่านมักเรียกสตรีที่อายุแก่กว่าท่านว่า “อาม้า”

          “นาน ๆ อาตมาถึงจะเจอคนแบบนี้สักคน ที่เห็น ๆ น่ะ ประเภทไม่ยอมละไม่ยอมวางแทบทั้งนั้น เมื่อวานมาหาอาตมาคนนึง หน้าตาเศร้าหมองมาเชียว ถูกเมียยักยอกเครื่องเพชรหนีตามหนุ่มไป ก็จะไม่ให้หนียังไงเล้า ตัวเองอายุเจ็ดสิบ เมียเพิ่งจะยี่สิบแปด อาตมาเคยเตือนแล้วเขาไม่เชื่อ มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม เอาละ ไหน ๆ ก็พูดมาแล้ว ก็จะเล่าให้ฟังเสียเลย ฟังไว้เป็นอุทาหรณ์นะ” แล้วท่านก็ออกตัวว่า “นี่อาตมาไม่ได้เอาเขามานินทานะ เพราะไม่ได้ออกชื่อออกเสียง ที่เล่าเพราะอยากให้เอาไปคิดเป็นการบ้านว่ากรรมดี กรรมชั่วมันมีจริง ๆ” ท่านหยุดทบทวนเรื่องราวประเดี๋ยวหนึ่งแล้วจึงเริ่มต้นเล่า

          “คนนี้เขาเป็นนายพล จะเป็นพลโทหรือพลเอก อาตมาก็จำไม่ได้เสียแล้ว เขาเคยมาหาอาตมาครั้งแรกเมื่ออายุ  ๕๘ ก็สิบสองปีมาแล้วมาถึงก็บอก “หลวงพ่อ ผมจะแต่งงานอีกได้ไหม” อาตมาก็ถามว่า “ตอนนี้ท่านอายุเท่าไรล่ะ”

          “ห้าสิบแปด”

          “แล้วเจ้าสาวล่ะ”

          “สิบหก เขาสวย เป็นลูกสาวจ่าลูกน้องผมเอง พ่อแม่เขาก็ยินดียกให้” นายพลเขาเล่าให้อาตมาฟังอย่างนี้ อาตมาก็ตั้งสติกำหนด “เห็นหนอ” ก็เห็นหมด เห็นอะไรรู้ไหม ท่านถามพระบัวเฮียว

          “เห็นกฎแห่งกรรมใช่ไหมครับ” พระบัวเฮียวตอบแบบย้อนถามอีกทีหนึ่ง

          “ถูกแล้ว อาตมาก็ได้ทราบว่า ท่านนายพลผู้นี้มีอกุศลกรรมติดมาแต่ชาติก่อน โดยเฉพาะเรื่องผิดศีลข้อกาเม จำไว้นะ คนที่ผิดศีลห้าน่ะ ต้องรับกรรมทุกคน คือถ้าผิดศีลมาจากชาติก่อน ชาตินี้ต้องมารับกรรม อาตมาวิจัยมาแล้ว ถูกต้องแน่นอนไม่มีผิดพลาดเลย เป็นต้นว่าคนที่มีปาณาติบาตติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์จากชาติก่อน มาชาตินี้ต้องอายุสั้น ถึงจะเกิดมาสวยมารวยยังไงก็จะอยู่ได้ไม่นาน จะต้องตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึงครึ่งคน พวกที่อทินนาทานติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ มีทรัพย์สินเงินทองจะต้องถูกเขาลักขโมย บางที่ก็ถูกปล้น เรียกว่าทรัพย์อยู่กับตัวไม่ได้ มันร้อน เพราะเคยไปลักขโมยของคนอื่นเขามา พวกที่กาเมสุมิจฉาจารติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ จะมีเมีย มีผัว ต้องเป็นของคนอื่นเขาหมด คือมีเมีย เมียก็มีชู้ มีผัว ผัวก็มีเมียน้อย”

          “มีเมียน้อยก็ดีนี่ครับหลวงพ่อ ผมว่าดีกว่ามีเมียมาก” พระบัวเฮียวอดขัดคอไม่ได้ ท่านพระครูจึงแก้ว่า

          “มีเมียน้อยในที่นี้แปลว่ามีเมียมาก”

          “แล้วมีเมียมากในที่นี้จะแปลว่าอะไรล่ะครับ”

            “อ้าว ก็แปลว่ามีเมียน้อยน่ะซี ทำฉลาดน้อยไปได้” คราวนี้พระหนุ่มจึงสงบปากสงบคำลงได้ ท่านพระครูจึงเล่าต่อ

          “ส่วนคนที่มีมุสาวาทติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ มักถูกเขาหลอก แล้วพูดจาอะไรก็มักไม่มีคนเชื่อถือถ้อยคำ สำหรับข้อสุดท้าย อันนี้สำคัญมาก เพราะกรรมมันตกทอดไปถึงลูก “คือคนที่ผิดศีลข้อห้า ถ้าติดมาหกสิบเปอร์เซ็นต์ รับรองได้ว่า มีลูกกี่คน ๆ ปัญญาอ่อนหมด ถ้าไม่ถึงกับปัญญาอ่อนก็ไม่ฉลาด เรียนไม่ถึงขั้นปริญญา นี่อาตมาวิจัยมาหมดแล้ว ทีนี้มาต่อเรื่องนายพล อาตมาก็เห็นว่า....”

          “ขอประทานโทษเถอะค่ะหลวงพ่อ หนูยังไม่เข้าใจเรื่องศีลข้อสุดท้าย ว่าทำไมกรรมจะต้องตกมาถึงลูก ก็แปลว่าทำกรรมแทนกันได้น่ะซีคะ” คุณนายดวงสุดาถามขึ้น

          “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกคุณนาย เราทำกรรมแทนกันไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของกรรมจัดสรร คือคนที่จะเกิดมาปัญญาอ่อนนั้น ก็เพราะตัวเขาทำกรรมมาเอง ไม่ใช่พ่อแม่ทำให้ แต่กรรมมันจัดสรรให้ไปเกิดกับคนที่ผิดศีลข้อห้า มันก็เลยดูเหมือนว่าทำกรรมแทนกัน แต่ที่จริงไม่ใช่ กรรมมันเพียงแต่ไปจัดสรรให้ไปประจวบกันเข้าเท่านั้น พูดอย่างนี้คุณนายพอจะเข้าใจหรือยัง”

          “พอจะเข้าใจค่ะ นิมนต์หลวงพ่อเล่าเรื่องนายพลต่อเถิดค่ะ” คุณนายพูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์ท่านพระครูเล่าต่อ

          “อาตมาก็เห็นว่านายพลท่านผิดศีลข้อสามติดมาจากชาติก่อน มีเมียห้าคนก็หนีตามชู้หมด อาตมาก็แกล้งลองใจโดยถามว่า แล้วภรรยาท่านว่ายังไงล่ะ เขาจะยอมให้แต่งกับเด็กคราวลูกคราวหลานหรือไง” ท่านก็โกหกอาตมา บอกว่า ภรรยาหย่ากันแล้ว และก็บอกด้วยว่ามีภรรยาคนเดียว กำลังจะแต่งงานกับคนที่สองที่อายุสิบหกนี่ อาตมาเลยพูดตรง ๆ ว่าท่านมาโกหกเลย ภรรยาท่านหนีตามชู้ไปใช่ไหม ท่านมีภรรยามาแล้ว ๕ คน ล้วนแต่หนีตามชู้ไปหมด ต้องพูดความจริง อาตมาถึงจะคุยด้วย ถ้าโกหกก็เลิกพูดกัน

          ในที่สุด ท่านก็ยอมรับว่าใช่ แล้วก็ถามอาตมาว่ารู้เรื่องของท่านได้ยังไง ใครมาเล่าให้ฟัง อาตมาบอกไม่มีใครเล่าหรอก อาตมารู้เอง ท่านก็ศรัทธา ถามว่าอยากแต่งงานกับเด็กคนนี้ ขอให้อาตมาช่วยดูให้ด้วยว่าจะอยู่กันยืดไหม อาตมาก็บอกว่า อย่าแต่งเลย เพราะท่านมีกรรมข้อกาเมสุมิจฉาจาร ติดมา ถ้าแต่งก็ต้องเป็นเหมือนคนอื่น ๆ อีก ท่านก็บอกให้อาตมาช่วย อาตมาบอกไม่สามารถฝืนกฎแห่งกรรมได้ ก็ขอร้องให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจ ท่านก็ไม่เชื่อ ก็กลับไปแต่งงานจนได้

          แต่งงานได้สองปีก็เกษียณ ผู้หญิงก็มีชู้ ท่านก็ไม่โกรธ เพราะรู้ว่ามันเป็นกฎแห่งกรรม ผู้หญิงเขาก็ทนอยู่ด้วยเพราะอยากได้สมบัติ จะรอให้ผัวตายว่างั้นเถอะ อยู่มาสิบสองปีนายพลก็ยังไม่ตาย เขาก็เลยขนเครื่องเพชรและขอมีค่าอื่น ๆ หนีไปอยู่กับชู้เสียเลย นายพลก็เสียใจ นึกถึงอาตมาขึ้นมาได้ก็อุตส่าห์มาหา มาปรับทุกข์ แต่อาตมาก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก ชวนให้มาเข้ากรรมฐานก็ไม่ยอม นี่แหละฟังเอาไว้แล้วเก็บไปคิดเป็นการบ้าน” ฟังเรื่องของนายพลแล้ว ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้น ต่างพากันสลดใจ ขณะเดียวกันก็คิดว่าพวกตนโชคดีที่มีโอกาสมาเข้ากรรมฐาน

          “แล้วนี่คุณนายจะกลับหรือว่าจะค้างวัดซักคืนสองคืน” ท่านพระครูถามคุณนายดวงสุดา

          “กลับเลยค่ะ คนขับรถเขารออยู่ เดี๋ยวจะให้เขาขนเสื้อผ้าของเตี่ยกับแม่มาให้ หลวงพ่อจะให้พักที่ไหนคะ”

          “โยมผู้หญิงให้พักกับแม่ชี ส่วนโยมผู้ชายให้พักกุฏิพระบัวเฮียว คุณนายไม่ต้องห่วง อาตมาจะจัดการให้เรียบร้อย”

          เมื่อกี้หลวงพ่อเรียกพ่อแม่ของคุณนายว่า เถ้าแก่ กับอาม้า ไหงมาเปลี่ยนเป็นโยมผู้หญิงโยมผู้ชายเสียล่ะครับ” พระบัวเฮียวคิดจะถามท่านพระครูอย่างนี้ หากก็เกรงว่าจะถูกท่านย้อนให้ต้องอับอายขายหน้า จึงเพียงแค่คิดเท่านั้น

          คุณนายดวงสุดา หยิบซองสีขาวออกมาจากกระเป๋าเสื้อเพื่อถวายแด่ท่านพระครู

          “หนูขอถวายปัจจัยเป็นค่าอาหารเลี้ยงพระเณรและผู้มาเข้ากรรมฐานค่ะ” ท่านพระครูยื่นผ้ากราบออกไปรับประเคน คุณนายประเคนเสร็จจึงกราบสามครั้งพร้อมกล่าวลา

          ก่อนลุกออกไป ได้หันไปพูดกับบิดามารดาว่า “หนูไปละนะ ขอให้เตี่ยกับแม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ อย่าเกเรล่ะ แล้วก็อย่าลืมแผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญไปให้หนูด้วย” พระบัวเฮียวรู้สึกว่าคุณนายสอนพ่อแม่ราวกับสอนลูก เลยชักสงสัยว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ ใครเป็นลูกกันแน่ คุณนายลุกออกไปสักประเดี๋ยว คนขับรถก็นำกระเป๋าเสื้อผ้าสองใบมาส่งให้เถ้าแก่เส็งกับภรรยา แล้วจึงกลับออกไป

          ท่านพระครูให้สองสามีภรรยาขึ้นกรรมฐานพร้อมกับนายจ่อยและคู่หมั้น โดยีแม่ชีเจียนเป็นผู้กล่าวนำ ให้คนทั้งสี่กล่าวตาม ขึ้นกรรมฐานแล้ว ท่านพระครูจึงแนะแนวทางแก่คนทั้งสี่ว่า “ก่อนที่จะเริ่มต้นปฏิบัติ จำเป็นต้องรู้ปริยัติสักเล็กน้อยพอเป็นเค้า นั่นก็คือ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า จิต อารมณ์ และสติ เสียก่อน เพราะสามคำนี้มีความสำคัญมาก ไหนพระบัวเฮียวช่วยอธิบายหน่อยซิว่า จิตคืออะไร”

          “จิต คือ ธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ครับ” พระบวชใหม่ตอบ

          “แล้วอารมณ์คืออะไร แม่ชีเจียนช่วยอธิบายสู่กันฟังหน่อยเป็นไร” ท่านถามแม่ชีเป็นการทดสอบไปในตัว

          “อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวค่ะ” แม่ชีตอบ

          “ถูกแล้ว อารมณ์ในที่นี้จึงแตกต่างจากความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป เพราะหมายถึงอารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ โยมสองคนพอจะเข้าใจที่อาตมาพูดไหม”

          “ม่ายเข้าจาย” เถ้าแก่เส็งตอลพร้อมกับส่ายหน้า ส่วนคุณกิมง้อเพียงแต่ยิ้ม

          “ไม่เป็นไร ตอนนี้ยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ปฏิบัติมาก ๆ แล้วจะรู้ได้เอง” ท่านให้กำลังใจ รู้ว่าผู้มีอายุสองคนนี้ต้องทำได้ และจะก้าวหน้ากว่าคนหนุ่มสาวที่นั่งทำตาปริบ ๆ อยู่ต่อหน้าท่านเสียอีก

          “เอาละ เมื่อเข้าใจความหมายของจิตและอารมณ์แล้ว ทีนี้ก็มาทำความเข้าใจกับคำว่า สติ สติ แปลว่า ความระลึกรู้ สติทำหน้าที่ผู้จิตไว้กับอารมณ์ ในพระสูตรให้ความหมายของสติว่า เป็นเครื่องผูกจิต”

          “ทำไมถึงต้องผูกจิตไว้ล่ะจ๊ะหลวงน้า” นางสาวจุกถาม นายจ่อก็คิดจะถามแบบเดียวกันนี้ พอดีคู่หมั้นถามขึ้นก่อน

          “การที่ต้องผูกจิตก็เพราะจิตมันไม่อยู่นิ่ง มันซัดส่ายไปหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้อยู่ตลอดเวลา การจะฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียวจึงต้องเอาสติมาผูกมันไว้ เหมือนเวลาเราจะฝึกวัว เราก็ต้องใช้เชือกผูกวัวไว้กับหลักให้มั่นเสียก่อนจึงจะฝึกได้ สติจึงเปรียบเหมือนเชือก จิตก็คือวัว ส่วนอารมณ์ก็คือหลัก สติทำหน้าที่ผูกจิตไว้กับอารมณ์ ก็เหมือนเชือกทำหน้าที่ผูกวัวไว้กับหลัก ทีนี้พอจะเข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจครับหลวงน้า เข้าใจแจ่มแจ๋วเลย” คราวนี้คนเลี้ยงวัวรีบตอบ

          “โยมสองคนล่ะ พอจะเข้าใจที่อาตมาพูดบ้างไหม” ท่านถามบิดามารดาของคุณดวงสุดา

          “พอจะเข้าใจค่ะ” คุณกิมง้อตอบขณะที่เถ้าแก่เส็งพยักหน้า

          จากนั้นท่านเจ้าของกุฏิจึงขึ้นไปเขียนหนังสือต่อยังขั้นบนของกุฏิ แม่ชีเจียนพานางสาวจุกและคุณกิมง้อกลับไปฝึกเดินจงกรมที่สำนักชีซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังวัด

          ท่านพระครูเคยเล่าให้แม่ชีฟังว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้ ส่วนที่เรียกว่าหลังวัดเคยเป็นหน้าวัดมาก่อน เพราะการไปมาต้องอาศัยเรือมาขึ้นฝั่งที่หน้าวัด ต่อเมื่อมีการตัดถนนสายเอเชียผ่านด้านหลังวัด ผู้คนก็หันมาใช้ถนนแทนเรือ หลังวัดจึงกลายเป็นหน้าวัดไปโดยปริยาย

          พระบัวเฮียวสอนเดินจงกรมให้นายจ่อยและเถ้าแก่เส็งที่กุฏิท่านพระครูนั่นเอง เพราะกว้างขวางพอที่จะเดินได้ครั้งละหลาย ๆ คน ส่วนกุฏิที่ท่านอยู่นั้นมีเนื้อที่พอเดินได้เพียงคนเดียว คืนนี้ก็ต้องนอนกันถึงสามคน ก็คงจะอึดอัดอยู่สักหน่อย โชคยังดีที่เป็นหน้าหนาว ท่านพระครูท่านสั่งให้สมชายนำหมอนและผ้าห่มไปเพิ่มแล้ว

          สาธิตวิธีเดินจงกรมให้เป็นตัวอย่างแล้ว พระบัวเฮียวจึงให้คนทั้งสองลองเดิน เถ้าแก่เส็งตั้งอกตั้งใจเต็มที่และเดินได้ถูกต้องตามที่ครูสอน ส่วนนายจ่อยจับ ๆ จด ๆ สอนก็ยากจนครูออกจะหนักใจ ก็พอจะมองออกว่าอุปนิสัยไม่มาทางนี้

          “หลวงพ่อท่านสอนไว้ว่า การทำความดีต้องฝืนใจ อาตมารู้ว่าคุณไม่ชอบ แต่ในเมื่อคุณตั้งใจที่จะทำความดีแล้ว คุณก็ต้องฝืนความรู้สึกให้ได้” ท่านพูดเป็นงานเป็นการ เห็นท่านเอาจริง นายจ่อยชักกลัว อีกอย่างก็ชักจะรู้สึกอายคนแก่ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเดินอย่างขะมักเขม้น “เอาละวะไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ลองตั้งใจทำดูหน่อยเป็นไร คงไม่ถึงตายหรอกน่า” นายจ่อยให้กำลังใจตัวเอง แล้วก็เลยตั้งอกตั้งใจเดินเป็นอย่างดียิ่ง

 

มีต่อ........๑๕


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 08:31:34 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00015

 

๑๕...

          “หลวงพ่อครับ ผมมีข้อข้องใจสงสัยหลายอย่าง อยากจะเรียนถามแต่ก็เกรงว่าหลวงพ่อจะไม่ตอบ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ครั้นจะเก็บเอามาไว้มันก็ข้องใจอยู่นั่นแล้ว หลวงพ่อว่าผมควรจะทำอย่างไรดีครับ” เป็นคำถามค่อนข้างยาว ที่ท่านพระครูได้รับจากพระบัวเฮียวในเช้าวันนี้

          “เอาอย่างนี้ ไหนเธอตอบฉันมาก่อนซิว่า เธอจะถึงกับท้องแตกตายหรือเปล่า ถ้าหากว่าฉันไม่ตอบน่ะ” ท่านพระครูเปิดฉากกระแนะกระแหน พระบัวเฮียวใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ลองท่านตอบอย่างนี้ แสดงว่ากำลังอารมณ์ดี พระหนุ่มจึงตอบไปว่า

          “ก็ไม่แน่นะครับหลวงพ่อ ถ้าขืนเก็บไว้นาน ๆ ก็อาจจะต้องตายในลักษณะนั้น หลวงพ่อคงไม่อยากเห็นใช่ไหมครับ มันคงอุจาดตานาดูเชียวละ ผมเองก็ไม่อยากตายตั้งแต่อายุยังน้อย อีกอย่างนึงหลวงพ่อก็เป็นคนมีเมตตากรุณา ใคร ๆ ก็รู้ นึกว่าสงสารลูกนกลูกกา ช่วยตอบให้หายสงสัยหน่อยเถอะครับ แล้วผมจะไม่ลืมพระคุณหลวงพ่อเลย” พระบัวเฮียย “ร่ายยาว” จนท่านพระครูคร้านที่จะฟัง จึงออกปากอนุญาตว่า

          “เอาเถอะ ๆ ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้า เธออยากจะให้ฉันตอบเรื่องอะไรก็ถามมา ถ้าตอบได้ก็จะตอบ ตอบไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ว่าไง จะถามอะไรก็ถาม”

          “แหม! หลวงพ่อน่าจะรู้ว่าผมจะถามอะไร ทุกทีก็เห็นหลวงพ่อรู้ทำไมวันนี้เกิดไม่รู้เสียล่ะครับ” พระบัวเฮียวไม่วายกระเซ้า

          “ฉันจะรู้ก็ต่อเมื่ออยากจะรู้ แต่นี่ไม่อยากรู้ ก็เลยไม่รู้ อย่ามัวพูดมากประเดี๋ยวฉันก็ไม่เปิดโอกาสให้ถามเสียหรอก” ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงถือโอกาสเล่นตัว

          “ครับ ครับ ถาม ถาม” คนถามละล่ำละลัก ถ้วยเกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจไม่อนุญาต

          “คือว่า นายจ่อยเขามาเล่าให้ผมฟังเรื่องความประพฤติของพระ เขาว่าพระที่วัดแถวบ้านเขาทำตัวไม่เหมาะสม เป็นต้นว่า เสพสุรายาเมาบ้าง เสพเมถุนบ้าง บงการฆ่าคนบ้าง อย่างนี้มันก็ต้องอาบัติปาราชิกน่ะซีครับ พระแบบนี้มีอยู่จริงหรือครับหลวงพ่อ ผมว่านายจ่อยคงไม่พูดปดนะครับ”

          “ยิ่งกว่าที่เธอพูดมายังมีเลย บัวเฮียวเอ๋ย”

          “แล้วไม่ต้องอาบัติปาราชิกหรือครับ” ถามซ้ำ

          “มันจะไปอาบ่งอาบัติอะไร ในเมื่อคนพวกนี้ไม่ใช่พระ แต่เป็นพวก มารศาสนา”

            “ศาสนาน่ะไม่เสื่อมหรอก แต่คนเสื่อมจากศาสนา คือคนบางกลุ่มบางพวก เมื่อเห็นพระทำตัวไม่ดี ก็เลยไปโทษว่าศาสนาเสื่อม นี่คนด้อยปัญญาจะคิดอย่างนี้ เพราะขาดโยนิโสมนสิการ”

          “ขาดอะไรนะครับ” พระบัวเฮียวรู้สึกไม่คุ้นหูกับ “ศัพท์ใหม่” ที่ท่านพระครูใช้

          “ขาดโยนิโสมนสิการ คือไม่รู้จักคิด ไม่มองสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา เลยทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ โยนิโสมนสิการมีความสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และเป็นต้นทางของความดีทั้งปวง คนที่มีโยนิโสมนสิการเขาจะแยกแยะได้ว่า ใครเป็นพระ ใครเป็นมารศาสนา เพราะฉะนั้นถึงเขาจะเห็นพระทำตัวไม่ดี เขาก็จะไม่เสื่อมจากศาสนา เพราะเขารู้ว่านั้นคือมาร ไม่ใช่พระ”

          “หมายความว่าคนที่ขาดโยนิโสมนสิการ เป็นคนโง่ใช่ไหมครับ”

          จะว่าโง่ก็ไม่เชิงหรอกนะ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เรียกว่าเป็นคนมีปัญญา แต่เป็นปัญญาทางโลก เธอคอยดูไปก็แล้วกัน อีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า พวกมารศาสนาจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วคนฉลาดบางพวกก็จะไปฝักใฝ่กับพวกนี้ ประชาชนทั้งหลาย ก็จะเกิดความสับสนทางความคิด ไม่รู้แน่ว่า อันไหนผิดอันไหนถูก เพราะนอกจากจะประพฤติวิปริตผิดวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว พวกมารศาสนาเหล่านี้ยังพยายามจ้วงจาบบิดเบือนพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย คนก็จะพากันเสื่อมจากศาสนา นับว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก”

            “แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรครับ”

          “อะไรนะ เธอพูดว่า “เรา” งั้นหรือ เราแก้ไขไม่ได้หรอกบัวเฮียวเอ๋ย อย่าว่าแต่เราซึ่งเป็นเพียงหยดน้ำหนึ่งในมหาสมุทรเลย คนที่เขามีอำนาจวาสนา มีบารมีมากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่า ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ มันต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม” ท่านพระครูพูดปลง ๆ

          “หลวงพ่อครับ ผมชักงง ๆ แล้วนะครับ”

          “งงเรื่องอะไรอีกละ รู้สึกจะงงบ่อยเหลือเกินนะ”

            “ก็เรื่องกรรมน่ะครับ ประเดี๋ยวหลวงพ่อก็สอนว่า ไม่ควรปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามกรรม ประเดี๋ยวก็บอกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกรรม จะไม่ให้ผมงงยังไงไหว” พระหนุ่มชี้แจง

          “ก็ไม่เห็นจะต้องงงเลย ฉันเคยบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือว่า เรื่องของกรรมมันสลับซับซ้อน ยากที่คนธรรมดาจะรู้จะเข้าใจได้ มันเป็นอจินไตย”

          “อะไรไตนะครับ” พระบัวเฮียวมีอันต้องงงหนักขึ้น

          “อจินไตย เธอไม่เคยได้ยินหรอกหรือ ฉันจำได้ว่าเคยอธิบายให้เธอฟังมาครั้งหนึ่งแล้ว เอ! ก็เป็นคนช่างจำไหงลืมเสียได้ล่ะ” ท่านตำหนิกราย ๆ

          “ครับ แต่ก่อนผมช่างจำ แต่เมื่อมาเจออะไร ๆ ที่ทำให้งงอยู่เรื่อย ความจำมันก็เลยเสื่อม หลวงพ่อกรุณาขยายความอีกสักครั้งเถิดครับ” ท่านพระครูนิ่ง ตามองไปที่ตู้พระคัมภีร์ พูดว่า

          “ฟังอย่างเดียวมันจำยาก ต้องให้เห็นด้วย นั่นไงอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ นั่น ไปเปิดดูเสีย” พระใหม่จึงต้องลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระคัมภีร์หาอยู่นานกว่าจะได้เล่มที่ต้องการ ได้คัมภีร์แล้วจึงกลับมานั่งที่เดิม

          “อยู่หน้าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามเพราะใช้ไม่เป็น

          “หน้าโง่มั้ง” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย

          “โธ่หลวงพ่อก็ ถามดี ๆ ต้องด่ากันด้วย”

          “ใครว่าด่า คนดี ๆ อย่างเธอใครเขาจะด่า”

          “แหม! หลวงพ่อนี่เข้าใจ ใช้ได้ ใช้ได้” พูดพลางพยักหน้าหงึก ๆ

          “เข้าใจอะไร” คราวนี้ท่านพระครูเป็นฝ่ายงงบ้าง

          “ก็เข้าใจตบหัวแล้วลูบหลังน่ะซีครับ มีอย่างที่ไหน ด่าว่าผมโง่อยู่หยก ๆ ก็มาชมว่าผมดีอีกแล้ว อย่างนี้ไม่เรียกว่าตบหัวแล้วลูกหลัง จะให้เรียกว่าอะไร”

          “โง่แต่ดี กับฉลาดแต่เลว เธอจะเลือกอย่างไหนล่ะ”

          “เอาดีด้วยฉลาดด้วยครับ” ตอบเสียงหนักแน่น

          “อันนั้นมันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข ฉันให้เธอเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง ว่าไงจะเอาอย่างไหน”

          “งั้นก็เอาโง่แต่ดีแล้วกันครับ ผมไม่อยากฉลาดแล้วตกนรก แล้วหลวงพ่อล่ะครับจะเลือกอย่างไหน” พระหนุ่มเป็นฝ่ายถามบ้าง

          “สำหรับฉันไม่ว่าจะเลือกอย่างไหน มันก็เป็นไปไม่ได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉันอยู่นอกเงื่อนไขที่ว่านี้”

          “แปลว่า หลวงพ่อหลุดพ้นแล้วใช่ไหมครับ พ้นจากนรกสวรรค์ พ้นจากความดีความชั่ว” พระบัวเฮียวถือโอกาสสรุป

          “ไหนเธอจะดูเรื่องอจินไตยไม่ใช่หรือ ดูที่สารบัญเรื่องอจินติสูตรก่อนว่าอยู่หน้าที่เท่าไร แล้วช่วยอ่านให้ฉันฟังด้วย” ท่านพระครูพูดตัดบทด้วยไม่ต้องการ “อวดอุตริมนุสสธรรม” เพราะการกระทำเช่นนั้น จะต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือถ้าอวดอุตริมนุสสธรรมที่มีในตน ก็จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ก็จะต้องอาบัติปาราชิก ท่านจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเช่นนี้ ด้วยมันเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง พระบัวเฮียวไม่ต่อล้อต่อเถียง ตั้งหน้าตั้งตาหา “อจินติสูตร” จากสารบัญ พบแล้วจึงเปิดไปหน้านั้น อ่านให้ท่านพระครูฟังว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน อจิตไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน....

          “ไง ยังสงสัยเรื่องกรรมอยู่อีกหรือเปล่า” ท่านพระครูถาม เมื่อพระบัวเฮียวอ่านจบ

          “ไม่สงสัยแล้วครับ ไม่อยากคิดด้วย ผมกลัวเป็นบ้า กลัวเดือดร้อนครับ” พระบัวเฮียวตอบจริงจัง

          “ดีแล้ว คิดอย่างนั้นได้ก็ดีจะได้สบายใจ แต่เธอเชื่อเถอะ ใครทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น เราไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจัยแต่ประการใด พวกมารศาสนาเหล่านี้ในที่สุดก็ต้องรับกรรมที่ตนกระทำ กรรมมันมีผล มีวิบาก ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม”

          “หลวงพ่อครับ ผมสังสัยอีกนิดหนึ่ง ทำไมในคัมภีร์เขาถึงกล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าไม่ได้มีพระองค์เดียวหรือครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “มีหลายพระองค์ ในกัปป์หนึ่ง ๆ ก็จะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ อย่างกัปป์ที่เราอยู่นี้เรียกว่า ภัทรกัปป์ มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๕ พระองค์ พระพุทธเจ้าของเราเป็นพระองค์ที่ ๔ ท่านพระครูอธิบาย

          “แล้วอีก ๔ พระองค์มีพระนามว่าอะไรบ้างครับ”

          “อันนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจ คือมันเป็นเรื่องเหลือวิสัยที่ฉันจะรู้ได้ แต่เท่าที่ฉันรู้ พระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในภัทรกัปป์มี พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระสมณโคดม ส่วนองค์สุดท้ายคือ พระศรีอาริยเมตตไตรย”

          “ที่เรียกว่าพระศรีอาริย์ใช่ไหมครับ”

          “นั่นแหละ ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เขาเชื่อว่าพระพุทธศาสนาคือ ศาสนาของพระสมณโคดมนั้นจะมีอายุห้าพันปี ต่อจากนั้นก็จะเป็นศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย นี่เราก็ผ่านมาถึง ๒๕๑๖ ปีแล้ว ก็เหลืออีกสองพันสี่ร้อยกว่าปีก็สิ้นอายุ กล่าวกันว่า ยิ่งใกล้จะถึงห้าพันปี คนก็ยิ่งเสื่อมจากศาสนาลงไปเรื่อย ๆ และพวกมารศาสนาก็จะทวีจำนวนมากขึ้น”

          “หลวงพ่อครับ แล้วระยะเวลา ๑ กัปป์ นานแค่ไหนครับ”

            “เขาว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ท่านอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาหินล้วน กว้างยาวสูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป แต่กัปป์หนึ่งก็ยังยาวนานกว่านั้นอีก”

          “ช่างยาวนานจนดูเหมือนว่าไม่มีวันสิ้นสุดเลยนะครับ ถ้าอย่างนั้นการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ก็เบื่อกันแย่ซีครับ”

          “นั้นซี ฉันถึงได้พยายามที่จะตัดออกจากวัฏสงสารให้ได้ ถึงเธอเองก็เหมือนกัน”

          “วัฏสงสารนี่มันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ครับ”

          “ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และมันก็ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดลงได้ ตราบใดที่สัตว์โลกยังทำกรรมกันอยู่”

          “แต่ถ้าสัตว์โลกหยุดทำกรรมเมื่อนั้นมันก็จะสิ้นสุดลง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

          “มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่สัตว์โลกจะหยุดทำกรรม อิมพอสซิเบิ้ล” คราวนี้ท่านพระครูใช้ภาษาอังกฤษ

          “ฮั่นแน่ หลวงพ่อพูดภาษาปะกิดก็เป็นด้วย” พระลูกวัดล้อเลียน แล้วจึงถามต่อไปว่า

          “พระจ้างฆ่าคนนี่ตกนรกไหมครับ แล้วทำไมท่านถึงต้องทำอย่างนั้น”

          “เธอว่าตกหรือเปล่าเล่า อย่าลืม พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น”

          “ก็ท่านไม่ได้ลงมือฆ่าเอง ก็ไม่น่าจะบาปนี่ครับ”

          “ทำไม่จะไม่บาป ถึงจะไม่ได้ลงมือเอง แต่วจีกรรม และมโนกรรมก็เป็นของท่าน แม้กายกรรมจะเป็นของคนอื่นก็ตาม กรณีที่ว่านี้ ถ้าเขาสอบสวนได้ความว่าทำผิดจริง ก็ต้องถูกให้สึก เพราะเป็นอาบัติปาราชิก มันก็น่าสลดใจนะ อุตส่าห์เข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่ก็เอาตัวไปลงนรกจนได้ กรณีรองเจ้าคณะจังหวัดจ้างฆ่าเจ้าคณะจังหวัดก็เหมือนกัน ขนาดเป็นครูบาอาจารย์ของตัวก็ยังทำได้ลงคอ”

          “ทำไมถึงต้องฆ่าเล่าครับ”

          “ก็หวังตำแหน่งน่ะซี อาจารย์ไม่ตายสักที ลูกศิษย์อยากจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด ก็เลยจ้างฆ่าเสียเลย ฉันยังไปงานเผาศพท่าน เพราะคุ้นเคยกันมาก่อน เธอไม่เคยได้ยินเรื่องนี้หรอกหรือ ดังทั่วประเทศเชียวละ น่าสลดใจเหลือเกิน”

          “แล้วรองเจ้าคณะจังหวัดถูกจับหรือเปล่าครับ”

          “ก็เพราะถูกจับน่ะซี เรื่องถึงแดงขึ้นมา ไม่น่าทำเย เพราะลาภสักการะเป็นเหตุแท้ ๆ เป็นพระเป็นเจ้ามาหลงติดอยู่กับลาภสักการะก็เจ๊งทุกราย คราวนี้ท่านใช้ภาษาจีน

          “แหมหลวงพ่อเก่งจังนะครับ พูดได้ตั้งหลายภาษา จีนก็ได้ ปะกิดก็ได้” พระบัวเฮียวออกปากชม

          “ก็ฉันทำกรรมมาดี” ท่านพระครูถือโอกาสคุยทับ

          “กรรมที่ทำให้เก่งเป็นอย่างไรครับ ผมอยากเก่งบ้าง”

          “อยากรู้ก็ไปอ่าน จูฬกัมมวิภังคสูตร เอาเอง ที่ สุภมาณเพโตเทยยบุตร ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนเราถึงเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนรวย บางคนจน พระพุทธเจ้าท่านอธิบายไว้ละเอียดมาก มีโอกาสก็ไปอ่านเสีย อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ นั่น อ่านแล้วจะได้เลือกทำแต่กรรมดี ฉันเองยังเสียดาย ตอนเด็ก ๆ เกเรชะมัด สร้างเวรสร้างกรรมเอาไว้มาก นี่ก็ทยอยใช้ไปเรื่อย ๆ จะพยายามชดใช้เสียให้หมด ๆ ไปในชาตินี้

          “แปลว่าหลวงพ่อจะไม่เกิดอีกแล้วใช่ไหมครับ”

          “ด้วยใจจริงแล้ว ฉันไม่ปรารถนาจะเกิดอีกเลยแม้แต่ชาติเดียว แต่มันก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้ายังใช้กรรมไม่หมด ก็ต้องเกิดอีก ไม่ว่าจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม”

          “แล้วตอนนี้หลวงพ่อใช้จวนหมดหรือยังครับ” พระบัวเฮียวพยายาม “ตะล่อม”

          “หมดหรือไม่หมด มันก็ไม่ใช่เรื่องของเธอ อย่ามาถามเซ้าซี้อยู่เลย ฉันไม่หลงกลเธอง่าย ๆ หรอก” คนเป็นศิษย์ทำหน้าปั้นยาก เมื่อคนเป็นอาจารย์รู้เท่าทัน แต่แล้วก็ถามขึ้นอีกว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมยังสงสัยเรื่องที่หลวงพ่อเล่ามา”

          “เรื่องอะไรอีกล่ะ” คนถูกถามชักจะรำคาญ

          “ก็เรื่องที่รองเจ้าคณะจังหวัดจ้างฆ่าเจ้าคณะจังหวัด เพราะหวังครองตำแหน่งแทนน่ะครับ ผมว่าไม่น่าจะบาปมากมายอะไร เพราะท่านไม่ได้ลงมือฆ่าเอง” พระใหม่ไม่วายสงกา

          “ช่างสงสัยจริงนะ เอาละฉันจะอธิบายให้ฟัง การฆ่านั้นจะบาปมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูว่ามันครบองค์ ๕ หรือเปล่า ถ้าครบก็บาปมาก ถ้าไม่ครบก็บาปน้อยลดหลั่นกันลงไป องค์ ๕ นั้นได้แก่ สัตว์มีชีวิต ๑ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๑ มีจิตคิดจะฆ่า ๑ ใช้ความพยายามในการฆ่า ๑ สัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น ๑ ฉันจะเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง แล้วเธอวิเคราะห์เอาเองก็แล้วกัน ว่าครบองค์ ๕ หรือเปล่า เรื่องนี้เขาเล่าสืบกันมา เขาว่าเป็นเรื่องจริงด้วย”

          “แล้วหลวงพ่อว่าหรือเปล่าครับ”

          “ว่าอะไร”

          “ก็ว่าเป็นเรื่องจริงน่ะซีครับ ผมไม่เคยได้ยินว่า “หลวงพ่อว่า” สักครั้งมีแต่ “เขาว่า เขาว่า” อยากให้หลวงพ่อว่าบ้าง” พระญวน “ยวน”

          “พูดอย่างนี้แปลว่าไม่ฟังใช่ไหม ก็ดี ฉันจะได้ไม่เล่า” คนเป็นอาจารย์ถือโอกาสเล่นตัว

          “ฟังครับฟัง นิมนต์เล่าเถอะครับ” พูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์” ท่านพระครูจึงเริ่มเล่า

          “กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...”

          “นานแค่ไหนครับ” ผู้ฟังไม่วายล้อเลียน

          “จะนานแค่ไหนมันก็นานแล้วกัน”

          “หลวงพ่อนี่ความจำดีจังนะครับ เรื่องนานมาแล้วยังอุตส่าห์จำได้” คราวนี้ท่านพระครูหมดความอดทนอย่างแท้จริง จึงยื่นคำขาดว่า “นี่บัวเฮี้ยว ถ้าเธอเฮี้ยวอีก รับรองว่าฉันไม่เล่าแน่”

          “ครับ ๆ ผมไม่ขัดคอแล้ว ผมบัวเฮียวครับ ไม่ใช่บัวเฮี้ยว นิมนต์เล่าเถิดครับ” ท่านพระครูจึงเริ่มต้นใหม่ว่า

          “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหลวงตาองค์หนึ่ง อาศัยอยู่ในวัดวัดหนึ่ง เช้าตรู่วันหนึ่ง ท่านก็เห็นเต่าใหญ่ตัวหนึ่ง กำลังเดินต้วมเตี้ยมอยู่บนทางที่จะไปถาน หลวงตากำลังจะไปถานเพื่อปลดทุกข์ ครั้นเห็นเต่าทุกข์นั้นก็พลันหาย เพราะความอยากฉันแกงเต่า ก็เลยหันหลังเดินกลับไปที่กุฏิ คว้าคัมภีร์ใบลานมานั่งเทศน์ ทำเสียงอ่อนหวานว่า “เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลาน ตัวมันออกใหญ่ ๆ เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลาน ตัวมันออกใหญ่ ๆ เทศน์ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนี้ เพราะต้องการจะให้ลูกศิษย์ได้ยิน ข้างฝ่ายลูกศิษย์ก็นึกว่าหลวงตาเทศน์ ก็ไม่ได้ใส่ใจ หลวงตาโมโห เลยตะโกนดัง ๆ ว่า ”เมื่อกี้ข้าไปถาน เห็นเต่าคลานตัวมันออกใหญ่ ๆ โว๊ย” คราวนี้มีโว๊ยติดมาด้วย หลวงตาท่านโว๊ยนะ ไม่ใช่พระครูเจริญโว๊ย เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันพูดไม่สุภาพ” ท่านพระครูออกตัวไว้ก่อน พระบัวเฮียวเลยถือโอกาสสนองว่า

          “ผมยังไม่ได้ว่าหลวงพ่อสักหน่อย ไม่เห็นจะต้องร้อนตัวไปเลย นิมนต์เล่าต่อเถิดครับ กำลังสนุก”

          “พอหลวงตาโว๊ย ลูกศิษย์ก็เลยเข้าใจ รู้ว่า อ้อนี่หลวงตาคงอยากจะฉันแกงเต่า จึงเดินไปทางที่จะไปยังส้วมพระ ก็เห็นเต่าตัวหนึ่งคลานต้วมเตี้ยมอยู่ เลยจับเอามา วิธีแกงเต่าสมัยนั้นจะต้องต้มให้มันตายเสียก่อน ลูกศิษย์จึงจัดแจงก่อไฟ เอาหม้อข้าวใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดก็จับเต่าใส่ลงไป บังเอิญเต่าตัวมันใหญ่กว่าหม้อข้าว มันก็เลยร่วงลงมา ลูกศิษย์ก็จับใส่ลงไปใหม่ มันก็ร่วงลงมาอีกเป็นสองครั้งสามครั้ง ข้างฝ่ายหลวงตาชำเลืองดูอยู่ เห็นท่าจะไม่ได้ฉันแกงเต่าเป็นแน่แท้ ก็เลยหยิบคัมภีร์ใบลานขึ้นมาอีก เดี๋ยวกอ่นเธอรู้จักหมอต้มกรักไหมล่ะ” ท่านถามคนฟัง

          “ไม่รู้จักครับ”

          “หม้อต้มกรัก เป็นภาชนะรูปทรงกระบอก มีขนาดใหญ่กว่าหม้อข้าว เขาเอาไว้สำหรับย้อมจีวร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีจีวรขายเหมือนอย่างสมัยนี้” คนเล่าอธิบาย

          “ครับ แล้วอย่างไรต่อไปครับ”

          “หลวงตาก็กางคัมภีร์ออก แล้วเทศน์ด้วยเสียงอันดังว่า เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลานตัวมันออกใหญ่ ๆ หม้อข้าวมันเล็กนัก หม้อต้มกรักนั่นประไร ลูกศิษย์ก็จัดแจงไปหยิบหม้อต้มกรักมา เอาน้ำในหม้อข้าวเทใส่ ยกขึ้นตั้งไฟ แล้วจับเต่าใส่ลงไป ในที่สุดหลวงตาก็ได้ฉันแกงเต่าสมใจ ก็เป็นอันจบเรื่อง เอาละทีนี้เธอวิเคราะห์มาซิว่า ในองค์ ๕ ที่กล่าวมาข้างต้น หลวงตาถูกองค์ไหนบ้าง”

          “ครบองค์ ๕ เลยครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบโดยไม่ต้องเสียเวลาคิด

          “อ้าว ก็ท่านไม่ได้ลงมือเอง แล้วจะครบได้ยังไง” ท่านพระครูลองใจ

          “ครบซีครับ เพราะเต่าเป็นสัตว์มีชีวิต หลวงตาท่านก็รู้ว่ามันมีชีวิต แต่ก็ยังจะอยากกินมัน ก็แสดงว่ามีจิตคิดจะฆ่า ใช้ความพยายามในการฆ่า ก็ตรงที่เทศน์ว่า หม้อข้าวมันเล็กนัก หม้อต้มกรักนั้นเป็นไร แล้วเต่าก็ตายเพราะความพยายามนั้น อย่างนี้ไม่เรียกว่าครบองค์ ๕ หรือครับ”

          “แหม! เธอนี่ฉลาดเสียจริง ๆ” พระบัวเฮียวหน้าบานเมื่อถูกชม แต่ก็หุบลงทันที เมื่อท่านพระครูพูดต่อว่า

          “แต่นาน ๆ จะฉลาดสักครั้ง อย่างเรื่องเมื่อกี้น่าจะฉลาด ก็ไม่ฉลาด”

          “เรื่องอะไรหรือครับ”

          “ก็เรื่องรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นไง เธอคิดว่าไม่บาปหรือไง ถึงท่านจะไม่ได้ลงมือเอง แต่มันก็ครบองค์ ๕ หรือเธอว่าไม่ครบ” พระหนุ่มครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็ยิ้มแหย ๆ พูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “จริงครับ ผมไม่น่าโง่เลย”

          “นั้นซี หน้าเธอดูฉลาดออก” ท่านพระครูเริ่ม “รุก” แต่พระบัวเฮียวอยากจะรู้เรื่องอื่น ๆ อีก จึงไม่ยอมต่อกลอนด้วย

          “หลวงพ่อครับ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยก็คือ...” ศิษย์พูดยังไม่ทันจบ อาจารย์ก็รีบโบกมือห้าม

            “ช้าก่อน ช้าก่อน วันนี้เราคุยกันมาพอสมควรแล้ว ฉันรู้ว่าเธอจะถามเรื่องอะไร เอาไว้ต่อวันหลังก็แล้วกัน วันนี้หมดเวลา เธอกลับไปปฏิบัติที่กุฏิของเธอได้แล้ว ตั้งอกตั้งใจเข้า จะได้ใช้หนี้ให้หมด ๆ ไปเสีย” ประโยคหลังท่านทิ้งท้ายเอาไว้ให้คนฟังไปคิดเอาเอง

 

มีต่อ........๑๖


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: พรเทพ-LSV team♥ ที่ เมษายน 10, 2007, 09:40:19 AM
เนื้อหายาวเอาเรื่องอยู่นะครับพี่เล็ก  :P 

ผมมีเล่มหนึ่งครับ ซื้อมานานแล้ว รุ่นที่เป็นเล่มใหญ่ปกแข็งเล่มหนึ่งตั้ง 500 บาท (รุ่นใหม่จะเล็กลงนะ :P)อ่านเป็นเดือนกว่าจบ  :P 

(มาทักทายนิดเดียวนะ พี่เล็ก  :P  อ่านแล้วก็ลบออกได้เลยครับ ) :D :)


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 10, 2007, 09:47:55 AM
ยามว่าง...ยามท้อแท้...ยามเหงา ....ค่อยๆอ่านวันละนิดครับ ...  :P
..ทีแรกกะลงให้เป็น .rar แต่เกรงว่าไม่ค่อยจะมีใครอ่านกันครับ ... เลยลงอย่างนี้ดีกว่าครับ วันละ5ตอน ..
..เรื่องนี้ดีมากครับ  คุณแม่ให้ผมอ่านตั้งแต่ผมยังไม่ได้ไปนั่งกรรมฐานที่วัดอัมพวัน ...  :-X :P


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo_bkk-LSV team♥ ที่ เมษายน 10, 2007, 10:06:13 AM
 :-X :)


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 11, 2007, 07:57:54 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00016

 

๑๖...

            พระบัวเฮียวใช้พยายามอยู่หลายวัน ก็ยังไม่สบโอกาสที่จะเรียนถามข้อสงสัยจากท่านพระครู เพราะท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างพอที่จะมานั่งให้ลูกศิษย์ซักถามได้เหมือนแต่ก่อน ยิ่งกิตติศัพท์ความดีงามของท่านเป็นที่เลื่องลือไป คนก็พากันมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น มีผู้นิมนต์ท่านไปบรรยายธรรมตามสถาบันต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ จนแทบไม่เว้นแต่ละวัน

          นับตั้งแต่ครูสฤษดิ์ซื้อรถตู้มาถวาย ท่านก็ไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น โดยมีนายสมชายเป็นพลขับ นายสมชายเล่าว่า แต่ก่อนที่ยังไม่มีรถไว้ใช้ เวลาจะไปไหนท่านจะว่าจ้างนายอู่ให้ขับรถไปให้ แต่นายอู่ก็ทำให้ท่านต้องเสียงานอยู่บ่อย ๆ เป็นต้นว่าคืนไหนฝันร้าย รุ่งเช้าก็จะมาบอกว่าไม่สามารถขับรถไปส่งท่านได้ เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าท่านพระครูจะอ้อนวอนอย่างไร นายอู่ก็ไม่ยอมไปท่าเดียว ครั้นจะไปว่าจ้างคนอื่นก็ไม่ทันการ เพราะกว่าจะไปก็เลยเวลาที่เขานิมนต์ไปแล้ว

          แต่ถึงนายอู่จะกลัวอย่างไรก็ไม่อาจหนีกฎแห่งกรรมไปได้ เพราะในที่สุดนายอู่ก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต เนื่องจากไม่รักษาสัจจะ

          เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนุ่ม ๆ นายอู่มีอาชีพล่องเรือค้าขายไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ไปซื้อของกรุงเทพฯ มาขายต่างจังหวัด และอาเของต่างจังหวัดไปขายกรุงเทพฯ กิจการก็รุ่งเรืองดีอยู่ มีเรือของตัวเองหนึ่งลำและทำเป็นเรือโดยสารด้วย

          คืนหนึ่ง ขณะล่องเรือกลับจากกรุงเทพฯ คนขับเกิดหลับในเพราะเป็นเวลาดึกมากแล้ว เรือจึงพุ่งไปชนแก่งกลางแม่น้ำพลิกคว่ำลง คนขับกับผู้โดยสารประมาณห้าหรือหกคนพากันจมน้ำตายหมด

          นายอู่กำลังจะจมน้ำ ก็เกิดห่วงแม่กับเมีย ตอนนั้นเมียกำลังตั้งท้องลูกคนแรก เขาจึงตั้งจิกอธิษฐานว่า ขอให้ตนรอดชีวิตแล้วจะบวชอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรหนึ่งพรรษา

          ปรากฏว่านายอู่รอดจากการจมน้ำตายอย่างปาฏิหาริย์และกลับมาถึงบ้านได้ ไม่นานภรรยาก็คลอดบุตรออกมาเป็นหญิง เขาก็หาเลี้ยงลูกเมียเลี้ยงแม่ ยังไม่ยอมบวช ก็อยู่ต่อมาจนมีลูกอีกหลายคน ภายหลังได้ขายเรือมาซื้อรถเที่ยวรับจ้างส่งคน ส่งของอยู่แถววัด

          มาระยะหลัง ๆ นายอู่ฝันร้ายอยู่บ่อย ๆ คือฝันว่ายมบาลมาต่อว่าต่อขานที่นายอู่เสียสัจจะ หากยังดื้อดึงไม่ยอมบวชจะต้องรถคว่ำคอหักตาย เขาจึงได้มาเล่าให้ท่านพระครูฟัง ท่านก็ขอร้องให้บวช นายอู่ก็ไม่ยอมบวช ทั้งยังขอร้องไม่ให้ท่านเล่าเรื่องความฝันให้แม่และเมียของตนฟัง คืนไหนฝัน รุ่งเช้านายอู่ก็จะไม่ยอมขับรถ

          เวลาผ่านไปอีกหลายปี กระทั่งลูกสาวคนโตอายุ ๒๑ และกำลังจะแต่งงาน นายอู่ก็ฝันร้ายถี่ขึ้น ท่านพระครูก็ขอร้องให้เขาบวช เพราะท่านรู้ว่าถ้าไม่บวช เขาจะต้องตาย นายอู่ก็ดื้อดึงมายอมบวช อ้างว่าถ้าเขาบวชแล้วใครจะหาเลี้ยงแม่เลี้ยงเมีย

          ความจริงเขาจะบวชก็บวชได้ เพราะลูก ๆ ก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว นอกจากไม่ยอมบวชแล้ว เขายังขอร้องท่านพระครูให้ปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ

          อยู่ต่อมาไม่นาน นายอู่ก็รถคว่ำคอหักตายจริงดังที่ฝัน ท่านพระครูรู้สึกเศร้าสลดใจทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นกรรมที่เขาสร้างเองทำเอง เรื่องพอจะแก้ไขได้ เขาก็ไม่ยอมแก้ไข จึงต้องจบชีวิตอย่างน่าเอนจอนาถเช่นนั้น

          “หลวงพี่ครับ หลวงพ่อให้มานิมนต์” นายสมชายมาบอกพระบัวเฮียวในตอนบ่ายวันหนึ่ง หลังจากที่ท่านปฏิบัติกรรมฐานเสร็จ

          “นิมนต์ให้ไปที่กุฏิหลวงพ่อหรือ” พระหนุ่มเชื้อสายญวน ถามอย่างดีใจ เพราะจะได้ถือโอกาสเรียนถามข้อข้องใจสงสัยที่ติดค้างมาหลายวัน

          “เปล่าหรอกครับ ท่านให้มานิมนต์จะพาไปเจริญพระพุทธมนต์เย็นที่บ้านฝั่งโน้น ลูกสาวเขาแต่งงานครับ เขานิมนต์พระวัดเรา ๓ รูป หลวงพ่อให้ผมมานิมนต์หลวงพี่กับพระมหาบุญ บอกให้เอาย่ามกับตาลปัตรไปด้วย” นายสมชายบอกกล่าว

          “ไปเดี๋ยวนี้เลยหรือ” ถามอย่างยินดี

          “สักพักก็ได้ครับ หลวงพ่อจะออกห้าโมง นี่เพิ่งจะบ่ายสาม หลวงพี่ไปรอที่กุฏิท่านก่อนห้าโมงก็แล้วกัน ผมไปนะครับ”

          “แล้วพระมหาบุญท่านทราบหรือยัง”

          “ทราบแล้วครับ ผมไปเรียนท่านก่อนจะมาหากลวงพี่” เสร็จธุระ นายสมชายจึงเดินกลับไปยังกุฏิท่านพระครู

          พระบัวเฮียวจัดแจงสรงน้ำ  ขัดสีฉวีวรรณอย่างพิถีพิถันกว่าทุกวัน สรงน้ำเสร็จก็จัดการนุ่งห่มอย่างเรียบร้อย รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ “ออกงาน” เป็นครั้งแรกของชีวิตการบวช ท่านถือตาลปัตรและย่ามเดินไปที่กุฏิท่านพระครู นั่งอยู่คนเดียวสักยี่สิบนาที พระมหาบุญก็มาถึง ผู้บวชทีหลังทำความเคารพภิกษุผู้เคยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้วยการกราบสามครั้ง

          “มานานแล้วหรือบัวเฮียว” พระมหาบุญทักขึ้นก่อน

          “สักครู่ใหญ่ ๆ เห็นจะได้ หลวงพี่มาก็ดีแล้ว ผมอยากจะเรียนถามอะไรสักหน่อย”

          “ถามมาก ๆ ก็ได้ ถ้าผมตอบได้ก็จะตอบ รับรองว่าไม่ปิดบังอำพรางเลยแม้แต่น้อย เป็นไง ปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว ข่าวว่าเป็นคนโปรดของท่านพระครูเลยนี่” คนจะถามกลับเป็นฝ่ายถูกถามเสียก่อน

          “ก็ไม่เชิงครับ ท่านเมตตาผมมากกว่า เห็นเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ท่านคงจะสงสาร ก็เลยเอาใจใส่มากหน่อย ถ้าฉลาดหลักแหลมเหมือนหลวงพี่ ท่านก็คงปล่อยให้บินเดี่ยวได้แล้ว” พระบัวเฮียวตอบอย่างเอาใจ “หลวงพี่”

          “แต่คุณก็ก้าวหน้าเร็วดีนี่ เมื่อตอนผมบวชใหม่ ๆ ท่านก็ประคับประคองอยู่หลายเดือนกว่าจะปล่อยให้บินเดี่ยวอย่างที่คุณเห็น ท่านพระครูท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่วิเศษที่สุด ผมเคารพนับถือท่านมากจริง ๆ”

          พระมหาบุญพูดจากความรู้สึกลึกซึ้ง หากพระบัวเฮียวก็เข้าใจ เพราะความรู้สึกของท่านที่มีต่อท่านพระครูก็ไม่แตกต่างไปจากนี้

            “หลวงพี่ครับ ผมไม่เคยออกงาน รู้สึกตื่นเต้นจนกลายเป็นความกังวล กลัวว่าจะวางตัวไม่ถูก หลวงพี่พอจะกรุณาแนะนำผมหน่อยจะได้ไหมครับ”

            “ได้ซี ทำไมจะไม่ได้เล่า ไม่ต้องไปกังวลหรอก ให้ทำตามที่หลวงพ่อท่านบอกก็แล้วกัน เป็นต้นว่าเวลานั่งเขาจะเรียงตามอายุพรรษา สงสัยว่าคุณคงจะต้องนั่งท้ายแถว เพราะบวชทีหลังเพื่อน อย่าประหม่าก็แล้วกัน บทเจริญพระพุทธมนต์เย็น คุณก็ท่องได้หมดแล้วไม่ใช่หรือ”

          “ครับ ได้หมดแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเวลาสวดจริง ๆ จะจำผิดจำถูกบ้างหรือเปล่า”

          “จำถูกน่ะไม่เป็นไรหรอก แต่จำผิดคงไม่ดีนัก ประเดี๋ยวจะทำให้ขายหน้าพระวัดเรา เอาอย่างนี้ถ้าตอนไหนไม่แน่ใจก็ให้ออกเสียงเบา ๆ ไม่มีใครเขารู้หรอก เพราะตอนสวดเราจะเอาตาลปัตรบังหน้าไว้” ผู้แก่พรรษากว่าแนะนำ

          “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะประหม่ามากน้อยแค่ไหน คงจะเขินมากเลยถ้า....”

          “ถ้าอะไร” พระมหาบุญซัก เพราะฝ่ายนั้นไม่ยอมพูดต่อ

          “ถ้า...มีสาว ๆ มานั่งฟังน่ะครับ” พระมหาบุญจึงแถลงว่า

          “ต้องมีแน่ ๆ อย่างน้อยก็เจ้าสาวคนหนึ่งละ แล้วยังจะเพื่อเจ้าสาวอีกคนหรือสองคน และถ้าเขารู้ว่าจะมีพระหนุ่ม ๆ ไป พวกสาว ๆ คงพากันแห่มาเชียวแหละ สงสัยว่าคราวนี้คุณจะต้องสึกเสียละมัง” พระมหาบุญพูดเย้า ๆ

          “สึกน่ะไม่กลัวหรอกครับ กลัวจะประหม่า อย่างหลังนี่แก้อย่างไรครับ”

          “คุณก็กำหนดซี รู้สึกอย่างไร ก็กำหนดไปอย่างนั้น ปฏิบัติแล้วก็ต้องเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เอาเถอะตั้งสติเข้าไว้แล้วก็จะดีไปเอง จำไว้แล้วกันว่าถ้าคุณขืนแสดงอะไรเปิ่น ๆ ออกไป คราวหน้าคราวหลังหลวงพ่อจะไม่พาคุณไปไหนต่อไหนด้วยอีก”

          “ถ้าอย่างนั้นผมจะพยายามเต็มที่เลยละครับ จะได้ออกไปเปิดหูเปิดตาบ่อย ๆ”

          “แต่การไปไหนมาไหนบ่อยมันก็ไม่ดีสำหรับการปฏิบัตินะบัวเฮียว เพราะจิตมันจะท่องเที่ยวไปรับอารมณ์อื่น ไม่จดจ่อแน่วแน่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน แต่ก็นั่นแหละถ้าเรากำหนดได้ทันมันก็ไม่เสียหายอะไร นึกเสียว่าเป็นการหาแบบฝึกหัดมาให้จิตทำแล้วกัน” พระมหาบุญแนะนำในฐานะที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน”

          ท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน เมื่อเวลาสิบเจ็ดนาฬิกาเศษ พระสองรูปที่นั่งรออยู่ทำความเคารพด้วยการไหว้ แล้วลุกขึ้นเดินตามท่านไปยังรถที่นายสมชายรออยู่

            ท่านพระครูขึ้นไปนั่งตอนหน้าคู่กับคนขับ ส่วนพระมหาบุญกับพระบัวเฮียวนั่งถัดไปทางด้านหลัง นายสมชายปิดประตูเรียบร้อยแล้วจึงออกรถ วิ่งตรงไปออกสายเอเชีย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ประมาณยี่สิบนาทีก็ถึงทางแยกเข้าตัวจังหวัด จากนั้นต้องวิ่งย้อนลงมาทางใต้อีกประมาณสองกิโลเมตร จึงถึงท่าเรือที่จะข้ามไปยังบ้านงานที่อยู่ทางฝั่งโน้น

          “สมชายเฝ้ารถรอยู่ฝั่งนี้ ไม่ต้องข้ามไปด้วย” ท่านพระครูสั่งศิษย์วัด แล้วท่านจึงเดินนำลงไปรอเรือจ้างซึ่งมีเพียงลำเดียว ครู่หนึ่งหญิงแจวเรือจ้าง ก็แจวเรือเปล่ากลับมาหลังจากส่งผู้โดยสารขึ้นฝั่งตรงข้ามแล้ว

          “นิมนต์หลวงพ่อจ้ะ จะไปบ้านงานหรือจ๊ะ” หญิงแจงเรือเชื้อเชิญพร้อมกับตั้งคำถาม ในชนบทนั้นบ้านไหนมีงานก็เป็นอันรู้ถึงกันหมดทั้งตำบล

          “ไปทีเดียวสามไหวไหมจ๊ะหนู หรือว่าต้องทีละคน” ท่านพระครูถามคนแจว ซึ่งเป็นหญิงสาวอายุไม่เกินยี่สิบ เกรงว่าจะเกินเรี่ยวแรงของหล่อน เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปริ่มขอบตลิ่ง เนื่องจากยังไม่สิ้นเดือนสิบสอง ระยะทางข้ามฟากจึงดูกว้างไกลกว่าปกติ พระบัวเฮียวมีอันต้องกำหนด “เขินหนอ” เมื่อสบตากับหล่อน

          “ไหวจ้ะ นิมนต์ทั้งสามองค์เลยจ้ะ” หญิงสาวตอบ

          “นั่นพายอีกันไม่ใช่หรือ” พระมหาบุญชี้ไปที่ไม้พายซึ่งวางอยู่หัวเรือ

          “เอาอย่างนี้ เดี๋ยวอาตมาจะช่วยพาย จะได้เบาแรงโยมหน่อย” พูดแล้วท่านก็ลงไปนั่งที่หัวเรือ จับไม้พายมาถือด้วยท่าทางทะมัดทะแมง

          เมื่อภิกษุอีกสองรูปขึ้นมานั่งในเรือเรียบร้อยแล้ว หญิงสาวจึงออกเรือ โดยมีพระมหาบุญช่วยแจวอยู่ทางด้านหัว ส่วนหล่อนอยู่ท้าย ท่านพระครูกับพระบัวเฮียวอยู่กลาง

          “สองทุ่มเลิกหรือยังจ๊ะหนู อาตมาต้องกลับประมาณสองทุ่ม” ท่านพระครูถาม ขึ้นจากเรือแล้วต้องเดินไปอีกหลายนาทีกว่าจะถึงบ้านงาน

          “มีจ้ะ หนูจะแจวจนถึงหกโมง ต่อจากนั้นพ่อเด็กเขาจะมาเปลี่ยนและไปเลิกเอาสองทุ่มครึ่ง” หญิงสาวตอบ

          “อ้อ มีลูกมีผัวแล้ว แบบนี้ค่อยหายเขินหน่อย” พระบัวเฮียวพูดในใจ รู้สึกโล่งอกเมื่อทราบว่าหล่อนมีเจ้าของแล้ว

          เมื่อถึงฝั่งท่านพระครูจึงถามว่า “เท่าไหร่จ๊ะหนู”

          “นิมนต์เถิดจ๊ะ ฉันถวาย นึกว่าให้ฉันมีโอกาสได้ทำบุญก็แล้วกัน”

          “อย่าเลยหนู กินแรงคนอื่นมันบาป เท่าที่หนูมีจิตศรัทธาก็ได้บุญแล้ว อาตมาขออนุโมทนา เท่าไหร่จ๊ะ”

          “คนละสองสลึงจ๊ะ หลวงพ่อให้ฉันมาบาทเดียวก็พอ” หญิงสาวลดให้ห้าสิบสตางค์

            ท่านพระครูวางเงินไว้ให้สองบาท แล้วกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นอาตมาฝากซื้อขนมไปให้ลูกหนูอีกหนึ่งบาท ขอบใจนะจ๊ะหนู”

          หญิงสาวยกมือไหว้ พลางกล่าวขอบคุณ แล้วจึงรีบพายเรือเปล่ากลับไปรับผู้โดยสารที่กำลังยืนรออยู่ทางฝั่งโน้น

          ร้าน “ลมโชย” เป็นร้านอาหารที่ขึ้นชื่อของตำบล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำติดกับท่าข้ามเรือ ขณะนั้นกำลังขายดิบขายดี มีลูกค้านั่งเต็มทุกโต๊ะ โต๊ะที่ติดกับทางเดินมีแต่ผู้ชายล้วน กำลังตั้งวงเสพสุรากันอย่างครื้นเครง มีจานกับแกล้ม แก้วและขวดเหล้าวางอยู่เต็ม

          เมื่อเดินผ่านโต๊ะนั้น ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” แล้วจึงกระซิบกับพระบัวเฮียวว่า “เธอคอยดูนะบัวเฮียว เดี๋ยวคนโต๊ะนี้จะตีกันถึงเลือดตกยางออก รอให้เมาได้ที่เสียก่อน ขากลับเราทันได้เห็นแน่”

          “หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรล่ะครับ” พระบัวเฮียวถามตามความเคยชินเสียมากกว่า เพราะรู้คำตอบดีอยู่แล้ว

          “รู้ก็แล้วกัน ไม่เชื่อเธอคอยดูว่าจะเป็นอย่างที่ฉันพูดหรือเปล่า” แล้วภิกษุสามรูปก็เดินผ่านร้านนั้นไปบ้านงาน

          หลังจากการเจริญพระพุทธมนต์เย็น สิ้นสุดลง เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงกล่าวลาเจ้าภาพ แล้วพาภิกษุอีกสองรูปกลับวัด ส่วนพระอีก ๖ รูปมาจากวัดทางฝั่งนี้ จึงไม่ต้องไปข้ามเรือ ขณะเดินกลับ พระมหาบุญถามพระบัวเฮียวว่า “ไงคุณหายตื่นเต้นหรือยัง”

            “จวนแล้วครับ เหลืออีกนิดเดียวก็จะหาย ต้องขอขอบคุณหลวงพี่มาก ๆ เลย ผมพยายามนึกถึงคำแนะนำของหลวงพี่เกือบตลอดเวลา เพื่อเจ้าสาวเขาสวยจนผมประหม่า”

          ฟังแล้วท่านพระครูอดรนทนไม่ได้ จึงขัดขึ้นว่า “รู้สึกว่าเธอจะชื่นชมแต่คนสวย ๆ เท่านั้นนะบัวเฮียวนะ ไม่รู้หรอกหรือว่า สตรีคือศัตรูพรหมจรรย์” พระบัวเฮียวตอบล้อเลียนว่า “รู้ซีครับหลวงพ่อ อาตมารู้หมด แต่อาตมาก็อดไม่ได้”

          “ทำพูดดีไปเถอะ แล้วอย่ามาหาว่าฉันไม่เตือนก็แล้วกัน” ท่าสนพระครูนึกหมั่นไส้

          “ดูท่าทางคุณคงอยากสึกใช่ไหมคุณบัวเฮียว” พระมหาบุญถาม

          “อยากครับ ผมอยากสึกออกไปแต่งงาน เห็นเขาแต่งกันแล้วผมก็อยากแต่งบ้าง” พระบัวเฮียวสารภาพ

          “แล้วคุณคิดว่าจะได้แต่งหรือเปล่า”

          “คิดว่าน่าจะได้ หลวงพี่ไม่เห็นหรือ พระวัดป่ามะม่วงตั้งหลายองค์ที่รูปหล่อน้อยกว่าผมก็ยังสึกออกไปแต่งงาน แล้วทำไมผมจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้”

          “มันไม่ได้อยู่ที่ดีกรีของความหล่อหรอก แต่มันอยู่ที่กรรม ถ้าเราไม่เคยทำกรรมกับใครไว้ก็ไม่ต้องมาชดใช้ คนที่เขาแต่งงานกันก็เพื่อจะมาร่วมกันใช้กรรม สำหรับเธอเขาเรียกว่าไม่มีคู่กรรม เชื่อสิ ชาตินี้เธอไม่มีโอกาสได้แต่งงานหรอก” ท่านพระครูชี้แจง จำพูดของท่านจึงไปทำให้ใจของพระบัวเฮียวเหี่ยวแห้งหดหู่โดยที่ท่านมิได้เจตนา

          เมื่อเดินมาถึงท่าน้ำก็ต้องรอเรือซึ่งเพิ่งจะบรรทุกผู้โดยสารสองคนออกจากฝั่งไป คงต้องยืนรออีกหลายนาทีกว่าเขาจะพายกลับมารับ

          พระจันทร์ค่อนดวงลอยเด่นอยู่กลางฟ้า พวกผู้ชายที่นั่งกินเหล้าอยู่โต๊ะติดทางเดินยังไม่มีใครลุกไปไหน เสียงที่คุยชักจะดังมากขึ้น เพราะต่างก็กำลัง “ได้ที่” แล้วใครคนหนึ่งก็สบถขึ้นว่า

          “...หมาตัวไหนตดวะ สงสัยแม่มันคงไส้เน่า เหม็นฉิบหายเลย” พูดด้วยความโกรธผสมกับความเมา

          “พูดยังงั้นมันก็ไม่สวยซีวะ  เรื่องขี้เรื่องตดมันอดกันไม่ได้โว๊ย  หรือว่าแม่มึงไม่เคยตด”  ชายที่นั่งติดกันพูดโกรธ ๆ

          ท่านพระครูจึงกระซิบกับพระบัวเฮียวว่า “คอยดูนะ เดี๋ยวได้ตีกัน”

          “หลวงพ่อไปห้ามไว้เสียก่อนไม่ดีหรือครับ” พระบัวเฮียวออกความเห็น เพราะเกรงจะถูกลูกหลง ท่านพระครูตอบว่า

“พูดกับคนเมาจะไปรู้เรื่องอะไร ดีไม่ดีจะเจ็บตัวอีกด้วย ก็คนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมพ่อซัดได้ทั้งนั้น”

เสียงทะเลาะรุนแรงขึ้น มีการด่าอย่างหยาบคาย ในที่สุดก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายแล้วก็ถึงขั้นตะลุมบอนกัน

          “หลวงพ่อ ทำไงดี ทำไงดี” พระบัวเฮียวกระซิบเสียงลั่น ขาก็สั้นตามไปด้วย

          “เฉยไว้ ไม่ต้องกลัว มากับฉันรับรองว่าปลอดภัย” พระบัวเฮียวชำเลืองไปที่โต๊ะนั้น เห็นคนหนึ่งคว้าขวดเหล้าฟาดลงบนศีรษะของอีกคนหนึ่ง ผู้ถูกฟาดล้มฟุบคาโต๊ะเลือดแดงฉาน

          “หลวงพ่อครับ ผมจะเป็นลมอยู่แล้ว” พระบัวเฮียวรู้สึกใจสั่น ขาสั่นพั่บ ๆ เคยเห็นแต่เลือดวัวควาย ไม่เคยเห็นเลือดคน

          “กำหนดซีบัวเฮียว” พระมหาบุญแนะ

          “กำหนดไม่ไหวครับ มันกลัวจนตั้งสติไม่ได้”

          “งั้นก็แปลว่าวันนี้คุณสอบตก ต้องกลับไปฝึกอีกมาก ๆ โน่นไงเรือมาโน่นแล้ว”

          เมื่อเรือเข้ามาจอดเรียบร้อย สมภารรูปหนึ่งกับลูกวัดสองรูปจึงพากันลงเรือ คราวนี้พระมหาบุญไม่ต้องช่วยแจว เพราฝีพายเป็นชายหนุ่มรูปร่างกำยำล่ำสัน นั่งกันเรียบร้อยแล้วท่านพระครูจึงเอ่ยขึ้นว่า

          “เห็นไหมบัวเฮียว เห็นโทษของการขาดสติหรือยัง นี่ถ้าคนพวกนั้นพากันมาเข้ากรรมฐาน ก็จะไม่มีเรื่องต้องตีกันหัวร้างข้างแตกอย่างนั้น”

            “นั่นซีครับ ถ้าเจ้าหมอนั่น กำหนด “กลิ่นหนอ” เสียก็คงไม่มีเรื่อง นี่จะมีคนตายไหมครับหลวงพ่อ” ถามอย่างเป็นห่วง

          “ไม่หรอก เดี๋ยวตำรวจเขาก็มาจัดการ” ท่านพระครูตอบ

          “ผมว่าสาเหตุของเรื่องมันไม่ได้อยู่ที่การผายลมหรอกครับหลวงพ่อ มันอยู่ที่เหล้าต่างหาก คนพวกนั้นพอเหล้าเข้าปาก ก็เห็นช้างตัวเท่าหมู” พระมหาบุญว่า

          “ไม่ว่าคนพวกนั้น หรือคนพวกไหนหรอก พอเมาขึ้นมาก็ต้องเป็นแบบนี้ทั้งนั้น ไม่งั้นพระพุทธองค์ท่านจะสอนหรือ....สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา สุราเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ศีลข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าละเมิดข้อนี้ข้อเดียว ก็สามารถละเมิดข้ออื่น ๆ ได้ทั้งหมด ฉันถึงอยากให้ทุกคนเจริญสติปัฏฐาน ๔ จะได้ไม่ขาดสติ”

          “แต่บางคนเขาก็ชอบที่จะอยู่อย่างไม่มีสตินะครับหลวงพ่อ เพราะถึงเขาจะรู้ว่าสุราทำให้ขาดสติ เขาก็ยังดื่ม  ทั้ง ๆ ที่รู้”

            “คนพวกนี้น่าสงสารนะท่านมหา”

          “สงสารทำไม่ครับหลวงพ่อ ผมว่าเราไม่ควรสงสารคนชั่ว” พระบัวเฮียวขัดขึ้น

          “เธอไม่รู้อะไร คนชั่วนั้นแหละน่าสงสาร เพราะเขาไม่รู้ว่านรกกำลังรอเขาอยู่ ก็เลยประมาทมัวเมาในชีวิต คนทุกวันนี้มักจะตั้งอยู่ในความประมาทกันเสียเป็นส่วนใหญ่ น่าเสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้ใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”

          ขึ้นจากเรือ ภิกษุทั้งสามรูปจึงเดินไปที่รถซึ่งนายสมชายเตรียมเปิดประตูรอไว้แล้ว

          “เป็นไง รอนานไหม” ท่านพระครูทัก

          “ก็หลับไปตื่นนึงแหละครับ แต่ไม่ไหว ยุงชุมชะมัด อากาศหนาว ๆ อย่างนี้ไม่น่ามียุง” ลูกศิษย์วัดพูดเป็นเชิงบ่น

          ขณะที่นั่งมาในรถ พระมหาบุญเปิดฉากการสนทนาขึ้นว่า

          “ความไม่ประมาทนี้สำคัญนะครับหลวงพ่อ ขนาดพระพุทธองค์จะปรินิพพานอยู่แล้ ยังทรงเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท”

          “ถูกแล้ว สมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ตรัสสอนเรื่องความไม่ประมาทบ่อยครั้ง ทรงอุปมาอุปไมยว่า

          ....รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้างเรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้นโดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาทเรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น....”

            “แหม หลวงพ่อยังกับเป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่แน่ะ” พระบัวเฮียวออกปากชม แต่แล้วกลับตั้งข้อสงสัยว่า “แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นพุทธพจน์จริง ๆ เพราะพระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปตั้งสองพันกว่าปีแล้ว”

          “เป็นชาวพุทธ ถ้าไม่เชื่อคัมภีร์พระไตรปิฏก ก็เอวังเท่านั้นเอง จริง ๆ นะบัวเฮียว ฉันไม่ค่อยเข้าใจเธอสักเท่าไร เรื่องที่น่าสงสัย เธอก็ไม่สงสัย แต่เรื่องที่ไม่น่าสงสัยเธอกลับสงสัย รู้สึกว่าเธอชอบ “ทวนกระแส” อยู่เรื่อยเชียวนะ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พระธรรมคำสอนเป็นสิ่งท้าทายให้พิสูจน์ ถ้าไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง แล้วเธอจะรู้ว่า พระธรรมคำสอนเป็นสัจธรรมโดยแท้” ท่านพระครูถือโอกาส “เทศน์นอกธรรมาสน์”

          “ผมเชื่อครับ เชื่อโดยไม่ต้องพิสูจน์ เพราะรู้ว่าหลวงพ่อพิสูจน์มาหมดแล้วนี่ครับ” คนถูกเทศน์ตอบเสียงอ่อย

          นายสมชายขับรถออกจากตัวจังหวัด แล้วเลี้ยวเข้าถนนสายเอเซียประมาณสามสิบหนาที่ก็มาจอดที่หน้ากุฏิท่านพระครู พระบัวเฮียวถือโอกาสถามเจ้าของกุฏิว่า

          “อ้อ ลืมบอกไป พรุ่งนี้เป็นวันแต่ง เราต้องไปถึงบ้านงานเจ็ดโมงเจริญพระพุทธมนต์ ฉันเช้าแล้วก็กลับวัด ประมาณสิบโมงจะมีโยมมาหา จะมาสร้างหอประชุมให้ ต้องใช้เงินเป็นล้านเชียวนาท่านมหา” ประโยคหลังท่านพูดกับพระมหาบุญ

          “เขามีหนังสือมาบอกหลวงพ่อหรือครับ” พระมหาบุญถาม

          “เปล่าหรอก”

          “แล้วทำไมหลวงพ่อทราบเล่าครับ” พระบัวเฮียวถามทั้งที่ไม่น่าจะถาม

          “ก็ “เห็นหนอ” เขาบอกเมื่อตอนเช้ามืดนี่เอง” ท่านพระครูตอบ ท่านรู้ว่าพระบัวเฮียวมีข้อสงสัยอยากจะไต่ถาม จึงพูดตัดบทว่า “เอาเถอะ พรุ่งนี้ฉันจะให้เธอกับท่านมหาอยู่ฟังด้วย หลังจากนั้นเธอมีอะไรจะถามก็ถามได้”

          พระบัวเฮียวดีใจอย่างบอกไม่ถูก ขณะที่พระมหาบุญรู้สึกเฉย ๆ เพราะท่านสามารถปรับตัวความยินดียินร้ายให้สมดุลกันได้แล้ว

 

มีต่อ........๑๗


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 11, 2007, 07:59:54 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00017

 

๑๗...

          กลับจากบ้านงาน ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐาน อยู่ที่ชั้นบนของกุฏิ ครู่ใหญ่ ๆ นายสมชายก็ขึ้นไปรายงานว่า อาคันตุกะสี่คนมารอพบอยู่ที่กุฏิชั้นล่าง

          “ไปตามพระมหาบุญกับพระบัวเฮียวมาฟังด้วย” ท่านสั่งแล้วเขียนหนังสือต่อไปอีกพักหนึ่ง รอให้พระบัวเฮียวแบพระมหาบุญมาถึงเสียก่อนจึงค่อยลง

          สักครู่นายสมชายก็เดินตามภิกษุสองรูปเข้ามา เห็นเจ้าของกุฏิยังไม่ลงมาจากชั้นบน จึงขึ้นไปตามอีกครั้ง

          เมื่อท่านพระครูลงมา และนั่งบนอาสนะประจำของท่านแล้ว ภิกษุสองรูปกับฆราวาสสี่คนต่างทำความเคารพ ด้วยการกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

          “เจริญพร โยมมาจากไหนกันบ้างล่ะนี่” ท่านถามคนนั่งหน้าสุด

          “ผมมาจากเชียงใหม่ครับ”

          “โยมล่ะ” คนที่นั่งถัดไปตอบว่า

          “ผมมาจากภูเก็ตครับ” ถามอีกสองคนก็ได้ความว่ามาจากกาญจนบุรีคนหนึ่ง จากระยองคนหนึ่ง

          “แหม สี่คนมาจากสี่ทิศเลย แล้วไปยังไงมายังไงถึงได้นัดมาเจอกันที่วัดนี่”

          “ไม่ได้นัดครับ พวกเราเจอกันโดยบังเอิญตรงทางเลี้ยวเข้าวัด เป็นเรื่องแปลกครับหลวงพ่อ ถึงจะมาจากคนละทิศ แต่ก็บังเอิญมาเจอกันตรงทางเข้าวัด พอคนขับรถผมเลี้ยวจากสายเอเชียมา ก็เจอรถเบ๊นซ์อีกสามคันเลี้ยวตามมา เป็นเบ๊นซ์รุ่นเดียวกันเสียด้วย แล้วแต่ละคนก็มีคนขับขับมาให้ นี่ถ้าเกิดสีเดียวกันทั้งสี่คัน ผมคงต้องเอาไปลงหนังสือพิมพ์แน่” คนที่มาจากเชียงใหม่รายงาน

          “อาตมาว่ามีเรื่องแปลกกว่านั้นอีก เชื่อไหมว่าโยมสี่คนเกิดวัน เดือน ปี ตรงกัน ไม่เชื่อลองถามกันดูก็ได้”

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ งั้นผมต้องพิสูจน์ละ” คนมาจากเชียงใหม่พูดแล้วจึงหันหน้ามาถามคนที่มาจากภูเก็ตว่า “คุณเกิดเมื่อไหร่ ส่วนผมยี่สิบเจ็ดมีนา เจ็ดหนึ่ง”

          “ทำไมวันเดียวกับผมเลย” อีกสามคนร้องขึ้นพร้อมกัน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาพบผู้เป็น “สหชาติ” ถึงสี่คนในคราวเดียวกัน คนทั้งสี่ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีเรื่องบังเอิญเช่นนี้เกิดขึ้น พระมหาบุญแบพระบัวเฮียวก็ไม่รู้ แต่ท่านพระครูรู้ ว่ามันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม บุรุษที่มาจากทิศทั้งสี่ เหนือ ใต้ ตะวันตก ตะวันออก สี่คนนี้จะมาสร้างกรรมร่วมกันที่วัดป่ามะม่วง กรรมที่ร่วมกันสร้างนั้นเป็นกรรมดี!

          “นี่ก็ได้เวลารับประทานอาหารแล้ว เชิญทานข้าวกันก่อนเดี๋ยวค่อยมาคุยต่อ” ท่านพระครูเชื้อเชิญพลางหันไปสั่งนายสมชาย ให้นำอาคันตุกะทั้งสี่ไปที่โรงครัว พระมหาบุญกับพระบัวเฮียวก็ลุกออกไปเพื่อฉันภัตตาหารเพล ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือต่อยังชั้นบนของกุฏิ รอให้พระและฆราวาสทั้งหกกลับมาอีกครั้งท่านจึงจะลง

          ที่โรงครัว มีอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้เพียงโต๊ะเดียว เนื่องจากเป็นช่วงออกพรรษา อุบาสกอุบาสิกาที่มาเข้ากรรมฐานมีน้อยกว่าปกติ แม่ครัวจึงจัดอาหารใส่ปิ่นโตไปส่งให้ถึงกุฏิที่พัก จะได้ไม่ต้องเดินมาที่โรงครัว

          “เชิญเลยค่ะคุณ” แม่ครัวผู้มีอัชฌาสัยเชื้อเชิญ พลางกุลีกุจอตักข้าวใส่จานแจกบุรุษทั้งสี่ นายสมชายช่วยยกน้ำมาบริการ

            “ทานมาก ๆ นะคะคุณ หลวงพ่อท่านจะได้ดีใจ” แม่ครัววัยหกสิบบอกอาคันตุกะ หล่อนยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ บุรุษทั้งสี่เกิดความอบอุ่นอย่างประหลาด นับตั้งแต่รถเลี้ยวเข้ามาในวัด มีความรู้สึกเหมือนดังได้กลับคืนสู่บ้านที่ตนจากไปนานแสนนาน

          “ผมรู้สึกว่าวัดนี้มีอะไรแปลก ๆ นะครับ คุณรู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า” บุรุษที่มาจากภูเก็ตเอ่ยขึ้น เขารู้สึกคุ้นเคยกับคนทั้งสาม ราวกับว่ารู้จักกันมานาน ทั้งที่เพิ่งจะเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรก คนทั้งสามก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน บุรุษที่มาจากเชียงใหม่เสริมว่า “ผมยังนึกว่าฝันอยู่เลยนะครับนี่ ไม่นึกว่าจะมาพบเรื่องมหัศจรรย์อย่างนี้ บอกตามตรงว่า ผมไม่เคยเข้าวัดมาก่อน ไม่เคยทำบุญ ไม่เคยศรัทธาพระ ก็พระสมัยนี้น่าศรัทธาเสียเมื่อไหร่” ประโยคหลังเขาพูดเสียงเบา เพราะเกรงแม่ครัวกับลูกศิษย์วัดจะได้ยิน

          “ส่วนผมเป็นคนชอบทำบุญมาก่อน แต่พอมีเรื่องกับท่านเจ้าคุณก็เลยเลิกทำ” คนมาจากกาญจนบุรีพูด

            “เจ้าคุณอะไรครับ” คนมาจากระยองถาม

          “ก็เจ้าคุณ....” เขาเอ่ยนามเจ้าคุณรูปหนึ่ง ที่กลังเป็นที่เคารพศรัทธาของคนกรุงเทพฯ มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักการเมืองหลายคน ล้วนแต่เป็นคนเด่นคนดังแทบทั้งสิ้น

          “เรื่องร้ายแรงมากหรือครับคุณถึงกับเลิกนับถือพระ”

          “ก็ไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ แต่มันก็เล่นเอาผมหมดศรัทธาไปเลย จะเล่าให้ฟังก็คงได้ คือพี่ชายผมเขาเป็นรัฐมนตรีแล้วก็เป็นลูกศิษย์ท่าน เวลาทำบุญก็นิมนต์ท่านมาที่บ้านเป็นประจำ วันหนึ่งเขาทำบุญวันเกิด นิมนต์ท่านไว้ล่วงหน้าแล้ว พอถึงวันงานก็ให้ผมไปรับ คือผมจะทำหน้าที่รับส่งท่านทุกครั้งที่นิมนต์มา บังเอิญวันนั้นภรรยาผมเอารถเบ๊นซ์ไปร้านเสริมสวย ผมก็เลยขับโตโยต้าของลูกสาวไปรับ คุณเชื่อไหม ท่านถือตาลปัตรกับย่ามเดินตามผมมาถึงรถ พอเห็นเป็นรถโตโยต้า ท่านถามว่า ทำไมไม่เอารถเบ๊นซ์มารับ ผมก็บอกเหตุผลท่านไป ท่านก็ยืนลังเลไม่ยอมขึ้นรถ เสร็จแล้วก็บอกผมว่ารอเดี๋ยวนะ แล้วก็หายเข้ากุฏิไป ประเดี๋ยวหนึ่งก็ส่งพระอีกรูปมาแทน พี่ชายผมโกรธมาก พระรูปนั้นเล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณท่านเจ้ายศเจ้าอย่าง ใครไม่เอารถเบ็นซ์มารับท่านก็ไม่ไป พระในวัดรู้กันดีว่าท่านติดในลาภสักการะมาก หากไม่มีผู้ใดกล้าเตือนเพราะท่านเป็นเจ้าอาวาส พวกผมก็เลยเลิกนับถือพระ เลิกทำบุญกันมาตั้งแต่บัดนั้น”

          “เรื่องที่คุณเล่ามาผมจะไม่เชื่อเลยถ้าไม่ประสบกับตัวผมเอง บังเอิญผมก็รู้จักท่าน แล้วก็โดนแบบเดียวกับที่คุณโดน ผมเลยเข็ด แต่ทำไมถึงมาวัดนี้ได้ก็ไม่รู้” บุรุษที่มาจากระยองพูด

          “แต่วัดนี้คงไม่ทำให้พวกเราต้องผิดหวังนะ ผมรู้สึกศรัทธาหลวงพ่อท่านจริง ๆ สงสัยว่าท่านจะเป็นพระวิเศษถึงได้รู้อะไร ๆ เกี่ยวกับพวกเรา ผมอยากมาทำบุญกับท่าน คงเป็นบุญของผมนะ ไม่งั้นคงไม่ดั้นด้นมาถึงที่นี่ เพราะวัดที่ภูเก็ตก็มีตั้งหลายวัด” การสนทนาชะงักลงชั่วครู่ เพราะรสชาติของอาหารไม่เปิดโอกาสให้คุยกัน เสร็จจากการรับประทาน นายสมชายจึงพาบุคคลทั้งสี่กลับมายังกุฏิท่านพระครูและพระอีกสองรูปนั่งรออยู่แล้ว

          คนทั้งสี่นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงกล่าวขึ้นว่า “พระวัดนี้ไม่เหมือนที่อื่นหรอกโยม ใครมานิมนต์ถ้าว่างก็ไปทั้งนั้น ไม่ต้องเอารถเบ็นซ์มารับด้วย เดินไปก็ยังเคย” คนทั้งสี่มองหน้ากันเลิ่กลั่ก สงสัยเสียจริงว่า ท่านรู้เรื่องที่พวกเขาคุยกันได้อย่างไร

          “แต่พระในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างท่านเจ้าคุณหมดหรอกนะ ที่ดี ๆ ก็ยังมีอีกมาก อย่าเพิ่งเข้าใจผิด” ท่านพูดต่อ เมื่อเห็นคนเหล่านั้นทำหน้าสงสัย “ไปตามคนขับรถสี่คนให้ไปกินข้าวเสีย” ท่านหันไปสั่งนายสมชาย “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ” คนที่มาจากระยองถาม

          “โยมอย่าได้พากันสงสัยไปเลย หลวงพ่อท่านสามารถรู้ทุกอย่างถ้าท่านอยากจะรู้” พระมหาบุญบอกกล่าว พระบัวเฮียวจึงเสริมอีกว่า “หลวงพ่อท่านได้ “เห็นหนอ” น่ะโยม” บุคคลทั้งสี่พอจะเข้าใจที่พระมหาบุญพูด แต่ไม่มีใครเข้าใจคำพูดของพระบัวเฮียว ไม่มีเลยสักคน!

          “เอาละ อิ่มหมีพีมันกันดีแล้ว ไหนลองบอกมาซิว่านึกยังไงถึงพากันมาที่นี่ได้ ไม่ได้นัดกันไม่ใช่หรือ”

          “ไม่ได้นัดครับ พวกผมเพิ่งมารู้จักกันที่นี่ ผมก็ไม่ทราบว่าคนอื่น ๆ เขามาที่นี่เพราะอะไร สำหรับผม ฝันว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งมาบอก ให้มาช่วยสร้างหอประชุมที่วัดป่ามะม่วงจะมีอานิสงส์มาก และจะมีเพื่อนเก่ามาช่วยสร้างอีกสามคน” คนมาจากระยองพูดยังไม่ทันจบ คนมาจากกาญจนบุรีก็พูดขึ้นว่า

            “ผู้หญิงอายุประมาณยี่สิบ ผิวคล้ำ หน้าคม ผมยาว”

          “สวมผ้าซิ่นสีน้ำเงิน เสื้อแขนกระบอกสีขาวใช่ไหม” คนมาจากเชียงใหม่ต่อให้ และคนที่มาจากภูเก็ตก็พูดด้วยเสียงอันดังว่า

          “เธอบอกว่าชื่อ กาหลง ใช่ไหม” เป็นอันว่าคนทั้งสี่ฝันแบบเดียวกัน ท่านพระครูรู้สึกประหลาดใจที่ “แม่กาหลง” มีศรัทธามากมายถึงปานนั้น “เห็นหนอ” บอกเพียงว่าจะมีคนมา แต่ไม่ได้บอกเรื่องแม่กาหลง

          “วัดนี้มีผู้หญิงชื่อ กาหลง ด้วยหรือครับ” คนที่มาจากภูเก็ตถาม ท่านพระครูเห็นว่า หากให้คนทั้งสี่รู้เรื่องแม่กาหลง เขาก็จะไม่ยอมมาวัดกันอีก จึงพูดแบ่งรับแบ่งสู้ว่า

          “มี แต่เขาไม่ค่อยชอบพบปะกับใคร อย่าไปกวนเขาเลย ว่าแต่ว่าคุยกันมาตั้งนาน อาตมายังไม่รู้เลยว่า โยมชื่ออะไรกันบ้าง แนะนำตัวกันสักหน่อยไม่ดีหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิพยายามเบนออกจากเรื่องแม่กาหลง พระบัวเฮียวเองก็ยังไม่รู้ว่าแม่กาหลงเป็นใคร

          “ผมชื่อบุญชัยครับ ใคร ๆ เขาเรียกผมว่าพ่อเลี้ยงชัย” คนมาจากเชียงใหม่แนะนำตัวเอง

          “ผมชื่อศักดิ์ชัย คนเมืองกาญจน์ เขาเรียกผมว่า เสี่ยชัย

          “คนระยองเขาเรียกผมว่า เถ้าแก่ชัย ชื่อเต็ม วิชัย ครับ”

          “ส่วนผมเขาเรียกว่า เฮียชัยกันทั้งจังหวัด” คนมาจากภูเก็ตแนะนำตัวเป็นคนสุดท้าย

          “แล้วชื่อเต็มว่าอะไร” พระมหาบุญถาม

          “ชื่อชัยเฉย ๆ ครับ” เขาตอบ

          “ถ้าอย่างนั้น อาตมารู้แล้วว่าจะตั้งชื่อหอประชุมว่าอะไรดี รับรองว่าโยมจะต้องเห็นด้วย” ท่านพระครูพูดขึ้น

          “ชื่ออะไรครับ” เสี่ยชัยถาม

          “หอประชุมจตุรชัย แปลว่าชัยทั้งสี่ หรือสี่ชัย เป็นยังไงโก้ดีไหม” คนตั้งชื่อถามความเห็น ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ แล้วพ่อเลี้ยงชัยจึงถามท่านพระครูบ้างว่า

          “พวกผมยังไม่ทราบเลยครับว่าหลวงพ่อชื่ออะไร”

          “แม่กาหลงเขาไม่ได้บอกหรอกหรือ”

          “ไม่ได้บอกครับ บอกแต่ชื่อวัดและที่ตั้ง” เสี่ยชัยเป็นคนตอบ

          “หลวงพ่อชื่อเจริญ ท่านพระครูเจริญ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง” พระมหาบุญเป็นผู้บอก

          “ถ้าอย่างนั้นผมขอเสนอว่า หอประชุมควรจะชื่อ เจริญชัย คือเอาชื่อหลวงพ่อนำ ตามด้วยชื่อพวกผม” เฮียชัยออกความเห็น ซึ่งสมาชิกทั้งสาม รวมพระอีกสองต่างก็เห็นด้วย ชื่อที่ท่านพระครูเสนอจึงต้องตกไปตามมติที่ประชุม

          “เป็นอันว่าเราได้ชื่อแล้ว ทีนี้เรื่องแบบล่ะครับ หลวงพ่อจะออกแบบเองหรือว่าจะให้พวกผมจัดการ” เสี่ยชัยถาม

          “อาตมาจะออกเอง ไหน ๆ เรื่องชื่อก็ตกไปแล้ว ขอแก้ตัวเรื่องแบบอีกสักครั้ง แล้วอาตมาจะให้โยมสี่คนดู ถ้าไม่ชอบใจก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อาตมาชอบประชาธิปไตย ไม่ชอบเผด็จการ” ฟังคำพูดของท่านแล้ว คนทั้งสี่รู้สึกสบายใจและมีศรัทธาปสาทะมากขึ้น

          “เรื่องแบบผมจะไม่คัดค้าน ขอให้เป็นไปตามความพอใจของหลวงพ่อ ผมได้เสนอชื่อและเป็นที่ยอมรับผมก็ดีใจแล้ว” เฮียชัยกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนอีกสามคน

          “ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย พวกผมสี่คนจะรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์” พ่อเลี้ยงชัยสรุป

          “เรื่องนี้อาตมาขอเสนอให้มีการทอดกฐิน จะได้ให้คนอื่น ๆ เขามีโอกาสร่วมทำบุญด้วย โบราณท่านสอนเอาไว้ว่าทำบุญอย่าหวงบุญ ต้องกระจายกันออกไปมาก ๆ อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนยากคนจนได้มีส่วนร่วมสร้างกุศล คนละสลึงสองสลึงก็ยังดี เกิดชาติหน้าจะได้มีบริวาร” ท่านพระครูแนะนำ

          “แต่นี่ก็หมดเทศกาลกฐินแล้วนี่ครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวท้วง

          “ปีนี้หมดก็ทอดปีหน้าได้ ถึงอย่างไรก็สร้างไม่เสร็จในปีเดียวหรอก หรือโยมว่ายังไง” ท่านถามเถ้าแก่ชัย

          “ครับ แล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควรเถิดครับ ส่วนผมคงไม่มีเวลามาที่นี่บ่อยนัก ก็จะขอฝากเงินไว้ก่อน ขาดเหลืออะไรหลวงพ่อช่วยมีหนังสือไปหาตามที่อยู่ในนามบัตรนี่นะครับ” พูดเสร็จจึงเขียนเช็คเงินสดจำนวนสามแสนบาทพร้อมนามบัตรถวายท่านพระครู คนอื่น ๆ ทำตามเพราะเห็นชอบด้วย ท่านพระครูรับไว้แล้วพูดสัพยอกว่า

          “เงินตั้งมากมาย นี่ถ้าเกิดอาตมาเบิกเงินแล้วหนีไปแต่งงาน โยมจะว่ายังไง”

          “ก็แล้วแต่หลวงพ่อเถิดครับ” เสี่ยชัยตอบ หากใจเกิดกลัวขึ้นมาจริง ๆ บุรุษอีกสามคนพลันเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกัน ท่านพระครูรู้จึงเสนอว่า

          “อาตมาว่าเราเปิดบัญชีร่วมกันทั้งห้าคนไม่ดีหรือ จะได้สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย” เสียชัยจึงตอบว่า

          “ทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่หรอกครับ แต่มันจะยุ่งยากตอนเบิกจ่าย เอาเป็นว่าพวกผมไว้ใจหลวงพ่อก็แล้วกัน”

          “ถ้าอย่างนั้นอาตมาจะตั้งกรรมการวัดขึ้นชุดหนึ่ง สำหรับดำเนินการเรื่องนี้ เรื่องการเบิกจ่ายก็จะให้กรรมการทุกคนรับรู้ อาตมาเป็นคนละเอียด จะทำอะไรก็ต้องให้รอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทองซึ่งทำให้คนเสียคน พระเสียพระมานักต่อนักแล้ว มีวัดหนึ่งอย่าให้อาตมาเอ่ยชื่อเลย โดยเขาทอดกฐินเพื่อจะเอาเงินสร้างโบสถ์ ปรากฏว่าสมภารเชิดเงินหนีไปแต่งงานอยู่ที่กรุงเทพฯ

          “แบบนี้ตกนรกไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “ไม่น่าถาม ก็เท่ากับฉ้อโกง เงินเขาเจตนาจะให้มาสร้างกุศล ไม่ได้ให้สมภารแต่งเมีย” บุคคลทั้งสี่ฟังแล้วรู้สึกใจไม่ดี ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” รู้ว่าเขายังคลางแคลงใจจึงพูดตัดบทว่า

          “เอาอย่างนี้ดีไหม กว่าอาตมาจะออกแบบเสร็จก็คงอีกหลายเดือน เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่าง ออกแบบแล้วยังจะต้องหาผู้รับเหมาให้มาประกวดราคา มันหลายขั้นตอน ก็คงจะกินเวลาอีกหลายเดือน โยมเอาเงินคืนไปก่อนดีกว่า ได้เรื่องอย่างไรแล้ว อาตมาจะมีหนังสือแจ้งไป อาตมาไม่อยากถือเงินมาก ๆ นึกว่าเห็นใจอาตมาเถอะ” เป็นอันว่าคนทั้งสี่ยอมรับเช็คคืนไป แต่ก็ได้ตั้งสัจจะว่าจะไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะช่วยสร้างหอประชุม

          เมื่อพวกเขากราบลา ท่านพระครูให้ศีลให้พรว่า “ขอให้โยมทุกคนจงมีความสุขความเจริญ และขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ ทีสำคัญคือ ขอให้หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต การหากินในทางทุจริตนั้น แม้จะรวยเร็ว แต่ก็วิบัติเร็วเช่นกัน จำไว้นะโยมนะ”

          “หลวงพ่อคืนเขาไปทำไมครับ น่าเสียดายเงินตั้งเป็นล้าน” พระบัวเฮียวพูดขึ้นเมื่อคนทั้งสี่ลุกออกไปแล้ว

          “ก็ฉันสำรวจดูแล้ว เห็นว่าเขายังไม่เชื่อใจ ก็เลยต้องทำให้เขาเชื่อ และไม่ต้องห่วงหรอก พวกเขาจะต้องกลับมาที่นี่อีก”

          “ครับ ถ้าอย่างนั้นผมก็หมดห่วง เอ...หลวงพ่อครับ ที่หลวงพ่อพูดถึงท่านเจ้าคุณนั้นท่านอยู่วัดไหน ชื่ออะไร แล้วท่านเป็นอย่างไรหรือครับ”

          “เธอจะรู้ไปทำไมล่ะ ถึงบอกไปเธอก็คงไม่รู้จัก”

          “ถึงไม่รู้จักผมก็ว่ามันมีประโยชน์นะครับ คือว่าท่านทำดีผมจะได้เอาเป็นตัวอย่าง ถ้าไม่ดีผมก็จะได้ไม่ทำตาม”

          “เหตุผลของเธอฟังเข้าท่าดี แต่ฉันจะไม่บอกเธอหรอก ท่านจะดีหรือไม่ดีมันก็เรื่องของท่าน”

          “เอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมใช่ไหมครับ” พระหนุ่มล้อเลียนมาอยู่วัดนี้ได้ยินแต่คำว่า “กฎแห่งกรรม” จนชินหู

          “ทำเป็นพูดเล่นไปเถอะ แล้ววันหนึ่งเธอจะรู้ คอยดูไปก็แล้วกัน อีกหน่อยพระที่ทำผิดวินัย ประพฤตินอกลู่นอกทางจะต้องเดือดร้อน จะถูกจับสึกบ้าง ติดคุกบ้าง ฆ่าตัวตายบ้าง แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่ากฎแห่งกรรมแล้วจะให้เรียกอะไร”

          “ครับ ก็ต้องเรียกว่ากฎแห่งกรรมนั้นแหละครับ” พระญวนเริ่มยวน” หากท่านพระครูไม่ใส่ใจ คงพูดต่อไปว่า

          “อันที่จริงฉันก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้ มันไม่สบายใจเพราะแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ฉันก็ตั้งปณิธานไว้ว่า จะไม่เป็นอย่างนั้น และจะสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาไม่ให้ประพฤติชั่ว ถ้า หอประชุมเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก ฉันตั้งใจจะเลิกสร้างวัตถุ จะสร้างคนแทน เพราะถ้าเราทำให้คนเปลี่ยนจากมิจฉาทิฐิมาเป็นสัมมาทิฐิได้ นับว่าได้บุญกว่าการสร้างวัตถุหลายเท่านัก ต่อไปข้างหน้าถ้าเธอไปเป็นครูบาอาจารย์ใคร ฉันก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย”

          “ครับ ผมจะดำเนินรอยตามหลวงพ่อทุกประการ” คนเป็นศิษย์รับสนองเจตนารมณ์ของอาจารย์

          “หลวงพ่อครับ เมื่อวานหลวงพ่ออนุญาตผมให้เรียนถามข้อข้องใจได้” พระบัวเฮียวทวงสัญญา พระมหาบุญซึ่งเป็นฝ่ายฟังมานานจึงพูดขึ้นว่า

          “ถ้าอย่างนั้น ผมเห็นจะต้องขอตัว เพราะผมไม่มีข้อสงสัยอะไร จะกลับไปปฏิบัติที่กุฏิ” พูดจบจึงกราบท่านเจ้าอาวาสสามครั้งแล้วลุกออกไป...

 
มีต่อ........๑๘


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 11, 2007, 08:00:54 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00018

 

๑๘...

            “หลวงพ่อครับนายจ่อยเขาบอกว่าหลวงพ่อมีกระจกวิเศษ” เป็นคำถามแรกที่พระบัวเฮียวถามท่านพระครู
                “งั้นหรือ แล้วเขาเล่าอะไรให้เธอฟังอีก”

          “เขาเล่าว่ากระจกวิเศษสามารถดูเนื้อคู่ได้ ที่เขาได้คู่หมั้นกับโยมจุกก็เพราะกระจกหลวงพ่อ”

          “อ้อ เขาว่ายังงั้นหรือ พูดถึงนายจ่อยทำให้ฉันนึกได้ว่าเขาจะแต่งงานวันที่ ๙ ธันวาที่จะถึงนี้ อีกไม่กี่วันแล้วซีนะ เขานิมนต์พระวัดเรา ๙ รูปเลย ไม่มีเจริญพระพุทธมนต์เย็น เราเห็นจะต้องออกกันตั้งแต่ตีสี่ ฉันจะให้เธอกับมหาบุญไปด้วย คงเต็มรถพอดี” ท่านนึกขอบใจครูสฤษดิ์ที่ซื้อรถตู้มาถวาย

          “ครับ แต่ผมอยากรู้เรื่องกระจกวิเศษนะครับ หลวงพ่อจะกรุณาเล่าให้ผมฟังได้หรือเปล่า แล้วถ้าผมจะขอ...เอ้อ...ขอดูเนื้อคู่ หลวงพ่อจะขัดข้องไหมครับ” พูดอย่างเกรงใจเป็นที่สุด

            “โธ่เอ๋ยบัวเฮียว รู้สึกว่าเธออยากจะมีคู่เสียจริงนะ จำไม่ได้หรือที่ฉันเคยบอกว่าดวงเธอไม่มีเนื้อคู่”

          “จำได้ครับ”

          “งั้นก็แปลว่าเธอไม่เชื่อ”

          “เชื่อครับ แต่ผมอยากให้กระจกตรวจสอบอีกที ก็หลวงพ่อบอกผมไว้หลายเดือนแล้ว ตอนนั้นเนื้อคู่ผมอาจจะยังไม่เกิด ตอนนี้คงจะเกิดแล้ว” ท่านพระครูอยากจะว่าแรง ๆ แต่เมื่อนึกได้ว่าอีกฝ่ายยังหนุ่มยังแน่น ก็ต้องคิดถึงเรื่องอย่างนี้อันเป็นธรรมชาติธรรมดาของคนหนุ่ม คิดได้ดังนี้จึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละ เมื่อเธออยากรู้ ฉันก็จะเล่าให้ฟัง” แล้วท่านจึงเริ่มต้นเล่าว่า

          “ฉันได้วิชานี้มาจากหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า ตั้งแต่ฉันบวชใหม่ ๆ ผู้ที่จะเรียนวิชานี้ได้จะต้องได้กสิณ ฉันก็ฝึกอาโปกสิณอยู่หลายเดือน จึงได้ไปเรียนกับท่าน เป็นวิชาไสยศาสตร์ กระจกหมอดูนี้ดูแม่นอยู่สองเรื่อง คือเรื่องของหาย กับดูเนื้อคู่ เชื่อไหม ถ้าฉันสึกออกไปหากินใต้ต้นมะขามสนามหลวง รับรองว่ารวยไม่รู้เรื่อง เพราะคนเขาชอบดูเนื้อคู่กัน โดยเฉพาะพวกอาจารย์สาว ๆ นี่ชอบดูนัก”

          “แล้วทำไมหลวงพ่อไม่สึกล่ะครับ เป็นผมสึกไปเสียตั้งนานแล้ว” พระบัวเฮียวขัดขึ้น

          “ก็ถึงว่าซี แต่ทำไมฉันถึงไม่สึกก็ไม่รู้” ท่านแกล้งเอออวย “รวบรัดตัดใจความก็คือ ฉันได้วิชาหมอดูจากหลวงพ่อศุข ที่นี้พอคนรู้ก็พากันมาให้ดูใหญ่ วิธีดูก็คือต้องเสกคาถาก่อนแล้วจึงเป่าไปที่กระจก เป็นกระจกแปดเหลี่ยมนะ ไม่ใช่กระจกธรรมดา เช่น สมมุติว่าเขามาดูเนื้อคู่ พอเสกคาถาลงไป คนที่จะมาเป็นเนื้อคู่ก็จะไปปรากฏที่กระจำ ทีนี้เวลาจะลบก็ต้องใช้น้ำมนต์ลบถึงจะออก ถ้าไม่ใช้น้ำมนต์ก็จะติดอยู่อย่างนั้นถึงเจ็ดวันจึงจะลบไปเอง

            นายจ่อยตอนนั้นเขาเป็นเณร อายุเพิ่งจะสิบห้า แต่มารบเร้าให้ดูเนื้อคู่ แหมพอภาพอีจุกติดในกระจก โกรธฉันเสียยกใหญ่ หาว่าฉันแกล้ง เสร็จแล้วเป็นไง หนีพ้นอีกจุกเสียที่ไหน” ท่านนึกภาพ “อีจุก” เด็กขี้มูกมากคนนั้นแล้วยังอดขำไม่ได้

          “เห็นว่าหลวงพ่อต้องเทข้าวทิ้งน้ำเพราะโยมจุกเป็นเหตุจริงหรือเปล่าครับ แล้วไม่กลัวผิดวินัยหรือครับ”

          “กลัวสิ ทำไม่จะไม่กลัว แต่มันคลื่นไส้ก็เลยบอกเณรจ่อยว่าเราเลี้ยงปลากันเถอะ แหมอีกจกนะอีจุก เล่นเอาฉันเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน ตอนบวชใหม่ ๆ ฉันก็ไม่ได้เป็นพระดิบพระดีเท่าไหร่หรอก” ท่านสารภาพ

          “แล้วทำไมเดี๋ยวนี้ถึงดีได้ละครับ” คนฟังย้อนถาม

          “ก็ตั้งแต่ได้เรียนกรรมฐานจากพระในป่า ฉันเลยกลับเนื้อกลับตัวได้ รู้ดีรู้ชั่วขึ้นมาเองเพราะการปฏิบัติ นับว่าเป็นบุญของฉัน ไม่เช่นนั้น ป่านนี้อาจกลายเป็นมารศาสนาไปแล้วก็ได้” ท่านพระครูหัวเราะหึหึ ก่อนที่จะเล่าต่อไปว่า

          “อยู่มาวันหนึ่ง สมภารจุ่นวัดบ้านเหนือก็มาขอให้ดูให้”

          “ดูของหายหรือครับ”

          “ไม่ใช่ ดูเนื้อคู่” ท่านลงเสียงหนักตรง “ดูเนื้อคู่”

            “เนื้อคู่ใครครับ”

          “ก็เนื้อคู่ท่านน่ะสิ อายุท่านก็ไม่เท่าไหร่ แค่หกสิบสอง อายุหกสิบสองมาให้ดูเนื้อคู่ สมภารนะสมภาร”

          “แล้วหลวงพ่อดูให้ไหมครับ”

          “ฉันก็ว่าจะไม่ดูเพราะเห็นท่านแก่จวนจะเข้าเมรุอยู่แล้ว ยังอยากจะมีคู่ พุทโธ่พุทถังอนิจจังอนิจจา”

          “แล้วเห็นไหมครับ มีใครมาปรากฏในกระจกไหม”

          “ไม่มี เพราะเนื้อคู่ท่านยังไม่เกิด ฉันก็บอกท่านว่า ท่านสมภาร เนื้อคู่ท่านยังไม่มาเกิด ยังอยู่ในเมืองนรก ท่านโกรธใหญ่หาว่าแกล้ง ที่จริงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แหมไม่น่ามาโกรธกันเลย” ท่านพูดยิ้ม ๆ

          “แล้วตอนนี้สมภารจุ่นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ”

          “ยังอยู่ เจ็ดสิบกว่าแล้ว ไม่รู้ยังคิดที่จะมีเนื้อคู่อยู่อีกหรือเปล่า เหมือนเธอนั่นแหละ” ประโยคหลังท่านวกมาหาคนฟัง

          “ไม่เหมือนหรอกครับ ผมเพิ่งจะยี่สิบหก ยังหนุ่มยังแน่น ถ้าหกสิบสองผมคงเลิกคิดแล้ว” พระบัวเฮียวแย้ง แล้วจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “หลวงพ่อครับ โปรดดูให้ผมสักครั้งเถิดครับ รับรองว่าผมจะไม่กวนใจหลวงพ่ออีกเลย”

          “สายไปเสียแล้วบัวเฮียวเอ๋ย อย่ามาอ้อนวอนเสียให้ยาก ถึงฉันจะใจอ่อนก็ดูให้ไม่ได้ เพราะฉันเลิกมาหลายปีแล้ว”

          “ทำไมเลิกเสียละครับ”

          “มันมีสาเหตุน่ะซี เอาละจะเล่าให้ฟัง บอกตามตรงว่าไม่อยากเล่าสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว เดี๋ยวจะหาว่าเอาเขามานินทา”

          “ถ้ามันทำให้หลวงพ่อไม่สบายใจ ไม่ต้องเล่าก็ได้ครับ” พระบัวเฮียวพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไร เธอจะได้หายสงสัย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ คือนายบุญช่วย เขามาขอให้ฉันดูของหาย”

          “ของอะไรเขาหายหรือครับ”

          “ไม่ใช่ของของเขาหรอก ของคนเขมรที่มาขออาศัยบ้านเขาอยู่ ตอนนั้นเขมรแตก ผู้คนก็พากันหนีออกนอกประเทศ ก็หอบทองกันมาคนละหลาย ๆ บาท คนที่มาอาศัยนายบุญช่วยอยู่นั่นเอาทองมาหนักห้าสิบบาท ทีนี้อยู่ ๆ ทองเกิดหายไป นายบุญช่วยก็พามาให้ฉันช่วยดู พอฉันเสกคาถาเป่าลงไปที่กระจกแปดเหลี่ยม ที่เธอเรียกว่ากระจกวิเศษนั่นแหละ แต่ฉันเรียกว่ากระจกหมอดู ผลปรากฏว่ายังไงรู้ไหม”

          “ไม่ทราบครับ”

          “ปรากฏว่า รูปนายบุญช่วยไปติดอยู่ที่กระจก ฉันก็ยังไม่ให้เขาดู บอกว่าโยมบุญช่วยกลับไปเถอะ อาตมาไม่ดูหรอกเดี๋ยวจะผิดใจกันเปล่า ๆ เขาก็ยืนยันว่าอยากดู ที่เขาพูดอย่างนี้เพราะไม่เชื่อว่ากระจกจะแม่น คิดว่าจะเหมือนรายของสมภารจุ่นที่มาดูเนื้อคู่แล้วไม่มีรูปปรากฏ ฉันก็ไม่ยอมดูให้ ที่แท้ฉันรู้แล้ว ภาพนายบุญช่วยก็ยังอยู่ในกระจก เขาก็ไปตามสมภารจุ่นให้มาช่วยพูด ฉันบอกถ้าอยากจะดูก็ตามใจ เลยเอากระจกให้ดู เธอเอ๋ยเขาโกรธฉันเสียใหญ่ ไม่โกรธอย่างเดียว ก่นด่าหยาบ ๆ คาย ๆ บรรพบุรุษฉันทั้งข้างพ่อข้างแม่ถูกนายบุญช่วยขุดขึ้นมาด่าหมด แถมเปลี่ยนหน้าให้ฉันเสียอีก”

            “เปลี่ยนยังไงครับ” พระญวนสงสัย

          “ก็เปลี่ยนจากหน้าคนเป็นหน้าอวัยวะเพศน่ะซี ตานี่หยาบคายมาก” ท่านยังจำถ้อยคำหยาบคายของฝ่ายนั้นได้

          “แล้วหลวงพ่อโกรธไหมครับ”

          “โกรธหน้าเขียวหน้าเหลืองเชียวละ ฉันก็เลยยกมือขึ้นประนมสาบานต่อหน้าสมภารจุ่นว่า นับแต่นี้ต่อไปจะไม่ดูให้ใครอีก แล้วฉันก็เขวี้ยงกระจกหมอดูลงแม่น้ำเจ้าพระยาไป ทั้ง ๆ ที่มีรูปนายบุญช่วยติดยู่ นี่แหละสาเหตุที่ทำให้ฉันเลิกดู” ท่านพระครูเล่า “เขวี้ยง” ของท่านก็คือ “ขว้าง”

          “แล้วเดี๋ยวนี้นายบุญช่วยยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ ผมอยากจะไปเตะมันสักสองสามป้าบฐานมาด่าครูบาอาจารย์ผม” พระบัวเฮียวพูดอย่างโกรธแทนผู้เป็นอาจารย์

          “อย่าไปสนใจเขาเลย ฉันเองก็ไม่ได้ผูกพยาบาทฆาตพยาเวรอะไรเขาแล้ว มัน...”

          “เป็นไปตามกฎแห่งกรรม” พระบัวเฮียวต่อให้

          “ก็จริง ๆ นี่นา ตอนหลังมีคนมาบอกว่าเขาไปติดคุกอยู่หลายปีด้วยเรื่องนี้ เรื่องขโมยทองเขมรนี่”

          “ตอนที่หลวงพ่อโกรธ หลวงพ่อกำหนด “โกรธหนอ” หรือเปล่าครับ”

          “ไม่ได้กำหนด เพราะตอนนั้นยังกำหนดไม่เป็น ยังไม่ได้เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อในป่า เลยโกรธเสียไม่มีดี ถ้าเป็นฆราวาสอยู่ก็เห็นจะต้องตายกันไปข้างหนึ่ง เห็นไหม เธอเห็นอานิสงส์ของการบวชหรือยัง ฉันถึงได้ไม่ยอมสึกเพราะไม่งั้นคงตกนรกเพราะฆ่าคนตาย”

          นายบุญช่วยนี่แย่มากนะครับ เขาอุตส่าห์หนีร้อยมาพึ่งเย็น ไม่น่าไปทำกับเขาอย่างนั้น ใจดำอำมหิตจริง ๆ”

          “อย่าไปว่าเขาเลย เขาก็ชดใช้กรรมที่เขาก่อแล้ว กรรมมันให้ผลทันตาเห็นจริง ๆ แหม นายบุญช่วยนี่สำคัญ มาเปลี่ยนหน้าให้ฉันได้” พูดแล้วก็หัวเราะ เรื่องที่เคยสะเทือนใจในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องน่าขันเสียมากกว่า ช่างไม่มีอะไรคงที่คงทน ไม่มีตัวไม่มีตนให้ยึด ให้ถือแม้แต่อย่างเดียว

          “ถ้าผมจะไปขอเรียนวิชากับหลวงพ่อศุขบ้าง ท่านจะสอนให้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วฉันก็ไม่รู้จะไปถามท่านได้ที่ไหน เพราะท่านเข้าเมรุไปสี่ห้าปีแล้ว” แม้จะไม่มีเชื้อสายญวนแต่ท่านก็พูด “ยวน” ได้

          “แหมเสียดายจริง ๆ ไม่งั้นผมคงมีโอกาสสึกไปนั่งใต้ต้นมะขามแน่เลย เรียนจากหลวงพ่อได้ไหมครับ”

          “เธอจะเรียนไปทำไม มันไม่มีประโยชน์สักเท่าไหร่ ช่วยให้พ้นทุกข์ก็ไม่ได้ ฉันตั้งใจแล้วว่าจะไม่สอนให้ใคร แต่ถ้าจะเรียนวิชากรรมฐาน ฉันยินดีจะสอนให้เพราะเป็นวิชาที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เชื่อฉันเถอะ อย่างวิชาทำเสน่ห์ก็เหมือนกัน ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย”

          “หลวงพ่อเรียนด้วยหรือครับ”

          “เรียนซี ฉันเรียนวิชาไสยศาสตร์ มาหลายวิชา แต่เดี๋ยวนี้ทิ้งหมดแล้ว เหลือแต่วิชากรรมฐานวิชาเดียว ส่วนไสยศาสตร์ทิ้งหมด”

          “หลวงพ่อคิดยังไงถึงไปเรียนวิชาทำเสน่ห์ล่ะครับ”

          “อ้าว ก็อยากให้ผู้หญิงเขารักน่ะซีถามได้”

          “แล้วเขารักไหมล่ะครับ”

          “รักหรือไม่รักก็นับปิ่นโตไม่ไหวแล้วกัน สาว ๆ แย่งกันมาส่งปิ่นโตวันนึงยี่สิบเถาได้มั้ง จนไม่รู้จะฉันของใคร”

          “แล้วเดี๋ยวนี้ทำไมไม่มีสักเถาเดียวล่ะครับ”

          “ก็ฉันไม่ยอมสึกสักที ปิ่นโตก็เลยค่อย ๆ หายไปทีละเถาสองเถา เพราะคนส่งเขาไปแต่งงานกับคนอื่น ในที่สุดก็ไม่เหลือสักเถาอย่างที่เธอว่านั่นแหละ แหมคนแถวนี้ไม่ไหวคบไม่ได้” แล้วท่านก็หัวเราะหึหึ ไม่ทราบว่าขำอะไร ยิ่งเล่าคนเล่าก็ยิ่งนึกสนุกจึงเล่าต่ออีกว่า “พวกคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่เบา หนอย วางแผนจะจับฉันไปเป็นลูกเขย โน่นบ้านฝั่งโน้น” ท่านชี้ไปยังบ้านที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

          “วางแผนอย่างไรครับ” คนถามสนใจ

          “ก็ทำเป็นนิมนต์ไปเที่ยวบ้านน่ะซี จะให้ไปจีบลูกสาว ไอ้เรารึก็รู้ทันว่า ถ้าไป ถูกจับแต่งงานแน่ ก็เลยไม่ยอมไป คนพวกนี้เจ้าเล่ห์อย่าบอกใคร กว่าฉันจะครองตัวอยู่มาจนอายุห้าสิบนี่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายเชียวละ ไม่งั้นก็ไม่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้หรอก”

          “แล้วหลวงพ่อคิดจะสึกไหมครับนี่” คนเป็นศิษย์แกล้งถาม

          “จะสึกไปทำไมกันเล่า อยู่มาจนป่านนี้แล้ว” คนตอบตอบจริงจัง

          “มันก็ไม่แน่นะครับ หลวงพ่อเพิ่งจะห้าสิบ สมภารจุ่นตั้งหกสิบสองยังคิดสึกเลย”

          “นั่นมันสมภารจุ่น แต่สมภารเจริญไม่เป็นอย่างนั้นแน่ รับรองได้ ถ้าจะสึกก็คงสึกเสียตั้งแต่หนุ่ม ๆ แล้ว”

          “ตอนหนุ่ม ๆ เขาว่าหลวงพ่อรูปหล่อมากจนต้องกินยาลดความหล่อจริงหรือเปล่าครับ นายจ่อยเขาเป็นคนบอกผม”

          “อ้อ เจ้าจ่อยเขาว่ายังงั้นหรือ แล้วเธอเชื่อเขาหรือเปล่าล่ะ เชื่อหรือเปล่าหือ”

          “ยังไม่เชื่อเสียเลยทีเดียว ผมอยากทราบข้อเท็จจริงจากปากหลวงพ่อครับ”

          “เธอจะรู้ไปทำไม ฉันมองไม่เห็นประโยชน์สักนิด”

          “ผมอยากสึกน่ะครับ” พระหนุ่มสารภาพ

          “เธอจะอยากไปทำไมนะบัวเฮียว ถ้าอยากรับรองว่าไม่ได้สึก”

          “งั้นผมไม่อยากก็ได้” พระบัวเฮียวหลงกล ท่านพระครูจึงสรุปว่า “ดี ๆ ฉันขออนุโมทนา การครองเพศบรรพชิตนั้นประเสริฐที่สุดแล้ว เธอจะสึกออกไปสร้างเวรสร้างกรรมทำไมเล่า”

            “โธ่หลวงพ่อ ก็คนที่เขาหล่อน้อยหว่าผมยังสึกนี่นา” พระหนุ่มครวญ

          “แล้วที่หล่อมากกว่าเธอที่เขาไม่สึกล่ะ อย่างน้อยก็มีฉันคนหนึ่งละ...” คนเป็นอาจารย์ยั่วลูกศิษย์

          “เรื่องของหลวงพ่อ ไม่ใช่เรื่องของผม” คนเป็นศิษย์พูดงอน ๆ

          “ทำไมเธอถึงอยากสึกนักนะบัวเฮียว”

          “เรื่องของผมไม่ใช่เรื่องของหลวงพ่อ” เห็นคนเป็นศิษย์งอน อาจารย์จึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

          “เชื่อฉันเถอะบัวเฮียว อย่าหาบ่วงมารัดคอเลย ชีวิตแต่งงานนั้นมีแต่ทุกข์”

          “ก็หลวงพ่อไม่เคยแต่งงาน แล้วหลวงพ่อรู้ได้ไงว่ามันทุกข์” คนเป็นศิษย์ย้อน

          “ก็เธอไม่ใช่ฉัน แล้วเธอรู้ได้ไงว่าฉันไม่รู้” คนเป็นอาจารย์โต้กลับ

          “ผมยอมแพ้ ไม่เถียงกับหลวงพ่อแล้ว เถียงไปก็ไร้ประโยชน์” พระบัวเฮียวยอมแพ้เอาดื้อ ๆ

          “มันไม่ใช่เรื่องแพ้เรื่องชนะหรอกบัวเฮียว เรามาพูดเรื่องจริงกันดีกว่า ขอให้เชื่อฉันสักครั้ง ว่าชีวิตการครองเรือนนั้นมันทุกข์ จริงอยู่ถึงฉันจะยังไม่เคยมีครอบครัว แต่มันก็เฉพาะชาตินี้เท่านั้น ชาติที่แล้วฉันมีก็อย่างที่เคยเล่าให้เธอฟังนั่นแหละ เธอเดินอยู่บนเส้นทางอันประเสริฐแล้ว จะมาเปลี่ยนเสียทำไมกัน” คำพูดของพระอุปัชฌาย์ทำให้พระบัวเฮียวได้คิด จริงศิ หมู่นี้ท่านครุ่นคิดถึงแต่เรื่องลาสิกขา ทั้งที่ตั้งใจไว้แต่ต้นแล้วว่า จะครองเพศสมณะไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แต่เหตุไฉนจิตใจจึงมาปรวนแปรเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงปานนี้

          ความสงสัยประดังขึ้นมาอีก คราวนี้เป็นความสงสัยในตัวเอง จึงเรียนถามท่านพระครูว่า

          “หลวงพ่อครับ หมู่นี้ไม่รู้เป็นอะไรผมถึงได้คิดแต่เรื่องสึกออกไปมีครอบครัว อยากพบเนื้อคู่ อยากแต่งงาน เจ้าความรู้สึกอันนี้มันคอยรบกวนผมอยู่เรื่อย มันเป็นเพราะอะไรครับ”

          “มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยน่ะสิ เธอรู้ไม่ใช่หรือ ว่าเวลานี้เธอกำลังทำอะไรอยู่ เธอกำลังปฏิบัติกรรมฐานซึ่งถือเป็นการทำความดีชั้นสูงสุด เพราะการฝึกอบรมจิตนั้นเป็นยอดของการทำความดี เมื่อทำความดีก็ต้องมีมารมาผจญ มารที่เธอกำลังผจญอยู่ขณะนี้คือ นิวรณ์”

          “นิวรณ์ที่หมายถึงสิ่งที่มากีดกั้นขัดขวางไม่ให้เราทำความดีใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว ฉะนั้นเธอจะต้องมีความเพียร มีจิตใจที่เข้มแข็งฟันฝ่าอุปสรรคนี้ให้ได้ เพื่อบรรลุความดีสูงสุด อันเป็นจุดหมายที่แท้จริงของชีวิต การที่เธอคิดแต่จะสึกออกไปแต่งงาน ก็เพราะอำนาจของกามฉันทนิวรณ์ ยัง ยังมีอีกที่เธอจะต้องผจญ ยังมีพยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ และอุทธัจจกุกกุจนิวรณ์ อีกสามตัว นี่เธอยังเจอแค่สองตัวเท่านั้น และถ้าเธอเอาชนะเจ้าสองตัวนี้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปพูดถึงอีกสามตัวที่เหลือ”

          หลวงพ่อครับ ทำไมเจ้านิวรณ์มันถึงได้มารบกวนเฉพาะตอนที่เราปฏิบัติธรรมล่ะครับ แล้วเวลาที่เราไม่ปฏิบัติมันพากันไปอยู่เสียที่ไหน” ถามอย่างข้องใจ

          “มันก็แนบเนื่องอยู่ในจิตของเรานั้นแหละ เมื่อไหร่ที่เรายังไม่ได้ทำความดี มันก็นอนสบายเฉยอยู่ ต่อเมื่อเราทำความดี นั่นแหละมันถึงจะลุกขึ้นมาอาละวาด เพราะฉะนั้นเราจะต้องไล่มันออกไปจากจิตให้หมดสิ้น”

          “อย่างที่หลวงพ่อพูดเสมอ ๆ ว่า “มารไม่มีบารมีไม่เกิด” ใช่ไหมครับ

          “ก็คงงั้นมั้ง พระบัวเฮียวรู้สึกว่าจิตใจปลอดโปร่งขึ้น หากก็ยังสงสัยอยู่อีกนิดหนึ่ง จึงเรียนถามท่านพระครูว่า

          “หลวงพ่อครับ แล้วยาลดความหล่อนี่มันมีจริง ๆ หรือเปล่าครับ”

          “ถ้ามีจริงเธอจะทำไม”

          “ผมจะขอไปกินบ้างน่ะครับ พระอุปัชฌาย์ได้ยินดังนั้นจึงพินิจพิจารณาคนเป็นศิษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วพูดว่า

          “หน้าตาอย่างนี้ไม่ต้องพึ่งยาลดความหล่อ ไม่ต้องพึ่ง”

            “โธ่หลวงพ่อ มาแบบนายจ่อยอีกคนนึงแล้ว” พระบัวเฮียวโวยวาย แล้วจึงชี้แจงอย่างน้อยอกน้อยใจในโชควาสนาว่า

          “ผมไม่ได้หมายความว่ายังงั้น คือไหน ๆ ผมก็ไม่มีโอกาสได้แต่งงานเหมือนชาวบ้านเขา ก็ทำให้มันสุดเหร่ไปเลย จะได้ปลงได้ว่า เพราะตัวเองขี้เหร่ถึงไม่มีผู้หญิงมาแต่งงานด้วย เจ้ากามฉันทนิวรณ์มันจะได้ล่าทัพกลับไป ไม่มารบกวนผมอีก”

          “ไม่ต้องใช้ยาลดความหล่อไปไล่ให้มันยุ่งยากหรอก ถ้าเธอมีสติรู้เท่าทันมันตลอดเวลา มันก็ครอบงำเธอไม่ได้ เราต้องใช้ปัจจัยภายใน ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก” ท่านพระครูทั้งแนะแนวและแนะนำ

          “ครับ ถึงตอนนี้ผมเข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋เลยครับ ผมจะกลับไปสู้กับมันเดี๋ยวนี้ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่กรุณาชี้ทางสว่างให้ผม” ท่านก้มลงกราบอาจารย์สามครั้งแล้วลุกออกมา ความอึดอัดขัดข้องพลันมลายไป มีความปลาบปลื้มโปร่งใจเข้ามาแทนที่..

           

มีต่อ........๑๙


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 11, 2007, 08:01:53 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00019

 

๑๙...

          ตอนสายของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ ท่านพระครูกำลังสอบอารมณ์ให้อุบาสิกาทองริน โดยมีนายสมชายนั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ

            ทุกครั้งที่มีการสนทนากับสตรีชนิดตัวต่อตัว ท่านจะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วยเสมอ จึงเป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า

            สมภารวัดป่ามะม่วงท่านเคร่งวินัยนัก โดยเฉพาะเรื่องเพศตรงข้าม ท่านจะระมัดระวังเป็นพิเศษ สงฆ์หลายรูปที่ตั้งใจมาบวชเพื่อหวังความหลุดพ้น แต่เพราะไม่สำรวมระวังในการปฏิบัติต่ออิสตรี จึงถูกสึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนเสียมากต่อมาก

            แม้ในสมัยพุทธกาล เรื่องเช่นนี้ก็เคยปรากฏ ดังกรณีของพระอานนท์เถระ ซึ่งถูกนางภิกษุณีชื่อวสิกา วางแผนล่อลวงจะให้สึก ด้วยนางสนิทเสน่หาหลงใหลในรูปโฉมของพระอานนท์ยิ่งนัก หากเพราะมีการตั้งสติไว้เฉพาะหน้า ระวังใจมิให้แปรปรวน ท่านพระอานนท์จึงรอดพ้นจากกลลวงของภิกษุณีรูปนั้นได้ ทั้งยังเทศนาโปรดนางให้สำนึกรู้ในผิดชอบชั่วดีอีกด้วย

            “ไงโยม มีอาการอย่างไรบ้าง พอง – ยุบ ชัดเจนดีไหม” ท่านถามอุบาสิกาวัยสี่สิบเศษ ซึ่งอุตส่าห์เดินทางจากกรุงเทพฯ มาเข้ากรรมฐาน หล่อนตั้งใจมาอยู่วัดเจ็ดวัน แต่ท่านให้อยู่สิบห้าวันเพราะ “เห็นหนอ” บอกว่าหล่อนกำลังมีเคราะห์ เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาเอาชีวิต ภายในสิบห้าวัน หากหล่อนปฏิบัติกรรมฐานอยู่แต่ในวัด ก็จะพ้นเคราะห์ออกไปนอกวัดเมื่อใด จะต้องถูกรถชนตายทันที เพราะดวงของหล่อนจะต้องตายโดยอุบัติเหตุอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตายโหง” ท่านจึงกำชับนักกำชับหนา ไม่ให้หล่อนออกไปไหน

            “บางทีก็ชัด บางทีก็ไม่ชัดค่ะ” นางทองรินตอบ

            พระบัวเฮียวจะมาให้ท่านสอบอารมณ์เช่นกัน ครั้นเห็นท่านกำลังมีแขกจึงหันหลังกลับแต่ท่านพระครูเรียกเอาไว้

            “มีอะไรหรือบัวเฮียว เข้ามาคุยกันก่อนซิ” พระหนุ่มจึงเดินเข้ามานั่งในที่อันสมควร แล้วจึงทำความเคารพพระอุปัชฌาย์ นางทองรินทำความเคารพท่าสนด้วยการกราบสามครั้ง

            “ฉันกำลังสอบอารมณ์ให้โยมเขา เธอฟังด้วยก็ได้ ฝึกเอาไว้ ในวันข้างหน้าเมื่อไปเป็นครูบาอาจารย์เขา จะได้สอบอารมณ์เป็น”

            “ครับ” พระหนุ่มรับคำ เห็นท่านพระครูได้เพื่อนแล้ว นายสมชายจึงลุกออกไปทำธุระของตน

            “หลวงพ่อคะ สองสามวันมานี่ ดิฉันปฏิบัติไม่ค่อยได้ผลเลยค่ะ

            “ทำไมล่ะ คิดถึงบ้านหรือไง”

            “ไม่คิดถึงค่ะ แต่มันง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา เดินจงกรมก็ง่วง นั่งสมาธิก็ง่วง”

            “นั่งสัปหงกน้ำลายไหลยืดเลยใช่ไหม” ท่านถามเพราะทราบดีว่าอาการเช่นนี้เกิดจากอะไร

            “ค่ะ แหม หลวงพ่อพูดราวกับเคยเห็น” หล่อนพูดเขิน ๆ

            “ทั้งเคยเห็นทั้งเคยเป็นเชียวแหละโยม ที่มีอาการอย่างนี้เพราะถูกถีนมิทธนิวรณ์ครอบงำ โยมกำลังผจญมาร เจ้ามารตัวนี้ชื่อ ถีนมิทธะเป็นนิวรณ์ตัวที่ทำให้จิตหดหู่ เซื่องซึม เกียจคร้าน ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา”

            “แล้วเราจะกำจัดมันได้อย่างไรครับ” พระบัวเฮียวถามเพราะกำลังประสบปัญหาแบบเดียวกัน

            “วิธีกำจัดถีนมิทธนิวรณ์ทำได้โดยบริโภคอาหารให้น้อยลง ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น ยืนบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง สลับกันไป อีกวิธีหนึ่งคืออยู่ในที่โล่งแจ้งและที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีความเพียร ตั้งจิตแน่วแน่ว่าจะต้องเอาชนะมันให้ได้”

            “การทำความดีนี่ยากจังเลยนะคะหลวงพ่อ ดิฉันชักท้อใจเสียแล้ว” สตรีวัยสี่สิบเศษเผยความรู้สึก

            “ท้อไม่ได้ซี โดยเฉพาะเวลานี้ โยมกำลังมีเคราะห์ ถ้าโยมท้อถอยต้องลำบากแน่ อย่าลืม พุทธภาษิตที่ว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร โยมจำข้อนี้ไว้ให้ดีแล้วก็เร่งปฏิบัติเขาจะพ้นทุกข์ได้” ท่านให้กำลังใจ

            สตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งคลานเข้ามากราบท่านพระครู แล้วพูดขึ้นว่า

            “หลวงพี่จำฉันได้หรือเปล่า”

            “ใครจะจำแม่ครัวฝีมือเอกที่ชื่อบุญรับไม่ได้ล่ะ วัดนี้เป็นยังไงถึงได้ไม่อยากมา” ท่านพระครูต่อว่าต่อขาน นางบุญรับเคยมาช่วยทำกับข้าวอยู่โรงครัวหลายปี ภายหลังได้โยกย้ายไปอยู่ที่พิจิตร จึงหายหน้าหายตาไป

            “ไม่เป็นยังไงหรอกจ้ะ ฉันน่ะอยากมาทุกวันนั่นแหละ แต่จนใจด้วยหนทางมันไกลปาลำบาก คิดถึงหลวงพี่ทุกเวลานาทีเลย” นางพูดพลางชำเลืองไปทางอุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาว นั่งสงบเสงี่ยมอยู่ต่อหน้าท่านพระครู ครั้นเห็นหน้าหล่อนชัดเจน นางบุญรับให้นึกเกลียดขึ้นมาทันที ก็หน้าของหล่อนช่างเหมือนเมียใหม่ของผัวเก่านางเสียนี่กระไร นางบุญรับเลิกกับผัวเก่าไปมีผัวใหม่ ข้างผัวเก่าของนางก็มีเมียใหม่เช่นกัน อันที่จริงต่างคนต่างมีใหม่ ก็น่าจะหายกัน นางไม่น่าจะมาเกลียดชังผู้หญิงคนนี้ แต่ทำไมถึงต้องเกลียดเพียงเพราะแม่นี่หน้าเหมือนนังนั่น หาเหตุผลให้ตัวเองไม่ได้ เลยนั่งค้อนขวับ ๆ โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันรู้ตัว ท่านพระครูนึกขำ สงสารอุบาสิกาก็สงสารที่หล่อนช่างมีเจ้ากรรมนายเวรมากมายเสียจริง ๆ

            “โยมมีอะไรจะถามอีกไหม ถ้าไม่มีก็กลับไปปฏิบัติที่กุฏิได้ พรุ่งนี้อาตมาไม่อยู่ จะไปงานแต่งงานหลานที่โคกสำโรง โยมมีอะไรข้องใจก็เก็บไว้ถามช่วงบ่ายก็แล้วกัน อย่าลืมว่าห้ามออกนอกบริเวณวัดโดยเด็ดขาด เอาละไปได้แล้ว” นางทองรินกราบภิกษุทั้งสอง แล้วจึงลุกออกมา นางบุญรับมองตามพลาง “ขว้างค้อน” ใส่

            “หมั่นไส้” นางขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด

            “ไปหมั่นไส้อะไรเขาเล่า ข้าไม่เห็นเขาไปทำอะไรให้แกสักหน่อย” กับคนคุ้นเคยท่านจะใช้คำว่า “ข้า” และ “แก”

            “ก็ฉันเกลียดมัน ดูมันเดินเข้านั่นตูดบิดไปบิดมาน่าทุเรศจริงจริ๊ง” นางบุญรับไม่ฟังเสียง

            “เอ้า ไหนแกลองลุกขึ้นแล้วเดินออกไปซิ โน่นเดินไปทางโน้น” ท่านพระครูสั่ง นางบุญรับทำตาม เดินไปได้สักสี่ห้าเมตร ท่านพระครูจึงเรียกให้กลับมานั่งตามเดิม

            “นี่แน่ะแม่บุญรับนับวิชา รู้ตัวหรือเปล่า แกน่ะเดินตูดบิดน่าเกลียดยิ่งกว่าเขาเสียอีก แล้วยังจะมีหน้าไปว่าคนอื่นเขา” ท่านตั้งใจสอนนางบุญรับทางอ้อม หากฝ่ายนั้นหารู้ตัวไม่

            “ก็มันเกี่ยวอะไรกับหลวงพี่ล่ะ ฉันจะเดินยังไงมันก็เรื่องของฉัน” อดีตแม่ครัวฝีมือเอกพูดงอน ๆ

            “มันก็เหมือนกันนั่นแหละ โยมคนนั้นเขาจะเดินยังไงมันก็เรื่องของเขา แล้วแกไปหมั่นไส้เขาทำไมเล่า”

            “ก็ฉันเกลียดมัน” นางไม่กล้าบอกว่าเพราะผู้หญิงคนนั้นหน้าเหมือนภรรยาใหม่ของสามีเก่า แต่ท่านพระครูก็รู้ จึงพูดขึ้นว่า

            “ข้ารู้นะว่าแกเกลียดเขาทำไม่ เขาหน้าเหมือนเมียใหม่ของผัวเก่าแกใช่ไหมล่ะ” คราวนี้นางบุญรับรับเสียงอ่อยว่า

            “ถูกแล้วจ้ะ แหม หลวงพี่นี่แสนรู้จริง ๆ รู้ไปหมดทุกเรื่องเลยพับผ่าซี”

            “โยม พูดกับพระกับเจ้าให้มันดี ๆ หน่อย เดี๋ยวจะบาปจะกรรมเปล่า ๆ” พระบัวเฮียวเตือนอย่างหวังดี นางบุญรับเลยพาลเกลียดท่านไปอีกคน

            “ฉันไม่ถือสาหรอกบัวเฮียว แม่คนนี้เขาทำกรรมาอย่างนี้ วจีทุจริต ท่านเน้นตรง วจีทุจริต

            “แต่ผมว่าถ้าพอจะแก้ไขได้ ก็ควรจะแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม” ลูกศิษย์ยืมคำพูดอาจารย์มากล่าว แล้วก็เลยกลายเป็นการสร้างศัตรูไปโดยไม่รู้ตัว

            “นี่ไปยังไงมายังไงไม่ทันบอกกันเลย มาถึงก็แช็ด ๆ ๆ ว่าคนโน้นเกลียดคนนี้ นิสัยไม่เปลี่ยนเลยนะเราน่ะ” ท่านพระครูว่าตรง ๆ แต่นางบุญรับไม่โกรธ ท่าสนจะดุจะว่าอย่างไรนางไม่เคยถือสา เหมือนกับท่านไม่ถือสานาง สมัยที่มาช่วยทำครัว หล่อนเที่ยวทะเลาะกับคนโน้นคนนี้ ถือตัวว่าทำอาหารอร่อย เลยเที่ยวดูถูกฝีมือคนอื่นเขาไปทั่ว หลายคนจึงแอบนินทานางลับหลังว่า “อุตส่าห์เข้าวัด แต่ไม่ยอมละยอมวางสักอย่างเดียว”

            “ฉันจะมาช่วยทำครัวสักเจ็ดแปดวัน ก็คิดถึงหลวงพี่หรอกนะถึงได้มาเนี่ย” นางไม่วาย “หยอดยาหอม”

            “งั้นก็ดีแล้ว จะได้ให้ไปอยู่กับโยมคนนั้น เผื่อจะหายเกลียดกัน” สมภารวัยห้าสิบแกล้งยั่ว

            “โอ๊ย ไม่เอาหรอก เรื่องอะไรจะให้ไปอยู่กับคนที่เกลียด” นางปฏิเสธ

            “อ้อ ต้องให้อยู่กับคนที่รักใช่ไหม งั้นก็มาอยู่ที่กุฏิข้าเสียเลยดีไหมเล่า” ท่านประชด ทำไมจะไม่รู้ว่า สมัยสาว ๆ นางบุญรับหลงรักท่านยังกับอะไรดี ถึงขนาดหายใจเป็น “หลวงพี่เจริญ” นั่นเทียว

            “แหม ถ้าได้ยังงั้นก้อแจ๋วซี” แทนที่จะอายนางกลับว่าไปโน่น ท่านเจ้าของกุฏิรู้สึกสังเวชที่ผู้หญิงอายุร่วมห้าสิบแล้ว แต่ยังไม่รู้จักปล่อยวาง

            “เออ ทำพูดดีไปเถอะ นรกจะกินหัวแกโดยไม่รู้ตัว หนอย จะวอนให้ข้าเดือดร้อนแล้วไหมล่ะ ประเดี๋ยวผัวเก่าผัวใหม่แกได้มาช่วยกันรุมข้าหรอก” ฟังนางบุญรับพูดจาโต้ตอบกับท่านพระครูแล้ว พระบัวเฮียวรู้สึกไม่ชอบหน้าผู้หญิงคนนี้เอามาก ๆ ท่านมิรู้ตัวดอกว่า “มาร” ที่ท่านจะต้องผจญเป็นลำดับต่อไปคือ พยาบาทนิวรณ์

            “ตกลงหลวงพี่จะให้ฉันพักที่ไหนล่ะ” นางถาม

            “ก็ไปเลือกดูเอาเองก็แล้วกัน ที่ไหนว่างก็พักได้ หรือจะพักที่เมรุนั่นก็ได้ ตอนนี้ยังว่างอยู่” ท่านพูดประชด

            “แหม หลวงพี่แช่งอีบุญรับเสียแล้วไหมล่ะ ฉันยังไม่ยอมตายง่าย ๆ หรอก ต้องรอเผาคนที่ฉันเกลียดเสียก่อน” นางหมายถึงพระบัวเฮียวและอุบาสิกาคนนั้น

            “อ้อ นี่แกกำหนดวันตายได้งั้นซี ข้าเห็นมานักต่อนักแล้วบุญรับเอ๋ย ไอ้ที่เที่ยวแช่งคนโน้นคนนี้ ตัวเองตายก่อนเขาทุกราย”

            “แช่งอีกแล้ว แหม มาคราวนี้ซวยจัง ถูกหลวงพี่แช่งอยู่เรื่อย” นางบ่นกระปอดกระแปด

            ชายอายุประมาณหกสิบ รูปร่างอ้วนเตี้ย ศีรษะล้าน เดินเข้ามาในกุฏิ พนมมือพูดกับท่านพระครูว่า

            “หลวงพ่อ ผมมาขอยาแก้หืดหอบ อีปุกลูกสาวผมหอบใหญ่แล้ว” นายป่วนซึ่งมีบ้านอยู่ติดวัด บอกท่านพระครูด้วยท่าทางกังวล

            “ใครเขาบอกให้มาเอาล่ะ” ท่านย้อนถาม

            “ก็ไอ้ปองลูกชายผมมันบอกว่าเพื่อนเคยเป็น มันขอยาหลวงพ่อไปกินแล้วหาย ผมก็เลยมาขอมั่ง” นายป่วนชี้แจงพลางนั่งลง

            “ข้าไม่มีหยูกมียาอะไรหรอก แต่ถ้าจะให้หายหืดหอบก็ไปเอาต้นตำแยแมวมาโขลกแล้วแช่กับน้ำซาวข้าวให้มันกิน เขาว่าชะงัดนัก มีคนหายมาหลายคนแล้ว รู้จักไหมล่ะต้นตำแยแมวน่ะ ที่หลังวัดก็มี”

            “รู้จักครับ”

            “ดีแล้ว ถ้าไม่รู้จักก็เอาแมวไปด้วยตัวนึง”

            “เอาไปทำไมครับ”

            “อ้าว ก็เอาไปพิสูจน์น่ะซี ลองถอนสักต้นให้แมวมันกิน ถ้าไม่ใช่ตำยาแมว แมวจะไม่กิน ถ้ามันกินก็แปลว่าใช่” ท่านอธิบาย

            “แล้วเอาส่วนไหนของมันมาโขลกแช่น้ำซาวข้าวครับ”

            “เอาทั้งต้นเลย รากด้วย ก่อนโขลกก็ล้างให้สะอาดเสียก่อน เอาให้คนไข้ดื่ม รับรองว่าหาย”

            “แล้วไม่คันหรือครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม ขึ้นชื่อว่าต้นตำแยมันก็ต้องคัน

            “ไม่คัน ตำแยถึงจะคัน แต่ตำแยแมวไม่คัน เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง” ท่านตอบ

            “ฉันไปหาที่พักก่อนนะหลวงพี่” นางบุญรับกราบสามครั้งแล้วลุกออกไป ไม่วายพูดเสียดสีนายป่วนว่า “แม่เจ้าโว๊ย วันนี้มันวันอะไรวุ๊ย ถึงได้มาเจอพระอาทิตย์ขึ้นบนไหกระเทียม”

            “แกว่าใคร” นายป่วนถามเสียงตะคอก นางบุญรับไม่ตอบ ก้าวฉับ ๆ ออกจากกุฏิไป นายป่วนจึงหันมาถามท่านพระครูว่า

            “อีนี่มันเป็นใครครับหลวงพ่อ ปากหมา ๆ อย่างนี้ประเดี๋ยวผมก็ตบล้างน้ำเสียเท่านั้น ไม่รู้จักอ้ายป่วนซะแล้ว” ชายวัยหกสิบแสดงอาการโกรธเกรี้ยว แม้บ้านจะอยู่ติดวัด แต่นายป่วนก็ไม่เคยมาเข้ากรรมฐาน จึงไม่รู้จักนางบุญรับ และกำหนด “โกรธหนอ” ไม่เป็น ท่านพระครูว่านายป่วนนั้น “ใกล้เกลือกินด่าง”

            “อย่าไปถือสาแกเลยตาป่วน ไปเถอะ กลับไปหาตำแยแมวไปปรุงยาให้ลูกกินซะ อย่าได้มีเรื่องมีราวกันในวัดเลย นึกว่าเห็นแก่ข้าเถอะ” นายป่วนจึงกราบปะหลก ๆ สามครั้ง แล้วลุกออกไปเดินหาต้นตำแยแมวทางหลังวัด คิดว่าถ้าเจอยายคนปากเสียก็จะด่าให้สักสองสามชุด โทษฐานที่มาวิจารณ์รูปโฉมโนมพรรณของแก

            “เธอมีข้อสงสัยข้องใจอะไรจะถามหรือเปล่า” ท่านถามพระบัวเฮียวหลังจากที่คนอื่น ๆ ลุกออกไปหมดแล้ว

            “ก็มีเหมือนกันครับ เรื่องถีนิทธนิวรณ์ผมเข้าใจแล้ว ตอนที่หลวงพ่ออธิบายให้โยมทองรินฟัง แต่ทีนี้ผมมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเรียนถามหลวงพ่อ คือหมู่นี้ไม่รู้เป็นอะไร เวลาฉันอาหารผมรู้สึกว่ามันอร่อยไปหมด แม้แต่น้ำที่ดื่มลงไปก็ยังรู้สึกว่ามันอร่อย”

            “นั่นเป็นเพราะเธอติดในรส กามฉันทนิวรณ์ กำลังครอบงำเธอ เพราะรสจุดเป็นกามคุณอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง”

            “แบบนี้ผิดไหมครับ”

            “ผิดสิ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ไม่ถือว่าผิด แต่เป็นนักปฏิบัติถือว่าผิด เพราะถ้ามัวติดในรูป รส กลิ่น เสียง หรือ สัมผัส การปฏิบัติมันก็ไม่ก้าวหน้า นี่มันผิดในแง่นี้”

            “แล้วจะแก้ได้อย่างไรครับ”

          “ก็ตั้งสติพิจารณาเสียก่อนจึงค่อยฉัน พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้ว พึงละอาหารเสีย” อันนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า....” ท่านถามเองตอบเองเสร็จ “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทุกครั้งที่บริโภคอาหารต้องพิจารณาโดยถ่องแท้เสียก่อน ว่าจะไม่บริโภคเพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อตกแต่งร่างกายให้งดงาม แต่บริโภคเพื่อธงรงไว้เพื่อกายนี้ พอให้อัตภาพนี้ดำเนินไปได้ กับเพียงเพื่อระงับความหิวกระหาย เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ โดยคิดว่า บริโภคนี้จะเป็นเครื่องระงับเวทนาใหม่มิให้เกิดขึ้น จะได้ประพฤติธรรมสืบไป ได้ความสะดวก ได้ความผาสุกพอสมควร เริ่มแต่ภิกษุนั้นอุปสมบท ก็เริ่มละอาหาร ไม่บริโภคในเวลาที่เขาบริโภคกัน วันละหนึ่งเวลาบ้างสองเวลาบ้าง ละอาหารที่พระวินัยห้ามบ้าง บริโภคอาหารตามมีตามได้ โดยบริโภคเพียงแต่ว่าเป็นธาตุ เพื่อเป็นที่ดำรงอยู่ของธาตุในกายนี้เป็นอยู่ นี่ เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่ไปติดในรสอาหาร”

          “กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว โยนิโสมนสิการมีความสำคัญมากในการละนิวรณ์ทั้ง ๕ ขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้วก็ละไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ หรือ วิจิกิจฉา”

          “หมายความว่า นิวรณ์แต่ละอย่าง ๆ นั้นจะละไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ ใช่หรือเปล่าครับ”

          “ถูกแล้ว เอาเถอะเมื่อเธอปฏิบัติสูงขึ้นไปก็จะเข้าใจ” พระอุปัชฌาย์แนะนำ เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อน

          “หลวงพ่อครับ ทำไมคนเข้าวัดถึงยังเอาดีไม่ได้ล่ะครับ อย่างโยมบุญรับนั้น หลวงพ่อบอกเข้าวัดมาหลายปี ผมก็เห็นแกยังละอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว รู้สึกแกเที่ยวขวางเขาไปหมด คนเข้าวัดเข้าวาน่าจะเป็นคนดี” พระหนุ่มตำหนิกราย ๆ

          “ก็พระอยู่ในวัดแท้ ๆ ยังเอาดีไม่ได้ก็ยังมีนี่นา บางคนบวชตั้งแต่เณร อายุพรรษาตั้งหกสิบเจ็ดสิบยังไม่ได้เรื่อง นับประสาอะไรกับคนอย่างยายบุญรับเล้า” ท่านออกเสียง “เล่า” เป็น “เล้า”

          “นินทาอะไรฉันอีกล่ะ” นางบุญรับเข้ามาทันได้ยินชื่อตนเข้าพอดี เลยถามพาล ๆ

          “มาก็ดีแล้ว ไงได้ที่พักเป็นที่พอพระราชหฤทัยหรือยัง” ท่านพระครูถามประชด หากนางบุญรับก็ตอบว่า

          “ได้แล้วเพคะเสด็จพี่ หม่อมฉันกำลังจะมากราบทูลให้ทรงทราบอยู่พอดี”

          “พอแล้ว ๆ แม่บุญรับไม่ไหว” ท่านพระครูรีบโบกมือห้าม

          “บุญรับเฉย ๆ จ้ะ แหม กำลังเล่นลิเกสนุก ๆ ไม่น่ามาห้าม ถึงจะเป็นลิเกหลงโรงก็เถอะ ฉันจะมาบอกหลวงพี่ว่าได้ที่พักตรงข้ามกุฏิแม่นั้น ประเดี๋ยวเถอะแม่จะแกล้งให้สะเด็ดไปเลย” นางพูดอย่างหมายมั่น

          “ขอที ๆ แม่คุณแม่มหาจำเริญ คนเขาจะมาสร้างบุญสร้างกุศล อย่าไปเป็นมารขัดขวางเขาเลย นี่ฉันจะถือโอกาสเทศน์แกสักหน่อย แกนะมันแย่นาบุญรับนา กรรมฐานก็เคยเข้ามาแล้ว ไหงถึงไม่ดีขึ้นเลย”

          “แย่ยังไงล่ะหลวงพี่ ฉันอุตส่าห์หวังดีจะเข้ามาช่วยทำครัว หลวงพี่ยังมาว่าฉันอีก” นางเถียงฉอด ๆ

          “ยัง ยังไม่รู้ตัวอีก เอาเถอะ ๆ นั่งลงเสียให้เรียบร้อย ยืนพูดกับพระมันไม่สวย” หญิงวัยเกือบห้าสิบจึงนั่งลง ท่านพระครูพูดต่อไปว่า “ฟังให้ดี ฉันจะสอนให้เอาบุญ การที่แกตั้งใจมาช่วยทำครัวนั่นก็ดีแล้ว ถือว่ามาสร้างกุศล ก็ในเมื่อตั้งใจมาทำบุญและจะมาทำบาปเสียทำไมล่ะ”

          “ฉันไปทำบาปอะไรที่ไหน” นางบุญรับไม่วายเถียง

          “ทำไมจะไม่ทำบาป ก็วจีทุจริตนั้นยังไง ทั้งพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ครบเลยในตัวแก เสียงแรงที่อุตส่าห์มาเข้าวัด สู้บางคนที่เขาอยู่บ้านก็ยังไม่ได้” นางบุญรับรู้สึกรำคาญเนื่องจากไม่ชอบให้ใครมาติ จึงแกล้งปดท่านว่า

          “จ้ะหลวงพี่ ฉันก็จะพยายามแก้ไข ให้เวลาฉันบ้าง ฉันขอตัวไปช่วยเขาทำครัวละนะ” กราบประหลก ๆ สามครั้งแล้วลุกออกไป ท่านพระครูส่ายหน้าอย่างระอา พูดกับพระบัวเฮียวว่า “ไม่ไหว ไม่ซึมซับสิ่งดี ๆ เลย คนอย่างยายบุญรับนับวันก็จะมีมากขึ้น ประเภทเข้าวัดแล้วมานั่งนินทาคนโน้นคนนี้ ที่เขาว่า มือถือสากปากถือศีล มันก็เป็นวิบากของเขา”

          “คนที่มาเข้ากรรมฐานน่าจะละกิเลสได้นะครับหลวงพ่อ”

            “มันก็ละได้ แต่เป็นการละได้ชั่วคราว คือตอนเจริญกรรมฐานจิตเป็นสมาธิ มันก็บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะกิเลสมันถูกข่ม ถูกกดเอาไว้ แต่พอออกจากรรมฐาน กิเลสมันก็ฟุ้งขึ้นมาอีก เหมือนน้ำใสที่มีตะกอนนอนก้น เอามือไปกวน มันก็ขุ่น การจะขจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่สำคัญที่สุดคือผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่งยวด จึงจะประสบความสำเร็จ ก็กิเลสตัณหามันอยู่กับเรามาตั้งนมนานหลายภพหลายชาติ มีหรือที่มันจะยอมออกไปง่าย ๆ”

          “ถึงต้องปฏิบัติกันข้ามภพข้ามชาติเลยใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แต่บางคนก็ท้อถอย ใจไม่สู้ เลยไม่อาจตัดออกจากสงสารวัฏไปได้ ความเพียรนี่สำคัญมากนะบัวเฮียว แล้วก็ต้องเป็นความเพียรที่ถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาวายามะ ถ้าเป็น มิจฉาวายามะ แทนที่จะทำให้หลุดพ้น กลับทำให้ติดแน่นอยู่ในสงสารวัฏหนักเข้าไปอีก”

          “เรียกว่า การทำความเพียรก็ต้องมีโยนิโสมนสิการใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แหม รู้สึกว่าเธอจะเก่งขึ้นมาเชียวนะ สงสัยว่าจะหลุดพ้นในชาตินี้เสียละมัง” พระอุปัชฌาย์สัพยอก

          “สาธุ สมพรปาก” พูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ”

          “ถ้าอย่างนั้นก็กลับไปปฏิบัติที่กุฏิของเธอได้ อ้อ พรุ่งนี้ออกตีสี่ครึ่งฉันเปลี่ยนเวลาแล้ว เลื่อนออกไปอีกครึ่งชั่งโมง ประเดี๋ยวจะให้สมชายไปบอกคนอื่น ๆ พระบัวเฮียวกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วลุกออกมา ขณะเดินกลับกุฏิแทนที่จะกำหนด “ซ้าย – ขวา ซ้าย – ขวา” เหมือนเช่นเคย ก็เปลี่ยนมากำหนดว่า “โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ... ไปจนถึงที่พัก

 

 

มีต่อ........๒๐


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 11, 2007, 08:02:48 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00020

 

๒๐...

          ก่อนออกจากวัด ท่านพระครูอุตส่าห์เดินไปหานางทองรินถึงกุฏิที่นางพัก โดยมีพระบัวเฮียวกับนายสมชายไปเป็นเพื่อน นางทองรินซึ่งตื่นตั้งแต่ตีสี่ ล้างหน้าล้างตาเสร็จแล้วและกำลังจะเดินจงกรม เมื่อได้ยินเสียงนายสมชายเรียกอยู่ข้างนอก จึงเปิดประตูออกมา ออกตกใจที่พบท่านพระครูและพระบัวเฮียว จึงรีบนิมนต์ท่านเข้ามาข้างใน

          “ไม่เข้าหรอกโยม อาตมาจะรีบไป แวะมาบอกโยมเท่านั้นเอง อย่าลืมว่าโยมกำลังมีเคราะห์ ถ้าโยมไม่เชื่อฟัง อาตมาก็ช่วยอะไรโยมไม่ได้ อาตมาไปละนะ”

          “ขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ ดิฉันจะทำตามคำสั่งของหลวงพ่อทุกอย่าง” นางทองรินรับคำหนักแน่น พร้อมกับไหว้ภิกษุทั้งสอง

          ขณะเดินไปขึ้นรถ ท่านพระครูพูดกับพระบัวเฮียวว่า “ฉันช่วยเขาได้แค่นี้แหละบัวเฮียว เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาทวงชีวิต วันนี้ถ้าเขาออกนอกบริเวณวัด จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาเชื่อฉัน ก็จะไม่ตาย” พระบัวเฮียวไม่ออกความเห็น รู้สักสังหรณ์ใจพิกลว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับหล่อน

          นายสมชายขับรถพาท่านพระครูและลูกวัดอีก ๘ รูปมาถึงบ้านงานเมื่อเวลาหกโมงครึ่ง เหลือเวลาอีกครึ่งชั่วโมงจึงจะเริ่มพิธี เจ้าบ่าวซึ่งอยู่ในชุดกางเกงขายาวสีเทาฟ้า เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีชมพู ออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เห็นนายจ่อยท่าทางมีความสุข จิตของพระบัวเฮียวก็ถูก “กามฉันทนิวรณ์” กลุ้มรุมอีกจนเจ้าตัวต้องใช้ “โยนิโสมนสิการ” เข้าปราบปราม มันจึงสงบลงได้ “เจ้าสาวไปไหนเสียล่ะ” ท่านถามถึงคนเป็นเจ้าสาว

          “ยังไม่กลับจากร้านเสริมสวยครับ” เจ้าบ่าวตอบ แขกเหรื่อยังมากันไม่มาก เจ้าบ่าวจึงมีเวลาพูดคุยกับพระสงฆ์ ท่านพระครูถามหาบิดาของนายจ่อย ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่สร่างเมา จึงไม่กล้าอกมาสู้หน้า

          พวกแม่ครัวกำลังสาละวนอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงพระ ท่านพระครูนั่งหลับตากำหนด “เห็นหนอ” เพราะอยากรู้ว่าพวกแม่ครัวเขากำลังคุยกันเรื่องอะไร

          “เอ้าแก ชิมอยู่นั้นแหละ ระวังจะเกิดเป็นเปรตนะ กินก่อนพระก่อนเจ้า” แม่ครัวนางหนึ่งว่าเพื่อน

          “ก็มันอร่อยนี่หว่า” คนชิมตอบ

          “เออ อร่อย ๆ นี่แหละ ข้าเห็นเป็นเปรตมาเสียนักต่อนักแล้ว”

          “แกเห็นได้ยังไง” คนชิมย้อน

          “ก็ปู่ย่าตายายข้าสอนไว้อย่างนี้ ถึงข้าไม่เห็นแต่ข้าก็เชื่อ”

          “นั่นมันสมัยปู่ย่าตายายแกโว้ย สมัยนั้นน่ะพระท่านน่าเคารพนับถือ กินก่อนท่านถึงได้บาป แต่สมัยนี้มันใช่พระเสียที่ไหน  แค่พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลือง  ไปไหน ๆ ก็เที่ยวแต่จะกินของดี ๆ แล้วยังจะเอาเงินอีก  ที่เขาว่า     “ข้าวก็ยัด อัฐก็เอา” นั้นแหละ” แม่ครัวอีกคนเถียงแทนเพื่อน

          “ตายละอีแป้น มึงนะมึง นรกจะกินหัวกบาลมึงเข้าสักวัน” แม่ครัวคนแรกว่า ท่านพระครูกำหนดลืมตาไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นอีกต่อไป นี่ขนาดคนชนบทยังดูถูกดูแคลนพระถึงปานนี้ มันความผิดของใครกันนี่ ท่านรู้สึกรันทดใจนัก เห็นนายจ่อยกำลังซุบซิบกับพระบัวเฮียวอยู่ทางปลายแถว ท่านจึงกำหนด “เห็นหนอ” ไปที่บุคคลทั้งสอง

          “ทำไมนิมนต์พระวัดป่ามะม่วงทั้งหมดล่ะ ไม่กลัววัดเจ้าถิ่นเขาเขม่นเอาหรือ” พระบัวเฮียวถาม เพราะตามธรรมเนียมหากจะนิมนต์พระต่างถิ่นมา ก็ต้องให้มีพระในท้องถิ่นอยู่ด้วย การนิมนต์พระจากที่อื่นมาทั้งหมด ถือว่าเป็นการกระทำที่ข้ามหน้าข้ามตาพระเจ้าถิ่น

          “ก็อย่างที่เคยเล่าให้หลวงพี่ฟังนั้นแหละ ผมไม่นับถือพระแถวนี้ แต่พูดก็พูดเถอะหลวงพี่ กฎแห่งกรรมมันทำหน้าที่ได้รวดเร็วดีจริง ๆ สมภารตายแล้ว” นายจ่อยจงใจใช้คำว่า “ตาย” แทน “มรณภาพ”

          “อ้าว เป็นอะไรตายล่ะ”

          “ถูกจามด้วยขวานหัวแบะเลย นอนตายอยู่ข้างระเบียงโบสถ์ ป่านนี้คลทะเลาะกับยมบาลอยู่ในนรกนั่น”

          “แล้วหลวงตาทองขี้เมานั่นล่ะ”

          “แหม หลวงพี่จำแม่นจัง แกสึกแล้ว เห็นว่ากลัวตกนรกเพราะไม่อาจเลิกเหล้าได้ เป็นพระกินเหล้ามันบาปมาก แกเลยสึกออกมาเสียหมดเรื่องหมดราว จะได้ตกนรกน้อยหน่อย แกว่าของแกยังงี้ ไม่ใช่ผมว่านา” ฟังแล้วพระครูจึงสรุปในใจว่า “อ้อ มันอย่างนี้เองนี่เล่า ยายแม่ครัวถึงได้ไม่ศรัทธาพระ หนอยแน่มาเรียกเราว่า พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลือง ข้าวก็ยัด อัฐก็เอา ยายคนนี้สำมะคัญ” ถึงตอนนี้ท่านรู้สึกขำยายนั่น คำพูดของนางเท่ากับเป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพของผู้ที่เรียกตัวเองว่า “นักบวช”

            เสียงรถมอเตอร์ไซค์วิ่งเข้ามาจอดใต้ถุนเรือน แล้วนางจุกก็เดินนวยนาดเข้ามากราบท่านพระครูและภิกษุอีก ๘ รูป หล่อนอยู่ในชุดไทยเรือนต้นสีชมพูอ่อน ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเนื้อดี ผมเกล้าทรง “ลูกจันทน์” ไว้กลางศีรษะ ใบหน้าถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงามโดยฝีมือของช่างเสริมสวยประจำตำบล

          “หลวงน้ามาถึงนานแล้วหรือจ๊ะ” หล่อนทักทาย

          “นานหรือไม่นานก็ถึงก่อนคนเป็นเจ้าสาวแล้วกัน” หลวงน้าพูดแหย่

          “แหม หลวงน้าเนี่ย เจอหน้าก็ว่ากันเลยเชียว” หล่อนพ้อ

            ขณะนั้นเวลาเจ็ดนาฬิกาตรง พิธีจึงเริ่มด้วยการให้ทายกซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีล ท่านพระครูให้ศีลเสร็จแล้วพระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ คู่บ่าวสาวนั่งพับเพียบประนมมือฟังพระสวด มีหมอนสีชมพูรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส สำหรับวางแขนกันเมื่อยคนละใบ

          เสร็จจากการเจริญพระพุทธมนต์ ทายกนำกล่าวถวายสังฆทาน แล้วจึงช่วยกันประเคนอาหารคาวหวาน พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ เจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปกล่าวอนุโมทนาคาถา คู่บ่าวสาวกรวดน้ำและรับพรตามลำดับ พวกแม่ครัวก็พากันออกมารับพรจากพระด้วย ท่านพระครูจำคนที่ว่าพระได้ จึงพูดสัพยอกนางว่า

          “พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลืองนี่ไม่ไหวเลยนะโยมนะ กินข้าวเขาแล้วยังจะเอาเงินอีก” แม่ครัวหน้าเหรอ ไม่นึกไม่ฝันว่าท่านจะรู้ในสิ่งที่พวกตนแอบนินทา แต่อย่างน้อยก็ยังดีใจที่ท่านไม่โกรธ

          “หลวงพ่อมาจากวัดไหนจ๊ะ” นางถาม รู้สึกศรัทธาท่านขึ้นมานิดหนึ่ง

          “วัดป่ามะม่วง เคยได้ยินไหมเล่า”

          “ไม่เคยจ้ะ อยู่ที่ไหนจ๊ะ”

          “อยู่ไม่ไกลหรอก ถ้าอยากจะไปก็ให้เจ้าบ่าวเขาพาไปก็ได้ เขามีสอนกรรมฐานด้วยนะ อยากไปเรียนไหมเล่า”

          “ก็อยากเหมือนกัน ว่าแต่ว่าหลวงพ่อไม่โกรธฉันนา” นางยังกลัวความผิด

          “โกรธเรื่องอะไรเล่า”

          “ก็ที่ฉันว่าหลวงพ่อ”

          “อาตมาจะไปโกรธทำไม ก็อาตมาไม่ได้เป็นอย่างที่โยมว่า แต่ถึงเป็นก็ไม่ควรจะโกรธ เพราะเท่ากับโยมพูดความจริง ใช่ไหมล่ะ”

          “ใช่จ้ะใช่ ว่าแต่ว่าทำไมหลวงพ่อถึงรู้ล่ะว่าฉันเป็นคนพูด” นางไม่วายสงสัย

          “เอาเถอะไว้ไปเข้ากรรมฐานแล้วจะบอก อย่าลืมไปก็แล้วกัน”

          “จ้ะ ๆ ฉันไปแน่ รอให้เกี่ยวข้าวเสร็จก่อน” นางรับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ

          เมื่อท่านพระครูไม่อยู่ในวัด นางทองรินให้รู้สึกเร่าร้อนใจยิ่งนัก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่รู้ว่าท่านไม่อยู่ โดยเฉพาะวันนี้รู้สึกว่ามันเร่าร้อนกว่าทุกวัน แม้อากาศภายนอกจะหนาวเหน็บ หากมันก็ไม่ช่วยให้ความเร่าร้อนในใจบรรเทาเบาบางลงได้ ไม่ว่าหล่อนจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ก็ไม่อาจทำให้จิตสงบได้เลย หล่อนเริ่มฟุ้งซ่าน คิดไปต่าง ๆ นา ๆ ป่านนี้ลูกเต้าจะกินอยู่กันอย่างไร สามีหล่อนเล่า จากกันมาตั้งเจ็ดแปดวัน ป่านนี้มิมีอะไรกับสาวใช้แล้วหรือ เพราะเห็นแม่นั่นทำท่าระริกระรี้ให้ท่าอยู่บ่อย ๆ ข้างสามีหล่อนก็ใช่ย่อย ยิ่งเมาแอ๋กลับบ้านทุกวันอย่างนั้นมีหรือที่จะพ้นเงื้อมมือแม่สาวใช้วัยรุ่น จริงอยู่แม้หล่อนจะไปขอร้องให้มารดามาช่วยดูแล แต่แม่หล่อนก็ต้องมีวันเผลอ ยิ่งถ้าสองคนนั้นมีจิตกระสันต่อกัน แม่หล่อนหรือใคร ๆ ก็ห้ามความกระสันของคนคู่นั้นไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปดูสักหน่อยเป็นไร นั่งรถไปสองชั่วโมงก็ถึง ดูให้เห็นกับตาแล้วจะรีบมา หลวงพ่อคงยังไม่กลับ นี่ก็เพิ่งจะหกโมงเช้าเท่านั้นเอง แล้วหล่อนก็รีบจัดแจงแต่งกาย ออกจากที่พักเดินฝ่าความหนาวเหน็บตรงไปยังถนนสายเอเชีย “คอยดูนะตาแก่ ถ้าจับได้คาหนังคาเขา แม่จะฆ่าทิ้งเสียเลย” หล่อนคิดเรื่อยเปื่อยไปตลอดทาง สิ่งที่คิดล้วนแต่ร้าย ๆ ทั้งนั้น

          ถึงถนนสายเอเชีย หล่อนต้องข้ามไปรอรถทางฝั่งโน้น มีรถประจำทางหลายสายที่วิ่งมาจากทางเหนือเพื่อจะเข้ากรุงเทพฯ หล่อนมองซ้ายมองขวา เห็นไม่มีรถวิ่งมาสักคัน จึงก้าวเท้าออกไปโดยเร็วแล้วก็ต้องจบชีวิตลง เพราะถูกรถบรรทุกชนกระเด็นไปตกอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามล

          รถบรรทุกคันนั้นวิ่งตะบึงแข่งกับลมหนาวมาตามถนนสายเอเชีย เห็นคนเดินตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดจะเบรคก็ไม่ทัน คนขับก็เลยไม่ยอมเบรค ทั้งไม่สนใจที่จะหยุดรถดูให้เสียเวลาทำมาหากิน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจทางหลวง ที่จะเรียกป่อเต็กตึ้งมาเก็บศพ

          บรรดารถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมา ไม่มีคันใดหยุดดูร่างบอบบางที่นอนจมกองเลือดอยู่ริมถนน อย่างดีก็แค่ชะลอรถให้ช้าลง เพราะมีตัวอย่างมานักแล้ว ที่คนชนหนีไป แล้วคนหยุดดูกลับกลายเป็นจำเลยแทน

          รถสายตรวจของตำรวจทางหลวงมาพบศพเมื่อเวลาแปดนาฬิกา จึงวิทยุไปเรียกป่อเต็กตึ้ง ชาวบ้านแถวนั้นเริ่มทยอยกันมาดูศพ เนื่องจากอากาศคลายความหนาวเย็นลงมากแล้ว แม่ครัววัดป่ามะม่วงก็มาดูกับเขาด้วย เห็นหน้าผู้ตายถนัด “นางบุญรับ” ถึงกับขวัญเสีย ความเกลียดชังที่มีต่อหล่อนกลับกลายเป็นความเวทนาสงสาร นางยกมือท่วมหัวพูดเบา ๆ ว่า

          “ไปสู่ที่ชอบ ๆ เถิดแม่คุณ ขออย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย”

            แม่ครัวที่มาด้วยอีกสองคนก็รู้สึกใจหายเพราะเห็นกันทุกวัน เคยเอาปิ่นโตไปส่งให้ที่ห้องพักวันละสองเวลา เช้านี้ก็เอาไปส่ง เห็นไม่อยู่ห้องก็นึกว่าไปทางไหน มาพบอีกทีก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว ช่างน่าอนาถใจแท้ ๆ

          นายละอองขับรถมาจากกรุงเทพฯ กับบุตรสาววัยรุ่นอีกสองคน เข้าตั้งใจมาเยี่ยมภรรยาซึ่งมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่ามะม่วง เคยขับรถมาส่งเหล่อนเมื่อวันที่ ๑ ธันวา หล่อนบอกว่าจะมาอยู่สักเจ็ดวัน พอมาถึงท่านพระครูกลับบอกให้อยู่ตั้งสิบห้าวัน ด้วยเหตุผลว่าหล่อนกำลังมีเคราะห์ ลูกสาวสองคนรบเร้าให้เขาพามาด้วยทนคิดถึงมารดาไม่ไหว เขาเองก็คิดถึงหล่อนเช่นกัน 

          รถวิ่งมาถึงทางเลี้ยวเข้าวัด เห็นคนมุงดูอะไรกันอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม ชายวัยกลางคนมิได้สนใจจะหยุดดู ด้วยใจจดจ่ออยู่ที่ภรรยา อยากเห็นหน้าหล่อนเร็ว ๆ

          ครั้นถึงวัด เขาตรงไปยังกุฏิที่หล่อนพักพร้อมลูกสาวทั้งสอง เมื่อเดินไปถึงปรากฏว่าหล่อนไม่ได้อยู่ที่นั้น ที่ประตูมีกุญแจดอกเล็ก ๆ คล้องไว้ หน้าต่างทุกบานถูกปิด เขาจึงไปที่กุฏิท่านพระครู คิดว่าหล่อนอาจจะอยู่ที่นั่น คนที่กุฏิท่านพระครูบอกเขาว่า ท่านไม่อยู่และยังบอกเรื่องมีคนถูกรถชนตายเป็นคนที่มาเข้ากรรมฐาน

          เขารู้สึกสังหรณ์ใจพิกลจึงขับรถออกไปดู แล้วก็ได้พบกับความจริงที่เศร้าสลด ภาพของลูกสาวสองคนร่ำไห้กอดศพแม่ ทำให้เขาสะเทือนใจยิ่งนัก ยังลูกชายคนเล็กที่อยู่กับแม่ยายที่บ้านอีกคน แกจะทำอย่างไร เมื่อรู้ว่าผู้เป็นแม่ได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว

          เมื่อรถของมูลนิธิป่อเต็กตึ้งมาถึงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จึงให้นำศพไปตั้ง ณ วัดป่ามะม่วงตามคำขอร้องของสามีผู้ตาย ซึ่งต้องการจะรอถามท่านพระครูก่อน ว่าจะให้นำศพไปเผาที่กรุงเทพฯ หรือว่าเผาเสียที่วัดป่ามะม่วง แล้วเขากับลูกก็มานั่งรอท่านที่กุฏิ

          ทันทีที่ท่านพระครูก้าวลงจากรถ สามีนางทองรินแทบจะโผเข้าหา เขาคุกเข่าลงกับพื้นกราบแทบเท้าของท่าน ร้องไห้สะอึกสะอื้นแข่งกับลูกสาวทั้งสอง ตอนเห็นศพภรรยาเขากลั้นความรู้สึกทั้งมวลไว้ แต่เมื่อมาพบผู้ที่เห็นอกเห็นใจที่เขาจะยึดเป็นที่พึ่งได้ ความรู้สึกที่อดกลั้นเอาไว้ก็กลั้นไม่ไหวอีกต่อไป

          “ทำใจดี ๆ เอาไว้โยม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาโลก ไม่มีใครหลีกหนีพ้น โยมทองรินเขาไปสบายแล้ว เขานั่งรออาตมาอยู่ตรงทางเลี้ยว เล่าให้ฟังหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ไป ไปคุยกันที่กุฏิดีกว่า” ท่านเดินนำสามพ่อลูกไปยังกุฏิ ภิกษุอีกเจ็ดรูปต่างแยกย้ายกันไปยังกุฏิของตน คงมีแต่พระบัวเฮียวที่เดินตามท่านพระครูมาเพราะอยากรู้เรื่องราว

          เมื่อทุกคนมาถึงกุฏิและนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเล่าเรื่องที่ “วิญญาณ” มาบอกกล่าว

          “เมื่อเช้าก่อนออกจากวัด อาตมาก็ไปกำชับเขาว่า ไม่ให้ออกไปไหน ขาก็รับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่พออาตมาออกจากวัดไป เขารู้สึกร้อนอกร้อนใจ ไม่อาจปฏิบัติได้ เกิดห่วงโยม ห่วงลูก ๆ” ท่านไม่ได้เล่าทั้งหมดที่วิญญาณบอก เพราะอย่างน้อยก็เห็นแก่คนที่ตายไปแล้ว แต่คนฟังกลับเป็นคนเล่าเสียเองว่า

          “เขาคงเห็นผมดื่มเหล้าทุกวัน เลยกลัวว่าจะพลาดพลั้งไปมีอะไร ๆ กับคนใช้ ทั้งที่ผมไม่เคยคิดอกุศลเช่นนั้น ตั้งแต่เขามาอยู่วัด ผมก็ไม่เคยดื่มอีกเลย และก็ตั้งจะว่าจะไม่ดื่มไปจนตลอดชีวิต อาจเป็นเพราะเขาเผื่อแผ่บุญมาให้ผม จึงทำให้ผมกลับเนื้อกลับตัวได้” นายละอองเล่า แม้จะหยุดร้องไห้แล้ว แต่ก็ยังมีน้ำคลออยู่ที่หน่วยตาทั้งสอง

          “ดีแล้ อาตมาขออนุโมทนาด้วย โยมทองรินเขาก็คงดีใจ ส่วนเรื่องศพเขาบอกให้เผาที่นี่ เขาอยากจะปฏิบัติกรรมฐานต่อแล้วจึงจะไปเกิดในภพภูมิใหม่”

          “วิญญาณปฏิบัติธรรมได้หรือครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า อย่างวิญญาณแม่กาหลงก็มาปฏิบัติที่วัดนี้ตั้งแต่ยังเป็นเปรต จนเดี๋ยวนี้เป็นเทพธิดาไปแล้ว รูปร่างสวยงามเชียว เคยมาปรากฏให้คนเห็นบ่อย ๆ เคยสอนเดินจงกรมให้แม่ชีเขียวด้วย” แม่ชีเขียวเป็นผู้อาวุโสที่สุดของสำนักชี เดี๋ยวนี้อายุแปดสิบ ไปไหนมาไหนไม่ค่อยไหวแต่ก็ยังปฏิบัติอยู่ที่สำนัก

          “แล้วแม่ชีเขียวแกรู้ไหมครับว่า แม่กาหลงไม่ใช่มนุษย์”

          “รู้ แต่แกเป็นคนไม่กลัวผี แกก็เดินจงกรมอยู่กับแม่กาหลงสองคน คนอื่น ๆ ไม่มีใครกล้า นี่รู้เรื่องแม่กาหลงแล้วอย่าไปเล่าให้เศรษฐีเจริญชัยนั่นฟังนะ เดี๋ยวเขาจะพากันกลัวไม่ยอมมาวัดอีก” ท่านกำชับพระบัวเฮียว ซึ่งฝ่ายนั้นก็รับคำหนักแน่น

          “แล้วภรรยาผมล่ะครับหลวงพ่อ ทำไมเขาต้องอายุสั้น” นายละอองถาม

            “ตามหลักของกรรม คนที่อายุสั้นเพราะเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โยมทองรินเคยไปฆ่าเขาไว้ เจ้ากรรมนายเวรก็เลยตามมาทวง นี่เขาเล่าให้อาตมาฟังนะ”

          “ถ้าเขาไม่ออกไปนอกวัดก็ไม่ต้องตายใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว เจ้ากรรมนายเวรเขามาดักรออยู่ ตอนโยมเขาข้ามถนนก็บังตาเอาไว้ ไม่ให้เห็นรถบรรทุก”

          “ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า จิตวิญญาณจะมีอยู่จริง นี่ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อเล่า ผมคงไม่เชื่อ”

          “ถึงจะเป็นอาตมา โยมก็อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตัวเองเสียก่อน”

          “พิสูจน์อย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “มาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน พอมีเวลาไหมเล่า”

          “ครับ ผมจะหาเวลามา รอให้ลูก ๆ ปิดเทอมเสียก่อน”

          “ดีแล้ว โยมทองรินจะได้ดีใจ โยมจะได้คุยกับเขา โดยไม่ต้องผ่านทางอาตมา”

          “หนูจะมากับคุณพ่อได้ไหมคะหลวงตา หนูอยากคุยกับคุณแม่ค่ะ” เด็กสาววัยสิบสี่ถามขึ้น

          “ได้จ้ะ ถ้าหนูตั้งใจปฏิบัติก็จะสามารถคุยกับคุณแม่ได้ แล้วหนูจะมาไหมละจ๊ะ” ท่านถามคนน้อง

          “ถ้าคุณพ่อกับพี่เขามาหนูก็มาค่ะ” เด็กหญิงวัยสิบสองตอบ

          “หลวงพ่อครับ ศพของทองริน จะเผาเมื่อไหร่ครับ” นายละออกถามขึ้น

          “สวดพระอภิธรรมสักสามคืนแล้วค่อยเผา เจ้าตัวเขาไม่สนใจหรอก ร่างกายนั้น เมื่อวิญญาณทิ้งเสียแล้วก็ไม่ต่างกับท่อนไม้หรือท่อนฟืน”

            “ถ้าอย่างนั้นก็เผาเสียวันนี้เลยดีไหมครับ” พระบัวเฮียวออกความเห็น เป็นความเห็นที่เชยที่สุดในความคิดของท่านพระครู

          “จะเร็วขนาดนั้นไม่ได้หรอกบัวเฮียว อย่าลืมว่าโยมเขามีญาติพี่น้องจะต้องแจ้งให้ญาติรู้เสียก่อน ให้เขาจัดการกันตามประเพณีนิยม คนที่เขาไม่เข้าใจเรื่องการเกิดการตายก็มีอยู่

          “ถ้าเช่นนั้นผมจะเข้ากรุงเทพฯ ไปบอกญาติ ๆ เลยนะครับ” นายละอองบอก

          “อย่าเลย โยมกำลังเครียด ไม่ควรขับรถขับลา อาตมาคิดว่าโยมไม่ต้องไปก็ได้ เดี๋ยวให้สมชายพาไปโทรศัพท์ทางไกลที่ในตัวจังหวัด โยมจะได้เตรียมงานอยู่ทางนี้ ห้าโมงเย็นจะมีพิธีรดน้ำศพ ญาติทางกรุงเทพฯ คงมาทัน เดี๋ยวพาลูกไปเข้าที่พักเสียก่อน พักที่กุฏิโยมทองรินได้ไหม กลัวกันหรือเปล่า”

          “ไม่กลัวครับ”

          “ไม่กลัวค่ะ” สามพ่อลูกตอบพร้อมกัน

          “ดีแล้ว ถ้าอย่างนั้นสมชายช่วยพาไปส่งด้วย เสร็จแล้วพาโยมผู้ชายเข้าไปโทรศัพท์ที่ตัวจังหวัด บอกญาติทางกรุงเทพฯ ให้รู้ เขาจะได้พากันมาทันอาบน้ำศพ”

          เมื่อสามพ่อลูกลุกออกไปแล้ว นางบุญรับก็ร้องไห้กระเซอะกระเซิงเข้ามา

          “หลวงพี่ ฉันกลัวผียายทองริน”

          “ก็ดีแล้วนี่ อยากไปเกลียดเขา แบบนี้ต้อบอกให้หลอกเสียให้เข็ด” ท่านพระครูขู่

          “ไม่เกลียดแล้วจ้ะหลวงพี่ ฉันไม่เกลียดเขาแล้ว เห็นเขาตายแล้วสงสาร” นางบุญรับรีบบอก

          “อ้อ ถ้าเขายังไม่ตายก็ยังไม่หายเกลียดใช่ไหมเล่า” ท่านพระครูย้อน

          “ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ฉันสงสารเขาจริง ๆ ขอให้ไปที่ชอบ ๆ เถอะ แม่คู้ณ อย่าได้มาจองเวรจองกรรมกันเลย”

          “ใครเขาอยากจะจองเวรจองกรรมกับคนอย่างแกเล่ายายบุญรับเอ๊ย อย่าสำคัญตัวผิดไปหน่อยเลย คนอย่างแกน่ะ แม้แต่ผีก็ยังเมิน” ท่านพระครูว่าให้

          “เมินก็ดี จะได้ไม่มาหลอกฉัน เดี๋ยวตอนอาบน้ำศพ ฉันจะไปกราบขอขมาเขา”

          “ดีแล้ว แล้วข้าจะช่วยบอกเขาให้ไป ช่วยไปตามลูกสาวเขามากินข้าวกินปลาเสีย นี่ก็เที่ยงกว่าแล้ว บริการเขาดี ๆ นะแม่เขาจะได้ไม่มาหลอก” ท่านแกล้งแหย่

          “แหม หลวงพี่ชอบพูดให้ฉันหวาดเสียวอยู่เรื่อย” นางต่อว่าแล้วจึงลุกออกไป ท่านพระครูพูดกับพระบัวเฮียวว่า “วันนี้เธอก็เลยอดฉันเพล”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมอิ่มมาจากบ้านนายจ่อยแล้ว อาหารเขาอร่อย ๆ ทั้งนั้น ผมเลยว่าเสียอิ่มแปล้ ถึงไม่ได้ฉันอีกสามวันก็คงไม่หิว”

          “ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ รู้สึกว่าเธอจะติดในรสอีกแล้วนะ ทำไมถึงไม่กำหนด “รสหนอ” ล่ะ”

            “กำหนดไม่ทันครับ ก็มันอร่อยผมก็เลยฉันเพลินจนลืมกำหนด”

          “นั่นแสดงว่าเธอยังต้องฝึกอีกมาก”

          “ครับผมก็ว่าอย่างนั้น หลวงพ่อครับ ยายบุญรับแกจะหายโกรธโยมทองรินจริงอย่างที่แกพูดหรือเปล่าครับ”

          “จริงสิ โบราณเขาถึงสอนว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่ใจ  ไงล่ะ”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ”

          “ก็หมายความว่า คนเราถึงจะจงเกลียดจงชังกันปานใด พออีกฝ่ายหนึ่งตายลง ความเกลียดก็หายไป จะมีแต่ความเมตตา สงสารเขา อะไรที่เขาเคยทำไว้กับตนก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามไปหมด แล้วก็จะนึกถึงเขาแต่ในทางที่ดีที่งาม จึงเรียกว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ ก็หมายความว่า คนเราจะดีได้ก็ต้องละชั่วให้ได้ ถ้าละชั่วไม่ได้ก็ดีไม่ได้ ส่วนพระอยู่ที่ใจอันนี้ คงไม่ต้องอธิบายหรอกนะเพราะเธอก็เป็นพระ ฉันก็เป็นพระ ไม่ใช่คนหัวโล้นห่มผ้าเหลืองอย่างที่แม่ครัวบ้านงานว่า”

          “ครับ แล้วผมก็ขอตั้งปณิธานว่า จะรักษาศักดิ์ศรีของพระไว้ด้วยชีวิต จะไม่ยอมให้ใครมาตราหน้าว่า เป็นพวกหัวโล้นห่มผ้าเหลืองอย่างเด็ดขาด” พระบัวเฮียวให้คำปฏิญาณต่อหน้าพระอุปัชฌาย์..

         

มีต่อ........๒๑


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 12, 2007, 10:21:55 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00021

 

๒๑...

          เสียงด่าหมาแมวดังลั่นวัดแต่เช้าหลังจากวันที่นางบุญรับเข้ามาช่วยทำครัว บรรดาอุบาสกอุบาสิกาตลอดจนพระสงฆ์องค์เณรที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดป่ามะม่วง มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ” กันวันละหลาย ๆ ครั้ง เพราะนางบุญรับแกสามารถด่าได้หลายเวลาต่อวัน

          พระบัวเฮียวกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ” แทนการกำหนด พอง – ยุบ กำหนดอยู่นานก็ไม่อาจระงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจลงได้ ไม่ชอบหน้าแม่ครัวผู้นั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ครั้นมาได้ยินเสียงเกรี้ยวกราดแสบแก้วหูเช่นนี้เข้าอีก ความไม่ชอบซึ่งเป็นโทสะอ่อน ๆ นั้นก็เพิ่มระดับขึ้นจนกลายเป็นความเกลียดชังและอาฆาตมาดร้าย พระหนุ่มรู้สึกเกลียดผู้หญิงที่ชื่อบุญรับ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากได้ยินเสียง เกลียด เกลียดเหลือเกินแล้ว

          ในที่สุดก็เลยนั่งกำหนด “เกลียดหนอ” ไปจนถึงเวลาหกโมงเช้า ออกจากสมาธิแล้วจึงเตรียมตัวออกบิณฑบาต แม้จะเดินห่างวัดออกไปจนเสียงด่าตามมาไม่ถึง หากก็ยังรู้สึกว่ามันก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดเวลา จิตของท่านจึงถูกพยาบาทนิวรณ์ เข้ากลุ้มรุมโดยที่เจ้าตัวมิได้ทันระแวดระวัง คิดเคียดแค้นชิงชังนางบุญรับไปตลอดทางจนลืมกำหนด “ขวา – ซ้าย  ขวา – ซ้าย” ยามเยื้องย่าง

          เวลาเจ็ดนาฬิกาเศษ ท่านพระครูกลับจากบิณฑบาต กำลังเดินเข้าประตูวัดมา รถกระบะสีน้ำตาลคันหนึ่งวิ่งแซงหน้าท่านมาจอดที่ลานวัด ยังไม่ทันได้ดับเครื่อง เด็กหนุ่มผิวคล้ำหน้าตาคมสันก็ลงจากที่นั่งคนขับ ปีนขึ้นไปที่ด้านหลังรถ เปิดท้ายแล้ว “ผลักด้วยเท้า” สุนัขสิบกว่าตัวที่ยืนหน้าสลอนอยู่ท้ายรถลงมาจนหมด ปิดท้ายรถเรียบร้อยจึงกระโดยลงมา ก้าวเข้าไปนั่งประจำที่คนขับแล้วออกรถ ท่านพระครูรีบโบกมือเรียก

          “ช้าก่อนพ่อหนุ่ม เดี๋ยวหยุดคุยกันก่อน “ “พ่อหนุ่ม” เบรครถดังพรืด โผล่หน้าคมคายออกมาถามว่า       

          “มีอะไรหรือครับ” เขาไม่ทำความเคารพซึ่งท่านพระครูก็เข้าใจและรู้ว่าเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิมที่จะไม่เคารพผู้ใดหรือสิ่งใดนอกจากพระเจ้าสูงสุดคืออัลลอฮ์เท่านั้น “มาจากไหนล่ะเธอน่ะ” ทำไมถึงได้ขนหมามาปล่อยที่วัดนี้” ท่านถามยิ้ม ๆ

          “ผมมาจากชะไว มะให้ใช้เอามาปล่อยเพราะกันกัดแพะ เจ้าหมาพวกนี้เราไม่ได้เลี้ยง มันมากันเอง มะเลยให้เอามาปล่อย ผมเป็นมุสลิม คนมุสลิมเขาไม่เลี้ยงหมาครับ” เด็กหนุ่มอธิบาย “มะ” เป็นคำที่มุสลิมใช้เรียกมารดาของตน “อ้อ แล้วทำไม่มาไกลถึงที่นี่ จากชะไวมานี่ก็ผ่านวัดมาเป็นร้อย ต้องมาถึงที่นี่ให้เปลืองน้ำมันทำไมเล่า”

          “มะกำชับมาครับ บอกว่าให้เอามาปล่อยที่วัดป่ามะม่วง มันจะได้ไม่ถูกคนรังแก มะว่าเจ้าของวัดนี้เขาใจดี มันจะมีความสุขกว่าอยู่ที่อื่น ถึงมะจะเกลียดพวกมัน แต่ก็ไม่อยากเห็นมันถูกรังแกครับ”

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ งั้นกลับไปบอกมะเธอด้วยว่า หลวงพ่อวัดนี้สั่งให้เอามาปล่อยอีกหลาย ๆ คนรถ รับรองว่าอยู่วัดนี้แล้วปลอดภัย” ท่านตั้งใจประชดแต่ชายหนุ่มไม่รู้จึงตอบไปว่า “ครับแล้วผมจะบอกมะตามนี้” พูดจบก็ออกรถอย่างเร็วโดยมิร่ำลา

          ท่านพระครูมองตามรถพลางส่ายหน้าช้า ๆ วัดนี้ไม่รู้เป็นอะไร แมวมาหา หมามาสู่มิได้ขาด เมื่อวันก่อนก็มีคนเอาแมวใส่กระสอบซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์มาปล่อย จนวัดแทบจะกลายเป็นที่อยู่ของสัตว์สาราสิ่งไปแล้ว

          นายสมชายซึ่งหิ้วปิ่นโตเดินมาทันท่านที่ลาดวัดพูดขึ้นว่า “เขาเอาหมามาปล่อยอีกแล้วหรือครับหลวงพ่อ ทำไมถึงต้องมาปล่อยที่วัดนี้ก็ไม่รู้ วัดอื่นมีถมเถไปไม่ปล่อย” เด็กหนุ่มตำหนิกราย ๆ

          “เขาว่ามันจะได้ไม่ถูกรังแก” ท่านพระครูอ้าง “เขาว่า”

          “ไม่ถูกยังไงได้ ยายบุญรับตีมันทุกวัน ผมงี้หนวกหูจะแย่อยู่แล้ว เมื่อไหร่ยายนี่จะไป ๆ เสียทีก็ไม่รู้” เขาบ่น

          ถึงกุฏิแล้วจึงเข้าไปล้างมือล้างเท้าจนสะอาดหมดจด เช็ดให้แห้งก่อนลงมือฉันอาหารที่ลูกศิษย์จัดสำรับไวรอท่า ฉันเสร็จจึงเข้าไปล้างปากแปรงฟัน ซึ่งหมายความว่า “สิ้นสุดการบริโภคอาหารสำหรับวันนี้” จากนั้นจึงมานั่งยังอาสนะประจำของท่าน รู้ว่าพระบัวเฮียวจะต้องมาให้สอบอารมณ์

          “หลวงพ่อครับผมแย่แล้ว” ลูกศิษย์รายงานทันทีที่มาถึงและกราบอาจารย์แล้ว ทั้งที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์ หากท่านพระครูก็ต้องถามไปตามมารยาทว่า “แย่ยังไง ไหนว่าไปซิ”

          “ผมเกลียดยายบุญรับจนปฏิบัติไม่ได้ จิตมันตกจนดึงไม่ขึ้น ทำยังไงดีล่ะครับหลวงพ่อ” ถามอย่างรู้สึกทุกข์ร้อน

          “นั่นแหละ พยาบาทนิวรณ์ กำลังครอบงำเธอ ทำไมไม่ใช้โยนิโสมนสิการขจัดมันเสีย ปล่อยให้ระรานอยู่ทำไม” คนเป็นศิษย์ไม่ตอบด้วยมิรู้จะตอบอย่างไร อาจารย์จึงขยายความต่อไปว่า

          “การละพยาบาทนิวรณ์ ต้องใช้ โยนิโสมนสิการ ในเมตตาเจโตวิมุตติ ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ....ภิกษุทั้งหลาย เจโตวิมุติมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในเจโตวิมุตินั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น...วิธีปฏิบัติก็เช่น การกำหนดนิมิตในเมตตาเป็นอารมณ์การประกอบเนือง ๆ ซึ่งเมตตาภาวนา การพิจารณาถึงความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น” ท่านมองหน้าลูกศิษย์ รู้ว่าฝ่ายนั้นยังไม่เข้าใจ จึงถามขึ้นว่า

          “จะต้องให้แจกแจงในรายละเอียดไหม”

          “ก็ดีเหมือนกันครับ เพราะผมรู้แต่หลักการ ส่วนรายละเอียดยังทราบไม่ซึ้งนัก”

          “ถ้าอย่างนั้นก็ตั้งใจฟังให้ดี การเจริญเมตตาหรือการแผ่เมตตานั้น ลำดับแรกจะต้องแผ่ให้ตัวเองก่อน”

          “ทำไมต้องให้ตัวเองก่อนล่ะครับ ก็เราไม่ได้เกลียดตัวเอง เราเกลียดคนอื่นก็ควรจะแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียด” พระบัวเฮียวแย้ง ท่านพระครูจึงแถลงว่า “การที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้แผ่เมตตาแก่ตัวเองก่อน เพราะเท่ากับทำตัวเราให้เป็นพยานว่า ตัวเราเป็นผู้รักสุข เกลียดทุกข์ อยากอยู่ ไม่อยากตาย ฉันใด คนอื่น ๆ หรือสัตว์อื่น ๆ ก็ฉันนั้น”

            “แต่ถ้าเราอยากตาย ไม่อยากอยู่ล่ะครับ” พระญวนเริ่มยวน ท่านพระครูต้องปรามว่า

          “ขอที ๆ อย่าชักใบให้เรือเสีย เธอละก็ ชอบออกนอกลู่นอกทางเสียเรื่อย”

          “ครับ ๆ ไม่ออกก็ได้ครับ นิมนต์หลวงพ่อเทศน์ต่อ ผมไม่ขัดแล้วครับ” เมื่อลูกศิษย์นิมนต์ อาจารย์จึงแสดงธรรมต่อไปว่า “โดยธรรมชาติแล้วไม่ว่าคนหรือสัตว์ ต่างก็รักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ดังมีพุทธพจน์แสดงไว้...บุคคลตามค้นไปด้วยใจตลอดทุกทิศ ก็มิได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนที่ไหนเลย ฉันใด ตนของคนอื่น ๆ ก็ย่อมเป็นที่รักของเขามาก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น...นี่แหละถึงต้องให้แผ่เมตตาในตนเองก่อน ไหนเธอแผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นหรือเปล่า ลองว่าให้ฟังสักหน่อยซิ”

          “หลวงพ่อจะเอาแบบบาลีหรือแบบไทยล่ะครับ”

            “เอาทั้งสอบแบบนั่นแหละ”

          “งั้นก็เอาบาลีก่อนแล้วตามด้วยไทยนะครับ ฮะแอ้ม” พระหนุ่มกระแอมแก้เขินแล้วจึงท่องด้วยเสียงค่อนข้างดังว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ, นิททุโข โหมิ, อะเวโร โหมิ, อัพยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ, สุขี อัตตานัง ปะระหะรามิ – ขอข้าพเจ้าจงถึงซึ่งความสุขเถิด ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีเวรมีภัยเลย ขอข้าพเจ้าอย่าได้มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด...”

          “ดีมาก จำแม่นดี เอาละเมื่อแผ่เมตตาในตัวเองเป็นอันดับแรกแล้ว จากนั้นจึงแผ่ไปในผู้อื่นตั้งแต่บุคคลที่รักมาก บุคคลกลาง ๆ คือไม่รักไม่ชังไปจนถึงบุคคลที่เป็นศัตรู แต่ถ้าแผ่เมตตาให้ศัตรูแล้วเกิดโทสะขึ้น ให้ปฏิบัติตามวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ซึ่งมีถึง ๙ วิธี”

          “แต่ถ้าใช้ทั้ง ๙ วิธีแล้วยังไม่หายโกรธล่ะครับ”

          “ก็แสดงว่าคน ๆ นั้นกิเลสหนาตัณหามากจนไม่อาจรับฟังคำสั่งสอนได้ ก็ตัดหางปล่อยวัดไป ถือว่าเป็นพวกบัวติดโคลนตมที่เรียกว่า ปทปรมะ”

            “แล้วคนที่ไม่มีหางจะให้ตัด จะทำอย่างไรดีครับ อย่างผมนี่ ตอนเกิดแม่ไม่ได้ให้หางมาด้วย” พระญวนอดยวนมิได้

          “บัวเฮียว รู้สึกว่าเธอจะถนัดเถลไถลจริงเชียวนะ ฉันจะว่าเธอยังไงถึงจะเจ็บแสบ จะได้จดได้จำเสียที ท่านพระครูว่าให้

          “ถ้าจะว่าใครให้เจ็บให้แสบก็ต้องว่า...เดี๋ยวเอามีดโกนปาดแล้วราดด้วยทิงเจอร์...รับรองทั้งเจ็บทั้งแสบเชียวครับ” พระบัวเฮียวเสนอแนะ ความสุขของท่านคือการได้ยั่วพระอุปัชฌาย์ อยากเห็นท่านโกรธ เพราะท่านไม่เคยโกรธให้เห็น เขาว่ากันว่า คนเป็นพระอรหันต์จะไม่โกรธ หรือ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์!”

          “ถ้างั้นฉันก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือละนะ จะไม่บอกเธอหรอกว่าวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มีอะไรบ้าง จะปล่อยให้เธอเกลียดยายบุญรับ ให้เธอถูกไฟโทสะแผดเผาให้ไหม้เกรียมกรอบเป็นปลาย่างไปเลย” ท่านต่อว่าต่อขานยืดยาว แต่คนเป็นศิษย์ก็รู้ว่าอาจารย์ไม่ได้โกรธ เพราะหน้าท่านไม่บึ้ง เสียงที่พูดก็ไม่เกรี้ยวกราดอย่างเสียงยายบุญรับ

          “แหมหลวงพ่อก็ ผมพูดเล่น ๆ ก็ทำใจน้อยไปได้ นิมนต์สาธยายต่อเถิดครับ ผมไม่ยั่วแล้ว”

          “แน่นะ เอาละ งั้นก็ตั้งใจฟังให้ดี การปฏิบัติเพื่อระงับความโกรธวิธีแรก คือ ให้ระลึกถึงโทษของความโกรธ ว่า ความโกรธนั้นให้โทษด้วยประการต่าง ๆ หาคุณมิได้เลย ถ้าคนเขามาโกรธเราแล้วเราโกรธตอบ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อนนั้นอีก ผู้ไม่โกรธตอบคนที่โกรธตนก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะยาก ฉะนั้นถ้าเธอโกรธตอบยายบุญรับ ก็แปลว่าเธอเลวกว่ายายบุญรับเสียอีก

          ถ้าลองวิธีนี้แล้วยังไม่ได้ผลก็ให้ใช้วิธีที่สองคือ ให้ระลึกถึงความดีของเขา ธรรมดาคนเรานั้นว่าโดยทั่วไป แต่ละคน ๆ ก็ต้องมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีอยู่ในตัว เราก็คิดถึงแต่ในส่วนดีของเขา ส่วนที่ไม่ดีอย่าไปคิด ถ้าหาส่วนดีของเขาไม่ได้จริง ๆ ก็ให้นึกสงสารเขา คิดเสียว่า...โธ่! น่าสงสาร ต่อไปคน ๆ นี้จะต้องประสบผลร้ายต่าง ๆ เพราะความประพฤติไม่ดีอย่างนี้ นรกอาจรอเขาอยู่...เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็จะระงับความโกรธเสียได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ก็ให้ลองวิธีที่สาม คือ ให้คิดถึงความจริงที่ว่า การโกรธคือการทำให้ตัวเองทุกข์ คนที่โกรธแล้วเป็นสุขนั้นไม่มีในโลก เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราก็ต้องไม่โกรธ เพราะเรื่องอะไรจะไปทำให้ตัวเองทุกข์ จริงไหม”

          “จริงครับ แล้วถ้ายังไม่หายโกรธ จะทำอย่างไรครับ”

          “ก็ใช้วิธีที่สี่ คือให้พิจารณาสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมที่มีความโกรธเป็นเหตุนั้นมันรังแต่จะทำความเสื่อมเสียให้กับตัวเรา เพราะทั้งเราทั้งคนอื่น ๆ ต่างก็มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น และ กรรมที่เกิดจากความโกรธนั้นจะทำให้บรรลุความหลุดพ้นก็หาไม่ จะช่วยให้ได้ทิพยสมบัติหรือมนุษย์สมบัติก็หาไม่ มีแต่จะทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปจนถึงกับตกนรกหมดไหม้  เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรให้ความโกรธเกิดขึ้นในตัวเรา แต่ถ้ายังไม่หายโกรธอีกก็ให้ลองวิธีที่ห้าคือ ให้พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระศาสดาว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอดเวลายาวนาน ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนม์ชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้งเบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่ทรงแค้นเคืองทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงเขาจะตั้งตัวเป็นศัตรู ขนาดพยายามปลงประชนม์ก็ไม่ทรงมีจิตประทุษร้าย ซึ่งเรื่องราว  ต่าง ๆ เหล่านี้มีปรากฏในชาดก เช่น เรื่องมหาสีลวชาดก มหากปิชาดก เป็นต้น เธอสามารถไปอ่านเองได้ หัดอ่านเสียบ้างจะได้หูกว้างตากว้างขึ้น ไม่ใช่ดีแต่ปากกว้าง เอาแต่กินอย่างเดียว” ท่านแกล้งเหน็บแนม ด้วยรู้ว่าคนเป็นศิษย์ ”ติดในรส”

          “ครับแล้วผมจะไปหาอ่าน ต่อวิธีที่หกเถอะครับ” พระบัวเฮียวไม่ต่อกลอนเพราะกลัวจะ “เข้าเนื้อ” มากขึ้น

          วิธีที่หก ให้พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในวัฏสงสาร ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดาของเรา มิใช่หาได้ง่าย...อันนี้ก็หมายความว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ จะต้องเคยเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติ อย่างยายบุญรับก็อาจจะเคยเป็นแม่หรือพี่สาวหรือน้องสาวเธอในอดีตชาติ ชาตินี้ถึงได้มาเจอกันอีก เพราะฉะนั้นเธอก็ไม่ควรใจร้ายต่อเขา”

          “แต่ถ้าเขาใจร้ายต่อผมล่ะครับ”

          “อันนั้นมันเรื่องของเขา ถ้าตัวเราไม่ผูกเวร เวรมันก็ระงับลงได้ในส่วนของเรา ถ้าเขาโกรธเขาก็ทุกข์ ส่วนเราไม่โกรธเราก็ไม่ทุกข์”

          “ที่เรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดังใช่ไหมครับ”

          “เอ อันนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจเพราะไม่เคยตบ ตั้งแต่บวชมานี่ยังไม่เคยตบมือ ไม่ว่าจะข้างเดียวหรือสองข้างก็ไม่เคย” ท่านพระครูนึกสนุกจึงพูดยวนกับคนญวน

          “ดีแล้วครับ หลวงพ่อทำถูกแล้ว เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นตบมือตบไม้ ประเดี๋ยวศีลก็เปื่อยหมดเท่านั้น” คนญวนยวนตอบ

          “เอาละ ๆ พอแล้ว พูดเลอะเลือนล่ามป้ามไปมันจะไม่ดี ทีนี้ก็มาว่ากันถึง วิธีที่เจ็ด คือพิจารณาอานิสงส์ของเมตตา

          ความโกรธมีโทษ ก่อผลร้ายมากมายฉันใด เมตตาก็มีคุณก่อให้เกิดผลดีมาก ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะระงับความโกรธเสีย แล้วตั้งจิตเมตตาขึ้นมาแทน ให้เมตตานั่นแหละช่วยกำจัดและป้องกันความโกรธไปในตัว ผู้มีเมตตาย่อมสามารถเอาชนะใจคนอื่นซึ่งเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ ผู้ตั้งอยู่ในเมตตาชื่อว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

          พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ ๑๑ ประการคือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟ พิษ หรือศัสตราไม่กล้ำกราย จิตเป็นสมาธิเร็ว ผิดหน้าผ่องใส ไม่หลงตาย และประการสุดท้ายคือ เมื่อยังไม่บรรลุธรรมเบื้องสูง ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลกเป็นอย่างต่ำ”

          “แล้วถ้ายังไม่หายโกรธล่ะครับ”

          “ก็ให้ลอง วิธีที่แปด คือพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ วิธีนี้เป็นการพิจารณาระดับปรมัตถ์ เข้าใจยาก ฉันจะยังไม่อธิบายให้เธอฟังในตอนนี้ ให้เธอปฏิบัติได้สูงพอสมควรเสียก่อน แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ตอนนี้พูดไปเธอก็ไม่เข้าใจ

          เอาละ ฉันจะรวบรัดไปถึงวิธีสุดท้ายเลย คือพิจารณาทำทานสังวิภาค

          การทำทานสังวิภาค ก็คือการให้ของ ๆ ตนแก่ศัตรูและรับของ ๆ เขามาเพื่อตน แต่ถ้าของ ๆ เขาไม่บริสุทธิ์ก็พึงให้แต่ของ ๆ ตนฝ่ายเดียว ไม่รับของเขา เมื่อทำอย่างนี้ความอาฆาตในบุคคลนั้นจะระงับไป การให้เป็นวิธีแก้ความโกรธที่ได้ผลชะงัด สามารถระงับเวรที่ผูกกันมายาวนานให้สงบลงได้ เป็นเมตตากรุณาที่แสดงออกในการกระทำ พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงอานุภาพยิ่งใหญ่ของทาน คือการให้นั้นว่า ...การให้เป็นเครื่องฝึกคนที่ยังฝึกไม่ได้ การให้ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้ให้ก็เบิกบานขึ้นมาด้วยการให้ ฝ่ายผู้รับก็น้อมลงมาพบด้วยปิยวาจา...นี่แหละการระงับความโกรธวิธีสุดท้าย เธอเห็นแล้วใช่ไหมว่า เสด็จพ่อของพวกเรา ท่านทรงสอนไว้ละเอียดลออลึกซึ้งยิ่งนัก เธออยากจะฟังเรื่องของพระสาวกรูปหนึ่งที่ไม่เคยผูกโกรธต่อผู้ใดเลย อยากฟังไหมล่ะ ฉันจะได้เล่า” ท่านถามคนฟัง

          “หลวงพ่ออยากเล่าหรือเปล่าล่ะครับ ถ้าอยากเล่าผมก็อยากฟัง” คนฟังมานานเริ่มยั่ว

          “ถ้าฉันไม่อยากเล่าล่ะ เธอจะว่ายังไง” คนเล่ายั่วตอบ

          “ถึงหลวงพ่อไม่อยากเล่า แต่ผมก็อยากฟัง เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเล่าเถิดครับ นิมนต์” พูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์” คนเล่าจึงเล่าแต่โดยดี

          “เรื่องมีว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ เชตวนาราม พระสาวกชื่อ ปุณณะ ได้เข้าไปเฝ้ากราบทูลขอให้ประทานโอวาท พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมสอนให้ไม่เพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เมื่อดับความเพลิดเพลินได้ ทุกข์ก็ดับ

          พระปุณณะกราบทูลว่าท่านจะไปอยู่ชนบทชื่อ สุนาปรันตะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชาวสุนาปรันตะดุร้าย ถ้าเขาด่าว่าเธอจะทำอย่างไร พระปุณณะ กราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่าด่าก็ยังดีกว่าทำร้ายด้วยมือ ตรัสถามว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยมือจะทำอย่างไร กราบทูลว่า  ยังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย ตรัสถามว่าถ้าเขาใช้ก้อนดินทำร้ายจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย ตรัสถามว่าถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทำร้ายจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าทำร้ายด้วยศัสตรา ตรัสถามว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยศัสตราจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าฆ่าด้วยศัสตราที่คม ตรัสถามว่าถ้าเขาฆ่าด้วยศัสตราที่คมจะทำอย่างไร กราบทูลว่าบุคคลบางคนยังต้องหาคนมาฆ่า แต่นี่ดีไม่ต้องหา เขามาฆ่าให้เอง

          พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาและตรัสอนุญาตให้พระปุณณะไปอยู่ชนบทชื่อสุนาปรันตะได้ พระปุณณะไปอยู่ ณ ที่นั้น ได้แสดงธรรมให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมาก ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านก็ได้วิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเองเหมือนกัน” ท่านพระครูเล่าจบ คนเป็นศิษย์จึงพูดขึ้นว่า

          “ผมจะจดจำเรื่องราวของพระสาวกรูปนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ จะพยายามทำให้ได้อย่างท่าน” พูดอย่างมุ่งมั่น

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาแล้วก็เชื่อว่าเธอต้องทำได้” เงียบกันไปครูหนึ่ง พระบัวเฮียวจึงถามว่า

          “หลวงพ่อครับ การแผ่เมตตานั้น เราจะแผ่ให้สัตว์ด้วยจะได้ไหมครับ”

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า อย่าว่าแต่สัตว์เลย แม้แต่พืชก็แผ่ให้ได้ มีคนเขาทดลองทำมาแล้ว ได้ผลเกินคาดเชียวละ อย่างยายบุญรับนั่น ถ้าแก้เปลี่ยนจากด่ามาเป็นแผ่เมตตา แกก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับหมากับแมวอย่างนั้น แกโกรธว่ามันขี้เรี่ยราดสกปรกก็เลยไปด่าไปตีมัน หมาแมวมันก็มีจิตใจ ไปทำอย่างนั้นมันก็โกรธเลยแกล้งขี้เลอะเทอะใหญ่ ขี้ตัวเดียวไม่พอ มันยังเที่ยวไปชวนเพื่อนมันมาขี้ ถ้ายายบุญรับแผ่เมตตาให้มัน มันก็เลิกแล้วก็บอกให้เพื่อนมันเลิกอีกด้วย”

          “มันเลิกขี้มันก็ตายซีครับหลวงพ่อ”

          “ไม่ตายหรอก ฉันหมายถึงว่า มันเลิกขี้เรี่ยราด แต่จะขี้เป็นที่เป็นทางไม่ให้สกปรกเหมือนที่เป็นอยู่น่ะ” ท่านพระครูตอบทั้งที่รู้ว่าพระญวนตั้งใจยวน

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อน่าจะสอนให้แกแผ่เมตตา ผมจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงด่าของแก”

          “ทำไม่จะไม่สอน สอนจนไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว แต่แกรับไม่ได้ อุตส่าห์ชื่อบุญรับ แต่ไม่ยักกะรับสิ่งดี ๆ ฉันจัดแกไว้ในพวก “ทวนกระแส” คนบางคนก็สอนยากนะบัวเฮียว คนที่มาวัดนี้ไม่ได้แปลว่าจะสอนง่ายหมดทุกคน”

            “มันเป็นไปตามกรรมที่เขาทำมาน่ะครับ” พระบัวเฮียวว่า

          “ทั้งทำมาทั้งทำไปนั่นแหละ ถึงกรรมที่ทำมาจะไม่ดี แต่กรรมที่จะทำต่อไปก็สามารถแก้ไขให้มันดีได้ แต่เขาก็ไม่ยอมแก้ไข คนประเภทนี้นับวันจะมีมากขึ้น”

          “ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรมของเขาใช่ไหมครับ”

          “ก็คงต้องเป็นอย่างนั้น เอาละถึงเวลาที่เธอจะต้องกลับไปปฏิบัติแล้ว ฉันเองก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือเหมือนกัน อย่าลืมแผ่เมตตาให้ยายบุญรับล่ะ” ท่านเตือน

          “ไม่ลืมครับ ฟังหลวงพ่อพูดผมก็หายโกรธแกไปตั้งครึ่งแล้ว ผมรับรองว่าจะต้องกำจัดพยาบาทนิวรณ์ออกไปจากจิตให้ได้ ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้ชี้ทางสว่างให้ ผมไปละครับ” พระหนุ่มก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้วจึงลุกออกมา..

 
 มีต่อ........๒๒


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 12, 2007, 10:22:42 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00022

 

๒๒...

            อาคันตุกะคนสุดท้ายลากลับไปเมื่อเวลาบ่ายคล้อย ท่านพระครูกำลังจะขึ้นไปเขียนหนังสือ ก็พอดีนายสมชายนำพระภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาในกุฏิ ผู้มาใหม่ทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง ท่านพระครูรับไหว้แล้วทักขึ้นว่า
                ”ท่านสมภารเองหรอกหรือ ไปยังไงมายังไงกันนี่”

          “ผมว่าจ้างเรือเขามาส่งครับ มีเรื่องร้อนใจจะมาปรึกษาท่านพระครู” คนพูดมีท่าทางอมทุกข์ หน้าตาดูหมองคล้ำไร้สง่าราศี ผิดกับผู้ที่อยู่ในสมณเพศทั่ว ๆ ไป นายสมชายรินน้ำชาใส่ถ้วยมาประเคนแล้วจึงลุกออกไป ท่านสมภารคงไม่อยากให้เขาอยู่รับฟังเรื่องร้อนใจของท่านเป็นแน่

          “มีเรื่องหนักอกหนักใจอะไรหรือ ดูท่าทางท่านไม่มีความสุขเลยนี่”

          “เรื่องคอขาดบาดตายเชียวละครับ” สมภารวัดฝั่งตรงกันข้ามตอบ พลางหยิบธนบัตรสองปึกใหญ่ออกมาจากย่าม วางไว้ตรงหน้าท่านเจ้าของกุฏิ ตั้งใจจะใช้เงินเป็นเครื่องล่อให้ธุระของตนบรรลุจุดมุ่งหมาย ท่านพระครูเห็นไม่ชอบมาพากลจึงกล่าวเตือนว่า “ท่านสมภารอย่าเอาเงินออกมาวางทำไมตั้งมากมายถึงปานนั้น ผมว่าเก็บใส่ย่ามไว้ก่อนดีกว่า ใครมาเห็นเข้ามันจะไม่ดี”

          “ผมจะถวายท่านพระครู เงินสองหมื่นนี่ผมเก็บมาทั้งชีวิตเลย แต่ก็จะตัดใจถวายถ้าท่านช่วยผมได้สำเร็จ บอกตามตรงว่าเสียดายใจแทบขาด” คนพูดมีเจตนาจะให้ค่าของเงินสองหมื่นนั้นดูมากมายมหาศาล หากคนฟังกลับกล่าวเสียงเรียบว่า “เสียดายก็เก็บไว้เสียเถอะ รับรองว่าถ้าช่วยได้ผมก็จะช่วยจนสุดความสามารถ โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงผมจะไม่เคยมีเงินมากมายเท่านี้ แต่ผมก็ไม่คิดอยากได้ พูดไปท่านคงไม่เชื่อแต่มันก็เป็นความจริง

          โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่สะสมเงินทอง ใครมาถวายผมก็ปัดเข้าเป็นเงินวัด เพราะต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟและค่าอาหารเลี้ยงผู้คนที่มาปฏิบัติธรรม”

          “ผมว่าท่านคิดผิดแล้ว เพราะสมัยนี้ใคร ๆ เขาก็สะสมเงินทองกันทั้งนั้น สำหรับผม เงินสำคัญมาก เวลามีเรื่องเดือดร้อนมันสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ท่านพระครูเชื่อผมเถอะ ลองไม่มีเงินเสียอย่างเดียว เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก”

          “แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม ผมถือคติว่านักบวชต้องดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ การสะสมเงินทองเป็นเรื่องของฆราวาสเขา”

          “ถ้าเช่นนั้นก็นิมนต์ท่านสันโดษต่อไปแล้วกัน ส่วนผมทำอย่างท่านไม่ได้ เพราะผมไม่ชอบตั้งอยู่ในความประมาท” ท่านพระครูอยากจะย้อนว่า การกระทำของท่านสมภารนั่นแปละที่เรียกว่าตั้งอยู่ในความประมาท คือประมาทมัวเมาในลาภสักการะ แต่ท่านก็ไม่พูดเพราะรู้ว่าพูดกับคนมิจฉาทิฐินั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นพระด้วยแล้วก็พึงนึกถึงคำพังเพยที่ว่า “ทิฐิพระ มานะครู” ให้มาก ๆ

          “ท่านว่ามีเรื่องจะปรึกษาไม่ใช่หรือ” ท่านพระครูเปลี่ยนเรื่องคุย

          “ครับ ผมขอความกรุณาท่านโปรดช่วยผมด้วย ผมก็เห็นว่ามีท่านคนเดียวนี่แหละที่จะช่วยได้ นึกว่าเอาบุญเถอะ”

          “ก็ผมยังไม่รู้เรื่องราว แล้วจะไปช่วยท่านได้ยังไง เล่าให้ผมฟังก่อนสิ” สมภารวัยเดียวกับท่านพระครูจึงเล่าว่า

          “พวกชาวบ้านเขาจะจับผมสึก เขาหาว่าผมต้องอาบัติปาราชิก”

          “แล้วท่านเป็นอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่าเล่า”

          “ปละ...เปล่าครับ” ตอบไม่เต็มเสียงนัก

          “อ้าว ก็ในเมื่อท่านไม่เป็นแล้ว จะต้องไปเดือดร้อนทำไมกัน ไหนเรื่องราวมันไปยังไงมายังไง ทำไมเขาถึงมากล่าวหากันง่าย ๆ อย่างนี้” ท่านสมภารรีบคล้อยตามว่า

          “นั่นซีครับ อยู่ดี ๆ เขาก็มากล่าวหาผม เรื่องไม่มีมูลความจริงก็มากล่าวหากันได้” ประโยคหลังบ่นเสียงอ่อย ๆ

          “เอ แต่โบราณเขาว่า ไม่มีมูลฝอยหมามันไม่ขี้ ท่านอย่าปดผมดีกว่า เล่าไปตามตรงว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าช่วยได้ผมก็จะช่วย ขอให้พูดความจริงก็แล้วกัน” เมื่อท่านพระครูพูดอย่างนี้ คนฟังก็เลยต้องเล่าไปตามความจริงแต่ไม่ทั้งหมดว่า

          “เขาหาว่าผมเสพเมถุน คือว่า ผู้หญิงเขามาปรึกษาปัญหาส่วนตัวกับผม เขาก็มากับแม่ทุกครั้ง แต่วันนั้นแม่เขาป่วยมาไม่ได้ เขาเลยต้องมาคนเดียว”

          “แล้วยังไง” ท่านพระครูซักเพราะเห็นเรื่องกำลังจะเข้าเค้า ท่าทางคนเล่าก็มีพิรุธชวนให้สงสัยนัก

          “เขาก็มาปรึกษาผมโดยไม่มีแม่มาเป็นเพื่อน”

          “แล้วปรึกษากันที่ไหน” ท่านพระครูสวมบทอัยการ

          “ก็ปรึกษากันที่กุฏิผม”

          “มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยหรือเปล่า”

          “ไม่มี”

          “เขามาเวลาเท่าไหร่”

          “ประมาณสองทุ่ม”

          “แล้วปรึกษากันถึงกี่ทุ่ม”

          “ประมาณสี่ทุ่ม ก็ยังไม่ดึกเท่าไหร่” พูดแบบเข้าข้างตัวเอง

          “แล้วตอนปรึกษานั้น ปิดไฟหรือเปิดไฟปรึกษากัน”

          “เปิดครับ แต่ไฟมันหรี่ไปหน่อย เลยออกจะมืด ๆ”

          “แล้วยังไงต่อไปอีก”

          “ผมก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขามาแอบดูอยู่ แล้วก็มีคนไปบอกผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็สั่งคนให้มาล้อมกุฏิไว้”

          “แล้วท่านรู้ตัวตอนไหน”

          “ตอนที่เขาตะโกนเข้ามาบอกแล้ว...ผู้หญิงเขาตกใจเลยกระโดดขึ้นมานั่งบนตักผม”

          “ก็ตอนที่เขาตะโกนเข้ามา ทำไมท่านถึงไม่กระโดดหน้าต่างหนีไปก่อนล่ะ อยู่ให้เขาจับได้คาหนังคาเขา แล้วใครเขาจะเชื่อ”

          “ผมก็คิดจะหนี แต่ผู้หญิงเขาจับไว้แน่นเลย” ท่านเลี่ยงมาใช้คำว่า “จับไว้แน่น” แต่ความจริงคือ “กอดไว้แน่น” เพราะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม

          “แล้วยังไงต่อไป” ท่านพระครูซัก

          “พวกเขาก็พากันบุกขึ้นมาบนกุฏิแล้วก็เห็นเข้า”

          “เห็นอะไร”

          “เห็นผู้หญิงนั่งอยู่บนตักผม แล้วก็จับผมไว้แน่น เขาก็ตั้งข้อหาว่าผมเสพเมถุน จะจับผมสึก”

          “ท่านพระครูไม่แน่ใจ ว่าเรื่องที่สมภารเล่ามาจะเป็นความจริงทั้งหมดจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบเล้วก็ให้รู้สึกเศร้าสลดใจที่เห็นผู้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ประพฤตินอกรีตนอกรอยเช่นนี้

          “แล้วท่านจะให้ผมช่วยอะไร” ถามเพราะมองไม่เห็นทางเลยว่าจะช่วยได้อย่างไร คนถูกถามมีสีหน้าดีขึ้นพูดตอบว่า

          “ผมขอความกรุณา ท่านช่วยพูดกับเขาด้วย อย่าให้เขาจับผมสึก แล้วก็อย่าให้เขาถอดผมออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส” ท่านพระครูทนฟังไม่ได้ จึงพูดขัดขึ้นว่า

          “อย่าพูดเอาแต่ได้อย่างนั้นสิท่านสมภาร ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้างเป็นไร ถ้าท่านเป็นชาวบ้านเห็นพระทำอย่างนี้ ท่านจะคิดยังไง ท่านจะยังศรัทธา ยังเคารพพระรูปนั้นอยู่หรือ ผมขอตำหนิท่านตรง ๆ ว่า ท่านทำร้ายจิตใจชาวบ้านมากเกินไป แล้วยังทำลายความเคารพนับถือที่พวกเขามีต่อท่าน รู้ตัวหรือเปล่าว่าท่านทำให้พระศาสนาต้องมัวหมอง ผมรู้สึกเสียใจมาก เสียใจจริง ๆ” คนฟังก้มหน้างุด อยากจะยอมรับผิด หากเจ้าทิฐิมานะก็ยุยงว่า “อย่ายอมแพ้ อย่ายอม ท่านเป็นสมภาร จะยอมแพ้ไม่ได้” ได้กำลังใจจากทิฐิมานะเช่นนี้ ท่านสมภารจึงเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า “ท่านพระครูพูดยังกับว่าผมเป็นคนผิด”

          “ใครผิดใครถูกท่านก็รู้อยู่แก่ใจดีแล้ว ผมขอถามหน่อยเถอะ ศีล ๒๒๗ ข้อน่ะ ท่านเหลืออยู่กี่ข้อ เอาละ ไหน ๆ ก็ตั้งใจมาขอคำปรึกษา ผมก็ขอถือโอกาสแนะนำว่า ท่านสึกเสียเถอะ สึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ขืนอยู่ต่อไปก็รังแต่จะให้พระศาสนาต้องมัวหมองหนักขึ้น ท่านจะมาติดอยู่กับตำแหน่งสมภารได้ยังไง ในเมื่อชาวบ้านเขาไม่ต้องการท่านแล้ว อย่าเหยียบเรือสองแคมเลยนะ”

          “ท่านไม่ช่วยผมจริงหรือ ผมรู้ว่าท่านช่วยได้ เสียแรงที่เรารู้จักกันมานาน” อีกฝ่ายตัดพ้อ

          “ก็ในเมื่อรู้จักกันมานาน ท่านก็น่าจะรู้นิสัยผมดี อย่าให้ผมต้องทำผิดไปอีกคนหนึ่งเลย รู้ตัวหรือเปล่า ผมผิดหวังที่ท่านเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี ไม่น่าเลย”

          “ท่านจะติว่ายังไง ผมยอมทั้งนั้น ขออย่างเดียวให้ช่วยผมด้วย ที่ผมบากหน้ามาพึ่งก็เพราะเห็นว่าท่านเป็นคนมีเมตตา แล้วท่านจะไม่เมตตาผมเลยเชียวหรือ” สมภารวัดฝั่งตรงข้ามยังคงรบเร้า

          “เมตตามันก็มีขอบเขตของมันนะท่าน ถ้าเราเมตตาคนในทางที่ผิด ก็เท่ากับช่วยฉุดให้เขาลงนรกเร็วขึ้น ท่านเชื่อผมสักครั้ง สึกเสียดีกว่าจะมาคาราคาซังอยู่อย่างนี้”

          “ผมจะสึกได้ยังไง ท่านคิดดูก็แล้วกัน อายุผมปาเข้าไปตั้งห้าสิบแล้ว จะไปทำมาหากินอะไรได้ เคยชินแต่กับการเป็นผู้รับ สึกออกไปแล้วใครเขาจะเอาเงินเอาทองมาถวาย ข้างผู้หญิงเขาก็อายุเพิ่งจะสิบเจ็ด งานการก็ยังไม่ได้ทำเพรายังเรียนไม่จบ ที่สำคัญกว่านั้นคือการเป็นเจ้าอาวาส ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ เมื่อไหร่กัน”

          “ก็ในเมื่อท่านยังหวงยังห่วงตำแหน่ง แล้วทำไม่ถึงไม่รักษาไว้ให้ดีล่ะ มีประโยชน์อะไรที่จะมานึกเสียดายเอาตอนนี้ มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ท่านยิ่งพูดผมก็ยิ่งเศร้าใจหนักขึ้นเพราะมันแสดงให้เห็นชัดแจ้ง ว่าท่านมาบวชนี่ก็เพื่อหาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ผมคิดว่าท่านมาบวชเพื่อสละกิเลสเสียอีก ที่แท้ท่านก็เป็น อุปชีวิกา บวชเพื่อเลี้ยงชีพ”

            “จะอะไรก็แล้วแต่ มันเรื่องของผม ว่าแต่ว่าท่านจะไม่ช่วยผมจริง ๆ หรือ นี่เงินตั้งสองหมื่นเชียวนะ” พูดพลางชี้ธนบัตรสองปึกตรงหน้า คิดว่าท่านพระครูจะต้องใจอ่อนเพราะเงินทำให้คนใจอ่อนมานักต่อนักแล้ว ทว่าท่านเจ้าของกุฏิกลับพูดเสียงหนักแน่นว่า

          “ท่านสมภารคงจะเคยดูถูกตัวเองมาจนชิน ก็เลยพลอยดูถูกผมไปด้วย คนอย่างผมเงินซื้อไม่ได้แน่ ผมจะไม่ยอมจำนนต่อเงิน แต่จะยอมจำนนต่อความถูกต้อง เก็บเงินของท่านไปเสียเถิด ผมไม่อยากได้มันหรอก” สมภารวัดป่ามะม่วงรู้สึกไม่พอใจในการกระทำของอีกฝ่าย ต่อเมื่อระลึกรู้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ความไม่พอใจนั้นก็เปลี่ยนเป็นเมตตาสงสาร จึงพูดปลอบใจผู้เป็นอาคันตุกะว่า

          “ท่านสมภาร เคยอ่านพบพุทธวจนะที่เกี่ยวกับเรื่องกรรมไหม พุทธวจนะที่ว่า หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะได้รับผลของกรรมนั้น เคยอ่านไหม ถ้าผมจำไม่ผิด รู้สึกจะอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔”

          “เคยครับ ผมจำได้ด้วย”

          “งั้นก็ดีแล้ว ท่านลองพิจารณาไปตามพุทธวจนะที่ว่ามานี้ บางทีท่านอาจจะสบายใจขึ้น คิดเสียว่ามันเป็นกรรมของท่าน ท่านเป็นผู้กระทำก็ต้องรับผลด้วยตัวท่านเอง ไม่มีใครหนีกรรมไปได้ ดูอย่างพระโมคคัลลานะซึ่งเป็นถึงพระอรหันต์ ทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ต้องมาถูกโจรฆ่าตาย เพราะกรรมที่ทำไว้กับมารดาในอดีตชาติ ถ้าท่านสมภารเชื่อผมก็ขอให้ทำตามที่ผมแนะนำ”

          “ผมจะเชื่อท่านได้ยังไง ถ้าผมเชื่อท่านก็แปลว่าผมเป็นผู้แพ้ แล้วผมเป็นใคร ผมน่ะเป็นถึงสมภาร เรื่องอะไรจะไปยอมแพ้พวกชาวบ้าน” คนพูดพูดด้วยทิฐิ ท่านพระครูรู้สึกระอา หากก็ใจเย็นพอที่จะพูดต่อไปว่า

          “ท่านลืมแล้วหรือ คนที่เป็นพระนั้นจะต้องรู้จักแพ้ พระต้องเป็นผู้แพ้อยู่วันยังค่ำ ไม่งั้นโบราณคงไม่สอนไว้ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ท่านอยากเป็นพระหรือเป็นมารล่ะ

          “แต่ผมไม่เชื่อโบราณ ผมถือคติว่า เชื่อโบราณบานบุรี ฉะนั้นผมไม่เชื่อเด็ดขาด แล้วผมก็จะไม่ยอมแพ้ด้วย”

          เมื่อเห็นว่าท่านพระครูไม่ช่วยแน่แล้ว สมภารวัดฝั่งตรงข้ามก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะมาอดกลั้นความโกรธเอาไว้ ท่านจึงพูดด้วยความโกรธแค้นว่า “ดีแล้ว ท่านจำไว้นะว่าวันพระไม่ได้มีหนเดียว แล้วผมจะคอยดูว่าคนอย่างท่านจะไม่ตกที่นั่งลำบากอย่างผมบ้าง”

          “รับรองได้ คนอย่างผมมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่ ผมสำรวมระวังในเรื่องนี้ที่สุด แล้วก็อบรมพระลูกวัดด้วย ท่านอย่าได้ห่วงไปเลย”

            “เถอะ ถึงยังไงมันก็อาจจะพลาดพลั้งเข้าสักวัน ผมเห็นมานักต่อนักแล้ว วัดที่มีชีอยู่ วันดีคืนดีแม่ชีก็ตั้งท้อง”

          “แต่ต้องไม่ใช่ชีวัดป่ามะม่วง จริงอยู่ถึงวัดผมจะมีชี แต่ผมก็สร้างสำนักชีให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วน ไม่ให้มาจุ้นจ้านวุ่นวายกับพระ แล้วก็ห้ามพระเณรเข้าไปในเขตสำนักชี ใครไม่เชื่อฟังผมก็ให้ไปอยู่วัดอื่น แล้วตัวผมก็ทำตามกฎเช่นกับคนอื่น ๆ ไม่เคยถืออภิสิทธิ์ใด ๆ ไม่ได้ทำเลอะเลือนล่ามป้ามเหมือนท่านหรอก” เมื่อฝ่ายนั้นว่ามา ท่านก็เลยว่าตอบเอาบ้าง อยากจะสอนอาคันตุกะทางอ้อมด้วย

          ถ้อยคำของสมภารวัดป่ามะม่วงทำให้สมภารวัดฝั่งตรงข้ามร้อนรุ่มคลุ้มคลั่งราวกับนั่งอยู่บนกองเพลิง ถึงจะรู้อยู่เต็มอก ว่าตนเป็นฝ่ายผิด แต่ก็ไม่ต้องการให้ใครมาว่า

          กำลังนึกหาถ้อยคำเผ็ดร้อนมาโต้ตอบก็ให้รู้สึกเย็นวูบวาบชุ่มฉ่ำขึ้นในหัวใจ ไฟโทสะดับลงด้วยอำนาจเมตตาที่ท่านพระครูแผ่มาให้ สำนึกผิดชอบชั่วดีกลับมาอีกครั้ง สมภารวัยห้าสิบจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “ผมเสียใจ นี่ถ้าผมไม่ประมาทก็คงจะไม่พลาดพลั้งถึงปานนี้ ผมขอสารภาพว่าผมต้องอาบัติปาราชิก ไม่รู้ผีป่าซาตานที่ไหนมาดลใจให้ผมเห็นกงจักรเป็นดอกบัว” อดโยนความผิดให้พ้นตัวไม่ได้

          “อย่าไปโทษผีที่ไหนเลยท่าน โทษตัวของเรานั่นแหละ เพราะเราขาดสติถึงได้เป็นเช่นนี้”

          “อาจจะจริงอย่างที่ท่านว่า ตกลงผมจะยอมสึก เงินจำนวนนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผมในการก่อร่างสร้างตัว” พูดพลางเก็บเงินเข้าในย่ามดังเดิม รู้สึกอัดอั้นตันใจจนพูดไม่ออก ได้แต่นั่งคอตกนิ่งอยู่

          “ท่านเลิกคิดเรื่องนี้ได้แล้ว เอาสมองไว้คิดเรื่องการทำมาหากินดีกว่า ท่านสร้างบุญบารมีมาเพียงแค่นี้ ถึงคราวจะต้องจุติก็ต้องจุติ” ท่านหมายถึงการเคลื่อนจากเพศพรหมจรรย์

          “แต่ผมเสียใจ เสียใจและเสียดายที่ไม่สามารถรักษาเพศพรหมจรรย์ไว้ได้ ถึงอย่างไรผมก็ยังอยากเป็นพระมากกว่าเป็นฆราวาส นี่ถ้าสึกออกไปก็ต้องไปอยู่ที่อื่น คงทนไม่ได้ที่จะต้องถูกเยาะเย้ยถากถางจากคนที่เคยกราบเคยไหว้ผม มันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต” พูดเสียงเครือและท่านพระครูก็ได้เห็นน้ำตาของลูกผู้ชายวัยเดียวกับท่าน รู้สึกสงสารเห็นใจ หากก็ช่วยอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของ “กรรมใดใครก่อ” เมื่อเขาก่อกรรม สร้างกรรม เขาก็ต้องรับผลของมัน ไม่ว่าผลนั้นจะดีหรือร้าย หวานหรือขมก็ต้องอมต้องกลืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          “แล้วท่านคิดจะไปอยู่ที่ไหน ท่านมีญาติพี่น้อยที่ไหนบ้าง”

          “ไม่มีเลย พ่อแม่ญาติพี่น้องผมตายหมด เหลือก็แต่หลาน ๆ ซึ่งไม่ได้ไปมาหาสู่กันนาน คงจำกันไม่ได้แล้ว แต่ถึงจำได้เขาก็คงไม่อยากคบหาสมาคมกับคนต้องอาบัติปาราชิกอย่างผม” คราวนี้ท่านถึงกับสะอึกสะอื้นออกมา รู้สึกอัปยศอดสูเป็นที่สุด ท่านพระครูเองก็รู้สึกรันทดใจจนมิรู้ที่จะกล่าวปลอบว่าอย่างไร ต่างนั่งนิ่งกันไปพักหนึ่ง แล้วอาคันตุกะ จึงพูดขึ้นว่า

          “ผมเห็นจะต้องขอตัวกลับก่อน ขอบคุณที่ท่านพระครูให้สติ ผมเพิ่งประจักษ์เดี๋ยวนี้เองว่าท่านมีเมตตาอย่างแท้จริง เพราะถ้าท่านช่วยผมในทางที่ผิดก็เท่ากับฉุดให้ผมดิ่งลงนรกเร็วขึ้น ต้องขอโทษที่รู้สึกโกรธท่านในตอนแรก ผมลาละครับ” พูดจบจึงก้มลงกราบเจ้าของกุฏิสามครั้ง ท่านพระครูรับไหว้แล้วพูดด้วยความเห็นอกเห็นใจว่า

          “ขอให้ท่านโชคดี มีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ก็บอกมา ไม่ต้องเกรงใจ ผมยินดีจะช่วยทุกเรื่องที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ขอให้นึกถึงผมบ้าง”

          “ครับ ผมจะนึกถึงท่านพระครูเป็นคนแรก ผมไปละครับ”

          “แล้วกลับยังไงล่ะ” ถามอย่างเป็นห่วง

          “เรือเขารออยู่ครับ ผมเหมาเรือมา”

          “งั้นผมจะเดินไปส่งที่ท่าน้ำ”

          “อย่าเลยครับ เห็นว่างานท่านยุ่งมากไม่ใช่หรือ” อาคันตุกะพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรหรอก ไหน ๆ ก็ตังใจจะไปส่งแล้ว เสียเวลาแค่ห้านาทีสิบนาทีจะเป็นไรไป” แล้วจึงเดินไปส่งอาคันตุกะถึงท่าน้ำหลังวัด ก่อนลงเรือท่านสมภารหันมาขอบคุณและกล่าวว่า

          “ขอบคุณท่านพระครูเหลือเกิน ผมสบายใจแล้ว จริงอย่างท่านพระครูว่า...เราทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว เราต้องรับผลของกรรมนั้น..”

          “ผมไม่ได้ว่า ท่านอย่าเข้าใจผิด ผมเพียงแต่ยกพุทธพจน์มาอ้างเท่านั้น” ท่านพระครูรีบออกตัว

          “นั่นแหละ ถ้าท่านไม่พูดอย่างนี้ ผมก็ยังคงมืดบอดอยู่ เดี๋ยวนี้ผมตาสว่างแล้ว ตาสว่างใจสว่าง ผมขอชดใช้กรรมจนกว่าจะหมด ท่านพระครูเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ขอให้ท่านเจริญในธรรมมากขึ้น และขอให้ท่านบรรลุธรรมสูงสุดภายในชาตินี้ ผมขออนุโมทนา”

          พูดพร้อมกับยกมือประนมไหว้อย่างนอบน้อม ท่านพระครูยกมือขึ้นรับไหว้แล้วยืนรอกระทั่งเรือลำน้อยเคลื่อนออกจากฝั่ง

          ตะวันรอนอ่อนแสงลงมากแล้ว เงาของพระกับคนแจวเรือที่ทอดลงบนพื้นน้ำนั้นเห็นได้ชัดเจน ท่านพระครูรู้สึกตกใจ ที่เงาของท่านสมภารไม่มีศีรษะ! รู้ได้ในทันทีว่าภิกษุรูปนั้นชะตาขาด ท่านจึงหาทางช่วยเหลือด้วยการรีบกลับมาแผ่เมตตาให้ อย่างน้อยก็ช่วยให้วิญญาณดวงนั้นไปสู่ทุคติในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ต้องตกไปอยู่ที่นั่นชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ท่านช่วยได้มากที่สุดเพียงเท่านี้

          ขึ้นจากเรือแล้ว ท่านสมภารต้องเดินต่อไปอีกประมาณสองกิโลเมตรจึงจะถึงวัด ดวงตะวันเคลื่อนตัวต่ำลงเข้าไปทุกขณะ หนทางแคบ ๆ ที่สองฟากข้างเป็นป่ารกเรื้อจึงดูมืดครึ้มกว่าปกติ ท่านเร่งฝีเท้าเร็วขึ้นเพราะอยากถึงวัดก่อนเวลาที่งูเงี้ยวมันออกหากิน เหลืออีกไปกี่สิบก้าวจะพ้นแนวป่า แล้วท่านก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นใกล้ตัวหลายนัด รู้สึกเจ็บแปลบที่ขั้วหัวใจ แล้วความรู้สึกทั้งมวลก็ดับวูบลง ขณะที่นึกถึงท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเป็นสำนึกสุดท้าย

          ข่าวการมรณภาพของท่านสมภารเพราะถูกลอบยิง เป็นที่โจษจันกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วก็เลยเป็นที่รู้กันทั้งตำบลและอำเภอ

          นอกจากท่านพระครูแล้ว ไม่มีผู้ใดรู้ว่ามือปืนเป็นใคร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเท่านั้นที่รู้ว่า คนยิงคือคู่รักของผู้หญิงที่ท่านสมภารไปพัวพันด้วยความหึงหวงกลายเป็นเคียดแค้นชิงชัง จึงมาดักยิงเสียให้สมแค้น

          แต่สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ชาติก่อนท่านสมภารไปฆ่าเขาไว้ มาชาตินี้เขาจึงตามมาฆ่า แม้ท่านจะอยู่ในเพศบรรพชิต แต่เมื่อกระทำกรรมชั่ว กรรมดีที่สั่งสมไว้จึงหมดลง เปิดโอกาสให้กรรมชั่วมาให้ผล ท่านสมภารได้ชดใช้เวรกรรมที่ท่านก่อแล้ว...

 
 มีต่อ........๒๓


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 12, 2007, 10:23:28 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00023
 

๒๓...

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงกำลังฉันภัตตาหารเช้าอยู่ที่ชั้นล่างของกุฏิ ตั้งใจว่าฉันเสร็จจะขึ้นไปเขียนหนังสือยังชั้นบน แต่แล้วก็มีอันต้องเสียความตั้งใจ เมื่อชายหญิงคู่หนึ่งช่วยกันประคองถาดทองเหลืองเดินเข่าเข้ามาหา ในถาดมีก้อนหินสีนวลวางอยู่ เป็นหินรูปทรงไข่ไก่ แต่มีขนาดใหญ่กว่าสักประมาณห้าสิบเท่าตัว

         เมื่อเข้ามาในระยะหัตถบาส คนทั้งสองวางถาดลงแล้วกราบท่านพระครูสามครั้ง ฝ่ายชายถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อ คือ พระครูเจริญใช่ไหมครับ” แทนคำตอบ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงกลับถามว่า

         “โยมมีธุระอะไรกับอาตมาหรือ”

         “ครับ ผมชื่อมนตรี ภรรยาชื่อสุมาลี บ้านอยู่ช่องแคแต่ไปสอนหนังสืออยู่ตาคลีครับ”

         “อ้อ เป็นครู แล้วไปไหนกันมา ทานข้าวแล้วหรือยัง”

         “ยังไม่หิวค่ะ” ครูสุมาลีตอบ

         “ไม่หิวไม่ได้ซี ถึงเวลากินก็ต้องกิน สมชายพาแขกไปทานอาหารหน่อย ท่านหันไปสั่งลูกศิษย์วัด ครูสองคนจึงต้องลุกขึ้นเดินตามนายสมชายไปยังโรงครัว ครู่ใหญ่ ๆ จึงกลับมาที่กุฏิอีกครั้ง ท่านพระครูแปรงฟันบ้วนปากเสร็จแล้วและกำลังรออยู่

         “จะเอาหินมาถวายอาตมาหรือ จะเอามาให้ปลุกเสก” ท่านถามยิ้ม ๆ คนเดี๋ยวนี้เชื่อถืออะไรต่อมิอะไรกันเปรอะไปหมด พระบางรูปถึงกับยึดอาชีพ “ทำปลัดขิก” จะหน่ายจ่ายแจกประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ผัวเมียคู่นี้อาจจะมาทำนองเดียวกัน ท่านคาดการณ์ล่วงหน้า

         “จะเอามาถวายครับ หลวงพ่อกรุณารับไว้ด้วย หินก้อนนี้มีที่มาแปลก ถ้าผมเล่าให้หลวงพ่ออาจจะไม่เชื่อ” ครูมนตรีพูดออกตัวไว้ก่อน

         “ลองเล่าไปสิ แล้วเชื่อหรือไม่เชื่ออาตมาจะบอกทีหลัง” ครูมนตรีจึงเล่าให้ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงฟังว่า

         “ผู้ปกครองนักเรียนเขาเอามาให้เพื่อนผม ซึ่งเป็นครูอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เรื่องมีอยู่ว่า สองผัวเมียได้ไปทำไร่ที่ตำบลหนึ่งของอำเภอนั้น ไปปลูกกระท่อมอยู่ในป่า เมียเขาก็ไปเก็บหินมาสามก้อน จะเอามาทำเป็นเส้าก่อไฟหุงข้าว พอทำเสร็จก็ก่อไป ปรากฏว่าหินก้อนนี้มันร้อง ร้องว่า “กูร้อน กูร้อน เอากูมาเผาทำไม เดี๋ยวกูจะหักคอมึง” สองผัวเมียจึงเอาก้อนนี้ออก ไปหาก้อนอื่นมาแทน

         รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ก็ลองเอาก้อนนี้มาทำเส้าอีก มันก็ร้องแบบเดียวกับวันวาน เขาจึงเอาไปตั้งไว้หน้าหิ้งพระ ตกกลางคืนก็มาเข้าฝัน ว่าอยากไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดป่ามะม่วง ขอให้พาไปด้วย สองผัวเมียก็ไม่รู้ว่าวัดป่ามะม่วงอยู่ที่ไหน จึงไม่ได้พาไป คืนที่สองก็มาเข้าฝันอีกว่า ช่วยพาไปวัดป่ามะม่วงด้วย จะไปเรียนกรรมฐานกับท่านพระครูเจริญ คืนที่สามก็มาบอกอีก คราวนี้บอกที่ตั้งของวัดด้วย สองผัวเมียจึงมาเล่าให้เพื่อนผมฟัง และขอร้องให้เพื่อนผมช่วยจัดการให้ เพราะเขาไม่มีเงินค่าเดินทาง เพื่อนผมเขาไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้ แต่ก็รับไว้เพราะสงสารสองผัวเมีย ซึ่งมีท่าทางทุกข์ร้อนและวิตกกังวลมาก

         คืนแรกที่อยู่บ้านเพื่อนผม ก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน เพื่อผมก็ยังไม่เชื่อ คิดว่าฟังสองผัวเมียเล่าแล้วตัวเองเก็บไปฝัน พอคืนที่สองก็มาเข้าฝันอีก เขาก็ชักเอะใจแต่ก็ยังไม่เชื่อ คืนที่สามก็บอกว่า พรุ่งนี้จะมีเพื่อนมาจากตาคลีให้ฝากกับเพื่อน ถ้าไม่ฝากจะหักคอให้ตายหมดบ้าน คราวนี้เพื่อนผมชักจะกลัว ๆ แต่ก็ยังไม่เชื่อและนึกไม่ออกว่าเพื่อนคนไหนจะมาหา เขาไม่เคยมีเพื่อนอยู่ตาคลี คือเขารู้แต่ว่าผมอยู่ช่องแค ทีนี้ช่วงนั้นผมไปเยี่ยมญาติซึ่งเป็นนายอำเภอลำปลายมาศ ผมจึงแวะเยี่ยมเพื่อนด้วย พอเขาเห็นผม เขามีท่าทางประหลาดใจมาก ถามว่าผมมาจากไหน พอผมบอกว่ามาจากตาคลี เขาถึงกับหน้าซีด ก็เลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ผมฟัง และขอร้องให้ผมเอาหินก้อนนี้มาด้วย เรื่องก็มีเท่านี้แหละครับ” ระหว่างที่ครูมนตรีเล่า ท่านพระครูนิ่งฟังโดยไม่ซักถาม ต่อผู้เล่าเล่าจบจึงถามขึ้นว่า

         “หินก้อนนี้มาอยู่บ้านครูได้กี่คืน”

         “คืนเดียวครับ ผมมาถึงเมื่อวานตอนค่ำ รุ่งเช้าก็นำมาที่นี่เลย”

         “แล้วเมื่อคืนมีใครมาเข้าฝันหรือเปล่า”

         “ไม่มีครับ ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น”

         “แล้วครูเชื่อหรือเปล่า”

         “ผมยังไม่เชื่อครับ แต่ถ้ามีคนมาเข้าฝันเหมือนอย่างที่เพื่อนผมเล่าก็อาจจะเชื่อ แล้วหลวงพ่อเล่าครับ หลวงพ่อเชื่อหรือเปล่า” ก่อนตอบคำถาม ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบเสียก่อนแล้วจึงพูดว่า

         “อาตมาเชื่อ เท่าที่ฟังมาก็พอจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอาตมาเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอยู่แล้ว” ท่านอธิบายโดยพยายามไม่ให้เป็นการ “อวดอุตริมนุสสธรรม”

         “อาตมาคิดว่าหินก้อนนี้คงจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับที่เขานำมาสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง และคงจะมีวิญญาณสิงอยู่”

         “วิญญาณของผู้หญิงหรือผู้ชายคะหลวงพ่อ” ครูสุมาลีถาม พลางมองไปที่ก้อนหินอย่างหวาด ๆ

         “เข้าใจว่าเป็นผู้ชาย เป็นคนหนึ่งที่ช่วยสร้างปราสาทหินพนมรุ้งแล้วก็ถูกหินตกลงมาทับตาย วิญญาณก็เลยสิงอยู่ในก้อนหิน ไม่ยอมไปไหน”

         “แต่เพื่อนผมเขาบอกว่าสองผัวเมียไปพบในป่านะครับ” ครูมนตรีติง

         “ถูกแล้ว มีคนมาขโมยไปจากปราสาทหิน คงเป็นนักท่องเที่ยวเห็นรูปร่างแปลก ๆ เลยขโมยไป แล้วก็คงจะถูกวิญญาณอาละวาด เลยเอามาทิ้งในป่า กระทั่งสองผัวเมียไปพบเข้า”

         “แล้วทำไมเขาถึงอยากมาอยู่วัดนี้ล่ะครับ”

         “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าครูอยากทราบ อาตมาจะถามเขาให้เอาไหม” ท่านถามทีเล่นทีจริง “บุรุษผู้มากับก้อนหิน” นั่งหมอบอยู่หน้าท่าน ทว่าครูสองคนไม่เห็น แต่ถึงจะเห็นก็เชื่อและกลัว จึงกล่าวปฏิเสธพร้อมกันว่า

         “ไม่ต้องหรอกครับ”

         “ไม่ต้องหรอกค่ะ”

         “อ้าว อาตมาพูดกับเขาได้นะจะบอกให้” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ แล้วพูดกับชายที่หมอบอยู่ต่อหน้า หากในสายตาครูสองคนดูเหมือนกำลังพูดกับก้อนหิน

         “เชิญอยู่ตามสบายนะ อยู่ที่กุฏิอาตมานี่แหละ แขกไปใครมาจะได้คอยต้อนรับ แล้วอาตมาจะสอนกรรมฐานให้” แล้วท่านก็พยักหน้าช้า ๆ พลางออกเสียง อ้อ อ้อ เหมือนกำลังฟังก้อนหินพูด ครูสองคนมองหน้ากันพลางนึกในใจว่า “หลวงพ่อองค์นี้ท่าจะเพี้ยน” ท่านพระครูหันมาแก้ว่า

         “อาตมาไม่ได้เพี้ยน อาตมากำลังคุยกับเขาจริง ๆ ไม่เชื่อไปเอาหมอมาตรวจเช็คดูก็ได้ ว่าอาตมาเป็นโรคประสาทหรือเปล่า” คำพูดของท่านพระครูทำให้คนฟังงุนงงนัก แล้วครูมนตรีก็พูดในใจว่า “อ๋อ พระอภิญญา หลวงพ่อองค์นี้ต้องได้อภิญญา”

         “เขาวานอาตมาให้ช่วยขอบใจครู บอกแล้วจะตามไปให้หวยที่บ้าน” คราวนี้ครูสุมาลีตาเป็นประกายเพราะอยากรวย

         “ตกลงผมพาเขามาถูกวัดแล้วใช่ไหมครับ” ครูมนตรีถาม ความข้องใจสงสัยปลาสนาการไปสิ้น

         “ถูกแล้ว เขาพอใจมากทีเดียว น่าอนุโมทนานะ ตายไปแล้วยังอยากทำความดี คนเป็น ๆ เสียอีกกลับประมาทมัวเมาในชีวิต” ท่านนึกไปถึงสมภารวัดฝั่งโน้น แต่ครูมนตรีกลับคิดไปว่าท่านหมายถึงตัวเขา จึงรีบออกตัวว่า “ครับ ต่อไปนี้ผมจะเลิกเที่ยวเตร่ เลิกเป็นคนสำมะเลเทเมาอย่างเด็ดขาด” เพิ่งจะรู้สึกตัวเดี๋ยวนี้เองว่า ที่แล้ว ๆ มาเขาไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกเมียเท่าใดนัก “สาธุ ขอให้ทำได้จริง ๆ เถอะ หนูขอนิมนต์หลวงพ่อเป็นพยานด้วยนะคะ” ครูสุมาลียกมือขึ้น สาธุ พร้อมกับอาราธนาท่านพระครูให้เป็นพยาน

         “ตกลง อาตมาจะเป็นสักขีพยานให้ อ้อ! แล้วอาตมาขอบิณฑบาตอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องสูบบุหรี่ อยากให้เลิกเสีย เพราะมันมีแต่โทษ หาประโยชน์มิได้เลย”

         “ครับ ผมสัญญาว่าจะเลิกให้หมด” ครูหนุ่มรับคำด้วยศรัทธาในท่านพระครูยิ่งนัก

         “ดีแล้ว เมื่อเลิกสิ่งไม่ดีได้ ต่อไปก็ให้เคร่งครัดในศีล รักษาศีลให้ได้ทั้งสองคนนั่นแหละ เอาแค่ศีล ๕ ก็พอ เมื่อศีลเพียบพร้อมก็จะได้มาฝึกสมาธิ ชีวิตก็จะได้เจริญรุ่งเรือง”

         “ค่อย ๆ ไปทีละขั้นไม่ดีหรือครับหลวงพ่อ มากเกินไปประเดี๋ยวผมจะรับไม่หมด” ครุมนตรีต่อรอง

         “รับไม่หมดแน่ ถ้าครูไม่ฝืนใจ การทำความดีต้องฝืนใจนะครู ไม่งั้นก็ทำไม่ได้ นี่ครูยังโชคดีนะที่ได้คู่ดี ถ้าเขาไม่ดีคงทิ้งครูไปเสียนานแล้ว อย่าโกรธนะอาตมาพูดตรง ๆ อย่างนี้แหละ” ท่านรู้ว่าบุรุษตรงหน้าอยู่ในข่าย “สอนได้” จึงสอน

         “ไม่โกรธครับ ผมจะโกรธผู้ที่หวังดีต่อผมได้อย่างไร เป็นบุญของผมเหลือเกินที่มารู้จักหลวงพ่อ ปกติผมเป็นคนรั้น พ่อแม่สั่งสอนก็ไม่เคยเชื่อฟัง แต่น่าแปลกที่มาเชื่อหลวงพ่อได้ ก่อนนี้ผมไม่ค่อยนับถือพระสักเท่าไหร่”

         “ทำไมถึงเป็นยังงั้นล่ะ”

         “ก็ท่านทำให้ผมหมดศรัทธาน่ะครับ ขอประทานโทษ หลวงพ่อรู้จักหลวงตาอ้อนไหมครับ” เขาเอ่ยนามภิกษุรูปหนึ่งซึ่งกิตติศัพท์ของท่านเป็นที่รู้จักดี กิตติศัพท์ในทางลบ!

         “รู้จักซี ทำไม่จะไม่รู้จัก ท่านออกดัง”

         “นั่นแหละครับ ผมแทบจะเลิกนับถือพระก็เพราะหลวงตาอ้อนนี่แหละ ผมไม่เล่าดีกว่า ประเดี๋ยวหลวงพ่อจะหาว่าผมว่าพระว่าเจ้า” แต่ถึงครูมนตรีจะไม่เล่า ท่านพระครูก็รู้ เพียงแต่ท่านอยากรู้ท่านก็รู้ได้ หากเรื่องที่อยากรู้นั้นไม่เกินความสามารถของ “เห็นหนอ”

         ท่านรู้ว่าที่ครูมนตรีผิดใจกับหลวงตาอ้อน เพราะถูกฝ่ายนั้นยืมเงินแล้วไม่ใช้คืน เป็นเงินค่อนข้างมากและที่สำคัญกว่านั้นคือ มันไม่ใช่เงินของครูมนตรีเอง แต่เป็นเงินที่เขายืมมาจากมารดาอีกทีหนึ่ง

         “แต่เดี๋ยวนี้ผมนับถือพระแล้วนะครับ อย่างน้อยผมก็รู้ว่าพระดี ๆ ยังมีอยู่ นี่ถ้าไม่ได้มาพบหลวงพ่อ ความคิดเช่นนี้คงยังไม่เกิด” ครูมนตรีพูดด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากจิตใจ

         “ดีแล้วที่ครูคิดได้อย่างนี้ เพราะคนที่ไม่นับถือพระนั้นได้ชื่อว่าบาปไปครึ่งหนึ่งแล้ว”

         “บาปอย่างไรคะหลวงพ่อ” ครูสุมาลีถาม

         “บาปในแง่ที่ว่า จิตเป็นอกุศลน่ะซีครู” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงตอบ ครูสุมาลีพยักหน้าช้า ๆ เป็นเชิงเข้าใจเรื่องที่ท่านพูด

         “อาตมาขออนุโมทนาด้วยที่ครูหันมานับถือพระอีก เท่ากับเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเองเหมือนกัน ที่จริงคุณพ่อคุณแม่ครูท่านก็เป็นคนดีนะ ดีมากเสียด้วย ทำไมครูไม่เอาเยี่ยงอย่างท่านล่ะ จริงไหมครู” ท่านถามครูสุมาลี

         “จริงค่ะหลวงพ่อ คุณพ่อคุณแม่เขาแสนจะดี และที่หนูยอมแต่งงานกับเขาก็เพราะคิดว่าเขาคงจะดีเหมือนคุณพ่อคุณแม่” คนเป็นภรรยาถือโอกาส “เล่นงาน” คนเป็นสามี

         “เอาละ ๆ ต่อไปนี้เขาจะเป็นคนดีแล้ว เรื่องเก่าอย่าเอามารื้อฟื้น” ท่านพระครูปรามเมื่อเห็นคนถูกว่าถลึงตาเข้าใส่คนเป็นภรรยา พลางเถียงในใจว่าก็ทำไมไม่แต่งกับพ่อแม่ฉันซะเลยล่ะ “ผมเห็นจะต้องกลับก่อนละครับ วันหลังจะหาโอกาสมากราบหลวงพ่ออีก” คนรำคาญภรรยาพูดขึ้น

         “เจริญพร แล้วไม่ต้องไปทะเลาะกันนะ เลิกทะเลาะกันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะรวย” ท่านชิงห้ามไว้เสียก่อน ด้วยรู้ว่าคนคู่นี้ทะเลาะกันเป็นประจำ

         “ค่ะ หนูเลิกทะเลาะกับเขาแล้วค่ะ” ครูสุมาลีตอบเพราะอยากรวย

         “อ้อ ขับรถขับราอย่าให้เร็วเกินไป รู้สึกว่าครูชอบขับรถเร็วเป็นวัยรุ่นเชียว” ท่านเตือนอีก ครูมนตรีรู้สึกประหลาดใจนั้น ศรัทธาปสาทะที่มีต่อภิกษุรูปนี้ดูเหมือนยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

         “นั่นซีคะ หลวงพ่อกรุณาช่วยปรามด้วยเถิดค่ะ หนูพูดหนูบอกเขาไม่เคยฟัง ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ” ครูสุมาลีถือโอกาสรายงานความประพฤติของสามีอีกครั้ง

         “หลวงพ่อครับ ผมเบื่อคนช่างฟ้องจังเลย ไม่รู้ว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหนดี” คนเป็นสามีพูดอย่างรำคาญ

         “ก็ครูอย่าทำให้เขาฟ้องนักซี แล้วก็ไม่ต้องเอาไปทิ้งไหนหรอก ขอให้เก็บไว้ให้ดี ๆ ถ้าทิ้งเขาเรานั่นแหละจะแย่ นี่อาตมาพูดตามข้อเท็จจริงนะ ไม่ได้เข้าข้างครูผู้หญิง” เมื่อเถียงตรง ๆ ไม่ได้คนถูกเตือนจึงต้องไปแบบข้าง ๆ คู ๆ ว่า

         “ไม่แย่หรอกครับหลวงพ่อ ทิ้งคนนี้แล้วผมก็ไม่หาคนใหม่ รับรองว่าจะให้สวยกว่าผอมกว่าคนนี้อีก ผมทำได้จริง ๆ นะครับ” พูดพลางชำเลืองไปทางผู้หญิงร่างท้วมที่นั่งถัดจากตน

         “อาตมารู้ว่าครูทำได้ แต่คุณภาพมันไม่เหมือนกันหรอกน่า ของเก่าน่ะมีค่ามากกว่า เหมือนเครื่องลายครามไง ยิ่งเก่ายิ่งแพง”

         “แต่คนไม่ใช่เครื่องลายครามนี่ครับหลวงพ่อ โดยเฉพาะผู้หญิง ยิ่งเก่าก็ยิ่งแก่ ยิ่งแก่ก็ยิ่งพูดมาก พวกผู้ชายเขาถึงได้ให้สมญาพวกผู้หญิงว่าเป็น พวกแก่ง่ายตายยาก”

        “ใช่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นเมียหลวงใช่ไหม” ท่านรู้เท่าทันอีก ครูมนตรีจึงต้องปิดปากเงียบ ขืนเถียงไปก็รังแต่จะเข้าเนื้อ เห็นเขาไม่เถียง ท่านพระครูจึงกล่าวสรุปแบบยาว ๆ ว่า “เอาละไม่ต้องไปหาคนใหม่ให้เหนื่อย คนนี้แหละดีแล้ว คนใหม่เขาจะมารักลูกเราหรือก็เปล่า เชื่ออาตมาเถอะ แล้วก็เลิกทะเลาะกันเสีย เลิกได้เมื่อไหร่รับรองรวยมาหลายคู่แล้ว” ท่านพูดอย่างรู้ใจ เพราะธรรมดาของปุถุชนนั้นเรื่องร่ำรวยต้องมาก่อนเสมอ หลังจากนั้น “ธรรมะ” จึงจะตามมา

         “ค่ะ หนูเลิกทะเลาะกับเขาอย่างเด็ดขาด” ครูสุมาลีรีบตอบ กระบวนอยากรวยไม่มีใครเกินเธอผู้นี้

         “ผมกราบลาละครับ” สามีกับภรรยากราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วลุกออกมา เมื่อรถถึงถนนใหญ่ คนขับก็แกล้งขับชนิด “เต่าคลานยังเร็วเสียกว่า” คนเป็นภรรยาคิดว่ารถเสียจึงถามขึ้นว่า “รถเป็นอะไรหรือคุณ”

         “ไม่เป็นอะไรหรอก ก็คุณไม่ชอบให้ขับเร็วก็เลยขับช้า ๆ” คนตอบ “ยวน” อย่างเห็นได้ชัด คนถามไม่พูดอะไรอีก นึกถึงคำของท่านพระครูที่ว่าเลิกทะเลาะได้แล้วจะรวย เธอจึงจำเป็นต้องนิ่ง มีใครบ้างที่ไม่อยากรวย

         เห็นภรรยาไม่ต่อล้อต่อเถียง ครูมนตรีก็จะชักรำคาญตัวเอง จึงเร่งความเร็วขึ้น หากก็ไม่เร็วเหมือนที่เคยขับ ด้วยระลึกถึงคำเตือนของท่านพระครู

         วันพระเป็นวันที่ท่านพระครูไม่รับนิมนต์ไปข้างนอก เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะพากันมาที่วัดด้วยจุดมุ่งหมายต่าง ๆ กัน บ้างมาเพื่อถวายของ อาจเป็นข้าวปลาอาหารหรือปัจจัย บ้างมาเพื่อสนทนาธรรม บ้างก็มาเพื่อธุรกิจการทำมาหากินและบ้างก็มาปรึกษาปัญหาชีวิต โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว ซึ่งคนพวกหลังนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการของ “โรคประสาท” ติดตัวมาด้วย พระบัวเฮียวให้สมญาคนเหล่านี้ว่า “พวกเอาปัญหามาให้พระ” และทั้งที่งานยุ่งจนแทบหาเวลาว่างมิได้ หากท่านพระครูก็เมตตาพวกเขา ท่านรับฟังทุกเรื่องทุกปัญหาตลอดจนช่วยแก้ไข ช่วยแนะนำไปเท่าที่จะช่วยได้

         ผู้ที่รับคำแนะนำของท่านไปปฏิบัติตามก็สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนผู้ที่ไม่สันทัดเรื่องการปฏิบัติก็เปลี่ยนไปวัดอื่นที่เขาใช้วิธีการอื่นในการแก้ปัญหา เป็นต้นว่ารดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขลงยันต์ หรือแม้กระทั่งแจกเครื่องรางของขลัง

         บรรดาคนเจ้าปัญหาทั้งหลายก็มีอันต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมาก หากก็ไม่ได้ผลเพราะเป็นการแก้ที่ไม่ถูกวิธี ดังที่ท่านพระครูพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า “แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนกินมังคุดไม่ถูกเม็ด”

         “หลวงพ่อครับ เป็นพระไปรับฟังปัญหาทางโลกได้หรือครับ” พระบัวเฮียวถามเชิงติติง

         “ทำไมจะไม่ได้เล่า เพราะมันก็เป็นธรรมะเหมือนกัน คำว่า “ธรรมะ” นั้นนอกจากจะหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึงธรรมชาติได้อีกด้วย เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คือธรรมชาติ พระองค์ไม่ทรงสอนในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ”

         “แล้วธรรมชาติคืออะไรครับ คือ ผมอยากทราบความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่ได้ยินได้ฟังมา”

         “ธรรมชาติก็คือ สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย และเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย คือเมื่อมีเหตุปัจจัยมาทำให้มันเกิดมันก็เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยมาทำให้มันเสื่อมสลายมันก็เสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นธรรมชาติทั้งสิ้น เพราะเกิดจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาไม่เชื่อว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย”

         “อย่างเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องธรรมชาติใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว ฉะนั้นคนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม เขาก็ต้องถูกธรรมชาติลงโทษ เธอคงเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าทางโลกกับทางธรรมไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด การที่เราจะให้คนเขาหันมาสนใจทางธรรม ก็ต้องช่วยเขาแก้ปัญหาทางโลกเสียก่อน เพราะถ้าจิตใจเขายังร้อนรนกระวนกระวาย เขาก็รับธรรมะไม่ได้

         สมัยพุทธกาลเวลาที่พระพุทธองค์สั่งสอนเวไนยสัตว์ ก็ทรงช่วยแก้ปัญหาทางโลกให้เขาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยแต่ประการใดที่พระช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ก็ต้องแก้ให้ถูกจุด ต้องให้ตัวเองอยู่เหนือปัญหา อย่าลดตัวเองลงไปพัวพันจนกลายเป็นเรื่องเสื่อมเสียขึ้น”

         “คือช่วยได้แต่ต้องช่วยอย่างมีสติ ใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว สติมีความสำคัญมาก การฝึกสติให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอจึงจำเป็น จะเรียกว่าจำเป็นที่สุดก็ได้ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าธรรมมีอุปการะมากคือ สติสัมปชัญญะ”

        “แต่การฝึกสติก็ทำยากมากนะครับหลวงพ่อ ยิ่งฝึกก็ยิ่งรู้ว่ามันยาก นี่ผมก็ฝึกมาจนเข้าเดือนที่สามแล้ว ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าสักเท่าไหร่”

         “นั่นเธอรู้สึกไปเอง ที่จริงแล้วเธอก้าวหน้า ฉันรู้” ฟังถ้อยคำของผู้เป็นอาจารย์แล้ว พระบัวเฮียวรู้สึกมีกำลังใจขึ้นแต่ก็อดที่จะพูดออกมาจากความรู้สึกของตนมิได้ว่า

         “ดูเหมือนว่าผมยิ่งฝึกกิเลสมันยิ่งเพิ่ม ดูท่าทางมันจะไม่ยอมหมดไปง่าย ๆ เลย”

         “นั่นแหละฉันถึงบอกว่าเธอก้าวหน้า คนที่ไม่ฝึกเขาจะไม่รู้หรอกว่ากิเลสในตัวเขานั้นมีมากมายเพียงไร กิเลสมีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด ยิ่งละเอียดก็ยิ่งขจัดออกยาก กิเลสอย่างหยาบเป็นกิเลสทางกายกับวาจา อันนี้ใช้ศีลชำระล้างออกได้ แต่กิเลสอย่างละเอียดต้องใช้การฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นจึงจะสามารถขจัดกิเลสอย่างละเอียดซึ่งเป็นกิเลสทางใจออกไปได้ และการที่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องให้จิตสงบเสียก่อน การฝึกสติก็เพื่อให้จิตสงบ ที่เรียกว่าการฝึกสมาธิ การปฏิบัติจึงต้องมีพร้อมทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ที่เรียกว่าการฝึกอบรมแบบไตรสิกขา”

         “กิเลสอย่างละเอียดนี่ขจัดยากจังนะครับ”

        “เธอเคยร่อนแป้งไหมเล่า การร่อนแป้งนั้น ร่อนเท่าไหร่ก็ยังมีกากเหลืออยู่ ไม่ว่าจะใช้ตะแกรงถี่ขนาดไหน และจะร่อนสักกี่ครั้งก็ต้องมีกากเหลืออยู่ทุกครั้ง เพราะกากนั้นมันจะละเอียดขึ้น ๆ ตามจำนวนครั้งที่ร่อน การฝึกอบรมทางจิตก็เช่นกัน ยิ่งเราปฏิบัติละเอียดเท่าไหร่กิเลสมันก็ละเอียดตาม การกำจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องใช้ความเพียรสูง แต่ถึงจะยากสักเพียงใดก็ไม่พ้นความสามารถของมนุษย์ผู้มีความเพียรไปได้ ไม่เช่นนั้นก็คงมีมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก จริงไหม”

         “จริงครับและที่วัดป่ามะม่วงก็มีพระอรหันต์แล้ว” พระบัวเฮียวตั้งใจ “หยั่งภูมิธรรม” ของผู้เป็นอาจารย์

         “อย่าพูดล่ามป้ามไปมันไม่ดี แล้วเขาไม่เรียกว่า ออ-ระ-หัน ที่ถูกต้องออกเสียงว่า อะ-นะ-หัน จำไว้ ทีหลังจะได้ไม่เรียกผิด ๆ ให้ผู้รู้เขาติเตียนได้”

         “ครับผม ถ้าอย่างนั้นผมขอกราบลากลับไปกุฏินะครับ”

         “อ้าว จะรีบไปไหนล่ะ ยังไม่ทันมีเรื่องเลยจะกลับเสียแล้ว” ท่านพระครูพูดเย้า ๆ

         “จะรีบไปร่อนแป้งครับผม” ลูกศิษย์ตอบแล้วก้มลงกราบสามครั้งจึงลุกออกไป..

           

มีต่อ........๒๔
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 12, 2007, 10:24:25 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00024
๒๔...
            วันพระนี้ก็เช่นเดียวกับวันพระอื่น ๆ เมื่อท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน ก็พบผู้คนมากหน้านั่งรออยู่ที่กุฏิชั้นล่าง ทั้งที่เวลาขณะนั้นเพิ่งจะตีสี่ หน้าตาของแต่ละคนล้วนบ่งบอกว่ากำลังประสบปัญหาชีวิตอย่างหนัก หวังจะมาพึ่งท่านให้ช่วยขจัดปัดเป่า

            นายสมชายซึ่งนอนอยู่กุฏิชั้นล่าง ต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่รับแขกแต่ดึกแต่ดื่น ที่สำคัญคือคอยจดจำว่าใครมาก่อนมาทีหลัง จะได้ไม่มีการลัดคิวกัน แขกบางคนก็นั่งตากน้ำค้างรอคิวตั้งแต่กุฏิยังไม่เปิด ต้องทนยุงทนหนาวเพราะอยากเข้าพบท่านก่อน

            ข้างฝ่ายนายสมชายก็เป็นคนยุติธรรมไม่มีใครเหมือน เพราะไม่ยอมรับสินบาทคาดสินบนใด ๆ ใครมาก่อนก็จัดให้เข้าพบก่อน ท่านพระครูกำชับนักกำชับหนา ว่าให้จัดลำดับอย่างเที่ยงธรรม ไม่ว่าใครจะใหญ่โตมาจากไหน ยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องเรียงตามลำดับก่อนหลังทั้งสิ้น

            ท่านพระครูขอตัวไปลงอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรมร่วมกับภิกษุรูปอื่น ๆ ซึ่งจะกินเวลาประมาณสองชั่วโมง และช่วงเวลานี้ท่านก็จะนำพระเณรปฏิบัติกรรมฐาน แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้เปตชน หรือที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “พวกผี”

            บรรดาเหล่านี้บ้างก็ท่องเที่ยวอยู่แถววัด คอยรับส่วนบุญส่วนกุศลจากผู้ที่อุทิศมาให้ บ้างก็มาจากที่ไกลโดยคำบอกเล่าของบรรดาเพื่อนผีด้วยกัน ท่านพระครูเคยเล่าให้พระบัวเฮียวฟังว่า พวกผีเหล่านี้ก็เหมือนคน เวลาไปรับประทานอาหารตามที่ต่าง ๆ ร้านไหนอร่อยก็จะบอกเพื่อนฝูงญาติมิตรให้ไปลองรับประทานบ้าง ผีก็เช่นกัน เมื่อพวกเขารู้ว่าที่วัดแห่งนี้มีคนมาทำบุญ และมีพระปฏิบัติกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็จะพากันมาคอยรับพร้อมทั้งบอกต่อไปยังเพื่อนผีญาติผีของตน

            การที่พวกผีเหล่านี้ต้องมาเร่ร่อนขอส่วนบุญจากมนุษย์ก็เพราะ พวกเขาไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ในสมัยที่ยังมีชีวิตก็ไม่เคยทำบุญทำทาน เมื่อตายลงจึงต้องมาเป็นเปรตคอยรับส่วนบุญจากผู้อื่น วันไหนไม่มีผู้อุทิศมาให้ก็ต้องทุกข์ทรมานเพราะความหิวโหย แต่เปตชนเหล่านี้ก็ยังดีกว่าพวกสัตว์นรก เพราะพวกหลังนี้นอกจากจะอดอยากหิวโหยแล้ว ยังถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามกรรมที่เขาได้ทำมาอีกด้วย

            เสร็จจาก “โปรดผี” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เดินกลับมายังกุฏิเพื่อ “โปรดคน” ต่อ พระบัวเฮียวเดินตามมาสังเกตการณ์เช่นทุกครั้ง ด้วยเป็นความประสงค์ของท่านพระครูที่ต้องการให้พระใหม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

            เมื่อนั่งที่อาสนะประจำของท่านแล้ว นายสมชายจึงบอกให้ชายวัยหกสิบเศษคลานเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจะได้ไม่พูดข้ามศีรษะผู้อื่น บุรุษหนั้นคลานเข้าไปในระยะหัตถบาส กราบสามครั้ง แล้วนิ่งอยู่

            “มีเรื่องอะไรว่าไปเลยโยม” ท่านกล่าวอนุญาต

            “ครับหลวงพ่อ ผมมานั่งรอตั้งแต่ตีสอง นั่งอยู่นอกกุฏิ ผมชื่อบุญช่วยครับ” เขารายงานเหมือนจะประกาศว่า “ไม่ได้แซงคิวใคร”

            “งั้นหรือ เอาละ จะให้อาตมาช่วยอะไรก็ว่ามา” หากเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความลับ ท่านจะพูดด้วยเสียงปกติ ยกเว้นเรื่องที่เจ้าตัวไม่ต้องการให้ผู้อื่นล่วงรู้ ท่านก็จะพูดเสียงเบาให้ได้ยินกันเพียงสองคน

            “คือแม่ผมน่ะซีครับหลวงพ่อ”

            “แม่โยมเป็นอะไร” ท่านถามเมื่อบุรุษนั้นไม่ยอมพูดต่อ

            “เป็นผู้หญิงครับ แล้วก็เป็นเมียพ่อ” บุรุษผู้มีนามว่าบุญช่วยตอบซื่อ ๆ แต่ทุกคนที่นั่งฟังอยู่พากันคิดว่าเขาแกล้งพูดถ่วงเวลาคนอื่น

            “อ้อ ที่มานั่งรอตั้งแต่ตีสองก็เพื่อจะมาบอกแค่นี้เองหรือ”

            “มีอีกครับหลวงพ่อ ยังมีอีก” นายบุญช่วยรีบบอกเพราะกลัวถูก “ตัดคิว”

            “คือแม่ผมแกกลัวตายครับหลวงพ่อ”

            “อายุเท่าไหร่ล่ะ”

            “ผมหรือครับ หกสิบห้าครับ”

            “ไม่ใช่ อาตมาหมายถึงแม่โยมต่างหาก”

            “แม่แปดสิบห้าครับ หลวงพ่อช่วยแกหน่อยเถิดครับ แกไม่อยากตาย รบเร้าให้ผมมาขอคาถาหลวงพ่อ แกว่าหลวงพ่อมีคาถากันตาย” ลูก “ยอดกตัญญู” รายงาน

            “อ๋อ เรื่องแค่นี้เอง นึกว่าจะมาเรื่องอะไร ไม่ยากหรอกโยม เรื่องง่าย ๆ เดี๋ยวอาตมาจะบอกคาถาให้” ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้นพลอยตื่นเต้นไปด้วย ต่างพากันเงี่ยหูฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

            “กลับไปบอกแม่นะโยมนะ คาถากันตายมีอยู่สองข้อคือ หนึ่งหายใจเข้าไว้ สองกินข้าวเข้าไว้ ปฏิบัติได้สองข้อนี้รับรองว่าไม่ตาย ที่เขาตาย ๆ กัน เพราะไม่ยอมหายใจ ไม่ยอมกินข้าว” คำตอบท่านพระครูทำให้คนอื่น ๆ หัวเราะ ยกเว้นบุรุษเจ้าของเรื่อง เขารีบกราบท่านพระครูสามครั้งแล้วเอ่ยลา

            “ขอบคุณหลวงพ่อมากครับ ผมขอลา”

            “จะรีบไปไหนเล่าโยม”

            “จะรีบไปบอกแม่ครับ แกคงดีใจที่ได้คาถา”

            “เดี๋ยวก่อน อาตมายังไม่ได้บอกเคล็ดลับ ยังมีเคล็ดลับอีก อาตมาจะบอกให้ คือเราต้องไม่กลัวตาย ต้องกล้าเผชิญกับมัน คนที่กลัวตาย อาตมาเห็นตายทุกที”

            “ถ้าไม่กลัวแล้วไม่ตายใช่ไหมคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งเอ่ยถาม

            “กลัวหรือไม่กลัวมันก็ต้องตายทุกคนนั่นแหละ แต่เท่าที่อาตมาสังเกตดู คนที่กลัวตายมักตายเร็ว คนไม่กลัวจะตายช้า ฉะนั้นจงอย่ากลัวตาย แต่จงมีสติรู้เท่าทันชีวิตว่ามันไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย เมื่อเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเราก็จะทำดี พูดดี คิดดี ทำได้อย่างนี้เราก็จะไม่กลัวตาย เพราะเรารู้ว่าจะไม่ไปทุคติ คนที่เขากลัวตายก็เพราะกลัวจะไปไม่ดี เช่นไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น โยมพอจะเข้าใจที่อาตมาพูดไหม”

            “เข้าใจครับ” นายบุญช่วยตอบ

            “เข้าใจว่ายังไง ไหนลองบอกมาซิว่าจะไปบอกแม่ว่ายังไง” ท่านถือโอกาสซักซ้อมความเข้าใจ เพราะมีคนที่อยู่ในประเภท “ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด” ท่านพูดอย่างหนึ่ง เขาเอาไปพูดอีกอย่างแล้วอ้างว่าท่านพูด ทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันไปยกใหญ่ เหตุนี้ท่านจึงต้อง “ตรวจสอบ” เพื่อความถูกต้องชัดเจน

         “เข้าใจว่าให้หายใจเข้าไว้กับกินข้าวเข้าไว้แล้วจะไม่ตาย ส่วนเคล็ดลับก็คือต้องไม่กลัวตาย หลวงพ่อให้ผมไปบอกแม่อย่างนี้ครับ” บุรุษสูงวัยตอบตามระดับสติปัญญาของตน “เครื่องรับ” ในตัวเขารับได้เท่านี้

         “อ้อ อาตมาพูดว่ายังงั้นหรือ โยมแน่ใจนะ”

         “แน่ใจครับ” เขายืนยัน

         “งั้นก็ให้พระบัวเฮียวเป็นพยานก็แล้วกัน พระบัวเฮียว อาตมาพูดอย่างที่โยมคนนี้บอกหรือเปล่า” ต่อหน้าคนอื่นที่ไม่คุ้นเคยกัน ท่านเรียกพระบวชใหม่ว่า “พระบัวเฮียว” และแทนตัวท่านว่า “อาตมา”

         “ไม่ใช่ครับ หลวงพ่อพูดว่าอย่างนี้” พระบัวเฮียวอธิบายจนบุรุษนั้นเข้าใจถูกต้องเป็นอันดี ท่านพระครูจึงอนุญาตให้เขากลับไปได้ ต่อจากนั้นก็เป็นรอบของสตรีวัยห้าสิบ

         “หลวงพ่อจ๊ะฉันอยากตาย” เป็นเป็นประโยคแรกที่นางเอื้อยเอ่ย

         “อยากตายหรือ งั้นก็ตามโยมผู้ชายคนเมื่อกี้ไปซี”

         “ตามไปทำไมจ๊ะ” ถามงง ๆ

         “อ้าว ก็จะได้ไปหาแม่เขาน่ะซี ไปแลกกันซะจะได้หมดเรื่อง เมื่อแม่เขาไม่อยากตาย ส่วนโยมอยากตาย ก็ควรจะแลกกันเสีย จะได้สมใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายไงล่ะ”

         “แหมหลวงพ่อ ถ้ามันทำยังงั้นได้ก็ดีน่ะซี” นางว่า

         “ก็ทำไมจะไม่ได้เล่า อาตมาถึงได้แนะนำไง หลวงพ่อเจริญไม่เคยแนะนำในสิ่งที่ไม่ดี” ท่านใช้มุขตลกเพื่อให้บรรดาผู้แบกทุกข์ทั้งหลายได้ผ่อนคลาย

         “แต่ฉันอยากตายโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนกะใคร” หญิงนั้นยืนกราน

         “อยากตายแน่หรือ” คราวนี้ท่านถามจริงจัง

         “จ้ะ” ตอบเสียงอ่อย

         “งั้นก็เชิญตายได้ตามสบาย วัดนี้มีพร้อม ทั้งเมรุเผาศพ ทั้งพระสวดมาติกา ถ่านไม่มีก็ไม่เป็นไร ประเดี๋ยวให้สมชายไปสั่งที่ตลาดก็ได้ ว่าแต่ว่าโยมจะเอาโลงแบบไหน เอาไม้ฉำฉาหรือไม้จำปา” เห็นท่าทางท่านเอาจริงเอาจัง หญิงนั้นก็ใจฝ่อ อยากจะเปลี่ยนใจแต่ก็อายคนอื่น จึงฝืนตอบไปว่า

         “แล้วแต่หลวงพ่อจะเมตตาเถิดจ้ะ ไม่อะไรก็ได้”

         “แล้วแต่อาตมาไม่ได้ซี ก็อาตมาไม่ได้เป็นคนตายนี่”

         “งั้นโลงจำปาก็ได้จ้ะ” สตรีวัยห้าสิบตอบเสียงเบาลงทุกที เหงื่อกาฬแตกซิก ๆ เพราะกลัวตาย

         “เอาละ สมชายมานี่ซิ ช่วยไปนิมนต์พระให้สิบรูปสำหรับสวดมาติกา แล้วไปสั่งถ่านที่ตลาดให้ห้ากระสอบ” ท่านหันมามองหญิงนั้นแล้วพูดว่า “ผอม ๆ อย่างโยมห้ากระสอบก็ไหม้หมดไม่มีเหลือ” คนแบบทุกข์มีท่าทางลังเล พูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

         “หลวงพ่อฉันกลัวร้อน เอาถ่านมาเผาฉัน ฉันก็ร้อนแย่น่ะซี”

         “อ้าว ก็ในเมื่อโยมตายก็ต้องเผา จะให้ปล่อยเหม็นคลุ้งอยู่ในวัดได้ยังไง”

         “งั้นฉันไม่ตายก็ได้” นางถือโอกาสเปลี่ยนใจ

         “เอาให้แน่ ๆ จะตายหรือไม่ตาย อาตมาจะได้จัดการให้ตามประสงค์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อาตมาก็ทำอะไรไม่ถูกน่ะซี” หญิงนั้นคิดว่าท่านดุจึงร้องไห้โฮออกมา รำพึงรำพันว่า “ฉันกลุ้มใจจ้ะหลวงพ่อ ฉันอยากตาย แต่ก็ไม่อยากตาย ฮือ ๆ” นางพิร่ำพิไรรำพัน ทุกคน ณ ที่นั้นพากันสมเพช เรื่องของคนอื่นดูช่างน่าสมเพช หลงลืมไปว่าบางทีเรื่องของตัวเองนั้นน่าสมเพชเสียยิ่งกว่า

         “ตั้งสติให้ดี ๆ โยม หยุดร้องไห้เสีย แล้วเล่าไปว่าโยมกลุ้มใจเรื่องอะไร ถ้าเอาแต่ร้องไห้อยู่อย่างนั้น อาตมาจะรู้ได้ยังไง” นั้นแหละนางจึงหยุดร้องไห้ ใช้มือปาดน้ำตาแล้วเช็ดมือกับผ้านุ่ง จากนั้นจึงเริ่มต้นเล่าถึงเหตุแห่งความทุกข์โศกต่าง ๆ จับใจความได้ว่า สามีลักลอบได้เสียกับคนใช้ในบ้าน เมื่อนางไล่คนใช้ออก สามีก็ไปเช่าแฟลตอยู่กับคนใช้ ไม่ยอมกลับบ้านกลับช่อง

         “หลวงพ่อคะ ทำไมพวกผู้ชายถึงชอบยุ่งกับคนใช้คะ” สตรีอายุประมาณสามสิบถามขึ้น หล่อนก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ท่านพระครูเห็น “เข้าเค้า” จึงใช้ “เห็นหนอ” สำรวจดูว่าผู้คนที่นั่งอยู่ต่อหน้าท่านนี้ มีใครบ้างที่มาด้วยปัญหาอย่างเดียวกัน จะได้ตอบให้เสร็จ ๆ ไปเป็นชุด ๆ เพื่อประหยัดเวลา แล้ว “เห็นหนอ” ก็รายงานว่าหกรายที่ประสบปัญหาเรื่องผัวมีเมียน้อย ในหกรายมีอยู่สี่รายที่เมียน้อยเป็นคนใช้ ส่วนปัญหาเรื่องเมียมีชู้มีอยู่สองราย ทั้งแปดรายนี้สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ในการแก้ปัญหา

         “หลวงพ่อยังไม่ตอบหนูเลยว่า ทำไมผู้ชายถึงชอบยุ่งกับพวกคนใช้” สตรีวัยสามสิบทวงคำตอบ

         “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะอาตมาก็ยังไม่เคยยุ่งกับคนใช้” คำตอบของท่านเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนในที่นั้น รวมทั้งคนถามด้วย

         “แต่หลวงพ่อน่าจะตอบได้เพราะหลวงพ่อเป็นผู้ชาย” คนถามไม่ยอมแพ้

         “หนูตอบเองค่ะ” หนึ่งในสี่ที่สามีมีเมียน้อยเป็นคนใช้ขันอาสา เสียงที่ตอบเต็มไปด้วยความอาฆาตแค้นเคือง “เพราะคนพวกนี้รสนิยมต่ำ ชอบของต่ำ ชอบกินของเน่าเหม็น จิตใจสกปรกต่ำทราม” หล่อนหันไปทางพวกผู้ชาย ล้อมรั้วป้องกันตัวเองเสร็จสรรพด้วยการกล่าวว่า

         “ขอโทษบรรดาสุภาพบุรุษที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ถ้าท่านไม่ได้เอาคนใช้ทำเมียก็อย่าได้ร้อนตัว” มนุษย์เพศชายก็เลยต้องนั่งนิ่งทั้งที่ใจอยากจะฉีกเนื้อหญิงปากกล้าคนนั้น

         “หลวงพ่อคะ สามีหนูชอบดูรูปโป๊” สาววัยยี่สิบเศษถือโอกาส “ลัดคิว” ก็ทีคนอื่น ๆ ยังทำได้

         “เขาสะสมรูปโป๊ไว้ในลิ้นชักหัวเตียง เป็นรูปอุจาดลามกทั้งนั้น ดูไม่ได้เลยค่ะ”

         “แล้วหนูไปดูทำไมจ๊ะ” ท่านถามยิ้ม ๆ

         “ก็มันเห็นน่ะค่ะ” หล่อนแก้ตัว

         “เขาวางให้หนูเป็นงั้นหรือ ไม่ใช่เขาอุตส่าห์ซ่อนไว้แล้วหนูไปค้นจนเจอนะ” สตรีนั้นยิ้มแหย ๆ เพราะจริงดังที่ท่านว่า

            “แบบนี้เป็นโรคจิตหรือเปล่าคะ อายุก็มากแล้ว ยังจะสัปดน ต่อหน้าคนอื่นทำเป็นอ่านหนังสือธรรมะ สะสมหนังสือธรรมะไว้เต็มตู้ แต่หลังฉากแอบอ่านหนังสือโป๊ สมสมรูปโป๊ แถมเอาไว้บนหัวนอนอีกด้วย แบบนี้ต้องเป็นโรคจิตใช่ไหมคะ”

         “หลวงพ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าหนูน่ะหึงแม้กระทั่งรูปโป๊” เสียงหัวเราะดังขึ้นอีก แต่หญิงสาวกลับทำหน้าบูดบึ้ง หล่อนต้องการมาเอาคำตอบเรื่องนี้ แต่ท่านพระครูกลับเห็นเป็นเรื่องตลก หญิงสาวแน่ใจว่า สามีต้องเป็นโรคกามวิปริต หรือไม่ก็จิตวิปลาส จะอะไรก็แล้วแต่ หล่อนได้เก็บภาพและหนังสือลามกเหล่านั้นเผาเป็นจุณไปแล้ว ไม่ต้องการเก็บไว้ให้เป็นอัปมงคลแก่บ้านเรือน

         “เอาละ ฟังทางนี้ วิธีแก้ปัญหาเรื่องสามีนอกใจหรือภรรยานอกใจนั้นไม่ยากอะไรเลย ประเดี๋ยวอาตมาจะบอกวิธีให้ แต่ต้องทำให้ได้นะ ถ้าทำไม่ได้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมีความอดทน มีความเพียรไม่ท้อถอย เคยมีคุณหญิงคนหนึ่งมาขอให้อาตมาช่วยแบบเดียวกันนี้ อาตมาก็แนะแนวทางให้ เขาก็ไม่ยอมทำตาม เลยไม่สำเร็จ”

         “แล้วคนที่ทำตามจะสำเร็จทุกคนไหมคะ”

         “สำเร็จแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ อาตมาวิจัยมาแล้ว น่าเสียดายที่คุณหญิงเขาไม่เชื่ออาตมา อุตส่าห์ดั้นด้นมาหา พอบอกให้ กลับไม่ทำตาม สามีเขาเป็นรัฐมนตรีแต่ไปหลงรักคนใช้ถึงกับปลูกบ้านปลูกช่องให้อยู่ คุณหญิงก็เอาแต่ด่า สามีเลยไปอยู่กับคนใช้เสียเลย เวลาคนเขาจะมาติดต่อราชการเขาก็ไปหาที่บ้านคนใช้ คุณหญิงก็โกรธใหญ่ นี่มานั่งด่าตรงนี้” ท่านชี้ไปที่ที่สตรีวัยห้าสิบนั่งอยู่

         “ด่าใครคะ”

         “ด่ารัฐมนตรีกับคนใช้”

         “แล้วคนถูกด่าเขาได้ยินไหมคะ”

         “จะได้ยินอะไร โน่นเขาอยู่กรุงเทพฯ กันโน่น คนที่ได้ยินก็คืออาตมา แหม เขาด่าฉอด ๆ ใครไม่รู้ก็นึกว่าด่าอาตมา” ท่านพูดแล้วก็หัวเราะหึหึ

         “งั้นหลวงพ่อบอกวิธีแก้ปัญหาเถอะค่ะ หนูจะได้นำไปปฏิบัติ” สตรีวัยสามสิบเร่งเร้า

         “วิธีง่าย ๆ คืออย่าไปโกรธ ห้ามโกรธ ห้ามผูกพยาบาท แต่ให้แผ่เมตตาให้เขาทั้งสองคน ขอให้เขาครองรักครองสุขกันอย่างราบรื่น อย่าไปด่าไปแช่งเป็นอันขาด”

         “โอ๊ย หนูทำไม่ได้หรอกค่ะ ถ้าแช่งละก็พอทำได้” คนอายุสามสิบท้วงขึ้น

         “แช่งไม่ได้ซี แช่งก็ไม่สำเร็จ ถ้าเราอยากให้เขากลับมาหาเรา อยากให้เลิกกับทางโน้น เราต้องทำให้ได้ มันอาจจะฝืนใจตอนแรก ๆ แต่พอทำไป ๆ ก็ชิน เมื่อชินเสียแล้วก็ไม่ต้องฝืนใจ คนเขาทำสำเร็จมาเป็นสิบ ๆ รายแล้ว นี่อาตมาบันทึกไว้หมด”

         “แล้วคนที่ไม่สำเร็จมีไหมคะ”

         “ก็อย่างที่บอก ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สำเร็จ อย่างเช่นคุณหญิงเป็นต้น ถ้าทำได้รับรองสำเร็จทุกราย”

         “ค่ะ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์หลวงพ่อพูดต่อเถอะค่ะ”

         “ก่อนแผ่เมตตาก็ต้องไหว้พระสวดมนต์เสียก่อน ให้สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากาฯ อย่างละจบ หลังจากนั้นจึงสวดพุทธคุณอย่างเดียว สวดเท่าอายุบวกหนึ่ง เช่นโยมอายุสามสิบ ก็สวดสามสิบเอ็ดรอบ”

         “งั้นฉันก็ต้องสวดถึงห้าสิบเอ็ดรอบซีจ๊ะ” สตรีวัยห้าสิบพูดขึ้น

         “ก็ไม่ยากอะไรนี่โยม ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง”

         “แล้วนานไหมคะถึงจะได้ผล” คนอายุสามสิบถามอีก

         “เท่าที่อาตมาบันทึกไว้ อย่างเร็วก็หนึ่งเดือน อย่างช้าก็สามเดือน ขึ้นอยู่กับว่าใครมีสมาธิมากน้อยกว่ากัน อย่างคนหนึ่งเขามาเล่าให้อาตมาฟัง เขาบอกแรก ๆ เขาแผ่เมตตาไม่ได้ มันแผ่ไม่ออก พอนึกว่าเขาทำให้ตัวเจ็บช้ำ แทนที่จะบอกให้เขาเป็นสุข ๆ เถิด กลับแช่งให้เขาประสบความพินาศฉิบหาย แต่หลัง ๆ เขาก็ทำได้ รายนี้สามเดือนถึงสำเร็จ” เมื่อท่านบอกวิธีการแก้ปัญหาจบลง ปรากฏว่ามีผู้กราบแล้วคลานออกไปแปดราย เป็นสตรีหก บุรุษสอง

         “หลวงพ่อครับ แม่อีหนูหนีไปอีกแล้วครับ” “เจ้าทุกข์” รายที่สามเข้าร้องเรียน เป็นชายวัยกลางคน หน้าตาซูบซีดหมองคล้ำ

         พระบัวเฮียวซึ่งนั่งสังเกตการณ์อยู่ รู้สึกสงสารท่านพระครูที่ต้องรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้คนทุกชั้นวรรณะ และปัญหาแต่ละคนก็มีต่าง ๆ กันออกไปชนิดที่เรียกได้ว่า “สารพันปัญหา” หากเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็มิได้แสดงอาการท้อแท้เหนื่อยหน่าย คงให้ความเมตตาช่วยเหลือและรับฟังปัญหาของพวกเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ ทั้งที่บางปัญหาดูไร้สาระนายตาของพระบัวเฮียว

         “หนีอีกแล้วหรือ โยมไปทำอะไรเขาล่ะ” ท่านแกล้งถาม “เห็นหนอ” รายงานว่าชายผู้นี้เมาเหล้าแล้วอาละวาด เตะเมียจนตกบ้าน

         “ก็ลงไม้ลงมือไปนิดหน่อยเองครับ” ตอบไม่ตรงนัก ครั้นจะโกหกก็ไม่กล้า เพราะรู้ว่าท่านตรวจสอบได้ เห็นเขาว่าท่าน “ตาทิพย์”

         “อ้อ ขนาดเตะตกบ้านนั่นนิดหน่อยหรือ ถ้ามีคนเขามาเตะโยมตกบ้านมันนิดหน่อยหรือเปล่าล่ะ”

         “ผมผิดไปแล้วครับหลวงพ่อ” เขาก้มหน้าสารภาพ

         “โยมพูดมายังงี้กี่ครั้งแล้ว ก่อนทำทำไมไม่คิด วันก่อนก็เอาส้อมเขวี้ยงใส่หน้าเขาใช่ไหมล่ะ” ชายนั้นก้มหน้านิ่ง ไม่ยอมตอบ ท่านพระครูจึงถือโอกาสสั่งสอนอีกว่า

         “ถ้าวันนั้นเขาหลบไม่ทัน รับรองตาบอด อยากมีเมียตาบอดใช่ไหม”

         “ไม่อยากครับ”

         “ไม่อยากก็อย่าทำอีก”

         “แล้วเมื่อไหร่เขาจะกลับครับหลวงพ่อ” ถามด้วยอยากรู้คำตอบ หลวงพ่อท่านมีวาจาสิทธิ์ ถ้าท่านบอกสามวันก็สามวัน เจ็ดวันก็เจ็ดวัน ไม่เคยผิดพลาดสักครั้งเดียว

            “เขาไม่กลับแล้ว ถ้าโยมไม่เลิกเหล้าเขาไม่กลับแน่ แต่ถ้าเลิกเหล้าได้ อีกเดือนนึงเขาจะกลับ”

         “ตั้งเดือนเชียวหรือครับ”

         “ใช่ แต่หมายความว่าโยมต้องเลิกเหล้าได้นะ ก็เลือกเอาแล้วกันว่า เหล้ากับเมียจะเลือกใคร” บุรุษนั้นทำท่าลังเล ใจหนึ่งอยากเลือกเหล้า อีกใจก็อยากเลือกเมียเพราะขี้เกียจเลี้ยงลูกแต่ผู้เดียว มีลูกตั้งห้าคนยังเล็ก ๆ ทั้งนั้น คนหัวปีเพิ่งจะแปดขวบ คนเล็กยังไม่เต็มขวบดี ถ้าเมียไม่กลับเขาคงต้องตายเป็นแน่แท้ ในที่สุดจึงบอกกับท่านพระครูว่า

         “หลวงพ่อครับ ผมจะเลิกเหล้า ผมเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ไหว”

         “ดีแล้ว ต้องมีสัจจะนา เสียสัจจะเมื่อไหร่โยมต้องตาย มีตัวอย่างมากมาย โยมเคยได้ยินบ้างไหม”

         “เคยครับ ทิดจาบเพื่อนบ้านผมก็ตายมาแล้ว หลวงพ่อจำได้ไหมครับ”

         “จำได้สิ ก็คนนี้แหละที่มาบอกว่าจะเลิกเหล้า เลิกไปได้ปีเดียวก็กลับมากินอีก กินวันนั้นก็ตายวันนั้น เรื่องสัจจะนี่สำคัญมาก จำไว้นะ”

         “ครับหลวงพ่อ ผมจะจำไปจนตายเลย ผมกราบลาละครับ”..

 

มีต่อ........๒๕
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 12, 2007, 10:25:16 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00025
๒๕...
         คุณนายดวงสุดาคลานตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเข้ามาหาท่านพระครู ตามด้วยเถ้าแก่เส็งและคุณกิมง้อ ผู้เป็นบิดาและมารดา คนทั้งสามก้มกราบท่านสามครั้ง แล้วหันไปกราบพระบัวเฮียว ซึ่งนั่งพับเพียบอยู่บนพื้นทางเบื้องขวาของพระอุปัชฌาย์

         “ผมเห็นจะต้องกลับกุฏิละครับ เพราะหลวงพ่อมีแขก” พระหนุ่มออกตัว ใจนั้นอยากอยู่ฟังเขาคุยกัน หากก็เกรงจะเสียมารยาท

         “อยู่ก่อนก็ได้นี่นา จะรีบไปไหนเล่า” เจ้าของกุฏิพูดอย่างรู้ใจ หันไปถามอาคันตุกะว่า “คงไม่ใช่เรื่องลับใช่ไหม พระบัวเฮียวคงร่วมฟังได้นะ”

         “ไม่ลับค่ะหลวงพ่อ หนูอยากให้คนมาฟังเยอะ ๆ ด้วยซ้ำ จะได้ช่วยกันเป็นพยาน” คุณนายดวงสุดาตอบ

         “งั้นหรือ แล้วจะให้เกณฑ์คนมาหมดวัดเลยไหม คุณนานจะเอายังงั้นไหม” ท่านถามยิ้ม ๆ

         “ไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ค่ะหลวงพ่อ ประเดี๋ยวหนูเขินก็เลยเล่าไม่ออกกันพอดี” คนน้ำหนักเกินพิกัดตอบ

         “อ้อ ถ้าอย่างนั้นก็เล่าได้เลย รู้สึกพระบัวเฮียวอยากจะฟังจนเนื้อเต้นแล้วละมัง” ท่านเย้าลูกศิษย์

         “หลวงพ่อนั่นแหละเนื้อเต้น อย่าทำมาโทษผมหน่อยเลยน่า” คนเป็นศิษย์แอบเถียงในใจ

         “เตี่ยเล่าดีกว่าน่ะ” คนจะเล่าเปลี่ยนใจกระทันหัน จึงโยนกลองไปที่บิดา

         “ลื้อเล่านั้นแหละดีแล้ว ก็ลื้อเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ใช่หรือ” เถ้าแก่เส็งให้เหตุผล ตั้งแต่ปฏิบัติกรรมฐาน เขาพูดไทยชัดขึ้นเพราะสติบอกว่า เมื่อเป็นคนไทยก็ต้องพูดไทยชัด จะได้ไม่อายคุณกิมง้อ

         “นั่นซี แม่ก็เห็นด้วยกับเตี่ย ลูกเล่านั้นแหละดีแล้ว” ผู้เป็นมารดาเสริม

         “แม่ละก็เข้าข้างเตี่ยอยู่เรื่อย” คนเป็นลูกตัดพ้อ

         “เรื่องที่จะเล่านี่ยาวไหม ถ้าเป็นเรื่องยาว อาตมาขอแนะนำว่าน่าจะเริ่มได้แล้ว จะได้ไม่ต้องรอไปฟังต่อในวันพรุ่งนี้ อาตมาเป็นคนใจร้อนน่ะโยม” พระบัวเฮียวพูดขึ้น ท่านคิดอยู่นานว่าจะพูดดีหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจได้

         “แหม หลวงพี่พูดอย่างนี้ดิฉันก็เห็นจะต้องเล่าแล้วละค่ะ” คุณนายดวงสุดาพูดกับพระบัวเฮียว เรียกท่านว่า “หลวงพี่” อย่างไม่เต็มใจนัก ไม่เต็มใจด้วยเหตุว่า ท่านอายุอ่อนกว่า ที่ถูกน่าจะเป็น “หลวงน้อง” หล่อนไม่เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงไม่เรียกพระที่อายุอ่อนกว่าว่า “หลวงน้อง”

            “คงไม่ต้องออกแขกแบบลิเกนะ” ท่านพระครูเย้าบ้าง

         “ไม่ต้องค่ำ เตี่ยเล่าดีกว่าน่า” หล่อนหันไปเกี่ยงงอนบิดาอีกครั้ง

         “ลื้อนั้นแหละ อย่ามัวทำอิด ๆ ออด ๆ น่ารำคาญ เกรงใจหลวงพ่อท่าน เวลาท่านเป็นเงินเป็นทองนะ” เถ้าแก่เส็งดุลูกสาว การปฏิบัติกรรมฐานทำให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิด เขาจึงรู้ว่าคนเป็นพ่อไม่ควรกลัวลูก จึงกล้าดุหล่อน แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกหล่อนดุเช่นแต่ก่อน เมื่อโดนดุคนเป็นลูกชักกลัว จึงเริ่มต้นเล่า

         “เรื่องมันแปลกมากค่ะหลวงพ่อ บอกใคร ๆ ก็คงไม่มีใครเชื่อว่า เตี่ยกับแม่ถูกโจรยิงด้วยปืนเอ็ม ๑๖ แต่ไม่ยักกะเป็นอะไร หนูเห็นกับตาเลยค่ะ” คนเห็นเหตุการณ์เล่าฉอด ๆ

         “ตอนที่ถูกยิงโยมกำลังทำอะไรอยู่หรือ” ท่านถามบุคคลทั้งสอง

         “กำลังนั่งสมาธิครับ ผมกับคุณกิมง้อสัญญากันว่า จะเดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง นั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง ตอนโจรยิงมันยังไม่ครบชั่วโมง ผมก็เลยยังไม่ลุกขึ้น แล้วก็ไม่ลืมตาด้วย” เถ้าแก่เส็งเล่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสามเดือนที่แล้ว ทว่าในความรู้สึกของเขาดูเหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

         “แล้วรู้ตัวหรือเปล่าว่าโจรมา” ท่านพระครูซัก

         “รู้ครับหลวงพ่อ ผมรู้ตัวตลอดเวลา คุณกิมง้อก็รู้”

         “แล้วกลัวไหม กลัวตายหรือเปล่า”

         “ไม่กลัวค่ะ ตอนอยู่ในสมาธิไม่กลัว แต่ตอนนี้กลัวค่ะ” คุณกิมง้อตอบด้วยท่าทีที่ยังไม่หายหวาดเสียว

         “แล้วคุณนายอยู่ที่ไหนล่ะตอนนั้น ตอนที่โจรมาปล้นน่ะ” ท่านพระครูถามคุณนายดวงสุดา

         “หนูหรือคะ อารามตกใจมุดเข้าไปแอบใต้ตั่งเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเข้าไปได้ยังไง ตัวหนูออกใหญ่ ตั่งก็เตี้ยนิดเดียว ถ้าเวลาปกติอย่าว่าแต่จะเข้าไปได้ทั้งตัวอย่างนั้นเลย แค่ขาข้างเดียวก็ยังเข้าไม่ได้” คุณนายดวงสุดาเล่า

         พระบัวเฮียวพิจารณาขาของคุณนายซึ่งมีขนาดไล่เลี่ยกับตอม่อยุ้ง แล้วก็ให้เป็นด้วยกับที่หล่อนพูด หากก็อดถามขึ้นไม่ได้ว่า “ตั่งที่โยมว่าน่ะสูงขนาดไหน เท่าอาสนะหลวงพ่อหรือเปล่า” คนถูกถามมองไปที่อาสนะตรงหน้า แล้วตอบ “คงจะพอ ๆ กัน ถ้าสูงกว่าก็คงไม่เกินสองนิ้ว ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ ว่าคนเจ้าเนื้ออย่างดิฉันจะเข้าไปซ่อนใต้ตั่งนั่นได้ หลวงพี่เชื่อหรือเปล่า” หล่อนถามหลวงพี่

         “ถ้าจะให้อาตมาเชื่อก็ต้องลองเข้าไปอีกที คุณนายจะยอมลองดูไหมล่ะ” พระหนุ่มถือโอกาสต่อรอง

         “ไม่ต้องหรอกบัวเฮียว ถึงเธอจะไม่เชื่อแต่ฉันก็เชื่อ ฉันเชื่อว่าเป็นไปได้ เธอเคยได้ยินไหมเล่า ที่เขาว่าคนแบกตุ่มแบกตู้เย็นวิ่งหนีไฟ เพราะความตกใจ พอหายตกใจกลับแบกไม่ไหว อันนี้มันเป็นเรื่องของพลังจิตน่ะ คนเราไม่รู้ตัวหรอกว่า จิตนั้นมีพลังมาก เป็นพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว คนที่ฝึกจิตสม่ำเสมอสามารถเอาพลังจิตออกมาใช้ได้ แต่คนที่ไม่เคยฝึกก็ใช้ไม่เป็น เว้นแต่ยามตกใจอาจเอามาใช้ได้บ้าง โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ เป็นการใช้พลังจิตโดยไม่สติควบคุม ก็ได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว พอรู้สึกตัวก็เอามาใช้ไม่ได้เสียแล้ว” ท่านพระครูอธิบาย

         “แล้วแบบนี้ดีไหมครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม

         “แบบไหนล่ะ” พระอุปัชฌาย์ไม่เข้าใจคำถาม

         “คือพลังจิตน่ะครับ เป็นของดีหรือไม่ดี”

         “มันก็ตอบยากนะ จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนดาบสองคม ถ้าใช้ดีก็ดีไป แต่ถ้าใช้ไม่ดีก็ให้โทษได้เหมือนกัน” ท่านรู้ว่าคนฟังยังไม่มีใครเข้าใจ จึงอธิบายเพิ่มเติมว่า

         “ตัวอย่างเช่นคนที่นำพลังจิตไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงจุดหมายคือ มรรค ผล นิพพาน ก็ถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น อยากจะอวดฤทธิ์หรืออวดอุตริมนุสสธรรม ก็ถือเป็นสิ่งไม่ดี เพราะเป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อละกิเลส”

            “สรุปก็คือที่หนูเข้าไปแอบอยู่ใต้ตั่งได้ ก็เพราะอำนาจของพลังจิตใช่ไหมคะหลวงพ่อ” คุณนายดวงสุดาถาม

         “ถูกแล้วคุณนาย แม้คุณนายจะไม่เคยฝึกจิต แต่ก็สามารถใช้พลังจิตได้ เป็นการใช้แบบไม่รู้ตัว ควบคุมไม่ได้ ถ้าอยากใช้แบบคุมได้ก็ต้องมาฝึกจิตกันให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่างที่โยมเตี่ยกับโยมแม่ของคุณนายฝึกอยู่นี่แหละ”

         “ถ้าอย่างนั้นที่โจรมันใช้เอ็ม.๑๖ ยิงผม แต่ยิงไม่ออกก็เป็นเพราะอำนาจของพลังจิตใช่ไหมครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งถาม การปฏิบัติกรรมฐานทุกวันทำให้เขาเข้าใจธรรมะแจ่มแจ้งขึ้น

         “จะพูดอย่างนั้นมันก็ถูกเหมือนกัน แต่อาตมาคิดว่า การที่ปืนยิงไม่ออกนั้นเป็นเพราะอานิสงส์ของการมีสัจจะของโยมทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเป็นอำนาจของสมาธิหรือพลังจิตนี่เอง ไหนคุณนายลองเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบซิ อาตมาจะอัดเทปไว้ เผื่อจะไปเปิดให้คนอื่นฟัง” ท่านหันไปเรียกนายสมชายให้นำเครื่องบันทึกเสียงและม้วนเทปมาให้ พร้อมแล้วคุณนายดวงสุดาจึงเริ่มต้นเล่า

         “วันนั้นหนูนั่งแท็กซี่มาหาเตี่ยกับแม่ที่บ้าน ก็ขึ้นไปชึ้นบนเห็นกำลังนั่งสมาธิกันอยู่ หนูเลยเดินไปที่โต๊ะอาหาร หยิบน่องไก่ทอดมากิน พอดีได้ยินเสียงเอะอะอยู่ข้างล่าง จึงชะโงกลงไปดูตรงบันได ก็เห็นคนร้ายสี่หรือห้าคน กำลังช่วยกันจับคนใช้สองคนมัดมือมัดปาก หนูตกใจวิ่งมาหากเตี่ยกับแม่ บอก โจรปล้น โจรปล้น เขาก็ไม่ยอมลืมตา เสียงพวกมันเดินขึ้นมา หนูเลยวิ่งไปที่ห้องน้ำตั้งใจจะไปซ่อนตัวในนั้น เสร็จแล้วก็เกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน คลานลุกลี้ลุกลนเข้าไปใต้ตั่งแทน ขอประทานโทษนะคะหลวงพ่อ น่องไก่ทั้งน่องก็ยังอยู่ในปาก ต้องถือว่าโชคดีเชียวค่ะ เพราะมันทำให้หนูร้องไม่ออก ขืนไม่มีน่องไก่คงร้องให้คนช่วย แล้วก็ถูกโจรยิงตายไปแล้ว

         พอมันขึ้นมามันก็เดินไปที่เตี่ยก่อน เขย่าตัวเตี่ยแล้วบอก ตาแป๊ะตื่น ๆ นี่คือการปล้น เตี่ยก็ไม่ยอมลืมตา มันก็หันไปเขย่าแม่ บอกซิ้มตื่น ๆ นี่อั้วมาปล้น แม่ก็นั่งเฉยอีกคน เสียงพวกมันบอกยิงเลยเฮีย ยิงเลยเฮีย หนูจะเป็นลมเสียให้ได้ ครั้นจะร้องบอกเตี่ยกับแม่ก็ร้องไม่ออก เพราะน่องไกคาปากอยู่ มันเอาปืนจ่อที่ศีรษะเตี่ยแล้วลั่นไก เสียงดัง  แชะ ๆ แต่ไม่มีกระสุนพุ่งออกมา มันก็หันไปยิงแม่บ้าง ก็เป็นแบบเดียวกันอีก

            ในที่สุดพวกมันเลยช่วยกันเก็บข้าวของ มีทีวี วิทยุ สเตริโอ และพวกเครื่องลายครามเอาไปข้างล่างคงจะไปใส่รถ หนูจับตาดูมันอยู่ เก็บของเสร็จพวกมันก็พากันลงไป หนูหายตกใจก็เอามือจับน่องไก่ออกจากปาก แต่ไม่สามารถคลานออกมาจากใต้ตั่งได้ ก็นอนอึดอัดอยู่อย่างนั้นสักยี่สิบนาทีเห็นจะได้ แล้วก็ได้ยินเสียงคนเดินขึ้นมา พอหนูเห็นเป็นตำรวจ หนูดีใจมากเลยตะโกนว่า ช่วยด้วย ช่วยด้วย เขาก็มองหาที่มาของเสียง หนูบอก อยู่ใต้ตั่ง อยู่ใต้ตั่ง ตำรวจสองคนก็มาช่วยกันยกตั่ง แต่ยกไม่ไหว ต้องใช้ถึงสี่คน หนูก็ออกมาได้ ผู้ร้ายห้าคนถูกใส่กุญแจมือเรียบร้อย” คนเล่าหยุดหายใจแรง ๆ สองสามครั้ง ราวกับว่าตอนที่เล่านั้นลืมหายใจ ท่านพระครูจึงถามบิดาของหล่อนว่า “ตอนตำรวจมาโยมรู้หรือเปล่า”

         “รู้ครับหลวงพ่อ ผมรู้อยู่ตลอดเวลา ตำรวจเขามาเขย่าตัวผม บอก เถ้าแก่ตื่นเถอะ คุณถูกปล้นรู้ไหม ผมตอบว่า รู้ รู้ เขาก็ว่า รู้แล้วก็ลืมตาเสียที ผมบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังลืมไม่ได้ จากนั้นผมก็ไม่พูดอะไรอีก”

            “ค่ะ ตลกน่าดูเลย พอเตี่ยนั่งนิ่ง ทั้งตำรวจและคนร้ายก็เลยต้องนั่งรอครู่ใหญ่ เสียงนาฬิกาปลุกก็ดังก้องขึ้น เตี่ยกับแม่ก็ขยับตัว เปลี่ยนท่าจากนั่งสมาธิมาเป็นนั่งพับเพียบ ประนมมือกล่าวคำแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล”

         “แล้วคุณนายแผ่เมตตาเป็นหรือเปล่า อุทิศส่วนกุศลเป็นไหม” ท่านถือโอกาสทดสอบความรู้คุณนายดวงสุดา

         “เป็นค่ะ หนูสวดมนต์ทุกคืน สวดเสร็จก็แผ่เมตตาแล้วอุทิศส่วนกุศล หลวงพ่อจะฟังไหมคะ หนูจะว่าให้ฟัง”

         “ดีเหมือนกัน ว่าเป็นบาลีนะไม่ต้องแปล เพราะถ้าได้บาลีก็แปลได้จริงไหม”

         “จริงค่ะ แต่หนูว่าจริงแต่ครึ่งเดียว เพราะบางคนว่าบาลีได้ แต่แปลไม่ได้เช่นหนูเป็นต้น” หล่อนยกตัวเองเป็นตัวอย่าง

         “สำหรับผม ผมว่าจริงไม่ถึงครึ่งครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวเอ่ยบ้าง “เพราะคนส่วนใหญ่เขาจะสวดมนต์เป็น แต่แปลไม่เป็น ไม่รู้ว่าที่ตัวเองสวดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร แม้แต่พระก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เช่น พระบัวเฮียว เป็นต้น” พระหนุ่มหารู้ไม่ว่าได้ “แบไต๋” ให้พระอุปัชฌาย์รู้เข้าแล้ว

         “โบราณท่านสอนไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” บัวเฮียวเอ๋ย ถ้าเธอไม่พูดฉันก็คงยังไม่รู้ว่าเธอน่ะ “อ่อนซ้อม” เอามาก ๆ เห็นจะต้องให้พระมหาบุญช่วยกวดขันเธอให้หนักกว่านี้ วันข้างหน้าไปเป็นครูบาอาจารย์เขาจะได้ไม่เสียชื่อ” ท่านหันไปถามบิดาของคุณนายดวงสุดาว่า “โยมเห็นด้วยกับอาตมาไหมว่า คนรู้จริงนั้นหายาก ส่วนคนรู้มากหาง่าย สมัยนี้คนรู้มากมีแยะ แต่ที่รู้จริงไม่ค่อยมี เห็นด้วยไหม”

            “นั่นสินะ คนก็เลยพากันเป็นโรคประสาทมาก พวกจิตแพทย์ก็เลยมีงานทำมาก” ท่านพระครูเสริม พระบัวเฮียวกำลังวิงเวียนกับคำว่า “มาก” ค่อยยังชั่วขึ้นเมื่อคุณนายดวงสุดาพูดโดยไม่มี “มาก” “หนูว่าจิตแพทย์เองก็เป็นโรคประสาทนะคะหลวงพ่อ หนูเห็นมาหลายคนแล้ว ท่าทางไม่ค่อยจะปกติซักเท่าไหร่”

         “คงเป็นเพราะต้องคลุกคลีกับคนไข้มาก เลยติด เป็นอย่างนั้นไหมคะหลวงพ่อ” คุณกิมง้อถาม อุตส่าห์มีคำว่า “มาก” อีกจนได้

         “มันก็เป็นไปได้นะโยม อาตมาสังเกตว่า ยิ่งโลกเจริญมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็ยิ่งเป็นโรคประสาทมากขึ้นเท่านั้น”

         “คนโรคประสาทนี่ ต้องให้มาเข้ากรรมฐานใช่ไหมคะหลวงพ่อ ถามอย่างคนที่ยังไม่เคยปฏิบัติ

         “ไม่ได้ ไม่ได้ เพราะคนที่เป็นน้อยก็จะเป็นมาก ส่วนคนที่เป็นมากก็จะบ้าชนิดกู่ไม่กลับเลยเชียว คนเป็นโรคประสาทเขาห้ามเข้ากรรมฐานอย่างเด็ดขาด อันนี้มีพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจน ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะอยู่ในคัมภีร์เล่มที่ ๑๔ ที่พระพุทธองค์ตรัสกับเหล่าสาวก ว่า ...ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่คนที่มีสติเลอะเลือนไร้สัมปชัญญะ....เคยมีตัวอย่างนะโยม ที่วัดนี้นี่แหละ ดูเหมือนอาตมาจะเคยเล่าให้พระบัวเฮียวฟังแล้ว เรื่องที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแกเป็นโรคประสาท พวกญาติ ๆ พามาเข้ากรรมฐานที่นี่ ปฏิบัติสองวันแรกยังไม่มีอาการ พอวันที่สามลุกขึ้นรำป้อเลย เขาไปตามอาตมามาดู รำสวยเสียด้วยซี ใคร ๆ ห้ามก็ไม่หยุด ฉะนั้นโยมจำไว้เลยว่า คนเป็นโรคประสาทอย่าพามาเข้ากรรมฐาน ต้องพาไปรักษาให้หายก่อน หายแล้วก็ต้องรอดูอีกสองหรือสามปี หายใหม่ ๆ อย่าพามาเพราะโรคอาจกำเริบอีกได้ เคยมีตัวอย่างหลายรายแล้ว”

         “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อจะขัดข้องไหม ถ้าผมจะกราบเรียนว่าผมอยากฟังเรื่องปล้นต่อ กำลังสนุกเลยครับ” พระบัวเฮียวพูดอย่างเกรงใจเป็นที่สุด

         “ฉันน่ะไม่ขัดข้องหรอก แต่คนเล่าเขาจะเล่าต่อหรือเปล่า ข้อนี้ฉันไม่รู้”

         “ต่อซีคะ ต้องเล่าต่อ เอ..เมื่อตะกี้ถึงไหนแล้วคะแม่” หล่อนหันไปถามมารดา

         “ตอนเตี่ยกับแม่กล่าวคำอุทิศส่วนกุศลและแผ่เมตตาจ้ะ แล้วหลวงพ่อท่านให้หนูว่าให้ฟัง คุณกิมง้อทวนความจำให้ลูกสาว

         “งั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลา หนูว่าให้ฟังย่อ ๆ นะคะ คำแผ่เมตตาแบบสั้น ๆ มีว่า ...สัพเพ สัตตา อเวรา อัพพยาปัชฌา อนีฆา สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ คำอุทิศส่วนกุศลขึ้นต้นว่า อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตโร”

            “แล้วถ้าแผ่เมตตาให้ตัวเองขึ้นต้นว่าอย่างไร” ท่านพระครูถามอีก

         “อหัง สุขิโต โหมิ ค่ะ” ตอบฉะฉาน

         “เก่ง ๆ อาตมาเชื่อแล้ว เอาละทีนี้เล่าเรื่องปล้นต่อไปได้

         “ค่ะ พอเตี่ยกับแม่เสร็จธุระ ตำรวจก็สอบปากคำ สอบหนูด้วย หนูก็เล่าไปตามที่เห็น ตำรวจเขาบอกว่าเห็นรถกระบะขับสวนทางมานึกเอะใจ จึงถามว่าจะเอาไปไหน คนร้ายมีพิรุธหลายอย่างแล้วก็ตอบคำถามไม่ตรงกัน ในที่สุดก็สารภาพว่าปล้นเขามา เขาก็พามายังบ้านที่เกิดเหตุ”

         ตอนนั้นเวลาสักเท่าไหร่ เป็นกลางวันหรือกลางคืน”

         “เย็น ๆ ครับ” เถ้าแก่เส็งตอบ

         “ทุกวันตั้งแต่สี่โมงถึงหกโมงเย็น ผมกับคุณกิมง้อจะปฏิบัติกรรมฐานกัน โดยเดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง”

         “ดีจริง อาตมาขออนุโมทนาเห็นไหม อำนาจของบุญบารมีทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี ถึงคราวเสียของก็ไม่ต้องเสีย มีนะ มีตัวอย่างแบบเดียวกันนี้ สองผัวเมียเป็นชาวบ้านบางระจัน มาเข้ากรรมฐานที่วัดนี้ กลับไปก็ปฏิบัติทุกคืน คืนหนึ่งกำลังเดินจงกรมกันอยู่ ขโมยมันมาลักควาย ต้อนไปจนหมดคอก ให้พรรคพวกมันคุมไป เหลือคนหนึ่งไว้ดูต้นทาง เจ้าหมอนั่นก็บังเอิญมองขึ้นไปบนเรือน เห็นคนเดินไปมาอยู่สองคน ปากก็ว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินกันมืด ๆ อย่างนั้นแหละ เจ้าขโมยมันก็ขำ นึกว่าเจ้าของบ้านละเมอ ไม่รู้ขำอีท่าไหน เลยถอยหลังไปเหยียบสุนัขที่กำลังหลับอยู่ สุนัขก็ตื่น เห่าเสียงดังขึ้น ชาวบ้านแถวนั้นก็เลยลุกมาดู จับขโมยได้ แล้วก็พากันจุดคบไต้ไปตามควายมาใส่คอกไว้อย่างเดิม

         ผู้ใหญ่บ้านก็คุมตัวขโมยไว้ จับได้คนเดียวคือคนที่ดูต้นทาง นอกนั้นวิ่งหนีไปได้ ก็พากันมานั่งรอจนสองผัวเมียนั่งสมาธิเสร็จ จึงเล่าเรื่องให้ฟัง เขาก็บอกเขารู้ตั้งแต่ตอนขโมยมันต้อนควายออกไปแล้ว แต่เขารักษาสัจจะ บอกจะเดินให้ได้หนึ่งชั่วโมงนั่งหนึ่งชั่วโมงก็ต้องได้ ควายมันจะหายก็ช่าง นี่เขามานั่งเล่าให้อาตมาฟังตรงนี้” ท่านชี้ที่ที่คุณนายดวงสุดานั่ง “มาทั้งผัวและเมียเลย บ้านอยู่อำเภอบางระจันโน่น” ท่านพระครูเล่าเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันให้คนทั้งสามฟัง พระบัวเฮียวฟังเป็นรอบที่สองเพราะตอนสองผัวเมียมาเล่าท่านก็นั่งฟังอยู่ด้วย

         “แต่กรณีของเถ้าแก่ จับโจรได้หมดใช่ไหม” พระหนุ่มถามบุรุษวัยเจ็ดสิบเศษ

         “หมดครับ ผู้ร้ายกับตำรวจมีจำนวนเท่ากันพอดี ผู้ร้ายห้า ตำรวจห้า เป็นตำรวจสายตรวจ กำลังขับรถจะเข้ามาตรวจดูความสงบเรียบร้อยในซอยนั้น นับว่าผมโชคดีมาก”

         “ผู้ร้ายถูกดำเนินคดีติดคุกกี่ปีล่ะ” พระบัวเฮียวถามอีก

         “ไม่ถูกครับ ถังขังไว้เกือบสามเดือน ยมไม่ยอมไปให้การ อ้างว่าจำหน้าผู้ร้ายไม่ได้ ความจริงผมจำได้ครับหลวงพ่อ แต่ผมจำเป็นต้องพูดปดเพื่อจะได้ไม่ก่อเวร คือ เจ้าคนที่มาปล้นนั่นเป็นลูกหนี้ผมเอง มายืมเงินไปหลายหมื่นแล้วไม่ใช้ ผมก็ขู่ว่าจะดำเนินคดี เขาคงแค้นเลยพาพวกมาปล้นผม และที่ใช้เอ็ม.๑๖ ยิงผมคงอยากจะให้ตายเพื่อล้างหนี้ เป็นบุญของผมที่มาเข้ากรรมฐานเสียก่อน ไม่งั้นก็คงสิ้นชื่อไปแล้ว ผมก็ใช้สติพิจารณาว่า ถ้าผมเอาเขาเข้าคุก วันหนึ่งเขาก็ต้องออกมาแก้แค้นผม ก็จะเป็นการก่อเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อระงับเวรเสียข้างหนึ่ง ผมจึงจำใจโกหกว่าจำหน้าผู้ต้องหาไม่ได้

            ตำรวจเขาขังไว้ไม่ถึงสามเดือนก็ปล่อย ช่วงนั้นผมกับคุณกิมง้อก็แผ่เมตตา อโหสิกรรมให้เข้าทุกวัน หลวงพ่อเชื่อไหมครับ อานิสงส์ของเมตตานี่อัศจรรย์มาก เมื่อวานนี้เองเขาพากันมาหาผมที่บ้าน เอาธูปแพเทียนแพ ใส่พานมาขอขมาผม บอกว่าขอโทษและขอบคุณที่ผมไม่เอาเรื่อง เขารู้ว่าผมจำเขาได้ ขอขมาเสร็จก็บอกว่าจะผ่อนใช้หนี้คืน จะไม่โกงแม้แต่สตางค์แดงเดียว

         ผมตื้นตันจนน้ำตาไหล คุณกิมง้อเองก็ร้องไห้ ผมอโหสิให้เขาและบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้สิน มีก็เอามาใช้ ไม่มีผมก็ยกให้ ขออย่างเดียวให้เขาหากินอย่างสุจริต ผมอยากมาหาหลวงพ่อมาก จึงให้ลูกสาวพามาเพื่อกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ให้วิชาที่วิเศษแก่ผม” เขาก้มลงกราบท่านพระครูสามครั้ง ด้วยความซาบซึ้งและตื้นตันจนน้ำตาไหลเป็นทางตามร่องแก้ม คุณกิมง้อทำตามผู้เป็นสามี ทว่ามิได้ร้องไห้!….

 
มีต่อ........๒๖
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 19, 2007, 07:57:56 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00026
๒๖...

         ท่านพระครูออกจากวัดป่ามะม่วงตั้งแต่ตีสี่ เพื่อไปเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีมงคลสมรสลูกสาวของลูกศิษย์ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นจึงจะเดินทางไปจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อให้ทันฉันเพลที่วัดบ้านแหลม ในโอกาสที่เจ้าอาวาสวัดนั้นอายุครบหกรอบ และได้นิมนต์ท่านไว้

         รถวิ่งจากวัดไปออกถนนสายเอเชีย เลี้ยวขวาตรงไปเข้าอยุธยาประมาณหนึ่งชั่วโมงก็เขาเขตอำเภอเมือง ซึ่งมีบ้านเรือนปลูกเรียงรายอยู่ตามริมถนนทั้งสองฟากข้าง เมื่อรถวิ่งผ่านบ้านหลังหนึ่ง ท่านก็บอกกับคนขับว่า

         “สมชายจอดก่อน เสียงบ้านนั้นเขาทำอะไรกันแต่เช้ามืด หรือว่าลุกขึ้นมาสวดมนต์ ช่วยจอดประเดี๋ยว ฉันจะได้ฟังให้ถนัดว่า เขาสวดบทไหน จะเป็นคาถาชินบัญชรหรือว่ายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก”

            เมื่อนายสมชายหยุดรถ ท่านจึงไขกระจกลง แล้วก็ได้ยินเสียงชัดเจน นายสมชายก็ได้ยินเต็มสองหู

         “...อีสัตว์...” เป็นเสียงผู้ชาย แล้วต่อด้วยคำพูดที่ระคายหูคนฟังอีกว่า “มึงมันเลวเสียยิ่งกว่าผู้หญิงหากิน คนอย่างมึงน่ะหาความดีไม่ได้เลย พวกผู้หญิงหากินเขายังดีกว่ามึง” เสียงผู้หญิงย้อนเอาว่า

         “อ้อ! อย่างนี้นี่เอง แกถึงชอบไปนอนกะโสเภณี จนเอาโรคมาติดข้า เมียเก่าแกก็เป็นโสเภณีไม่ใช่หรือ”

         ท่านพระครูทนฟังต่อไปไม่ไหว จึงบอกให้นายสมชายออกรถ ความจริงท่านจะฟังคนเดียวด้วยการกำหนด “เห็นหนอ” โดยไม่ต้องหยุดรถก็ได้ แต่ท่านต้องการจะสอนนายสมชาย จึงสั่งให้เขาหยุดรถฟัง

         “ไม่ไหว ลุกขึ้นมาด่ากันแต่มืด แต่ดึกอย่างนี้ไม่ไหว เห็นจะต้องกลับไปล้างหูสักหน่อย ฤกษ์ไม่ดีเลยที่มาได้ยินเขาด่ากัน” ท่านพูดเป็นเชิงบ่น เห็นคนฟังไม่ว่ากระไรจึงพูดต่อ “แล้วจะไปหาความเจริญได้ยังไง ทะเลาะเบาะแว้งกันแบบนี้ เทวดาหนีหมด ต่อไปถ้าเธอมีลูกมีเมีย อย่าได้เอาไปเป็นเยี่ยงอย่างเชียวนะ” ท่านถือโอกาสสอนคนเป็นลูกศิษย์

         “รับรองได้เลยครับหลวงพ่อ ตัวอย่างเลว ๆ แบบนั้น ผมไม่นำไปประพฤติปฏิบัติอย่างแน่นอน ผู้ชายอะไรช่างไม่ให้เกียรติผู้หญิงเสียบ้างเลย ถ้าผมเป็นเมีย ผมไม่อยู่ด้วยแล้ว ไม่รู้ผู้หญิงคนนั้นเขาทนได้ยังไง” นายสมชายวิจารณ์

         “เขาเห็นแก่ลูกนั่นแหละ พูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ เขาทำกรรมไม่ดีมาก็เลยมาเจอคนไม่ดี”

         “ผู้ชายที่ด่าเก่งนี่ ผมว่าคงไม่มีใครดีนะครับหลวงพ่อ เพราะถ้าดีก็คงไม่ด่า”

         “ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงหรอก ลงได้ด่าเก่ง ก็ยากที่จะเป็นคนดี อย่างที่เขาว่าคนบางคนว่า ปากร้ายใจดีน่ะ จริง ๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะถ้าเขาใจดีจริง ปากจะต้องไม่ร้าย พระพุทธองค์ท่านถึงเน้นมโนกรรมมาก เพราะเป็นต้นเหตุของวจีกรรม และกายกรรม คือคนที่พูดชั่ว ทำชั่ว เพราะใจคิดชั่ว มีพุทธพจน์ตรัสสอนไว้นะสมชาย ฉันจำได้แม่นเชียวละ ที่จำแม่นเพราะ ฉันพยายามสอนตัวเองเสมอ ๆ ฉันจะยกมากล่าวให้เธอฟัง รู้สึกจะเข้ากับเรื่องของผู้ชายปากจัดคนนั้นพอดี”

         นายสมชายลดความเร็วของรถลงเพื่อจะได้ฟังให้ถนัด ท่านพระครูซึ่งนั่งอยู่ตอนหน้าคู่กับคนขับหันมาพูดกับเขาว่า “พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า...ผรุสวาทเพียงดังจอบ ซึ่งเป็นเครื่องขุดโค่น ตัดทอนตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลผู้เป็นบุรุษพาล ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าสะสมโทษด้วยปาก ย่อมไม่ประสบสุขเพราะโทษนั้น”

         “การที่ผู้ชายคนนั้นไปยกย่องโสเภณีว่าดีกว่าภรรยาตัวเอง เป็นการสรรเสริญคนที่ควรติเตียนใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว”

         “ผมว่าแกคงหลงรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสของผู้หญิงโสเภณีจนโงหัวไม่ขึ้น ขนาดเอามาเป็นข้อบริภาษเมียตัวเอง แล้วเมียเก่าแกเป็นโสเภณีจริงหรือเปล่าครับ” เด็กหนุ่มถาม เขารู้ว่าท่านสามารถให้คำตอบได้ เพียงแต่ท่านหลับตา ท่านก็จะรู้ทุกเรื่องที่อยากรู้

         “จริงหรือไม่จริง มันก็เรื่องของเขา เราหยุดพูดเรื่องนี้กันได้แล้ว ฉันเพียงแต่จะยกตัวอย่างให้เธอเห็นเท่านั้น ในวันข้างหน้าเมื่อเธอไปเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน จะได้วางตัวได้สมฐานะ ให้แม่บ้านขานับถือและเกรงใจ อย่าให้เขาดูถูกดูแคลนเอาได้ ฉันต้องการเพียงเท่านี้ ไม่ได้ต้องการให้เธอมาวิเคราะห์วิจัยเรื่องเมียเก่าเขา เข้าใจหรือยัง”

         “เข้าใจครับ” คนขับรถตอบเสียงอ่อย เมื่อท่านไม่อนุญาตให้สืบสาวราวเรื่อง เขาจึงจำต้องปิดปากเงียบและตั้งหน้าตั้งตาขับรถเพื่อที่จะไปให้ถึงบ้านงานได้ทันเวลา

         ก่อนออกจากจังหวัดสุพรรณบุรีไปจังหวัดสมุทรสงคราม ท่านพระครูให้นายสมชายแวะที่ร้านขายดอกไม้ในเมือง เพื่อซื้อกระเช้าดอกไม้ไปแสดงมุทิตาจิตต่อเจ้าของวันเกิด เป็นความเคยชินของท่านที่จะต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากเจ้าภาพเสมอ ทั้งยังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ศิษยานุศิษย์ว่า “หลวงพ่อเจริญ” เป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธรรมะหรือวัตถุสิ่งของ หากมีผู้ขอ ท่านก็จะให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

         บ่อยครั้งที่พวกชาวบ้านผู้ยากไร้ พากันมาขอข้าวสารจากวัดป่ามะม่วงไปหุงกินประทังชีวิต บางคนก็ขอพริก หอม กระเทียม เป็นของแถมอีกด้วย แต่สิ่งที่ท่านแถมให้ทุกครั้งโดยที่พวกเขาไม่ต้องเอ่ยปากขอก็คือ “ธรรมะ”

         ไม่แต่พวกชาวบ้านเท่านั้นที่มาขอ แม้แต่พระสงฆ์วัดข้างเคียงก็เคยส่งพระมาขอปันของฉันของใช้ เนื่องจากไม่มีคนไปถวาย ซึ่งท่านก็แบ่งสันปันส่วนให้โดยไม่รังเกียจรังงอนแต่ประการใด

         บางครั้งท่านได้รับการทัดทานจากพวกทายกว่า ไม่ควรให้เพราะเกรงว่าจะทำให้วัดตัวเองต้องขาดแคลน ท่านกลับสอนพวกเขาให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คำพูดที่ติดปากท่านคือ “ไม่หวงไม่อด หมดก็มา” กับ “ยิ่งให้ก็ยิ่งงอก”

         และดูเหมือนจะเป็นดังที่ท่านพูด เพราะมีหลายครั้งที่ข้าวของทำท่าว่าจะหมด แต่แล้วก็มีญาติโยมนำมาถวายใหม่อีก วัดป่ามะม่วงจึงยังไม่เคยเผชิญกับภาวะอดอยากยากแค้นจริง ๆ เลยสักครั้ง เพราะมีผู้ใจบุญนำข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ตลอดจน พริก หอม กระเทียม มาบริจาคอยู่เนือง ๆ

         คำพูดของท่านที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งงอก” จึงกลายเป็นคำขวัญประจำวัดป่ามะม่วงโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ท่านพระครูมักจะเน้นให้ญาติโยมได้สำเหนียกอยู่เสมอว่า การให้ที่ได้บุญกุศลมากที่สุดนั้นคือ การให้ธรรม ดังมีพุทธวจนะรับรองไว้ว่า “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ – การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทังปวง”

         ที่วัดบ้านแหลม ขณะที่ภิกษุรูปอื่น ๆ กำลังฉันเพลกันอยู่นั้น ท่านพระครูมิได้ฉัน ท่านเพียงแต่พิจารณาอาหารแต่ละอย่าง แล้วตั้งจิตแผ่เมตตาให้ผู้นำมาถวาย เพื่อที่เขาจะได้รับส่วนบุญกุศล ญาติโยมที่ไม่เข้าใจ คิดว่าท่านฉันอาหารด้วยตา คือคิดเอาเองว่า ท่านเพียงแต่มองอาหารก็ทำให้ท้องอิ่มได้

         โยมผู้ชายคนหนึ่งคลานเข้ามาหาท่าน ประนมมือพูดว่า “นิมนต์หลวงพ่อฉันเถิดครับ สงสัยอาหารจะไม่ถูกปาก หลวงพ่อถึงไม่ยอมฉัน”

         ท่านไม่อยากให้เขาเสียน้ำใจ จึงใช้ส้อมจิ้มทองหยอดลูกหนึ่งมาใส่ปาก แล้วก็ทำแบบนั้นอีกสองครั้ง จึงยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เห็นท่านฉันพอเป็นพิธีแล้ว โยมผู้ชายคนนั้นจึงคลานออกไป

         ระหว่างรอให้รูปอื่น ๆ ฉันเสร็จ ท่านก็มองออกไปข้างหน้า ห่างออกไปประมาณร้อยเมตรเป็นโรงเรียนการช่างสตรี อาจารย์สาวอายุประมาณไม่เกินสามสิบ กำลังยืนสอนนักเรียนอยู่หน้าชั้น ท่านอยากจะรู้ว่าอาจารย์เขาถ่ายทอดวิชาอะไรให้ลูกศิษย์ จึงกำหนด “เห็นหนอ” ไปฟังดัวย

         “นี่แน่ะนักเรียน วันนี้ครูจะสอน เรื่องเคล็ดลับในการดำเนินชีวิต” อาจารย์ผู้นั้นพูดกับลูกศิษย์สาวอายุประมาณสิบเจ็ดสิบแปด

         “พวกเธอก็เป็นสาวเป็นนางกันแล้ว ครูจะบอกเคล็ดลับให้ว่า จงอย่าไปมีสามี โบราณเขาว่า มีลูกกวนตัว มีผัวกวนใจ ถ้าอยู่เป็นสาวหน้าขาวเป็นยองใย ฉะนั้นพวกเธออย่าได้คิดแต่งงานเป็นอันขาด”

         “แหม ดีจัง อาจารย์คนนี้สอนดี สงสัยจะชักชวนลูกศิษย์ไปบวชชีเสียละมัง” ท่านพระครูคิด แล้วก็ตั้งใจฟังต่อไป

         “พวกเธอดูครูเป็นตัวอย่าง ครูนี่ใช้ชีวิตอย่างอิสระ มีบ้านหลังงาม มีรถยนต์ขับโดยไม่ต้องมีสามี ก็เราหาของเราเองได้ จริงไหม พวกเธออยากรู้วิธีรวยทางลัดไหมล่ะ” หล่อนถามลูกศิษย์

         “อยากค่ะ” เสียงนักเรียนหญิงตอบพร้อมกันทั้งห้อง

         “เอาละ ครูจะบอกให้ รับรองว่า ถ้าพวกเธอทำอย่างที่ครูทำอยู่ละก็ พวกเธอจะสบาย เป็นอิสระ แล้วก็มีเงินใช้ วิธีง่าย ๆ ก็คือ อยากจะนอนกับใครก็ไปนอน แต่ให้เลือกคนที่กระเป๋าหนัก ๆ พวกถังแตกอย่าได้ไปคบเด็ดขาด เปลืองเนื้อเปลืองตัวเปล่า ๆ เป็นไงดีไหม ชีวิตแบบนี้ดีไหม ได้เงินทีละมาก ๆ แล้วก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย”

         “ดีค่ะ” มีคนตอบเพียงสองสามคน แสดงว่านักเรียนในชั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความคิดพิลึกพิลั่นของผู้เป็นอาจารย์

         “แล้วถ้าเกิดผู้ชายเขามีเมียแล้ว เราไม่บาปหรือคะที่ไปแย่งเขา” หนึ่งในจำนวนที่ไม่เห็นด้วยถามขึ้น

         “เมียเขาก็อยู่ส่วนเมียเขาซี แล้วเราก็ไม่ได้แย่งเขา แค่ขอยืมมาใช้ชั่วครู่ชั่วยาม เราไม่ได้คิดที่จะเอามาเป็นสามีเราเมื่อไหร่” อาจารย์สาวตอบคำถามลูกศิษย์

         “แบบนี้มันก็โสเภณีชัด ๆ แหละค่ะอาจารย์” นักเรียนผู้หนึ่งพูดขึ้นอย่างอดรนทนไม่ได้

         “นี่พูดให้ดี ๆ นะ สุจิตรา ระวังจะโดนหักคะแนน” อาจารย์ขู่

         “แต่หนูว่า สุจิตราเขาพูดถูกนะคะอาจารย์” นักเรียนที่นั่งติดกับคนแรกพูดขึ้น

         “อะไร เธอก็เป็นไปอีกคนหนึ่งแล้วหรือจิราภรณ์ แหม ครูไม่นึกเลยว่าจะมีลูกศิษย์โง่ ๆ แบบเธอสองคน” คำพูดของอาจารย์สาวทำให้นักเรียนที่ไม่เห็นด้วยคนอื่น ๆ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เมื่อไม่มีผู้ใดโต้แย้ง อาจารย์สาวจึงพูดต่อไปอีกว่า

         “เพื่อน ๆ ครูไม่มีใครแต่งงานสักคน เขาก็ทำแบบที่ครูทำอยู่ ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน มัวรอกินแต่เงินเดือนมีหวังไส้แห้งตาย ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่มีรถขับ เงินเดือนครูน่ะมันซักกี่ตังค์เชียว” หล่อนดูแคลนอาชีพสุจริต ท่านพระครูอยากตบอกผาง ๆ คิดไม่ทันคาดไม่ถึงว่าจะมาเห็นมาได้ยิน หรือว่าเดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์เขาเปลี่ยนแนวการสอนกันแล้ว ช่างน่าสลดใจเสียเหลือเกิน อยากรู้นักว่า ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาได้ยินเข้า ท่านจะทำประการใด การที่อาจารย์ผู้นั้นอ้างว่า เพื่อน ๆ ของหล่อนก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ย่อมแสดงว่าไม่ได้มีหล่อนเพียงคนเดียวที่สอนผิด ๆ แบบนี้ น่าสงสารพวกลูกศิษย์ผู้เป็นอนาคตของชาติ ที่มีครูบาอาจารย์เป็นมิจฉาทิฐิสุดโต่งถึงปานนั้น

         ท่านพระครูเล่าเรื่องอาจารย์สาวให้นายสมชายฟังขณะเดินทางกลับวัดป่ามะม่วง

         “จริงหรือครับหลวงพ่อ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้”

         “อ้อ นี่เธอว่าฉันพูดเท็จงั้นสิ” ท่านย้อนเสียงเรียบ

         “เปล่าครับ เปล่า ผมน่ะเชื่อหลวงพ่อ แต่ไม่อยากเชื่อว่าอาจารย์คนนั้นแกจะเพี้ยนถึงปานนั้น น่าเป็นห่วงประเทศชาตินะครับ คนสมัยนี้จิตใจต่ำลงไปทุกวัน เห็นแก่ความสุขสบายทางกาย จนลืมนึกถึงความถูกต้องดีงาม วันนี้ไม่รู้เป็นวันอะไรครับหลวงพ่อ เราถึงได้เจอแต่เรื่องไม่ดีไม่งามมาสองเรื่องแล้ว”

            “วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย เห็นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต่อกลอน จึงพูดต่อไปว่า

         “ประเดี๋ยวเธอแวะอ่างทองด้วย ฉันจะไปเยี่ยมโยมปั่นเขาหน่อย จำทางไปบ้านโยมปั่นได้รึเปล่า”

         “จำได้ครับ นิมนต์หลวงพ่อพักผ่อนเถิดครับ ถึงแล้วผมจะเรียนให้ทราบ” เมื่อนายสมชายพูดเช่นนั้น ท่านพระครูจึงนั่งหลับตา ซึ่งนายสมชายคิดว่าท่านคงหลับ หากความจริงแล้วท่านไม่ได้หลับ ท่านกำหนดจิตแผ่เมตตาให้กับบรรดาสัมภเวสีไปตลอดทาง

         ผู้ที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถชนกัน มักจะไปเกิดเป็นพวกสัมภเวสี ซึ่งแปลว่าพวกแสวงหาภพ คือยังไม่เกิดเป็นที่ตามกรรมที่ตนกระทำไว้ เพราะขณะที่ตายนั้น จิตเป็นกลาง ๆ ไม่เป็นกุศลและไม่เป็นอกุศล หากตายขณะที่จิตเป็นกุศล ก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ แต่ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็จะไปเกิดในทุคติภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เป็นต้น ส่วนพวกที่ตายในขณะจิตเป็นกลาง ๆ จะไปเกิดเป็นสัมภเวสี เมื่อใดที่สัมภเวสีเหล่านี้ระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำไว้ ก็จะไปเกิดในภพภูมิที่เหมาะสมกับกรรมนั้น

         ท่านพระครูนั่งแผ่เมตตาให้พวกสัมภเวสีมาตลอดทาง กระทั่งถึงทางแยกเข้าสู่จังหวัดอ่างทอง มีอุบัติเหตุรถชนกันข้างหน้า ทำให้รถติดยาวเป็นพรืด นายสมชายหันมามองท่านพระครู เหมือนจะปรารภว่าได้เกิดอะไรขึ้น เห็นท่านนั่งหลับจึงไม่กล้าถาม แต่ท่านก็พูดขึ้นเหมือนรู้ใจเขาว่า

         “รถชนกันข้างหน้า มีตายสามศพ ถ้าเธอไม่เชื่อจะลองเดินไปดูก็ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพลิกศพ”

         “แถวนี้คนตายบ่อยนะครับ เห็นเขาว่ามีผีตายโหงสิงอยู่” นายสมชายพูดพลางหยุดรถตามคันหน้า เขาไม่จำเป็นต้องลงไปดู เพราะรู้ว่าสิ่งที่ท่านพระครูพูดนั้นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์

         “ไม่ใช่ผีตายโหงหรอกสมชาย ผีตายทั้งกลมน่ะ” ท่านพระครูบอกหลังจากใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบแล้ว

         “ทำไมเขามาอาละวาดแถวนี้ล่ะครับหลวงพ่อ”

         “เพราะแรงอาฆาตนั้นแหละ คือ ผู้หญิงคนนี้เขาปวดท้องจะออกลูก หมอตำแยเขาทำคลอด เด็กก็ไม่ยอมออกสักทีจนเขาหมดปัญญา ก็เลยพากันหามมาจากหมู่บ้านจะพาไปส่งโรงพยาบาลในเมือง พอถึงปากทางโบกรถคันไหน ๆ ก็ไม่มีใครหยุดรับ รถประจำทางก็ไม่มีเพราะมืดแล้ว เขาก็ทุกข์ทรมานจนกระทั่งขาดใจตาย เลยอาฆาตแค้นคนที่ขับรถผ่านไปมา จึงแกล้งให้เกิดอุบัติเหตุ นี่ก็ร่วมร้อยศพแล้วมั้ง” ท่านเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหกเดือนมาแล้ว

         “แล้วบาปไหมครับหลวงพ่อ เขาทำอย่างนั้นบาปไหม” นายสมชายถามอย่างอยากรู้

            “บาปซิ ทำไม่จะไม่บาปเล่า”

         “ผีก็ทำบาปได้ใช่ไหมครับหลวงพ่อ”

         “ทำได้ ไม่ว่าผีว่าคน หรือแม้กระทั่งเทวดา ถ้าทำบาปก็ได้บาป อย่างวิญญาณผู้หญิงคนนี้เที่ยวก่อกรรมทำเข็ญกับคนใช้รถใช้ถนน เท่ากับเป็นการสะสมบาปไว้”

         “แล้วทำไมไม่ตกนรกเล่าครับหลวงพ่อ ทำไมยมบาลไม่มาเอาตัวไปลงโทษ ปล่อยให้รังควานคนอื่นเขาอยู่ได้”

            “มันก็พูดยากนะสมชาย ความอาฆาตพยาบาทนั้นหากมีพลังมาก มันก็สามารถฝืนแรงกรรมได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฝืนได้ตลอดไป เพราะในที่สุดก็ต้องชดใช้กรรมที่ตัวเองทำเอาไว้”

         “หมายความว่า ในที่สุดวิญญาณของผีตายทั้งกลมนี้ก็ต้องไปรับโทษทัณฑ์ในเมืองนรกใช่ไหมครับ”

         “ต้องเป็นอย่างนั้น”

         “แล้วอีกนานไหมครับ กว่าเขาจะได้รับโทษ”

         “มันก็ขึ้นอยู่กับแรงบุญแรงบาปที่เขาทำมา ถ้าแรงบุญมีมาก อีกไม่นานเขาก็จะสำนึกได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นมันเป็นบาป ก็จะเลิกเสีย แต่ถ้าแรงบาปมีมาก เขาก็จะสะสมบาปต่อไปจนกระทั่งกฎแห่งกรรมมันทำหน้าที่ของมัน”

         “แล้วหลวงพ่อจะช่วยเขาได้บ้างไหมครับ ผมหมายถึงหลวงพ่อน่าจะให้เขารู้บาปบุญคุณโทษโดยเร็ว จะได้เลิกก่อกรรมทำเข็ญ” คนพูดพูดจากจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา

         ฉันก็ว่าจะลองดูเหมือนกัน แต่ก็ไม่หวังว่าเขาจะเชื่อฟังที่ฉันพูดหรอกนะ ถ้าตอนมีชีวิตอยู่ เขาเป็นมิจฉาทิฐิ ตายแล้วก็ยังคงเป็นมิจฉาทิฐิอยู่อย่างนั้น ถ้าเปลี่ยนได้ คนที่มาเกิดก็คงเป็นคนดีกันหมดแล้ว จริงไหม เพราะคน ๆ หนึ่งต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง”

            “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อลองพูดกับเขาซีครับ เผื่อเขาจะเชื่อฟังหลวงพ่อ คนที่ใช้เส้นทางนี้จะได้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ” นายสมชายแนะนำนึกสงสารทั้งคนตายและคนเป็น

         “ก็ได้ ฉันจะลองดู” แล้วท่านจึงนั่งตัวตรง หลับตา สำรวมจิตเพื่อเจรจากับวิญญาณอาฆาตของหญิงนั้น

            “โยม อาตมาขอคุยด้วยสักหน่อยเป็นไร” ท่านพูดกับหญิงตายทั้งกลมซึ่งมาปรากฏในนิมิต วิญญาณนั้นลอยมาหยุดเบื้องหน้าท่าน ยกมือขึ้นประนมแล้วทักว่า

         “ท่านพระครูเจริญใช่ไหมจ้ะ หลวงพ่ออยู่วัดป่ามะม่วงใช่ไหม”

         “โยมรู้จักอาตมาด้วยหรือ” ถามอย่างแปลกใจ

         “รู้ซีจ๊ะ ฉันเคยไปทำบุญที่วัดป่ามะม่วงสามสี่ครั้ง หลวงพ่อยังชวนฉันมาเข้ากรรมฐาน พอดีฉันตั้งท้องลูกคนแรกเสียก่อน เลยไม่ได้ไป คิดว่าคลอดลูกแล้วพอลูกโตก็จะหาโอกาสไปให้ได้ ก็พอดีมาตายเสียก่อน ตายทั้งกลมเสียด้วย” หล่อนร้องไห้กระซิก ๆ แล้วจึงพูดต่ออีกว่า “คนมันใจร้าย มันไม่ยอมหยุดรถรับฉันไปโรงพยาบาล ฉันต้องนอนเจ็บปวดกระทั่งขาดใจตายด้วยความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส”

         “โยมก็เลยทำการแก้แค้นใช่ไหม สามศพข้างหน้านั่นก็ฝีมือโยมใช่ไหม” ท่านพระครูพูดด้วยเสียงตำหนิ

         “ก็ฉันแค้น” หล่อนพูดเสียงอ่อย

         “แล้วทำอย่างนั้นมันหายแค้นหรือเปล่า คนที่โยมทำเขาตายนั่น เขาไปสร้างความแค้นให้โยมหรือเปล่า มันคนละคนกันใช่ไหม หรือว่า โยมจำได้ว่าคนที่ไม่ให้โยมขึ้นรถน่ะเป็นใคร”

         “จำไม่ได้จ้ะ”

         “ก็ในเมื่อจำไม่ได้ แล้วโยมเที่ยวไปทำร้ายเขาอย่างนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง รู้ไหมว่าโยมกำลังสร้างเวรสร้างกรรม แล้วตัวโยมเองนั่นแหละจะต้องมารับเวรรับกรรมในภายหลัง หยุดเสียเถิด อาตมาขอบิณฑบาต นะโยมนะ” ท่านขอร้องขณะเดียวกันก็แผ่เมตตาให้หล่อนด้วย

         เมื่อได้รับกระแสเมตตาที่ท่านแผ่มาให้ วิญญาณอาฆาตดวงนั้นก็นำนึกในบาปบุญคุณโทษ หล่อนกราบท่านพระครูแล้วพูดว่า

         “ฉันหยุดแล้วจ้ะหลวงพ่อ หยุดแล้ว นับแต่วันนี้ต่อไป ฉันจะเลิกก่อกรรมทำเข็ญ แต่คนอื่น ๆ เขาจะคิดยังไงฉันไม่รู้นะจ๊ะ เพราะบางคนเขาก็เชื่อฟังฉัน แต่บางคนก็ดื้อรั้น” หล่อนหมายถึงดวงวิญญาณอื่น ๆ ที่ตายเพราะอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความอาฆาตของหล่อน

         “เดี๋ยวอาตมาจะแผ่เมตตาไปให้พวกเขา แล้วโยมค่อยไปบอกก็แล้วกัน จากนั้นก็ให้โยมไปเข้าฝันพวกชาวบ้านให้จัดการทำบุญปัดรังควาญกันที่ถนนนี่แหละ ชวนพรรคพวกไปด้วยนะ บอกหลาย ๆ เสียงเขาจะได้เชื่อ” ท่านแนะนำ

         “หลวงพ่อ แล้วฉันจะตกนรกไหมจ๊ะ ฉันรู้ว่าฉันจะต้องตกนรกอย่างแน่นอน หลวงพ่อช่วยฉันด้วย” หล่อนอ้อนวอน รู้สึกกลัวภัยอันเกิดจากบาปกรรมที่ต้นสร้างด้วยแรงโทสะ

         “อาตมาคงช่วยได้ไม่มากนักหรอก โยมจะต้องก้มหน้ารับกรรมที่โยมก่อ ที่โยมกลับใจได้นี่ก็เป็นผลดีกับตัวโยมมากแล้ว เพราะจะได้ไม่ต้องไปตกนรกนาน อาตมาเห็นจะต้องลาละ” ท่านกำหนดลืมตา

         เป็นเวลาเดียวกับที่ตำรวจทางหลวงจัดการนำศพและซากรถที่ขวางทางอยู่ออกได้ รถจึงวิ่งได้ตามปกติ

         “สำเร็จไหมครับหลวงพ่อ” นายสมชายถามขณะเคลื่อนรถตามคันหน้าไปอย่างช้า ๆ

         “โชคดีที่เขารู้จักฉัน เลยพูดกันง่ายหน่อย ก็ต้องนับว่าเป็นบุญของเขา ขืนดื้อดึงก็ต้องก่อกรรมทำเข็ญไปอีกนาน”

         “แล้วหลวงพ่อรู้จักเขาไหมครับ”

         “ไม่รู้จัก เขาบอกเขาเคยไปทำบุญที่วัดป่ามะม่วง ก็คนไปทำบุญมีเป็นร้อยเป็นพัน ฉันจะจำยังไงไหว ขืนจำได้หมดก็เป็นผู้วิเศษเท่านั้น”

         “แต่ใคร ๆ เขาก็คิดกันทั้งนั้นว่า หลวงพ่อเป็นผู้วิเศษ ไม่งั้นจะพูดกับผีได้หรือ” นายสมชายไม่ยอมแพ้

         “รีบ ๆ ไปเถอะไป๊ จะได้ถึงบ้านโยมปั่นเร็ว ๆ” ท่านพูดตัดบท คร้านที่จะอธิบายให้นายสมชายหรือใครต่อใครฟังว่า ท่านมิใช่ผู้วิเศษ ท่านเป็นเพียงผู้ต้องการละกิเลส แล้วก็ละได้เกือบจะหมดสิ้นแล้ว....

 
มีต่อ........๒๗
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 19, 2007, 07:58:42 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00027
๒๗...

            เมื่อนายสมชายนำรถเข้ามาจอดหน้าเรือนปั้นหยาหลังใหญ่ ฝูงสุนัขก็วิ่งกรูกันเข้ามา ส่งเสียงเห่าอึงคะนึง
               ไม่มีผู้ใดลงมาไล่ฝูงสุนัขฝูงนั้น ท่านพระครูจึงแผ่เมตตาไปยังพวกมัน แล้วบอกนายสมชายว่า “ไป ลงจากรถได้แล้ว รับรองว่าปลอดภัย” ชายหนุ่มจึงเปิดประตูลงจากรถอย่างหวาด ๆ แล้วอ้อมมาเปิดประตูให้ท่านลงอีกด้านหนึ่ง ฝูงสุนัขวิ่งกระดิกหางเข้ามาต้อนรับพลางส่งเสียงงี้ดง้าด

         ท่านพระครูเดินนำนายสมชายขึ้นไปบนบ้าน พบนางปั่นนอนแบ็บอยู่บนเตียงนอกชาน ที่นอนเปียกชื้นด้วยน้ำปัสสาวะคละเคล้ากั้บน้ำเหลืองส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง

         “โยมปั่น อาตมามาเยี่ยม” ท่านเอ่ยทัก นายสมชายยกเก้าอี้มาให้ท่านนั่งข้างเตียง

         “หลวงพ่อหรือจ๊ะ โถ อุตส่าห์มาเยี่ยม ขอบคุณมากจ้ะ” นางพูดพลางยกมือขึ้นประนมทั้งที่นอนแบ็บอยู่อย่างนั้น เนื่องจากป่วยเป็นอัมพาตเดินไม่ได้มาห้าหกปีแล้ว

         “สมขาย ไหนล่ะของเยี่ยม” ท่านถามหาของซึ่งเตรียมมาจากวัดป่ามะม่วง

         “อยู่ในรถครับ เดี๋ยวผมลงไปเอามาให้” พูดจบก็ลงบันไดไป สักครู่จึงขึ้นมาพร้อมกับถาดทรงกลม ในถาดบรรจุโอวัลติน นมสด และนมข้น เขาวางลงข้าง ๆ เตียงแล้วถอยออกมานั่งเสียไกล เพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว

         “หลวงพ่อมาเยี่ยมฉันก็เป็นพระคุณแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาให้ก็ได้” นางปั่นพูดอย่างเกรงใจ

         “ไม่เป็นไรหรอกโยม อะไรที่พอจะช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไป อย่าไปคิดมากเลยนะ นี่โยมอยู่คนเดียวหรือ โยมผู้ชายไปไหนเสียล่ะ” ท่านถามหาสามีของนางปั่น

         “ไปนาจ้ะ ไปดูเขาเกี่ยวข้าว จ้างเขาคนละยี่สิบห้าบาทต่อวัน ก็เลยต้องไปคุม เห็นว่าวันนี้มากันตั้งสิบคน”

         “แล้วโยมกินข้าวกินปลายังไงล่ะ ช่วยตัวเองได้บ้างไหม” ท่านถามอย่างเป็นห่วง

         “ไม่ได้เลยจ้ะหลวงพ่อ เมื่อเช้าทิดเขาป้อนข้าวแล้วก็ออกไปนา กลางวันก็กลับมาป้อนอีก เรื่องกินก็เลยไม่ลำบากเท่าไหร่ จะลำบากก็ตอนหนักตอนเบานี่แหละ เหม็นคลุ้งเลย” นางพูดอย่างเกรงใจท่านพระครู รู้ว่าท่านจะต้องเหม็น ขนาดลูกศิษย์ยังเลี่ยงไปนั่งเสียไกล

         ท่านพระครูมีอันต้องกำหนด “กลิ่นหนอ” เพราะเป็นคนรักความสะอาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

         “ลูกเต้าเขาไปไหนกันหมดล่ะ โยมมีลูกหลายคนไม่ใช่หรือ” ท่านถามพลางนึกตำหนิลูก ๆ ของนางที่ปล่อยให้แม่ต้องมานอนป่วยอยู่เดียวดายเช่นนี้

         “เขามีครอบครัวแยกย้ายกันไปหมดแล้ว ตั้งแต่แบ่งนาให้ไปคนละสามร้อยไร่ ก็ไม่มีใครมาให้เห็นหน้าอีกเลย เหลือแต่ลูกสาวคนสุดท้องที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ เมื่อสองสามวันก่อนเขามาบอกให้ฉันหาเงินไว้ให้สักสองหมื่น เขาว่าเขาจะเอาไปพิมพ์หนังสือ”

         เสียงแตรรถดังอยู่หน้าบ้าน ท่านพระครูหันไปมองก็เห็นรถ บีเอ็มดับบลิว สีตะกั่วตัด วิ่งมาจอดคู่กับรถตู้ของท่าน คนขับเป็นผู้หญิงอายุในราวยี่สิบห้า มีผู้หญิงวัยเดียวกันตามมาอีกสี่ห้าคน ฝูงสุนัขวิ่งกรูเข้ามา แต่ถูกคนที่ขับรถไล่ตะเพิดออกไป

         “ขึ้นบ้านก่อน เดี๋ยวไปเอาเงินกับแม่เดี๋ยว ไม่รู้ว่าหาให้ได้หรือยัง” หล่อนพูดพลางเดินนำขึ้นไปบนบ้านเห็นพระนั่งอยู่ข้าง ๆ มารดาจึงยกมือไหว้

         “หนูมาหาใครจ๊ะ” ท่านทักขึ้นก่อน

         “มาหาแม่จ้ะ ฉันเป็นลูกสาวคนที่นอนอยู่บนเตียงนี่” หล่อนชี้ที่มารดา ส่วนเพื่อน ๆ ของหล่อนนั่งรออยู่ห่าง ๆ

         “หนูมาก็ดีแล้ว ช่วยซักผ้านุ่งและผ้าปูที่นอนให้แม่เขาด้วย กลิ่นอุจจาระปัสสาวะคลุ้งไปหมด” ท่านถือโอกาสใช้

         “ไม่ได้หรอกหลวงพ่อ หนูจะรีบไป” พูดพลางหันไปมองเพื่อน ๆ ซึ่งขยิบหูขยิบตาใส่ทำนองว่า “อย่าซัก”

         “จะรีบไปไหนล่ะจ๊ะ”

         “ไปเผาศพญาติของเพื่อนที่อยุธยาค่ะ” หล่อนตอบ รู้สึกไม่พอใจที่ถูกซักไซ้ไล่เลียง

         “ก็ซักผ้าให้แม่ก่อนแล้วค่อยไป คงกินเวลาไม่ถึงยี่สิบนาทีหรอกน่า” หญิงสาวหันไปมองเพื่อน ๆ อย่างเกรงใจ เห็นพวกเขาทำบุ้ยใบ้ว่าไม่ให้ซัก จึงบอกท่านพระครูว่า

         “ไม่ได้หรอกหลวงพ่อ เดี๋ยวเพื่อน ๆ เขาจะรอ”

         “ก็ให้เขารอสักประเดี๋ยวจะเป็นไรไป”

         “เดี๋ยวไปไม่ทันงานศพ” หล่อนตอบเสียงห้วน รู้สึกรำคาญขึ้นมาตะหงิด ๆ เป็นพระเป็นเจ้ามายุ่งอะไรกับเรื่องของหล่อน ขนาดแม่หล่อนแท้ ๆ ยังไม่กล้าใช้

            ท่านพระครูล่วงรู้ความคิดของหญิงสาว การที่ท่านเซ้าซี้ให้หล่อนซักผ้าให้มารดาก็เพื่อจะช่วย “ตัดกรรม” ให้ แต่หล่อนกลับแสดงอาการไม่พอใจจนออกนอกหน้า ท่านจึงพูดเสียงค่อนข้าดังว่า “ขอโทษเถอะหนู อาตมาขอถามตรง ๆ ว่า คนที่ตายน่ะเขามีความสำคัญต่อหนูมากกว่าแม่ของหนูหรือไง แล้วถ้าหนูไม่ไปเผาศพเขา จะทำให้งานต้องล้มเลิกไปเลยใช่ไหม” ท่านประชดหากหล่อนไม่สนใจ หันไปพูดกับมารดาว่า “แม่ เงินสองหมื่นหาได้หรือยัง ที่หนูขอไว้ไปพิมพ์วิทยานิพนธ์น่ะ”

         “ยังหาไม่ได้หรอกอีหนูเอ๊ย พ่อเอ็งเขามัวยุ่งอยู่กับเรื่องเกี่ยวข้าว เลยยังไม่มีเวลาไปหยิบไปยืมใคร” นางปั่นพูดอย่างเกรงใจลูกสาว

         “แล้วเมื่อไหร่จะได้ล่ะ บอกตั้งหลายวันแล้ว” ลูกสาวพูดเกือบเป็นตะคอก ท่านพระครูจึงถือโอกาสถามขึ้นว่า

         “หนูเรียนอยู่ที่ไหนล่ะจ๊ะ”

         “หนูเรียนปริญญาโทอยู่กรุงเทพฯ ค่ะ กำลังทำวิทยานิพนธ์ จะมาขอเงินแม่เขาไปพิมพ์” หล่อนพูดอย่างภาคภูมิใจ รู้สึกอารมณ์ดีขึ้น เมื่อท่านถามเรื่องเรียน

         “อ้อ เรียนปริญญาโทเชียวหรือ อยู่สถาบันไหนล่ะ” หญิงสาวเอ่ยนามมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทย ท่านพระครูกลับลงความเห็นว่า “ไม่น่า คนอย่างหนูนี่ไม่น่าจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ อย่างนี้”

         “ทำไมหรือคะ”

         “ก็ทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันเขาหมดน่ะซี” ท่านว่าเอาตรง ๆ

         “เสียชื่อยังไงคะ หนูเสียหายตรงไหน” ถามโกรธ ๆ

         “เสียหายตรงที่หนูไม่มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมอยู่ในจิตใจนะซี แม่นอนป่วยแทนที่จะมาพยาบาลรักษา กลับเห็นญาติของเพื่อนสำคัญกว่า อาตมาขอว่าหนูตรง ๆ อย่างนี้แหละ น่าเสียดายที่มีความรู้สูง แต่คุณธรรมไม่มีเลย หนูจำไว้ด้วยว่า ความรู้นั้นต้องคู่กับคุณธรรม ถ้ามีแต่ความรู้อย่างเดียวก็เป็นคนดีไม่ได้” ท่านพระครูเทศน์ยืดยาวโดยไม่ต้องมีการอาราธนา ท่านรู้ว่าหญิงสาวผู้นี้จะต้องรับกรรมอย่างหนัก อยากจะช่วยให้กรรมนั้นเบาบางลง จึงต้องลงทุนเทศนาหล่อน ทั้งที่รู้ว่ามันทำให้หล่อนขัดเคือง

         ด้วยความเมตตาสงสารไม่อยากให้เขาประสบเคราะห์กรรม ท่านจึงพูดกับเขาอย่างอ่อนโยนว่า

         “หนู อาตมาขอร้องเถอะ หนูช่วยเอาผ้าแม่ไปซักหน่อย แล้วหนูจะเจริญรุ่งเรืองเชียวละ นี่ถ้าอาตมาไหว้หนูได้ก็จะไหว้เดี๋ยวนี้เลย นะหนูนะ”

         “ไม่ซ้งไม่ซักหรอก คนจะรีบ หลวงพ่ออยากซักก็ไปซักเองสิ” นิสิตปริญญาโทกล่าวจ้วงจาบพระสงฆ์

         “หนู นี่ถ้าโยมปั่นเป็นแม่อาตมา อาตมาจะซักให้หนูดูอย่างไม่รังเกียจเลย แต่จนใจที่ทำไม่ได้ เพราะมันผิดวินัย พระวินัยอนุญาตให้ทำให้แม่ได้เท่านั้น ทำให้คนอื่นไม่ได้”

         “วินงวินัยอะไรหนูไม่สนใจหรอก หนูไปละ แม่ไปก่อนนะ อย่าลืมหาเงินไว้ให้ด้วยล่ะ” พูดแล้วก็ชวนเพื่อน ๆ ลงเรือนไป ไม่สนใจที่จะไหว้ลาท่านพระครูด้วยซ้ำ

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองตามรถบีเอ็มดับบลิว ด้วยความรู้สึกสลดหดหู่ ท่านหันไปพูดกับนางปั่นว่า

         “ไม่ไหว นี่โยมเลี้ยงลูกยังไงถึงได้เป็นแบบนี้”

         “มันเวรกรรมของฉันจ้ะหลวงพ่อ” นางปั่นพูดไปร้องไห้ไป

         “นี่เขาก็มาข่มขู่จะเอาเงินไปพิมพ์หนังสือ ฉันก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนให้เขา สมบัติอะไรก็แบ่งให้ไปหมดแล้ว นาสามร้อยไร่นั่นเขาก็ขายหมด เอาไปแลกรถคันนั้นได้คันเดียว บอกเขาก็ไม่เชื่อ ห้ามเขาก็ไม่ฟัง” นางร้องไห้สะอึกสะอื้น

         “นี่ดีนะที่เป็นลูกโยม ถ้าเป็นลูกอาตมาละก็ คงตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว”

         “อย่าไปว่าเขาเลยจ้ะหลวงพ่อ มันเป็นกรรมของฉันเอง” นางปั่นไม่วายเข้าข้างลูก

         “ขอถามหน่อยเถอะโยม ตั้งแต่โยมนอนป่วยมานี่ ลูกสาวเขาเคยซักผ้าให้ไหม ผ้าที่เปื้อนอุจจาระปัสสาวะของโยมน่ะ”

         “ไม่เคยจ้ะ เขารังเกียจ มีแต่ทิดนั่นแหละเขาซักให้” นางหมายถึงผู้เป็นสามี พูดยังไม่ทันขาดคำนายขำก็ขึ้นเรือนมา ครั้นเห็นท่านพระครูจึงเข้ามานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้

         “หลวงพ่อมานานแล้วหรือครับ”

         “สักพักหนึ่งเห็นจะได้ เป็นไงวันนี้เกี่ยวข้าวได้กี่ไร่”

         “สักสามสี่ไร่เห็นจะได้ครับ วันนี้จ้างคนมาเกี่ยวสิบคน เดี๋ยวนะครับ ผมขอตัวไปหาน้ำมาถวายหลวงพ่อก่อน” พูดพลางตั้งท่าจะลุกขึ้น แต่ท่านพระครูห้ามไว้

         “ไม่ต้องหรอกโยม อาตมาเรียบร้อยมาแล้ว โยมมาเหนื่อย ๆ นั่งพักเสียก่อน เดี๋ยวอาตมาก็จะกลับแล้ว”

         “ทิด เมื่อกี้อีหนูมันมาเอาเงินแน่ะ” นางปั่นบอกสามี

         “แล้วแกทำยังไงล่ะ บอกมันว่ายังไง”

         “ก็บอกไปว่ายังหาไม่ได้ ท่าทางมันโกรธเชียว”

         “ลูกสาวโยมนี่ไม่ไหวเลยนะ อาตมาให้ช่วยซักผ้าให้โยมปั่น เขาก็ไม่ยอมซัก” ท่านพระครู “ฟ้อง”

         “เหลือเกินเลยแหละครับหลวงพ่อ เขาถือว่าเรียนสูงกว่าพ่อกว่าแม่ จะสอนจะสั่งยังไงเขาก็ไม่ฟัง ดูถูกพ่อแม่ว่าจบแค่ ป.๔ ผมว่าเขาคงไปไม่ถึงไหน อย่าหาว่าแช่งลูกเลย” นายขำพูดอย่างอ่อนล้า รู้สึกผิดหวังที่มีลูกไม่ได้ดังใจสักคนเดียว

         “อย่าไปโทษลูกมันเลยทิดเอ๊ย มันเป็นกรรมของข้าเอง” นางปั่นปรามสามีพลางขยับตัวอย่างลำบาก การนอนแบ็บอยู่กับที่เป็นเวลาแรมปี ทำให้เนื้อบริเวณหลังเปื่อยกลายเป็นแผลเรื้อรัง น้ำเหลืองไหลเยิ้ม

         “แกก็เข้าข้างมันทุกที มันถึงได้เป็นยังงี้ไงล่ะ” นายขำว่าภรรยา

         “ก็มันจริง ๆ นี่นา หลวงพ่อเชื่อฉันเถิดจ้ะ ว่ามันเป็นกรรมของฉันเอง ฉันทำกรรมไว้กับแม่ ลูกก็เลยทำกับฉันเหมือนกับที่ฉันเคยทำกับแม่ ฉันจะเล่าให้หลวงพ่อฟัง” นางหยุดหายใจลึก ๆ สองสามครั้งแล้วจึงเริ่มต้นเล่าด้วยเสียงแหบเครือ

         “แม่ฉันก็เป็นอัมพาตนอนป่วยอยู่เป็นปี ฉันไม่เคยซักผ้าให้แก ตอนนั้นฉันอยู่กับยาย ไม่ได้อยู่กับแม่ เวลายายให้เอาข้าวมาส่งให้แม่ ฉันก็เอามาส่งแล้วก็รีบกลับไปบ้านยาย แม่เคยขอร้องฉันว่า อีหนูช่วยซักผ้าให้แม่หน่อย ฉันก็ไม่ยอมซัก พ่อกลับจากนาก็ต้องมาซักผ้าให้แม่

         ฉันอยู่กับยายไม่เคยไปพยาบาลแม่เลย อยู่กันคนละบ้าน ยายเป็นคนทำกับข้าวให้ฉันเอาไปส่งแม่ทุกวัน ส่งเสร็จฉันก็กลับ ไม่เคยซักผ้าให้แม่สักครั้งเดียว ฉันถึงไม่โกรธลูกที่เขาไม่ซักผ้าให้ฉัน” นางปั่นเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ท่านพระครูฟัง

         “อ้อ อย่างนี้เอง” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเพิ่งจะเข้าใจเดี๋ยวนั้นว่า เหตุใดท่านจึงมองเห็น “กฎแห่งกรรม” ของลูกสาวนางปั่น ครั้นจะเล่าให้สองผัวเมียฟังก็เกรงเขาจะไม่สบายใจ จึงนิ่งเสีย

         อาตมาเห็นจะต้องลากลับเสียที โยมจะได้พักผ่อนกัน” รู้ว่าท่านจะกลับ นางปั่นก็มีอันเจ็บปวดตามเนื้อตัวขึ้นมาทันที ตอนคุยกับท่านรู้สึกเพลินจนลืมความเจ็บปวด นางร้องครวญครางขึ้นว่า “หลวงพ่อ ฉันทรมานเหลือเกิน ช่วยฉันด้วย”

         “โยมเคยเข้ากรรมฐานมาแล้วไม่ใช่หรือ อาตมาจำได้นะ จำได้ว่าโยมเคยไปอยู่วัดป่ามะม่วงหลายวัน”

         “จ้ะ ฉันเคยไปเข้ามาสองครั้งตอนก่อนจะล้มป่วย ครั้งแรกอยู่เจ็ดวัน ครั้งที่สองสิบห้าวัน”

         “นั่นแหละ โยมก็เอาวิชานั้นนั่นแหละมาใช้”

         “ใช้ยังไงจ๊ะหลวงพ่อ ฉันลืมหมดแล้ว เพราะตั้งแต่กลับจากวัด ก็ไม่ได้ปฏิบัติอีก ยิ่งพอมาล้มป่วยก็เลยเลิกพูดถึงไปเลย

         “เอาเถอะลืมก็ไม่เป็นไร อาตมาจะช่วยทบทวนให้ ก็ยังดีกว่าเริ่มใหม่ทั้งหมด คนที่เคยปฏิบัติแล้วอย่างน้อยก็ต้องมีเชื้อหลงเหลืออยู่บ้าง ฟังนะ โยมเจ็บตรงไหน หรือที่เรียกว่าเอาความเจ็บปวดมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วก็กำหนด “ปวดหนอ” หรือ “เจ็บหนอ” ไปตามที่เป็นจริง ถ้ามันทั้งเจ็บทั้งปวดก็กำหนดว่า “เจ็บปวดหนอ เจ็บปวดหนอ” กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิเราก็จะรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นมันคลายลง โยมทำได้ไหมล่ะ”

         “จ้ะ คิดว่าคงทำได้”

         “ต้องทำได้ซี อย่าไปคิดว่าคงทำได้ ให้ตั้งใจให้แน่วแน่ลงไปเลยว่าต้องทำได้ โยมต้องใช้สติข่มทุกขเวทนาให้ได้ เข้าใจหรือยัง”

         “เข้าใจจ้ะ ขอบพระคุณหลวงพ่อมาก ถ้าหลวงพ่อมีเวลา กรุณามาเยี่ยมฉันอีกนะจ๊ะ ฉันคงอยู่ไปอีกไม่นาน อย่างน้อยหลวงพ่อก็จะได้มาช่วยส่งวิญญาณฉันให้ไปสุคติ” นางปั่นพูดอย่างคนที่เห็นการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา

         “ไม่ต้องให้อาตมาส่งหรอก โยมส่งเองก็ได้ เราเคยปฏิบัติแล้วเราก็รู้แล้วนี่ว่าทางไหนเป็นยังไง ถ้าเราอยากจะไปทางสายนั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร”

         “รู้จ้ะ แต่เวลาปฏิบัติมันทำไม่ได้อย่างที่รู้”

         “นั่นแสดงว่าโยมรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงต้องปฏิบัติได้ จำไว้นะโยม วันนี้ อาตมามาให้สติโยมหลายเรื่องด้วยกัน และถ้าโยมปฏิบัติตามได้ โยมก็จะพ้นทุกข์ได้ อาตมาลาละ” นายขำกุลีกุจอตามมาส่งท่านที่รถ ซึ่งนายสมชายลงมารูอยู่ตั้งแต่ได้ยินว่าท่านจะกลับ ท่านพูดให้กำลังใจนายขำว่า

         “อดทนเอาหน่อยนะโยมนะ คิดเสียว่าเคยทำกรรมร่วมกันมา โยมปั่นเขาคงจะเคยปรนนิบัติโยมมาแต่ครั้งอดีต โยมก็เลยต้องมาทำให้เขาบ้าง ก็ใช้ ๆ หนี้กันเสียให้หมดจะได้ไม่ต้องมีเวรมีกรรมต่อกัน”

         “ครับหลวงพ่อ” ชาตินี้ผมเกิดมาใช้หนี้ลูกใช้หนี้เมีย ก็จะตั้งหน้ารับกรรมไปจนกว่าจะตาย ชาติหน้าชาติไหนผมจะไม่เกิดเป็นไอ้ขำอีกแล้ว ขอเกิดเป็นพระอย่างหลวงพ่อดีกว่า จะได้ตัดภพตัดชาติให้สิ้นไป” พูดอย่างคนที่เข็ดหลาบกับชีวิต

         “ดีแล้ว อาตมาขออนุโมทนา ถ้าโยมต้องการอย่างนั้น ก็ขอให้อธิษฐานจิตแล้วหมั่นสวดมนต์ภาวนา ถ้าจิตถึง โยมก็จะได้เป็นดังที่อธิษฐาน อาตมาลาละนะโยมนะ”

         “ครับ ขอบพระคุณมากครับหลวงพ่อ ขอบพระคุณที่ได้เตือนสติ ทำให้ผมมีกำลังใจต่อสู้กับชีวิตต่อไป ขอให้หลวงพ่อได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วนะครับ” เป็นคำอวยพรที่ถูกใจท่านพระครูยิ่งนัก แม้จะตระหนักดีว่า การจะบรรลุถึงจุดหมายได้เร็วหรือช้านั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเพียรของตนเองเป็นสำคัญก็ตาม

         รถเคลื่อนออกพ้นบริเวณบ้านมาแล้ว นายสมชายจึงเอ่ยขึ้นว่า

         “หลวงพ่อนั่งคุยอยู่ได้ตั้งนมตั้งนาน ไม่รู้สึกเหม็นบ้างหรือไง ขนาดผมนั่งอยู่ห่าง ๆ ยังแทบอ้วก” ท่านพระครูไม่ตอบแต่กลับถามขึ้นว่า “เธอเห็นลูกสาวเขาไหม คนที่ขับรถบีเอ็ม น่ะ ช่างน่าเกลียดเสียเหลือเกิน”

         “น่าเกลียดอะไรกัน เขาสวยออกเสียดายที่ผมเกิดช้าไปหน่อย ไม่งั้นผมจีบแล้ว ทั้งรูปสวย รวยทรัพย์ นับวิชา”

         “เธอก็เห็นแต่รูปภายนอก ทรัพย์ภายนอกเท่านั้นแหละ แต่รูปภายในทรัพย์ภายในเธอไม่เห็น”

         “ก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นนี่ครับหลวงพ่อ”

         “จำเป็นสิสมชาย ทำไม่จะไม่จำเป็น เพราะคนเขาคิดอย่างเธอนี่แหละ ชีวิตคู่สมัยนี้มันถึงหาความสุขไม่ได้ เพราะดูกันแค่ภายนอกนี่เอง”

         “ผมไม่เถียงหลวงพ่อดีกว่า ชักปวดหัวตะหงิด ๆ แล้ว วันนี้เจอแต่เรื่องหนัก ๆ ทั้งนั้น ทำไม่ผมจะต้องมาเจอเรื่องหนัก ๆ ในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่ผมเกิด”

         “เอาละ ไหน ๆ ก็เจอแต่เรื่องหนัก ๆ มาแล้ว ก็มาเจออีกเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน เอาหนังเสียวันเดียว วันอื่นจะได้ไม่หนัก เธอรู้หรือเปล่า ฉันเห็นกฎแห่งกรรมแม่หนูที่ขับบีเอ็ม นั่นแล้ว ในอนาคตเขาจะต้องเป็นอัมพาตเหมือนแม่เขา แล้วลูกเขาก็จะไม่มาปรนนิบัติ ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือ สามีเขาก็จะทิ้งเขาไปมีเมียใหม่ จะไม่มาคอยดูแลเหมือนที่พ่อเขาดูแลแม่เขา”

         “ถึงว่าซี หลวงพ่อถึงได้คาดคั้นเขานัก ให้เขาซักผ้าให้แม่ หลวงพ่อต้องการจะช่วยเขานี่เอง แต่เขาก็ไม่ยอมรับความหวังดีของหลวงพ่อ น่าสงสารจริง ๆ นี่ถ้าผมอายุเท่าเขาก็คงไม่คิดจะจีบแล้ว ผมขี้เกียจมานั่งซักผ้าขี้ผ้าเยี่ยวให้ คงเหม็นตายแน่ ๆ” นายสมชายทำท่าสะอิดสะเอียน

         “ฉันถึงว่ามันเป็นกรรมไงล่ะ กรรมที่ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ ฉันก็พยายามแล้วแต่มันไม่สัมฤทธิผล ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมดังพุทธพจน์ที่ว่า  ..กมฺมุนา วตฺตตี โลโก – สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

มีต่อ........๒๘
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 19, 2007, 07:59:35 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00028

 

๒๘...

          นายสมชายพาท่านพระครูมาถึงวัดป่ามะม่วงตอนพลบค่ำ มีรถจอดอยู่ที่ลานจอดรถหลายคัน ทั้งรถกระบะ รถตู้ รถเก๋ง และมอเตอร์ไซค์ แสดงว่าคนที่มาหานั้นจะต้องมีเรื่องทุกข์ร้อนหรือรีบด่วนชนิดที่รอให้ถึงวันพระไม่ไหว ท่านรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง อยากจะพักผ่านอาบน้ำอาบท่าแต่ก็สงสารคนที่รอ จึงจำต้องเดินไปนั่งที่อาสนะ

          “หลวงพ่อสรงน้ำก่อนไม่ดีหรือครับ” นายสมชายพูดอย่างเป็นห่วง ตัวเขาเองก็เหนื่อยล้าจนเหลือจะเอ่ย

          “ไม่เป็นไร รู้สึกว่าญาติโยมเขามารอกันนาน เกรงใจเขา” แทนที่พวกเขาจะเป็นฝ่ายเกรงใจท่าน ท่านกลับ “เกรงใจเขา” และยอมทนทุกข์เพื่อความสุขของผู้อื่น ในโลกนี้จะมีบุคคลที่เปี่ยมด้วยเมตตาเช่นนี้สักกี่คน มีใครบ้างที่ยอมทนทุกข์เพื่อความสุขของผู้อื่น

          “โยมกินข้าวกันหรือยัง” เป็นคำถามแรกที่ท่านถาม เรื่องปากเรื่องท้องย่อมมาเป็นอันดับแรก สำหรับบุคคลที่ยังเป็นผู้ครองเรือน

          “เรียบร้อยแล้วครับ ค่ะ” บุรุษและสตรีที่นั่งอยู่ในกุฏิตอบพร้อมกัน ข้างหน้าของแต่ละคนมีแก้วน้ำใส่น้ำชาวางอยู่ ท่านนึกสงสัยว่าใครหนอเป็นผู้บริการ เนื่องจากนายสมชายก็ไปกับท่าน จึงถาม

          “ใครเขาเอาน้ำมาเสิร์ฟล่ะ” เพราะรู้ว่าพวกแม่ครัวคงไม่ตามมาบริการน้ำถึงที่กุฏิ

          “ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เขาอยู่กุฏินี้แหละครับ คนสูง ๆ ผอม ๆ เมื่อกี้ก็ยังมาจัดคิวให้ ตอนนี้ไม่รู้ว่าหายไปไหนเสียแล้ว” คนพูดมองหน้ามองหลังเพื่อค้นหาคนที่มาบริการน้ำ ท่านพระครูต้องการคำตอบจึงต้องพึ่ง “เห็นหนอ” ก็รู้ว่าบุรุษผู้มากับก้อนหินนั่นเองที่มารับแขก ท่านไม่รู้สึกแปลกใจในความมีน้ำใจของเขา เพราะเรื่องเช่นนี้เคยปรากฏมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

          ครั้งนั้นมีข้าราชการหญิงจากสำนักงบประมาณมาตรวจงานที่จังหวัด แล้วก็พากันมาค้างที่วัดป่ามะม่วง บังเอิญเป็นวันที่เขานิมนต์ท่านไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ พวกแม่ครัวก็พากันไปดูลิเกหมด จึงไม่มีใครอยู่ต้อนรับแขก แม่กาหลงจึงต้องมาทำหน้าที่บริการทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เสร็จแล้วยังพาเข้าที่พักผ่อนหลับนอนเป็นที่เรียบร้อย

          รุ่งเช้าท่านจึงทราบเรื่องว่ามีข้าราชการมาพักที่วัด ก็ได้ถามด้วยความเป็นห่วงว่ากินอยู่กันอย่างไร เพราะคนที่คอยบริการพากันไปดูลิเกหมด ข้าราชการหญิงคณะนั้นก็ตอบว่าลูกศิษย์หลวงพ่อที่เป็นผู้หญิงสวย ๆ ผมยาว ๆ มาต้อนรับ ทำอาหารอย่างอร่อยให้รับประทาน มียำใหญ่และแกงมัสมั่น แล้วยังตบท้ายด้วยกาแฟร้อนคนละถ้วย จากนั้นก็พาไปส่งยังกุฏิที่พัก

          ท่านพระครูจัดการเรียกบรรดาแม่ครัวมาหมดวัดเพื่อให้เขาชี้ตัวว่าคนไหน เขาก็บอกไม่ใช่คนมีอายุ เพราะคนนั้นเขายังสาวและสวย พวกแม่ครัวจึงพูดขึ้นว่า สงสัยคงเป็นแม่กาหลง เขาก็ถามท่านว่าแม่กาหลงไปใคร ท่านจึงจำต้องเล่าเรื่องแม่กาหลงให้พวกเขาฟัง เขาก็เลยพากันอำลาท่านไปพักที่โรงแรมในเมือง ด้วยเกรงว่าจะต้องพบกับแม่กาหลงอีก

          ผู้ที่มาถึงคนแรกคลานเข้าไปใกล้ท่าน กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมนำอาหารมาเข้าโรงครัว มีข้าวสารกระสอบนึง แล้วก็พวกปลาแห้ง ปลาเค็ม พริก หอม กระเทียม หลวงพ่อช่วยกรวดน้ำไปให้น้องเมียผมด้วย เขามาเข้าฝันบอกว่าอดอยากมาก ให้เอาของมาบริจาคที่โรงครัววัดป่ามะม่วง แล้วก็บอกให้หลวงพ่อกรวดน้ำไปให้เขาด้วย เขาไม่เคยเข้าวัด แต่ทำไมรู้จักหลวงพ่อก็ไม่ทราบ” คนเป็นพี่เขยสงกา

          “เขาบอกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ” ท่านพระครูถาม

          “หลายคืนแล้วครับ ผมกับภรรยาก็ลืมอยู่เรื่อย เขามาบอกสามครั้งแล้ว”

          “เขาตายนานหรือยัง แล้วเป็นอะไรตาย”

          “ตายมาสักปีเห็นจะได้ เป็นไข้ตายครับ”

          “อายุเท่าไหร่ตอนที่ตายน่ะ”

          “ยี่สิบสามครับ เพิ่งเรียนจบและทำงานได้ปีเดียว ทำไมเขาถึงอายุสั้นเล่าครับหลวงพ่อ ผมแปลกใจว่าชีวิตของเขาดีมาตลอด แต่ทำไมอยู่ ๆ ก็มาตาย เขาเป็นน้องคนเล็กของภรรยาผม เราเลี้ยงเขาเหมือนลูก เพราะสงสารที่กำพร้าพ่อแม่ แล้วตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่มีลูก เขาเรียนเก่งมากครับ ได้ที่หนึ่งของจังหวัดตอนจบ ม.ศ. ๓ แล้วก็ไปสอบเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ จบจากโรงเรียนเตรียมเขาก็สอบเข้าเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ตอนจบก็ได้เกียรตินิยมอันดับสอง แล้วก็เข้าทำงานที่กรมวิทยาศาสตร์มาปีที่แล้ว เขาเป็นไข้ ก็ไข้หวัดธรรมดา ๆ นี่แหละครับหลวงพ่อ ไม่น่าตายเลย” คนทำหน้าที่เป็นทั้งบิดาและพี่เขยของผู้ตายบอกกล่าว

          “แล้วนิสัยใจคอเขาเป็นยังไง”

          “นิสัยดีครับ ว่านอนสอนง่าย ถ้าจะเสียก็เห็นจะมีอยู่เรื่องเดียวคือ เขาไม่ชอบทำบุญ ไม่เคยทำบุญ ไม่เคยเข้าวัด แต่ตอนตายไปแล้ว ทำไมถึงรู้จักวัดป่ามะม่วง แล้วก็รู้จักหลวงพ่อด้วย ผมสงสัยจริง ๆ นะ ครับ”

          “โยมมีรูปถ่ายของเขาไหม หน้าตาเขาเป็นอย่างไร”

          “มีครับ พอดีภรรยาผมเขาบอกให้เอารูปถ่ายติดมาด้วย นี่ครับ” พูดพลางส่งรูปถ่ายขนาดสามนิ้วให้ท่านพระครู ท่านรับมาพิจารณาแล้ว กำหนด “เห็นหนอ” ก็เห็น “กฎแห่งกรรม” ของผู้ตายอย่างชัดเจน จึงพูดขึ้นว่า

          “น้ำมันหมดน่ะโยม”

          “หมายความว่ายังไงครับหลวงพ่อ” บุรุษนั้นไม่เข้าใจ

          “หมายความว่ากรรมดีที่เขาสะสมมามันหมดลง การที่เขาดีมาตลอดก็เป็นเพราะทำกรรมดีมา แต่ในชาตินี้เขาหยุดทำ ไม่ทำบุญให้ทาน เรียกว่า ไม่เติมน้ำมันเลย น้ำมันที่เป็นของเก่ามันก็เลยหมด พอไปอดไปอยาก เข้าถึงได้ระลึกรู้กรรมที่ตนทำ ก็เลยเร่ร่อนมาถึงวัดป่ามะม่วง เอาเถอะแล้วอาตมาจะจัดการให้” ท่านถือโอกาสสั่งสอนผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วยว่า

          “ญาติโยมทั้งหลายโปรดทราบ บาปบุญนั้นมีจริง จิตวิญญาณมีจริง และสงสารวัฏก็มีจริง จงดูตัวอย่างแม่หนูคนนี้เอาไว้ ตอนที่มีชีวิตอยู่เขาไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ แม้เขาจะฉลาดเรียนหนังสือเก่ง แต่ก็เป็นความฉลาดทางโลกเท่านั้น ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตอนที่มีชีวิตอยู่ แต่พอตาย วิชาความรู้ทางโลกมันช่วยเราไม่ได้เลย ฉะนั้นถ้าใครอยากมีชีวิตที่ดีในภพหน้า ก็ต้องสร้างคุณงามความดีเข้าไว้ บุญกุศลเท่านั้นที่สามารถจะติดตามเราไปในภพหน้าได้ ส่วนสมบัติพัสถานเอาไปไม่ได้”

          “ผมเห็นจะต้องลากลับละครับหลวงพ่อ มาตั้งแต่เช้าคิดว่าจะไม่พบหลวงพ่อแล้ว” บุรุษวัยสี่สิบเศษทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง แล้วจึงลุกออกไป

          รายที่สองกำลังจะคลานเข้ามาแทนที่ ชายวัยห้าสิบเศษก็กระหืดกระหอบเข้ามาในกุฏิ พูดละล่ำละลักว่า

          “หลวงพ่อช่วยล่วย แม่อั๊วะ แม่อั๊วะ”

          “เถ้าแก่ คิวอั๊วะ อย่าลัดคิวซี” “เจ้าทุกข์” รายที่สอง ซึ่งเป็นสตรีร่างขาวท้วมขัดจังหวะขึ้น

          “ขอโทก ขอโทกล่วย แม่อั๊วะ แม่อั๊วะ กำลังจะซี้เลี้ยว หลงพ่อไปช่วยอีหน่อย” ประโยคหลังเขาพูดกับท่านพระครู ท่าทางดูร้อนรนน่าสงสารและสมเพชระคนกัน

          “จะให้อาตมาช่วยอะไรล่ะเถ้าแก่ อาตมาไม่ใช่มดใช่หมอสักหน่อย” ท่านออกตัว

          “ล่าย ล่าย หลงพ่อต้องช่วยล่าย ถึงไม่เป็งหมอก็ช่วยล่าย หลงพ่อช่วย อย่าให้อีตายนะ แล้วอั๊วะจะทำบุงกระหลงพ่อสองหมึ่ง” เขาให้สินบนด้วยความเคยชิน หลายคนที่นั้นแสดงอาการไม่พอใจ ชายผู้นี้มาลัดคิวคนอื่นแล้วยังแสดงอาการดูถูกท่านเจ้าของกุฏิอีกด้วย

          “แหม ถ้าอาตมาช่วยได้ คนก็ไม่ต้องตายกันน่ะซี แล้วอาตมาก็คงรวยไม่รู้เรื่องเชียวละ” แล้วท่านจึงพูดให้เขาเข้าใจเสียใหม่ว่า “อาตมาไม่ใช่ผู้วิเศษหรอกเถ้าแก่ ฉะนั้นอาตมาจึงห้ามความตายไม่ได้ ถ้าจะช่วยได้ก็คงช่วยบอกทางให้คนตายไปดี ช่วยได้แค่นี้เองนะเถ้าแก่” ท่านมิได้พูดต่ออีกว่า หากบอกแล้วเขาไม่เดินไปตามทางที่ท่านบอกก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ “ยังงั้งหลงพ่อช่วยไปบอกทางให้อีก็ล่าย ไปเหลียวนี้เลย อั๊วะเอาลกมาลับเลี้ยว”

          “ยังไปไม่ได้หรอกเถ้าแก่ ลื้อกลับไปก่อนเถอะ พรุ่งนี้อาตมาถึงจะไปเห็นหรือเปล่าแขกเต็มกุฏิเลย”

          “ถ้าอีซี้ไปก่องล่ะหลงพ่อ ใครจาบอกทางให้อี”

            “เถอะน่า อียังไม่ซี้หรอก อีรอให้อาตมาไปบอกทางก่อน รับรองถ้าอีซี้ อาตมาให้ลื้อปรับ ยกวัดให้ทั้งวัดเลยเอ้า” ท่านพูดอย่างอารมณ์ดี เถ้าแก่ฟังแล้วก็ใจชื้นขึ้น เมื่อท่านบอกว่ามารดายังไม่ตายก็ต้องเชื่อท่าน ตั้งตามอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ท่านมาก็ยังไม่เห็นว่าท่านพูดผิดไปจากความจริงแม้สักครั้ง เถ้าแก่วัยห้าสิบเศษจึงกราบปะหลก ๆ แล้วลุกออกไป ไม่ลืมที่จะกล่าวคำขอบคุณสตรีร่างขาวท้วมที่ให้ลัดคิว

          “หลวงพ่อคะ ลูกสาวฉันจะขึ้นบ้านใหม่วันที่ ๒๔ นิมนต์หลวงพ่อไปทำพิธีด้วยนะคะ” เจ๊ม่วยรายงาน หล่อนมาวัดบ่อยจึงคุ้นเคยกับท่านเป็นอย่างดี

          “อาตมาไปไม่ได้หรอกโยม วันที่ ๒๔ ตรงกับวันพระ เป็นวันที่อาตมาไม่รับนิมนต์ไปข้างนอก ต้องอยู่ต้อนรับญาติโยมเขา”

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อช่วยแนะนำฉันด้วยว่าควรจะให้ใครมาเป็นคนทำพิธี แล้วช่วยดูวันด้วยว่าเป็นวันดีหรือเปล่า”

          “เป็นชาวพุทธที่แท้ต้องไม่ถือฤกษ์ถือยามนะโยม ถ้าเราจะทำความดี ทำวันไหนมันก็ดีทั้งนั้น ในทางตรงข้าม ถ้าจะทำความชั่ว ทำวันไหนมันก็ชั่ววันยังค่ำ เอาเถอะถ้าตัดความคิด เรื่องฤกษ์ยามออกไปไม่ได้ อาตมาก็ขอแนะนำให้ถือวันพฤหัสว่าเป็นวันฤกษ์ดี อันนี้เป็นทรรศนะส่วนตัวของอาตมานะ อาตมาถือวันพฤหัสว่า เป็นวันดีเพราะเป็นวันพ่อวันแม่ของเรา”

          “วันพฤหัสเขาถือว่าเป็นวันครูไม่ใช่หรือคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งแย้งขึ้น “เวลาที่เขาทำพิธีไหว้ครู เขายังทำกันในวันพฤหัส”

          “ก็พ่อแม่เราไม่ใช่ครูหรือยังไง เป็นครูคนแรกของเราเชียวนะ ที่เรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ของบุตร บูรพาจารย์ก็คือพ่อแม่ของเรานี่เอง” ท่านหันไปพูดกับเจ๊ม่วยว่า

          “โยมม่วยจำไว้นะ ถ้าจะถือวันก็ให้ถือว่าวันพฤหัสเป็นวันดี ไม่ต้องไปเชื่อตามหมอดูว่ามันเป็นวันโลกาวินาศ หรือวันธงชัยอะไร ถ้าเรานับถือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ก็ต้องถือว่าวันพฤหัสเป็นวันมงคล เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจค่ะหลวงพ่อ งั้นฉันจะให้เขาเปลี่ยนเป็นวันพฤหัส ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกสามวัน หลวงพ่อไปได้หรือเปล่าคะ”

          “เดี๋ยว ขออาตมาตรวจดูสมุดบันทึกก่อน” ท่านหยิบสมุดบันทึกออกมาจากย่ามแล้วเปิดดู

          “ไม่ได้เสียแล้วละโยม วันพฤหัสหน้านายพลกับคุณหญิงเขาจะพาหลานมาบวชเณรที่วัดนี้ ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องให้อาตมาไปก็ได้ ประเดี๋ยวจะบอกวิธีปฏิบัติให้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง”

          “งั้นหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยว่าจะนิมนต์พระรูปไหนไปแทน เพื่อทำพิธีเจิมประตูบ้าน”

          “ไม่ต้องให้พระนอกบ้านเจิมหรอกโยม ให้พระในบ้านเจิมเป็นดีที่สุด รู้จักไหมเล่าพระในบ้านน่ะ”

          “ไม่รู้จักค่ะ หลวงพ่อคงไม่ได้หมายถึงพระพุทธรูปนะคะ”

          “ไม่ใช่พระพุทธรูปซี พระที่มีชีวิตจิตใจ ที่เป็นคนนี่แหละ”

          “ไม่มีค่ะ บ้านลูกสาวฉันไม่มีพระ”

          “มีซี ทำไมจะไม่มี ก็โยมนั่นแหละเป็นพระของเขา โยมก็เจิมได้ หรือไม่ก็ให้เตี่ยเขาเป็นคนเจิม พ่อแม่เป็นมงคลอันสูงสุดของลูกนะโยม”

            “เห็นจะไม่ได้แล้วละค่ะหลวงพ่อ เพราะเตี่ยเขาตายไปนานแล้ว และฉันก็เจิมไม่เป็น”

          “จะยากอะไรเล้า ก็เอานิ้วจิ้มแป้ง แล้วก็จิ้ม ๆ ไปที่ประตู จิ้มส่งเดชไปเถอะปากก็พูดไปด้วยว่า รวย รวย หรือ จะว่าเป็นภาษาจีนก็ได้ว่า เซ็งลี้ฮ้อ เซ็งลี้ฮ้อ” ท่านใช้นิ้วชี้จิ้มไปในอากาศเป็นการสาธิตให้ดู ปากก็ว่า “รวย รวย เซ็งลี้ฮ้อ เซ็งลี้ฮ้อ” ทุกคนในที่นั้นพากันหัวเราะด้วยขำในกิริยาอาการของท่าน สาธิตเสร็จก็บอกเจ๊ม่วยว่า

          “ง่ายจะตายไป ทำได้ไหมล่ะ เดี๋ยวอาตมาจะให้แป้งที่จะเจิมไปด้วย เสกไว้แล้ว” แม้ท่านจะไม่นิยมการเสกการเป่า แต่กับคนระดับหนึ่งก็จำเป็นต้องใช้ เพราะมันให้ผลในทางจิตใจ

          “ทำได้ค่ะ แต่ไม่รู้ว่าลูกสาวเขาจะยอมให้ทำหรือเปล่า” เจ๊ม่วยยังกังวล

          “ต้องให้ซี บอกว่าหลวงพ่อวัดป่ามะม่วงสั่งมา ถ้าอยากรวยก็ต้องให้แม่เป็นคนเจิม”

          “ขอบคุณหลวงพ่อมากค่ะ ถ้างั้นฉันขอแป้งไปเลยนะคะ จะได้ไม่ต้องมารบกวนหลวงพ่ออีก” ท่านพระครูจึงเรียกนายสมชาย ซึ่งขณะนั้นอาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้ว ให้ขึ้นไปหยิบแป้งมาให้

          รายที่สามเป็นคหบดีมาจากกรุงเทพฯ มากันทั้งสามีและภรรยา ฝ่ายสามีใส่นาฬิกาเรือนทองฝังเพชร ที่นิ้วก็มีแหวนเพชรเม็ดโตส่งประกายวูบวาบ ที่คอเป็นสร้อยทองคำหนังหลายบาท ข้างฝ่ายภรรยาก็ใส่เพชรทองเต็มตัว สวมแหวนเพชรพลอยเกือบจะทุกนิ้ว

          “หลวงพ่อครับ ผมขออนุญาตคุยเรื่องส่วนตัวเป็นความลับครับ ขออนุญาตไปคุยข้างบนได้ไหมครับ” ฝ่ายสามีขออนุญาต

          “จะเอายังงั้นหรือ งั้นคนอื่น ๆ รอก่อนนะ คงใช้เวลาไม่มากใช่ไหม” ท่านถามคหบดี

          “คงสักสิบนาทีครับหลวงพ่อ” ท่านลุกขึ้นเดินนำบุคคลทั้งสองไปยังกุฏิชั้นบน ปิดประตูลงกลอนแล้วจึงอนุญาตให้เขาพูด “ธุระ”

          “หลวงพ่อครับ ลูกชายคนโตผมที่ส่งไปเรียนอเมริกา เขาไปติดยาเสพย์ติดที่โน่น ผมจะทำยังไงดี จะเอามาบวชอยู่กับหลวงพ่อ ให้เรียนฝึกสมาธิจะได้หายติดยา หลวงพ่อจะอนุญาตไหมครับ”

          “คงไม่ได้หรอกโยม การฝึกสมาธิมีประโยชน์มากก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเรียนการฝึกสมาธิได้เสมอไป เพราะมันขึ้นอยู่กับบุญบารมีของแต่ละคน เท่าที่อาตมาได้วิจัยไว้ มีบุคคลสองประเภทที่ไม่สามารถฝึกสมาธิได้ คือคนที่เป็นโรคประสาทกับคนติดยาเสพย์ติด”

            “หมายความว่า หลวงพ่อไม่ช่วยลูกดิฉันเลยหรือคะ ได้โปรดกรุณาเถิดค่ะ เรามีเงินทองมากมาย ถ้าหลวงพ่อช่วยได้ จะให้เราสร้างอะไรให้กับวัดนี้ เราก็จะทำทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้หลวงพ่อช่วยลูกเราด้วย” ภรรยาคหบดีพูดเสียงเครือ แม้จะตกแต่งร่างกายไว้อย่างสวยงาม ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ราคาแพง หากดวงหน้าของหล่อนก็เศร้าหมองเพราะความทุกข์ ทุกข์ของคนที่เป็นแม่ซึ่งย่อมร้อนรนกระวนกระวาย เมื่อรู้ว่าลูกต้องประสบเภทภัยอย่างใหญ่หลวง ความทุกข์ที่เงินร้อยล้านพันล้านก็ไม่อาจช่วยขจัดปัดเป่าได้

          “โยมอย่าตีความผิดซีโยม ไม่ใช่อาตมาไม่ช่วย อาตมาอยากจะช่วยโยมทุกอย่าง แต่เรื่องของยาเสพย์ติด อาตมาไม่สามารถช่วยได้ เคยมีพ่อแม่พาลูกมาให้อาตมารักษา อาตมาก็บอกเขาไปตามตรงว่า คนที่ติดยาเสพย์ติดนั้น จะฝึกสมาธิถึงขึ้นไหนก็ไม่อาจทำให้เลิกยาได้ จะว่าถึงขั้นไหนก็ไม่ถูกนัก เพราะจริง ๆ แล้ว มันไม่ถึงสักขั้นเดียว เพราะจิตเขาซัดส่ายมาก ไม่อาจนิ่งเป็นสมาธิได้เลย” ท่านอธิบาย

          “แล้วผมจะทำยังไงดีครับหลวงพ่อ นี่ก็พาไปรักษา หมดเงินหมดทองไปเป็นล้าน ๆ พอออกจากโรงพยาบาลเขาก็ไปเสพอีก”

          “อาตมาว่าต้องตัดใจนะ นึกเสียว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา ถ้าป่วยไข้ธรรมดา ๆ หมออาจรักษาให้หายได้ แต่ถ้าเป็นโรคเวรโรคกรรม ไม่มีหมอที่ไหนช่วยได้ ก็ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา ให้โยมทั้งสองพยายามวางใจให้เป็นอุเบกขาเถิด จะได้คลายความทุกข์ร้อนลงบ้าง” ท่านพยายามปลอบใจ

          “หลวงพ่อครับ ลูกชายผมทำกรรมอะไรมา ทำไมถึงต้องมาเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อกรุณาตรวจสอบให้ด้วยเถิดครับ เผื่อผมกับภรรยาจะทำใจได้”

          “ปกติอาตมาจะไม่ตรวจสอบให้ใครหรอกนะ เพราะอยากให้เจ้าตัวเขาปฏิบัติเอง จะได้รู้เองเห็นเอง แต่ในเมื่อโยมขอร้อง อาตมาก็จะตรวจสอบให้” ท่านใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบก็ได้เห็น “กฎแห่งกรรม” ของคนในครอบครัวนี้อย่างครบถ้วน

          การที่บุตรชายของคหบดีผู้นี้ต้องติดยาเสพย์ติดเป็นเรื่องของ “กรรมจัดสรร” คหบดีที่นั่งอยู่ตรงหน้าท่าน สร้างความร่ำรวยขึ้นมาด้วยการค้ายาเสพย์ติด เขาเป็นสายส่งจากประเทศไทยไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วบาปกรรมอันนั้นก็มาถึงตัวเขาโดยผ่านทางบุตร เขาทำให้ลูกคนอื่นต้องติดยา ลูกเขาก็พลอยมารับกรรมไปด้วย เป็นเรื่องของกรรมจัดสรรโดยแท้

          “โยม เรื่องมันร้ายแรงเกินกว่าที่อาตมาคิดไว้ ร้ายแรงมาก โยมจะอนุญาตให้อาตมาพูดหรือเปล่า มันเป็นความลับสุดยอดของโยมเลยนะ อาตมาไม่พูดดีกว่า โยมตอบอาตมามาซิว่า โยมมีอาชีพอะไร”

          “ค้าขายครับ”

          “ขายอะไร ช่วยบอกชื่อสินค้าที่ทำรายได้ให้โยมถึงร้อยล้านพันล้านน่ะ บอกมาซิ”

          “ก็...พวกเสื้อผ้า ผมมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งขายต่างประเทศ” คหบดีไม่ยอมพูดความจริง

          “แต่มันไม่ตรงกับที่อาตมาตรวจสอบนะ เรื่องเสื้อผ้าเป็นเพียงเครื่องแสดงให้เห็นว่าโยมมีอาชีพเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำเงินให้โยมเป็นพันล้านน่ะ ไม่ใช่เสื้อผ้า เอาเถอะ ถ้าไม่บอกก็ไม่เป็นไร แต่จงรู้ไว้เสียด้วยว่า ถ้าโยมไม่เลิก กรรมก็จะตามมาถึงลูกชายอีกสามคนที่กำลังเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปเขาจะต้องติดยาตามพี่ชายเขา” ภรรยาคหบดีร้องไห้โฮออกมาพร้อมกับสารภาพว่า “ใช่แล้วค่ะหลวงพ่อ เฮียเค้าค้าผง”

          “กิมเอ็ง ฝ่ายสามีเรียกชื่อภรรยาด้วยเสียงที่ดังจนเกือบเป็นตะโกน หล่อนฟูมฟายน้ำตาบอกกับเขาว่า

          “สารภาพกับท่านเสียเถอะเฮีย เผื่อท่านจะช่วยเราได้ เฮียอยากเห็นลูก ๆ เราตายอย่างทรมานหรือไง” คำพูดของภรรยาทำให้คหบดีคอตก ไหนจะถูกภรรยาเปิดเผยความลับ ไหนจะห่วงอนาคตของลูก และที่กลัวมากที่สุดคือกลัวถูกฆ่าปิดปาก เคยเห็นคนถูกฆ่าตายอย่างทารุณเพราะเรื่องเช่นนี้มาแล้ว

          “โยมไม่ต้องกลัวว่าอาตมาจะเปิดเผยความลับ อาตมารู้ว่ามันเป็นอันตรายสำหรับชีวิตของโยมรวมทั้งของอาตมาด้วย ไม่มีเหตุผลอะไรที่อาตมาจะต้องให้คนอื่นรู้ เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ยังเกิดโทษอีกด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มันเกิดกำลังของอาตมาที่จะแก้ไขได้ คนที่หลงเข้าไปในวงการนี้ต้องถือว่า เป็นกรรม โยมอยากเลิกไหมเล่า อาตมาพอจะมีทางช่วยนะ”

          “เลิกไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ ถ้าเลิกผมต้องตายแน่ ๆ เขาคงไม่ปล่อยให้ผมลอยนวลอยู่หรอกครับ”

          “โยมตอบอาตมามาก่อนว่าอยากเลิกหรือเปล่า รับรองว่าอาตมาช่วยได้แน่”

          “อยากครับ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ผมมองไม่เห็นทางเลย”

          “เอาละ ถ้าโยมตั้งใจว่าจะเลิก ก็ขอให้เชื่ออาตมา โยมต้องพากันมาสร้างบุญบารมีที่นี่ มาทั้งบ้านเลย คือเอาลูกชายอีกสามคนมาด้วย ส่วนคนโตช่วยเขาไม่ได้แล้ว ก็ต้องปล่อยเขาไป”

          “มาช่วยสร้างวัดหรือคะ ดิฉันเต็มใจค่ะ จะให้ช่วยเป็นแสนเป็นล้านก็ได้” นางกิมเอ็งรีบเสนอตัว

          “ไม่ต้องหรอกโยม เรื่องวัตถุ วัดนี้เพียงพอแล้ว การสร้างบุญบารมีที่อาตมาว่านี้ไม่ต้องเสียเงิน เอาเถอะพากันมาก็แล้วกัน แล้วอาตมาจะบอกวิธีให้ ต้องเร็วหน่อยนะ ไม่งั้นจะสายเกินแก้”

          “ครับ ผมจะพากันมาพรุ่งนี้เลยครับ ผมเห็นจะต้องลาก่อน พรุ่งนี้จะมาใหม่”

          สองสามีภรรยาลากลับไปด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความหวัง เพิ่งตระหนักชัดเดี๋ยวนั้นเองว่า เงินร้อยล้านพันล้านก็ช่วยดับทุกข์ใจไม่ได้

          กว่าแขกคนสุดท้ายจะลากลับไปก็ตกสองยามเศษ เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านเขาพักผ่อนหลับนอนกัน หากเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเพิ่งจะสรงน้ำ จากนั้นท่านจึงขึ้นมายังห้องพัก ซึ่งอยู่ชั้นบนของกุฏิ ลงมือเขียนหนังสือสอบอารมณ์กรรมฐานต่อไปอีกสองชั่วโมง จนถึงเวลาตีสองจึงจำวัด คนอื่น ๆ เขาพักผ่อนหลับนอนกันวันละหกถึงสิบชั่วโมง แต่ท่านพระครูเจริญพักผ่อนวันละสองชั่วโมงเป็นอย่างมาก...

               

 มีต่อ........๒๙


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 19, 2007, 08:00:21 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00029
๒๙...

            วันรุ่งขึ้นหลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระครูจึงเดินทางไปเยี่ยมมารดาของเถ้าแก่บัวเฮงที่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี นายบัวเฮงนำท่านเข้าไปในห้องมารดา ซึ่งมีลูกหลานห้อมล้อมอยู่เต็ม เห็นท่านมา พวกเขาพากันดีใจราวกับเทวดามาโปรด

         “หลงพ่อช่วยอีล่วย ช่วยให้อีพูกกะลูกกะหลางหน่อย อีไม่ยอมพูกมาสามวังเลี้ยว” ภรรยาของนายบัวเฮงบอกให้ท่านช่วย

         “ก็อีจะไปอยู่แล้ว จะให้อีพูดอะไรอีกล่ะ แล้วทำไมจะต้องพูดด้วย” ท่านย้อนถาม

         “ต้องพูกซีหลงพ่อ ก็อียังไม่ล่ายแบ่งสมบัก อียังไม่ล่ายบอกว่านาจายกให้ใค ไล่ยกให้ใค เงินในทานาคางยกให้ใค” ลูกสะใภ้ของคนที่นอนแบ็บอยู่บนเตียงสาธยาย

         “จริงครับหลวงพ่อ แม่ยังไม่ได้แบ่งสมบัติให้พวกเรา เกิดแกตายไปตอนนี้ พวกพี่ ๆ น้อง ๆ คงวิวาทกันเพราะเรื่องสมบัติ” ลูกชายคนรองซึ่งเป็นครู เห็นด้วยกับพี่สะใภ้ ผู้มาเยือนรู้สึกสลดใจแทนคนที่กำลังจะตาย จึงพูดขึ้นว่า

         “แหม อาตมานึกว่าโยมห่วงคนเจ็บ ที่แท้ก็ห่วงสมบัตินี่เอง”

         “โธ่ หลวงพ่อคะ เรื่องเงินเรื่องทองมันไม่เข้าใครออกใครนะคะ ห่วงแม่พวกเราก็ห่วงแหละค่ะ แต่ขณะเดียวกันเราก็ห่วงตัวเองด้วย ถ้าแม่ตาย หนูคงเดือดร้อนกว่าเพื่อนเพราะยังไม่ได้ทำงาน เรียนก็ยังไม่จบ” ลูกสาวคนสุดท้องพูดขึ้น พวกหลาน ๆ ซึ่งยังไม่รู้ประสีประสาพากันวิ่งเล่นเป็นที่ครื้นเครง

         ท่านพระครูมองคนเจ็บอีกครั้ง หนอนตัวโตขนาดเท่านิ้วก้อยไต่ออกมาจากผ้าห่ม ท่านนึกแปลกใจว่าคนป่วยยังไม่ทันตาย แต่ทำไมมีหนอน จึงบอกให้นายบัวเฮงเลิกผ้าห่มขึ้นดู

         “ตายจริงเถ้าแก่ ทำไมปล่อยให้หนอนขึ้นแม่อย่างนี้ล่ะ” ท่านพูดเชิงตำหนิเมื่อเห็นหนอนไต่ยั้วเยี้ยอยู่ที่ตัวผู้ป่วย

         “ไม่รู้มันมาได้ยังไงครับหลวงพ่อ ผมก็ช่วยกันเก็บทิ้งไปหลายตัวแล้ว” ลูกชายที่เป็นครูพูด

         “มังไต่มาจากแผข้างหลัง” นายบัวเฮงพูดพร้อมกับจับมารดาให้อยู่ในท่านอนตะแคง จริงดังที่เขาพูด แผ่นหลังบริเวณกระเบนเหน็บเป็นแผลเน่าลึกจนถึงกระดูก หมู่หนอนกำลังเจาะกินน้ำเลือดน้ำหนองกันให้ยุ่บยั่บไปหมด สภาพของคนเจ็บในเวลานี้ไม่ต่างไปจากซากศพที่ยังมีลมหายใจ     

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอยากรู้ต้นสายปลายเหตุจึงกำหนด “เห็นหนอ” แล้วก็ได้รู้ ได้เห็นกฎแห่งกรรมของนางกิมหงอย่างจะแจ้ง

         นางกิมหงสะสมบาปไว้มากตั้งแต่สาวจนแก่ กระทั่งกลายเป็น อาจิณณกรรม อาชีพค้าขายและออกเงินกู้ เปิดโอกาสให้นางได้สร้างกรรมชั่วด้วยการฉ้อโกงลูกค้าและลูกหนี้ จนสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองถึงขนาดมีสมบัติพัสถานมากมายให้ลูกหลานมานั่งยื้อแย่งกันในขณะที่นางกำลังจะตาย!

            “เอาละ ถ้าอยากให้คนเจ็บพูด ก็ขอให้ทุกคนออกไปจากห้องให้หมด รอให้อาตมาเรียกเสียก่อนแล้วจึงเข้ามา” ท่านออกคำสั่ง ลูกหลานทำท่าลังเลนิดหนึ่ง ในที่สุดก็พากันออกไปแต่โดยดี “ช่วยเรียกคนขับรถของอาตมาเข้ามาในที่นี้ด้วย” ท่านไม่ต้องการอยู่สองต่อสองกับสตรีเพศในที่ลับตาคน แม้สตรีนั้นอายุมากกว่าท่าน และกำลังอยู่ในสภาพใกล้ตายก็ตาม

         “สมชายล็อคประตูด้วย” ท่านสั่งลูกศิษย์เพื่อกันคนแอบฟัง

         “อาซิ้ม อาตมารู้ว่าลื้อพูดได้ แต่ที่ลื้อไม่ยอมพูด เพราะโกรธที่ลูกหลานมาแย่งสมบัติกันต่อหน้าลื้อใช่ไหม”

         “ใช่เลี้ยวหลงพ่อ อั๊วะโกกมัง เกียกพวกมังทุกคง” คนเจ็บพูดเสียงแหบพร่า หากท่านก็ได้ยินชัดเจน เพราะกำหนด “ฟังหนอ”

         “ซิ้ม ถ้าลื้อโกรธลื้อเกลียดพวกเขา ลื้อก็จะไปไม่ดี ไหน ๆ ก็จะไปแล้วทำใจให้สบาย แล้วก็จัดการอะไรต่อมิอะไรเสียให้เรียบร้อย รู้ตัวหรือเปล่าว่าลื้อน่ะสะสมบาปไว้มาก อาตมาเห็นหมดแล้ว จึงอยากจะช่วยให้สติแก่ลื้อ อยากให้อาตมาช่วยไหม” ท่านถาม แม้จะรู้สึกสลดใจ หากในความสลดใจนั้นมีความเมตตาปรานีแฝงอยู่ ท่านจึงต้องช่วยเขาไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนชั่วก็ตาม

         “อยาก” นางกิมหงตอบด้วยเสียงอยู่ในลำคอ

         “ถ้าอยากก็ต้องอโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวรเสียก่อน พอจะจำได้ไหมว่า ทำเวรทำกรรมไว้กับใครเขาบ้าง” ท่านถามพร้อมกับแผ่เมตตาให้ นางกิมหงรู้สึกมีกำลังขึ้น สมองที่ตื้อตันกลับปลอดโปร่ง ระลึกรู้บาปกรรมที่ทำไว้ครบถ้วน

         ภาพเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ไหลเข้ามาสู่ห้วงสำนึกเหมือนภาพยนตร์ที่เข้าฉายเร็ว ๆ ให้ดู เริ่มตั้งแต่ภาพแม่หนูน้อยวัยแปดขวบกำธนบัตรใบละร้อยมาซื้อของที่ร้านของนาง

            “อาซิ้มซื้อข้าวเหนียวสามลิตร กล้วยน้ำว้าสองหวี มะพร้าวขูดสองกิโล น้ำตาลทรายครึ่งกิโล” แม่หนูอ่านรายการที่มารดาจดมาให้ นางจัดของให้ตามรายการ และทอนเงินให้เป็นที่เรียบร้อย บังเอิญแม่หนูหอบของไปไม่หมด จึงออกปากฝากข้าวเหนียวไว้แล้วหิ้วของอื่น ๆ กลับไปบ้าน

         ทันทีที่เด็กหญิงออกจากร้าน นางก็คว้าถุงข้าวเหนียวมาเทกลับคืนไว้ในกระสอบ ครูใหญ่ ๆ แม่หนูก็กลับมาทวงถาม “อาซิ้มหนูมาเอาข้าวเหนียวที่ฝากไว้”

         “ข้าวอาไล อั๊วะไม่ลู้ ไม่เห็งมีใคมาฝาก” นางปฏิเสธหน้าตาเฉย ไม่ว่าแม่หนูจะอ้อนวอนขอร้องอย่างไร นางก็บอกว่าไม่รู้ท่าเดียว เด็กหญิงเดินกลับไปบอกมารดาที่บ้าน ผู้หญิงคนนั้นมาที่ร้าน ถือไม้เรียวมาด้วย เมื่อนางบอกว่าไม่รู้เรื่องข้าวเหนียวที่เด็กอ้างว่าฝากไว้ หญิงนั้นเข้าใจว่าลูกยักยอกเงิน จึงใช้ไม้เรียวตีเด็กหญิงต่อหน้านาง ตีจนลายไปทั้งตัว เสร็จแล้วจึงซื้อข้าวเหนียวสามลิตรกลับไปบ้าน เป็นข้าวเหนียวที่นางเพิ่งเทคืนกระสอบนั่นเอง

         ถัดจากภาพเรื่องราวของเด็กหญิง ก็เป็นภาพที่นางโกงกิโลพืชผลที่พวกชาวไร่นำมาขาย โดยใช้เท้ายันก้นเข่งไว้ขณะชั่งด้วยตราชั่งคันยาว การกระทำเช่นนั้นทำให้นางสามารถโกงน้ำหนักพืชผลได้เข่งละประมาณสามถึงห้ากิโลกรัม วันหนึ่ง ๆ ต้องชั่งเป็นสิบ ๆ เข่ง ก็เท่ากับนางโกงเขาวันละสามสิบถึงห้าสิบกิโลกรัม

         ต่อจากเรื่องโกงกิโล ก็เป็นเรื่องโกงดอกเบี้ยลูกหนี้ โดยทำหลักฐานปลอมขึ้นใช้ สารพัดสารพันที่นางฉ้อโกงและฉ้อฉล คงเป็นเพราะความชั่วร้ายของนาง จึงทำให้ถูกหนอนกินทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันตาย ไหนจะทุกข์เรื่องลูกหลานซึ่งบัดนี้นางได้ตระหนักแล้วว่า พวกเขาไม่ได้รัก ไม่ได้ห่วงนาง แต่ละคนรักและห่วงตัวเองกันทั้งนั้น คิดถึงตอนนี้นางยิ่งโกรธเคืองลูกหลานมากขึ้น จึงบอกท่านพระครูด้วยความเจ็บใจว่า “หลงพ่อ อั๊วะยกสมบักให้ลื้อทั้งหมด ลื้อเอาไปให้หมกเลยนะ อั๊วะทาหวาย”

         “ไม่ได้หรอกซิ้ม อาตมารับไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของบริสุทธิ์ ลื้อได้มาด้วยความทุจริต ถ้าลื้ออยากได้บุญ ก็แบ่งให้ลูกหลานอย่างยุติธรรมก็แล้วกัน ประเดี๋ยวพวกเขาเข้ามา ลื้อก็บอกเขาเสียว่าจะให้อะไรแก่ใคร อาตมาเป็นพยานให้”

         “อั๊วะอยากคึงเขา คึงคงที่อั๊วะโกงมังมา” นางบอกด้วยความกลัวบาป

         “ไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ มันยุ่งยาก เอาเถอะ เดี๋ยวอาตมาจะสอนให้ขออโหสิกรรม แล้วลื้อจะต้องสอนลูกสอนหลานว่าให้เลิกหากินในทางทุจริต ช่วยกันทำบุญทำทานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ลื้อ ทำได้ไหมเล่า” ท่านแนะแนวทาง

         “ทำล่าย อั๊วะทำล่าย หลงพ่อ เลียกพวกมังเข้ามา อั๊วะจาไปเลี้ยว”

         นางกิมหงพูดอย่างอยากจะละทิ้งสังขารนั้นเสียเร็ว ๆ

         “สมชายเปิดประตูเรียกพวกเขาเข้ามา” ท่านสั่งคนเป็นลูกศิษย์

         เมื่อคนเหล่านั้นเข้ามาในห้องก็ให้รู้สึกแปลกใจที่คนเจ็บพูดจ้อย ๆ พลังเมตตาที่ท่านพระครูแผ่ให้บวกกับกำลังใจของตัวเอง ทำให้นางกิมหงลืมความทุกข์ทรมานได้ชั่วครู่ นางจัดการแบ่งสมบัติให้ลูกหลาน สั่งสอนให้เขาหากินในทางสุจริต “ถ้าพวกลื้อทำอย่างอั๊วะ ก็ต้องถูกหนอนกินตั้งแต่ยังไม่ตาย แล้วจาลู้ว่า มังทอลามางชิกหายเลย” พูดจบนางก็หลับตา ความเจ็บปวดและเหนื่อยล้ากลับคืนมาอีก นางพยายามนึกถึงดวงหน้าของท่านพระครูจนกระทั่งหมดลมหายใจเฮือกสุดท้าย

         “แม่”

         “อาม่า” เสียงลูกหลานร้องตะเบ็งเซ็งแซ่ เพิ่งจะมองเห็นคุณค่าของคนที่จากไป ท่านพระครูต้องพูดปลอดใจอยู่หลายนาทีกว่าพวกเขาจะระงับความโศกาอาดูรไว้ได้

         “เอาละ เขาไปดีแล้ว หมดหน้าที่ของอาตมาแล้ว จะได้ลากลับเสียที เรื่องศพก็จัดการไปตามประเพณีก็แล้วกัน ที่สำคัญอย่าลืมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายด้วย เขาจะได้ไม่ต้องไปรับโทษนาน” ท่านแนะนำสั่งสอนเสร็จสรรพ แล้วจึงลากลับ เพราะจะต้องเข้าเมืองไปร่วมในงานฉลองพัดยศของเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งจะเริ่มเมื่อเวลาสิบสี่นาฬิกาตรง

         “หลวงพ่อ ถ้าผมไม่เห็นกับตาเป็นไม่ยอมเชื่อเด็ดขาดว่าคนถูกหนอนขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย นี่ขนาดเห็นกับตาก็ยังไม่อยากจะเชื่อ ผมฝันไปหรือเปล่าครับหลวงพ่อ” นายสมชายแสดงความประหลาดใจพลางก็สัพยอกท่านไปด้วย

         “โลกนี้มันก็เหมือนความฝันอยู่แล้วสมชายเอ๊ย บางครั้งคนบางคนก็สามารถฝันได้โดยไม่ต้องหลับ เช่น เธอเป็นต้น”

         “ต้นอะไรครับหลวงพ่อ ผมเป็นต้นอะไร ต้นมะม่วงหรือต้นมะปราง” ลูกศิษย์ตั้งใจยั่วอาจารย์เพื่อคลายความเครียด ภาพคนเจ็บถูกหนอนชอนไชยังติดหูติดตาชวนให้คลื่นเหียนอาเจียนยิ่งนัก ไหนจะกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นซากศพนั่นอีกเล่า

         “ต้นตระกูลยวน” ท่านพระครูตอบ

         “งั้นผมก็เป็นญาติกับหลวงพี่บัวเฮียวน่ะซีครับ เพราะหลวงพี่ก็เป็นญวน” ลูกศิษย์วัดไปได้เรื่อย ๆ

         “มัวพูดมากอยู่นั่นแหละ เร่งเครื่องหน่อย ประเดี๋ยวจะไม่ทันงานเขา” ท่านกำชับ

         “เหยียบสองร้อยเลยดีไหมครับ”

         “จะไปเอาที่ไหนอีกยี่สิบล่ะ ก็ที่เขาให้ไว้มันแค่ร้อยแปดสิบเท่านั้นเอง” ท่านหมายถึงหน้าปัดบอกอัตราความเร็วของรถ

         “ก็เอาที่หลวงพ่อไงครับ หลวงพ่อก็เพิ่มพลังจิตเข้ามาอีกยี่สิบ รับรองว่าไปเร็วราวกับเหาะ”

         “อย่าเพิ่งเลย ฉันยังไม่อยากตาย ยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก ถ้าเธอเบื่อชีวิต จะตายไปก่อนก็ได้ ฉันอนุญาต”

         “ผมยังไม่กล้าตายหรอกครับ เดี๋ยวไม่มีคนขับรถให้หลวงพ่อ”

         “ตายไปแล้วก็มาขับให้ได้ ดีเสียอีก จะได้ไม่ต้องพูดมากให้ฉันรำคาญ หยุดพูดได้แล้วนะ ฉันจะแผ่เมตตาให้พวกสัมภเวสีเขาหน่อย” แล้วท่านก็นั่งหลับตานิ่งอยู่ คนที่ทำหน้าที่ขับรถจึงต้องสงบปากสงบคำลง

         งานฉลองพัดยศของท่านเจ้าคณะจังหวัด ถูกจัดขึ้นอย่างมโหฬาร โดยการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ซึ่งมีทั้งครู ตำรวจ ทหาร และพ่อค้า ประชาชน

         เมื่อไปถึง ท่านพระครูจึงเข้าไปยั้งเต๊นท์ปะรำพิธี ซึ่งจัดอาสนะไว้ต้อนรับพระสงฆ์ที่มาร่วมงาน โดยเรียงลำดับอายุพรรษา ท่านได้ที่นั่งติดกับหลวงตาสูงอายุรูปหนึ่ง ถัดจากท่านเป็นหลวงพ่อซึ่งแม้อายุจะมากกว่า หากอายุพรรษาน้อย เพราะบวชตอนอายุมากแล้ว จำนวนพระสงฆ์ที่จะมาร่วมในพิธีนี้มีทั้งหมด ๙๙ รูป นั่งเรียงรายดูเหลืองอร่ามไปทั้งปะรำพิธี มีเต๊นท์ขนาดใหญ่ขึงไว้กว่าสิบหลัง เพื่อให้บรรดาผู้มาร่วมงานได้นั่งฟังพระเจริญพระพุทธมนต์

         เหลือเวลาอีกหนึ่งนาที พระสงฆ์ ๙๙ รูป ก็จะเจริญพระพุทธมนต์ ทันใดนั้นได้เกิดลมบ้าหมูพัดกรรโชกขึ้น ความแรงของลมได้หอบเต๊นท์หลังที่ติดกับปะรำพิธีขึ้นสูงถึงระดับยอดไม้ เสาเต๊นท์ซึ่งเป็นเหล็กแท่งยาวได้หลุดออกและพุ่งเข้าใส่ท่านพระครู ถูกปากครึ่งจมูกครึ่ง เลือดแดงฉาน ท่ามกลางความตะลึงงันของพระและฆราวาสที่เห็นเหตุการณ์

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกเจ็บราวใจจะขาด ท่านสำรวมจิตกำหนด “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” ด้วยสติอันว่องไวที่ได้ฝึกไว้อย่างดีแล้ว ความเจ็บปวดนั้นมากมายจนท่านคิดว่า หากเป็นหลวงตาหรือหลวงพ่อที่นั่งทางเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของท่านโดนเข้าก็คงจะต้องถึงแก่มรณภาพ

         เมื่อกำหนด “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” กระทั่งจิตเป็นสมาธิ สามารถข่มความเจ็บปวดลงบ้างแล้ว กฎแห่งกรรมก็ฉายแวบขึ้นในมโนทวาร

         ท่านเห็นตัวเองกำลังเก็บกวาดลานวัด พบไม้ท่อนหนึ่งวางเกะกะอยู่ จึงหยิบมันเหวี่ยงไปที่ใต้ต้นปีบ โดยไม่ทันเห็นว่ามีสุนัขตัวหนึ่งนอนหลับอยู่ ไม้ท่อนนั้นจึงไปถูกปากและจมูกของสุนัขเลือดไหลโทรม มันดิ้นเร่า ๆ ส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด

         ท่านต้องต้มยาสมุนไพรกรอกปากมันอยู่หลายวันจนมันหาย ดูเอาเถิด อุตส่าห์ฝึกสติไว้ดีแล้ว ก็ยังมีอันพลั้งเผลอจนได้ เพียงเผลอไปแค่อึดใจเดียว ยังได้รับผลร้ายถึงปานนี้ กรรมที่ทำโดยมิได้เจตนา ก็ต้องมารับผล แล้วคนที่ก่อกรรมทำชั่วโดยเจตนานั้นเล่า เขามิต้องทุกข์ทรมานกว่าท่านเป็นร้อยเท่าพันทวีละหรือ

         เมื่อได้สติ ผู้คนก็ส่งเสียงเอะอะกันขึ้น โชคยังดีที่มีหมอทหารไปร่วมในงาน เขาจึงจัดการทำแผลให้ท่านอย่างรวดเร็วด้วยความชำนิชำนาญ และรู้สึกแปลกใจที่ท่านมิได้เป็นอะไรมาก นี่ถ้าหากเป็นคนอื่นก็คงต้องพาส่งโรงพยาบาลและรักษากันอยู่หลายวัน หลวงตากับหลวงพ่อที่นั่งข้าง ๆ ยังแอบกระซิบกันว่า “ถ้าเป็นเรา คงกลับบ้านเก่าแน่”

            เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์ก็เฉลิมฉลองด้วยการรำกลองยาวกันเป็นที่ครื้นเครง ท่านพระครูอยากรู้ว่า นายสมชายไปอยู่เสียที่ใด เพราะใกล้เวลาจะกลับแล้ว จึงต้องพึ่ง “เห็นหนอ” ก็เห็นคนขับรถของท่านยืนอยู่กลางวงกลองยาว

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกแปลกใจ ที่หนึ่งในจำนวนหญิงที่กำลังร่ายรำอยู่อย่างสนุกสนานนั้นมีลักษณะแปลกไปจากคนอื่น ๆ กล่าวคือ เหนือศีรษะของหล่อนมีแมลงวันหัวเขียวฝูงใหญ่กำลังบินฉวัดเฉวียนอยู่ ท่านเพ่งพิจารณาว่า มันเรื่องอะไรกัน ก็ได้เห็นกฎแห่งกรรมของหล่อนอย่างชัดเจน สตรีผู้นี้เป็นคนทุศีล ศีลห้าข้อหล่อนรักษาไว้ไม่ได้จนข้อเดียว ท่านยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หน้าตาหล่อนเหมือนคนใกล้ตาย จริงอยู่แม้หล่อนจะแต่งหน้าสวยงาม นุ่งห่มสีสดใส หากก็มี “สัญญาณมรณะ” ปรากฏอยู่

         แล้วหล่อนก็ล้มลงศีรษะฟาดพื้น การรำกลองยาวหยุดชะงัก พวกเขาช่วยกันอุ้มหล่อนมาวางบนเสื่อ และสิ่งอัศจรรย์ที่สุดก็ได้เกิดขึ้น หนอนตัวเท่าเม็ดขาวสุกไต่ยั้วเยี้ยออกมาจากปาก จมูก ทวารหนักและทวารเบา ร่างของหล่อนเน่าเดี๋ยวนั้น สิ่งกลิ่นเหม็นคลุ้งมาถึงที่ ๆ ท่านนั่ง เสียงคนวิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ วันนี้ท่านได้เห็นคนถูกหนอนขึ้นถึงสองคน

         ทันทีที่ท่านพระครูขึ้นรถ นายสมชายก็พูดจ้อย ๆ เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขารู้เขาเห็นนั้น ท่านก็รู้ก็เห็นเหมือนกัน แต่เป็นการรู้การเห็นที่ลึกซึ้งกว่า คือเห็นกฎแห่งกรรมของสตรีผู้นั้นด้วย

         “หลวงพ่อ ผมอยากตั้งชื่อวันนี้ว่า “วันหนอน” หลวงพ่อเชื่อไหม พอคนที่รำกลองยาวแกหงายผึ่งหนอนก็ขึ้นเต็มตัวเลย ได้ยินเขาว่ากันว่า ยายคนนี้บาปมาก ศีลที่เขาห้ามไว้ แกก็ละเมิดหมด ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ มีชู้ โกหก แล้วก็ขี้เหล้าเมายา ตายปุ๊บเหม็นปั๊บเลย กลิ่นเหม็นยังติดจมูกผมอยู่นี่” คนเล่าทำจมูกฟุดฟิด

         “สมชาย” ท่านพระครูเรียกชื่อลูกศิษย์

         “ครับผม” ฝ่ายนั้นขานรับ

         “เงียบเถอะ สิ่งที่เธอรู้น่ะ ฉันรู้หมดแล้ว แต่สิ่งที่ฉันรู้นั้นมีบางสิ่งที่เธอยังไม่รู้ เธอนี่แย่จริง ๆ”

         “อ้าวหลวงพ่อ ไป ๆ มา ๆ ไหงมาด่าผมล่ะ”

         “จะไม่ให้ด่ายังไง แหมมัวแต่ไปดูกลองยาว ไอ้เราจะตายกลับไม่รู้แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ด่าหรือ”

         “เกิดอะไรขึ้นครับหลวงพ่อ” ถามอย่างตกใจ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงเล่าเหตุการณ์ที่ท่านถูกเสาเหล็กพุ่งใส่หน้าให้เขาฟังพร้อมกับสรุปว่า

         “วันนี้เธอเรียกว่า “วันหนอน” แต่สำหรับฉันขอเรียกวันนี้ว่า “วันใช้หนี้หมา” แล้วท่านก็หัวเราะหึหึ

         “ดีแล้วละครับหลวงพ่อ ใช้ ๆ มันเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องเกิดอีก ก็หลวงพ่อบอกจะไม่เกิดอีกไม่ใช่หรือครับ”

         “ก็ว่ายังงั้นแหละ แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนยังไม่รู้ มันก็น่าคิดนะสมชายนะ ดูเอาเถิด คนตั้งเป็นพันมันไม่เล่นงาน เฉพาะจะพุ่งมาถูกฉันคนเดียว ถูกอย่างเหมาะเหม็งเสียด้วย”

         “กลับไปนี่ ผมเห็นจะต้องกินยาแอสไพรินสักห้าสิบเม็ด” นายสมชายพูดอย่างคนเบื่อโลกเต็มประดา

         “ร้อยเม็ดดีกว่าน่า” ท่านพระครูตั้งใจพูดประชด

         “ทำไมต้องกินถึงร้อยเม็ดล่ะครับ” ถามอย่างสงสัย

         “จะได้ตายสนิทดี ไม่ต้องเสียเวลาพาส่งโรงพยาบาล”

         “แหม หลวงพ่อ ผมพูดเล่นหรอกน่า ถึงผมจะเบื่อโลกยังไง ผมก็ยังไม่อยากตาย อยากอยู่มันทั้งเบื่อ ๆ นี่แหละ”

         “ไอ้ที่ว่าไม่อยากตาย ๆ น่ะ ฉันเห็นตายมาเสียนักต่อนักแล้ว ดูอย่างยายคนที่รำกลองยาวนั้นไง เธอว่าเขาอยากตายหรือเปล่า”

         “คงไม่มังครับ แต่ก็ม่องไปแล้ว แถมหนอนขึ้นทันทีเลย แหม ผมชักกลัวบาปกลัวกรรมแล้วซีครับหลวงพ่อ ไม่อยากถูกหนอนกินเหมือนผู้หญิงสองรายนั่น” เขาทำท่าขยาด

         “ดีแล้ว เธออยู่ใกล้ชิดฉัน ขืนไม่กลัวบาปก็เสียชื่อหมด คนเขาจะว่า “ใกล้เกลือกินด่าง”

         “แต่ผมไม่อยากกินทั้งด่างทั้งเกลือแหละครับ คนเบื่อโลกยังมีอารมณ์ยั่วเย้า

         “ไม่กินก็ไม่ต้องกิน” เงียบกันไปพักหนึ่ง คนเบื่อโลกก็เอ่ยขึ้นว่า

         “ชีวิตคนเรานี่เอาแน่อะไรไม่ได้เลยนะครับหลวงพ่อ นึกอยากจะตายก็ตายโดยไม่มีปี่  มีขลุ่ย”

         “อ้อ ต้องมีปี่มีขลุ่ยเสียก่อนค่อยตาย ว่างั้นเถอะ”

         “แหม หลวงพ่อเนี่ย คราวนี้ผมพูดจริง ๆ นะครับ ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเราเอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย ขนาดรำกลองยาวอยู่ดี ๆ แท้ ๆ ยังตาย”

         “ก็ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็ต้องหมั่นฝึกสติเข้าไว้ ถ้าสติดีเสียอย่างจะตายที่ไหน เมื่อ  ไหร่ ก็ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปทุกข์ร้อน สติดีในที่นี้ ไม่ได้ตรงข้ามกับสติไม่ดีที่แปลว่าบ้านะ แต่หมายถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา” ท่านจำเป็นต้องขยายความ มิฉะนั้นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายนั้นพูดพล่ามต่อไปอีก

         “เห็นตัวอย่างวันนี้แล้ว มันทำให้ผมนึกอะไรได้อย่างนึง คือนึกถึงโคลงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ผมจะอัญเชิญมากล่าวให้หลวงพ่อฟังนะครับ” คนพูดพยายามทำเสียงที่เจ้าตัวคิดว่าไพเราะที่สุด....

                                    เห็นหน้ากันเมื่อเช้า              สายตาย
                              สายอยู่สุขสบาย                                บ่ายม้วย

                        บ่ายยังรื่นเริงกาย                             เย็นดับ ชีพนา

                        เย็นอยู่หยอกลูกด้วย                       ค่ำม้วยดับสูญ...

 
มีต่อ........๓๐
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 19, 2007, 08:01:31 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00030
๓๐...

         นายสมชายพาท่านพระครูกลับถึงวัดป่ามะม่วงเมื่อเวลาสิบเจ็ดนาฬิกาเศษ ที่กุฏิของท่าน พระบัวเฮียวกำลังสอนวิธีเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้กับคหบดี และครอบครัว ตามที่ท่านได้มอบหมายหน้าที่ให้

         เมื่อท่านเดินเข้ามา ภิกษุรูปหนึ่งกับฆราวาสห้าคนก็ทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง

         “เจริญพร โยมมาถึงนานแล้วหรือ” ท่านถามคหบดี

         “ถึงสักบ่ายสองโมงเห็นจะได้ ก็ไปเสียเวลากับการหาซื้อชุดขาวน่ะครับหลวงพ่อ” คหบดีตอบ เขาอยู่ในชุดเสื้อคอกลมสีขาว กางเกงขาก๊วยสีเดียวกัน ภรรยาและลูกชายอีกสามคนก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวดูสะอาดหมดจด

         “หลวงพ่อมาเหนื่อย ๆ นิมนต์พักสรงน้ำก่อนไม่ดีกว่าหรือคะ” นางกิมเอ็งพูดขึ้น เมื่อเห็นท่านเดินมานั่งยังอาสนะ วันนี้หน้าตาเนื้อตัวหล่อนปราศจากทั้งเครื่องสำอางและเครื่องประดับ จึงดูผิดไปจากวันวานราวกับเป็นคนละคน

         “นิมนต์หลวงพ่อสร้งน้ำก่อนดีกว่าครับ” สามีนางกิมเอ็งเห็นพ้องกับภรรยา

         “ไม่เป็นไรหรอกโยม เรื่องนั้นไม่สลักสำคัญอะไร อาตมาสรงน้ำตอนตีสองเกือบทุกวัน”

         “แล้วหลวงตาไม่หนาวแย่หรือครับ หลวงตามีที่ทำน้ำอุ่นหรือเปล่า” ลูกชายคนเล็กของคหบดีถามขึ้น

         “ไม่มีหรอกหนู หนาวก็ต้องทนเอา” ท่านตอบ

         “แล้วหลวงตาหิวไหมครับ หลวงตาไม่ฉันข้าวเย็นไม่หิวแย่หรือ” เด็กหนุ่มถามอีกเพราะตัวเขาเริ่มจะหิว เนื่องจากใกล้เวลาอาหารเย็นแล้ว

         “ไม่หิวหรอกหนู หลวงตาชินแล้ว ถามอย่างนี้แปลว่าหนูหิวแล้วใช่ไหม” ท่านถามอย่างรู้ใจ

         “ใช่ครับ” เด็กหนุ่มตอบตามตรง

         “หิวก็ต้องอดทนนะหนูนะ อดนทมาก ๆ แล้วมันก็จะชินไปเอง” พี่ชายอีกสองคนที่นั่งฟังอยู่ออกผิดหวัง คิดว่าท่านจะอนุญาตให้รับประทานอาหารมื้อเย็นได้

         “หลวงตาครับ ขอทานวันนี้วันเดียวไม่ได้หรือครับ แล้วพรุ่งนี้พวกผมค่อยฝึกอกกัน” คนตัวโตที่สุดต่อรอง

         “ก็ฝึกเสียวันนี้ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเรามัวผัดเป็นพรุ่งนี้ มันก็พรุ่งนี้อยู่เรื่อย การทำความดีไม่ต้องผัดวันประกันพรุ่ง นะหนูนะ”

         “หลวงตาครับ ทำไมการทำความดีต้องอดข้าวด้วยล่ะครับ” อีกคนถามขึ้น

         “เดี๋ยวก่อน หลวงตายังไม่รู้เลยว่าพวกหนูชื่ออะไรกันบ้าง ไหนบอกมาซิจะได้เรียกถูก เอาชื่อเล่นก็ได้

         “คนนี้ชื่อต้อม เป็นคนที่สาม คนที่สองชื่อต่อค่ะ คนเล็กชื่อติ๋ง ส่วนคนโตอยู่อเมริกาชื้อต้นค่ะ” นางกิมเอ็งตอบแทนลูก ๆ เมื่อพูดถึงคนโต นางก็อดร้องไห้ไม่ได้ เด็กหนุ่มสามคนคิดว่ามารดาร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายคนโต ซึ่งเป็นพี่ชายของพวกเขา

         “ทำใจดี ๆ น่ากิมเอ็ง อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด คหบดีพูดปลอบใจภรรยา ตัวเขาเองพอจะทำใจได้แล้ว เกี่ยวกับเรื่องที่ลูกชายติดยาเสพย์ติด เขาไม่ต้องการให้ลูกชายอีกสามคนดำเนินรอยตามพี่ชาย จึงสู้อุตส่าห์พามาเข้ากรรมฐานทั้งที่โรงเรียนยังไม่ทันปิดภาค ลูก ๆ ก็เชื่อฟังเป็นอันดี

         “หลวงตายังไม่ตอบผมเลยครับว่าทำไมการทำความดีต้องอดข้าวด้วย” หนุ่มน้อยที่ชื่อต้อมถามอีก

         “เดี๋ยว หนูตอบหลวงตามาก่อนซิว่าคำสอนหลักของพระพุทธศาสนานั้นมีกี่ประการ อะไรบ้าง”

         “ไม่ทราบครับ พวกผมเรียนโรงเรียนคริสต์มาตลอด จึงไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธเลย”

         “แล้วสวดมนต์เป็นไหม สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ น่ะเคยสวดหรือเปล่า” ท่านถามคนชื่อต่อ

         “ไม่เคยสวดเลยครับ เพราะไม่เคยสวด ก็เลยสวดไม่เป็นครับ ครูสอนแต่สวดสรรเสริญพระเจ้า

 

 

 

 

       
มีต่อ........๓๑
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 20, 2007, 08:47:38 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00031
๓๑...

          วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ คุณนายดวงสุดาลงทุนขับรถมาวัดป่ามะม่วงด้วยตนเอง ตามคำขอร้องของบิดาและมารดา เถ้าแก่เส็งกับคุณกิมง้ออยากมาฟังพระสงฆ์สวดธรรมจักรในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ “นิมิตในกรรมฐาน” บอกให้มาเนื่องจากคนทั้งสองปฏิบัติก้าวหน้ามากจนสามารถเกิดนิมิตได้ตรงกัน
                หลังจากปรึกษาหารือกันแล้ว จึงแจ้งความจำนงให้บุตรสาวทราบ บังเอิญคนขับรถประจำตำแหน่งของท่านผู้ว่าฯ ขอลากลับบ้านเพื่อไปฉลองปีใหม่กับครอบครัว จึงตกเป็นหน้าที่ของคุณนาย ที่จะต้องสงเคราะห์บิดามารดา เป็นการสงเคราะห์ที่เจ้าตัวเต็มใจอย่างยิ่ง

          ผู้คนมาวัดกันมากมายตั้งแต่เด็กอายุแปดเก้าขวบไปจนถึงคนชราและส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง พวกผู้ชายคงจะพากันไปกินเหล้าฉลองปีใหม่กันจึงไม่นิยมมาวัด

          บรรดาแม่ครัวต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ เพราะแขกเหรื่อทยอยกันมาไม่ขาดระยะ เว้นแต่ผู้ที่มาปฏิบัติกรรมฐานซึ่งมีเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกัน

          เวลายี่สิบนาฬิกา ทุกคนไปรวมกันในพระอุโบสถ และทำวัตรเย็นร่วมกับพระภิกษุทั้งวัด จากนั้นเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แล้วพระภิกษุและฆราวาสปฏิบัติกรรมฐานจนถึงเวลายี่สิบสามนาฬิกา ปฏิบัติกรรมฐานเสร็จจึงพร้อมใจกันแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวร

          ใกล้เวลาเที่ยงคืน คณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บทธรรมจักรไปจนถึงเวลาหนึ่งนาฬิกาของวันใหม่ หลังจากนั้นพระภิกษุและฆราวาสทำวัตรเช้าร่วมกัน

          เป็นการต้อนรับวันใหม่ที่เถ้าแก่เส็งและคุณกิมง้อไม่เคยประสบมาก่อน คนทั้งสอง “อิ่มบุญ” จนลืมความง่วงและตั้งปณิธานไว้ว่า จะมาฉลองปีใหม่ที่วัดป่ามะม่วงทุกปีจนกว่าสังขารจะไม่อำนวย

          การทำวัตรเช้าเสร็จสิ้นลงเมื่อเวลาตีสอง ทั้งพระและฆราวาสต่างแยกย้ายกันกลับไปยังกุฏิของตน ผู้ที่ยังไม่ง่วงก็จะปฏิบัติกรรมฐานต่อโดยไม่หลับนอน ส่วนคนที่ทนง่วงไม่ไหวก็จะนอนเอาแรงเป็นเวลาสองชั่วโมง แล้วลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐานตอนตีสี่

          เวลาแปดนาฬิกาของเช้าวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๗ คุณนายดวงสุดาและผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองจะมาลาท่านพระครูกับกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงกุฏิของท่านก็เห็นคนนั่งรอเต็มไปหมด ท่านพระครูยังไม่ลงมาจากชั้นบน

          เสียงเอะอะโวยวายดังขึ้น ตามด้วยเสียงแก้วแตกดังเพล้ง ความอยากรู้อยากเห็นว่าได้เกิดอะไรขึ้น ทำให้คุณนายพาร่างอันอุดมไปด้วยก้อนเนื้อและไขมันออกไปยังหลังกุฏิอันเป็นที่มาของเสียง

          ภาพที่เห็นทำให้คุณนายถึงกับอ้าปากค้าง ผู้หญิงอายุประมาณสี่สิบกำลังขว้างแก้วใส่ผู้ชายวัยเดียวกัน ฝ่ายนั้นหลบอุตลุด กระทั่งพวกแม่ครัวมาช่วยกันยื้อยุดหล่อนเอาไว้

          “ปล่อยกูนะ กูจะไปฆ่ามัน” หล่อนตะโกนและดิ้นรน

          “ใจเย็น ๆ ค่ะ คุณนาย นี่ในวัดนะคะ ไงก็เกรงใจหลวงพ่อท่านมั่ง” นางบุญรับเตือนสติ คนที่นั่งอยู่ในกุฏิทยอยกันออกมาดู คุณนายดวงสุดามองอย่างสังเวช นึกตำหนิสตรีผู้นั้นที่ไม่มีความอดกลั้นแม้ในวัดวาอาราม นางกิมเอ็งซึ่งมารอให้ท่านพระครูสอบอารมณ์พร้อมสามีและลูกชายเห็นคุณนายดวงสุดาเดินออกไปก็ลุกตาม

          “กิมเอ็งอย่าออกไป ไม่ใช่เรื่องของเรา” คหบดีบอกภรรยา หากความอยากรู้อยากเห็นตามวิสัยหญิง ทำให้หล่อนขัดคำสั่งของผู้เป็นสามี พอออกไปก็สบตาเข้ากับสตรีที่ดูเหมือนกำลังบ้าคลั่งคนนั้น เลยถูกหางเลขเข้าอย่างจัง

          “มองอะไร ระวังเถอะอีกพวกชอบเสือกเรื่องของชาวบ้าน กูจะตบล้างน้ำเสียให้เข็ด” หล่อนว่าใส่หน้านางกิมเอ็ง ภรรยาคหบดีถอยกรูดเข้ามาตามด้วยภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด คนแรกเข้ามานั่งข้าง ๆ สามีพลางนึกในใจว่า “อยู่ดีไม่ว่าดีนะเรา ถูกด่าฉลองปีใหม่แต่เช้า ซวยชะมัด”

          คุณนายดวงสุดาไม่ถึงกับเข้ามานั่ง เพราะอยากรู้หล่อนจึงเดินไปด้อม ๆ มอง ๆ อยู่แถว ๆ ประตูหลังกุฏิ ผู้หญิงคนนั้นสะบัดแขนอย่างแรงหลุดจากการเกาะกุม หล่อนวิ่งไปคว้าไม้ได้ท่อนหนึ่ง จึงตรงเข้าไปหาคนเป็นสามี ฝ่ายนั้นรีบวิ่งไปที่รถเก๋งไขกุญแจเข้าไปนั่งประจำที่คนขับได้อย่างหวุดหวิด คนเป็นเมียก่นด่าหยาบ ๆ คาย ๆ ใช้ไม้ทุบกระจกหน้ารถจนร้าวเป็นทาง หล่อนกระชากที่ปัดน้ำฝนหน้ารถออกมา มันบาดมือหล่อนจนเลือดแดงฉาน สามีหล่อน สตาร์ทรถ หล่อนจึงวิ่งไปขวางหน้าเอาไว้

            “เอาเลย มึงชนกูซะให้ตายเลย” สามีบีบแตรเป็นการเตือนให้ถอยหากภรรยาไม่ยอมถอย เขาจึงยื่นหน้าออกไปตะโกนว่า “ไม่ถอยกูชนจริง ๆ นะ” แล้วเร่งน้ำมันอย่างแรงเป็นการขู่ ถ้าหล่อนไม่ถอยเขาก็จะชนให้ตายไปเสียเลย

          “ผู้พันอย่าชนค่ะอย่า” พวกแม่ครัวร้องเสียงหลง คนหนึ่งวิ่งไปยืนคู่กับผู้หญิงคนนั้น คิดว่าคนขับคงไม่กล้าชน

          “ป้าถอยออกไป ไม่งั้นผมชนนะ” ผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้พัน” ตะโกนบอกและทำท่าออกรถ หญิงผู้บ้าคลั่งกระโดดขึ้นไปยืนหราบนกระโปรงหน้ารถใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า

          “ป้าไปเรียกคุณนายลงมาเถอะ ประเดี๋ยวผู้พันแกแกล้งขับเร็ว ๆ คุณนายก็ตกลงมาคอหักตายหรอก”

          “เฮ่ย ใครมันจะฆ่าเมียได้ลงคอวะ ลูกเต้าก็มีด้วยกัน โน่นยืนตัวสั่นงันงกอยู่โน่น” “ป้า” หรือนางบุญรับชี้ไปที่เด็กชายหญิง อายุประมาณหกเจ็ดขวบที่ยืนอยู่กับพี่เลี้ยง คุณนายดวงสุดามองไปที่เด็กทั้งสองซึ่งยืนห่างจากหล่อนประมาณสามวา หน้าตาท่าทางของแกดูตื่นตระหนก หัวใจดวงน้อยคงแทบจะแหลกสลาย เพราะการกระทำของพ่อกับแม่ คุณนายไม่เข้าใจเลยว่าเหตุใดสองคนนั่นจึงทำร้ายจิตใจลูกได้ถึงปานนี้

          เสียงแม่ครัวคนที่สาวกว่าบอกนางบุญรับอีกว่า “เร็ว ๆ ซีป้า ไปเอาตัวคุณนายลงมาหน่อย ฉันว่าผู้พันแกกล้าฆ่าคุณนานนะ ผู้ชายที่กำลังหลงเมียน้อยน่ะ ฆ่าเมียหลวงได้นะป้า”

          “ถ้ายังงั้นพวกเอ็งก็ไปช่วยข้าหน่อย ไปเร็ว ๆ เข้า” นางชักชวนพรรคพวกพลางวิ่งนำไปที่รถ ผู้ชายคนนั้นกำลังเคลื่อนรถออก ป้าคนที่ไปยืนขวางรีบพาตัวเองหลบออกมาด้วยกลัวตาย ผู้หญิงบ้าคลั่งที่ยืนหราอยู่บนกระโปรงรถ ก็เปลี่ยนเป็นนั่งยอง ๆ หันหน้าเข้าหาคนขับ ชี้หน้าด่าปาว ๆ สลับกับเสียงกรี๊ด ๆ แสบแก้วหู นางบุญรับวิ่งไปเคาะกระจกด้านคนขับ โกหกหน้าตาเฉยว่า “ผู้พันหยุดก่อน หลวงพ่อเรียก” ผู้พันเหยียบเบรค หากยังไม่ยอมลงมาจากรถเพราะกลัวภรรยา

          “คุณนายลงมาเถอะค่ะ หลวงพ่อท่านเรียก “นางบอกผู้หญิงที่กำลังบ้าคลั่ง สงสารหล่อนจับใจ เพราะรู้เรื่องราวของหล่อนเป็นอย่างดี “ผู้พันทำร้ายจิตใจหล่อนเกินไป อาจหาญควงเมียน้อยมากราบอวยพรหลวงพ่อ ทั้งที่รู้ว่าจะมาพบหล่อนที่นี่ แล้วเมียน้อยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเพื่อนรักเพื่อนใคร่ของหล่อนนั่นเอง อุตส่าห์พามาเข้ากรรมฐาน กินด้วยกัน นอนด้วยกันอยู่ที่วัดนี้ แล้วจู่ ๆ ก็มากลายเป็นเมียน้อยของผัวหล่อน หากนางบุญรับเป็นหล่อนก็คงแค้นแทบกระอักเหมือนกัน

          ได้ยินว่าหลวงพ่อเรียก คุณนายราศีก็ได้สติ หล่อนหยุดด่าและหยุดร้องกรี๊ด ๆ กระโดดลงจากกระโปรงรถอย่างระมัดระวังแล้วเดินเชื่อง ๆ เข้าไปในกุฏิ

          พันเอกประวิทย์เห็นภรรยาเดินไปยังกุฏิท่านพระครู คิดว่าหล่อนคงจะต้อง “ฟ้อง” ท่านเกี่ยวกับความผิดของเขา จะยอมให้หล่อนฟ้องข้างเดียวไม่ได้ เขาต้องตามไปชี้แจง ท่านจะได้ไม่ฟังความข้างเดียว คิดได้ดังนี้จึงก้าวลงจากรถเดินตามภรรยาไปห่าง ๆ

          คุณนายราศีเข้ามานั่งคอยท่านพระครูตรงหน้าอาสนะ พยายามสงบสติอารมณ์อย่างที่สุด ครั้นเห็นหน้าผู้เป็นสามี ความคั่งแค้นประดังขึ้นมาอีก หล่อนคว้าได้ถ้วยน้ำชาก็ขว้างไปที่ใบหน้าของเขา ถ้วยกระเบื้องปะทะเข้าตรงหน้าผากอันล้านเลี่ยน ยังผลให้มันบวมปูดเขียวปั้ดขึ้นในพริบตา พันเอกวัยสี่สิบมีอาการ “เลือดขึ้นหน้า” เขาตรงเข้าหาภรรยา ตบหน้าหล่อนฉาด ๆ ไปหลายทีจนหน้าซีดเซียวนั้นหันซ้ายหันขวาไปตามแรงตบ

          คนที่นั่งรออยู่ลุกขึ้นห้าม พวกผู้ชายจับผู้พัน พวกผู้หญิงจับคุณนายราศี กุฏิอันเงียบสงบของท่านพระครูจึงกลายเป็นโรงงิ้ว

          “ไปตามหลวงพ่อลงมาเร็ว ๆ เข้า” คหบดีสั่งนายสมชายซึ่งยืนอ้าปากค้างดูเหตุการณ์อยู่ เด็กหนุ่มจึงวิ่งขึ้นไปยังกุฏิชั้นบน ละล่ำละลักบอกท่านพระครูว่า

          “เกิดเรื่องใหญ่แล้วครับหลวงพ่อ ผู้พันกับคุณนายใช้กุฏิหลวงพ่อเป็นเวทีมวยไปซะแล้ว หลวงพ่อลงไปเป็นกรรมการหน่อยเถอะครับ ไม่งั้นคุณนายราศีได้หมดราศีกันคราวนี้แหละ” แม้จะอยู่ในภาวะที่เรียกว่าหน้าสิ่งหน้าขวาน หากนายสมชายก็ยังอุตส่าห์มีแก่ใจสร้างอารมณ์ขัน

          “ห้ามไม่ได้หรอกสมชาย เรื่องของผัวเมีย ฉันไม่กล้าเข้าไปยุ่งหรอก” ท่านพูดด้วยเสียงปกติ ไม่ตื่นเต้น ไม่ยินดียินร้าย เพราะจิตของท่านมั่นคงแล้ว ไม่หวั่นไหวสั่นคลอน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

          “แล้วถ้าเกิดเขาฆ่ากันตายในกุฏิหลวงพ่อล่ะ เรื่องมิดังไปถึงไหน ๆ หรือ” เด็กหนุ่มมีท่าทีกังวล

          “ไม่ถึงยังงั้นหรอกสมชาย ถ้าเขาตีกันอยู่ที่กุฏิฉัน หรือยู่ในบริเวณวัดป่ามะม่วง เขาจะไม่ตาย เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ แต่ถ้าพ้นเขตวัดไปเมื่อใด รับรองว่าตายทั้งคู่ สองคนนี้กำลังชะตาขาด ถ้าเธอกลัวเขาตายก็ลงไปดูลาดเลาก็แล้วกัน อย่าให้เขาออกนอกเขตวัด” ท่านสั่งเสียงเรียบ

          ลูกศิษย์ก้นกุฏิจึงจำต้องลงมาข้างล่าง เมื่อเขาเปิดประตูออกมา ทุกคนก็ชะเง้อมองด้วยคิดว่าเป็นท่านพระครู การตะลุมบอนของสองสามีภรรยาก็ชะงักลง

          “ประเดี๋ยวหลวงพ่อจะลงมา” เขาบอกทุกคนในที่นั้น ได้ยินว่าหลวงพ่อจะลงมา คุณนายราศีก็หยุดอาละวาด นายสมชายจัดการหาหยูกยามาทำแผลให้หล่อน แผลซึ่งถูกที่ปัดน้ำฝนบาด พวกผู้ชายก็หายาหม่องมานวดหน้าผากบริเวณที่ปูดโปออกมาให้พันเองประวิทย์ คุณนายดวงสุดาใจเต้นไม่เป็นส่ำตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ส่วนบิดามารดาของหล่อนเพียงแต่ตกใจเล็กน้อยด้วยได้ฝึกจิตไว้ดีแล้ว

          ครู่ใหญ่ ๆ ท่านพระครูจึงเปิดประตูออกมา ทุกคนต่างทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง ท่านเดินไปนั่งยังอาสนะ พันเอกประวิทย์และภรรยานั่งหมอบอยู่ต่อหน้าท่าน คุณนายราศีร้องไห้กระซิก ๆ

          “มีอะไรก็ค่อย ๆ พูดค่อย ๆ จา กันก็ได้ ทำไมถึงต้องลงไม้ลงมือกัน” ท่านพูดเสียงเบาจนเกือบเป็นกระซิบ ด้วยต้องการให้ได้ยินกันเพียงสามคน

          “หลวงพ่อคะ หนูทนไม่ไหวแล้ว เขาทำร้ายจิตใจหนู ทำร้ายจิตใจลูก” คุณนายราศีพูดเสียงปนสะอื้น

          “ก็เราอย่าไปยอมให้เขาทำร้ายซี ใจของเราไปให้คนอื่นมาทำร้ายได้ยังไง ไหนเขาทำยังไงว่าไปซิ”

          “ก็เขาพาเมียน้อยมาอวดหลวงพ่อ เขากล้าฉีกหน้าหนู ใคร ๆ เขารู้กันทั้งวัดว่า เขาเป็นสามีหนู แล้วอยู่ ๆ เขาก็ควงคนอื่นมา” คุณนายวัยสี่สิบเล่าด้วยความเคียดแค้น

          “คนอื่นที่ไหนกัน เพื่อนคุณนายไม่ใช่หรือ อาตมาเคยเห็นเขามาเข้ากรรมฐานกับคุณนาย อยู่กุฏิเดียวกันอีกด้วย”

            “นั่นซีคะ เพราะอย่างนี้หนูถึงได้แค้นใจมาก ทั้งเพื่อนทั้งผัวรวมหัวกันทรยศ” หล่อนสะอื้นฮัก ๆ

          “ทีมันทรยศผมล่ะครับหลวงพ่อ เวลาผมไปราชการต่างจังหวัด มันก็เอาคนขับรถเข้าไปนอนในห้องแทนผม” ท่านพระครูอยากรู้ความจริงว่าคุณนายราศีประพฤติเช่นนั้นจริง ๆ หรือว่าพันเอกประวิทย์คิดมากไปเอง ท่านจึงใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบ

          แล้ว “เห็นหนอ” ก็รายงานว่า พันเอกวัยสี่สิบตั้งใจใส่ร้ายภรรยา เพื่อท่านพระครูจะได้เห็นอกเห็นใจที่เขาต้องทำผิด นายทหารผู้นี้มีจิตเป็นอกุศล หยาบช้า ลามก ประพฤติชั่วทั้งที่นับถือพระ เป็นเรื่องน่าเวทนานัก หากว่าเขาได้เป็นใหญ่เป็นโตในกาลข้างหน้าก็จะเป็นพิษเป็นภัยต่อชาติบ้านเมืองอย่างมหันต์ทีเดียว

          คุณนายราศีไม่แก้ข้อกล่าวหานั้น หล่อนรู้ดีว่าท่านพระครูรู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยที่หล่อนไม่จำเป็นต้องอธิบาย

          “หลวงพ่อคะ หนูเจ็บใจตัวเองเหลือเกินค่ะ เจ็บใจที่เลือกคนผิด หนูผิดเอง ไม่รู้ว่ากรรมเวรอะไรของหนู” หล่อนสะอึกสะอื้น

          “ก็เลือกเสียใหม่ให้ถูกซี ได้โอกาสแล้วนี่ ชายชู้มึงไง ไอ้คนขับรถกูน่ะ เอาเถอะกูยกให้” คนเป็นสามีพูดแดกดัน

          “ผู้พัน” ท่านพระครูเรียกบุรุษนั้นอย่างอดรนทนไม่ได้ รู้สึกสมเพชเขาเป็นกำลัง หากท่านก็ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ บุรุษผู้นี้กำลังตาบอดสนิทจึงไม่อาจมองเห็นแสงสว่างใด ๆ ได้เลย เมื่อช่วยไม่ได้ ท่านจึงจำต้องวางอุเบกขา ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขา

          “คุณนาย อาตมารู้สึกเสียใจเหลือเกิน เสียใจแทนคุณนาย ที่อุตส่าห์มาเข้ากรรมฐานหลายครั้ง ๆ ละหลายวัน แต่ไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาชีวิต อุตส่าห์มาฝึกสติ แต่กลับแสดงออกเหมือนคนขาดสติ ไม่น่าเลย เสียชื่อลูกศิษย์วัดป่ามะม่วงหมด” ท่านพระครูลงทุน “เทศนา” คุณนายราศี รู้ว่าหล่อน “รับได้”

          พันเอกประวิทย์รู้สึกสะใจและนึกสมน้ำหน้าคนเป็นภรรยาที่ถูก “เทศน์” ฉลองปีใหม่ แสดงว่าหลวงพ่อท่านเชื่อในสิ่งที่เขาพูด เขามิรู้ดอกว่าท่านพระครูจะไม่สั่งสอนบุคคลที่ “รับไม่ได้” และท่านก็จะไม่พูดให้เขาต้องสะเทือนใจ ชายวัยสี่สิบไม่รู้ว่าตัวเองนั้นอยู่ในประเภท “อเวไนยสัตว์”

          “หลวงพ่อคะ ได้โปรดช่วยหนูด้วย ช่วยให้หนูพ้นจากสภาวะที่แสนทรมานนี้เสียที ได้โปรดเถอะค่ะ” สรีวัยสี่สิบอ้อนวอน

          “อาตมาช่วยได้ก็เพียงชี้แนวทางให้เท่านั้น นอกนั้นคุณนายต้องช่วยตัวเอง”

          “หนูมองไม่เห็นทางเลยค่ะหลวงพ่อ มันมืดแปดด้านเลย หนูหมดกำลังใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิตเสียแล้ว”

          “หมดแล้วก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้ สร้างกำลังใจขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับชีวิต อาตมาเชื่อว่าคุณนายทำได้ ไปตรองดูนะ คุณนายเป็นถึงครูบาอาจารย์ มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ปัญหาชีวิตแค่นี้คุณนายเอาชนะมันได้ อาตมาขอพูดสั้น ๆ ว่า ถ้าเราทำจิตใจของเราให้เข้มแข็ง ก็ไม่มีใครมาทำร้ายจิตใจของเราได้ เว้นเสียแต่ว่า ตัวเราเองจะทำร้ายตัวเอง

เอาละ กลับไปพักผ่อนที่กุฏิของคุณนายได้แล้ว ลูกรออยู่ไม่ใช่หรือ พูดกับเขาให้รู้เรื่อง ลูกสองคนน่ะ ส่วนคนอื่นถ้าพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนเป็นผัวเมียกัน เลิกกันก็กลายเป็นคนอื่น จำไว้นะคุณนาย”

          คุณนายราศีกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วเลี่ยงออกมาหาลูกซึ่งยืนหน้าซีดเซียวอยู่กับพี่เลี้ยงทางด้านหลังกุฏิ เห็นหน้าลูกก็ให้สงสารจับใจ จนต้องร้องไห้ออกมา หล่อนคิดได้เดี๋ยวนั้น ต่อแต่นี้ไปจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก หล่อนจะถนอมน้ำใจลูกและประคับประคองเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งสองอย่างดีที่สุด จะต้องทำหน้าที่ของพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน เพราะคนเป็นพ่อของลูกนั้น หล่อน “ตัดหางปล่อยวัด” ไปแล้ว เพิ่งตัดใจได้เดี๋ยวนี้เอง

          ภรรยาลุกออกไปแล้ว พันเอกประวิทย์ก็ได้โอกาส “กล่าวโทษ” ของฝ่ายนั้น ตามวิสัยของบุรุษผู้มี “กิเลสหนาตัณหามาก”

          “แย่จังนะครับหลวงพ่อ กรรมของผมเหลือเกินที่ต้องมามีเมียวิปริตผิดมนุษย์เช่นนี้” ท่านพระครูไม่ออกความเห็น เพราะคนที่พูดอย่างนี้น่าจะเป็นคุณนายราศีมากกว่า

          “คนที่มาด้วยเมื่อตอนเช้าไปไหนเสียล่ะ” ท่านเลี่ยงไปถามถึงผู้หญิงอีกคนหนึ่ง คนที่พันเอกประวิทย์กำลังลุ่มหลงอย่างหนัก

          “ผมพาหลบไปไหว้ที่สำนักชีครับ ไม่งั้นยายราศีอาละวาดตาย”

          “วัดป่ามะม่วงเลยกลายเป็นที่เล่นซ่อนหาว่างั้นเถอะ”

          “ครับ ก็สนุกตื่นเต้นดี” เขากลับเห็นเป็นเรื่องสนุก ท่านพระครูรู้สึกอ่อนอกอ่อนใจเป็นกำลัง จึงบอกกับเขาว่า

          “งั้นก็พากลับบ้านกลับช่องเสีย ประเดี๋ยวคุณนายราศีมาพบเข้าก็จะเกิดเรื่องอีก”

          นายทหารวัยสี่สิบก้มลงกราบสามครั้ง ก่อนลุกออกมายังพูดอีกว่า

            “ป่านนี้คงนั่งร้องไห้ขี้มูกโป่งแล้ว คนนี้เขาขี้แยครับหลวงพ่อ แต่นิสัยดีมาก ดีจริง ๆ ยายราศีเทียบไม่ติดเลย”

          “ถ้าดีจริงคงไม่แย่งสามีเพื่อนซึ่ง ๆ หน้าอย่างนี้หรอก” ท่านพระครูอยากจะพูดเช่นนี้ หากท่านก็ไม่ได้พูด เพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ตนหรือประโยชน์ท่าน

          “หลวงพ่อคะ หนูไม่กล้ามาเข้ากรรมฐานแล้วละค่ะ” คุณนายดวงสุดาพูดหลังจากนายทหารผู้นั้นลุกไปแล้ว

          “อะไรทำให้คุณนายคิดอย่างนั้นล่ะ”

          “ก็หนูไม่อยากเป็นแบบคุณนายราศีน่ะซีคะ แล้วก็ไม่อยากเป็นอย่างเพื่อนเธอด้วย อุตส่าห์พากันมาอยู่วัด แล้วคนนึงก็ออกงิ้ว อีกคนก็แย่งสามีคนอื่นหน้าตาเฉย” หล่อนว่า

          “คนอื่นคนไกลที่ไหนล่ะคะ เพื่อนกันแท้ ๆ ไม่น่าทำเลย” นางกิมเอ็งแย้ง หล่อนยิ้มให้คุณนายดวงสุดาอย่างเป็นมิตร

          “กิมเอ็ง มันไม่ใช่เรื่องของเราน่า อย่าลืมว่าเธอกำลังปฏิบัติกรรมฐานนะ” คหบดีปรามภรรยา ลูกชายสามคนนั่งสัปหงกเพราะความง่วง

          “แหม คุณนายพูดอย่างนี้ก็เสียชื่อวัดป่ามะม่วงหมดเลย เสียชื่อพระครูเจริญด้วย คนเขาจะได้เอาไปพูดว่าพระครูเจริญสอนลูกศิษย์ให้เพี้ยน” ท่านพูดด้วยเสียงที่ได้ยินกันทั่วทั้งกุฏิ

          “ไม่จริงครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งขัดขึ้น ตัวเขากับภรรยาปฏิบัติกรรมฐานสม่ำเสมอและเคร่งครัด จึงเข้าถึงความจริงอะไรบางอย่างที่คนบางคนยังเข้าไม่ถึง

          “ผมขอยืนยันว่ากรรมฐานไม่ได้ทำให้คนเพี้ยน การที่คุณนายคนนั้นกับเพื่อนทำอะไรเพี้ยน ๆ เพราะแกไม่ใช่นักปฏิบัติที่แท้จริง แกยังเข้าไม่ถึงหัวใจกรรมฐาน ผมว่าหลวงพ่อรู้เรื่องนี้ดีกว่าผม กรุณาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจด้วยเถิดครับ” เขาขอร้องท่านพระครู ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละญาติโยมที่รักทั้งหลาย ที่โยมเถ้าแก่พูดมานั้นถูกต้องเป็นจริงทุกประการ อาตมาจึงขอยืนยันว่า กรรมฐานไม่เคยทำให้ใครวิปริต ถ้าหากคนคนนั้นปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเอาจริงเอาจัง และโปรดเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องด้วยว่า คนที่มาปฏิบัติกรรมฐานไม่ใช่คนที่หมดกิเลสแล้ว เพราะถ้าหมดกิเลสก็ไม่จำเป็นต้องมาปฏิบัติ การมาปฏิบัติก็เพื่อจะให้กิเลสมันเบาบางลงและหมดไปในที่สุด เพราะฉะนั้นตราบใดที่เขายังไม่บรรลุธรรมขันใดเลย เขาก็ยังคงเป็นปุถุชนธรรมดาเหมือน ๆ กับคนทั่ว ๆ ไป ที่ยังมี รัก โลภ โกรธ หลง จึงอาจถูกกิเลสชักพาไปในทางเสื่อมได้”

          หลวงพ่อครับ วัดป่ามะม่วงนี่มีคนมาตีกันฉลองปีใหม่อย่างนี้ทุกปีหรือเปล่าครับ” ชายผู้หนึ่งถามขึ้น เขาเพิ่งมาวัดนี้เป็นครั้งแรกเพราะเพื่อนชวนมา

          “ไม่หรอกโยม เพิ่งจะครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่อาตมาก็ต้องขอโทษญาติโยมแทนคู่กรณีด้วย ออกนอกเขตวัดไปเมื่อไหร่รับรองตายทั้งคู่”

          “แล้วปีหน้าจะมีอีกไหมครับ ผมจะได้มาดูอีก”         

          “ไม่มีแน่ อันนี้อาตมารับรอง นี่ยังดีนะ คนมาตีกันในวัดก็ยังดีกว่าพระในวัดตีกันเอง” เสียงหัวเราะดังขึ้น ท่านจึงย้ำอีกว่า

          “อ้าว จริง ๆ นะ อาตมาไม่ได้พูดเล่น แต่ไม่ใช่พระวัดนี้หรอก วัดที่กรุงเทพฯ อย่าให้ออกชื่อเลย ประเดี๋ยวจะหาว่าเอาเขามาวิจารณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง อาตมาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อจะไปพบท่านเจ้าคุณรูปหนึ่ง ไปถึงเห็นท่านกำลังดุพระลูกวัดอยู่ ไม่ทราบดุอีท่าไหน พระรูปที่ถูกดุต่อยเปรี้ยงเข้าที่ใบหน้าถูกปากครึ่งจมูกครึ่ง ท่านเจ้าคุณสลบทันที หงายผึ่งลงไปนอนเลย” ท่านเล่าเหตุการณ์ที่เห็นมากับตา

          “แล้วพระรูปนั้นทำยังไงครับ เห็นท่านเจ้าคุณสลบแล้วท่านทำยังไง” ชายคนนั้นถามอีก

          “ท่านยังไม่ทันได้ทำอะไร ปรากฏว่าพระลูกวัดรูปอื่น ๆ กรูเข้าตะลุมบอนท่าน ทั้งต่อยทั้งเตะ ทั้งเหยียบสลมเหมือดไปเลย อาตมายืนงงเป็นไก่ตาแตก ตอนแรกนึกสงสารท่านเจ้าคุณ แต่ตอนหลังสงสารพระรูปนั้น อาตมาเลยรีบกลับวัดป่ามะม่วง เพราะไม่อยากไปเป็นพยานที่โรงพัก พระลูกวัดพวกนั้นพอซ้อมเขาสลบ แล้วยังพาส่งโรงพักอีกในข้อหาทำร้ายร่างกายท่านเจ้าคุณ”

          “หลวงพ่อก็เลยไม่ได้พูดธุระกับท่าน”

          “จะพูดยังไงเล่า ก็เขากำลังมีเรื่องไม่น่าถาม”

          “แล้วท่านเจ้าคุณถึงกับมรณภาพไหมคะ” คุณกิมง้อถาม

          “ไม่หรอกโยม แค่หมัดเดียว”

          “ผมว่าท่านอาจแกล้งสลบก็ได้ แกล้งทำเป็นสลบเพื่อให้ลูกน้องแก้แค้นแทน” นายต่อหายง่วงและพูดขึ้นอย่างที่ใจคิด

          “หนูอย่าไปว่าพระว่าเจ้า บาปนะหนูบาป” ท่านพระครูปรามด้วยใบหน้ายิ้ม ๆ รู้ว่าเจ้าคุณรูปนั้นสลบไปจริง ๆ โดยมิได้เสแสร้ง ก็ “เห็นหนอ” บอกอย่างนั้น

มีต่อ........๓๒
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 20, 2007, 08:48:25 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00032
๓๒...

          ท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน เมื่อเวลายี่สิบนาฬิกาตรง คหบดีกับบุตรภรรยารออยู่แล้ว คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของการสอบอารมณ์ วันพรุ่งนี้หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็จะพากันกลับกรุงเทพฯ

          “เอาละ หลวงตาจะสอบอารมณ์หนูทั้งสามคนก่อน เริ่มตั้งแต่คนเล็กเลยนะ ชื่อติ๋งใช่ไหม”

          “ใช่ครับ แหม หลวงตาจำแม่นจัง” หนุ่มติ๋งตอบ รู้สึกดีใจที่ท่านจำชื่อเขาได้

          “เป็นยังไงบ้าง พอง – ยุบ ชัดเจนดีหรือยัง”

          “ชัดเจนดีมากครับ”

          “แล้วเวลามันหายละ รู้หรือเปล่า”

          “รู้ครับ”

          “รู้ว่ายังไง”

          “รู้ว่ามันหายน่ะคร้บ” คนตอบไม่ได้ตั้งใจยวน หากก็ฟังเหมือนกับยวน

          “มันหายไปตอนพองหรือตอนยุบล่ะ”

          “ไม่ทราบครับ เพราะพอรู้มันก็หายไปแล้ว”

            “แสดงว่าสติยังจับไม่ทัน ต้องฝึกสติให้ว่องไวกว่านี้ จับให้ได้ว่ามันหายไปตอนพองหรือตอนยุบ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจครับ”

          “เข้าใจก็ดีแล้ว กลับบ้านต้องไปปฏิบัติต่อนะ อย่าเอาแต่ดูทีวี แล้วหนูจะเรียนเก่งขึ้น อยากเรียนอะไรก็เรียนได้ถ้าหนูไม่ทิ้งการปฏิบัติ จำที่หลวงตาพูดไว้ให้ดีนะ”

          “ครับ ผมตั้งใจจะเรียนหมอ หลวงตาว่าผมจะเรียนได้หรือเปล่าครับ”

          “ถ้าตั้งใจก็ต้องเรียนได้ เอาเถอะ ถ้าหนูไม่ทิ้งวิชากรรมฐาน หลวงตารับรองว่าในอนาคตหนูต้องได้เป็นคุณหมออย่างแน่นอน” หนุ่มติ๋งก้มลงกราบ “หลวงตา” ด้วยความปลื้มปีติ เกิดความมั่นใจขึ้นอย่างประหลาดว่า ตนจะได้สิ่งที่หวัง

          “แล้วต้อมล่ะเป็นอย่างไรบ้าง” ท่านถามหนุ่มต้อม

          “ผมง่วงมากครับหลวงตา ง่วงแม้กระทั่งเวลาเดินจงกรม ไม่เคยง่วงมากมายอย่างนี้มาก่อนเลยครับ” ท่านพระครูรู้ได้จากการบอกเล่าของเขา เด็กหนุ่มผู้นี้ปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากทีเดียว

          “แล้วหนูทำยังไง เวลาง่วงมาก ๆ น่ะ”

          “ผมก็นอนครับ แต่ก็แปลก พอนอนกลับไม่หลับ มันเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ อย่างบอกไม่ถูก” ท่านรู้ว่าเขาก้าวหน้ามาถึง “นิพพิทาญาณ” อันเป็นญาณที่ ๘ ใน โสฬสญาณ เขาเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว

          “หนูปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากนะ เอาเถอะพยายามเข้าแล้วจะประสบความสำเร็จ” ผู้สอบอารมณ์พูดให้กำลังใจ

          “แล้วผมจะทำอย่างไรให้หายง่วงครับหลวงตา”

          “การง่วงของหนูไม่ใช่ธรรมดานะ เป็นอาการของ “ญาณ” เขาเรียกว่าหนูเข้าถึง “นิพพิทาญาณ” เอาละ หลวงตาจะบอกวิธีขจัดความง่วงให้ แล้วท่านจึงบอกหนุ่มต้อมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อเข้าถึง ญาณ ๘ จากนั้นจึงสอบอารมณ์นายต่อ นางกิมเอ็ง และคหบดีตามลำดับ แล้วสรุปว่า

          “ผู้ที่ปฏิบัติได้ก้าวหน้ากว่าเพื่อนคือต้อม และที่ก้าวหน้าน้อยที่สุดคือ โยม” ประโยคหลังท่านพูดกับคหบดี

          “ผมได้ญาณไหนครับ” สามีนางกิมเอ็งถาม

          “ญาณ ๕ เรียกว่า ภังคญาณ ญาณทั้งหมด ๑๖ ที่เรียกว่าโสฬสญาณ ญาณ ๑ ชื่อรูปปริจเฉนทญาณ ส่วนญาณ ๑๖ ชื่อปัจจเวกขณญาณ ใครบรรลุถึงญาณนี้ก็ถือว่าเป็นพระอริยบุคคลระดับต้นที่เรียกว่า พระโสดาบัน”

            “งั้นผมก็เดินมาได้ครึ่งทางแล้วใช่ไหมครับ” หนุ่มต้อมถามอย่างยินดี

          “ถูกแล้วหนู แต่อีกครึ่งทางที่เหลือน่ะยากลำบากชนิดที่เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็นเชียวละ หนูต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดจึงจะเดินทางสายนี้ได้ตลอดสาย ต้องเดินกันข้ามภพข้ามชาติเชียวแหละ”

          “จะยากเย็นแสนเข็ญสักปานใด ผมก็จะพยายามครับหลวงตา ป๋าครับผมขออนุญาตบวชที่วัดนี้ได้ไหมครับ ผมอยากบวชไปจนตลอดชีวิต” หนุ่มต้อมพูด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ได้ยินว่าลูกจะบวชตลอดชีวิต คหบดีก็ใจแป้ว วิสัยของปุถุชนย่อมอยากเห็นบุตรหลานเจริญในทางโลกมากกว่า จึงพูดกับพระครูว่า

          “เราสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้ โดยไม่ต้องบวชไม่ใช่หรือครับ”

          “ถูกแล้ว แต่การบวชจะทำให้บรรลุได้เร็วกว่าการเป็นฆราวาส เมื่อท่านตอบดังนี้ เขาจึงหันไปพูดกับลูกว่า

          “ถ้าอย่างนั้น ป๋าอยากให้ลูกกลับบ้านก่อน กลับไปคิดหลาย ๆ วัน ถ้าลูกตั้งใจแน่วแน่ ป๋าก็คงไม่ขัดข้อง แต่ตอนนี้ป๋ายังทำใจไม่ได้ หรือหลวงพ่อว่าอย่างไรครับ” เขาขอความเห็นจากท่านพระครู

          “ก็แล้วแต่จะตกลงกันเองก็แล้วกัน อาตมาเป็นคนนอก ไม่อยากจะเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องครอบครัว”

          “อย่าบวชเลยต้อม นึกว่าเห็นแก่แม่เถอะนะ” นางกิมเอ็งบอกลูก

          “ทำไมหรือครับ ทำไมแม่ถึงไม่อยากให้ผมบวช” เด็กหนุ่มถามมารดา

          “เพราะแม่เสียพี่ต้นไปคนนึงแล้ว ไม่อยากเสียลูกไปอีกคน” คนเป็นแม่ตอบเสียงเครือ

          “แปลว่าพี่ต้นบวชอยู่ที่อเมริกาหรือครับ” หนุ่มต่อถาม เขาไม่รู้เรื่องที่พี่ชายติดยาเสพย์ติด

          “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะดีกว่า แต่นี่...” แล้วหล่อนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น

          “กิมเอ็ง พูดจาเหลวไหลไม่เข้าเรื่องน่า” สามีหล่อนว่า เขากลัวบุตรชายทั้งสามจะสงสัย ลูก ๆ จะรู้เรื่องนี้ไม่ได้

          “โยมแผ่เมตตาให้ลูกหรือเปล่า หลังจากปฏิบัติกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาไปให้เขาทุกครั้งอย่างที่อาตมาสอนหรือเปล่า”

          “เราทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำค่ะ” หล่อนตอบ

          “ผมกับน้อง ๆ ก็ทำครับ” หนุ่มต่อรายงานบ้าง

          “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรต้องห่วง อาตมาเชื่อว่าเขาจะต้องดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น” ท่านพูดกับนางกิมเอ็งและสามี

          “สาธุ” คนทั้งสองยกมือขึ้นประนมและพูดพร้อมกัน

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอกราบของพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ทำให้ผมกับครอบครัวได้พบความสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันเป็นความสุขที่สงบ ปราศจากความร้อนรนกระวนกระวาย แล้วก็ไม่ต้องใช้เงินทองซื้อหามาด้วย” คหบดีพูดอย่างปลาบปลื้ม

          “ค่ะ มีเงินทองมากมายสักปานใด ก็ไม่อาจซื้อความสุขแบบนี้ได้ เป็นบุญของดิฉันและลูกเหลือเกินที่ได้มาพบหลวงพ่อ” นางกิมเอ็งพูดพลางใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาวซับน้ำตา

          “บุญของผมด้วยครับ ถ้าไม่มาเข้ากรรมฐาน ผมก็คงยังไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ก่อนนี้ผมคิดแต่ว่าอะไรที่ทำให้ได้เงินมันก็ดีทั้งนั้น มาบัดนี้ผมรู้แล้วว่า เงินไม่ได้สำคัญที่สุดเสมอไป ความสุขสงบทางใจนั้นมีค่ามากกว่า ผมขอปฏิญาณต่อหน้าหลวงพ่อว่า นับแต่นี้ต่อไปผมจะละชั่ว และทำจิตให้ผ่องใสครับ” คำว่า “ละชั่ว” ของเขามีความหมายลึกซึ้งที่บุตรชายทั้งสามไม่เข้าใจ หากท่านพระครูเข้าใจ เด็กหนุ่มทั้งสามไม่รู้ว่าบิดาค้ายาเสพย์ติด และไม่รู้เรื่องพี่ชายติดยา

          “หลวงพ่อคะ แล้วเฮียจะต้องตายไหมคะ” นางกิมเอ็งถามด้วยความเป็นห่วงสามี

          “ผมไม่กลัวตายแล้วครับหลวงพ่อ มาปฏิบัติอย่างนี้แล้วผมไม่กลัวตายเหมือนแต่ก่อน หากการละชั่วจะทำให้ผมต้องตาย ผมก็ยินดี” คหบดีพูดอย่างกล้าหาญ เมื่อหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นใจใจ ทำให้เขารังเกียจขยะแขยงในความชั่ว และคิดว่าตายเสียยังดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อก่อกรรมทำชั่ว

          “โยมไม่ตายหรอกเพราะมีคนอื่นตายแทน” ท่านพระครูพูดเป็นปริศนา

          “ใครคะหลวงพ่อ ใช่ดิฉันหรือเปล่า ถ้าใช่ ดิฉันก็ยินดีตายแทนเฮียเขา ขออย่างเดียวอย่าให้เขามีเมียใหม่ ดิฉันไม่อยากให้ลูก ๆ มีแม่เลี้ยงค่ะ” นางกิมเอ็งคิดไปเสียไกล

          “ไม่ใช่โยมหรอก เอาละอย่าเพิ่งซักถาม ถึงเวลาก็จะรู้เอง ข้อสำคัญ คือให้หมั่นปฏิบัติทุกวัน ขอให้เชื่ออาตมาสักครั้ง”

          “หลวงตาครับ” หนุ่มต่อเอ่ยขึ้นบ้าง

          “ผมและน้อง ๆ ต้องกราบขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินหลวงตาในวันแรกที่เข้ามาปฏิบัติ”

          “อ้อ หนูล่วงเกินอะไรหลวงตาไว้ล่ะ”

          “ก็พูดไม่ดี คิดไม่ดีต่อหลวงตาน่ะซีครับ ผมโกรธที่หลวงตาไม่ยอมให้พวกเรารับประทานอาหารมื้อเย็น เลยพากันแอบนินทาหลวงตาเป็นการใหญ่ แต่ป๋ากับแม่ไม่ทราบหรอกครับ” นายต่อพูดจบก็พาน้อง ๆ กราบท่านพระครูสามครั้งเป็นการขอขมา

          “ตกลง หลวงตาอโหสิให้ แต่หนูก็ได้ไถ่โทษ การที่พวกหนูตั้งใจปฏิบัตินั่นแหละคือการไถ่โทษ”

          “พวกเราต้องกราบขอโทษป๋าด้วยที่คิดว่าป๋าบังคับ เดี๋ยวนี้พวกเรารู้แล้วว่าที่ป๋าทำไปก็เพราะความรักและหวังดีต่อพวกเรา” เด็กหนุ่มเข้าไปกราบแทบเท้าของผู้เป็นพ่อ คหบดีรู้สึกปีติจนน้ำตาคลอ ลูก ๆ เขาก็มีใบหน้าเครือน้ำตา ส่วนเมียเขานั้นร้องไห้เลยทีเดียว

          “เอาละ กลับไปปฏิบัติต่อยังกุฏิของตนได้แล้ว คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย ขอให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จะได้หมดเคราะห์หมดโศก โชคดีศรีสุขกันทั่วหน้า พรุ่งนี้ก่อนไปอย่าลืมไปลาอาจารย์บัวเฮียวล่ะ”

          “ไม่ลืมครับ พวกผมเป็นหนี้บุญคุณอาจารย์บัวเฮียวมากเลย สักวันหนึ่งคงจะได้ทดแทนพระคุณ”

          “อาจารย์บัวเฮียวท่านก็มีกรรมของท่าน ทุกคนมีกรรมด้วยกันทั้งนั้น อาตมาเองก็มี รู้สึกว่าจะหนักกว่าโยมและอาจารย์บัวเฮียวเสียอีก” ท่านพูดเรื่อย ๆ ด้วยเสียงที่ปกติ ไม่แสดงอาการหวั่นไหวหวาดกลัวให้ปรากฏ เพราะฝึกจิตไว้ดีแล้ว

          “คหบดีและครอบครัวลากลับไปแล้ว ท่านพระครูจึงขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ คืนนี้ไม่มีอาคันตุกะมาเยี่ยมเยือนหรือถามปัญหา คงจะหมดเรี่ยวหมดแรงกับการฉลองปีใหม่นั่นเอง

          ตอนเช้าของวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๑๗ หลังจากรับประทานอาหารมื้อเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คหบดีก็พาบุตรและภรรยามาลาท่านพระครู หลังจากนั้นจึงจะไปลาพระบัวเฮียว เด็กหนุ่มทั้งสามมีท่าทางอาลัยอาวรณ์วัดป่ามะม่วงมาก โดยเฉพาะหนุ่มต้อม แทบจะไม่ยอมกลับเลยทีเดียว

          “หลวงตาครับช่วยส่งพลังจิตไปดลใจให้ป๋ากับแม่อนุญาตให้ผมบวชด้วยนะครับ ผมอยากบวชโดยที่ป๋าและแม่เต็มใจและแม่ไม่ร้องไห้ ไม่งั้นผมก็ไม่สบายใจครับ” หนุ่มต้อมพูดออกมาจากใจ ท่านพระครูมองเขายิ้ม ๆ แต่ไม่พูดว่ากระไร

          “สำหรับผมยังไม่คิดบวชหรอกครับหลวงตา แต่ขออนุญาตมาที่นี่ในช่วยที่ปิดเทอมทุกครั้งได้ไหมครับ” หนุ่มติ๋งว่า

          “ตามสบาย หลวงตายินดีต้อนรับ จะมาเมื่อไหร่ก็ได้”

          “ส่วนผมตั้งใจว่าจะมาทุกเย็นวันศุกร์แล้วกลับเย็นวันอาทิตย์ รอให้ปิดเทอมคงคิดถึงหลวงตาแย่เลย” หนุ่มต่อพูดบ้าง

          ชายหญิงคู่หนึ่งเดินตรงมายังกุฏิ เด็กชายสามคนอายุไล่เลี่ยกันเดิมตามต้อย ๆ คนทั้งห้าเข้ามานั่งทางเบื้องหลังของคหบดีและครอบครัว กราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วนั่งสงบ “รอคิว” อยู่ ต่อเมื่อคหบดีและครอบครัวลุกออกไปแล้ว ผู้มาใหม่จึงพากันเลื่อนขึ้นมานั่งข้างหน้า แล้วกราบท่านเจ้าของกุฏิอีกครั้ง

          “มายังไงกันเล่านี่ หายไปเสียนาน นึกว่าลืมอาตมาเสียแล้ว” ท่านทักอย่างเป็นกันเอง บุรุษนี้ชื่อนายนิยม เคยมาบวชอยู่กับท่านหนึ่งพรรษาเมื่อสามปีที่แล้ว หลังจากสึกออกไปก็ไม่เคยมาอีก

            “ต้องกราบขอประทานโทษหลวงพ่อด้วย งานยุ่งเหลือเกิน ตั้งแต่เปลี่ยนจังหวัดพระนครมาเป็นรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ ผมไม่ได้หยุดเลยครับ” นายนิยมรายงาน

          “เดี๋ยวนี้คุณพี่เขาไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้วค่ะหลวงพ่อ ภรรยานายนิยมกล่าว หล่อนเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

          “ยังงั้นหรือ แล้วงานใหม่กับงานเก่าอย่างไหนหนักกว่ากันล่ะ”

          “ก็พอ ๆ กันแหละครับหลวงพ่อ แต่หนักไปคนละแบบ เรื่องงานหนักน่ะไม่เท่าไหร่ แต่หนักใจซีครับ กลัวว่าจะทนไม่ได้เข้าสักวัน” ทั้งสีหน้าและแววตาของผู้พูดแสดงว่าหนักใจจริง ๆ

          “หนักอกหนักใจอะไรนักหนาเชียว บอกอาตมาได้ไหมเล่าเผื่อจะช่วยได้” ท่านพูดอย่างปรานี

          “บอกได้ครับ แต่คงไม่รบกวนให้หลวงพ่อช่วย เพราะมันคงเกินกำลังของหลวงพ่อ ก็ปัญหาเรื่องคอรัปชั่นนั้นแหละครับ ผมเห็นแล้วสงสารประเทศชาติบ้านเมือง มันกินกันตั้งแต่ตัวเล็กไปจนถึงตัวใหญ่” เขาหมายถึง ข้าราชการบางพวกที่ทุจริตในหน้าที่

          “ปัญหาแบบนี้อาตมาช่วยไม่ได้หรอกโยม มันเกินกำลังอย่างที่โยมว่ามานั่นแหละ เอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมดีกว่า เราคอยดูอยู่เฉย ๆ ท่านกึ่งปลอบกึ่งปลง

          “บางครั้งมันก็เฉยไม่ได้ครับหลวงพ่อ พอเราเห็นคนดีถูกรังแก เราก็เฉยไม่ได้ เพื่อนผมอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม วันหนึ่งมีอาเสี่ยมาขออนุญาตตั้งโรงงาน เขาตรวจแบบแปลนแล้ว เห็นว่าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาต จึงไม่เซ็นอนุมัติ รุ่งเช้าแกมาใหม่ คราวนี้หอมเงินมาด้วย มาถึงก็ส่งเงินที่อัดใส่ซองพัสดุมาเต็มซองให้ เพื่อนผมตอบว่า “ผมเป็นข้าราชการมีเงินเดือนแล้วไม่ต้องรับเงินของคุณ ถ้าคุณทำมาถูกต้อง ผมก็จะเซ็นให้โดยไม่รับเงินเลย” เขาโกรธมาก รุ่งอีกวันก็มาอีก คราวนี้ถือนามบัตรของนายกรัฐมนตรีมาด้วย บอกเพื่อนผมว่านายกให้เซ็นอนุญาต เพื่อนผมเขาก็บอกว่า งั้นคุณไปบอกนายกให้มาพูดกับผมก็แล้วกัน เท่านั้นเองได้เรื่องเลยครับ”

            “ได้เรื่องว่ายังไงล่ะ” ท่านพระครูซัก

          “ก็มีเรื่องตอนเช้า พอตอนบ่ายถูกสั่งย้ายด่วน ย้ายไปอยู่ตำแหน่งที่ไม่มีงาน เขาเรียกว่าตำแหน่งลอยน่ะครับ เพื่อน ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหกคน ก็โดนด้วย ถูกย้ายรวดเดียวเจ็ดคนเลยครับ”

          “น่าเสียดายแทนชาติบ้านเมืองนะคะ คนดี ๆ ไม่เลี้ยง แบบนี้คนดีก็หมดกำลังใจทำงาน” แพทย์หญิงนลินเอ่ยขึ้น ลูกชายสามคนของหล่อนทนนั่งพับเพียบนาน ๆ ไม่ไหว จึงพากันลุกออกไปวิ่งเล่นที่ลานวัด พวกเขาเคยมาวัดนี้เมื่อครั้งบิดาบวช และช่วงนั้นก็มาบ่อยจนคุ้นเคยกับสถานที่เป็นอันดี

          “ผมว่านายกรัฐมนตรีไม่น่าทำอย่างนั้นเลย แบบนี้ประเทศชาติก็คงไปไม่รอด” นายนิยมกล่าว

          “ไม่ใช่ฝีมือนายกหรอกโยม อย่าไปโทษท่านสุ่มสี่สุ่มห้า บาปกรรมเปล่า ๆ ท่านเจ้าของกุฏิขัดขึ้น

          “หมายความว่าอย่างไรครับ” นายนิยมไม่เข้าใจ

          “ก็หมายความว่า มีการแอบอ้างชื่อนายกน่ะซี แต่คนที่เป็นตัวการนั้นที่แท้ก็คือนายของเพื่อนโยมนั่นแหละ คนที่สั่งย้ายน่ะ นาย้งนายกที่ไหนกัน” ท่านอธิบายตามที่ “เห็น”

          “นายเขาก็โดยนะครับหลวงพ่อ ในเจ็ดคนนั้นมีนายเขารวมอยู่ด้วย” นายนิยมแย้งเพราะผู้บังคับบัญชาของเพื่อนเขาก็รวมอยู่ในเจ็ดคนที่ถูกสั่งย้าย

          “ก็นายของนายยังไงล่ะ โยมลืมแล้วหรือที่เขาพูดกันว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้าน่ะ ลืมเสียแล้วหรือ” คำพูดของท่านพระครูทำให้นายนิยมเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ขณะเดียวกันก็ให้อ่อนใจกับระบบราชการมากยิ่งขึ้น ระบบราชการที่ไม่สนับสนุนคนซื่อสัตย์สุจริต

          “แหม ดิฉันว่าจะไม่พูดก็อดไม่ได้ ไหน ๆ ก็พูดเรื่องนี้กันแล้ว ก็เลยขอถือโอกาสพูดเสียเลย ดิฉันเห็นมากับตาจริง ๆ นะคะ ไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสีใคร ถ้าใครจะมาฟ้องร้อง ดิฉันก็ยินดี เพราะได้บันทึกเทปไว้เป็นหลักฐานด้วย” แพทย์หญิงนลินเอ่ยบ้าง

          “คุณหมอก็มีเรื่องเล่าเหมือนกันหรือ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ

          “ก็ว่าจะไม่เล่าแหละค่ะหลวงพ่อ แต่ไหน ๆ คุณพี่เขาเล่าเรื่องเพื่อนเขา ดิฉันก็ถือโอกาสเล่าเรื่องน้องสาวของดิฉันอีกราย รายนี้จ่ายไปร่วมล้านค่ะ คือเขาทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง คนที่เซ็นอนุมัติต้องเป็นระดับปลัดกระทรวง กว่าเขาจะเข้าถึงปลัดกระทรวงก็ต้องจ่ายเป็นค่าเบี้ยใบ้รายทางไปหลายแสน ตั้งแต่หน้าห้องอธิบดี ตัวอธิบดี หน้าห้องปลัดกระทรวง แม้แต่คนขับรถของปลัดกระทรวงก็ต้องจ่ายค่ะ แล้วเมื่อวานนี้เอง เขานัดปลัดกระทรวงมารับเงินที่บ้าน เขาก็เรียกดิฉันไปด้วย ดิฉันแอบบันทึกเทปไว้โดยไม่ให้เขารู้ตัว

          ปลัดกระทรวงท่านมากับคนขับรถ ถือกระเป๋าเอกสารเปล่า ๆ มาใบนึง มาถึงน้องสาวดิฉันก็แนะนำให้ดิฉันรู้จัก พร้อมกับออกตัวว่าเขาเป็นโสด ยังไม่มีคู่คิดเลยต้องอาศัยพี่สาว น้องสาวดิฉันก็จัดการนำธนบัตรใบละร้อยที่เพิ่งเอาออกจากธนาคารอัดใส่กระเป๋าใบนั้น อัดจนแน่นเลยค่ะ แล้วก็ยังใส่ซองให้คนขับรถอีกสองหมื่น”

          “แล้วในกระเป๋านั่นกี่หมื่น” ท่านถามไปอย่างนั้นเอง

          “ห้าแสนค่ะ ธนบัตรใบละร้อย ใหม่เอี่ยมห้าพันใบค่ะหลวงพ่อ หลวงพ่อเชื่อไหมคะ ตอนเขาเดินถือกระเป๋าเข้ามา ดูท่าทางเขาสง่า เดินตัวตรงเชียวค่ะ แต่พอขากลับเดินตัวเอียงเพราะกระเป๋าหนัก น้องสาวก็แกล้งถามว่า ท่านถือไหวไหมคะ ดิฉันจะให้เด็กถือไปส่งที่รถนะคะ ท่านก็ว่าไม่เป็นไร ผมถือเองได้ น้องสาวก็เดินไปส่งท่านที่รถซึ่งคนขับนั่งรออยู่ เขาก็ยื่นซองที่มีเงินสองหมื่นให้คนขับรถ ดิฉันเห็นแล้วนึกสมเพชมาก ๆ เลยค่ะ เป็นปลัดกระทรวงนะคะ ก็เลยคิดว่าจะจำคนชื่อนี้ นามสกุลนี้เอาไว้ จะบอกลูกบอกหลานด้วยว่าคนตระกูลนี้คอรัปชั่น”

          “ก็คุณหมอบอกว่าน้องสาวทำถูกต้อง แล้วทำไมต้องจ่ายเขาด้วยล่ะ” ท่านถามอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก

          “เขาไม่เซ็นอนุมัติค่ะ” พอดีเป็นธุรกิจระดับร้อยล้าน ต้องอาศัยความรวดเร็ว เห็นเขาโยกไปโย้มาก็เลยต้องจ่าย ที่เขาแกล้งโยกโย้ก็เพื่อจะเอาเงินนั่นแหละค่ะหลวงพ่อ”

          “แย่นะ คนสมัยนี้ไม่ยักกลัวบาปกลัวกรรม” ท่านพระครูพูดขึ้นเมื่อแพทย์หญิงนลินเล่าจบ เงียบกันไปครู่หนึ่ง นายนิยมก็พูดขึ้นว่า

          “พูดเรื่องนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงเพื่อนอีกคนหนึ่ง เขาเป็นตำรวจภูธรยศพันตำรวจโท วันหนึ่งเขาจับรถบรรทุกคันหนึ่งเป็นรถขนฝิ่น คนขับก็อ้างขื่อนายพลเอกคนหนึ่งแล้วขู่ให้ปล่อย เขาไม่ยอมปล่อยก็เลยถูกไล่ออก เขาแค้นมากครับ บอกว่าเขาทำงานอย่างสุจริต แต่ผลตอบแทนคือการถูกไล่ออก ส่วนเพื่อน ๆ ที่ทุจริตกลับได้ขึ้นขั้นขึ้นเงินเดือนกันเป็นแถว ๆ แบบนี้เมืองไทยจะไปรอดหรือครับหลวงพ่อ”

          “ก็ต้องคอยดูกันไปนั่นแหละ ถ้าไม่ตายเสียก่อนก็จะรู้ ข้อสำคัญก็คือ เราอย่าไปเอาเยี่ยงอย่างเขาก็แล้วกัน เราต้องรักษาความดีของเราเอาไว้” ท่านพูดเชิงตักเตือน

          “ผมไม่ทำอย่างนั้นแน่ครับ นี่ผมก็อึดอัดใจมาก อยากจะมาเรียนปรึกษาหลวงพ่อ ว่าจะลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวจะดีหรือไม่ ผมเบื่อระบบราชการเต็มทีแล้ว คนอื่นเขากินกัน พอเราไม่กินเขาก็เขม่น เจ้านายก็ไม่ชอบหน้าผมสักเท่าไหร่”

            “ไม่ต้องออกโยม ไม่ต้อง อยู่เป็นก้างขวางคอเขานั่นแหละดีแล้ว อย่างน้อยประเทศชาติก็ยังมีคนดีคอยถ่วงไว้บ้าง ถ้าโยมออกเขาก็ปราศจากเสี้ยนหนาม เลยพากันโกงกันกินสบายไป ประเทศชาติก็จะล่มจมเร็วขึ้น” ฟังท่านพูดแล้วนายนิยมก็มีกำลังใจ

          “ถ้าอย่างนั้นผมเห็นจะต้องกลับละครับ จะมาเรียนถามหลวงพ่อเท่านี้แหละ ถือโอกาสมากราบอำนวยพรปีใหม่ด้วย” เขาหันมาหาลูก ๆ แต่ไม่พบ “ไม่รู้พวกเด็ก ๆ หายไปไหน”

           “โน่นแหละ เล่นน้ำอยู่หลังวัดโน่น เมื่อกี้วิ่งเล่นที่ลานวัดแล้วเกิดร้อนก็เลยพาไปเล่นน้ำ” ท่านพูดราวกับตาเห็น สองสามีภรรยาจึงเดินไปที่ท่าน้ำ ก็พบลูก ๆ กำลังเปลือยกายล่อนจ้อนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานทั้งที่อากาศหนาว

          “ก้อง เก่ง กล้า ขึ้นได้แล้ว พ่อกับแม่จะกลับแล้ว” แพทย์หญิงนลินตะโกนเรียกลูก เด็กชายก้องจึงชวนน้อง ๆ วิ่งขึ้นจากน้ำมาสวมเสื้อผ้าซึ่งถอดกองไว้บนกอหญ้าริมตลิ่ง..

 
มีต่อ........๓๓
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 20, 2007, 08:49:12 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00033
๓๓...

          วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๗ เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้คนพากันมาวัดป่ามะม่วงแต่เช้ามืด แม้วันคืนจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป ปีใหม่มาปีเก่าลาลับ แต่หน้าที่และภารกิจของท่านพระครูดูเหมือนจะยิ่งหนักกว่าเดิม เพราะผู้คนนับวันก็ประสบปัญหาชีวิต ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนกันมากขึ้น ปัญหาชีวิตอันเป็นผลพวงของความเจริญด้านวัตถุ

          เสร็จจากสังฆกรรมในพระอุโบสถแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เดินมายังกุฏิที่ผู้คนมากหน้ากำลังรออยู่ จากนั้น ท่านก็จะเริ่มวินิจฉัยไขปัญหาให้พวกเขาตั้งแต่เวลาหกนาฬิกาถึงเจ็ดนาฬิกาสามสิบนาที จึงขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารเช้าร่วมกับภิกษุอื่น ๆ บนศาลา พวกชาวบ้านผู้มีศรัทธาจะนำอาหารคาวหวานมาทำบุญที่วัดป่ามะม่วงทุกวันพระ

          ผู้ทุกข์ร้อนรายแรกเป็นนักธุรกิจมาจากกรุงเทพฯ หน้าตาของเขาเศร้าหมอง เพราะการค้าขาดทุนร่วมสิบล้าน เขาได้รับคำแนะนำจากญาติว่า เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงท่านแก้ปัญหาเก่ง จึงสู้ดั้นด้นมาหาและนั่งตากยุงรอตั้งแต่ตีสี่

          “โยมมีอะไรจะให้อาตมาช่วยก็ว่าไปเลย” ท่านเป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อน เป็นการพูดที่ตรงไปตรงมา

          “ผมแย่แล้วครับหลวงพ่อ ธุรกิจของผมขาดทุนไปเกือบสิบล้าน ถ้าหลวงพ่อไม่ช่วย ผมคงต้องล้มละลายแน่” เขาบอกด้วยน้ำเสียงอ้อนวอน

          “โยมทำธุรกิจอะไรล่ะ”

          “ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งนอกครับ ผมทำมาสามปีเข้านี่แล้ว สองปีแรกกำไรดีมากครับ พอมาปีหนึ่งหกก็เริ่มขาดทุน แล้วกิจการก็แย่ลงเรื่อย ๆ จนเกือบจะล้มแล้วครับ หลวงพ่อโปรดช่วยผมด้วย”

          “แหม อาตมาก็ไม่สันทัดเรื่องธุรกิจเสียด้วยซี ไหนโยมช่วยอธิบายกระบวนการของมันให้อาตมาฟังหน่อยซิ แล้วอาตมาจะช่วยตรวจสอบให้ว่าทำไมมันถึงได้ขาดทุน” นักธุรกิจผู้นั้นจึงอธิบายว่า

          “ผมมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีทั้งเสื้อผ้าผู้ใหญ่และเด็ก สำหรับผู้ชายและผู้หญิง ผมจะส่งตัวอย่างไปให้ตลาดดู ตลาดที่ว่าก็มีทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศยุโรป และประเทศญี่ปุ่น เขาก็จะสั่งมาทีละมาก ๆ จนผลิตแทบไม่ทัน ก็รุ่งเรืองอยู่แค่สองปี มาปีที่แล้วก็เริ่มทรุด ทำให้ขาดทุนย่อยยับ ผมไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

          ท่านพระครูจำเป็นต้องรบกวน “เห็นหนอ” ให้ช่วยตรวจสอบให้ ชั่วอึดใจเดียวท่านก็พูดขึ้นว่า “โยมทราบดีเชียวละ จะให้อาตมาพูดตรง ๆ ไหมล่ะ”

          นักธุรกิจวัยห้าสิบเศษอ้ำอึ้งอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า “ครับ หลวงพ่อพูดตรง ๆ ได้เลยครับ”

          ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า “ก็โยมเล่นไม่ซื่อกับลูกค้านี่นา เวลาส่งตัวอย่างไปให้เขาดู โดยก็ใช้ผ้าชนิดดีราคาแพง แต่พอเขาสั่งมาจำนวนมาก ๆ โยมก็ใช้ผ้าอีกชนิดหนึ่งที่ดูคล้าย ๆ กัน แต่คุณภาพด้อยกว่า ราคาถูกกว่า โยมทำอย่างนี้เพราะความโลภ อยากได้กำไรมาก ๆ เขารู้ทันเขาก็เลยเลิกสั่ง อันนี้โยมจะไปโทษลูกค้าเขาก็ไม่ได้ จริงไหม” ท่านพูดด้วยเสียงที่ตั้งใจจะให้ทุกคน ณ ที่นั้นได้ยินเพื่อจะได้ “สอน” คนอื่นไปในตัว

          “คนอื่น ๆ เขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละครับหลวงพ่อ” บุรุษวัยเกินห้าสิบแอบอ้างผู้อื่นเป็นตัวอย่าง ทำให้คนฟังที่ไม่รู้เท่าทัน คิดว่าเขาไม่ผิด เพราะใคร ๆ ก็ทำอย่างที่เขาทำ

          “อ้อ หมายความว่าอะไรก็ตามที่คนส่วนใหญ่ทำ ย่อมหมายความว่า สิ่งนั้นถูกต้องดีงาม อย่างนั้นใช่ไหม”

          “คงไม่ใช่กระมังครับ” คนตอบชักไม่แน่ใจ

          “ถ้าอย่างนั้นโยมบอกอาตมามาตรง ๆ เลยดีกว่า ว่าสิ่งที่โยมทำไปนั้นมันถูกหรือผิด บอกมาเลย อาตมาไม่ชอบพูดอ้อมค้อม”

          “ผิดครับ แต่มันก็ทำให้รวยเร็วนะครับหลวงพ่อ คนอื่น ๆ ที่เขาทำก็รวย ๆ กันทั้งนั้น” นักธุรกิจยังคงมีทิฐิ

          “ไม่จริงละมั้ง ถ้าจริงโยมก็คงไม่มาให้อาตมาช่วย หรือโยมจะเถียง”

          “ไม่เถียงแล้วครับ หลวงพ่อกรุณาแนะนำผมด้วยเถิดครับว่าทำอย่างไรธุรกิจของผมจึงจะคืนสู่สภาพเดิม”

          “มันก็ไม่ยากหรอกโยม แต่มันก็ไม่ง่ายถ้าโยมไม่สามารถปฏิบัติตามที่อาตมาแนะนำ”

          “ผมจะปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำทุกอย่างครับ” นักธุรกิจพูดอย่างมีความหวังขึ้นมาบ้าง

          “ดีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายจำไว้เป็นตัวอย่างเชียวนะ” ท่านพูดกับทุกคนในที่นั้น บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ในกุฏิขณะนี้ ผู้ที่จะมาถามปัญหาแบบเดียวกันมีอีกสองราย ท่านจะได้ถือโอกาสตอบเสียในคราวเดียวกัน เป็นการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว” เมื่อจะพูดต่อ ท่านทำความตกลงกับเจ้าของเรื่องว่า

          “โยมอย่าหาว่าอาตมาเอาโยมมาประจานนะ ก็เมื่อกี้โยมว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน แปลว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอับอายใช่ไหม”

          “ครับ ผมไม่คิดว่าหลวงพ่อประจาน ถ้าหลวงพ่อทำให้ผมขายดีเหมือนเก่าได้” นักธุรกิจยอมรับหากก็มีเงื่อนไข

          “ถ้าอย่างนั้นก็ฟังให้ดี การกระทำของโยมถือว่าเป็นการทุจริต หลอกลวงลูกค้า การหากินในทางทุจริตนั้นมันทำให้รวยก็จริง แต่รวยได้ไม่นานก็ต้องเจ๊ง” คำสุดท้ายท่านใช้ศัพท์ภาษาจีน เพื่อความทันสมัย

          “แล้วผมจะแก้ไขอย่างไรครับ”

          “ประการแรก โยมก็ต้องเลิกหลอกลวงเขาด้วยการ “ยัดไส้สินค้า” ใช่ไหม ที่โยมทำอยู่ เขาเรียกว่ายัดไส้สินค้าใช่ไหม อันนี้อาตมาเคยได้ยินแต่เขาพูด”

          “ถูกแล้วครับหลวงพ่อ สมัยนี้ใคร ๆ เขาก็ใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น ไม่งั้นมันก็ไม่รวยครับ” นักธุรกจิสนอง

          “นั่นไง เอาอีกแล้วไง อาตมาสอนอยู่แหม็บ ๆ โยมก็มาเป็นแบบเดิมอีกแล้ว “ท่านว่าตรง ๆ

          “ก็มันเรื่องจริงนี่ครับหลวงพ่อ ผมเพียงแต่หยิบยกเอาเรื่องจริงขึ้นมาพูดเท่านั้นเอง” ชายวัยเกินห้าสิบเถียงอย่างดื้อรั้น

          “โยมนี่ดื้อเสียยิ่งกว่าแมวอีก อาตมาว่าแมวมันดื้อแล้วนะ”

          “ครับ ผมไม่ดื้อแล้วครับ ตกลงผมยอมหลวงพ่อ จะไม่ทำอย่างที่ทำอีก ตัวอย่างสินค้าเป็นยังไง ผมก็จะส่งให้เขาตามนั้นทุกประการ”

          “แล้วฝีมือด้วยนะ ไม่ใช่ตัวอย่างตัดเย็บด้วยฝีมือประณีต แต่พอส่งไปให้เขาเป็นฝีมืออีกระดับหนึ่ง” ท่านพูดดักคอ

          “แหม หลวงพ่อนี่ละเอียดจริง ๆ ผมศรัทธาเต็มที่เลยนะครับนี่” เขาชมเป็นครั้งแรกและด้วยความจริงใจ หากท่านไม่พูดเช่นนี้ออกมาเสียก่อน เขาก็คิดอยู่แล้ว ว่าจะหลอกลวงโดยวิธีนี้ คือใช้วัสดุคุณภาพและราคาแบบเดียวกับตัวอย่าง แต่จะลดความประณีตลง เป็นการประหยัดต้นทุนด้านค่าแรง เมื่อท่านพระครูเตือนล่วงหน้าไว้เช่นนี้ เขาก็จำเป็นต้องเชื่อท่าน

          “ตกลงผมจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำครับ แล้วนานเท่าไหร่ผมถึงจะฟื้นตัวครับ”

          ยัง ยังไม่หมดแค่นี้ ที่พูดมาเพิ่งได้ประการเดียว ยังมีประการอื่น ๆ อีก นั่นก็คือโยมจะต้องสวดมนต์ทุกวัน สวดเป็นไหม”

          “ไม่เป็นเลยครับ”

          “เอาละไม่เป็นไร เดี๋ยวอาตมาจะแจกบทสวดมนต์ มีคนเขาพิมพ์มาถวายไว้สำหรับแจก” ท่านหยิบแผ่นปลิวขนาด ๑’ x ๑.๒๕’ ขึ้นมาแจก ในนั้นมีบทสวดมนต์พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เพื่อความสะดวกในการอ่าน ท่านส่งให้นักธุรกิจ แต่ปรากฏว่ามีบุรุษอีกสองคนที่นั่ง ณ ที่นั้นขออีกคนละแผ่น คนหนึ่งมีธุรกิจทำกระเป๋าถือส่งต่างประเทศ อีกคนทำรองเท้าหนัง และคนทั้งสองใช้วิธีเดียวกับคนแรกในการหลอกลวงลูกค้า คือใช้วิธี “ยัดไส้สินค้า” คนทั้งสามรับแผ่นปลิวมาอ่านแล้วพูดขึ้นเกือบจะพร้อมกันว่า “อ่านยากจังครับ”

          “ยากที่ไหนกัน เขาอุตส่าห์พิมพ์ตัวโต ๆ ให้ยังจะว่าอ่านยากอีก”

          “ผมหมายถึงข้อความน่ะครับ” เจ้าของธุรกิจกระเป๋าถือว่า อีกสองคนก็คิดอย่างเดียวกัน

          “นั่นเพราะโยมไม่เคยสวดมนต์น่ะซี นี่อาตมาอุตส่าห์เขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยนะ ถ้าเขียนแบบภาษาบาลี โยมจะยิ่งแย่กว่านี้ แต่เอาเถอะค่อย ๆ อ่านไปก่อนแล้วจะจำได้ เมื่อจำได้ก็จะสวดมนต์เป็น ถ้าไม่อยากล้มละลายก็ทำตามนี้ เข้าใจไหม”

          “อ่านหมดนี่เลยหรือครับ”

          “ถูกแล้ว อ่านหมดนี่หนึ่งเที่ยว แล้วอ่านเฉพาะบทพุทธคุณเท่าจำนวนอายุบวกหนึ่ง”

          “ตรงไหนครับที่เรียกว่าบทพุทธคุณ”

          “แหม โยมนี่ไม่เอาไหนเลยจริง ๆ นะ” ท่านว่าคนเดียว แต่มีคนร้อนตัวถึงสามคน

            “บทพุทธคุณ ก็ตั้งแต่ อิติปิโส ไปจนถึง ภะคะวาติ นั่นแหละ โยมอายุเท่าไหร่ล่ะ”

            “สี่สิบแปดครับ” เจ้าของธุรกิจกระเป๋าถือตอบ

          “สี่สิบแปดก็สวดสี่สิบเก้าจบ”

          “แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้หลงครับ ผมกลัวจำไม่ได้ว่าสวดกี่จบแล้ว”

          “อันนี้โยมมาวิธีเอาเอง อาตมาเชื่อว่าคนเป็นนักธุรกิจย่อมหาวิธีจนได้นั่นแหละ”

          “ใช้วิธีนับก้านไม้ขีดซี” เจ้าของธุรกิจรองเท้าแนะนำ

          “งั้นผมอายุห้าสิบหกก็ต้องสวดห้าสิบเจ็ดจบใช่ไหมครับหลวงพ่อ” นักธุรกิจคนแรกถามอย่างรู้สึกท้อแท้

          “ก็ต้องอย่างนั้น” ท่านเจ้าของกุฎิตอบ

          “แล้วผมจะมีเวลาหรือครับ วัน ๆ ผมไม่ค่อยว่างเลย” ท่านพระครูรู้สึกอ่อนใจ จึงบอกเขาว่า

          “เลือกเอาก็แล้วกัน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สำเร็จ แต่ถ้าทำได้ก็จะเห็นผลภายในสามเดือนเป็นอย่างช้า”

          “ให้ภรรยาสวดด้วยได้ไหมครับ”

          “ได้ ยิ่งช่วยกันสวดยิ่งเห็นผลเร็ว”

          “ถ้าให้สวดแทนผมล่ะครับ” เขาต่อรอง

          “สวดแทนไม่ได้ซี ช่วยกันสวดนี่ อาตมาหมายความว่า ต่างคนต่างสวดเท่าอายุของตัวเองบวกหนึ่ง ภรรยาโยมอายุเท่าไหร่ล่ะ”

          “สี่สิบหกครับ”

          “ก็ให้เขาสวดสี่สิบเจ็ดจบ” เข้าใจไหมล่ะ

          “เข้าใจครับ ขอบพระคุณหลวงพ่อมากครับ” รู้วิธีแก้ปัญหาแล้ว นักธุรกิจผู้นั้นจึงกราบลา ปรากฏว่ามีผู้ตามเขาออกมาอีกสองคน ท่านพระครูประสบความสำเร็จในการ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว”

            “หลวงพ่อคะ ฉันกับสามีทำโรงงานผลิตเครื่องตกแต่งบ้าน ไม่เคยยัดไส้สินค้า ไม่เคยโกงลูกค้า แต่ทำไมทำมาหากินไม่ขึ้นล่ะคะ” ผู้ทุกข์ร้อนรายที่สองเป็นสตรีวัยสามสิบเศษ หล่อนมากับสามีวัยเดียวกันที่นั่งก้มหน้าคอตกอยู่ ข้าง ๆ ท่านพระครูตอบไปตามที่ “เห็นหนอ” รายงานว่า

          “โยมไม่ปฏิบัติพระในบ้านน่ะซี”

            “ในบ้านผมไม่มีพระครับหลวงพ่อ” สามีเงยหน้าขึ้นตอบ “ถ้าจะมีก็คงเป็นพระพุทธรูปใช่ไหมคะ”

          “ไม่ใช่หรอกโยม อาตมาหมายถึง คุณพ่อคุณแม่ของโยมน่ะ เพราะโยมไม่ปฏิบัติท่าน โยมถึงได้ทำมาหากินไม่ขึ้น”

          “ฉันก็เลี้ยงดูแกนี่คะ เพื่อนบ้านฉันเสียอีกที่เอาพ่อแม่ไปไว้บ้านบางแค”

          “เอาอีกแล้ว อ้างผู้อื่นเป็นอย่างอีกแล้ว อาตมาเพิ่งว่าโยมผู้ชายคนนั้นไปหยก ๆ” ท่านหมายถึงนักธุรกิจที่เพิ่งลากลับไป

          “ขอทีเถอะนะโยมนะ อย่ามองออกนอกตัวเลย ให้มองเข้ามาที่ตัวเรานี่แหละ มันมีข้อบกพร่องตรงไหนก็ค่อย ๆ แก้ไขไปโดยไม่ต้องไปเพ่งโทษผู้อื่น เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจค่ะ หลวงพ่อกรุณบอกวิธีแก้ไขด้วยเถิดค่ะ”

          “ก่อนที่จะแก้ไข โยมก็ต้องรู้ข้อบกพร่องของตัวเองก่อน โยมบกพร่องตรงไหนรู้ไหม”

          “ไม่ทราบค่ะ”

          “นั่นไงเห็นไหม ตัวของตัวยังไม่รู้เลย แล้วยังเที่ยวไปรู้ตัวของคนอื่น เอาละ ถึงยังไงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับอาตมา เพราะคนอื่น ๆ เขาก็เป็นแบบโยมนี่แหละ” สตรีวัยกว่าสามสิบมีสีหน้าดีขึ้น เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้บกพร่องแต่เพียงผู้เดียว อย่างน้อย ๆ ก็ยัง “มีเพื่อน”

          “หลวงพ่อช่วยชี้ข้อบกพร่องของฉันด้วยเถอะค่ะ แล้วฉันจะได้หาทางแก้ไข”

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็ฟังให้ดี โยมไม่ปฏิบัติพ่อแม่ หมายความว่า โยมให้ท่านไปอยู่ที่โรงงาน อยู่ห้องอับ ๆ    มืด ๆ ให้กินข้าวรวมกับพวกคนงาน ในขณะที่โยมอยู่บ้านหลังใหญ่กับสามีและลูก ๆ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ที่อาตมาพูดมานี่จริงหรือเปล่า”

          “จริงค่ะ” หล่อนพูดเสียงเครือและมองเห็นข้อบกพร่องของตัวเองอย่างชัดแจ้ง

          “ดีแล้วที่โยมยอมรับผิด ทีนี้อาตมาก็จะบอกวิธีแก้ไข โยมต้องรับท่านเข้ามาอยู่บ้านเดียวกับโยม กลับไปนี่ไปจัดการเสีย โยมกินดีอยู่ดีอย่างไร ก็ต้องให้พ่อแม่กินดีอยู่ดีอย่างนั้นด้วย เอาละโยมกลับไปก็หาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอขมาท่าน เอาน้ำล้างเท้าให้ท่าน และให้ท่านอโหสิกรรมให้ แล้วกิจการค้าของโยมก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ทำได้ไหมเล่า”

          “ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นหนูกับสามีขอกราบลา”

          “เจ้าทุกข์” รายที่สามกำลังจะเอื้อนเอ่ย “ธุระ” นายสมชายก็คลานเข้ามาขัดจังหวะว่า “หลวงพ่อครับ นิมนต์ขึ้นศาลาครับ เลยเวลามาหลายนาทีแล้ว”

          “อ้าวได้เวลาแล้วหรือ”

          “ได้มาหลายนาทีแล้วครับ” นายสมชายย้ำ ท่านจึงพูดกับผู้คนที่นั่ง ณ ที่นั้นว่า

          “ประเดี๋ยวนะ ขอเวลานอกก่อน ญาติโยมก็ไปทานอาหารกันได้แล้ว ที่โรงครัวเขาคงเตรียมเสร็จแล้ว เชิญทุกคนเลยนะ ใครมาวัดป่ามะม่วงแล้วไม่ได้ทานอาหารถือว่าไม่ได้มา” พูดแล้วท่านจึงลุกจากอาสนะเพื่อจะเดินไปยังศาลา “สาวรุ่น ๆ คนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาหา หล่อนคุกเข่าลงต่อหน้าท่าน ประนมมือพร้อมกับพูดว่า

          “หลวงพ่อคะ ขอเวลาหนูหนึ่งนาทีค่ะ หนูมีธุระด่วนมาก” หล่อนพูดอย่างรีบร้อน และไม่อาจ “รอคิว” ได้

          “พูดไปเลยหนู” ท่านอนุญาต

          “พี่สาวหนูถูกรถชนอาการสาหัสค่ะ ตอนนี้อยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. หนูมาขอบารมีหลวงพ่อให้เขารอดชีวิตด้วย” ท่านพระครูรู้ว่าบรรดาคนที่มาในวันนี้ ยังมีอีกสามรายที่มีจุดประสงค์เดียวกับเด็กสาว จึงบอกพวกเขาว่า

          “เอาละ คนที่มาธุระเรื่องเป็นเรื่องตายให้จดชื่อและนามสกุลใส่พานวางไว้ที่อาสนะของอาตมา ไม่ใช่ชื่อของคนที่มาหา” ท่านจำเป็นต้องบอกให้แจ่มแจ้ง เพราะคนแต่ละคนระดับสติปัญญาไม่เท่ากัน และความผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็เคยปรากฏมาแล้วบ่อยครั้ง พูดจบท่านก็เดินไปยังศาลา บรรดาคนเจ้าทุกข์ทั้งหลายก็พากันเดินไปยังโรงครัวเพื่อรับประทานอาหาร

          หนึ่งชั่วโมงผ่านไป เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เดินกลับมายังกุฏิ ท่านขอตัวเข้าไปล้างมือและบ้วนปากในห้องน้ำใต้บันได แล้วจึงออกมานั่งที่อาสนะ ในพานมีกระดาษสี่แผ่นวางอยู่ ท่านหยิบมาอ่านทุกแผ่น แล้วพูดขึ้นว่า

          “ดูเอาเถอะ ใครจะเป็นจะตายก็ต้องมาให้อาตมาช่วย ยังกะอาตมาเป็นผู้วิเศษแน่ะ นะโยมนะ” ท่านพยักเพยิดกับ เจ้าทุกข์ ที่นั่งอยู่แถวหลังสุด

          “หลวงพ่อครับ ผมสงสัยจังครับ คนที่กำลังจะตาย เราช่วยไม่ให้เขาตายได้จริง ๆ หรือครับ” คนถามเป็นบุรุษวัยห้าสิบ เขาเลี่ยงมาใช้คำว่า “เรา” แทน “หลวงพ่อ”

          “มันก็ขึ้นอยู่กับกรรมนั่นแหละโยม ถ้าเขาต้องตายจริง ๆ อาตมาก็ช่วยไม่ได้ อย่าว่าแต่อาตมาเลย ต่อให้ผู้วิเศษที่ไหนก็มายับยั้งความตายไม่ได้ ที่ว่าขึ้นอยู่กับกรรมก็หมายความว่า ถ้าเขายังมีกรรมดีอยู่บ้าง อาตมาก็ช่วยเพิ่มให้ได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่มีกรรมดีอยู่เลย ก็ช่วยไม่ได้ เปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ก็คือ มันเหมือนกับแบตเตอรี่ ถ้าอาตมาชาร์จไฟมาให้ แต่แบตเตอรี่หม้อนั้นเก็บไฟไม่อยู่ มันก็จะรั่วออกหมด เรื่องอย่างนี้มันซับซ้อน ที่อาตมาพูดมาก็ใช่ว่าจะถูกทั้งหมด เพราะมันมีปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบอีก ถ้าจะอธิบายโดยละเอียดวันนี้ทั้งวันก็ไม่จบ เอาเรื่องเฉพาะหน้าดีกว่า” เมื่อท่านพูดดังนี้ ผู้มีทุกข์รายที่สามจึงเอ่ยธุระของตน

          “หลวงพ่อครับ ผมมีปัญหาเรื่องลูก ลูกชายลูกสาวผมเอาดีไม่ได้สักคน ทั้งที่ผมกับภรรยาเลี้ยงดูเขาอย่างดี ผมเป็นวิศวกร ภรรยาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ลูกไม่เอาถ่าน ไม่เจริญรอยตามพ่อแม่เลยสักคน” วิศวกรวัยห้าสิบระบายความอึดอัดขัดข้องใจออกมา

          “โยมมีลูกกี่คน”

          “สี่คนครับ ผู้หญิงสอง ผู้ชายสอง”

          “แล้วเขามีครอบครัวกันหรือยัง”

          “คงยังมั้งครับ ตอนนี้ไม่มีใครอยู่กับพ่อแม่เลย พากันหนีออกจากบ้านหมด เห็นว่าลูกชายไปเป็นอันธพาล ลูกสาวไปเป็นนักร้องตามคลับตามบาร์” เขาพูดอย่างขัดเคือง “เห็นหนอ” ทำหน้าที่อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องให้บอก ท่านรู้ความเป็นไปของครอบครัวนี้เป็นอย่างดี จึงพูดขึ้นว่า

          “โยมไม่น่าทำรุนแรงกับลูกนี่นา ด่าว่าเขาแล้วยังไม่พอ ยังไปเตะไปต่อยเขาอีก ลูกเขาเป็นหนุ่มเป็นสาว โยมไปเตะเขา เขาก็หนีนะซี แล้วภรรยาโยมก็ด่าลูกแทบทุกวัน ใครเขาจะอยากอยู่ด้วยล่ะ” วิศวกรผู้นั้นนั่งก้มหน้า นึกถึงความผิดพลาดที่ทำไว้กับลูก

          “แล้วผมจะทำอย่างไรครับหลวงพ่อ ผมอยากให้ลูก ๆ กลับมาครับ”

          “โยมต้องสวดมนต์ ทำอย่างที่อาตมาแนะนำนักธุรกิจไปเมื่อสักครู่นี้ ทำได้ไหม” ท่านพูดพร้อมกับส่งบทสวดมนต์ให้แผ่นหนึ่ง

          “ช่วยกันสวดนะ ทั้งโยมและภรรยาโยมนั่นแหละ สวดเสร็จก็แผ่เมตตาไปให้ลูก ๆ ขอให้เขามีความสุขความเจริญ ไม่ช้าเขาก็จะพากันกลับมา แล้วอย่าไปดุไปว่าเขาอีกนะ ให้พูดกับเขาดี ๆ ทำได้ไหม”

          “ได้ครับ” บุรุษวัยห้าสิบรับคำหนักแน่น แล้วจึงถือโอกาสกราบลา

          ท่านพระครูช่วยแก้ปัญหาให้เจ้าทุกข์อีกหลายราย กระทั่งถึงเวลาสิบเอ็ดนาฬิกาจึงบอกให้พวกเขาไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงครัว ส่วนท่านถือใบรายชื่อคนที่กำลังจะตายสี่รายขึ้นไปข้างบนเพื่อจัดการ “ส่งพลัง” ไปช่วยเหลือ ยังมีเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงกว่าพวกเขาจะรับประทานอาหารเสร็จ และหนึ่งชั่วโมงนี้เป็นของคนสี่คนที่ญาติระบุว่ากำลังจะตาย ชั่วโมงต่อ ๆ ไปก็เป็นของ “เจ้าทุกข์” รายอื่น ๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปเสร็จสิ้นตอนกี่ทุ่มกี่ยาม เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ท่านมีชีวิตอยู่เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยแท้...

       
มีต่อ........๓๔
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 21, 2007, 08:04:10 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00034
๓๔...

            พระบัวเฮียวแอบตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาศิษยานุศิษย์ที่มาปรึกษาปัญหาธรรมะกับท่านพระครูนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นคนจีน ข้างฝ่ายคนไทยกลับมีน้อย คนที่จะสนใจธรรมะและเมื่อมาวัดก็จะแบกปัญหาหนักอกมาให้ท่านพระครูช่วยแก้ หลังจากนั้นก็จะหายหน้าหายตาไป ต่อเมื่อต้องการให้ท่านช่วยอีกจึงจะมาให้เห็น ผิดกับคนจีนซึ่งจะมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังสนใจธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จนสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ท่านพระครูจึงชื่นชมคนจีนในแง่นี้ด้วย ในแง่อื่น ๆ ด้วย

          เช้านี้อากาศปลอดโปร่งกว่าทุกวัน ทั้งยังปลอดคนอีกด้วย เพราะตาม “รายการ” ท่านพระครูต้องไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ แต่ทางผู้จัดเขาโทรเลขด่วนมาขอเลื่อน ท่านจึงไม่ต้องไปไหน

          ฉันเช้าแล้วพระบัวเฮียวจึงถือโอกาสมาเรียนปรึกษาปัญหาธรรมะกับผู้เป็นอาจารย์ จะให้ท่านสอบอารมณ์ให้ด้วย “หลวงพ่อครับ ผมถูกถีนมิทธนิวรณ์คุกคามอย่างหนักเลยครับ มันง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา เดินจงกรมก็ง่วง ปฏิบัติตามวิธีขจัดความง่วง อย่างที่หลวงพ่อเคยแนะนำก็ไม่หายง่วง ผมก็เลยต้องนอนเพราะคิดว่าคงจะหาย”

          “แล้วหายไหมล่ะ” พระอุปัชฌาย์ถาม

          “ไม่หายครับ แล้วก็นอนไม่หลับด้วย ง่วงเหมือนจะเป็นจะตาย แต่พอนอนกลับไม่หลับ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นครับ”

          “นั่นเป็นอาการของญาณนะบัวเฮียว ไม่ใช่ถีนมิทธนิวรณ์แต่ประการใด”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ” ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ

          “หมายความว่าอาการที่เธอเล่ามานั้นเป็นอาการของผู้ที่เข้าถึง “นิพพิทาญาณ” ซึ่งเป็นญาณที่ ๘

          “งั้นผมก็เดินมาได้ครึ่งทางแล้วซีครับ” พระบัวเฮียวพูดอย่างยินดี

          “ถูกแล้ว แต่อย่าเพิ่งดีใจ มีคนได้ญาณนี้ก่อนเธอมาหลายคนแล้ว ไม่ใช่เธอเป็นคนแรกที่ได้หรอกนะ คนที่ได้รายล่าสุด ก็คือลูกชายของคหบดี ดูเหมือนจะเป็นคนที่ชื่อนายต้อม”

          “งั้นก็แปลว่าผมไปช้ากว่าลูกศิษย์หรือครับ”

          “ก็คงยังงั้น แต่ช้าของเธอน่ะ ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า “สโลว์บัทชัวร์” เข้าใจหรือเปล่า”

            “ผมไม่เคยเรียนภาษาฝรั่งครับ หลวงพ่อได้โปรดอธิบายให้คนต่ำต้อย ด้อยปัญญาอย่างผมฟังหน่อยเถิดครับ”

          “ถ่อมตัวเหลือเกินนะ วันนี้วันอะไรหนอ พระบัวเฮียวถึงได้สงบเสงี่ยมเจียมตัวอย่างนี้” อาจารย์สัพยอกคนเป็นศิษย์

          “คงไม่ใช่วันพระแน่ครับ” คนเป็นศิษย์ตอบฉับพลัน

          “รู้แล้ว แต่ฉันอยากรู้ว่าทำไมเธอถึงได้ถ่อมตัวมากมายนัก วันอื่นไม่เห็นเป็นอย่างนี้เลยนี่นา”

          “ก็วันนี้ผมอยากได้วิชาน่ะครับ ส่วนวันอื่นไม่อยากได้” พระบัวเฮียวถือโอกาส “ยวน”

          “เธออยากได้วิชาอะไรล่ะ” พระอุปัชฌาย์ย้อนถาม

          “วิชาขจัดความง่วงที่เกิดจาก นิพพิทาญาณ น่ะครับ”

          “เอาเถอะ จะบอกให้เอาบุญ” แล้วท่านจึงบอกวิธีปฏิบัติตนเมื่อเข้าถึงนิพพิทาญาณแก่พระบัวเฮียว แบบเดียวกับที่เคยบอกนายต้อม พระหนุ่มกล่าวคำขอบคุณแล้วถามอีกว่า

          “แล้วที่หลวงพ่อพูดภาษาต่างประเทศเมื่อตะกี้เสียงโล ๆ ชัว ๆ น่ะครับ หมายความว่าอย่างไรครับ”

          “หมายความว่าเธอเข้าถึงญาณที่ ๘ ช้ากว่านายต้อมก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะบรรลุญาณ ๑๖ ทีหลังเขา ฉันมองหน้าเธอก็รู้ว่าหน้าอย่างเธอถึงจะไม่ฉลาดซักเท่าไหร่ แต่ก็แน่ใจได้ว่าเธอจะต้องบรรลุโสดาปัตติผลเป็นอย่างต่ำ นี่พูดถึงเฉพาะชาตินี้เท่านั้นนะ” ท่านอธิบาย

          “แล้วนายต้อมล่ะครับ ในเมื่อเขาได้ญาณ ๘ ก่อนผม เขาก็น่าจะได้ญาณ ๑๖ ก่อนผมด้วย ถูกไหมครับ”

          “มันไม่เสมอไปหรอกบัวเฮียว ฆราวาสที่เข้ามาปฏิบัติมีสิทธิ์ได้ถึง ญาณ ๘ ญาณ ๙ หรือบางคนก็อาจถึง ญาณ ๑๓ แต่พอเขากลับบ้านก็ถูกสิ่งแวดล้อมทางโลกดึงไป การปฏิบัติก็หยุดชะงักอยู่แค่นั้น อย่างกรณีของนายต้อม เขาอยากจะบวช แต่พ่อแม่ไม่ยอมให้บวช เมื่อกลับไปอยู่บ้านเขาก็ติดอยู่กับความสุขทางโลก จนลืมการปฏิบัติ เขาก็เลยติดอยู่แค่ญาณที่ ๘ นั่นแหละ”

          “แต่ถ้าเขาบวช เขาก็จะก้าวหน้าในการปฏิบัติใช่ไหมครับ” ถามออกไปแล้วจึงรู้ว่า “ถามโง่ ๆ” รู้ช้าอย่างนี้เสมอ

          “มันก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะบรรยากาศในวัดมันเอื้อต่อการปฏิบัติมากกว่าที่บ้าน อีกประการหนึ่งการประพฤติพรหมจรรย์ก็ช่วยให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างคล่องตัว เพราะมีข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน พระจึงได้เปรียบฆราวาสในแง่นี้” ท่านพระครูอธิบายโดยไม่เกี่ยงงอนภูมิปัญญาของผู้ถาม

          ชายวัยสี่สิบเศษคลานเข้ามาหาท่านพระครู ตามด้วยเด็กหนุ่มอายุประมาณยี่สิบ คนทั้งสองกราบท่านพระครู แล้วคนอาวุโสกว่าก็พูดขึ้นว่า

          “ไม่ได้มาหาหลวงพี่เสียนาน หลวงพี่สบายดีหรือครับ”

          “ก็เอ็งเห็นข้าสบายหรือเปล่าล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิย้อนถาม ชายคนนี้เป็นลูกผู้น้องของท่าน เคยวิ่งเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ส่วนเด็กหนุ่มที่มาด้วยก็มีศักดิ์เป็นหลานท่าน

          “แหม หลวงลุงก็ พ่อเขาถามดี ๆ หลวงลุงกับตอบเล่นลิ้น” หลานชายต่อว่าพลางค้อนประหลับประเหลือก

          “นี่เอ็งอย่างมาทำกิริยาอย่างนี้ใส่ข้านะเจ้าขุนทอง เอ็งไม่ใช่ผู้หญิงนะ” ท่านพระครูว่าเมื่อเห็นท่าทางกระตุ้งกระติ้งของอีกฝ่าย

          “หนูจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมันก็ไม่เกี่ยวกะหลวงลุงหรอกน่า” เจ้าขุนทองพูดลอยหน้าลอยตา ทำท่าค้อนควัก ท่านพระครูนึกสงสัยจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบ ก็ได้ทราบว่าหลานชายของท่านมีจิตใจเป็นผู้หญิงไปแล้ว ไม่น่าเลย ตอนเกิดท่านก็เห็นมันเป็นผู้ชายแท้ ๆ ไป ๆ มา ๆ ไหงเป็นผู้หญิงไปเสียได้ โธ่เอ๋ย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          พระบัวเฮียวกำลังคุยกับพระอุปัชฌาย์อยู่ดี ๆ เมื่อมีผู้อื่นมา “ขัดคอ” เช่นนี้ก็เกิด “ปฏิฆะ” อย่างอ่อน ๆ ขึ้น ครั้นฉุกคิดได้ว่า บุรุษทั้งสองคงจะเป็นญาติกับท่านพระครู จึงพยายามข่มความหงุดหงิดขัดเคืองนั้นไว้ พูดเอาบุญเอาคุณว่า

          “โยมโชคดีนะที่มาพบหลวงพ่อ ความจริงวันนี้ท่านต้องไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ”

          “หรือครับ แล้วทำไมไม่ไปล่ะครับ” นายขำถาม

          “ก็ทางโน้นเขาโทรเลขด่วนมาขอเลื่อน อาตมาก็เลยพลอยโชคดีไปด้วย เพราะหมู่นี้หาเวลาคุยกับท่านยาก ยิ่งวันพระด้วยแล้วหมดสิทธิ์เลย เพราะแขกเหรื่อมากันแน่นกุฏิ”

          “โอ้โฮ เดี๋ยวนี้หลวงพี่ขายดีถึงขนาดนี้เชียวหรือครับ” คนมีศักดิ์เป็นน้องชายว่า

          “เอ็งลองมาเป็นข้ามั่งซี แล้วจะรู้ ว่าแต่ว่าที่มานี่มีอะไรจะให้ข้าช่วยล่ะ” ท่านถาม เพราะหากไม่ต้องการความช่วยเหลือ คนเหล่านี้ก็จะไม่มาให้เห็นหน้า นายขุนทองจ้องหน้าท่านพระครูแล้วถามว่า “หลวงลุงใสแว่นตามาตั้งแต่เมื่อไหร่ฮะ” ไม่ถามเปล่าแต่ยังแถมด้วย “ฮะ” เป็นคำลงท้าย ตอนแรกก็พยายามจะปิดหลวงลุงเพราะกลัวจะถูกว่า เมื่อท่านไม่ว่าเขาก็จะพูดอย่างที่เคยพูด

          “สิบปีเข้านี่แล้ว เอ็งถามทำไม”

          “เปล่าหรอกฮะ ก็หลวงลุงดูแปลกไป คือใส่แว่นแล้วหล่อขึ้นน่ะฮะ หล่อกว่าไม่ได้ใส่ ว่าแต่สั้นหรือยาวฮะ” ถามแล้วก็หัวเราะคิก ๆ อยู่คนเดียว

          “อะไรของเอ็งล่ะ อะไรสั้น อะไรยาว พูดให้มันฟังง่าย ๆ หน่อยไม่ได้หรือ”

          “แหม หลวงลุงเนี่ย หนูหมายถึงสายตาน่ะฮ่ะสั้นหรือยาว ที่หลวงลุงต้องใส่แว่น เพราะสายตาสั้นหรือสายตายาวฮะ” คนพูดบิดตัวไปมาด้วยท่าทีเอียงอาย ท่านพระครูรู้สึกขัดลูกนัยน์ตากับท่าทางมีจริตจะก้านของหลานชาย หากก็รู้ว่าที่เขาต้องเป็นเช่นนั้นก็เพราะกฎแห่งกรรม จึงไม่ว่าให้เขาเสียน้ำใจ ถ้าว่าแล้วทำให้เขาดีขึ้นจึงค่อยว่า

          “หมอเขาว่าสายตายาว เอาละ มีธุระอะไรก็ว่ามาได้เลย” ท่านพูดกับบิดานายขุนทอง นายขำจึงตอบว่า “ผมน่ะไม่มีหรอกครับหลวงพี่ แต่ที่ต้องมาก็เพราะธุระของเจ้าขุนทองมันนั่นแหละ มันกำลังจะเกณฑ์ทหาร จะขอหลวงพี่ช่วยไม่ให้มันถูกทหาร สงสารมัน”

            “นี่เผลอเดี๋ยวเดียวเอ็งอายุยี่สิบเอ็ดแล้วหรือขุนทอง ข้ายังเห็นเอ็งวิ่งเล่นอยู่ไม่กี่วันนี้เอง จะเกณฑ์ทหารแล้วหรือนี่”

          ใช่ซีฮะ เดี๋ยวนี้หนูเป็นสาวแล้วนะหลวงลุง” นายขุนทองว่า

          “เป็นหนุ่มโว๊ยเจ้าทอง เอ็งเป็นผู้ชายนะ” คนเป็นพ่อรีบกล่าวแก้ กลุ้มใจอยู่เหมือนกันที่เลี้ยงลูกชายให้กลายเป็นลูกสาว

          “เออน่ะ มันอยากจะเป็นสาวก็ช่างหัวมัน” ท่านพระครูปรามนายขำ แล้วหันมาปรามนายขุนทองว่า

          “แต่เอ็งก็ให้มันน้อย ๆ หน่อยเจ้าขุนทอง อย่าให้มันมากเกินไป เอ้าก็ไหนเอ็งว่าเอ็งเป็นผู้หญิงแล้วทำไมถึงต้องถูกเกณฑ์ทหารล่ะ” นายขุนทองคิดหาคำตอบประเดี๋ยวหนึ่ง จึงพูดว่า

          “นั่นซีฮะ เขาว่าเขาเอาตามสำมะโนครัว หลวงลุงช่วยหนูด้วยนะฮะ ขืนหนูถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารคงถูกพวกมันลงแขกทั้งกองทัพ” หนุ่มน้อยปริวิตก

          “ฟังพูดเข้าแน่ะ ยังกะเอ็งสวยนักนี่” หลวงลุงค่อน

          “ก็สวยกว่าหลวงลุงแล้วกัน” นายขุนทองเถียง

          “เอาเถอะ ๆ ข้ายกให้” ท่านพระครูยอมแพ้ นายขำทำหน้าเหนื่อยหน่าย ปรับทุกข์กับท่านต่อหน้าลูกชายว่า

          “ไม่รู้เวรกรรมอะไรของผมนะหลวงพี่ มีลูกก็ไม่เหมือนคนอื่นเขา ผมทำกรรมอะไรไว้ครับหลวงพี่ ช่วยดูให้หน่อยเถอะ”

          “เอ็งจะเดือดร้อนไปทำไม่ล่ะขำเอ๊ย ก็ตัวเจ้าขุนทองเองมันยังไม่เดือดร้อนนี่นา ใช่ไหมขุนทอง” ท่านถามหลานชายที่กลายเป็นหลานสาว

          “นั่นซีฮะ จะกลุ้มใจไปใยล่ะคุ้ณผ่อ” นายขุนทองล้อเลียนบิดา แล้วก็เหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้จึงถามเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงลุงฮะ หนูทำกรรมอะไรไว้ฮะถึงได้เกิดเป็นกระเทย ใจจริงแล้วหนูอยากเกิดเป็นผู้หญิง ทำไมมันถึงไม่ได้อย่างที่อยากล่ะฮะ”

          “เอ็งอยากรู้จริง ๆ หรือ”

          “อยากฮะ อยากให้พ่อแกรู้ด้วย จะได้เลิกบ่นหนูเสียที”

          “เอาละ เมื่ออยากรู้ก็จะบอก บัวเฮียวเธอฟังด้วยนะ ฟังแล้วก็จำไว้ด้วย วันหน้าวันหลังหากมีใครเขาถามจะได้บอกเขาได้”

          “ครับหลวงพ่อ ผมกำลังตั้งใจฟังอยู่ครับ แม้วันหน้าวันหลังจะไม่มีใครมาถาม ผมก็จะฟังแล้วก็จะจำใส่สมองเอาไว้ นิมนต์หลวงพ่อพูดต่อเถิดครับ” พูดพร้อมกับประนมมือ “นิมนต์”

          “แหม หลวงพี่พูดถูกอกถูกใจขุนทองจริงจริ๊ง” นายขุนทองทำเสียงกรีดกราด รู้สึกถูกชะตากับหลวงพี่องค์นี้เสียเหลือเกิน ท่านพระครูมองหน้าลูกศิษย์ทีหนึ่ง มองหน้าหลานชายทีหนึ่ง แล้วจึงพูดขึ้นว่า

          “ที่เจ้าขุนทองต้องเป็นอย่างนี้เพราะกรรมเก่า เมื่อชาติที่แล้วเป็นคนเจ้าชู้ ผิดศีลข้อสามเป็นอาจิณ ผลของการประพฤติเช่นนี้ทำให้ต้องมาเป็นอย่างนี้ และถ้าไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกหกชาติ”

          “ยังพอแก้ไขได้หรือครับหลวงพี่” นายขำถามขึ้น

          “ก็พอมีทางอยู่ แต่สงสัยเจ้าขุนทองคงทำไม่ได้”

            “หลวงลุงจะให้หนูทำอะไรล่ะฮะ” คนมีกรรมเก่าถาม

          “ให้เอ็งมาเข้ากรรมฐานน่ะซี” ได้ยินดังนั้นนายขุนทองก็ร้องเสียงหลง “ว้ายตาเถนหกคะเมนตีลังกา หลวงลุงจะให้อีขุนทองมีเข้ากรรมฐาน”

          “นั่นไง แค่นี้ก็โวยแล้ว ตามใจเอ็งก็แล้วกัน อยากจะเป็นยังงี้ต่อไปก็ตามใจเอ็ง” ท่านพระครูพูดอย่างปลงสังเวช

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพี่ช่วยมันแค่ไม่ให้ถูกทหารก็พอ มีคนเขาแนะนำมาเหมือนกัน แต่มันไม่เชื่อเขา คะยั้นคะยอให้ผมพามาหาหลวงพี่”

          “เขาแนะนำว่ายังไงล่ะ” นายขุนทองขยิบหูขยิบตาใส่บิดาเป็นเชิงไม่ให้บอก หากนายขำไม่ฟังเสียง บอกท่านไปว่า “เขาแนะนำให้เอามดตะนอยมาต่อยลูกอัณฑะครับหลวงพี่ พอมันบวมจะได้บอกเขาว่าเป็นไส้เลื่อน” ท่านพระครูกับพระบัวเฮียวรู้สึกขำ หากนายขุนทองทำท่ากระฟัดกระเฟียด นายขำพูดต่ออีกว่า

          “เจ้าขุนทองมันไม่ยอมทำตามก็เลยต้องมากวนหลวงพี่” คนเล่าเล่าจบ ท่านพระครูจึงตัดสินว่า

          “ดีแล้ว ไม่ทำตามน่ะดีแล้ว จะได้ไม่ต้องสร้างกรรมเพิ่มขึ้นอีก เรื่องอะไรไปหลอกลวงเขายังงั้น นี่มีตัวอย่างมาแล้ว คนหน้าวัดนี่เอง ทำแบบเดียวกับที่เอ็งว่ามานี่แหละ แต่ขอโทษเถอะ อยู่มาไม่นานเกิดเป็นไล้เลื่อนจริง ๆ เพราะกรรมที่ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น หลอกใครไม่หลอกไปหลอกหลวง ทีนี้กรรมเลยตามทัน หลอกหลวงนี่บาปหนักกว่าหลอกราษฎร์นะ”

          “แล้วเป็นยังไงครับหลวงพี่” นายขำถามอีก

          “จะยังไง ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด ผ่าตัดแล้วก็ยังไม่หาย นอกจากไม่หายแล้วยังกลายเป็นมะเร็งเสียอีก”

          “เป็นตรงไหนฮะหลวงลุง เป็นตรงไหน” นายขุนทองถามอย่างสนใจ พร้อมกันนั้นก็ทำท่าเอียงอายไปด้วย

          “ก็ตรงนั้นแหละ อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ตาย เห็นเขาว่าเน่าเลย ไอ้ตรงที่เคยเอามดตะนอยต่อยนะเน่าเฟะเลย นี่ญาติของเขาเอามาเผาที่วัดนี้ ดีแล้วขุนทองที่เอ็งไม่ยอมทำตามอย่างเขา ไม่ยังงั้นก็อาจจะเน่าเหมือนกัน”

            “ว้าย หลวงลุงอย่าพูด เสียว เสียว” นายขุนทองส่งเสียงวี๊ดว้าย พลางยกมือทั้งสองขึ้นปิดหู

          “ตกลงหลวงพี่ช่วยมันด้วยนะครับ” นายขำสรุป

          “ก็ได้ แต่ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน”

          “ข้อแลกเปลี่ยนอะไรฮะหลวงลุง ไง ๆ ก็อย่าให้หนูมาเข้ากรรมฐานแล้วกัน ได้ไหมฮะ

          “เออ ได้ก็ได้ แต่เอ็งต้องมาอยู่กับข้าที่กุฏินี้ จะได้ช่วยรับแขก หาน้ำหาท่าให้เขาดื่ม” ท่านยื่นข้อเสนอ บางทีการได้มาอยู่ใกล้ชิดท่าน อาจจะทำให้กรรมของนายขุนทองเบาบางลงบ้าง ท่านคิดว่าจะพยายามช่วยเขา ถึงยากอย่างไรก็จะพยายาม

          “งั้นก็ตกลงฮ่ะ ดีแล้ว หนูจะได้ไม่ถูกพ่อกะแม่บ่น แล้วยังจะได้รู้จักคนเยอะ ๆ ด้วย เดี๋ยวหนูกลับไปเอาเสื้อผ้าเลยนะพ่อนะ”

          “ยังก่อน ยังก่อน เอาไว้ให้พ้นฤดูเกณฑ์ทหารไปก่อนค่อยมา ยังอีกตั้งสองเดือนแน่ะ” นายขำบอกลูก หากท่านพระครูไม่เห็นด้วย

          “ก็ให้มาเสียตอนนี้นี่แหละ ข้ากำลังอยากได้คนช่วยงาน ให้มันอยู่ใกล้ ๆ ข้า บางทีมันอาจจะอยากเป็นผู้ชายขึ้นมาบ้าง”

          “ไม่มีทาง ไม่มีทาง จ้างให้หนูก็ไม่ยอมเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิงเต็มตัวน่ะไม่ว่า เพราะไม่มีพ่อกับแม่คอยขัดคอ” นายขุนทองลอยหน้าลอยตาพูด

          “ท่ามันจะไม่ดีแล้วละมังหลวงพี่ เดี๋ยวก็ได้ไปกันใหญ่ ให้มันอยู่กับผมอย่างเก่าดีกว่า ยังไง ๆ ก็ยังอยู่ในสายตามั่ง” นายขำพูดอย่างวิตก

          “ไม่ต้องห่วงหรอกขำเอ๊ย เชื่อข้าเถอะ ข้าคิดว่าพอจะช่วยมันได้ คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงข้าหรอกน่า ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าอยู่กับเอ็ง ข้อนี้ข้าขอรับรอง”

          “งั้นก็ตามใจหลวงพี่ก็แล้วกัน บางทีมันอาจจะดีขึ้นอย่างที่หลวงพี่ว่าก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ถือว่าเป็นโชคของมัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องถือว่าเป็นกรรมของมัน” นายขำพูดอย่างปลงอนิจจัง

          “ดีแล้ว เอ็งคิดได้อย่างนั้นก็ดีจะได้ไม่เป็นทุกข์ คิดเสียว่าใคร ๆ ก็ต้องมีกรรมของตัวเองกันทั้งนั้น ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ก็เพื่อมารับผลของกรรม ผลนั้นจะดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับว่ากรรมที่ทำไว้เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว”

          “หมายความว่าคนที่ทำกรรมดีก็ต้องเกิดอีก ทำกรรมชั่วก็ต้องเกิดอีก อย่างนั้นหรือครับหลวงพี่” นายขำถาม

          “ถูกแล้ว”

          “ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องเกิดอีกล่ะครับ เพราะทำกรรมดีก็ยังต้องเกิด”

          “กรรมที่ทำให้ไม่ต้องเกิดนั้นเขาเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมดำคือกรรมชั่ว กรรมขาวคือกรรมดี ฉะนั้นกรรมไม่ดำไม่ขาวก็คือ กรรมที่ไม่เป็นทั้งกรรมชั่วและกรรมดี จะพูดว่าเป็นกรรมกลาง ๆ ก็ได้”

          “แล้วกรรมที่ว่านี่ต้องทำอย่างไรบ้างครับ” พระบัวเฮียวถามบ้าง “ต้องปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปด ที่เธอเดินจงกรม นั่งสมาธิและกำหนดอิริยาบถตลอดเวลานั้นคือการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง เพราะการปฏิบัติดังกล่าวมันคลุมองค์มรรคครบทั้งแปดข้อ ตั้งแต่สัมมาทิฐิจนถึงสัมมาสมาธิ แล้วก็เป็นการปฏิบัติที่มีครบทั้งศีล สมาธิ และปัญญาเลยทีเดียว”

          “แหม หลวงพี่ยิ่งพูดผมก็ยิ่งงง เห็นจะต้องลากลับเสียที” นายขำพูดขึ้นเพราะไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ “กลับกันเถอะขุนทอง ไปเอาเสื้อผ้าก่อน พรุ่งนี้ค่อยมา” ชายวัยสี่สิบเศษบอกลูก

          “ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ข้าจะให้สมชายไปรับเจ้าขุนทองก็แล้วกัน จะได้ไม่เสียเวลาทำงานเอ็ง” ท่านพระครูเอื้อเฟื้อ

          “ขอบคุณหลวงพี่มากครับ ไง ๆ ผมก็ฝากลูกด้วย นึกว่าเวทนามันที่เกิดมาไม่ค่อยเต็มบาทเต็มเต็งเหมือนคนอื่นเขา” สองพ่อลูกกราบท่านพระครูสามครั้งและหันไปกราบพระบัวเฮียว

          “ต้องขอโทษหลวงพี่ด้วยนะครับที่มาขัดคอ ผมฝากเจ้าขุนทองมันด้วย” นายขำกล่าวขอโทษพระบัวเฮียว แล้วเลยถือโอกาสฝากฝังลูก

          “ไม่ต้องห่วงหรอกโยม แล้วอาตมาจะช่วยดูแลให้” พระบัวเฮียวตอบ รู้สึกประทับใจในความรักและห่วงใยที่บิดามีต่อบุตร

          “พรุ่งนี้พบกันนะฮะหลวงพี่ บ๊าย บาย” นายขุนทองทำตาหวานหยาดเยิ้มใส่พระบัวเฮียว แล้วจึงลุกตามบิดาออกไป ท่านพระครูส่ายหน้าช้า ๆ พูดกับพระบัวเฮียวว่า

          “นี่ก็กรรม เห็นไหมบัวเฮียว ใคร ๆ ก็มีกรรมเป็นของตนกันทั้งนั้น”

          “แต่หลวงพ่อครับ หลวงพ่อเคยบอกว่าคนทีผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ถ้ามีเมียเมียจะมีชู้ ถ้ามีสามีสามีก็จะไปมีเมียน้อย แต่ทำไมรายของนายขุนทองจึงไม่เป็นอย่างนั้นล่ะครับ”

          “เรื่องของกรรมมันละเอียดอ่อนลึกซึ้งนะบัวเฮียว ฉันไม่สามารถอธิบายให้เธอฟังได้ทั้งหมดหรอก ถ้าเธออยากรู้ก็ต้องเร่งปฏิบัติ เมื่อใดที่เธอรู้เอง เห็นเองได้ เมื่อนั้นเธอก็จะหายสงสัย”

          “ครับ” ยังไม่ทันที่พระบัวเฮียวจะพูดอะไรต่อไป นายขุนทองก็คลานเข้ามากราบ แล้วพูดขึ้นว่า

          “หนูลืมขอบคุณหลวงลุงน่ะฮะ ก็เลยต้องกลับมาขอบคุณก่อน หนูต้องขอขอบพระคุณหลวงลุงเป็นอย่างสูงที่กรุณาช่วยเหลือหนู ขอให้หลวงลุงอายุยืน ๆ นะฮะ” พูดจบก็ก้มลงกราบอีกสามครั้งแล้วคลานออกไป ท่านพระครูพูดตามหลังว่า

          “เออ ขอบใจที่อวยพร ข้าก็ว่าจะอยู่ไปจนกว่าจะตายนั้นแหละ เอ็งนี่มีอะไรแปลก ๆ อยู่เรื่อย สงสัยเลือดลมไม่ค่อยจะดี” คนที่กำลังคลานออกไปหันกลับมาสนองว่า

          “นั้นซีฮะ หมู่นี้รอบเดือนของหนู มันมาไม่ค่อยจะตรงตามกำหนด”

          “น้อย ๆ หน่อยเจ้าขุนทอง มันยังงี้นะซี พ่อแม่เอ็งเขาถึงกลุ้มอกกลุ้มใจนักหนา นี่ข้าก็กำลังจะกลุ้มอีกคนแล้วนะ”

            “ช่วยไม่ได้ หลวงลุงชวนหนูมาอยู่เอง ก็ต้องรับกรมไปตามหน้าที่จริงไหมฮะ” ท่านพระครูไม่ตอบ ต่อเมื่อหลานชายพ้นสายตาไปแล้ว จึงพูดขึ้นว่า

          “สงสัยจะกู่ไม่กลับเสียละมัง หรือเธอว่ายังไงบัวเฮียว”

          “ผมคงไม่ว่ายังไงหรอกครับ ที่ไม่ว่าเพราะไม่รู้จะว่ายังไงหรือว่าหลวงพ่อจะให้ผมว่ายังไง ก็กรุณาบอกมาเถิดครับไม่ต้องเกรงใจ”

          “พอแล้วบัวเฮียวพอ ขืนเธอพูดให้มากกว่านี้ ฉันคงเวียนหัวแย่ เอาละ มีข้อข้องใจสงสัยอะไรก็ว่ามา”

 

มีต่อ........๓๕
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 21, 2007, 08:05:07 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00035
๓๕...

          “สิ่งที่ผมข้องใจสงสัยมันมีหลายอย่างนะครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวพูดอย่างเกรงใจเป็นที่สุด

          “งั้นก็ว่าไปทีละอย่าง นึกว่าวันนี้เป็นวันของเธอก็แล้วกัน จะได้ไม่เอาไปเที่ยวพูดว่าฉันไม่มีเวลาให้”

          “โธ่ หลวงพ่อครับ ตั้งแต่มาอยู่วัดนี้ผมยังไม่เคยเที่ยวเลยสักครั้ง แล้วจะเอาหลวงพ่อไปพูดอย่างนั้นได้ยังไง” พระหนุ่มปฏิเสธเสียงแข็ง

          “แน่ใจนะ” ท่านพระครูคาดคั้น

          “แน่ใจครับ แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์”

          “แล้วเมื่อกี้ใครตะโกนว่าฉันให้เจ้าขำฟังล่ะ ว่าฉันไม่มีเวลาให้ เธอพอจะรู้บ้างไหมว่าใครว่า”

          “ก็พอจะรู้เหมือนกันครับ แต่เขาไม่ได้เอาไปเที่ยวว่านี่ครับ เขานั่งว่าอยู่ตรงนี้ ตรงที่ผมนั่งนี่” พูดพร้อมกับชี้นิ้วลงที่พื้น การได้ยั่วพระอุปัชฌาย์เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ของพระบัวเฮียว

          “เอาตัวรอดจนได้นะ เอาละ ฉันขอชมเชยว่าเธอเก่ง ฉันยังไม่เคยเห็นใครเก่งอย่างนี้มาก่อนเลยจริง ๆ”

          “อย่างนี้นะอย่างไหนครับ” พระหนุ่มไม่วายยั่ว

          “ก็อย่างที่เรียกว่ามะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูกน่ะซี” ท่านพระครูเฉลย การได้พูดจาหยอกล้อกับ “น้องชายในอดีตชาติ” ทำให้ท่านมีความสุข แม้ว่าฝ่ายนั้นจะยังไม่รู้ว่าชาติหนึ่งตนเคยเกิดเป็นน้องชายของท่าน

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อก็ต้องไปฝึกปาเป้าใหม่ หรือไม่ก็เพิ่มมะกอกเป็นสี่ตะกร้า ถ้ายังปาไม่ถูกอีกก็เพิ่มเป็นห้าหกเจ็ดหรือแปดตะกร้า มันจะต้องถูกสักลูกนึงจนได้แหละครับ” พระหนุ่มแนะนำ

            “เอาละ เอาละ มัวพูดเยิ่นเย้ออยู่นั่นแหละ จะถามอะไรก็ถาม ฉันเป็นคนไม่ชอบหายใจทิ้ง”

          “ครับ ผมเองก็ชอบหายใจเป็นการเป็นงาน งั้นผมขอเรียนถามข้อข้องใจเลยนะครับ” ท่านพระครูพยักหน้าเป็นเชิงอนุญาต พระบัวเฮียวกำลังจะเอ่ยปากถาม ก็พอดีกับบุรุษผู้หนึ่งคลานเข้ามา พระหนุ่มมีอันต้อง “ถูกขัดคอ” อีกจนได้

          เถ้าแก่เส็งกราบท่านพระครูสามครั้ง กราบพระบัวเฮียวสามครั้งแล้วเอ่ยขึ้นว่า

          “ผมต้องขอประทานโทษที่มาขัดจังหวะ แต่ผมก็จำเป็นต้องมาเพราะอยากพบหลวงพ่อมากครับ”

          “เจริญพร โยมเถ้าแก่มาคนเดียวหรือ”

          “มาคนเดียวครับ ผมเหมารถแท็กซี่มาจากกรุงเทพฯ”

          “อย่างนั้นหรือ ทำไม่ไม่ให้คุณนายดวงสุดามาส่งล่ะ”

          “ผมไม่อยากกวนเขาครับ อีกประการหนึ่งผมอยากให้การมาครั้งนี้เป็นความลับ ทั้งคุณกิมง้อและหนูดวงสุดาไม่ทราบว่าผมมา” เถ้าแก่เส็งตอบ

          “อ้อ แล้วจะค้างหรือเปล่า หรือว่ากลัวทางบ้านเขาจะเป็นห่วง”

          “ไม่ค้างครับ ผมว่าจะมากราบหลวงพ่อ แล้วก็จะกลับ”

          “ถ้าอย่างนั้นก็อยู่ทานอาหารกลางวันเสียก่อน เดี๋ยวชวนโชเฟอร์เขาไปทานด้วย คงไม่รีบร้อนใช่ไหม”

          “ครับ ก็ตั้งใจว่าทานอาหารกลางวันแล้วจึงจะกลับ ขอบพระคุณหลวงพ่อมากครับที่เมตตา” พูดพร้อมกับประนมมือไหว้

          “โยมเถ้าแก่โชคดีนะที่มาแล้วพบท่าน ที่จริงวันนี้ท่านต้องไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าผู้จัดเขาขอเลื่อนกะทันหัน” พระบัวเฮียวพูดหมายจะเอาบุญเอาคุณ หากก็ต้องผิดหวังเมื่อบุรุษวัยเจ็ดสิบตอบว่า

          “แต่ผมทราบครัวว่าท่านต้องอยู่ ที่เหมารถแท็กซี่มาตั้งสามร้อยก็เพราะต้องการมาพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยครับ”

          “โยมทราบได้อย่างไรล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถามอย่างสนใจ เถ้าแก่เส็งจึงเล่าว่า

          “มันแปลกมากครับหลวงพ่อ เมื่อเย็นวานขณะที่ผมกำลังนั่งสมาธิผมรู้สึกคิดถึงหลวงพ่อมาก กำหนดอย่างไรก็ไม่หายคิดถึง เลยตั้งใจว่า พรุ่งนี้จะต้องมากราบหลวงพ่อ พอคิดได้ดังนั้นก็เกิดความกังวลอีกว่า อาจจะไม่พบเพราะไม่ใช่วันพระ ความที่ผมอยากรู้จึงพยายามรวมจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วผมก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” ก็เกิดนิมิตเห็นหลวงพ่ออยู่ที่วัด ขณะเดียวกันก็มีเสียงกระซิบที่ข้างหูว่า “พรุ่งนี้ท่านพระครูไม่ได้ไปไหน พรุ่งนี้ท่านพระครูอยู่วัด” ผมก็เลยมาพิสูจน์นี่แหละครับ” เถ้าแก่เส็งเล่าจบท่านพระครูจึงถามขึ้นว่า

          “แล้วคุณโยมผู้หญิงกับคุณนายดวงสุดา รู้หรือเปล่า”

          “ผมไม่ได้เล่าให้คุณกิมง้อฟังครับ กลัวเขาจะหาว่าเหลวไหล ส่วนลูกดวงสุดาเขาไม่ได้มาหาผม เขาอยู่ที่บ้านเขาครับ”

          “แปลว่าโยมเถ้าแก่ได้ “เห็นหนอ” ใช่ไหมครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถามอย่างตื่นเต้น

          “ถูกแล้วบัวเฮียว เห็นไหมว่ามันไม่ได้ยากเย็นแต่ประการใด ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเกินความสามารถของมนุษย์ผู้มีความเพียรไปได้ จริงไหม”

          “จริงครับ”

          “อาตมาขออนุโมทนานะ โยมเถ้าแก่มีวิริยะอุตสาหะดีเหลือเกิน” ท่านพระครูเอ่ยปากชม

          “อาตมาก็ขออนุโมทนาด้วย” พระบัวเฮียวพูด รู้สึกดีใจและเสียใจระคนกัน ดีใจเพราะ “ลูกศิษย์” มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ แต่ที่เสียใจเพราะเกิดความรู้สึกว่าตนคงจะย่อหย่อนในการทำความเพียร จึงยังไม่บรรลุผลที่มุ่งหวัง ท่านอยากได้ “เห็นหนอ” มานาน แต่ก็ยังไม่ได้ เถ้าแก่เส็งปฏิบัติทีหลังแต่กลับได้ก่อนท่าน

          พระอุปัชฌาย์รู้ความคิดของคนเป็นศิษย์จึงพูดขึ้นว่า

          “ไม่ต้องเสียอกเสียใจไปหรอกบัวเฮียวเอ๋ย ของอย่างนี้ไม่ใช่จะได้กันง่าย ๆ หรอกนะ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติชาตินี้แล้วจะได้ในชาตินี้ เรื่องของอภิญญานั้น คนที่จะได้ต้องเคยสะสมบารมีมาตั้งแต่ชาติก่อน ๆ แล้วอีกประการหนึ่ง การที่เธอยังไม่ได้เพราะเธออยากได้ จงจำไว้ว่าถ้าอยากแล้วจะไม่ได้ ต้องไม่อยากได้จึงจะได้”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ ผมชักจะงง ๆ เสียแล้ว”

          “ก็หมายความว่า ที่เธอยังไม่ได้ “เห็นหนอ” เพราะเธอไปอยากได้มันน่ะซี เธอจะต้องทำเฉย ๆ อย่าไปมุ่งมั่นจนเกินไป แล้วเธอก็จะได้เอง” ท่านพระครูแนะนำ

          “แปลว่าผมต้องฝืนใจใช่ไหมครับ คือทำเป็นไม่อยากได้ แบบนี้ก็โกหกตัวเองซีครับ”

          “เธอก็ต้องทำใจไม่ให้อยากได้จริง ๆ ซี ไม่งั้นมันก็เป็นการโกหกตัวเองอย่างที่เธอว่านั้นแหละ” แล้วถ้ามเถ้าแก่เส็งว่า

          “เวลาโยมปฏิบัติธรรม โยมหวังว่าจะได้ “เห็นหนอ ไหม ตั้งใจไว้เลยไหมว่าจะต้องให้ได้”

          “ผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลยครับ ผมรู้แต่ว่าทางที่ผมกำลังดำเนินอยู่นี้เป็นทางสายเอกที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ถ้าผมตั้งใจปฏิบัติก็อาจจะเข้าถึงความดับทุกข์ได้ ส่วนอดีตและอนาคตผมจะพยายามไม่คิดถึง” เถ้าแก่เส็งตอบอย่างคนที่ “เข้าถึงธรรม” โดยแท้

          พระบัวเฮียวฟังแล้วรู้สึกละอายใจ เพราะตัวท่านปฏิบัติธรรมชนิดที่ยังมีโลภะ ความอยากได้ “เห็นหนอ” ก็คือตัวโลภะ นั่นเอง

          “หลวงพ่อครับต่อไปนี้ผมจะไม่หวังอีกแล้วครับ ฟังโยมเถ้าแก่พูดแล้วผมรู้สึกละอายใจตัวเองนัก ผมจะไม่สนใจว่าจะได้ “เห็นหนอ” หรือไม่ได้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้วบัวเฮียว “เห็นหนอ” ก็คือ การได้ทิพยจักษุ เป็นอภิญญาข้อหนึ่งในหกข้อ ดูเหมือนฉันจะเคยอธิบายให้เธอฟังแล้วว่า อภิญญาห้าข้อแรกนั้นเป็นโลกียปัญญา ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถมีได้หากได้ฌาณ ๔ และสมาธิกล้าแข็งพอ แต่อภิญญาข้อสุดท้ายที่มีชื่อว่า อาสวักชยญาณนั้นเป็น โลกุตตรอภิญญา พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะมีได้ และเมื่อได้แล้วก็จะไม่เสื่อม ส่วนโลกียอภิญญานั้นเสื่อมได้ ถ้าฌานเสื่อม”

          “ถ้าอย่างนั้นพระอริยบุคคลชั้นต้นเช่น พระโสดาบันก็ไม่จำเป็นว่าจะได้อภิญญาใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว และคนที่ได้อภิญญาก็ไม่จำเป็นว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน เพราะมันไม่เกี่ยวกัน ผู้ที่บรรลุโสดาบันปัตติผลเป็นพระโสดาบันนั้น เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้สามอย่างคือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ไม่เกี่ยวข้องกับอภิญญาแต่ประการใด” ท่านพระครูอรรถาธิบาย

          “แต่หลวงพ่อครับ เมื่อกี้หลวงพ่อว่าพระปฏิบัติได้ก้าวหน้ากว่าฆราวาส แบบนี้จะแปลว่า ฆราวาสไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลอย่างนั้นสิครับ อย่างที่หลวงพ่อว่าบางคนได้ถึงญาณ ๑๓ แต่ก็ติดอยู่แค่นั้น”

          “ไม่เสมอไปหรอกบัวเฮียว ที่ฉันยกตัวอย่างให้เธอฟังเมื่อกี้นั้น ฉันหมายเฉพาะคนที่เขาเข้ามาปฏิบัติกรรมฐานที่วัด คือขณะอยู่ในวัดอาจได้ถึงญาณ ๑๓ แต่พอกลับไปบ้าน เขาไม่ปฏิบัติต่อเขาก็จะไม่สามารถก้าวไปถึงญาณ ๑๔ หรือญาณ ๑๖ เป็นพระโสดาบันได้ ผู้ที่เป็นฆราวาสมีโอกาสที่จะบรรลุได้ถึงระดับอนาคามีผลนั่นเทียว”

          “ไม่ถึงอรหัตตผลหรือครับ ทำไมไม่ถึงเล่าครับ”

          “ถ้าถึงก็จะต้องบวชภายในเจ็ดวัน ถ้าไม่บวชก็ต้องตาย

          “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ” บุรุษสูงวัยถามอย่างสงสัย พระบัวเฮียวก็กำลังจะถามแบบเดียวกันนี้

          “เพราะภาวะความเป็นอยู่ของฆราวาสไม่สามารถรองรับภาวะของพระอรหันต์ได้ ในสมัยพุทธกาลเคยมีปรากฏ ทีฆราวาสบรรลุอรหัตตผลแล้วไม่บวช เพราะท่านมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งตาบอด เมื่อท่านบรรลุได้ไม่ถึงเจ็ดวันก็ถูกวัวบ้าขวิดถึงแก่ความตาย” ยินคำว่า “วัว” พระบัวเฮียวก็ขนลุกซู่โดยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ อาจเป็นด้วยจิตใต้สำนึกของท่านมีความเกี่ยวพันกับวัวควายนั่นเอง

          “แบบนี้วัวตัวนั้นก็บาปแย่เลยนะครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งถาม

          “บาปแน่นอน เพราะเป็นครุกรรมข้อ อรหันตฆาต”

          “ไม่น่าเลยนะครับ ท่านเป็นถึงพระอรหันต์ ไม่น่ามาเสียชีวิตเพราะถูกวัวบ้าขวิด” บุรุษสูงวัยรู้สึกปลงสังเวช

          “จะเป็นอะไรก็ตาม ไม่มีใครหนีกรรมพ้น พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ให้ภิกษุฟังว่าเป็นเพราะพระอรหันต์รูปนี้ท่านเคยสร้างกรรมไว้กับวัว จึงต้องมาชดใช้” ฟังถ้อยคำของพระอุปัชฌาย์ พระหนุ่มก็เสียววาบเข้าไปถึงหัวจิตหัวใจ จึงเสถามเถ้าแก่เส็งว่า

          “เวลานั่งสมาธิโยมเถ้าแก่เคยง่วงไหม ง่วงมาก ๆ จนแม้จะลุกขึ้นเดินก็ยังง่วงน่ะเคยเป็นไหม”

          “เคยครับแต่นานมาแล้ว ดูเหมือนจะตอนที่ปฏิบัติเดือนแรก ๆ โน่นแน่ะครับ” บุรุษสูงวัยตอบ

          “แล้วโยมทำยังไง”

          “ผมก็พยายามอยู่ในที่แจ้งบ้าง รับประทานอาหารให้น้อยลงบ้าง นอนบ้าง”

          “แล้วหายง่วงไหม”

          “ไม่หายครับ มันยิ่งง่วงหนักขึ้นไปอีก ง่วงแล้วก็รู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด ผมก็พยายามเอาชนะมันด้วยการกำหนดสติอยู่ตลอดเวลา ง่วงก็กำหนดว่า “ง่วงหนอ” พอนอนไม่หลับก็กำหนดว่า “นอนไม่หลับหนอ” เมื่อรู้สึกเบื่อก็กำหนดว่า “เบื่อหน่ายหนอ” เรียกว่าผมไม่ยอมให้เผลอสติเลยแหละครับ เป็นอยู่อย่างนี้สักสามสี่วันก็หาย พอหายผมรู้สึกสบายอกสบายใจมาก ก็เกิดปีติว่าผมเอาชนะมารได้แล้ว และตั้งใจว่าจะเร่งทำความเพียรต่อไป เพราะอายุผมก็มากแล้ว จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ได้ หากมัวเห็นแก่กินแก่นอนก็จะทำให้ชีวิตเป็นหมัน เสียชาติเกิด ผมคิดอย่างนี้แหละครับ”

          “แล้วโยมสงสัยบ้างไหมว่าอาการเช่นนั้นมันเกิดจากอะไร อาการที่ง่วงมาก ๆ และเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ” หากเจ้าของกุฏิถาม มิใช่ท่านไม่รู้คำตอบ ทว่าต้องการให้บุรุษสูงอายุได้ “สอน” พระหนุ่มทางอ้อม

          “ผมคิดว่ามันไม่ใช่ความง่วงธรรมดา ๆ คงจะต้องเป็นการปรากฏของสภาวธรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมแน่ใจว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นครับ”

          “ถูกแล้ว นั่นแหละเป็นอาการของ “นิพพิทาญาณ” และที่โยมปฏิบัติตามที่เล่ามานั้นก็ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีความเด็ดเดี่ยวและใจสู้มันก็ไม่ยากจนเกินไป นี่อาตมาหมายถึงธรรมระดับสูงนะ” ท่านใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบก็ได้รู้ว่าบุรุษตรงหน้าได้ถึงญาณ ๑๓ แล้ว และคงจะบรรลุญาณ ๑๖ ในไม่ช้านี้ ท่านไม่พูดอะไรออกมาด้วย ไม่ต้องการให้คนที่เพิ่งได้ญาณ ๘ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจอีก

          เมื่อพูดถึงเรื่องง่วงท่านพระครูก็นึกถึงอดีตสมัยที่ท่านอายุสิบสองสิบสาม จึงเล่าให้พระบัวเฮียวและเถ้าแก่เส็งฟังเป็นการคลายความเครียดว่า

          “อาตมามีเรื่องขำ ๆ จะเล่าให้ฟัง เรื่องง่วงนี่แหละ สมัยที่อาตมาอายุสิบสองสิบสาม อาตมาอยู่กับยาย พอตีสี่ยายก็ปลุกแล้ว ปลุกให้ลุกหุงข้าวใสบาตร วิธีปลุกของยายยอดเยี่ยมมาก โดยมจะลองเอาไปใช้กับลูกกับหลานก็ได้” ท่านบอกเถ้าแก่เส็ง

          “ทำอย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “ก็ไม่ทำอะไรมาก ตอนแรกก็เข้าไปเขย่าตัวบอก “ไอ้หนู ไอ้หนู ลุกหุงข้าวใส่บาตรได้แล้ว” อาตมากำลังง่วงก็ตอบ ฮื่อ ๆ รู้แล้ว ขอนอนต่ออีกนิดเดียว ยายก๊ดขึ้นเหยียบเลย บอกจะลุกไม่ลุก อาตมากำลังอยากนอนเลยบอกกับยายว่า “แหม ดีจังเลยยาย ผมกำลังปวดเมื่อยอยู่พอดี ยายมาช่วยเหยียบให้ทุกวันเลยนะ”

          “แล้วท่านว่ายังไงครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “แกก็บอก งั้นยายจะไปเอาไม้เรียวมาช่วยนวดให้นะหลานนะ เด็กอะไรขี้เกียจตัวเป็นขน ไม่เรียกไม่ลุก ไม่ปลุกไม่ตื่น”

          “แล้วหลวงพ่อทำยังไงครับ”

          “จะทำยังไงล่ะ ฉันก็ต้องรีบลุกขึ้นมาหุงข้าวน่ะซี ทีนี้ข้าวสมัยนั้นน่ะ เขาใช้หม้อดินหุง แล้วก็ใช้เตาฟืน ฉันก็ก่อไฟ ความง่วงก็เลยจับดุ้นฟืนนั่งหลับอยู่หน้าเตาไฟนั่นแหละ ยายมาเห็นเข้าก็ตบให้สองฉาด นี่ตบที่หน้านี่ ตบข้างซ้ายที ข้างขวาที” ท่านทำท่าประกอบ

          “แล้วเป็นยังไงบ้างครับ” พระบัวเฮียวถามอย่างนึกสนุก ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉยว่า

          “ก็ค่อยยังชั่วขึ้นมาหน่อยนึง”

          “คุณนายของหลวงพ่อคงจะดุมากนะครับ” เถ้าแก่เส็งถาม

          “ดุ หรือ ไม่ดุ อาตมาก็ถูกตีไม่เว้นแต่ละวันเชียวแหละ บางวันก็ถูกตีสามครั้งหลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น”

          “น่าจะแถมก่อนนอนอีกรอบนะครับ เพราะเวลาหมอให้ยาเขาจะให้กินหลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน” พระบัวเฮียวว่าไปโน่น

          “บางวันก็ได้แถมก่อนนอนด้วย” ท่านเจ้าของกุฏิสารภาพ

          “งั้นแสดงว่าหลวงพ่อก็คงไม่เบาเหมือนกันนะครับ” พระบัวเฮียวว่า

          “เอ! จะว่าหนักก็ไม่เชิงนะ เพราะตอนนั้นยังผอม” พระอุปัชฌาย์ตั้งใจยั่วลูกศิษย์

          “แหม หลวงพ่อก็รู้ว่าผมไม่ได้หมายความยังงัน คือผมต้องการจะพูดว่าเด็กที่ถูกผู้ใหญ่ตีทุกวัน ๆ ละสามสี่ครั้งน่ะคงจะไม่เบาทีเดียว คือจะต้องเกเรจนขึ้นชื่ออะไรทำนองนี้”

          “เกหรือไม่เกคนเขาก็เรียกฉันว่า ไอ้มหาโจรกันทั้งบางนั่นแหละ”

          “แล้วหลวงพ่อเกลียดคุณยายไหมครับ ถูกคุณยายตีทุกวันแล้วรู้สึกเกลียดคุณยายไหม” คนเป็นฆราวาสถาม

          “ตอนนั้นเกลียด แต่ตอนนี้รัก เพราะถ้าไม่ได้ไม้เรียวยาย อาตมาก็ไม่ได้มาเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ อาตมารู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของยายมาก” เงียบกันไปครู่หนึ่ง ท่านเจ้าของกุฏิก็พูดขึ้นอีกว่า

          “มีอยู่ครั้งนึงอาตมาหนีไปเที่ยวดูหนัง โกหกยายว่าจะไปติดกัน เพื่อนจวนสอบไล่ ที่แท้หนีไปดูหนังกับเพื่อนกลับเสียดึก พอยายมาปลุกก็บอกยายว่าวันนี้ขอวันนึงเถอะ เพราะติวกับเพื่อนเหนื่อยมาก ขอตอนตื่นสายสักวัน ยายก็บอกว่า “ไอ้หนู เอ็งจะนอนยายก็ไม่ว่าหรอก แต่ก่อนจะนอนต้องลุกหุงข้าวใส่บาตรก่อน แล้วก็กินข้าวกินปลาเสียให้เรียบร้อยแล้วค่อยกลับมานอน” นี่เห็นไหมนโยบายของยายอาตมานี่เยี่ยมจริง ๆ อาตมาก็เลยสะลึมสะลือลุกขึ้นไปก่อไฟตั้งหม้อข้าว ไฟมันก็ไม่ติดซักที ก่อไฟอยู่ตั้งนานก็กลัวข้าวจะไม่ทันพระ เลยใส่ฟืนใหญ่ กระทุ้งฟืนเข้าไปในเตา แล้วก็จะเป็นเพราะความง่วงหรือเพราะมือหนักก็ไม่ทราบ กระทุ้งเสียหม้อข้าวแตกเลย”

          “แล้วยายของหลวงพ่อว่ายังไงครับ” พระบัวเฮียวถาม รู้สึกสนุกสนานกับเรื่องที่ท่านเล่า

          “ก็ไม่ว่ายังไงหรอก แต่ตีเสียอานไปเลย คราวนั้นเล่นเอาหลังลายไปหลายวัน”

          “แหม! ชีวิตหลวงพ่อนี่โลดโผนดีจังนะครับ“ พระหนุ่มว่า

          “ใช่ ก็ทำให้มีชีวิตชีวาดีเหมือนกัน ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ฉันยังนึกขำอยู่จนทุกวันนี้ คือเรื่องละเมอ”

          “ใครละเมอครับ หลวงพ่อหรือคุณยาย” เถ้าแก่เส็งถาม

          “อาตมา คือก่อนนอนมันกังวลว่าน้ำ มันแห้งโอ่ง พรุ่งนี้จะต้องตื่นขึ้นตักน้ำแต่เช้า พอหลับไปก็เลยละเมอ นี่ชาวบ้านเขามาเล่าให้ฟังตอนเช้า เขาบอกว่าเห็นอาตมาตักน้ำตั้งแต่ตีสี่ ตักขึ้นบ้าน อาตมาก็แปลกใจว่าคนละเอาทำไมถึงหาบกระแต๋งไปสระได้ แถมขึ้นบันไดบ้านถูกด้วย เขาว่าอาตมาตักเอา ๆ เขาพูดด้วยก็ไม่พูด ก็คนละเมอจะรู้เรื่องยังไง จริงไหม” ท่านถามพระบัวเฮียว

          “จริงครับ แล้วเขาบอกไหมครับว่าเขาพูดว่าอย่างไร”

          “เขาบอกเขาตะโกนถามว่า “ไอ้หนูนึกยังไง ลุกขึ้นมาตักน้ำตั้งแต่ตีสี่” ฉันก็ไม่พูดกับเขา ตักน้ำเสร็จก็กลับไปนอนจนรุ่งเช้า”

          “แล้วไม่ลุกหุงข้าวหรือครับ”

            “ไม่ลุกเพราะยายไม่ได้ปลุก ยายไม่อยู่ ไปช่วยงานที่บ้านเหนือ พอตื่นเช้ามาก็ตกใจ โอ้โฮ! น้ำเต็มโอ่งหมดทั้งสิบโอ่ง แถมโอ่งข้าวสารก็มีน้ำเต็ม ข้าวสารลอยเป็นแพเลย”

          “หลวงพ่อก็เลยถูกยายตีอานไปเลย” พระบัวเฮียวเดา คราวนี้ท่านพระครูตอบอย่างผู้มีชัยว่า

          “โน คราวนี้ฉันรอดตัว เพราะพอยายกลับมาจากบ้านเหนือก็ถามว่า “ไอ้หนู ใครแช่ข้าวให้ยาย” ฉันก็ตอบว่า “ผมละเมอตักน้ำใส่โอ่งข้าวสาร” กลัวยายตีก็กลัว แต่ยายกลับตอบว่า “เออดี บ้านเหนือเขากำลังจะทำขนมจีน งั้นเองรีบเอาไปให้เขาทำแป้งขนมจีนเร็ว ๆ เข้า”

          เสียงระฆังเพลดังขึ้น พระบัวเฮียวกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้ง แล้วลุกเดินไปยังหอฉัน ท่านพระครูบอกเถ้าแก่เส็งว่า

          “ไป เชิญไปรับประทานอาหารก่อน เดี๋ยวค่อยมาคุยกันต่อ สมชายไปเรียกโชเฟอร์มาด้วย” สั่งเสร็จท่านก็ขึ้นไปยังชั้นบนของกุฏิเพื่อเขียนหนังสือสอบอารมณ์กรรมฐาน...

         

         

 

         

 

มีต่อ........๓๖
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 21, 2007, 08:05:51 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00036
๓๖...

            ฉันเพลแล้วพระบัวเฮียวก็กลับมาที่กุฏิท่านพระครูอีก ข้าราชการหนุ่มประมาณไม่เกินสามสิบนั่งรออยู่ ท่านเดาว่าบุรุษผู้นี้ต้องเป็นข้าราชการเพราะเขาสวมชุดสีกากีและมี “บั้ง” ติดอยู่บนบ่าทั้งสองข้าง เขากราบท่านสามครั้งแล้วทักขึ้นว่า

         “หลวงพี่อยู่วัดนี้หรือมาจากที่อื่นครับ”

         “อาตมาอยู่วัดนี้ แล้วโยมล่ะมาจากไหน”

         “ผมมาจากอำเภอสองพี่น้องครับ แต่บ้านเดิมอยู่ที่นี่ แล้วก็คุ้นเคยกับหลวงพ่อมานาน”

            “แล้วโยมไปทำอะไรอยู่ที่นั่นล่ะ ที่อำเภออะไรนะ”

         “อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีครับ ผมเป็นปลัดอำเภออยู่ที่นั่น”

         “อ้อ”

         “เถ้าแก่เส็งเสร็จจากรับประทานอาหารก็เดินเข้ามานั่งพร้อมโชเฟอร์แท็กซี่ คนทั้งสองกราบพระบัวเฮียวสามครั้ง พระหนุ่มจึงถือโอกาสแนะนำบุคคลทั้งสามให้รู้จักกัน ทราบว่าชายหนุ่มเป็นปลัดอำเภอ เถ้าแก่เส็งจึงพูดถึงลูกเขย

         “ลูกเขยผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ คุณเคยได้ยินชื่อไหม” เขาบอกชื่อคนเป็นสามีของลูกสาว ปลัดหนุ่มจึงว่า

         “ครับ ท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของผม คุณนายดวงสุดาเป็นบุตรสาวของท่านหรือครับ”

         “ถูกแล้ว ก็หนูดวงสุดานี่แหละที่พาผมมารู้จักกับหลวงพ่อ แล้วผมก็ได้มาปฏิบัติกรรมฐานที่นี่”

         “โยมเถ้าแก่ปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากนะโยมปลัด” พระบัวเฮียวบอกข้าราชการหนุ่ม เพราะต้องการจะยกย่อง “ลูกศิษย์” ท่านคิดว่าปลัดหนุ่มคงจะคุ้นเคยกับการปฏิบัติกรรมฐาน เนื่องจากเป็นคนถิ่นนี้และรู้จักท่านพระครูมานาน ท่านไม่รู้เลยว่าบุคคลผู้นี้อยู่ในประเภท “ใกล้เกลือกินด่าง”

         “โยมปลัดคงปฏิบัติได้สูงแล้วใช่ไหม” ท่านถามอีก

         “หลวงพี่หมายถึงอะไรครับ” คนถูกถามไม่เข้าใจ

         “อาตมาหมายถึงการปฏิบัติธรรม โยมปลัดเคยใกล้ชิดหลวงพ่อคงปฏิบัติไปได้ไกลแล้วใช่ไหม”

         “เปล่าเลยครับหลวงพี่ บอกตามตรงว่าผมไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ มันสนุกเสียที่ไหนล่ะครับ กรรมฐานน่ะ” เมื่อเขาตอบมาอย่างนี้ พระบัวเฮียวจึงไม่ซักถามอะไรอีก ด้วยเกรงจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ถูกถาม พอดีกับท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน ผู้ที่นั่งรออยู่จึงทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง

         “เจริญพร โยมปลัดมายังไง” ท่านเจ้าของกุฏิทักทาย

         “ผมจะมาขอให้หลวงพ่อช่วยดูฤกษ์แต่งงานครับ” ปลัดหนุ่มตอบ

         “เจ้าสาวเขาเป็นใครล่ะ” ท่านถาม ปลัดวัยสามสิบตอบว่า

         “เป็นนางเอกลิเกครับหลวงพ่อ” น้ำเสียงมีแววภูมิใจในหญิงที่ตนจะแต่งงานด้วย ท่านพระครูเห็นไม่เข้าเรื่อง คนเป็นปลัดอำเภอจะไปแต่งงานกับนางเอกลิเก มันจะเป็นไปได้อย่างไร หรือว่าสองคนนี้เป็นคู่เวรคู่กรรมกันมา ครั้นใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบก็ได้รู้ว่า คนคู่นี้ไปกันไม่ได้และจะอยู่กันชนิดหม้อข้าวไม่ทันดำก็ต้องเลิกร้างกัน จึงพูดขึ้นว่า

         “โยมคิดยังไงถึงจะไปแต่งงานกับนางเอกลิเกล่ะ อาตมาว่ามันไม่คู่ควรกัน ไม่มีอะไรเหมาะสมกันเลย” ปลัดหนุ่มรู้สึกขัดเคืองในคำพูดของท่าน เขากำลังหลงสตรีผู้นั้นจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น จึงบอกท่านพระครูว่า

         “โธ่! หลวงพ่อครับ ก็เรารักกัน เขาสวยมากนะครับหลวงพ่อ รูปร่างหน้าตาสวย รำก็สวย เสียงก็เพราะ หนุ่ม ๆ รุมจีบกันเป็นพรวน แต่เขาก็ไม่เลือกใครนอกจากผม”

         “นั่นแหละ เพราะอย่างนี้แหละที่จะทำให้อยู่กันไม่ได้ พอแต่งงานกัน แล้วโยมก็จะหึงไม่ให้เขาไปเล่นลิเก ตอนแรกเขาก็เชื่อ แต่พออยู่ไป ๆ เขาก็จะเบื่อ ก็จะหนีไปเล่นลิเกอีก แล้วก็ทะเลาะกัน ในที่สุดก็ต้องเลิกกัน อย่าแต่งเลย เชื่ออาตมาเถอะ คนนี้ไม่ใช่เนื้อคู่โยมหรอก อาตมาเห็นกฎแห่งกรรมของโยมแล้ว คนที่จะมาร่วมชีวิตกับโยมต้องเป็นอาจารย์”

         “แต่ผมปักใจเสียแล้วครับหลวงพ่อ ผมรักผู้หญิงคนนี้แล้วก็จะแต่งงานกับเธอให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น” ปลัดหนุ่มยืนยันหนักแน่น เขาเข้าใจว่าความหลงเป็นความรัก

         “แปลว่าโยมไม่เชื่อที่อาตมาพูดใช่ไหม อย่าแต่งเลยนะอาตมาขอร้อง อาตมาหวังดีด้วยใจจริง” ท่านพระครูพยายามพูดทัดทาน

         “ผมก็ขอร้องหลวงพ่อเหมือนกันว่าโปรดอย่าห้ามผมเลย ผมคงไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้แต่งงานกับเธอ” คนถูกศรรักปักอกว่า

         “ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจโยมเถอะ กรรมของใครก็ของคนนั้น อาตมาก็ได้พยายามช่วยแล้ว ในเมื่อโยมไม่เชื่อก็ไม่ว่ากัน แต่จะให้อาตมาหาฤกษ์ให้นั้น อามตาทำไม่ได้เพราะเห็นอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องขอโทษด้วยที่ไม่อาจทำให้โยมสมความมุ่งมาดปรารถนา” ได้ยินดังนั้น บุรุษวัยสามสิบก็หมดความอดทน เขาพูดออกมาด้วยความโกรธว่า

         “ผมเสียใจครับหลวงพ่อ เสียใจที่หลงนับถือหลวงพ่อมาช้านาน เรื่องแค่นี้หลวงพ่อก็ช่วยผมไม่ได้ มิหนำซ้ำยังพูดให้เสียกำลังใจอีก เอาละ ผมขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผมจะเลิกเคารพนับถือหลวงพ่อและจะไม่มาเหยียบวัดนี้อีก” แล้วจึงผลุนผลันลุกออกไปโดยไม่ร่ำลา ท่านพระครูไม่พูดว่ากระไร ไม่โกรธ ไม่ขึ้งบุรุษนั้น เพราะรู้อยู่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

         “เสียดายนะครับ หน้าตาดี ๆ ตำแหน่งหน้าที่ก็ดี แต่กิริยาที่แสดงออกมาไม่ดีเลยสักนิด” โชเฟอร์แท็กซี่วิจารณ์

         “ช่างเขาเถอะโยม เขาทำกรรมมาอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ในเมื่ออาตมาบอกให้แล้ว แต่เขาไม่ยอมแก้ไข อาตมาก็ช่วยเขาไม่ได้ กรรมบางอย่างมันก็แก้ไขได้ แต่เขาไม่ยอมแก้”

         “ผมเคยคิดนะครับหลวงพ่อ” โชเฟอร์แท็กซี่พูด

         “เคยคิดว่ากรรมนั้นแก้ไม่ได้ อย่างคนที่เป็นโจรก็ต้องเป็นโจรตลอดไป เพราะเขาเกิดใต้ดาวโจร แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป” เขาลังเลใจนิดหนึ่งว่าจะพูดต่อไปดีหรือไม่ ต่อเมื่อนึกได้ว่า คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดีนั้นน่าสรรเสริญ จึงตัดสินใจว่าจะต้องพูด

         “อย่างผมนี่เมื่อก่อนก็หากินทางทุจริต แต่ก็มากลับตัวกลับใจได้เพราะเถ้าแก่ เดี๋ยวนี้ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าผมเป็นคนดี อย่างน้อยก็ไม่เบียดเบียนใคร แล้วผมก็รู้สึกว่าผมจะมีความสุขกายสบายใจกว่าแต่ก่อนมาก เพราะละชั่วได้”

            “อย่างนั้นหรือ อาตมาขออนุโมทนา ขอประทานโทษ เมื่อก่อนโยมมีอาชีพอะไรล่ะ”

         “ก็ไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานหรอกครับ ผมชอบเล่นการพนันแล้วก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว เถ้าแก่ก็เป็นเจ้าหนี้ผม พอแกทวงมาก ๆ เข้า ผมเลยรวบรวมสมัครพรรคพวกไปปล้นบ้านแก ใจคอผมโหดร้ายมาก เพราะผมตั้งใจจะฆ่าแกกับเมียเพื่อปลดหนี้ แต่ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ผมยิงแกไม่ออกครับ แกกับเมียกำลังนั่งหลับตาอยู่ ผมก็ยิงใส่เลย รัวปืนเอ็ม.๑๖ เข้าใส่ แต่ยิงไม่ออก

         ในที่สุดผมก็ถูกจับได้ ก็ติดคุกอยู่สามเดือนเพราะเถ้าแก่อ้างว่าจำตัวคนร้ายไม่ได้ ทีจริงผมรู้ว่าแกจำผมได้ ผมรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของแก จึงตั้งสัจจะว่าจะเลิกทำชั่ว แล้วผมก็เลิกได้จริง ๆ ครับ” ผมเล่ามีน้ำตาคลอหน่วยตาเพราะความซาบซึ้ง ท่านพระครูพูดปลอบเขาว่า

         “เอาเถอะ หมดเคราะห์หมดโศกแล้ว ต่อไปนี้ชีวิตโยมก็จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง อาตมาขออวยชัยให้พร” ชายวัยสี่สิบเศษกราบท่านสามครั้งด้วยพอใจในพรที่ท่านให้

         “ผมเป็นหนี้บุญคุณเถ้าแก่มากเลยครับ เพราะถ้าแกเอาผมเข้าคุก ผมก็ไม่มีวันที่จะกลับเนื้อกลับตัวได้ นี่ผมก็ตั้งใจจะรับใช้แกเท่าที่เวลาและโอกาสจะอำนวย”

         “นายสุขเขาดีกับผมมากครับหลวงพ่อ นี่เขาก็จะไม่ยอมเอาเงิน ผมต้องขอร้องเขาอยู่นานกว่าจะตกลงกันได้” เถ้าแก่เส็งยกย่องคนที่กลับตัวกลับใจได้

            “เพราะเถ้าแก่ดีกับผมก่อนน่ะครับหลวงพ่อ ผมก็เลยจะตอบแทนความดีแก แต่แกก็ไม่ยอมรับ ขนาดผมคิดค่าน้ำมันสองร้อย แกก็แถมให้อีกหนึ่งร้อยเป็นสามร้อย” นายสุขเล่า

         “สรุปว่าโยมดีทั้งสองคนนั่นแหละ คนดีก็ต้องพบกับคนดี เธอเห็นด้วยไหมบัวเฮียว”

         “เห็นด้วยครับ” พระหนุ่มรับคำแล้วถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ ผมรู้สึกว่าคนที่มาวัดนี้มีทั้งคนไทยและคนจีน คนไทยนั้นมักมาให้หลวงพ่อช่วยดับร้อนผ่อนทุกข์แล้วก็มักจะไม่เอากรรมฐาน บางคนรู้จักหลวงพ่อมานานแต่กลับไปเคยปฏิบัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น นายขำหรือปลัดอำเภอคนเมื่อกี้ แล้วตัวผมก็มีความรู้สึกว่า หลวงพ่อรักคนจีนมากกว่าคนไทย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

         “เธอหาว่าฉันลำเอียงว่างั้นเถอะ”

         “ก็หลวงพ่อลำเอียงหรือเปล่าเล่าครับ” ลูกศิษย์ยั่ว

         “ฉันคิดว่าฉันไม่ได้ลำเอียง ใครปฏิบัติดีฉันก็อนุโมทนากับเขา ส่วนคนที่ทำไม่ดีฉันก็สงสารเขา แล้วมันก็น่าแปลกอย่างที่เธอว่านั่นแหละ คือ คนที่ปฏิบัติดีนั้นมักเป็นคนจีน อาตมารักคนจีนมากนะโยมเถ้าแก่ อยากรู้ไหมว่าทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น” ท่านถามเถ้าแก่เส็ง

         “อยากทราบครับ หากไม่เป็นการรบกวนจนเกินไปผมอยากให้หลวงพ่อเล่าให้ฟังครับ” บุรุษวัยเลยเจ็ดสิบพูดอย่างเกรงใจ ท่านพระครูจึงเล่าว่า

         “ที่อาตมารักคนจีนมากเพราะชอบที่เขาขยันทำมาหากินประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะอาตมาทำเวรทำกรรมกับคนจีนมามากสมัยทีเป็นเด็ก ๆ ก็เลยต้องมารักเขาเป็นการใช้กรรม แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฉันเกลียดคนไทยหรอกนะบัวเฮียว เธออย่าเข้าใจผิด”

         “ครับ ผมเข้าใจถูกต้องแล้ว และก็รู้ด้วยว่าหลวงพ่อไม่เกลียดญวนเหมือนกัน” พระบัวเฮียวเย้า

         “ตอนเด็ก ๆ หลวงพ่อทำกรรมอะไรไว้กับคนจีนหรือครับ” นายสุขถาม

         “มากมายหลายประการเชียวแหละโยม สมัยเด็ก ๆ อาตมาชอบทดสอบความอดทนของเขา”

         “ทดสอบยังไงครับ”

         “ก็แกล้งต่อราคาเวลาซื้อของ อย่างตาแป๊ะคนนึงแกขายเสื้อผ้าอยู่ในตลาด อาตมาก็แกล้งต่อ แกก็ไม่โมโห ถ้าเป็นร้านคนไทยรับรองถูกด่าแล้วก็ไล่ออกจากร้านแน่ เพราะคนไทยเขาหยิ่งแล้วก็ไม่มีความอดทน

         ร้านคนไทยเขามักจะมีนางกวักประจำอยู่ในร้าน แต่กลับขายไม่ดี ร้านคนจีนไม่ต้องมีนากกวักแต่ขายดิบขายดีจนหยิบแทบไม่ทัน โยมเชื่อไหม สินค้าอย่างเดียวกันถ้าร้านคนไทยขายห้าบาท คนซื้อเขาก็รู้แต่ก็ยังอุตสาห์ไปซื้อร้านคนจีน ร้านคนไทยขนาดมีนางกวักด้วย ขายถูกว่าด้วย แต่คนกลับไม่ซื้อ” แปลกไหมเล่า

         “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “ก็คนจีนเขายิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนคนไทยหน้าเหมือนมือนางกวัก ใครเข้าจะเข้าร้าน” นายสุขกับเถ้าแก่เส็งหัวเราะชอบใจเพราะท่านพระครูทำท่าประกอบการเล่าด้วย

         “ทีนี้ตาแป๊ะที่ขายเสื้อผ้านี่แกก็ถูกอาตมาแกล้งอยู่บ่อย ๆ แต่แกก็เอาตัวรอดได้ทุกที อย่างเช่น อาตมาซื้อเสื้อไปวันนี้ พอรุ่งเช้าก็เอามาเปลี่ยน บอก “ตาแป๊ะ ขอเปลี่ยนเสื้อหน่อย ใส่ไม่ได้มันคับ” ตาแป๊ะแกก็ว่า” ท่านเลียนเสียงคนจีน

         “ไม่เป็งลาย ไม่เป็งลาย เสื้ออั๊วซักเลี้ยวยืกล่าย” อาตมาก็เลยต้องกลับบ้านเพราะแกไม่ยอมให้เปลี่ยน พอรุ่งเช้าก็มาใหม่ บอกว่า “ตาแป๊ะ อั๊วขอเปลี่ยนเสื้อหน่อย” แกก็ถามว่า “เปี่ยงทำมาย” อาตมาบอก “มันหลวม” แกก็ว่า “ไม่เป็งลาย ไม่เป็งลาย เสื้อล้านอั๊วะ ซักเลี้ยวหกล่าย” ตกลงแกก็ไม่ยอมให้เปลี่ยน อาตมาก็หมดปัญญาที่จะพูดกับแก” ท่านหยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วเล่าต่อว่า

         “มีอยู่รายนึงที่อาตมาทำกรรมกับแกไว้หนักว่าคนอื่น ๆ แกชื่อบ๊ก อาตมาก็เรียกแกเจ๊กบ๊ก” เถ้าแก่เส็งสะดุ้งนิดหนึ่ง แต่ท่านพระครูไม่ทันสังเกต ท่านเล่าต่อไปว่า

         “สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พวกต่างด้าวจะถูกไล่ออกจากเขตที่มีทหาร เจ๊กบ๊กแกก็ถูกไล่มาจากลพบุรี มาอาศัยอยู่ตลาดปากบาง แกก็เที่ยวซื้อขวดซื้อโลหะจากชาวบ้านไปขาย บางทีก็เอาขนมข้าวพองมาแลก อาตมาตอนนั้นอายุสิบเอ็ดหรือสิบสองนี่แหละ ก็ชอบขโมยข้าวพองแกมากิน แล้วก็ด่าแกว่าไอ้เจ๊กบ้า ไอ้เจ๊กบ๊กบ้า บางทีก็ล้อแกเป็นเพลงว่า “เจ๊กบ๊กตกน้ำตาย เมียร้องไห้ เสียดายเจ๊กบ๊ก” แกก็ไม่โกรธยิ้มลูกเดียว แกบอกอาตมาว่า “อาตี๋ ลื้อจาหล่าอั๊วก็หล่าไป อั๊วะไม่โกก แต่อั๊วจาเอาซาตางจากลื้อให้ล่าย” นี่แกว่าของแกอย่างนี้”

         “แล้วได้ไหมครับ” เถ้าแก่เส็งถาม เขากำลังสงสัยว่า “เจ๊กบ๊ก” ที่ท่านพระครูกล่าวถึงนั้นจะเป็นคนเดียวกับน้องชายของเขาหรือไม่ ก็ต้องฟังท่านเล่าให้จบเสียก่อน

         “ได้สิ ก็เวลาแกไม่เผลอให้อาตมาขโมย อาตมาก็จำเป็นต้องซื้อแก แต่กระนั้นก็ซื้อแบบขี้โกง คือขนมข้าวพองแกขายห่อละเฟื้อง อาตมาก็ทำเป็นซื้อห่อนึง แต่ที่แท้หยิบมาสองห่อ ก็โกงแกมาตลอดจนกระทั่ง แกเปลี่ยนจากขายขวดไปขายหมู อาตมาก็ขโมยหมูแกอีก”

         “แล้วเคยถูกแกจับได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “ถ้าถูกจับก๊อเสียชื่อมหาโจรน่ะซี คือตาแป๊ะแกมีเข่งอยู่คู่นึง แล้วไม้คานของแกมีลักษณะคล้ายไม้พลองของลูกเสือ แต่สีดำเมี่ยมเลย แกหาบจนไม้คานเป็นมัน แกก็ตัดหมูออกชั่งเป็นกอง ๆ กองละหนึ่งกิโล ยืนขายอยู่ที่ท่าน้ำ พอแกมัวหยิบหมูให้คนอื่น อาตมาก็ย่องไปข้างหลัง คว้าหมูที่แกกองเอาไว้ ก็เอาหนีบรักแร้แล้วโดดน้ำดำมาขึ้นอีกฝั่งนึง ฝั่งที่เป็นบ้านอาตมา เอาหมูไว้ในตู้กับข้าวแล้วดำน้ำไปฟากกะโน้นอีก หวังจะไปเอาอีกซักโล

         พอขึ้นไปยืนบนท่า แกก็บ่นกับคนซื้อว่าหมูแกหายไปโลนึง ตาคนซื้อแกก็เห็นตอนที่อาตมาหยิบแล้วโจนลงน้ำ แต่แกก็พูดเข้าข้างอาตมาว่า หมูมันคงตกลงไปในน้ำ เจ๊กบ๊กแกก็ว่า “เป็งไปไม่ล่าย ต้องมีคงมาคาโมย ถ้าตกน้ำจริงมัก็ต้องลอย” ตาคนนั้นก็พูดอีกว่า “มันไม่ลอยหรอก ถ้าเป็นเนื้อหมูมันไม่ลอย เป็นมันหมูถึงจะลอย” ตาแป๊ะก็เลยตัดมันให้มากหน่อย ตัดเนื้อน้อย ๆ พวกคนซื้อก็เลยได้มันหมูไปมากกว่าเนื้อ เพราะอาตมาเป็นต้นเหตุ”

         “แล้วแกเคยแสดงท่าทางว่าสงสัยหลวงพ่อไหมครับ” นายสุขถาม

         “แกก็คงสงสัยอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐาน แกก็เลยเอาผิดอาตมาไม่ได้ อาตมาก็แกล้งแกสารพัด เจอหน้าที่ไรก็ด่า “ไอ้เจ๊กบ้า ไป ไป ให้พ้น” แกก็ยิ้ม บอกว่า “ไอ้ตี๋ วังนี้ลื้อเลียกอั๊วะไอ้เจ๊กบ้า แต่วังหน้าลื้อต้องเลียกอั๊วะว่า เตี่ย จำไว้นะ” อาตมาบอกเรื่องอะไรจะเรียก แกก็ว่า “ต้องเลียก วังนึงลื้อต้องเลียกเพาะอั๊วะมีลูกสาวห้าคง ลื้อจาต้องมาขออั๊วะ เลียกเตี่ยเข้าสักวัง” นี่แกว่าของแกอย่างนี้ แล้วก็จริงอย่างที่แกว่าเสียด้วย อาตมาต้องยอมเรียกแกว่าเตี่ยเพื่อชดใช้กรรม”

         “หลวงพ่อไปชอบลูกสาวแกเข้าหรือครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “เปล่าหรอก แต่ลูกสาวแกก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ฉันต้องเรียกเจ๊กบ๊กว่าเตี่ย คือพอลูก ๆ เป็นสาวก็ได้แต่งงานกับคนดีมีฐานะ ก็ช่วยเตี่ยทำมาหากินจนร่ำรวยเป็นลำดับ กระทั่งมีเงินไปตั้งร้านขายทองอยู่ที่เยาวราช”

         เถ้าแก่เส็งแน่ใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ตะแป๊ะคนที่ท่านพระครูเล่าให้ฟังนั้นคือน้องชายของเขา ครั้นจะพูดออกมาก็เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ทางที่ดีควรฟังท่านเล่าให้จบเสียก่อน

         “โลกมันกลมนะโยมเถ้าแก่ พอแกย้ายเข้ากรุงเทพฯ อาตมาก็ไม่เจอแกมาเป็นเวลาร่วมสิบปีทั้งที่หลังจากนั้นอาตมาก็เข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ พันตรีหลวงธารา ซึ่งเป็นคุณปู่ของอาตมาได้มารับอาตมาไปกรุงเทพฯ และฝากไว้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท่านจะให้อาตมาเรียนตำรวจ

         ระหว่างที่อยู่กับท่าน อาตมาก็เรียนดนตรีไทย เป็นลูกศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ แต่ตอนหลังอาตมาไม่ชอบเรียนตำรวจ มันไม่ถูกกับอัธยาศัย เลยกลับมาอยู่บ้าน พอปี ๒๔๙๑ ก็อุปสมบทที่วัดพรหมบุรี

         บวชได้ห้าพรรษา ท่านสมภารก็บอกให้อาตมาเข้ากรุงเทพฯ ไปเรี่ยไรเงินมาสร้างโบสถ์ อาตมาก็ไปกับลูกศิษย์ไปหาจอมพล ป. ท่านก็ทำบุญมาห้าพัน หลวงประดิษฐ์ไพเราะทำมาสองพัน พันตรีหลวงธาราคุณปู่ของอาตมาทำมาสามพัน แล้วพวกข้าราชการที่ใกล้ชิดจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรีก็ช่วยกันคนละร้อยสองร้อย ก็ได้เงินมาหลายหมื่น

         วันจะกลับก็มีข้าราชบริพารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พาอาตมาเข้าเฝ้า พระองค์ก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาห้าพัน อาตมาก็เตรียมจะกลับ มีลูกศิษย์ไปด้วยหลายคน มีทั้งผู้ชายผู้หญิง ทีนี้ลูกศิษย์เขาก็อยากจะซื้อทองกัน เลยพาอาตมาไปเยาวราชเขาก็พากันเข้าไปซื้อทองในร้าน อาตมาก็ยืนรออยู่หน้าร้าน ก็มีตาแป๊ะเจ้าของร้านออกมานิมนต์ให้เข้าไปฉันน้ำชา แกก็ถามว่าอาตมามาจากไหน

         พอบอกว่าจากวัดพรหมบุรี แกก็เล่าว่าแกเคยอยู่ตลาดปากบาง อาตมาก็เอะใจ แกก็เล่าตั้งแต่หนีมาจากลพบุรีเพราะเขาไล่คนต่างด้าวออกจากเขตทหาร มารับซื้อขวดไปขาย ขายหมู กระทั่งมาขายทอง แกบอกชีวิตสมัยที่อยู่ปากบางนั้นตกระกำลำบากมาก ต้องหาบของขายจนบ่าด้านไปหมด ว่าแล้วแกก็สั่งให้ลูกสาวไปเอาเข่งกับไม้คานลงมาอวด อาตมาเห็นก็จำได้ อาตมาก็ลองถามแกว่าเคยถูกคนแกล้งไหม แกก็ว่ามีเด็กผู้ชายเกเรอยู่คนนึง ชอบด่าแกว่าไอ้เจ๊กบ้า แล้วก็ชอบขโมยขนมข้างพองแก พอแกขายหมูก็แอบขโมยหมูแกอีก

         อาตมาฟังแล้วขนลุก คิดในใจว่าจะบอกแกดีหรือไม่ดี ก็พอดีแกถามว่า “ท่างมากุงเทพฯ ทำไม” อาตมาก็บอกมาเรี่ยไรเงินไปสร้างโบสถ์ แกก็เดินไปที่ลิ้นชักหยิบเงินมาสองพัน บอกว่าร่วมทำบุญด้วย อาตมาก็เก็บเงินใส่ย่ามไว้อย่างมิดชิด กลัวแกจะทวงคืน แล้วก็สารภาพกับแกว่า “เตี่ย อาตมาขออโหสิกรรม เด็กเกเรที่เคยขโมยของเตี่ย เคยด่าเตี่ยน่ะคืออาตมาเอง” แกได้ยินดังนั้นก็ตกใจอ้าปากค้างเลย อาตมารีบพูดต่อว่า “เตี่ยอโหสิกรรมให้อาตมานะ ไหน ๆ อาตมาก็เป็นพระแล้ว และก็คงไม่เอาเงินคืน” พอแกหายตกใจ แกก็บอกอาตมาว่า “ท่างไม่ต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ยก็ล่าย เลียกไอ้เจ๊กบ๊ก หรือไอ้เจ๊กบ้าอย่างเลิมก็ล่าย อั๊วะไม่โกกเลี้ยวก็ไม่เอาเงินคึงล่วย แต่อั๊วะขอท่างอย่างเลียวเท่านั้ง” แกขออะไรอาตมา โยมเถ้าแก่รู้ไหม” ท่านถามเถ้าแก่เส็ง

         “ไม่ทราบครับ บุรุษวัยเจ็ดสิบเศษตอบ

         “ขอให้หลวงพ่อสึกไปแต่งงานกับลูกสาวแกใช่ไหมครับ” พระบัวเฮียวเดา

         “แหม! ถ้าขออย่างนั้นก็ดีน่ะสิ แต่นี่แกไม่ได้ขออย่างที่เธอเดา แกพูดกับฉันว่า “ท่าง บวกก็ลีเลี้ยว อั๊วะจาขอล้องว่าให้ท่างบวกอย่างนี้ตาหลอกไป อย่างล่ายสึกออกไปหล่าเจ๊กอีก” นี่แกว่าอย่างนี้ แหม ฉันงี้เจ็บแสบเข้าไปถึงข้อหัวใจ แทบจะคืนเงินให้แกไปเลยเชียวละ”

         “แล้วคืนหรือเปล่าครับ” นายสุขถาม

         “คืนทำไมล่ะโยม เงินเขาตั้งใจทำบุญ” เงียบกันไปพักหนึ่ง เถ้าแก่เส็งก็พูดขึ้นว่า

         “หลวงพ่ออย่าตกใจนะครับถ้าผมจะกราบเรียนให้ทราบความจริงอะไรบางอย่าง”

         “ความจริงอะไรของเถ้าแก่ล่ะ ว่าไปเถอะ อาตมาจะพยายามไม่ตกใจ” เมื่อท่านอนุญาต บุรุษวัยเจ็ดสิบเศษจึงพูดว่า

         “เจ๊กบ๊กที่หลวงพ่อเล่ามานั้นคือน้องชายแท้ ๆ ของผมที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองจีนครับ” ท่านพระครูมีความรู้สึกเหมือนกับวันที่เสาเต๊นท์พุ่งมาปะทะหน้า ท่านร้องเรียกนายสมชายเสียงหลง

            “สมชายอยู่ไหนน่ะ ช่วยชงยาหอมมาให้หลวงพ่อด้วยเถอะ กำลังเป็นลม”..

         

         

มีต่อ........๓๗
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 21, 2007, 08:06:39 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00037
๓๗...

            “หลวงพ่อครับ การแผ่เมตตา เราจะแผ่ให้คนเป็น ๆ ได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถามท่านพระครู

            “คนเป็น ๆ ของเธอน่ะมันเป็นอย่างไรล่ะ” คนถูกถามแกล้งทำไม่เข้าใจเพราะไม่คิดว่าลูกศิษย์จะถามอะไรเชย ๆ แบบนี้

            “คนเป็น ๆ ก็คือคนที่ไม่ตาย แล้วคนที่ตายก็คือคนที่ไม่เป็นน่ะครับ” เมื่ออาจารย์แกล้งมา ลูกศิษย์จึงแกล้งไปบ้าง

            “เธอตอบเกินคำถามแล้วนะบัวเฮียว ฉันให้เธออธิบายเฉพาะคนเป็น ๆ เธอก็อธิบายคนตาย ๆ มาด้วย ทั้งที่ฉันไม่ได้ถาม

            “ผมทราบนี่ครับว่าหลวงพ่อจะต้องถามต่ออีก เลยตอบ ๆ ไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด”

            “แปลว่าเธอได้ “เห็นหนอ” แล้วใช่ไหม ขอแสดงความยินดีด้วยนะ” ท่านยั่วอีก   

            “ผมยังไม่เก่งกาจขนาดนั้นหรอกครับหลวงพ่อ หมายถึงตอนนี้นะครับ แต่ต่อไปไม่แน่” คนพูดทำเขื่อง

            “นี่ขนาดยังไม่เก่งก็ยังเก่งถึงปานนี้ แล้วถ้าเก่งล่ะจะเก่งถึงปานไหน” อาจารย์เอ่ยชม ชมเผื่อไปถึงอนาคตด้วย       

            “ผมเพียงแต่เดาใจหลวงพ่อได้ถูกต้องเท่านั้นเองครับ ก็ถูกแกล้งเสียจนชิน ก็เลยรู้ทางหนีทีไล่” คนเป็นศิษย์ว่า

            “ผมไม่ได้ “หาว่า” นะครับ ก็หลวงพ่อเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ผมไม่ชอบใส่ร้ายป้ายสี ไม่เชื่อถามผมดูก็ได้ หลวงพ่อรังแกผมทุกครั้งที่โอกาสอำนวย บางครั้งโอกาสไม่อำนวย หลวงพ่อก็ยังรังแกเลย” พระบัวเฮียวถือโอกาส “แก้แค้น” ด้วยการต่อว่า

            “ก็ถ้าไม่รังแกเธอ แล้วจะไปรังแกใครเล่า”

            “นั่นไง หลวงพ่อสารภาพแล้ว” “โจทก์” พูดอย่างเป็นต่อ

            “สารภาพแล้วก็แปลว่าได้รับการลดโทษครึ่งหนึ่งใช่ไหม”

            “คงใช่มังครับ”

            “คง ไม่ได้ซี ภาษากฎหมายต้องระบุให้ชัดเจนลงไปเลย”

            “ผมไม่ได้เรียนกฎหมายมาครับ”

            “ฉันก็ไม่ได้เรียนแต่ฉันรู้เอง ใคร ๆ เขาก็ว่าฉันรู้ตั้งแต่ก่อนเกิด” อาจารย์ถือโอกาส “คุย” บ้าง”

            “แล้ว ใคร ๆ น่ะเชื่อถือได้แค่ไหนครับ เชื่อได้แค่ไหน”

            “ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็ต้องเชื่อได้นั่นแหละน่า”

            “เอาละครับ เป็นอันว่าหลวงพ่อได้ลดโทษไปครึ่งนึงเพราะยอมรับสารภาพ” คนเป็นลูกศิษย์สรุป

            “พอดีฉันมีโทษแค่ครึ่งเดียว พอได้ลดครึ่งก็เลยหมดพอดี เรียกว่าเจ๊ากันไป”

            พระบัวเฮียวเห็นไม่ได้การ ถ้ามัวพูดเลอะเลือนเลื่อนเปื้อนแบบนี้ไม่ได้การแน่ จึงวกกลับมาพูดเรื่องเดิม

            “แหม หลวงพ่อครับ ผมถามนิดเดียว หลวงพ่อแถมให้เป็นกิโล ๆ เลย”

            “แล้วไม่ชอบหรือไง สมัยนี้เขาต้องมีของแถมกันทั้งนั้น ซื้อไม้จิ้มฟันแถมโลงศพอะไรเทือกนี้”

            “แต่ผมไม่ชอบของแถมหรอกครับ สินค้าที่มีของแถมมันแสดงถึงว่าคุณภาพไม่ดี ถ้าดีไม่ต้องมีของแถมคนก็แย่งกันซื้อ จริงไหมครับ”

            “จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้” คนตอบเล่นลิ้น ท่านเคร่งเครียดกับ ธุระของคนอื่นมามากแล้ว มีพระบัวเฮียวนี่แหละที่ช่วยให้คลายเครียดได้

            “งั้นเอาจริงก็แล้วกันนะครับ ผมมันคนจริง เอาละครับ ทีนี้หลวงพ่อตอบคำถามผมด้วยเถอะครับ ที่ผมถามว่าเราแผ่เมตตาให้คนเป็น ๆ จะได้หรือไม่” พระหนุ่มต้องทวนคำถาม มิฉะนั้นท่านพระครูจะต้องย้อนว่า “เธอถามว่ายังไงล่ะ” เมื่อลูกศิษย์ถามจริงจัง อาจารย์จึงตอบว่า

            “ได้สิบัวเฮียว ทำไมจะไม่ได้ล่ะ”

            “ถ้าย่างนั้นผมจะแผ่เมตตาไปให้โยมแม่กับผัวเขา หลวงพ่อว่าเขาจะได้รับไหมครับ”

            ท่านพระครูมองหน้าลูกศิษย์พลางประเมินผลในใจ “แบตเตอรี่ลูกนี้ชาร์จไฟไว้เต็ม หม้อก็ไม่รั่ว จึงพร้อมที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกเมื่อ” คิดดังนี้แล้ว จึงตอบว่า

            “ได้อย่างแน่นอน เธอปฏิบัติได้ถึงขั้นแล้ว แม้จะยังไม่ได้ “เห็นหนอ” แต่ก็สามารถแผ่เมตตาไปให้ผู้อื่นได้” พระบัวเฮียวแสนจะดีใจ จนลืมกำหนด “ดีใจหนอ” พระอุปัชฌาย์จึงกล่าวเตือนว่า

            “บัวเฮียว ทำไมไม่กำหนด “ดีใจหนอ” ล่ะ” พระหนุ่มปฏิบัติตาม เมื่อข่มความยินดีลงได้แล้ว จึงพูดขึ้นว่า

            “สองสามวันมานี่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรครับหลวงพ่อ ผมคิดถึงแต่โยมแม่ ไม่รู้แกสุขสบายดีหรือเปล่า ผมเคยเขียนจดหมายทิ้งไปเมื่อก่อนปีใหม่ แกก็เงียบงอมไปเลย ได้รับหรือเปล่าก็ไม่รู้”

            “ก็เธอเขียนทิ้งไปใครเขาจะได้รับล่ะ ต้องเขียนส่งไปเขาถึงจะได้รับ” ท่านพระครูยังอยากยั่วต่อ

            “หลวงพ่อว่าแกได้รับหรือเปล่าครับ” คนถูกยั่วไม่ยั่วตอบ หากถามเป็นงานเป็นการ ท่านต้องการให้พระอุปัชฌาย์ใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบให้

            “ได้รับซี” ท่านพระครูเผลอตกหลุมพรางจนได้ ที่จริงพระบัวเฮียวไม่ได้ตั้งใจจะ “ต้อน” พระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อโอกาสเป็นของท่านแล้วจะละเลยเสียก็กระไรอยู่ อีกประการหนึ่งท่านก็ได้รับคำตอบเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอ “เวลานอก” ยั่วอาจารย์เล่นแก้เซ็ง

            “อ้าว ก็ไหนหลวงพ่อบอกว่าทิ้งไปไม่ได้รับ ต้องส่งไปถึงจะได้ แล้วทำไมโยมแม่ผมได้รับล่ะครับ ในเมื่อผมทิ้งไป”

            “เออน่า ฉันช่วยให้เขาได้รับเองแหละ” ท่านพระครูถือโอกาสพูดเอาบุญเอาคุณ คนเป็นศิษย์จึงกลับมาพูดเป็นงานเป็นการอีกว่า

            “หลวงพ่อครับ ถ้าอย่างนั้นคืนนี้ เวลาสองทุ่มผมจะนั่งสมาธิแผ่เมตตาไปให้โยมแม่กับผัวเขา ผมจะนั่งไปจนถึงสองโมงเช้าเลยนะครับ”

            “เธอนั่งได้นานขนาดนั้นหรือ ตั้งสิบสองชั่วโมงเชียวนะ”

            “ผมทำได้ครับหลวงพ่อ ผมเคยนั่งมาแล้ว”

            “ดีจริง ฉันขออนุโมทนาด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอนั่งหลับนะ” พระอุปัชฌาย์ยังสงสัย

            “ไม่หลับครับหลวงพ่อ ผมมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาที่นั่ง หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ท้องพองก็รู้ว่าพอง ท้องยุบก็รู้ว่ายุบ เจ็บปวดตรงไหนก็กำหนด ผายลมกี่ครั้งก็กำหนดทุกครั้ง” ลูกศิษย์สาธยายเสียยืดยาว อาจารย์กำลังจะบอกให้หยุด ก็พอดีคนเป็นศิษย์หยุดเองเสียก่อน

            “ทีหลังไม่ต้องอธิบายละเอียดอย่างนี้ก็ได้ ฉันรู้แล้วว่าเธอปฏิบัติได้จริง เร่งทำความเพียรเข้าจะได้ใช้หนี้เวรหนี้กรรมให้หมด พระบัวเฮียวก็ถึงกับขนลุก จึงกำหนด “ขนลุกหนอ” ด้วยสติอันว่องไวที่ได้ฝึกไว้ดีแล้ว

            “หลวงพ่อครับ พรุ่งนี้ตีสี่ผมไม่ต้องลงโบสถ์ได้ไหมครับ เพราะผมยังอยู่ในสมาธิ”

            “ได้ เพราะถือว่าเธอกำลังปฏิบัติอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ปฏิบัติร่วมกับคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่ประการใด เมื่อเธอนั่งจนครบสิบสองชั่วโมงแล้ว ให้ถอนจิตออกจากสมาธิเสียก่อน แล้วจึงค่อยแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา เธอเข้าใจแล้วใช่ไหม”

            “เข้าใจครับ ขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาผมมาโดยตลอด บุญของผมแท้ ๆ ที่ได้มาพบพระอุปัชฌาย์ที่ประเสริฐเช่นหลวงพ่อ” พูดพร้อมกับก้มลงกราบด้วยความสำนึกในบุญคุณ

            “หลวงพ่อครับ เราแผ่เมตตาข้ามทวีปได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถามขึ้นอีก

            “ได้ แต่คนแผ่จะต้องมีพลังสมาธิกล้าแข็งพอ ต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง เคยมีนะ เคยมีคนทำมาแล้วที่วัดนี้แหละ”

            “ใครครับ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ที่วัดนี้หรือเปล่าครับ” ท่านคิดไปถึงพระมหาบุญ คงเป็นพระมหาบุญนั่นเอง

            “ไม่อยู่แล้ว เป็นชาวนอรเว มาบวชที่วัดนี้แล้วปฏิบัติเคร่งครัดมาก จนสามารถแผ่ส่วนกุศลไปให้พ่อแม่กับปู่เขาที่นอรเวได้ เอาเถอะถ้าเธออยากรู้เรื่องวันหลังจะเล่าให้ฟัง

            “ถ้าอย่างนั้นการที่คหบดีและครอบครัวช่วยกันแผ่เมตตาไปให้ลูกชายคนโตที่อเมริกาก็ได้ซีครับ”

            พูดถึงคหบดีท่านพระครูก็นึกได้จึงวาน “เห็นหนอ” ตรวจสอบแล้วก็รู้เรื่องเดี๋ยวนั้น จึงตอบ

            “ได้ซี แล้วตอนนี้ก็เข้าสุสานไปแล้ว คหบดีกับภรรยาเดินทางไปรับศพเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง”

            “แบบนี้ก็ไม่ดีซีครับ แผ่เมตตาไปทำให้เขาตาย ถ้าไม่แผ่เขาอาจจะยังไม่ตายก็ได้”

            “ดีสิบัวเฮียว ทำไมจะไม่ดีล่ะ ก็คนติดยาน่ะมีความสุขนักหรือ เขาตายไปจะได้หมดเวรหมดกรรม แล้วก็จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่า ถึงอย่างไรคนที่ติดยาก็อายุสั้นอยู่แล้ว ตายแบบได้รับส่วนกุศลกับตายแบบไม่ได้รับน่ะ อย่างไหนจะดีกว่ากัน เธอคิดเอาเองก็แล้วกัน”

         “แต่พ่อแม่เขาจะคิดจะเข้าใจเหมือนที่ผมกับหลวงพ่อเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้”

            “เขาเข้าใจ คนที่เขาปฏิบัติจะเข้าใจธรรมชาติของชีวิตได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ ฉันก็บอกเขาเป็นนัย ๆ แล้ว อีกประการหนึ่ง การตายของลูกจะช่วยชีวิตพ่อเอาไว้ คหบดีเขาตั้งใจจะเลิกค้ายาเสพย์ติด เธอก็รู้ของอย่างนี้ใครลงได้เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว คิดถอนตัวเป็นต้องตายทุกราย”

            “เป็นอะไรตายครับ”

            “ไข้โป้ง” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย

            “ร้ายแรงขนาดนั้นเชียวหรือครับ เจ้าไข้โป้งที่ว่านี่ แล้วมียารักษาไหมครับ” พระหนุ่มถามซื่อ ๆ

            “บัวเฮียว”

            “ครับ”

            “นี่เธอไม่เข้าใจจริง ๆ หรือว่าแกล้งไม่เข้าใจกันแน่ เธอไม่รู้จริง ๆ น่ะ หรือว่าไข้โป้งหมายถึงอะไร

            “ไม่ทราบจริง ๆ ครับ มันหมายถึงอะไรครับ”

            “จ้างฉันก็ไม่บอกเธอ” พระอุปัชฌาย์ถือโอกาสเล่นตัว

            “แล้วถ้าไม่จ้างหลวงพ่อจะบอกไหมครับ ผมไม่มีเงินจ้าง

            “เธอจะรู้ไปทำไมเล่า”

            “ก็เผื่อหลวงพ่อเป็นผมจะได้บอกหมอถูกไงครับ”

            “ไม่ต้องหรอก รับรองว่าฉันไม่ตายด้วยไข้โป้งอย่างแน่นอน รับรองว่าไม่ใช่” อาจารย์ตอบเสียงหนักแน่น

            “แล้วหลวงพ่อจะตายด้วยอะไรล่ะครับ” พูดไปแล้วก็ให้รู้สึกเสียใจ จึงก้มลงกราบขอขมาพระอุปัชฌายาจารย์

            “ผมกราบขอโทษหลวงพ่อด้วยครับ ผมไม่ได้ตั้งใจจะลามปาม แต่ปากมันพาไป หลวงพ่อโปรดอย่าถือโทษผมเลยนะครับ ผมมันพวกขี้กลากเหล็ก ชอบลามปามโดยไม่เลือกกาลเทศะ” พระหนุ่มตำหนิตัวเองเสียยืดยาว ท่านพระครูไม่ได้โกรธคนเป็นศิษย์ ท่านตอบเสียงเรียบว่า “ฉันตายด้วยอะไรน่ะหรือ เธอฟังนะบัวเฮียว ฟังแล้วก็จดจำเอาไว้ ฉันยังไม่เคยบอกเรื่องนี้แก่ใคร เธอเป็นคนแรกที่รู้” ท่านนิ่งไปอึดใจหนึ่ง แล้วจึงพูดด้วยเสียงและอากัปกิริยาที่เป็นปกติว่า

            “ฉันจะตายด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำ เดี๋ยวเธอกลับไปจดบันทึกไว้เลยนะว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ เวลาเที่ยงสิบห้า ท่านพระครูเจริญต้องมรณภาพเพราะอุบัติเหตุรถคว่ำ”

            หากพระบัวเฮียวส่องกระจกตอนนี้ ก็จะพบว่าใบหน้าของท่านซีดขาว เหมือนปราศจากโลหิตมาหล่อเลี้ยง คำบอกเล่าของผู้เป็นอาจารย์ทำให้ท่านตระหนก อีกสี่ห้าปีข้างหน้า บุคคลที่ให้แสงสว่างแก่ชีวิตท่านจะต้องลาลับไปจากโลกนี้ ภิกษุหนุ่มบังเกิดความรู้สึกเศร้าใจจนสุดจะพรรณนา ท่านต้องกำหนด “เศร้าใจหนอ เศร้าใจหนอ” อยู่นาน กระทั่งมันบรรเทาเบาบางลง จึงถามพระอุปัชฌาย์ว่า
            “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นครับหลวงพ่อ ทำไม”

            “มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นแหละบัวเฮียว เหตุปัจจัยที่ว่านี้คือกรรมนั่นเอง เธออย่าทำหน้าซีดอย่างนั้นเลยน่า ขอทีเถอะ คนที่จะตายคือฉันไม่ใช่เธอ เลิกทำหน้าซีด ๆ แบบนั้นได้แล้ว” ท่านยังมีแก่ใจยั่ว

            “โธ่ หลวงพ่อครับ ขนาดหน้าสิ่งหน้าขวานอย่างนี้ หลวงพ่อยังใจเย็นอยู่ได้ แล้วผมก็ไม่ได้ทำแกล้งหน้าซีดนะครับ มันซีดของมันเองเพราะผมไม่อยากให้หลวงพ่อตาย และถ้าให้ผมตาย แทนที่จะเป็นหลวงพ่อ ผมก็ยินดีครับ อนุญาตให้ผมได้ทดแทนพระคุณของหลวงพ่อด้วยการตายแทนเถิดครับ” พระบัวเฮียวพูด เป็นการพูดที่ออกมาจากใจจริง ทว่าคนฟังกลับรู้สึกปลงอนิจจัง ที่ลูกศิษย์ของท่านช่างคิดและพูดเหมือนคนที่ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐานมาก่อนเลยในชีวิต

            “น่าอนาถใจ อุตส่าห์ปฏิบัติมาตั้งหลายเดือน นึกว่าจะก้าวหน้าไปถึงไหน ๆ ที่แท้ก็ไปไม่ถึงไหนเลย บัวเฮียวนะบัวเฮียว” ท่านพูดพลางทอดถอนใจ

            “หลวงพ่อหมายถึงผมหรือหมายถึงใครครับ” คนเป็นศิษย์ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพูด

            “ก็ฉันกำลังพูดอยู่กับใครล่ะ”

            “พูดอยู่กับผมครับ ท่านพระครูเจริญกำลังพูดกับพระบัวเฮียว หลวงพ่อยังไม่ทันแก่ซักเท่าไหร่หลงซะแล้ว ไม่น่า”

            “ฉันน่ะหรือหลง ผิดไปละมั้ง คนที่หลงน่าจะเป็นเธอมากกว่า มีอย่างที่ไหน อุตส่าห์ปฏิบัติกรรมฐานมาตั้งหลายเดือน ยังมาพูดได้ว่าจะตายแทนฉัน ช่างไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมเอาเสียเลย ถ้าคนเราทำกรรมแทนกันได้ พรุ่งนี้เช้าเธอก็ไม่ต้องฉันเช้าหรอกนะ ฉันจะฉันแทนแล้วให้เธอเป็นคนอิ่ม เอายังงั้นไหม”

            “มันจะเป็นไปได้อย่างไรครับ คนไหนกินคนนั้นก็ต้องอิ่มซีครับ คนอื่นจะมาอิ่มแทนได้อย่างไร” พระบัวเฮียวว่า

            “มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ ในทำนองเดียวกัน การที่เธอจะมาตายแทนฉันมันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉันเป็นคนทำกรรม ฉันก็ต้องเป็นผู้รับผลของมัน”

            “ผมเห็นหลวงพ่อทำแต่กรรมดี หลวงพ่อสั่งสอนอบรมให้คนเป็นคนดี และยังสงเคราะห์ช่วยเหลือเขาด้วยความเมตตา โดยไม่ต้องการผลตอบแทน หลวงพ่อไม่เคยคิดถึงความสุขของตัวเองด้วยซ้ำ แล้วทำไมจะต้องประสบเคราะห์กรรมแบบนั้น หรือว่านั่นคือผลตอบแทนของการทำกรรมดี ผมไม่เข้าใจเลยว่า เหตุใดโลกมันถึงอยุติธรรมอย่างนี้ ไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ หลวงพ่อ” พระหนุ่มรำพึงรำพัน

            “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกบัวเฮียว อย่าเข้าใจผิด จะไว้เถิดว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว จริงอยู่ ใคร ๆ อาจจะเห็นว่าฉันทำแต่กรรมดี แต่กรรมชั่วที่ฉันทำพวกเขาไม่เคยเห็น”

            “หมายความว่าลับหลังคนอื่น ๆ หลวงพ่อแอบทำกรรมชั่วหรือครับ เป็นไปไม่ได้ ยังไง ๆ ผมก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อไม่ใช่คนแบบนั้นแน่นอน”

            “แบบไหน แบบที่เรียกว่าหน้าไหว้หลังหลอกใช่ไหม เธอคิดว่าฉันจะเป็นอย่างนั้นหรือ”

            “ไม่คิดครับ ไม่คิด ไม่เคยคิด และ จะไม่คิด”

            “บัวเฮียว เธอรู้จักฉันมานานแค่ไหนเชียว” พระหนุ่มนับนิ้วแล้วตอบว่า

         “สี่เดือนครับ”

         “เพียงสี่เดือน แล้วเธอจะแน่ใจได้อย่างไรว่าฉันไม่เคยทำกรรมชั่ว”

            “อย่าว่าแต่สี่เดือนเลยครับ ถึงผมรู้จักหลวงพ่อสี่วัน ผมก็แน่ใจว่าคนอย่างหลวงพ่อไม่ทำ ถึงผมไม่ได้ “เห็นหนอ” อย่างหลวงพ่อ แต่ผมก็มั่นใจในสิ่งที่ผม “เห็น” โดยไม่มี “หนอ” ครับ”

            “เอาละเมื่อเธอมั่นใจอย่างนั้นก็ดีแล้ว ฉันก็จะได้บอกเธอเสียให้หมดเรื่อง จะได้หายสงสัย ฉันต้องประสบอุบัติเหตุคอหักตายเพราะกรรมชั่วที่ฉันเคยทำไว้ ฉันทำกรรมชั่วมามากเหลือเกินบัวเฮียวเอ๋ย” ท่านพูดอย่างปลงสังเวช

         “ทำไว้เมื่อชาติก่อน ๆ หรือครับ”

         “ชาตินี้แหละ เธอไม่รู้อะไร สมัยที่ฉันเป็นวัยรุ่น อายุสิบสองสิบสามน่ะ เกสะบัดเลย ใคร ๆ เขาเรียกฉันไอ้มหาโจรกันทั้งบาง นั่นแหละช่วงนั้นแหละที่ฉันก่อกรรมทำเข็ญไว้มากแล้วก็ต้องมานั่งชดใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้”

         “ที่หลวงพ่อบอกว่าต้องรถคว่ำคอหัก เพราะกรรมอะไรครับ” คนเป็นศิษย์ถามใคร่อยากรู้

         “หักคอนกน่ะซี เธอรู้ไหมฉันหักคอนกมาเป็นร้อย ๆ ตัวก็เลยต้องมาใช้หนี้นก ก็ดีจะได้ชดใช้เสียให้เสร็จสิ้นไป” พระบัวเฮียวเพิ่งจะเข้าใจได้เดี๋ยวนั้น กฎแห่งกรรมช่างเที่ยงตรงนัก ใครทำกรรมไว้เช่นไรก็ต้องได้รับผลเช่นนั้น จะมั่งมีหรืออยากจนอย่างไร ก็ไม่อาจหนีพ้นกรรมที่ตนทำไปได้ แล้วท่านก็นึกถึงกรรมของตัวเอง กรรมที่เคยฆ่าวัวฆ่าควาย

         “หลวงพ่อครับ แล้วผมจะชดใช้กรรมเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังหลวงพ่อ”

         “เธออยากใช้ก่อนหรือหลังล่ะ”

         “ก่อนซีครับ ถ้าหลวงพ่อมรณภาพไปแล้วใครเล่าจะมาช่วยผม”

         “อ้อ ที่เธอแสดงอากาศเศร้าโศกเสียใจออกมานี่ก็เพราะห่วงตัวเองหรอกหรือ ฉันนึกว่าเธอห่วงฉันเสียอีก ที่แท้ก็ห่วงตัวเองนี่เอง” ท่านพูดยิ้ม ๆ พระบัวเฮียวรู้สึกคลายเครียดลง ตอบผู้เป็นอาจารย์ว่า

         “ก็หลวงพ่อเคยสอนผมนี่ครับว่า ...บุคคลตามค้นไปด้วยใจตลอดทิศ ก็มิได้พบผู้ที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนที่ไหนเลย ...หลวงพ่อพูดอย่างนี้ใช่ไหมครับ”

         “ฉันไม่ได้พูด ฉันเพียงแต่อ้างพุทธพจน์มาให้เธอฟังเท่านั้น เอาละ เอาละ สรุปว่าเธอรักตัวเองมากที่สุดก็แล้วกัน”

         “แล้วหลวงพ่อล่ะครับ หลวงพ่อรักใครมากที่สุด” คนเป็นศิษย์ย้อนถาม

         “ฉันก็รักตัวเองมากที่สุดเหมือนเธอนั่นแหละ ก็ฉันเป็นศิษย์พระพุทธองค์ก็ต้องเชื่อตามคำสอนของท่าน ใคร ๆ ก็รักตัวเองมากที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นถ้ามีใครมาบอกว่า เขารักเธอมากกว่าตัวเขา ก็เชื่อได้เลยว่า เขาพูดปด”

         “นั่นซีครับ มีเรื่องเขาเล่ากันสนุก ๆ ว่า ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นคู่รักกัน นั่งพลอดรักกันที่ใต้ต้นมะพร้าว ผู้ชายก็บอกผู้หญิงว่าเขารักหล่อนมาก สามารถตายแทนได้ ผู้หญิงบอกจ้างก็ไม่เชื่อ พอดีมะพร้าวหล่นลงมา ผู้ชายรีบเอามือทั้งสองกุมหัวตัวเองไว้ก่อน ผู้หญิงเขาเลยจับโกหกได้”

         “นั่นแหละ แล้วเธอก็อย่าไปเที่ยวโกหกใครต่อใครเขาแบบนั้นก็แล้วกัน”

         “ไม่หรอกครับหลวงพ่อ เอ หลวงพ่อครับ แล้วโยมวรรณวิไล กับคุณโยมผ่องพรรณล่ะครับ หลวงพ่อเคยพูดไว้ว่าอีกแปดปีเขาจะมาหาหลวงพ่อ ถ้าหลวงพ่อมรณภาพเสียแล้ว เขาจะมาพบใครเล่าครับ” พระหนุ่มแสดงความห่วงใยไปถึงสองศรีพี่น้อง

         “แหม จำแม่นจริงนะ แต่ที่เธอถามมานั้นฉันก็ยังตอบไม่ได้ เพราะ “เห็นหนอ” บอกมาอย่างนั้นฉันก็ต้องพูดไปตามนั้น มันก็ขัด ๆ กันอยู่นะ แต่เธอไม่ต้องวิตกหรอก มันเรื่องของอนาคต เอาปัจจุบันให้ดีที่สุดก็แล้วกัน เรื่องอดีต เรื่องอนาคตไม่ต้องไปพะวงถึง เข้าใจหรือยังล่ะ ถ้าเข้าใจแล้วก็กลับกุฏิได้ สองทุ่มจะปฏิบัติกรรมฐานไม่ใช่หรือ ฉันขออวยพรให้ประสบความสำเร็จนะบัวเฮียว”

มีต่อ........๓๘


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 21, 2007, 08:07:17 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00038
๓๘...

            พระบัวเฮียวออกจาก “ผลสมาบัติ” เมื่อเวลาแปดนาฬิกาตรงของวันรุ่งขึ้น ท่านแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลไปให้มารดาและพ่อเลี้ยง พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้บุคคลทั้งสองเลิกทำปาณาติบาตอันเป็นมิจฉาอาชีวะ หันมาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

            ท่านรู้สึกถึง “พลัง” ที่แผ่ออกไปจากตัว และเกิดความมั่นใจอย่างประหลาดว่านางบุญพาและนายหรุ่ม สามีของนางต้องได้รับส่วนแห่งบุญกุศลนั้นอย่างแน่นอน

            เสร็จกิจธุระอันสำคัญนั้นแล้ว ท่านจึงสรงน้ำทำความสะอาดร่างกาย รู้สึกตัวเบา สดชื่นกระปรี้กระเปร่าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อำนาจแห่งบุญกุศลอันเกิดจาก “ภาวนามัย” ช่างประณีตลึกซึ้ง และ “จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว” เท่านั้นจึงจะสัมผัสได้

            เลยเวลาอาหารเช้าร่วมครึ่งชั่วโมง ท่านไม่รู้สึกหิวจึงเริ่มเดินจงกรมและตั้งใจจะนั่งสมาธิไปจนถึงสิบเอ็ดนาฬิกาอันเป็นเวลาเพล ต่อจากนั้นจึงจะแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา ญาติพี่น้อง เทพยดา เปรต และสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกภพทุกภูมิที่อยู่ในทุกทิศโดยไม่มีประมาณ และที่จะลืมเสียมิได้ก็คือ เจ้ากรรมนายเวรของท่าน บางทีพวกเขาอาจพากันอโหสิกรรมให้ หรือไม่ก็ให้ท่านได้ชดใช้กรรมเร็วขึ้น อย่างช้าก็ขอให้ก่อนเวลาที่พระอุปัชฌายาจารย์ของท่านจะมรณภาพเพื่อ “ใช้หนี้นก”

            เดินจงกรมได้ชั่วโมงเศษจึงกำหนดนั่ง รู้สึกสมาธิตั้งมั่นได้รวดเร็วกว่าทุกครั้ง การกำหนดพอง – ยุบ ชัดเจนและสม่ำเสมอ อาการปวดเมื่อยต่าง ๆ ไม่ปรากฏ ท่านรู้สึกสบายกายสบายใจตลอดเวลาที่นั่ง มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม และสามารถประคองจิตไว้ไม่ให้ตกภวังค์

            กระทั่งได้ยินเสียงระฆังเพลจึงถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปยังเทพยดา และสรรพสัตว์ทั้งหลาย จากนั้นจึงเดินไปยังหอฉันเพื่อฉันภัตตาหารเพล

            เมื่อท่านกำลังจะก้าวเท้าขึ้นบันไดหอฉัน ก็ได้ยินเสียงเรียกอยู่ข้างหลัง หันไปดูก็พบชายวัยกลางคนนั่งคุกเข่ากับพื้นซีเมนต์ มือประคองถาดอาหาร เป็นถาดทรงกลมทำด้วยกระเบื้องลายคราม ในถาดมีชามชุดบรรจุอาหารพร้อมฝาครอบตรงกลางถาดมีแก้วใส่น้ำไว้เกือบเต็ม

            “ท่านบัวเฮียว เราขออนุโมทนาในส่วนกุศลที่ท่านได้ทำแล้ว ขอถวายอาหารมื้อนี้แก่ท่าน โปรดรับประเคนด้วย” พระบัวเฮียวยื่นมือทั้งสองออกไปรับถาดอาหาร แล้วถามขึ้นว่า

            “โยมมาจากไหน แล้วทำไมถึงรู้จักอาตมา” ท่านไม่เคยเห็นบุรุษผู้นี้มาก่อน ท่าทางเขามีอะไร ๆ ที่ผิดไปจากคนธรรมดา แม้จะแต่งตัวเหมือนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ทว่าผิวพรรณดูละเอียดผุดผ่อง ทั้งยังมีกลิ่นหอมจาง ๆ ลอยออกจากกาย เป็นกลิ่นที่จมูกของพระบัวเฮียวไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

            “เราอาศัยอยู่แถวนี้ แต่ไม่เคยมาให้ใครเห็น นอกจากท่านพระครูแล้วก็มีท่านนี่แหละที่เห็นเรา” เสียงนั้นฟังกังวาน แม้จะไม่มีคำว่า “ครับ” หากก็ฟังไม่ขัดหู

            “ขอบใจโยมมาก เชิญขึ้นข้างบนก่อนสิจะได้คุยกัน”

            “ไม่หรอก เราจะรีบกลับ เราไปละ” บุรุษนั้นก้มลงกราบสามครั้งแล้วลุกเดินออกไปทางประตูหลังวัด พระบัวเฮียวคิดว่าเขาคงเป็นชาวบ้านฝั่งโน้นพายเรือข้ามฟากมา จึงอยากไปดูให้เห็นกับตา วางถาดใบนั้นไว้ตรงหัวบันไดแล้วเดินตามออกไปติด ๆ ครั้นพ้นประตูวัดออกไป กลับไม่พบผู้ใดเดินอยู่แถวนั้นแม้แต่คนเดียว มองลงไปในลำน้ำก็ไม่พบเรือแม้แต่ลำเดียวเช่นกัน ท่านจึงเดินกลับหอฉันด้วยความฉงนฉงาย คิดว่าฉันเสร็จจะต้องไปเรียนถามท่านพระครูให้หายข้องใจ

            พระบัวเฮียวหยิบถาดอาหารตรงหัวบันไดขึ้นมา ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้วจึงเปิดฝาครอบออกทีละใบ ชามแรกเป็นข้าวสวย ชามที่สองเป็นน้ำพริก ชามที่สามเป็นผักต้ม มองเผิน ๆ ก็เป็นอาหารพื้น ๆ ของพวกชาวบ้าน ทว่ากลิ่นนั้นหอมหวนชวนรับประทานยิ่งนัก ท่านใช้ช้อนตักน้ำพริกราดลงบนข้าวแล้วใช้ส้อมจิ้มผักต้มมาวางบนน้ำพริก ตักใส่ปากกำหนด “เคี้ยวหนอ ๆ” กระทั่งถึง “กลืนหนอ” แล้วก็ให้รู้สึกอิ่มแปล้ทั้งที่ฉันไปเพียงคำเดียว ท่านยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม แล้วหันไปบอกพระที่นั่งข้าง ๆ

            “ลองน้ำพริกผักต้มนี่ดูสักคำสิท่าน รสชาติอร่อยดีแท้”

            “อร่อยก็กำหนด “รสหนอ” ซีท่าน อย่างไปปรุงแต่ง” ภิกษุรูปนั้นถือโอกาส “สอน” แล้วพูดต่อไปว่า

            “วันพระวันโกนเขาก็ต้องฉันหมูเห็ดเป็ดไก่ เรื่องอะไรจะไปฉันน้ำพริก เบื่อจะแย่อยู่แล้ว” ท่านพูดเพราะไม่ได้ “กลิ่น” อย่างที่พระบัวเฮียวได้ ในสายตาของภิกษุรูปนั้น สิ่งที่อยู่ในถาดก็คือน้ำพริกผักต้มธรรมดาที่แสนจะเบื่อหน่าย

            ระหว่างที่นั่งรอพระรูปอื่น ๆ ฉัน พระบัวเฮียวก็กำหนดสติ ด้วยการพิจารณา “พอง – ยุบ” ที่ท้อง จิตของท่านเริ่มจะชินกับการเจริญสติอยู่ทุกอิริยาบถ

            “เป็นไง วันนี้อาหารไม่ถูกปากหรือยังไง ฉันน้อยเหลือเกิน” พระมหาบุญถามอย่างเป็นห่วง

            “หามิได้ครับ ผมอิ่มและรู้สึกมีความสุขมาก หลวงพี่ไม่ลองสักคำหรือครับ” พูดพลางส่งชามผักและน้ำพริกให้ พระมหาบุญตักมาชิมอย่างเสียไม่ได้ ในความรู้สึกของท่านมันก็เป็นอาหารธรรมดา ๆ ที่ไม่มีรสมีชาติอะไร พระบัวเฮียวมิรู้ดอกว่าสิ่งที่ตนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัว

            เมื่อฉันเสร็จและ “ยถาสัพพี” พร้อมกับภิกษุรูปอื่น ๆ แล้ว พระบัวเฮียวก็เดินตรงมายังกุฏิท่านพระครู เป็นเวลาเดียวกับที่ท่านเจ้าของกุฏิบอกให้บรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ทั้งหลายพากันไปรับประทานอาหารที่โรงครัว แล้วท่านก็ไม่ได้ขึ้นไปเขียนหนังสือข้างบน เพราะรู้ว่าพระบัวเฮียวจะต้องมาหา

            เพียงอึดใจเดียวพระหนุ่มก็มา หากคราวนี้มาในมาดใหม่ คือมาดของ “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนสุข” กราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้ว พระหนุ่มจึงเริ่มเรื่อง

            “หลวงพ่อครับ ผมปฏิบัติได้ตามที่เคยกราบเรียนหลวงพ่อไว้ทุกประการ”

            “ดีมาก ฉันขออนุโมทนา” อาจารย์ยกมือขึ้น “สาธุ”

            “แต่มันมีเรื่องสงสัยเกิดขึ้นแล้วครับหลวงพ่อ ผมสงสัยจริง ๆ แล้วก็รู้ว่าหลวงพ่อต้องแก้ข้อสงสัยให้ได้”

            “แหม รู้สึกว่าเธอจะมีวิจิกิจฉานิวรณ์มากจังนะบัวเฮียวนะ” พระอุปัชฌาย์ว่า

            “มันไม่ใช่วิจิกิจฉานิวรณ์หรอกครับหลวงพ่อ มันสงสัยยังไงก็บอกไม่ถูก รู้แต่ว่ามันไม่ใช่นิวรณ์แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้”

            “งั้นก็ลองเล่าไปซิ” พระบัวเฮียวจึงเล่าเรื่องบุรุษผู้นั้นนำอาหารมาถวาย เล่าอย่างละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ

            “ฉันขออนุโมทนา” ท่านพระครูพูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ” พระบัวเฮียวรู้สึกงุงงงหนักขึ้น กำลังจะเอ่ยปากถาม ท่านพระครูก็พูดขึ้นว่า

            “ฉันขออนุโมทนา เธอปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาพระภิกษุที่อยู่วัดนี้ รู้ไว้เสียด้วย ผู้ชายที่นำอาหารมาให้เธอเมื่อสักครู่นี้น่ะคือ เทวดา ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาอย่างที่เธอเข้าใจหรอกนะ”

         “เทวดา” พระบัวเฮียวทวนคำ

            “จะเป็นไปได้อย่างไรครับหลวงพ่อ” ถามอย่างข้องใจเต็มประดา

            “ได้หรือไม่ได้มันก็เป็นไปแล้ว เธอจำไม่ได้หรือที่เขาพูดกับเธอว่านอกจากฉันแล้ว เธอเป็นคนที่สองที่ได้เห็นเขา”

            “คงจะจริงครับ เอ แล้วพวกถาดกับถ้วยชามของเขาเล่าครับ ผมไม่ได้เอาลงมาจากหอฉัน แล้วก็ไม่รู้จะเอาไปคืนให้ที่ไหน” พระหนุ่มเกิดห่วงเรื่องถ้วยชาม

            “อย่ากังวล เรื่องนั้นไม่ต้องกังวล ของเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาเนรมิตขึ้นมา เดี๋ยวเขาก็เรียกกลับคืนไปได้”

            “แล้วทำไมเขาถึงเจาะจงมาถวายผมคนเดียวล่ะครับ แล้วพระมหาบุญชิมดูก็ไม่ได้รสชาติอย่างที่ผมได้”

            “บัวเฮียว เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวนะ แล้วเธอไม่ต้องไปบอกใคร เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับฉันมานับครั้งไม่ถ้วน แล้วฉันก็ไม่เคยบอกกล่าวให้ใครฟัง ที่บอกเธอเป็นคนแรกเพราะเธอได้ประสบเหตุการณ์เดียวกัน ฉันถึงได้อนุโมทนากับเธอยังไงล่ะ”

            “งั้นที่หลวงพ่อไม่ค่อยฉันอะไรแล้วอยู่ได้ทั้งวันก็เพราะฉันอาหารของเทวดานี่เอง ใช่ไหมครับ”

            “ก็คงยังงั้น เขาเรียกว่า อาหารทิพย์ ที่เรียกอย่างนี้เพราะมันประณีตกว่าอาหารของมนุษย์ ต้องฉันทีละมาก ๆ แล้วก็ถ่ายมากออกมาเป็นอุจจาระ ฉันมากก็ถ่ายมาก แต่อาหารทิพย์ฉันคำเดียวอิ่มแล้วไม่มีกากเหลือเป็นอุจจาระ พวกเทวดาเขาจึงไม่ต้องถ่ายอุจจาระบนสวรรค์ก็เลยไม่มีส้วมเหมือนอย่างโลกมนุษย์” ท่านพระครูอรรถาธิบาย

            “หลวงพ่อเคยไปดูมาแล้วหรือครับ”

            “ถึงไม่ดูก็รู้ ที่รู้เพราะ “เห็น” น่ะ

            “ที่ “เห็น” เพราะ “เห็นหนอ” บอกใช่ไหมครับ

            “เออน่า จะอะไรก็ช่าง ถ้าเธออยากเป็นอย่างฉันก็ให้เร่งทำความเพียรเข้า วันหนึ่งก็จะสำเร็จได้”

            หลวงพ่อครับทำไมเทวดาเขาจึงนำอาหารมาถวายเฉพาะผมกับหลวงพ่อล่ะครับ ทำไม่พระรูปอื่น ๆ เขาจึงไม่ถวาย”

            “ก็เขาพอใจในการประพฤติปฏิบัติของเราน่ะสิ อย่าลืมนะบัวเฮียว พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นประเสริฐกว่าเทวดาเสียอีก แม้เทวดาเขาก็ยังนับถือ การที่เขานำอาหารมาถวาย เขาก็อยากได้บุญเหมือนกัน ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระอรหันต์ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ พวกเทพยดาก็พากันนำอาหารมาถวายโดยแปลงมาในรูปของมนุษย์”

         “เป็นเทวดาก็ยังอยากได้บุญอีกหรือครับ”

            “อยากได้ซี ก็เวลาที่เราปฏิบัติกรรมฐานเสร็จ เราถึงต้องแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาด้วย เมื่อเขาได้รับส่วนกุศลเขาก็อาจจะตอบแทนบุญคุณเราด้วยการนำอาหารทิพย์มาถวาย และเมื่อเขาถวายเขาก็ได้บุญเพิ่มขึ้นอีก”

            “แล้วเทวดาเขาไม่ปฏิบัติกรรมฐานหรือครับ ถ้าเขาอยากได้บุญมาก ๆ ก็น่าจะปฏิบัติเองแทนที่จะมาคอยรับส่วนบุญจากมนุษย์”

            “เขาก็คงอยากปฏิบัติ แต่บางครั้งก็หาคนสอนให้ไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ภูมิของเทวดาเป็นภูมิที่มีแต่ความสุขสบาย เขาก็เลยพากันเสพเสวยความสุขสบายนั้นจนเพลิน เรียกว่าบรรยากาศบนสวรรค์มันไม่เอื้ออำนวยต่อการประพฤติพรหมจรรย์ว่างั้นเถอะ”

            “งั้นเป็นมนุษย์ก็ดีกว่าเป็นเทวดาสิครับ”

            “มันก็ดีกว่าในแง่นี้ แต่ถ้าจะเอาในแง่ความสุขสบาย เป็นเทวดาดีกว่า เพราะเทวดามีความสุขทิพย์เป็นความสุขที่เนรมิตขึ้นมาได้ตามใจปรารถนา”

            “งั้นผมอยากเป็นเทวดาแล้วซีครับ จะได้เสวยอาหารทิพย์ทุก ๆ วัน”

            “อย่าเลยบัวเฮียว เป็นเธอนั่นแหละดีแล้ว เพราะทางที่เธอกำลังเดินอยู่นี้เป็นทางสายเอกที่จะนำเธอไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การเป็นเทวดาแม้จะสุขสบายอย่างไรก็ต้องเวียนว่าย วนเวียนอยู่ในสงสารสาครอย่างมิรู้จบสิ้น แล้วก็ใช่ว่าจะเลือกเกิดเป็นเทวดาได้ทุกภพทุกชาติเสียเมื่อไหร่ ประมาทพลาดพลั้งลงเมื่อใดก็ต้องไปเกิดในทุคติ ในอบาย”

            “หลวงพ่อครับ พวกเทวดานี่มีแต่ดี ๆ ใช่ไหมครับ ที่เลว ๆ มีไหมครับ” คนเป็นศิษย์ถามอีก

            “เทวดามีสองประเภท คือพวกที่เป็นสัมมาทิฐิกับพวงมิจฉาทิฐิ ก็เหมือนมนุษย์นั่นแหละมีทั้งคนดีและคนเลว พวกเทวดาที่เป็นสัมมาทิฐิเป็นพวกเทวดาตรง ส่วนพวกมิจฉาทิฐิเป็นพวกเทวดาพาล พวกหลังนี้ชอบกินเครื่องเซ่น ชอบรับสินบน ส่วนพวกแรกไม่รับเพราะชอบความยุติธรรม”

            “เทวดาที่นำอาหารมาให้ผมเป็นเทวดาตรงใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว ถ้าเป็นเทวดาพาลจะไม่ชอบทำบุญ ก็เหมือนคนเลวที่ชอบทำแต่บาป ไม่รู้จักสร้างบุญสร้างกุศลใส่ตัว เทวดากับมนุษย์จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ สำหรับเธอขณะนี้อาจเรียกว่าดีกว่าเทวดา แต่ก็อย่าลำพองใจ อย่ากำเริบเสิบสาน ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไป วันหนึ่งก็อาจจะถึงจุดหมายได้” พระบัวเฮียวแสนจะดีใจจนต้องกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” อยู่นาน

         “หลวงพ่อครับ ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้พระมหาบุญฟังจะได้ไหมครับ” ท่านขออนุญาตอาจารย์

         “ไม่ได้เด็ดขาด ก็ฉันบอกแล้วยังไงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ห้ามนำไปบอกเล่าใคร ดีไม่ดีเขาจะหาว่าเธอบ้า ดูแต่ฉันซี ได้ฉันของทิพย์มาตั้งสี่ห้าปียังไม่เคยปริปากบอกใคร ที่บอกเธอเป็นคนแรกก็เพราะเห็นว่าเธอก็ประสบมาแบบเดียวกันจึงพูดกันรู้เรื่อง เธอไม่เห็นหรอกหรือว่าตอนให้พระมหาบุญชิมอาหารทิพย์ เขาก็ยังว่ามันเป็นของธรรมดา ๆ ทั้งนี้เพราะเทวดาเขาจงใจให้เธอผู้เดียว คนอื่นมาชิมจึงไม่ได้รสและกลิ่นอย่างที่เธอได้ ฉันขอร้องนะบัวเฮียว ห้ามนำเรื่องนี้ไปบอกใครเพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ตนหรือประโยชน์ท่าน เข้าใจหรือยังล่ะ”

         “เข้าใจครับ แต่....หลวงพ่อครับ ถ้าเกิดพระมหาบุญท่านเจอเหตุการณ์แบบผมแล้วผมค่อยบอกว่าผมก็เจอมาแล้ว อย่างนี้จะได้ไหมครับ”

         “ถ้าอย่างนั้นละก็ได้ ต้องให้เขาประสบกับตัวเองเสียก่อนเขาจึงเชื่อ เพราะของอย่างนี้มันพิสูจน์ให้ผู้อื่นรู้เห็นด้วยแบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันไม่ใช่ของสาธารณะ แต่เป็นของเฉพาะตน เพราะฉะนั้นถ้าเธอปากสว่างไปเที่ยวบอกใครต่อใคร เขาจะต้องว่าเธอบ้าแน่ ๆ จำเอาไว้”

         “แล้วจะบาปไหมครับ”

         “บาปซี บาปทั้งคนบอกและคนถูกบอกนั่นแหละ”

         บาปยังไงครับ อย่างผมนี่ผมพูดเรื่องจริงไม่ได้โกหกแล้วจะบาปได้ยังไง”

         “ก็เวลาที่เธอพูดเรื่องจริงแล้วคนฟังเขาไม่เชื่อน่ะ เธอรู้สึกอย่างไรล่ะ”

         “โกรธซีครับ ผมโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย แต่พอรู้ตัวผมก็กำหนด “โกรธหนอ โกรธหนอ” ไปจนกว่าจะหายโกรธครับ”

         “ถึงอย่างนั้นเธอก็โกรธใช่ไหม ก่อนจะกำหนดได้เธอก็โกรธไปแล้วใช่ไหม”

         “ใช่ครับ”

         “แล้วโกรธเป็นอะไร เป็นอกุศลมูลตัวไหน”

         “ตัวโทสะครับ”

         “แล้วบาปไหมเล่า”

         “บาปครับ”

         “นั้นแหละฉันถึงบอกว่าไม่ต้องเล่าให้คนอื่นฟัง เพราะเขาเกิดไม่เชื่อ เธอก็ต้องบาป”

         “แต่ถ้าเกิดเข้าเชื่อล่ะครับ”

         “เป็นไปไม่ได้หรอกบัวเฮียวเอ๋ย คนสมัยนี้เขาคิดว่าเขาฉลาด เขาจึงไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ อย่างที่เธอคิดแถมใครเชื่อง่ายเขาก็หาว่าโง่ หาว่างี่เง่า ยิ่งเรื่องอย่างนี้เขายิ่งไม่เชื่ออย่างเด็ดขาด คนทุกวันนี้เขาไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป เพราะเขาหาว่าสิ่งเหล่านี้ไร้สาระ พอตายไปก็ไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว น่าสงสาร” ท่านส่ายหน้าช้า ๆ อย่างปลงสังเวช

         “แต่ถ้าเราสามารถพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ล่ะครับ”

         “เธอจะเอาอะไรมาพิสูจน์ เอาละ สมมุติเรื่องที่เกิดกับเธอวันนี้ ถ้าคนฟังเขาอยากเห็นเทวดาบ้าง เธอจะไปเอาเทวดาที่ไหนมาให้เขาดู เพราะเธอเองก็ยังไม่รู้ว่าเทวดาองค์นั้นมาจากไหน อย่าไปคิดให้ปวดหัวเลยนะ เชื่อฉันเถอะ”

         “ครับ ไม่คิดก็ได้ครับ พระหนุ่มรับคำอย่างว่าง่าย หากก็ยังไม่หายสงสัยจึงถามขึ้นอีกว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วคนฟังเขาจะบาปไหมครับ คือผมเล่าแล้วเขาไม่เชื่อเขาจะบาปไหมครับ”

         “เธอว่าบาปไหมล่ะ”

         “ก็เพราะผมไม่ทราบน่ะซีครับถึงได้เรียนถามหลวงพ่ออยู่นี่ไง กรุณาอธิบายให้ผมฟังหน่อยเถอะครับ”

         “แหม คำถามเธอมันแค่ระดับ ป.๔ เท่านั้นนะบัวเฮียว” ท่านตำหนิกราย ๆ

         “ก็ผมจบแค่ ป.๔ นี่ครับ ไม่ได้จบมัธยมเหมือนหลวงพ่อ จะได้มีคำถามระดับ ม.๖ มาถาม” คนเป็นศิษย์ย้อน

         “ไม่แน่หรอกบัวเฮียว คนจบ ป.๔ สามารถถามคำถามระดับ ม.๖ ได้ ฉันจบแค่ ม.๖ ยังถามคำถามระดับปริญญาเอกได้เลย”

         “แหมก็ใคร้ใครจะเก่งอย่างหลวงพ่อล่ะครับ อย่างหลวงพ่อน่ะมีคนเดียวในประเทศไทย หรืออาจจะในโลกด้วยซ้ำ ส่วนงี่เง่าอย่างผมน่ะมีมากมายหลากหลาย”

         “เออน่ะ เออน่ะ ไม่ต้องพร่ำพรรณนาให้มันมากมายถึงปานนั้นหรอก จะให้ตอบอะไรก็ว่ามา”

         “ก็ผมถามแล้วนี่ครับ”

         “ถามว่ายังไงล่ะ ถามใหม่ซิฉันจะได้รีบ ๆ ตอบ ประเดี๋ยวคนอื่นมาจะได้ไม่ต้องรอคิว” พระบัวเฮียวจึงต้องทวนคำถามใหม่ว่า

         “ผมเรียนถามหลวงพ่อว่าคนฟังเขาจะบาปไหม ถ้าผมเล่าเรื่องเทวดาให้เขาฟังแล้วเขาไม่เชื่อ เขาจะบาปไหมครับ” ท่านพูดช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ ก็ตั้งใจ “ยวน” ด้วยนั่นแหละ ท่านพระครูจึงแกล้งยวนตอบยานคางว่า

         “บาปสิบัวเฮียว ก็ในเมื่อเธอพูดเรื่องจริงแต่เขาไม่เชื่อก็เท่ากับเขามีอกุศลข้อโมหะช่ายหมาย...”

         “ช่ายคร้าบ” ลูกศิษย์ล้อเลียนบ้าง ขณะนั้นบรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ก็ทยอยกันเข้ามานั่งเพื่อขอความช่วยเหลือให้ท่านช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ให้

         วันนี้คงจะเป็นวันของ “คนท้อง” เพราะผู้หญิงครรภ์แก่พากันมาร่วมสิบราย ที่กลับไปเมื่อตอนเช้าก็หลายราย แต่ละรายจะต้องได้ “ผลมะตูมเสก” ติดไม้ติดมือไปต้มกินเพื่อให้คลอดลูกง่าย ท่านพระครูได้ให้ลูกศิษย์จัดเตรียมผลมะตูมไว้จำนวนมาก เพราะรู้ว่าจะมีคนมาขอ บ้างไม่มาเองก็ส่งสามีหรือญาติมาขอแทน เพราะคนที่เขาพูดกันว่ามะตูมเสกของท่านนั้นวิเศษนัก คนท้องกินเข้าไปแล้วคลอดลูกง่ายทุกราย สตรีครรภ์แก่นางหนึ่งคลานเข้าไปหาเพราะถึงคิว หล่อนกราบสามครั้งแล้วถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อคะ ลูกหนูจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะ”

         “เดี๋ยวซี ตอบตอนนี้ยังไม่ได้ ต้องรอให้คลอดออกมาเสียก่อน แล้วหลวงพ่อจะบอก” คำตอบของท่านเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนในที่นั้น แล้วท่านจึงสอนหล่อนว่า

         “ผู้หญิงหรือผู้ชายก็ลูกเรานะหนูนะ ให้เขาออกมาครบสามสิบสองประการ ไม่บ้าใบ้บอดหนวกก็พอแล้ว จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ช่างเขา โตขึ้นขอให้เป็นคนดีมีศีลธรรมก็แล้วกัน”

         “ค่ะ เอาไว้เขาโตแล้วหนูค่อยสอน” หล่อนว่า

         “สอนเดี๋ยวนี้แหละหนู ต้องสอนกันตั้งแต่อยู่ในท้อง ข้อสำคัญพ่อแม่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย ถ้าแม่คนไหนนั่งจั่วไพ่ทั้งวัน รับรองลูกออกมาเล่นไพ่เก่ง เพราะเขาสังเกตการณ์มาตั้งแต่อยู่ในท้อง เสียงหัวเราะดังขึ้น

         “อ้าว นี่เรื่องจริงนะ ไม่ได้พูดเล่น เด็กจะดีน่ะ เขาจะดีมาตั้งแต่ในท้องเลย อย่างบางคนพอคลอดออกมาปุ๊บก็บอกแม่ว่า “แม่จ๋าตักบาตรเถอะ” ท่านเลียนเสียงเด็กพูด บรรดาคนฟังพากันหัวเราะอีก

         “นี่ถ้าเขาพูดยังงี้แสดงว่าคนดีมาเกิด สำคัญเขาจะพูดว่า “แม่จ๋าซื้อรองเท้าหน้าสูง” ถ้าแบบนี้แปลว่าชอบแต่งตัว ไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

         “รองเท้าหน้าสูงไม่มีหรอกค่ะหลวงพ่อ สงสัยคงจะเป็นรองเท้าส้นสูง” สตรีนั้นแย้ง

         “ไม่ใช่ส้นสูง รองเท้าหน้าสูงก็คือ ใส่แล้วหน้าสูงไงล่ะ หน้าเชิดสูงไปเลย” ท่านทำหน้าเชิดประกอบ คนฟังหัวเราะอีก

         “แต่พอถอดรองเท้าออกหน้าต่ำเลย นี่แหละรองเท้าหน้าสูง โยมเคยใส่ไหมล่ะ” ท่านถามสตรีสูงอายุที่นั่งหลังสุด

         “เคยค่ะ เคยสมัยสาว ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้วค่ะ สังขารมันไม่อำนวย” หญิงสูงวัยตอบ นางมารอเพื่อขอผลมะตูมเสกไปให้ลูกสาว...

 

มีต่อ........๓๙


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 22, 2007, 08:47:46 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00039
๓๙...

        หมดปัญหาของ “คนท้อง” ก็มาถึงปัญหา “คนแห้ง” ท่านพระครูเจริญแห่งวัดป่ามะม่วงมีอันต้องรับปรึกษาปัญหาทุกรูปแบบโดยไม่คิดราคาค่าจ้าง “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” เป็นคาถาที่ท่านท่องไว้ในใจ ยามใดที่เกิดเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ก็ได้ใช้คาถาบทนี้ช่วยชโลมจิตใจให้ชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาและมีกำลังใจที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือด้วยเมตตาต่อไป

        สตรีวัยยี่สิบเศษคลานเข้าไปหาพูดด้วยเสียงแผ่วเบาเพื่อมิให้บุคคลอื่นได้ยิน ปัญหาที่หล่อนจะปรึกษาท่านพระครูในวันนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย จึงไม่ต้องการให้ผู้ใดล่วงรู้

        “หลวงพ่อคะ หนูนอนไม่หลับมาหลายคืน ฝันร้ายทุกคืนเลยค่ะ”

        “อ้าว นอนไม่หลับแล้วจะฝันได้ยังไงล่ะ หรือว่าฝันทั้งที่ตื่นอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเรียกฝันได้ยังไงล่ะจ๊ะ หนูนี่มาแปลก” ท่านเจ้าของกุฏิพูดด้วยเสียงปกติเพราะเห็นว่ายังไม่ถึงต้องที่ต้อง “หรี่เสียง” สาวเจ้าของเรื่องทำหน้า “คิ้วผูกโบ” แล้วตอบใหม่ว่า “คือนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนน่ะค่ะหลวงพ่อ หลับ ๆ ตื่น ๆ แต่เมื่อไรที่หลับก็ต้องฝันร้ายจนสะดุ้งตื่น เป็นอย่างนี้มาหลายคืนแล้วค่ะ หลวงพ่อโปรดช่วยหนูด้วย” หญิงสาวพูดด้วยเสียงปกติบ้าง เอาไว้ตอนที่เป็น “ความลับ” ค่อยพูดเบา ๆ

        “จะให้หลวงพ่อช่วยยังไงล่ะจ๊ะ”

        “ช่วยให้หนูนอนหลับแล้วก็ไม่ฝันร้ายน่ะค่ะ หนูเคยพึ่งยากล่อมประสาทที่เขาเรียกว่ายานอนหลับน่ะค่ะ แต่มันได้ผลแค่ระยะแรก ๆ เห็นเขาว่าทานมาก ๆ แล้วอันตราย หนูก็เลยต้องมาขอพึ่งบารมีหลวงพ่อล่ะค่ะ”

        “แล้วที่ว่าฝันร้ายน่ะ ฝันว่ายังไงจ๊ะ”

        “ฝันว่ามีเด็กผู้ชายมาทำร้าย มาบีบคอบ้าง มาตัดแขนตัดขาบ้าง บางทีก็มาควักลูกนัยน์ตา ทำให้หนูเจ็บปวดมากค่ะ”

        “ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบจึงได้รู้ว่าสตรีสาวผู้นี้เพิ่งไปทำแท้งมา วิญญาณของเด็กคนนี้มีความอาฆาตพยาบาทแรงกล้าถึงกับจะเอาชีวิตหล่อน การที่หล่อนต้องฝันร้ายและนอนไม่หลับเป็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้ ซึ่งมาให้ผลทันตาเห็นคือ เป็น “ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม” เห็นกรรมของหล่อนแล้วท่านจึง “ตะล่อม” ถามว่า

        “แล้วหนูเคยไปทำอะไรไว้กับเด็กล่ะจ๊ะ ที่หลวงพ่อ “เห็น” น่ะ หลวงพ่อเห็นวิญญาณอาฆาตของเด็กผู้ชายเขาต้องการเอาชีวิตหนู เพราะหนูไปสร้างกรรมไว้กับเขา” ฟังถ้อยคำของท่าน หญิงสาววัยยี่สิบเศษก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น เกิดรักตัวกลัวตายเสียดายชีวิตขึ้นมาเดี๋ยวนั้น หล่อนสารภาพด้วยเสียงแผ่วเบาว่า

        “หนูไปทำแท้งมาค่ะ หลวงพ่อ ตอนทำก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด หลังจากนั้นก็นอนไม่หลับและฝันร้ายตลอดมา หลวงพ่อช่วยหนูด้วย”

        “เด็กที่ออกมาเป็นผู้ชายใช่ไหม” ท่านถามเสียงแผ่วเบาเช่นกัน

        “ใช่ค่ะ ท่าทางเขาไม่อยากออก หนูรู้สึกอย่างนั้นค่ะ”

        “ใช่สิ ก็เขาอยากเกิด หนูก็ไม่ยอมให้เขาเกิด” หญิงสาวสะอื้นหนักขึ้น บอกละล่ำละลักว่า

        “หนูอยากคะหลวงพ่อ แต่...แต่ แฟนหนูเขาไม่ยอมรับ หนูกลัวว่าจะต้องอับอายชาวบ้านที่ท้องไม่มีพ่อ เลยตัดสินใจทำแท้ง”

        “เขาไม่ยอมรับก็ช่างเขา แต่ในเมื่อหนูทำกรรมลงไปก็ต้องยอมรับกรรมนั้นด้วยตัวหนูเอง ถึงคราวจะต้องอายก็ต้องยอมอาย ดีกว่าไปทำอย่างนั้น รู้ไหมเด็กเขาอาฆาตหนูมากเลย”

        “หลวงพ่อไม่มีทางช่วยหนูเลยหรือคะ ได้โปรดเถอะค่ะ” หล่อนอ้อนวอน ท่านพระครูนั่งนิ่งอยู่อึดใจหนึ่งจึงพูดขึ้นว่า

        “หลวงพ่อช่วยหนูได้ไม่มากนักหรอก คนที่จะช่วยหนูได้มากที่สุดก็คือตัวหนูนั่นแหละ ว่าแต่หนูจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำได้หรือเปล่าล่ะ”

        “ได้ค่ะ หลวงพ่อกรุณาบอกมาเถอะค่ะ หนูจะทำตามทุกอย่าง” หล่อนรับคำง่ายดาย

        “งั้นก็ดีแล้ว หลวงพ่อสั่งให้หนูมาเข้ากรรมฐานอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลาสิบห้าวัน ระหว่างนี้ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้เขาทุกวัน บางทีเขาอาจจะยอมอโหสิกรรม แล้วหลวงพ่อจะช่วยอีกแรงหนึ่ง ช่วยเจรจาต่อรองกับเขาให้” ได้ยินว่าท่านจะให้มาอยู่วัดถึงครึ่งเดือน สาวน้อยก็ปฏิเสธเสียงลั่น

        “ไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ หนูมาไม่ได้เพราะต้องทำงาน เจ้านายเขาคงไม่ให้ลา”

        “อ้าว เมื่อกี้รับปากอย่างง่ายดาย ยังไม่ทันไรเปลี่ยนใจเสียแล้ว ก็ไหนว่าจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ” ท่านเจ้าของกุฏิพูดเสียงเรียบ ไม่โกรธไม่ขึ้ง เพราะท่านชินชาเสียแล้วกับความรวนเรของใจมนุษย์

        “หลวงพ่อช่วยวิธีอื่นไม่ได้หรือคะ” หล่อนต่อรอง

        “วิธีอื่นน่ะเช่นอะไรล่ะจ๊ะ ช่วยแนะนำหลวงพ่อหน่อยซิ”

        “ก็รดน้ำมนต์ เสกคาถา อะไรทำนองนี้แหละค่ะ”

        “อ้อ หนูชอบของปลอมอย่างนั้น หรือ ของจริงรับไม่ได้ใช่ไหม หนูจำไว้เลยว่าถ้าหนูชอบของปลอม ชีวิตหนูก็จะพบแต่ของปลอม ๆ มีความรักก็ได้แค่รักจอมปลอม หนูต้องการอย่างนั้นหรือจ๊ะ”

        “หนูต้องการของแท้ค่ะ แล้วก็ต้องการรักแท้ด้วย แต่หนูก็ไม่เคยได้อย่างที่ใจหวังเลยสักครั้ง เป็นเพราะอะไรคะหลวงพ่อ เพราะอะไร” หญิงสาวคร่ำครวญด้วยเสียงแผ่วเบา

        “เพราะหนูเป็นคนใจโลเลน่ะสิ นี่หลวงพ่อพูดตรง ๆ อย่างนี้แหละ จะโกรธก็ได้ไม่ว่ากัน ถ้าหนูใจเด็ดเดี่ยหนักแน่น หนูก็จะไม่ต้องมาเป็นอย่างนี้ ที่หลวงพ่อพูดมานี่จริงหรือเปล่าจ๊ะ”

        “จริงค่ะ จริงทุกอย่างทุกประการ หนูยอมรับค่ะ”

        “จะไม่ยอมรับก็ได้ ไม่ว่ากันอยู่แล้ว” ท่านพูดเรื่อย ๆ

        “ตกลงหลวงพ่อจะรดน้ำมนต์ให้หนูไหมคะ” คนยอมรับยังยืนยันความคิดเดิม ท่านพระครูจึงพูดด้วยเสียงปกติว่า

        “อะไร นี่หลวงพ่อพูดมาตั้งนาน หนูยังไม่เข้าใจอีกหรือ ก็ไหนว่ายอมรับไงล่ะ”

        “ค่ะ หนูยอมรับว่าหลวงพ่อพูดถูก แต่หนูไม่สามารถทำตามที่หลวงพ่อแนะนำได้ หนูต้องทำงานค่ะ หลวงพ่อกรุณารดน้ำมนต์หรือไม่ก็ช่วยเป่าหัวให้หนูหมดทุกข์หมดโศกเถอะค่ะ”

        “เสียใจจ้ะหนู หลวงพ่อทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการทำเช่นนั้นมันไม่ช่วยให้หนูแก้ปัญหาได้ ปัญหาของหนูไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ง่าย ๆ นะหนู แล้วก็นอกจากวิธีที่หลวงพ่อแนะนำแล้ว ก็ไม่มีวิธีอื่นที่จะแก้ได้” ท่านรู้ว่าอีกไม่นานสตรีผู้นี้จะต้องกลายเป็นคนวิกลจริตเพราะกรรมนั้น

        “แต่หนูไม่มีเวลาจริง ๆ ค่ะหลวงพ่อ อย่าว่าแต่สิบห้าวันเลย แค่สามวันหนูก็คงมาไม่ได้” คนห่วงงานยิ่งกว่าห่วงชีวิตตอบ “ตามใจหนูก็แล้วกัน ถ้าหนูทำไม่ได้ หลวงพ่อก็ช่วยอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ แล้วก็บอกไม่ได้ด้วยว่าหนูจะต้องทุกข์ทรมานไปอีกนานสักเท่าไร หลวงพ่อช่วยแนะนำได้เท่านี้แหละ จะให้รดน้ำมนต์หรือเป่าหัวน่ะ หลวงพ่อไม่ทำหรอก เพราะหลวงพ่อรู้แก่ใจดีอยู่แล้วว่ามันช่วยไม่ได้ พระครูเจริญไม่ชอบหลอกลวงใคร”

        “ถ้าอย่างนั้นหนูก็จะลองไปหาวัดอื่นดู เผื่อจะมีหลวงพ่อองค์อื่นช่วยได้” หล่อนยังมีความหวัง

        “ไม่มีหรอกหนู เชื่อหลวงพ่อเถอะ อย่าเสียเวลาไปเลย ท่านแนะนำด้วยความหวังดี หากคนถูกแนะนำกลับย้อนว่า “ก็ในเมื่อหลวงพ่อไม่ช่วย หนูก็ต้องไปวัดอื่น หนูลาล่ะค่ะ” หล่อนกราบสามครั้งแล้วลุกออกมาด้วยอาการขัดเคือง

        ท่านพระครูส่ายหน้าอย่างระอาแล้วพูดกับคนในที่นั้นว่า “ดูเอาเถิดญาติโยมทั้งหลายเอ๋ย บอกของจริงให้ไม่เอา จะไปเอาของปลอม แล้วจะไปแก้ปัญหาได้ยังไง้ แบบนี้เขาเรียกว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุดอย่างที่คนโบราณเขาว่า “แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนกินมังคุดไม่ถูกเม็ด”

        “ผมเคยได้ยินแต่ “แก้ปัญหาไม่ถูกจุดเหมือนกินละมุดถูกเม็ด” ครับ” พระบัวเฮียวแย้งเรียบ ๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะจับผิดครูบาอาจารย์ แต่ปากมันไวไปหน่อย ก็ฝึกมันไว้เสียจนเคย

        “มันก็เหมือนกันแหละน่า” ท่านพระครูแก้

        “ไม่เหมือนครับ เพราะเม็ดมังคุดน่ะอร่อย กินได้ แต่เม็ดละมุดกินไม่ได้ หรือว่าหลวงพ่อเคยฉันเม็ดละมุดครับ” ศิษย์คนซื่อถามซื่อ ๆ

        “ไม่เคยหรอก แต่ที่ฉันว่าเหมือนนั้น ฉันหมายถึงว่ากินมังคุดไม่ถูกเม็ดกับกินลุมุดถูกเม็ดน่ะ มันก็ครือ ๆ กัน คือไม่บรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการไงล่ะ” อาจารย์ผู้มีศิษย์แสนซื่อตอบ

        สตรีอีกผู้หนึ่งคลานเข้ามากระซิบกระซาบกับท่านพระครูว่า “หลวงพ่อคะ หมอเขาว่าฉันเป็นมะเร็งที่มดลูก เป็นเพราะกรรมอะไรคะ” ท่านเจ้าของกุฏิตอบเสียงเบา ๆ ว่า

        “สาเหตุของมะเร็งมดลูก ถ้าจะมองในแง่กรรมก็มีสองอย่าง อย่างแรกเพราะคนคนนั้นผิดศีลข้อสาม อีกสาเหตุหนึ่งเพราะเคยทำแท้ง โยมโดนข้อไหนล่ะ อย่างแรกหรืออย่างหลัง” คนถูกถามมีท่าทางลังเล แต่ในที่สุดก็ตอบว่า

        “อย่างหลังค่ะ ฉันเคยทำแท้งเมื่อสามปีมาแล้ว แต่หลวงพ่อคะ แม่ฉันก็ตายด้วยมะเร็งในมดลูกทั้งที่แกไม่เคยผิดศีลข้อสามแล้วก็ไม่เคยทำแท้ง ฉันสาบานได้ว่าแกไม่เคยจริง ๆ ค่ะ”

        “ไม่เคยในชาตินี้น่ะสิ ชาติที่แล้วหรือชาติก่อน ๆ จะต้องเคย ถ้าไม่มีเหตุ ผลมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จริงไหม”

        “จริงค่ะ แล้วฉันจะมีทางรักษาไหมคะ หมอเขาไม่ยอมรักษาฉัน เขาให้เวลาอีกสามเดือนก็ให้กลับบ้านเก่าได้” คราวนี้หล่อนถึงกับร้องไห้เพราะเสียดายชีวิต

        “หมอเขาว่าอย่างนั้นหรือ”

        “ค่ะ เขาไม่ได้บอกฉันตรง ๆ เขาบอกกับพี่สาวฉันมาอีกทีหนึ่ง หลวงพ่อพอจะช่วยฉันได้ไหมคะ”

        “ได้ แต่โยมต้องช่วยตัวเองด้วย เวลาสามเดือนที่เหลืออยู่นั้นให้โยมมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดนี้ ปฏิบัติให้เต็มกำลังความสามารถ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเขายอมอโหสิกรรมให้ก็จะหาย ถ้าเขาไม่อโหสิ โยมก็จะตายอย่างมีสติ ทำได้ไหม”

        “ได้ค่ะ ฉันเตรียมเสื้อผ้ามาแล้ว ขออยู่ตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ” คนเสียดายชีวิตรีบรายงาน

        “ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวจะให้สมชายพาไปส่งสำนักชี” แล้วท่านก็เรียกนายสมชายมาสั่งการ พี่สาวของสตรีผู้นั้นช่วยประคองน้องสาวไปส่งยังสำนักชี ส่วนพี่เขยของหล่อนเดินไปที่รถเพื่อนำกระเป๋าเสื้อผ้ามาให้

        สตรีวัยเบญจเพศคลานเข้ามากราบสามครั้ง แล้วพูดด้วยเสียงค่อนข้างดังว่า “หลวงพ่อคะ หนูถูกไอ้มนุษย์ใจสัตว์มันข่มขืน ตอนนี้ท้องสามเดือนแล้วค่ะ แม่หนูจะให้เอาเด็กออก แต่หนูไม่ยอม หนูกลัวบาปกลัวกรรมค่ะ” หล่อนพูดอย่างไม่ยี่หระต่อสายตาใคร ๆ ความเลวร้ายของชีวิตต้องประสบได้หล่อหลอมให้หล่อนเป็นคนกล้าและกร้าว

        “ดีแล้วละหนู คิดอย่างนั้นได้ก็ดี นึกเสียว่าเป็นกรรมของเรา หลวงพ่อไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าชีวิตที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดก็ตาม เวรจะระงับได้ก็ต้องไม่จองเวรนะหนูนะ”

        “แต่หลวงพ่อคะ ปัญหาของหนูก็คือ หนูกลัวว่าเด็กจะออกมามีนิสัยชั่วร้ายเหมือนพ่อของมัน หนูพอจะมีทางแก้ไขอะไรไหมคะ คือหนูไม่อยากทำแท้ง แต่หนูก็ไม่อยากให้ลูกออกมาเลว หลวงพ่อกรุณาแนะนะด้วยเถิดค่ะ”

        “ไม่ยากเลยหนู ปัญหาของหนูง่ายมาก ญาติโยมทั้งหลายจำเอาไว้นะ ถ้าใครอยากให้ลูกเกิดมาดี เกิดมาฉลาด พ่อแม่จะต้องมาเข้ากรรมฐาน ยิ่งมาปฏิบัติตอนที่ลูกอยู่ในท้องก็ยิ่งดี อาตมารับรองร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าเด็กจะต้องออกมาดี ถึงเขาจะมีเชื้อสายโจรก็เอาดีได้”

        “แล้วคนท้องมาปฏิบัติ ต้องอดอาหาร จะไม่ทำให้เด็กในท้องขาดอาหารหรือคะ” คนท้องสามเดือนถาม

        “เราอนุโลมได้ คนท้องกับคนป่วยให้รับประทานอาหารมื้อเย็นได้” พระบัวเฮียวเป็นคนตอบ

        “ถ้าอย่างนั้น หนูจะกลับไปเอาเสื้อผ้าที่กรุงเทพฯ แล้วพรุ่งนี้หนูจะมาอยู่วัดเลยนะคะ ดีเหมือนกันจะได้หนีคำครหานินทาของเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน แม้หนูจะไม่ใส่ใจไม่เอามาเป็นอารมณ์ แต่บางครั้งมันก็อดหงุดหงิดไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ คนเรานี่ก็แปลกชอบช้ำเติมชาวบ้าน ไม่ช่วยแล้วยังมาซ้ำกันให้เจ็บปวดหนักขึ้นไปอีก” หล่อนพูดเสียงกร้าว

        “หนูอย่าไปถือโทษโกรธเคืองเขาเลย คนเราถ้าลงได้ซ้ำเติมคนที่ประสบเคราะห์กรรม ก็แสดงว่าจิตใจเขาแย่มาก น่าสงสาร หนูควรอภัย และแผ่เมตตาให้เขา คนที่มีจิตใจอกุศลเช่นนี้ เป็นคนน่าสงสารนะหนูนะ”

        “ค่ะ แล้วหนูจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ ต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้เมตตาช่วยเหลือ ทำให้หนูสบายอกสบายใจขึ้นมาก หนูกราบลาละค่ะ”

        “หลวงพ่อคะ หนูเป็นมะเร็งที่เต้านม หมอเขานัดผ่าตัด หนูจะมาเรียนถามหลวงพ่อว่าจะผ่าตัดดีหรือไม่คะ”

        “เจ้าทุกข์” อีกรายถามขึ้น วันนี้คงจะเป็นวัน “สตรีแห่งชาติ” เพราะคนที่มาถามปัญหามีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น

        “ปกติแล้วคนที่เป็นมะเร็งมาหาหลวงพ่อจะไม่แนะนำให้ผ่าตัดเพราะโอกาสที่จะหายมีน้อยมาก ประมาณห้าละร้อยเท่านั้น แต่ที่ไม่ผ่าตัดมีโอกาสหายถึงร้อยละเก้าสิบ และต้องมารับการรักษาโดยวิธีของหลวงพ่อ”

        “ทำอย่างไรคะ วิธีของหลวงพ่อ” หล่อนถาม

        “ก็มาเข้ากรรมฐานน่ะซี กรรมฐานรักษาได้ทุกโรค ถ้าเราปฏิบัติจริงจัง”

        “แหม หลวงพ่อ อะไร ๆ ก็กรรมฐาน ไม่มีวิธีอื่นเลยหรือคะ” คนฟังเริ่มจะหงุดหงิด หากท่านพระครูก็ไม่ถือสา ท่านคงพูดด้วยเสียงปกติว่า

        “หนูเคยได้ยินไหม “กรรมฐานแก้กรรม” เคยได้ยินไหม กรรมบางอย่างมันแก้ได้ และวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือมาเข้ากรรมฐาน”

        “หลวงพ่อคะ มะเร็งเต้านมนี่เกิดจากกรรมอะไรคะ” สตรีอีกผู้หนึ่งถามขึ้น

        “เท่าที่หลวงพ่อสังเกต มันเกิดจากกรรมคือความเครียด เราทำตัวเราให้เครียด มะเร็งมันก็เลยถามหา มะเร็งทุกชนิดมักมีสาเหตุมาจากความเครียด”

        “ถามหาก็บอกว่าไม่อยู่เสียก็สิ้นเรื่อง” พระบัวเฮียวเผลอ “แซว” ขึ้นมา เพราะรู้สึกเครียดเนื่องจากรับฟังแต่เรื่องเครียด ๆ สงสารพระอุปัชฌาย์เหลือเกินแล้ว

        “อย่าเครียด บัวเฮียวอย่าเครียด เดี๋ยวได้เป็นมะเร็งที่เต้านมหรอก” คนเป็นอาจารย์เตือนศิษย์ด้วยเสียงที่ไม่เครียด “ไม่เป็นหรอกครับหลวงพ่อผู้ไม่ได้เป็นผู้หญิงนี่นา”

        “ไม่แน่ เผื่อชาติหน้าเกิดเป็นผู้หญิงอาจเป็นมะเร็งที่เต้านมก็ได้ คือเก็บความเครียดจากชาตินี้เอาไปเป็นมะเร็งในชาติหน้าไง เขาเรียกว่า สะสะกรรมเอาไว้”

        “คงไม่หรอกครับหลวงพ่อ ชาติหน้าผมว่าจะไม่เกิด”

        “ถ้าเป็นจริงอย่างเธอว่า ฉันก็ขออนุโมทนา”

        “สาธุ” พระบัวเฮียวยกมือประนมเหนือศีรษะอย่างตั้งใจจะล้อเลียนอุปัชฌายาจารย์

        “หลวงพ่อคะ หนูไม่ได้ทำตัวเองให้เครียดนะคะ คนอื่นต่างหากที่เขาทำให้หนูเครียด” สตรีผู้เป็นมะเร็งที่เต้านมว่า

        “คนอื่นน่ะใครล่ะจ๊ะ”

        “สามีค่ะ สามีหนูขี้เหล้า เจ้าชู้กลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ บางวันก็ไม่กลับ เขาทำให้หนูเครียดมากเลยค่ำ แบบนี้แสดงว่าเขาไม่รักหนูแล้วใช่ไหมคะ” หล่อนถามเสียงเครือ

        “เขาจะรักหรือไม่รักไม่สำคัญ เพราะมันจิตใจของเขา เราไปกำหนดไปบังคับไม่ได้ แต่เราไม่รักตัวเราเองนี่สิน่าตำหนินัก”

        “ใครไม่รักตัวเองคะ หลวงพ่อหมายถึงหนูหรือเปล่าคะ”

        “ก็หมายถึงใครอีกล่ะจ๊ะ”

        “โธ่ หลวงพ่อ ทำไมหนูจะไม่รักตัวเองคะ หนูน่ะรักตัวเองมากที่สุดในโลกเลยค่ะ” สาววัยสามสิบเศษว่า

        “รักตัวเองก็ต้องไม่ทำอย่างที่ทำอยู่” ท่านถือโอกาสพูดกับคนที่นั่ง ณ ที่นั้นว่า

        “ญาติโยมทั้งหลายโปรดจำเอาไว้ ในอนาคตคนจะเป็นมะเร็งกันมาก เพราะนับวันสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราเครียด วิธีป้องกันก็คือ เราต้องฝึกจิตของเราอย่าให้เครียดตาม ความเครียดมันก็เป็นกรรมอย่างหนึ่ง จะเรียกว่ากรรมใหม่ก็ได้ เป็นกรรมที่แก้ไขได้ด้วยการฝึกจิตไม่ให้มันเครียด ใครเขาจะเป็นยังไงก็ช่างเขา สามีเขาไม่กลับบ้านก็ไม่ต้องไปเครียด นะหนูนะ” ประโยคหลังท่านพูดกับสตรีเจ้าของเรื่อง

        “ฟังดูง่าย แต่มันทำยากค่ะหลวงพ่อ” หล่อนแย้ง

        “นั่นสิ หลวงพอถึงให้มาฝึกที่วัดไง คิดเสียว่าเวลาที่จะอยู่โรงพยาบาลนั้นก็ย้ายมาอยู่วัดเสีย มาฝึกจิต แต่จิตนี่ก็ฝึกยากนะหนู จะว่ายากที่สุดก็เห็นจะได้ แต่ถึงจะยากอย่างไร หากเราพยายามมันก็ไม่พ้นความสามารถของเราไปได้ เมื่อเราฝึกจิตไว้ดีแล้ว เราก็จะปลดปลงได้ สิ่งแวดล้อมมันจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่เอาจิตไปผูกพันหรือไปหมกมุ่นกับมันเราก็จะไม่เครียด หนูพอจะเข้าใจไหม”

        “เข้าใจคะ หลวงพ่อคะ ทำไมคนบางคนเขาไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่บางคนก็ขี้โรคทั้งที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน” คนเป็นมะเร็งเต้านมถามอีก

        “ถ้าจะสืบสาวไปถึงต้นตอกันจริง ๆ ก็ต้องพูดว่าเป็นเรื่องของกรรม การที่เขาไม่ค่อยเจ็บป่วยเพราะในอดีตและในปัจจุบันเขาเป็นคนไม่เบียดเบียนสัตว์ ส่วนคนขี้โรคถ้าในปัจจุบันเขาไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ก็แสดงว่าในอดีตเขาชอบรังแกสัตว์ ชอบทำให้มันได้รับความทุกข์ทรมาน จากผลกรรมอันนี้เลยทำให้เขาเป็นคนมีโรคมาก มันเป็นไปตามเหตุและผลนะ เหตุอย่างไรผลก็อย่างนั้น” ท่านพระครูอธิบาย

        “แต่กรรมเก่าเราแก้ไขไม่ได้แล้วก็ต้องยอมรับกรรม ส่วนกรรมใหม่เราแก้ไขได้ เช่นถ้าในอนาคตเราไม่อยากเป็นคนขี้โรค ปัจจุบันเราก็ต้องไม่เบียดเบียนสัตว์ใช่ไหมคะ”

        “ถูกแล้วหนู แต่กรรมเก่าก็พอจะแก้ไขได้บ้างด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน ถึงแก้ไม่ได้หมดก็ช่วยให้ทุเลาลง ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งเคยไปฆ่าเขาไว้ มาชาตินี้จะต้องถูกเขาฆ่า ถ้าคนคนนั้นมาเข้ากรรมฐานแล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้คนที่ตัวเคยฆ่า บางทีเขาก็อาจจะอโหสิกรรมให้ แต่ถ้าเขาไม่อโหสิกรรม ตอนเขามาฆ่า ก็จะได้ทำใจได้ว่านี่เป็นเพราะเราเคยไปฆ่าเขาไว้ เขามาทวงคืนก็ต้องให้เขาไป เมื่อคิดได้ดังนี้จิตก็จะไม่ผูกพยาบาท ไม่จองเวรจองกรรมกันต่อไปอีก นี่คือประโยชน์ของการมาเข้ากรรมฐาน ส่วนคนที่ไม่เคยมาปฏิบัติก็ไม่รู้ว่านั่นคือกรรมเก่า เวลาจะตายก็ตายแบบมีจิตอาฆาตพยาบาท เมื่อจิตเป็นอกุศล ตัวเองก็ต้องไปตกนรก เพื่อพ้นจากนรกก็จะไปตามต่อเวรต่อกรรมให้มันยืดเยื้อต่อไปอีก ก็เลยต้องเวียนว่ายใช้เวรใช้กรรมกันต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ที่หลวงพ่อพูดว่า “กรรมฐานแก้กรรม” มีความหมายอย่างที่อธิบายมานี่แหละ” ท่านเจ้าของกุฏิอธิบายชัดเจน

        “น่าเสียดายนะคะ กรรมฐานมีประโยชน์มากมายถึงเพียงนี้ แต่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น หาว่ามานั่งหลับหูหลับตาหาประโยชน์ไม่ได้ สู้ไปทำมาหากินจะดีกว่า คนส่วนใหญ่เขาคิดอย่างนี้กันนะคะหลวงพ่อ” หญิงสาวพูดตามข้อเท็จจริงที่เคยประสบ

        “มันก็กรรมของเขาแหละหนู ของอย่างนี้บางครั้งเราก็ไม่สามารถชักจูงเขาได้ อย่างบางคนอุตส่าห์มาหาหลวงพ่อ แต่พอแนะนำเขาก็รับไม่ได้ เพราะกรรมเขามาก และจะต้องเป็นไปตามนั้น เรื่องของกรรมมันซับซ้อนและลึกซึ้งเกินวิสัยที่คนอย่างเรา ๆ จะมาวิเคราะห์วิจัย”

        “แล้วมีไหมคะหลวงพ่อ มีใครสักคนไหมคะ ที่จะเข้าใจเรื่องกรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง” หล่อนถาม

        “มีสิหนู พระพุทธเจ้าของเรายังไงล่ะ แต่พระองค์ก็ดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว คงเหลือแต่พระธรรมคำสอนไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติกัน”

        “แต่บางคนก็ไม่เชื่อนะคะหลวงพ่อ นอกจากไม่เชื่อพระธรรมคำสอนแล้ว ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหาว่าเป็นเรื่องงมงาย คนประเภทนี้มีมากนะคะหลวงพ่อ หนูเคยพบมาแล้ว”

        “ถ้าเขาไม่เชื่อก็เอวัง หลวงพ่อคงจะพูดอะไรไม่ได้มาก นอกจากจะพูดว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” มันเป็นกรรมของเขา เราไม่ต้องไปโต้เถียง เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใด คนที่ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด เขาไม่เชื่อหรอกว่าแสงสว่างมีอยู่ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นหนูอย่าไปโต้เถียงกับเขาให้เสียเวลา ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา” ท่านพระครูสอนให้ “วางอุเบกขา”

 

มีต่อ........๔๐


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 22, 2007, 08:48:23 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00040
๔๐...

         นายขุนทองเข้ามาอยู่ในวัดป่ามะม่วง แล้วก็ได้ช่วยงานท่านพระครูอย่างแข็งขัน ตั้งแต่การดูแลรักษาความสะอาดของกุฏิไปจนถึงการต้อนรับขับสู้บรรดาแขกเหรื่อ ที่มาหาท่านเจ้าอาวาสด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ทั้งยังจัดตารางวันเวลาในการรับแขกติดไว้ที่หน้ากุฏิ เพื่อท่านพระครูจะได้มีเวลาพักผ่อน และทำกิจธุระส่วนตัวของท่าน คือ การเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐานให้แล้วเสร็จ

         ท่านพระครูให้นายสมชายขึ้นไปอยู่ชั้นบนของกุฏิซึ่งมีห้องเล็ก ๆ ว่างอยู่ แล้วให้นายขุนทองอยู่ห้องชั้นล่างแทน ลูกศิษย์หนุ่มยินดีปรีดาเสียนักที่ได้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระ แม้จะรู้สึกขัดลูกหูลูกตากับจริตจะก้านของฝ่ายนั้น ก็ยังดีกว่ารับภาระหนักอยู่แต่ผู้เดียว

         อุปนิสัยอย่างหนึ่งของนายขุนทอง คือเป็นคนรักสัตว์ ตอนอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน กิจวัตรประจำวันของเขาก็คือเลี้ยงดูให้อาหารแก่หมูหมากาไก่ เวลาแต่ละวันจึงหมดไปกับการวุ่นว่ายกับสัตว์เหล่านี้

         เมื่อมาอยู่วัดป่ามะม่วง นายขุนทองก็มิได้มามือเปล่า หากหอบหิ้วลูกสุนัขที่หย่านมแม่แล้วมาด้วยถึงสามตัว คือ เจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาว ลูกสุนัขสามตัวนี้เกิดจากแม่เดียวกันและวันเดียวกัน แต่เจ้าหมีดูตัวใหญ่กว่าเพื่อน ขนของมันสีดำสนิทและรูปร่างหน้าตาน่าจะเป็นหมีมากกว่าหมา เพราะเหมือนหมีมากกว่า

         เจ้าโฮมกับเจ้าขาวตัวเล็กกว่าเจ้าหมีเกือบครึ่ง ทั้งหน้าตาของมันก็บ่งบอกว่าเป็น “หมาน่อย หมาน่อย ธรรมดา” เจ้าโฮมนั้นขนสีน้ำตาล ขณะที่เจ้าขาวขนสีเดียวกับชื่อ

         นายขุนทองรักลูกสุนัขสามตัวนี้มาก ถึงขนาดแบ่งชั้นวรรณะให้เสร็จสรรพ เพื่อจะได้ไม่ปะปนกับพวก “หมาวัด”

         แต่ถึงจะเป็น “หมามีปลอกคอ” หากเจ้าสามพี่น้อยก็มิได้เย่อหยิ่งจองหอง จึงไม่เป็นที่เขม่นเข่นเขี้ยวของหมาวัดตัวอื่น ๆ นายขุนทองอนุญาตให้เจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาว เข้ามานอนในกุฏิชั้นล่างซึ่งท่านพระครูก็มิได้ว่ากระไร เพราะท่านเองก็รู้สึกถูกชะตากับเจ้าหมีเป็นพิเศษ ถึงกับต้องตรวจสอบด้วย “เห็นหนอ” และรู้ว่าในอดีตมันเคยเป็นทหารคู่ใจของท่าน น่าเสียดายที่ต้องมาอุบัติในกำเนิดเดรัจฉานซึ่งเป็นทุคติภูมิ

         เหล่าสัตว์ที่เกิดในทุคติภูมินั้นถูกจัดให้อยู่ในประเภท “อเวไนยสัตว์” จึงไม่อาจ “รับ” ธรรมะได้ แต่ก็คงจะเป็น “บุญ” ของมันที่ได้มาพบท่าน เพราะชาติต่อไปมันจะไม่ต้องเกิดในอบายภูมิอีก ท่านจะต้อง “ลุ้น” มันให้ถึงที่สุด

         “หลวงลุงฮะ หินก้อนนั้นเกะกะจัง เอาไปไว้ที่อื่นไม่ได้หรือฮะ” นายขุนทองถามหลังจากที่ท่านพระครูฉันภัตตาหารเสร็จ ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในกุฏิ เขาก็จัดการให้ท่านฉันเสียที่ชั้นบน เพราะแขกบางคนชอบมาพูดคุยซักถามขณะที่ท่านกำลังฉัน

         “ก้อนไหนล่ะ”

         “ก้อนที่รูปร่างเหมือนไข่ยักษ์น่ะฮะ”

         “ข้าไม่เคยเห็นไข่ยักษ์เลยนึกไม่ออก แต่ถ้าเอ็งหมายถึงก้อนที่วางอยู่ด้านขวาของอาสนะ ข้าก็จะบอกเอ็งว่าอย่าไปยุ่งกับเขา เพราะเขาไม่ใช่ก้อนหินธรรมดา”

         “แหม หลวงลุงก็ หนูถามดี ๆ ก็ต้องยวนด้วย” หลานชายต่อว่าพลางค้อนปะหลับปะเหลือก ท่านพระครูชินเสียแล้วกับกิริยาเช่นนี้ จึงไม่พูดไม่ว่าให้เขาต้องรำคาญหู

         “ก็ที่กุฏิหลวงลุงมันมีหินกี่ก้อนล่ะ ตั้งแต่เข้ามาอยู่หนูก็เห็นก้อนเดียวนั่นแหละ แล้วที่ว่าไม่ใช่ธรรมดาน่ะมันเป็นของวิเศษหรือฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดถาม

         “อย่าไปเรียกเขาว่า “มัน” ข้าจะบอกให้เอ็งรู้ แล้วก็อย่าเที่ยวไปบอกคนอื่นล่ะ หินก้อนนั้นมีวิญญาณสิงอยู่ เขาอยากมาปฏิบัติกรรมฐาน ข้าก็เลยให้เขาอยู่ชั้นล่าง”

         “ผู้หญิงหรือผู้ชายฮะ” นายขุนทองถาม เขาเชื่อว่าผีมีจริง แล้วเขาก็เป็นคนไม่กลัวผี จึงไม่ได้ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดออกมา

         “ผู้ชาย”

         “หล่อไหมฮะ”

         “เอ็งถามทำไม”

         “ถ้าหล่อหนูจะได้จีบเป็นแฟนน่ะซีฮะ มีแฟนเป็นผีมันเท่หยอกซะเมื่อไหร่” คนที่คิดว่าตัวเป็นผู้หญิงตอบ ท่านพระครูรีบห้ามว่า

         “นี่ขอเสียทีเถอะเจ้าขุนทอง เอ็งอย่าได้มาคิดลามกจกเปรตในกุฏิของข้า ที่ข้าให้เอ็งมาอยู่ที่นี่ก็เพื่อให้มาทำความดีนะ”

         “คนอยากมีแฟนมันชั่วยังไงล่ะฮะ” คนถูกว่าย้อน

         “มันวิปริตผิดเพศไง แล้วก็ยังผิดภพภูมิด้วย อีกประการหนึ่งเขาก็มีคู่รักแล้ว เอ็งเห็นเสาสี่เหลี่ยมพิงอยู่ที่ต้นปีบหลังกุฏินั่นไหม นั่นแหละแฟนเขาละ”

         “เสาสีดำนั่นหรือฮะ” ท่านพระครูตอบว่า

         “ถูกแล้ว วิญญาณผู้หญิงอยู่ในนั้น เขาตามผู้ชายในก้อนหินมา” ฟังแล้วนายขุนทองก็ร้องกรี๊ด

         “ว้าย ตาเถนหกคะเมนตีลังกาเจ้าข้าเอ๋ย เป็นผีก็ยังอยากมีผัว ผีอยากมีผัว อีขุนทองไม่เค้ยไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น”

         “ผีอยากมีผัวก็ยังไม่วิปริตเท่าผู้ชายอยากมีผัวหรอกขุนทองเอ๊ย” ท่านพระครูพูดประชดประชัน

         “แถมยังอยากมีผัวเป็นผีด้วยใช่ไหมฮะ” แทนที่จะโกรธ นายขุนทองกลับพูดโต้ตอบคนเป็นหลวงลุงอย่างไม่ลดละ ท่านพระครูได้เรียนรู้นิสัยหลานชายเพิ่มขึ้น ปกติผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงนั้นมักจะกลัวผี ขี้โกรธ แล้วก็ปากจัด หากนายขุนทองมิได้เป็นเช่นนั้น ท่านมองเห็นความหวังอยู่รำไรว่าคงจะช่วยเขาได้

         “เมื่อไหร่เอ็งจะหายดัดจริตดีดดิ้นซักทีนะเจ้าขุนทอง” ท่านพูดเป็นเชิงปรารภ

         “ไม่มีท้างไม่มีทาง ก็ฟ้าเขาลิขิตให้หนูเป็นยังงี้ก็ต้องเป็นยังงี้แหละฮ่ะหลวงลุ้ง” ชายหนุ่มว่า

         “เอ็งเชื่อฟ้ามากกว่าเชื่อกรรมงั้นหรือ”

         “หนูอยู่ใต้ฟ้าแล้วไม่เชื่อฟ้าได้ไงล่ะฮะ”

         “ข้าก็อยู่ใต้ฟ้าเหมือนกับเอ็ง แต่ข้าไม่เชื่อเรื่องฟ้าลิขิต ข้าเชื่อเรื่องกรรมลิขิตเท่านั้น”

         “หนูไม่จำเป็นต้องเชื่อเหมือนกับหลวงลุ่งนี่ฮะ หรือหลวงลุงว่าจำเป็น” ชายหนุ่มย้อนถาม

         แน่นอน ข้าไม่ได้บังคับให้เอ็งเชื่อเหมือนข้า เพียงแต่อยากให้เอ็งเชื่อในสิ่งที่มันจริง ไม่ใช่เชื่อลม ๆ แล้ว ๆ แบบนั้น”

         “โอ๊ย เรื่องความเชื่อน่ะ จะบังคับกันไม่ได้หรอกฮะหลวงลุ้ง คนเราทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ต่างกรรมต่างวาระ แล้วจะให้คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกันได้ไง จริงไหมฮะ”

         “โอ้โฮ วันนี้วันอะไรหนอ พ่อขุนทองถึงได้พูดเข้าทีดีนัก” ท่านพระครูเอ่ยปากชม

         “วันศุกร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนสาม ปีขาล พุทธศักราช ๒๕๑๗ ฮ่ะ” นายขุนทองตอบเพราะเพิ่งดูปฏิทินมา

         “เอ็งจะทำอะไรก็ไปทำเถอะไป๊ ประเดี๋ยวข้าจะเขียนหนังสือต่อ” ท่านพระครู “ไล่” ทางอ้อม ซึ่งนายขุนทองก็ไม่ว่ากระไร เขากราบสามครั้งแล้วจัดแจงเก็บสำรับเพื่อจะยกมารับประทานกับนายสมชายที่กุฏิชั้นล่าง

         ท่านพระครูลงมาล้างมือบ้วนปากในห้องน้ำ แล้วขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ บ่ายสองโมงจึงจะลงไป “รับแขก” ตามตารางที่นายขุนทองจัดให้

         พระบัวเฮียวปฏิบัติกรรมฐานเสร็จจึงแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปยังบิดามารดา เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ หลังจากฉันเช้าแล้วท่านก็เริ่มเดินจงกรมและนั่งสมาธิไปจนได้เวลาฉันเพล ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันจนเป็นกิจวัตร เว้นเสียแต่ว่าวันใดมีธุระหรือข้อสงสัยจะต้องเรียนถามพระอุปัชฌายาจารย์ จึงจะไปหาท่านที่กุฏิ

         “ท่านเริ่มจะชินกับการดำเนินชีวิตแบบสมณเพศ เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและสุขสงบ ไม่ต้องตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ไม่ถูกมันชักจูงไปให้ชีวิตต้องร้อนรนกระวนกระวาย บัดนี้ท่านตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า จะดำรงคงอยู่ในเพศบรรพชิตไปจนกว่าวาระสุดท้ายแห่งชีวิตจะมาถึง ไม่คิดที่จะสึกออกไปแต่งงานมีเหย้ามีเรือนเฉกเช่นคนอื่น ๆ

         ความหวังของท่านในบัดนี้คือ อยากพบ “พระในป่า” ที่เคยสอนกรรมฐานให้ท่านพระครูที่ป่าดงพระยาเย็นเมื่อห้าหกปีก่อน พระบัวเฮียวมีความเชื่อว่า “พระในป่า” ที่ท่านพระครูพูดถึงนั้นเป็นองค์เดียวกับพระอรหันต์ผู้มีนามว่า อุตตระ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิในช่วงปีพุทธศักราช ๒๑๘ – ๒๖๐ อันเป็นระยะเวลาที่พระองค์ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ความรู้อันนี้พระบัวเฮียวได้มาจากตำราเล่มหนึ่งที่ขอยืมมาจากพระมหาบุญในตำราได้กล่าวว่า

            “พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระศาสนาในนานาประเทศ ทรงส่งพระโสณะกับพระอุตตระมายังดินแดนสุวรรณภูมิ…”

            พระบัวเฮียวเคยนำเรื่องนี้ไปเรียนถามท่านพระครู แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน ขณะเดียวกันท่านก็มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่บอกว่าเมื่อใดที่ท่านเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ก็จะไปถาม “พระในป่า” โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงป่าดงพระยาเย็น

         ภิกษุวัยยี่สิบหาอธิบายให้ผู้อื่นฟังไม่ได้ว่าทำไมท่านจึงเชื่อแบบนี้ เพราะมันขัดกับหลักของเหตุผล ปกติมนุษย์จะมีอายุอย่างมากก็ไม่เกินร้อยปี ที่จะมาอยู่ได้ตั้งสองพันกว่าปีนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ บอกใครก็คงไม่มีใครเชื่อ เพียงได้อ่านเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช กับได้ฟังเรื่อง”พระในป่า” จากท่านพระครู ท่านก็นำความคิดนี้ไปผสมผสานกันเสร็จสรรพว่า พระอุตตระก็คือพระในป่า ยิ่งเห็นท่านพระครูไม่ปฏิเสธท่านก็ยิ่งเชื่อแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังมั่นใจว่าวันหนึ่งท่านจะต้องพิสูจน์ความเชื่อนี้ให้ได้ ท่านพระครูพูดเป็นปริศนาไว้ว่า

         “ถ้าเธอมีความมุ่งมั่นที่จะรู้ วันหนึ่งเธอจะต้องรู้ ฉันต้องการให้เธอรู้ด้วยตัวเธอเองมากกว่าให้รู้เพราะการบอกเล่าของฉัน”

            พระบัวเฮียวกำลังจะไปหอฉัน พอท่านเปิดประตูห้องออกมา ก็พบจดหมายฉบับหนึ่งวางอยู่ เมื่อหยิบขึ้นมาดูก็เห็นว่าเป็นของท่าน จึงเปิดออกอ่าน เป็นลายมือนายหรุ่ม หากข้อความในจดหมายเป็นของโยมมารดา เพราะนางบุญพาอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนญวน ท่านอ่านจดหมายของมารดาอย่างตั้งใจ จดหมายนั้นเขียนเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๑๗ ความว่า

            “บัวเฮียวลูกรัก

            จดหมายของเจ้าที่เขียนเมื่อ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๖ นั้นแม่ได้รับเมื่อหลังปีใหม่ ก็ดีใจว่าเจ้าเป็นพระแล้ว งานแม่ยุ่งไม่มีเวลาตอบ กระทั่งเกิดเรื่องประหลาดขึ้นเมื่อเช้านี้ เลยต้องให้ทิดหรุ่มเขาเขียนมาเล่าให้เจ้าฟัง

         เมื่อตอนเช้ามืด แม่กับทิดหรุ่มฝันตรงกัน คือฝันเห็นเจ้าห่มผ้าเหลืองมาบอกให้แม่กับทิดเขาเลิกฆ่าสัตว์ ให้ไปหางานอื่นทำ ที่จริงเราก็คิดกันมานานว่าจะเลิก แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน พอดีเมื่องวดที่แล้วทิดหรุ่มเขาฝันเห็นเลข เลยแทงหวยใต้ดินไปยี่สิบบาท แล้วมันก็ถูก ที่สำคัญคือแม่กำลังจะมีน้องให้เจ้า ตั้งแต่ตั้งท้องก็เหม็นกลิ่นเนื้อวัวเนื้อควาย แล้วก็ไม่ได้ช่วยทิดเขาแล่เนื้ออีกเลย

         วันนี้เป็นวันพระ ไม่ต้องฆ่า ก็เลยค่อยยังชั่วหน่อย แล้วก็เหมือนโชคเข้าข้างเรา เพราะเมื่อวานมีคนมาสมัครงานกับเถ้าแก่ เถ้าแก่เขาก็บอกว่าทิดหรุ่มออกเขาก็จะรับคนนั้นแทน ทิดหรุ่มเคยไปขอลาออกเมื่อสองสามวันก่อน เพราะสงสารที่แม่แพ้มาก เมื่อวานเราบอกเถ้าแก่ไปแล้วว่าจะออก ตอนเช้ามืดก็มาฝันพอดี คงจะเป็นบุญของเจ้าที่ได้ไปบวช จึงทำให้แม่กับพ่อเลี้ยงของเจ้าเลิกอาชีพนี้ได้ ถ้าแม่ได้อยู่ที่ใหม่เรียบร้อยแล้วจะส่งข่าวให้เจ้ารู้ทีหลัง หวังว่าเจ้าคงสบายดี ถ้ามีเวลาก็มาเยี่ยมแม่บ้าง

                                                   รักและเป็นห่วงลูกเสมอ

                                                                            ลงชื่อ บุญพา – หรุ่ม

         ข้อความในจดหมายทำให้พระบัวเฮียวปีตินัก ท่านรีบเดินไปที่กุฏิท่านพระครูเพื่อแจ้งข่าว นายขุนทองนำท่านขึ้นไปพบหลวงลุงที่ชั้นบนของกุฏิ เพราะชั้นล่างนั้นมีคนมานั่งรอกันบ้างแล้ว แม้ว่าอีกตั้งสามชั่วโมงกว่าท่านจะลงมา

         “มีอะไรหรือบัวเฮียว ถ้าไม่รีบร้อน ไปฉันเพลเสียก่อนก็ได้” ท่านพระครูบอกลูกศิษย์เพราะเกรงฝ่ายนั้นจะหิว กราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้ว ผู้เป็นศิษย์จึงตอบว่า

         “ผมอิ่มแล้วครับหลวงพ่อ ฉันปีติเสียอิ่มเลย”

         “ปีติเรื่องอะไรล่ะ” แทนคำตอบ พระบัวเฮียวส่งจดหมายฉบับนั้นให้ ท่านพระครูรับมาอ่านแล้วแสดงมุทิตาจิตว่า

         “ฉันขออนุโมทนา เห็นไหม เธอทำสำเร็จแล้ว เห็นอานิสงส์ของการแผ่เมตตาหรือยัง”

         “เห็นแล้วครับ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงครับ ที่นอกจากจะเมตตาตัวผมแล้วยังเมตตาไปถึงโยมแม่ผมด้วย และหากไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป ผมอยากขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยเมตตาโยมพ่อผมด้วยอีกคนเถิดครับ”

         “จะยากอะไรเล่าบัวเฮียว ก็ทำอย่างที่เธอทำอยู่นั่นแหละ แต่จะต้องให้มากกว่าเก่า เพราะถ้าพลังจิตไม่แรงพอก็จะส่งไปไม่ถึง เธอต้องฝึกให้เข้มข้นกว่านี้จึงจะสามารถส่งไปภพภูมิอื่นได้ ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของเธอนั่นแหละ”

         “เอาละ หลวงพี่สู้ สู้ ขุนทองจะเอาใจช่วย” นายขุนทอง “เชียร์” ออกหน้าออกตา

         “ถ้าเอ็งมาช่วยปฏิบัติด้วย รับรองว่าสำเร็จแน่” ท่านพระครูเห็นช่องทางที่จะโน้มน้าวจิตใจหลานชาย

         “อุ๊ย อย่าให้ถึงขนาดนั้นเลยฮ่ะหลวงลุง ให้หนูคอยเอาใจช่วยดีฝ่า อย่าให้ถึงกับลงไปขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอด้วยเลย” นายขุนทองเริ่มปฏิเสธ

         “หลวงพ่อเคยบอกว่ามีคนทำได้มาแล้ว ที่เป็นชาวนอรเวน่ะครับ ผมขออนุญาตฟังได้ไหมครับ”

         “ได้สิ ถ้าเธออนุญาตให้ฉันเล่า ฉันก็จะอนุญาตให้เธอฟัง” ท่านล้อเลียน “น้องชาย”

         “ครับ ขอบคุณครับ นิมนต์หลวงพ่อเล่าเถิดครับ”

         “เธอเห็นรูปพระฝรั่งที่ตั้งอยู่หน้าอาสนะของฉันหรือเปล่าล่ะ นั่นแหละเขาละ”

         “อ๋อ ที่นั่งขัดสมาธิหลับตาอยู่ในรูปนั่นใช่ไหมฮะหลวงลุง แหม! ล้อหล่อ” นายขุนทองชม

         “หล่อก็อย่าไปหลงรักเขาเข้าแล้วกัน เขามีเมียแล้ว” ท่านพระครูปรามไว้ก่อน

         “เหรอฮะ แหม! อีขุนทองอกหักซะแล้ว” พูดพร้อมกับยกมือขึ้นทาบอก

         “จะฟังหรือไม่ฟัง ถ้าไม่ฟังก็ลงไปข้างล่าง” ท่านพระครูไล่อย่างสุภาพ

         “ฟังฮ่ะฟัง แหม! พูดแค่นี้ก็ต้องมีมะโหด้วย” หลานชายบ่นอุบ ท่านพระครูจึงเล่าว่า

            “เขาชื่อ วิโก้ บรุน เป็นชาวนอรเว แต่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เคยมาบวชที่วัดนี้เมื่อปี ๒๕๑๒ วีโก้ เป็นชื่อ ส่วน บรุน เป็นนามสกุล

         “เขานับถือศาสนาอะไรครับ”

         “ศาสนาคริสต์ แต่สนใจอยากศึกษาพระพุทธศาสนา เขาสอนภาษาไทยอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ได้ทุนของมหาวิทยาลัยมาเรียนภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เขาเล่าให้ฉันฟังว่าปู่เขาเป็นศาสตราจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยที่ประเทศนอรเว ชอบศึกษาพระพุทธศาสนา อ่านพระไตรปิฎกจบทั้งหมด คืออ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเวลานี้ยังแปลไม่ครบทั้ง ๔๕ เล่ม แปลเป็นบางเล่ม แล้วปู่เขาก็อ่านหมด ตอนเขาจะมาเมืองไทย ปู่ก็ให้พรว่า “หลานมาเมืองไทยอย่าลืมเอาของดีมาฝากปู่นะ” เขาสั่งหลานอย่างนี้ ศาสตาจารย์คนนี้แกฉลาดจริง ๆ อุตส่าห์รู้ว่าเมืองไทยมีของดี คนไทยเสียอีกยังไม่รู้”

         “ของดีอะไรครับ”

         “ของดีอะไรฮะ” พระบัวเฮียวและนายขุนทองถามขึ้นพร้อมกัน

         “นั่นไง คนไทยสองคนที่นั่งอยู่นี่ยังไม่รู้เลย”

         “คนไทยคนเดียวครับ ผมเป็นคนญวน” พระบัวเฮียวรีบแก้ตัว

         “นั่นแหละ งี่เง่าทั้งคนไทยและคนญวนนั่นแหละ เอาละ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ฟังฉันเล่าต่อก็แล้วกัน พอปู่พูดอย่างนี้ นายวีโก้ก็ถามว่าของดีอะไร ปู่บอกเอาเถอะไปถึงแล้วจะรู้เอง หลังจากนั้นนายวีโก้ก็เดินทางมาประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๑๑ เรียนอยู่ปีนึง พอปิดเทอมภาคฤดูร้อนก็นึกอยากบวช จึงอ่านพระวินัยปิฎกทั้ง ๘ เล่ม เขาอ่านภาษาไทยได้ พูดก็ได้ ใช้ศัพท์ถูกต้องกว่าคนไทยบางคนเสียอีก แล้วเขาก็คิดหาวัดที่จะบวช ก็เที่ยวสำรวจวัดต่าง ๆ ตั้งแต่กรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี จนกระทั่งมาถึงวัดป่ามะม่วงนี่ ผ่านมาถึงสี่จังหวัดไม่ถูกใจ มาถูกใจเอาจังหวัดที่ห้าที่วัดป่ามะม่วงตั้งอยู่นี่”

         “เขาเอาอะไรมาตัดสินล่ะครับว่าวัดไหนถูกใจหรือไม่ถูกใจ” พระบัวเฮียวถาม

         “เขาบอกเขาเที่ยวถามพระมาทุกวัดให้ตอบปัญหาเขา แต่ไม่มีพระวัดไหนตอบได้ เขาถามว่า

         “อะไรเอ่ย สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป” เขาบอกไม่มีใครตอบได้ เขาก็เลยมาถามฉัน ฉันก็ตอบเขาไป จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่รู้ละเพราะเขาไม่ได้เฉลย พอฉันตอบเสร็จเขาก็ขอบวชทันที”

         “หลวงพ่อตอบว่าอย่างไรครับ”

         “เธอลองตอบซิ ถ้าเป็นเธอถูกถามอย่างนี้จะตอบว่ายังไง” ท่านถามพระบัวเฮียว

         “ไม่ทราบครับ แต่ผมอยากทราบที่หลวงพ่อตอบเขาน่ะครับ”

         “ฉันตอบไปว่า สี่คนหามก็คือตัวเราซึ่งเกิดจากการประชุมกันของธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ”

         “หลวงลุงหนูไม่เข้าใจ ช่วยแปลหน่อยเถอะฮ่ะ” นายขุนทองขอร้องพระบัวเฮียวจึงรับหน้าที่แปลให้ฟังว่า ธาตุทั้ง ๔ ที่ท่านพระครูพูดถึงคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ นั่นเอง

         “สามคนแห่ ก็คือกิเลส หรืออกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หนึ่งคนนั่งแคร่ก็คือจิต คืนคนนั้นประกอบด้วยสองส่วนคือ รูปกับนาม รูปเกิดจากการประชุมกันของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนนามก็คือจิต สองคนพาไปก็คือ บุญกับบาป ขยายความคือคนเราขณะที่มีชีวิตก็ถูก โลภะ โทสะ โมหะ ชักจูงไป พอตายลงก็เหลือแต่บุญกับบาป ที่จะพาไปสุคติหรือทุคติ พอฉันตอบอย่างนี้เขาก็ขอบวช บอกว่าอ่านพระวินัยปิฎกเข้าใจหมดแล้ว สิกขา ๒๒๗ ข้อก็จำได้แล้ว ฉันเห็นท่าทางเข้าทีก็เลยให้บวชแล้วก็สอนกรรมฐานให้ เขาก็ปฏิบัติอย่างเคร่ง ครัดและเอาจริงเอาจัง เทศก์ก็เก่ง ฉันเคยพาไปเทศน์ตามงานต่าง ๆ เทศน์แบบปุจฉาวิสัชนาก็ได้ พวกชาวบ้านชอบใจมาก

         วันหนึ่งฉันพาเทศน์งานศพ เขาก็ว่าไปพวกลูก ๆ ของคนตาย ฉันต้องรีบพากลับแทบไม่ทัน”

         “ไปว่าเขาทำไมครับ”

         “ก็พวกนั้นทำไม่ถูกต้อง งานศพ พ่อ ลูก ๆ พากันกินเหล้าเมาแอ๋ เขาก็ถามพวกนั้นว่า คนที่นอนอยู่ในโลกน่ะใคร พวกลูก ๆ ก็บอกว่า

         “พ่อผมเอง ท่านไม่รู้หรอกหรือหลวงพ่อที่พามาไม่ได้บอกหรอกหรือ เขาก็ตอบว่า

         “รู้แล้ว หลวงพ่อก็บอกแล้วด้วย แต่ที่ถามเพราะอยากรู้ว่าในเมื่อพ่อของพวกคุณตาย แล้วพวกคุณมานั่งกินเหล้าต่อหน้างานศพเช่นนี้ พ่อคุณจะได้บุญยังไง”

         พอพูดอย่างนี้ พวกลูก ๆ ก็ทำท่าตะลุมบอนเพราะคนเมานั้นขาดสติ แยกไม่ออกว่านี่พระ นี่ฆราวาส พอพูดผิดหูหน่อยก็จะตะลุมบอนพระเสียแล้ว ฉันเลยต้องรีบพากลับวัด พวกชาวบ้านที่มาฟังเทศน์ก็ไม่อยากให้กลับ บอก “หลวงพ่อนิมนต์อยู่ก่อน” ฉันก็ตอบไปว่า “อยู่ไม่ได้โยม พระวีโก้ทำพิษซะแล้ว”

         “แล้วเขาแผ่เมตตาไปให้พ่อแม่ตอนไหนครับ”

         “ตอนบวชได้สองเดือนแล้ว เขาตั้งใจปฏิบัติมาก บอกได้หมดว่ารอบวัดนี้เดินจงกรมกี่ก้าว ใช้เวลากี่นาที วันหนึ่งเขาก็ถามฉันว่าเขาจะแผ่เมตตาไปยังพ่อกับแม่ที่นอรเวจะได้ไหม ฉันมองหน้าเขาอย่างสำรวจตรวจตรา แล้วก็ตอบว่าได้ เขาก็ทำอย่างที่เธอทำ วันหนึ่งเขาก็ถือจดหมายมาหาฉัน ร้องไห้ด้วย เขาบอกเขาดีใจจนต้องร้องไห้ จดหมายนั่นใช้เวลาเดินทางหนึ่งเดือนจึงถึงวัดป่ามะม่วง คือเดินทางจากนอรเวมาติดอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อเขามาเห็นเลยนำมาให้ เขาเล่าว่าวันนั้นเมื่อเขาทำกรรมฐานแผ่เมตตาไปให้ ปู่ พ่อ แม่ แล้วก็เพื่อนสนิทอีกสองคน ในจดหมายแม่ก็เล่ามาอย่างละเอียด วันและเวลาตรงกับที่เขาแผ่เมตตาไปให้

         แม่เขาเล่าว่าวันนั้นปู่เขา พ่อเขา และเพื่อนอีกสองคนกำลังคุยกันอยู่ในห้องรับแขก ส่วนแม่เขาไม่สบาย แต่ก็นอนฟังเขาคุยกันอยู่ในห้องนอน พอคนทั้งสี่คุยถึงเขา แม่ก็เลยลุกมาร่วมวงด้วย แล้วทุกคนก็ได้เห็นผ้าเหลืองลอยอยู่ทางทิศตะวันออกแล้วก็หายไป ปู่จึงพูดขึ้นว่า

         “หลานของปู่ได้มาพบของดีในเมืองไทยแล้ว” แม่เขาก็เลยเข้าห้องหยิบปากกาและกระดาษมาเขียนจดหมายเล่าให้เขาฟัง เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพื่อนเขาสองคนก็ประหลาดใจมาก”

         “หนูก็ประหลาดใจม้ากมากฮ่ะ หลวงลุง มันเป็นไปได้ยังไง ผ้าเหลืองจากเมืองไทยลอยไปประเทศนอรเว”

         “ไม่ใช่ผ้าเหลืองจริง ๆ หรอกเจ้าขุนทอง ที่คนทั้งห้าเห็นนั่นน่ะเขาเรียกว่า “นิมิต” ถ้าเอ็งอยากพิสูจน์ก็ต้องมาเข้ากรรมฐาน” ท่านพระครูถือโอกาสเกลี้ยกล่อมคนเป็นหลาน

         “อุ๊ย! กรรมฐานกรรมโถน อีขุนทองไม่เอ๊าไม่เอา” นายขุนทองปฏิเสธเสียงลั่น...

         

 

มีต่อ........๔๑


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 22, 2007, 08:48:59 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00041
๔๑...

         แขกคนสุดท้ายกลับไปแล้ว และ ท่านพระครูก็ขึ้นไปเขียนหนังสือยังชั้นบนของกุฏิแล้ว นายขุนทองกำลังเก็บแก้วน้ำเพื่อเตรียมจะไปล้าง

         หญิงชราคนหนึ่งเดินเข้ามาในกุฏิ เขาจึงรีบบอกนางว่า

         “ยาย หลวงพ่อเพิ่งขึ้นข้างบนเมื่อสักครู่นี้เอง พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่แล้วกัน บ้านอยู่ไกลหรือเปล่าล่ะยายน่ะ”

         “อยู่อ่างทองโน่น ยายขอขึ้นไปพบท่านเดี๋ยวเดียวเอง” นางบอกเป็นเชิงขออนุญาต

         “ไม่ได้หรอกยาย เอายังงี้ดีกว่า เดี๋ยวหนูจะพาไปหาที่พัก พรุ่งนี้เช้ายายค่อยมาพบท่าน โชคดีนะที่พรุ่งนี้เป็นวันพระ ไม่งั้นยายก็ต้องรอถึงบ่ายสองโมงท่านจึงจะลงรับแขก” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดบอกกล่าวพลางมองนาฬิกาที่ฝาผนัง ขณะนั้นเป็นเวลาสองทุ่มตรง”

         “แต่ยายต้องพบท่านวันนี้ ไม่เป็นไร ท่านไม่ลง ยายขึ้นไปหาท่านเองก็ได้” ยังไม่ทันที่นายขุนทองจะเอ่ยปากห้าม หญิงชราผู้นั้นก็เปิดประตูเดินขึ้นไปชั้นบน นายขุนทองเดินตามไปที่ประตู แต่ปรากฏว่าเปิดไม่ออก นางคงจะลงกลอนเอาไว้ รู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านด้วยเกรงจะถูกหลวงลุงดุเอา หญิงชราลงมาเมื่อไหร่จะต้องต่อว่าเสียให้เข็ด โทษฐานที่ขัดคำสั่ง “เลขาส่วนตัว” ของท่านเจ้าของกุฏิ

         “อ้าว โยมปั่นมาได้ยังไงนี่” ท่านพระครูทัก รู้ว่าฝ่ายนั้นเป็นอัมพาตลุกไปไหนมาไหนไม่ได้

         “ฉันมาลาหลวงพ่อจ้ะ พรุ่งนี้ตอนตีสี่ฉันจะไปแล้ว นอนทรมานมาหลายปีเหลือเกิน ทิดขำเขาจะได้หมดภาระเสียที” คำบอกเล่าของนางปั่นทำให้ท่านพระครูได้รู้ ว่าร่างที่นั่งพับเพียบอยู่ต่อหน้าท่านนี้มิใช่ “กายเนื้อ” หากเป็น เจตภูต

            “จะไปหรือ แล้วโยมได้ “อะไร” ไปล่ะ” ท่านถาม “อะไร” ในที่นี้ท่านต้องการหมายถึง บุญหรือบาป เพราะสองสิ่งเท่านั้นที่มนุษย์จะเอาติดตัวไปยังภพภูมิหน้าได้ ส่วนสมบัติพัสถานที่เป็นวัตถุธรรมไม่มีใครเอาไปได้ แม้เหรียญบาทเพียงอันเดียวที่ลูกหลานเขาเอาใส่ปากให้ก็ยังต้องเป็นของสัปเหร่อไปในที่สุด

         “ฉันได้บุญไปจ้ะหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อเมตตาฉันแท้ ๆ เชียว ไม่งั้นก็คงต้องพกบาปไป” นางพูดอย่างรู้บุญรู้คุณ

         “ดีแล้วที่โยมเลือกไปวันพระ พรุ่งนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วก็เป็นวันพฤหัสด้วย อาตมาไม่ใช่คนถือฤกษ์ถือยาม แต่ก็ยังชอบวันพฤหัส เพราะเป็นวันพ่อแม่ครูอาจารย์”

         “จ้ะ ฉันก็กำหนดจิตว่าจะขอตายวันพระ จะได้ไปถือศีล ไปปฏิบัติกรรมฐานข้างบนโน้น” นางหมายถึงสุคติโลกสวรรค์

         “ดีแล้วละโยม แล้วก็อย่าติดสุขเสียจนลืมการปฏิบัติล่ะ ชีวิตบ้างบนนั้นสบายกว่าในโลกมนุษย์ เขาก็เลยพากันประมาทมัวเมา ครั้นพอหมดบุญก็เลยต้องไปทุคติ”

         “จ้ะหลวงพ่อ ฉันจะไม่เป็นอย่างพวกเขา หลวงพ่อสอนให้ฉันฝึกสติ ฉันก็จะใช้สตินี่แหละคอยเตือนใจฉัน”

         “ถูกต้องที่สุด โบราณท่านสอนเอาไว้เป็นคำกลอนว่า “ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนลืมเตือนใจตนหล่นอบาย” การเตือนตนเองไว้เสมอก็คือการมีสตินี่เอง เมื่อไหร่ที่ขาดสติ โอกาสที่จะตกไปในอบายภูมิก็มีมากขึ้น

         “จ้ะ แล้วหลวงพ่อต้องไปเผาศพฉันด้วยนะจ๊ะ”

         “เผาเมื่อไหร่ล่ะ”

         ฉันสั่งทิดเขาไว้แล้วว่าให้สวดพระอภิธรรมเจ็ดวัน วันที่แปดก็เผาเลย จะได้ไม่เป็นภาระลูกๆ เขา เห็นทิดเขาพูดว่าหมดห่วงแล้วเขาจะมาขอบวชอยู่กะหลวงพ่อ ยังไงฉันก็ฝากเขาด้วยแล้วกัน เขาเกิดมาเป็นคู่เวรคูกรรมของฉันแท้ ๆ”

         ท่านพระครูหยิบสมุดบันทึกขึ้นมาเปิดหน้าที่ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ เขียนลงไปล่า “เวลาสองทุ่ม เจตภูตของนางปั่นมาจากอ่างทอง เพื่อบอกว่าพรุ่งนี้เวลาตีสี่จะทิ้งร่าง เจตภูตนั้นมีจริงอย่างไม่ต้องสงสัย” จดเสร็จจึงเงยหน้าถามนางปั่นว่า “ศพเผาที่วัดไหน เวลาเท่าไหร่”

         “วัดโบสถ์ตอนสี่โมงเย็นจ้ะ แล้วทิดเขาคงมาเรียนให้หลวงพ่อทราบอีกครั้งหนึ่ง ฉันเห็นจะต้องลาละจ้ะ เดี๋ยวทิดเขาจะสงสัยว่า ทำไมหลับนานนัก นางกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วจึงลุกออกไป

         นายขุนทองถือถาดใส่แก้วน้ำที่ล้างแล้วเดินเข้ามา เห็นนางปั่นเดินออกประตูกุฏิไป จึงวางถาดลงแล้ววิ่งตามหมายจะไปต่อว่า เขาวิ่งตามไปจนถึงประตูวัด ทั้งที่เห็นหลังอยู่ไว ๆ แต่กลับตามนางไม่ทัน ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงแก่ ๆ ท่าทางขี้โรคคนนั้นจะเดินเร็วถึงปานนี้ เมื่อนางเดินลับตาและหายไปในความมืด เขาจึงเดินกลับกุฏิ ขึ้นไปเรียนท่านพระครูว่า

         “หลวงลุงฮะ เมื่อกี้มียายแก่คนนึงมาขอพบหลวงลุง เปิดประตูขึ้นไปจนได้แถมใส่กลอนอีกด้วย หนูไม่รู้จะทำยังไง เลยคอยจ้องจะต่อว่าตอนแกลงมา เสร็จแล้วก็ตามแกไม่ทันเสียอีก หลวงลุงจะด่าหรือว่าหนูก็เชิญได้เลยเพราะหนูผิดไปแล้ว” นายขุนทองก้มหน้าสารภาพ

         “ข้าไม่มีอะไรจะว่าเอ็งหรอกเจ้าขุนทอง และข้าก็ไม่ได้คิดว่าเอ็งทำผิดอะไร ผู้หญิงคนที่เอ็งเห็นน่ะคือโยมปั่นเมียนายขำ” ได้ยินดังนั้นนายขุนทองถึงกับสะดุ้ง

         “หลวงลุงว่าอะไรนะฮะ นี่พ่อหนูไปแอบมีเมียแก่ ๆ ไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน” เขาเข้าใจว่าท่านพระครูหมายถึงนายขำผู้เป็นบิดาของเขา ท่านเจ้าของกุฏิจึงต้องขยายความให้ฟังว่า

         “นี่เขานายขำอ่างทอง พ่อเองเขานายขำสิงห์บุรี มันคนละขำกัน ยังมีขำลพบุรี ขำอยุธยา ขำนครสวรรค์อีกนะ ที่ข้ารู้จักน่ะ อ้อ! มีขำสุพรรณอีกคนนึงด้วย”

         “แล้วหลวงลุงว่าคนไหนหล่อที่สุดฮะ คนไหน”

         “เอ็งก็ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องความหล่อ เอ็งดูคนแค่ที่หล่อไม่หล่อเท่านั้นเองหรือ”

         “ก็มีอะไรจะให้ดูมากไปกว่านี้ล่ะหลวงลุง หนูเป็นคนสวยก็จ้องสนใจคนหล่อ อยากมีแฟนหล่อ ๆ มันถึงจะคู่ควรกัน หรือหลวงลุงว่าไม่จริง หลานชายย้อนถาม

         “นี่เจ้าขุนทอง ถ้าเอ็งไม่มีอะไรดีกว่านี้จะมาพูดกับข้า ก็ขอเชิญลงไปได้ ข้าจะทำงานละ”

         “แหม หลวงลุงละก็ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องไล่กันด้วย หนูอุตส่าห์เป็นห่วงแทบแย่” หลานชายต่อว่ากราย ๆ

         “เอ็งมาห่วงอะไรข้าล่ะหรือ เจ้าขุนทอง ห่วงอะไร”

         “ห่วงซี ก็ยายปั่นแกเป็นผู้หญิงแล้วหลวงลุงเป็นผู้ชาย ขึ้นมาคุยกันในที่ลับยามวิกาลเช่นนี้ ใครเขารู้เข้า หลวงลุงจะต้องถูกครหานินทา แต่ก่อนหลวงลุงเคร่งครัดในเรื่องเช่นนี้มาก แต่ทำไมวันนี้ไม่เคร่งครัด หลวงลุงน่าจะให้แกลงมาคุยข้างล่างหรือไม่ก็เรียกหนูขึ้นไปอยู่เป็นเพื่อนถึงจะถูก ที่หนูพูดมานี่ หลวงลุงว่าผิดหรือเปล่า”

         ท่านพระครูรู้สึกพอใจในความรอบคอบของคนเป็นหลาน จึงอธิบายให้เขาฟังว่า

         “ข้าขอบใจที่เอ็งเป็นห่วง แต่เอ็งไม่ต้องวิตกหรอก เพราะโยมปั่นเขาไม่ได้เอาร่างจริงมาด้วย ที่เอ็งเห็นนั้นเขาเรียกว่า เจตภูต”

         “หมายความว่ายังไงฮะ” หลานชายไม่เข้าใจ

         “ก็หมายความว่าโยมปั่นเขาเอาวิญญาณมา ไม่ได้เอาร่างมา เขาเป็นอัมพาตไปไหนมาไหนไม่ได้มาหลายปีแล้ว วิญญาณที่ออกจากร่างขณะที่นอนหลับนั้นเขาเรียกว่า เจตภูต”

         “แล้วแกมาหาหลวงลุงทำไมหรือฮะ”

         “มาบอกว่าพรุ่งนี้ตอนตีสี่แกจะตาย ให้ข้าไปงานเผาศพแกด้วย”

         “เป็นไปได้หรือฮะหลวงลุง หนูไม่อยากจะเชื่อว่าคนเราจะสามารถรู้วันตายของตัวเองได้ ถ้าเป็นผู้วิเศษก็ว่าไปอย่าง”

         “ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้วิเศษหรอกเจ้าขุนทอง อย่างข้าก็ไม่ได้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน ข้าก็ยังรู้วันตายของข้า”

         “หลวงลุงพูดเล่นหรือเปล่า หลอกหนูเล่นใช่ไหม”

         “ไม่ได้พูดเล่นแล้วก็ไม่ได้หลอก ข้าพูดจริง ๆ ถึงเอ็งก็เถอะ ถ้าอยากรู้วันตาย เอ็งก็รู้ได้หากเอ็งปฏิบัติกรรมฐาน”

            “โอ๊ย หลวงลุงอย่าเพิ่งพูดถึงความตาย หนูยังไม่อยากรู้เพราะยังไม่อยากตาย แหมคนกำลังอยู่ในวัยขบเผาะจะให้ตายซะแล้ว” นายขุนทองตีโพยตีพาย

         “นี่แหละ คนไม่เอากรรมฐานก็แบบนี้แหละ เหมือนกันหมดทุกราย”

         “แบบนี้น่ะแบบไหนฮะ” ชายหนุ่มย้อนถาม

         “ก็แบบเอ็งไง ของแท้ไม่เอาจะเอาแต่ของปลอม” ท่านพระครูว่าหลานชาย

         “แล้วของแท้ของหลวงลุงน่ะคืออะไรล่ะฮะ”

         “ก็กรรมฐานน่ะซี ถ้าเอ็งมาปฏิบัติกรรมฐาน เอ็งก็จะสามารถรู้วันตายได้ โยมปั่นแกก็ปฏิบัติ ข้าก็ปฏิบัติ รู้มันดีกว่าไม่รู้นะเจ้าขุนทอง”

         “โอ๊ย เซ็ง ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ได้ยินแต่กรรมฐาน ๆ จนรำคาญจะแย่แล้ว หลวงลุงไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้แล้วหรือฮะ”

         “ไม่มีอีกแล้ว กรรมฐานนี่แหละดีที่สุด”

         “ดียังไงฮะ หลวงลุงช่วยบอกหน่อยเถอะ เผื่อบางทีหนูอาจจะเปลี่ยนใจมาชอบมันก็ได้” ท่านพระครูคิดว่าคราวนี้คงจะโน้มน้าวจิตใจนายขุนทองให้มาสนใจการปฏิบัติได้ จึงอธิบายให้เขาฟังว่า

         “ประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐานนั้นมีมากมาย เท่าที่ข้ารู้จากประสบการณ์ของข้าเอง และจากการสอบอารมณ์ของผู้ปฏิบัติคนอื่น ๆ พอสรุปได้สามประการใหญ่ ๆ คือ หนึ่งระลึกชาติได้ สองเห็นกฎแห่งกรรม และสามเกิดปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตได้ ซึ่งประการสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราสามารถแก้ปัญหาของตัวเราเองได้ ก็ไม่ต้องไปวิ่งหาพระให้รดน้ำมนต์หรือวิ่งไปหาหมอดู เราต้องเป็นหมอดูให้ตัวเองมันถึงจะถูก นี่แหละประโยชน์ของกรรมฐานอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่มานั่งหลับหูหลับตาเพื่อจะไปสวรรค์นิพพานอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดกัน เมื่อใดที่ยังไม่เกิดปัญญา ยังแก้ปัญหาชีวิตให้ตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปสวรรค์นิพพานได้ยังไง ที่ข้าพูดมานี่เอ็งเห็นด้วยไหมเล่า”

            “หนูยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ก็เลยยังตอบไม่ได้ หลวงลุงช่วยอธิบายหน่อยซีฮะว่าทำไม่ถึงต้องให้ระลึกชาติได้ แล้วระลึกได้กี่ชาติ”

         “จะกี่ชาติก็ไม่สำคัญหรอก แต่อย่างน้อย ๆ ก็ขอให้ระลึกชาติปัจจุบันได้ อย่างเช่นลูกที่เกเรไม่เชื่อฟังพ่อแม่ หรือชนิดที่เถียงพ่อเถียงแม่ คำไม่ตกฟาก พอมาเข้ากรรมฐานได้สองสามวันก็ระลึกชาติได้เลย คือเมื่อจิตสงบก็นึกย้อนไปในอดีตที่เคยทำไม่ดีไว้กับพ่อแม่ บางคนถึงกับร้องไห้โฮออกมาบอกว่ากลับบ้านไปนี่จะต้องไปกราบเท้า ขอขมาโทษพ่อแม่หรือคนที่เคยด่าเมีย เคยทุบตีเมีย พอมาเข้ากรรมฐานเมื่อจิตสงบก็จะรู้บุญคุณเมีย คิดว่ากลับไปบ้านจะต้องไปกราบเมีย อย่างนี้เป็นต้น

         “จริงหรือฮะหลวงลุง แล้วหลวงลุงรู้ได้ยังไงฮะ”

         “ก็เขาบอกข้าน่ะซี บางคนถึงกับร้องไห้พูดว่า “หลวงพ่อครับ ผมมันชั่วช้าสารเลวเสียเหลือเกิน” ข้าก็ถามว่า “ชั่วยังไงล่ะโยม” เขาก็ตอบว่า “ชั่วที่ชอบด่าเมีย ชอบเตะเมียแทนลูกฟุตบอลน่ะครับ ต่อไปนี้ผมจะไม่ทำอีกแล้ว กลับไปนี่ผมจะไปกราบเมีย” บังเอิญวันที่เขาจะกลับ เมียเขามารับเอ็งเชื่อไหมพอเขาเห็นหน้าเมียเขาคลานเข้าไปกราบเลย กราบต่อหน้าข้าด้วย เมียเขาก็งงว่า “เอ หลวงพ่อสอนผัวฉันยังไงนะ กลายเป็นคนละคนเลย เมื่อก่อนเห็นฉันเป็นลูกฟุตบอล แต่เดี๋ยวนี้กลับเห็นฉันเป็นพระไปซะแล้ว” นี่เมียเขามาแอบเล่าให้ข้าฟังอย่างนี้ เอ็งเห็นหรือยังล่ะว่า คนมาเข้ากรรมฐานน่ะระลึกชาติได้แบบนี้แหละ”

         “แหม หนูนึกว่าระลึกชาติ

 

               

มีต่อ........๔๒


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 22, 2007, 08:49:36 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00042
๔๒...

          นายสมชายขี่จักรยานกลับมาถึงวัดเวลาประมาณสามทุ่ม เห็นรถเบ๊นซ์สีดำคันหนึ่งจอดอยู่ที่ลานจอดรถด้านหลังของกุฏิ คิดว่าคงจะต้องมีแขกมาหาท่านพระครู อาจเป็นคนสามคนที่กลังเดินเห็นหลังอยู่ไว ๆ ข้างหน้านั่น เขาจะต้องไปให้ถึงกุฏิก่อน เพื่อจะบอกคนทั้งสามว่าหมดเวลารับแขกแล้ว

          วันธรรมดาท่านพระครูจะลงรับแขกเวลาเดียว คือตั้งแต่ ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ยกเว้นวันพระ จึงจะลงสองครั้ง ตามที่นายขุนทองจัดตารางให้ ป่านี้เจ้าหนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดคนนั้นคงจะหลับไปนานแล้ว เพราะเป็นคนนอนแต่หัวค่ำ

          ศิษย์ก้นกุฏินำจักรยานเข้าไปเก็บในโรงรถ เมื่อกลับออกมาก็เห็นชายวัยกลางคนกับสตรีวัยหกสิบเศษช่วยกันประคองบุรุษสูงอายุเข้ามานั่ง บุรุษนั้นสวมแว่นตาดำ อายุคงอยู่ในราวเจ็ดสิบเศษ ข้ามานั่งแล้วก็ยังไม่ยอมถอดแว่นตาดำออก เขาจึงเข้าไปถามว่า

          “ลุงมาพบหลวงพ่อหรือครับ”

          “อุ๊ยตาย” สตรีวัยหกสิบเศษอุทานเสียงสูง แล้วบอกบุรุษที่ใส่แว่นตาดำว่า

          “ท่านคะ เขาเรียกท่านว่าลุงแน่ะค่ะ ได้ยินหรือเปล่าคะ” คนถูกเรียกว่าลุงรู้สึกว่า “อัตตา” วิ่งขึ้นสูงจนหากใช้ปรอทวัดก็คงไม่ต่ำกว่าจุดเดือด จึงพูดโกรธ ๆ ว่า

          “เขาคงไม่รู้ละมั้งว่าพี่เป็นใคร คุณหญิงช่วยบอกเขาเอาบุญหน่อยซิ” เขาเรียกสตรีผู้นั้นว่า “คุณหญิง”

            “ให้ตาเอ้บอกดีกว่าค่ะ ตาเอ้บอกพ่อคนนี้ซีว่าอากับคุณพ่อเธอเป็นใครมาจากไหน” หล่อนหันไปพูดกับชายวัยกลางคนด้วยท่าทางหยิ่ง ๆ “นายเอ้” จึงบอกลูกศิษย์วัดว่า

          “น้องชาย นี่คือท่านรัฐมนตรีปลด เป็นคุณพ่อของผม แล้วสตรีผู้นี้คือคุณหญิงอรสา น้องสาวคุณพ่อและเป็นภรรยาของท่านรัฐมนตรีอัครเดช หวังว่าน้องชายคงเคยได้ยินชื่อนะ ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีสมัยที่แล้ว” นายสมชายแอบโต้ในใจว่า “อย่าว่าแต่รัฐมนตรีสมัยที่แล้วเลย ถึงเป็นรัฐมนตรีสมัยนี้ผมก็ไม่รู้จักใครสักคน” แต่ปากเขาพูดว่า

          “หรือครับ แล้วคุณพี่ผู้ชายเป็นรัฐมนตรีด้วยหรือเปล่าครับ ผมจะได้ใช้คำพูดให้ถูกกาลเทศะและบุคคล” เข้าตั้งใจประชด หากหนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษ กลับตอบว่า

          “ตอนนี้ยังไม่ได้เป็น คิดว่าจะขึ้นสมัยหน้า คุณพ่อผมกรุยทางไว้ให้แล้ว” คนตอบค่อนข้างมั่นใจ

          “ถ้าอย่างนั้นท่านก็เป็น ว่าที่รัฐมนตรีใช่ไหมครับ”

          “ก็คงยังงั้น”

          “ทีนี้กระผมขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีและคุณหญิงว่า ท่านจะมาพบหลวงพ่อใช่ไหมขอรับ” นายสมชายจำต้องเล่นบทใหม่เพื่อให้ถูกใจคนดู ถูกใจในที่นี้ก็คือถูกกับกิเลสของพวกเขา ท่านพระครูเคยสอนไว้ว่า การที่จะผูกมิตรกับคนนั้นจะต้องเอา “ถูกใจ” นำหน้าเสียก่อน แล้วจึงค่อยตามด้วย “ถูกต้อง”

            “แหม พ่อหนุ่มนี่น่ารักจริง ๆ พูดจามีสัมมาคารวะ” คุณหญิงออกปากชมทั้งที่ว่าไปหยก ๆ

          “น้องชาย ท่านพระครูอยู่หรือเปล่า” ว่าที่รัฐมนตรีถาม

          “อยู่ขอรับ”

          “งันก็ขึ้นไปเรียนท่านด้วยว่าท่านรัฐมนตรีมาขอพบ” นายเอ้ออกคำสั่ง พอดีกับนายขุนทองลงมาจากข้างบน ครั้นเห็นนายสมชายก็ต่อว่าทันที

          “กลับแล้วเหรอ นึกว่าจะนอนบ้านสาวซะอีก คนอะไรหายไปตั้งแต่เที่ยง” คนถูกต่อว่าไม่ได้โต้เถียง หากถามเสียงเรียบว่า

          “ยังไม่นอนอีกหรือ นึกว่าหลับไปซะแล้ว หลวงพ่อกำลังทำอะไรอยู่น่ะ” นายขุนทองไม่ตอบ หากหันไปพูดกับอาคันตุกะทั้งสามว่า

          “มาหาหลวงพ่อหรือฮะ ท่านเพิ่งขึ้นไปเมื่อตอนสองทุ่มเอง วันนี้รับแขกเกินเวลาไปตั้งเกือบสองชั่วโมง พรุ่งนี้เช้าค่อยมาใหม่แล้วกันนะฮะ”

            อารมณ์ที่กำลังจะดีขึ้นของคุณหญิงมีอันต้องบูดอีกครั้ง เมื่อฟังถ้อยคำของเจ้าหนุ่มหน้าหวาน หล่อนแหวใส่ว่า

          “นี่เธอ จะพูดจะจาก็ดูคนมั่ง รู้ไหมว่าฉันเป็นใครมาจากไหน”

          “ไม่รู้ฮะ แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน หนูก็ไม่สามารถจะให้คุณพบหลวงลุงได้ กฎก็ต้องเป็นกฎฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดเถียงพร้อมกับแสดงตัวว่าเป็นหลาน ด้วยการเรียกท่านพระครูว่า “หลวงลุง”

          “โอหัง แกนี่โอหังมากนะ นอกจากโอหังแล้วยังพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ดัดจริตดีดดิ้นไม่มีใครเกิน” ดีที่นายขุนทองไม่ใช่คนมักโกรธ หากเป็นกระเทยคนอื่น ก็คงปรี่เข้าไปตบคุณหญิงเข้าให้แล้ว เพราะผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงนั้นมักเป็นคนเจ้าโทสะ และยับยั้งสติอารมณ์ไม่ได้ คุณหญิงหันไปบอกนายสมชายว่า

          “นี่เธอบอกเจ้ากระเทยนี่ทีซิ ว่าฉันเป็นใครมาจากไหน” นายสมชายจึงต้องบอกนายขุนทองว่า

          “ขุนทอง นี่ท่านรัฐมนตรีกับคุณหญิงมาขอพบหลวงพ่อนะ แต่กระผมไม่ทราบว่าท่านมาจากไหนขอรับ” ประโยคหลังเขาหันไปพูดกับคุณหญิง

          “แหม เธอนี่ไม่มีคอมมอนเซ้นส์เสียเลย เป็นรัฐมนตรีก็ต้องมาจากกรุงเทพฯ ซียะ” คุณหญิงพาลเอากับนายสมชายเพราะโกรธนายขุนทอง

          “จะเป็นใครมาจากไหนหนูไม่สนทั้งนั้น กฎก็ต้องเป็นกฎ หนูจะไม่ยอมให้ใครเอาอำนาจราชศักดิ์มาทำให้เสียความยุติธรรมหรอก” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดยืนกราน

          “แต่กฎมันก็มีข้อยกเว้นนะขุนทอง ทำไมเธอไม่ดูเยี่ยงอย่างหลวงพ่อล่ะ เห็นไหมว่า บางเรื่องท่านก็โอนอ่อนผ่อนปรนให้ ไม่ได้เอาหัวชนฝาไปเสียทุกเรื่องเหมือนที่เธอทำอยู่หรอก” ลูกศิษย์วัดเตือนด้วยความหวังดีกลับถูก “แว้ด” ใส่ว่

          “ตามใจ ถ้าพี่เห็นว่าหนูไม่ดี หนูก็จะไปนอนละ แล้วถ้าหลวงลุงดุก็อย่าหาว่าหนูไม่เตือนก็แล้วกัน” ว่าแล้วก็เดินฉับ ๆ เข้าห้องไป คุณหญิงพูดตามหลังว่า

          “ดูเอาเถอะ ท่าทางกระฟัดกระเฟียดน่าเกลียดจริ๊ง ทำไม่ท่านพระครูถึงให้คนพรรค์นี้มาอยู่ในวัดนะ” นายสมชายไม่ออกความเห็น เขาพูดกับคนทั้งสามว่า

          “กระผมต้องขอโทษแทนเพื่อนด้วยนะขอรับ แกเป็นคนอย่างนี้เอง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ข้อนี้กระผมขอรับประกัน”

          “ไม่มีอะไรหรอกน้องชาย คุณหญิงอาของผมท่านก็พูดไปอย่างนั้นเอง จริง ๆ แล้วท่านเป็นคนใจดีมีเมตตา” ว่าที่รัฐมนตรีแก้แทนผู้เป็นอา เมื่อหลานชายพูดเช่นนี้ คุณหญิงอรอุษาจึงจำต้องปิดปากเงียบ เพราะหากพูดไปอาจจะทำให้ “เสียฟอร์ม” ของคุณหญิงก็เป็นได้

          “กระผมจะขึ้นไปกราบเรียนหลวงพ่อก่อนนะขอรับ” พูดจบก็หายขึ้นไปข้างบน

          “หลวงพ่อครับ รัฐมนตรีกับคุณหญิงมาขอพบหลวงพ่อครับ” เขารายงานหลังจากทำความเคารพด้วยการกราบ ๓ ครั้ง ท่านพระครู รู้ตั้งแต่รถเบ๊นซ์สีดำวิ่งเข้าประตูวัดมาโน่นแล้ว ท่านพูดกับลูกศิษย์ก้นกุฏิว่า

          “เขากำลังร้อนนะสมชาย ร้อนมากทีเดียว”

          “ผมเปิดพัดลมให้แล้วครับ คงไม่ร้อนเท่าไหร่” นายสมชายว่า

          “ฉันไม่ได้หมายถึงความร้อนภายนอกนะ แต่หมายถึงร้อนภายใน คนทั้งสามนั่นถูกไฟกิเลสแผดเผาจนร้อนรุ่มกลุ้มทรวง หวังจะมาให้ฉันช่วยดับ”

          “แล้วหลวงพ่อจะช่วยเขาไหมครับ”

          “ช่วยไม่ได้หรอกสมชายเอ๋ย ฉันน่ะอยากจะช่วยทุกคนที่มาหา เพราะคนที่มาหาฉันล้วนแต่แบกทุกข์กันมาทั้งนั้น อย่างที่พระบัวเฮียวท่านแอบตั้งสมญาว่า “พวกเอาปัญหามาให้พระ” นั่นแหละ

          “แต่ถ้าเขาไม่มีทุกข์เขาก็ไม่มาหาหลวงพ่อหรอกครับ” นายสมชายแย้งอย่างสุภาพ และข้อโต้แย้งของเขาก็จริงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์!

          “งั้นสิ คนสมัยนี้เขาจะนึกถึงพระก็ตอนมีทุกข์นั่นแหละ ตอนมีอำนาจวาสนาก็หลงมัวเมา ก่อกรรมทำชั่วโดยไม่กลัวบาปกลัวกรรม พอกรรมชั่วมาให้ผลทีนี้ก็จะนึกถึงพระ นึกถึงศาสนา เธอรู้ไหม คนที่อายุมากที่สุดน่ะตาบอด เพราะสั่งสมอกุศลกรรมไว้มาก มีเงินเป็นร้อย ๆ ล้านยังรักษาไม่หาย โรคกรรมนั้นไม่มีหมอที่ไหนรักษาได้ ข้อนี้ขอให้เธอจำใส่ใจเอาไว้ จะได้ไม่ทำชั่ว”

            “แล้วหลวงพ่อรักษาได้ไหมครับ”

          “ฉันไม่ใช่หมอ ก็ขนาดหมอเขายังรักษาไม่ได้ แล้วฉันเป็นผู้วิเศษมาจากไหนล่ะ เธอนี่พูดแปลก ๆ เอาละ เธอไปบอกให้เขารอสักประเดี๋ยว เดี๋ยวฉันจะลงไป” ท่านออกคำสั่ง

          “ให้เขาขึ้นมาข้างบนไม่ดีกว่าหรือครับ เผื่อมีใครมาอีกเดี๋ยวหลวงพ่อก็ไม่ได้พักผ่านกันพอดี” พูดอย่างเป็นห่วง

          “ไม่สำคัญหรอก เรื่องพักผ่อนนั้นไม่สำคัญสำหรับฉันเลย เพียงแต่ห่วงว่าจะเขียนหนังสือไม่เสร็จตามกำหนดเท่านั้นเอง”

          “กำหนดอะไรครับ” ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ

          “กำหนดกฎเกณฑ์ของชีวิตน่ะสิ ฉันคิดเอาไว้ว่าจะต้องเขียนและพิมพ์ให้เสร็จก่อนวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑” ท่านตั้งใจจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของท่าน ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องปฏิบัติสามารถศึกษาได้จากหนังสือที่ท่านเขียนไว้ ก็ว่าจะบอกให้นายสมชายรู้เมื่อเวลานั้นใกล้เข้ามา นอกจากพระบัวเฮียวแล้วยังไม่มีผู้ใดรู้เรื่องท่านจะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักในวันที่ ๑๔ ตุลา

          “ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้นล่ะครับ” ลูกศิษย์วัดไม่เข้าใจ

          “อย่าเพิ่งซักถาม เอาไว้ถึงเวลาแล้วฉันจะบอกเอง ลงไปได้ แล้วก็ปิดประตูกุฏิเสียให้หมด จะได้ไม่มีใครมารบ กวน” นายสมชายกราบสามครั้งแล้วจึงลงมาบอกคนทั้งสามว่า

          “เดี๋ยวท่านจะลงมาครับ”

          “ลงเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ แหม เรื่องมากจริง เป็นพระเป็นเจ้าไม่น่าเจ้ายศเจ้าอย่าง” คุณหญิงพูดฉอด ๆ เพราะยังอารมณ์ค้างกับเรื่องนายขุนทอง

          “คุณหญิงใจเย็น ๆ น่า ว่าพระว่าเจ้า บาปกรรมรู้ไหม” อดีตรัฐมนตรีเตือนน้องสาว ฟังหล่อน “พล่าม” มานานเลยต้องเบรค ๆ ไว้เสียบ้าง

          “ก็มันจริง ๆ นี่คะท่าน” คนเป็นคุณหญิงเถียงพี่ชาย แล้วบ่นกระปอดกระแปดว่า

          “นี่ตั้งสามทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว กว่าจะถึงบ้านมิสองยามสามยามหรอกหรือ”

          “ถึงเมื่อไหร่ก็ช่างเถอะ ขอให้มันถึงก็แล้วกัน คุณหญิงพูดราวกับว่าไม่เคยกลับบ้านดึก ๆ ยังงั้นแหละ จำไม่ได้แล้วหรือ สมัยที่คุณอัครเดชยังอยู่น่ะ คุณหญิงนั่งจั่วไพ่ตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่งสางไม่เห็นบ่นสักคำ แถมบางวันยังไปเต้นรำกับไอ้หนุ่ม กลับบ้านตีสามตีสี่โน่น ทีมาวัดดึกหน่อยทำบ่น” อดีตรัฐมนตรีว่าน้องสาว

          สมัยที่สามียังมีชีวิต คุณหญิงหลงระเริงกับ “อำนาจวาสนา” และทำตัว “ซ่า” จนคนเป็นพี่ชายแท้ ๆ ก็ยังหมั่นไส้ ถูกว่าเช่นนี้คุณหญิงก็มีอารมณ์ จึง “แหว” ใส่พี่ชายว่า

          “แล้วท่านดีกว่าดิฉันนักหรือคะ ท่านหักหลังได้แม้กระทั่งเพื่อนสนิท ท่านมีเมียน้อยอายุคราวลูกคราวหลาน ไปที่ไหนก็มีเมียที่นั้น จนคุณหญิงตรอมใจตาย เพียงแค่นี้ท่านก็ไม่ได้ดีไปกว่าดิฉันแล้วละค่ะ” คุณหญิงพูดโกรธ ๆ แต่คนที่โกรธมากว่าคือ รัฐมนตรีเขาด่าน้องสาวอย่างไม่ไว้หน้าว่า

          “ยายอร...แกมันชั่วช้าสารเลวไม่มีที่เปรียบ ถึงฉันจะเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของแก ฉันก็ไม่เข้าข้างแก นึกว่าฉันไม่รู้ความเลยระยำของแกรึไง จะให้บอกไหม ไอ้หนุ่มที่มันนอนกับแกน่ะ ชื่ออะไรบ้าง แกจำชื่อจำหน้ามันได้หมดทุกคนหรือเปล่า แล้วที่เจ้าอัครเดชเป็นอัมพฤกษ์ก่อนตายน่ะ เพราะมันเครียดที่เมียมันมีชู้ใช่ไหม ผู้ชายที่เมียมีชู้น่ะ เป็นโรคเครียดทุกคนแหละ ถึงบางคนจะไปมีเมียใหม่ แต่ความเครียดก็ยังไม่หาย อารมณ์วิปริตผิดมนุษย์มนาเข้ากับใครไม่ค่อยจะได้” อดีตรัฐมนตรี “ร่ายยาว” เพราะอัดอั้นตันใจมานาน ร้อนถึงนายเอ้ หรือ ดร.เอกสิทธิ์ต้องห้ามทัพ

          “คุณพ่อครับ คุณหญิงอาครับ ผมขอร้องเถอะ นี่ในวัดนะครับ ไง ๆ ก็อายลูกศิษย์วัดบ้าง” เขาหันไปทางนายสมชายซึ่งกำลังชงกาแฟร้อน ๆ มาเลี้ยงแขก ส่วนนายขุนทองหลับปุ๋ยไปแล้ว

          “องอายมันทำไม กะอีแค่เด็กวัด” คุณหญิงพูดพาล ๆ นายสมชายฟังแล้วก็ให้นึกปลงสังเวช พวกผู้ลากมากดีเขาช่างไม่มีการสงบสติอารมณ์กันเสียบ้างเลย นึกจะพูดจะว่าใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ว่ากันตามอำเภอใจ ไม่มีบันยะบันยัง น่าอนาถนัก

          รู้สึกโล่งใจเมื่อท่านพระครูเปิดประตูออกมา คู่กรณีหยุดวิวาทกันโดยปริยาย เมื่อท่านนั่งที่อาสนะแล้ว ดร.เอกสิทธิ์จึงกระซิบให้บิดาทำความเคารพ คนทั้งสามกราบท่านพระครู แล้วคุณหญิงอรอุษาก็ร้องไห้กระซิก ๆ

          “เจริญพรท่านรัฐมนตรีและคุณหญิงที่นับถือยิ่ง อาตมภาพในนามของคณะสงฆ์วัดป่ามะม่วงขอต้อนรับท่านรัฐมนตรีและคณะด้วยความเต็มใจ” ท่านใช้คำพูดที่ทำให้คนฟังรูสึกว่า “ถูกใจ” รู้ว่าเขาชอบให้ยกย่องก็ต้องยกย่องเขา ท่านเป็นคนไม่ขวางโลก ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมไหลไปกับโลก เพราะชาวโลกนั้นมักไหลไปตามแรงของกิเลสตัณหา ส่วนท่านเป็นสมณะจะเป็นอย่างชาวโลกนั้นหาควรไม่

            “คุณหญิงร้องไห้มีอะไรไม่สบายใจหรือ อาตมาพอจะช่วยได้บ้างไหม” น้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตานั้นทำให้คุณหญิงร้องไห้หนักขึ้น เธอพูดด้วยเสียงปนสะอื้นว่า

          “ดิฉันมีทุกข์หนักค่ะท่านพระครู พอหมดอำนาจวาสนาก็ถูกคนเขาเหยียบย่ำ พี่น้องคลานตามกันมาแท้ ๆ ก็ยังดูถูกดูแคลน ลูกเต้าก็เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่หาเรื่องทุกข์เรื่องเดือดร้อนมาให้” คุณหญิงพรรณนาทั้งน้ำหูน้ำตา อดีตรัฐมนตรีรู้สึกคันปากยิบ ๆ เมื่อถูกน้องสาวพูดแขวะ ครั้นจะโต้ตอบออกไปก็จะกลายเป็นว่ามาทะเลาะกันต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า จึงสู้นิ่งเอาไว้”

          “แล้วคุณหญิงเคยสงสัยหรือเปล่า ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

          “สงสัยค่ะ สงสัยมาก ๆ แล้วก็ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมชะตาชีวิตของดิฉัน จึงได้มากลับตาลปัตรเช่นนี้ ดิฉันทำกรรมอะไรไว้คะท่าน”

          “เรื่องนี้คุณหญิงต้องถามตัวเอง เพราะคนที่รู้ดีที่สุดก็คือคุณหญิง ที่อาตมาพูดมานี่ถูกหรือเปล่า” คุณหญิงอรอุษาใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตาจนแห้งแล้วตอบว่า

          “ถูกค่ะ”

          “ถ้าอย่างนั้นคุณหญิงก็ลองทบทวนดูแล้วกันว่า ทำกรรมอะไรไว้บ้าง” คุณหญิงคิดว่าการสารภาพบาปจะทำให้หมดบาป จึงสารภาพเป็นบางเรื่องและปกปิดบางเรื่องเอาไว้ ท่านพระครูนั่งฟังด้วยอาการสงบ

          “แต่ก่อนดิฉันไม่เชื่อว่าบาปกรรมนั้นมีจริง จึงหลงระเริงกับยศและอำนาจ จนเป็นเหตุให้ก่อกรรมทำชั่วไว้มากมาย นี่ถ้าไม่ประสบกับความทุกข์ ดิฉันก็คงยังไม่เชื่อ เขาพูดกันว่า กรรมสมัยนี้มันติดจรวด จึงให้ผลเร็วโดยไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า ท่านพระครูเชื่อหรือเปล่าคะ ว่าแต่ก่อนนี้ดิฉันร่ำรวยมาก ขนาดโต๊ะกินข้าวก็ยังฝังมุก ตอนนั้นคุณอัครเดชมีดิฉันเขาเป็นรัฐมนตรี วัน ๆ มีแต่คนเอาเงินมาให้ เราสองคนก็รับไม่อั้น ถ้าหน้าบ้านคุณอัครเดชรับ แต่หลังบ้านดิฉันเป็นคนรับ รู้สึกว่าเงินทองไหลมาเทมาจนนับไม่หวาดไม่ไหว ดิฉันก็ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเพราะเงินได้มาง่าย เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่ดิฉันสวมใส่ก็ล้วนราคาแพง ชุดหนึ่ง ๆ ราคามากกว่าเงินเดือนข้าราชการชั้นเอกเสียอีก ลูก ๆ ก็ขับรถเก๋งคนละคัน แล้วก็ฟุ้งเฟ้อตามพ่อแม่

          แต่พอคุณอัครเดชเป็นอัมพฤกษ์ทำงานไม่ได้ เราก็ขาดรายได้เพราะไม่มีใครเอาเงินทองมาให้เหมือนแต่ก่อน ดิฉันและลูก ๆ ก็อยู่ในสภาพ “จมไม่ลง” ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาในทางมิชอบก็ร่อยหรอลงไปทุกวัน พอคุณอัครเดชเสียชีวิต ดิฉันก็ต้องช้ำใจหนักขึ้น เพราะลูก ๆ ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงสมบัติกันต่อหน้าต่อตาดิฉัน ตู้ฝังมุก โต๊ะฝังมุก เขาก็แย่งกัน ขนไปขายทอดตลาด ไม่เกรงใจดิฉันซึ่งเป็นแม่” คนเล่าไม่ได้บอกความจริงแก่ท่านพระครูว่าที่ลูก ๆ เขาไม่เกรงใจเพราะเขากลัวคนเป็นแม่จะเอาเงินทองไปบำเรอพวกหนุ่ม ๆ ที่เป็นคู่นอน

          “แล้วคุณหญิงไปทำอะไรให้ลูก ๆ เขาไม่เกรงใจหรือเปล่า” คำถามของเจ้าของกุฏิแทงใจดำของคนเป็นคุณหญิง เธอกำลังคิดว่าจะตอบหรือไม่ตอบดี ท่านพระครูรู้ว่าจะทำให้เธออึดอัดใจจึงพูดตัดบทว่า

          “เอาละไม่ต้องตอบอาตมาก็ได้ แล้วท่านรัฐมนตรีมีอะไรจะปรึกษากับอาตมาหรือเปล่า” ประโยคหลังท่านถามอดีตรัฐมนตรี

          “เรื่องของผมก็คล้าย ๆ กับของน้องสาวแหละครับท่านพระครู แต่มีข้อดีข้อเสียต่างกันนิดหน่อย คือน้องสาวผมเขาแย่ตรงฐานะทางการเงินทรุดลงและลูก ๆ ก็แย่งสมบัติกัน แต่สำหรับผม เงินทางยังมีมากมายแต่ตาผมมองไม่เห็นเสียแล้ว อุตส่าห์บินไปรักษาถึงเมืองนอกก็ยังไม่หาย ผมจะมาเรียนถามท่านพระครูว่า ท่านพอจะมีทางช่วยผมบ้างไหม ช่วยทำให้ตาผมมองเห็นเหมือนแต่ก่อนน่ะครับ แล้วผมจะทำบุญไม่อั้นทีเดียว” ท่านพระครูตอบทันทีว่า

          “ช่วยไม่ได้หรอกท่าน อาตมาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของกรรม ท่านสะสมอกุศลกรรมไว้มาก ถึงคราวที่มันมาให้ผลท่านก็ต้องรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ได้ฟังเช่นนั้นอดีตรัฐมนตรีวัยเจ็ดสิบเศษถึงกับนั่งกอดเข่าร้องไห้ คุณหญิงอรอุษาหยุดร้องไปแล้วก็มีอันต้องร้องอีก ดร.เอกสิทธิ์เองก็ตาแดง ๆ เพราะสมเพชบุคคลทั้งสอง หากความรู้สึกที่ว่านี้ก็เป็นไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะเมื่อนึกถึง “ธุระ” ของตนที่จะมาเรียนปรึกษาท่านพระครูแล้ว เรื่องของคนอื่นก็มีอันหมดความหมาย เขาถามท่านเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมเรียนจบปริญญาเอกจากอเมริกา อยากจะใช้ความรู้มาพัฒนาประเทศ ผมจะมีโอกาสขึ้นเป็นรัฐมนตรีหรือเปล่าครับ คุณพ่อกรุยทางไว้ให้แล้ว” เขา “ปรึกษา” และเรียกท่านพระครูว่า “หลวงพ่อ” เหมือนที่นายสมชายเรียก ท่านเจ้าของกุฏิเห็นกฎแห่งกรรมคนเป็นด็อกเตอร์แล้ว จึงพูดขึ้นว่า

          “ท่านอยากเป็นอย่างที่คุณพ่อเป็นใช่ไหม”

          “ครับ” เขาเข้าใจว่า “เป็นรัฐมนตรี”

          “แปลว่าท่านอยากประสบเคราะห์กรรมแบบเดียวกับที่ท่านรัฐมนตรีประสบอยู่ เป็นอย่างนั้นหรือ”

          “ไม่ครับ ผมไม่ต้องการเช่นนั้น” เขารีบปฏิเสธ

          “ถ้าเช่นนั้นก็เลิกล้มความคิดที่จะเป็นรัฐมนตรีเสีย อาตมาขอบิณฑบาตเถิดนะ ท่านอย่าได้ไปยุ่งกับการเมืองเลย เชื่ออาตมาสักครั้งเถอะ”

          “การเมืองมันไม่ดีอย่างไรหรือครับ หลวงพ่อจึงไม่อยากให้ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยว” ถามเพื่อจะ “ลองภูมิ”ท่าน

          “เรื่องนี้ท่านคงทราบดีกว่าอาตมา ท่านเป็นถึงด็อกเตอร์ ลองไปคิดหาคำตอบเอาเองก็แล้วกัน” ท่านพูดเพียงเท่านี้

          “ท่านพระครูช่วยรดน้ำมนต์ตัดเวรตัดกรรมให้ดิฉันด้วยเถิดค่ะ” คุณหญิงอรอุษาพูดขึ้น

          “น้ำมนต์ช่วยตัดเวรตัดกรรมไม่ได้หรอกคุณหญิง แต่ถ้าจะให้รดให้เพื่อเป็นสิริมงคล อาตมาก็จะรดให้” ท่านจำเป็นต้องใช้น้ำมนต์เพื่อให้เขาสบายใจขึ้น เพราะหากจะแนะนำให้เขาสวดมนต์หรือเจริญกรรมฐานเขา “รับไม่ได้” กรรมเขาหนักเกินกว่าที่ท่านจะช่วยได้ ไหน ๆ เขาก็มาขอพึ่งบารมี ก็ต้องช่วยเขาไปตามหน้าที่ในเมื่อเขาไม่สามารถรับ “ของจริง” ได้ ท่านก็ต้องให้ “ของปลอม” แต่ถ้าใครมีอุปนิสัยบารมีพอที่จะรับของจริงได้ ท่านก็จะไม่ยอมให้ของปลอมอย่างเด็ดขาด

          ท่านพระครูรดน้ำมนต์ให้แล้วคนทั้งสามก็ลากลับ นายสมชายเดินตามไปส่งถึงที่จอดรถ ดร.เอกสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นคนขับ ชายวัยกลางคนเปิดกระเป๋าสตางค์ดึงธนบัตรใบละร้อยใหม่เอี่ยมส่งให้นายสมชาย

          “น้องชาย ขอบใจมากนะ เอาไว้ซื้อขนมกิน”

          “ขอบคุณครับ ขนมที่วัดมีเยอะ ผมไม่ต้องซื้อหรอกครับ” เขาตอบและไม่ยอมรับเงินนั้น ด็อกเตอร์วัยสี่สิบเศษจึงหยิบขึ้นมาอีกใบหนึ่งด้วยคิดว่าร้อยเดียว มันอาจจะน้อยไป

          “งั้นเอาไปสองใบเอ้า” ครั้นนายสมชายปฏิเสธอีก คนเป็นด็อกเตอร์จึงเก็บมันเข้ากระเป๋าดังเดิม เป็นเรื่องประหลาดที่สุดเท่าที่เขาเคยพบคนที่ปฏิเสธเงินยังมีอยู่ในโลก!

           

มีต่อ........๔๓
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 22, 2007, 08:50:13 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00043
๔๓...

          เพราะนายขุนทองจัดตารางเวลาการทำงานให้ท่านพระครู จึงทำให้ญาติโยมที่มาเข้ากรรมฐานได้มีโอกาสมาขึ้นในอันที่จะเรียนถามข้อข้องใจสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติ

          ในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นจะต้องมีครูอาจารย์คอยควบคุมชี้แนะอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือหลงทางได้ง่าย

          เช้าวันหนึ่งขณะที่ท่านพระครูกำลังสอบอารมณ์ให้อุบาสกอุบาสิกาอยู่ที่กุฏิ หญิงสาวผู้หนึ่งเดินเข้ามานั่งแถวหลังสุด ก้มลงกราบสามครั้งแล้วนิ่งอยู่ สีหน้าท่าทางบ่งบอกว่าหล่อนกำลังมีทุกข์ ท่านเจ้าของกุฏิยังต้องใช้เวลาในการสอบอารมณ์อีกนาน จึงอนุญาตให้หล่อน “ลัดคิว” ด้วยการถามว่า

          “มีอะไรหรือจ๊ะแม่หนู ไหนเขยิบเข้ามานั่งใน ๆ หน่อยซิ” บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ก่อนต่างขยับกายเปิดทางให้หล่อนคลานเข้ามา

          “อาตมาต้องขอโทษญาติโยมด้วยนะ ขอลัดคิวให้แม่หนูคนนี้ก่อน ท่าทางเขาจะมีธุระด่วน เอ้าแม่หนูมีอะไรก็ว่าไปเลย” ท่านกล่าวอนุญาต หญิงสาวจึงพูดขึ้นว่า

          “หลวงพ่อคะ หนูมาขอบวชชีค่ะ”

          “คิดยังไงถึงจะบวชล่ะหนู”

          “หนูกลุ้มใจค่ะ ให้หนูบวชเถิดนะคะหลวงพ่อ หนูอยากจะอยู่ในที่สงบค่ะ” ท่านพระครู “ตรวจสอบ” คุณสมบัติของหล่อนแล้วจึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละ อย่าเพิ่งพูดเรื่องบวช เอาอย่างนี้ เดี๋ยวหลวงพ่อจะให้นายขุนทองเขาพาหนูไปฝากไว้กับแม่ครัวสักเจ็ดวัน แล้วค่อยมาพูดกันใหม่” ท่านเรียกนายขุนทองมาสั่งการ ครั้นหญิงสาวลุกออกแล้ว อุบาสิกาคนหนึ่งได้ถามขึ้นว่า

          “ทำไมหลวงพ่อไม่ส่งเขาไปอยู่สำนักชีล่ะคะ ทำไมถึงส่งไปอยู่โรงครัว”

          “ก็พวกแม่ชีเขากินข้าววันละสองมื้อ แต่แม่หนูคนนี้แกจำเป็นจะต้องกินสามมื้อ อาตมาจึงต้องส่งไปอยู่กับพวกแม่ครัว”

          “ไหน ๆ เขาจะบวชก็น่าจะฝึกกินสองมื้อไว้ ไม่งั้นจะบวชได้ยังไง” อุบาสิกาผู้นั้นออกความเห็น

          “ก็ใครว่าอาตมาจะให้เขาบวชล่ะ ขืนบวชก็เสียชื่อวัดหมด รับรองว่าวัดป่ามะม่วงเสียชื่อกันคราวนี้เอง ให้บวชไม่ได้เด็ดขาด” ท่านพูดเสียงหนักแน่น

          “ทำไมหรือครับ” อุบาสกที่นั่งหน้าสุดถาม ผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้มีประมาณยี่สิบคน เป็นอุบาสกเพียงสามคนเท่านั้น แสดงว่าพวกผู้ชายเป็นโรคไม่ชอบเข้าวัด ท่านพระครูตอบว่า

          “จะให้บวชได้ยังไง ก็มาสองคน บวชได้หรือ”

          “ใช่ ใคร ๆ ก็เห็นเขามาคนเดียว แต่อาตมาเห็นเขามาสองคน อยู่ในท้องคนนึง แบบนี้จะให้บวชได้ยังไง ใครไม่รู้ก็จะหาว่ามาท้องกับพระ เพราะครรภ์มันโตขึ้นทุกวัน ๆ เมื่อกี้อาตมาไม่พูดกลัวเขาจะอาย ญาติโยมเห็นหรือยังว่า “เห็นหนอ” นั้นมีประโยชน์มหาศาลทีเดียว ไม่ใช่เป็นการอวดคุณวิเศษแต่ประการใด โยมเห็นด้วยไหม”

          “เห็นด้วยครับ” อุบาสกตอบ

          “หลวงพ่อคะ แล้วอย่างฉันนี่จะมีโอกาสได้ “เห็นหนอ” หรือเปล่าคะ” อุบาสิกาอีกผู้หนึ่งถามขึ้น

          “จะได้หรือไม่ได้มันก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่โยมได้สั่งสมไว้แต่ชาติปางก่อน บวกกับความเพียรพยายามในชาตินี้ จะเพียรพยายามสักเท่าใดก็จะไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติของเราเป็นหมัน เพราะมันจะเป็นเหตุปัจจัยของชาติต่อ ๆ ไป อาจจะไปได้ชาติหน้าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามอาตมาไม่สนับสนุนให้ตั้งความหวัง ขอให้โยมอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด กำหนดสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา จะได้ “เห็นหนอ” หรือไม่ได้ก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่ถ้าใครได้แล้วนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อีกหน่อยก็เสื่อม อย่างอาตมานี่ไม่เคยใช้ดูเลขให้หวยใคร เพราะไม่ใช่วิสัยของพระที่จะทำเช่นนั้น”

          “งั้นพระที่รับสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์ตัดเวรตัดกรรมก็ไม่ถูกต้องซีคะ อ้อ พระหมอดูอีกอย่าง”

          “มันจะถูกต้องได้ยังไงล่ะโยม ท่านเก่งแต่สะเดาะเคราะห์ให้คนอื่นเขา พอเคราะห์ตัวเองกลับสะเดาะไม่ได้ โยมคอยดูไปก็แล้วกันว่ากฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่เร็วหรือช้า คุณหญิงคนนึงเขามาพูดให้อาตมาฟังว่า เดี๋ยวนี้กรรมติดจรวดนะ ให้ผลทันตาเห็น ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า” ท่านนึกถึงคำพูดของคุณหญิงอรอุษา

          “พระสมัยนี้ทำตัวนอกรีดนอกรอยนะครับหลวงพ่อ ที่ผมกล้าพูดเพราะผมเคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อน ตอนเรียนหนังสือผมต้องอาศัยวัดอยู่ เพราะเป็นเด็กบ้านนอก พ่อแม่ส่งไปเรียนกรุงเทพฯ เลยไปอาศัยอยู่กับหลวงพี่ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน

          “งั้นหรือ โดยมอยู่วัดอะไรล่ะ” เขาบอกชื่อวัดแห่งหนึ่ง เป็นวัดที่รายได้ดีเพราะมีศพคนรวย ๆ มาให้เผากันทุกวัน ส่วนคนจนไม่มีสิทธิ์เอาศพมาเผาที่วัดนี้เพราะสู้ “ค่าโสหุ้ย” ไม่ไหว

          “โอ๊ย วันนี้น่ะเหรอ ยอดยิวเลยค่ะหลวงพ่อ ญาติฉันเคยเอาศพพ่อเขาไปไว้ ตั้งใจจะสวดพระอภิธรรมสักเจ็ดคืนก็ต้องขอย้ายวัดเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ขนาดเขาเป็นคนมีเงินนะคะ ยังสู้ไม่ไหวเลยค่ะ”

          “แล้วหลวงพ่อเชื่อไหมครับ คนที่อยู่วัดมักจะเกลียดพระ อย่างผมนี่เกลียดมาก ๆ แต่ก็ไม่ทุกองค์นะครับ องค์ไหนดีผมก็ไม่เกลียด แต่องค์ที่ดี ๆ ก็หายากแสนยาก”

          “ไปเกลียดท่านเรื่องอะไรล่ะโยม”

          “ก็ท่านทำตัวไม่เหมาะสมน่ะครับ อย่างหลวงพี่ข้างห้องผม ท่านเอาสีกาเข้าไปคุยในห้อง คุยตั้งแต่หัวค่ำยันดึก ปิดประตูคุยเสียด้วย ผมก็ไม่อยากจะคิดว่าเขาทำอะไรกันเพราะผมกลัวบาป อีกอย่างเราก็ไม่ได้เห็นกะตา”

          “แล้วทำไมไม่แอบดูล่ะ” อุบาสกอีกคนถาม

          “ไม่หรอกครับ ผมกลัวเห็น แต่พวกเพื่อน ๆ ผมมันเจาะฝาแอบดูแล้วพากันหัวเราะคิก ๆ ชอบใจ”

          “แหม ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะแอบดูให้รู้ดำรู้แดงไปเลย” อุบาสกผู้นั้นว่า

          “ผมไม่อยากเดือดร้อน เจ้าพวกนั้นพอดูแล้วก็เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน เพราะต้องออกไปเสียเงินเสียทองให้ผู้หญิงอย่างว่า ส่วนผมไม่มีเงินที่จะทำเช่นนั้น” เขาบอกเหตุผลที่ไม่ยอมแอบดู ท่านพระครูเชื่อในสิ่งที่เขาพูดโดยไม่ต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบ ที่เชื่อเพราะท่านเองก็เคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อน จึงรู้เช่นเห็นชาติพวกพระนอกรีตนอกรอยมามากต่อมาก แล้วจึงเล่าแต่ในส่วนที่พอจะเล่าได้ ว่า

          “อาตมาก็เคยเป็นเด็กวัดเหมือนกัน วัดแถวฝั่งธนนะ ชื่ออะไรก็อย่ารู้เลย ก็อย่างที่โยมว่า ใกล้พระก็เกลียดพระ อาตมาเกลียดพระที่สุด แต่อย่าลืมนะ มันเป็นกฎแห่งกรรม เกลียดพระก็เลยต้องมาเป็นพระ โบราณเขาสอนไว้ว่าเกลียดขี้ได้ขี้ อาตมานี่เกลียดพระจึงต้องมาเป็นพระ” ท่านย้ำ

          “ทำไมหลวงพ่อถึงเกลียดพระล่ะคะ”

          “จะไม่ให้เกลียดได้ยังไง ก็ท่านทำไม่ถูกต้อง”

          “แล้วหลวงพ่อทำไมไม่ฟ้องพระผู้ใหญ่ล่ะคะ”

          “ฟ้องไม่ได้หรอก ขืนฟ้องเขาก็ไล่อาตมาออกจากวัด แล้วจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ”

          “เหมือนผมเลยครับหลวงพ่อ ผมกับเพื่อน ๆ เห็นพระทำผิดก็ไม่มีปากมีเสียง เพราะถ้าขืนปากมากไป เขาไล่ออกจากวัดก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ พ่อแม่อุตส่าห์ส่งมาเรียน”

          “นั่นน่ะสิ เรามันหัวอกเดียวกัน นะโยมนะ”

          “ครับ” อุบาสกตอบยิ้ม ๆ

          “ที่อาตมาเกลียดพระเพราะถูกท่านใช้ทุกคืน เราจะดูหนังสือหนังหา กับต้องมาวิ่งซื้อก๋วยเตี๋ยวให้พระฉันในเวลาวิกาล”

          “แล้วท่านให้เงินไหมครับ ให้เงินค่าจ้างน่ะครับ”

          “ไม่ได้ให้ค่าจ้างหรอก ท่านใช้วิธีหลวงพี่ชาม ลูกศิษย์ชาม อาตมาก็กินก๋วยเตี๋ยวทุกคืนจนเบื่อมาจนบัดนี้”

          นอกจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้ว ก็ยังถกเขมรเตะตะกร้อกันทุกเย็น นุ่งห่มก็ไม่สำรวม เป็นพระทำอย่างนั้นผิดวินัยนะ ต้องนุ่งห่มให้ครบสามชิ้นที่เรียกว่าไตรจีวร ตั้งแต่บวชมานี่ อาตมายังไม่เคยละเมิดพระวินัยข้อนี้เลย จะร้อนแสนร้อนเหงื่อหยดติ๋ง ๆ อาตมาก็นุ่งห่มครบสามชิ้น ทั้งสบง จีวร และสังฆาฏิ แต่พระวัดนั้นนุ่งสบงตัวเดียว แถมถกเขมรเตะตะกร้อกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีการสำรวมอิริยาบถกันเลย แต่อย่าพูดไปนะ ตอนนี้หลวงพี่พวกนั้นพากันเข้าเมรุไปเกือบหมดแล้ว ที่ยังอยู่ก็คงเตะตะกร้อไม่ไหวมั้ง”

            “แย่จังนะคะหลวงพ่อ แล้วแบบนี้ ศาสนาไม่เสื่อมยังไงไหว” อุบาสิกาผู้นั้นรู้สึกห่วงใยในพระพุทธศาสนา

          “ศาสนาน่ะไม่เสื่อมหรอกโยม จิตใจคนต่างหากที่เสื่อม ทั้งจิตใจคนที่เป็นพระและคนที่เป็นฆราวาสนั่นแหละ แต่เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว โยมก็อย่าไปสรุปเอาว่าพระเลวหมด เพราะที่ดี ๆ ก็ยังมีอยู่ ขอให้โยมใช้ปัญญาไตร่ตรองเอาก็แล้วกัน พระแท้กับพระเทียมนั้นมีข้อแตกต่างกันเยอะ “คนที่บวชเพื่อละคือพระแท้”  จำเอาไว้ ถ้าใครมาบวชเพื่อหวังลาภสักการะคนนั้นไม่ใช่พระแท้หรอก

          ในสมัยพุทธกาลคนที่มีเงินมาก ๆ มาขอบวช พระพุทธองค์จะไม่บวชให้ ต้องจัดการเอาเงินไปแจกจ่ายคนยากจนให้หมดเสียก่อน ตัวอย่างเช่น วิสาขอุบาสกมีเงินหนึ่งพันกหาปณะมาขอบวช พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราไม่บวชให้บุคคลที่มีเงินหนึ่งพันกหาปณะ” ท่านวิสาขอุบาสกจึงต้องเอาเงินไปแจกจ่ายคนยากคนจนแล้วถึงได้บวช แต่สมัยนี้นะ พระบางองค์ตอนบวชไม่มีอะไรเลย แต่พอตอนสึก โอ้โฮ ข้าวของทรัพย์สมบัติมากมายเหลือเกิน เอารถบรรทุกมาขนตั้งสามเที่ยวก็ไม่หมด นี่แบบนี้ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้าแน่”

          “หลวงพ่อคะ แล้วพระที่นอนกับผู้หญิง ทำไมท่านไม่สึกเสียให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แล้วก็ไม่ทำให้คนเข้าใจศาสนาผิด ๆ ด้วย เป็นฉันฉันสึกดีกว่า”

          “ก็ท่านไม่ได้เป็นโยมน่ะซี ถ้าเป็นโยมก็คงหมดเรื่องไปแล้ว จริงไหม”

          “ผมว่า ท่านคงเสียดายลาภสักการะที่เคยได้น่ะครับหลวงพ่อ กลัวว่าสึกไปแล้วจะไม่มีใครนับหน้าถือตา จะไม่มีใครเอาปัจจัยมาถวาย”

          “หลวงพ่อคะ พระหมั้นผู้หญิงบาปไหมคะ” อุบาสิกาที่อายุน้อยกว่าใครเพื่อนถาม หล่อนเป็นครุสอนหนังสือในกรุงเทพฯ

          “หมั้นยังไงล่ะ”

          “คือวัดอยู่ข้างบ้านหนูน่ะคะ หลวงลุงองค์หนึ่งอายุห้าสิบ ท่านไปหมั้นผู้หญิงอายุสิบเจ็ด ทำพิธีหมั้นกันด้วย หนูยังไปดูเลยค่ะ ท่านก็มานั่งใกล้ ๆ กับผู้หญิงแล้วมอบสินสอดทองหมั้นให้ หนูก็ปากไม่ดี อดรนทนไม่ได้จึงถามท่านว่า “ทำไมหลวงลุงไม่สึกเสียเลยล่ะ จะได้สวมแหวนเพชรให้เจ้าสาวได้” ท่านก็ตอบทันทีว่า “ยังสึกไม่ได้หรอกครู รอเก็บเงินแต่งงานก่อน” หนูเลยอายม้วนไปเลย พระอายุห้าสิบตอบอย่างนี้ หนูอายเลยค่ะ แล้วท่านก็ทำอะไรตล้กตลก เวลามีญาติโยมเอาส้มสูกลูกไม้มาถวาย พอเขาลงกุฏิไป ท่านก็ลงกุฏิบ้าง ถือถาดผลไม้ที่เขาเอามาถวายนั้นไปถวายผู้หญิงอีกทีหนึ่ง ผู้หญิงที่เป็นคู่หมั้นน่ะค่ะ คนแถวนั้นเขารู้กันทั้งซอย ไม่มีใครเลื่อมใสศรัทธาท่าน แต่คนที่มาจากที่อื่นเขาคงไม่รู้ มาให้ท่านดูหมดได้ทุกวัน ท่านบอกจะต้องเก็บเงินไว้จ้างเขาปลูกเรือนหอให้เสร็จก่อนถึงจะสึก หนูก็แกล้งพูดประชดว่ากว่าจะถึงเวลานั้น หลวงลุงไม่หกสิบเสียก่อนหรือ ท่านก็ว่าไม่หรอก เหลืออีกไม่กี่หมื่นก็ครบแล้ว”

          “แหม โยมก็ไปต่อล้อต่อเถียงกับท่านอยู่ได้ ประเดี๋ยวท่านก็จะหาว่าอิจฉาท่านหรอก” ท่านพระครูว่า

          “ท่านว่าแล้วค่ะ บอกว่า “ครูเสียใจใช่ไหมที่อาตมาไม่มาขอหมั้นครู ครูก็เลยอิจฉาหนูอรเขา” คู่หมั้นชื่ออรปณิตาค่ะ”

            “แล้วโยมว่ายังไง”

          “หนูก็ย้อนว่า “โอ๊ย แก่ ๆ อย่างหลวงลุงถึงมาขอ หนูก็ไม่เอาหร้อก ใครจะโง่เอาผีมาเผาล่ะหลวงลุ้ง”

            “ผมก็ว่าพอกันเลยนะครับ ทั้งพระทั้งสีกาฝีปากพอ ๆ กัน” อุบาสกผู้นั้นว่า เลยถูกครูสาวขว้างค้อนเข้าใส่หนึ่งวง

          “แบบนี้บาปไหมคะหลวงพ่อ ถึงขั้นปาราชิกไหมคะ” ขว้างค้อนใสบุรุษนั้นแล้วครูสาวถามต่อ ท่านพระครูตอบว่า

          “เท่าที่โยมเล่ามายังไม่ถึงขั้นปาราชิกหรอก ยังไม่ถึง อาบัติปาราชิก มี ๔ ข้อคือ เสพเมถุน ๑ ฆ่ามนุษย์ ๑ ขโมยเงินตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป ๑ และอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ๑ หากประพฤติข้อหนึ่งข้อใดในสี่ข้อนี้จึงจะเรียกว่า ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากสมณเพศ เอาละ ทีนี้เรามาสอบอารมณ์กันต่อดีกว่า รู้สึกว่าจะพูดมากกันเกินขอบเขตไปแล้ว ทั้งอาตมาทั้งโยมนั่นแหละ อย่างนี้เขาเรียกว่า “กรรมฐานรั่ว” อุตส่าห์ตั้งใจปฏิบัติมาตั้งหลายวันก็มาทำรั่วเสียแล้ว เห็นไหมสอบตกกันทั้งพระทั้งฆราวาสเลย” ท่านตำหนิตัวเองด้วย แล้วเหมือนจะนึกอะไรขึ้นมาได้ จึงพูดอีกว่า

          “อาตมาเกือบต้องตายเพราะพระนะ ดีที่มีคนช่วยเอาไว้ อาตมายังรู้บุญรู้คุณเขามาจนบัดนี้ อยากฟังไหมจะเล่าให้ฟัง”

          “อยากฟังครับ”

          “อยากฟังค่ะ” อุบาสกอุบาสิกาตอบพร้อมกัน

          “คืออาตมาตอนเด็ก ๆ ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ยายมาขอไปเลี้ยงตั้งแต่อายุหกขวบ พอเรียนจบมัธยมสาม ก็ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ไปอยู่กับคุณปู่ที่บางแวก จังหวัดธนบุรี ตอนนั้นกรุงเทพฯ กับธนบุรียังไม่รวมกันเหมือนเดี๋ยวนี้ คุณปู่ของอาตมาชื่อหลวงธารา อาตมาก็ไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ตอนเย็นโรงเรียนเลิกก็ไปเรียนดีดสีตีเป่ากับครูจำนงค์ที่ในสวนหลังวัดโตนด”

          “ตอนนั้นหลวงพ่ออายุเท่าไรคะ”

          “ดูเหมือนจะสิบเจ็ดย่างสิบแปด ทีนี้อาตมาก็ต้องเดินผ่านวัดโตนดทุกเย็น ไปเรียนดนตรีสองชั่วโมง หกโมงเย็นเขาก็เอาเรือมารับที่หน้าวัด คุณปู่มีเรือส่วนตัว มีคนขับด้วยชื่อ นายแรม”

          “เหมือนกับที่คนสมัยนี้มีรถส่วนตัวใช่ไหมครับ” อุบาสกผู้หนึ่งถาม

          “คงอย่างนั้นกระมัง อาตมาก็บังเอิญไปรู้ความลับหลวงตาวัดโตนดเข้า แกเลยอาฆาตอาตมา”

          “หลวงพ่อรู้ความลับอะไรของท่านครับ”

          “อ้าว ถ้าบอกโยม มันก็ไม่เป็นความลับน่ะซี จะให้บอกหรือ”

          “หลวงพ่อไม่ต้องบอกก็ได้ค่ะ แต่พวกเราอยากทราบ” อุบาสิกาพูดง่ายแต่ฟังยาก

          “อยากทราบก็จะบอก เพราะไหน ๆ แกก็ตายไปแล้ว คือหลวงตาองค์ที่ว่านี้ แกกินยาฝิ่น แล้วก็ต่อนกเขา กินข้าวค่ำ ถ้าว่ากันตามพระวินัยแล้ว แกก็ไม่ใช่พระ เพราะถ้าเป็นพระคงไม่คิดฆ่าคน ต้องมีความเกรงใจในพระวินัยบ้าง”

          “แกฆ่าใครครับ” อุบาสกถามเห็นท่านพระครูใช้ “แก” กับหลวงตา เขาจึงถือโอกาสใช้บ้าง

          “ฆ่าอาตมานี่แหละ แกใจร้ายเหลือเกิน สั่งให้เด็กวัดมารุมซ้อมอาตมา ซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ที่ศาลาริมน้ำเพราะรอเรือมารับ อาตมายกมือไหว้ปะหลก ๆ ขอชีวิต พวกเด็กวัดทำท่าจะสงสาร แต่หลวงตาสั่งว่า “อย่าไปสงสารมัน ไอ้นี่มันร้ายกาจมาก ขืนปล่อยไปมันจะกลับมาเล่นงานพวกเอ็ง” พวกเด็กวัดเลยซ้อมอาตมาอีก อาตมาก็คิดจะกระโดดลงน้ำ จึงวิ่งไปที่แพ พวกมันก็วิ่งตาม หลวงตาเห็นว่า อาตมาคงจะหนีไปได้ เลยชักมีดออกมาส่งให้ลูกศิษย์สั่งว่า “เอาเลย แทงมันให้ตาย แล้วโยนลงน้ำไป”  อาตมากลัวมาก แล้วรู้สึกมีคนฉุดลงไปในน้ำ จากนั้นก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย”

          “คนที่ช่วยหลวงพ่อเป็นใครคะ”

          “เป็นหมอจีน อายุห้าสิบเศษ ชื่อ ลุงหมั่น แซ่ตั้ง เขาพายเรือผ่านมาเห็นเข้าพอดี เลยฉุดอาตมาลงเรือแล้วพายหลบเข้าไปในคลองบ้านอ้อย ถ้าไม่ได้ลุงหมั่นช่วย ป่านนี้ไม่รู้ว่าไปอยู่นรกขุมไหน เพราะตอนเด็ก ๆ ไม่เคยสร้างความดีเลย ยายก็สอนไปเถอะ สอนจนอ่อนใจก็ไม่ดีขึ้น ยายให้เอาอาหารไปถวายเพลพระที่วัด อาตมาก็เอาไปกินกับเด็กเลี้ยงควายที่กลางทุ่ง อาหารไม่เคยถึงพระเลย เพื่อนที่เลี้ยงควายมันก็บอกว่า “ให้แม่มันกินทำไมกันพระ อีกหน่อยก็สึกออกไปเป็นผัวใครก็ไม่รู้ มากินกันเองดีกว่า” อาตมาก็เชื่อเขากระทั่งวันหนึ่งถูกยายจับได้”

          “คุณยายท่านแอบสะกดรอยตามไปดูหรือคะ” อุบาสิกาที่เป็นครูถาม

          “เปล่า พออาตมาหิ้วปิ่นโตออกจากบ้าน ก็ไปกินกับเด็กเลี้ยงควายที่กลางนา กินเสร็จก็เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ล้างปิ่นโตเสียเอี่ยมอ่อง เพื่อทำลายหลักฐาน”

          “หลวงพ่อฉลาดรอบคอบดีจังนะครับ” อุบาสกชม

          “ไม่ฉลาดได้เรอะ มือชั้นนี้แล้ว” ท่านพูดยิ้ม ๆ

          “แต่ถึงจะฉลาดอย่างไรก็ถูกยายจับได้ เพราะพออาตมาเดินมาถึงบ้าน ยายก็ถามมาแต่ไกลว่า “ไอ้หนูถวายเพลเรียบร้อยแล้วหรือ” อาตมาก็ว่า “เรียบร้อยแล้วยาย” ยายก็ถามอีกว่า “แล้วรับพรมากหรือเปล่า” อาตมาก็โกหก “รับซียาย สมภารท่านให้พรมาเต็มปิ่นโตเลย” ยายบอก “ดีมาก ไอ้หนูทำดีมาก มารีบ ๆ ขึ้นมา ยายจะให้รางวัล” อาตมาก็ชักเอะใจเพราะยายไม่เคยพูดอย่างนี้ พอขึ้นพ้นหัวกระได ตายเลย สมภารนั่งอยู่บนบ้าน โอ้โฮยายตีซะหลังลายพร้อยเลย ตีต่อหน้าสมภารเสียด้วย แล้วก็สอนว่า “ทีหน้าทีหลัง อย่าทำอีก กินของพระ เอ็งจะเป็นเปรต รู้ไหม”

            “แล้วสมภารท่านไม่ห้ามหรือคะ” ครูสาวถาม

          “ท่านก็ห้ามเหมือนกัน แต่ยายบอก “ไม่ได้หรอกท่านสมภาร มันทำมาหลายหนแล้ว ถ้าไม่ตีเดี๋ยวมันจะบาป ต้องตีล้างบาปให้มันหน่อย” นี่ยายพูดอย่างนี้ แหม หน่อยของยายน่ะ เล่นเอาอาตมาหลังลายไปหลายวัน ตั้งแต่นั้นก็เลยเข็ด ที่เข็ดเพราะไม่อยากถูกตี ไม่ใช่ว่ากลัวจะเป็นเปรตหรอก เพราะอาตมาไม่เชื่อที่ยายพูด”

          “แล้วเพื่อน ๆ หลวงพ่อว่าอย่างไรครับ เวลาที่หลวงพ่อหิ้วปิ่นโตเดินผ่าน”

          “เขาก็ถามว่า “เฮ้ย ไอ้แกละ วันนี้ไม่กินเลี้ยงกันอีกหรือ” อาตมาบอกไม่ได้หรอก ต้องเอาไปถวายพระ เดี๋ยวยายตีหลังลาย ว่าแล้วก็เลิกเสื้อให้เขาดูหลัง

          “ตอนเด็ก ๆ หลวงพ่อชื่อแกละหรือคะ” อุบาสิกาวัยห้าสิบถาม

          “คืออาตมาไว้ผมแกละ ไว้ทั้งข้างซ้าย ข้างขวา แล้วก็ข้างหลัง เรียกว่าสามแกละเลย เพื่อน ๆ เขาก็เรียก “ไอ้แกละ” บ้าง “แกละ” เฉย ๆ บ้าง แต่ยายมักจะเรียก “ไอ้หนู” นอกจากโกรธเต็มที่ถึงจะเรียก “ไอ้แกละ” สมภารวัยห้าสิบอธิบาย

          “แสดงว่าหลวงพ่อค่อนข้างเกเรนะครับ ผมหมายถึงตอนที่หลวงพ่อเป็นเด็ก อุบาสกพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่ค่อนข้างหรอกโยม เรียกว่า ยอดเกเลยเชียวแหละ หาเรื่องให้ยายปวดหัวได้ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะเที่ยวไปมีเรื่องกับเขา “ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก” คือยี่ห้อของอาตมาละ” ท่านเล่าถึงวีรกรรมตอนเป็นเด็ก

          “แต่หลวงพ่อก็เรียนเก่งใช่ไหมครับ” อุบาสกพยายามหา “ความดี” ให้ท่านพระครู

          “เก่งหรือไม่เก่ง อาตมาก็เรียนมันทุกโรงเรียนเลยแหละ จังหวัดสิงห์บุรีมีโรงเรียนมัธยมอยู่ ๘ โรงเรียน อาตมาเรียนมาครบทุกแห่ง ๆ ละหนึ่งเดือนบ้าง สองเดือนบ้าง อย่างเก่งก็ไม่เกินหนึ่งปี พอเรียนครบ ๘ แห่งแล้ว ก็กะจะเรียนรอบสอง แต่ทางโรงเรียนเขารู้กิตติศัพท์ เลยไม่ยอมรับสักแห่ง ก็เลยต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ เรื่องของอาตมามันยาวนะโยม เล่าไปอีกสามวันก็ไม่จบ เอาละ อาตมาไม่เล่าแล้ว มาพูดถึงการปฏิบัติกันดีกว่า ไหนใครมีปัญหาอะไรก็ถามได้ ยังมีเวลาเหลืออีกประมาณสามสิบนาทีก่อนจะถึงเพล”

มีต่อ........๔๔
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 23, 2007, 08:05:57 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00044
๔๔...

            วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ท่านพระครูกลับจากงานเผาศพนางปั่นที่จังหวัดอ่างทอง ขณะที่รถแล่นมาตามถนนสายเอเชีย ใกล้ปากทางที่จะเข้าวัด พลันก็นึกได้ว่าเจ๊นวลศรีกำลังป่วยหนัก ควรจะต้องไปเยี่ยมเยียน ด้วยว่าวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้แกจะ “ไป” แล้ว “เห็นหนอ” บอกว่าแกจะไปสู่สุคติในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ เวลา ๐๔.๑๐ นาฬิกา

            “สมขายเดี๋ยวไม่ต้องเลี้ยวเข้าวัดนะ ฉันจะเข้าจังหวัดไปเยี่ยมเจ๊นวลศรีเขา” ท่านสั่งคนขับรถ

            “ป้านวลศรีแกไม่สบายหรือครับ เป็นอะไรครับ”

            “เป็นเนื้องอกในท้อง เห็นว่าอีกสามวันจะทิ้งร่าง ต้องไปดูเขาหน่อย”

            “จะตายแล้วหรือครับ เห็นอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี ไม่น่าตายเลย อายุก็ยังไม่มากนี่ครับ ดูเหมือนจะไม่ถึงหกสิบด้วยซ้ำ”

            “จะอ้วนหรือผอม อายุน้อยหรืออายุมาก เมื่อถึงคราวก็ต้องตายทั้งนั้นแหละ” ท่านพระครูว่า

            “แล้วมีไหมครับหลวงพ่อ มีประเภทที่ถึงคราวแล้วแต่ไม่ตาย หรือตายทั้งที่ยังไม่ถึงคราวอะไรเทือกนี้ มีไหมครับ” นายสมชายเริ่มเล่นลิ้น รู้สึกเหงาปากมานานเพราะพอขึ้นรถ ท่านก็ “นั่งหลับตา” เพิ่งจะมาเอ่ยปากพูดเมื่อตอนใกล้จะถึงทางเลี้ยวเข้าวัด พูดเพื่อจะบอกเขาว่าไม่ให้เลี้ยวเข้าวัดนั่นแหละ

            “มี ก็เธอยังไงล่ะที่ต้องตายทั้งที่ยังไม่ถึงคราว เพราะพูดมากปากมอม” คนเล่นลิ้นถูก “ด่า” เอาดื้อ ๆ

            “แหม เป็นพระคุณอย่างสูงเลยครับหลวงพ่อที่ให้พรผม” ท่านพระครูนิ่งไปสักยี่สิบนาทีเห็นจะได้ ต่อเมื่อรถเลี้ยวเข้าตัวจังหวัดแล้วจึงพูดขึ้นว่า “ใครว่าฉันให้พร ฉันด่าเธอตังหากล่ะ ฟังไม่ออกหรอกหรือ ความรู้สึกช้าจังนะ” นายสมชายรู้สึก “ทึ่ง” ที่ท่านอุตส่าห์ “ต่อเรื่อง” ได้ถูก จึงว่า

            “นั่นแหละครับ ผมถือว่าให้พร คนโบราณเขายังสอนไว้เลยว่า “ผู้หญิงด่าแปลว่าผู้หญิงรัก ผู้หญิงให้จวักแปลว่าเขากวักมือ”

            “แล้วถ้าผู้หญิงเรียก “นายกระบือ” ล่ะ”

            “ก็ต้องถือว่าเป็นความซวยครับ” ตอบโดยไม่ต้องคิด

            “เออ ดีมาก ระวังโน่นเลี้ยวซ้ายข้างหน้าโน่น อย่าขับเลยไปล่ะ”

            “ครับไม่เลยแน่ ทำไมป้าเขาไม่ไปอยู่โรงพยาบาลล่ะครับหลวงพ่อ ลูกหลานเขาไม่พาส่งโรงพยาบาลหรอกหรือ”

            “ส่งมาทุกโรงแล้ว แต่หมอเขาไม่รับ บอกว่าให้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน ลงเขาพูดอย่างนี้ก็แปลว่าไม่รอดแน่ เอาละ นั่นจอดหน้าตึกนั่น” นายสมชายทำตามคำสั่ง

            “บ้าน ของเจ๊นวลศรีเป็นตึกแถวสามชั้นสองคูหา ข้างล่างขายอาหาร ข้างบนเป็นพักอาศัย เมื่อท่านก้าวลงจากรถ บรรดาหลาน ๆ ของเจ๊นวลศรีก็เข้ามาต้อนรับ

            “นิมนต์หลวงพ่อจ้ะ แหมดีใจเหลือเกินที่อุตส่าห์มาเยี่ยม” นางสาวกิมเจ็งหลานสาวคนโตของเจ๊นวลศรีพูดอย่างยินดี

            “เจ๊นวลศรีเป็นอย่างไรบ้าง” ท่านถามถึงคนป่วย

            “ก็ทรง ๆ ทรุด ๆ ค่ะหลวงพ่อ นิมนต์ข้างบนเลยค่ะ อาม่าอยู่ข้างบน” หล่อนพูดพลางเดินนำไปที่บันได แล้วหลีกทางให้ท่านกับลูกศิษย์ขึ้นก่อน ท่านพระครูถอดรองเท้าแล้วจึงเดินขึ้นไปโดยมีนายสมชายเดินตามหลัง นางสาวกิมเจ็งสั่งน้องสาวให้ชงชาขึ้นมาถวาย

            นางเน้ยกำลังป้อนข้าวให้มารดา ครั้นเห็นท่านพระครูก็วางมือ บอกมารดาอย่างดีใจว่า “แม่” หลวงพ่อท่านมาเยี่ยมแน่ะ” เจ๊นวลศรียันกายลุกขึ้นนั่ง สองมือประนมแล้วกล่าวว่า

            นิมนต์จ้ะหลวงพ่อ เป็นพระคุณเหลือเกินที่อุตส่าห์มาเยี่ยม” นางสาวกิมเจ็งเห็นหมดธุระแล้วจึงลงมาข้างล่าง

            “ไม่ต้องลุกก็ได้เจ๊ นอนตามสบายเถอะ”

            “ไม่หรอกจ้ะ ฉันกลับบาป นอนคุยกับพระกับเจ้าฉันไม่เคยทำ “ คนป่วยว่า

            “หน้าตาสดชื่นดีนี่นา ยังกับคนปกติยังไงยังงั้น หรือโยมเน้ยว่ายังไง ท่านถามลูกสาวเจ๊นวลศรี

            “ฉันก็ว่าอย่างหลวงพ่อนั่นแหละ แม่แกเป็นคนไข้ที่น่ารักมาก ไม่จู้จี้กวนใจ แล้วก็ไม่เคยบ่นให้ลูกหลานฟังว่าเจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน นางเน้ยกล่าวชมมารดา

            “ก็ฉันเรียนฝึกสติมาจากหลวงพ่อนี่จ๊ะ ขืนเอะอะโดยวายก๊อเสียชื่อครูบาอาจารย์แย่เลย” คนป่วยพูดจ้อย ๆ

            “เจ๊จะตายเมื่อไหร่หรือ” ท่านถามเพื่อจะตรวจสอบว่าเจ๊นวลศรีรู้ตรงกับที่ท่าน “รู้” หรือไม่ นางเน้ยรู้สึกพิศวงที่คนเป็นพระกับคนเป็นแม่นั่งพูดเรื่องเป็นเรื่องตายกันหน้าตาเฉย หล่อนได้ยินมารดาตอบท่านพระครูว่า

          “วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล เวลาตีสี่กับสิบนาที” ท่านพระครูเชื่อแล้วว่าเจ๊นวลศรีได้ “เห็นหนอ” เพราะมันตรงกับที่ท่าน “รู้” ท่าน “เห็น” ทุกประการ นางเน้ยขออนุญาตลุกออกไป พอดีกับลูกสาวคนรองยกถาดน้ำชาขึ้นมา หล่อนจึงบอกลูกว่า “กิมฮวยไปหยิบยาแก้ปวดหัวมาให้แม่สองเม็ด เอาน้ำมาด้วย”

            “ใครจะกินล่ะแม่ อาม่าหรือ ก็หมอเขาให้ยามาแล้วไง” นางสาวกิมฮวยออกสงสัย

            “เออน่า ไปเอามาเถอะ แม่จะกินเอง”

            “แม่ปวดหัวเหรอ เอ ทุกทีไม่เห็นเป็นอะไร พอหลวงพ่อมากลับปวดหัว” ลูกสาวบ่น หล่อนบอกนายสมชายให้ช่วยประเคนน้ำชาท่านพระครู แล้วจึงลงไปหายาในตู้ยาชั้นล่าง

            ครู่หนึ่งนายฮิมก็ถือยาและแก้วน้ำขึ้นมา เขาเพิ่งกลับจากซื้อของที่กรุงเทพฯ รู้จากลูกสาวว่าภรรยาจะกินยาแก้ปวดศีรษะ จึงตามมาดูด้วยความเป็นห่วง ครั้นเห็นท่านพระครู จึงวางยาและแก้วน้ำลง แล้วกราบสามครั้ง

            “หลงพ่อมานานแล้วหรือครับ” เขาเอ่ยทัก ออกเสียง “หลวง” เพี้ยนเป็น “หลง”

            “สักครูเห็นจะได้ กำลังพูดกับโยมเน้ยอยู่ว่า เจ๊เขาหน้าตาไม่เหมือนคนป่วยเลยสักนิด” ท่านพูดกับลูกเขยเจ๊นวลศรี แม่ยายกับลูกเขยคู่นี้เกิดปีเดียวกัน แต่คนเป็นแม่ยายอ่อนเดือนกว่า สามีของเจ๊นวลศรีซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อสองปีที่แล้วก็เกิดปีเดียวกับแม่ยาย เจ๊เคยเล่าให้ท่านพระครูฟังอย่างนี้ และท่านก็สรุปในใจว่า “สงสัยจะเป็นกรรมพันธุ์”

            “เห็นลูกมันว่าลื้อจะกินยาแก้ปวดหัว” นายฮิมถามภรรยาพลางหยิบยาและแก้วน้ำส่งให้ กระบวนรักภรรยาไม่มีใครเกิน “เถ้าแก่ฮิม”

            “ใช่ ฉันฟังแม่กับหลวงพ่อคุยกันแล้วปวดหัวพิลึก” ภรรยาวัยสี่สิบพอดิบพอดีบอกสามีวัยห้าสิบเก้า พลางรับยาและน้ำจากสามี ยานั้นบรรจุมาในขวดฝาเกลียว มีสำลีปิดที่ปากขวดกันชื้น นางเน้ยเปิดฝาขวดแล้วหยิบยาขึ้นมาสองเม็ด หากท่านพระครูห้ามไว้

            “อย่ากินเลยโยม ยานั้นจะกินก็ต่อเมื่อมันจำเป็น นี่อาตมายังไม่เห็นจำเป็นที่โยมจะต้องกิน เอาเถอะตั้งใจฟังต่อไปแล้วก็จะหายปวดหัว เชื่ออาตมาเถอะ”

            “หลงพ่อคุยอะไรกับแม่หรือครับ ถึงทำให้อาเน้ยเขาปวดหัว” คนอายุแก่เดือนกว่าแม่ยายถาม

            “ไม่มีอะไรมากหรอกเถ้าแก่ อาตมาเพียงแต่ถามเจ๊ว่าจะไปวันไหน จะตรงกับที่อาตมาคิดไว้หรือเปล่าเท่านั้นแหละ”

            “แล้วตรงไหมครับ”

            “ตรงเผงเลยแหละเถ้าแก่ เจ๊เขาเก่งจริง ๆ นี่แหละคนที่ปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง สามารถรู้วันตายของตัวเองได้ เถ้าแก่ว่าดีไหมล่ะ เถ้าแก่เตรียมบอกลูกหลานให้ตัดชุดกงเต็กได้แล้ว อีกสามวันเจ๊เขาไปแน่” แล้วถามคนป่วยว่า

            “ถามจริง ๆ เถอะเจ๊ พอรู้ว่าจะต้องตายนี่กลัวบ้างไหม นึกเสียดายชีวิตบ้างไหม”

            “ตอบจริง ๆ ก็ต้องบอกว่าไม่กลัว ฉันไม่กลัวเลยจ๊ะหลวงพ่อ ก็ในเมื่อฉันเห็นกฎแห่งกรรมของตัวเองแล้ว ว่าจะต้องตายในวันนั้น ฉันก็ทำใจได้ ไม่รู้สึกกลัวหรือโศกเศร้าเสียดายชีวิตแต่อย่างใด คงเป็นเพราะฉันปฏิบัติกรรมฐานกระมังถึงได้ไม่กลัวตาย”

            “ถูกแล้วเจ๊ คนที่ปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง จนประสบผลสำเร็จ สามารถเห็นกฎแห่งกรรมของตัวเองได้ เขาจะไม่กลัวตาย ส่วนคนที่ปฏิบัติจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ ไม่เอาจริงเอาจังก็ยังกลัวตายอยู่ เพราะยังไม่เห็นกฎแห่งกรรม อาตมาขอชมเชยเจ๊ที่มีความเพียรจนกระทั่งประสบความสำเร็จ รู้สึกว่าเจ๊สติดีมาก สามารถข่มทุกขเวทนาไว้ได้ อาตมารู้ว่าเจ๊ก็เจ็บก็ปวด เช่นเดียวกับคนป่วยทั่ว ๆ ไป แต่ผิดกันตรงที่เจ๊สามารถเอาสติข่มเวทนาไว้ได้ อันนี้อาตมาขอชมเชยจากใจจริง เจ๊เป็นลูกศิษย์ที่อาตมาภาคภูมิใจมากที่สุด” ท่านชมเสียยืดยาว และเจ๊นวลศรีก็ปลาบปลื้มจนแทบจะหายป่วยเลยทีเดียว

            “อาเน้ย ป๋าก็รู้สึกปวดหัวแล้วเหมือนกัน เรามากินยาคนละสองเม็ดดีไหม” นายฮิมพูดกับลูกสาวคนเดียวของแม่ยายเป็นเชิงปรึกษา

            “ก็ฉันบอกตั้งแต่แรกแล้ว” นางเน้ยว่า

            “นี่เอ็งสองคนอย่ามาพูดจากวนประสาทข้านะ” เจ๊นวลศรีผู้ซึ่งเป็นคนไทยเต็มตัวว่าลูกสาวที่เป็นคนไทยครึ่งตัว เพราะมีเตียเป็นจีน ส่วนลูกเขยคนดีของเจ๊นั้นเป็น “จีงล้อยปูเซ็ง”

            “เจ๊อย่าเพิ่งว่าโยมเน้ยกะเถ้าแก่เขาเลย เอาไว้อาตมาจะเป็นคนว่าให้เอง” ท่านพระครูอาสาแล้วพูดกับสอบผัวเมียว่า

            “ที่อาตมาคุยกับเจ๊เขานี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระนะโยม แต่จะอธิบายด้วยคำพูดมันก็ไม่ค่อยจะเหมาะ ประเดี๋ยวโยมสองคนก็จะพากันปวดหัวอีก เอาอย่างนี้ถ้าอยากรู้จริง ๆ ก็ต้องไปเข้ากรรมฐานที่วัดอาตมาสักเจ็ดวันแล้วก็จะเข้าใจเรื่องที่อาตมาคุยกับเจ๊โดยไม่ต้องปวดหัว”

            “ไม่มีเวลาครับ”

            “ไม่มีเวลาจ้ะ” สองผัวเมียตอบพร้อมกัน เจ๊นวลศรีจึงว่า “หลวงพ่ออย่าชวนเขาให้ยากเลย ฉันน่ะปลงเสียแล้ว “อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า” เลยจ้ะหลวงพ่อ” คนป่วยว่าเป็นคำกลอน

            “เอาไว้ว่าง ๆ แล้วผมค่อยไปนะครับหลงพ่อ” นายฮิมพยายามประนีประนอม อย่างน้อยก็เห็นแก่ท่านพระครู

            “ถ้าเถ้าแก่รอให้ว่าง รับรองว่าไม่ได้ไป เพราะเถ้าแก่จะหาเวลาว่างไม่ได้เลยในชีวิตนี้” แล้วท่านจึงเล่าเรื่องของนายสนธนาให้นายฮิมและนางเน้ยฟัง เถ้าแก่วัยห้าสิบเก้าเชื่อแต่ก็ผลัดว่า

            “ถ้าอย่างนั้นผมรอให้เสร็จงานแม่เขาก่อน”

            “โอ๊ย ไม่ต้องเอาข้ามาบังหน้าหร็อก จะไปก็ไปเลย เรื่องศพข้าก็ไม่ต้องห่วง ข้าบอกนังเน้ยมันไว้แล้ว ขอเผาที่วัดหลวงพ่อแล้วกันนะจ๊ะ ทั้งเผาทั้งสวดเลยเพราะไม่ไกลจากบ้านเท่าไหร่ ฉันจะสั่งลูกหลานให้เรียบร้อย” เจ๊นวลศรีว่าลูกเขย แล้วก็หันมาพูดกับท่านพระครู

            “จะสวดซักกี่คืนล่ะเจ๊”

            “สามคืนก็พอ ตายวันสิบค่ำ เผาสิบสามค่ำ หลวงพ่อมาก็ดีแล้ว ฉันขอจองวัดจองเมรุเลย” คนจะตายสั่งการ

            นางเน้ยเอามือกุมขมับ ไม่เคยพบเคยเห็น มีอย่างที่ไหน รู้วันตายของตัวเอง แถมสั่งงานเรื่องทำศพไว้เสร็จสรรพ ท่านพระครูก็ช่างกระไรเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย คนเข้าวัดนี่มีอะไรเพี้ยน ๆ แบบนี้ทุกคนหรือเปล่านะ

            ท่านพระครูหยิบสมุดบันทึกออกมาจากย่าม เปิดหน้าที่ตรงกับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ บันทึกว่า “เจ๊นวลศรีตาย เมื่อเวลา ๐๔.๑๐ น. สวดพระอภิธรรมที่วัดนี้ วันที่ ๑๗-๑๘-๑๙ เวลา ๑๙.๐๐ น.”  แล้วเปิดไปหน้าที่ตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ บันทึกว่า “เวลา ๑๗.๐๐ น. ฌาปนกิจศพเจ๊นวลศรีที่วัดนี้”

            “เอาละ เสร็จธุระแล้วอาตมาเห็นจะต้องลา ขอให้ไปสบาย ๆ นะเจ๊ เรื่องศพไม่ต้องห่วง อาตมาจะจัดการให้เรียบร้อย ในอดีตกาลที่ผ่านมา ถ้าอาตมาทำอะไร พูดอะไรแล้วทำให้เจ๊ไม่พอใจ อาตมาก็ต้องขออโหสิกรรมจากเจ๊ด้วย”

            “เช่นเดียวกันจ้ะหลวงพ่อ ถ้าฉันล่วงเกินอะไรหลวงพ่อเอาไว้ ด้วย กาย วาจา ใจ ก็ดี ฉันขออโหสิกรรมจากหลวงพ่อด้วย”

            “เอาละ อาตมาอโหสิให้ แล้วก็ถือโอกาสอำลาเลย” ท่านหันมาพูดกับนายฮิมว่า

            “เถ้าแก่จะไปกับอาตมาวันนี้เลยไหมเล่า”

            “ยังหรอกครับหลงพ่อ เอาไว้ให้อะไร ๆ มันเข้าที่เสียก่อน ขอบคุณหลงพ่อมากครับที่ชวน” เขาตอบและลุกขึ้นเตรียมมาส่งท่าน นายสมชายลุกตามท่านพระครูและนายฮิมลงไป ก่อนขึ้นรถท่านยังหันมาพูดกับเขาว่า

            “อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานนะเถ้าแก่ อยากให้รีบ ๆ หน่อย อาตมาสังเกตดูรู้สึกว่าน้ำมันใกล้จะหมดแล้ว” ท่านเตือนเป็นนัย ๆ

            “น้ำมันอะไรครับหลงพ่อ ถ้าน้ำมันรถมีปั๊มตรงทางจะออกไปถนนสายเอเชียนะครับ” นายฮิมคิดว่าท่านหมายถึงน้ำมันรถยนต์ เขาควักกระเป๋ากางเกงหยิบธนบัตรใบละร้อยส่งให้นายสมชายพูดว่า

            “เอ้า สมชายช่วยเติมน้ำมันให้หลงพ่อด้วย”

            “ไม่ต้องหรอกครับเถ้าแก่ ผมเติมมาเต็มแล้ว” ลูกศิษย์วัดบอก

            “ก็หลงพ่อบอกน้ำมันใกล้จะหมด”

            “อาตมาไม่ได้หมายถึงน้ำมันรถ แต่หมายถึงน้ำมันของเถ้าแก่น่ะใกล้จะหมดแล้วนะต้องรีบเติมซะ คืออาตมาเปรียบเทียบให้เถ้าแก่ฟังว่า บุญกุศลที่เราทำมานั้นเปรียบเสมือนน้ำมันรถ ถ้ามีมากรถก็วิ่งได้นาน ถ้าหมดรถก็จอด เหมือนคนเราถ้าบุญหมดเมื่อไหร่ก็ต้องตายเมื่อนั้น อาตมาจึงเตือนเถ้าแก่ไว้ว่าบุญกุศลที่เถ้าแก่ทำมานั้นใกล้จะหมดแล้ว ต้องรีบสร้างเพิ่ม จึงได้ชวยไปเข้ากรรมฐานยังไงล่ะ” พอเข้าใจที่ท่านพูด นายฮิมถึงกับใจหายวาบ รู้สึก “จิตตก” ทันที เขาบอกท่านเสียงค่อนข้างสั่นว่า

            “ครับหลงพ่อ ผมเองก็รู้สึกสังหรณ์ใจยังไงพิกล ใจก็อยากไปอยู่วัดอย่างที่หลงพ่อบอก แต่ก็ห่วงอาเน้ยเขา ลูกห้าคนก็เป็นผู้หญิงหมด ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้าน” คนมีห่วงผูกคอพูดน่าสงสาร

            ท่านพระครูรู้แน่ว่าถึงอย่างไร เขาก็ไม่ยอมไปเพราะ “กรรม” นั้นหนักหน่วงนัก จึงช่วยเท่าที่พอจะช่วยได้ เมื่อเขามีอันต้อง “ไป” ก็อยากให้เขาไปดี จึงแนะแนวการปฏิบัติว่า “เมื่อไม่มีเวลาจริง ๆ อาตมาก็ไม่ว่าอะไร ขอให้หมั่นสวดมนต์แผ่เมตตาอโหสิกรรมให้กับเจ้ากรรมนายเวรนะเถ้าแก่นะ ทำได้ไหมเล่า แผ่นปลิวบทสวดมนต์ที่อาตมาเคยให้เจ๊เขามานั่นแหละ ไปขอยืมเขามาสวดให้ได้ทุกคืน ต้องทำให้ได้นะ”

            “ครับ ถ้าไม่ต้องไปอยู่วัดละก็ผมทำได้ สวดมนต์อยู่ที่บ้านก็ได้” เขารับคำหนักแน่น จากนั้นท่านพระครูจึงลาเจ้าของบ้านกลับวัด

          นายสมชายนำรถตู้สีครีมมาจอดที่หลังกุฏิเมื่อเวลาทุ่มเศษ เปิดประตูให้ท่านพระครูลงเรียบร้อยแล้ว จึงถอยเข้าไปเก็บในโรงรถ นายขุนทองเดินออกมารับหน้าพร้อมรายงานเสียงจ๋อย ๆ

          “หลวงลุงฮะ วันนี้หนูถูกพวกแขกรุมด่าใหญ่เลยฮะ” พูดพร้อมกับรับย่ามมาถือในลักษณะ “อุ้ม” เดินตามท่านไปยังกุฏิ

          “เอ็งไปทำอะไรให้เขาด่าล่ะ” ท่านย้อนถาม

          “ก็หนูบอกว่าวันนี้หลวงลุงงดรับแขก เพราะท่านเดินทางไปเผาศพที่อ่างทองตั้งแต่บ่ายโมง เขาก็พากันพูดไม่ดี หาว่าหลวงลุงเป็นพระเป็นเจ้าไม่รู้จักอยู่วัด หนูก็เถียงแทนว่าทีหลวงลุงอยู่ทำไม่เขาไม่มา คนสมัยนี้เห็นแก่ตัวจังเลยนะฮะ พอไม่ได้ดังใจก็พากันว่าแม้กระทั่งพระกระทั่งเจ้า เขาหาว่าอุตส่าห์ขับรถเสียน้ำมูกน้ำมันมา ท่านก็ไม่อยู่ให้พบ โอ๊ยสารพัดสารเพจะว่า หนูเห็นแล้วปลงอนิจจัง”

            “ขนาดปลงก็ยังอุตส่าห์ไปทะเลาะกับเขา เอ็งนี่มันใช้ไม่ได้เลยนะเจ้าขุนทอง” ท่านตำหนิหลานชาย

          “ก็เขาอยากมาว่าหลวงลุงทำไมล่ะ”

          “ก็ในเมื่อเขาว่าข้าแล้วเอ็งมาเดือดร้อนอะไรด้วยล่ะ ข้าเองยังไม่เดือดร้อนเลย ทำไมเอ็งถึงต้องเดือดร้อนหือเจ้าขุนทอง”

          “หนูก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมหลวงลุงถึงไม่รู้สึกเจ็บแค้นเสียบ้าง ปล่อยให้เขาว่าอยู่ได้” หลานชายกระเง้ากระงอด

          “นี่นะเจ้าขุนทอง ข้าจะเปรียบเทียบให้เอ็งฟังสักเรื่องนึง สมมุติว่าเอ็งไปบ้านคนอื่นเขา พอขึ้นเรือนปุ๊บเขาก็ยกสำรับกับข้าวมาเลี้ยงเอ็ง บังเอิญเอ็งเพิ่งอิ่มมาจากบ้าน เอ็งก็เลยไม่กิน พอเอ็งกลับ อยากถามหน่อยว่าสำรับกับข้าวนั้นจะตกเป็นของใคร”

          “ก็ตกเป็นของเจ้าของบ้านซีหลวงลุง ไม่น่าถาม”

          “นั่นแหละ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ ถ้ามีคนเขามาด่าเอ็งแล้วเอ็งไม่รับ คำด่าเหล่านั้นมันก็ตกอยู่กับคนที่ด่าจริงไหม จำไว้นะทีนี้อย่าไปรับคำด่าของใคร แล้วก็ไม่ต้องเอามาบอกข้า ข้าไม่อยากฟัง มาเหนื่อย ๆ อย่าหาเรื่องกวนใจมาให้ จำไว้” คราวนี้นายขุนทองไม่เถียง เมื่อขึ้นมาถึงกุฏิชั้นบนก็เอาย่ามวางไว้ข้างที่นอนของท่านแล้วจึงลงมาข้างล่าง เข้าห้องใส่กลอนแล้วล้มตัวลงนอน พอหัวถึงหมอนก็หลับปุ๋ยโดยไม่ยอมสวดมนต์ไหว้พระเสียก่อน ก็วันนี้เขาเหนื่อยกว่าทุกวัน “ออกแรง” ทะเลาะกับแขกหนักหน่วงไปหน่อย

          ท่านพระครูสรงน้ำเสร็จก็เตรียมจะเขียนหนังสือต่อ ยังไม่ทันลงมือเขียน นายสมชายก็มารายงานว่า

          “หลวงพ่อครับ คุณนายราศีมาขอพบครับ นั่งรออยู่ข้างล่าง ผมบอกจะพาไปหาที่พักแล้วพรุ่งนี้ค่อยมาหาหลวงพ่อ แกก็ไม่ยอม บอกว่ามีเรื่องด่วนมาก”

          “เรื่องอะไร เขาบอกเธอหรือเปล่า”

          “เขาว่าเขาจะมาลาตายครับ สงสัยคงเพี้ยนหนัก” ลูกศิษย์วัดตอบพร้อมประเมินผลเสร็จ ท่านพระครูรู้ได้ในทันที่ว่านั่นมิใช่ “ร่าง” ที่แท้จริงของคุณนายราศี ที่สมชายเห็นนั้นคือ “เจตภูต” จึงตอบไปว่า

          “เอาละ งั้นฉันจะลงไปเดี๋ยวนี้แหละ” แล้วท่านก็ลงมาข้างล่าง นายสมชายเดินตามมาติด ๆ คุณนายราศีเห็นท่านพระครูก็ร้องห่มร้องไห้ “เจตภูตร้องไห้ก็เป็นด้วย” ท่านพระครูคิดในใจ แล้วพูดเสียงเบาเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์วัดได้ยินว่า

          “เจริญพร คุณนายมีธุระด่วนใช่ไหมถึงได้มามืด ๆ ค่ำ ๆ”

          “ค่ะ หลวงพ่อ หนูจะมากราบขอขมาแล้วก็จะลาหลวงพ่อด้วยค่ะ” เจตภูตรายงานเสียงเบาเช่นกัน

          “ขอขมาเรื่องอะไร แล้วก็จะลาไปไหนหรือ”

          “หนูมากราบขอขมาลาโทษที่ได้แสดงกิริยาที่ไม่งดงามที่กุฏิหลวงพ่อเมื่อวันขึ้นปีใหม่ แล้วก็มาลาไปปรโลกค่ะ พรุ่งนี้เวลาสองทุ่มตรง หนูจะถูกยิงตาย”

          “ใครยิง”

          “เมียน้อยของนายประวิทย์ คนที่เคยมาเข้ากรรมฐานกับหนูน่ะค่ะหลวงพ่อ เข้าจ้างมือปืนมายิง”

          “เขาจะยิงทำไม่ล่ะ คนเคยเข้ากรรมฐานมาแล้วทำไมยังมีจิตใจโหดร้ายถึงปานนั้น แล้วทำไมคุณนายไม่แจ้งความไว้เสียล่ะ” ถามเพื่อ “ประเมินผล” การปฏิบัติธรรมของคุณนายราศี

          “ไม่หรอกค่ะหลวงพ่อ มันเป็นกฎแห่งกรรม เมื่อชาติที่แล้วหนูฆ่าเขาไว้ นี่ถ้าหนูไม่มาเข้ากรรมฐานก็คงไม่รู้แล้วก็คงจะต้องจองเวรจองกรรมกันต่อไป เขาอยากจะเป็นคุณหญิงคะหลวงพ่อ เมื่อหนูตาย เขาคงคิดว่าจะได้ขึ้นเป็นคุณหญิง”

            “ไม่ได้เป็นหรอก คนจิตใจโหดร้ายอย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้เป็นคุณหญิงแน่ ไม่น่าเลย แสดงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้เข้าไปชำระล้างจิตใจเขาเลย มาปฏิบัติเสียเวลาเปล่า”

          “ก็เขาไม่ได้ตั้งใจมาปฏิบัตินี่คะหลวงพ่อ ตั้งใจมาหาผัวต่างหาก พวกสาวแก่เข้าวัดก็ไม่มีอะไรหรอก มาเพื่อหาผัว” เจตภูตพูดอย่างดูแคลน ท่านพระครูจึงห้ามว่า

          “ช่างเขาเถอะคุณนาย อย่าไปว่าเหมารวมอย่างนั้น คนที่เขาไม่ได้คิดอกุศลอย่างที่ว่าก็มี เอาเถอะที่ขออโหสิอาตมาอโหสิให้ ส่วนเรื่องมาลาก็ขออวยพรให้ไปดี แล้วอาตมาจะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ”

          “ถ้าอย่างนั้นหนูขอกราบลาค่ะ ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้เมตตาให้หนูรู้ดีรู้ชั่ว ทำให้หนูสามารถตัดภพตัดชาติให้สั้นเข้า หนูลาล่ะค่ะ” คุณนายราศีลุกออกไปแล้ว นายสมชายตั้งท่าจะไปส่ง หากท่านพระครูห้ามไว้ และบอกเขาว่านั้นเป็นเจตภูต ลูกศิษย์วัดจึงปิดประตูกุฏิเพื่อเตรียมเข้านอน ท่านพระครูเดินขึ้นข้างบน ตั้งใจว่าจะจดบันทึกเรื่องนี้ไว้เป็นหลักฐาน....

 

มีต่อ........๔๕
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 23, 2007, 08:06:38 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00045
๔๕...

          ท่านพระครูฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว นายขุนทองกับนายสมชายก็ช่วยกันยกสำรับกับข้าวลงมารับประทานกันที่กุฏิชั้นล่าง กำลังทานกันอยู่ เด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็นำหนังสือพิมพ์รายวันมาส่งให้ นายสมชายเห็นหัวข้อข่าวและภาพถ่ายในหน้าหนึ่งแล้วก็มีอันทานข้าวไม่ลง

          “ยิงอาจารย์นักเรียนนอกดับคารถเก๋ง” ภาพสตรีวัยสี่สิบที่นอนพับคาพวงมาลัย ข้างล่างมีภาพถ่ายเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นหน้าชัดเจน บอกชื่อและนามสกุลไว้ชัดแจ้ง เขาอ่านข่าวนั้นแล้วถือหนังสือพิมพ์วิ่งขึ้นไปหาท่านพระครู

          “หลวงพ่อครับ คุณนายราศีถูกยิงตายเสียแล้วละครับ” พูดพร้อมกับส่งหนังสือพิมพ์รายวันฉบับประจำวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ให้

          “ไม่ต้องหรอกสมชาย ฉันรู้แล้วถูกยิงตอนสองทุ่มเมื่อคืนนี้ใช่ไหมล่ะ เขาบอกฉันเมื่อคืนก่อน”

          “ที่แกว่ามาลาตายนั้นมันก็เรื่องจริงซีครับหลวงพ่อ ผมนึกว่าแกเพี้ยนซะอีก แล้วแกรู้ไหมครับว่าใครยิงแก เพราะในข่าวยังไม่รู้ตัวคนยิง”

          “รู้ซี ฉันก็รู้”

          “ทำไมแกไม่ไปแจ้งความไว้ก่อนล่ะครับ แล้วหลวงพ่อจะไปให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์หรือเปล่า” “ลูกคุณช่างซัก” ถามอย่างอยากรู้

          “ก็คนถูกยิงแท้ ๆ เขายังไม่ยอมแจ้ง แล้วฉันจะไปวุ่นวายทำไม มันเป็นเรื่องของกรรมน่ะสมชาย ไป ลงไปทำงานต่อได้แล้ว ฉันไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ ที่ต้องรับทุกวันก็เพื่อเอาไว้ให้พวกเธอและแขกอ่าน” เมื่อท่านไม่สนใจ ไม่ตื่นเต้นกับข่าวนั้น นายสมชายจึงลงมาวิพากษ์วิจารณ์กับนายขุนทองที่กุฏิชั้นล่าง

          “มีอะไรตื่นเต้นหรือพี่ ถึงต้องวิ่งขึ้นไปหาหลวงลุง” นายขุนทองถามตัวเขาก็อยากรู้ ทว่าห่วงกินมากกว่า กินกับนอนต้องมาก่อนเสมอ

          “แล้วจะกินข้าวต่อไหมนี่ ไม่กินหนูจะได้เก็บ”

          “อยากเก็บก็เก็บได้เลย ข้ากินไม่ลงแล้ว นี่เอ็งดูผู้หญิงคนนี้ซี เขามาบอกหลวงพ่อเมื่อคืนก่อนว่าจะถูกยิงตาย แล้วเขาก็ถูกยิงตายจริง ๆ ตายเมื่อคืนนี้ตอนสองทุ่ม”

          “อ้าว มาหาหลวงลุงแล้วทำไมหนูไม่เห็นล่ะ”

          “ก็เอ็งเอาแต่นอน จะรู้นะรู้โมอะไร้ เขามาตอนเอ็งหลับปุ๋ยไปแล้วน่ะ” ลูกศิษย์วัดแถลงไข

          “แล้วพี่ให้เขาพบหลวงลุงหรือเปล่า ละเมิดกฎอีกตามเคยล่ะซี” คนเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ว่า

          “ถึงไม่ให้พบ เขาก็ต้องไปพบจนได้แหละน่า หลวงพ่อบอกว่าเขามาแบบ “เจตภูต” คนมาวัยกว่าอธิยาย

          “อีกแล้วเหรอ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีคนแก่คนนึงมาแบบเดียวกันนี้ หลวงลุงก็บอกว่าเป็นเจตภูตเหมือนกัน”

          “งั้นหรือ แล้วทำไมข้าไม่เห็นล่ะ” นายสมชายเป็นฝ่ายถามบ้าง นายขุนทองได้โอกาสแก้เค้นจึงว่า

          “ก็พี่มัวไปจีบสาวซะน่ะซี ตอนพี่กลับมาน่ะแกไปแล้ว หนูอุตส่าห์เดินตามจะไปต่อว่าที่แกละเมิดกฎ ปรากฏว่าตามแกไม่ทัน ตอนหลังถึงได้รู้ว่าแกมาแบบเจตภูต หลวงลุงเป็นคนบอก”

          “แล้วเอ็งว่ามันประหลาดไหมล่ะที่วิญญาณออกจาร่างได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย ข้านึกว่าต้องตายเสียก่อนถึงจะออกได้ ที่วัดนี้มีอะไรแปลก ๆ นะ ไม่รู้วัดอื่นเขาเป็นยังงี้บ้างหรือเปล่า”

          “พี่ก็ลองไปอยู่วัดอื่นดูซี ไม่งั้นก็ไม่รู้”

          “อ้อ นี่คิดจะไล่ข้าเหรอ แล้วเอ็งขับรถให้หลวงพ่อได้ว่างั้นเถอะ” ลูกศิษย์วัดคิดไปอีกทาง

          “เปล่านี่ ก็พี่อยากรู้ก็ต้องลอง ไม่ลองก็ไม่รู้ หนูไม่ได้คิดจะไล่พี่เล้ยให้ตายซี พี่ไปแล้วใคร้จะมาเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของหนู” นายขุนทองพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน

          “แต่ข้าอยากรู้โดยไม่ต้องลองนี่นา” นายสมชายว่า

          “ถ้าอย่างนั้นหนูก็ไม่รู้จะแนะนำยังไง หรือพี่ว่าหนูควรจะแนะนำพี่ยังไงก็กรุณาแนะนำหนูด้วย นึกว่าเอาบุญเถอะนะพี่นะ”

          “นี่หยุด หยุดได้แล้วขุนทอง เอ็งยิ่งพูดก็ยิ่งวกวนจนข้าชักจะเวียนหัวแล้วนะ” นายสมชายพูดอย่างอดรนทนไม่ได้”

          “เวียนหัวเหรอ เดี๋ยวรอเดี๋ยวหนูจะไปละลายยาลมมาให้” ยังไม่ทันที่นายสมชายจะออกปากห้าม นายขุนทองก็หายเข้าไปในห้อง ครู่หนึ่งก็ถือถ้วยยาลมอกมาส่งให้ลูกศิษย์วัด

          “เอ้า ดื่มซะจะได้หายเวียนหัว” นายสมชายไม่รับถ้วยยา หากใช้มือทั้งสองกุมขมับ พูดว่า

          “ขุนทอง ข้าขอร้องเถิดนะ เอ็งอย่ายั่วข้าเลย ไป เก็บสำรับไปล้างแล้วกวาดถูกุฏิให้เรียบร้อย ส่วนข้าจะไปล้างรถ พรุ่งนี้หลวงพ่อจะไปจันทบุรีแต่เช้ามืด”

          “ให้หนูไปด้วยคนได้ไหม เดี๋ยวหนูจะขึ้นไปขออนุญาตหลวงลุง” นายขุนทองว่าเพราะอยากไปเปิดหูเปิดตากับเขาบ้าง”

            “คงไม่ได้มั้ง เอ็งต้องอยู่ดูแลเรื่องงานศพ พรุ่งนี้จะมีคนเอาศพมาสวดอภิธรรมตอนทุ่ม” เขาหมายถึงศพเจ๊นวลศรี

          “ศพใคร แล้วทำไมพี่ถึงรู้ล่ะ”

          “ก็เมื่อวันก่อนข้าไปเยี่ยมเขา เขาบอกว่าพรุ่งนี้ตอนตีสี่สิบนาทีเขาจะตาย ตอนเย็นจะให้ลูกหลานเอาศพมาไว้ที่นี่”

          “ใครหนอ หนูรู้จักมั้ย”

          “ป้านวลศรีที่ขายอาหารอยู่ในตัวเมืองจังหวัดน่ะ ดูเหมือนจะชื่อร้าน “เน้ยโภชนา” ข้าไม่รู้หรอกว่าเอ็งรู้จักเขาหรือเปล่า”

            “อ๋อเหรอ เอ หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหนูรู้จักหรือเปล่า” นายขุนทองล้อเลียน

          “นี่พอที พอที ข้าถามอะไรซักอย่างเถอะนะขุนทอง”

          “พี่จะถามอะไรก็ถามมาเล้ย”

          “ข้าอยากถามว่าเอ็งเคยไหมที่อยู่ดี ๆ ก็ฟันร่วงสองซี่น่ะเคยไหม”

          “อุ๊ย ถามหวาดเสียว ไม่เคยหรอกฮ่ะ เคยแต่ทำให้ฟันคนอื่นร่วงน่ะ พี่จะลองไหม ลองไหม” นายสมชายไม่ตอบหากเดินไปที่โรงรถเพื่อทำหน้าที่ ขืนคุยกับเจ้าหนุ่มที่ชื่อขุนทองนานกว่านี้อาจจะยั้งโทสะไม่ไหว ก็มันกวนโทสะเสียเหลือเกิน เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น

          วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ท่านพระครูออกจากวัดป่ามะม่วงตั้งแต่ตีสี่ เข้ามาในรถแล้วก็ “นั่งหลับตา” ทันที นายสมชายรู้สึกเหงาปากเพราะไม่มีคนคุยด้วย เขาขับรถอย่างตั้งใจ หากขับไปได้ชั่วโมงเศษ ๆ ก็รู้สึกง่วงเพราะเมื่อคืนกลับจาก “บ้านเหนือ” ดึกไปหน่อย ชายหนุ่มชะลอความเร็วลง ใช้ฟันขบริมฝีปากล่างจนรู้สึกเจ็บหากก็ยังไม่หายง่วง รถกำลังวิ่งอยู่บนถนนสายเอเชีย ใกล้ปากทางที่จะแยกเข้าถนนพหลโยธิน คิดจะขออนุญาตจอดรถงีบสักประเดี๋ยวก็พอดีกับท่านพระครูพูดขึ้นว่า

          “เข้าพหลโยธินแล้วจอดข้างทาง อนุญาตให้หลับสิบนาที” ชายหนุ่มปฏิบัติตามอย่างแสนจะยินดี เวลาง่วงแล้วไม่ได้นอนนั้นมันทรมานอย่าบอกใคร ท่านพระครูก็ช่างรู้ใจหาใครเหมือน “แสนดีมีเมตตาอย่างนี้ สามชายขอรับใช้ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่เลยแหละครับหลวงพ่อ” เขาแอบขอบคุณในใจ ครั้นจะพูดออกมาก็กลัวจะหายง่วง ก็ในเมื่อท่านอนุญาตให้งีบ มาหายง่วงเสียก็หมดสนุกกัน

          เข้าถนนพหลโยธินแล้วนายสมชายก็แอบรถไว้ข้างทาง เปิดไฟฉุกเฉินเอาไว้แล้วเอนกายพิงพนักเก้าอี้ หลับปุ๋ยไปในทันที เขาไม่ห่วงว่าจะหลับเกินเวลาที่กำหนด เพราะเมื่อถึงเวลา ท่านพระครูก็จะปลุกเองโดยที่ท่านไม่ต้องดูนาฬิกา ท่านเคยพูดให้เขาฟังบ่อย ๆ ว่า ผู้ที่ฝึกสติไว้ดีแล้วสามารถใช้สติแทนนาฬิกาปลุกได้

            รถวิ่งเข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อเวลาเก้านาฬิกาสี่สิบนาที หากไม่เสียเวลาจอดข้างทางก็จะถึงเก้าโมงครึ่งพอดิบพอดีตามที่ท่านพระครูกำหนดไว้

          “สมชายเดี๋ยวแวะที่ร้านอาหารข้างหน้านั่น หิวหรือยัง” ถามอย่างอาทร

          “นิดหน่อยครับ เดี๋ยวนิมนต์เหลวงพ่อฉันกาแฟสักถ้วย คงทันนะครับ”

          “ทันแน่นอน อีกสักห้านาทีก็ถึงแล้ว ต้องไปถึงให้ตรงเวลา เร็วไป ช้าไป เจ้าภาพเขาจะอึดอัดเป็นกังวล” ท่านสอนลูกศิษย์วัดไปในตัว นายสมชายจอดรถหน้าร้านข้าวมันไก่ ซึ่งมีรถยนต์จอดอยู่หลายคัน แล้วจึงลงมาเปิดประตูให้เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง จากนั้นจึงเดินตามท่านเข้าไปในร้าน ซึ่งมีโต๊ะว่างอยู่เพียงโต๊ะเดียว เถ้าแก่เจ้าของร้านกุลีกุจอเข้ามาต้อนรับ

          “นิมนต์ครับ” เขาพูดไทยชัดเจนแม้สำเนียงจะออกไปทาง “คนจันท์” นายสมชายต้องแยกไปนั่งอีกโต๊ะหนึ่ง ซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอยู่เพราะจะนั่งรวมกับท่านพระครูไม่ได้

          “เถ้าแก่ขอกาแฟถวายหลวงพ่อ ส่วนของผมขอข้าวมันไก่” เขาเดินมาบอกเถ้าแก่แล้วกลับไปนั่งที่เดิม เจ้าของร้านเรียกลูกจ้างมาสั่งอีกทีหนึ่ง ตัวเขายืนอย่างสำรวมอยู่ตรงหน้าท่านพระครู

          “หลวงพ่อมาจากไหนหรือครับ” เขาถาม

          “อาตมามาจากวัดป่ามะม่วง จังหวัดสิงห์บุรี เถ้าแก่รู้จักวัดนี้หรือเปล่า เคยได้ยินชื่อไหม”

          “ไม่รู้จักครับแต่เคยได้ยินชื่อ เห็นเขาว่าเจ้าอาวาสวัดนี้ดูหมอแม่นมาก” เจ้าของร้านพูดตาม “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” ได้ยินมาว่านอกจากดูหมอแม่นแล้วท่านยังให้หวยเก่งด้วย”

          “อาตมาไม่เคยให้หวยใคร ส่วนเรื่องหมอดูก็เคยมาบ้างสมัยที่มีกระจกหมอดู แต่ก็ได้โยนทิ้งน้ำไปร่วมยี่สิบปีแล้ว” ท่านตอบตามจริง

          “หรือครับ แหม ผมนึกว่าจะได้เลขสักตัวสองตัว” เจ้าของร้านรู้สึกผิดหวัง ที่จริงเขารวยอยู่แล้วหากก็อยากรวยขึ้นไปอีก วิสัยของปุถุชนนั้นคำว่า “พอ” ย่อมไม่มี

          “ขยันทำมาหากินก็รวยเองนั่นแหละ ก็มีรายได้ทุกวันไม่ใช่หรือ”

          “ครับ แต่มันน้อย อยากได้ทีละมาก ๆ น่ะครับหลวงพ่อ” คนมีนิสัยงกมาแต่กำเนิดว่า

          “มากมันก็มาจากน้อยนะโยมนะ โบราณเขาสอนว่า “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่านอนคอยวาสนา” อาตมาว่าเขามีเหตุผลนะคนโบราณน่ะ” พอดีกับลูกจ้างนำกาแฟมาให้ เจ้าของร้านจึงรับมาประเคนด้วยตัวเอง เสร็จแล้วจึงขอตัวไปดูแลลูกค้าโต๊ะอื่น ๆ เพราะคิดว่ายังไงเสียคงไม่ได้ “เลข” แน่ในความรู้สึกของเขา หลวงพ่อองค์นี้ไม่น่าศรัทธา “พระที่ดูหมอไม่เป็น ให้หวยไม่ได้ ใครจะไปศรัทธาเลื่อมใส”  เจ้าของร้านคิด

          ออกจากร้านอาหาร นายสมชายก็ขับรถตามแผนผังที่คุณนายโสภิตส่งผ่านมาทางท่านพระครูและก็ไปถึงบ้านงานตรงเวลา คุณนายโสภิตออกมาต้อนรับถึงรถ

          “นิมนต์ค่ะหลวงพ่อ กำลังกลัวว่าสมชายจะพาหลวงพ่อหลงทางอยู่เชียว ที่ไหนได้มาก่อนองค์อื่น ๆ เสียอีก” คุณนายพูดอย่างยินดี นิมนต์ท่านเข้าไปนั่งยังอาสนะที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ ๙ รูป ท่านพระครูเลือกนั่งเป็นลำดับที่สองเพราะทราบว่าท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งก็ได้รับนิมนต์มางานนี้เช่นกัน “เห็นหนอ” มีประโยชน์อย่างนี้

          ท่านสังเกตการจัดอาสนะสงฆ์ที่เจ้าภาพจัดไว้ เห็นว่าไม่ถูกต้องตามประเพณีนิยม พระพุทธรูปควรจะไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ก็ไปอยู่ทางซ้ายมือ ครั้นมองไปทางขวาก็เห็นว่าเป็นห้องน้ำ จึงเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดพระพุทธรูปไว้ทางซ้ายมือ ประเดี๋ยวหนึ่งท่านเจ้าคุณกับพระสงฆ์อีก ๗ รูปก็มาถึง สงฆ์ ๗ รูปนั่งต่อจากท่าน ส่วนท่านเจ้าคุณนั่งอาสนะที่ติดกับพระพุทธรูปซึ่งเป็น “หัวแถว”

          ท่านพระครูทำความเคารพท่านเจ้าคุณด้วยการไหว้ รับไหว้แล้วผู้มาใหม่ก็เริ่มรายการตำหนิเจ้าภาพด้วยเสียงที่ค่อนข้างดังว่า “โยมทำไมเอาพระพุทธรูปมาไว้ทางซ้ายมือของพระสงฆ์ ทำไมไม่เอาไว้ขวามือ โยมทำผิดรู้ไหม”

          “เจ้าค่ะ” คุณนายโสภิตรับผิดโดยไม่ได้แก้ตัว

          “ทีหน้าทีหลังอย่าได้ทำอย่างนี้อีกนะ แขกไปใครมาอายเขา คนที่ไม่รู้ธรรมเนียมก็ไม่ว่าอะไร แต่คนที่รู้เขาจะตำหนิเอา” ท่าน “ว่า” อีก

          “เจ้าค่ะ” คุณนายเจ้าของบ้านรับผิดอีก

          “อะไร เป็นถึงคุณนายนายอำเภอ ทำไมไม่รู้จักขนบธรรมเนียมเสียบ้างเลย” คราวนี้คุณนายหน้าสลดลงนิดหนึ่ง อธิบายช้า ๆ หากชัดถ้อยชัดคำว่า

          “ท่านเจ้าคุณเจ้าคะ ดิฉันพอจะรู้ธรรมเนียมเจ้าค่ะ แต่ที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะเห็นว่าการเอาพระพุทธรูปไปตั้งติดกับห้องน้ำ มันไม่เหมาะ ดิฉันก็เลยต้องยอมผิดธรรมเนียมเจ้าค่ะ”

          ฟังคำอธิบายของคนเป็นเจ้าภาพแล้ว ท่านเจ้าคุณถึงกับหน้าเสียคิดในใจว่าไม่น่า “ปากไว” เช่นนี้เลย อายพระลูกวัด ๗ รูปนั้นก็อาย ไหนจะรูปที่นั่งติดกับท่านนี่อีกเล่า มาจากวัดไหนก็ไม่รู้แต่ดูท่าทางจะเป็น “พระภูธร” เสียมากกว่า

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งนิ่งดูเหตุการณ์อยู่ แล้วท่านก็ได้บทเรียนอีกบทหนึ่งโดยที่ไม่ต้องไปโรงเรียน บทเรียนนั้นสอนท่านว่า “ไปที่ไหน อย่าเอาปากไปก่อน ขอให้ถือคติว่า ตาดู หูฟัง ปากนิ่ง จะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าคนอื่นเขา”

          ทักทายปราศรัยกับเจ้าของบ้านพอสมควรแก่เวลาแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปก็เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นคุณนายโสภิตและญาติ ๆ จึงช่วยกันถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์

          ท่านพระครูเจริญคิดว่างานนี้ หากท่านเพียงนั่งพิจารณาอาหารโดยไม่ฉันก็คงจะต้องถูกท่านเจ้าคุณช่างเจรจารูปนี้ตำหนิติเตียนเอาเป็นแน่ เผลอ ๆ คุณนายโสภิตก็จะถูกเอ็ดอีกว่าไปนิมนต์พระบ้า ๆ บอ ๆ จากที่ไหนมาก็ไม่รู้

          ครั้นพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณนายโสภิตจึงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูป เมื่อพระสงฆ์ “ยถาสัพพี” เธอจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้นายอำเภอสิทธิศักดิ์ สามีผู้ล่วงลับ ท่านพระครูเคยสอนไว้ว่า “ยถาให้ผี สัพพีให้คน” ดังนั้นเมื่อพระขึ้น “ยถา วาริ วหา...” เธอจึงเริ่มรินน้ำลงในภาชนะกระทั่งท่านว่าถึง “มณิ โชติ รโส ยถา” แล้วประนมมือรับพรเมื่อท่านขึ้น “สัพพีติโย วิวัชชันตุ”

          เมื่อพิธีทำบุญอายุครบ ๕ รอบของคุณนายโสภิตเสร็จสิ้นลง ท่านเจ้าคุณและพระลูกวัดอีก ๗ รูป จึงลากลับ คุณนายโสภิตไปส่งท่านถึงรถ

          “คุณนาย พระที่นั่งติดกับอาตมาเป็นใครกัน” ท่านเจ้าคุณถาม รู้สึกไม่ถูกชะตากับ “พระภูธร” รูปนั้น คงเป็นพระภูธรแน่ ๆ ก็ท่าทางเชย ๆ ออกอย่างนั้น แต่จะเป็น “พระภูธร” หรือ “พระนครบาล” ท่านก็รู้สึกไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น ไม่ถูกชะตาเอามาก ๆ คุณนายโสภิตไม่ตอบในทันที เธอกำลังคิดหาคำตอบที่เหมาะสม ดูเหมือนท่านท่านเจ้าคุณจะมี “จิตริษยา” ท่านพระครูอยู่ในใจ ตัวเธอเองนั้นเคารพนับถือท่านพระครูมากกว่า เพราะท่านเป็น “พระปฏิบัติ” ส่วนท่านเจ้าคุณนั้นเคยนับถือกันสมัยที่คุณสิทธิศักดิ์ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เลื่อมใสใน “จริยาวัตร” ของท่านสักเท่าไหร่ ขนาดลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านยังมาแอบนินทาให้คุณนายฟังถึงสรรพคุณของเจ้าคุณรูปนี้ว่า “เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด ดึกซัดมาม่า ตีห้าคิดดอกเบี้ย” เขาบอกว่าท่านมีเงินเป็นล้าน ๆ ให้คนกู้ ยิ่งกว่านั้นลูกศิษย์คนเดียวกันนี้ยังมาเล่าอีก จะจริงหรือไม่จริงก็อยู่ที่ลูกศิษย์คนนั้น เขาเล่าให้คุณนายฟังว่า

          “คุณนายครับ ผมน่ะแสนจะอึดอัดพูดไม่ออก บอกไม่ได้ ครั้นจะไม่พูดไม่บอก มันก็อึดอัดแน่นอก ผมก็ขอบอกคุณนายคนเดียวก็แล้วกัน รู้แล้วก็เหยียบเสียนะครับ เหยียบให้แน่น ๆ เพราะถ้าเรื่องนี้รู้ถึงหูท่านเจ้าคุณเมื่อไหร่ ผมต้องตายเมื่อนั้น “ตายหยังเขียด” เชียวนาครับ” เขาอารัมภบทยืดยาวก่อนเล่าว่า

            “คุณนายทราบไหมครับ ที่ท่านเจ้าคุณท่านคุยว่าสามารถเข้า “นิโรธสมาบัติ” ได้ถึงเจ็ดวันนั้น ความจริงเป็นอย่างไร” เขายกมือท่วมหัวพร้อมกล่าวคำสาบาน “เจ้าประคู้ณ ถ้าลูกช้างใส่ร้ายพระสงฆ์องค์เจ้า ขอให้ลูกช้างตายไปตกนรกเถิด” แล้วจึงเล่าวิธีการเข้านิโรธสมาบัติของท่านเจ้าคุณว่าท่านจะปิดกุฏิ ๗ วัน ห้ามลูกศิษย์ลูกหาเยี่ยมเยียน โดยสั่งเขาให้บอกคนเหล่านั้นว่าท่านจะเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลาเจ็ดคืนเจ็ดวันติดต่อกันโดยไม่ฉันและไม่จำวัด ตัวเขาเท่านั้นที่รู้ว่าท่าน “ตุน” อาหารการกินไว้เต็มตู้เย็นแล้วสั่งให้เขาทำขึ้นมาถวาย

          กิน ๆ นอน ๆ อยู่ในกุฏิครบตามเวลาที่กำหนดแล้วก็ให้เขาประกาศแก่ลูกศิษย์ลูกหาว่าท่านออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ใครอยากได้บุญก็ให้รีบเอาอาหารตลอดจนข้าวของเงินทองมาถวาย เพราะการถวายของกับพระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินั้นมีอานิสงส์แรงกล้า

          บรรดาผู้งกบุญแต่ไร้ปัญญาทั้งหลายก็พากันมาถวายของและกล่าวชื่นชมว่า ผิวพรรณท่านเจ้าคุณผ่องใสเพราะอำนาจสมาธิ มีเขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าท่านผ่องใสเพราะกิน ๆ นอน ๆ อยู่ในกุฏิถึงเจ็ดคืนเจ็ดวัน ไม่รู้ว่าท่านจะ  หลอกลวงชาวบ้านไปทำไม ช่างไม่กลัวบาปกลัวกรรมเสียบ้างเลย

          ส่งท่านเจ้าคุณและพระลูกวัดกลับกรุงเทพฯ แล้ว คุณนายโสภิตจึงกลับมาคุยกับท่านพระครูเพื่อ “รายงานผลการปฏิบัติธรรม” ให้ท่านทราบ คุณนายเคยไปเข้ากรรมฐานที่วัดป่ามะม่วงหลายครั้งและนำมาปฏิบัติต่อที่บ้านทุกวัน มีปัญหาอะไรก็ไปเรียนถามท่านพระครูเพราะตอนนั้นสามีของคุณนายเป็นนายอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี การไปมาจึงไม่ลำบาก ต่อเมื่อนายอำเภอเสียชีวิต คุณนายจึงย้ายกลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดจันทบุรี แล้วก็เลยไม่ได้ไปหาท่านพระครูอีก

          “หลวงพ่อคะ เมื่ออาทิตย์ก่อนเกิดเรื่องอัศจรรย์ค่ะ” คุณนายพูดขึ้น เมื่อกลับมานั่งเรียบร้อยแล้ว

          “อัศจรรย์ยังไงหรือคุณนาย” ท่านถาม

          “ก็ดิฉันนั่งกรรมฐานอยู่ในห้องพระดี ๆ เกิดตัวลอยออกไปนอกหน้าต่าง กิ่งทับทิมเกือบแทงตาแน่ะค่ะ พวกคนใช้เขาเห็นเลยพากันคิดว่าดิฉันได้คุณวิเศษ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แหม! ลอยออกไปตกดังตุ๊บ ยังหาว่าเหาะได้” คุณนายเล่า ยังนึกขำตัวเองไม่หาย

          “ก่อนจะลอยคุณนายรู้สึกอย่างไร”

          “รู้สึกตัวมันเบาค่ะ ดิฉันก็กำหนด “เบาหนอ” พอกำหนดอย่างนั้นตัวมันก็ลอยขึ้น ไม่ทราบลอยได้ยังไง น้ำหนักร่วมแปดสิบ” เธอพูดอย่างกังขา

          “แล้วคุณนายกำหนดว่าอย่างไร ตอนตัวลอยน่ะ”

          “ดิฉันกำหนด “ลอยหนอ” ค่ะ

          “แล้วกัน กำหนดอย่างนั้นจะไปได้เรื่องอะไร บอกให้ลอยมันก็ลอยน่ะซี ดีนะที่ไม่ลอยไปถึงวัดป่ามะม่วงโน่น” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ คุณนายจึงเอออวยว่า

          “แหม ถ้าไปถึงโน่นก็ดีซีคะหลวงพ่อ ดิฉันจะได้เลิกจ้างคนขับรถ อยากไปไหนมาไหนก็ลอยไป แบบนี้เขาเรียกว่าอะไรคะหลวงพ่อ ดิฉันได้ญาณอะไร” คนถามอยากรู้

          “ไม่ใช่ญาณหรอกคุณนาย เป็นอำนาจของปีติน่ะ ปีติที่ทำให้ตัวเบาลอยขึ้นได้นั้นเขาเรียกว่า อุพเพงคาปีติ การเกิดปีติขึ้นเพราะองค์ธรรม ขณะที่ปฏิบัติไม่สมดุลกัน กล่าวคือ สติ วิริยะ และสมาธิ มันไม่เสมอกัน สมาธิมันเกินสติและวิริยะ จึงทำให้ออกนอกลู่นอกทาง ฉะนั้นคุณนายต้องเพิ่มสติให้มากขึ้นอีก ให้มันเสมอกับวิริยะและสมาธิ การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้า”

          “แต่ดิฉันก็มีสตินะคะหลวงพ่อ เพราะขณะที่ตัวลอยดิฉันก็รู้” คุณนายพูดอย่างแคลงใจ

          “อาตมาก็ไม่ได้ว่าคุณนายไม่มีสติ เพียงแต่บอกว่ากำลังของมันด้วยกว่าสมาธิกับวิริยะ แล้วเวลากำหนดขณะเมื่อตัวลอย คุณนายต้องกำหนดว่า “รู้หนอ รู้หนอ” คือเอาสติไปรู้ว่าตัวกำลังลอย ถ้ากำหนดอย่างนี้แล้วมันยังลอย คุณนายต้องกำหนดว่า “หยุดหนอ หยุดหนอ” เข้าใจหรือยัง อย่าไปกำหนด “ลอยหนอ” เพราะเดี๋ยวเกิดลอยไปตกน้ำตกท่าเดี๋ยวจะหาว่าอาตมาสอนไม่ดี”

            “แหม ดิฉันนึกว่าตัวเองได้ญาณสูงถึงกับเหาะเหินเดินอากาศได้เสียอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นดิฉันจะได้ขายรถเลิกใช้รถไปเลย” คุณนายโสภิตพูดติดตลก บรรดาญาติมิตรที่นั่งฟังการสนทนาระหว่างคุณนายวัยหกสิบกับพระภิกษุวัยห้าสิบอยู่นั้น ไม่มีสักคนที่เข้าใจ ด้วยไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต...

 

มีต่อ........๔๖
 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 23, 2007, 08:07:18 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00046
๔๖...

          สนทนาปราศรัยกับเจ้าภาพจนได้เวลาอันสมควรแล้ว ท่านพระครูเจริญก็เอ่ยปากลา ด้วยตั้งใจจะไปแวะนมัสการหลวงพ่อพระพุทธโสธรที่จังหวัดฉะเชิงเทราก่อน ต่อจากนั้นจึงจะไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพคุณนายราศี ที่วัดธาตุทอง

          คุณนายโสภิตนิมนต์ให้ท่านสรงน้ำให้สดชื่นเบิกบานเสียก่อน เพราะจะต้องเดินทางอีกหลายชั่วโมง นายสมชายก็ถือโอกาสอาบน้ำอาบท่าเพื่อความกระปรี้กระเปร่า จะได้ไม่ง่วงในขณะขับรถ

          กว่าท่านพระครูจะขึ้นรถได้ นายสมชายก็ต้องสตาร์ทรถรอร่วมชั่วโมง เพราะเดี๋ยวคนโน้นเข้ามาถาม คนนั้นเข้ามาคุย ร่ำลากันอยู่นั่นแล้ว พอคนนั้นลา คนโน้นก็เขามาคุย จนนายสมชายรู้สึกเวียนหัว ข้างฝ่ายคุณนายโสภิตก็ยกมือไหว้ลาแล้วลาอีกจนนายสมชายอดรนทนไม่ได้ต้องลงไปสัพยอกว่า

          “หลวงพ่อผมสตาร์ทรถรอหมดน้ำมันไปครึ่งถึงแล้วนะครับ” นั่นแหละท่านจึงขึ้นไปนั่งในรถคู่กับคนขับ โดยมีหลานชายของคุณนายโสภิตเป็นผู้เปิดปิดประตูให้ ท่านไขกระจกลงกล่าวร่ำลากับพวกเขาอีก

          “อาตมาไปนะโยมนะ อย่าลืมไปเที่ยววัดป่ามะม่วงบ้างล่ะ”

          “ค่ะหลวงพ่อ วันหลังฉันจะขอไปเข้ากรรมฐาน จะได้เหาะได้อย่างพี่โสภิต” น้องสาวคุณนายโสภิตว่า

          “ตกลง อย่าลืมไปนะ” ท่านสำทับ นายสมชายเคลื่อนรถออกช้า ๆ กระนั้นก็ยังอุตส่าห์มีคนเกาะหน้าต่างรถเดินตามมาคุยกับท่าน ต่อเมื่อรถวิ่งเร็วขึ้นจนพวกเขาตามไม่ทัน การสนทนาและร่ำลาจึงมีอันสิ้นสุดลง

          “จำวัดที่นี่ซักคืนดีไหมครับหลวงพ่อ” นายสมชายพูดประชดขึ้น

          “อย่าเลยเดี๋ยวสาวบ้านเหนือเขาจะเศร้าสร้อยละห้อยหาที่ไม่เห็นหน้าเธอ” ท่านพูดแทงใจดำคนที่กำลังขับรถ นายสมชายจึงต้องเงียบเพราะเกิดคิดถึงคนรักขึ้นมาตะหงิด ๆ วันนี้กว่าจะถึงวัดก็คงดึกดื่นเที่ยงคืน จะเห็นหน้ากันอีกครั้งก็คงตกค่ำของวันรุ่งขึ้น “คิดถึง คิดถึง คิดถึงคะนึงหา” เขาแอบครวญเพลงอยู่ในใจ

          ท่านพระครูเปิดโอกาสให้เขาคิดคำนึงอย่างอิสระด้วยการไม่ชวนคุย ท่านนั่งหลับตาไปตลอดทางกระทั่งรถแล่นมาจอดที่ลานจอดรถวัดพระพุทธโสธร

          “ไม่หรอก ท่านไม่อยู่ ไปกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า”

          “ทำไมหลวงพ่อรู้ล่ะครับ” ถามเพราะเคยปาก

          “ก็ทำไมฉันจะไม่รู้ล่ะ” ตอบเพราะเคยชิน

          “นั่นสิ ผมก็ชอบลืมทุกทีว่าหลวงพ่อนี่รู้อะไร ๆ ได้ทุกอย่างถ้าอยากจะรู้ แต่ก็อดถามไม่ได้สักที ปากมันเคยน่ะครับ” เขาพูดพลางอ้อมมาเปิดประตูให้ท่านลงจากรถแล้วเดินตามท่านเข้าไปในวิหารที่สถิตพระพุทธโสธร ซื้อดอกไม้ ธูป เทียน ทอง ถวายท่าน และให้ตัวเองด้วย ท่านพระครูเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เสร็จแล้วจึงเดินกลับมาขึ้นรถ สั่งคนขับว่า

          “ประเดี๋ยวแวะซื้อกระยาสารทร้านข้างทางไปฝากญาติโยมเขาหน่อย “ญาติโยม” ที่ท่านพูดถึงได้แก่พระลูกวัด แม่ชี แม่ครัว ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาที่มาเข้ากรรมฐาน ไปไหนมาไหนท่านมักจะมีของติดไม้ติดมือมาฝากพวกเขาเสมอ ๆ

          “หลวงพ่อครับ เขาว่ากันว่า หลวงพ่อโสธรท่านศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นเพราะอะไรครับ แล้วทำไมพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ถึงไม่ศักดิ์สิทธิ์” นายสมชายตั้งคำถาม

          “จะว่าไปแล้ว พระพุทธรูปก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ คือทำจากอิฐจากปูนเหมือนกัน แต่บางองค์ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่อีกหลายองค์ไม่ศักดิ์สิทธิ์นั้นขึ้นอยู่กับเทพ หรือ เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่พระพุทธรูปองค์นั้น ๆ ถ้ามีเทพหลายองค์ก็มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าไม่มีเทพสิงสถิตอยู่เลยก็เป็นพระอิฐพระปูนธรรมดา ๆ แต่เราก็สักการบูชาในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่าเป็นพุทธานุสสติ ส่วนความศักดิ์สิทธิ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน”

          “แล้วหลวงพ่อโสธรท่านมีเทพสิงสถิตอยู่กี่องค์ครับ”

          “สิบหกองค์ พระพุทธชินราชกับหลวงพ่อวัดไร่ขิงก็มีเทพสิงสถิตหลายองค์ เทพเหล่านี้เป็นสัมมาทิฐิ หรือที่เรียกว่าพวกเทวดาตรง ส่วยพวกเทวดาพาลไม่ชอบอยู่กับพระเพราะคุณธรรมไม่มี พวกนี้จะเกลียดพระด้วยซ้ำ ก็เหมือนมนุษย์ พวกที่ทำบาปทำชั่วเป็นอาจิณ พวกนี้จะไม่นับถือพระ เห็นพระแล้วก็ไม่เลื่อมใส บางคนมีอาการคลื่นไส้ด้วยซ้ำ

          ฉันเคยรู้จักคนหนึ่งชื่อนายบุญช่วย หมอนี่เข้าวัดก็อาเจียน เห็นพระก็คลื่นไส้ เลยเกลียดวัดเกลียดพระ ฉันก็เลยมาวิจัยดูว่าเป็นเพราะเหตุอะไรก็ได้เห็นกฎแห่งกรรมของเขาว่า ตาคนนี้บาปหนัก ชาติก่อน ๆ ทำกรรมชั่วไว้มาก มาชาตินี้ก็มีอาชีพรับจ้างฆ่าคน”

          “แล้วแบบนี้นรกเขาปล่อยออกมาได้อย่างไรครับ ทำไมเขาไม่เอาตัวไว้ลงโทษทัณฑ์” คนถามรู้สึกกังขา

          “ยังไม่ถึงเวลา อย่าลืมว่ากรรมมันก็ทำหน้าที่เหมือนม้วนเทปบันทึกเสียงนั่นแหละ เมื่อถึงเวลาก็จะให้ผลเองโดยอัตโนมัติเหมือนการหมุนของม้วนเทป”

          “แล้วนายบุญช่วยคนนี้เป็นคนเดียวกับที่ทำให้หลวงพ่อเขวี้ยงกระจกหมอดูลงแม่น้ำเจ้าพระยาหรือเปล่าครับ”

          “ไม่ใช่ คนละคน แต่บังเอิญชื่อไปพ้องกัน”

          “แหม พูดก็พูดเถอะครับหลวงพ่อ ตั้งแต่ผมรู้จักคนชื่อนี้มา กี่คนกี่คนก็หาดีไม่ได้สักคน อย่างนายบุญช่วยที่อยู่บ้านเหนือวัดนั่นก็ลักเล็กขโมยน้อยเป็นอาจิณ จนชาวบ้านเขาเบื่อหน่าย ถ้าผมมีลูก รับรองไม่ให้ชื่อนี้เด็ดขาด” ชายหนุ่มว่า

          “จะชื่ออะไรไม่สำคัญหรอก สำคัญอยู่ที่ตัวคนต่างหากล่ะ คนจะดีจะเลวอยู่ที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คนชื่อบุญแต่ทำบาปก็ต้องได้บาปอยู่วันยังค่ำ หรือถ้าเกิดมีคนชื่อนายบาปแต่เขาทำบุญ เขาก็ได้บุญ เมื่อตายไปก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ส่วนนายบุญกลับต้องไปอบาย ไปทุคติ” ท่านพระครูอธิบายพร้อมยกตัวอย่างให้คนเป็นศิษย์ฟัง

          “หลวงพ่อครับ สวดอภิธรรมศพคุณนายราศีเริ่มกี่ทุ่มครับ” นายสมชายเปลี่ยนเรื่องถาม

          “เผื่อไปถึงก่อนงานเริ่มเรามิเก้อแย่หรือครับ” เขาแสดงอาการปริวิตก เพราะขณะนั้นเพิ่งจะสี่โมงเย็น อีกชั่วโมงเศษ ๆ ก็จะถึงกรุงเทพฯ

          “เรื่องนั้นเธออย่าได้กังวลไปเลย ประเดี๋ยวถึงกรุงเทพฯ เธอพาฉันไปเสาชิงช้า ฉันจะไปหาซื้อผ้าไตรสักสองสำรับ เอาไว้ช่วยวันเผาศพเจ๊นวลศรีสำรับหนึ่ง คุณนายราศีอีกสำรับหนึ่ง กรุงเทพฯ รถติด กว่าจะไปจะมาก็ได้เวลาทุ่มพอดี เชื่อฉันสิ”

          “ครับ ผมเชื่อหลวงพ่อ” นิ่งไปอึดใจหนึ่งก็ถามขึ้นอีกว่า “แล้วเราจะถึงวัดกี่ทุ่มกี่ยามกันล่ะครับ”

          “จะถึงกี่ทุ่มก็ช่างปะไร ไม่เห็นมีอะไรต้องห่วง หรือว่าเธอห่วงอะไร” ท่านแกล้งย้อนถาม

          “ผมก็ไม่ห่วงอะไรหรอกครับ ถ้าจะห่วงก็ห่วงหลวงพ่อนั่นแหละ กลัวว่าจะเหนื่อยเกินไป” เขาว่า

          “อย่าเอาฉันมาอ้างเลยน่า เธอกลัวจะไม่ได้เห็นหน้าสาวบ้านเหนือต่างหาก ทำใจเสียเถอะสมชายเอ๋ย วันนี้ยังไง ๆ ก็ไม่ได้พบกัน ฉันรู้ แล้วก็ยังรู้ด้วยว่าเธอจะไม่ถึงกับขาดใจวายปราณเสียก่อนหรอก ดวงยังไม่ถึงฆาต” ท่านพูดอย่างรู้เท่าทัน ฝ่ายนั้นจึงออกไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า

          “ครับ ดวงอย่างผมอายุยืน ว่าจะอยู่ไปสักสองร้อยห้าสิบปีค่อยตาย”

          “งั้นหรือ นิมนต์ตามสบายนะ ส่วนฉันอีกสี่ปีก็ขอลา” ท่านเผลอบอก “ความลับ” คนฟังตกใจเหลือหลายจนรถแฉลบออกขวาไปครึ่งคัน โชคดีที่ไม่มีรถสวนมา จึงทำให้คนขับทั้งตกใจทั้งโล่งใจในเวลาเดียวกัน

          เขาประคองพวงมาลัยให้รถเข้าเส้นทางแล้วลดความเร็วลง กระทั่งรถคันหลัง ๆ  ที่วิ่งตามมาแซงออกหน้าไปหมดแล้วจึงเบรคพรืดจอดเสียตรงข้างทาง ด้วยหมดเรี่ยวแรงที่จะขับต่อไป

          “ขับรถขับราให้มันดี ๆ หน่อย ประเดี๋ยวก็อยู่ไม่ครบสองร้อยห้าสิบปีหรอก” ท่านพระครูสัพยอกขณะที่นายสมชายคิดว่ากำลังอยู่ในช่วงเวลา “หน้าสิ่วหน้าขวาน”

          “นี่เธอหยุดรถทำไมกัน” ท่านถามด้วยอาการปกติทั้งน้ำเสียงและสีหน้า

          “หลวงพ่อครับ ผมไหว้ละ” พูดพร้อมกับยกมือไหว้

          “ผมถามจริง ๆ เถอะครับว่าเมื่อกี้หลวงพ่อพูดอะไร หลวงพ่อพูดเล่นใช่ไหมครับ ผมไม่สบายใจเลยที่ได้ยิน”

          “นั่นเพราะเธอเป็นคนไม่ยอมรับความจริงน่ะสิ เอาละ ไหน ๆ ฉันก็เผลอพูดออกไปแล้ว ก็จะบอกให้เธอรู้ไว้เสียเลย เธอฟังแล้วก็จำไว้นะว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ฉันจะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ คอหักตายตอนเที่ยงสิบห้านาที กฎแห่งกรรมบอกอย่างนั้น” ได้ยินท่านพูด นายสมชายถึงกับร้องไห้ด้วยความโทมนัส เขาเอามือปาดน้ำตาแล้วถามท่านว่า

          “ทำไมหลวงพ่อจะต้องเป็นอย่างนั้นด้วยครับ นี่ถ้าผมไม่ได้ยินจากปากหลวงพ่อ ผมจะไม่เชื่อเด็ดขาด”

          “เพราะกรรมสิสมชายเอ๋ย กรรมบันดาลให้ฉันต้องเป็นอย่างนั้น” ท่านตอบเสียงเรียบ

          “กรรมอะไรครับ ผมเห็นแต่หลวงพ่อทำแต่กรรมดี”

          “ตอนทำกรรมชั่วเธอไม่เห็นนะสิ ดูเหมือนเธอจะยังไม่เกิดด้วยมั้ง ตอนฉันอายุสิบสองสิบสามฉันฆ่านกตายเป็นร้อย ๆ นกเป็ดน้ำ ยิงมันลงมาแล้วก็หักคอมันซ้ำอีก”

          “หรือครับ แต่นั่นมันตอนเด็ก หลวงพ่อยังไม่ทันรู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ ตอนนี้หลวงพ่อบวชแล้วและก็เป็นผู้วิเศษอีกด้วย ผมว่าไม่น่าจะต้องไปรับกรรมถึงบาปนั้น”

          “ถ้าฉันเป็นผู้วิเศษอย่างที่เธอว่าก็ดีน่ะสิ แต่บังเอิญฉันไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้นก็เลยต้องรับกรรมไปตามระเบียบ อ้อ! แต่ถึงจะเป็นผู้วิเศษก็ใช่ว่าจะหนีกรรมพ้นหรอกนะ ดูอย่างพระโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้วิเศษขนาดเหาะเหินเดินอากาศได้ก็ยังถูกโจรทุบจนกระดูกแหลกเป็นเม็ดข้าวสารหัก เพราะฉะนั้นเธอจงเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ผู้วิเศษก็ต้องชดใช้กรรมเหมือนกัน เอาละ ทำใจให้สบายแล้วก็ออกรถได้ ประเดี๋ยวจะไม่ทันงาน แล้วก็เก็บเรื่องนี้เป็นความลับนะ อย่าบอกใครเป็นอันขาดโดยเฉพาะเจ้าขุนทอง ฉันรำคาญ ประเดี๋ยวก็จะมาทำวี๊ดว้ายกระตู้วู้ใส่ฉัน” ท่านนึกเห็นภาพของหลานชายหากเขาทราบเรื่องนี้

“หลวงพ่อเคยบอกเรื่องนี้กับใครหรือยังครับ”

“ก็เผลอบอกพระบัวเฮียวเป็นคนแรก เธอเป็นคนที่สอง เอาไว้เวลานั้นใกล้เข้ามาจึงจะบอกคนอื่น ๆ มันจำเป็นต้องบอกนะ ฉันจะได้ขออโหสิกรรมจากเขา ขณะเดียวกันก็จะได้ขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือฉัน เช่น ญาติโยมที่นำข้าวของเงินทองมาช่วยเป็นค่าน้ำค่าไฟและค่าอาหาร เป็นต้น”

“หลวงพ่อไม่มีทางแก้ไขอย่างอื่นเลยหรือครับ หรืออย่างน้อยก็ต่อเวลาไปอีกสักสิบยี่สิบปี หลวงพ่อน่าจะต่อรองกับเจ้ากรรมนายเวรได้ ผมรู้ว่าหลวงพ่อทำได้” นายสมชายยังไม่ยอมยุติเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่

“สมชาย เลิกพูดเรื่องนี้ได้แล้ว ท่านพระครูสั่ง แม้จะด้วยเสียงที่ราบเรียบ หากชายหนุ่มก็รู้ว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เขาจึงหยุดพูดแต่มิได้หยุดคิด คิดข้องใจสงสัยไปตลอดทาง เกี่ยวกับเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องกรรมดีและกรรมชั่ว คิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิดก็ยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ในที่สุดเลยเปลี่ยนมาคิดถึงสาวบ้านเหนือแทน เพราะสบายใจกว่า”

นายสมชายนำท่านพระครูมาส่งที่ร้านสังฆภัณฑ์แห่งหนึ่งย่านเสาชิงช้า แล้วตัวเขาก็ไปหาที่จอดรถ ท่านพระครูเดินเข้าไปในร้าน คนขายอายุประมาณสี่สิบเศษรีบเข้ามาต้อนรับ

“นิมนต์ครับหลวงพ่อ มีอะไรจะให้ผมรับใช้” เขายกเก้าอี้มาให้ท่านนั่ง พลางหันไปสั่งลูกจ้างให้นำน้ำชาร้อน ๆ มาถวาย

“อาตมาอยากจะซื้อผ้าไตรสักสองสำรับ เอาสีกรักชนิดที่เนื้อดีที่สุดราคาแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร” ท่านสั่งปกติแล้วของที่จะให้แก่ผู้อื่นนั้นท่านจะต้องเลือกชนิด “ดีที่สุด” แต่สำหรับตัวท่านเองแล้ว “อะไรก็ได้” แล้วแต่ญาติโยมจะถวาย

“หลวงพ่อใช้เองหรือครับ” คนขายถามอย่างสงสัย เพราะพระจะไม่ซื้อผ้าไตรสำหรับตัวเอง แต่พระสมัยนี้มักไม่ค่อยเคร่งสักเท่าไหร่ หลวงพ่อรูปนี้ก็อาจจะเป็นเช่นนั้นด้วย

“ไม่ใช่หรอกโยม อาตมาจะเอาไปช่วยงานศพเขา อาตมาไม่เคยซื้อผ้าไตรจีวรให้ตัวเอง” ฟังคำพูดของท่าน เจ้าของร้านก็เกิดศรัทธา จึงพูดขึ้นว่า

“ถ้าอย่างนั้นผมขอร่วมทำบุญด้วยนะครับ ผมจะขายให้หลวงพ่อหนึ่งสำรับ ส่วนอีกหนึ่งสำรับผมถวายเพื่อร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ” ชายวัยสี่สิบเศษแสดงความจำนง ถึงอย่างไรเขาก็ไม่ขาดทุนเพราะได้บวกกำไรไว้เท่ากับราคาต้นทุน

“หากเป็นความประสงค์ของโยม อาตมาก็ขออนุโมทนา คงไม่คิดว่าอาตมามาเรี่ยไรนะ เงินทองอาตมาก็เตรียมมาพร้อม ไม่ชอบรบกวนใคร” ท่านรีบพูดออกตัวเพื่อกันการเข้าใจผิด

“ผมไม่ถือเป็นการรบกวนหรอกครับ นาน ๆ ผมจะเจอพระอย่างหลวงพ่อสักครั้ง คนที่เป็นพระเท่าทีผมเห็นและรู้จัก ท่านเอาแต่รับลูกเดียว แต่หลวงพ่อกลับเป็นผู้ให้ แถมเลือกของที่ดีที่สุดให้อีกด้วย ผมศรัทธาหลวงพ่อจริง ๆ ครับ” เขาพูดพร้อมกับนำผ้าไตรสองสำรับมาใส่ถุงกระดาษให้ท่าน พอดีกับนายสมชายเดินเข้ามาจึงรับของมาถือไว้ ท่านพระครูจ่ายเงินตามราคาที่เขาบอก ให้ศีลให้พรแล้วกล่าวลาเจ้าของร้าน

“หลวงพ่อองค์นี้ คงไม่ใช่พระธรรมยุตนะเพราะท่านจับเงิน” เจ้าของร้านพูดกับลูกจ้างหนุ่ม

“ครับ คงเป็นพระมหานิกาย แต่ท่าทางท่านสมถะน่าเลื่อมใสดีนะครับ พระบางรูปทำเคร่งไม่จับเงินทองต่อหน้าคนอื่น ๆ แต่พอลับหลังโฮ้ย แบงค์ร้อยเป็นฟ่อนเลย พระสมัยนี้ดูยากนะครับเถ้าแก่” ลูกจ้างว่า

“นั่นสิ อั๊วะถึงศรัทธาถวายท่านไปสำรับนึง ทำบุญกับพระแบบนี้ถึงจะได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วยหน่อย”

การจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดจนนายสมชายนึกรำคาญ หากเขาก็สามารถนำท่านพระครูมาถึงวัดธาตุทองเวลาหนึ่งทุ่มพอดิบพอดี

พันเอกประวิทย์และ “คุณนายคนใหม่” เข้ามาต้อนรับ รู้สึกตกใจที่เห็นท่านมา แต่ทำไมจึงรู้ว่าตั้งศพที่วัดนี้ หรือว่ามีใครไปบอกท่าน คนทั้งสองต่างสงสัย

“นิมนต์ครับหลวงพ่อ เป็นพระคุณอย่างสูงที่กรุณามา”

“ทำไมหลวงพ่อจึงทราบว่าอยู่วัดนี้คะ” คุณนายคนใหม่ถามอย่างไม่อาจเก็บความสงสัยไว้ได้ หล่อนแต่งชุดดำและตีหน้าเศร้า ทว่านัยน์ตาทั้งคู่แจ่มจรัสเหมือนว่ายินดีปรีดาเสียนักที่หมดเสี้ยนหนาม นายสมชายพอจะดูออกว่าผู้หญิงคนนี้มีท่าทางพิรุธ เลยพานสงสัยว่าหล่อนอาจจะเป็นคนบงการอยู่เบื้องหลังก็ได้

“หลวงพ่อ คงทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ใช่ไหมครับ” พันเอกประวิทย์ถามบ้าง เขาอยู่ในชุดกางเกงสีดำ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว ผูกเนคไทสีเดียวกับกางเกง

“อาตมารู้เพราะคุณนายราศีเขาไปลาคืนก่อนตาย เขาไปลาด้วยตัวเอง แต่ที่รู้ว่าอยู่วัดนี้อาตมาคิดเอาเอง” คำตอบของท่านพระครูทำให้คุณนายคนใหม่ หน้าถอดสี

“แสดงว่าเขารู้ตัวว่าจะตายหรือคะ” หล่อนถาม

“ถูกแล้ว และเขาก็รู้ด้วยว่าใครยิงเขา” ภรรยาคนใหม่ของพันเอกประวิทย์หน้าซีดจนเห็นได้ชัด กลั้นใจถามออำไปว่า

“ใครยิงเขาคะ”

“เรื่องนี้อาตมาบอกโยมไม่ได้หรอก เพราะได้รับปากเขาไว้แล้วว่าจะปิดเป็นความลับ แต่เขาก็อโหสิให้นะ เขาบอกว่าเมื่อชาติก่อนเขาฆ่าคนคนนี้ไว้ มาชาตินี้เลยต้องถูกเขาฆ่า จะจริงหรือไม่จริง อาตมาเป็นสงฆ์ ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น” ท่านพูดเพื่อให้คนฟังสบายใจ

“แล้วคนยิงจะถูกจับได้ไหมคะ”

“คงไม่ได้มั้ง ก็เขาว่าเขาอโหสิกรรมให้แล้วก็คงไม่จองเวรจองกรรมกัน” คำตอบของท่านพระครูทำให้สตรีวัยสี่สิบค่อยหายใจโล่งอก หล่อนรีบขอตัวไปรับแขกอีกทางหนึ่ง ท่านพระครูบอกให้นายสมชายนำถุงใส่ผ้าไตรมาให้ ท่านส่งถุงให้พันเอกประวิทย์แล้วพูดว่า

“ผู้พัน วันเผาศพอาตมาคงมาไม่ได้ ฝากผ้าไตรไว้ถวายพระด้วยสำรับหนึ่ง อาตมาขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้คุณนายราศีด้วย” พันเอกวัยสี่สิบยื่นมือมารับผ้าไตรด้วยอาการสั่นนิด ๆ รู้สึกปีติจนน้ำตาคลอหน่วยตาทั้งสอง และเมื่อลูกชายหญิงเดินจูงมือกันเข้ามากราบท่านพระครู เขารู้สึกรันทดจนน้ำตาไหล

“หลวงตาจำเราสองคนได้ไหมคะ เราเป็นลูกคุณแม่ราศีค่ะ” เด็กหญิงพูด

“จำได้จ้ะหนู หลวงตาขอแสดงความเสียใจด้วยนะที่คุณแม่หนูมาด่วนจากไป แต่เขาสบายแล้ว เขาบอกหลวงตาเอง หนูสองคนไม่ต้องเป็นห่วงเขานะจ๊ะ”

“คุณแม่อยู่บนสวรรค์ใช่ไหมครับหลวงตา” เด็กชายถามบ้าง

“จ้ะ หนูสองคนต้องหมั่นทำความดีนะจ๊ะ จะได้ไปอยู่กับคุณแม่”

“คุณแม่รอเราสองคนอยู่บนสวรรค์ใช่ไหมคะหลวงตา”

“ถูกแล้วจ้ะหนู” คุณนายคนใหม่มองมาเห็นลูกเลี้ยงกำลังคุยกับท่านพระครูอยู่ ก็ให้นึกหมั่นไส้ ด้วยมีจิตริษยาเป็นทุนเดิมอยู่ จึงเดินเข้ามาเอ็ดว่า

“เธอสองคนมากวนพระกวนเจ้าอยู่ได้ ออกไป เด็กก็อยู่ส่วนเด็กซี” พันเอกประวิทย์เริ่มมองเห็น “ภัย” ที่กำลังจะมาถึงลูกน้อยทั้งสอง รู้สึกเสียใจที่คิดผิด ไม่น่าพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสตรีผู้นี้เลย ความหายนะคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

เมื่อถูกแม่เลี้ยงดุ เด็กทั้งสองจึงกราบท่านพระครูแล้วพากันลุกออกไป เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมิได้พูดว่ากระไร เพราะหากท่านพูดเข้าข้างเด็ก ก็รังแต่จะให้คนเป็นแม่เลี้ยงเกิดความชิงชังหนูน้อยทั้งสองมากขึ้น ทางที่ดีก็ต้องใช้คาถา “ตาดู หูฟัง ปากนิ่ง”

นายสมชายขับรถพาท่านพระครูมาถึงวัดป่ามะม่วงก่อนเวลาสองยามสักสิบนาที เคาะประตูเรียกอยู่นาน นายขุนทองจึงสะลึมสะลือลุกขึ้นมาเปิดให้ แล้วรีบกลับเข้าไปนอน ทิ้งหน้าที่การปิดประตูไว้ให้นายสมชายทำ ท่านพะรครูอยากจะถามเรื่องการสวดอภิธรรมศพเจ๊นวลศรีว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ ก็มีอันไม่ได้ถาม ท่านคิดว่าพรุ่งนี้ก็คงจะรู้ พระมหาบุญคงทำหน้าที่ของท่านได้อย่างเรียบร้อยเหมือนเช่นเคย..

 

มีต่อ........๔๗

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 23, 2007, 08:08:00 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00047
๔๗...

นายสมชายยกสำรับลงมาข้างล่าง นายขุนทองกำลังจะตามลงมาก็พอดีกับท่านพระครูถามขึ้นว่า

“งานสวดศพเจ๊นวลศรีเรียบร้อยดีใช่ไหม เขาเคลื่อนศพมาถึงวัดตอนกี่โมง”

“ไม่มีศพใครมาเลยนี่ฮะหลวงลุง พระมหาบุญท่านก็ยังสงสัยว่าทำไมถึงไม่เป็นไปตามที่หลวงลุงสั่งเอาไว” หลานชายรายงาน

“ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าลูกหลานเขาคงจะเปลี่ยนใจไม่เอามาไว้วัดนี้กระมัง ที่จริงรับปากคนตายไว้แล้ว ไม่น่าจะเสียคำพูด” ท่านตำหนิกราย ๆ ตำหนิคนเป็นลูกหลานของเจ๊นวลศรี

“เขาคงคิดว่าตายไปแล้วคงไม่รู้มังฮะ นี่ถ้าเป็นหนูจะกลับมาหักคอให้ตายทั้งโขยงเลย โทษฐานที่ขัดคำสั่ง” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด

“เอาเถอะ ๆ ลงไปกินข้าวได้แล้ว กินเสร็จช่วยไปตามแม่หนูคนนั้นมาพบข้าหน่อย คนที่เอ็งพาไปฝากไว้ที่โรงครัวน่ะ” ท่านออกคำสั่ง

“นังเตยน่ะหรือฮะหลวงลุง เห็นพวกแม่ครัวเขาพูดกันว่าสงสัยมันจะท้อง เพราะอาเจียนโอ้ก ๆ ทุกเช้า

“เอ็งเพิ่งรู้หรือ ข้ารู้มาตั้งนานแล้ว” ท่านพระครูว่า

“แต่หนูว่าหนูรู้ก่อนหลวงลุงอีกนะ” หลานชายไม่ยอมแพ้

“ถ้าเอ็งรู้จริงก็บอกข้ามาซิว่าเขาท้องได้กี่เดือนแล้ว”

“สามเดือนฮะ” ชายหนุ่มตอบค่อนข้างมั่นใจ

“นั่นแสดงว่าเอ็งรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงต้องตอบว่าสี่เดือน ข้ารู้ตั้งแต่วันแรกที่เห็นหน้าเขา เอ็งอย่ามาทำเก่งกว่าข้าหน่อยเลยเจ้าขุนทอง เพราะคนที่เก่งกว่าข้าน่ะพากันตายไปหมดแล้ว” ท่านตั้งใจยั่วหลานชาย หากคราวนี้นายขุนทองไม่โต้ตอบเพราะรู้สึกหิว จึงยกถ้วยชามเดินลงมาข้างล่างซึ่งนายสมชายรออยู่

“ทำไมเอ็งช้านักวะ ก็ไหนว่าหิวไง” ลูกศิษย์วัดต่อว่าเพราะลงมารอค่อนข้างนาน

“ก็หลวงลุงน่ะซี ถามโน่นถามนี่อยู่ได้” เขาโยนความผิดไปให้ท่านเจ้าของกุฏิ

“ท่านถามอะไรเอ็งก็ตอบ ๆ ไปเสียก็หมดเรื่อง ข้าว่ามัวแต่ต่อล้อต่อเถียงท่านอยู่น่ะซี รู้นิสัยเอ็งหรอกน่า” คนมาวัยกว่าพูดดักคอ

“เอาเหอะ ๆ หนูหิวแล้ว กินข้าวกันดีกว่า อิ่มแล้วค่อยเถียงกันใหม่” นายขุนทองพูดตัดบท แล้วคนทั้งสองก็ก้มหน้าก้มตารับประทานอาหารโดยไม่พูดไม่จา นายสมชายคิดว่าอิ่มแล้วจะของีบสักพักใหญ่ ๆ แล้วก็จะตื่นขึ้นมาล้างรถ แดดร่มลมตกจึงจะขี่จักรยานคู่ชีพไปบ้านเหนือ ขืนไปแต่วันก็อายชาวบ้านร้านถิ่นเขา จะต้องถูกครหาว่ามานั่งเฝ้าสาวจนไม่เป็นอันทำมาหากิน พวกชาวบ้านเขาจ้องจะนินทาอยู่แล้ว ถึงไม่เคยไปทำอะไรให้เขาต้องเดือดร้อนรำคาญใจก็มีสิทธิ์ถูกนินทาได้

อิ่มหมีพีมันกันแล้วนายขุนทองก็ออกคำสั่ง

“พี่ช่วยเก็บสำรับล้างด้วย หนูจะไปตามนังเตยมาพบหลวงลุง”

“เอ็งก็ล้างก่อนซิแล้วค่อยไป ข้าง่วง เมื่อคืนกลับดึก แล้วยังต้องมาปิดประตูแทนเอ็งอีก” เขาถือโอกาสทวงบุญคุณ

งั้นพี่ไปตามนังเตยมันแทนหนูได้ไหมล่ะ” คนอ่อนวัยกว่าต่อรอง

“ข้าจะไปก็ได้ แต่มันน่าเกลียดเพราะข้ามันเป็นผู้ชาย เอ็งไปน่ะดีแล้ว ผู้หญิงเหมือนกันค่อยพูดกันรู้เรื่อง” ประโยคหลังถูกใจนายขุนทองนัก เขาจึงเก็บสำรับไปกองรวมไว้หลังกุฏิแล้วเดินไปตามนางสาวเตย กลับมาค่อยมาล้าง

นายสมชายจึงถือโอกาสเข้าไปแอบนอนในห้องนายขุนทอง ขืนขึ้นไปห้องตัวเองคงต้องถูกท่านพระครูซักไซ้ไล่เลียง แล้วก็คงไม่มีโอกาสได้นอน เพราะท่านไม่ชอบให้ใครนอนกลางวัน ท่านว่าจะทำให้เป็นโรคเกียจคร้าน ตั้งแต่เข้ามาปรนนิบัติรับใช้ท่านก็ยังไม่เคยเห็นท่านนอนกลางวันเลยสักครั้ง

แม้ในยามอาพาธเจ็บป่วย หมอสั่งให้พักผ่อนมาก ๆ ท่านก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามคำสั่งของหมอ ครั้นถูกหมอต่อว่า ท่านก็ออกตัวว่า “อาตมากลัวจะมีโรคแทรก” พอหมอถามว่าท่านกลัวโรคอะไรแทรก ท่านก็ตอบว่า “โรคเกียจคร้าน ถ้าอาตมาขืนนอนกลางวัน รับรองว่าต้องถูกโรคเกียจคร้านแทรก” หมอก็เลยต้องยอมจำนนต่อเหตุผลของท่าน แล้วท่านก็คงจะเกรงใจหมอ เพราะนาน ๆ จึงจะอาพาธสักที และหากอาการไม่หนักหนาสาหัสจริง ๆ แล้วก็จะไม่ให้หมอได้รู้เป็นเด็ดขาด

นายขุนทองเดินไปตามนางสาวเตย ที่โรงครัว ถ้าหากไม่พบก็ว่าจะลองถามพวกแม่ครัวเขาดู บังเอิญได้ยินเสียงโอ้กอ้ากอยู่ทางด้านหลังจึงเดินไปยังที่มาของเสียง

“เตย หลวงลุงให้มาตามเอ็งไปพบ” เขาบอก ขณะที่ฝ่ายนั้นโก่งคออาเจียนเอา ๆ

“ตกลงท่านจะให้หนูบวชหรือเปล่า พี่ขุนทองรู้ไหม” นางสาวเตยถามเมื่อหยุดอาเจียนแล้ว

“ก็เอ็งท้องไม่ใช่เหรอ คนท้องเขาบวชกันซะที่ไหนล่ะ

“ใครว่าหนูท้อง หนูเป็นโรคกระเพาะตังหาก” คนท้องสี่เดือนยังไม่ยอมรับความจริง

“เอ็งจะปิดไปทำไมวะ อีกหน่อยท้องมันก็ป่องออกมาฟ้องเอง ว่าแต่ว่าเอ็งท้องได้กี่เดือนแล้ว” คนถามมองดูท้องของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งนูนขึ้นมานิดเดียวเท่านั้น

“สามเดือนจ้ะ” นางสาวเตยตอบ

“ว่าแต่ว่าพี่อย่าบอกหลวงพ่อนะ ไง ๆ หนูขอบวชสักเดือนสองเดือน พอท้องมันโตค่อยสึก” หล่อนพูดเอาแต่ได้

“ข้าไม่ออกความเห็นดีกว่า เอ็งไปคุยกับหลวงลุงเอาเองก็แล้วกัน แต่ท่านรู้ว่าเอ็งท้องนะ ท่านว่าเอ็งท้องได้สี่เดือน แต่ข้าว่าเอ็งท้องสามเดือน ข้าชนะท่านแล้ว” นายขุนทองคิดว่าจะต้องไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับท่าน ในที่สุดเขาก็ชนะท่านจนได้ ก็นังเตยมันว่ามันท้องสามเดือนนี่นา”

“ท่านรู้ได้ยังไงล่ะพี่ หรือพวกแม่ครัวแอบไปบอก ถ้าเป็นยังงั้นหนูจะด่าให้เปิงเชียวละ” คนจะบวชชีแสดงอาการเกรี้ยวโกรธ

“ไม่มีใครบอกท่านหรอก ท่านรู้เอง เอ็งไม่รู้อะไร หลวงลุงท่านตาทิพย์นะ สามารถเห็นอะไร ๆ ที่คนธรรมดา ๆ ไม่เห็น เอาเหอะ อย่ามัวชัดช้าร่ำไรเดี๋ยวท่านจะรอ ไปกันเดี๋ยวนี้แหละ” พูดจบก็เดินนำนางสาวเตยมาที่กุฏิ ท่านพระครูลงมานั่งรอที่อาสนะแล้วเมื่อไปถึง หล่อนกราบสามครั้ง แล้วตั้งคำถาม

“ตกลงหลวงพ่อจะให้หนูบวชเมื่อไหร่คะ”

“หนูอย่าพูดเอาแต่ได้ยังงั้นซี คิดให้ยาว ๆ หน่อย หนูไม่กลัวว่าจะทำให้เสียชื่อเสียงวัดหรือไง ถ้าหนูมาคนเดียว หลวงพ่อก็จะให้บวช แต่มาสองคนบวชไม่ได้”

“หนูก็มาคนเดียวนี่คะ” หล่อนเถียง

“สองสิหนู ในท้องอีกคนไง หนูท้องไม่ใช่หรือ แล้วก็ไม่ต้องไปด่าแม่ครัวเขาหรอกนะ เขาไม่ได้มาบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อรู้เอง ที่หนูคุยกับเจ้าขุนทองเมื่อกี้ หลวงพ่อก็ได้ยินหมดแล้ว จะให้บอกไหมล่ะว่าพูดอะไรกันบ้าง” นายขุนทองยังไม่ได้ลุกออกไปล้างชามจึงถือโอกาสอวดสรรพคุณของตนว่า

“หลวงลุงแพ้หนูแล้ว เขาท้องได้สามเดือนจริง ๆ นั่นแหละ หลวงลุงหาว่าสี่เดือน”

ท่านพระครูจึงพูดกับนางสาวเตยผู้ซึ่งเริ่มร้องไห้กระซิก ๆ อยู่ต่อหน้าท่านว่า

“ไงจ๊ะแม่หนู ท้องสี่เดือนทำไมถึงว่าสามเดือน นี่ขนาดหลวงพ่อไม่ได้ท้องเองยังรู้เลย แล้วทำไมตัวหนูไม่รู้ล่ะจ๊ะ” นางสาวเตยจึงต้องคิดทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่ได้เสียกับไอ้หนุ่มเพื่อนบ้าน กระทั่งรอบเดือนขาดไป แล้วก็ต้องยอมรับว่าหลวงพ่อท่านพูดถูก รอบเดือนของหล่อนหายไปสี่ครั้ง ก็แปลว่าหล่อนต้องท้องสี่เดือน ทำไมหลวงพ่อท่านถึงได้รู้อะไร ๆ ได้มากมายนัก “สงสัยคงเป็นผู้วิเศษแน่ ๆ” หล่อนคิด

“หลวงพ่อไม่ใช่ผู้วิเศษหรอกหนู อย่าคิดไปไกลขนาดนั้น” นางสาวเตยยิ่งประหลาดใจมากขึ้น เมื่อท่านรู้แม้กระทั่งว่าหล่อนคิดอะไรเช่นนี้ ก็ป่วยการที่จะโกหกท่าน จึงพูดทั้งน้ำตาว่า

“หลวงพ่อคะ หนูกลุ้มใจ ไอ้คนที่มันทำหนูท้อง มันไม่ยอมรับเป็นพ่อของลูกในท้องค่ะ” หล่อนเล่าความจริง

“หนูอยากให้เขารับใช่ไหม”

“ค่ะ ไม่งั้นหนูจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ใครรู้เข้าหนูคงอกแตกตายแน่โดยเฉพาะพ่อกับแม่หนู” แล้วหล่อนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น คิดเคียดแค้นชิงชังเจ้าหนุ่มเพื่อนบ้านที่เป็นพ่อเด็กในท้อง

“เอาเถอะ หยุดร้องไห้ได้แล้ว หลวงพ่อมีวิธีที่จะทำให้คนรักของหนูเขามาแต่งงานกับหนู แต่หนูจะต้องไม่บวชชี ตกลงไหม”

“จริงหรือคะหลวงพ่อ” ถามอย่างยินดี หล่อนเชื่อว่าท่านต้องทำได้ เพราะท่านเป็นผู้วิเศษ

“จริงหรือไม่จริงก็ต้องคอยดูกัน แต่หลวงพ่อก็ขอบอกไว้ก่อนว่ายังไง ๆ ก็อนุญาตให้หนูบวชชีไม่ได้”

“หนูไม่บวชแล้วค่ะ ถ้าหลวงพ่อทำให้หนูได้แต่งงานกับเขา หนูไม่บวชค่ะ นึกว่าช่วยหนูเอาบุญเถิดนะคะ หนูหมดที่พึ่งแล้ว ครั้งแรกคิดจะฆ่าตัวตายแต่ใจไม่ถึง” คนท้องสารภาพ

“อย่าเชียวนะหนู อย่าได้ฆ่าตัวตายเป็นอันขาด คนที่ฆ่าตัวตายต้องตกนรกถึงห้าร้อยชาติ แล้วถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะต้องฆ่าตัวตายถึงเจ็ดชาติ จึงจะหมดเวร มีตัวอย่างแล้ว ลูกศิษย์หลวงพ่อคนหนึ่ง เป็นอาจารย์สอนอยู่โรงเรียนประจำจังหวัด เคยมาเข้ากรรมฐานกับหลวงพ่อแล้วก็เกิดระลึกชาติได้ว่าเคยฆ่าตัวตายมาหกชาติแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

“แล้วหลวงพ่อไม่ช่วยเขาหรือคะ ช่วยไม่ให้เขาฆ่าตัวตายน่ะค่ะ”

“ช่วยสิหนู หลวงพ่อก็พยายามจนสุดความสามารถ แต่พ่อกับแม่เขาไม่ร่วมมือด้วย ในที่สุดเขาก็เลยผูกคอตาย แต่ก็ตายอย่างมีสตินะ เพราะเขารู้ว่าจะต้องชดใช้กรรม”

“ทำไมพ่อแม่เขาไม่ให้ความร่วมมือกับหลวงพ่อล่ะคะ หรือว่าเป็นตาสีตาสาไม่รู้เรื่องรู้ราว”

“ไม่ใช่ตาสีตาสาหรอก พ่อเขาเป็นนายตำรวจ ส่วนแม่เขาเป็นครูประชาบาล แต่เขาไม่เชื่อที่หลวงพ่อบอก พอลูกสาวตาย พากันมาร้องห่มร้องไห้ที่กุฏินี่ทั้งผัวและเมียเลย บอกรู้ยังงี้เชื่อหลวงพ่อก็ดีหรอก หลวงพ่อก็เลยตอบไปว่ามาเชื่อเอาตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะถึงยังไงลูกสาวก็ไม่ฟื้นคืนชีพมาอีกแล้ว แม่หนูคนนี้ก่อนตายเขาก็สร้างบ้านให้พ่อแม่หลังใหญ่เชียว สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ตอนสร้างใช้เงินไม่กี่หมื่น แต่ตอนนี้ราคาหลายแสน”

“แล้วเขาต้องไปตกนรกอีกไหมคะ”

“ไม่ตกแล้วหนู ก่อนตายเขาก็ไหว้พระสวดมนต์แล้วนั่งกรรมฐาน พ่อกับแม่ก็ไปทำงานแต่เช้า ก่อนไปเห็นลูกสาวนั่งสวดมนต์อยู่ในห้องพระก็ไม่ได้สังหรณ์ใจ ตกเย็นเลิกงานมาก็ยังเห็นลูกสาวนั่งอยู่ในห้องพระ จึงเข้าไปเรียก คิดว่า “เอ วันนี้อีหนูนั่งกรรมฐานนานจัง” ปรากฏว่าเรียกเท่าไหร่ ลูกสาวก็ไม่ยอมลืมตา เลยเข้าไปจับตัวดูจึงรู้ว่าตายเพราะตัวเย็นซีดเลย”

“ก็ไหนหลวงพ่อว่าเขาผูกคอตายไงคะ”

“ก็ผูกคอตายน่ะสิ คือเขานั่งอยู่ในห้องพระ แต่ก็ใช้ผ้าสไบเฉียงพันรอบคอเอาไว้” ก็พันหลวม ๆ นี่แหละ คือผูกคอตายพอเป็นพิธีว่างั้นเถอะ พวกชาวบ้านใกล้เคียงเขาเล่าให้พ่อแม่ของแม่หนูคนนี้ฟังว่าเขาเห็นคนแต่งชุดขาวเดินกันให้ขวักไขว่ไปหมด ยังคิดว่าที่บ้านมีงาน หนูรู้ไหมที่ชาวบ้านเขาเห็นนั้นก็คือพวกเทวดา แสดงว่าเทวดามารับเอาไป”

“แบบนี้ก็ไปสวรรค์ซีคะ”

“ถูกแล้ว ถ้าไปนรก ยมบาลจะมารับ คนอื่นจะไม่เห็น แต่คนที่กำลังจะตายเขาจะเห็น คือเห็นยมบาลน่ะ”

“แหม งั้นหนูก็โชคดีนะคะที่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย ยิ่งกว่านั้นยังมาพบหลวงพ่อผู้เปี่ยมด้วยเมตตาอีก”

“ไม่ต้องยอหลวงพ่อหรอกหนู ไง ๆ หลวงพ่อก็ต้องช่วยหนูอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญที่สุด หนูจะต้องช่วยตัวหนูเองด้วย ต้องเพียรพยายามให้มากที่สุด แล้วหนูจะประสบความสำเร็จ อย่าลืมนะหนู พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า “บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” หญิงสาวคิดว่าท่านพระครูคงจะช่วยหล่อนด้วยการทำเสน่ห์ให้คนรักกลับมาหา จึงถามวิธีการที่ตนจะต้องปฏิบัติ

“แล้วหนูจะต้องทำอะไรบ้างคะหลวงพ่อ แล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสักเท่าไหร่”

“หนูก็ต้องทำตามที่หลวงพ่อแนะนำอย่างเคร่งครัด ส่วนค่าใช้จ่ายไม่ต้องเสียอะไรเลย แถมที่อยู่ที่กินก็ฟรีอีกด้วย อย่าคิดว่าหลวงพ่อจะทำเสน่ห์ให้นะหนู เรื่องเสน่ห์เล่ห์กลหลวงพ่อไม่ถนัด แล้วก็รู้ว่ามันไม่ใช่ทางที่จะแก้ปัญหา พวกที่ไปพึ่งหมอเสน่ห์มักจะถูกหลอกกันเสียมาก บางคนถึงกับเสียเนื้อเสียตัวให้”

“แล้วพวกหมอเสน่ห์บาปไหมคะ”

“บาปสิหนู ก็เขาทุกข์มาขอพึ่งแล้วยังจะไปทำให้เขาทุกข์หนักขึ้นไปอีก พวกนี้ตายไปต้องตกนรก”

“แล้ววิธีการของหลวงพ่อทำอย่างไรคะ”

“วิธีของหลวงพ่อนั้นต้องใช้ปัญญาแก้ปัญหา คนที่มีปัญญาจะต้องมาเข้ากรรมฐาน ฝึกจิตสงบปัญญาก็เกิด ก็ใช้ปัญญานั้นแก้ปัญหาได้ วิธีนี้ดีที่สุด ไม่เป็นพิษเป็นภัยและไม่ต้องเสียเงินเสียทอง แต่การปฏิบัติก็ไม่ง่ายนัก ผู้ปฏิบัติต้องอดทน ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ต้องตั้งจิตให้แน่วแน่ว่าเราจะทำให้ได้ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของตัวเรา หลวงพ่อช่วยได้เพียงให้คำแนะนำเท่านั้น ส่วนเรื่องปฏิบัติหนูต้องทำเอง หลวงพ่อจะเปรียบเทียบให้หนูเห็นง่าย ๆ คือ เวลานี้หนูเปรียบเสมือนคนไข้ที่มาให้หลวงพ่อรักษา หลวงพ่อเป็นหมอตรวจดูอาการแล้ว ก็รู้ว่าหนูเป็นโรคอะไร จะต้องให้ยาอะไรไปรับประทานจึงจะหาย เมื่อหมอเขาให้ยาแล้ว หน้าที่ของหนูก็คือต้องกินยาตามที่หมอแนะนำ ถ้าหนูไม่กินยาโรคก็ไม่หาย หมอเขาจะกินยาแทนหนูก็ไม่ได้จริงไหม”

“จริงค่ะ ถ้าอย่างนั้นหนูขอเข้ากรรมฐานวันนี้เลยนะคะ” หญิงสาวพูดอย่างปีติ รู้สึกว่า ความทุกข์ที่สุมแน่นอยู่ในอกนั้นถูกขจัดออกไปตั้งครึ่งตั้งค่อน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาพบพระใจดีมีเมตตาเช่นหลวงพ่อองค์นี้ คงเป็นบุญของหล่อนและลูกในท้องนั่นเอง

“ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวหลวงพ่อจะให้เจ้าขุนทองพาไปอยู่สำนักชี ตอนเย็นให้หัวหน้าแม่ชีเขาพามาขึ้นกรรมฐาน ปกติคนมาเข้ากรรมฐาน หลวงพ่อจะให้รับศีลแปด แต่สำหรับหนูหลวงพ่ออนุญาตให้เป็นกรณีพิเศษ คือให้รับแค่ศีลห้า จะได้ไม่กระทบกระเทือนลูกในท้อง ตอนเย็นหนูก็ไปทานอาหารที่โรงครัวได้”

“แล้วกี่วันถึงจะได้ผลคะหลวงพ่อ” หล่อนถาม ท่านพระครูอยากให้หล่อนสบายใจ จึงตอบไปตามที่ “เห็นหนอ” รายงาน

“อีกสิบห้าวัน หนูจำไว้เลยนะ กลับไปจดไว้ก็ได้ วันนี้วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ใช่ไหม นับต่อไปอีกสิบห้าวันซิถึงวันที่เท่าไหร่” หญิงสาวนับนิ้วมือขยุกขยิกอยู่นาน หากก็ไม่สามารถตอบท่านได้ เพราะไม่รู้ว่าปีนี้เดือนกุมภาพันธ์มีกี่วัน นายขุนทองซึ่งยอมรับว่าเป็นผู้แพ้และนั่งฟังอยู่อย่างสงบเสงี่ยม จึงลุกขึ้นไปเปิดดูปฏิทินที่แขวนอยู่ข้างฝา

“วันที่ ๔ มีนาคม ฮะหลวงลุง” เขาบอก

“วันที่ ๕ ต่างหาก ข้าบอกให้นับต่อไปอีกสิบห้าวัน ก็แปลว่าวันนี้ไม่ต้องนับ” ท่านพระครูพูดเรียบ ๆ หากนายขุนทองก็รู้สึกว่าวันนี้เขาพ่ายแพ้ท่านเป็นคำรบสองแล้ว ครั้นจะลุกออกไปล้างชามก็เกรงจะถูกดุให้ต้องขายหน้าอีก เพราะท่านเคยกำชับไว้ว่าหากมีสตรีเพศมานั่งคุยกับท่าน เขาจะต้องนั่งเป็นสักขีพยานจนกว่าผู้นั้นจะลากลับไป

“เอาละแม่หนู จำไว้นะว่า วันที่ ๕ มีนาคม คนรักของหนูเขาจะมารับหนูที่นี่ มารับไปแต่งงาน เอาละไปได้ ขุนทองพาแม่หนูไปฝากที่สำนักชี แล้วตอนเย็นให้แม่ชีพามาขึ้นกรรมฐานด้วย” ท่านสั่งนายขุนทอง หญิงสาวกราบท่านสามครั้งแล้ว จึงลุกตามนายขุนทองออกไป

“พี่ขุนทอง ประเดี๋ยวหนูต้องไปเอาเสื้อผ้าที่โรงครัวก่อน” หล่อนบอกเมื่อเห็นนายขุนทองมุ่งหน้าไปทางสำนักชี

“เออ แล้วเอ็งจะไปด่าเขาไหม”

“ด่าใคร” คนพูดลืมไปแล้ว

“ก็ด่าพวกแม่ครัวไง เมื่อกี้เอ็งบอกจะด่าให้เปิงน่ะ ตอนนี้เปลี่ยนใจหรือยัง” นางสาวเตยยังนึกไม่ออกจึงย้อนถามว่า

“ทำไมหนูต้องไปด่าเขาด้วยล่ะ ทำไม” หล่อนจำไม่ได้จริง ๆ

“โธ่เว้ย” นายขุนทองชักมีโมโห

“ก็ที่เอ็งหาว่าเขาไปบอกหลวงลุงเรื่องเอ็งท้องน่ะ เมื่อกี้เอ็งบอกจะด่าให้เปิงไง ข้าถามว่ายังคิดจะด่าเขาอีกหรือเปล่า เอ็งนี่คงเอาสมองหมาปัญญาควายมาแน่ ๆ เลย” เขาว่า

“อ้าว ไหงมาด่ากันง่าย ๆ ล่ะพี่” ถึงจะปัญญาน้อยด้วยความรู้ขนาดไหนก็รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งด่า ด่าซึ่ง ๆ หน้าเสียด้วย

“ก็จริงไหมล่ะ” คนด่ายังคงเถียง

“ฉันจะโง่หรือฉลาดมันก็ไม่เกี่ยวกับใคร เรื่องอะไรมาด่าฉัน ถือดียังไงฮึ” นางสาวเตยชักโกรธจึงเปลี่ยนสรรพนามจาก “หนู” มาเป็น “ฉัน”

“เปล่าหรอกน่า เอ็งอย่าทำโกรธไปเลย ก็ข้าถามเอ็งดี ๆ อยากทำไม่รู้เรื่องนี่นา” เห็นหญิงสาวโกรธ นายขุนทองจึงพูดกลบเกลื่อน

“อ๋อ หนูเพิ่งนึกได้ แหมหนูมันโง่จริง ๆ นั่นแหละ แล้วยังจะมาโกรธพี่อีก ขอโทษด้วยนะพี่นะ” นางสาวเตยขอลุแก่โทษเมื่อนึกขึ้นได้ว่าพูดอะไรเอาไว้

“เออ พูดยังงี้ค่อยรู้เรื่องกันหน่อย ตกลงเอ็งหาคำตอบให้ข้าได้หรือยังล่ะ”

“ได้แล้วจ้ะ หนูกำลังจะบอกพี่เดี๋ยวนี้ไงว่าหนูไม่ด่าพวกเขาแล้ว เพราะพวกเขาไม่ได้เอาเรื่องของหนูไปเล่าให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อท่านรู้เองเพาะท่านเป็นผู้วิเศษ แต่ถึงพวกเขาจะเอาไปบอกท่าน หนูก็จะไม่ด่า เพราะยังต้องฝากปากท้องไว้กับเขาอีกตั้งสิบห้าวัน ไปทำตัวเป็นศัตรูกับเขา มันก็ไม่สมควร จริงไหมล่ะพี่”

“จริง จริงที่สุดในโลก แหมเอ็งนี่ฉลาดรอบคอบดีจริง ๆ พับผ่าซี” คนที่ด่าอยู่หยก ๆ เปลี่ยนมาเป็นชม..

 

มีต่อ........๔๘

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 23, 2007, 08:09:46 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00048
๔๘...

          วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ รัฐมนตรีและคุณหญิง พร้อมด้วยญาติมิตรและผู้ติดตาม ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ที่วัดป่ามะม่วง

เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบลง มัคทายกก็นำกล่าวถวายข้าวพระพุทธและถวายสังฆทานตามลำดับ พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร ที่เจ้าภาพช่วยกันประเคน

ท่านพระครูเพียงแต่นั่งพิจารณาอาหารเหมือนเช่นเคย เพราะท่านชินเสียแล้วกับการฉันเช้าเพียงมื้อเดียว บังเอิญเจ้าภาพลุกออกไปเดินชมวัด หลังจากประเคนภัตตาหารแล้ว จึงไม่มีผู้ใดมานั่งคะยั้นคะยอให้ท่านฉันเช่นทุกครั้งที่มีผู้มาถวายเพล

กระทั่งพระฉันเสร็จ รัฐมนตรีและคุณหญิงก็ยังไม่กลับเข้ามา ญาติมิตรและผู้ติดตามจึงต้องช่วยกันประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม หลังจากนั้น พระสงฆ์ “ยถา สัพพี” โดยที่เจ้าภาพไม่ได้กรวดน้ำและรับพร เพราะมัวไปเดินชมวัดกันเพลิน ส่วนพวกที่ยังอยู่บนศาลา ก็พากันนั่งประนมมือคุยกันประจ๋อประแจ๋ อย่างคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ

เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกตำหนิในใจว่าไม่ได้เรื่องพอ ๆ กัน ทั้งผู้นำและผู้ตาม แล้วก็เลยคิดไปถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคนี้ ว่าต่างพากันห่างเหินศาสนาออกไปทุกที แต่จะว่าคฤหัสถ์ข้างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าเองก็มีส่วนทำให้คนไม่เลื่อมใสศรัทธาเท่าที่ควร ส่วนคนที่มีศรัทธาปสาทะ ซึ่งพอจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็กลับขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เช่นรัฐมนตรีและคุณหญิงคู่นี้ ที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาทำบุญ แต่กลับไม่ได้บุญเพราะมัวไปเดินชมนกชมไม้กันเสีย

ท่านพระครูตัดสินใจแล้วว่า ท่านจะต้อง “ผ่าตัด” คนเป็นรัฐมนตรี ด้วยการฝึกให้เขาได้รู้จักกับสิ่งที่ “ถูกต้อง” เสียบ้าง มิใช่จะรู้แต่สิ่งที่ “ถูกใจ” เท่านั้น บุคคลทั้งสองกลับเข้ามานั่งในศาลาอีกครั้งเมื่อพระให้พรจบพอดี สงฆ์รูปอื่น ๆ กราบพระพุทธรูปแล้วลุกออกไป คงเหลือแต่ท่านพระครูรูปเดียว

“ขอเชิญรับประทานอาหารกันก่อน ประเดี๋ยวอาตมาจะเทศน์นอกธรรมาสน์ให้ฟัง” ท่านเชื้อเชิญพวกเขา เพราะคนที่จะฟังเทศน์รู้เรื่องดีนั้นต้องให้ท้องอิ่มเสียก่อน

“วันนี้หลวงพ่อไม่มีธุระไปไหนหรือครับ” รัฐมนตรีถาม

“บ่ายสองอาตมาต้องไปงานเผาศพคนรู้จัก” ท่านตอบ

“ที่ไหนครับหลวงพ่อ”

“ที่จังหวัด แต่ยังไม่รู้เลยว่าวัดไหน คงต้องไปที่บ้านเขาก่อน ตอนแรกเห็นว่าจะเอาศพมาไว้ที่วัดนี้ แล้วยังไงจึงเปลี่ยนใจเสียก็ไม่ทราบ” ท่านหมายถึงศพของเจ๊นวลศรี

“หลวงพ่อทราบหรือครับ” รัฐมนตรีนึกตำหนิเจ้าภาพ

“เขาคงยุ่งกระมัง พอดีอาตมาไม่สนิทสนมกับเจ้าภาพเท่าไหร่ แต่กับคนตาย คุ้นเคยกัน ก็เลยต้องไปเผาเขาหน่อย” ท่านตอบเป็นกลาง ๆ

เมื่อคณะของรัฐมนตรีรับประทานอาหารกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเริ่มต้น “เทศน์”

“กับข้าววัดป่ามะม่วงรสชาติเป็นอย่างไรบ้าง พอจะทานกันได้หรือเปล่า” ท่านอารัมภบท อาหารคาวหวานมื้อนี้เป็นฝีมือของแม่ครัววัดป่ามะม่วง เจ้าภาพเพียงแต่นำเงินมาจ่ายตามราคาที่ซื้อของมา ซึ่งคนจ่ายกับข้าวก็จะจดรายการมาให้อย่างละเอียดว่าได้จ่ายอะไรไปบ้าง ส่วนปัจจัยไทยธรรม เจ้าภาพเตรียมมาเอง

“อร่อยมากค่ะหลวงพ่อ” คุณหญิงตอบ เธอเองก็นึกไม่ถึงว่าอาหาร “วัดบ้านนอก” จะเอร็ดอร่อยถึงปานนี้ จะว่าเป็นเพราะกำลังหิวก็คงไม่ใช่เพราะอาหารบางอย่าง ต่อให้หิวยังไงก็ยังรู้สึกว่ามันไม่อร่อยอยู่นั่นเอง

“ถ้าอย่างนั้นก็มาทานบ่อย ๆ นะ ใครทานข้าววัดนี้แล้วรวยทุกคน” บรรดาคณะผู้ติดตามต่างพากันหัวเราะคิกคักด้วยรู้สึกขำ

“อ้าว อย่าหัวเราะนา นี่อาตมาพูดจริง ๆ ไม่ได้พูดเล่น ใครมาทานข้าววัดนี้ กลับไปรวยทุกคน” คุณหญิงซึ่งรวยอยู่แล้ว แต่อยากรวยให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้จึงว่า

“ถ้าอย่างนั้นดิฉันเห็นจะต้องมาถวายเพลอีกแล้วละค่ะ” ภรรยาหมายเลขหนึ่งของรัฐมนตรีคิด “ลงทุน” เพื่อหวังกำไร

“ไม่ต้องมาถวายเพลก็ได้ ถ้าอยากจะทานอาหารวัดป่ามะม่วงก็เชิญได้ทุกเวลา อาตมาสั่งพวกแม่ครัวเขาไว้แล้วว่าให้ทำสุดฝีมือทุกวัน กับข้าววัดนี้ก็เลยอร่อยทุกวัน คุณหญิงอยากรู้เคล็ดลับในการทำอาหารให้อร่อยไหมล่ะ อาตมาจะบอกให้”

“อยากค่ะ” คุณหญิงตอบ บรรดาผู้ติดตามที่เป็นสตรีก็พากันอยากรู้ ท่านพระครูจึงบอกเคล็ดลับว่า

“การจะทำอาหารให้อร่อย ก็ต้องตั้งสติให้ดี ทำใจให้ปลอดโปร่ง ถ้าใจดีอย่างเดียว อะไร ๆ มันก็ดีหมด ทำกับข้าวก็อร่อยโดยไม่ต้องใช้ผงชูรส ชื่ออะไรนะที่เขาเรียก โนะ ๆ โต๊ะ ๆ น่ะ”

“อายิโนะโมะโต๊ะค่ะ” คุณหญิงบอกชื่อผงชูรสยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดยคนญี่ปุ่น แต่ชาวญี่ปุ่นเขาไม่นิยมใช้กัน

“นั่นแหละ ๆ วัดนี้ไม่ต้องใช้โต๊ะที่ว่านั่น ใช้แต่โต๊ะสำหรับนั่งกินข้าว” คนฟังพากันหัวเราะชอบใจที่ท่านช่างมีอารมณ์ขัน

“ท่านรัฐมนตรีเคยผ่าตัดบ้างหรือเปล่า” เห็นทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสกันถ้วนหน้าแล้ว ท่านจึงเริ่มเรื่อง

“ไม่เคยครับหลวงพ่อ” รัฐมนตรีรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงถามอย่างนี้ หรือว่าเขามีเคราะห์

“แล้วอยากไหม อยากให้หมอผ่าตัดไหม”

“ไม่อยากครับ ผมตังความปรารถนาไว้เลยว่าอย่าให้เจอะให้เจอเป็นอันขาด ผมกลัวครับ”

“งั้นหรือ แต่ถ้าสมมุตินะ สมมุติว่าท่านจะต้องถูกผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัดก็ต้องเสียชีวิต ท่านจะเลือกเอาอย่างไหน”

“ก็คงต้องเลือกผ่าตัดแหละครับ ถ้ามันไม่มีทางอื่นที่ดีกว่าให้เลือก”

“เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็จะสมมุติต่อนะ สมมุติว่าอาตมาเป็นหมอ ท่านเป็นคนไข้อาการหนักจะต้องผ่าตัดจึงจะหาย มิฉะนั้นก็ต้องเสียชีวิต ท่านจะยอมให้อาตมาผ่าตัดหรือเปล่า”

“ยอมครับ” รัฐมนตรีตอบ หากใจแอบคิดว่า “หลวงพ่อจะมาไม่ไหนกันหนอนี่ ยังไง ๆ ก็คงไม่บอกคุณหญิงต่อหน้าเราเรื่องที่เรามีอีหนูหรอกนะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของพระของเจ้า”

“ไม่ต้องกลัว อาตมาจะไม่พูดเรื่องที่ท่านกำลังคิดอยู่นั่นหรอก เพราะมันเป็นเรื่องของท่านคนเดียว แต่เรื่องที่อาตมาจะพูดนี่มันเกี่ยวกับคนอื่น ๆ ด้วย ท่านสบายใจได้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง พูดอย่างหยั่งรู้ความคิดของอีกฝ่าย

“ถ้าอย่างนั้นกระผมนิมนต์ท่านลงมือได้เลยครับ” รัฐมนตรีพูดอย่างโล่งใจ ท่านพระครูจึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

“เจริญพาท่านรัฐมนตรี คุณหญิงและญาติโยมทุกท่านที่นั่งอยู่ในศาลาแห่งนี้ อาตมาซาบซึ้งใจยิ่งนักที่ท่านรัฐมนตรีและคณะได้มีจิตศรัทธาพากันมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรแห่งวัดป่ามะม่วงในวันนี้ นับว่าทุกท่านมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลน่าสรรเสริญ แต่ก็น่าเสียดายที่พวกท่านอุตส่าห์มาทำบุญแต่กลับไม่ได้บุญ”

“ทำไมถึงเป็นเช่นนี้เล่าครับ” รัฐมนตรีถาม

“อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามอาตมา” ผู้ติดตามคนหนึ่งอยากทราบเหตุผล จึงพูดขึ้นว่า

“พระเดชพระคุณหลวงพ่อขอรับ กระผมเป็นข้าราชการจึงรู้แต่เรื่องราชการงานเมือง ส่วนเรื่องบุญกุศลไม่ค่อยจะรู้สักเท่าไหร่ จึงขออาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อช่วยเมตตาแนะนำสั่งสอนกระผมและพวกพ้องด้วยเถิดครับ” ท่านพระครูนึกในใจว่า “เอ คนนี้พูดเข้าที ท่าทางคงจะไปได้ไกล” แล้วจึงอธิบายให้พวกเขาฟังว่า

“การทำบุญที่ไม่ได้บุญ คือ การทำบุญที่ไม่รู้ตัวเจตนา หรือ ที่เรียกว่า ทำบุญเอาหน้าสักแต่ว่ามีศรัทธา แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เจตนาก็คือ ความตั้งใจบำเพ็ญบุญ ซึ่งต้องกระทำให้ครบถ้วนกระบวนการ ยกตัวอย่างการทำบุญที่ผ่านไปเมื่อครู่นี้ อาตมามองเห็นแล้วว่า ท่านทั้งหลายมีแต่ศรัทธาเท่านั้น ทว่าไม่มีความตั้งใจบำเพ็ญบุญ ต้องขอตำหนิกันตรง ๆ อย่างนี้แหละ ท่านรัฐมนตรีจะโกรธก็ตามใจ อาตมาพูดด้วยความหวังดี”

“ผมไม่โกรธหลวงพ่อหรอกครับ” รัฐมนตรีพูดออกตัว ไม่โกรธหากก็ไม่พอใจ เพราะตั้งแต่เป็นรัฐมนตรียังไม่เคยมีผู้ใดกล้ามาตำหนิเช่นนี้ มีแต่เขายกย่องสรรเสริญ

“แต่ถึงจะโกรธ อาตมาก็ไม่ว่าหรอกนะ ยอมให้โกรธ เพราะสิ่งที่อาตมาพูดนี้จะไปเป็นประโยชน์ต่อท่านนายภาคหน้า” ท่านหยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“การที่ท่านกับคุณหญิงลุกออกไปเดินเล่นทั้งที่พิธีกรรมยังไม่เสร็จสิ้นนั้น นับว่าท่านเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ท่านทิ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาช่วยกันถวายปัจจัยไทยธรรม แทนที่จะประเคนเองในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าภาพ และเมื่อพระสงฆ์ “ยถา สัพพี” ท่านจึงไม่ได้กรวดน้ำและรับพร ที่ท่านจะต้องอยู่ เมื่อพระว่า “ยถา” ท่านต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้เปตชนหรือพวกเปรตที่เขาพากันมาคอยรับส่วนบุญ”

“เปรตมีจริงหรือครับ” ผู้ติดตามคนหนึ่งถาม

“มีสิโยม คนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ จะไปเกิดเป็นเปรต แล้วคนสมัยนี้ก็ไปเกิดเป็นเปรตกันมาก อย่าว่าแต่คนเลย พระเองก็เถอะ อาตมาเห็นไปเกิดเป็นเปรตหลายรูปแล้ว”

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พวกญาติ ๆ ของพระองค์ที่ไปเกิดเป็นเปรตก็พากันมาขอส่วนบุญ”

“หรือคะ แหมดิฉันคิดว่า ตัวพระเจ้าพิมพิสารไปเกิดเป็นเปรตเสียอีก” คุณหญิงพูดขึ้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า พระรูปหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างนี้

“พระองค์ไม่ได้เกิดเป็นเปรตหรอกคุณหญิง ตอนที่พระองค์สวรรคต ทรงได้โสดาปัตติผลแล้ว คนเป็นพระโสดาบัน จะตัดอบายภูมิได้ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน อย่างแน่นอน และเพราะเปรตมีจริง เวลาทำบุญเราจึงต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้พวกเขา อาตมามักสอนญาติโยมไว้เสมอ ๆ ว่า “ยถาให้ผี สัพพีให้คน” เพราะเมื่ออุทิศให้พวกเปตชนเสร็จ พระท่านก็จะให้พรคนด้วยการขึ้นว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ” เมื่อพระว่าดังนี้ เราจะต้องประนมมือขึ้นรับพรจากพระ บางคนพระขึ้นสัพพีแล้วยังกรดน้ำอยู่เลย ทำอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง คนที่รู้เขาจะตำหนิติเตียนเอาได้ อาตมาเคยเห็นบ่อย โดยเฉพาะพวกคนใหญ่คนโตทั้งหลาย”

“รวมทั้งผมด้วยครับ” รัฐมนตรียอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เพิ่งรู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน

“ก็นี่แหละ อาตมาก็ตั้งใจจะบอกท่านอยู่นี่ คราวหน้าคราวหลังจะได้ทำให้ถูกต้อง พวกญาติโยมก็เหมือนกัน” ท่านว่าบรรดาญาติมิตรและคณะผู้ติดตาม

“เวลาที่พระให้พร แทนที่จะตั้งใจรับพร กลับนั่งคุยกันเสียงอึงคะนึงแข่งกับเสียงพระสวด แล้วอย่างนี้จะไปได้บุญอะไร จริงไหม” ท่านถามสตรีผู้หนึ่ง

“จริงค่ะ” สตรีผู้นั้นตอบอย่างสำนึกผิด หล่อนคิดว่าต่อแต่นี้ไปจะไม่ทำเช่นนี้อีก นี่หากท่านไม่บอกหล่อนก็คงไม่รู้ จึงนึกขอบคุณท่านอยู่ในใจ คิดว่าจะต้องนำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไปสอนลูก สอนหลานให้รู้บ้าง

“โยมเชื่อไหมว่า คนที่ทำบุญเป็นล้าน ๆ แต่พอตายไปกลับไปตกนรก”

“แบบนี้ก็ทำดีได้ชั่วซีคะหลวงพ่อ” คุณหญิงขัดขึ้น

“ไม่ใช่หรอกคุณหญิง ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว อันนี้เป็นสัจธรรม”

“คนที่ทำบุญเป็นล้าน ๆ ไม่เรียกว่าทำดีหรือคะหลวงพ่อ แหมดิฉันชักงงแล้วนะคะ หลวงพ่อกรุณาอธิบายด้วยเถิดค่ะ”

“อาตมาก็กำลังจะอธิบายอยู่พอดีญาติโยมทั้งหลาย การที่เราทำบุญไม่ได้บุญนั้นเป็นเพราะเราขาดเจตนา คือ ไม่ได้ตั้งใจอย่างแท้จริง สักแต่ว่าทำตาม ๆ คนอื่นเขาที่เรียกว่าทำบุญเอาหน้า บางคนบริจาคเป็นล้านแต่ได้บุญน้อยกว่าคนที่บริจาคสิบบาท เพราะคนหลังเขาเจตนาแรงกว่า ตัวเจตนานี่สำคัญที่สุดนะโยม เจตนาก็คือใจ

พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า เจตนาหรือใจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกระทำกรรม ดังมีพุทธพจน์รับรองว่า

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลใดมีใจอันโทสะประทุษร้ายแล้วกล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท่าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ฉะนั้น.... ถ้าบุคคลใดมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่าง เหมือนเงามีปกติไปตามฉะนั้น...”  ญาติโยมเห็นแล้วใช่ไหมว่า เจตนาหรือใจนั้นสำคัญมาก คนทำบุญเป็นล้าน ๆ แล้วตายไปตกนรกก็เพราะขาดเจตนาในการบำเพ็ญบุญ และตัวเขาก็ยังประกอบด้วยทุจริต ๓ อย่าง ไหนโยมผู้ชายลองบอกอาตมามาสักคนหนึ่งซิว่า ทุจริต ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง” ท่านไม่ถามรัฐมนตรีตรง ๆ เพราะรู้ว่าฝ่ายนั้นต้อบไม่ได้ บรรดา “โยมผู้ชาย” ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นพากันปิดปากเงียบ ท่านจึงถามโยมผู้หญิง หากก็ไม่มีผู้ใดตอบอีกเช่นกัน ท่านจึงตอบเสียเองว่า

“ทุจริต ๓ อย่างคือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ถ้าใครมีทุจริต ๓ อย่างนี้ ต่อให้ทำบุญอีกร้อยล้านก็ไปตกนรกได้”

“หมายความว่าการทำทานที่ปราศจากศีล ไม่ได้บุญใช่ไหมครับ” รัฐมนตรีเริ่มจะเข้าใจขึ้นมาบ้าง

“ถูกแล้ว ถ้าเรามีเงินมาก ทำทานเป็นล้าน ๆ แต่ไม่มีศีลสักข้อเดียว ท่านที่ทำนั้นก็เป็นหมัน ไม่ได้บุญแล้วก็ยังต้องไปตกนรกอีก สมมุติว่ามีเศรษฐีคนหนึ่ง บริจาคทานทุกวัน วันละหลายหมื่น แต่เขาก็ยังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย แบบนี้เขาตายไปต้องไปตกนรก”

บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ในศาลาพากันสะดุ้งสะเทือนเมื่อท่านพูดถึง “ศีล” ต่างสำรวจตรวจสอบตัวเองว่าขาดไปกี่ข้อ คนที่มีจิตใจยุติธรรม สำรวจตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องยอมรับว่าตัวเขานั้นไม่มีศีลเลยสักข้อเดียว คนเป็นรัฐมนตรีสะดุ้งกับข้อ “ประพฤติผิดในกาม” มากที่สุด ท่านพระครูเทศน์ต่อไปอีกว่า

“ศีลเป็นเจตนาเหมือนกัน คือ เราต้องมีเจตนาว่าเราจะต้องไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเรามีศีลครบทั้งห้าข้อ เราก็ได้บุญแล้ว ได้มากว่าการบริจาคทานเสียอีก”

“หลวงพ่อครับ ถ้าอย่างนี้คนที่ถือศีลอย่างเคร่งครัด แต่เขาไม่เคยบริจาคทานก็ได้บุญมากกว่าคนที่บริจาคทานแต่ไม่มีศีลใช่ไหมครับ” ผู้ติดตามที่ท่านพระครูคิดว่า “ท่าทางจะไปได้ไกล” ถามขึ้น

“ถูกแล้ว แต่ถ้าจะให้ได้บุญมากที่สุดต้องให้ได้ครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ ถ้าใครทำได้อย่างนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุด”

“ภาวนาคืออะไรครับ หลวงพ่อพูดถึงทานและศีล ผมพอจะเข้าใจ แต่ภาวนาผมไม่เข้าใจครับว่าคืออะไร” รัฐมนตรีถาม

“ภาวนาคือการฝึกอบรมจิต เช่น การเจริญสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น อาตมาเรียกสั้น ๆ ว่า กรรมฐาน” คำอธิบายของท่านพระครูทำให้คนเป็นรัฐมนตรีงุนงงหนักขึ้น เพราะจิตไม่เคยได้ “สัมผัส” สิ่งที่เป็นนามธรรม รู้จัก แต่รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น

“กรรมฐานคืออะไรครับหลวงพ่อ” เขาถามอีก

 “ถ้าท่านรัฐมนตรีอยากรู้จักกรรมฐาน ก็ต้องมาอยู่กับอาตมาสักเจ็ดวัน มาเข้ากรรมฐานแล้วท่านจะรู้เองว่า กรรมฐานคืออะไร ถ้าให้อาตมาอธิบายด้วยคำพูด ท่านก็จะยิ่งสงสัยใหญ่ ของอย่างนี้ต้องลงมือปฏิบัติถึงจะซาบซึ้ง มาได้ไหมเล่า เจ็ดวันเท่านั้นเอง”

“คงไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ งานยุ่งมากคงปลีกเวลามาไม่ได้” เขาเอางานบังหน้า หากแท้จริงแล้วห่วงใยสาวน้อยหน้าอ่อนคนนั้นมากกว่า กำลังคลั่งไคล้ใหลหลง ไม่อยากจะพรากหล่อนไปแม้ราตรีเดียว

“แต่ถ้าท่านตั้งใจที่จะมาจริง ๆ อาตมาก็ว่าท่านมาได้ แต่เอาเถอะ ไม่เป็นไรหรอก “ลางเนื้อชอบลางยา” เรื่องอย่างนี้บังคับเคี่ยวเข็ญกันไม่ได้ บางคนนะอาตมาเห็นว่าเขาต้องเสียชีวิต แต่ถ้ามาเข้ากรรมฐานเขามีทางรอดถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ก็ชวนเขามาเข้าแต่เขาก็ไม่ยอมมา ก็เลยต้องกลับบ้านเก่า”

“แล้วผมมีเคราะห์หรือเปล่าครับหลวงพ่อ หากผมต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง ผมก็จะปลีกเวลามาเข้ากรรมฐาน” รัฐมนตรีพูดอย่างกลัว ๆ หากเขาตายลงในตอนนี้ แม่หนูหน้าหวานเนื้อนุ่มคนนั้นจะอยู่กับใคร

“ไม่มีหรอก ท่านอย่าตกใจ เอาไว้มีอาตมาค่อยบอกให้รู้ นะคุณหญิงนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับคุณหญิง

“ค่ะหลวงพ่อ” ภรรยารัฐมนตรีเอออวย

“หลวงพ่อคะ เทวดามีจริงไหมคะ” ภรรยาของผู้ติดตามคนหนึ่งถามขึ้น

“ถ้าอยากรู้ว่ามีจริงหรือไม่ วันหน้าต้องมาคุยกันใหม่ ขืนคุยวันนี้อาตมาคงไม่ได้ไปเผาศพเพราะเรื่องมันยาว วันหน้ามาใหม่นะโยมนะ”

“ค่ะ หนูจะมาขอเข้ากรรมฐานด้วยค่ะ” หล่อนพูดด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ไปวัดไหน ๆ ก็ไม่เคยศรัทธามากหมายเหมือนมาวัดนี้ “รู้อย่างนี้น่าจะมาเสียตั้งนานแล้ว” หล่อนนึกเสียดายอยู่ในใจ...

 

มีต่อ........๔๙

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 24, 2007, 06:28:28 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00049
๔๙...

          กว่าพระครูจะออกจากวัดเพื่อไปงานเผาศพ ก็เลยเวลาที่กำหนดไว้กว่าครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้เพราะรัฐมนตรีและคณะได้เกิดความสนใจใคร่ธรรม จึงพากันชวนท่านคุย จนนานสมชายต้องมากระซิบเตือน พร้อมทั้งนำรถมาจอดรอที่หน้าบันไดศาลา

          “อาตมาต้องขอตัวก่อน เขามาตามแล้ว” ท่านบอกพวกเขาแล้วลุกออกมาขึ้นรถ ผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นจึงพากันกราบท่านสามครั้งแล้วเตรียมตัวกลับ

          “ผ้าไตรเอามาหรือยัง” ท่านถามคนขับรถ

          “เอามาแล้วครับ” นายสมชายตอบ แล้วพูดต่อไปว่า

          “หลวงพ่อครับ สมมุติถ้าเกิดผมลืมเอาผ้าไตรมา แล้วก็ไปนึกได้เอาตอนที่ใกล้จะถึงบ้านงานแล้ว หลวงพ่อจะให้ผมย้อนกลับไปเอาที่วัดไหมครับ”

          “คิดเอาเอง”

          “คิดไม่ออกน่ะครับ หลวงพ่อช่วยผมคิดหน่อย”

          “คนอย่างฉันคิดหน่อยไม่เป็น ทำอะไรต้องคิดมาก ๆ ฉันถือคติว่าคิดมากมักผิดน้อย แต่ถ้าคิดน้อยมักผิดมาก คนเราจะทำอะไรต้องคิดให้มาก ๆ ไว้ก่อน แล้วจึงทำ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง คิดมาในที่นี่ก็คือคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่คิดมากจนเป็นโรคประสาท” ท่านรู้ว่าคนเป็นศิษย์กำลังจะโต้แย้งจึงกล่าวแก้ไว้เสร็จสรรพ

          “แหม หลวงพ่อของผมช่างฉลาดรอบคอบเหลือเกิน ผมดีใจที่ไดอยู่ใกล้คนฉลาดอย่างหลวงพ่อ” เขาแกล้งยอ

          “ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองฉลาดไม่เหมือนบางคนที่ชอบคิดว่าตัวเองฉลาดอยู่เรื่อย”

          “หลวงพ่อว่าผมหรือครับ”

          “คิดเอาเอง นายสมชายจึงต้องนั่งคิดไปตลอดทางกระทั่งรถมาจอดที่หน้าร้าน “เน้ยโภชนา” จึงเลิกคิด

          “นิมนต์ครับหลงพ่อ นิมนต์ข้างในเลย” นายฮิมเดินเข้ามารับถึงรถ พร้อมนิมนต์เข้าร้านซึ่งเปิดขายอาหารตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเห็นหน้าเจ้าของร้าน ก็รู้ว่าอีกสามวันเขาจะเสียชีวิตเพราะหมดอายุ ท่านรู้สึกสงสารหากก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะชวนเขาไปเข้ากรรมฐาน เขาก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่มีเวลา เข้าไปนั่งในร้านแล้วจึงพูดว่า

          “เถ้าแก่ อาตมาขอเตือนนะ อยากให้เถ้าแก่พัก ๆ งานเสียบ้าง มัวยุ่งกับงานก็ไม่มีเวลาพักผ่อน นี่อาตมาจะบอกอะไรให้ เถ้าแก่สวดมนต์นะ สวดอิติปิโสทุกเวลาได้ไหม ทำอะไรก็สวดไปด้วย กี่จบก็ไม่ต้องไปนับ ขอให้สวดตลอดเวลาก็แล้วกัน ทำได้ไหม”

          “ผมสวดไม่เป็นครับหลงพ่อ”

          “ไม่เป็นไร เดี๋ยวอาตมาจะจดให้ สวดไม่เป็นก็อ่านเอา อ่านแล้วก็ท่องไม่มากหรอก แค่สามบรรทัดเอง” แล้วท่านก็ล้วงลงไปในย่าม หยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาเขียนบทสวดพุทธคุณส่งให้นายฮิม ฝ่ายนั้นรับมาอ่านทีละคำ ๆ อย่างยากเย็น

            “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ วิชชา จะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา ติ” อ่านจบก็โอดครวญว่า

          “อ่านยากจังครับหลงพ่อ”

          “ไม่ยากหรอก เถ้าแก่อ่านถูกทุกตัวเลย อ่านซ้ำหลาย ๆ หนก็จะจำได้เอง เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลยนะ” ท่านแนะ “ทางสวรรค์” ให้ เพราะหากนายฮิมสวดพุทธคุณอยู่ตลอดเวลา จิตก็อาจเป็นสมาธิได้ เมื่อเขาดับจิตลงในขณะที่จิตผ่องใส สุคติย่อมเป็นที่หมาย ท่านช่วยเขาได้เพียงเท่านี้

            “แล้วทำไมไม่เอาศพไปไว้ที่วัดป่ามะม่วงล่ะ แล้วนี่จะเผากันที่วัดไหน” ท่านกลับมาพูดเรื่องศพเจ๊นวลศรี

          “แม่แกไม่ตายหรอกครับ หลงพ่อ” นายฮิมบอก

          “อ้าว ทำไมถึงเป็นยังงั้นไปได้ ก็อาตมากับเจ๊ก็รู้ตรงกันนี่นาว่าวันที่ ๑๗ เขาจะไปแล้ว” ท่านนึกสงสัยแล้วก็ให้นึกไปถึงคำพูดของนายสมชายเมื่อสามสี่วันก่อนที่ว่า “ถึงคราวแล้วแต่ไม่ตาย หรือตายทั้งที่ยังไม่ถึงคราว”

          “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับหลงพ่อ” นายฮิมว่า เขายิ่งนึกไม่เชื่อถือทั้งแม่ยาย ทั้งหลวงพ่อที่ทำเป็นรู้ว่าวันนั้นวันนี้จะตาย ที่แท้ก็เพ้อเจ้อทั้งเพ คนที่เก่งแต่เรื่องทำมาหากิน แต่เรื่องธรรมะไม่กระเตื้องเลยนั้น ก็ต้องคิดอย่างนายฮิมทุกคน นักปฏิบัติธรรมเท่านั้นจึงจะรู้ว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้มิได้

          “แล้วตอนนี้เขายังอยู่ข้างบนหรือเปล่า อาตมาขอขึ้นไปเยี่ยมได้ไหม” ท่านขออนุญาตเจ้าของบ้าน

          “ไปอยู่โรงพยาบาลศิริราชแล้วครับหลงพ่อ ผมเหมารถพาไปตั้งแต่เช้าวันที่ ๑๗ เห็นหมอเขาว่าจะผ่าตัดให้ ไม่รู้อะไรกันนักหนา ทีก่อนหน้านี้ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับสักแห่งเดียว ทั้งจุฬาฯ รามา ศิริราช ไม่ยอมรับเลย บอกแต่ว่าให้กลับไปตายที่บ้าน บอกผมนะครับ ไม่ได้บอกแม่โดยตรง แต่แม่แกก็รู้เลยให้พากลับบ้าน แล้วนี่ก็ให้พาไปศิริราชอีก ผมบอกเดี๋ยวหมอเขาก็ไล่กลับมาอีกหรอก แกก็ว่าไม่ไล่หรอกน่า แล้วเขาก็ไม่ไล่จริง ๆ เห็นว่า วันที่ ๑๙ จะผ่าตัดให้ มันก็แปลกอยู่เหมือนกันนะครับหลงพ่อ นี่ผมก็ต้องมาคุมลูกน้องขายอาหาร ส่วนอาเน้ยและลูก ๆ เขาเฝ้าไข้อยู่ทางโน้น” ลูกเขยเจ๊นวลศรีรายงาน

          “เอ แปลกจริง ๆ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาเห็นจะต้องขอลา จะไปเยี่ยมเขาหน่อย อยู่ตึกอะไรล่ะ”

          “ตึกอะไรผมก็จำไม่ได้เสียแล้วละครับ หลงพ่อไปถามประชาสัมพันธ์ก็แล้วกัน จะไปวันนี้เลยหรือครับ”

          “ใช่ ไปเดี๋ยวนี้เลยเชียวแหละ อาตมาเป็นคนใจร้อน อยากจะรู้เรื่องเร็ว ๆ ว่าทำไมมันถึงเป็นยังงั้นไปได้ อาตมาลาละนะ”

          “ครับ นิมนต์ครับ” นายฮิมเดินไปส่งท่านถึงรถ นายสมชายยกมือไหว้นายฮิมพร้อมเอ่ยปากลา

          “หลวงพ่อท่านสอนไว้ว่าคนดีมีสัมมาคารวะนั้นเขาต้อง “ไปลา มาไหว้” ก็ต้องเชื่อท่าน” เขานึกในใจ

          “เดี๋ยวแวะเติมน้ำมันที่ปั้มข้างหน้านั่นหน่อย เติมเต็มถังเลย” ท่านสั่งคนขับรถ

          “ถ้าเต็มถังมันก็ไม่หน่อยแล้วละครับหลวงพ่อ” ชายหนุ่มอดยั่วไม่ได้

          “ปลาหมอตายเพราะปาก” ท่านพระครูพูดลอย ๆ

          “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ลูกศิษย์วัดพูดลอย ๆ เช่นกัน เติมน้ำมันเรียบร้อยแล้วเขาจึงพูดอีกว่า

          “หลวงพ่อครับ ตั้งแต่ผมรู้จักหลวงพ่อมา ผมยังไม่เคยเห็นว่าหลวงพ่อพูดอะไรแล้วไม่จริงเลยสักครั้ง เพิ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลวงพ่อพูด ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นล่ะครับ ใคร ๆ เขาก็ว่าหลวงพ่อปากศักดิ์สิทธิ์ แต่คราวนี้ไหงมากลับกลายเป็นอื่นไปเสียได้”

          “มันก็แปลกนะสมชาย ฉันเองก็ยังงงอยู่เหมือนกัน”

          “หรือว่า “เห็นหนอ” ของหลวงพ่อหมดสมรรถภาพเสียแล้ว”

            “เป็นไปไม่ได้ มันจะต้องมีอะไรสักอย่างอย่างแน่นอน เพียงแต่ฉันยังไม่รู้เท่านั้นว่าอะไรที่ว่านั้นมันคืออะไร”

          “โอ๊ย หลวงพ่อครับ น้อย ๆ หน่อยครับ พูดวกวนจนผมเวียนหัวแล้ว อะไร ๆ ของหลวงพ่อน่ะ มันคืออะไรเล่าครับ”

          “ก็เพราะยังไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรน่ะซี ฉันถึงยังไม่มีอะไรมาตอบเธอ” ท่านพระครูตั้งใจยั่ว

          “แล้วไปถึงโรงพยาบาลจะรู้ไหมครับนี่”

          “ก็ยังไม่รู้ว่าจะรู้หรือเปล่าเพราะยังไม่รู้อะไร”

          “อะไรอีกแล้ว หลวงพ่อครับ ผมขอซื้อเถอะ”

          “ซื้ออะไร เธอจะซื้ออะไรหรือ”

          “ก็ซื้ออะไรนั่นแหละครับ”

          “ซื้อเท่าไหร่ ซื้อไปทำอะไร”

          “ซื้อไปเก็บไว้ หลวงพ่อจะขายเท่าไหร่ล่ะครับ”

          “เธอมีเงินเท่าไหร่ล่ะ”

          “ก็ไม่มากนักหรอกครับ ดูเหมือนจะยังไม่ถึงร้อยล้าน”

          “หัวล้านน่ะไม่ว่า”

          “ไม่ล้านหรอกครับ ผมคนผมดก ตระกูลผม ผมดกปกไหล่ทั้งนั้น”

          “ก็คอยดูไปแล้วกัน อีกไม่นานก็รู้”

          “ครับ แล้วผมจะคอยดู อาจจะพลิกล็อคเหมือนรายป้านวลศรีก็ได้”

          “เอาละนะเลิกพูดกันแล้วนะ ทีนี้ฉันจะนั่งหลับตาละ” แล้วท่านก็หยุดพูดเพราะต้องการจะแผ่เมตตาให้พวกสัมภเวสีที่คอยขอส่วนบุญอยู่ข้างถนนหนทาง เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าท่านจะมา

          ถึงโรงพยาบาลศิริราช นายสมชายลงไปถามที่ประชาสัมพันธ์ก่อนแล้วจึงมานิมนต์ท่านพระครูซึ่งนั่งรออยู่ในรถ

          “แม่ หลวงพ่อท่านมาเยี่ยม” นางเน้ยปลุกมารดาซึ่งกำลังหลับอยู่เพราะความอ่อนเพลีย

          “ไม่ต้องปลุก โยมไม่ต้องปลุก ปล่อยให้เขาพักผ่อนตามสบายเถอะ ท่านพระครูห้ามไว้

          แม้รู้สึกอ่อนเพลียและเจ็บแผล หากเจ๊นวลศรีก็ประคองสติไว้ได้ นางลืมตาแล้วยกมือไหว้ท่านพระครู

          “หลวงพ่อ เป็นพระคุณเหลือเกินที่อุตส่าห์มาเยี่ยมฉัน เน้ยช่วยหมุนเตียงขึ้นให้แม่หน่อย” นางสั่งบุตรสาวเพราะเจ็บแผลจนไม่อาจลุกนั่งได้

          “เรื่องมันไปยังไงมายังไงกันล่ะเจ๊ พอจะเล่าให้อาตมาฟังได้ไหม อาตมาอยากรู้” คนเจ็บจึงเล่าเสียงดังฟังชัดว่า

          “เรื่องมันแปลกมากจ้ะหลวงพ่อ ฉันเองก็ยังนึกว่าฝันไป คือเมื่อตอนเย็นวันที่ ๑๖ ได้มีคนมาเยี่ยมไข้ เขาเป็น   มัคทายกวัดข้างบ้านฉัน คุยกันไปคุยกันมาเขาก็เล่าให้ฟังว่า กำลังหาเงินสร้างโบสถ์วัดในหมู่บ้านจวนเสร็จแล้ว ยังขาดแต่ช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ ฉันก็เกิดศรัทธาอยากทำบุญ เลยขอทำบุญกับเขาไปสองหมื่น ฉันดีใจมากที่กำลังจะตายอยู่แล้วก็ยังมีโอกาสได้ทำบุญเป็นครั้งสุดท้าย

          คืนนั้นฉันก็นอนกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” เช่นทุกครั้ง แต่แปลกที่ว่ามันอิ่มอกอิ่มใจจนลืมความเจ็บปวดทางกาย ฉันก็นอนทำกรรมฐานไปเรื่อย ๆ พอจิตเป็นสมาธิก็เกิดนิมิต บอกว่า “พรุ่งนี้ยังไม่ตาย ให้ไปโรงพยาบาลศิริราช หมอเขาจะผ่าตัดให้”

            พอเกิดนิมิตอย่างนี้ฉันก็หลับ หลับสบายเลยจ้ะหลวงพ่อ พอตีสี่สิบนาที ซึ่งเป็นเวลาที่ฉันจะต้องตาย ฉันก็ตื่น รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าก็รู้ว่าไม่ตายแน่ ลูกหลานเขาก็มาเฝ้าจะคอยดูใจ พอเห็นฉันไม่ตายก็ยินดีปรีดากันใหญ่ ฉันจึงบอกนายฮิมเขาว่าให้ไปว่าจ้างรถไปส่งฉันที่โรงพยาบาลศิริราช เขาก็จัดการให้ พอถึงโรงพยาบาล หมอเขาก็ตรวจอีกครั้งแล้วบอกว่าตกลงจะผ่าตัดให้

          “เจ๊ผ่าตัดเมื่อวานใช่ไหม เห็นนายฮิมบอก”

          “จ้ะ นี่ถ้าไม่ได้เรียนฝึกสติมาจากหลวงพ่อ ป่านนี้ก็คงนอนสลบไสลไม่รู้สึกตัวเพราะมันมึนมากเลยจ้ะหลวงพ่อ เจ็บแผลก็เจ็บ ฉันก็นอนกำหนด “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” ก็คลายความเจ็บปวดไปมาก ฉันเห็นประโยชน์ของกรรมฐาน ก็ตอนเจ็บป่วยนี่แหละจ้ะ ต้องขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาสอนให้

          “ไม่ต้องขอบคุณอาตมาหรอกเจ๊ เป็นที่ตัวเจ๊นั่นแหละ เพราะคนที่เขาไม่เอากรรมฐานก็มีถมเถไป” ท่านนึกไปถึงนายฮิม

          “แหม หลวงพ่อหลอกให้พวกหนูตัดชุดกงเต็กเก้อ ที่แท้อาม่าก็ไม่ตายสักหน่อย” นางสาวกิมเจ็งต่อว่าต่อขาน

          “ไม่เป็นไรหรอกหนู ไม่เก้อหรอก อีกสามวันก็ได้ใช้” ท่านบอก เพราะอีกสามวันนายฮิมจะต้องตาย และคราวนี้จะไม่ “ฟลุ้ค” เหมือนเจ๊นวลศรี เพราะนายฮิมไม่ได้ปฏิบัติกรรมฐาน

          “ใช้งานใครคะหลวงพ่อ ใครจะตาย”

          “เอาเถอะอย่างเพิ่งถาม หลวงพ่อว่าได้ใช้ก็ต้องได้”

          หลวงพ่อจ้ะ ที่ฉันไม่ตายนี่เพราะอานิสงส์ของบุญใช่ไหมจ๊ะ” คนเจ็บถามเสียงใส

          “ถูกแล้วเจ๊ บุญที่ว่านี่ถ้าจะจัดเป็นกรรมก็ต้องเรียกว่าเป็น อุปฆาตกกรรม หรือกรรมตัดรอน กรรมชนิดนี้มันจะพลิกแผ่นดินเชียวละ คือถ้าดีก็จะดีสุดยอดไปเลย แต่ถ้าชั่วก็จะชั่วสุดยอดเหมือนกัน อุปฆาตกกรรมมีกำลังแรงมาก เห็นไหมว่ามันเปลี่ยนจากตายเป็นไม่ตายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือพอบุญเก่าเจ๊หมด บุญใหม่ก็มาให้ผลทันตา บุญใหม่นี้ก็คือการที่เจ๊ทำบุญสร้างโบสถ์กับมัคทายกคนนั้น เจ๊เกิดปีติมากที่ได้ทำบุญเป็นครั้งสุดท้าย บุญนั้นให้ผลทันตาเห็น เลยไม่ต้องตาย ทั้งที่จะต้องตายแน่ ๆ แล้ว เรื่องอย่างนี้ก็เคยมีนะ ในสมัยพุทธกาลก็เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่าฟังไหมล่ะ”

          “อยากค่ะ” นางเน้ยและลูก ๆ ตอบพร้อมกัน นายสมชายก็ตั้งใจฟังอยู่

          “ในสมัยพุทธกาล มีสามเณรองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร บวชตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ ชื่อสุข ใคร ๆ เขาเรียกท่านว่าสุขสามเณร เมื่อสุขสามเณรอายุจวนจะครบเก้าขวบ ท่านพระสารีบุตรก็รู้ว่าลูกศิษย์ของท่านจะต้องเสียชีวิตเพราะบุญหมด ท่านจึงบอกให้สุขสามเณรทราบ พร้อมทั้งแนะนำให้ไปล่พ่อแม่ซึ่งอยู่อีกตำบลหนึ่ง

          สุขสามเณรจึงลาพระสารีบุตร แล้วเดินทางไปหาบิดามารดาเพื่อแจ้งข่าวให้ทราบว่าท่านจะตายเมื่ออายุเก้าขวบ ขณะเดินทางไป ท่านผ่านหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งน้ำกำลังแห้ง พวกปู ปลา เต่า กำลังกระเสือกกระสนอยู่ในเลน จะตายมิตายแหล่ สุขสามเณรเกิดความสงสาร จึงเก็บเอามาใส่จีวรห่อไปปล่อยยังหนองน้ำใหญ่ แล้วจึงสรงน้ำ ซักจีวรในหนองน้ำนั้น เสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงบ้าน ล่ำลาบิดามารดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางกลับมาอยู่กับอาจารย์

          ครั้นถึงวันที่จะตายกลับไม่ตาย พระสารีบุตรสงสัยจึงสอบถามดูก็ได้รู้ว่าอานิสงส์ที่ช่วยสัตว์เหล่านั้นให้รอดพ้นจากความตายนั่นเองที่มาช่วยต่ออายุลูกศิษย์ให้ยืนยาวต่อไปอีก สุขสามเณรอยู่กับพระสารีบุตรจนอายุครบบวชในคัมภีร์กล่าวว่าท่านบรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบ

          “สาธุ” คนเจ็บยกมือขึ้น “สาธุ” เมื่อท่านเล่าจบ

          “โยมเห็นหรือยังว่าบุญกรรมนั้นมีจริง คนที่ทำบุญไว้มาก ๆ พอถึงคราวคับขันบุญก็ช่วยได้ อาตมาถึงอยากให้คนเขาเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ก็นั่นแหละ จะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกรรมของเขา คนที่มีกรรมชั่วเกินหกสิบเปอร์เซ็นต์ อาตมาก็ไม่อาจทำให้เขาเชื่อได้ อย่างเช่นเมื่อสี่ห้าวันก่อนมีทหารคนหนึ่งเขามาหาอาตมา อาตมาก็เห็นกฎแห่งกรรมของเขาว่า จะต้องตายในวันนี้ เลยบอกเขาเขาว่า ผู้พันนอนวัดเถอะ อาตมาจะสอนกรรมฐานให้ เขาก็บอกนอนไม่ได้หรอกหลวงพ่อ ผมห่วงบ้าน อาตมาก็รู้แล้วว่า เขาเพิ่งได้เด็กคราวลูกมาเป็นเมีย เมียลับ ๆ นะ เขาก็ห่วงเด็กคนนี้ไม่ยอมเชื่อ อาตมาก็บอกตรง ๆ ว่า ถ้าท่านออกไปจะต้องประสบอุบัติเหตุ ขอให้เชื่ออาตมาเถอะ เขาก็ไม่ยอมเชื่อเพราะจิตใจไปอยู่กับเมียเด็กเสียแล้ว ในที่สุดก็ขับรถออกจากวัดไป พอถึงอ่างทองก็ไปเจอกับรถบรรทุกตายคาที่เลย”

          “แสดงว่ากรรมหนักมากใช่ไหมคะหลวงพ่อ” นางเน้ยถาม

          “ถ้าไม่หนักเขาก็ต้องเชื่อที่อาตมาบอกแล้วน่ะซี”

          “ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหนคะ” นางสาวกิมเจ็งถาม

          “กำลังปีนยอดงิ้วอยู่ในนรกโน่นแหละ ใครไม่เชื่อว่านรกมีจริงก็ทำชั่วให้มาก ๆ เข้านะหนูนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับนางสาวกิมฮวยซึ่งนั่งฟังอย่างเดียว ไม่ยอมพูดจา

          “แต่หนูเชื่อค่ะหลวงพ่อ หนูเชื่อเหมือนที่อาม่าเชื่อ แต่เตี่ยกับแม่เขาไม่ค่อยเชื่อ รวมทั้งพี่กิมเจ็งด้วย” นางสาวกิมฮวยว่า

          “ก็เธอมันคนหัวโบราณนี่ยะ คนสมัยใหม่เขาไม่เชื่อกันหรอก ฉันคนสมัยใหม่ย่ะ” นางสาวกิมเจ็งว่าให้น้องสาว

          “จริงหนู คนสมัยใหม่เขาไม่เชื่อนรกสวรรค์อย่างที่หนูว่ามานั่นแหละ แต่หนูเชื่อไหมคนที่ตายไปตกนรกมาที่สุดก็เป็นพวกคนสมัยใหม่ทั้งนั้น ไม่เชื่อหนูจะลองไปดูก็ได้” ท่านบอกหลานสาวคนโตของเจ๊นวลศรี...

 

มีต่อ........๕๐

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 24, 2007, 06:29:12 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00050
๕๐...

            บ่ายสองโมง ของวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ขณะที่ท่านพระครูกำลัง “รับแขก” อยู่ที่กุฏิชั้นล่าง นางสาวกิมเจ็งก็เดินร้องไห้กระซิก ๆ เข้ามา

            “หลวงพ่อ เตี่ยตายแล้ว” หล่อนตะโกนข้ามศีรษะแขกเหรื่อที่นั่งเบียดเสียดกันอยู่หน้าอาสนะ

            “อ้าว อีหนู ตะโกนข้ามหัวแม่ผัวซะแล้ว” สตรีวัยกลางคนพูดขึ้น นางกำลังหงุดหงิดเพราะยังอีกนานกว่าจะถึง “คิว”

            “ฉันยังไม่มีผัว ถ้าจะมี ก็ไม่เอาคนอย่างลื้อมาเป็นแม่ผัวหรอก” สาววัยเต็มยี่สิบยังมีแก่ใจเถียง” โกรธผู้หญิงคนนั้นเลยหยุดร้องไห้

            “ไหนเข้ามาพูดใกล้ ๆ ซิ ญาติโยมโปรดหลีกทางให้เขาเข้ามาหน่อย” ท่านพระครูออกคำสั่ง บุตรสาวนายฮิมจึงเดินแหวกผู้คนเข้ามา จะค้อมหลังให้สักนิดก็ไม่มี

            “โอ๊ย....กิริยามารยาทยังงี้ ฉันก็ไม่เอามาเป็นลูกสะใภ้ให้ปวดกบาลฉันหร็อก” หญิงคนเดิมว่าอีก หากคราวนี้นางลดเสียงลง ด้วยไม่ต้องการให้คนถูกว่าได้ยิน

            “ไงล่ะหนู เตี่ยตายเมื่อไหร่ แล้วเจ๊นวลศรีออกจากโรงพยาบาลแล้วหรือยัง” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “ตายเมื่อตอนเที่ยงนี่เองค่ะ แม่ให้หนูมาบอกหลวงพ่อว่า จะเอาศพมาไว้ที่วัดนี้ อาม่ายังอยู่โรงพยาบาล”

            “จะมาสวดกงเต็กที่นี่หรือ คงไม่ได้หรอกหนู เพราะเสียงจะไปรบกวนคนที่มาเข้ากรรมฐาน เอาไว้ที่บ้านนั่นแหละ จะเผาหรือฝังล่ะ”

            “ยังไม่รู้เลย แม่ว่าต้องรอถามอาม่าก่อน สงสัยอาม่าแกคงรู้ว่าเตี่ยจะตายวันนี้ แกบอกให้หนูกับแม่กลับบ้านมาดูเตี่ย บอกถ้ามีปัญหาอะไรให้มาถามหลวงพ่อ ที่หลวงพ่อพูดเมื่อวันไปเยี่ยมอาม่าว่า อีกสามวันพวกหนูก็จะได้ใช้ชุดกงเต็กน่ะ แปลว่าหลวงพ่อรู้ว่าเตี่ยจะตายใช่ไหม ทำไมหลวงพ่อไม่บอกตั้งแต่วันนั้น หลวงพ่อน่าจะช่วยเตี่ย อย่างน้อย ๆ ก็ให้น้องสามคนเรียนจบเสียก่อน” หล่อนรายงานแถมท้ายด้วยการต่อว่าท่านพระครู

            “ทำไม่หลวงพ่อจะไม่ช่วย หลวงพ่อช่วยจนสุดความสามารถแล้ว แต่เตี่ยหนูเขาไม่ช่วยตัวเอง ชวนมาเข้ากรรมฐาน ก็ไม่มา ให้เอาแผ่นสวดมนต์ที่อาม่ามาสวด ก็ไม่เอา ครั้งหลังสุดหลวงพ่ออุตส่าห์จดบทสวดพุทธคุณให้ไปท่อง เขาก็ไม่ยอมท่องอีก ห่วงแต่เรื่องทำมาหากิน เสร็จแล้วเป็นยังไง นี่แหละเป็นเพราะเขาไม่ยอมเชื่อหลวงพ่อ ไม่ยอมเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ถึงตัวหนูเองก็ไม่เชื่อใช่ไหมล่ะ”

            “หนูเป็นคนสมัยใหม่นี่คะ เอาเถอะ หนูกำลังเศร้าโศก ไม่อยากเถียงกับหลวงพ่อ ตกลงหนูจะไปบอกแม่ว่าหลวงพ่อให้เอาศพไว้ที่บ้าน งั้นหนูลาละ จะไปตามน้องสาวสามคน ที่เรียนอยู่ลพบุรี” หล่อนพูดอย่างไม่สบอารมณ์ นึกขัดเคืองมารดาที่ส่งหล่อนมาขอความช่วยเหลือจากท่าน ที่จริงแล้วหล่อนไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เลย

            “ไม่ต้องไปตามหรอกหนู น้องเขารออยู่ที่บ้านแล้ว กลับไปช่วยแม่เขาเถอะ แล้วก็ไม่ต้องไปบอกหนูกิมฮวยที่กรุงเทพฯ หรอก อาม่าหนูเขาคงบอกแล้ว” ท่านพระครู “ช่วยเหลือ” ทั้งที่ฝ่ายนั้นคิดว่าท่านมิได้ช่วยอะไรเลย

            “หนูไปละหลวงพ่อ” หล่อนกราบเหมือนไม่เต็มใจ แล้วลุกเดินดุ่ม ๆ ออกมาเหมือนเมื่อตอนเข้าไป

            “แหม กิริยายังกะม้าดีดกระโหลก แบบนี้หลวงพ่อให้มาเป็นลูกศิษย์ได้ยังไงคะ” สตรีวัยกลางคนได้โอกาสนินทาลับหลัง

            “จะเป็นม้าดีดกระโหลกหรือช้างดีดกระโหลก อาตมาก็ต้องรับทั้งนั้นแหละโยม ที่วัดป่ามะม่วงไม่มีการสอบคัดเลือก แต่น้องสาวเขาเรียบร้อยดีนะ คนที่ชื่อกิมฮวยที่อาตมาพูดถึงน่ะ ส่วนแม่หนูคนนี้เขาชือกิมเจ็ง” ท่านพระครูถือโอกาสอธิบายทั้งที่ไม่มีผู้ถาม

            “จริงหรือคะ ไม่น่าเป็นไปได้ พี่น้องก็น่าจะเหมือน ๆ กัน”

            “ไม่เสมอไปหรอกโยม โบราณเขาถึงสอนเอาไว้ว่า “ไม่ไผ่ยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ” มันต่างกรรมต่างวาระ จะให้เหมือนกันได้ยังไง

            “โอ้โฮ หลวงพ่อพูดเกือบเป็นกลอนเลยครับ” บุรุษที่นั่งหน้าสุดเอ่ยปากชม

            “อ้อ ยังงั้นหรือ กลอนประตูหรือกลอนหน้าต่างล่ะโยม” ท่านถามยิ้ม ๆ ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้น ไม่มีผู้ใดกล้าคิดปฏิเสธว่า ยิ้มของท่านไม่สวย

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่างครับ กลอนในที่นี้หมายถึงบทกลอน หลวงพ่อพูดเกือบเหมือนบทกลอน ที่ว่าเกือบเหมือนหมายความว่ายังเหมือนไม่หมด คือเหมือนครึ่งหนึ่ง ไม่เหมือนครึ่งหนึ่งครับ” เขาอรรถาธิบาย ท่านพระครูรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่า ลักษณะการพูดแบบนี้ น้ำเสียงอย่างนี้ เหมือนใครหนอ แล้วก็นึกออกว่าเหมือนนายสมชาย ลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านนั่นเอง

            “เอาละ ใครมีอะไรก็ว่าไป วันนี้อาตมาเห็นจะต้องเลิกเร็วหน่อย จะไปเยี่ยมศพเตี่ยของแม่หนูคนนั้น”

            “ยายม้าดีดกระโหลกน่ะหรือคะ” หญิงกลางคนถือโอกาสว่าอีก

            “อย่าเก็บเรื่องของคนอื่นมาเป็นอารมณ์เลยโยม อาตมาขอร้องเถอะ เขาจะเป็นยังไงก็เรื่องของเขา ก็กรรมเขาทำมาอย่างนั้น” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าวเตือน สตรีนั้นจึงสงบปากสงบคำลง

            นายทหารยศพันโทวัยสามสิบเจ็ดก้มลงกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงเริ่มเรื่อง เขามาถึงก่อนใครเพื่อนจึงได้ “พูดธุระ” กับท่านเป็นคนแรก

            “หลวงพ่อครับ ผมรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ เพราะบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง” พูดอย่างสำนึกในบุญคุณของท่าน

            “ถ้าไม่ได้หลวงพ่อ ป่านนี้ผมคงสิ้นชื่อไปแล้ว”

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองหน้าเขาอย่างพินิจ จึงรู้ว่า บุรุษนี้เคยมาหาท่านเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา และท่านก็ “เห็น” ว่าเขาจะต้องตายเพราะตกจากที่สูง จึงแนะนำให้มาเข้ากรรมฐานเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เขาปฏิบัติตามด้วยการไปทำเรื่องลาราชการ แล้วมาปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จนครบสิบสี่วัน และเมื่อเขาลากลับ ท่านก็ “เห็น” ว่า เขา “ปลอดภัย” แล้ว

            “พอจะเล่าสู่กันฟังได้หรือเปล่า ถ้าได้ อาตมาอยากให้ญาติโยมเขารับรู้ด้วย”

            “ยินดีครับหลวงพ่อ แล้วผมก็เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับคนฟังด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้รู้ว่า กรรมฐานนั้นมีอานิสงส์มาก สามารถทำให้คนที่ถึงที่ตาย รอดชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์” แล้วจึงเล่าว่า หลังจากออกจากวัดแล้ว ก็ได้กลับไปทำงานตามปกติ เขาเป็นทหารพลร่มของค่ายทหารจังหวัดลพบุรี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ไปฝึกซ้อมดิ่งพสุธาบริเวณเหนือพื้นที่เขตอำเภอชัยบาดาล และได้ประสบกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้ใดมาก่อน

            กล่าวคือ เมื่อเขาพุ่งตัวลงจากเครื่องบิน และดิ่งลงมากลางเวหานั้น ทหารคนที่ต่อจากเขา คงจะพุ่งตามมาก่อนเวลาที่กำหนด จึงมาชนกับเขาอย่างแรง วินาทีนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่ร่มของเขากางพอดี แรงปะทะทำให้เขาถึงกับสลบในทันที และคนที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นจะต้องตายเพราะร่างจะกระแทกกับพื้นเหมือนของที่ตกลงจากที่สูง ก่อนถึงพื้นดินทหารพลร่มจึงต้องโหย่งตัวขึ้นเพื่อจะได้ไม่กระทบกับพื้นแรงเกินไป แต่คนที่หมดสติย่อมไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นได้ และถ้าไปตกในน้ำก็ต้องจมน้ำตาย

            ก่อนสัมปชัญญะจะดับวูบลง เขาระลึกถึงท่านพระครู และเมื่อรู้สึกตัวอีกครั้งก็พบว่าตัวเองนอนอยู่บนเตียงของโรงพยาบาลประจำอำเภอ เขาไม่ได้ตกลงสู่พื้นดินหรือพื้นน้ำ หากไปค้างอยู่บนยอดไม้กลางป่า กว่าจะมีคนมาพบและนำส่งโรงพยาบาล ก็เกือบสาย เพราะแพทย์บอกว่าหากมาช้าอีกเพียงยี่สิบนาที ก็ไม่อาจช่วยชีวิตไว้ได้

            “เป็นความบังเอิญอย่างมหัศจรรย์ที่สุดเลยครับหลวงพ่อ ชาวบ้านเล่าตอนผมฟื้นว่า ขณะที่ช่วยกันหามผมมาตามถนนลูกรัง ก็พลรถกระบะคันหนึ่งจอดอยู่ พวกเขาจึงขอให้ช่วยเอาผมมาส่งโรงพยาบาล เจ้าของรถบอกผมช่างมีบุญจริง ๆ รถเขาเสียแก้อยู่ตั้งหลายชั่วโมง พอแก้เสร็จและกำลังจะไป ผมก็มาถึงพอดี พวกชาวบ้านยังบอกอีกว่าถ้าไม่ได้รถกระบะคันนั้น ผมก็คงไปไม่ถึงโรงพยาบาล เพราะแถวนั้นไม่ค่อยมีรถวิ่งผ่าน สองสามวันจึงจะมีมาสักคันหนึ่ง เป็นเพราะบารมีของหลวงพ่อแท้ ๆ ผมขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ได้เมตตาช่วยชีวิตผม” เขาก้มลงกราบสามครั้ง

            “ไม่ใช่บารมีของอาตมาหรอกผู้พัน บารมีของผู้พันเองนั่นแหละ เพราะถ้าผู้พันไม่ยอมเข้ากรรมฐาน อาตมาก็ช่วยอะไรไม่ได้”

            “แต่ถ้าหลวงพ่อไม่บอกผม ผมก็ไม่ได้มาเข้า ผมถึงว่ารอดตายคราวนี้เพราะบารมีของหลวงพ่อ“ นายทหารพยายามพูดยกความดีให้ท่านพระครู

            “เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็อยากสรุปให้ญาติโยมฟังว่า การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการสร้างบารมี ขอให้เร่งปฏิบัติกันเข้า ทำให้ได้ทุกวัน เป็นการสะสมหน่วยกิต นะญาติโยมนะ”

            “แล้วคนที่ชนกับผู้พัน ตายหรือเปล่าคะ” เสียงใส ๆ ถามขึ้น คนถูกถามหันไปทางเจ้าของเสียง ก็พบสตรีสาวหน้าตาน่ารัก ยิ้มให้อย่างเป็นมิตร

            “ไม่ตายหรอกครับ” แล้วหันมาทางท่านเจ้าของกุฏิ พลางกล่าวต่อไปว่า

            “น่าแปลกนะครับหลวงพ่อ คนที่เขาชนผม เขาไม่เป็นอะไรเลย แล้วเขาก็คิดว่าผมไม่เป็นอะไรเหมือนกัน ที่ไหนได้ ผมเกือบไม่มีโอกาสได้มากราบเรียนให้หลวงพ่อทราบเสียแล้ว”

            “นั่นแหละ เจ้ากรรมนายเวรของผู้พันแหละ เมื่อชาติก่อนเคยเป็นเพื่อนกันแล้วผู้พันก็ทำให้เขาตายโดยไม่ได้ตั้งใจ มาชาตินี้ เขาก็เลยทำให้ผู้พันตายโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน ถ้าไม่มาเข้ากรรมฐาน รับรองป่านนี้ฌาปนกิจไปแล้ว” ท่านถือโอกาสสอนญาติโยมว่า

            “ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังว่า เรื่องของกรรมนั้นซับซ้อนเหลือเกิน ขนาดทำให้เขาตายโดยไม่มีเจตนา ก็ยังต้องมาชดใช้ เหมือนอย่างอาตมาเคยเหวี่ยงท่อนไม้ไปถูกสุนัขเลือดไหลออกจมูก วันดีคืนดีอาตมาก็ถูกเสาเต๊นท์หลุดพุ่งมาปะทะหน้า เลือดไหลออกจมูกเหมือนกัน ดีนะที่แว่นตาไม่แตก” ท่านชี้แว่นที่สวมอยู่

            “ที่แว่นไม่แตก เพราะไม่ได้ทำกรรมไว้ คือสุนัขตัวนั้นมันไม่ได้สวมแว่น ถ้าสวมก็คงแตก แล้วแว่นอาตมาก็จะต้องแตกเหมือนกัน นี่อาตมาคิดเอาเองนะ” ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้นหัวเราะครืนในความมีอารมณ์ขันของท่าน

            “กรรมที่ทำโดยไม่มีเจตนา ก็ต้องชดใช้หรือคะหลวงพ่อ” เสียงใส ๆ ถามอีก

            “ไม่เสมอไปหรอกโยม อาตมาจะเปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ สมมติอาตมาจะซื้อแก้วสักโหลหนึ่ง ก็เข้าไปเลือก เลือกไปเลือกมาเลยทำตกแตกไปใบนึง แบบนี้โดยมารยาทอาตมาต้องชดใช้เขา ใช่หรือเปล่า ถ้าแก้วราคาใบละ ๕ บาท ก็จะต้องจ่ายเขาไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีเจตนาจะทำให้แตก แต่ถ้าสมมุติเจ้าของร้านเขาบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกหลวงพ่อ ผมไม่คิดเงินหรอก” อย่างนี้แปลว่าเขาอโหสิ อาตมาก็ไม่ต้องใช้ แต่ทีนี้เจ้าสุนัขนั้นมันคงอาฆาตอาตมาก็เลยต้องชดใช้ไปตามระเบียบ เอาเถอะในเรื่องนี้ อาตมาขอสรุปสั้น ๆ ว่า “กรรมเก่าให้รีบใช้ กรรมใหม่อย่าไปสร้าง”

            กรรมในที่นี้หมายถึงอกุศลกรรมนะ ไม่ได้หมายถึงกุศลกรรม เพราะถ้าเป็นกุศลกรรมเราจะต้องสร้างต้องเสริมเพื่อเพิ่มบารมีให้ตัวเอง คนที่มีบารมีมาก ๆ พอถึงคราวที่กรรมชั่วมาให้ผลก็ช่วยให้ทุเลาเบาบางลงได้ ในกรณีของผู้พัน แทนที่จะต้องเสียชีวิต ก็ทำให้เจ็บตัวแทน อยู่โรงพยาบาลกี่วันล่ะ” คนถูกถามกราบเรียนว่า

            “เพิ่งออกเมื่อวานนี้เองครับ รุ่งเช้าผมก็มาหาหลวงพ่อเลย หมอเขาบอกอาการหนักมาก แต่ผมอยากมาหาหลวงพ่อเร็ว ๆ เลยภาวนาทุกวัน ปรากฏว่า หายวันหายคืนจนหมอเอ่ยปากชม” เขาเล่าอย่างปีติ

            “แล้วคุณนาย ทำไมไม่มาด้วย เพิ่งฟื้นไข้น่าจะตามมาพยาบาล” ท่านแกล้งถามเพื่อเปิดทางให้เสียงใส ๆ รู้ว่านายทหารหนุ่มผู้นี้ยังเป็นโสด ก็ “เห็นหนอ” บอกว่า คนคูนี้เป็นเนื้อคู่กัน

            “ผมยังไม่มีคุณนายหรอกครับหลวงพ่อ ก็ว่าจะให้หลวงพ่อช่วยหาแถว ๆ นี้ให้” พูดจบก็หันหลังไปสบตากับคนเสียงใส เจ้าหล่อนอายม้วยก้มหน้าดูพื้น ท่านพระครูพูดทีเล่นทีจริงว่า

            “ตกลง ตกลง อาตมาจะช่วยหาให้ แต่ต้องรักกันจริงนะ ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ห้ามนอกใจกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย อาตมาไม่ชอบให้ผัวเมียนอกใจกัน สมัยนี้มีเยอะ ประเภทผัวนอกใจเมีย เมียนอกใจผัว อย่างนี้ไม่ดี ต้องรักกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน ทำได้ไหมเล่า”

            “ได้ครับ” นายทหารโสดรับคำหนักแน่น

            “แล้วโยมล่ะ ทำได้หรือเปล่า” ท่านถามเสียงใส ๆ”

            “หนูอยู่นอกประเด็นค่ะหลวงพ่อ” หล่อนตอบด้วยเสียงใส ๆ รู้สึกอายจนแทบจะแทรกแผ่นดินหนี

            “อ้าว แล้วกัน อาตมาก็นึกว่าอยู่ในประเด็น หรือผู้พันว่ายังไง”

            “ครับ ผมก็คิดอย่างนั้น กรุณาช่วยผมอีกครั้งเถิดครับหลวงพ่อ ช่วยให้ผมได้แต่งงานแต่งการเหมือนคนอื่น ๆ เขา แล้วผมจะไม่ลืมพระคุณเลย ชีวิตนี้ผมขอมอบให้หลวงพ่อเป็นผู้ลิขิตครับ” นายทหารหนุ่มใหญ่สาธยาย

            “จริงหรือ ให้อาตมาลิขิตจริง ๆ น่ะหรือ” ท่านย้อนถาม

            “จริงครับ” รับคำหนักแน่น

            “งั้นมาบวชอยู่วัดกับอาตมาแล้วกัน จะได้ช่วยกันสงเคราะห์ญาติโยมเขา” คราวนี้คนมอบกายถวายชีวิตรีบแก้ตัวว่า

            “ผมยังบุญไม่ถึงครับหลวงพ่อ อีกอย่างหนึ่งผมต้องรับใช้ชาติ ทหารเป็นรั้วของชาติ หากผมมาบวชเสีย รั้วของชาติก็จะแหว่งจะโหว่ เป็นช่องให้ศัตรูมารุกรานได้ครับ”

            “งั้นก็เป็นทหารต่อไป แต่ทำไม่ถึงจะต้องแต่งงานด้วยล่ะ ไม่เห็นเกี่ยวกับหน้าที่เลย” ท่านลองใจอีก

            “ก็ผมอยากมีหน่อเนื้อเชื้อไขไว้ดำรงวงค์ตระกูลน่ะครับ อีกหน่อยผมแก่เฒ่าลง รั้วของชาติก็ผุ ลูกผมจะได้มาเป็นรั้วแทนครับ”

            “สรุปว่าที่อยากแต่งงานเพราะอยากมีลูก ว่างั้นเถอะ”

            “ครับผม” รับคำพลางหันไปทำตาหวานใส่ “เสียงใส ๆ”

            “งั้นก็ดีแล้ว ตรงประเด็นพอดี ผู้พันจะได้แต่งงาน แล้วก็จะได้ลูกทันใช้ เดี๋ยวจะจัดการให้ ตกลงนะ”

            “ครับ ผมขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง” ว่าแล้วก็ก้มลงกราบสามครั้ง ด้วยคิดว่าท่านจะจัดการให้แต่งกับ “คนเสียงใส”

            “เอาละ ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวอาตมาจะให้เด็กไปตามเจ้าสาวมาให้” ท่านหมายถึงนางสาวเตย

            “เจ้าสาวไหนครับ” ถามอย่างผิดหวัง ท่านเจ้าของกุฏิจึงอธิบายว่า

            “คือเมื่อสี่ห้าวันมานี่ มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาท้องได้สี่เดือน มาขอบวชชี อาตมาไม่ให้เขาบวช แต่ให้ไปเข้ากรรมฐานอยู่กับพวกแม่ชี เขาท้องไม่มีพ่อ ผู้พันอยากแต่งงานก็ดีแล้ว อีกห้าเดือนได้ลูก ทันใจดีไหมล่ะ” คราวนี้คนอยากแต่งงานรีบปฏิเสธเสียงรัว

            “ไม่ครับหลวงพ่อ ไม่ ที่เสนอมามันสำเร็จรูปเกินไป ผมยังไม่ใจร้อนขนาดนั้นหรอกครับ อีกประการหนึ่ง หากผมจะมีลูก ก็อยากได้แบบที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง โบราณสอนไว้ว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” มันไม่ดีครับ”

            “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ งันก็มีอีกคนหนึ่ง แต่เขากำลังป่วย ไว้ให้เขาหาย อาตมาจะจัดการให้ ผู้พันไม่ใจร้อนไม่ใช่หรือ” นายทหารหนุ่มใหญ่เห็นว่าท่านพูดนอกประเด็น จึงพูดตรงไปตรงมาตามวิสัยชายชาญทหารกล้า “ผมอยากแต่งงานกับคนที่นั่งข้างหลังน่ะครับ คนเสียงใส ๆ คนนี้” เขาชี้มาที่หญิงสาวเสียงใส เจ้าหล่อนรู้สึกอายจนพูดอะไรไม่ออก

            “ได้ไหมครับหลวงพ่อ ช่วยผมให้แต่งงานกับคนนี้ได้ไหมครับ” เขาเว้าวอน หันไปสบตาหล่อน เลยถูกขว้างค้อนใส่ กระนั้นเขาก็คิดว่าหล่อนค้อนได้สวย ท่านพระครูจึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

            “เรื่องอย่างนี้มันไม่ใช่กิจของสงฆ์ อาตมาไปยุ่งด้วยไม่ได้หรอก เดี๋ยวจะเป็นอาบัติ ให้ตกลงกันเอาเอง อาตมาไม่ขอเกี่ยวข้อง”

            “แล้วสองรายแรก ทำไมหลวงพ่อจะจัดการให้ล่ะครับ” นายทหารหนุ่มใหญ่แย้ง

            “สองรายนั่น อาตมาพูดเล่น เพราะรู้ว่าผู้พันไม่ยอมตกลงแน่ อาตมาอยากลองใจผู้พันเล่นเท่านั้น ไม่มีอะไรหรอก เอาละ โยมมีอะไรก็ว่าไป ถึงคิดแล้วไม่ใช่หรือ” ท่านพูดกับหญิงสาวเสียงใส

            “คุณพ่อคุณแม่ให้หนูมานิมนต์หลวงพ่อไปงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ค่ะ” หญิงสาวบอก “ธุระ”

            “ที่ไหน เมื่อไหร่” หล่อนบอกสถานที่ วัน เวลา นายทหารหนุ่มใหญ่ได้โอกาส จึงพูดขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ ผมขออนุญาตมารับหลวงพ่อไปงานนี้นะครับ”

            “ผู้พันไม่ทำงานหรอกหรือ วันที่ ๒๘ เป็นวันพฤหัสนี่นะ”

            “ผมลางานครึ่งวันได้ครับ”

            “แล้วรู้จักบ้านงานหรือ” ท่านถามอีก

            “ประเดี๋ยวผมขออนุญาตหลวงพ่อ ขับรถไปส่งเขาครับ บ้านอยู่ทางเดียวกัน” เขาสรุปง่าย ๆ

            “หนูขับรถมาค่ะหลวงพ่อ” หญิงสาวเรียนท่านพระครู แล้วค้อนให้คนเสนอตัว

            “งั้นผมขับตามไปก็ได้ครับ” เขาว่าอีก

            “ตามใจ จะเอาอย่างนั้นก็ตามใจ ว่าแต่ว่าจำทางให้แม่น ๆ ก็แล้วกัน เกิดพาอาตมาหลง เดี๋ยวจะไม่ทันฤกษ์เขา” ท่านย้ำ

            “รับรองครับ งั้นผมขอกราบลาเลยนะครับ”

            ท่านพระครูหยิบสมุดบันทึกขึ้นมาจด แล้วพูดกับหญิงสาวว่า

            “เอาละ อาตมาจดไว้แล้ว ตกลงโยมจะให้ผู้พันเขามารับอาตมา หรือว่าจะให้ไปเอง”

            “หนูต้องปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ก่อนค่ะ” หล่อนตอบเลี่ยงไปอีกทาง เสร็จธุระแล้วจึงลาท่านพระครู นายทหารหนุ่มใหญ่เดินตามหล่อนไปติด ๆ ทั้งที่ฝ่ายหญิงไม่ยอมพูดด้วย

            “เขาเรียกว่าโชคสองชั้น ดูเอาเถอะ รอดตายมาอย่างปาฏิหาริย์แล้วยังมาได้พบเนื้อคู่” ท่านเจ้าของกุฏิพูดกับญาติโยมที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้น

            “เขาเป็นเนื้อคู่กันหรือคะหลวงพ่อ” สตรีวัยยี่สิบห้าถามอย่างนึกเสียดายนายทหารหนุ่มผู้นั้น ท่านพระครูรู้ใจ จึงตอบว่า

            “ถูกแล้วโยม แต่เนื้อคู่ของโยมไม่ได้เป็นทหารหรอก อยากรู้ไหมล่ะว่าเป็นอะไร”

            “อยากค่ะ หลวงพ่อกรุณาบอกหนูด้วยเถิดค่ะ”

            “บอกก็ได้ เขาเป็นปลัดอำเภอจ้ะ แต่ตอนนี้เขาไปหลงรักนางเอกลิเก เลิกกันแล้วถึงจะมาเจอโยม เอาละบอกแค่นี้แหละ” แล้วพูดกับคนอื่น ๆ ว่า

            “เอาละ ใครมีอะไรจะถามหรือจะปรึกษาเรื่องอะไร ก็เชิญได้” ท่านกวาดสายตาไปทั่ว ๆ แล้วพูดว่า

            “แหม วันนี้คิวยาวจัง เสาร์อาทิตย์นี้ ควรจะต้องเพิ่มรอบเช้าอีกสักรอบ หรือคนจัดคิวว่ายังไง” ท่านถามนายขุนทอง ซึ่งนั่งสัปหงกอยู่เบื้องหลัง

            “อ้าว หลับหรือ ขุนทองเอ๊ย” เรียกด้วยเสียงปกติ หากก็ทำให้คนถูกเรียกถึงสะดุ้ง

          “หลวงลุงมีอะไรให้หนูรับใช้หรือฮะ” เขาถาม ก็ชงน้ำชากาแฟแจกหมดทุกคนแล้ว ไม่น่าจะมีงานอะไรอีก

          “ข้าถามว่าวันเสาร์วันอาทิตย์นี่น่าจะเพิ่มรอบเช้าอีกสักรอบ เกรงใจญาติโยมเขาที่ต้องมาคอยนาน หรือเอ็งว่ายังไง”

          “ก็ดีฮะหลวงลุง หนูกำลังจะปรึกษาหลวงลุงอยู่เหมือนกัน สองวันนี่เป็นวันหยุด คนมักจะมามากเป็นพิเศษ แต่หลวงลุงคงต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีก ทุกวันนี้ก็ได้จำวัดแค่วันละสองชั่วโมงเท่านั้น หนูไม่อยากให้ตรากตรำจนเกินไปเดี๋ยวหมอรู้เข้า ก็มาว่าหนูดูแลไม่ดีอีก แล้วอีกอย่าง....” พูดยังไม่ทันจบ ท่านพระครูก็ขัดขึ้นว่า

          “พอ ๆ ไม่ต้องร่ายยาว แหมข้าถามนิดเดียว ตอบเสียยาวยืดเลย สมชายไปไหน ไปบอกมาดูรถได้แล้ว สักพักข้าจะไปงานศพ” ท่านสังการ

          หลานชายลุกออกไปแล้ว จึงพูดกับญาติโยมว่า “ลูกศิษย์วัดป่ามะม่วงมีทุกแบบละโยม จะเอาแบบไหนล่ะ อย่างว่าแหละ ที่ดี ๆ เขาก็ไม่มีเวลามารับใช้ ที่มารับใช้ก็ไม่ค่อยจะเต็มบาทเต็มเต็งสักเท่าไหร่ ก็ต้องทน ๆ กันไป เอาละ ใครมีอะไรก็ว่าไป”

          “หลวงพ่อคะ หนูมีปัญหากับแม่ผัวค่ะ” สตรีอายุสามสิบเศษเอ่ย หล่อนมากับน้าสาววัยห้าสิบ

          “ปัญหายังไงล่ะโยม ไหนว่าไปซิ” หล่อนไม่พูด หากนั่งร้องไห้กระซิก ๆ คนเป็นน้าจึงพูดแทนว่า

          “แม่ผัวเขาร้ายค่ะหลวงพ่อ แกล้งใช้งานสารพัด แถมยังไถเงินใช้ พอหลานฉันหาให้ไม่ทัน ก็ยุลูกชายให้มีเมียใหม่ แรก ๆ ลูกเขาก็ไม่เชื่อแม่เขา แต่ตอนนี้กำลังจะเชื่อค่ะ จำทำยังไงดีคะหลวงพ่อ”

          “ก็เขามาขอหย่าจากหลานฉันน่ะซีคะ เขาว่าเขาเห็นแก่แม่ หาว่าหลานฉันไม่ดีกับแม่เขา” คนเป็นน้าอธิบาย

          “ขอหย่าก็หย่าไปเลย จะได้หมดเรื่องหมดราว” ได้ยินดังนั้น คนเป็นลูกสะใภ้ก็ร้องไหหนักขึ้น ท่านพระครูจึงปลอบว่า

          “ใจเย็น ๆ น่าโยม อาตมาลองใจเล่นเท่านั้น เดี๋ยวจะบอกวิธีแก้ให้รับรองว่าไม่ต้องหย่า” รู้สึกเห็นใจหญิงสาว เพราะรู้ซึ้งถึงหัวอกของคนเป็นสะใภ้ ที่มักจะถูกแม่ผัวกลั่นแกล้ง ในเจ็ดชาติที่ท่านระลึกนึกย้อนถึงอดีตได้นั้น มีชาติหนึ่งที่ท่านเกิดเป็นสะใภ้เขา แม้จะล่วงกาลผ่านพ้นมาแสนนานขนาดข้ามภพข้ามชาติ หากท่านก็ยังจำความขมขื่นในครั้งนั้นได้ดี จึงให้ข้อคิดกับคนฟังว่า

          “ญาติโยมโปรดจำไว้ แม่ผัวกับลูกสะใภ้นั้น มักจะเป็นคู่เวรกันมาแต่ครั้งอดีตชาติ รายไหนก็รายนั้น ที่จะดีต่อกันอย่างจริงใจน่ะหายากเต็มที ถ้าใครมีแม่ผัวดี ต้องกราบเช้ากราบเย็นเชียวนา แล้วก็คุยได้เลยว่าเป็นคนโชคดีที่สุดในโลก อาตมาเข็ดแล้ว ไม่ยอมเป็นลูกสะใภ้ใครอีกแล้ว” ผู้ที่นั่งฟังพากันหัวเราะ คนเป็นลูกสะใภ้ก็หัวเราะทั้งน้ำตา

          “ฟังแล้วห้ามเอาไปพูดต่อนะ สมัยที่อาตมาเป็นลูกสะใภ้เขาน่ะ โอ้โฮ ลำบากอย่าบอกใครเลย แม่ผัวเขาใช้งานไม่พัก ข้าวก็ให้กินทีหลัง กับข้าวก็ไม่มี อาตมาเลยต้องกินข้าวคลุกน้ำตาทุกวัน ถึงต้องหนีมาบวชไงล่ะ” คนฟังหัวเราะอีก ด้วยคิดว่าท่านพูดเล่น ท่านเองก็ต้องการให้เขาคิดเช่นนั้น เพราะหากจะบอกว่าเป็นเรื่องจริง ก็จะกลายเป็นว่าท่านอุตริมนุสสธรรม

          “พวกแม่ผัวนี่ ทำไมมันถึงได้ร้ายนักนะคะหลวงพ่อ นี่ดีนะที่เป็นหลานฉัน ถ้าเป็นฉันละก็ ฮึ่ม” หล่อนขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน

          “โยมจะทำยังไง เกิดโยมเป็นสะใภ้ และโดนแบบนี้ จะแก้ปัญหายังไง” ท่านซักอย่างนึกสนุก

          “ฉันก๊อจะถลกหนังหัวแม่ผัวมาทำกลองน่ะซีคะ” คนฟังหัวเราะชอบใจ ท่านพระครูเองก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ โชคดีที่ไม่มี “แม่ผัว” นั่งอยู่ ณ ที่นั้นแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นก็คงสนุกกันยกใหญ่

          “โอ้โฮ คิดเหมือนอาตมาเปี๊ยบเลย ตอนนั้นอาตมาก็คิดอย่างที่โยมว่ามานี่แหละ แต่เดี๋ยวนี้เลิกคิดแล้ว พอมาเป็นพระ เลยเลิกคิด”

          “แหม ฉันชักอยากจะเป็นลูกสะใภ้เขาซะแล้วซีหลวงพ่อ” คนเป็นน้ารู้สึกดังที่ปากพูด

          “ยังงั้นหรือ ตอนนี้โยมอายุเท่าไหร่แล้วล่ะ”

          “ห้าสิบค่ะ” สาววัยเที่ยงคืนตอบ

          “อ้อ...อายุห้าสิบ ถ้าคิดอยากจะแต่งงาน อยากจะเป็นสะใภ้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงพูดยิ้ม ๆ บุรุษและสตรีที่นั่งในที่นั้นต่างก็มี “ใบหน้าอันเปื้อนยิ้ม” ด้วยกันทุกคน...

 

มีต่อ........๕๑

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 24, 2007, 06:30:11 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00051
๕๑...

            ขณะขับรถกลับจากงานศพของสามีนางเน้ย นายสมชายดูเคร่งขรึม ไม่ช่างเจรจาพาทีเหมือนเช่นเคย จนท่านพระครูรู้สึกผิดสังเกต ความทุกข์อันใหญ่หลวง ที่ชายหนุ่มกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือทำอย่างไรจึงจะมีเงินแต่งงาน

            ฝ่ายผู้หญิงเขาเรียกค่าสินสอดเป็นเงินถึงสี่หมื่นบาท อีกทองหมั้นหนัก ๕ บาท เบ็ดเสร็จแล้วเขาจะต้องมีเงินถึงสี่หมื่นแปดพันบาท จึงจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าบ่าว เงินตั้งเกือบครึ่งแสนจะไปหาได้จากที่ไหน ก็ยืมใครเขาก็คงไม่ให้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ครั้นจะเอาวัดป่ามะม่วงไปจำนองกับธนาคาร ก็ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านจะอนุญาตหรือเปล่า ยิ่งคิดก็ยิ่งร้อนรุ่มกลุ้มทรวง แต่กาลก่อนก็สุขใจสุขกายสบายดีอยู่ พอมาตกห้วงรักเหวลึก ก็มีอันทุกข์ระทบตรมไหม้ไม่เว้นแต่ละวัน “นี่แหละน้า เขาว่าอยู่ดีไม่ว่าดี” ลูกศิษย์กันกุฏินึกสมน้ำหน้าตัวเอง

            “สงสัยว่าพรุ่งนี้พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตกเสียกระมัง” ท่านพระครูเปรยขึ้น คิดว่าฝ่ายนั้นจะโต้ตอบก็เห็นยังเงียบอยู่ นายสมชายกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก จึงไม่ได้ยินที่ท่านพูด

            “กำลังเข้าฌานอยู่หรือไง สงสัยจะเข้าจตุตถฌาน” ท่านเย้าอีก ครั้งนี้คนถูกเย้ารู้สึกแค่ว่ามีเสียงผ่านหู หากมิได้สำเหนียกว่าท่านพูดว่ากระไร

            “สมชาย เธอเอาหูมาด้วยหรือเปล่า หรือว่าลืมไว้ที่บ้านงานโน่น จะกลับไปเอาก็ยังทันนะ” ครั้งนี้ท่านพูดดังกว่าเก่า

            “อะไรนะครับ หลวงพ่อว่าอะไร” คนถูกเรียกเพิ่งจะรู้สึกตัว

            “ทำไมเดี๋ยวนี้เธอเหม่อ ๆ ยังไงชอบกล มีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า”

            “ก็...ก็ไม่...ไม่มีอะไรนี่ครับ” ปฏิเสธเสียงอ่อย

            “ไม่ ไม่มี ก็แปลว่ามี เพราะปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ย่อมกลายเป็นบอกเล่า เธอมีอะไรไม่สบายใจก็บอกมา หรือถ้าไม่บอกมา ฉันจะได้บอกไป” ท่านเริ่มยั่ว นายสมชายไม่มีอารมณ์จะโต้ตอบ จึงระบายความกลุ้มให้ท่านฟังแทน

            “ฝ่ายผู้หญิงเขาเรียกค่าสินสอนทองหมั้นตั้งร่วมห้าหมื่น ผมไม่รู้จะไปหาที่ไหน ก็เลยร้อนรุ่มกลุ้มทรวงอยู่นี่ไงครับ”

            “แหม น่าสงสารจริง เอาเถอะตัวฉันนะ สงสารเธอใจแทบขาด และฉันก็อยากช่วยเธอ ทว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ ก็เลยจะไม่ช่วย”

            “โธ่ หลวงพ่อ พูดเสียดิบดี ที่แท้ก็จะสรุปว่าช่วยไม่ได้ ผมรึอุตส่าห์ตั้งใจฟัง” นายสมชายต่อว่า รู้สึกความทุกข์ค่อยเบาบางลงเมื่อได้ระบายให้ท่านฟัง

            “อ้าว ก็จริง ๆ นี่นา ฉันอยากจะให้เธอสมหวัง แต่ฉันก็ไม่มีเงินเดือน เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ แล้วก็ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท เงินห้าหมื่น ฉันก็พอมีหรอก แต่เป็นเงินที่เขาบริจาค ถ้าเธอจะเอาไป...”

            “โอ๊ะ ไม่ครับหลวงพ่อ ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดเจตนารมณ์ของญาติโยมเขา เขาเจตนาทำบุญ ไม่ได้ให้ผมเอามาแต่งเมีย” ชายหนุ่มปฏิเสธเป็นพัลวัน

            “ก็ใครว่าฉันจะทำอย่างนั้นล่ะ ฉันยังพูดไม่ทันจบเลย”

            “อ๋อ หรือครับ ขอประทานโทษ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์หลวงพ่อพูดต่อให้จบเถิดครับ”

            “ไม่ต้องแล้ว ก็ส่วนที่ฉันจะพูดต่อน่ะ เธอพูดมาหมดแล้ว เอ แต่พอมีทางนะ เธอจะลองดูไหม ลองเอาวัดป่ามะม่วงไปจำนองกับธนาคาร” ท่านตั้งใจจะล้อเล่น หากนายสมชายคิดว่าเป็นจริง จึงรีบสนองว่า

            “แหม ผมก็คิดอยู่ทีเดียว นึกว่าหลวงพ่อจะไม่อนุญาตเสียอีก ต้องขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง พรุ่งนี้ผมขออนุญาตเข้าจังหวัดนะครับ” คนตกหลุมรัก มองเห็นทางสมหวัง

            “เธอจะเข้าไปทำอะไร”

            “ก็ไปติดต่อกับผู้จัดการธนาคารซีครับ หลวงพ่อว่าควรจะกู้ธนาคารไหนดี” เขาขอคำปรึกษา

            “ธนาคารไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้าเขายอมให้กู้ แต่เธอไม่ต้องไปให้เสียเวลาหรอก เพราะฉันรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครเขาทำกัน ฉันเพียงแต่ล้อเธอเล่นเท่านั้น” ถ้อยคำของท่านพระครู ทำให้ความทุกข์ที่กำลังจะลดน้อยลงนั้น กลับเพิ่มระดับขึ้นอีก นายสมชายจึงพูดอย่างขัดเคืองว่า “เอาเถอะ หลวงพ่อไม่ตกที่นั่งอย่างผมบ้างก็แล้วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หลวงพ่อเป็นอย่างผม ผมก็จะไม่ช่วยหลวงพ่อเหมือนที่หลวงพ่อไม่ช่วยผม” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกสมเพชคนเป็นศิษย์เสียนัก จึงพูดให้สติกับเขาว่า

            “สมชายเอ๋ย อายุฉันก็ปูนนี้แล้ว ล่วงกาลผ่านวัยมาก็มากและที่สำคัญที่สุด คือฉันกำลังดำเนินตามมรรคาที่เป็นทางสายเอก จะให้เปลี่ยนไปเดินสายโทสายตรีนั้น ฉันไม่ทำแน่” เธอปัดความคิดเช่นนี้ออกจากสมองไปได้แล้ว” ลูกศิษย์วัดยังไม่หายเคืองขุ่น จึงเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า

            “มันก็ไม่แน่เสมอไปหรอกครับ ผมเคยอ่านข่าวอยู่บ่อย ๆ คนอายุเจ็ดสิบยังแต่งงานกับคนอายุสิบเจ็ด ขนาดถือไม้เท้ายักแย่ยักยัน ก็ยังอุตริมีเมียคราวลูกคราวหลาน นับประสาอะไรกับคนอายุเพิ่งจะห้าสิบอย่างหลวงพ่อ”

            “นั่นเขาเป็นฆราวาส แต่ฉันเป็นบรรพชิต ไม่เหมือนกันหรอกนะ” ท่านพระครูแย้งเสียงเรียบ

            “ถึงบรรชิตก็เถอะ บางรูปขนาดเป็นถึงท่านเจ้าคุณ ก็ยังอุตส่าห์สึกมาแต่งงาน หลวงพ่อจะให้ผมเอ่ยชื่อไหมล่ะ” ท่านพระครูเห็นว่าจะไปกันใหญ่ จึงรีบกล่าวห้าม

            “สมชาย สมชาย อย่าลามปาม เธอพูดอยู่กับฉันสองคนเท่านั้น อย่าลามปามไปถึงคนอื่น ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา กรรมของเขาทำมาอย่างนั้น แต่ที่ฉันกล้ารับรองกับเธอว่า จะไม่เป็นอย่างเขา ก็เพราะฉันไม่ได้ทำกรรมมาอย่างนั้น ฉันปรารถนาพระนิพพาน ไม่ใช่กามคุณห้า” นายสมชายเห็นว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจะเอาชนะท่านได้ จึงนิ่งเสีย ท่านพระครูรู้ว่าเขายังไม่หายหงุดหงิด จึงพูดให้กำลังใจว่า

            “อย่าวิตกทุกข์ร้อนไปเลย อนาคตยังมาไม่ถึง แต่ฉันก็ขอรับรองว่า เธอต้องได้แต่งงานกับผู้หญิงคนนี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องรอเวลาหน่อยเท่านั้น” คนฟังรู้สึกใจมาเป็นกอง จึงกลับมาเป็นสมชายคนเดิมอีกครั้ง

            “หน่อยของหลวงพ่อนะ กี่ปีครับ อย่าให้ผมถึงต้องตะบันน้ำกินนะครับ”

            “ก็ไม่แน่ ถ้าเธอปรารถนาเช่นนั้นก็อาจเป็นได้”

            “แต่ถ้าไม่ปรารถนาล่ะครับ” ศิษย์ก้นกุฏิเริ่มมีอารมณ์ยั่วเย้า

            “ไม่ปรารถนาอะไร”

            “ไม่ปรารถนาเช่นนั้นน่ะครับ” ผู้มิใช่ “ญวน” โดยกำเนิด เจตนายวน

            “หายหยุดหงิดแล้วหรือ” ท่านพระครูย้อนถาม

            “ผมน่ะหรือ หงุดหงิดเรื่องอะไรครับ” คนถามแสร้งตีหน้าเหลอ

            “เรื่องไม่มีเงินไปซื้อบ่วงมาผูกคอน่ะสิ”

            “แหม หลวงพ่อพูดอะไรยังงั้น กะเดี๋ยวผมก็เปลี่ยนใจไม่ตบไม่แต่งมันซะเลย” คนพูดปากไม่ตรงกับใจ

            “ดี ฉันขออนุโมทนา ยิ่งบวชได้ตลอดชีวิตได้ยิ่งดี”

            “หลวงพ่อคร้าบ” คนเป็นศิษย์ตั้งใจลากเสียงให้ยาวแล้วว่า

            “ก็ถ้าบวชกันซะหมด แล้วใคร้จะมาขับรถให้หลวงพ่อนั่งล่ะครับ หรือว่าหลวงพ่อคิดจะขับรถเองขอรับ”

            “อยากรู้ก็ลองบวชดีซี”

            “ยังไม่กล้าลองหรอกครับ ยังไม่กล้า เดี๋ยวเกิดติดใจ บวชแล้วไม่ยอมสึกเหมือนหลวงพ่อ แฟนผมก๊อหม้ายขันหมากน่ะซีครับ”

            “แต่ประเพณีโบราณเขาต้องบวชก่อนเบียดนะ นี่เธอคิดจะเบียดก่อนหรือไง”

            “ก็ดวงผมมันเป็นยังงั้นนี่ครับ” คนพูดโยนกลองไปให้ “ดวง”

            “เธออย่าให้ดวงมากำหนดเธอสิ เธอควรจะกำหนดดวง มันถึงจะถูก”

            “จะถูกยังไง ก็ต้องแพงกว่าเผือกอยู่ดีนั่นแหละครับ” ท่านพระครูรู้สึกงงจึงย้อนถามว่า

            “อะไรแพงกว่าเผือก พูดเรื่องดวงอยู่ดี ๆ ไหงเอาเผือกเข้ามาเกี่ยวด้วย”

            “ก็มันซีครับ ที่หลวงพ่อว่า “มันถึงจะถูก” ผมก็ว่าถูกยังไง ก็ยังแพงกว่าเผือกอยู่ดี หรือว่าหลวงพ่อเคยเห็นเผือกแพงกว่ามันครับ”

            “สมชาย เธอเคยไหม ที่อยู่ดี ๆ ก็เห็นดาวระยิบระยับไปหมดทั้งที่ความจริงไม่มีดาวสักดวงบนท้องฟ้าน่ะ เคยหรือเปล่า” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงถามอย่างเหลืออดเหลือทนเต็มที

            “ไม่เค้ยไม่เคยครับหลวงพ่อ แล้วผมก็ไม่อยากจะมีประสบการณ์อย่างนั้นด้วย ก็พอจะรู้ ๆ ว่ามันคงไม่สนุกนักหรอก” นายสมชายว่า

            “ถ้าอย่างนั้น ก็เปลี่ยนเรื่องพูดได้แล้ว ขืนพูดเรื่องนี้ต่อไป ประเดี๋ยวอาจจะได้ประสบการณ์ที่เธอไม่พึงปรารถนา ที่แนะนำนี่เพราะหวังดีหรอกนะ”

            “ใครจะเป็นคนให้ล่ะครับ หรือว่าหลวงพ่อจะให้ อย่านาครับ ผมไม่อยากเป็นต้นเหตุให้หลวงพ่อต้องอาบัติ เกิดผมตายละก็ หลวงพ่อต้องอาบัติปาราชิกเทียวนะครับ”

            “รับรองว่าฉันไม่ต้องอาบัติแน่ เพราะกรณีนี้ไม่มีผู้กระทำ มีแต่ผู้ถูกกระทำเท่านั้น” ท่านพระครูเล่นสำนวนบ้าง

            “มันก็ไม่สมเหตุสมผลตามหลักกรรมที่หลวงพ่อเคยสอนน่ะสิครับ เอ หรือว่ากรรมมันคอรัปชั่น” เขาทำทีครุ่นคิด

            “ใส่ร้ายกรรม ระวังกรรมจะเล่นงานเธอ เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันไม่เตือน วจีกรรมนั้น ถึงจะไม่มีผลมากเท่ามโนกรรม แต่มันก็ทำให้คนฟันหักมามากต่อมากแล้ว” ได้ผล เพราะครั้งนี้นายสมชายปิดปากเงียบ มิใช่กลัวว่าท่านพระครูจะทำร้าย ทว่าตัวเขาเริ่มจะมองเห็นทุกข์โทษแห่ง “วจีกรรม” นี่กระมังที่คนโบราณเขาสอนไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

            “หลวงพ่อครับ เถ้าแก่ฮิมจะไปเกิดที่ไหนครับ ทุคติหรือสุคติ”

            “อ้าว ทำไมเปลี่ยนเรื่องซะแล้วล่ะ” ท่านพระครูแกล้งยั่ว

            “ก็ผมเคารพนับถือหลวงพ่อ จึงต้องเชื่อฟังหลวงพ่อซีครับ”

            “งั้นหรือ แต่กว่าจะเชื่อฟัง ก็เล่นเอาฉันเหนื่อยเลย เอาเถอะสำหรับเรื่องของเธอ ฉันรับรอง ปีหน้าได้แต่งงานแน่ รอไหวไหม”

            “ไหวครับ แต่ผมขอไม่บวชนะครับ เพราะห่วงว่าจะไม่มีคนขับรถให้หลวงพ่อ”

            “ตามใจ แต่ต้องเข้ากรรมฐาน ๑๕ วัน แล้วก็ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าทำได้ก็จะได้กุศลแรงกว่าพวกที่บวชจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ เสียอีก”

            “ครับ ผมยอมรับข้อเสนอ แต่ใน ๑๕ วัน ที่ผมเข้ากรรมฐาน หลวงพ่อต้องไม่รับนิมนต์ไปข้างนอกนะครับ ผมจะได้ไม่รู้สึกว่าละเลยต่อหน้าที่”

            “ก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าเจ้าภาพเขาอาสารับส่ง ฉันก็รับนิมนต์ได้”

            “ครับ แต่หลวงพ่อต้องไม่รับนิมนต์ติดต่อกันทั้ง ๑๕ วัน นะครับ”

            “แต่วันพระ ฉันก็งดรับนิมนต์อยู่แล้ว”

            “แต่...หลวงพ่อครับ”

            “แต่อะไรอีกล่ะหือสมชาย”

            “คือผมชักจะเวียนหัวกับคำว่า “แต่” เสียแล้วครับ เราเลิกพูด “แต่” กันดีไหมครับ

            “แต่ฉันยังไม่อยากเลิกนี่” ท่านพระครูยั่วอีก

            “ถ้าอย่างนั้นก็นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะครับ แต่ผมไม่พูดแล้ว”

            “นั่นไง ขนาดว่าไม่พูดก็ยังเผลอ “แต่” ออกมาจนได้”

            “ก็มันลืมนี่ครับ แต่ต่อไปนี้ผมจะไม่ลืม”

            “เอาเถอะ ๆ ฉันก็ชักจะเวียนหัวเหมือนกัน สรุปว่าเรื่องของเธอไม่มีปัญหาและอุปสรรคแต่ประการใด และฉันก็ขอบอกว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันจะตั้งเงินเดือนให้เธอเดือนละหนึ่งพันบาท ย้อนหลังไปถึงเดือนที่เธอเริ่มมาทำหน้าที่ขับรถให้ฉัน แต่ก็มีเงื่อนไขว่า”

            “แน่ะ หลวงพ่อ “แต่” อีกแล้ว”

            “เถอะน่า อย่าชักใบให้เรือเสีย เงื่อนไขก็คือ ฉันจะจ่ายให้เธอก็ต่อเมื่อฉันมีเงินส่วนตัวที่ไม่ใช่เงินวัด คืนนี้ฉันจะตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้มีเงินส่วนตัวใช้ โดยไม่ต้องรับราชการ”

            “ให้ผมอธิษฐานเองไม่ดีกว่าหรือครับ จะได้ไม่ต้องรบกวนหลวงพ่อ” ศิษย์ก้นกุฏิพูดอย่างเกรงใจ

            “คนที่ไม่ได้ทำไว้อธิษฐานไม่ขึ้นหรอกสมชาย ไม่งั้นก็อธิษฐานให้รวยกันหมดทุกคนแล้ว ของอย่างนี้มันต้องทำต้องสร้างไว้ก่อน กรรมไม่เคยคอรัปชั่น” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอธิบาย

            “หรือครับ ถ้าอย่างนั้น ผมก็ขอกราบขอบพระคุณ ที่หลวงพ่อจะอธิษฐานเผื่อผม เถ้าแก่ฮิมแกไปเกิดที่ไหน”

            “เธออยากรู้ไปทำไมกัน”

            “รู้ไปประดับความรู้น่ะครับ เพื่อสอนตัวเองด้วย”

            “งั้นฉันก็จะบอก แต่ก่อนอื่น ฉันขอถามเธอก่อนว่า คนที่ดับจิตในขณะที่ยังห่วงลูกห่วงเมียน่ะ จิตเขาเป็นอย่างไร

            “จิตมีโลภะครับ”

            “แล้วคนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ จะไปเกิดทุคติหรือสุคติล่ะ”

            “ทุคติครับ ไม่เป็นเปรต ก็ต้องเป็นอสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง”

            “ถูกแล้ว ฉันกำลังจะบอกเธอว่า นายฮิมเขาไปเกิดเป็นเปรต”

            “แล้วหลวงพ่อไม่ช่วยเขาหรือครับ”

            “ช่วยไม่ได้ ก็เขาไม่มีทุนเดิมอยู่เลย คนที่ฉันจะช่วยได้นั้นจะต้องมีทุนเดิมอย่างน้อยหกสิบเปอร์เซ็นต์ ทุนที่ว่านี้หมายถึงกุศลกรรม ถ้าใครมีกุศลกรรมอยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วมาให้ฉันช่วยก็พอจะช่วยได้ แต่เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย อย่างเช่น ฉันบอกให้มาเจริญกรรมฐานเพื่อเพิ่มทุน ถ้าเขาไม่มาหรือมาแต่ไม่ปฏิบัติจริงจัง ก็ไม่ได้ผล แก้กรรมไม่ได้”

            “เรื่องของกรรมนี่ลึกลับซับซ้อนจังนะครับ หลวงพ่อ คนบางพวกก็ก่อกรรมทำชั่วโดยไม่กลัวบาป ขนาดหลวงพ่อตักเตือน เขาก็ไม่ยอมเชื่อฟัง”

            “เพราะกรรมเขาทำมาอย่างนั้น”

            “ครับ นึก ๆ ดูก็น่าขำเหมือนกัน คนทุกคนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม แต่บางคนกลับไม่เชื่อกรรม ผมโชคดีที่ได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อ ไม่งั้นก็คงไม่เชื่อเหมือนกัน”

            “เอาละ ๆ จบบทสนทนากันเสียที จะถึงทางแยกเข้าวัดแล้ว ดูซ้ายดูขวาให้ดีล่ะ ประเดี๋ยวจะไม่มีโอกาสได้แต่งานกับเขา” ท่านพระครูเตือน

            “ถึงมีโอกาสก็ไม่แต่งหรอกครับหลวงพ่อ แหม อยู่ดีไม่ว่าดี จะให้ไปแต่งงานกับภูเขาเสียแล้ว แต่งกับคนยังพอว่า” ลูกศิษย์วัดไม่วายเล่นลิ้น เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงไม่โต้ตอบ เพราะต้องทำหน้าที่มองซ้ายขวา ช่วยคนขับซึ่งพูดมาก ปากไม่ค่อยได้พักผ่อนเช่นนายสมชายผู้นี้

            เมื่อรถตู้สีครีมเลี้ยวขวาออกจากถนนสายเอเชีย นายขุนทองซึ่งมานั่งดักรออยู่ที่ศาลาตรงปากทางเข้าวัด ก็วิ่งมาสกัดหน้ารถ นายสมชายจึงจอดรถรับเขาขึ้นมาด้วย

            “ไปไหนมาขุนทอง สามทุ่มกว่าแล้ว ยังไม่หลับอีกหรือ” คนขับตั้งคำถาม

            “หลับได้ไงล่ะพี่ เหม็นอีตาคนนั้นจนอ้วกแตกอ้วกแตน เลยต้องหนีมานั่งที่ศาลา” นายขุนทองตอบ แล้วรายงานท่านพระครูว่า

            “หลวงลุงฮะ มีตาคนนึงมารอหลวงลุงอยู่ที่กุฏิ หนูพาไปห้องพักก็ไม่ยอมไป แกว่าแกป่วยมาก เดินไม่ไหว”

            “เดินไม่ไหวแล้วมาถึงกุฏิข้าได้ยังไง หรือว่ามีคนหามมา”

            “ก็ไม่ทราบเหมือนกันฮะ หนูกำลังจะปิดกุฏิตอนเกือบ ๆ สองทุ่ม แกก็เดินโซซัดโซเซเข้ามาแล้วก็นอนร้องโอย ๆ อยู่หน้าอาสนะหลวงลุงนั่นแหละ”

            “แสดงว่าเขาป่วยมาก แล้วเอ็งทิ้งเขาไว้อย่างนั้นน่ะหรือ ทิ้งแขกของข้าซึ่งกำลังป่วยหนักให้นอนอยู่อย่างนั้นหรือขุนทอง” ท่านเอ็ดหลานชาย

            “โธ่ หลวงลุงฮะ หนูทนไม่ไหวจริง ๆ แกเหม็นอย่างร้ายกาจ ขนาดหนูเข้าไปหลบอยู่ในห้อง กลิ่นเหม็นนั้นก็ยังตามไปราวี หนูอ้วกซะไม่มีดี ทนอยู่ได้สักครึ่งชั่วโมง ก็ยอมแพ้ เลยเดินเล่น ๆ มาจนถึงศาลานั่นแหละฮะ” หลานชายชี้แจง

            “เขาเป็นอะไร ถึงได้เหม็นขนาดนั้น”

            “หนูก็ไม่ทราบฮะ สงสัยคอแกจะเน่า น้ำเหลืองไหลเยิ้มเลย”

            “แล้วเขามาจากไหน เอ็งถามหรือเปล่า”

            “หนูไม่กล้าถามฮะ กลัวกลิ่นเน่าเข้าปาก แค่เข้าจมูกก็เกือบตายแล้ว” นายสมชายอดรนทนไม่ได้ จึงเอ่ยขึ้นว่า

            “เอ็งพูดเกินความจริงแล้วมั้งขุนทอง คนเป็น ๆ อะไรจะเหม็นขนาดนั้น” นายขุนทองชักอารมณ์ไม่ดีด้วยดูเหมือนไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขาบอกกล่าว จึง “แว้ด” ใส่คนอายุมากกว่า

            “ไม่เชื่อเดี๋ยวพี่ก็ไปดูเองแล้วกัน แล้วจะรู้ว่าหนูไม่ได้โกหก” พอดีกับรถแล่นมาจอดที่ด้านหลังกุฏิ ทันทีที่ก้าวขาลงจากรถ ท่านพระครูก็มีอันต้องกำหนด “กลิ่นหนอ” ข้างฝ่ายนายสมชายถึงกับบ่นอุบ

            “อะไรกันวะขุนทอง รุนแรงถึงขนาดนี้เชียวหรือ”

            “เป็นไง หนูโกหกหรือเปล่า” ฝ่ายนั้นได้ทีจึงย้อนให้ แล้วหันไปพูดกับท่านเจ้าของกุฏิว่า “หลวงลุงฮะ คืนนี้หนูขออนุญาตไปนอนกับหลวงพี่บัวเฮียวนะฮะ ขืนนอนที่นี่มีหลัวอ้วกทั้งคืน” ท่านพระครูรู้นิสัยของหลานชายที่คิดเสมอว่าตัวเองเป็นผู้หญิง จึงไม่อนุญาต ด้วยเกรงพ่อตัวดีจะไปทำให้พรหมจรรย์ของภิกษุหนุ่มต้องมัวหมอง

            “ไปไม่ได้ เอาเถอะ ข้าอนุญาตให้เอ็งขึ้นไปนอนบนห้องนายสมชาย แล้วให้เจ้าของห้องไปนอนที่กุฏิพระบัวเฮียวแทน”

            “ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ เดี๋ยวผมเก็บรถแล้วก็จะไปอาบน้ำที่นั่นเลย โอย ขืนอยู่คงต้องอ้วกแข่งกับเจ้าขุนทองมัน” นายสมชายว่า แล้วจึงนำรถเข้าไปเก็บ

            ฝ่ายนายขุนทองก็กระฟัดกระเฟียดเดินเอามืออุดจมูกเข้าไปในกุฏิ แล้วก็ขึ้นไปนอนชั้นบน ท่านพระครูไม่ว่ากระไร เพราะแม้ท่านเอง ก็ยังแทบทนไม่ได้ “เมื่อเดินไปนั่งที่อาสนะ กลิ่นนั้นก็รุนแรงยิ่งขึ้นจนท่านเกือบจะต้องใช้มือปิดจมูก

            เห็นท่านเข้ามา บุรุษวัยหกสิบพยายามยันกายลุกนั่ง แล้วกราบท่านสามครั้ง “หลวงพ่อครับ ช่วยผมด้วย โอย ทรมานเหลือเกิน” เขาพูด พลางส่งเสียงครวญคราง

            “โยมเป็นอะไรมา” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “โอย...หมอเขาว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองครับ ผ่าตัดมาแล้วสองครั้งก็ไม่หาย มันเหม็นเหลือเกินครับ หลวงพ่อ โอย..ผมกะจะมาตายอยู่กับหลวงพ่อ



            “อ้าว นี่หนีลูกหนีเมียมานี่นา ใช่หรือเปล่า” ท่านจำเป็นต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบเพื่อช่วยให้คนเจ็บไม่ต้องพูดนาน

            “ครับ” เขาสารภาพ

            “ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ เอาละขอให้บอกชื่อและที่อยู่มา ถ้ายังไงอาตมาจะได้ส่งข่าวไปให้ลูกเมียได้ อย่าพูดปดนา อาตมารู้ว่า โยมมาจากเชียงใหม่ เคยเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเกษตรกรรม ใช่ไหม แล้วภรรยาเป็นเจ้าของร้านขายผ้าไหมอยู่ในเมือง ลูกชายเป็นปลัดอำเภอ ลูกสาวเป็นพยาบาล ถูกหรือเปล่า”

            “ถูกครับ โอย ทำไมหลวงพ่อทราบ” ถามด้วยความสงสัย

            “ก็กฎแห่งกรรมของโยมบอกอาตมาน่ะซี ไหนบอกชื่อและที่อยู่มาก่อน แล้วที่มานี่เพราะเพื่อนบ้านแนะนำมาใช่ไหมเล่า”

            “ถึงผมไม่บอก หลวงพ่อก็ทราบนี่ครับ โอย..” บุรุษนั้นรู้สึกศรัทธาในตัวท่านขึ้นมาทันที มิเสียแรงที่ลงทุนจ้างรถแท็กซี่มาส่งด้วยราคาถึงห้าร้อยบาท

            “แต่อาตมาต้องการให้โยมบอกเอาละ ช่วยจดใส่สมุดเล่มนี้ให้ด้วย อาตมาจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน” ท่านส่งสมุดเล่มหนาให้ อดีตอาจารย์วิทยาลัยเกษตรกรรมรับมา หากไม่สามารถเขียนได้ จึงเรียนท่านว่า

            “ผมไม่สามารถเขียนได้ครับหลวงพ่อ” แม้อายุจะแก่กว่าท่านถึงสิบปี หากก็เรียกท่านว่า “หลวงพ่อ” อย่างเต็มอกเต็มใจ รู้สึกเหมือนว่าทุกขเวทนาลดลงเมื่อได้พูดคุยกับท่าน

            “ปวดมากจนเขียนไม่ได้หรือ” ท่านพระครูถาม รู้ว่าเขากำลังต่อสู้กับทุกขเวทนา จึงแผ่เมตตาจิตไปช่วยให้ทุเลาลง

            “ที่เขียนไม่ได้เพราะไม่มีปากกาครับ ผมไม่ได้เอาปากกามา” ตอบโดยไม่ต้องผสมด้วยเสียง “โอย” เพราะได้รับกระแสแห่งเมตตาโดยที่เจ้าตัวไม่รู้

            “อ้าว แล้วก็ไม่บอก อาตมานึกว่าปวดมากจนเขียนไม่ได้เสียอีก” พูดแล้วจึงส่งปากกาให้ บุรุษวัยหกสิบรับมาแล้วเขียนชื่อ นามสกุล พร้อมทั้งที่อยู่ของตนลงในสมุดแล้วส่งคืนให้ท่าน

          “อ้อ ชื่อชิตหรือ”

          “ครับ”

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองหน้าอาจารย์ชิต และเห็นกฎแห่งกรรมของเขาอย่างทะลุปรุโปร่ง ทว่าบุรุษผู้นี้กลับไม่เห็นกฎแห่งกรรมของตัวเอง!

 

มีต่อ........๕๒

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 24, 2007, 06:30:59 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00052
๕๒...

            พระบัวเฮียวไม่อยากจะเชื่อเรื่องที่นายสมชายเล่า แต่คนเล่าอยากให้ท่านเชื่อ จึงต้องนิมนต์ไปพิสูจน์ บังเอิญภิกษุเชื้อสายญวนมีขับข้องใจสงสัย ที่จะเรียนถามท่านพระครูอยู่แล้ว จึงตกลงปลงใจที่จะไปพบพระอุปัชฌายาจารย์ของท่าน

            “เฝ้ากุฏิไว้นะ อย่างเพิ่งหลับล่ะ” ท่านสั่งนายสมชาย แล้วออกเดินพลางกำหนด “ขวา-ซ้าย  ขวา-ซ้าย” ไปยังกุฏิเจ้าอาวาส ครั้นถึงก็ได้กลิ่นเหม็นเน่า คล้ายกลิ่นสุนัขที่ตายมาหลายวัน ท่านคิดว่าคงเป็นอุปาทานมากกว่าจึงกำหนด “กลิ่นหนอ” ทว่าความรุนแรงของมันก็มิได้ลดลง จึงคิดจะเดินกลับ โชคดีที่ท่านพระครูยังไม่เห็น เพราะภิกษุหนุ่มเดินมาเข้าด้านหลังของกุฏิ

            “บัวเฮียว จะกลับไปทำไมล่ะ เข้ามาก่อน” เสียงพระอุปัชฌาย์เรียกออกมาจากข้างใน พระบัวเฮียวเลิกสงสัยมานานแล้วว่า เหตุใดท่านพระครูจึงรู้ว่าท่านกำลังเดินมา ในความคิดของภิกษุหนุ่ม พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็น “พระฉฬภิญญา”

            ผู้บวชใหม่จึงจำต้องเดินเข้าไปกราบท่านสามครั้ง แล้งถอยห่างออกมานั่งติดกับประตูด้านหน้า กระนั้นก็มีความรู้สึกอยากอาเจียนเป็นกำลัง

            “ทำไมไปนั่งเสียไกลเชียว เขยิบเข้ามานั่งใกล้ ๆ ซิ” ท่านเจ้าของกุฏิออกคำสั่ง เป็นคำสั่งที่พระบัวเฮียวจำใจต้องปฏิบัติตามอย่างยากเย็นยิ่ง

            “ท่านคงเหม็นผมน่ะครับหลวงพ่อ ผมเองก็ยังแทบจะทนกับกลิ่นของตัวเองไม่ไหว” อาจารย์ชิดพูดอย่างเกรงใจ รู้สึกสงสารจมูกของพระคุณเจ้าทั้งสองรูปนี้ยิ่งนัก ที่เขาต้องหนีลูกหนีเมียซมซานมาหาท่านพระครู ขอมาตายใกล้ ๆ พระ จะได้ไม่ตกนรก

            “บัวเฮียว สมมุตินี่เป็นสนามสอบ เธอลงมือทำข้อสอบได้แล้ว จะตกหรือจะผ่าน ประเดี๋ยวก็รู้ได้”  อาจารย์ชิตไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพระครูพูด ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติกรรมฐาน ส่วนพระบัวเฮียวนั้นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ท่านเริ่มกำหนด “กลิ่นหนอ” ด้วยสติอันไม่ถึงกับว่องไว หากก็ไม่จัดว่าช้า เวลาผ่านไปประมาณสองนาที ก็โอดครวญกับพระอุปัชฌาย์ย่า

            “พระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง งวดนี้กระผมขออนุญาตสอบตกนะครับ ยังเตรียมไม่พร้อม จะกลับไปตั้งหลักก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ตัวใหม่ขอรับ”

            “แล้วถ้างวดหน้าตกอีกล่ะ” พระอุปัชฌาย์ย้อนถาม

            “ก็ขอไปแก้ตัวงวดโน้นขอรับ” ผู้บวชได้สี่เดือนเศษตอบ ขณะพูดมีความรู้สึกว่ากลิ่นเน่าโชยเข้ามาในปาก จึงเกิดอาการสะอิดสะเอียนจนมิอาจทนนั่งอยู่ได้

            “แล้วถ้าฉันไม่อนุญาตล่ะ” ภิกษุหนุ่มไม่ทันได้ตอบ เพราะรีบลุกออกไปอาเจียนที่กอต้นเข็ม เสร็จแล้วจึงกลับมานั่งน้ำหูน้ำตาไหลเพราะความคลื่นเหียน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงให้สงสารลูกศิษย์นัก จึงกล่าวอนุญาตว่า

            “เอาเถอะ จะกลับมาสอบคราวหน้าก็ได้ แล้วช่วยกลับไปบอกสมชายด้วยว่า พรุ่งนี้เช้าให้ไปหา ต้นใต้ใบ กับ ต้นไมยราบ มาให้ฉันสักหอบย่อม ๆ จะเอามาปรุงยาให้โยมเขา” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิต

            “ครับ ผมกราบลาละครับ” ภิกษุหนุ่มกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้วลุกออกมา แวะอาเจียนที่กอต้นเข็มอีกครั้ง จึงเดินกลับกุฏิของท่าน ความรู้สึกพะอืดพะอม ทำให้ลืมกำหนด “ขวา-ซ้าย” มานึกได้ก็ต่อเมื่อถึงที่พักแล้ว

            “ผลแห่งการพิสูจน์เป็นยังไงครับหลวงพี่” นายสมชายถาม

            “จะเป็นยังไง แต่เอาเถอะ อาตมาจะไม่บอกคุณหรอก”

            “บอกเถอะครับ ผมอยากรู้”

            “แต่อาตมาไม่บอก”

            “บอกเถอะครับ เพราะผมอยากรู้จริง ๆ แล้วความอยากรู้ของผมนั้นมีมากกว่าความไม่อยากอกของหลวงพี่เสียอีก ฉะนั้นหลวงพี่จะต้องบอก” ลูกศิษย์วัดอ้างเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง

            “คุณเอาอะไรมาวัด”

            “ไม่ต้องวัดหรอกครับหลวงพี่ ของมันเห็นกันเจ๋ง ๆ อยู่แล้ว จะต้องไปวัดเวิ้ดทำไมกัน”

            พระบัวเฮียวคร้านที่จะเถียง จึงบอกเสียงอ่อย ๆ ว่า “อาตมาสอบตกอย่างไม่เป็นท่าเลย”

            “สอบอะไรครับ สอบบรรจุหรือสอบเลื่อนตำแหน่ง” ชายหนุ่มถามงง ๆ

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือพออาตมาไปถึง หลวงพ่อท่านก็ให้สอบ แล้วอาตมาก็สอบตก เอ แต่หลวงพ่อท่านฝากสั่งมาหาคุณแน่ะ” ท่านเปลี่ยนเรื่องด้วยไม่ต้องการให้ฝ่ายนั้นรับรู้ความพ่ายแพ้ที่ท่านได้รับมาหยก ๆ

            “ท่านสั่งถึงผมว่ายังไงครับ”

            “ท่านว่า พรุ่งนี้เช้าให้คุณไปหาต้นใต้ใบกับต้นไมยราบมาสักหอบย่อม ๆ ท่านจะเอาไปปรุงยาให้โยมเขา” คนรับฝากคำสั่งถ่ายทอดความได้ทุกถ้อยคำ

            “โยมไหนครับ” เขาคิดว่าคงจะเป็นบุรุษคอเน่าคนนั้น

            “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะหลวงพ่อท่านไม่ได้บอก” คนฉลาดแต่ไม่เฉลียว ตอบไม่เต็มเสียง

            “งั้นพรุ่งนี้ หลวงพี่ช่วยเตือนผมอีกทีแล้วกัน เอาละทีนี้กรุณาเล่าให้ผมฟังหน่อยว่า หลวงพี่ไปสอบอะไรมา ที่พูดค้างไว้เมื่อกี้น่ะ” คนเป็นฆราวาสวกกลับมาเรื่องเดิม

            “แหม อาตมานึกว่าคุณลืมไปแล้ว หลงดีใจว่าจะได้ไม่ต้องเล่า” ภิกษุหนุ่มรู้สึกผิดหวัง

            “ผมไม่ลืมหรอกครับหลวงพี่ แล้วผมก็รู้ด้วยว่า หลวงพี่อยากให้ผมลืม ไอ้ผมมันก็คนหัวรั้นเสียด้วย คือถ้าใครอยากให้ผมลืม ผมมักจะจำ”

            “ระวังเถอะ คนที่หัวรั้นน่ะต่อไปจะหัวล้าน” นายสมชายสะดุ้ง เพราะครั้งหนึ่งท่านพระครูก็เคยพูดเรื่องผมบนศีรษะของเขาว่า ในอนาคตมันจะลดปริมาณลง เมื่อมาถูกพระบัวเฮียวสะกิดอีก จึงถึงกับใจฝ่อ ก็ผู้ชายคนไหนบ้างอยากจะหัวล้าน ถึงผู้หญิงก็เถอะ

            “แหม หลวงพี่พูดอะไรยังงั้น เล่นเอาผมใจคอไม่ดี” เขาต่อว่าภิกษุหนุ่ม

            “ทำไม่ กลัวหรือ”

            “ก็กลัวซีครับ เกิดเป็นตามปากหลวงพี่ ผมกลุ้มตายแน่ ๆ”

            “อย่ากลัวเลยคุณ ถ้าคุณมีกรรมจะต้องเป็นอย่างนั้น ก็ขอภาวนาให้เป็นหลังแต่งงานเถอะ ขืนเป็นก่อนแต่งงานผู้หญิงเขาคงไม่ยอมแต่งกับผมแน่”

            หากเป็นเมื่อก่อน ใจของพระบัวเฮียวจะต้องซัดส่ายทุกครั้ง เมื่อได้ยินคนพูดเรื่องแต่งงาน แล้วก็คิดอยากจะสึกออกไปมีคู่ครองเฉกเช่นคนอื่น ๆ บ้าง แต่หลังจากที่ท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จนสามารถแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปยังโยมมารดา ถึงกับทำให้ท่านได้รับรางวัลเป็นอาหารทิพย์จากเทวดา ปรากฏการณ์สองอย่างนี้ ทำให้ท่านตั้งปณิธานว่าจะไม่สึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนอย่างเด็ดขาด

         นับแต่บัดนั้น ท่านก็มิได้หวั่นไหว ยามได้ยินได้ฟังเรื่องเช่นว่านี้ ทั้งความคิดที่จะสึกก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีก

            “ถ้าเขาไม่ยอมแต่งก็ดีน่ะสิ จะได้รู้ว่า เขารักเราที่รูปร่างหน้าตา อาตมาเคยได้ยินหลวงพ่อท่านสอนญาติโยมว่า คนที่รักกันด้วยรูปโฉมโนมพรรณ หรือทรัพย์สมบัตินั้น ไม่ใช่รักแท้”

            “ต้องรักด้วยอะไรล่ะครับ จึงจะเรียกว่ารักแท้” ศิษย์วัดแกล้งถามเพื่อลองภูมิ หลวงพี่”

            “หลวงพ่อท่านว่า ต้องรักด้วยใจ ด้วยคุณความดี รักอย่างนี้ถึงจะยั่งยืน อย่างแรกไม่ยั่งยืนเพราะพอหมดเงิน หมดสวย รักก็จืดจางร้างรา” ผู้บวชใหม่ พูดตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระอุปัชฌาย์

            “ทำไมต้องเป็นหลวงพ่อท่านว่าด้วยล่ะครับ เป็นหลวงพี่ว่าไม่ได้รึไง” นายสมชายทักท้วง

            “อาตมายังไม่เคยมีประสบการณ์” ภิกษุหนุ่มให้เหตุผล

            “ก็เมื่อไหร่จะมีล่ะครับ เมื่อไหร่”

            “อาตมาไม่พึงปรารถนา จริงอยู่เมื่อก่อนอาตมาเคยคิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่คิดแล้ว พอปฏิบัติกรรมฐานมาก ๆ จิตมันก็ไม่ยอมรับสิ่งนี้ไปโดยปริยาย ไม่ต้องมีการฝืนด้วย มันก็แปลกดีนะ คุณน่าจะลองบ้าง”

            “อย่าให้ผมลองเลยครับหลวงพี่ ผมยังไม่อยากจะเป็นพระอรหันต์ ยังรักที่จะเป็นปุถุชนคนเดินดินอย่างนี้แหละ” นายสมชายรีบปฏิเสธ

            “คุณคิดว่าการเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นกันได้ง่าย ๆ งั้นหรือ” พระบัวเฮียวย้อน

            “ง่ายหรือยาก ผมก็ไม่อยากเป็นหรอกครับ”

            “แต่ถึงอยาก ก็ใช่ว่าจะได้เป็นดังที่อยาก หลวงพ่อท่านบอกว่า การเป็นพระอรหันต์ต้องปฏิบัติข้ามภพข้ามชาติ แล้วก็ต้องทำด้วยตัวเอง ทำแทนกันไม่ได้ ซื้อเอาก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่บัตรผู้แทน”

            “แหม หลวงพี่อ้างหลวงพ่ออีกแล้ว เมื่อไหร่จะเลิกอ้างแบบนี้เสียที คนเราควรจะมีความคิดเป็นของตัวเองมั่ง” นายสมชายว่า

            “มันก็มีบ้างเหมือนกันแหละ ความคิดที่เป็นของตัวเองน่ะ แต่มันออกจะเปิ่น ๆ ไม่ฉลาดเฉลียวนัก พูดออกมาทีไร เป็นถูกคนเขาหัวเราะเยาะทุกที เลยต้องอ้างหลวงพ่อ จะผิดจะถูกยังไงก็ให้ไปถามหลวงพ่อเอาเอง แต่ก็แปลกนะคุณ พออาตมาอ้างหลวงพ่อ ก็ไม่เห็นใครหัวเราะเยาะ เลยต้องอ้างบ่อย ๆ จนชิน” พระบัวเฮียวอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องอ้างคำพูดของอาจารย์

            “เอาเถอะครับ เรายุติเรื่องนี้กันดีกว่า หลวงพี่ตอบผมได้แล้วว่า ไปสอบอะไรมา” นายสมชายทวงคำตอบ

            พระบัวเฮียวเห็นว่าไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ จึงจำใจเล่าให้ชายหนุ่มฟัง พร้อมทั้งลงความเห็นว่า

            “ไม่น่าเป็นไปได้ ที่คนเป็น ๆ จะเหม็นราวกับซากศพ นี่ถ้าอาตมาไม่ได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง เป็นไม่เชื่อเด็ดขาด”

            “ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านทนได้ยังไงนะ ผมละสงสารท่านจังเลย ที่ต้องสงเคราะห์คนทุกประเภทโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นใครมีชีวิตลำบากลำบนเหมือนท่าน ในโลกนี้จะมีอีกสักกี่คนที่เป็นอย่างท่าน หรือหลวงพี่ว่ายังไง”

            “อาตมาว่า ไม่มีอีกแล้ว คนที่ประเสริฐอย่างหลวงพ่อ หาไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ” พระบัวเฮียวพูดจากใจจริง

            “นั่นสิครับ แล้วผมก็เสียดายแทบขาด ที่ท่านจะต้องจากพวกเราไปในอีกสี่ปีข้างหน้า หลวงพี่ทราบเรื่องที่ท่านจะต้องได้รับอุบัติเหตุรถคว่ำแล้วใช่ไหมครับ”

            “รู้แล้ว แต่มันยังไง ๆ อยู่นะ อาตมาค่อนข้างมั่นใจว่า ท่านจะไม่มรณภาพในลักษณะเช่นนั้น บุญบารมีที่ท่านสะสมไว้ จะช่วยท่านได้ อาตมาแน่ใจเช่นนั้น”

            “หมายความว่า หลวงพี่ไม่เชื่อที่หลวงพ่อบอกหรือครับ แสดงว่าหลวงพี่ไม่เชื่อว่าท่านได้อภิญญาจริงอย่างนั้นหรือครับ”

            “เชื่อสิ อาตมาเชื่อว่า ท่านได้อภิญญา ๖ ด้วยนะ ท่านเป็นพระอรหันต์ประเภท “ฉฬอภิญญา” อาตมาเชื่ออย่างนี้

            “หลวงพี่อย่าไปพูดอย่างนี้ต่อหน้าท่านนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน เคยมีคนคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกอย่าคิดอย่างนั้น ท่านเป็นพระอรเหต่างหาก เพราะใครมีทุกข์ ก็จะเหเข้ามาหาเพื่อให้ท่านช่วย”

            “คนอื่นจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับอาตมา ท่านเป็นพระอรหันต์ที่ได้อภิญญาครบทั้ง ๖ ท่านเป็น “พระฉฬภิญญา” ภิกษุหนุ่มย้ำ

            “เอาเถอะครับ หลวงพี่อยากจะคิดอย่างนั้นก็ตามใจ แต่อย่าได้ไปพูดอย่างนี้ให้ท่านฟังเชียว ถูกดุแน่ ๆ นี่กี่ทุ่มกี่ยามแล้วล่ะ ผมชักง่วงแล้ว นอนกันเถอะครับ”

            “เชิญคุณนอนก่อนเถอะ อาตมาจะปฏิบัติกรรมฐานเพื่อแผ่เมตตาไปให้หลวงพ่อท่าน บางทีอาจช่วยท่านได้นะหรือคุณว่ายังไง”

            “ครับ อาจเป็นได้ ก็หนูยังช่วยราชสีห์ได้นี่ครับ หลวงพี่ตัวใหญ่กว่าหนูตั้งแยะ” นายสมชายว่า จากนั้นก็ล้มตัวลงนอน ไม่ช้าก็ส่งเสียงกรนเบา ๆ แสดงว่าหลับสนิท พระบัวเฮียวนั่งสมาธิกำหนด “พอง-หนอ” และ “ยุบ-หนอ” เป็นเวลาสองชั่วโมง ถอนจิตออกจากสมาธิแล้วแผ่เมตตา และอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านพระครู จากนั้นจึงจำวัด

            พระบัวเฮียวกลับออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงพูดกับอาจารย์ชิตว่า

            “ยังไม่ทันไร สอบตกเสียแล้ว โยมอย่าไปถือสาท่านเลยนะ ท่านเพิ่งบวชไม่ทันครบพรรษาเลย” อาจารย์ชิตพอจะเข้าใจความหมายที่ท่านพูดจึงตอบว่า “ผมไม่คิดอย่างนั้นหรอกครับ เพราะถ้าเป็นผม ก็ทนไม่ได้เช่นกัน แล้วผมก็เกรงใจหลวงพ่อมากที่ต้องมาทนกับกลิ่นเหม็นเน่าราวกับซากศพอย่างนี้ ผมคงบาปมากใช่ไหมครับ ถึงได้เน่าทั้งที่ยังไม่ตาย”

            “อย่าเพิ่งไปคิดอะไร แล้วก็ไม่ต้องเกรงใจอาตมาแต่ประการใด ไหนลองตอบอาตมามาซิว่า โยมอยากหายหรือเปล่า”

            “ผมยังมีโอกาสที่จะหายได้หรือครับ คงเป็นไปไม่ได้ หลวงพ่ออย่าปลอบใจผมเลยครับ ที่ผมดั้นด้นมาก้ไม่ได้หวังว่าจะหาย เพียงแต่จะขอมาตายใกล้ ๆ หลวงพ่อเท่านั้น” อาจารย์วัยหกสิบ พูดอย่างปลงตก

            “แต่อาตมาดูแล้ว่า มีทางเป็นไปได้ถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ขอให้เชื่ออาตมา แล้วทำตามที่บอกก็แล้วกัน”

            ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมจะขอบวชตลอดชีวิตเลยครับ ขออุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา ชีวิตฆราวาสของผมสิ้นสุดลงเพราะโรคร้าย การได้ชีวิตใหม่ ผมถือว่าเป็นเพราะอำนาจบุญกุศล ผมจึงขอต่อบุญด้วยการบวชตลอดชีวิต”

         “อย่าคิดไกลถึงขนาดนั้นเลยโยม อนาคตเป็นของไม่แน่ ถ้าโยมคิดว่าจะบวช ก็ขออธิษฐานไว้แค่พรรษาเดียวก็พอ ถ้าไปบอกว่าจะบวชตลอดชีวิต แล้วเกิดทำตามที่พูดไม่ได้ ก็จะเสียสัจจะ เรื่องสัจจะนี่สำคัญมากนะโยม ลูกศิษย์อาตมาคนหนึ่งชื่อนายอู่ กำลังจะจมน้ำตายเพราะอุบัติเหตุเรือพลิกคว่ำ ก็อธิษฐานว่า หากรอดชีวิตจะบวชหนึ่งพรรษา เสร็จแล้วก็ไม่ทำตามที่พูด แกบนไว้ตั้งแต่ลูกสาวยังอยู่ในท้อง จนลูกสาวแต่งงานก็ยังไม่ยอมบวช อาตมาเตือน ก็ผัดเมื่อนั้นเมื่อนี่อยู่เรื่อย ในที่สุดก็เลยรถคว่ำคอหักตาย นี่แหละผลของการเสียสัจจะ ในกรณีของโยมก็เหมือนกัน ขอให้ตั้งใจไว้ว่าจะบวชอย่างน้อยหนึ่งพรรษา หลังจากนั้น จะสึกหรือไม่สึก ก็ไม่ถือว่าเสียสัจจะ เข้าใจหรือยัง”

            “ครับ ผมจะอธิษฐานไว้หนึ่งพรรษาก่อน หลังจากนั้นก็จะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไมสึก”

            “ตามใจโยมก็แล้วกัน แต่อาตมาดูแล้ว โยมจะต้องสึกออกไปดูแลกิจการร้านค้า บวชตลอดชีวิตไม่ได้แน่” ท่านพระครูพูด “กฎแห่งกรรม” ของอาจารย์ชิต บอกท่านว่า ภรรยาเขาจะตายด้วยโรคมะเร็ง ในอีกสามปีข้างหน้า ท่านไม่บอกเขาในตอนนี้ แต่จะบอกต่อเมื่อเขาหายป่วยแล้ว

            “ภรรยาผมเขาดูแลได้ครับหลวงพ่อ เขาเก่งเรื่องค้าขาย แล้วก็แข็งแรงไม่เคยเจ็บป่วย เขาคงทำบุญมาดี อย่างน้อยก็ดีกว่าผมแหละครับ”

            “แต่คนที่ทำบุญมาดี พอมาชาตินี้ไม่ต่อบุญ น้ำมันก็หมดได้เหมือนกันนะโยม” ท่านพระครูแย้งเสียงเรียบ เพราะรู้ว่าอีกสามปี ภรรยาอาจารย์ชิตนะ “น้ำมันหมด” ชนิดที่ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้

         “บุญกุศลก็มีวันหมดได้หรือครับหลวงพ่อ” คนเป็นโรงมะเร็งถาม

            “ได้สิโยม ก็เหมือนกับน้ำมันรถแหละ หมดเมื่อไหร่รถก็วิ่งต่อไปไม่ได้ ถึงต้องเติมน้ำมันไงล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิ อธิบายเชิงเปรียบเทียบให้คนเป็นอาจารย์ฟัง

            “ถ้าอย่างนั้น บาปก็หมดได้ใช่ไหมครับ” อาจารย์ชิตถาม การได้สนทนากับพระครู ทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลิน จนลืมความเจ็บปวดได้ชั่วครั้งคราว แท้ที่จริง “พลังเมตตา” ที่ท่านแผ่มาให้นั่นดอก ที่ช่วยบรรเทาเบาคลายความทุกข์ให้เขา

            “ได้ ถ้าหากมีการชดใช้ สมมุติว่าโยมไปขอยืมเงินเขามา แล้วก็ไม่ใช้คืนเขา โยมก็ได้ชื่อว่าเป็นหนี้เขาอยู่ต่อเมื่อใช้คืนเขาเมื่อใด ก็เป็นอันว่าหมดหนี้ พูดถึงเรื่องหนี้ อาตมานึกถึงเรื่องของตัวเองได้ โดยมอยากฟังหรือเปล่า ถ้าไม่อยาก อาตมาจะได้ไม่เล่า”

            “อยากครับ หลวงพ่อกรุณาเล่าเถิดครับ ผมรู้สึกสบายขึ้น เมื่อได้คุยกับหลวงพ่อ อาการเจ็บปวดดูเหมือนลดน้อยลงไปจนเกือบจะเหมือนคนปกติ หลวงพ่อกรุณาเล่าเถิดครับ

            “แล้วห้ามเอาไปเล่าต่อนะ เพราะเรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว และก็จบลงเป็นอดีตไปแล้ว”

            “ครับ ผมจะไม่เล่าให้ใครฟังหากไม่เผลอ”

            “ตกลง ถ้าเล่าตอนเผลอ อาตมาไม่ว่า แต่ถ้าไม่เผลอ ห้ามเล่านะ”

            “ครับ” บุรุษวัยหกสิบรับคำ

            ท่านพระครูจึงเล่าว่า “สมัยที่อาตมาบวชใหม่ ๆ อาตมาคุ้นเคยกับเจ๊คนนึง แกชื่อเจ๊ลั้ง วันหนึ่งแกก็มาหาอาตมา บอก “หลวงพ่อ ขอยืมเงินฉันสักห้าพันได้ไหม ฉันจะเอาไปให้เฮียเขาลงทุนค้าขาย” เจ๊ลั้งแกมากับสามี จะชื่ออะไรอาตมาก็จำไม่ได้เสียแล้ว ตอนนั้นอาตมาเงินเยอะ เพราะยายทิ้งสมบัติไว้ให้ ทั้งเงินทั้งทอง ทองนั่นก็ดูเหมือนจะสักสี่สิบบาทเห็นจะได้ เป็นทองรูปพรรณ มีทั้งเข็มขัด สร้อยข้อมือแล้วก็สร้อยสังวาล ที่คนสมัยก่อนเขาใส่กัน อ้อ! แล้วก็มีร่างแหทองคำอันใหญ่อีกสองอัน”

            “อะไรครับ หลวงพ่อ ร่างแหทองคำ” อาจารย์ชิตถาม

            “ก็ลักษณะเหมือนกับแห ที่เขาเด็กผู้หญิงใส่น่ะ สมัยนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว เพราะเขาใส่กางเกงแทน”

            “อ๋อ ตะปิ้งใช่ไหมครับ”

            “คงงั้นมั้ง อาตมาเองก็ไม่เคยใส่กับเขา เพราะเป็นเด็กผู้ชาย” ท่านพระครูพูดติดตลก

            “ผมก็เคยซื้อให้ลูกสาวใส่ครับ สมัยที่แกเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้แม่เขายังเก็บไว้ บอกเอาไว้ให้รุ่นหลานดู”

            “นั่นแหละ ทีนี้เจ๊ลั้งแกมาขอยืมเงินห้าพัน แกกำลังท้องแก่ด้วย ตอนที่มาน่ะ ท้องลูกคนแรก”

            “แล้วหลวงพ่อให้หรือเปล่าครับ”

            “ให้สิ อาตมาไม่หวงหรอก ถ้ามีไม่เคยหวง อาตมาก็ให้แกยืมไป แต่ก็นึกสังหรณ์ใจว่า คงจะไม่ได้คืน แล้วก็ไม่ได้คืนจริง ๆ อาตมาจนบันทึกไว้นะ พอแกกับสามีกลับ อาตมาก็ขึ้นไปจดบันทึกว่า “วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. เจ๊ลั้งที่อยู่นครนายกมายืมเงินไปห้าหันบาท รู้สึกสังหรณ์ใจว่าจะไม่ได้คืน”

            “แล้วหลวงพ่อได้คืนหรือเปล่าครับ”

            “ไม่ได้จนบัดนี้ อาตมาก็ไม่กล้าทวงแก เพราะทวงหนี้ใครไม่เป็น ก็ไม่รู้ว่าทำไมแกถึงลืมได้ แกมาที่นี่หลายครั้ง แต่ไม่เคยพูดเรื่องเงินเลย ฉะนั้นจะว่าแกตั้งใจโกงก็ไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แกก็ต้องหลบหน้าหลบตา ไม่มาให้เห็นหน้า จริงไหม”

            “จริงครับ เอาอย่างนี้ไหมครับหลวงพ่อ ถ้าวันหลังแกมาที่นี่อีกหลวงพ่อกรุณาบอกผม ผมจะพูดให้เองดีไหมครับ” อาจารย์ชิตขันอาสา

            “ไม่ต้องหรอกโยม มันจบสิ้นกันไปแล้ว ฟังก่อน อาตมายังเล่าไม่จบ คือเมื่อปีที่แล้วนี่เอง แกก็มานิมนต์ไปงานแต่งงานลูกสาว ก็คนที่อยู่ในท้องตอนที่แกมาขอยืมเงินอาตมานั่นแหละ ก่อนไปอาตมาก็อธิษฐาน “เจ้าประคู้นขอให้ข้าพเจ้าได้เงินห้าพันคืนเถอะ ขอให้เจ๊ลั้งแกนึกได้เถอะ” แล้วก็ไปนครนายก แกส่งรถมารับเพราะตอนนั้นอาตมายังไม่มีรถใช้ ลูกสาวแกแต่งงานวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๖ เป็นเวลา ๒๔ ปีเต็ม ที่แกยืมเงินอาตมาไป พอไปถึงก็ทำพิธี จากนั้นก็ฉันเช้า

            ฉันเช้าเสร็จ อาตมาก็ลากลับ แกก็ไม่พูดเรื่องเงินอีก อาตมารู้สึกผิดหวัง ก็เลยมานั่งกรรมฐานตรวจสอบดูถึงได้รู้ว่า ที่เขาลืมเพราะเราเคยเป็นหนี้เขาไว้ตั้งแต่ชาติก่อนโน่น”

            “ชาติที่แล้วนี่หรือครับ”

            “ไม่ใช่ ก่อนชาติที่แล้ว เมื่อชาติที่แล้ว อาตมายังไม่ทันขอยืมเงินใคร เพราะตายเสียก่อน ดูเหมือนจะตายตอนอายุสักสามสี่ขวบนี่แหละ”

            “เป็นอะไรตายครับ”

            “ตกน้ำตาย คือบ้านอาตมาอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา แล้วพี่เลี้ยงเขาเผลอ อาตมาลงไปเล่นที่ท่าน้ำ ก็เลยตกน้ำตาย นี่โยมห้ามเอาไปเล่าให้ใครฟังนะ เรื่องตกน้ำตายน่ะ การปฏิบัติกรรมฐานมีประโยชน์ตรงนี้แหละ คือทำให้ระลึกถึงกรรมเก่าได้ จะได้ใช้ ๆ ให้หมดไปเสีย ทุกคนก็มีกรรมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าโยมหรืออาตมาหรือใคร ๆ”

         “แล้วหลวงพ่อบอกเจ๊คนนั้นหรือเปล่าครับ”

         “ไม่ได้บอกอย่างที่เล่าให้โยมฟังหรอก หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน แกก็มาที่วัดอีก อาตมาก็แกล้งถามก่า “เจ๊ อาตมาเคยเป็นหนี้เป็นสินเจ๊ แล้วลืมใช้บ้างหรือเปล่า ลองนึกดูซิ”

แกนึกอยู่นาน แล้วก็บอกว่าไม่ได้เป็น อาตมาก็ถามว่า ถ้าเกิดเป็นตั้งแต่ชาติก่อน ๆ ล่ะ อาตมาจะใช้ให้ชาตินี้ เอาไหม จะได้หมดหนี้กัน แกก็ว่า “เอาเถอะ ฉันยกให้ ถ้าเป็นหนี้ตั้งแต่ชาติก่อน ๆ ฉันยกให้หลวงพ่อ” อาตมาก็ย้ำว่า “จริง ๆ นะ อย่าพูดเล่นนะ” แกก็รับปากรับคำ ซึ่งก็แปลว่า แกอโหสิให้ อาตมาก็เลยบอกว่า ที่แกยืมอาตมาเมื่อยี่สิบปีก่อน อาตมาก็ยกให้เหมือนกัน แกก็นึกขึ้นได้ แล้วบอกจะใช้คืน อาตมาไม่ยอมรับคือ เพราะที่ยืมแกมา ถ้าคิดเป็นเงินในชาตินี้ ก็คงตกสองแสนบาททั้งต้นทั้งดอก ซึ่งถ้าแกเกิดจะเอาคืน ก็ไม่รู้จะไปเอาที่ไหนมาให้”

         “หลวงพ่อก็ได้กำไรซีครับ”

         “ยังงั้นน่ะซิ อาตมาถึงเตือนโยมว่า อย่าเที่ยวพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง เดี๋ยวเขาจะตำหนิว่าหลวงพ่อเจริญค้ากำไรเกินควร” แล้วท่านก็หัวเราะ อาจารย์ชิตพลอยหัวเราะไปด้วย นานนักหนาแล้ว ที่เขาไม่ได้หัวเราะอย่างมีความสุขเช่นค่ำคืนนี้

 

มีต่อ........๕๓

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 24, 2007, 06:31:42 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00053
๕๓...

         เสียงยามเคาะแผ่นเหล็กสิบสองครั้งบอกเวลาเที่ยงคืน ท่านพระครูจึงบอกอาจารย์ชิตว่า

         “สองยามแล้ว โยมควรจะพักผ่อนเสียที พรุ่งนี้อาตมาจะให้ขึ้นกรรมฐาน แล้วก็จะปรุงยารักษาโรคให้ เอาละ ประเดี๋ยวอาตมาจะไปเอาเครื่องนอนมาให้ นอนตรงหน้าอาสนะนี่แหละ” ท่านลุกจากที่นั่งแล้วเดินเข้าไปในห้องนายขุนทอง ประเดี๋ยวหนึ่งก็ออกมาพร้อมเครื่องนอนหนึ่งชุด อาจารย์ชิตรับของจากมือท่านแล้วจัดการปู่เสื่อและกางมุ้ง เขากราบท่านสามครั้ง ด้วยซาบซึ้งในพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

         “เอาละ นอนได้แล้ว อาตมาจะให้การบ้านตั้งแต่คืนนี้เลย”

         “การบ้านอะไรครับ” บุรุษวัยหกสิบไม่เข้าใจ

         “ก็ให้โยมเริ่มปฏิบัติกรรมฐานเสียตั้งแต่คืนนี้เลยน่ะซี วิธีปฏิบัติคือให้เอามือวางไว้ที่ท้อง สังเกตอาการ พอง-ยุบ ขณะที่หายใจเข้า-ออก เมื่อท้องพอง โยมก็ว่าในใจว่า “พอง-หนอ” เมื่อยุบก็ว่า “ยุบ-หนอ” ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะหลับ ไม่ต้องไปสนใจความเจ็บปวดที่ตรงคอ ให้เอาสติมาไว้ที่ท้องตลอดเวลา พยายามทำให้ได้ นี่แหละคือการบ้าน อาตมาจะขึ้นไปทำงานต่อล่ะ”

         “หลวงพ่อยังไม่จำวัดหรือครับ”

         “ยังหรอกโยม อาตมาไม่เคยนอนต่ำกว่าตีสอง บางคืนก็ทำงานจนถึงตีสี่ซึ่งเป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐานพอดี ก็เลยไม่ต้องนอน เอาละ พักผ่อนเถอะ อาตมาจะขึ้นข้างบนเสียที” ท่านปิดไฟห้องรับแขก แล้วพูดกับ “บุรุษผู้มากับก้อนหิน” ด้วยเสียงแผ่วเบาว่า “ช่วยดูแลแขกของอาตมาด้วยนะ เขากำลังป่วยหนัก”

            “ครับ กระผมจะดูแลอย่างดีที่สุด ขอขอบพระคุณเจ้าอย่าได้เป็นกังวลเลยขอรับ” บุรุษนั้นรับคำ เขานั่งประนมมือ หมอบอยู่ตรงประตูทางขึ้น

         “เอาละ ขอบใจ เป็นยังไงบ้าง ปฏิบัติกรรมฐานไปถึงไหนแล้ว ไม่เห็นมาให้สอบอารมณ์เลย”

         “กระผมเกรงใจพระคุณเจ้าน่ะขอรับ เห็นทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน การปฏิบัติของกระผมก็ก้าวหน้าดีขอรับ หากบรรลุญาณ ๑๖ เมื่อใด ก็จะต้องขอกราบลา”

         “แล้วจวนหรือยังล่ะ”

         “จวนแล้วขอรับ คิดว่าอีกไม่นานคงได้”

         “แล้วไม่ห่วงคู่รักหรือ ไปแล้วไม่ห่วงคนที่มากับเสานั่นหรือ” ท่านหมายถึงเสาตกน้ำมันที่พิงอยู่ใต้ต้นปีบ หลังกุฏิ

         “เรานัดกันแล้วขอรับ กระผมจะไปรอเธอที่สวรรค์ชั้นดุสิต เธอบอกจะอยู่รับใช้หลวงพ่อไปก่อน เธอช่วยกวาดบริเวณวัดทุกคืนเลยขอรับ”

         “อาตมาทราบแล้ว ฝากขอบใจเขาด้วย ลานวัดสะอาดสะอ้านขึ้นมากตั้งแต่เขามาอยู่ เอาเถอะ พากันสร้างบารมีเข้าไว้ จะได้ไม่ตกลงไปในภพภูมิต่ำ อย่าลืมดูแลแขกของอาตมาด้วย จะขึ้นไปทำงานละ” พูดจบ ท่านจึงขึ้นไปชั้นบน

         อาจารย์ชิตไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงล้มตัวลงนอน เอามือวางบนท้องสังเกตอาการเคลื่อนไหวของมันดังที่หลวงพ่อท่านสอน นับตั้งแต่ถูกโรคร้ายรุมเร้า เขากลายเป็นคนโกรธง่าย เจ้าโทสะ ฉุนเฉียว จนลูกเมียเข้าหน้าไม่ติด ห้าปีเต็มที่ต้องมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมานและสิ้นหวัง ชะรอยคงเป็นบุญเก่าที่นำให้มาพบพระภิกษุผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เช่นท่านพระครู

         เป็นวันแรกที่เขารู้สึกสบายอกสบายใจ และมีความหวังว่าชีวิตจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งร้าย ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น บุรุษวัยหกสิบรู้สึกว่ามีคนเอาสำลีชุบน้ำอุ่นมาเช็ดแผลที่คอ ซึ่งมีน้ำเหลือไหลเยิ้มอยู่ตลอดเวลา และส่งกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจ ขาพยายามจะลืมตาขึ้นดูว่าเป็นผู้ใด หากก็รู้สึกว่าเปลือกตาหนักจนลืมไม่ขึ้น จะว่าเป็นพ่อหนุ่มกระเทยคนนั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะแกแสดงท่าทางรังเกียจ ขนาดหนีขึ้นไปนอนข้างบน คงเป็นหลวงพ่อผู้มีจิตเปี่ยมด้วยเมตตานั่นเอง แล้วเขาก็ผล็อยหลับไปอย่างมีความสุข เป็นความสุขที่ชีวิตไม่เคยได้สัมผัสในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งเขียนหนังสืออยู่จนถึงตีสอง จากนั้นจึงลงมาล้างมือล้างเท้าที่ห้องน้ำใต้บันได เพื่อเตรียมจำวัด ขณะเอนกายลงอย่างมีสตินั้น บัดดลก็ให้รู้สึกปีติซาบซ่านทั่วสรรพางค์จึงใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบดู พระบัวเฮียวนั่นเองที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกเช่นนี้ ท่านพูดในใจว่า

         “ขอบใจเธอมากบัวเฮียวที่อุตส่าห์แผ่เมตตามาให้ แต่คงจะไม่มีใครช่วยฉันได้หรอก ใครเลยจะฝืนกฎแห่งกรรมไปได้ ฉันรู้ตัวดี วันเสาร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ เวลา ๑๒.๔๕ น. ฉันจะต้องคอหักตายเพราะอุบัติเหตุรถคว่ำ ต้องตายอย่างแน่นอน ฉันตรวจสอบดูแล้ว”

            ก่อนเข้าสู่ห้วงนิทรารมณ์ ท่านหวนระลึกถึงพุทธวจนะที่ว่า “คนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง ตนไม่ทำบาป ตนก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้”

            เมื่อท่านพระครูกลับจากบิณฑบาต นายสมชายจัดสำรับถวายท่าน แล้วนั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ อาจารย์ชิตยังคงนอนหลับอย่างมีความสุข และท่านเจ้าของกุฏิก็ไม่ต้องการจะรบกวนเขา ด้วยรู้ว่าบุรุษวัยหกสิบมิได้หลับสบายเช่นนี้มาห้าปีแล้ว เมื่อท่านฉันเสร็จ คนที่กำลังหลับอยู่ก็ตื่นพอดี เขารีบออกตัวว่า

         “ผมตื่นสายขนาดนี้เชียวหรือครับ ต้องขอประทานโทษ เพราะหลับสบายดีเหลือเกิน” พูดพลางลุกขึ้นมาเก็บที่นอน รู้สึกกระปรี้กระเปร่าเหมือนไม่ใช่คนที่กำลังป่วยหนัก จากนั้นจึงนำแปรงและยาสีฟันออกมาจากกระเป๋าเสื้อผ้า ท่านพระครูชี้ไปที่ห้องน้ำใต้บันได พลางกล่าวอนุญาตให้เขาเข้าไปใช้ได้

         “หลวงพ่อให้เขาใช้ทำไม ประเดี๋ยวก็เหม็นแย่” นายสมชายติง พอดีกับนายขุนทองทำความสะอาดกุฏิชั้นบนเสร็จ และลงมาข้างล่าง เมื่อรู้ว่าบุรุษนั้นเข้าใช้ห้องน้ำใต้บันได ก็โวยวายลั่น

         “หนูไม่ย้อมไม่ยอม ทำไมหลวงลุงถึงทำแบบนี้”

         “เบา ๆ หน่อยเจ้าขุนทอง ยังไงก็เห็นแก่หน้าข้ามั่ง” ท่านพระครูปราม “มันห้องน้ำของข้า ข้าจะให้ใครใช้ มันก็เรื่องของข้า พวกเอ็งมาเดือดร้อนอะไรด้วย”

         “ดีแล้ว งั้นหลวงลุงทำความสะอาดก็แล้วกัน หนูไม่ทำอีกแล้ว” กระเทยหนุ่มว่า

         “ผมก็คงไม่เหมือนกัน” นายสมชายสมทบ

         “เอาละ ไม่เป็นไร พวกเอ็งไม่ทำ ข้าทำของข้าเองก็ได้ จะได้รู้ว่าคนอย่างพวกเอ็งนั้นเลี้ยงเสียข้าวสุก จิตใจไร้ความเมตตา เขาทุกข์เพราะโรคร้ายก็ทรมานพอแล้ว ยังจะมาทุกข์เพราะกิริยาท่าทางของพวกเอ็งอีก เสียแรงที่อยู่ใกล้ข้า แต่ไม่เอาเยี่ยงอย่างข้าเลยแม้แต่น้อย ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างซิ ถ้าพวกเอ็งเป็นอย่างเขา จะรู้สึกยังไง” ท่านเจ้าของกุฏิ “เทศน์” เสียยืดยาวจนชายหนุ่มทั้งสองได้คิด เขาก้มลงกราบขอขมา

         “ผมผิดไปแล้วครับ หลวงพ่อกรุณายกโทษให้ผมด้วย” นายสมชายพูดก่อน

         “หนูก็ผิดไปแล้วฮ่ะหลวงลุง หนูกราบขอขมา” นายขุนทองพูดบ้าง

         “พอดีอาจารย์ชิตออกมาจากห้องน้ำ เขาได้ยินการสนทนานั้น หากไม่ถือสา เพราะเข้าใจความรู้สึกของคนทั้งสองดี แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงโกรธหน้าดำหน้าแดงไปเหมือนกัน

         “ผมหลับสนิทเลยครับหลวงพ่อ รู้สึกตัวเหมือนกันตอนที่หลวงพ่อมาเช็ดแผลให้ ผมอยากจะกล่าวขอบคุณ แต่รู้สึกปากมันหนักจนพูดไม่ออก แถมลืมตาก็ไม่ขึ้นด้วยครับ”

         “อ้อ ยังงั้นหรือ มีคนมาพยาบาลตอนหลับหรือ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ ด้วยรู้ว่า “ใคร” คือบุคคลคนนั้น

         “ไม่ใช่หลวงพ่อหรอกหรือครับ” อาจารย์ชิตถามอย่างฉงน

         “อาตมาไม่ได้ลงมาเอง แต่สั่งคนอื่นมาทำแทน เอาเถอะ ไม่ต้องซักถามอะไร” นายสมชายกับนายขุนทองมองตากัน แล้วหนุ่มกระเทยก็โพล่งขึ้นว่า

         “สงสัยจะเป็นนายก้อนหินมั้ง หลวงลุง”

         “นายก้อนหินไหนครับ” อาจารย์ชิตถาม ท่านพระครูขยิบตาใส่หลานชาย เป็นเชิงห้ามไม่ให้พูด แต่ชายหนุ่มมองไม่เห็น จึงพูดต่อ

         “ก็ที่ครูสองผัวเมียเอามาถวายหลวงลุงนั่นไงที่อยู่....” ยังพูดไม่ทันจบ ก็ถูกนายสมชายสะกิดอย่างแรงจึงต้องหยุด

         “อย่าไปฟังเจ้าขุนทองเลยโยมธาตุมันไม่ค่อยดี เลยชอบพูดเพ้อเจ้ออยู่เรื่อย” หลานชายอ้าปากจะเถียง หากนายสมชายพูดตัดบทขึ้นว่า

         “เราไปกินข้าวที่หอฉันกันเถอะ จะได้ให้อาจารย์กินที่นี่” แล้วเขาก็จัดสำรับที่ท่านพระครูฉันเสร็จแล้วนั้นให้อาจารย์ชิต ตัวเขากับนายขุนทองพร้อมใจกันเดินไปรับประทานที่หอฉันร่วมกับเด็กวัดคนอื่น ๆ

         “ทานอาหารเสียก่อน ประเดี๋ยวจะให้ขึ้นกรรมฐาน ทานได้หรือเปล่า หรือว่าจะทานข้าวต้ม”

         “ไม่ต้องหรอกครับหลวงพ่อ ผมเบื่อข้าวต้นจะแย่อยู่แล้ว วันนี้จะขอทานน้ำพริกผักต้มดู คงไม่มีปัญหาอะไรครับ” แล้วเขาจึงลงมือรับประทาน รู้สึกรสชาติถูกปากจนรับประทานได้หลายคำ ทั้งที่ยังเจ็บคออยู่ รับประทานเสร็จ ก็เตรียมเก็บสำรับจะนำไปล้าง

         “เอาไว้นั่นแหละ ไม่ต้องทำ ประเดี๋ยวสองคนนั่นเขามาจัดการเอง” ท่านหมายถึงคนเป็นศิษย์วัดกับคนเป็นหลาน พอดีนายขุนทองเดินเข้ามา

         “สมขายไปไหนเสียล่ะ” ท่านถาม

         “ไปหาต้นใต้ใบกับต้นไมยราบมาให้หลวงลุงฮะ บอกให้หนูมาเก็บสำรับ” เขายกสำรับออกไปวางบนโต๊ะหลังห้องรับแขก ครอบด้วยฝาชีทำจากตอกไม้ไผ่ แล้วจึงเก็บถ้วยชามที่ใช้แล้วออกไปล้างข้างตุ่มน้ำหลังกุฏิ ค่อยหายใจโลงอกเมื่อห่างบุรุษนั้นออกมา แต่ถึงอย่างไร วันนี้ก็ยังดีกว่าวันวาน อาจเป็นเพราะจมูกเขาเริ่มจะชินกับกลิ่นเน่านั้นก็เป็นได้

         ครู่ใหญ่ นายสมชายก็หอบพืชสมุนไพรสองชนิด เข้ามากุฏิ

         “เอาไปที่โรงครัว สับให้ละเอียดแล้วผึ่งแดด จากนั้นก็นำไปคั่วให้เหลือง แล้วค่อยเอามาที่นี่ อย่าให้ปนกันนะ” ท่านเจ้าของกุฏิสั่งการ ชายหนุ่มจึงหอบสองสิ่งนั้นไปยังโรงครัว เพื่อจัดการตามคำสั่ง

         “ขุนทองช่วยไปตามพระบัวเฮียวมาช่วยนำโยมขึ้นกรรมฐาน แล้วจัดพานดอกไม้ธูปเทียนมาด้วย” ท่านสั่งหลานชายที่เพิ่งเสร็จจากการล้างถ้วยชาม

         “ให้หลวงพี่จัดพานมาด้วยหรือฮะหลวงลุง รู้สึกว่าหลวงพี่จะไม่มีพานนะฮะ” หลานชายท้วง

         “ข้าให้เอ็งต่างหาก”

         “ก็หลวงลุงสั่งไม่ชัดเจนดีแล้วนาหรือว่าโยมว่ายังไง” ท่านหันไปถามอาจารย์ชิต บุรุษวัยหกสิบเพียงแต่ยิ้มหากไม่ออกความเห็น เพราะเกรงนายขุนทองจะโกรธ ทางที่ดีควรนิ่งเข้าไว้

            “เห็นไหมหลวงลุง ที่โยมเขานิ่งก็แปลว่าเขาเห็นด้วยกะหนูใช่ไหมฮะ” เขาถามอย่างจะหาพวก ท่านพระครูจึงพูดตัดบทว่า

         “เอาเถอะ ๆ อย่ามัวมาต่อนัดต่อแนงอยู่เลย รีบไปตามพระบัวเฮียวได้แล้ว หลังจากนั้นให้เอ็งไปเก็บดอกไม้มา พานและธูปเทียนมีอยู่ที่นี่แล้วไง ข้าสั่งขัดเจนหรือยังคราวนี้”

         “ชัดเจ๋งเป้งเลยฮะ” หลานชายใช้ศัพท์ทันสมัย พลางหัวเราะคิก ๆ จากนั้นจึงลุกออกไปตามคำสั่ง

         “ประเดี๋ยวโยมรับศีลแปดก็แล้วกันนะ ไหวหรือเปล่า อาตมาอยากจะให้ฝืนใจหน่อย ถ้าถือศีลแปดจะหายเร็วกว่าศีลห้า เพราะการประพฤติพรหมจรรย์ มันเอื้อต่อการปฏิบัติ”

         “ไหวครับหลวงพ่อ ปกติผมก็ไม่ค่อยได้รับประทานมื้อเย็นอยู่แล้ว จะได้เตรียมตัวไว้ตอนบวชเลย” อาจารย์ชิตรับคำแข็งขัน

         พระบัวเฮียวรู้ว่า อย่างไรเสียก็จะต้องถูกเรียกไปสอบแก้ตัวอีก ดังนั้น หลังจากฉันเช้าเสร็จ ท่านจึงนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง โดยไม่เดินจงกรม ถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วก็แผ่เมตตาให้ตัวเองและอาจารย์ชิต พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้ “สอบผ่าน” นายขุนทองมาถึงตอนท่านแผ่เมตตาเสร็จพอดี

         “หลวงพี่ฮะ หลวงลุงให้มาตามไปนำโยมคอเน่าคนนั้นขึ้นกรรมฐานฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดรายงาน

         “ขุนทอง อย่าไปเรียกเขาอย่างนั้นเลย เขาได้ยินเข้า มันจะไม่ดี เขาเป็นอาจารย์ไม่ใช่รึ เรียกเขาว่าอาจารย์ดีกว่านะ” พระบัวเฮียวปรามแล้วเสนอแนะ

         “ตกลงฮะ จริงของหลวงพี่ ไอ้หนูมันกระโถนปากแตกเสียด้วย เมื่อเช้าก็ถูกหลวงลุง

เทศน์เพราะเรื่องนี้ เดี๋ยวหลวงพี่ไปเลยนะฮะ หนูจะไปเก็บดอกไม้ก่อน” เข้าไหว้หนึ่งครั้งแล้วเดินจากไป

         พระบัวเฮียวกำหนด “ขวา-ซ้าย” ไปยังกุฏิพระอุปัชฌาย์ ครั้นถึงจึงกราบสามครั้งแล้วนั่งตรงที่ที่เคยนั่ง ชะรอยท่านคงจะปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นมาก จึงสามารถทนต่อกลิ่นนั้นได้ดีกว่าวันวาน รู้สึกว่าความเหม็นของมันจะลดลงกว่าครึ่ง

         อาจารย์ชิตกราบผู้มาใหม่สามครั้งโดยไม่ต้องให้ท่านพระครูบอก ครู่หนึ่งนายขุนทองก็ถือดอกไม้เข้ามา เป็นดอกเข็มกับดอกดาวเรือง เขาจัดการนำมาใส่พานพร้อมธูปและเทียน จากนั้นพระบัวเฮียวจึงกล่าวนำอาจารย์ชิต ขอกรรมฐาน และท่านพระครูให้ศีล

         “เอาละ ทีนี่ก็จะลงมือปฏิบัติกันเลย บัวเฮียว เธอกลับที่พักได้แล้ว เป็นอันว่า เธอสอบผ่าน” ท่านเจ้าของกุฏิบอกภิกษุหนุ่ม

         “หลวงพ่อจะสอนโยมเองหรือครับ” พระบัวเฮียวถาม เพราะปกติท่านพระครูจะให้ท่านเป็นผู้สอน

         “ถูกแล้ว รายนี้ต้องสอนเป็นพิเศษ เพราะเขาป่วย มีอะไรที่ต้องแนะนำนอกเหนือไปจากสอนคนปกติ อ้อ แล้วก็ขอขอบใจนะที่แผ่เมตตามาให้เมื่อคืนนี้” ท่านไม่ได้พูดต่อดอกว่า การทำกรรมแทนกันนั้นเป็นเรื่องที่มิอาจทำได้เพราะ “คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้”

ที่ไม่พูดเพราะไม่ต้องการให้คนเป็นศิษย์เสียกำลังใจ พระบัวเฮียวจึงเดินกลับกุฏิด้วยจิตที่ผ่องแผ้ว ท่านมิได้กำหนด “ขวา-ซ้าย” เหมือนเมื่อตอนขามา หากเปลี่ยนมากำหนด “ดีใจหนอ สอบผ่านแล้วหนอ” แทน

         “เอาละ อาตมาจะสอนให้โยมเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่ขอเกริ่นไว้ก่อนว่า โยมจะต้องอดทนมาก ๆ ยิ่งปฏิบัติ โยมก็จะยิ่งมีทุกขเวทนาเพิ่มขึ้น คือแผลที่คอมันจะปวดมากกว่าเดิมหลายเท่า โยมก็อย่าท้อถอยตั้งสติสู้กับมัน นึกเสียว่า เราทำกรรมเอาไว้และกำลังชดใช้กรรม ยิ่งปวดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะถ้าไม่ปวด แสดงว่าจะไม่หาย ขอให้โยมจำอันนี้เอาไว้ให้ดี พอจะทำได้หรือเปล่า”

         “ครับ ผมจะพยายามให้ถึงที่สุด กำลังใจผมดีขึ้นเป็นกอง คิดว่าคงสู้กับมันได้” เขาหมายถึงโรคร้าย

         “นั่นต้องอย่างนั้น อย่าลืมว่าใจนี่สำคัญที่สุดเลยนะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้ากำลังใจดีก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว พระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนไว้ “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีจิตผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริตสามอย่างนั้น เหมือนเงา มีปกติไปตามฉะนั้น” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ยกพุทธพจน์มาอ้างเพื่อเป็นกำลังใจแก่คนป่วยหนัก

         บ่ายวันเดียวกันนั้น ที่กุฏิท่านพระครูร้างผู้คน เพราะบรรดาผู้มีทุกข์ทั้งหลาย ไม่อาจทนกับกลิ่นเหม็นจากแผลที่คออาจารย์ชิตได้ ท่านเจ้าของกุฏิตั้งใจจะทดสอบความอดทนของพวกเขา จึงไม่ยอมเปลี่ยนไป “รับแขก” ที่ศาลาการเปรียญ ตามที่มีผู้เสนอแนะมา นายสมชายกับนายขุนทองจึงไม่ต้องทำหน้าที่คอยบริการแขก ทั้งสองช่วยกันทำความสะอาดกุฏิและขัดห้องน้ำ ทั้งยังตกลงกันว่า คืนนี้จะกลับมานอนยังที่ของตน ๆ”

         “ในเมื่อหลวงพ่อท่านทนได้ เราก็ต้องทนได้ จริงไหมขุนทอง “ศิษย์วัดพูดเสียงเบา เพื่อไม่ให้คนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ยิน

         “จริงฮะ จริงร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แหม หนูชักอยากให้อาจารย์ชิตแกอยู่ที่นี่นาน ๆ แล้วฮะ เราจะได้ไม่ต้องรับแขก แล้วหลวงลุงก็จะได้มีเวลาพักผ่อน” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดว่า ขณะใช้แปรงขัดพื้นห้องน้ำ

         “พูดยังงั้นมันก็ไม่ดี อย่าลืมว่าญาติโยมที่เขามาหาหลวงพ่อเพราะเขามีทุกข์นะ แล้วหลวงพ่อท่านก็ช่วยแนะนำให้พวกเขาหายทุกข์ ซึ่งจะหายมากหายน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาปฏิบัติตามได้แค่ไหน หรือบางคนไม่นำไปปฏิบัติเลย ก็ต้องทุกข์กันต่อไป เอ็งไปพูดอย่างนั้น ก็เหมือนกับขาดเมตตาธรรม” คนอาวุโสกว่าอธิบาย

         “จริงของพี่ ถ้าพวกเขาไม่มาหลวงลุงก็ไม่ได้สร้างบารมี จริงไหม การช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง ใช่ไหม”

         “ถูกแล้ว แหมเดี๋ยวนี้เอ็งชักเก่งขึ้นนะ เก่งขึ้นกว่าแต่ก่อนจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนละคนเลย” นายสมชายชม

         “คนเรามันก็ต้องมีการพัฒนากันบ้างแหละพี่ จะให้งี่เง่าอยู่ตลอดเวลาได้ไง” นายขุนทองว่า

         “นั่นสิ แต่ข้าว่า เพราะเอ็งได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อด้วยแหละ เพราะข้าเองก็รู้สึกตัวเหมือนกันว่า ถ้าไม่ได้มาอยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อ ป่านนี้อาจกลายเป็นไอ้โจรห้าร้อยไปแล้ว”

         “ทำไมต้องห้าร้อยด้วยล่ะพี่ สองร้อยสามร้อยไม่ได้หรือ” นายขุนทองเริ่มยวน นายสมชายกำลังอารมณ์ดี จึงตอบว่า

         “ก็คงได้มั้ง แต่ข้าไม่เคยได้ยินใครเขาพูดว่า ไอ้โจรสองร้อย หรือไอ้โจรสามร้อย ได้ยินแต่ไอ้โจรห้าร้อย”

         เสียงร้องครวญครางให้ท่านพระครูช่วยดังมาจากด้านหน้าของกุฏิ

         นายสมชายใช้ให้นายขุนทองออกไปดู ฝ่ายนั้นจึงละมือจากการขัดพื้นห้องน้ำ พอเปิดประตูออกมาก็ร้องกรี๊ด

            “ว้าย ตาเถนหกคะเมนตีลังกา ตายแล้วตายแล้ว นางมณโฑนมโตข้างเดียว”

 

มีต่อ........๕๔

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 24, 2007, 06:32:49 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00054
๕๔...

          “โอยปวด....ปวดเหลือเกิน หลวงพ่อจ๋า ช่วยลูกช้างด้วย” สตรีวัยยี่สิบเศษนอนร้องครวญครางอยู่ตรงประตูทางเข้า หล่อนสวมผ้าซิ่นสีน้ำตาลเข้ม ทว่าท่อนบนเปลือยเปล่า ปทุมถันข้างหนึ่งใหญ่กว่าปกติประมาณสามเท่าของอีกข้าง ในมือหล่อนถือเสื้อมาด้วย อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่ ได้ยินเสียงร้องครวญคราง จึงลืมตาขึ้นดู

          ภาพที่เห็นไม่ได้ทำให้เขาเกิดความกำหนัดยินดีในกามคุณ เพราะหญิงสาวผู้นี้คงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวของเขา ความรู้สึกที่มีต่อหล่อนคือสมเพชเวทนา รู้ว่าหล่อนจะต้องเป็นมะเร็งที่เต้านมแล้วก็คงเจ็บปวดไม่แพ้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของเขา

          “หนู ทำไมไม่ใส่เสื้อให้เรียบร้อยล่ะ มาหาพระหาเจ้าควรแต่งการให้มิดชิดนะหนูนะ” บุรุษสูงอายุพูดด้วยเมตตา

          “มันใส่ไม่ไหวจ้ะลุง ปวด ปวดเหลือเกิน ลองลุงมาเป็นฉันมั่ง จะรู้ว่ามันทรมานแค่ไหน” หญิงสางพลางสะอื้นฮัก ๆ

          “ลุงรู้ ทำไม่จะไม่รู้ นี่ลุงก็เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาห้าปีแล้ว ปวดอย่างที่หนูปวดนั่นแหละ แล้วก็เหม็นเน่าด้วย หนูได้กลิ่นไหมล่ะ” เขาชี้แผลที่คอบริเวณใต้กกหูข้างขวา

          ขณะที่อาจารย์ชิตสนทนาอยู่กับผู้หญิงคนนั้น นายขุนทองก็ตะลีตะลานขึ้นไปรายงานท่านพระครู เห็นท่าทางลนลานของอีกฝ่าย นายสมชายจึงออกมาดูและรู้สึกสงสารหล่อน หากความสงสารนั้น ก็ระคนด้วยความกำหนัดยินดีตามประสาคนหนุ่มที่มาเห็นเพศตรงข้ามเปลือยอก

          “หลวงลุงเร็ว ๆ เข้า นางมณโฑ.....นางมณโฑ” นายขุนทองละล่ำละลัก ท่านพระครูวางปากกาแล้วถาม

          “อะไรของเอ็งล่ะ นางมณโฑไหน ใช่คนที่เป็นเมียทศกัณฐ์หรือเปล่า” ท่านเจ้าของกุฏิถามอย่างอารมณ์ดี

          “จะใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ซีฮะ หลวงลุงลงไปดูเอาเองดีกว่า เขาร้องหาหลวงลุงอยู่น่ะ” ท่านพระครูจึงเดินลงมาทันเห็นสายตาของลูกศิษย์หนุ่มซึ่งจ้องเขม็งอยู่ที่อกหญิงสาว จึงออกอุบายว่า

          “สมชายไปดูยาที่ตากไว้ซิว่า แห้งหรือยัง ถ้ายังก็ให้นั่งเฝ้าไว้จนกว่าจะแห้ง เมื่อแห้งแล้วก็นำไปคั่ว เสร็จแล้วก็ต้มน้ำมากาหนึ่ง ต้มให้เดือดด้วยนะ” ชายหนุ่มจึงจำลุกออกไปทั้งแสนเสียดาย เดินพลางนึกในใจว่า “แม่เจ้าโวย ทำไมมันถึงได้ใหญ่โตขนาดนั้น นี่ของแฟนเรา จะได้ครึ่งหรือเปล่าหนอ” ปุถุชนคนหนุ่มคิดคำนึงไปถึงคนรัก

          เห็นท่านเจ้าของกุฏิลงมา หญิงสาวจึงคลานเข้ามาใกล้อาสนะ กราบพลางคร่ำครวญว่า

          “หลวงพ่อช่วยลูกช้างด้วย ปวดจะตายอยู่แล้ว” หล่อนร้องไห้สะอึกสะอื้น ท่านพระครูแผ่เมตตาจิตไปให้ กระแสแห่งเมตตาทำให้หล่อนรู้สึกว่า ความเจ็บปวดนั้นบรรเทาเบาลง

          “ใส่เสื้อก่อนหนู นุ่งห่มให้เรียบร้อย ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวหลวงพ่อจะช่วย” ท่านพูดอย่างปรานี นายขุนทองนั่งคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ ด้วยเกรงว่าหล่อนจะเข้ามาประชิดติดตัวหลวงลุง ก็หล่อนดูเจ็บปวดจนขาดสติออกอย่างนั้น หญิงสาวหยุดสะอื้น เอาเสื้อในมือขึ้นมาใส่ แล้วจึงบอกท่านว่า

          “ปวดเหลือเกินจ้ะหลวงพ่อ มันทรมานฉันเหลือเกิน ไอ้โรคบ้า ๆ นี่” หล่อนพูดอย่างโกรธแค้น ทั้งโกรธทั้งแค้นเจ้าโรคร้ายที่มาคุกคามชีวิตหล่อน

          “หนูมาจากไหนเล่านี่ บ้านอยู่ไหน” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

          “โธ่ หลวงพ่อ จำฉันไม่ได้หรือ ส้มป่อยไงล่ะ บ้านอยู่ตรงข้ามวัดโน่นไง” หล่อนชี้มือไปยังบ้านที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

          “อ้าวเอ็งหรอกหรือส้มป่อย แล้วมายังไงล่ะนี่” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงถาม ท่านเห็นนางสาวส้มป่อยมาตั้งแต่หล่อนยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ เพราะหล่อนมักตามมารดามาทำบุญที่วัดนี้ทุกวันพระ เพิ่งมาหายหน้าหายตาไปเมื่อห้าหกปีมานี้

          “ฉันมาเรือจ้างจ้ะ หลวงพ่อช่วยฉันด้วยเถอะ ฉันไม่มีเงินไปหาหมอ ทุกวันนี้ ฉันก็ตัวคนเดียว พ่อแม่พี่ส้องหายสาบสูญไปหมด”

          “แน่ล่ะซี ข้าก็ได้ข่าวอยู่เหมือนกัน เอ็งเห็นหรือยังล่ะว่า เวรกรรมนั้นมีจริง ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้าหรอก จำได้หรือเปล่าว่าเอ็งทำกรรมอะไรไว้”

          “จำไม่ได้จ้ะ หลวงพ่อช่วยบอกฉันด้วยเถอะ” หล่อนว่า

          “อ้าว ก็เองทำเอง จะมาให้ข้าบอกได้ยังไง ลองนึกดูดี ๆ ซิ”

          “ฉันขี้เกียจนึก หลวงพ่อนึกเผื่อฉันด้วย แล้วช่วยบอกฉันทีว่า จะแก้กรรมได้ยังไง” หล่อนพูดง่าย ๆ นึกโกรธขึ้นมาตะหงิด ๆ ตามวิสัยของคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ท่านพระครูไม่ถือสา เพราะมนุษย์ทุกรูปนาม ย่อมมีธรรมชาติเหมือนกันหมด นั่นคือ เมื่อสุขกาย ใจก็แช่มชื่น ครั้นเมื่อทุกข์กาย ใจก็เศร้าหมอง และมองโลกในแง่ร้าย เหมือนดังนางสาวส้มป่อยผู้นี้

          “เอาละ เมื่อเอ็งนึกไม่ออก ข้าก็จะช่วยนึกให้ จำได้หรือเปล่า เมื่อห้าหกปีที่ผ่านมา เองเอาลูกหมาใส่เรือมาปล่อยที่ฝั่งนี้ แล้วข้าเตือนเอ็ง เอ็งก็ไม่เชื่อ ลูกหมามันยังเล็ก ยังไม่ทันลืมตาด้วยซ้ำ เอ็งก็นำมันมาปล่อยเสียแล้ว ข้าบอกให้มันโตอีกสักหน่อย พอช่วยตัวเองได้เสียก่อน แล้วจะเอามันมาปล่อยที่วัด ข้าก็ไม่ว่า นี่เอ็งเถียงฉอด ๆ ว่า แม่ใช้ให้มาปล่อย รู้ไหมลูกหมาเหล่านั้น มันก็นอนตายอยู่ริมหาดนั่นเอง ข้าเตือนทั้งแม่เอ็งด้วยว่า อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรม แม่เอ็งก็ไม่เชื่อข้า แถมโกรธจะเป็นจะตาย ขนาดไม่ยอมมาทำบุญที่วัดนี้อีก ทีนี้เป็นยังไงล่ะ โดนกฎแห่งกรรมเล่นงานทั้งครอบครัวเลย ข้ารู้ตลอด เพราะมีคนเขาบอกข้า จะให้เล่าไหมล่ะว่าเกิดอะไรขึ้น”

          อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่ใกล้ ๆ เขาได้ยินเรื่องที่ท่านพระครูพูดแล้วก็ฟังเพลิน จนถึงกับทิ้ง “พอง-ยุบ” มาสนใจที่การสนทนา ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

          “โยม อยากฟังก็ลืมตาได้ นั่งหลับตาฟังยังงั้นจะไปรู้เรื่องอะไร เอาเถอะ อาตมาอนุญาต” ดังนั้นบุรุษสูงวัยจึงลืมตาด้วยท่าทางขัดเขินที่ท่านรู้ทัน

          “ว่าไง จะให้ข้าเล่าหรือเปล่า แต่ถึงไม่ให้ ข้าก็จะเล่า เพราะเอ็งมาให้ข้าช่วย ขอบอกไว้ ณ ที่นี้เสียเลยว่า นอกจากข้าแล้ว ไม่มีใครช่วยเอ็งได้ ถึงเอ็งจะไปหาหมอ เขาก็ช่วยเอ็งไม่ได้”

          “เอาเหอะ ๆ หลวงพ่อจะเล่าก็เล่าไปเถอะ ก็ฉันไม่มีทางเลือกแล้วนี่ ไอ้หมอ ไอ้หมาที่ไหน ฉันก้ไม่ไปหามันหรอก ไม่มีเงินให้มัน” สาววัยยี่สิบเศษพูดพาล ๆ

          “หนู พูดกับพระกับเจ้า ควรจะให้สุภาพหน่อย ลุงรู้ว่าหนูหงุดหงิดเพราะความเจ็บปวด ถึงลุงเองก็เป็นอย่างหนูมาก่อน แต่ลุงก็พยายามสงบสติอารมณ์ ที่หลวงพ่อท่านพูดมาก็จริงของท่านนะ นี่ขนาดลุงเป็นมาห้าปี ผ่าตัดมาสองครั้งก็ยังไม่หาย ลุงก็หวังจะมาตายอยู่ใกล้หลวงพ่อ เพิ่งมาได้วันเดียวยังรู้สึกว่าอาการดีขึ้น หนูจะต้องหายแน่ เชื่อลุงเถอะ แล้วก็พูดกับท่านให้สุภาพหน่อย ชีวิตของหนูอยู่ในกำมือท่านก็ว่าได้” เขาเตือนด้วยความหวังดี เพราะคิดว่าหล่อนก็เหมือนลูกหลานคนหนึ่งของเขา

          “ลุงก็อยู่ส่วนลุงซี มายุ่งอะไรกะฉัน ฉันจะพูดยังไงก็ไม่เห็นจะหนักกบาลใคร” หล่อนถือโอกาสเล่นงานอาจารย์ชิต เพราะโกรธท่านพระครู

          “อีส้มป่อย นี่กูชักจะทนไม่ไหวแล้วนะ ประเดี๋ยวก็ตบล้างน้ำซะนี่ จะตายอยู่รอมร่อแล้วยังมาทำกำแหง เดี๋ยวกูตบสลบแล้วลากไปทิ้งหาดทรายให้ตายอย่างลูกหมานั่นหรอก” นายขุนทองพูดอย่างเหลืออดเหลือทน พลางเงื้อมือไม้ นางสาวส้มป่อยตกตะลึกอ้าปากค้าง เห็นท่าทางเอาจริงของอีกฝ่าย ก็ชักกลัว

          “ขุนทอง เอ็งไปดูที่ครัวซิ สมชายคั่วยาเสร็จหรือยัง ไปเดี๋ยวนี้เลย” ท่านเจ้าของกุฏิออกคำสั่ง คิดไม่ทันคาดไม่ถึงว่าหลานชายจะร้ายกาจถึงปานนี้ นายขุนทองขยับปากจะพูดแต่ท่านรีบห้ามว่า “ไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้น รีบไปทำตามที่ข้าสั่ง” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดจึงเดินตุปัดตุป่องออกไป

          “ข้าต้องขอโทษเอ็งด้วยนะส้มป่อย ที่คนของข้าแสดงกิริยาไม่ดีกับเอ็ง อย่าถือสามันเลย มันเป็นเด็กมีปัญหา” ท่านขอโทษแทนหลาน

          “เด็กเดิกอะไรกัน โตยังกะงัวกะควาย หลวงพ่ออบรมมันยังไง ถึงได้เป็นยังงี้” นางสาวส้มป่อยถือโอกาสตำหนิติเตียนทั้งนายขุนทองและท่านพระครู แต่กลับลืมตำหนิตัวเอง

          “ข้าก็อบรมมันอย่างดีนั่นแหละแต่เพราะมันไม่เชื่อฟัง มันถึงได้เป็นอย่างนี้ เอ็งก็เหมือนกัน ถ้าเชื่อฟังข้า ก็จะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี่หรอก” ท่านถือโอกาสเล่นงานหล่อนบ้าง คราวนี้หญิงสาวเถียงไม่ออก เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดต่ออีกว่า

          “ที่ข้าพูดมาแล้วและที่กำลังจะพูดต่อไปนี้นั้น ข้าไม่ได้มีเจตนาจะประจานเอ็ง แต่ที่ต้องพูดเพราะมันเกี่ยวกับการรักษาโรคที่เอ็งเป็นอยู่ พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า ทุกข์จะดับได้ก็ต้องรู้สาเหตุของทุกข์ ฉะนั้นเอ็งจำเป็นจะต้องรู้สาเหตุของทุกข์ที่เอ็งได้รับอยู่ในขณะนี้ จะได้ไม่ไปโทษว่า โชคชะตาเล่นตลกกับเอ็ง คนสมัยนี้ชอบโยนความผิดไปให้โชคชะตา หารู้ไม่ว่าตัวเองนั่นแหละลิขิตตัวเอง เอาละ ทีนี้ข้าจะเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเอ็ง ตามที่คนเขามาเล่าให้ข้าฟัง เอ็งฟังก่อน แล้วถ้าไม่จริงค่อยแย้งทีหลัง เข้าใจหรือเปล่า ระหว่างที่ข้าพูด ขอให้ฟังอย่างเดียว” ท่านวางเงื่อนไข

          “เข้าใจจ้ะ นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะจ้ะ” เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวหล่อนเอง นางสาวส้มป่อยจึงอารมณ์ดีขึ้น ท่านพระครูจึงเล่าว่า

          “พ่อเอ็งหายไปก่อนใช่ไหม บอกจะไปหางานทำที่จังหวัดลำปาง แล้วก็หายเงียบไป ไม่ส่งข่าวคราวให้ทางบ้านรู้ รุ่งอีกปีนึง แม่กับพี่ชายเอ็งบอกจะไปตามหาพ่อเอ็ง แล้วก็หายเงียบไปอีก และเมื่อสองปีที่แล้ว พี่สาวกับน้องชายเอ็ง ก็ทิ้งเอ็งไว้คนเดียว แล้วพากันไปตามหาแม่กับพ่อของเอ็ง พอเอ็งอยู่คนเดียวก็คิดมาก เมื่อคิดมาก็เครียดมาก เมื่อเครียดหนัก ๆ มะเร็งก็เล่นงานเอ็ง นี่แหละผลกรรมที่เอ็งก่อไว้กับลูกหมา ไปพรากลูกพรากแม่มัน แล้วก็ทำให้มันตายอย่างทรมาน กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ที่เองเอามันมาทิ้ง จำได้หรือเปล่าว่ากี่ครั้ง” ท่านถามจำเลยซึ่งนั่งนิ่งเหมือนรูปปั้น

          “จำไม่ได้จ้ะหลวงพ่อ รู้แต่ว่าอีด่าง อีเขียวออกลูกทีไร แม่ก็ให้ฉันเป็นคนเอามาทิ้งทุกที ฉันก็นึกไม่ถึงว่า เวรกรรมมันจะเล่นงานฉันถึงปานนี้ นี่ถ้าเชื่อหลวงพ่อเสียตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ใช่ไหมจ๊ะ” หล่อนเพิ่งจะสำนึกผิด

          “เอาเถอะ ๆ ไหน ๆ เรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว เมื่อเอ็งก่อกรรมก็ต้องรับผลของมัน ไม่มีใครมารับแทนเอ็งได้ รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องอดทน คิดเสียว่า ใช้เวรที่ทำ ใช้กรรมที่ก่อ ใช้หมดเมื่อไหร่ เอ็งก็จะหาย นี่โยมเขาก็มาใช้เวรใช้กรรมแบบเดียวกับเอ็งนั่นแหละ” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิต

          “ลุงทำกรรมอะไรไว้หรือจ๊ะ” หล่อนหันไปพูดดีกับบุรุษสูงวัย เป็นการขอลุแก่โทษ

          “ลุงยังนึกไม่ออกเลยหนู หลวงพ่อท่านก็ไม่ยอมบอกลุงเหมือนที่บอกหนู” บุรุษวัยหกสิบตอบ เขาเองก็อยากรู้ว่า ทำกรรมอะไรไว้

          “ในกรณีของโยม อาตมาจะยังไม่บอก ต้องให้รู้เอง ถึงจะซึ้งใจ เอาเถอะ ภายในเจ็ดวันนี้ ถ้าโยมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็คงจะนึกได้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงพูดให้กำลังใจ หากไม่บอกในสิ่งที่เขาอยากรู้

          “เอาละ ประเดี๋ยวเอ็งไปพักที่สำนักชีก่อน เย็น ๆ ให้เขาพามาขึ้นกรรมฐาน ต้องมารักษาอยู่ที่วัดนี่นะ ไม่ต้องอยู่บ้าน ให้ชีเขาช่วยดูแล ถ้าไปอยู่บ้านคนเดียว ก็จะฟุ้งซ่านอีก ดีไม่ดีจะกลายเป็นคนวิกลจริตไป”

          “มาเช้าเย็นกลับ ไม่ได้หรือจ๊ะหลวงพ่อ ฉันห่วงบ้าน” หล่อนต่อรอง

          “ไม่ต้องเป็นห่วงของนอกกาย ให้ห่วงตัวเองก่อน ทิ้งไว้นั่นแหละ ใครเขาอยากได้อะไรก็ให้เขาไป นึกว่าใช้หนี้ แต่เชื่อข้าสักอย่างหนึ่งว่า ถ้าเอ็งไม่เคยไปลักขโมยใครเขาไว้ รับรองว่าไม่มีใครเขามาลักของเอ็ง”

          “ถ้าอย่างนั้น ฉันขอกลับไปเอาเสื้อผ้า แล้วเก็บข้าวเก็บของใส่ในเรือนไว้ก่อนได้ไหมจ๊ะ เย็น ๆ ฉันค่อยมา” หล่อนขออนุญาต

          “ตามใจเอ็งก็แล้วกัน จะไปก็ได้” หล่อนกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง และยกมือไหว้อาจารย์ชิตหนึ่งครั้ง จากนั้นจึงเดินมุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ ครั้งห่างรัศมีกุฏิออกไป ความเจ็บปวดกลับทวีความรุนแรงขึ้น จึงรีบเดินย้อนกลับมารายงานว่า

          “โอย หลวงพ่อจ๊ะ ปวดเหลือเกิน เมื่อตะกี้รู้สึกค่อยยังชั่ว พอลุกออกไปกลับปวดเหมือนเดิมอีก หลวงพ่อช่วยฉันด้วย” หล่อนอ้อนวอนแม้มิได้ร้องไห้

          “นั่นแหละ เอ็งกำลังใช้กรรมละ ยิ่งถ้าเอ็งปฏิบัติกรรมฐานจะยิ่งปวดมากกว่านี้ หน้าที่ของเอ็งก็คือจะต้องทนให้ได้”

          “โอย แค่นี้ก็จะแย่อยู่แล้ว ถ้าปวดมากกว่านี้ ฉันขอตายดีกว่า”

“ตามใจ ถ้าเอ็งจะเอาอย่างนั้นก็ตามใจ แต่ข้าขอบอกเสียก่อนว่า ถึงเอ็งจะตาย ก็ใช่ว่าเอ็งจะพ้นทุกข์ อาจจะทุกข์กว่าตอนเป็นด้วยซ้ำ”

“จะทุกข์ยังไงล่ะหลวงพ่อ ตายแล้วก็แล้วหมดเวรหมดกรรมกันไป” หญิงสาวพูดด้วยมิจฉาทิฐิ

“ถ้ามันเป็นอย่างที่เอ็งว่ามาก็ดีน่ะสิ แต่ทีนี้มันไม่เป็นยังงั้น เพราะคนเราไม่ได้เกิดหนเดียวตายหนเดียว อย่างที่พวกวัตถุนิยมเขาเชื่อกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยายสะอิ้งก็คงไม่มาสร้างกุฏิกรรมฐานให้วัดนี้ เอ็งเห็นหรือเปล่า กุฏิกรรมฐานที่อยู่หน้าโบสถ์นั่นน่ะ ยายสะอิ้งเขามาสร้างให้เป็นหลังแรกด้วยเงินหนึ่งชั่ง ยมบาลเขาสั่งมาว่าถ้าไม่อยากมาเกิดในนรกอีก ก็ให้กลับมาสร้างกุฏิกรรมฐานถวายวัดหนึ่งหลัง ให้สร้างด้วยเงินหนึ่งชั่ง จะมากกว่านั้นน้อยกว่านั้นไม่ได้ แล้วแกก็มาสร้าง หมดเงินไปแปดสิบบาทพ่อดี” อาจารย์ชิตกำลังนั่งกำหนด “พอง-ยุบ” ก็มีอันต้องลืมตาอีกครั้งด้วยอยากรู้เรื่อง เขาถามเจ้าของกุฏิว่า

“สร้างนานหรือยังครับ”

“ก็สิบเจ็ดปีเข้านี่แล้ว แกมาเมื่อปี ๒๕๐๐ โยมเชื่อไหม แกบอกยมทูตเขาสั่งมาว่า ให้สร้างกุฏิกรรมฐานหนึ่งหลัง ด้วยเงินหนึ่งชั่ง และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน อาตมาก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง พอดีตอนแกมาเล่า ช่างไม้เขาก็ยังอยู่ เพราะกำลังซ่อมโบสถ์หลังเก่า แล้วก็มีเรือนหลังหนึ่งที่ชาวบ้านเขารื้อมาถวายวัด พอพวกชาวบ้านรู้เรื่องของนางสะอิ้ง ก็เฮโลกันมาช่วยคนละมือละไม้ ก็เลยเสร็จก่อนพระอาทิตย์ตก แล้วก็หมดเงินไปหนึ่งชั่งพอดิบพอดี เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก อาตมาเคยเล่าให้ญาติโยมเขาฟังหลายครั้งแล้ว”

“กรุณาเล่าอีกสักครั้งได้ไหมครับ ผมอยากทราบว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร และหากมีโอกาสผมจะได้นำไปเล่าให้ลูกหลานญาติมิตรฟัง เพื่อเป็นข้อเตือนใจไม่ให้เขาทำความชั่ว”

“แหม โยมอ้างเหตุผลมาน่าฟัง อาตมาเห็นจะต้องเล่าอีกรอบนึงเสียแล้ว เอ็งล่ะอยากฟังหรือเปล่า” ท่านถามน้างสาวส้มป่อย

“อยากจ้ะ นิมนต์หลวงพ่อเล่าเถอะจ้ะ” หญิงสาวตอบ รู้สึกว่าความเจ็บปวดทุเลาลงเมื่อได้อยู่ใกล้ท่าน เห็นคนทั้งสองอยากฟัง ท่านพระครูจึงเล่าว่า

“เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๐ เล่าย่อ ๆ นะ เรื่องมันยาว ถ้าเล่าละเอียด วันนี้ทั้งวันก็ไม่จบ” ท่านทำความตกลงกับคนฟังแล้วจึงเริ่มต้นเล่าว่า

“วันนั้นเป็นวันพระ ญาติโยมเขาก็พากันมาทำบุญที่ศาลาการเปรียญ อาตมาก็มองไปเห็นลุงแก่ ๆ คนหนึ่งมากับผู้หญิงสองคน คนหนึ่งอายุไล่เลี่ยกับแก ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นสาวรุ่น ๆ อาตมาก็คิดว่า ตากับยายพาหลานมาทำบุญ เขาก็พากันเข้ามาหาอาตมา ลุงแก่ ๆ คนนั้นแนะนำตัวว่า เขาชื่อนายปุ่น มาจากอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ผู้หญิงสองคนที่มาด้วยเป็นเมียแก คนอายุ ๗๒ ปีเป็นเมียคนที่สอง ส่วนเมียคนแรกอายุ ๑๕ ปี ตัวแกอายุ ๗๕ ปี”

“พวกญาติโยมได้ยินก็พากันหัวเราะ นึกว่าแกเป็นโรคประสาท หรือไม่ก็แก่จนหลง อาตมาเองก็คิดอย่างนั้น แกก็ยืนยันว่าเรื่องที่แกเล่ามานั้นเป็นความจริง ผู้หญิงคนที่เป็นเมียคนแรกนั้น ตายไปแล้ว และกลับชาติมาเกิดเป็นเด็กสาวอายุสิบห้าคนนี้ แล้วก็ก็ให้เมียคนแรกเล่าให้ฟัง แม่หนูคนนั้นแกก็เล่าว่า เมื่อชาติที่แล้วแกเป็นเมียตาปุ่น แล้วก็คลอดลูกตายที่โรงนา ไปตกนรกมาหลายปี ช่วงเวลาที่อยู่ในนรกนั้น ตาปุ่นสามีแกได้บวชและเจริญกรรมฐานอุทิศส่วนกุศลไปให้ ยมบาลก็เลยให้กลับมารับใช้ตาปุ่น แล้วก็ให้สร้างกุฏิกรรมฐานถวายวัดหนึ่งหลัง ด้วยเงินหนึ่งชั่ง และใช้เวลาหนึ่งวัน นอกจากนี้ยังให้ถือศีล ๘ ตลอดชีวิตอีกด้วย”

“แกเล่าหรือเปล่าครับว่า เหตุใดต้องไปตกนรก” อาจารย์ชิตถาม

“เล่าสิ แกเล่าว่า ตอนมีชีวิตอยู่แกก่อกรรมทำชั่วไว้มาก ไปอยู่โรงนา ก็ให้ลูกจ้างไปเที่ยวขโมยข้างในลานของคนอื่น นอกจากนี้ยังขโมยทองของญาติตาปุ่น แล้วโยนความผิดไปให้หลานชาย ทำให้หลานชายถูกตีจนหัวแตก แกเป็นคนโหดร้ายใจดำอำมหิต แล้วก็ไม่เคยทำบุญทำทานเลย สวดมนต์ก็ไม่เคยสวด โย โส ภะคะวา ก็ไม่เป็น พอแกตายไปก็เลยไปตกนรกอยู่หลายปี เมื่อได้รับส่วนกุศลที่ตาปุ่นส่งไปให้ ก็เลยได้รับอนุญาตให้กลับมาแก้ตัว

แกเล่าว่าในเมืองนรกนั้นมีการสอนกรรมฐานทุกวันพระ สอนให้สวดมนต์ด้วย ตอนเป็นนางสะอิ้ง แกสวดมนต์ไม่ได้เลย แต่พอมาเกิดใหม่สวดได้หมด เพราะเคยสวดตอนอยู่เมืองนรก อาตมาลองให้สวด โอ้โฮสวดได้แจ๋วไปเลย พวกญาติโยมก็พากันประหลาดใจ แกว่า ในเมืองนรกมีการลงโทษต่าง ๆ นานา แต่จะหยุดลงโทษในวันโกนวันพระ เพื่อให้พวกสัตว์นรกได้สวดมนต์และเจริญกรรมฐานและที่สำคัญคือพระก็ไปตกนรกด้วย

อาตมาก็ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่า คนไหนเป็นพระ แม่หนูที่เป็นยายสะอิ้งกลับชาติมาเกิด ก็ตอบว่า คนที่เป็นพระจะมีผ้าเหลืองผูกติดอยู่ที่ข้อมือ โยมเห็นหรือยังว่า แม้แต่พระก็ยังไปตกนรกได้ นี่ไม่ได้ว่าพระนะ” ท่านรีบออกตัว

“ผมว่าคนพวกนี้ไม่ใช่พระหรอกครับ เป็นเพียงพวกอาศัยผ้าเหลืองหากินเท่านั้น” อาจารย์ชิตวิจารณ์

“ถูกของโยม อาตมาเห็นด้วย เพราะคนที่เป็นพระจริง ๆ นั้นเขาจะไม่ไปตกนรก และทีอาตมาเชื่อที่แม่หนูนั่นเล่า ก็เพราะเคยรู้มาก่อนแล้วจากตาเหล็งฮ้วย รายนี้หนีจากนรกมาเข้ายายเภา เพื่อจะขอส่วนบุญจากหลานสาว”

“งั้นหลวงพ่อเล่าเรื่องตาเหล็งฮ้วยด้วนะจ๊ะ” นางสาวส้มป่อยพูดขึ้น รู้สึกเพลิดเพลินเมื่อฟังท่านเล่า

“เอาไว้วันหลัง ขืนเล่าหมดวันนี้ ประเดี๋ยววันหลังไม่มีอะไรจะเล่า”

“หลวงพ่อยังเล่าเรื่องยายสะอิ้งไม่จบเลยครับ” อาจารย์ชิตทวง

“อ้าว ยังไม่จบอีกหรือ งั้นก็จะเล่าต่อ คือที่อาตมาเชื่อว่า ยายสะอิ้งแกพูดความจริง เพราะตรงกับที่ตาเหล็งฮ้วยเล่าให้อาตมาฟังทุกอย่าง แล้วอาตมาก็ลองทดสอบ ด้วยการถามว่านรกของศาสนาพุทธ เหมือนกับของศาสนาอื่นหรือเปล่า เป็นคนละนรกหรือว่าเป็นนรกเดียวกัน ยายสะอิ้งก็ตอบตรงกับตาเหล็งฮ้วยอีกว่าไม่มีการแบ่งศาสนา ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าทำชั่วก็จะไปตกนรกเดียวกันหมด อันนี้เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากทีเดียว หรือโยมเห็นว่ายังไง” ท่านถามบุรุษวัยหกสิบ

“ครับ ผมเห็นด้วยครับ” อาจารย์ชิตคล้อยตาม

“นั่นต้องยังงั้น ขืนไม่เห็นด้วย อาตมาจะได้เลิกเล่า” ท่านถือโอกาสเล่นตัว

“ฉันก็เห็นด้วยจ้ะ นางสามส้มป่อยรีบบอก เพราะกลัวว่าท่านจะไม่เล่า

“อ้อ เอ็งก็เห็นด้วยเหมือนกันหรือส้มป่อย” ท่านถามยิ้ม ๆ แล้วจึงเล่าต่อไปว่า

“แม่หนูที่เป็นยายสะอิ้งกลับชาติมาเกิด แกก็เล่าให้อาตมาฟัง พวกญาติโยมก็พลอยได้ฟังไปด้วย อาตมาก็บอกญาติโยมว่า เรื่องที่แม่หนูเล่านี้ต้องเป็นความจริง เพราะเหมือนกับที่ตาเหล็งฮ้วยเล่าให้อาตมาฟังทุกประการ นอกจากนั้น ตาปุ่นผู้เป็นสามีก็ยังเล่าอีกว่า ทีแรกแกก็ไม่เชื่อ แต่นางสะอิ้งก็เล่าให้แกฟังทุกอย่าง ตั้งแต่แต่งงานกันมาว่า ค่าสินสอดทองหมั้นกี่บาท มีลูกกี่คน มีลูกจ้างกี่คน ชื่ออะไรบ้าง ตาปุ่นก็ยังไม่ยอมเชื่อ เพราะคิดว่า แม่หนูคนนี้จะมาหลอกเอาสมบัติเพราะแกรวยมาก

นางสะอิ้งหรือแม่หนูอายุสิบห้าก็เลยบอกว่า ก่อนตายแกได้ฝังสายสร้อยหนักเส้นละสิบบาทไว้ที่โรงนาสองเส้นจะพาไปขุด ตาปุ่นก็เลยพาลูกชายสองคนที่เป็นลูกนางสะอิ้งไป เอาจอบไปด้วย ขุดไปขุดมาปรากฏว่าพบทองจริง ๆ ตาปุ่นก็เลยเชื่อ ลูกชายสองคนซึ่งอายุเกือบ ๆ ห้าสิบแล้ว ก็เลยเชื่อว่าผู้หญิงอายุสิบห้านี่เป็นนางสะอิ้งแม่ของตน ที่กลับชาติมาเกิดจริง ๆ

นางสะอิ้งยังเล่าอีกว่ายมบาลเขาให้มารับใช้ตาปุ่นห้าปี พออายุยี่สิบก็จะไป แต่ไม่ไปตกนรกแล้ว จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พวกชาวบ้านที่ฟังอยู่ ก็รับอาสาจะช่วยสร้างกุฏิ วันนั้นอาตมาก็ให้ตาปุ่นกับเมียเก่าและเมียใหม่ของแก นอนที่ศาลาการเปรียญ พอรุ่งเช้าชาวบ้านก็พากันมาสร้างกุฏิกรรมฐาน ตกเย็นก็สร้างเสร็จพอดี หมดเงินไปแปดสิบบาทตามที่ยมบาลสั่งมา มันก็น่าแปลก

ทีนี้อาตมาก็เป็นคนชอบพิสูจน์พบครบห้าปี อาตมาก็เดินทางไปยังบ้านตาปุ่น ไปลำบากมากเพราะสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่เจริญเหมือนเดี๋ยวนี้ อาตมาต้องเดินเท้าหนึ่งวันเต็ม ๆ จากตัวจังหวัดไปบ้านแก พอไปถึง แม่หนูนั่นก็เอาน้ำมาถวาย แล้วก็ก้มลงกราบอาตมา ก้มแล้วก็ฟุบอยู่ตรงนั้น ปรากฏว่าไปแล้ว ไปวันที่อาตมาไปพิสูจน์พอดี เมียใหม่ของตาปุ่นซึ่งตอนอาตมาไป ก็อายุ ๗๗ แล้ว เล่าให้อาตมาฟังว่า พอสร้างกุฏิแล้ว แม่หนูคนนั้นก็ตามมาอยู่กับตาปุ่น ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ป่วยเป็นอัมพาต ลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ แม่หนูนี่ก็คอยป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดอุจจาระปัสสาวะให้โดยไม่รังเกียจ ก็ปฏิบัติอยู่ห้าปีเต็มดังที่รับปากยมบาลมา ตาปุ่นก็นอนพะงาบ ๆ พูดก็ไม่ได้ อาตมาถามว่าจำอาตมาได้ไหม แกก็พยักหน้า อาตมาก็ปลอบใจว่าไม่ต้องเสียใจนะ แม่สะอิ้งเขาไปดี แกก็เข้าใจและทำใจได้เพราะเคยบวช และปฏิบัติกรรมฐานมาแล้ว ตกลงยายสะอิ้งก็ตายก่อนตาปุ่นทั้งสองชาติ คือชาติที่เป็นสางสะอิ้ง และชาติที่เป็นแม่หนูอายุสิบห้า เอาละ จบเรื่องนางสะอิ้งแล้ว เอาละ ได้เวลาเพลพอดี โยมรับประทานข้าวเสียก่อน อาหารในสำรับนั่นแหละ ส่วนเอ็งเดินไปกินที่โรงครัวก็แล้วกัน” ท่านบอกนางสาวส้มป่อย

ไม่เป็นไรจ้ะ ฉันกลับไปกินที่บ้านได้” หล่อนว่า

“งั้นก็ตามใจเอ็ง” นางสาวส้มป่อยจึงกราบท่านสามครั้ง ก่อนลุกออกไป ก็โอดครวญว่า

“ปวดอีกแล้ว พอรู้ว่าจะไป มันก็เริ่มปวดเลยเชียว ทำไมมันถึงต้องปวดด้วยล่ะจ๊ะ หลวงพ่อ”

“ก็จะไม่ให้ปวดได้ยังไงล่ะ ที่ข้าเห็นน่ะนะ ข้าเห็นหนอตัวใหญ่เท่านิ้วก้อย กำลังพากันดูดกินเลือดกินหลองเอ็งอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั่น” ท่านตอบเพราะเห็นด้วย “เห็นหนอ”

“มันเข้าไปได้ยังไงล่ะจ๊ะ”

“ข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เห็นตอนที่มันเข้า นี่แหละเขาเรียกว่าโรคเวรโรคกรรม บางคนก็ถูกหนอนกินตั้งแต่ยังไม่ทันตาย บางคนพอตายปุ๊บ ก็ถูกหนอนกินปั๊บ ใครเป็นอย่างนี้ละก็ รู้ได้ทันทีว่าเป็นคนบาป อันนี้ข้าวิจัยมาแล้ว ไม่ได้พูดสุ่มสี่สุ่มห้าแต่ประการใด เอาเถอะในเมื่อปวด เอ็งก็ท่องไว้ในใจว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” ก็แล้วกัน” ท่านแนะนำ

“ท่องแล้วจะหายปวดหรือจ๊ะ”

“ไม่หายหรอก แต่ถ้าเอ็งท่องมาก ๆ จนเพลิน ก็จะทำให้ลืมความปวดได้ชั่วครั้งคราว ก็ยังดีใช่ไหม นี่แหละเอ็งกำลังใช้กรรมละ ต้องอดทนให้มาก ๆ เข้าใจหรือยัง”

“เข้าใจแล้วจ้ะ ถ้างั้นฉันไปก่อนละ เดี๋ยวจะมาใหม่” พูดจบก็ลุกออกมาและเดินทอง “ปวดหนอ ปวดหนอ” ไปตลอดทาง

           

มีต่อ........๕๕

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 25, 2007, 07:26:18 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00055
๕๕...

          แม่ชีเจียนพานางสาวส้มป่อยมาขอขึ้นกรรมฐานที่กุฏิท่านพระครูตอนห้าโมงเย็น เมื่ออยู่ในชุดนุ่งขาวห่มขาว หน้าตาที่ซีดเซียวเพราะถูกโรคร้ายรุมเร้า ดูดีขึ้น ขอกรรมฐานเสร็จ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละ ประเดี๋ยวกลับไปที่สำนักชี ให้เขาสอนเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้ แม่ชีต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษหน่อยนะ เขาป่วยหนักและมีทุกขเวทนามาก บางครั้งอาจหงุดหงิดฉุนเฉียวแม่ชีต้องเข้าใจ อย่าไปโกรธเคืองเขา เพราะคนที่กำลังป่วยเป็นอย่างนี้ทุกคน เข้าใจหรือเปล่า”

          “เข้าใจจ้ะหลวงพ่อ ฉันจะดูแลให้ดีที่สุด และจะคิดว่าเขาก็เหมือนกับลูกหลานของฉันคนหนึ่ง” แม่ชีเจียนรับคำแข็งขัน

          “ดีแล้ว นึกว่าสร้างบารมีให้ตัวเอง ด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ส้มป่อยเอ็งกราบแม่ชีเขาเสียซิ ฝากเนื้อฝากตัวไว้ เพราะเขาจะช่วยดูแลเอ็ง แล้วก็พยายามสงบสติอารมณ์เสียบ้าง เวลาปวดมาก ๆ ก็ให้อดทน อย่าไปเที่ยวอาละวาดระรานคนอื่นเขาล่ะ” ท่านกำชับไว้ก่อน หญิงสาวก้มลงกราบแม่ชีหนึ่งครั้ง

          “ดีแล้ว เอาละ เดี๋ยวจะให้ยาไปกิน นี่นะยาแก้มะเร็ง เอาชงดื่มต่างน้ำ ถ้าเอ็งหิวน้ำก็ให้ดื่มยานี้แทน ชงเหมือนชงชานั่นแหละ รสชาติมันขมและเฝื่อน แต่เอ็งก็ต้องฝืนใจดื่มให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยานี้จะเข้าไปขับเลือด ขับหนองและของเน่าของเสียออกมา”

          “ขับหนอนด้วยหรือเปล่าจ๊ะ หลวงพ่อ” หล่อนถาม

          “ด้วยสิ พอมันถูกยาเข้าไป มันก็จะอยู่ไม่ได้”

          “มันจะตายใช่ไหมจ๊ะ แล้วหลวงพ่อไม่บาปหรือจ๊ะ”

          “บาปสิ ถ้ามันตาย ข้าบาปแน่ ๆ แต่มันไม่ตายหรอก เมื่ออยู่ไม่ได้ มันก็จะพากันหาทางออกมาเอง ไม่ต้องห่วง ถ้าเอ็งอยากหายเร็ว ๆ ก็ต้องขยันกินยาแล้วก็จะหาย ข้ารักษาหายมาหลายรายแล้ว ด้วยยานี้”

          “แล้วที่ตาย มีไหมจ๊ะ” หญิงสาวถามอีก

          “มี ทำไม่จะไม่มี” ท่านตอบตามตรง

          “ว้า งั้นฉันอาจจะตายก็ได้” หล่อนรู้สึกใจหดหู่ขึ้นมาอีก

          “ใช่ ถ้าเอ็งไม่ยอมกินยา เอ็งตายแน่ ๆ เพราะคนที่เขาตายนั้น ไม่ใช่เพราะยาไม่ดี แต่เพราะเขาไม่ยอมกินยา ไม่สามารถฝืนใจตัวเอง เพราะเคยชินแต่กับรสที่น่าปรารถนา น่าพอใจ พอมาเจอรสยานี่เข้า เลยทนไม่ได้”

            “รสชาติมันรายกาจมาเลยแหละหนู ขนาดลุงเคยกินยาขมมาหลายขนาน ก็ยังไม่ได้ครึ่งของยานี้ หนูลองชิมดูก็ได้” อาจารย์ชิตพูดพร้อมกับส่งถ้วยบรรจุน้ำสีน้ำตาลแกมเหลือง คล้ายกับสีของน้ำชาให้หล่อน

          “ขอบใจจ้ะ” หญิงสาวรับถ้วยพลางกล่าวคำขอบใจ ท่านพระครูจึงถือโอกาสสอนว่า “พูดกับคนที่อาวุโสกว่าต้องว่า “ขอบคุณ” ส่วน “ขอบใจ” นั่นใช้กับเพื่อนหรือคนที่อายุน้อยกว่า จำไว้ ทีหลังจะได้พูดได้ถูกต้อง”

            “จ้ะ งั้นฉันพูดใหม่ให้ถูกต้องก็ได้” หล่อนหันไปทางอาจารย์ชิตพูดใหม่ว่า “ขอบคุณจ้ะ” แล้วจึงยกถ้วยยาขึ้นดื่ม เพียงลิ้นสัมผัส หล่อนก็รีบวางแล้ววิ่งออกไปบ้วนทิ้งที่หน้ากุฏิ กระนั้นก็ยังรู้สึกว่ารสขมติดปากติดลิ้นอยู่ ท่านพระครูจึงว่า

          “นั่นไง เดี๋ยวก็ได้ตายอีกคนหรอก”

          “โอย หลวงพ่อ ทำไมมันขมร้ายกาจอย่างนี้ ไม่กินยาไม่ได้หรือจ๊ะ ปฏิบัติกรรมฐานอย่างเดียวได้ไหม” หล่อนขอต่อรอง

          “ก็ในเมื่อยา เอ็งยังกินไม่ได้ แล้วเอ็งจะไปปฏิบัติได้ยังไง เพราะการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อแก้กรรมนั้น มันทุกข์ทรมานยิ่งกว่ากินยาขมหลายเท่านัก ไม่ใช่ปฏิบัติจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ แล้วจะแก้กรรมได้ ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันเชียวละ ท่านเจ้าของกุฏิชี้แจง

          นี่ก็แปลว่าฉันต้องทนปวดหน้าอก ทนกินยา แล้วยังต้องทนปฏิบัติกรรมฐานอีก ทำไมมันหนักหนาสาหัสอย่างนี้ล่ะจ๊ะหลวงพ่อ” สตรีวัยยี่สิบเศษนึกท้อ

            “เอ็งจะได้เข็ดหลาบยังไงล่ะ ทีหลังจะได้ไม่ก่อกรรมทำเวรอีก เอาเถอะกลับไปได้แล้ว แม่ชีช่วยเป็นหูเป็นตาแทนด้วยนะ” ท่านฝากฝังกับแม่ชีเจียนอีกครั้ง

          “จ้ะ หลวงพ่ออย่าได้เป็นห่วงเลย ฉันจะดูแลอย่างดีที่สุด หากมีอะไรเหลือบ่ากว่าแรงก็จะมากราบเรียนให้หลวงพ่อทราบ ฉันลาละจ้ะ” แม่ชีกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง แล้วชวนนางสาวส้มป่อยกลับสำนักชี หญิงสาวกราบท่านพระครูและกำลังจะลุกตามแม่ชีออกไป ก็พอดีกับท่านเจ้าของกุฏิถามขึ้นว่า           

            “ส้มป่อยบ้านเอ็งอยู่ติดกับบ้านตาวนไม่ใช่หรือ แกเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามถึงเพื่อนบ้านของนางสาวส้มป่อย

          “เห็นว่าป่วยมานานแล้วจ้ะ ไอ้ฉันก็ไม่ได้ไปเยี่ยม เพราะลำพังตัวเองก็จะเอาไม่รอด ลูกสาวแกคนที่เป็นเพื่อนกับฉัน บอกว่าเอาไปอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือนก็ไม่หาย แล้วแกก็รบเร้าให้ลูกพากลับบ้าน”

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ แกป่วยเป็นอะไรล่ะ”

          “ก็โรคคนแก่นั่นแหละจ้ะหลวงพ่อ สงสัยอีกไม่นานคงต้องกลับบ้านเก่า นี่ฉันไม่ได้แช่งนะ” หล่อนรีบออกตัว

          “เอาละ ๆ ไปได้แล้ว ประเดี๋ยวข้าเห็นจะต้องไปเยี่ยมแกสักหน่อย เรือข้ามฟากยังมีใช่ไหม”

          “มีจ้ะ ทุ่มนึงถึงจะหมด นิมนต์หลวงพ่อรีบไปเถอะจ้ะ”

          “ถ้ายังงั้น โยมปฏิบัติไปก่อนนะ อาตมาจะไปเยี่ยมไข้เขาสักหน่อย เดี๋ยวกลับมาจะเล่าอะไรให้ฟัง” ท่านบอกอาจารย์ชิต

          “ครับ นิมนต์หลวงพ่อเถิดครับ” อาจารย์ชิตว่า รู้สึกดีใจที่จะได้ฟังท่าน “เล่าอะไร”

          “สมชาย ขุนทอง หายกันไปไหนหมดล่ะ” ท่านถามหาลูกศิษย์และหลานชาย นายขุนทองกำลังอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่ในห้อง ได้ยินท่านเรียกจึงออกมา

          “หลวงลุงมีอะไรจะใช้หนูหรือฮะ”

          “สมชายไปไหนเสียล่ะ”

          “โน่นแหละฮ่ะ บ้านเหนือโน่น” เขาชี้มือประกอบ

          “ถ้าอย่างนั้น เอ็งไปเตรียมของเยี่ยมคนป่วยมาหนึ่งชุด จัดใส่ถาดมาให้เรียบร้อย แล้วก็หาซองเปล่ามาหนึ่งซอง” ท่านสั่ง นายขุนทองจึงหายเข้าไปในห้องอีกครั้ง ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถือถาดพลาสติกออกมา ในถาดมีโอวัลตินขนาดกลางหนึ่งกระป๋อง นมข้นตราหมีสามกระป๋องและนมสดอีกหนึ่งโหล ซองเปล่าสีขาววางอยู่บนกระป๋องโอวัลติน ท่านพระครูหยิบธนบัตรใบละร้อยจากย่าม ส่งให้เขาสองใบ

          “เอาใส่ในซองนั่น แล้วถือถาดตามข้ามา โยมเฝ้ากุฏิไปก่อนนะ ถ้ามีใครมาก็ช่วยบอกว่า อาตมาไปเยี่ยมไข้ฝั่งโน้น อีกสองชั่วโมงจะกลับ” ท่านสั่งอาจารย์ชิตแล้วจึงเดินนำไปยังท่าน้ำ โดยมีนายขุนทองเดินตาม

          ท่านพระครูออกไปไปถึงสิบนาที บุรุษวัยสี่สิบเศษก็เข้ามาถามหาท่าน อาจารย์ชิตบอกเขาตามที่ท่านเจ้าของกุฏิสั่ง และแอบสังเกตว่าดวงตาของบุรุษนั้นแดงช้ำเหมือนคนที่ผ่านการร้องไห้มาอย่างหนัก จึงพูดขึ้นว่า

          “ดูท่าทางคุณคงมีทุกข์ ระหว่างที่รอหลวงพ่อ หากมีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ ก็อย่าเกรงใจนะครับ” เขาเสนอตัว เมื่อมีคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ บุรุษนั้นก็ร้องไห้เหมือนเด็ก ๆ พลางรำพึงรำพัน

          “ขอบคุณครับ ไม่มีใครช่วยผมได้ ผมมันคนเลย ผมมันไอ้ฆาตกร ต้องตกนรกหมกไหม้” แล้วเขาก็ตีอกชกหัวตัวเอง ต่อหน้าบุรุษสูงวัย

          “อย่าทำร้ายตัวเองอย่างนั้นเลยครับ ผมเชื่อว่าหลวงพ่อท่านคงช่วยคุณได้ ท่านมีเมตตาจิตสูง ช่วยให้คนพ้นทุกข์มามากต่อมาก ผมว่าคุณใจเย็นไว้ก่อนดีกว่า”

          ผู้มาใหม่หยุดทำร้ายตัวเองเพราะรู้สึกเจ็บ นึกโกรธตัวเองอยู่ครามครัน ทุกข์ใจก็สุดทะทานทนแล้ว ยังต้องมามีอันทุกข์กายเพิ่มขึ้นมาอีก

          เมื่อบุรุษนั้นหยุดร้องไห้ อาจารย์ชิตจึงถามขึ้นว่า

          “ขอประทานโทษ คุณมาจากไหนหรือครับ”

          “จากเพชรบูรณ์ครับ ผมขับรถมา”

          “บ้านอยู่ที่นั่นหรือครับ” เขาถามอีก การได้พูดได้คุยทำให้รู้สึกเพลิดเพลินจนสามารถลืมความเจ็บปวดไปได้บ้าง”

          “เปล่าครับ ขอโทษนะครับ กรุณาอย่าถามว่าผมไปทำอะไรที่นั่น เพราะประเดี๋ยวผมก็มีอันต้องร้องไห้อีก” บุรุษนั้นขอร้อง ผู้อาวุโสจึงจำต้องนิ่ง ขณะเดียวกันก็คิดว่า บุรุษผู้นี้คงจะได้รับความสะเทือนใจอะไรสักอย่าง มาจากจังหวัดนั้น เงียบกันไปพักหนึ่ง ผู้มาใหม่จึงถามขึ้นว่า

          “คุณได้กลิ่นอะไรหรือเปล่าครับ คล้าย ๆ กลิ่นเน่าของสุนัข หรือว่ามีหนูตายอยู่แถวนี้ ผมได้กลิ่นตั้งแต่ตอนเข้ามาโน่นแล้ว” เขาทำจมูกฟุตฟิตพลางก้มลงมองที่ใต้อาสนะเพื่อค้นหา

          “อย่าหาเลยครับ แถวนี้ไม่มีหนูตาย ผมรับรองได้” อาจารย์ชิตว่า

          “คุณไม่ได้กลิ่นบ้างหรือ เหม็นออกอย่างนั้น” ผู้มาใหม่ถามอีก

          “ได้ซีครับแต่ผมชินกับมันเสียแล้ว นี่ไงครับที่มาของกลิ่น” เขาชี้แผลตรงคอบริเวณใต้กกหูข้างขวา บุรุษนั้นจึงรีบกล่าวคำขอโทษ

          “ผมต้องขอประทานโทษนะครับ ที่พูดในสิ่งที่อาจทำให้คุณสะเทือนใจ เป็นอะไรหรือครับ”

          “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกหมดอาลัยในชีวิต แต่พอมาพบหลวงพ่อ ผมกลับมีความหวังขึ้น ท่านบอกว่า ผมมีโอกาสหายถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์”

          “ครับ ผมขอแสดงความยินดี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอโทษที่พูดไปเมื่อตะกี้ กรุณายกโทษให้ผมด้วย”

          “อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์เลยครับ ผมเข้าใจความรู้สึกของคุณดี แล้วแผลของผมมันก็เหม็นอย่างที่คุณว่ามาจริง ๆ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม้ลูกเมียเขาก็ยังรังเกียจผม ถึงเขาไม่แสดงออกมานอกหน้านอกตา แต่ผมก็รู้ ตอนมาที่นี่ใหม่ ๆ ลูกศิษย์วัดเขาก็แสดงกิริยารังเกียจ แต่หลังจากที่หลวงพ่อท่านพูดอบรม พวกเขาก็ปฏิบัติต่อผมดีขึ้น ผมเป็นหนี้บุญคุณหลวงพ่อท่านมากเลยครับ

          ผมรู้ว่า ท่านก็ต้องเหม็นกลิ่นเน่าจากแผลของผม แต่ท่านก็มิได้แสดงอาการรังเกียจ ทั้งที่ผมก็เป็นคนแปลกหน้าสำหรับท่าน ในโลกนี้จะหาใครที่มีจิตเปี่ยมด้วยเมตตาเช่นท่าน ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีจริง ๆ”

            “คุณไม่เคยรู้จักกับท่านมาก่อนหรือครับ”

          “ไม่เคยครับ ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ก็เสี่ยงมายังงั้นเอง ไม่นึกว่าจะมาได้รับความเมตตามากมายถึงปานนี้ นี่ผมก็ตังใจไว้ว่าเมื่อหายก็จะบวชตลอดชีวิต” ผู้อาวุโสพูดอย่างมุ่งมั่น

          “ครับ ผมขออนุโมทนา แล้วขอให้หายโดยเร็ว” ผู้มาใหม่แสดงมุทิตาจิต

          “คุยกันมาตั้งนาน ผมยังไม่ทราบเลยว่าคุณชื่ออะไร ส่วนผมชื่อชิต เคยเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้ลาออกมาห้าปีแล้ว หลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็งต่อน้ำเหลือง” อาจารย์ชิตแนะนำตัวเอง

          “ผมชื่อจรินทร์ครับ เป็นวิศวกร” ผู้มาใหม่พูดสั้น ๆ เขารู้สึกว่า กลิ่นเน่านั้นรุนแรงจนแทบไม่อยากจะหายใจเข้า จึงพยายามที่จะหายใจออกเพียงอย่างเดียว หากก็ทำอยู่ได้ไม่นานเพราะมันผิดธรรมชาติ ในที่สุดจึงออกอุบายว่า “ผมยังไม่ได้ทานมื้อกลางวันเลย ชักหิวเสียแล้ว เห็นจะต้องไปหาอะไรรองท้องสักหน่อย ขออนุญาตนะครับ” พูดจบก็ลุกเดินออกไปทางโรงครัว ค่อยหายใจโล่งอกเมื่อห่างรัศมีของกุฏิออกมา เขาเดินเรื่อย ๆ ไปจนถึงโรงครัว หากมิได้แวะเข้าไป ความทุกข์ที่กำลังได้รับมันหนักหน่วงเสียจนไม่รู้สึกหิว บุรุษวัยสี่สิบเศษ เดินไปจนถึงศาลาท่าน้ำ แล้วก็เลยถือโอกาสนั่งคอยท่านพระครูอยู่ ณ ที่นั้น

          ช่วงเวลาแห่งการรอคอย นายจรินทร์รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกอยู่ในห้วงอเวจี มันร้อนรุ่มกลุ้มกลัดอึดอัดขัดข้อง จนสุดจะพรรณนา นับตั้งแต่จำความได้กระทั่งอายุย่างเข้าปีที่สิบสาม ก็ยังไม่เคยมีความทุกข์ครั้งใดหนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้ เมื่อได้อยู่คนเดียว ภาพเหตุการณ์สยดสยองที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา ได้กลับเข้ามาสู่ห้วงความคิดอีกครั้ง เขาเห็นร่างของพระอาจารย์สุวินที่นอนจมกองเลือด เพราะน้ำมือของเขา ท่ามกลางความตะลึงงันของบรรดาพระภิกษุและแม่ชีในวัด มันเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็วราวกับลมพัดผ่าน แล้วเขาก็กลายเป็นฆาตกรโดยมิได้เจตนา

          “โอ๊ย ทนไม่ไหวแล้ว” เขาตะโกนและยกมือทั้งสองขึ้นปิดหน้า เพราะไม่ต้องการจะเห็นภาพนั้น ทว่ายิ่งปิดก็ยิ่งดูเหมือนว่ามันชัดเจนมากขึ้น จนเขามิอาจทนนั่ง ณ ที่นั้นได้ จึงลุกขึ้นเดินกลับไปยังกุฏิ คิดว่าทนเหม็นกลิ่นเน่า ก็ยังดีกล่ามาทนอยู่กับความทุกข์ทรมานเช่นนี้

          บุรุษวัยสี่สิบเศษเดินกลับมาที่กุฏิอีกครั้ง คิดว่าจะมาพูดคุยกับบุรุษสูงวัย เพื่อคลายความกลัดกลุ้ม ครั้นมาถึงก็เห็นฝ่ายนั้นกำลังเดินจงกรมอยู่อย่างขะมักเขม้น จึงคิดที่จะทำเช่นนั้นบ้าง

          นายจรินทร์เคยมาเข้ากรรมฐานที่วัดแห่งนี้เมื่อหลายปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ได้ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระครู และได้รับความเมตตาช่วยเหลือจากท่านหลายอย่าง หลายประการ สามปีเต็ม ๆ ที่เขาขับรถไป ๆ มา ๆ ระหว่างสิงห์บุรีกับกรุงเทพฯ โดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือแม้แต่เบื่อหน่าย แล้วอยู่ ๆ ก็เหมือนมีกรรมบันดาลให้เขาต้องเหินห่างจากท่าน เพียงได้รู้จักกับพระอาจารย์สุวิน เขาก็เริ่ม “แปรพักตร์” จากท่านพระครูเจริญ ไปหลงติดใน “อิทธิปาฏิหาริย์” ของพระอาจารย์สุวิน

          ดังนั้นแทนที่จะขับรถมาสิงห์บุรีเขาก็ไปเพชรบูรณ์แทน แล้วก็ไปได้ทุกอาทิตย์ จนไม่เป็นอันทำการงานเพราะใจจดจ่อรอให้ถึงวันศุกร์ ภรรยาเขาเคยสะกดรอยตาม ด้วยคิดว่าเขาคงไปมี “ผู้หญิง” ซุกซ่อนไว้ที่นั่น ครั้นเห็นว่าไปหาพระจริง หล่อนก็เลิกตาม กระนั้นก็ยังค่อนแคะกระแนะกระแหนเขาว่า “หลงพระ” ยิ่งกว่าหลงผู้หญิง

          ปีที่แล้วนี่เอง ที่ไม่ได้ไปหาท่าน เพราะทางราชการส่งเขาไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเพิ่งบินมาถึงเมื่อวานตอนเย็น พอตีห้าของวันรุ่งขึ้น เขาก็ขับรถบึ่งไปเพชรบูรณ์ ด้วยความระลึกนึกถึงพระภิกษุรูปนั้น มิได้คาดฝันว่าจะมากลายเป็นฆาตกรไปในที่สุด คิดมาถึงตอนนี้เขาอยากจะตะโกนออกมาดัง ๆ เพื่อระบายความกลัดกลุ้ม หากก็ต้องยับยั้งสติอารมณ์เอาไว้ เพราะเกรงใจคนที่กำลังเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ

          บุรุษวัยสี่สิบเศษเริ่มต้นเดินจงกรมบ้าง ตั้งใจว่าจะเดินไปจนกว่าท่านพระครูจะกลับ

          อาจารย์ชิตนึกอนุโมทนาเมื่อเห็นผู้มาใหม่เดินจงกรม เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้จิตใจเขาสงบลงได้บ้าง บุรุษสูงวัยเริ่มจะมองเห็นความจริงของชีวิต ว่าล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ ซึ่งแม้จะมาในรูปแบบต่าง ๆ กัน หากก็สรุปลงด้วยทุกข์เหมือนกันหมด เหตุนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า “ชีวิตเป็นทุกข์”

            ท่านพระครูกลับมาถึงกุฏิ เมื่อเวลาทุ่มครึ่ง ทันทีที่เห็นท่านเดินเข้ามา นายจรินทร์ก็โผเข้าไปกราบที่เท้าท่าน แล้วซบหน้าร้องไห้อยู่ตรงนั้น เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง มิได้พูดว่ากระไร หากยืนก้มหน้านิ่งดูเขาร้องไห้ อาจารย์ชิตกำลังจะนั่งสมาธิ ก็เลยมีอันไม่ได้นั่งเพราะอยากรู้เรื่องราวและสาเหตุแห่งทุกข์ของบุรุษนั้น

          “หลวงพ่อครับ ช่วยผมด้วย ช่วยผมด้วย” นายจรินทร์คร่ำครวญ

          “ได้ข่าวว่าไปดูงานที่เมืองนอกไม่ใช่หรือ กลับมาเมื่อไหร่ล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถามด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตา

          “เมื่อเย็นวานนี้เองครับ” บุรุษวัยสี่สิบเศษเงยหน้าขึ้นตอบ ครั้นเห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่จะให้ท่านยืนพูดกับเขาอย่างนั้น จึงถอยออกมาแล้วนิมนต์ท่านเข้าไปนั่งที่อาสนะ นายขุนทองจัดการชงกาแฟมาบริการแขกโดยไม่ต้งอรอให้ท่านสั่ง

          “โยมผู้หญิงไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านถามถึงภรรยานายจรินทร์

          “ไม่ได้มาครับ ผมมาคนเดียวมาจากเพชรบูรณ์” แล้วเขาก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น

          “อ้อ ท่านพระครูรับรู้แล้วมิได้ถามอะไรอีก นายจรินทร์ใช้หลังมือปาดน้ำตาแล้วพูดขึ้นว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย ผมฆ่าพระตายครับ” พูดจบก็ร้องไห้ต่อ ท่านพระครูจึงปลอบเขาว่า

          “ทำใจดี ๆ เข้าไว้ ไม่ต้องกลัว มาวัดนี้แล้วต้องกล้าหาญ อาตมาชอบคนกล้าหาญ เราต้องกล้าเผชิญกับทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือร้าย เอาละ ตั้งสติให้ดี หายใจลึก ๆ แล้วเล่าไปว่า เกิดอะไรขึ้น” นายจรินทร์คิดว่าท่านคงจะตกใจและตำหนิเขา แต่เมื่อมิได้เป็นเช่นนั้น ก็ใจชื้นขึ้น จึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง อาจารย์ชิดกับนายขุนทองก็นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

          “เรื่องมันเกิดขึ้นวันนี้เองครับ คือผมขับรถไปเพชรบูรณ์ตอนตีห้า เพื่อจะไปกราบเยี่ยมพระอาจารย์สุวิน ไปถึงสิบเอ็ดโมงเศษ ๆ ก็ตรงไปที่กุฏิของท่าน แม่ชีปราณีบอกผมว่า ท่านเข้าสมาบัติอยู่ในถ้ำน้ำบังบนภูเขามาสามเดือนแล้ว ห้ามใครไปรบกวน กำหนดท่านจะออกจากสมาบัติวันที่ ๑ มีนา ซึ่งครบสามเดือนพอดี ผมก็ถามแม่ชีว่า ทำไมท่านต้องเขานานขนาดนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าเพื่อสะเดาะเคราะห์และต่ออายุ หากไม่ทำเช่นนั้น ท่านจะต้องมรณภาพภายในมกราคม ๒๕๑๗ ผมก็ไม่เชื่อที่แม่ชีเล่า เพราะเคยได้ยินมาว่าพระสามารถจะเข้าสมาบัติได้อย่างมากต้องไม่เกินเจ็ดวัน ใช่ไหมครับ” เขาถามท่านเจ้าของกุฏิ

          “มันคนละอย่างกัน สมาบัติมีสองประเภท คือ ผลสมาบัติ และ นิโรธสมาบัติ อย่างแรกเข้าเป็นปีก็ได้ แต่อย่างหลังคือนิโรธสมาบัติ หรือชื่อเต็มว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เพราะเป็นสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา อันนี้เข้าได้อย่างมากไม่เกินเจ็ดวัน” ท่านพระครูถือโอกาสอธิบาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า

          “หลวงพ่อองค์หนึ่ง อยู่ที่จังหวัดลำปาง ท่านคุ้นเคยกับอาตมาดี องค์นี้ท่านเข้าผลสมาบัติครั้งหนึ่ง ๆ นานเป็นปี ลูกศิษย์ลูกหามาเยี่ยมก็เลยต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน”

          “หลวงลุงน่าจะทำอย่างนั้นบ้างนะฮะ จะได้ไม่ต้องรับแขก หนูจะได้ไม่เหนื่อย” นายขุนทองพูดขึ้น

          “ข้าก็อยากจะทำเหมือนกันแหละแต่ทำไม่ได้ เพราะยังไม่หมดหน้าที่ต้องใช้กรรมญาติโยมเขาให้หมดเสียก่อน” ท่านบอกหลานชาย

          “อ๋อ เหรอฮะ แล้วจวนหมดหรือยังล่ะฮะ”

          “อีกสี่ห้าปี เอาละ เอ็งเลิกถามได้แล้ว ข้าจะฟังโยมเขาเล่าต่อ” นายจรินทร์จึงเล่าต่อไปว่า

          “ระหว่างที่แม่ชีเขาสาละวนอยู่กับการจัดอาหารถวายเพลพระ ผมจึงแอบขึ้นไปบนเขาแล้วก็เข้าไปในถ้ำ ก็เห็นพระอาจารย์สุวินท่านนอนหลับอยู่ในมุ้ง ผมจึงเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็พบกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนไว้ที่ข้างมุ้ง เป็นลายมือของท่านเอง เขียนสั่งไว้ว่า “เจริญพรญาติโยมทั้งหลาย อาตมภาพจะไปเที่ยวป่าหิมพานต์สักสามเดือน ระหว่างนี้ ห้ามไม่ให้ใครมารบกวน อาตมาไม่ได้มรณภาพ จึงไม่ต้องรดน้ำศพ ไม่ต้องสวดอภิธรรม แล้วก็ไม่ต้องนำร่างไปใส่โลง แล้วอาตมาจะกลับมาในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๗ และที่สำคัญที่สุดคืออย่าให้ใครแตะต้องตัวอาตมาเป็นอันขาด” ท่านเขียนไว้อย่างนี้ครับ แล้วก็ลงวันที่ไว้ด้วย เป็นวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ พอเห็นข้อความนั้น ผมก็เลยคิดว่า แม่ชีปราณีพูดความจริง แล้วก็เหมือนมีอะไรมาดลใจ ผมคิดว่าวันนี้ก็วันที่ ๒๔ กุมภาแล้ว เหลือเวลาอีกห้าวันเท่านั้น หากผมจะปลุกท่านก็คงไม่เป็นไร เพราะไหน ๆ ก็ผ่านพ้นเดือนมกรามาแล้ว คิดดังนั้นผมจึงเอื้อมมือเข้าไปในมุ้งเพื่อจะจับแขนท่าน ขณะนั้นแม่ชีปราณีตามมาถึงพอดี แกส่งเสียงห้ามว่า “คุณจรินทร์ อย่า” แต่ช้าไปเสียแล้ว เพราะผมยังมือไม่ทัน ครั้นมือผมสัมผัสกับแขนท่าน ก็เกิดเสียงดัง “เพะ” เหมือนข้าวตอกแตก แล้วเลือดก็ไหลท่วมร่างท่านและไหลนองลงมาเต็มพื้นถ้ำ ไม่ทราบว่าทำไมจึงมากมายขนาดนั้น เหม็นคาวคลุ้งเลยครับ ผมก็ตะลึง แม่ชีปราณีก็ตะลึง คนอื่น ๆ ก็ตามมาดูกันทั้งพระและชี

          พอหายตะลึง ผมก็ร้องไห้ใหญ่ แม่ชีปราณีก็รำพึงรำพันซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า “ไม่น่าเล้ย ไม่น่าเลย พี่บอกแล้วก็ไม่เชื่อ พี่เผลอเดี๋ยวเดียวเกิดเรื่องจนได้” ระหว่างที่พวกเขาช่วยกันนำศพใส่โลงและล้างพื้นถ้ำอยู่นั้น ผมก็บอกว่าจะไปมอบตัวกับตำรวจ ท่านเจ้าอาวาสบอกไม่ต้อง เพราะผมไม่ได้เป็นฆาตกร ท่านไม่ต้องการให้เรื่องนี้รู้ไปถึงหูตำรวจ ท่านยังบอกอีกว่า เป็นกรรมของพระอาจารย์สุวินเอง ท่านจะต้องมรณภาพอยู่แล้ว”

          “ถูกต้อง เจ้าอาวาสท่านพูดของท่านถูกแล้ว” ท่านพระครูพูดขึ้น นายจรินทร์ไม่เข้าใจ ถึงถามท่านว่า

          “หลวงพ่อหมายความว่าอย่างไรครับ”

          “ก็หมายความว่าโยมไม่ได้เป็นผู้ร้ายฆ่าคนอย่างที่โยมคิดน่ะซี สมมุตินะ สมมุติว่าโยมเอามือมาถูกตัวอาตมา แล้วจะเรียกว่าโยมเป็นผู้ร้ายฆ่าคนหรือเปล่าเล่า”

            “ไม่เรียกครับ” บุรุษวัยสี่สิบเศษตอบ รู้สึกโล่งใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก

          “นั่นแหละ แบบเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้ก็เลิกโศกเศร้าเสียใจได้แล้ว เห็นหรือยังว่า กฎแห่งกรรมนั้นเที่ยงตรงนัก อาตมาก็รู้จักท่านสุวิน ท่านก็เคยมาปรึกษาเรื่องนี้ อาตมาก็ชวนมาเข้ากรรมฐาน ท่านก็ไม่เชื่อ ท่านชอบไปทางฌานสมาบัติ ในที่สุดก็ต้องเป็นไปตามกรรม โยมอย่าลืมนะว่า วิธีที่จะแก้กรรมนั้น ต้องใช้วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น อย่างอื่นแก้ไม่ได้”

          “ถ้าอย่างนั้น ก็หมายความว่า ฌานสมาบัติไม่มีประโยชน์หรือครับ” อาจารย์ชิตถาม

          “มีสิ ทำไมจะไม่มี แต่ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นจะต้องนำมาเป็นบาทฐานของวิปัสสนา ถ้าหากนำไปใช้ในทางให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ ถ้อว่าไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้ เพราะแก้ทุกข์ไม่ได้ ท่านสุวินท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์หลายอย่าง เท่าที่อาตมารู้ แต่เห็นหรือยังว่า ท่านก็ไม่อาจหนีกรรมไปได้ อุตส่าห์หนีไปถึงป่าหิมพานต์ ก็ยังไม่พ้นกรรม”

            “แต่ถ้าท่านเชื่อหลวงพ่อ แล้วมาเข้ากรรมฐานที่นี่ ก็จะไม่มรณภาพหรือครับ” นายจรินทร์ถาม

          “แน่นอน ข้อนี้อาตมารับรอง เพราะการที่ท่านได้ฌานก็เหมือนกับมีทุนเดิมอยู่แปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว มาทำเพิ่มอีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ใช่ไหมเล่า”

          “ใช่ครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะกลับไปลางานสักเจ็ดวัน แล้วมาเข้ากรรมฐานนะครับ หลวงพ่อครับผมขอปฏิญาณว่า ต่อแต่นี้ไป ผมจะเลิกสนใจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ จะสนใจแต่วิปัสสนากรรมฐานเพียงอย่างเดียว ผมเข็ดแล้วครับ” บุรุษวัยสี่สิบเศษให้คำมั่นสัญญา

            “ดีแล้ว อาตมาขออนุโมทนา เอาละ สบายใจแล้ว ก็ไปที่โรงครัว ไปทานอาหารเสียก่อน แล้วค่อยกลับบ้าน ยังไม่ได้ทานข้าวกลางวันไม่ใช่หรือ”

          “ครับ ขอบคุณครับ แหมพอหลวงพ่อพูด ผมรู้สึกหิวขึ้นมาทันทีเลยครับ” เขากราบท่านสามครั้งแล้วหันไปลาอาจารย์ชิต

          “ขอบคุณนะครับอาจารย์ ผมเลยถือโอกาสลาเลย” พูดจบก็ลุกขึ้น เดินมุ่งหน้าไปยังโรงครัวด้วย รู้สึกหิวจนแสบท้อง...

 

มีต่อ........๕๖

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 25, 2007, 07:27:42 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00056
๕๖...

          “หลวงพ่อครับ เป็นไปได้หรือครับ ที่คนเราจะอยู่ได้ตั้งสามเดือนโดยไม่ต้องกินอาหาร ผมว่ามันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์นะครับ” อาจารย์ชิตเอ่ยถามหลังจากนายจรินทร์ลุกออกไปแล้ว

          “ขัดสิโยม ถ้าโยมเอาหลักวิทยาศาสตร์มาตัดสิน มันขันแน่ ๆ แต่สำหรับอาตมาไม่ได้คิดอย่างนั้น อาตมาไม่ได้ยกย่องวิทยาศาสตร์ว่าสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างให้มนุษย์ได้ ทั้งนี้เพราะยังมีอีกหลายอย่างหลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง เช่น เรื่องของกรรมและเรื่องของจิตวิญญาณเป็นต้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ในกรณีของโยม การที่หมอเขาไม่สามารถรักษาโรคให้โยมได้ เพราะเขาใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่อาตมาจะใช้วิธีการทางจิตรักษาให้หาย อย่าลืมว่าจิตวิญญาณนั้นมีพลังมากว่าสสารหลายเท่านัก การที่ร่างของท่านสุวินไม่เน่าเปื่อยเพราะอาศัยพลังจิตซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์ มันเป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม”

          “ครับ เป็นไปไม่ได้”

          “นั่นแหละ อาตมาถึงไม่ยึดเอาวิทยาศาสตร์มาเป็นเกณฑ์ตัดสินในทุกกรณี เพราะมีบางกรณีที่วิทยาศาสตร์ตัดสินไม่ได้ แต่มนุษย์ทุกวันนี้ เขายึดวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ เพราะเขาให้ความสำคัญกับร่างกายมากกว่าจิตใจ อะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เขาก็ถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เช่น เรื่องจิตวิญญาณเป็นต้น” ท่านกล่าวถึงความเชื่อพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน

          “เรื่องฌานสมาบัติที่หลวงพ่อพูดถึงเมื่อตะกี้ ก็เป็นเรืองของจิตใช่ไหมครับ” ผู้อาวุโสถามอีก นายขุนทองรู้สึกว่าฟังไม่รู้เรื่อง จึงขอตัวไปนอน

          “ถูกแล้ว เป็นเรื่องของจิตโดยตรงทีเดียว”

          “คนธรรมดาจะสามารถเข้าฌานได้หรือเปล่าครับ”

          “ได้ หากมีการฝึกจิต”

          “ถ้าเช่นนั้น ถ้าหากผมฝึกจิต ผมก็สามารถจะเข้านิโรธสมาบัติได้ใช่ไหมครับ”

          “ไม่ได้หรอกโยม บุคคลที่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้นั้น มีเพียงสองประเภท คือ พระอนาคามีที่ได้สมาบัติ ๘ กับพระอรหันต์ประเภทอุภโตภาควิมุตตะ นอกนั้นเข้าไม่ได้”

            “พระโสดาบันและพระสกทาคามี ก็เข้าไม่ได้หรือครับ”

          “ไม่ได้ ถึงแม้ท่านจะได้สมาบัติ ๘ แต่ก็ยังเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เอาละ อาตมาว่า โยมปฏิบัติไปดีกว่า เรื่องเหล่านี้ยังไกลตัว เอาเรื่องใกล้ตัวก่อน เรื่องไกลเอาไว้ทีหลัง” ท่านพระครูพูดตัดบท

          “ครับ แต่...หลวงพ่อครับ หลวงพ่อบอกผมตอนก่อนไปว่า กลับมาจะเล่าอะไรให้ฟัง” เขาถือโอกาสทวงสัญญา

          “ตกลง เล่าก็เล่า ความลับนะ ห้ามเอาไปพูดต่อ สัญญาได้ไหม”

          “ได้ครับ ผมให้สัญญา” คนอยากฟังรับคำหนักแน่น

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็จะเล่าให้ฟัง” แล้วท่านจึงเล่าว่า

          “ที่อาตมาถามถึงตาวนน่ะ เพราะเคยทำกรรมกับแกไว้สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก นี่ก็ไปจัดการชดใช้มาเรียบร้อยแล้ว”

          “กรรมอะไรครับ” อาจารย์ชิตถาม

          “โกงค่าเรือจ้าง สมัยก่อนแกมีอาชีพพายเรือข้ามฟาก เก็บค่าโดยสารเที่ยวละหนึ่งสตางค์ อาตมาตอนนั้นเป็นนักเรียน ต้องข้ามฟากไปเรียนหนังสือฝั่งโน้น ก็ใช้บริการแกทุกวัน พอขึ้นทำก็แกล้งโยนหินก้อนเล็ก ๆ ลงไปที่ท้ายเรือ ทำเป็นว่าจ่ายค่าโดยสาร แกก็ไม่ติดใจสงสัย เพราะผู้โดยสารคนอื่น ๆ เขาก็ทำอย่างนี้”

          “โยนก้อนหินลงไปน่ะหรือครับ”

          “เปล่า โยนสตางค์จริง ๆ คือพอขึ้นท่า เขาก็จะโยนสตางค์ลงไปที่ท้ายเรือ มีอาตมาคนเดียวที่ใช้ก้อนหิน”

          “แกเคยจับได้บ้างไหมครับ” ผู้สูงอายุถามอีก

          “มือชั้นนี้แล้ว ถ้าถูกจับได้ก๊อเสียชื่อหมดน่ะซี” ท่านถือโอกาส “คุย”

          “หลวงพ่อเก่งจังนะครับ” คนฟังแกล้งชม

          “อ้าวเก่งซี ไม่เก่งได้หรือ แต่ขอโทษเถอะ เก่งในทางเลวทั้งนั้น” แล้วท่านก็หัวเราะ คนฟังพลอยหัวเราะตาม จากนั้นท่านเจ้าของกุฏิจึงเล่าอีกว่า

          “อาตมาก็โกงแกทุกวัน กระทั่งย้ายโรงเรียน พูดแล้วอย่าหาว่าคุยนะ อาตมานี่ย้ายโรงเรียนเป็นว่าเล่น จังหวัดสิงห์บุรีสมัยนั้นมีโรงเรียนมัธยมอยู่ ๘ แห่ง อาตมาเรียนมาหมดทุกแห่ง แห่งละเดือนบ้าง สองเดือนบ้าง อย่างเก่งไม่เกินหกเดือน เสร็จแล้วก็ย้ายไปอีก”

          “ทำไมย้ายบ่อยจังครับ” ถามอย่างสนใจ ท่านพระครูตอบอย่างภาคภูมิว่า

          “ก็เขาเชิญออก เรียนได้เดือนสองเดือนเขาก็เชิญออก เพราะอาตมาเก่งเกินไป พวกครูเขาปวดหัว เพราะตามความเก่งกาจของลูกศิษย์ไม่ทัน ก็เลยเชิญให้ออก อาตมาก็ต้องย้ายไปหาที่เรียนใหม่”

          “พอครับ ๘ แห่งแล้ว หลวงพ่อทำอย่างไรครับ วนรอบสองหรือเปล่า” คนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถามอย่างนึกสนุก

          “วนสิ วนรอบสอง แต่เขาไม่รับสักแห่งเดียว เขาบอกแค่รอบเดียว ครูก็จะพากันลาออกหมดโรงเรียนแล้ว ถ้าขืนรับอาตมาเข้าเรียนรอบสอง มีหวังภารโรงก็ต้องขอลาออก อาตมาก็เลยต้องไปเรียนที่บางกอกโน่น เอาละ จบเรื่องโรงเรียนก่อนมาเล่าเรื่องตาวนต่อ”

          “ครับ ตกลงแกรู้เรื่องที่หลวงพ่อโกงค่าจ้างหรือยังครับ” คนฟังถาม รู้สึกสนุกจนลืมปวดแผล

          “รู้แล้ว อาตมาบอกแกเมื่อกี้เอง แต่เชื่อเถอะ แกไม่บอกใครหรอก อาตมารับรองได้

          “หลวงพ่อจะแน่ใจได้อย่างไรครับ พอหลวงพ่อลงเรือนมา แกอาจจะบอกลูกเมียแกก็ได้” ผู้อาวุโสคาดการณ์

          “แกไม่บอกหรอกโยม เพราะแกนอนพะงาบ ๆ จะไปอยู่แล้ว อาตมาดูแล้วว่า สี่ทุ่มคืนนี้แกไปแน่ เห็นไหมนโยบายของอาตมาใช้ได้หรือเปล่า เลือกสารภาพตอนที่แกพูดไม่ได้แล้ว” ท่านหัวเราะอีก

          “แล้วนายขุนทองทราบเรื่องนี้หรือเปล่าครับ” ถามเสียงเบา

          “ให้รู้ไม่ได้ซี เจ้าหมอนี่เก็บความลับได้ที่ไหนล่ะ” ท่านวิจารณ์คนมีศักดิ์เป็นหลาน

          “พออาตมาไปถึง พวกลูก ๆ เขาดีใจใหญ่ บอก “แหม หลวงพ่อใจดีจัง อุตส่าห์มาเยี่ยม แถมเอาทั้งของทั้งเงินมาให้ พระวัดอื่นเขามีแต่จะเอาของญาติโยม แต่หลวงพ่อวัดนี้กลับเอามาให้ญาติโยม” อาตมาก็นึกขำที่เขาชมต่อหน้า ที่แท้เปล่าหรอก อาตมามาใช้หนี้ต่างหาก เขาก็พาอาตมาเข้าไปหาพ่อเขา อาตมาก็เข้าไปใกล้ ๆ กระซิบข้างหูแก ว่า “ตาวน จำอาตมาได้ไหม ที่เคยโดยสารเรือจ้างโยม เมื่อสามสิบปีก่อนน่ะ” แกก็พยักหน้า อาตมาก็พูดต่ออีกว่า

          “โยมรู้หรือเปล่า อาตมาโกงค่าเรือจ้างโยมทุกวัน ไม่เคยให้สตางค์เลย แต่โยนก้อนหินไปแทน นี่นะโยมก็ป่วยหนัก ถ้าอยากได้บุญก็อโหสิกรรมให้อาตมานะ เพราะตอนนี้อาตมาเป็นพระแล้ว และก็นี่เงินสองร้อยบาท อาตมาใช้หนี้ค่าเรือจ้าง ส่วนพวกเครื่องดื่มนี่คิดว่าเป็นดอกเบี้ย แต่โยมห้ามไปบอกลูกหลานนะ สัญญาได้ไหมเล่า ขืนบอกเขาก็จะพากันเลิกนับถืออาตมา” แกก็พยักหน้าอีก

          อาตมาก็โล่งใจที่ได้ใช้หนี้ไปอีกหนึ่งราย เสร็จแล้วอาตมาก็เทศน์โปรดแกเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย แกก็ฟังอย่างสงบ ก่อนกลับอาตมาก็สอนกรรมฐานให้ บอกว่าให้แกนอนกำหนดพอง-ยุบ ไปเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องไปห่วงลูกหลานหรือสมบัติ ให้เอาสติไว้ที่ท้องเท่านั้น แกก็พยายามทำตามที่อาตมาสอน ตกลงเรื่องนี้มีแกกับอาตมารู้กันสองคนเท่านั้น” ท่านสรุป รู้สึกโล่งอกโล่งใจเสียนัก

          “แต่ตอนนี้สามแล้วนะครับหลวงพ่อ เพราะเพิ่มผมเข้ามาอีกคนหนึ่ง” คนฟังแย้ง

          “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เหลือสองเท่าเดิม หลังสี่ทุ่มไปแล้วก็เหลือสองเท่าเดิม” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ อดีตอาจารย์จึงประเมินผลว่า

          “ผมว่าเรื่องนี้ นายวนแกได้กำไรนะครับ ที่หลวงพ่อเทศน์โปรดแก แถมยังสอนกรรมฐานให้ กำไรหลายสิบเท่าตัวเชียวแหละ ไม่เหมือนเรื่องเจ๊ลี้ รายนั้นขาดทุนอานไปเลย” พูดแล้วก็หัวเราะ

          “เจ๊ลั้งโยม ไม่ใช่เจ๊ลี้ แล้วกันไปเปลี่ยนชื่อให้เขาเสียแล้ว เอาละ ทีนี้โยมก็ปฏิบัติต่อได้แล้ว อย่าลืมดื่มยาบ่อย ๆ นะ ดื่มต่างน้ำเลย จะได้หายเร็ว ๆ เอาละ ให้เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง วันนี้จะมีทุกขเวทนามากกว่าทุกวัน อย่าตกใจ ให้ตั้งสติกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” ถ้าไม่หายก็ให้กำหนดว่า “อดทนหนอ อดทนหนอ” แล้วก็หันมากำหนด พอง-ยุบ ต่อไป จนกว่าจะครบหนึ่งชั่วโมง อาตมาเห็นจะต้องขึ้นไปทำงานต่อข้างบนละนะ” พูดจบท่านก็ลุกออกไปปิดประตูด้านหน้าและด้านหลังของกุฏิ แล้วจึงขึ้นไปข้างบน นายสมชายมีกุญแจอีกดอกหนึ่ง ที่จะไขเข้ามาเองได้ โดยไม่ต้องตะโกนเรียกคนขี้เซาอย่างนายขุนทองมาเปิดให้เช่นที่แล้ว ๆ มา

          เมื่ออยู่คนเดียว อาจารย์ชิตจึงเริ่มเดินจงกรม รู้สึกปวดหนึบ ๆ ที่แผล หากเขาไม่สนใจ พยายามเอาสติจดจ่อกับอาการเคลื่อนไหวของเท้า เหลือบมองนาฬิกาที่แขวนอยู่ข้างฝา ขณะนั้นเป็นเวลาสองทุ่มครึ่ง จากนั้นก็จะนั่งไปจนกว่าจะครบหนึ่งชั่วโมง ตามที่หลวงพ่อท่านสั่ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าหมดเวลา คงจะต้องลืมตาขึ้นดูนาฬิกาเป็นครั้งเป็นคราว ทว่าการกระทำเช่นนั้น จะทำให้สมาธิไม่ต่อเนื่อง บุรุษวัยหากสิบรู้สึกสับสนทางความคิด จนต้องหยุดเดินแล้วตั้งสติกำหนด “สับสนหนอ สับสนหนอ” ยังไม่ทันจะหายสับสน ก็ได้ยินเสียงทุบประตูปัง ๆ พร้อมกับเสียงเรียกเข้ามาว่า

          “ท่านพระครูอยู่หรือเปล่าครับ ช่วยเปิดประตูหน่อย” อาจารย์ชิตจึงจำต้องเดินไปที่ประดูเพื่อจะเปิด หากก็ไม่สามารถเปิดได้ เพราะไม่มีลูกกุญแจ จึงหันกลับ เพื่อจะไปปลุกนายขุนทอง พอดีกับนายสมชายไขกุญแจเข้ามาทางประตูด้านหลัง

          “มีคนมาเรียกหาหลวงพ่อแน่ะ” เขาบอกศิษย์วัด

          “ครับ เดี๋ยวผมเปิดให้เอง” ชายหนุ่มเดินไปหยิบพวงกุญแจที่ห้อยอยู่ตรงบันไดทางขึ้น แล้วจึงไขประตูเปิดให้ผู้ที่อยู่ข้างนอกเข้ามา

          “ท่านพระครูจำวัดหรือยัง” ภิกษุวัยเดียวกับเจ้าของกุฏิถาม ท่านมากับฆราวาสสองคน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง

          “ยังหรอกครับ นิมนต์หลวงพ่อนั่งรอก่อน ประเดี๋ยวผมจะขึ้นไปตามให้” ภิกษุรูปนั้น จึงไปนั่งรอที่หน้าอาสนะ ส่วนผู้ติดตามทั้งสองก็เข้ามานั่งในกุฏิ นายสมชายจัดการชงน้ำชามาประเคนท่าน สำหรับฆราวาสสองคน เขาแถมขนมปังกรอบชิ้นเล็ก ๆ มาให้ด้วย ปริการแขกเสร็จจึงขึ้นไปตามท่านพระครู

          อาจารย์ชิตหลบออกไปเดินจงกรมที่ด้านหลังโรงรถ เขาไม่ต้องการนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยเหตุผลสองประการ คือ อาคันตุกะของท่านพระครูจะได้ไม่เหม็นกลิ่นเน่าจากแผลของเขาประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เขาจะได้ไม่เสียเวลาปฏิบัติกรรมฐาน

          เมื่อท่านพระครูเปิดประตูหน้าบันไดออกมา ภิกษุอาคันตุกะยกมือไหว้ทำความเคารพ ท่านรับไหว้ ผู้ติดตามทั้งสองก้มลงกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง

          “ผมต้องขอโทษที่มารบกวนท่านพระครูในยามวิกาลเช่นนี้” ภิกษุวัยห้าสิบ เอ่ยขึ้นก่อน

          “อย่าถือว่าเป็นการรบกวนเลยครับ วัดป่ามะม่วงยินดีต้อนรับท่านพระครูทุกเวลา” ท่านเจ้าของกุฏิพูดกับภิกษุผู้มีวัยและสมณศักดิ์เสมอกับท่าน

          “ผมมีเรื่องด่วนจะมาเรียนปรึกษาท่านพระครู รอให้ถึงพรุ่งนี้ไม่ได้ เลยชวนญาติโยมเขามา คือ เณรลูกวัดผมก่อปัญหาเสียแล้ว”

          “ลูกชายผมเองครับ นี่แม่เขา” ฆราวาสที่มาด้วยพูดขึ้น ทั้งเขาและภรรยามีท่าทางทุกข์ร้อน โดยเฉพาะภรรยานั้นมีดวงตาแดงช้ำ แสดงว่าเพิ่งผ่านการร้องไห้มา

          “เกิดอะไรขึ้นกับเณรลูกชายของโยมหรือ” ท่านถามสองสามีภรรยา

          “นิมนต์หลวงพ่อเล่าดีกว่าครับ” บุรุษวัยสี่สิบบอกภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ของเณรลูกชาย

          “คืออย่างนี้ครับท่านพระครู โยมสองคนนี่เขาพาลูกชายมาบวชเณรที่วัดผม ก็บวชมาตั้งแต่อายุสิบสี่จนอายุจะครบบวชพระเข้าปีนี้แล้ว เณรรูปนี้ขยันนั่งสมาธิมาก พอฉันเสร็จก็นั่งสมาธิ ไม่พูดไม่คุยกับใคร เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่บวชใหม่ ๆ นี่สั่งสมาธิข้ามวันข้ามคืนเลย ข้าวปลาอาหารก็ไม่ยอมฉัน” ภิกษุผู้มาเยือนเล่าความ

          “ก็ดีแล้วนี่ มีลูกศิษย์ขยันปฏิบัติอย่างนี้ ท่านน่าจะภูมิใจ” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงพูดขัดขึ้น

          “ครับ ผมภูมิใจ โยมพ่อโยมแม่เขาก็ภูมิใจ แต่ตอนนี้มันเกิดเรื่องยุ่งแล้วละครับ ท่านพระครู”

          “ยุ่งยังไงล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิซัก

          “คือตอนหกโมงเย็น เณรเขาออกจากสมาธิ แล้วก็ถือบาตรเดินออกจากวัด จะไปบิณฑบาต”

          “บิณฑบาตตอนหกโมงเย็นน่ะหรือ”

          “ครับ”

          “ทำไมเป็นยังงั้นไปได้”

          “นั่นสิครับ เขาถือบาตรออกมาแถมสบงจีวรก็ไม่มี เดินตัวล่อนจ้อนออกมาจากห้อง พระเณรก็พากันตกใจ ถามว่า “เณรจะไปไหน” เขาก็ว่า “ผมไม่ใช่เณรนะ ผมสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พวกคุณต้องกราบผมสิ” พูดจบก็ถือบาตรเดินโทง ๆ ไปทางประตูหน้าวัด ผมก็เลยสั่งให้พระเณรช่วยกันจับ เขาก็วิ่งหนี ก็เกิดการไล่จับกันขึ้น ญาติโยมที่บ้านอยู่ใกล้วัดก็พากันมาดู แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเณรบ้า ผมก็เลยบอกให้โยมผู้ชายช่วยกันจับ กว่าจะได้ก็เล่นหอบไปตาม ๆ กัน”

          “แล้วตอนนี้อยู่ที่ไหนล่ะ”

          “อยู่ที่วัดครับ ผมให้เขามัดไว้แล้วไปตามโยมพ่อโยมแม่เขามา เขาก็จำอะไรไม่ได้ พูดแต่ว่า “ผมเป็นพระอรหันต์ ผมเป็นพระอรหันต์ คุณมาจับพระอรหันต์มัดไว้อย่างนี้ จะต้องตกนรก”

            “ลูกดิฉันเป็นอะไรไปคะหลวงพ่อ” ผู้เป็นแม่ถามเสียงเครือ

          “เท่าที่ฟังเล่ามา อาตมาขอลงความเห็นว่า เขาหลงทางเสียแล้ว แบบนี้ลำบาก แก้ยาก” ท่านส่ายหน้าช้า ๆ

          “แล้วจะทำยังไงดีคะ” คราวนี้หล่อนร้องไห้

          “ต้องให้สึก เอาเถอะ พอสึกออกมา อีกหน่อยเขาก็มีลูกมีเมีย แล้วก็จะหายไปเอง” ท่านพระครูบอกหนทางแก้ไข

          “แต่ดิฉันอยากให้ลูกบวชตลอดชีวิตค่ะ อยากให้เขาบรรลุมรรค ผล นิพพาน” สตรีวัยสี่สิบรำพัน ภิกษุอาคันตุกะ จึงถามขึ้นว่า

          “บวชต่อไปไม่ได้หรือครับท่านพระครู โยมแม่เขาอยากให้ลูกบวชตลอดชีวิต”

          “ไม่ได้แน่ เขาสร้างบุญบารมีมาแค่นี้ ถ้าไม่ให้สึก รับรองว่ากู่ไม่กลับ เชื่ออาตมาเถอะ”

          “แต่ดิฉันทำใจไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ ดิฉันมีลูกชายคนเดียว แล้วก็หวังมากว่าเขาจะได้เป็นพระอรหันต์” คนเป็นแม่รำพัน

          “มนุษย์เราไม่ได้อย่างที่ใจหวังไปทุกคนหรอกโยม อาตมาว่า โยมจะต้องทำใจให้ได้ เอาเถอะ อีกหน่อยพอมีหลานมาให้อุ้ม โยมก็จะทำใจได้เองนะโยมนะ” เมื่อพูดถึงหลาน สตรีวัยสี่สิบ รู้สึกอบอุ่นเล็ก ๆ ด้วยสัญชาตญาณของการดำรงเผ่าพันธุ์

          “จริงสินะ หากคนบรรลุนิพพานเป็นพระอรหันต์กันหมด เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ก็จะต้องสูญสิ้นไปจากโลกเป็นแน่แท้” หล่อนคิด หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คิดนั้นมันเป็นไปไม่ได้

          “ต้องพาส่งโรงพยาบาลปากคลองสานหรือเปล่าคะ” หล่อนถามอีก คราวนี้ด้วยความรู้สึกห่วงลูกมากกว่าห่วงมรรค ผล นิพพาน

          “ไม่ต้องหรอกโยม ถ้าให้สึก ไม่ต้องส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าไม่สึก ถึงจะส่งโรงพยาบาล ก็ไม่มีโอกาสหาย” ท่านพระครูพูดตามที่ “เห็น”

          “แต่ถ้าเขาไม่ยอมสึกเล่าครับ” ท่านพระครูผู้เป็นอาคันตุกะยังวิตก

          “ท่านก็ต้องเลือกโอกาสพูดกับเขาซีครับ คือเลือกพูดตอนที่เขาสงบแล้ว ตอนกำลังคลั่งอย่าเพิ่งพูด” ท่านเจ้าของกุฏิแนะนำ

          “จริงของท่าน แหม ผมก็ลืมข้อนี้ไปเสียสนิทเลย ถ้าอย่างนั้นเห็นจะต้องลาละ ของพระคุณที่ท่านกรุณาแนะนำ” แล้วภิกษุอาคันตุกะหนึ่งรูปกับฆราวาสสองคน ก็ลาท่านเจ้าของกุฏิกลับ ท่านพระครูให้นายสมชายไปเรียกอาจารย์ชิตมาปฏิบัติภายในกุฏิ แล้วจึงขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ

          เมื่อเดินจงกรมครบหนึ่งชั่วโมง บุรุษวัยหกสิบจึงกำหนดนั่ง เขาไม่ต้องกังวลเรื่องเวลา เพราะนายสมชายเกิดใจดี นำนาฬิกาปลุกมาให้ยืมพร้อมทั้งตั้งเวลาให้เสร็จสรรพ อาการพองยุบชัดเจนในตอนแรก ๆ ครั้นเวลาผ่านไปชั่วครู่ ความรู้สึกปวดที่แผลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และน้ำเหลืองก็ออกมามากผิดปกติ จนเสื้อกล้ามเปียกชื้น นึกถึงถ้อยคำของท่านพระครูที่ว่า “วันนี้จะมีทุกขเวทนามากกว่าทุกวัน” จึงไม่ใส่ใจกับมัน เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเป็นเช่นนี้

          ขณะเผชิญกับเวทนากล้า บุรุษสูงอายุปลุกปลอบใจตนเองด้วยการนึกไปถึงนางสาวส้มป่อย ป่านฉะนี้หล่อนก็คงกำลังทุกข์ทรมานไม่แพ้เขา ความรู้สึกว่า “มีเพื่อน” ทำให้เกิดกำลังใจมาต่อสู้กับทุกขเวทนาที่ได้รับ ถึงอย่างไรก็จะทนนั่งอย่างนี้ตอไปจนกว่าจะหมดเวลา ทั้งจะไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอันขาด

          เสียงเคาะประตูดังขึ้นอีก หากคราวนี้คนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั่งเฉย เพราะได้ตั้งใจไว้แล้วว่า จะไม่ขยับลุกไปไหนจนกว่าจะหมดเวลา เสียงนั้นดังขึ้นกว่าเดิม ตามด้วยเสียงเรียกชื่อนายสมชาย คนถูกเรียกอาบน้ำเสร็จพอดี จึงเดินออกมาเปิดประตู

          “สมชาย ช่วยไปเรียนหลวงพ่อให้ไปดูส้มป่อยด้วย อาละวาดใหญ่แล้ว ฉันห้ามยังไงก็ไม่ฟัง เล่นเอาคนอื่นไม่เป็นอันได้ปฏิบัติกันละ” แม่ชีเจียนบอกลูกศิษย์วัด เธอมากับเพื่อนชีอีกสองคน เพราะท่านเจ้าของกุฏิเคยสั่งไว้ว่า หากมีธุระด่วน และจำเป็นต้องมาพบท่านในยามวิกาล จะต้องมีเพื่อนมาด้วยสองคนเป็นอย่างน้อย

          แม้จะมิได้ลืมตาขึ้นดู หากหูของคนที่กำลังนั่งสมาธิก็ได้ยินเรื่องที่แม่ชีบอกนายสมชาย แล้วใจก็เลยนึกสงสารท่านพระครูที่ต้องถูกผู้คนรบกวนทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่เลือกข้างขึ้นหรือข้างแรม...

 

มีต่อ........๕๗

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 25, 2007, 07:28:33 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00057
๕๗...

          หากเป็นปุถุชนคนทั่วไป คงจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายและหงุดหงิดรำคาญใจที่ต้องถูกรบกวนครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบจะหาเวลาเป็นของตัวเองไม่ได้

          แต่สำหรับท่านพระครูผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมรูปนี้ ความรู้สึกดังกล่าวไม่เคยบังเกิดขึ้น เพราะท่านยึดหลักว่าการสงเคราะห์ญาติโยมเป็นหน้าที่โดยตรงของท่าน ซึ่งแม้จะเหนื่อยยากสักปานใดก็ไม่คิดทดถอย ดังนั้นเมื่อนายสมชายบอกกล่าวเรื่องที่แม่ชีเจียนมารายงาน ท่านจึงออกคำสั่งว่า “ไปตามตัวมา บอกฉันให้มาพบที่กุฏิโดยด่วน” ครั้นนึกถึงภาพที่ศิษย์หนุ่มจ้องอกสาวเมื่อตอนสายจึงสั่งอีกว่า “ปลุกเจ้าขุนทองไปเป็นเพื่อนด้วย”

          “ไม่ต้องหรอกครับ ผมไปคนเดียวดีกว่า ขี้เกียจฟังมันบ่นในยามวิกาล” เขาว่า เพราะเคยรู้ฤทธิ์กันมาแล้ว

          “งันก็ชวนแม่ชีไปด้วยสองคน จะได้ไม่น่าเกลียด”

          “ครับ” ชายหนุ่มรับคำแล้วลงมาบอกให้แม่ชีเจียนทราบ

          “งั้นฉันจะเดินไปเป็นเพื่อนอีกคน” แม่ชีพูดพลางหันไปมองอาจารย์ชิต แม้ฝ่ายนั้นจะกำลังนั่งสมาธิอยู่ หากก็คงไม่เหมาะถ้าเธอจะนั่ง ณ ที่นั้นโดยไม่มีคนที่สามอยู่ด้วย

          เมื่อคนทั้งสี่เดินไปถึงสำนักชี ก็ได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญสลับกับเสียงก่นด่า เสียงสาปแช่งที่ออกมาจากปากของนางสาวส้มป่อย

          “ได้ยินไหม เห็นฤทธิ์แม่เจ้าประคุณหรือยัง ฉันเอาไม่ไหวจริง ๆ ถึงต้องไปเรียนให้หลวงพ่อท่านทราบ ทั้งที่แสนที่จะเกรงใจ” แม่ชีเจียนว่านายสมชาย ทั้งขำทั้งนึกสมเพชเมื่อได้ยินได้ฟัง

          “โอ๊ย ปวดโว้ย ปวดจะตายอยู่แล้ว โธ่เว้ย ไม่มีใครเห็นใจอีกส้มป่อยเลย แม่ชีโว้ย ไปตามหลวงพ่อมาหน่อย ฮือ ๆ โธ่เอ๋ย กูนะกู เกิดมาอาภัพ ฮือ ๆ พ่อแม่พี่น้องก็พากันหายหัวไปหมด...ฮือ ๆ อีแม่ ..อีแม่นั่นแหละทำกรรมให้กู เสือกใช้ให้กูเอาลูกหมาไปปล่อย กูก็เลยต้องมาเป็นอย่างนี้ ฮือ ๆ อีแม่เฮงซวย แม่หมา ๆ ยังงี้ก็มีด้วย...” หล่อนก่นด่าแม่บังเกิดเกล้า

          “ส้มป่อย หลวงพ่อให้มาตามไปพบด่วน” ชายหนุ่มบอก ได้ยินว่าท่านพระครูให้ไปพบ หญิงสาวก็ได้สติและหยุดร้องครวญคร่ำรำพัน

          “จริงหรือ ไปเดี๋ยวนี้เลยหรือ” หล่อนถามด้วยหวังใจว่า การได้พบท่านจะทำให้ความเจ็บปวดที่กำลังได้รับอยู่นั้นบรรเทาลง

          “เขาจะมาโกหกเอ็งทำไมกัน ไปรีบไปเดี๋ยวนี้แหละ เดินไหวหรือเปล่า หรือจะต้องให้หาม” แม่ชีเจียนพูดอย่างรำคาญ

          “ไหวจ้ะไหว” หญิงสาวว่า ออกเสียในที่ “แผลงฤทธิ์” จนทำให้คนเขาเดือดร้อน ทั้งที่ท่านพระครูกำชับนักหนาว่าให้อดทน

          “งั้นก็ไปกันเดี๋ยวนี้แหละ” นายสมชายพูดพลางออกเดินนำหน้านางสาวส้มป่อย กับชีอีกสามคนเดินตาม ต่างพากันเดินไปเงียบ ๆ โดยไม่มีผู้ใดปริปากพูด ชีสาวสองคนที่มาเป็นเพื่อนแม่ชีเจียนนั้นไม่ผิดกับคนใบ้ เพราะไม่พูดไม่จาทั้งตอนไปและตอนกลับ

          เมื่อคนทั้งห้าเดินมาถึงกุฏิ ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงนั่งรออยู่ที่อาสนะแล้ว อาจารย์ชิดยังคงนั่งสมาธิอยู่ที่เดิม เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท่านเจ้าของกุฏิลงมาข้างล่าง คนทั้งห้าทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง แล้วท่านพระครูจึงพูดกับนางสาวส้มป่อยว่า

          “ไง อาละวาดใหญ่เลยหรือ ข้าเพิ่งเตือนไปหยก ๆ ทำไมลืมเสียได้” ท่านมิได้แผ่เมตตาให้หล่อนด้วยเหตุผลที่ว่า “เดี๋ยวจะเคยตัว” กระนั้นหญิงสาวก็ยังรู้สึกว่าความเจ็บปวดทุเลาลง เมื่อได้มานั่งต่อหน้าท่าน เป็นอุปาทานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวบุคคล เวลานี้ หล่อนเสมือนคนไร้ที่พึ่ง จึง “ยึด” เอาท่านพระครูเป็นสรณะ

            “ฉันปวดจ้ะหลวงพ่อ มันทนไม่ไหวจริง ๆ”

          “ก็เลยอาละวาดงั้นหรือ การทำเช่นนั้นทำให้เอ็งหายปวดใช่ไหม”

          “ไม่หายจ้ะ มันก็ยังปวดเหมือนเดิม แต่มันแปลกนะหลวงพ่อ เวลาฉันมานั่งต่อหน้าหลวงพ่อ ฉันรู้สึกสบายขึ้น”

          “นั่นเป็นอุปาทานของเอ็งต่างหาก เอ็งดูโยมเขาซิ เขาก็ปวดไม่แพ้เอ็งเหมือนกัน แต่ทำไมเขาไม่โวยวายอย่างเอ็ง” หญิงสาวมองดูอาจารย์ชิต เห็นเขานั่งนิ่งเหมือนไม่มีความรู้สึกใด ๆ จึงเถียงว่า

          “เขาไม่ปวดอย่างฉันน่ะซี ถ้าปวดเขาต้องทำอย่างที่ฉันทำนั่นแหละ”

          “งั้นเดี๋ยวเอ็งลองถามเขาดูก็ได้ รอให้หมดเวลาเสียก่อน”

          “เกิดเขานั่งอยู่อย่างนี้ทั้งคืน ฉันมิรอแย่หรือ” หล่อนพูดอย่างวิตก

          “ถ้าเอ็งอยากรู้จริง ๆ ก็น่าจะรอได้”

          “งั้นฉันไม่อยากรู้ดีกว่า” หล่อนเปลี่ยนใจ พอดีกับเสียงนาฬิกาปลุกดังกังวานขึ้น อาจารย์ชิตถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วลืมตาช้า ๆ เขาก้มลงกราบท่านพระครูสามครั้งแล้ว อุทธรณ์ว่า

          “ปวดเหลือเกินครับหลวงพ่อ ปวดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา”

          “ได้ยินหรือยังส้มป่อย ไหนเอ็งว่าเขาไม่ปวดไงล่ะ” ท่านพระครูหันไปพูดกับสาวคนป่วย

          “ปวดแล้วทำไมลุงนั่งเฉยราวกับไม่ปวดล่ะจ้ะ” หล่อนถามอาจารย์ชิต

          “ก็ลุงพยายามใช้สมาธิข่มเวทนา แล้วลุงก็คิดว่ากำลังใช้หนี้กรรม ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าลุงทำกรรมอะไรไว้ ถึงอย่างไรหนูก็ยังดีกว่าลุงตรงที่รู้กรรมของตัวเองแล้ว อีกประการหนึ่งหนูก็ปวดอย่างเดียว ไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจเหมือนของลุง เพราะฉะนั้นหากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ลุงอยู่ในสภาพที่แย่กว่าหนูมากนัก แต่ลุงก็พยายามอดทนสู้กับมัน” ฟังอาจารย์ชิตพูดแล้ว นางสาวส้มป่อยก็เถียงไม่ออก ท่านพระครูจึงพูดเสริมอีกว่า

          “ฟังข้านะส้มป่อย ฟังแล้วก็เก็บไปคิดเป็นการบ้าน ปราชญ์เขาสอนไว้ว่า “หัสดินย่อมไม่ทิ้งลีลาแม้ออกศึก ไม้จันทน์ย่อมไม่ทิ้งความหอมแม้แห้ง อ้อยย่อมไม่ทิ้งความหวานแม้ผ่านหีบ...บัณฑิตแม้มีความทุกข์ย่อมไม่ทิ้งธรรม” โยมชิตเขาเป็นบัณฑิตนะ แม้เขาจะมีความทุกข์ก็ยังรักษาธรรมไว้ได้ ส่วนเอ็งทำตัวเยี่ยงคนพาล พอประสบทุกข์ก็ทิ้งธรรม มีอย่างที่ไหน แม้แต่แม่บังเกิดเกล้าของตัวเอง ก็ยังด่าได้” ท่านตำหนิติเตียน

          “หลวงพ่อได้ยินหรือจ๊ะ” คนถามมองหน้านายสมชาย ด้วยคิดว่าเขามาฟ้อง

          “ก็ถ้าไม่ได้ยินแล้วข้าจะพูดถูกหรือ เอ็งไม่ต้องไปสงสัยว่าจะมีใครมาบอกข้าหรอก ข้ารู้ของข้าเองโดยไม่ต้องมีคนบอก ขอให้เอ็งรู้ไว้เสียด้วยว่า ข้ารู้ได้หากอยากจะรู้ ฉะนั้นก็อย่าพูด อย่าคิดอะไร ๆ ที่มันไม่ดี ขอให้สำเหนียกไว้ว่า อย่างน้อยข้าก็รู้ ถึงคนอื่นจะไม่รู้แต่ข้ารู้” ท่านพระครูย้ำ มิใช่จะอวดอุตริมนุสสธรรม หากต้องการจะสอนบุคคลผู้สอนยากเช่นนางสาวส้มป่อยผู้นี้

          “ฟังหลวงพ่อท่านสอนแล้วก็เก็บไปคิดทบทวนนะส้มป่อย คิดแล้วก็ต้องทำให้ได้ ขืนเอ็งอาละวาดอีก ข้าคงถูกคนอื่น ๆ เขาเล่นงานแน่” แม่ชีเจียนพูดเสริม ชีสาวสองคนไม่ปริปากพูดเช่นเคย

            “หลวงพ่อจ๊ะ ฉันไม่ชอบชื่อส้มป่อยเลย มันทำให้ฉันนึกถึงกรรมที่ปล่อยลูกหมา หลวงพ่อช่วยเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ฉันด้วยได้ไหมจ๊ะ” หญิงสาวเปลี่ยนเรื่องเสียทันใด ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะไม่อยากฟังคำตำหนิติเตียน

          “ไม่ชอบชื่อส้มป่อยหรือ งั้นก็เปลี่ยนเป็นส้มแป้น เอาไหมเล่า หรือ จะเอาส้มเช้ง” คราวนี้ทั้งแม่ชีทั้งฆราวาสต่างพากันหัวเราะ คนป่วยจึงว่า

          “ไม่เอาจ้ะ ฉันไม่อยากได้คำว่า “ส้ม” ด้วย หลวงพ่อช่วยเปลี่ยนให้ใหม่ ไม่เอาทั้ง “ส้ม” ทั้ง “ป่อย” แล้วก็ไม่เอาอักษร ป. ด้วยนะจ๊ะ

          “งั้นชื่อเพชราก็แล้วกัน เผื่อได้เป็นนางเอกหนังกะเขาบ้าง ชอบไหมล่ะ ชื่อเพชราน่ะ” คราวนี้คนป่วยยิ้มหน้าบาน รีบสนองว่า

          “ดีจ้ะ ฉันก็เคยคิดไว้เหมือนกัน” แล้วพูดกับทุกคนในที่นั้นว่า “ต่อไปนี้อย่าเรียกฉันว่าส้มป่อยนะจ๊ะ ฉันเปลี่ยนชื่อเป็นเพชราแล้ว หลวงพ่อท่านเปลี่ยนให้ นี่ฉันต้องไปแจ้งอำเภอไหนจ๊ะ” ประโยคหลัง หล่อนถามท่านพระครู

          “ถ้าเอ็งจะเปลี่ยนจริง ๆ ก็คงต้องแจ้ง แต่เอาเถอะ ให้หายป่วยเสียก่อนค่อยดำเนินการ อันที่จริงมันก็ไม่เกี่ยวกับชื่อหรอกนะ คนเราจะดีหรือเลว จะสุขหรือทุกข์ไม่เกี่ยวกับชื่อ แต่อยู่ที่กรรม จะชื่อไพเราะเพราะพริ้งแค่ไหน หากทำกรรมชั่วก็ชื่อว่าเป็นคนชั่ววันยังค่ำ จริงไหมโยม” ท่านถามอาจารย์ชิต

          “จริงครับ” บุรุษวัยหกสิบรับคำ

          “แล้วเอ็งละ ที่ข้าพูดมานี่เอ็งเห็นด้วยไหมเพชรา” คนถูกถามยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ก่อนตอบว่า

          “จริงจ้ะ” เห็นชีสาวสองคนนั่งยิ้มหากไม่ยอมพูดจา ท่านพระครูจึงถามแม่ชีเจียนว่า

          “แม่ชีสองคนนี้เขาถือ “วจีวิรัติ” หรือยังไง ถึงไม่ยอมพูดจา”

          “ถูกแล้วจ้ะหลวงพ่อ เขาถือมาสามวันเข้านี่แล้ว”

          “ดีจริง อาตมาขออนุโมทนา การปฏิบัติธรรมนั้นหากจะให้ได้ผลจะต้องไม่พูดไม่คุยกับใครเลย เอาละกลับที่พักกันได้แล้ว หวังว่าเอ็งคงไม่ทำฤทธิ์อีกนะจ๊ะแม่เพชรา” ท่านกำชับนางสาวเพชรา คนได้ชื่อใหม่รับคำหนักแน่น แล้วก็เหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ จึงถามท่านเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงพ่อจ๊ะ ด่าพ่อแม่นี่ต้องตกนรกใช่ไหมจ๊ะ ฉันกลัวตกนรกจังเลยจ้ะ”

          “กลัวก็ต้องรีบเจริญกรรมฐานเข้า หากเอ็งปฏิบัติได้ถึงขั้นบรรลุญาณ ๑๖ เอ็งก็จะสามารถตัดอบายภูมิได้ ตายไปก็ไม่ต้องไปตกนรก” ท่านพระครูตอบ

          “แล้วฉันต้องปฏิบัติอยู่นานสักกี่ปีจ๊ะถึงจะบรรลุ”

            “อันนี้ข้าตอบไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของเอ็ง คนอื่นจะมากะเกณฑ์ให้ไม่ได้”

          “ด่าพ่อแม่ที่บาปกว่าเอาลูกหมาไปปล่อยอีกใช่ไหมจ๊ะ” หล่อนถามอีก

          “ถูกแล้ว ทั้งนี้เพราะพ่อแม่นั้นมีบุญคุณต่อเรามาก ในมาตาปิตุคุณสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ลูกจะให้แม่นั่งบนบ่าขวา ให้พ่อนั่งบนบ่าซ้าย ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดลงไปบนบ่าลูก ลูกเป็นผู้เช็ดให้ หาอาหารมาป้อนให้ กระทั่งจนท่านตายหรือกระทั่งลูกตายไป ก็ไม่สามารถจะตอบแทนพระคุณค่าป้อนข้าว ป้อนน้ำนมที่ท่านได้ถนอมกล่อมเกลี้ยงบำรุงเลี้ยงมาอย่างดีได้” พุทธวจนะที่ท่านพระครูหยิบยกมากล่าวอ้าง ทำให้คนฟังต่างระลึกนึกถึงบิดามารดาของตน โดยเฉพาะคนที่ชื่อยังใหม่เอี่ยมอ่องอยู่นั้นถึงกับน้ำตาซึม

          “แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างเลิศที่สุดครับ” อาจารย์ชิตถาม

          “กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าพ่อแม่เป็นมิจฉาทิฐิแล้วลูกสามารถชักจูงพ่อแม่ให้กลับเป็นสัมมาทิฐิได้ นั่นถือว่าได้ทดแทนบุญคุณอย่างเลิศ”

          “อันนี้ฉันไม่เข้าใจจ้ะ” คนจบชั้นประถมปีที่สี่ว่า อาจารย์ชิตจึงช่วยอธิบายให้หล่อนฟังเป็นการ “ผ่อนแรง” ท่านพระครู

          “หมายความว่า ถ้าพ่อแม่ของหนูมีความเห็นผิดเป็นต้นว่า ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ แล้วหนูสามารถชักจูงชี้แจ้งให้ท่านมีความเห็นที่ถูกต้อง เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ถ้าทำอย่างนี้ได้ถือว่าทดแทนบุญคุณอย่างเลิศที่สุด”

          “แล้วถ้าฉันพาพ่อแม่มาเข้ากรรมฐานล่ะจ๊ะ”

          “ถ้าทำเช่นนั้นก็ถือว่า เอ็งได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างเลิศที่สุด แต่ก็มีข้อแม้ว่าพ่อแม่เอ็งจะต้องตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งกิน นอนกิน เปลืองข้าวสุกวัด คนประเภทนี้มีมากเหมือนกัน โดยเฉพาะที่วัดนี้ พอออกจากวัดเลยไม่ได้อะไรกลับไป แล้วก็เที่ยวไปพูดว่ามานั่งหลับหูหลับตาเสียเวลาทำมาหากิน”

            “หลวงพ่อจ๊ะ ฉันอยากพาพ่อกะแม่มาเข้ากรรมฐาน แต่ก็จนใจ เพราะไม่รู้ว่าเขาไปอยู่กันที่ไหน จะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้” นางสาวเพชราพูดน่าสงสาร ท่านพระครูจึงจำต้อง “ช่วย” โดยบอกหล่อนว่า

          “ยังอยู่ทั้งสองคนนั่นแหละ เอาเถอะ เอ็งช่วยตัวเองเสียก่อน ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ หายป่วยเมื่อใดค่อยคิดช่วยพ่อแม่”

          “ช่วยยังไงจ๊ะ”

          “ข้ายังไม่บอกเอ็งตอนนี้หรอก เอาไว้เวลานั้นมาถึงแล้วค่อยว่ากันใหม่ เอาละ กลับไปได้แล้ว แม่ชีสองคนที่ถือ “วจีวิรัติ” นั้น อาตมาขออนุโมทนา ขอให้ปฏิบัติก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น” คนทั้งสี่กราบลาท่านพระครูแล้วจึงลุกออกมา นายสมชายจัดการปิดประตูด้านหน้าและด้านหลัง แล้วเตรียมขึ้นนอนเพราะใกล้สองยามแล้ว

          “หลวงพ่อง่วงหรือยังครับ” อาจารย์ชิตถาม เขายังอยากคุยกับท่านพระครูต่อ เนื่องจากมีข้อข้องใจสงสัยที่อยากจะเรียนถาม

          “อาตมาไม่เคยง่วงหรอกโยม จิตมันเป็นอัตโนมัติเสียแล้ว ปกติอาตมานอนตอนตีสอง พอนอนปุ๊บก็หลับปั๊บโดยไม่รู้สึกง่วง พอตีสี่ก็ตื่นเองโดยอัตโนมัติ”

          “ถ้าเช่นนั้นผมขออนุญาตเรียนถามเรื่องฌานต่อได้ไหมครับ เพราะมันค้างใจผมอยู่ จนเกิดเป็นความกังวลเวลานั่งสมาธิ”

          “งั้นก็ถามมาเถอะ อาตมาจะได้ตอบให้หายข้องใจสงสัย แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะว่า ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็อย่าไปสงสัยเรื่องอื่นต่อไปอีก ประเดี๋ยวจะกลายเป็นวิจิกิจฉา ทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า”

          “ครับ ผมจะพยายาม สิ่งที่ผมจะเรียนถามหลวงพ่อคือ ผมอยากทราบว่า ฌานที่จะนำมาเป็นบาทฐานของวิปัสสนานั้น เป็นฌานขั้นไหน และถ้าเราไม่ได้ฌานก็จะไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

            “เอาละ อาตมาจะตอบคำถามหลังก่อน ที่โยมถามมานี้แสดงว่ายังแยกไม่ออก ระหว่างฌานกับสมาธิ อาตมาจะอธิบายคำหลังก่อน คำว่า “สมาธิ” แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด จึงเป็นภาวะจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป สมาธิมี สามระดับคือ ขณิกสมาธิ เป็นสมาธิชั่วขณะ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิจวนแน่วแน่ และอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิแน่วแน่อันเป็นสมาธิระดับสูงสุดซึ่งมีในฌานทั้งหลาย

          ดังนั้น ภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะเรียกว่าฌาน ฌานมีหลายขั้น ยิ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไปเท่าใด องค์ธรรมต่าง ๆ ที่เป็นคุณสมบัติของจิตก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น ฌานโดยทั่วไปแบ่งเป็น ๒ ระดับใหญ่ ๆ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ รูปฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ส่วนอรูปฌาน ๔ ได้แก่ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน”

          ท่านพระครูอธิบายช้าและชัดเจน คนฟังกำหนด “ฟังหนอ” แล้วตั้งอกตั้งใจฟัง ใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง จึงเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งแม้เป็นเรื่องยาก

          “ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนี้ โยมเข้าใจใช่ไหม”

          “ครับ ผมเข้าใจแจ่มแจ้งเลยครับ”

          “ถ้าอย่างนั้นลองอธิบายให้อาตมาฟังหน่อยซิว่า ฌานคืออะไร”

          “คือ ภาวะจิตขั้นอัปปนาสมาธิครับ ขั้นขณิกสมาธิกับอุปจารสมาธิ ยังไม่เรียกว่าฌาน”

          “ดีมาก ทีนี้อาตมาก็จะได้อธิบายถึงสมาธิที่ใช้เป็นบาทฐานของวิปัสสนาหรือจะเรียกว่า วิปัสสนาสมาธิก็ได้ วิปัสสนาสมาธิ ได้แก่ สมาธิในระดับระหว่างขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ ทีนี้โยมตอบมาซิว่า การที่จะเจริญวิปัสสนานั้นจำเป็นต้องได้ฌานหรือไม่”

          “ไม่จำเป็นครับ”

          “เอาละ ทีนี้ก็มาถึงคำถามแรกที่โยมถามว่า ฌานที่จะนำมาเป็นบาทฐานของวิปัสสนา เป็นฌานขั้นไหน โยมพอจะมองเห็นคำตอบไหม”

          “เป็นขั้นไหนก็ได้ใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว เพราะเมื่อจะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา จะต้องถอนจิตออกจากฌานเสียก่อน หรือถ้าหากไม่ได้ฌาน ก็ต้องถอนจิตออกจากสมาธิเสียก่อน

          ในสมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระมหาติสสเถระ ท่านเจริญอัฏฐิกรรมฐาน จนบรรลุปฐมฌาน แล้วใช้ปฐมฌานนั้นเป็นบาทฐาน เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์”

          “ถ้าอย่างนั้นฌานก็ไม่มีความสำคัญมากนัก สำหรับผู้ที่มุ่งในทางวิปัสสนากรรมฐานใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมุ่งในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ฌานมีความสำคัญมากและต้องเจริญให้ถึงจตุตถฌาน แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าผู้ที่ได้จตุตถฌานทุกคนจะมีอิทธิปาฏิหาริย์ จะได้เฉพาะบางคนที่มีสมาธิแก่กล้าเท่านั้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคยังระบุไว้ด้วยว่า ผู้ที่จะได้อิทธิปาฏิหาริย์นั้น ต้องมีบุญบารมีอันสำเร็จมากแต่ชาติก่อน มิใช่ได้เพราะความเชี่ยวชาญในสมาบัติ”

            “อย่างพระอาจารย์สุวินท่านก็ต้องเคยสร้างบารมีมาจากชาติก่อน ๆ ใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว”

          “แต่ท่านก็ไม่สามารถฝืนกฎแห่งกรรมไปได้ แสดงว่าอิทธิปาฏิหาริย์ก็ยังอยู่ใต้กฎแห่งกรรม ใช่ไหมครับ”

            “แน่นอน บางคนไม่เข้าใจ คิดว่า ถ้าได้อิทธิปาฏิหาริย์แล้วจะพ้นเวรพ้นกรรม มันพ้นไม่ได้หรอกโยม เอาละ นี่ก็ดึกมากแล้ว โยมควรจะพักผ่อนเสียที อาตมาก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ” เมื่อท่านบอกจะขึ้นข้างบน อาจารย์ชิตก็รู้สึกปวดแผลขึ้นมาทันที จึงพยายามประวิงเวลาการสนทนาด้วยการถามว่า

          “หลวงพ่อเคยเจริญฌานหรือเปล่าครับ”

          “เคยโยม อาตมาเคยปฏิบัติเตโชกสิณ กับ อาโปกสิณ อยู่หลายปี”

          “แล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ หลวงพ่อกรุณาเล่าประสบการณ์ที่ได้จากการเจริญฌานให้ผมฟังเป็นธรรมทานได้ไหมครับ” ท่านพระครูไม่ตอบ หากลุกขึ้นไปหยิบคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ มาจากตู้ เปิดตรงหน้า ๗๗ แล้วส่งให้ผู้สูงอายุ

          “โยมช่วยอ่าน อจินติสูตร ให้อาตมาฟังหน่อยซิ” อาจารย์ชิตจึงอ่านตามที่ท่านสั่ง ในสูตรนั้นมีข้อความว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน

            เมื่อบุรุษนั้นอ่านจบ ท่านเจ้าของกุฏิ จึงถามขึ้นว่า

          “เป็นยังไง อยากรู้เรื่องฌานอีกไหม”

          “ไม่อยากแล้วครับหลวงพ่อ ผมยังไม่อยากเป็นบ้า และก็ไม่อยากเดือดร้อนมากกว่านี้ เท่าที่เดือดร้อนเพราะโรคภัยไข้เจ็บก็หนักแทบจะรับไม่ไหว ผมไม่อยากรู้เรื่องนี้อีกแล้วครับ”

          เสียงเคาะประตูตามด้วยเสียงเรียกท่านพระครูดังขึ้นอีก เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเดินไปหยิบลูกกุญแจ

          “ผมเปิดเองครับ” อาจารย์ชิตขันอาสา แล้วรับลูกกุญแจจากท่านไปไขประตู ท่านเจ้าของกุฏิกลับไปนั่งยังอาสนะเพื่อรอรับการร้องทุกข์ บุรุษวัยห้าสิบ เข้ามากราบท่าน ตามด้วยเพื่อนบ้านวัยไล่เลี่ยกันอีกสองคน

          “หลวงพ่อครับ อีเช้าเมียผมถูกผีเข้า หลวงพ่อช่วยไปดูมันหน่อยเถิดครับ” บุรุษนั้นรายงาน

          “ผีที่ไหนมาเข้าล่ะ”

          “ไม่ทราบเหมือนกันครับ แหมมันด่าเป็นไฟลามทุ่งเลย หลวงพ่อช่วยไปไล่มันออกหน่อยเถอะครับ”

          “ตกลง ไปก็ไป เดี๋ยวนะ ขอขึ้นไปเอาของหน่อย” ท่านขึ้นไปปลุกนายสมชาย แล้วหยิบย่ามพร้อมไฟฉายหนึ่งกระบอก ก่อนออกจากวัดท่านสั่งอาจารย์ชิตว่า

          “โยมพักผ่อนตามสบายนะ ไม่ต้องกังวลเรื่องเปิดประตู อาตมาจะเอาลูกกุญแจไปด้วย”

 

มีต่อ........๕๘

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 25, 2007, 07:29:16 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00058
๕๘...

          คนทั้งสามพาท่านพระครูกับนายสมชาย เดินตัดท้องทุ่งอันเป็นทางลัดไปสู่บ้ายของนางเช้า เพราะหากเดินไปตามถนนลูกรัง จะต้องใช้เวลามากกว่าถึงสองเท่า ขณะเดินลัดเลาะไปตามคันนา ท่านพระครูก็แผ่เมตตาให้สิงสาราสัตว์ จำพวกงูเงี้ยวเขี้ยวขอเพื่อให้สัตว์เหล่านั้นอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเพื่อให้ฆราวาสสี่คนกับนักบวชอีก ๑ รูปที่กำลังเดินอยู่ภายใต้แสงสลัวของพระจันทร์ครึ่งดวง ได้ปลอดภัยจากสัตว์เหล่านั้นอีกด้วย

          เวลาผ่านไปประมาณสี่สิบนาทีก็ถึงบ้านของนางเช้า เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคามุงสังกะสี บนบ้านจุดตะเกียงเจ้าพายุสว่างไสว เสียงผู้หญิงด่าอย่างหยาบคายดังมาจากบนบ้าน นายสมชายได้ยินถึงกับขนลุก ขนาดฟังนางสาวส้มป่อยด่ามาหยก ๆ ก็ยังรู้สึกว่า เสียงด่าที่กำลังได้ยินอยู่ขณะนี้ หยาบคายกว่าหลายเท่า ทั้งไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกขำแต่ประการใด

          นายบ่ายนำท่านพระครูไปนั่งข้าง ๆ ภรรยาผู้ซึ่งนอนหลับหูหลับตาด่าอยู่บนเสื่อจันทบูรผืนใหม่ มีหมอนสีขาวหนุนที่ศีรษะ ลูก ๆ นั่งล้อมวงดู ด้วยไม่อาจจะช่วยอะไรได้ และทุกครั้งที่มารดาเป็นเช่นนี้ พวกเขาก็จะนั่งเฝ้าดูกระทั่งผีมันออกไปเอง หากคราวนี้มันเข้านานกว่าทุกครั้ง และไม่มีทีท่าว่าจะออกไปง่าย ๆ บิดาจึงชวนเพื่อนบ้าน แล้วพากันไปนิมนต์ท่านพระครูมาช่วยไล่ผี

          “นี่แหละครับหลวงพ่อ ผีเข้าทีไรมันด่าลูกด่าผัวไม่พัก ไม่รู้ผีห่าผีเหวที่ไหนมาเข้า” นายบ่ายบอกท่านพระครูพร้อมด่าผีไปด้วย ได้ยินสามีพูดกับท่านพระครู คนถูกผีเข้าลืมตาขึ้นดูนิดหนึ่ง เป็นเวลาเดียวกับที่ท่านพระครูจ้องดูนางพอดี เสียงด่าหยุดชะงักลงประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วคนถูกผีเข้าก็หลับหูหลับตาด่าต่อไปอีก หากคราวนี้เสียงเบาลงกว่าเดิมมาก

          “ผีมันคงจะเกรงใจพระ” นายสมชายคิด เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงให้สงสัยยิ่งนักว่าผีที่มาเข้านางเช้านั้น เป็นผีจริงหรือผีปลอมกันแน่ ท่านต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบ จึงได้รู้ว่าเป็นผีปลอม

          “เห็นหนอ” รายงานว่า วันไหนเล่นไพ่เสีย วันนั้นจะต้องถูกผีเข้า แล้วก็จะด่าลูกด่าผัวกระทั่งหลับไปเอง แต่ถ้าวันไหนเล่นได้ วันนั้นผีไม่เข้า วันนี้เสียมากกว่าทุกวัน ผีก็เลยเข้าตั้งแต่หัวค่ำ แล้วก็ยังไม่ยอมออก จนนายบ่ายสามีต้องไปนิมนต์ท่านมาไล่ผี

          “ช่วยหน่อยเถอะครับหลวงพ่อ ดูท่าทางมันจะด่ายันรุ่งแน่เลย ผมกับลูกเต้าคงไม่ได้หลับไม่ได้นอนกัน” นายบ่ายพูดท่าทางน่าสงสาร

          “ช่วยแน่โยม อาตมาช่วยแน่ เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวจะไล่ให้ออกแทบไม่ทันเชียว คอยดูฝีมืออาตมาก็แล้วกัน” ท่านพูดข่มขวัญผีปลอม

          “ต้องทำน้ำมนต์หรือเปล่าครับ ผมจะได้ให้ลูกไปหาขันน้ำกับเทียน” นายบ่ายถาม

          “ไม่ต้อง ไม่ต้อง ผีรายนี้มันไม่กลัวน้ำมนต์”

          “แล้วจะใช้อะไรไล่ละครับ” ท่านพระครูนั่งนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง จึงตอบว่า

          “ใช้ยา เดี๋ยวอาตมาจะปรุงยาให้ผีกิน รับรองว่ากินปุ๊บออกปั๊บเลย”

          “ต้องใช้อะไรบ้างครับ”

          “ใช้พริกขี้หนูกับเกลือ มีหรือเปล่า”

          “แห้งหรือสดครับหลวงพ่อ”

          “เอาสด ๆ ดีกว่า มีไหมพริกขี้หนูน่ะ”

          “มีครับ ที่ต้นมีเยอะ เดี๋ยวผมจะเอาไฟฉายลงไปเก็บมาให้” นายเย็นบุตรชายคนโตของนางเช้าตอบ

          “ดี ๆ เอาที่แก่ ๆ นะ ยิ่งได้สีแดงยิ่งดี ผีมันจะได้กลัว เอามาสักกำมือนึงแล้วตำกับเกลือ มาให้หลวงพ่อ”

          “ครับ” ชายหนุ่มรับคำแล้วเดินไปหยิบไฟฉายในห้อง ด้วยการลงไปเก็บพริกมาหนึ่งกำมือ แล้วนำไปโขลกกับเกลือที่ในครัว เสร็จแล้วจึงตักใส่ถ้วยนำมาให้ท่านพระครู

          “ขอช้อนด้วย” คราวนี้ลูกสาวคนรองเป็นคนไปหยิบมาให้ ได้อุปกรณ์ครบถ้วนแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงสั่งว่า

          “เอาละ ช่วยกันจับผีไว้แล้วป้อนยาเข้าไปทางปาก กรอกลงไปให้หมดถ้วยเลย” นายบ่ายและลูก ๆ ทำตามที่ท่านสั่ง แต่กว่าจะง้างปากผีให้อ้าได้ก็ต้องออกแรงกันพอสมควร เพราะผีดิ้นรนขัดขืน ไม่ยอมให้กรอกยา เมื่อยาเข้าปาก ผีหลอมก็พ่นออกมาเพราะความแสบร้อน นายบ่ายและลูก ๆ ต่างพากันหลบเป็นพัลวัน

          “โอย...เผ็ด เผ็ดฉิบหายเลย” เสียงผีปลอมโอดครวญ

          “ขอน้ำหน่อย..น้ำ หลวงพ่อไม่น่าทำฉันเลย” นางเช้าตัดพ้อ

          “ฉันน่ะใคร ผีหรือคน” ท่านพระครูย้อนถาม

          “คนจ้ะ อีเช้าไงล่ะ หลวงพ่อไม่น่าทำกับอีเช้าอย่างนี้เลย” นางลืมตาลุกขึ้นนั่ง สั่งลูกชายคนโตว่า

          “ไอ้เย็น ขอน้ำให้ข้าหน่อย เผ็ดจะตายอยู่แล้ว” นายเย็นกำลังจะลุกออกไปหาน้ำ แต่ท่านพระครูห้ามไว้ ท่านบอกเขาว่า

          “อย่าเพิ่ง ถ้าได้น้ำตอนนี้ ผีจะไม่ยอมออก เดี๋ยว ต้องให้หลวงพ่อเจรจากับผีก่อน” ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะท่านต้องการจะ “ดัดสันดานผี” นางเช้าเห็นดังนั้น จึงต่อว่าท่านพระครูเป็นการใหญ่

          “ฉันไปทำอะไรให้หลวงพ่อหรือ หลวงพ่อถึงทำกับฉันแบบนี้”

          “อาตมาไม่ได้ทำโยม อาตมาทำผีต่างหาก ก็ผีมันเข้าโยม อาตมาก็จะช่วยไล่มันออกไป เห็นไหมพอให้กินยามันรีบออกเลย ทีหน้าทีหลังถ้ามันมาเข้าอีก ก็เอายานี่กรอกปากมันนะหนูนะ” ท่านหันไปบอกลูก ๆ ของนางเช้า

          “โอ๊ย พอแล้วจ๊ะ พอแล้ว มันไม่เข้าอีกแล้ว ฉันรับรอง” นางเช้าบอกเสียงลั่น

          “แน่นา” ท่านพระครูย้ำ

          “แน่จ้ะ” คนถูกผีปลอมเข้ารับคำหนักแน่น นางนึกในใจว่า ต่อแต่นี้ไปถึงจะเสียไพ่มากแค่ไหน ก็จะไม่ยอมทำเป็นผีเข้าอย่างเด็ดขาด เข็ดแล้ว เข็ดเป็นตอนแมวเชียวละ

          “ขอน้ำฉันกินหน่อยเถอะจ้ะหลวงพ่อ” นางอ้อนวอน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง จึงสั่งให้นายเย็นไปนำน้ำมาให้มารดาดื่ม เพื่อนบ้านสองคนที่นั่งดูท่านพระครูไล่ผี เมื่อเห็นว่าผีออกเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงกล่าวลา

          “หลวงพ่อครับ ผมเห็นจะต้องกราบลา ดึกมากแล้ว ชักง่วง” หนึ่งในสองพูดขึ้น คนทั้งสองกราบท่านพระครูสามครั้งแล้วพากันลุกออกมา

          “ขอบใจมากนะที่ไปเป็นเพื่อน” นายบ่ายขอบใจเพื่อนบ้าน แล้วเหมือนจะนึกอะไรได้ จึงบอกบุรุษทั้งสองว่า

          “แล้วใครจะไปเป็นเพื่อนข้า ส่งหลวงพ่อกลับวัดล่ะ”

          “ไม่ต้องไปส่ง อาตมากลับเองได้ โยมสองคนไปเถอะ อาตมาจะอยู่อีกสักพักแล้วค่อยกลับ” เมื่อท่านพูดเช่นนี้ เพื่อนบ้านสองคนจึงลงเรือนไป อาคันตุกะไปแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง จึงพูดกับลูก ๆ ของนางเช้าว่า

          “เอาละ พวกหนู ๆ พากันไปนอนได้แล้ว หลวงพ่อจะดูแลแม่เขาให้ ปลอดภัยแล้ว ผีออกไปแล้ว” ลูกชายหญิงทั้งห้าคน จึงลุกออกมาแล้วต่างแยกย้ายกันไปนอน ท่านพระครูพูดกับนางเช้าว่า

          “เอาละ ทีนี้อาตมาจะเทศน์โยมละ เห็นไหมนี่ยังไว้หน้าโยมนะ ถึงได้รอให้เพื่อนบ้านและลูก ๆ ของโยมลุกออกไปเสียก่อน แต่โยมบ่ายต้องอยู่ฟัง จะได้ช่วยอบรมสั่งสอนและฝึกนิสัยให้โยมเสียใหม่” คนถูกผีปลอมเข้านั่งฟังตาปริบ ๆ สูดลมเข้าปากซี๊ด ๆ เพราะยังเผ็ดไม่หาย

            “นี่โยมบ่าย รู้ไหมว่าผีอะไรมันมาเข้าโยมเช้า” ท่านถามสามีคนถูกผีเข้า

          “ผีอะไรครับหลวงพ่อ”

          “ผีการพนัน โยมเช้าถูกผีการพนันเข้าสิง หนีไปเล่นไพ่ทุกวัน วันไหนเล่นได้ ผีไม่อาละวาด วันนี้เล่นเสียไปแยะ เลยอาละวาดนานกว่าทุกวัน โยมรู้ไว้ด้วย”

          “อ้อ ยังงี้นี่เอง ผมถึงว่าทำไมเงินทองมันถึงไม่คอยพอใช้ เพราะมันเอาไปเสียไพ่นี่เอง” นายบ่ายโมโหโกรธา มองหน้าคนเป็นเมียอย่างจะกินเลือดเนื้อ

          “หลวงพ่อ เรื่องอะไรมายุให้ผัวเมียเขาทะเลาะกัน เป็นพระทำไมทำยังงี้” นางเช้าต่อว่าพลางสูดปากซี๊ด ๆ

          “อาตมาไม่ได้ยุ โยมอย่าเข้าใจผิด นี่อาตมาจะช่วยโยมนะ ช่วยไม่ให้โยมต้องตกนรกไงล่ะ” ท่านพระครูชี้แจง

          “โธ่ หลวงพ่อ นรกยังอยู่อีกไกล แล้วจะมีจริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้แน่ แต่ที่ใกล้ตัวนี่ซี ฉันยังวิตก รับรองพอหลวงพ่อลงเรือนไป ไอ้บ่ายมันเตะฉันแน่” นางคาดการณ์เมื่อเห็นสายตาท่าทางของสามี

          “หลวงพ่อครับ ผมบอกตามตรงว่า ผมเกลียดขี้หน้ามันเหลือเกิน อีนี่มันหาความดีไม่ได้เลย” คนเป็นสามีพูดอย่างแค้นใจ

          “ไม่ดีแล้วมึงเอากูมาเป็นเมียทำไม แถมยังมีลูกหัวปีท้ายปี นี่ถ้ากูไม่ทำหมันป่านนี้มิเป็นโหลแล้วรึ” นางเช้าคุยอวด “เสน่ห์” ของตัว

          “เอาละ ๆ อย่ามาทะเลาะเบาะแว้งกันต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า บาปกรรมรู้หรือเปล่า” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงปราม

          “เดี๋ยวเถอะมึง หลวงพ่อลงเรือนเมื่อไหร่ มึงถูกกูเตะแน่ คอยดูก็แล้วกัน” นายบ่ายผูกอาฆาต

          “ขอที ๆ อาตมาขอบิณฑบาตเถอะ การทำร้ายร่างกายกันไม่ใช่สิ่งดี คนเราไม่ใช่เดรัจฉาน พูดจากันได้ สัตว์มันพูดไม่ได้ ถึงต้องใช้กำลังเข้าปะทะกัน โยมอยากเป็นยังงั้นหรือ”

          “ไม่อยากครับ” คนตอบก้มหน้าดูพื้น

          “มันซ้อมฉันประจำเลยแหละหลวงพ่อ สงสัยจะเป็นสัตว์เดรัจฉานมากเกิด” นางเช้าถือโอกาสฟ้องและด่าสามีไปด้วย

          “ก็โยมมันร้ายกาจนักนี่ ปากคอยังกะตะไกรโรงพยาบาล นี่อาตมาไม่ได้เข้าข้างโยมบ่ายนะ” ท่านพระครูพูดอย่างเหลืออด

          “ถึงว่าซีครับหลวงพ่อ ผมถึงได้เบื่อมันนัก อยากจะทิ้งไปหาเมียใหม่ ก็สงสารลูก ๆ”

          “เอาละ ๆ เลิกพูดเลิกทะเลาะกันเสียที ต่อไปนี้ก็ทำตัวเสียใหม่นะโยมเช้า ส่วนโยมบ่ายก็ห้ามทำร้ายกันแบบนั้น ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จากัน เดี๋ยวอาตมาจะช่วยอบรมให้” แล้วท่านจึงพูดกับนางเช้าว่า

          “โยมต้องปรับปรุงตัวเสียใหม่นะ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของลูก ๆ อีกหน่อยก็จะเป็นย่าเคนยายคนแล้ว อย่าให้ลูกหลานมาถอนหงอกเอาได้ ประการแรกโยมต้องเลิกเล่นไพ่อย่างเด็ดขาด อาตมารู้ว่ามันทำยาก เพราะคนที่ถูกผีการพนันเข้าสิงนั้น มักจะเลิกไม่ได้”

          “นั่นซีจ๊ะหลวงพ่อ บอกตามตรงว่า ฉันคงอกแตกตายแน่ ๆ หากไม่ได้เล่น บางวันฉันก็คิดจะเลิก แต่มันก็เลิกไม่ได้ ขาไพ่เขามาตาม”

          “ทีนี้ถ้าเขามาตาม ก็บอกให้ไปหาอาตมาที่วัดนะ ไปตั้งวงกันที่วัดโน่น บอกเขาอย่างนี้นะ แล้วโยมก็ควรจะไปอยู่วัดสักระยะนึง ไปอบรมจิตใจให้กิเลสตัณหามันเบาบางลงเสียบ้าง”

          “ทิดบ่ายเขาจะยอมให้ฉันไปหรือเปล่าก็ไม่รู้” คราวนี้นางเปลี่ยนจาก “ไอ้” มาเป็น “ทิด”

          “โอ๊ย เชิญเลย เชิญไปวันนี้พรุ่งนี้เลย ถ้าไปแล้วจะทำให้แกดีขึ้น จะไปอยู่นาน ๆ ก็ได้ ข้าไม่ว่าหรอก ช่วยดัดสันดานให้มันหน่อยนะครับหลวงพ่อ” คนเป็นสามีถือโอกาสฝากฝัง

            “ตกลง งั้นพรุ่งนี้โยมเตรียมข้าวของไปอยู่วัดได้” แล้วหันไปพูดกับนายบ่ายว่า “แน่ใจนะว่าจะไม่ไปตามกลับมา ประเดี๋ยวไม่ทันถึงสามวัน ก็จะไปบอก “แม่อีหนูกลับบ้านเถอะ ลูก ๆ มันคิดถึง” ที่แท้ตัวเองนั่นแหละคิดถึงแต่เอาลูกบังหน้า อาตมาเห็นมาหลายรายแล้ว”

            “คงไม่หรอกครับหลวงพ่อ ผมกับลูก ๆ คงจะสบายขึ้น เพราะอย่างน้อย ๆ ก็ไม่ต้องถูกมันด่าตอนผีการพนันเข้า”

          “ต่อไปนี้ผีไม่เข้าแล้ว ข้ารับรองได้” นางเช้ารีบบอกสามี ด้วยยังแสบปาก แสบคอไม่หาย

          “ดีแล้ว โยมต้องเลิกให้ได้นะ เพราะการพนันมันเป็นอบายมุข”

          “อบายมุขคืออะไรจ๊ะ หลวงพ่อ”

          “คือเหตุแห่งความเสื่อม หรือเหตุแห่งความฉิบหาย มี ๖ ประการ คือ เสพสุราและของมึนเมา ๑ เที่ยวกลางคืน ๑ เที่ยวดูการละเล่น ๑ เล่นการพนัน ๑ คบคนชั่วเป็นมิตร ๑ และเกียจคร้านการงาน ๑ ทั้งหกประการนี้ หากใครประพฤติปฏิบัติ บุคคลนั้นจะไม่ประสบกับความเจริญรุ่งเรือง ในกรณีของโยมก็เช่นกัน ขืนไม่เลิกเล่นไพ่ รับรองวันหนึ่งต้องหมดเนื้อหมดตัว คนโบราณเขาสอนไว้ว่า โจรปล้นสิบครั้งก็ยังดีกว่าไฟไหม้ เพราะบ้านและที่ดินยังเหลือ ไฟไหม้สิบครั้งก็ยังดีกว่าเล่นการพนัน เพราะบ้านไหม้ที่ดินยังอยู่ แต่การพนันนั้นหมดทั้งบ้านทั้งที่ โยมเคยเห็นไหมที่เศรษฐีต้องกลายเป็นยาจก เพราะถูกผีการพนันเข้าสิง โยมอยากเป็นอย่างนั้นใช่ไหม”

          “แต่ฉันไม่ใช่เศรษฐีนี่นา” นางเช้าเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ

          “ฟังมันเถอะหลวงพ่อ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมอยากเตะมันได้ยังไง” นายบ่ายพูดอย่างหมั่นไส้เมียเต็มแก่

          “จริง ๆ นะ โยมเช้า โยมนี่กวนโทสะเขาจริง ๆ นั่นแหละ อาตมาเองก็ชักเบื่อที่จะพูดกับโยมแล้ว ก็ในเมื่อเศรษฐียังหมดเนื้อหมดตัว แล้วคนไม่ใช่เศรษฐี จะไม่แย่ยิ่งกว่าหรือ ยังจะมีหน้ามาเถียงอีก”

          “เอาเถอะจ้ะ ฉันยอมแพ้ ตกลงเป็นอันว่า ฉันจะเลิกเล่นไพ่อย่างเด็ดขาด แต่เรื่องไปอยู่วัด ขอคิดดูก่อน อ้อ แล้วที่หลวงพ่อบอกจะช่วยได้จริง ๆ หรือ แล้วนรกที่ว่า มันมีอยู่จริง ๆ ใช่ไหม” นางเช้าถามอย่างสนใจ

          “อาตมาช่วยได้ก็แค่บอกทางให้ว่าทางนี้ไปนรก ทางนี้ไปสวรรค์ เมื่อรู้แล้วโยมจะยังเลือกไปนรก อาตมาก็ช่วยอะไรโยมไม่ได้ โยมต้องช่วยตัวเอง ทำกรรมแทนกันไม่ได้”

          “แล้วนรกมันมีจริง ๆ อย่างที่คนเขาเชื่อกันหรือจ๊ะ” นางถามอีก

          “ถามอย่างนี้ แปลว่าโยมไม่เชื่อใช่ไหม”

          “ก็เชื่อเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมั่นใจนัก”

          “ถ้าโยมอยากมั่นใจ ก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าตั้งใจปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อบรรลุญาณที่ ๑๓ เมื่อไหร่ เมื่อนั้นโยมก็จะไม่สงสัยเรื่องนรกสวรรค์อีกต่อไป ถ้าอยากรู้ก็ต้องลงมือพิสูจน์ด้วยตนเอง”

          “ญาณ ๑๓ คืออะไรจ๊ะ”

          “คือ โคตรภูญาณ ใครปฏิบัติได้ถึงญาณนี้ ก็จะเลิกสงสัยเรื่องการมีอยู่ของนรกสวรรค์ ถ้าบรรลุถึงญาณ ๑๖ ก็จะได้เป็นพระอริยบุคคลระดับต้นที่เรียกว่า พระโสดาบัน เอาเถอะ พูดไปโยมก็ไม่เข้าใจหรอก ของอย่างนี้ไม่อาจเข้าใจด้วยคำพูด ต้องลงมือปฏิบัติ ถึงจะเข้าใจ ถ้าโยมอยากพิสูจน์เรื่องนรกสวรรค์ ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ถึงญาณ ๑๓”

          “ไม่มีวิธีอื่นเลยหรือหลวงพ่อ คือรู้โดยวิธีอื่นน่ะจ้ะ”

          “มี วิธีที่ว่านี้คือ ให้ลองตายดู ถ้าอยากรู้ก็ลองตายเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ รับรองได้เห็นนรกแน่”

          “โอ๊ย ไม่เอาหรอกหลวงพ่อ ฉันไม่กล้าลอง กลัวมันจะตายจริง ๆ “ นางรีบปฏิเสธ

          “ในเมื่อไม่กล้าลอง แล้วจะรู้ได้ยังไง อยากรู้มันก็ต้องลอง จริงไหมโยม” ท่านถามนายบ่าย

          “จริงครับ แต่สำหรับผม ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับหลวงพ่อ เชื่อโดยไม่ต้องลอง”

          “ทำไมโยมถึงเชื่อล่ะ”

          “เพราะผมเชื่อพระพุทธเจ้าน่ะครับ ที่เชื่อเพราะมั่นใจว่าท่านไม่ได้หลอกลวง ท่านจะมาหลอกลวงเราเพื่อประโยชน์อะไร จริงไหมครับ หลวงพ่อ”

          “แหม พูดเข้าที นี่แหละเขาถึงเรียกว่าคนฉลาด หรือโยมเช้าว่ายังไง”

          “งั้นก็แปลว่า ฉันโง่ใช่ไหม หลวงพ่อว่าฉันโง่ใช่ไหม” ถามอย่างไม่พอใจ

          “อันนี้โยมคิดเอาเอง เอาละ จะตีสองแล้ว อาตมาเห็นจะต้องกลับเสียที” ท่าน “รู้” โดยไม่ต้องดูนาฬิกา นายสมชายนั่งสัปหงกอยู่ใกล้ ๆ ได้ยินว่าท่านจะกลับก็ตาสว่าง

          “อย่าลืมนะโยมเช้า เลิกเล่นไพ่ แล้วโยมบ่ายเลิกทุบตีเมีย” ท่านกำชับกำชาสองผัวเมีย

          “แต่ถ้ามันยังขืนเล่นอีกล่ะครับ หลวงพ่อจะให้ผมทำยังไง”

          “ก็ปรุงยาให้กินซี พริกขี้หนูโขลกกับเกลือ จะยากอะไร” ท่านพระครูบอกเคล็ดลับในการปราบผีการพนัน นางเช้ารีบยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่า

          “เลิกจ้ะหลวงพ่อ ฉันเลิกเด็ดขาด ทิดบ่ายอย่าให้ฉันกินยานั่นอีกเลย ฉันเข็ดแล้วจ้ะ”

          ขากลับ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงช้าเวลาเพียงยี่สิบนาทีก็ถึงวัด กระนั้นก็เป็นเวลาตีสองพอดี นายสมชายง่วงเสียใจไม่อยากจะวิเคราะห์หาเหตุผลว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เขาจัดการปิดประตูกุฏิ แล้วล้างมือล้างเท้าขึ้นนอน พอหัวถึงหมอนก็หลับเป็นตาย...

         

มีต่อ........๕๙

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 25, 2007, 07:29:58 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00059
๕๙...

            ผลการไล่ผีเมื่อคืนเป็นอย่างไรบ้างครับหลวงพ่อ” อาจารย์ชิตถามหลังจากสอบอารมณ์เสร็จแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เขาฟังอย่างละเอียด แล้วสรุปว่า

            “โชคดีที่อาตมาได้วิชาพิสูจน์ผีมา ถึงได้รู้เดี๋ยวนั้น สมัยที่ผีตาเหล็งฮ้วยมาเข้ายายเภา ต้องพิสูจน์อยู่หลายวันเพราะตอนนั้นยังไม่ได้วิชา” ท่านหมายถึงวิชา “เห็นหนอ”

            “จะเป็นการรบกวนมากไปหรือเปล่าครับ หากผมจะนิมนต์ให้หลวงพ่อเล่าเรื่องตาเหล็งฮ้วย เพราะหลวงพ่อเคยเกริ่น ๆ ไว้แล้ว ตอนเล่าเรื่องยายสะอิ้ง” บุรุษวัยหกสิบถามอย่างเกรงใจ

            “โยมอยากฟังหรือ”

            “ครับ ผมอยากฟัง ฟังหลวงพ่อเล่าแล้ว รู้สึกเพลินจนลืมปวดแผลน่ะครับ” เขาว่า

            “อ้อ ลืมปวดก็ได้ด้วย งั้นก็น่าจะลืมบ่อย ๆ นะ” ท่านสัพยอก

            “ครับ ถ้าหลวงพ่อเล่าบ่อย ๆ ผมก็คงลืมบ่อย ๆ ได้” อดีตอาจารย์สนองด้วยได้โอกาส

            “เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็จะเล่าให้ฟังเสียเลย เรื่องนี้เกิดก่อนเรื่องยายสะอิ้งปีนึง ตอนนั้นอาตมาอยู่วัดพรหมนคร ยังไม่ได้มาอยู่ที่วัดนี้”

            “หลวงพ่อมาอยู่วัดนี้ ปีอะไรครับ”

            “ปี ๒๕๐๐ ก่อนหน้านั้นอยู่ที่วัดพรหมนคร เรื่องของตาเหล็งฮ้วยเกิดเมื่อปี ๒๔๙๙ อาตมาจำได้ว่า วันนั้นเป็นวันโกน รุ่งขึ้นจะเป็นวันสารทไทย อาตมาก็ออกบิณฑบาตตามปกติ อาตมาออกบิณฑบาตเวลาหกโมงเช้าทุกวัน ในวันเกิดเหตุพอออกประตูวัดมา ก็เห็นคนแขวนโตงเตงอยู่บนต้นแมงเม่า โยมรู้จักต้นแมงเม่าไหม ผลมันเล็ก ๆ เท่าไข่แมงดา กินอร่อย อมเปรี้ยวอมหวาน สมัยเด็ก ๆ อาตมาชอบกิน” ท่านถามคนฟัง

            “ไม่รู้จักครับ” บุรุษวัยหกสิบตอบ

            “เอาละ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ทางเชียงใหม่คงไม่มีต้นไม้ชนิดนี้ ถึงภาคกลางก็หายากแล้ว เพราะคนขยันตัดไม้ทำลายป่ากันเหลือเกิน ไม้หลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไปเพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ อีกหน่อยเถอะ แผ่นดินจะกลายเป็นทะเลทราย ถ้าไม่ลดละความเห็นแก่ตัวลง รับรองได้เห็นทะเลทรายแน่” ท่านพระครูทำนายทายทัก

            “เรื่องอย่างนี้พูดยากครับหลวงพ่อ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นคนใหญ่คนโตทั้งนั้น เจ้าหน้าที่ก็เลยทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ เพราะมักจะไปขัดผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล ก็เลยต้องทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกเมีย คนทุกวันนี้ไม่ค่อยจะกลัวบาปกลัวกรรม ไม่มีหิริโอตัปปะกันเลย” บุรุษสูงวัยพูดพลางทอดถอนใจ

            “มันเป็นกรรมของเขาแหละโยม คนพวกนี้ถ้าจะเปรียบก็เหมือนคนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต่อเมื่อกฎแห่งกรรมทำหน้าที่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาก็จะรู้ว่ากงจักรก็คือกงจักร คนทำชั่วก็ต้องได้ชั่ววันยังค่ำ โยมคอยดูไปก็แล้วกัน เอาละ ทีนี้มาเล่าเรื่องตาเหล็งฮ้วยต่อ พออาตมาเห็นคนห้อยโตงเตงอยู่บนต้นแมงเม่า ก็เข้าไปดูใกล้ ๆ โอ้โฮ น่ากลัวเชียว ตาถลนโปนออกมา ลิ้นห้อยยาวตั้งคืบ”

            “แล้วหลวงพ่อกลัวหรือเปล่าครับ” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงตอบตามตรงว่า “กลัวซิ ทำไมจะไม่กลัว เพราะตอนนั้นยังไม่ได้วิชา แต่ต่อมาหลังจากได้วิชาพิสูจน์ผีแล้ว อาตมาก็เลิกกลัวผี เพราะไม่มีอะไรน่ากลัว คนบางคนยังน่ากลัวเสียยิ่งกว่าผี จริงไหม”

            “จริงครับ แล้วหลวงพ่อทำอย่างไรครับ วิ่งหนีหรือเปล่า”

            “ก็อยากวิ่งเหมือนกัน แต่เกรงใจผ้าเหลือง เป็นพระวิ่งไม่ได้นะโยม มันผิดวินัย อาตมาจึงไม่วิ่ง ได้แต่เดินเร็ว ๆ ไปบอกคนในตลาดให้มาช่วยกันเอาศพลง โยมจำไว้นะ วิธีเอาศพคนที่ผูกคอตายลงนั้น อย่าไปแก้เชือก ห้ามแก้เชือกเด็ดขาด แต่ให้ใช้มีดโต้ฟันจนเชือกขาดแล้วศพหล่นลงมาเอง อาตมาก็แนะวิธีให้เขา พอศพหล่นลงมา จึงได้รู้ว่าเป็นตา  เหล็งฮ้วย เลยไปตามเจ๊เซียมไน้ หลานสาวแกที่ขายของอยู่ในตลาดปากบางมาดู เจ๊แกก็เอาศพไปฝังตามประเพณี”

            “ทำไมแกถึงผูกคอตายครับ” อาจารย์ชิตถาม

         “ตอนนั้นยังไม่มีใครทราบสาเหตุ แต่ตอนที่แกมาเข้ายายเภา อาตมาถามถึงได้รู้ แกบอกอาตมาว่า แกน้อยใจที่หลานสาวคือเจ๊เซียมไน้ไม่ให้เงินซื้อฝิ่นสูบ เลยผูกคอตาย ซึ่งก็ตรงกับที่เจ๊เซียมไน้เล่าว่า ตาเหล็งฮ้วยเป็นพี่ชายของเตี่ยแก หนีมาจากเมืองจีนเมื่อสี่สิบปีก่อน มาอยู่กับน้องชายคือเตี่ยของแก พอเตี่ยแกตายก็เลยอยู่กับแก

         ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทย ตาเหล็งฮ้วยไม่คบหาสมาคมกับใคร แล้วก็พูดไทยไม่ได้ ตอนหลังเจ๊แกจับได้ว่าลุงติดฝิ่นและขโมยเงินแกไปซื้อฝิ่นสูบทุกวัน ก็เลยเก็บเงินไว้อย่างมิดชิด ไม่ให้ลุงขโมยได้ ตาเหล็งฮ้วยเมื่อขโมยไม่ได้ก็เปลี่ยนมาขอแทน เจ๊แกก็ไม่ให้ พออดฝิ่นมาก ๆ ตาแป๊ะคงจะกลุ้มใจ ก็เลยผูกคอตาย”

         “แสดงว่า แกเจตนาฆ่าตัวตายใช่ไหมครับ แบบนี้ก็ต้องตกนรกซีครับ” คนฟังออกความเห็น

         “ถูกแล้วโยม ตาเหล็งฮ้วยไปตกนรก ที่อาตมาทราบเพราะแกเป็นคนบอกตอนที่มาเข้ายายเภา รายนี้ผีจริงมาเข้า จะเรียกว่าผีนรกก็ได้ เพราะเขาหนีมาจากเมืองนรก”

         “หนีมาอย่างไรครับ แกบอกหรือเปล่า”

         “บอกละเอียดเลยแหละโยม พอแกตายครบปีก็มาเข้ายายเภา วันนั้นตรงกับวันโกน รุ่งขึ้นจะเป็นวันสารทซึ่งตรงกับวันที่แกผูกคอตายครบปีพอดี ประมาณตีหนึ่ง คนเขามาตามอาตมาไปช่วยไล่ผี บอกว่ายายเภาถูกผีเข้า อาตมาก็ไปกับเขา พอถึงบ้านก็เห็นยายเภานอนหลับตาส่งภาษาจีนล้งเล้งเลย เป็นเสียงผู้ชายแก่ ๆ ไม่ใช่เสียงยายเภา อาตมาฟังไม่รู้เรื่อง คนอื่น ๆ ก็ไม่รู้ เลยไปตามอาเฮียคนหนึ่งมาจากตลาด ให้มาช่วยเป็นล่าม อาตมาก็สัมภาษณ์ตาเหล็งฮ้วย โดยผ่านล่าม

         อาตมาถามว่าแกเป็นใคร มาจากไหน แกก็ตอบผ่านล่ามว่า แกชื่อตาแป๊ะเหล็งฮ้วย ที่ผูกคอตายใต้ต้นแมงเม่าเมื่อปีกลาย อาตมาถามถึงสาเหตุที่ผูกคอตาย แกก็ว่า น้อยใจหลานสาวที่ไม่ให้เงินไปซื้อฝิ่นสูบ ตอนนี้แกอยู่ในนรก อยู่กับฮ่วยเสี่ยเถ้าชื่อมด โยมรู้ไหมว่า นรกอยู่ที่ไหน” ท่านถามคนฟัง

         “ไม่ทราบครับ คนเฒ่าคนแก่เขาเคยบอกว่า นรกอยู่ใต้ดินใช่ไหมครับ”

         “นั่นสิ อาตมาก็เคยเชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน ถึงกับลงทุนขุดดู แต่ไม่ยักเจอนรก เจอแต่ไส้เดือน กิ้งกือ” คนฟังหัวเราะแล้วถามว่า

         “แล้วหลวงพ่อถามตาแป๊ะหรือเปล่าครับ ว่านรกอยู่ตรงไหน”

         “ถามสิ แกตอบว่ายังไงรู้ไหม”

         “ไม่ทราบครับ”

         “แกตอบว่า ก็อยู่ตรงที่ที่แกผูกคอตายนั่นแหละ แกยังเห็นอาตมาเดินไปบิณฑบาตทุกวัน แกว่า แกทักอาตมา แต่อาตมาไม่พูดกับแก ก็อาตมาไม่รู้นี่ว่าแกทัก ถ้ารู้ก็ต้องคุยกันแล้วจริงไหม” ท่านถาม

         “คงจริงมังครับ” บุรุษสูงวัยตอบ

         “อาตมาก็เลยถามอีกว่า นรกเป็นยังไง นรกมีจริงหรือ แกก็ว่ามีจริง แกกับฮ่วยเสี่ยเถ้าที่ชื่อมด ถูกเขาทำโทษทุกวัน เขาเฆี่ยนจนแขนขาขาด พอขาดแล้วมันก็มาต่อกันใหม่อีก เป็นอย่างนี้ทุกวัน ๆ อันนี้ภายหลังอาตมาได้ตรวจสอบกับคัมภีร์พระไตรปิฎก ปรากฏว่ามีข้อความคล้าย ๆ กัน อย่างเช่น ในเล่มที่ ๑๔ ถ้าอาตมาจำไม่ผิดนะ ในเล่มที่ ๑๔ ที่อธิบายสภาพของมหานรกแล้วก็จะสรุปลงท้ายว่า “สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้น” อันนี้เหมือนกับที่ตาแป๊ะเหล็งฮ้วยเล่าว่า เขาเฆี่ยนจนแขนขาดขาขาด แล้วมันก็มาต่อกันใหม่ คงจะเป็นทำนองเดียวกันนี้ โยมเห็นด้วยไหม”

         “เห็นด้วยครับ แล้วหลวงพ่อถามแกหรือเปล่าครับว่ามาเข้ายายเภาได้ยังไง”

         “ถามซิ แกว่าหนีเขามา วันโกนวันพระเขาหยุดลงโทษทัณฑ์เพื่อให้พวกสัตว์นรกไหว้พระสวดมนต์ และเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันนี้ก็มาตรงกับที่ยายสะอิ้งเล่าในปีถัดมา หลังจากที่อาตมาย้ายมาอยู่วัดนี้แล้ว มันก็แปลกนะ หรือโยมว่ายังไง” ประโยคหลังเป็นคำถามเช่นเคย

         “ครับ ผมก็ว่าแปลก แปลกแต่จริง ผมเชื่อครับว่าเป็นเรื่องจริง บางคนอาจจะไม่เชื่อ แต่ผมเชื่อ”

         “รู้สึกว่า โยมจะเชื่อง่ายจริงนะ ระวังเถอะ คนที่เชื่ออะไรง่าย ๆ มักจะถูกหลอก” ท่านเย้า

         “หลวงพ่อไม่เชื่อหรือครับ” เขาย้อนถาม

         “ตอนแรกก็ยังไม่เชื่อ เพราะอาตมาเป็นคนเชื่ออะไรยาก ต้องพิสูจน์ให้เห็นดำเห็นแดงกันเสียก่อนถึงค่อยเชื่อ”

         “แล้วที่แกบอกว่า อยู่กับฮ่วยเสี่ยเถ้า ที่ชื่อมดนั้น ใครครับ”

         “อาตมาถามอาเฮียที่เป็นล่ามดู เขาบอกฮ่วยเสี่ยเถ้าแปลว่าสมภาร ตาเหล็งฮ้วยบอก อยู่กับสมภารชื่อมด เรื่องนี้อาตมาไม่รู้มาก่อน ก็ได้ไปสืบถามคนเฒ่าคนแก่ดู ก็ได้ความอย่างเดียวกัน แสดงว่าเรื่องนี้เชื่อถือได้ คนแรกที่ถามก็คือ ยายของอาตมาเอง ยายเล่าว่า สมภารมดตายไปเมื่อห้าสิบปีก่อน ตอนนั้นอาตมายังไม่เกิด ท่านเป็นสมภารอยู่วัดพรหมนคร ที่ตายเพราะผูกคอตาย แบบเดียวกับตาเหล็งฮ้วย อาตมาก็ได้ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ทำกรรมอย่างเดียวกัน ก็ต้องไปเกิดด้วยกัน สมภารมดกับตาเหล็งฮ้วยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ได้ผูกคอตายเหมือนกัน เลยไปได้รู้จักกันในนรก มันก็แปลกดีนะ โยมนะ”

         “ครับ แปลกมากทีเดียว ถ้าอย่างนั้น พวกที่ร่วมวงกันดื่มเหล้า เมาเช้าเมาเย็นด้วยกัน พอตายก็คงไปอยู่ในกระทะทองแดงใบเดียวกันใช่ไหมครับ” บุรุษสูงอายุถาม

         “มันก็คงจะเป็นอย่างนั้นมั้ง อาตมาก็ยังไม่เคยดื่มเหล้าสักที ตั้งแต่บวชมานี่ ยังไม่เคยดื่มเลยสักหยดเดียว” แล้วท่านก็หัวเราะหึหึ คนฟังหัวเราะตามแล้วถามว่า

         “ทำไมสมภารมดจึงผูกคอตายครับ”

         “ยายเล่าว่า ท่านกลุ้มใจ แก้ปัญหาไม่ได้ เลยผูกคอตาย คือญาติโยมเขาบริจาคเงิน เพื่อสมทบทุนสร้างโบสถ์ เสร็จแล้วพวกกรรมการเอาเงินไปใช้หมด พอญาติโยมเขามาทวงกับท่านว่าเมื่อไรจะสร้างโบสถ์เสียที ท่านหาทางออกไม่ได้ ในที่สุดเลยตัดสินใจผูกคอตาย”

         “ไม่น่าเลยนะครับ อุตส่าห์บวชมานาน กระทั่งได้เป็นสมภาร พอตายกลับไปตกนรก น่าอนาถใจเหลือเกิน” เงียบกันไปพักหนึ่ง คนเป็นอาจารย์จึงถามขึ้นว่า

         “แล้วหลวงพ่อใช้วิธีไหนไล่ผีตาเหล็งฮ้วยครับ ปรุงยาให้กินแบบยายเช้าหรือเปล่า”

         “ทำอย่างนั้นไม่ได้ซิ ผีจริงกับผีปลอม จะใช้วิธีเดียวกันได้ยังไง อาตมาก็ถามแกว่า ที่มาเข้ายายเภานี่ต้องการอะไร แกก็ว่าจะมาบอกอาตมาให้ช่วยไปบอกหลานสาวแกว่า ไม่ต้องทำบุญกรวดน้ำไปให้ เพราะแกไม่ได้รับ ถ้าจะให้แกได้รับต้องเจริญกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ อาตมาก็รับปากว่าจะบอกให้ แกก็ขอบอกขอบใจอาตมา แล้วบอกจะต้องรีบกลับแล้ว ประเดี๋ยวเขารู้ว่าหนีมา จะถูกทำโทษ พอแกล่ำลาเสร็จ ยายเภาก็แน่นิ่งไป ครู่หนึ่งก็ลืมตา พอเห็นอาตมาก็รีบลุกขึ้นนั่ง ถามว่า หลวงพ่อมายังไงดึก ๆ ดื่น ๆ อาตมาบอกว่ามาไล่ผีให้แก แกก็ไม่เชื่อหาว่าอาตมาล้อเล่น อาตมาถามแกต่อหน้าคนอื่น ๆ ว่า

         “โยมเภา เจี๊ยะปึ้งแปลว่าอะไร” แกบอก “ไม่ทราบเจ้าค่ะ” ก็สรุปความได้ว่า ผีจริงนั้นไม่ต้องไล่ เขามาธุระพอเสร็จธระเขาก็ออกเอง

         พอรุ่งเช้า อาตมาก็ไปหาเจ๊เซียมไน้บอก “เจ้ อาแปะลื้อมาเข้ายายเภา สั่งให้ลื้อเจริญกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้” เจ๊เซียมไน้แกตะคอกใส่อาตมาว่า “กรรมฐานกรรมโถนอะไร อั๊วะไม่สนใจหรอก เสียวเวลาทำมาหากิน” แหม พอแกพูดยังงี้ อาตมาเลยรีบกลับวัดเลย”

         “ตกลงตาเหล็งฮ้วยก็เลยไม่ได้รับส่วนกุศลจากหลานสาว น่าสงสารแกนะครับ

         “นั่นสิ อาตมาก็ได้ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งว่า บุญกุศลนั้น เราจะต้องสร้างของเราเอง อย่าไปหวังคอยว่า ลูกหลานจะส่งให้หรืออุทิศไปให้ตอนตาย คนเดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยเข้าวัด ไม่ค่อยคิดสร้างความดี แล้วจะเอาบุญกุศลที่ไหนไปอุทิศให้คนอื่น โยมว่าจริงหรือเปล่า”

            “จริงครับ ผมว่าตัวของตัวเองก็ยังจะเอาไม่รอด ประสาอะไรจะไปช่วยคนอื่น ผมไม่หวังรอรับส่วนบุญจากใครหรอกครับ ผมจะสร้างของผมเอง ที่จริงผมน่าจะขอบใจโรคภัยไข้เจ็บของผมนะครับ ถ้าผมไม่ป่วย ป่านนี้ก็คงไม่คิดเข้าวัด”

         “แต่การเข้าวัดก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาสร้างบุญสร้างกุศลกันหมดทุกคนหรอกนะโยม บางคนก็เข้าวัดมาทำธุรกิจกับพระ เช่น มาขายของ มาขอหวย พวกนี้มาวัดบ่อย แต่ไม่เคยเอาธรรมะกลับไปบ้าน ถึงคนที่อยู่กับวัดเองก็เถอะ ไม่งั้นยายสะอิ้งคงไม่บอกอาตมาว่า พระก็ไปตกนรก” ท่านพระครูหยิบยกเรื่องจริงขึ้นมาพูด

         “ครับ หรืออย่างสมภารมดที่หลวงพ่อเล่าก็เหมือนกัน พูดถึงเรื่องพระตกนรกนี่ ทำให้ผมนึกถึงมหาเสมียน องค์นี้ผมก็คิดว่าไม่พ้นอเวจีนรก พระที่เสพเมถุนนี่ต้องตกนรกอเวจี ใช่ไหมครับ”

         “ในพระวินัยบอกไว้อย่างนั้น” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าวอ้างพระวินัย

         “ครับ ผมว่าป่านนี้มหาเสมียนก็คงชดใช้กรรมอยู่ในอเวจีนรก คงอีกนานกว่าจะได้ผุดได้เกิด คนชั่วนี่บางทีฟ้าดินก็ลงโทษนะครับหลวงพ่อ ลงโทษทันตาเห็นเลย มหาเสมียนที่ว่านี้ ท่านเสพเมถุนครับ พวกชาวบ้านเขารู้ เขาเห็น ก็ไปฟ้องเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสท่านก็บอกไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะท่านไม่เห็นกับตาว่าเขาผิดจริง แต่เวลาคนเขามานิมนต์ท่านไปดู ท่านก็ไม่ยอมไป อ้างว่า เดี๋ยวจะเป็นอาบัติ มหาเสมียนก็ได้ใจกำเริบเสิบสานเป็นการใหญ่ วันหนึ่งกำลังเสพเมถุนกับชีอยู่ในโบสถ์ ปรากฏว่าฟ้าผ่าลงมา ตายทั้งคู่เลยครับ พวกชาวบ้านพากันสมน้ำหน้า แบบนี้เขาเรียกว่า ฟ้าดินลงโทษ ใช่ไหมครับหลวงพ่อ”

         ก็คงเป็นยังงั้นมั้ง  ฟ้าดินคงรำคาญที่เจ้าอาวาสไม่มีน้ำยา พระลูกวัดทำผิดขนาดนั้น ยังไม่ดำเนินการให้เป็นเรื่องเป็นราว ปล่อยให้ชาวบ้านเขาตำหนิติฉินอยู่ได้ อาตมายอมไม่ได้นะ ถ้าเรื่องอย่างนี้เกิดในวัดอาตมา อาตมาต้องจัดการ ไม่งั้นก็ทำให้คนอื่นเขาเสื่อมศรัทธา”

         “นั่นสิครับ แล้วพระแบบนี้ก็มีมากขึ้นทุกวัน บางวัดเจ้าอาวาสเป็นเสียเอง นี่ผมไม่ได้ใส่ร้ายพระนะครับหลวงพ่อ ผมมีหลักฐาน มีพยานยืนยัน” อดีตอาจารย์พูดออกตัวไว้ก่อน

         “อาตมาก็ยังไม่ได้ว่าอะไรโยมนี่นา” ท่านพระครูพูดด้วยเสียงปกติ

         “ครับ ถ้าเผื่อหลวงพ่อจะว่า ผมก็มีพยานหลักฐานครับ” หลวงพ่ออย่าหาว่าผมเอาพระมานินทานะครับ”

         “อาตมาไม่ว่าหรอกน่า โยมสบายใจได้ ไม่ต้องกลัวว่าอาตมาจะเข้าข้างพระ ถึงเป็นพระก็ไม่เข้าข้างพระ อาตมาไม่เข้าข้างคนผิดอยู่แล้ว” เมื่อท่านพูดเช่นนี้ อาจารย์ชิตจึงเล่าต่ออีกว่า

         “เจ้าอาวาสองค์นี้ ท่านมีตำแหน่งด้วยนะครับ คือเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัด เห็นคนเขาเล่าว่า ตำแหน่งนี้ก็ซื้อมา อันนี้ผมไม่มั่นใจนะครับว่า จะจริงหรือเปล่า ไม่ทราบจริง ๆ ว่า สมณศักดิ์ก็มีการซื้อการขายกันด้วย หลวงพ่อทราบหรือเปล่าครับ” เขาถามท่านพระครู

         ไม่ทราบ อาตมาก็เคยได้ยินคนเขาพูดกันทำนองนี้ จะเท็จจริงยังไง อาตมาไม่ทราบ แล้วก็ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ  คงไม่ว่ากันนะ

         “ครับ แต่ผมภาวนาขออย่าให้เป็นความจริง ขอให้เรื่องคอรัปชั่น เรื่องกินสินบาทคาดสินบนมีอยู่เฉพาะในวงการคฤหัสถ์เถิด อย่าได้มีอยู่ในวงการสงฆ์เลย สาธุ ผมขอภาวนา” บุรุษวัยหกสิบยกมือขึ้นประนมขณะพูด “สาธุ”

         “อาตมาก็ขอภาวนาอย่างนั้นเหมือนกัน ภาวนาอย่าให้เกลือต้องจืดเลย เพราะถ้าเกลือจืด หนอนมันก็จะขึ้น เพราะถ้าเกลือจืด หนอนมันก็จะขึ้น ที่เขาเรียกว่า “เกลือเป็นหนอน” ไงล่ะ

         “นั่นสิครับ เพราะสงฆ์มีหน้าที่สอนคนให้ทำความดี แต่ถ้าคนสอนมาทำชั่วเสียเองแล้ว จะไปสอนใครเขาได้ สรุปเป็นว่า เจ้าอาวาสองค์ที่ผมเล่า ท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนะครับ แล้วก็คงได้มาโดยไม่ต้องซื้อ แม้ว่าท่านจะรวยมีเงินเป็นสิบ ๆ ล้าน ฝากธนาคารไว้ก็ตาม

         วันหนึ่งเด็กลูกศิษย์วัด แกไปปีนต้นมะพร้าว จะกินมะพร้าวอ่อน ขณะอยู่บนยอดมะพร้าว ก็มองเข้าไปในกุฏิท่าน ก็เห็นเข้า กลางวันแสก ๆ เสียด้วย แกก็ไปบอกพวกกรรมการวัด พวกกรรมการก็เชื่อเพราะรู้มานานแล้ว แต่เขาก็ไม่กล้าว่าอะไร เพราะเห็นว่าท่านเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัด ก็พูดเป็นนัย ๆ ว่าพวกเขารู้ท่านก็กลุ้มใจ หน้าดำ หมองคล้ำ ไม่มีสง่าราศี เวลาเขานิมนต์ไปงานต่าง ๆ ท่านก็นั่งหน้าเศร้าไม่กล้าสบตากับใคร

         ต่อจากนั้นอีกไม่นาน ท่านก็ถูกปล้นแล้วก็ถูกคนร้ายฆ่าตาย หลวงพ่อคงเคยได้ข่าวนะครับ เพราะเรื่องลงหนังสือพิมพ์ด้วย พอท่านถูกฆ่า พวกกรรมการไปค้นกุฏิท่าน พบจดหมายรักเป็นสิบ ๆ ฉบับ บางฉบับก็เขียนพรรณนาถึงความรัก ยังกับนิยายน้ำเน่า ผมก็เป็นกรรมการวัดด้วย อ่านแล้วต้องยอมรับว่า พวกสีกาเหล่านั้นเขียนจดหมายได้เก่งจริง ๆ แล้วก็ยังทราบอีกว่า ท่านมีเงินส่วนตัวฝากธนาคารไว้เกือบยี่สิบล้าน น่าเสียดายที่เงินทองเหล่านั้นช่วยท่านไม่ได้เลย ผมเห็นแล้วก็ได้แต่ปลงสังเวช” บุรุษสูงอายุพูดอย่างสลดหดหู่ใจ ท่านเจ้าของกุฏิจึงปลอบเขาว่า

         “อย่าคิดอะไรมากเลยโยม ขอให้ทำใจเถอะ ในอนาคตโยมจะยิ่งเห็นอะไรที่เลวร้ายมากกว่านี้ คนชั่วจะครองเมืองนะ ต่อไปเงินจะกลายเป็นพระเจ้า เหล็กที่ว่าแข็งแกร่งปานใด ก็จะถูกเงินง้างให้อ่อนลงได้ เงินซื้อได้ทุกอย่าง อย่างเดียวที่ซื้อไม่ได้คือ กฎแห่งกรรม ถึงอย่างไรเงินก็ฝืนกฎแห่งกรรมไม่ได้”

         “ครับ ก็ยังดีที่กรรมไม่คอรัปชั่น หลวงพ่อครับ สงสัยยุคนี้คงจะเป็น ยุคทองของคนชั่วนะครับ” อาจารย์ชิตพูดพลางทอดถอนใจ...

           

มีต่อ........๖๐

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 26, 2007, 07:29:13 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00060
๖๐...

          เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ หลังจากปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลาสองชั่วโมงแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ก็แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้สรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวร ก่อนที่ท่านจำกำหนด “ลืมตาหนอ” ก็มีเสียงก้องดังอยู่ในโสตประสาท “วันนี้ใช้หนี้นกกระยาง วันนี้ใช้หนี้นกกระยาง” ฉับพลันท่านก็ระลึกถึงกรรมที่ได้ทำไว้กับเจ้านกตัวนั้น จึงตอบในใจว่า “รู้แล้ว เอาเถอะ เราขอชดใช้บาปที่เคยทำ กรรมที่เคยก่อ จะได้ไม่ต้องมีหนี้สินติดตัวไปในภพหน้า” แล้วท่านจึงกำหนดลืมตา เหลือเวลาอีกสิบห้านาทีสำหรับการเตรียมตัว พันโทวิชญ์จะมารับท่านไปในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งนางสาวบงกชรัตน์ เป็นผู้นิมนต์ไว้

          เวลาหกโมงสิบห้านาที นายขุนทองก็ขึ้นมารายงาน

          “หลวงลุงฮะ ผู้พันมาแล้วฮะ” ท่านเจ้าของกุฏิรับทราบ และชมว่า

          “มาแล้วหรือ ตรงเวลาดีจริง” นายสมชายถือย่ามเดินลงมาก่อน เขาดีใจที่วันนี้ไม่ต้องทำหน้าที่ขับรถ เพราะท่านพระครูบอกว่า ผู้พันรับอาสาขับรถมารับและมาส่ง ศิษย์วัดลงไปแล้ว ท่านพระครูจึงกำหนด “ยืนหนอ” พร้อมกับลุกขึ้นยืน เมื่อเดินไปยังบันไดก็กำหนด “เดินหนอ เดินหนอ” และเมื่อก้าวลงบันได ท่านก็กำหนด “ลงหนอ”

          อนิจจา..แม้จะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต แต่ในเมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมมาให้ผล ก็เกิดเหตุขึ้นจนได้ ท่านพลัดตกลงมานั่งพับเพียบแต้อยู่บนแท่นพักบันได รู้สึกปวดแปลบที่ขาข้างขวา และท่านก็รู้ว่ามัน “หัก” เรียบร้อยไปแล้ เพราะกรรมที่เคยหักขานก!

            เสียงเหมือนของหนักตกลงมา ทำให้นายสมชายเปิดประตูเข้าไปดู เห็นท่านเจ้าของกุฏินั่งพับเพียบอยู่บนแท่นพัก ชายหนุ่มก็พอจะเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้น

          “หลวงพ่อตกบันไดหรือครับ” ถามอย่างตกใจ

          “เจ้ากรรมนายเวรเขามาทวง” ท่านพระครูตอบ พลางกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” อยู่ในใจ

          “แล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ” ถามพลางวิ่งเข้าไปประคอง

          “ไม่เป็นอะไรมากหรอก แค่ขาหัก” ตอบหน้าตาเฉย

          “ขาหัก” นายสมชายพูดเสียงดัง เมื่อได้ยินคำตอบ เขารีบเปิดประตูออกมารายงานพันโทวิชญ์

          “ผู้พันครับ หลวงพ่อตกบันไดขาหัก” พันโทหนุ่มใหญ่รีบเข้ามาช่วยกันกับนายสมชาย ประคองท่านออกมานั่งยังอาสนะ อาจารย์ชิตต้องพักการเดินจงกรม แล้วเข้ามานั่งใกล้ ๆ ด้วยความเป็นห่วง

          “ผมจะนำท่านส่งโรงพยาบาลนะครับ” พันโทวิชญ์พูด ใจนั้นนึกกังวลว่า คงจะไปไม่ทันฤกษ์อย่างแน่นอน ท่านพระครูรู้ใจจึงว่า

          “ไม่ต้องหรอกผู้พัน ยังไง ๆ อาตมาก็ต้องไปให้ทันฤกษ์เขา ขอพักห้านาทีเท่านั้น” อาจารย์ชิตแย้งขึ้นว่า

          “แต่หลวงพ่อขาหักนะครับ จะทนปวดไหวหรือครับ”

          “ไหวหรือไม่ไหว อาตมาก็ต้องทน เพราะอาตมากำลังใช้หนี้กรรม โยมเห็นแล้วใช่ไหมว่า ทุกคนก็ต้องมีกรรมด้วยกันทั้งนั้น”

          “ถ้าอย่างนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผมจะนำหลวงพ่อส่งโรงพยาบาลนะครับ” นายทหารพูดอย่างโล่งอก

          “ไม่ต้อง ผู้พันไม่ต้อง อาตมาขอขอบใจในความปรารถนาดีของผู้พัน อาตมาตั้งใจไว้แล้วว่า จะชดใช้กรรม เดือนเดียวก็หายเป็นปกติ” พูดจบ ท่านก็หลับตา สำรวมจิตให้ตั้งมั่นแล้วจึงร่าย “คาถาพระโมคคัลลาน์ประสานกระดูก” รักษาขาข้างที่หัก เสร็จแล้วจึงลืมตา บอกนายสมชายและนายทหารผู้นั้นว่า

          “เรียบร้อยแล้ว ไปกันหรือยัง” คนทั้งสองเข้ามาจะประคองท่านให้ลุกขึ้น หากท่านห้ามไว้

          “ไม่ต้อง อาตมาลุกเองได้” แล้วท่านค่อย ๆ ลุกขึ้น เมื่อเท้าแตะพื้น ความเจ็บปวดประดังขึ้นมาอีกเป็นร้อยเท่าทวีคูณ กระท่านท่านก็แข็งใจเดิน แต่ละย่างก้าว สร้างความเจ็บปวดแก่ท่านจนแทบน้ำตาร่วง จึงจำต้องกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” อยู่ตลอดเวลา

          “หลวงลุงแน่ใจหรือฮะว่าจะเดินไหว” นายขุนทองถามพลางเดินตามไปส่งที่รถ อาจารย์ชิตนั้นรู้สึกสงสารท่าน จนอยากจะร้องไห้ ท่านคงจะเจ็บปวดมากยิ่งกว่าเขาปวดแผลหลายเท่านัก

          “แน่ใจสิ ว่าแต่ว่าเอ็งช่วยดูแลโยมเขาให้ดี วันนี้ข้าไม่ได้ออกบิณฑบาต เพราะฉะนั้น เอ็งต้องไปเอาอาหารที่โรงครัว มาให้โยมเขาทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล อย่าเอาแต่นอนล่ะ” ท่านแสดงความห่วงใยคนป่วย ทั้งที่ตัวเองก็กำลังเผชิญกับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส เห็นท่านเดินเกือบเหมือนคนปกติ เพียงแต่ช้ากว่า พันโทหนุ่มใหญ่จึงคิดว่าขาของท่านคงไม่ถึงกับหัก อาจจะเพียงแค่กระดูกร้าว เพราะถ้าขาหัก ต้องเดินไม่ได้

          เมื่อถึงรถ นายสมชายเปิดประตูให้ท่านเข้าไปนั่งเบาะหลัง ส่วนตัวเขานั่งหน้าคู่กับคนขับ ออกรถแล้ว พันโทวิชญ์จึงออกความเห็นว่า

          “ผมว่า ขาของหลวงพ่อคงไม่ถึงกับหักนะครับ เพราะถ้าหักต้องเดินไม่ได้”

          “หักสิผู้พัน อาตมารู้ว่าหักแน่ เพราะเขามาเตือนก่อนแล้วว่า วันนี้ใช้หนี้นกกระยาง และอาตมาก็ได้ใช้หนี้แล้ว”

          “ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก ที่หลวงพ่อยังเดินได้ อัศจรรย์เหลือเกิน” เขาว่า และหากไม่มาเห็นกับตา ก็คงไม่เชื่อ

          “แต่มันก็ปวดจนน้ำตาแทบหยดเชียวละ นี่ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ต้องเดินไม่ได้ อาตมาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษนะ ผู้พันอย่าเพิ่งเข้าใจผิด” ท่านรีบออกตัวไว้ก่อน

          “เพราะคนธรรมดาในที่นี้ อาตมาหมายถึงคนที่ไม่เคยฝึกจิตน่ะ เพราะเขาจะไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดได้”

          “ต้องอาศัยพลังจิตใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว”

          “ตอนที่หลวงพ่อนั่งหลับตาทำปากขมุบขมิบนั่น หลวงพ่อท่องคาถาหรือเปล่าครับ” คนกำลังขับรถถามอีก

          “ใช่ อาตมาใช้คาถาของพระโมคคัลลานะ เป็นคาถาประสานกระดูก ตอนที่ท่านถูกพวกโจรทุบจนกระดูกแหลกเป็นเม็ดข้าวสารหัก ซึ่งที่จริงต้องปรินิพพาน เพราะคนที่ถูกทุบจนกระดูกแหลกอย่างนั้น ต้องตายจริงไหม”

          “ครับ นองจากผู้วิเศษเท่านั้น ถึงจะไม่ตาย”

          “นั่นสิ ท่านพระโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้วิเศษ เพราะนอกจาท่านจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังได้ อภิญญา ๖ อีกด้วย คือท่านเป็นพระอรหันต์ประเภท “ฉฬภิญญา” แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังหนีกรรมไม่พ้น ในอดีตชาติท่านเคยทุบตีพ่อแม่ เมื่อจะปรินิพพานก็ต้องชดใช้กรรมนั้น”

          “แต่ท่านก็มีคาถาประสานกระดูกนี่ครับ ถึงยังไงก็คงไม่รู้สึกว่ามันเจ็บปวด” นายสมชายออกความเห็นบ้าง

          “ถึงมีคาถาก็ปวด ฉันเองก็ปวดแทบขาดใจอยู่นี่ คาถาไม่ได้ช่วยให้หายปวดนะ เพียงแต่ช่วยให้กระดูกมันมาประสานกันพอที่จะดำรงอัตภาพอยู่ได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิม ท่านถึงเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขออนุญาตปรินิพพาน”

          “แปลว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ท่านพระโมคคัลลานะก็ปรินิพพานไม่ได้ใช่ไหมครับ” ศิษย์วัดถามอีก

          “ต้องเป็นอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต เพราะทรงทราบว่าอัครสาวกทั้งสอง จักต้องปรินิพพานก่อนพระองค์ หลังจากพระโมคคัลลานะปรินิพานได้ไม่นาน พระสารีบุตรก็ปรินิพพาน”

          “หลวงพ่อครับ พระโมคคัลลานะ ท่านเหาะเหินเดินอากาศได้จริง ๆ หรือครับ” คราวนี้คนถามเป็นนายทหาร

          “โยมไม่เชื่ออย่างนั้นหรือ” ท่านย้อนถาม

          “ก็เชื่อเหมือนกันครับ แต่ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะมันขัดกับหลักการทางวิทยาศาสตร์

          “ถ้าผู้พันอยากจะเชื่ออย่างมั่นใจก็ต้องทิ้งวิทยาศาสตร์ แล้วก็หมั่นเจริญกรรมฐาน เอาละ อาตมาจะไม่พูดอะไรมาก แต่จะขอทำนายไว้ว่า ในอนาคตพวกฝรั่งเขาจะเชื่อเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น พวกเขาจะหันมานับถือพระพุทธศาสนากันอย่างจริงจัง และพระพุทธศาสนาก็จะไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศตะวันตก”

            “หลวงพ่อครับ ผมอยากได้คาถาที่หลวงพ่อพูดถึงเมื่อกี้นี้” นายสมชายหันมาบอกเสียงอ้อมแอ้ม คิดว่าอย่างไรเสีย ท่านพระครูก็คงไม่ว่าต่อหน้าแขก

          “เธอจะเอาไปทำอะไร คาถานั้นจะศักดิ์สิทธิ์ก็เฉพาะคนที่ฝึกสมาธิเท่านั้น คนที่ไม่เคยฝึกจิต ถึงได้ไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าเธออยากได้จริง ๆ ก็ต้องหมั่นเจริญกรรมฐาน จิตถึงขั้นเมื่อไหร่แล้วจะให้”

          “ถ้าอย่างนั้นผมไม่เอาก็ได้ครับ เพราะผมคงไม่มีเวลาปฏิบัติ อย่างที่หลวงพ่อว่า” ชายหนุ่มปฏิเสธอย่างนุ่มนวล

          “ชื่อคาถาอะไรนะครับ” คนกำลังขับรถถาม

          “คาถาพระโมคคัลลาน์ประสานกระดูก แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงจะมีคาถาอาคมขลังเพียงใด ก็หนีกฎแห่งกรรมไปไม่พ้น ก็พระโมคคัลลานะท่านเป็นถึงผู้วิเศษ มีฤทธิ์เดชเหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ยังต้องถูกกฎแห่งกรรมลงโทษจนต้องปรินิพพาน”

          “แล้วที่หลวงพ่อตกบันไดเพราะกรรมอะไรครับ” นายทหารถามทั้งที่แสนจะเกรงใจ ท่านพระครูจึงเล่าให้ฟังว่า

          “เพราะกรรมที่อาตมาเคยหักขานกกระยาง สมัยที่อาตมาอายุสิบสองสิบสาม อาตมาชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เกเรมาก หาความดีไม่ได้เลย วันหนึ่งก็ออกไปยิงนกในทุ่ง ใช้หนังสติ๊กยิง ยิงให้มันตายเล่น ๆ ยังงั้นแหละ ไม่ได้เอาไปกินไปอยู่อะไร ทีนี้เจ้านกกระยางตัวนั้น มันไม่ตาย แต่ปีกหักบินไม่ได้ แต่สัญชาตญาณแห่งการรักชีวิตทำให้มันวิ่งหนี อาตมาก็วิ่งตาม ตามจนเหนื่อยหอบแฮ่ก ๆ มันเองก็คงเหนื่อย ประกอบกับเจ็บที่ปีกด้วย พออาตมาหยุดหอบมันก็หยุดวิ่ง พออาตมาวิ่ง มันถึงจะวิ่ง ก็ตามจับกันอยู่นาน กระทั่งมันวิ่งไม่ไหว ด้วยความแค้น พอจับได้ อาตมาหักขามันทันที โทษฐานทำให้เหนื่อย อยากวิ่งเก่งนัก เลยหักขามันทั้งสองข้างเลย หักเขาแล้วอาตมาก็โยนทิ้ง แถมพูดกับมันว่า “เอาซี วิ่งหนีอีกซี เก่งจริงก็วิ่งไปเลย” โอ้โฮ ตอนนั้น อาตมาใจคอโหดเหี้ยมมาก ไม่นึกกลับบาปกลัวกรรม ทั้งที่ยายสอนจนปากเปียกปากแฉะ ที่ไม่กลัวเพราะไม่เชื่อว่า บาปกรรมจะมีจริง” ท่านระลึกนึกย้อนไปถึงอดีตขณะเล่า

          “แล้วตอนนี้หลวงพ่อเชื่อหรือยังครับ” นายสมชายถือโอกาสเย้า ท่านพระครูไม่ตอบ ด้วยไม่ต้องการจะปะทะคารมกับเขาต่อหน้าพันโทหนุ่มใหญ่

          เมื่อรถมาจอดหน้าบ้าน เจ้าภาพกุลีกุจอลงมาต้อนรับ โดยเฉพาะนางสาวบงกชรัตน์ ซึ่งเฝ้าชะเง้อชะแง้ด้วยใจจดจ่ออยู่กับนายทหารหนุ่มใหญ่ผู้นั้น ก่อนลงจากรถ ท่านพระครูพูดกับคนทั้งสองว่า “เรื่องอาตมาขาหัก ไม่ต้องบอกให้เจ้าภาพเข้ารู้นะ ประเดี๋ยวเขาจะเป็นกังวล”

          บิดาของนางสาวบงกชรัตน์ ทำหน้าที่เปิดประตูรถให้ท่านพระครู ส่วนนายสมชายกับพันโทวิชญ์ต่างก็เปิดประตูรถลงมาเอง คนเป็นทหารทำความเคารพ “ว่าที่พ่อตา” พลางหันไปมองคนรัก ชุดไทยสีครีมที่หล่อนสวมใส่กับกิริยานบไหว้ท่านพระครูอย่างอ่อนน้อม ทำให้หล่อนดูเป็นกุลสตรีเต็มตัว เขาชอบผู้หญิงที่แต่งตัวแบบไทย ๆ ชอบมาก แล้วก็ไม่อยากเห็นพวกหล่อนนุ่งยีนส์

          “นิมนต์ข้างในเลยครับ” เจ้าภาพเชื้อเชิญพลางเดินนำท่านเข้าไปข้างในซึ่งมี “พระอันดับ” แปดรูป และแขก   เหรื่อ นั่งอยู่เต็ม

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเดินพลางกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” ไปด้วย กระทั่งเข้าไปนั่งพับเพียบอยู่ตรงหัวแถว แม้จะรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวตรงขาข้างที่หัก แต่ท่านก็ใช้สติข่มเวทนา ด้วยการระลึกรู้อยู่ว่า กำลังเสวยผลของกรรมดำ!

          “คุณแม่ไปไหน” ท่านพระครูถามนางสาวบงกชรัตน์

          “กำลังดูแลเรื่องอาหารอยู่ในครัวค่ะ” หล่อนตอบ

          “ไปตามมานั่งฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ด้วยกันที่นี่ บอกหลวงพ่อให้ตาม” หญิงสาวจึงลุกออกไป ครู่หนึ่งก็เดินตามหลังมารดาเข้ามา สตรีวัยห้าสิบ กราบท่านพระครูสามครั้งแล้วว่า

          “ดิฉันต้องขอตัวค่ะหลวงพ่อ ต้องไปเตรียมอาหารถวายพระค่ะ”

          “ไปไม่ได้ อาตมาไม่อนุญาต เพราะอยากให้โยมได้บุญ โยมอยากได้บุญไหมเล่า” ท่านถาม

          “อยากค่ะหลวงพ่อ ที่ดิฉันทำบุญ นี่ก็เพราะอยากได้บุญค่ะ” มารดานางสาวบงกชรัตน์ตอบ

          “นั่นสิ เพราะฉะนั้น โยมจะต้องตั้งใจรับศีลรับพร ไม่ใช้ไปขลุกอยู่ในครัว เรื่องอาหารเป็นหน้าที่ของพวกแม่ครัวเขาจัดการกันเอง เอาละได้เวลาตามฤกษ์แล้ว ญาติโยมตั้งใจรับศีลและฟังพระเจริญพระพุทธมนต์กันต่อไป” ท่านพระครูบอกเจ้าภาพและบรรดาผู้ที่มาร่วมงาน

          พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่เสร็จสิ้นลงเมื่อเวลาประมาณเก้านาฬิกา พระสงฆ์ ๘ รูป ลาท่านพระครูกลับวัดซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านงาน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงยังไม่กลับ ท่านให้เหตุผลว่า

          “อาตมามาทีหลัง ก็ต้องกลับทีหลัง” หากเหตุผลที่แท้จริงนั้น ท่านต้องการให้คนเป็นทหารกับคนเป็นศิษย์ได้รับประทานข้าวปลาอาหารเสียก่อน โดยเฉพาะคนเป็นทหารนั้นคงจะยังไม่อยากกลับแน่

          บิดาของนางสาวบงกชรัตน์ รับหน้าที่เดินไปส่งพระสงฆ์ทั้งแปดรูป ขณะที่ภรรยาและบุตรสาวช่วยกันจัดอาหารและเครื่องดื่มมาบริการแขกที่ไปร่วมงาน ทุกคนต่างมีจิตใจผ่องใสเพราะ “อิ่มบุญ” ท่านพระครูเองก็มีจิตผ่องใสแม้กายจะทุกข์ทรมาน!

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงออกจากบ้านงาน เมื่อเวลาสิบนาฬิกาพอดิบพอดี พันโทวิชญ์ขับตรงเข้าตัวจังหวัดสิงห์บุรีเพื่อจะนำท่านไปโรงพยาบาล

          ทั้งที่นั่งหลับตา ท่านพระครูก็รู้ว่าไม่ใช่เส้นทางไปวัดป่ามะม่วง จึงถามว่า

          “ผู้พันจะพาอาตมาไปไหน”

          “ไปให้หมอเขาดูขาของหลวงพ่อหน่อยครับ”

          “ขอบใจ แต่อาตมาบอกแล้วว่าจะชดใช้กรรม อย่าให้อาตมาต้องเสียความตั้งใจเลยนะ โปรดเลี้ยวรถกลับเถอะ อาตมาขอร้อง” นายทหารหนุ่มใหญ่ จึงจำต้องทำตามความประสงค์ของท่าน

          “ไปให้หมอเขาดูหน่อยไม่ดีหรือครับหลวงพ่อ” นายสมชายว่า

          “ไม่ดีแน่ ก็ฉันบอกแล้วว่า มันเป็นโรคกรรม มดหมดที่ไหนก็ช่วยไม่ได้ นี่ยังดีนะที่หักข้างเดียว ที่จริงตัองหักทั้งสองข้างเหมือนอย่างที่ทำเขาไว้” ท่านหมายถึงเจ้านกกระยางตัวนั้น

          “เขาอาจจะเอาทีละข้างก็ได้ คราวนี้ข้างขวา คราวหน้าข้างซ้าย” นายสมชายพูดตามประสาคนพูดมากปากมอม

          “สมชาย รู้สึกว่าคุณพูดไม่ค่อยจะสวยนะ” นายทหารเตือนกราย ๆ ศิษย์วัดจึงจำต้องปิดปากเงียบ

          “หลวงพ่อยังรู้สึกปวดอยู่หรือเปล่าครับ” คนกำลังขับรถถาม

          “ปวดสิผู้พัน ปวดตลอดเวลาเชียวละ แต่ตอนนั่งปวดน้อยกว่าตอนเดิน ไม่เป็นไรหรอก ผู้พันไม่ต้องเป็นห่วง อีกเดือนเดียวก็จะหายเป็นปกติ โชคดีที่ไม่ได้รับนิมนต์ใครไว้ ก็ว่าจะถือโอกาสพักผ่อนและเขียนหนังสือให้เสร็จ”

          “หลวงพ่อทราบล่วงหน้าหรือเปล่าครับ ว่าต้องเป็นเช่นนี้”

          “ไม่ทราบหรอกผู้พัน เขาเพิ่มมาบอกเมื่อเช้าตอนหกโมง อาตมาหมายถึงเจ้ากรรมนายเวรน่ะ อีกสิบห้านาทีหลังจากนั้น อาตมาก็ตกบันได ผู้พันคิดดูก็แล้วกัน อาตมาขึ้นลงบันไดนี้ทุกวัน แล้วก็ทำอย่างนี้มาเกือบจะยี่สิบปีโดยไม่เคยตก เรียกว่า หลับตาเดินขึ้นเดินลงก็ยังได้”

          “หมายความว่า ถ้าไม่เป็นเพราะกรรมที่เคยหักขานก หลวงพ่อก็จะไม่พลัดตกลงมาใช่ไหมครับ”

          “ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะอาตมากำหนดสติอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ผู้พันเห็นหรือยังว่า กฎแห่งกรรมนั้นไม่เคยปรานีใคร แล้วก็ไม่เคยคอรัปชั่น”

            “ครับหลวงพ่อ แต่คนทุกวันนี้เขาไม่ค่อยเชื่อกันว่า กรรมนั้นมีจริง บ้านเมืองก็เลยเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง”

            “นั่นเพราะคนที่เชื่อ มักจะถูกคนอื่นหัวเราะเยาะว่าโง่เขลาเป็นเต่าล้านปี ไม่มีใครอยากเป็นคนโง่ จริงไหม” ท่านเจตนาทดสอบ “คุณธรรมประจำใจ” ของคนเป็นทหาร

            “แต่สำหรับผม ผมคิดว่า เป็นคนโง่แต่ได้ขึ้นสวรรค์ ก็ยังดีกว่าเป็นคนฉลาด แล้วตกนรกครับ” นายทหารตอบเสียงดังฟังชัด

          “โอ้โฮ ผู้พันตอบสมกับเป็นชายชาญทหารกล้าเลยเชียว อาตมาขออนุโมทนา” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงชมพลางกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” อยู่ในใจ..

 

มีต่อ........๖๑

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 26, 2007, 07:30:07 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00061
๖๑...

            ส่งท่านพระครูแล้ว พันโทวิชญ์ก็กลับไปทำงาน เพราะลามาครึ่งวัน

          ที่กุฏิ นายขุนทองกำลังนั่งคุยประจ๋อประแจ๋กับชายหญิงคู่หนึ่ง ครั้นเห็นหน้าชัดเจน จึงได้รู้ว่า คนคู่นั้นคือหลานชายและหลานสะใภ้ของท่านนั่นเอง

          เมื่อคนทั้งสองก้มลงกราบท่านเรียบร้อยแล้ว นายจ่อยก็เอ่ยทักขึ้นว่า “หลวงน้าสบายดีหรือครับ เห็นเจ้าขุนทองมันว่าหลวงน้าตกกระไดขาหัก จริงหรือเปล่าครับ”

          “เอ็งว่าจริงหรือเปล่าเล่า” ท่านย้อนถามคนเป็นหลาน

          “ไม่รู้ซีครับ ก็เห็นหลวงน้าเดินปกติดีอยู่” นายจ่อยตอบ

          “แต่ก็ปวดนะครับ หลวงพ่อท่านบอกผมว่า ท่านปวดเกือบตลอดเวลา แต่ที่พี่เห็นว่าปกติเพราะท่านใช้คาถา “พระโมคคัลลาน์ประสานกระดูก” นายสมชายบอกกล่าว หลังจากที่ได้ทักทายคนทั้งสองด้วยการ “ไหว้” แล้ว

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ แล้วหลวงน้าไม่ไปหาหมอหรือครับ”

          “ผู้พันจะพาไป แต่หลวงพ่อท่านไม่ยอม ท่านบอกว่า ต้องการจะชดใช้กรรม อีกเดือนเดียวก็จะหายเป็นปกติ” ศิษย์วัดตอบอีก นายจ่อยรู้สึกไม่พอในที่นายสมชายตอบคำถามแทนท่านพระครู เขาอุตส่าห์ลงท้ายด้วย “ครับ” ก็เพราะต้องการจะให้ท่านตอบ

          “คุณรู้ได้ยังไงว่า อีกเดือนเดียวจะหาย” คราวนี้เขาถามชายหนุ่มและไม่มี “ครับ” ลงท้าย

          “หลวงพ่อท่านบอก” คนตอบไม่ยอมลง “ครับ” เช่นกัน

          “อ้าว โยมเขาไปไหนเสียล่ะ ท่านเจ้าของกุฏิถามหาอาจารย์ชิต เมื่อไม่เห็นเขาอยู่ ณ ที่นั้น

          “ไปเดินจงกรมอยู่หน้าโบสถ์ฮ่ะ เขากระซิบบอกหนูว่ารู้สึกเกรงใจจมูกของพี่จ่อยกับพี่จุก” นายขุนทองเป็นคนตอบ

          “แล้วเอ็งจัดการให้เขากินข้าวกินปลาหรือยัง”

          “เรียบร้อยแล้วฮ่ะ พอเขาอิ่ม พี่จุกกับพี่จ่อยก็มาถึง เขาก็ไปหน้าโบสถ์”

          “ลมอะไรหอบเอ็งสองคนมาล่ะ แล้วนี่กินข้าวกินปลาแล้วหรือยัง” ท่านถามสองสามีภรรยา

          “ยังเลยจ้ะหลวงน้า ฉันก็รู้สึกหิวอยู่เหมือนกัน พี่จ่อย เราไปกินข้าวกันก่อนดีไหม” นางจุกชวนสามี ท่านพระครูจึงว่า

          “พากันไปกินให้อิ่มท้องเสียก่อน เรื่องอื่นไว้ค่อยคุยกันทีหลัง จะค้างไหมเล่า”

          “คงไม่ค้างหรอกหลวงน้า ผมจะเอารถมาให้หลวงน้าช่วยเจิม ผมออกรถใหม่แล้วครับ” คนเป็นหลานบอกอย่างภาคภูมิใจ

          “ยังงั้นหรือ ไปรวยอะไรมาล่ะ”

          “ผมไม่ได้รวยหรอกครับ เงินจุกเขา”

          “เอ็งถูกรางวัลที่หนึ่งหรือไงจุก” ท่านสัพยอกคนเป็นหลานสะใภ้ หากหล่อนกลับยอมรับหน้าตาเฉยว่า

          “จ้ะหลวงน้า เรื่องมันประหลาดมาก เดี๋ยวกินข้าวอิ่มแล้ว ฉันจะเล่าให้หลวงน้าฟัง ไปกันเถอะพี่จ่อย” คนทั้งสองลุกออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงถามนายขุนทองว่า

          “แล้วเอ็งล่ะ กินแล้วหรือยัง”

          “เรียบร้อยแล้วฮ่ะหลวงลุง ตอนหนูไปเอามาให้อาจารย์เขา หนูก็อัดใส่ท้องตัวเองให้เต็มเสียก่อน” หลานชายตอบ

          “การกินการอยู่ ใครไม่สู้พ่อ” นายสมชายเปรยขึ้น

          “การพายการถ่อ พ่อไม่สู้ใคร” นายขุนทองต่อให้ แล้วอรรถาธิบายว่า “พ่อ” ในที่นี้หมายถึงพี่นะ เพราะพี่เป็นผู้ชาย ถ้าพี่จะว่าหนู ต้องใช้คำว่า “แม่” ถึงจะถูก”

            “ขนาดนั้นเชียว” นายสมชายเย้า

          “ใช่สิ ว่าแต่ว่าพี่ไม่หิวเหรอ น่าจะไปกินพร้อมกับพี่จ่อยกะพี่จุกเขา”

          “ข้ายังอิ่มแปล้อยู่เลย อาหารบ้านงานเขาอร่อย ๆ ทั้งนั้น แล้วข้าก็หิวด้วย เลยว่าซะท้องกางไปเลย”

          “เอาละ เป็นอันว่าเอ็งสองคนอิ่มหมีพีมันกันดีแล้ว ทีนี้ฟังข้า ตั้งใจฟังให้ดีนะ”

            “ครับ”

          “ฮ่ะ” คนทั้งสองรับปาก ท่านพระครูจึงว่า

          “เอาละ ประเดี๋ยวข้าจะขึ้นข้างบน ถ้าสองคนนั่นมา ก็ให้ขึ้นไปคุยกับข้าข้างบน แล้วขุนทอง เอ็งไปตามโยมเขามาปฏิบัติข้างในนี้ ส่วนสมชาย เธอจัดการทำความสะอาดกุฏิชั้นบนให้เรียบร้อย จัดข้าวของเสียใหม่ ฉันคงจะอยู่แต่ข้างบนจนกว่าขาจะหายเป็นปกติ จะไม่ลงมาข้างล่าง ยกเว้นเวลาถ่ายหนักถ่ายเบา”

            “แล้วเวลาสรงน้ำล่ะครับ”

          “ฉันก็จะงด จะใช้เช็ดตัวแทน หรือไม่ก็สรงตอนลงมาถ่าย”

          “งั้นก็เหม็นแย่ซิฮะหลวงลุง ไม่อาบน้ำตั้งเดือน อยู่ได้ไง”

          “ก็ทน ๆ อยู่มันไปงั้นแหละ ทำยังไงได้ล่ะ ในเมื่อเกิดมาแล้ว หรือเอ็งจะให้ข้าทำยังไงก็ลองว่ามา” แม้จะปวดขา หากก็ยังมีแก่ใจยั่วเย้า

          “หนูก็ว่าทนอยู่ไปนั่นแหละดีแล้วดีกว่าฆ่าตัวตาย จริงไหมพี่” คนมากวัยกว่า จึงย้อนว่า

          “นี่ถ้าเป็นเอง คงฆ่าใช่ไหม ใช่ไหม”

          “เรื่องอะไร กว่าจะได้เกิดเป็นคนนั้นแสนยาก จริงไหมฮะหลวงลุง” ท่านพระครูจึงตัดสินอย่างรำคาญ ๆ ว่า

          “เอาเถอะ ๆ เลิกต่อล้อต่อเถียงกันได้แล้ว ฟังข้าพูดคนเดียวก็พอ เอ็งสองคนไม่ต้องพูด ห้ามพูดห้ามเถียง”

          “แล้วหลวงพ่อจะออกบิณฑบาตไหมครับ” เมื่อท่านไม่ให้เถียง นายสมชายจึงเปลี่ยนเป็นถาม

          “นี่สมชาย ถ้ามีเวลาก็ลองไปวัด ไอ. คิว. ดูเสียบ้าง รู้สึกว่า มันจะต่ำเกินพิกัดไปแล้วนะ”

          “ครับ ถ้าผมมีเวลาจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำครับ” ศิษย์วัดตอบหน้าตาเฉย ท่านพระครูมิรู้ว่าจะยอกย้อนประการใด จึงนิ่งเสีย

          “หลวงพ่อยังไม่ตอบคำถามของผมเลยครับ” ชายหนุ่มทวง

          “เอาละ เมื่ออยากรู้ ฉันก็จะตอบ แต่ถ้าคน ไอ. คิว. สูงหน่อย เขาจะรู้เอง แล้วก็จะไม่ถามอย่างที่เธอถามมานี่หรอก” ท่านถือโอกาสเหน็บแนมก่อนตอบว่า

          “ฉันจะไม่ออกบิณฑบาต เพราะแม้จะลงไปสรงน้ำ ฉันยังไม่ลง แล้วทำไมจะต้องไปเดินเป็นกิโล ๆ การทำเช่นนั้นเป็นการทรมานตัวเองมากเกินไป เข้าข่าย “อัตตกิลมถานุโยค” ที่พระพุทธองค์ทรงติเตียนว่าเป็นทางปฏิบัติที่สุดโต่ง ฉันเป็นศิษย์พระตถาคต จึงต้องดำเนินรอยตามพระพุทธองค์ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจแล้วครับ เป็นอันว่า ผมจะไปนำอาหารจากโรงครัวมาถวายหลวงพ่อทุกเช้า ส่วนเรื่องหนักเรื่องเบา ผมว่าหลวงพ่อไม่ต้องลงมาก็ได้ ผมจะเป็นคนเทกระโถนเอง นะครับ”

          “ขอบใจเธอมาก แต่ฉันคงจะไม่รบกวนเธอถึงขนาดนั้น เท่าที่มาคอยปรนนิบัติรับใช้ ก็ขอบใจเหลือเกินแล้ว”

          “ไม่เป็นไรครับ ถึงคราวผมบ้าง หลวงพ่อจะได้ช่วย หลวงพ่ออย่าลืมสัญญานะครับ ปีหน้าฟ้าใหม่ หลวงพ่อบอกว่าผมจะได้แต่งงาน” คำบอกกล่าวนั้นกินความไปถึง “ค่าสินสอด-ทองหมั้น” ที่ท่านพระครูจะช่วยอนุเคราะห์

          “ผมเห็นพี่จุกเขาถือถุงสีน้ำตาลมาด้วย สงสัยจะนำปัจจัยมาถวายหลวงพ่อ ยังไงก็อย่าลืมผมนะครับ” เขาเกริ่น

          “หนูด้วยฮ่ะหลวงลุง แล้วหนูก็เป็นญาติกะพี่จ่อยเขาด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะได้น้อยกว่าพี่สมชายเขา” คนทั้งสองต่างตั้งความหวัง

          “เอ็งจะเอาเงินไปทำอะไร” ท่านถามคนเป็นหลาน

          “ดัดผมแล้วก็ซื้อเสื้อ กระโปรง รองเท้าส้นสูง” นายขุนทองตอบด้วยใฝ่ฝันอยากได้มานาน

          “น้อย ๆ หน่อย ถ้าเอ็งจะเอาไปซื้อสิ่งเหล่านี้ ข้าไม่ให้เอ็งหรอก ที่ให้มาอยู่ด้วย ก็เพื่อจะให้เอ็งเป็นผู้ชายเต็มตัว” ท่านพระครูว่า

          “แต่หนูอยากเป็นผู้หญิงเต็มตัวมากกว่า” หลานชายทำกระเง้ากระงอด

          “เจ้าขุนทอง” ท่านพระครูเรียกชื่อหลาน ด้วยเสียงหนัก ๆ

          “ขา” หลานชายตัวดีขานรับเสียงใส

          “นี่ข้าขอร้องเถอะนะ ข้ากำลังปวดขา อย่าให้ต้องมาปวดหัวอีกเลย เธออีกคน” ท่านหันไปเล่นงานนายสมชาย

          “ร่วมมือกันทำให้ฉันปวดหัวดีนัก จะไปไหนก็ไปเถอะไป๊ ฉันไม่อยากเห็นหน้าพวกเธอ”

          “ก็หลวงพ่อให้ผมทำความสะอาดกุฏิชั้นบน แล้วผมจะไปไหนได้ล่ะครับ” นายสมชายยังยั่ว

          “หนูก็เหมือนกัน หลวงลุงให้คอยดูว่า ถ้าพี่สองคนเขามา ให้เขาขึ้นไปหาหลวงลุงข้างบน แล้วก็ให้ไปตามอาจารย์เขามาปฏิบัติข้างในนี้ แล้วหนูจะไปไหนได้ล่ะฮะ” ประโยคท้ายเขาเลียนแบบนายสมชาย

          “งั้นก็ทำหน้าที่กันไป หยุดพูดได้แล้ว ข้าชักจะเวียนหัวเต็มแก่แล้ว ข้าจะขึ้นข้างบนละ” แล้วท่านจึงค่อย ๆ ลุกจากอาสนะ รู้สึกปวดที่ขาข้างขวาเป็นกำลัง นายสมชายกับนายขุนทองจะช่วยพยุง ท่านก็ว่า “ไม่ต้อง ข้าไปเองได้” แล้วท่านก็เดินขึ้นชั้นบนอย่างเชื่องช้า ในใจนั้นกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” เกือบตลอดเวลา

          เรื่องที่ท่านพระครูตกบันไดขาหักแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว โดยนายขุนทองเป็นผู้กระจายข่าว พระสงฆ์องค์เณรตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาที่อาศัยอยู่ในวัดป่ามะม่วง ต่างพากันห่วงใยท่าน

          ครั้นทราบจากคนกระจายข่าวว่า ท่านยังคงปฏิบัติกิจนิมนต์ได้ พวกเขาก็โล่งใจและคอยหาโอกาสมากราบเยี่ยม เมื่อเห็นท่านกลับมา จึงพากันมาที่กุฏิ ด้วยความเป็นห่วงคนกระจ่ายข่าวจึงต้องขึ้นไปรายงานให้ท่านทราบ

          “ลงไปบอกเขาว่า ข้าขอบใจที่เป็นห่วง ข้าไม่เป็นอะไรมาก แล้วก็ขอโทษที่ไม่ได้ลงไปให้พบ ครั้นจะให้มาพบข้างบน ก็ไม่มีที่จะให้นั่ง ขอให้ทำหน้าที่ของตัวเองไป ใครมีปัญหาอะไร ก็ให้ไปปรึกษาพระมหาบุญหรือพระบัวเฮียวก็ได้” ท่านเจ้าของกุฏิสั่งการ

          “แล้วถ้าหลวงพี่สององค์นี้ท่านไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ล่ะฮะ”

          “ก็ให้เขารอถามข้า ถ้าไม่ด่วนมาก ก็บอกเขาว่าให้ข้าหายเสียก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องด่วน ข้าก็อนุญาตให้เขาขึ้นมาพบเป็นกรณีพิเศษ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจแล้วฮะ”

          “งั้นก็ลงไปบอกเขาได้แล้ว” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดจึงลงมาแจ้งแก่ภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ที่นั่งรออยู่เต็มกุฏิชั้นล่าง คนทั้งหมดรับทราบ และพากันกลับ ยกเว้นพระบัวเฮียวซึ่งลุกขึ้นไปจด ๆ จ้อง ๆ อยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก ครั้นเห็นคนอื่น ๆ ไปกันหมดแล้ว จึงบอกนายขุนทองว่า

          “อาตมามีเรื่องด่วน ช่วยไปบอกหลวงพ่อว่า อาตมาขอเข้าพบเป็นกรณีพิเศษ” นายขุนทองจึงต้องขึ้นไปรายงานอีกครั้ง

          “ถ้าอย่างนั้น ก็ลงไปบอกให้ขึ้นมาได้” ท่านพระครูกล่าวอนุญาตประเดี๋ยวหนึ่ง ภิกษุวัยย่างยี่สิบเจ็ดก็เดินเข่าเข้ามากราบท่านสามครั้ง แล้วนั่งในที่อันสมควร ประนมมือกล่าวว่า

          “พระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง กระผมพระบัวเฮียวขอกราบขอบพระคุณที่ท่านอนุญาตให้เข้าพบเป็นกรณีพิเศษขอรับ” แล้วจึงเอามือลง ท่านพระครูนึกขำ ทั้งรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นลดลงไปเกือบครึ่ง จึงถามยิ้ม ๆ ว่า

          “ไม่ได้เจอกันหลายวัน เธอพูดเก่งขึ้นเยอะ ไปเรียนมาจากใครล่ะ”

          “จากพระมหาบุญครึ่งหนึ่ง แล้วก็เรียนรู้ด้วยตนเองอีกครึ่งหนึ่งขอรับ” คนถูกชมยิ้มหน้าบานก่อนตอบ

          “ดีมาก แสดงว่าเธอเป็นคนชอบขวนขวายหาความรู้ ทั้งจากผู้อื่นและค้นคว้าด้วยตนเอง เรียกว่าดีทั้งขึ้นทั้งล่อง” ท่านพระครูชมอีก คราวนี้ภิกษุหนุ่มยิ้มแก้มแทบปริ เพราะปีติยินดีในคำชมนั้น

          “แต่ในด้านการปฏิบัติ รู้สึกว่าจะย่อหย่อนลงไปนะ มีอย่างที่ไหน พอฉันชม ก็ดีอกดีใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสจนลืมกำหนด “ดีใจหนอ” แสดงว่า “จิตยังหวั่นไหวในโลกธรรม” ชมอยู่หยก ๆ ท่านก็เปลี่ยนเป็นติเสียแล้ว พระบัวเฮียวหุบยิ้มลงทันใด พร้อมต่อว่าต่อขานพระอุปัชฌาย์

          “แหม หลวงพ่อ ผมเคยได้ยินคำพังเพยเขาว่า “ตบหัวแล้วลูบหลัง” แต่หลวงพ่อเล่นลูบหลังแล้วตบหัว จนผมตั้งตัวไม่ติด นึกแล้วเชียวว่าจะต้องมีอะไรผิดปกติ แล้วก็มีจริง ๆ” นายสมชายกำลังทำความสะอาดพื้น และจัดข้าวของอยู่ ได้ยินการสนทนามาตั้งแต่ต้น เลยอมยิ้มไปทำงานไป ชายหนุ่มนึกขำในใจ “ดูเอาเถอะ เราแซวหลวงพ่อ หลวงพ่อกลับไปแก้แค้นเอากับหลวงพี่ แล้วนี่หลวงพี่จะไปแก้แค้นใครต่อก็ไม่รู้” ชายหนุ่มเฝ้าพะวงสงสัย

          “แล้วตอนนี้ตั้งตัวติดหรือยัง จะต้องใช้เวลาซักกี่นาที กี่ชั่วโมง” พระอุปัชฌาย์ยั่วอีก ตั้งแต่ตู้ว่าพระบัวเฮียวเคยเป็นน้องชายของท่านในอดีตชาติ ความรู้สึกอยากยั่วเย้าก็มีมากขึ้น ภิกษุหนุ่มไม่ตอบ หากตั้งจิตกำหนด “ตั้งตัวหนอ ตั้งตัวหนอ” สักครู่ก็รายงานว่า

          “เอาละครับ ผมพร้อมแล้ว ขอกราบเรียนเชิญพระเดชพระคุณหลวงพ่อสอบอารมณ์ได้เลย” พระบัวเฮียวประชด ความจริงท่านมิได้มาเพื่อการนี้

          “เรื่องสอบอารมณ์พักไว้ก่อน แต่ฉันอยากรู้ว่า เธอมีธุระอยากพบฉันเรื่องอะไร” คำถามของพระอุปัชฌาย์ ทำให้พระบัวเฮียวนึกขึ้นได้ จึงว่า

          “แหม ผมมัวแต่พูดเรื่องอื่นเสียเพลิน เกือบลืมเรื่องสำคัญที่จะมาเรียนถาม คือผมอยากทราบว่า หลวงพ่อขาหักแล้วทำไมยังปฏิบัติกิจนิมนต์ได้ ผมเป็นห่วงมาก แล้วหลวงพ่อไปหาหมอหรือเปล่าครับ” ท่านพระครูจึงต้องเล่าเรื่องทั้งหมดให้ภิกษุหนุ่มฟังแล้วสรุปแบบยาว ๆ ว่า

            “กรรมเก่าต้องใช้หนี้ทั้งนั้น แต่กรรมใหม่อย่าไปสร้าง กรรมที่ฉันพูดถึงนี่ หมายเฉพาะอกุศลกรรมเท่านั้นนะ คนที่สร้างกรรมไว้แล้ว เมื่อสำนึกได้ก็ต้องยอมรับใช้ ยอมรับผิด กรรมเก่านั้นไม่มีอะไรที่จะแก้ได้ เพราะมันทำไปแล้ว ผ่านไปแล้ว หน้าที่ของเราคือต้องชดใช้ ต้องใช้กรรมนะ”

          “เราทำบุญเพื่อล้างบาปไม่ได้หรือครับ เช่นเราเคยทำบาปไว้ในอดีต ปัจจุบันเราก็ทำบุญลบล้าง” ภิกษุหนุ่มถาม

          “อะไรกันบัวเฮียว นี่เธอบวชมาตั้งหลายเดือนแล้วนะ ทำไมถึงถามอะไรเปิ่น ๆ ยังงี้ ฉันก็นึกว่าเธอก้าวหน้าไปถึงไหน ๆ แล้ว ที่แท้ก็ยังเหมือนเดิม”

          “เหมือนเดิมอย่างไรครับ” ผู้อ่อนวัยกว่าถามกลับ

          “ก็ไม่ก้าวหน้าน่ะซี ยังอยู่กับที่ตามเดิม”

          “แหม หลวงพ่อครับ การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลนั้น มันต้องตั้งหลักให้ดี ๆ ที่ผมไม่ก้าวหน้าเพราะยังไม่มั่นใจน่ะครับ ขอเวลาตั้งหลักอีกหน่อยเถอะครับ ผมให้สัญญาว่า จะไม่ทำให้หลวงพ่อต้องเสียชื่อในฐานะที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของผม”

          “ตกลง ฉันจะยอมเชื่อเธออีกสักครั้ง อีกครั้งเดียวเท่านั้นนะ”

          “ครับผม และเมื่อหลวงพ่อเชื่อผมแล้ว ก็โปรดตอบคำถามผมด้วยว่า เราทำบุญเพื่อล้างบาปได้หรือไม่”

          “ดูเหมือนฉันจะเคยพูดเรื่องนี้กับเธอไปแล้วนะ แต่เอาเถอะ ไม่เป็นไร ฉันจะอธิบายซ้ำอีกก็ได้ว่า เราทำบุญล้างบาปไม่ได้ นี่เป็นกฎตายตัวเลยนะ บุญก็ไปตามบุญ บาปก็ไปตามบาป เหมือนน้ำกับน้ำมัน ย่อมเข้ากันไม่ได้ฉะนั้น”

            “ถ้าอย่างนั้น ผมก็คงต้องชดใช้กรรมที่ฆ่าวัวฆ่าควาย ที่ผมมาปฏิบัติกรรมฐานนี่ ผมนึกว่าจะล้างบาปได้” พระภิกษุหนุ่มพูดเสียงเศร้า และรู้สึก “จิตตก” ขึ้นมาทันที

          “อย่าให้จิตตก ตั้งสติไว้ ดูฉันเป็นตัวอย่าง ฉันก็กำลังใช้กรรมอยู่นี่ไง ฉันเคยบอกเธอแล้วใช่ไหมว่า กรรมของฉันนั้นหนักกว่าของเธอหลายเท่านัก ของเธอน่ะไม่ถึงกับตาย แต่ของฉันตายหยังเขียดเลยแหละ” ท่านตั้งใจจะให้คนฟังรู้สึกขำ หากพระบัวเฮียวก็ขำไม่ออก ท่านพระครูจึงปลอบอีกว่า “ไม่ดีหรือ เธอใช้กรรมให้หมด ๆ ไปเสียในชาตินี้ ดีกว่าไปใช้ในนรกอเวจี ถ้าเธอปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด เธอจะไม่ต้องไปเกิดในอเวจีนรกอย่างแน่นอน ไฟนรกนั้นท่านว่าร้อนแรงกว่าไผในโลกมนุษย์หลายเท่านัก”

          “หลวงพ่อไปเห็นมาหรือครับ”

          “ฉันไม่ตอบดีกว่า เอาไว้ให้เธอรู้เอาเองจากการปฏิบัติ แต่ก็จะขอยกตัวอย่างให้ฟังนะ แล้วเธอไปเปรียบเทียบเอาเอง อยากฟังไหม”

          “อยากครับ” พระหนุ่มตอบ นายสมชายเองก็เงี่ยหูฟังด้วยความสนใจ ท่านเจ้าของกุฏิจึงหยิบยกเรื่องราวของพระเถระรูปหนึ่ง มาเล่าว่า

          “ในครั้งพุทธกาล พระโลมสนาคเถระ ท่านนั่งเจริญกรรมฐานอยู่ภายนอกที่จงกรม อากาศขณะนั้นร้อนอบอ้าวเพราะเป็นฤดูร้อน ท่านนั่งอยู่ ณ ที่ตรงนั้น จนเหงื่อไหลออกมาจากรักแร้ทั้งสองข้าง ก็ไม่ยอมลุกไปไหน พวกลูกศิษย์ได้มาอาราธนาให้ไปนั่งในที่ร่ม ซึ่งอากาศร้อนน้อยกว่า ท่านบอกลูกศิษย์ว่าที่ต้องนั่ง ณ ที่นั้น เพราะกลัวความร้อน แล้วนั่งพิจารณาอเวจีนรกอยู่ ท่านเคยตกนรกอเวจีมาแล้วหลายชาติ จึงเห็นว่า ความร้อนของแดดนั้นยังน้อยกว่าความร้อนของอเวจีนรก ซึ่งร้อนแรงกว่าหลายร้อยเท่า ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงไม่ลุกไปไหนและตั้งใจเจริญกรรมฐานต่อไป” พระบัวเฮียวฟังแล้วถึงกับขนลุก จนต้องกำหนด “ขนลุกหนอ” อยู่ชั่วครู่ แล้วจึงบอกพระอุปัชฌาย์ว่า

          “หลวงพ่อครับ ถ้าผมระลึกชาติได้ ผมคงรู้ว่าตัวเองเคยตกนรกอเวจีมาแล้วเช่นกัน เพราะแค่ได้ยินชื่อก็ขนลุกเสียแล้ว หลวงพ่อช่วยตรวจสอบได้ไหมครับว่า ผมตกนรกอเวจีมากี่ครั้งแล้ว”

          “เหลวไหลน่าบัวเฮียว เธอจะอยากรู้ไปทำไม อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และจะไม่คืนกลับมาอีก ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ฉะนั้นเธอไม่ต้องไปพะวงทั้งอดีตและอนาคต ให้มีสติตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันเป็นพอ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจแล้วครับ”

          “เข้าใจแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้นะ”

          “ครับผม” ภิกษุวัยย่างยี่สิบเจ็ดรับคำหนักแน่น

          อิ่มข้าวแล้ว นายจ่อยกับภรรยาก็กลับมาที่กุฏิ เห็นอาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่ จึงถามนายขุนทองด้วยเสียงที่ค่อนข้างเบาว่า “หลวงน้าจะลงมากี่โมง”

          “ไม่ลงหรอกพี่จ่อย ขาท่านหัก ขึ้น ๆ ลง ๆ จะทำให้หายช้า”

          “อ้าว ก็พี่บอกแล้วว่า จะเอารถมาเจิม ท่านน่าจะรอก่อน” นายจ่อยพูดอย่างผิดหวัง

          “ขอขึ้นไปข้างบนได้ไหม ขุนทองช่วยไปบอกท่านว่า พี่ขออนุญาตขึ้นไปพบข้างบน นะน้องนะ” นางจุกปะเหลาะญาติสามี

          “พี่จะเอาของในถุงนั่นไปถวายหลวงลุงหรือ” นายขุนทองถามด้วยคิดว่า สิ่งที่อยู่ในนั้นเป็นเงิน

          “ถูกแล้ว พี่ตั้งใจมาถวายท่านเทียวแหละ” ภรรยานายจ่อยตอบ

          “งั้นก็ขึ้นไปได้เลยพี่ ขึ้นไปเถอะหนูอนุญาต” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดพูดเอาบุญเอาคุณ ด้วยได้โอกาส เขามั่นใจว่า จะต้องได้ส่วนแบ่งไม่มากก็น้อย..

 

มีต่อ........๖๒

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 26, 2007, 07:31:54 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00062
๖๒...

          เห็นพระบัวเฮียวนั่งคุยอยู่กับท่านพระครู นายจ่อยให้ดีใจยิ่งนัก กราบท่านสามครั้งแล้ว ชายหนุ่มจึงว่า

          “ผมคิดถึงหลวงพี่เหลือเกิน นี่ก็ว่าเสร็จธุระแล้วจะแวะไปกราบเยี่ยม ดีใจจริง ๆ ที่ได้พบ”

          “โยมจ่อยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โยมจุกล่ะ สบายดีหรือ หายไปหลายเดือนเลยนะ” พระหนุ่มทักทายสองสามีภรรยา

          “หลวงพี่ดูอ้วนขึ้นนะจ๊ะ จวนสำเร็จหรือยังจ๊ะ”

          “สำเร็จอะไรล่ะโยม”

          “สำเร็จมรรคผลน่ะจ้ะ หลวงพี่จวนสำเร็จหรือยัง”

          “ยังหรอกโยม ยังอีกไกลเชียวแหละ นี่ก็ถูกหลวงพ่อท่านตำหนิว่า ปฏิบัติไม่ก้าวหน้า” ท่านชิงบอกเสียก่อน ก็ยังดีกว่าให้ท่านพระครูเป็นผู้บอก เพราะจะทำให้ท่านต้อง “เสียหน้า” มากกว่านี้

          “เธอจะน้อยอกน้อยใจไปใยนะบัวเฮียว ฉันติเพื่อก่อต่างหาก ฉันรู้ว่าเธอเป็นคนบ้ายอ ถ้าฉันชมเธอ เธอก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ดีแล้ว ก็เลยไม่ขวนขวายทำความเพียร จริงไหมล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิชี้แจง พระบัวเฮียวรู้สึกใจชื้นขึ้นเป็นกอง จึงถือโอกาสยั่วพระอุปัชฌาย์ว่า

          “ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าที่หลวงพ่อติผมเป็นเพียงอุบายเท่านั้นเองใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า หลวงพ่อเป็นบุคคลผู้มากด้วยอุบาย”

          “เธอจะว่าฉันมากเล่ห์เพทุบายใช่ไหมล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิรู้เท่าทัน

          “หามิได้ครับ ผมจะบังอาจว่าพระอุปัชฌาย์ยังงั้นได้ยังไง หลวงพ่อเห็นผมเป็นคนเนรคุณไปแล้วหรือครับ พระบัวเฮียวได้ชื่อว่า เนรคุณพระอุปัชฌายาจารย์หรือครับ”

          “นี่หลวงน้ากะหลวงพี่จะโต้คารมกันอีกนานไหมครับ ถ้านานผมจะได้ขออนุญาตหลับรอ” นายจ่อยขัดขึ้น เมื่อเห็นว่าภิกษุสองรูปต่างก็มีคุณสมบัติ “ช่างเจรจา” ไม่ย่อหย่อนกว่ากัน

            “พอหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อนหรือไง เอ็งนี่ไม่ไหวเลยนะ แบบนี้เขาเรียกว่าคนขี้เกียจ ใช่ไหมจุก” ท่านพระครูหันมา “เล่นงาน” ลูกชายของพี่สาว

          “พี่จ่อยเขาไม่ขี้เกียจหรอกจ้ะหลวงน้า เขาขยันทำมาหากิน ใคร ๆ ก็ออกปากชมกันทั้งนั้น” นางจุกแก้ต่างให้สามี

          “แสดงว่ามันเพิ่งจะขยันตอนมีเมีย สมัยที่อยู่กะข้า มันขี้เกียจยังกะอะไรดี” ท่านเจ้าของกุฏิไม่ยอมแพ้ เห็นหลานสะใภ้ไม่เข้าข้าง ท่านจึงถือโอกาสเล่าเรื่องในอดีตที่พาดพิงไปถึงหล่อนว่า

          “คิดถึงตอนนั้นแล้วข้ายังนึกขำไม่หาย สองคนน้าหลานเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน เพราะรังเกียจขี้มูกเอ็ง เอ็งทำให้ข้าต้องผิดวินัยข้อไม่เคารพบิณฑบาต”

          “ใช่ หลวงน้า เรื่องมันผ่านไปเป็นสิบปีแล้วยังจะขุดขึ้นมาเล่าอีก” นางจุกชักโมโหโกรธา พระบัวเฮียวได้โอกาสแก้แค้นจึงว่า

          “นั่นสิโยม หลวงพ่อเพิ่งสอนอาตมาอยู่หยก ๆ ว่าไม่ให้พะวงถึงอดีตและอนาคต ให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้น ยังไม่ทันไรหลวงพ่อลืมซะแล้ว

          “โอ้โฮ สนุกกันใหญ่ ช่วยกันตะลุมบอนฉันอยู่คนเดียว วันนี้วันอะไรนะ ฉันถึงได้ดวงตกขนาดนี้ ขาหักแล้วยังมาถูกคนเขารุมว่า” ท่านเจ้าของกุฏิโอดครวญ ใจจริงนั้นรู้สึกอบอุ่นที่คนใกล้ชิดทั้งในอดีตและปัจจุบันมาชุมนุมกันพร้อมหน้า

          “วันพฤหัสบดี ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนสี่ ปีขาลครับ” นายสมชายหันไปอ่านปฏิทินที่แขวนอยู่ข้างฝา ท่านเจ้าของกุฏิหันไปมองลูกศิษย์ แล้วค้อนงาม ๆ หนึ่งวง นายจ่อยโวยวายว่า

          “ต๊าย หลวงน้าค้อนก็เป็นด้วย นี่เพราะอยู่ใกล้เจ้าขุนทองใช่ไหมครับ” นายสมชายรีบสนับสนุนว่า

          “นั่นซีครับพี่จ่อย หลวงพ่อพูดเสมอ ๆ ว่า นายขุนทองมาอยู่รับใช้ใกล้ชิดท่าน จะได้หายเป็นกระเทย ไป ๆ มา ๆ หลวงพ่อกลับจะมาเอาเยี่ยงอย่างเจ้าขุนทองเสียแล้ว”

          “อะไร ๆ ใครเอาเยี่ยงอย่างใคร” นายขุนทองเข้ามาได้ยินพอดี เขาเลือกนั่งตรงหัวบันไดด้วยไม่มีที่จะนั่ง เพราะความคับแคบของห้อง

          “ดีจริง ๆ มากันพร้อมหน้าพร้อมตาดีจริง เอาเลย พากันเล่นงานข้าเสียให้สมแค้น” ท่านพระครูประชด

          “หลวงลุงกำลังถูกเล่นงานหรือฮะ”

          “แน่ละซี เอ็งจะช่วยข้าหรือเปล่าล่ะ” ท่านหาพวก

          “ช่วยซี้ ไม่ช่วยหลวงลุงแล้วหนูจะช่วยใครล่ะ” หลานชายว่า ครั้นมองไปที่ถุงกระดาษสีน้ำตาลซึ่งวางอยู่บนตักนางจุก จึงพูดใหม่ “หนูอยู่ฝ่ายพี่จุกดีกว่า เพราะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน พี่จุกอยู่ฝ่ายไหน หนูก็อยู่ฝ่ายนั้น”

          “อ้าว ไหงเปลี่ยนใจเร็วนักล่ะ ว่าแต่ว่าที่ขึ้นมานี่มีธุระอะไรกับข้าหรือเปล่า” ท่านพระครูถาม

          “ไม่มีหรอกฮ่ะ หนูนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในห้อง รู้สึกเซ็ง เลยลองขึ้นมาฟังดูซิว่าคุยเรื่องอะไรกันบ้าง และที่สำคัญคือ อยากจะรู้ว่าพี่จุกทำยังไงถึงได้ถูกรางวัลที่หนึ่ง”

          “โยมจุกถูกรางวัลที่หนึ่งหรือ” พระบัวเฮียวถาม

          “จ้ะหลวงพี่ เรื่องมันประหลาดมาก ฉันว่าจะมาเล่าให้หลวงน้าฟัง” นางจุกตอบ ท่านพระครูจึงว่า

          “งั้นเล่าได้เลย อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วนี่ หรือว่าจะไปตามโยมเขามาฟังอีกคน” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิต

          “อย่าเลยจ้ะหลวงน้า ตัวแกเหม็นยังไงก็ไม่รู้ เหมือนกลิ่นหนูตาย ฉันคงทนไม่ได้ ยิ่งห้องแคบ ๆ ยังงี้ ฉันคงเป็นลมเสียก่อนที่จะเล่าจบ” ภรรยานายจ่อยว่า

          “หลวงลุงค่อยเล่าให้เขาฟังทีหลังก็ได้นี่ฮะ” นายขุนทองตัดสิน เขาเองแม้จะชินกับกลิ่นนั้น แต่หากเลี่ยงได้ ก็อยากจะเลี่ยง

          “ตกลง เมื่อจะเอายังงั้นก็ตกลง เอาละ เอ็งเล่าไปเลยจุก”

          “เรื่องมันประหลาดมากจ๊ะหลวงน้า” นางจุกอารัมภบท

          “นี่เอ็งพูดยังงี้สามครั้งแล้วนะ” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “พูดยังไงจ๊ะ” นางจุกชักงง

          “ก็พูดว่า “เรื่องมันประหลาดมาก” น่ะซี

          “โธ่ หลวงน้า ก็มันประหลาดจริง ๆ นี่นา” หล่อนเถียง

          “งั้นก็เล่าไปเลย เล่าไปเสียก่อนที่ข้าจะเปลี่ยนใจ”

          “เปลี่ยนใจเรื่องอะไรหรือหลวงน้า”

          “ก็เปลี่ยนใจไม่ฟังเอ็งเล่าไงล่ะ” ท่านเล่นตัว

          “งั้นฉันก็เปลี่ยนใจไม่เล่า” หล่อนถือโอกาสเล่นตัวบ้าง นายขุนทองต้องคะยั้นคะยอว่า

          “เล่าเถอะฮ่ะพี่จุก หนูอยากฟัง ใครไม่อยากฟังก็เอามืออุดหูไว้” เขาประชดผู้เป็นลุง

          “อาตมาขอฟังด้วยคน” พระบัวเฮียว “เว้าซื่อ ๆ”

          “ผมด้วยครับ” นายสมชายพูดบ้าง

          “ข้าในฐานะเจ้าของห้อง ถึงจะไม่อยากฟังก็ต้องฟัง” ท่านเจ้าของกุฏิพูดเลี่ยงไปอีกทางหนึ่ง

          “ถ้างั้นเราลงไปเล่ากันข้างล่างดีไหม” นายจ่อยชวน

          “อย่าเลย ฉันเหม็นลุงคนนั้น” คนเป็นเมียว่า

          “พวกเอ็งเป็นอะไรกันไปแล้วนี่ พูดจาเลอะเลือนล่ามป้ามกันอยู่ได้ เอาละ ๆ จะเล่าก็เล่าไป อย่ามัวโอ้เอ้” ท่านพระครูตัดบทอย่างรำคาญ นางจุกจึงตั้งต้นเล่า

          “เรื่องมันประหลาดมากจ้ะหลวงน้า”

          “รู้แล้ว ๆ เอ็งพูดยังงี้มาสี่หนแล้ว” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “เอาอีกแล้วหลวงน้าขัดคอฉันอีกแล้ว เป็นยังงี้ทุกที แล้วก็มาหาว่า พวกฉันพูดจาเลอะเลือนล่ามป้าม” นางจุกต่อว่าและได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นทุกคน ยกเว้นพระบัวเฮียว ผู้ซึ่งเพิ่งจะรู้สึกสงสารพระอุปัชฌายาจารย์

          “เอาเถอะ ๆ ทีนี้ข้าไม่ขัดคอเอ็งแล้ว เล่าต่อไปซิว่ามันประหลาดยังไง”

          “เรื่องมันประหลาดมากจ้ะหลวงน้า” หล่อนพูดประโยคเดิมอีก คราวนี้คนฟังต่างพากันเห็นคล้อยตามท่านพระครู ว่าคนเล่าพูดจาซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่ารำคาญ แล้วก็น่าขัดคอจริง ๆ นั่นแหละ ครั้นไม่มีผู้ใดขัดคอ คนเล่าจึงพูดต่อ

          “เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ขณะที่ฉันนั่งเย็บเสื้อโหลส่งเขาอยู่ในร้านของฉัน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับร้านขายกาแฟ ฉันก็เห็นตัวเงินตัวทองคลานมาที่หน้าร้านกาแฟ...”

          “เป็นยังไง ตัวเงินตัวทองที่ว่าน่ะ” นายสมชายถาม นายจ่อยจึงอธิบายแทนคนเป็นเมียว่า

          “ตัวคล้าย ๆ กิ้งก่า แต่ใหญ่กว่าหลายสิบเท่า ดูเผิน ๆ คล้ายน้องจระเข้ จะเรียกว่าพี่กิ้งก่าหรือน้องจระเข้ก็ได้”

          “อ๋อ ตัวเหี้ย” นายขุนทองโพล่งออกมา นางจุกจึงว่า

          “ถูกแล้ว แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายฉันสอนไว้ว่า ให้เรียก “ตัวเงินตัวทอง” ทีนี้คนขายแกแฟนั่นก็ไล่ใหญ่ ตาผัวก็ไล่ ยายเมียก็ไล่เสียง “ไป๊ ไอ้ตัวเหี้ย ไปให้พ้น” ตัวเงินตัวทองเขาก็ไม่ไป แล้วยังคลานเข้าไปในร้าน เสียงเมียร้องว่า “ตายแล้ว ซวยตายเลยกู ตัวเหี้ยเข้ามาในร้าน” ส่วนผัวก็เอาน้ำร้อนในหม้อที่ใช้สำหรับชงกาแฟขาย ราดลงบนตัวเขา เขาคงร้อนเลยวิ่งหนีมาเข้าร้านฉัน ฉันกลัวก็กลัว เขามาชะเง้ออยู่ตัวหน้าฉัน ฉันก็ปลดสายสร้อยหนักสองสลึงโยนใส่เขา ปากก็ว่า “เงินไหลนองทองไหลมา” พร่ำอยู่อย่างนี้ ยกมือไหว้เขาด้วย เขาก็ยังไม่ไป ฉันก็มีเงินอยู่ห้าบาท เป็นแบงค์ ๔ ใบ เหรียญห้าสิบสตางค์ ๒ เหรียญ ฉันก็โยนใส่เขาและว่า “เงินไหลนอง ทองไหลมา” เขาก็ผงกหัวแล้วแลบลิ้นออกมา

          สักครู่ก็คลานไปที่หลังร้าน ฉันก็มองตาม ก่อนออกไป เขายังเอี้ยวตัวมาดูฉัน แลบลิ้นแผล็บ ๆ แล้วก็ไป สักพักนึงก็มียายซิ้มเอาล็อตเตอรี่มาขายให้ แกบอกเหลือใบเดียว ช่วยซื้อแกหน่อย ฉันก็บอกมีเงินอยู่แค่ ๕ บาท ถ้าจะช่วยซื้อได้เสี้ยวเดียว แกบอกเอาไว้ทั้งใบแล้วกัน แกก็ยัดเยียดให้ฉันจนได้ ฉันก็เลยต้องเป็นหนี้แกอีกห้าบาท ปกติฉันไม่เคยเล่นหวยนะหลวงน้า ไม่เคยซื้อแกเลย เพราะหลวงน้าเคยสอนว่ามันเป็นการพนัน เป็นสิ่งไม่ดี แต่วันนั้นยายซิ้มแกมายัดเยียด ฉันสงสารแกเลยซื้อไว้ โดยไม่ได้คิดไม่ได้หวังอะไร แล้วฉันก็ไม่รู้ด้วยว่าฉันถูก ยายซิ้มแกเป็นคนมาบอก พี่จ่อยเขาก็เลยเอไปซื้อรถโดยสารมาขับรับคน เขาเคยรับจ้างขับรถอยู่กับเถ้าแก่ ทีนี้เลยมีรถของเราเอง เรื่องมันประหลาดมาก ใช่ไหมจ๊ะหลวงน้า” หล่อนพูดประโยคเดิมอีก

          “เออ มันก็ประหลาดเหมือนกันแต่ไม่มาก เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมนั่นแหละ แล้วสองผัวเมียที่ขายกาแฟเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามด้วยต้องการตรวจสอบ “ทฤษฎี” ของท่าน

          “ก็แปลกอีกนั่นแหละหลวงน้า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ขายไม่ค่อยดี แถมทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน ในที่สุดก็เลิกกัน ผัวไปทาง เมียไปทาง” ภรรยานายจ่อยเล่า

          “นั่นไง ตรงกับทฤษฎีของข้าทุกประการเลย เห็นไหม นี่ กรรม สองผัวเมียได้รับกรรมทันตาเห็น เขาทำอกุศลกรรม ก็เลยต้องมีอันเป็นไป ทำครบสามเลย กาย วาจา ใจ กายก็คือเอาน้ำร้อนไปราดเขา วาจาก็ไปด่าเขา ใจก็โหดร้ายต่อเขา ส่วนเอ็งก็ครบสามเหมือนกัน แต่เป็นกุศลกรรม เอ็งก็เลยถูกล็อตเตอรี่ แต่ถ้าจะดูให้ลึกซึ้งลงไปกว่านั้น ข้าก็เห็นว่า เพราะเอ็งทำบุญมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เอ็งใส่บาตรทุกวัน ถึงจะขี้มูกย้อยลงไปในบาตร แต่ก็ชื่อว่าเอ็งได้ทำบุญ” ท่านพูดถึงอดีตหลานสะใภ้

          “เอาอีกแล้ว หลวงน้าเอาเรื่องขี้มูกฉันมาประจานอีกแล้ว เมื่อไหร่จะลืม ๆ เสียทีก็ไม่รู้” หล่อนบ่น

          “เถอะน่า พอข้าตายข้าก็ลืมเองแหละ” ท่านพระครูว่า

          “งั้นฉันคงถูกหลวงน้าประจานไปอีกหลายสิบปี เผลอ ๆ ฉันอาจจะตายก่อนก็ได้”

          “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ยังไง ๆ เอ็งก็ไม่มีวันที่จะตายก่อนข้า เอ็งเกิดทีหลังก็ต้องตายทีหลังสิ”

          “มันก็ไม่แน่เสมอไปหรอกหลวงน้า มีออกถมเถไปที่พ่อแม่ไปงานเผาศพลูก” หล่อนว่า ท่านพระครูเห็นสมควรแก่เวลาที่จะบอกความลับเรื่องการมรณภาพของท่านให้ผู้เป็นหลานทราบ จึงออกอุบายว่า

          “ขุนทอง เอ็งขึ้นมานานแล้ว ลงไปดูโยมเขาซิ เผื่อขาดเผื่อเหลืออะไรจะได้หามาให้เขา” นายขุนทองกราบสามครั้ง แล้วลุกออกไป หลานชายออกไปแล้ว ท่านจึงพูดกับนายจ่อยและภรรยาว่า

          “ข้ามีความลับจะบอกเอ็งสองคน แต่ยังไม่อยากให้เจ้าขุนทองมันรู้ เดี๋ยวก็จะไปบอกคนหมดวัด ยิ่งปากสว่างอยู่ด้วย”

          “หลวงน้ามีอะไรจะบอกผมกับจุกหรือครับ”

          “มีสิ ฟังให้ดีนะ เอ็งสองคนไม่ค่อยจะมาให้ข้าเห็นหน้าเห็นตา ยิ่งมีรถใหม่ ก็จะไม่มีเวลามา ข้อนั้นข้าไม่ว่าหรอก เพราะเอ็งต้องทำมาหากิน แต่จำไว้นะ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ให้มาหาข้าหน่อย”

            “มาตอนไหนครับ เช้าหรือบ่าย”

          “ถ้าอยากเห็นข้าตอนเป็นก็มาแต่เช้า แต่ถ้าอยากเห็นตอนตายแล้วจะมาตอนบ่ายก็ได้”

          “หมายความว่าอย่างไรจ๊ะหลวงน้า” นางจุกถาม

          “ก็หมายความว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ข้าจะได้รับอุบัติเหตุรถคว่ำคอหัก เวลาเที่ยงสี่สิบห้า”

          “จริงหรือครับ” นายจ่อยถาม

          “จริงหรือไม่จริง พอถึงวันนั้น เอ็งอย่าลืมมาก็แล้วกัน” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงตอบด้วยสีหน้าปกติ

          “แต่ผมว่าหลวงพ่อต้องไม่ตาย เอ๊ย ไม่มรณภาพครับ ผมมั่นใจว่า หลวงพ่อจะต้องไม่เป็นเช่นนั้น” พระบัวเฮียวขัดขึ้นด้วยความรู้สึกแสนรันทด แสนเสียดาย ผู้มีเมตตาธรรมสูงส่งเช่นนี้จะหาได้ที่ไหนอีก

          “มันเป็นกฎแห่งกรรมนะบัวเฮียว ใครเลยจะฝืนได้”

          “แต่ ผมไม่อยากให้หลวงพ่อมรณภาพนี่ครับ” พระหนุ่มแย้ง

          “จะอยากหรือไม่อยาก ฉันก็ต้องตาย เอาเถอะ แล้วคอยดูกันไปว่าจะจริงอย่างที่เขาเตือนมาหรือเปล่า”

          “เขาน่ะใครครับ” นายจ่อยถาม

          “เจ้ากรรมนายเวรน่ะซี เอาละ เลิกพูดเรื่องนี้กันได้แล้ว ขอให้เอ็งจำไว้อย่างเดียวว่าข้าจะต้องตายในวันนั้น” นางจุกร้องไห้กระซิก ๆ ข้างฝ่ายนายจ่อยก็ตาแดงก่ำ ท่านเจ้าของกุฏิจึงว่า

          “เอ็งสองคนไม่ต้องมาแสดงความโศกเศร้าล่วงหน้าไว้ก่อนหรอก อีกตั้งสี่ปีข้าถึงจะตาย”

          “หลวงน้าไม่ตายไม่ได้หรือจ๊ะ” นางจุกอ้อนวอน

          “ฟังเมียเอ็งพูดนะเจ้าจ่อย ฟังเอาไว้” ท่านบอกหลานชาย

          “ครับ ผมกำลังฟังอยู่ แล้วก็อยากจะพูดแบบเดียวกับเขา หลวงน้าไม่ตายไม่ได้หรือครับ”

          “เอ็งสองคนนี่พอกันเลย ไอ.คิว. พอกัน อย่างนี้นี่เอง ถึงอยู่ด้วยกันได้”

          “ไอ.คิว. คืออะไรครับหลวงน้า” หลานชายถาม

          “คือภูมิปัญญา เอ็งกับเมียเอ็งมีภูมิปัญญาเสมอกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร” ท่านพระครูอธิบายแกมประชด

          “แล้วดีไหมครับ” นายจ่อยถามอีก

          “ดี แต่ดีสำหรับเองนะ ไม่ใช่สำหรับข้า”

          “งั้นก็ดีไม่จริงน่ะซีครับหลวงน้า เพราะถ้าดีจริงจะต้องดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง” นายจ่อยพูดเหมือนนักปรัชญา ทั้งที่ไม่เคยเรียนปรัชญา

          “คิดเอาเอง” ท่านเจ้าของกุฏิตอบด้วยคร้านที่จะต่อนัดต่อแนงด้วย

          “ผมคงไม่คิดแล้วละครับ ชักปวดหัวแล้ว ว่าแต่ว่าหลวงน้าจะลงไปเจิมรถให้ผมได้ไหมครับ” เขาพูด “ธุระ”

          “อย่าเลยครับพี่จ่อย หลวงพ่อท่านตั้งใจว่าจะไม่ลงไปไหน จนกว่าขาท่านจะหายเป็นปกติ หลวงพ่อเสกแป้ง แล้วให้หลวงพี่เป็นคนไปเจิมก็ได้นี่ครับ” ศิษย์วัดแนะนำด้วยความเป็นห่วงท่านพระครู

          “ดีเหมือนกัน เพราะสองย่อมดีกว่าหนึ่ง หลวงพ่อก็ขลัง หลวงพี่ก็ขลัง ก็เป็นขลังกำลังสอง” นายจ่อยว่า

          “ถ้าเอ็งอยากจะให้ขลังกำลังสามเอ็งก็ต้องอยู่ในศีลในธรรม หากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหมั่นปฏิบัติกรรมฐาน” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง “อบรม” ลูกชายของพี่สาว

          “ครับ” คนเป็นหลานรับคำ นายสมชายจัดการหาวัสดุอุปกรณ์มาให้ มีขันจอกทำด้วยทองเหลือง ดินสอพอง และน้ำมันจันทน์ ท่านพระครูหยิบดินสอพองใส่ลงในขันจอก ใช้นิ้วบดจนเป็นผง แล้วเทน้ำมันจันทน์ลงไป ผสมเสร็จแล้วจึง “เสก” ด้วยคาถามหานิยม

          “เอาละ เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมนะ คาถาจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอยู่กับพลังจิตของผู้ใช้ อันที่จริงข้าไม่อยากยุ่งกับเรื่องเสกเรื่องเป่านักหรอก แต่ในเมื่อเอ็งมาขอให้ทำก็ไม่อยากขัดใจ เพราะอะไร ๆ ก็สู้กรรมฐานไม่ได้ เอาละ พระบัวเฮียวช่วยไปเจิมให้เขาหน่อย” นายจ่อยถือขันจอกบรรจุแป้งเสกลงบันไดไป ตามด้วยพระบัวเฮียวและนางจุก ครู่ใหญ่ ๆ ภิกษุรูปหนึ่งกับฆราวาสสองคนก็ขึ้นมา นายขุนทองถือโอกาสตามขึ้นมาด้วย

          “เสร็จธุระแล้ว ผมเห็นจะต้องกราบลา” นายจ่อยเอ่ย อดใจหายไม่ได้ เมื่อคิดไปว่าอีกสี่ปีเขาจะไม่มี “หลวงน้า” อีกแล้ว

          “หลวงน้าจ๊ะ ฉันมีของมาถวายจ้ะ” นางจุกพูด พร้อมกับหยิบถุงกระดาษสีน้ำตาลส่งให้สามี

          “พี่จ่อยช่วยประเคนแทนฉันด้วย” นายจ่อยจึงประเคนสิ่งนั้นให้ท่านพระครู

          “อะไรของเอ็งล่ะ”

          “หลวงน้าเปิดดูเองก็แล้วกัน” หล่อนว่า นายสมชายกับนายขุนทองจ้องเขม็ง ขณะที่ท่านเจ้าของกุฏิหยิบสิ่งนั้นออกมาจากถุง เป็นรองเท้าหนังสีน้ำตาลหนึ่งคู่!

          “เอ็งถูกรางวัลที่หนึ่งตั้งห้าแสน ซื้อรองเท้าแตะมาให้ข้าคู่เดียวเองหรือจุก” ท่านสัพยอกหลานสะใภ้ด้วยความรู้สึก “ซาบซึ้ง” ในความตระหนี่ถี่เหนียวของหล่อน

          “คู่เดียวก็ตั้งแปดสิบบาทนะหลวงน้า แพงกว่าของฉันตั้งสิบเท่า ฉันใช้คู่ละแปดบาทเอง” คนขี้เหนียวว่า

          “ของผมก็คู่ละแปดบาทเหมือนกันครับหลวงน้า” นายจ่อยเข้าข้างภรรยา

          “เอาเถอะ ๆ ข้าไม่ว่าอะไร จะกลับก็กลับได้แล้ว ข้าจะได้พักผ่อน” สองสามีภรรยาจึงกราบท่านสามครั้ง แล้วลุกออกมา นายสมชายกับนายขุนทองรู้สึกผิดหวังจนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุกออกไปส่ง

          “เอาซี เอาไปแบ่งกันคนละครึ่ง” ท่านพระครูพูดพลางส่งถุงกระดาษสีน้ำตาลให้นายสมชาย

          “โธ่ หลวงพ่อ ใครเขาจะใส่รองเท้าข้างเดียว” ศิษย์วัดว่า

          “หนูก็ไม่เอา นั่นมันรองเท้าสำหรับผู้ชาย หนูอยากได้รองเท้าส้นสูง” นายขุนทองว่า

          “งั้นก็ถวายพระบัวเฮียวก็แล้วกัน” ท่านพระครูตัดสิน

          “อย่าเลยครับหลวงพ่อ โยมจุกเขาตั้งใจถวายหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวปฏิเสธ

          “ก็ในเมื่อเขาให้ฉัน ก็เป็นของฉัน แล้วฉันจะให้ใครมันก็เป็นสิทธิ์ของฉันใช่ไหมล่ะ”

          “ใช่ครับ”

          “งั้นฉันให้เธอ รองเท้าฉันยังดีอยู่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ของใหม่” ผู้พูดถือสันโดษ

          “แต่คู่นี้ราคาตั้งแปดสิบนะครับ คู่ของหลวงพ่อแค่สามสิบเท่านั้น” นายสมชายแย้ง ที่จำได้เพราะเขาเป็นคนไปซื้อ

          “ก็เพราะมันแพงน่ะซี แล้วฉันก็คิดว่าของแพงคงจะเป็นของดี เมื่อจะให้อะไรใครก็ต้องให้แต่ของดี ๆ ดังนั้นฉันจึงให้เธอไงล่ะบัวเฮียว” ประโยคหลัง ท่านพูดกับภิกษุหนุ่ม

          “แล้วคนให้เขาจะได้บุญหรือครับ เขาตั้งใจให้หลวงพ่อ แต่หลวงพ่อกลับมาให้ผม” พระบัวเฮียวพูดเพราะจิตของท่านไม่ถูกครอบงำด้วย “โลภะ”

          “ได้สิ ได้สองต่อเลยแหละ สมมุติว่าเขาให้ฉัน เข้าได้บุญห้าสิบ ฉันเอาให้เธอ ฉันก็ได้บุญห้าสิบ คนให้คนแรกได้บุญสองต่อ เขาได้บุญร้อยนะ ฉันได้ห้าสิบ เขาได้ร้อย”

          “งั้นถ้าผมเอาไปถวายพระมหาบุญ ผมก็จะได้บุญห้าสิบ หลวงพ่อก็ได้ร้อย โยมจุกก็ได้ร้อยห้าสิบใช่ไหมครับ”

          “ก็คงจะเป็นยังงั้น แต่ฉันว่าเธอเก็บไว้เป็นที่ระลึกดีกว่า อีกสี่ปีฉันก็ไม่อยู่ให้เธอเห็นหน้าอีกแล้ว เวลาเธอใส่รองเท้าจะได้คิดถึงฉันไง”

          “ครับ ถ้าเช่นนั้นผมจะเก็บไวอย่างดีที่สุด อีกสี่ปีค่อยเอาออกมาใช้” ภิกษุวัยยี่สิบหกตอบ แล้วกราบลาเพื่อกลับไปปฏิบัติกรรมฐานยังกุฏิ...

 

 

 

มีต่อ........๖๓

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 26, 2007, 07:32:59 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00063
๖๓...

            นับตั้งแต่อาจารย์ชิตเข้ามาพักรักษาตัวที่วัดป่ามะม่วง แขกของท่านพระครูก็ร่อยหรอลงไป ไม่มีการมานั่งรอคิวตั้งแต่เช้ามืดเหมือนเช่นแต่ก่อน ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะพวกเขาไม่อาจทานทนต่อ “กลิ่น” ที่มาจากแผลของบุรุษวัยหกสิบได้

          ครั้นเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงได้รับอุบัติเหตุตกบันไดขาหัก นายขุนทองก็ประกาศงดรับแขกเป็นเวลาหนึ่งเดือน นอกจากผู้ที่มีธุระสำคัญเร่งด่วนเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าพบ

          บรรดาผู้ประสบทุกข์ทั้งหลาย เมื่อมาด้วยตนเองไม่ได้ ก็ใช้วิธีเขียนจดหมายมา ดังนั้นแทนที่จะได้พักผ่อน ท่านพระครูก็ต้องมานั่งตอบจดหมาย ซึ่งแรก ๆ ก็มาวันละ ๙-๑๐ ฉบับ ต่อมาก็เพิ่มจำนวนขึ้น จนท่านต้องขอให้นายสมชายและอาจารย์ชิตมาช่วยตอบ คนทั้งสองยินดีปรีดาที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน

          ส่วนนายขุนทองไม่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่นี้ ท่านเจ้าของกุฏิให้เหตุผลว่า “เจ้าหมอนี่มันปากสว่าง เดี๋ยวก็ได้เอาความลับของเขาไปเปิดเผย เสียชื่อวัดป่ามะม่วงหมด”

          “เช้าวันที่ ๕ มีนาคม หลังจากรับประทานอาหารกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ชิตกับนายสมชายก็ขึ้นไปช่วยงานท่านพระครูเป็นวันที่สอง ส่วนนายขุนทองก็รับหน้าที่เก็บล้างถ้วยชามลามไหและทำความสะอาดกุฏิชั้นล่าง

          ทำงานเสร็จก็จับเจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาวมาอาบน้ำอาบท่าแถมโรงแป้งฝุ่นให้เสร็จสรรพ เป็นแป้งยี่ห้อเดียวและกระป๋องเดียวกับที่ตัวเขาใช้ แม้ตัวเองจะอาบน้ำวันละสองครั้ง เช้า-เย็น แต่สำหรับสุนัขสามตัวนี้ เขาอาบน้ำและโรยแป้งให้มันอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น

          เมื่อขึ้นไปถึง อาจารย์ชิตก็ทำหน้าที่เปิดผนึกจดหมายแล้วอ่านให้ท่านพระครูฟัง จากนั้นก็จะเขียนตอบ โดยท่านพระครูจะเป็นผู้บอกว่าตอบอย่างไร เขียนเสร็จก็เป็นน้าที่ของนายสมชายที่จะพับใส่ซองปิดผนึก ติดแสตมป์ และจ่าหน้าซองถึงผู้รับ

          บางร้าย เจ้าของจดหมายก็สองซองติดแสตมป์ และจ่าหน้าซองถึงตัวเองไว้เสร็จสรรพ นายสมชายจึงเพียงแต่พับจดหมายตอบใส่ซองและปิดผนึกเท่านั้น

          จดหมายฉบับแรกมาจากเด็กชายหาญกล้า บุญเสริมส่ง อาจารย์ชิตอ่านให้ท่านพระครูฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ความว่า

          เขียนที่บ้านเลขที่ ๖๗/๘ หมู่ ๑ ถนนเพชรบุรี อ.พญาไท กรุงเทพฯ

          กราบนมัสการหลวงตา ที่เคารพอย่างสูง

          กระผมเด็กชายหาญกล้า นามสกุลบุญเสริมส่ง อายุ ๑๔ ปี กำลังเรียนอยู่ ชั้น ม.ศ. ๒ ผมไม่เคยรู้จักหลวงตามาก่อน แต่คุณลุงข้างบ้านเขารู้จักและให้ที่อยู่ผมมา ผมจึงเขียนมาขอความเมตตาให้ช่วยแก้ปัญหาให้ผมด้วย

          ผมอยู่กับแม่สองคนครับ แม่ผมอายุ ๓๖ ปี แม่บอกว่าพ่อทิ้งเราไปตั้งแต่ผมยังแบเบาะ แล้วผมก็ไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลยตั้งแต่จำความได้ แม่ไม่ยอมบอกว่าพ่อผมชื่ออะไร อยู่ที่ไหน แม้นามสกุลที่ผมใช้อยู่ก็เป็นนามสกุลของแม่ ผมจึงไม่มีโอกาสได้รู้จักพ่อเลย ผมพยายามสืบถามจากเพื่อนบ้าน ก็ไม่มีใครให้ความกระจ่างแก่ผม จนผมหมดหวังที่จะได้พบพ่อ ผมอยู่กับแม่สองคนก็มีความสุขตามอัตภาพ แม่ทำงานบริษัท เงินเดือนสองพันบาท ก็มากพอสมควร สำหรับเราสองคนแม่ลูก

          มาเมื่อต้นปีที่แล้ว แม่เริ่มประพฤติตัวเหลวไหล ด้วยการกลับบ้านดึกทุกคืนและมีกลิ่นเหล้าติดตัวมาด้วย หนักเข้าก็เมาแอ๋มาเลย แล้วก็เป็นอย่างนี้เกือบทุกวัน เงินทองก็เริ่มไม่พอใช้ ผมก็คิดมากจนเรียนไม่รู้เรื่อง เมื่อเงินไม่พอใช้ แม่ก็เที่ยวไปหยิบยืมจากเพื่อนบ้าน กระทั่งกลายเป็นคนมีหนี้สินรุงรัง

          วันไหน ไม่มีเงินซื้อเหล้ากิน แม่จะอารมณ์เสีย พาลด่าผมอย่างหยาบ ๆ คาย ๆ ผมกลัวว่าแม่จะกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และกลัวถูกไล่ออกจากงานจึงต้องเขียนจดหมายมารบกวนหลวงตาให้ช่วยแนะนะผมด้วยว่า ผมจะสอนแม่อย่างไรดี จึงจะทำให้เขาเกิดความสำนึกและกลับตัวเป็นคนดีเหมือนแต่ก่อน ขอหลวงตาโปรดตอบผมด้วย ผมจะรอคำตอบพร้อมกันนี้ ผมได้ส่งซองติดแสตมป์มาด้วยครับ

                                                นมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                                   หาญกล้า บุญเสริมส่ง

ป.ล. ผมเคยเป็นเด็กเรียนดี สอบได้ไม่เคยต่ำว่า ๘๐% แต่เดี๋ยวนี้ผมกลายเป็นคนคิดมาก การเรียนตกต่ำลง และคงจะสอบตก ถ้าแม่ยังเป็นอย่างนี้

          “น่าสงสารแกนะครับ” อาจารย์ชิตเอ่ยเมื่ออ่านจบ

          “คนเราต่างก็มีกรรมต่าง ๆ กันไป ตัวเองทำเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ทำไว้แต่ครั้งอดีตชาติบ้าง มาทำในปัจจุบันบ้าง พอกรรมมาให้ผล จึงสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามชนิดของกรรมที่ทำ แต่ทั้งสุขและทุกข์ มันก็ไม่เที่ยงหรอกโยม ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลงผันแปรไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครทำแต่กรรมชั่วอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีใครทำแต่กรรมดีอย่างเดียว หากจะทำดีบ้างทำชั่วบ้าง คละเคล้ากันไป”

          “เว้นแต่คนที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้น จึงจะทำแต่กรรมดีอย่างเดียว ไม่ทำกรรมชั่วเลยใช่ไหมครับ” นายสมชายถาม

          “นั่นเป็นความเข้าใจผิดของเธอ พระอรหันต์ท่านเป็นผู้อยู่เหนือกรรม การกระทำของท่าน เราไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา เพราะถ้าเป็นกรรม ก็ยังมีผลต่อการเวียนว่ายตายเกิด เช่น กรรมดีทำให้ไปเกิดในสุคติ กรรมชั่วทำให้ไปเกิดในทุคติ แต่พระอรหันต์ท่านตัดขาดจากสงสารวัฏแล้ว จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารสาครเฉกเช่นปุถุชนทั้งหลาย” ท่านพระครูอธิบายทั้งที่รู้ว่า คนถามไม่เข้าใจ แต่คนที่เข้าใจกลับเป็นอาจารย์ชิตผู้ซึ่งมิได้ถาม

          “ยังข้องใจสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า ฉันให้โอกาสซักถาม”

          “มีครับ แต่คงจะไม่ถาม เพราะที่หลวงพ่ออธิบายมานั้น ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ไม่อยากให้หลวงพ่อต้องเป่าปี่ให้ควายฟังครับ” ชายหนุ่มว่า

          “ก็ดีที่รู้ตัว แต่คำถามของเธอก็มิใช่จะไม่มีประโยชน์เสียเลย เพราะคนที่เข้าใจก็มีอยู่”

          “หลวงพ่อหมายถึงอาจารย์หรือครับ”

          “ก็จะมีใครเสียอีกล่ะ มีกันแค่สองคน ไม่น่าถาม”

          “แล้วรายนี้ หลวงพ่อจะให้ตอบว่าอย่างไรครับ คนสูงวัยถาม ท่านเจ้าของกุฏิจึงบอก

          “ตอบไปว่า ให้อดทน แล้วก็ไม่ต้องไปคิดสอนแม่เขา ลูกไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนพ่อแม่ เขาจะดีจะชั่วยังไง ก็เป็นผู้ให้กำเนิดเรามา ใส่แผ่นปลิวบทสวดมนต์ไปให้ด้วย บอกให้สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ อย่างละหนึ่งจบ จากนั้นก็สวดพุทธคุณอย่างเดียวอีก ๑๕ จบ เขาอายุ ๑๔ ใช่ไหม”

          “ครับ”

          “อายุ ๑๔ ก็สวด ๑๕ จบ บอกหลวงตาให้สวดทุกคืน เสร็จแล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แม่เขา ปฏิบัติสม่ำเสมอจนจิตถึงขึ้นเมื่อไหร่ แม่เขาก็จะกลับตัวได้เอง แต่ถ้าไม่ทำตาม หลวงตาก็ไม่รู้จะช่วยได้ยังไง บอกเขาไปอย่างนี้ก็แล้วกัน” อาจารย์ชิตจัดการเขียนตามที่พระครูบอก นายสมชายหยิบแผ่นปลิวบทสวดมนต์พับใส่ซองลงไปก่อน เมื่ออาจารย์ชิตเขียนเสร็จ ท่านพระครูให้เขาอ่านทวนให้ฟังอีกครั้ง แล้วท่านจึงลงนาม จากนั้นนายสมชายก็จะพับจัดหมายใส่ซองปิดผนึก

          ฉบับที่สองมาจากนางนนทรี จันทร์กระพริบ เขียนเล่ามาว่า

          หนูมาที่วัดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม แต่ลูกศิษย์บอกว่า หลวงพ่องดรับแขกหนึ่งเดือน เพื่อพักรักษาตัว เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุตกบันได แต่หนูคงรอไม่ได้ เพราะมีเรื่องร้อนใจมาก จึงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาหลวงพ่อค่ะ ปัญหาของหนูมีดังนี้คือ

          เมื่อประมาณปีที่แล้ว หนูได้รู้จักกับเพื่อนใหม่คนหนึ่ง เรารู้จักกันที่วัดแห่งหนึ่ง เขามาทำบุญเช่นเดียวกับหนู ผู้หญิงคนนี้ชื่อ สุธาวดี เป็นคนสวย น่ารัก พูดจาไพเราะ เราก็คบกันมาเรื่อย ๆ เพราะหนูเห็นเขาเป็นคนดีและชอบทำบุญทำทาน เพื่อน ๆ ของเขาได้มาเตือนหนูว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนไม่ดี อย่าไปคบ หนูก็ไม่เชื่อ เพราะเชื่อว่าตัวเองคงดูคนไม่ผิด แต่ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ สุธาวดีเขาไม่ค่อยมีเพื่อน ดังนั้นเขาจึงมาสนิทกับหนู

          อยู่มาวันหนึ่งก็มีสุภาพสตรีคนหนึ่งมาที่วัด และมาเล่าให้เจ้าอาวาสฟังว่า ผู้หญิงคนชื่อสุธาวดี ได้เที่ยวไปพูดกับคนอื่น ๆ ว่า เจ้าอาวาสมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหนู เจ้าอาวาสท่านโกรธมาก จะให้หนูไปตามเพื่อนคนนี้มาพูกันต่อหน้าท่าน และสุภาพสตรีผู้นั้น ซึ่งยินดีจะเป็นพยานให้ หนูได้นำเรื่องนี้มาให้สามีฟัง สามีบอกว่าคนเช่นนี้เป็นคนพาล ฉะนั้นไม่ต้องไปคบหาสมาคม แล้วก็ไม่ต้องไปชี้แจงอะไรกับเขา เพราะคนพาลย่อมไม่ยอมรับในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นการเสียวเวลาเปล่า หนูไม่ทราบจะเชื่อใครดี เจ้าอาวาสหรือสามี จึงคิดถึงหลวงพ่อ และมั่นใจว่าหลวงพ่อจะช่วยแก้ปัญหาให้หนูได้ค่ะ

          หนูขอสาบานว่า ไม่เคยคิดสกปรกลามก อย่างที่ผู้หญิงคนนี้กล่าวหา หนูไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเขาใส่ร้ายหนูได้ ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง เวลาไปวัดหนูก็ไปกับเขาทุกครั้ง เพราะตอนหลัง ๆ เขาน่าสงสารมาก สามีก็ขอหย่า เพื่อนฝูงซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนก็พากันเลิกคบเขา ธุรกิจการค้าก็ขาดทุน หนูสงสารเขา ก็พยายามปลอบใจเขา

          มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาชวนหนูไปวัดและขอร้องให้หนูช่วยพูดกับเจ้าอาวาส ขอยืมเงินท่านมาลงทุน (ตอนแรกเขาขอยืมหนู แต่หนูไม่มีเงินมากขนาดนั้น เขาจึงขอให้หนูไปพูดกับเจ้าอาวาส) เป็นการขอร้องที่หนูลำบากใจมาก แต่เพราะสงสารเขาจึงช่วยพูดให้ เจ้าอาวาสท่านก็บอกว่า เงินที่มีอยู่นั้นเป็นเงินวัด ไม่ใช่เงินส่วนตัวของท่าน จึงไม่สามารถให้ยืมได้ เขาแสดงอาการไม่พอใจออกมา โดยว่าประชดท่านว่าเป็นพระแต่ไม่มีเมตตา แล้วก็ชวนหนูกลับ

          นี่แหละค่ะ เรื่องกลุ้มใจของหนู ตอนนี้เขาก็หลบหน้าหลบตาไม่มาหาหนูอีกเลย หนูอยากโทรศัพท์ไปว่าเขาเหมือนกันว่า คนอย่างหนูนั้นไม่จนปัญญา ถึงขนาดจะเอาพระมาเป็นผัวหรอก แล้วหนูก็กลัวตกนรกอเวจี เพราะในพระวินัยระบุไว้ว่าหญิงที่เสพเมถุนกับพระจะต้องตกนรกอเวจี ที่สำคัญคือ หนูก็มีสามีแล้ว ถ้าไปทำอย่างนั้น ก็ตกนรกสองต่อ หนูไม่ทำแน่นอนค่ะ

          ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยตอบหนูด่วนนะคะ หนูควรจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร พร้อมจดหมายนี้ หนูได้แนบซองติดแสตมป์และจ่าหน้าซองถึงตัวเองมาด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

          อาจารย์ชิตอ่านจบ ท่านพระครูจึงพูดขึ้นว่า

          “คนทุกวันนี้ ใจบาปหยาบช้าจังเลยนะโยม แค่พระไม่ให้ยืมเงินก็ลงทุนใส่ร้ายป้ายสี ไม่กลับบาปกลัวกรรม”

          “หลวงพ่อจะให้ตอบเขาว่าอย่างไรครับ”

          “บอกให้ทำตามที่สามีเขาแนะนำนั่นแหละ โยมเห็นหรือยังว่า โทษของการคบคนพาลนั้นเป็นอย่างไร ไม่งั้น พระพุทธองค์จะทรงสอนหรือว่า “อะเสวะนา จะ พาลานัง บัณฑิตานัญจะ เสวะนา – ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต นี้ปรากฏอยู่ในมงคลสูตร ซึ่งบรรดามนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างพากันถกเถียงกันว่าอะไรเป็นมงคล เถียงกันอยู่ ๑๒ ปี ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงพากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทูลถาม

          พระพุทธองค์ได้ตรัสมงคล ๓๘ ประการ ดังนี้คือ ไม่คบคนพาล ๑ คบบัณฑิต ๑ บูชาคนที่ควรบูชา ๑ อยู่ในถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมดี ๑ ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน ๑ ตั้งตนไว้ชอบ ๑ เล่าเรียนศึกษามาก ๑ มีศิลปวิทยา ๑ มีระเบียบวินัย ๑ วาจาสุภาษิต ๑ บำรุงบิดามารดา ๑ สงเคราะห์บุตร ๑ สงเคราะห์ภรรยา ๑ ทำการงานไม่คั่งค้าง ๑ บำเพ็ญทาน ๑ ประพฤติธรรม ๑ สงเคราะห์ญาติ  ๑ ทำงานไม่มีโทษ ๑ เว้นจากความชั่ว ๑ เว้นจากการดื่มน้ำเมา ๑ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ มีสัมมาคารวะ ๑ อ่อนน้อมถ่อมตน ๑ สันโดษ ๑ กตัญญู ๑ ฟังธรรมตามกาล ๑ มีความอดทน ๑ เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ๑ พบเห็นสมณะ ๑ สนทนาธรรมตามกาล ๑ มีความเพียรเผากิเลส ๑ ประพฤติพรหมจรรย์ ๑ เห็นอริยสัจ ๑ ทำพระนิพพานให้แจ้ง ๑ จิตไม่หวั่นไหว ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากกิเลส ๑ จิตเกษม ๑ ทั้ง ๓๘ ประการนี้ จัดเป็นมงคลอันสูงสุด มงคลก็คือ สิ่งที่ทำให้มีโชคดี หรือธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ”

          “เหมือนเวลาที่พระท่านสวดในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ท่านมักจะสวดมงคล ๓๘ ประการ นี้ใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้วโยม แต่ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว มงคลนั้นไม่ใช่สิ่งที่ใครจะให้แก่ใคร เช่นไม่ใช่สิ่งที่พระท่านจะนำมาให้ญาติโยม เพราะไม่ใช่สิ่งของที่จะนำมาหยิบยื่นให้กันและกัน แต่มงคลจะเกิดขึ้นได้ บุคคลนั้น ๆ ต้องสร้างเองทำเอง เช่นเดียวกับการทำกรรม เราทำกรรมแทนกันไม่ได้ มงคลจัดเป็นกุศลกรรม ถ้าเราอยากให้มงคลเกิดแก่ตัวเรา เราก็ต้องทำ ต้องสร้างของเราเอง ไม่ใช่เที่ยวไปขอจากคนโน้นคนนี้ เช่นไปขอจากพระเป็นต้น ที่ถูกจะต้องทำเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังมีคนเข้าใจผิดกันอยู่มาก หรือโยมคิดว่ายังไง”

          “ผมก็คิดเหมือนหลวงพ่อครับ” บุรุษสูงวัยคล้อยตาม

          “ดีแล้ว เอาละ ทีนี้ก็ตอบจดหมายโยมนนทรีเขาได้แล้ว ตอบอย่างที่อาตมาแนะนำนั่นแหละ”

          “ต้องเขียนมงคล ๓๘ ลงไปด้วยหรือเปล่าครับ” อาจารย์ชิตถาม หากต้องเขียน เขาก็คงจะต้องให้ท่านทวนให้ใหม่ทีละข้อ เพราะไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด

          “ไม่ต้อง เอาเฉพาะสองข้อแรกเท่านั้น แล้วลอกโอวาทของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ วัดเทพศิรินทราวาส ลงไปด้วย สมชายเธอไปหยิบรูปท่านเจ้าคุณนรรัตน์ มาให้อาจารย์เขาด้วย” นายสมชายลุกขึ้นไปหยิบภาพถ่ายซึ่งวางอยู่บนหิ้งพระ มาส่งให้อาจารย์ชิต เป็นภาพพระภิกษุร่างผอมบาง นั่งพับเพียบอยู่กลางใบโพธิ์ ใต้ภาพมีข้อความที่เขียนด้วยลายมือของท่าน มีความยาวถึง ๑๓ บรรทัด แล้วลงนาม “นรรัตน” ไว้ใต้ข้อความนั้น

          “ลอกลงไปทั้งหมดนี่แหละ บอกโยมนนทรีเขาว่า เมื่ออ่านแล้วก็นำไปให้เจ้าอาวาสท่านอ่านด้วย ท่านจะได้หายโกรธโยมคนนั้น แล้วก็เลิกล้มความคิดที่จะเรียกเขามาต่อว่า

          อันที่จริง โยมคนนั้นแกคิดสั้นนะ ถ้าแกทำดีกับเจ้าอาวาสและโยมนนทรี อีกหน่อยกิจการค้าของแกก็จะดีขึ้นเพราะอำนาจของบุญกุศล แต่ในเมื่อแกมาทำอย่างนี้ แกก็ไม่กล้ามาวัดอีกก็เลยหมดโอกาสสร้างบุญสร้างกุศล เขาเรียกว่า ฆ่าตัวเองทางอ้อม เอาละ โยมลอกโอวาทของท่านเจ้าคุณนรรัตน ลงไปก่อน แล้วค่อยตอบจดหมายทีหลัง เสร็จแล้วจะได้ให้นายสมชายเขานำไปไว้บนหิ้งพระตามเดิม” บุรุษสูงอายุจึงลงมือลอกข้อความนั้นลงในแผ่นกระดาษโอวาทของท่านเจ้าคุณนรรัตน มีใจความดังนี้

          คนเราเมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ เมื่อมียศก็เสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ จะชั่วแสนชั่วมันก็ชม นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดายังมีคนนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่าเขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไร เราคิดแล้วว่าไม่เดือดร้อนแก่ตนเองแลคนอื่นเราจึงทำ เขาจะนินทาว่าร้ายอย่างไรก็ช่างเขา บุญเราทำกรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวงกลัวใครติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่า ๆ

                                                                                                                                                นรรัตน

          ลอกเสร็จแล้วนายสมชายจึงนำภาพถ่ายนั้นไปวางไว้ที่เดิม อาจารย์ชิตจัดการตอบจดหมายแล้วอ่านให้ท่านพระครูฟัง เพื่อตรวจสอบอีกครั้งก่อนลงนาม จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของนายสมชาย ที่จะพับใส่ซองและปิดผนึก

          ฉบับที่สามเป็นของนายทหารยศพันเอก เขียนมา ๕ หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป แถมลายมือก็ขยุกขยิกยุ่งเหยิงพอ ๆ กับใจความใจจดหมายซึ่งเขียนวกไปวนมา บ่งบอกถึงสภาวะทางจิตใจของเข้าของในขณะที่เขียน กว่าจะอ่านจบทั้งผู้ฟังและผู้อ่านต่างอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปตาม ๆ กัน คนเป็นฆราวาสนั้นยังฝึกสติไม่ถึงขั้น จึงรู้สึกเครียดกว่าคนเป็นพระ ท่านเจ้าของกุฏิมีอันต้องกำหนด “เครียดหนอ เครียดหนอ” อยู่ชั่วครู่จึงหายเครียด ท่านบอกคนเป็นฆราวาสว่า

          “เอาละ โยมพักได้แล้ว พักสักยี่สิบนาที จากนั้นให้เดินจงกรมสามสิบนาที นั่งสมาธิอีกครึ่งชั่วโมง ก็ได้เวลารับประทานอาหารกลางวันพอดี” ท่านพูดราวกับรู้ว่าขณะนั้นเป็นเวลา ๙.๔๐ นาฬิกา อาจารย์ชิตกราบท่านสามครั้งแล้วจึงลงมาข้างล่าง เหลือบดูนาฬิกาที่แขวนอยู่ข้างฝา ปรากฏว่าเหลืออีก ๒๐ นาทีจะสิบโมง แสดงว่าท่านเจ้าของกุฏิรู้เวลาโดยไม่ต้องใช้นาฬิกา....

 

มีต่อ........๖๔

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 26, 2007, 07:33:38 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00064
๖๔...

          อาจารย์ชิตลงไปแล้ว ท่านพระครูจึงถามนายสมชายว่า

          “เป็นไง เธอรู้สึกเครียดบ้างไหม”

          “ผมไม่กล้าเครียดหรอกครับ หลวงพ่อ ผมกลัวมะเร็งเต้านมเล่นงานผม” ชายหนุ่มตอบอย่างคนรักตัวกลัวตาย

          “เรื่องนั้นเธอไม่ต้องกลัวหรอก รับรองว่าไม่เป็น” ท่านเจ้าของกุฏิตอบ เพราะผู้ชายหมดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูก

          “แต่เจ้าขุนทองมีสิทธิ์เหมือนกันนะครับหลวงพ่อ หลวงพ่อสังเกตไหมครับว่า นมมันใหญ่ขึ้น” คำถามนั้นสะดุดใจท่านพระครู ท่านรู้สึกเหมือนกันว่า หน้าอกของหลานชายมันดูผิดหูผิดตาไป

          “มันไปทำยังไงเข้าล่ะ หน้าอกหน้าใจมันถึงผิดปกติยังงั้น”

          “ผมหลอกถามดู เห็นมันบอกว่าเอามดตะนอยไปต่อย มันว่าถ้าใหญ่มาก ๆ ก็จะไปซื้อยกทรงมาใส่ หลวงพ่ออย่าบอกนะครับว่าผมมาพูด มันเอาผมตายเลย” ชายหนุ่มเล่าพลางขอร้อง

          “แปลว่า เธอเอาความลับเจ้าขุนทอง มาเปิดเผยน่ะซี” ท่านพระครูพูดเสียงตำหนิ

          “โธ่ หลวงพ่อครับ ผมไม่ได้คิดทรยศเพื่อนนะครับ แต่ที่ทำไปเพราะหวังดีต่อมัน ผมกลัวมันจะเป็นมะเร็งเต้านมนะครับ ก็เห็นน้าขำเล่าว่า คนที่เอามดตะนอยต่อลูกอัณฑะยังเป็นมะเร็งตายได้” ศิษย์วัดอ้างเหตุผลที่ต้องเปิดเผยความลับของเพื่อน

          “นั่นเพราะกรรมที่เขาไปหลอกลวงหลวงต่างหากล่ะ หลอกหลวงเพื่อจะไม่ต้องเป็นทหาร แต่เจ้าขุนทองมันไม่มีกรรมเช่นนั้น ฉันรับรองว่า มันไม่เป็นมะเร็งแน่ เธออย่าห่วงไปเลย”

          “ครับ ถ้าหลวงพ่อยืนยันเช่นนี้ ผมก็สบายใจ แล้วหลวงพ่ออย่าเผลอบอกเรื่องนี้มันเข้านะครับ ไม่งั้นถูกมันด่าล้างน้ำแน่เลย”

          “ล้างน้ำก็ดีน่ะซี เธอจะได้สะอาดสะอ้านขึ้น” ท่านเริ่มยั่ว เพื่อคลายเครียด

          “มันก็คงจะดีหรอกครับ ถ้าผมเป็นคนชอบอาบน้ำ แต่บังเอิญผมเป็นโรคกลัวน้ำครับ” ชายหนุ่มว่า ได้ยั่วลูกศิษย์พอหอมปากหอมคอแล้ว ท่านพระครูจึงให้เขาลงไปล้างรถ เพราะจอดไว้หลายวันจนฝุ่นเกาะเต็มไปหมด ถึงไม่ต้องลงไปดูก็รู้ได้ว่า มันจะต้องเป็นอย่างที่ท่านคิด

          นายสมชายลงไปแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงนั่งหลับตาทบทวนข้อความในจดหมายของนายพันเอก ในความโดยสรุปก็คือ เขาหลงรักครูสาวที่จ้างมาสอนพิเศษให้ลูกที่บ้าน ทั้งหลงรักและหลงใหล ถึงขนาดคิดขอหย่ากับภรรยา เพื่อจะแต่งงานกับเธอ เหตุผลที่เขาอ้างกับภรรยา คือ ตัวเขาเป็นนายพัน อีกไม่นานก็จะได้เป็นนายพล และคนเป็นภรรยาก็จะต้องได้ตำแหน่งคุณหญิง แต่ภรรยาของเขา ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ เพราะหล่อนแก่เกินไป ทั้งยังมีความรู้แค่มัธยมหก ขณะที่ครูสาวจบปริญญา แล้วก็สวยกว่าสาวกว่า

          “ผมอุตส่าห์ร้องห่มร้องไห้เพื่อให้เขาเห็นอกเห็นใจในความรักของผม แต่เขาใจร้ายกับผมมาก เพราะนอกจากจะไม่ยอมหย่าแล้ว ยังไม่สงสารเห็นใจ ไม่มีน้ำตาสักหยดเดียว ทั้งที่ผมร้องไห้น้ำตาแทบเป็นสายเลือดอย่างนี้แล้วผมจะอยู่กับเขาได้อย่างไรครับหลวงพ่อ ผมพยายามพูดขอร้องเขาทุกวัน เขาก็ไม่ใจอ่อนกระทั่งผมอ่อนใจ มาวันนี้เองผมยื่นคำขาดว่า ถ้าเขาไม่ยอมหย่า ผมจะฆ่าตัวตาย เขาก็นิ่งไปพักหนึ่งแล้วบอกผมว่า “ตกลง ฉันจะยอมหย่าให้ เพราะเห็นใจในความรักของคุณ ความรักมันกินได้ ส่วนเงินกินไม่ได้ ฉะนั้น ฉันจะยอมหย่าให้คุณ แต่คุณต้องยกเงินเดือนให้ฉันทั้งหมด” หลวงพ่อคิดดูสิครับว่า ผมจะทำตามข้อเสนอของเขาได้อย่างไร ถ้าผมให้เงินเดือนเขาหมด ผมกับภรรยาคนใหม่จะอยู่ได้หรือ หลวงพ่อช่วยผมหน่อยเถิดครับ ช่วยให้เขาเห็นใจผมและยอมหย่าให้ผม โดยไม่เอาเงินเดือนของผม โปรดช่วยให้เขาไปจากชีวิตผม ส่วนลูกผมเลี้ยงได้ และแม่ใหม่ของแกก็จะช่วยติววิชาให้โดยไม่ต้องไปเสียเงินให้โรงเรียนกวดวิชา ผมจะรอคำตอบจากหลวงพ่อ ความจริงผมอยากมากราบเรียนถามด้วยตนเอง แต่เขาทำให้ผมหมดแรงและหมดหวังจนไม่สามารถขับรถมาได้ หลวงพ่อกรุณาตอบผมโดยด่วนเลยนะครับ”

          จดหมายไม่มีซองเปล่าติดแสตมป์สอดมาด้วย เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง จึงจัดการหยิบซองมาจ่าหน้าถึงผู้รับตามที่อยู่ตรงหัวกระดาษ เสร็จแล้วจึงลงมือตอบ

                                                                             เขียนที่วัดป่ามะม่วง

                                                                   วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๑๗

เจริญพร ท่านผู้พัน ที่นับถือ

            อาตมาอ่านจดหมายของผู้พันแล้ว รู้สึกสงสารและเห็นใจเป็นที่สุด อย่าเพิ่งดีใจว่า อาตมาจะช่วยให้สมความปรารถนา อาตมาจะช่วยได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ผู้พันปรารถนานั้น มันไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม คนที่อาตมาสงสารและเห็นใจเป็นที่สุดนั้นไม่ใช่ผู้พัน หากแต่เป็นภรรยาของผู้พัน ภรรยาคนที่มีความรู้น้อย และถูกสามีตำหนิติเตียนว่าทั้งแก่และไม่สวยนั่นแหละ เรื่องทั้งหมดที่ผู้พันเล่ามา มันเหมือนนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง แต่อาตมาก็ไม่คิดว่า ผู้พันจะแต่งนิยายมาให้อาตมาอ่านหรอกนะ เพราะอาตมาไม่ใช่นักอ่าน แล้วก็คงไม่มีเวลา เพราะมีงานที่ต้องทำอีกมากมาย

            อาตมาคิดว่า ที่ภรรยาของผู้พันเขาไม่ร้องไห้นั้น คงเป็นเพราะน้ำตาตกในมากกว่า เอาล่ะ เรื่องนี้อาตมาก็ขอตอบสั้น ๆ ว่า ให้ผู้พันเลิกล้มความคิดที่จะแต่งงานกับผู้หญิงคนใหม่เสียเถิด เพราะไม่มีประโยชน์อันใดเลย อาตมาขอร้องนะ โปรดอย่าทำลายจิตใจผู้หญิงที่เป็นแม่ของลูก ปกติคนเราเมื่อตั้งความหวังในทางที่ผิด ครั้นสมหวังจะสุขสโมสรก็เฉพาะตอนต้น ๆ แล้วมันก็จะเปลี่ยนเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลัง

            เพราะฉะนั้นอาตมาจึงขอแนะนำว่า ยอมผิดหวังเสียดีกว่า ซึ่งแม้จะต้องโศกเศร้าเสียใจอาลัยหา ต่อเมื่อทำใจได้เมื่อใด ก็จะเกิดความภูมใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใคร ๆ ก็ติเตียนไม่ได้ ผู้พันลองนำไปพิจารณาดู ส่วนเรื่องการเป็นคุณหญิงนั้น อาตมาได้ตรวจสอบดูกฎแห่งกรรมของคุณโยมทั้งสองแล้ว ไม่มีใครจะได้เป็นคุณหญิง

            สุดท้ายนี้ อาตมาขอเจริญพร ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และบารมีขององค์สมเด็จพระสยามเทวาธิราช จงปกป้องคุ้มครองให้ผู้พันและครอบครัวมีความสุขความเจริญ คิดหวังสิ่งใดในทางที่ถูกที่ควร จงสมความปรารถนาทุกประการเทอญ

                                                                                                     ขอเจริญพร

                                                                                    พระครูเจริญ ฐิตธัมโม

          เขียนเสร็จ ท่านพระครูก็อ่านทบทวนอีกครั้ง เสร็จแล้วจึงพับใส่ซอง ปิดผนึกอย่างเรียบร้อย ขาข้างที่หักกำลังอักเสบ ท่านเลิกสบงดูขึ้นก็พบว่ามันบวมเป่ง ทั้งที่นวดด้วยน้ำมันมนต์ทุกวัน การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก หากท่านก็ไม่เคยคิดทดถอย แม้จะอยู่ในภาวะอาพาธเจ็บป่วย ก็ไม่เคยหยุดพัก ท่านทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ข้าราชการเขายังได้หยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ แต่ท่านพระครูเจริญแห่งวัดป่ามะม่วงไม่มีวันหยุดกับใครเขา ทั้งงานที่ทำก็ไม่มีเงินเดือนให้อีกด้วย

          ฉบับต่อมาเป็นของนางวรวิน นิลเนตร เขียนมาจากบ้านเลขที่ ๑๖๗๖/๒๑๓ ถนนเพชรเกษม อ.สามพราน จ.นครปฐม จดหมายลงวันที่ ๑  มีนาคม ๒๕๑๗ หล่อนเขียนเล่ามาว่า

          เมื่อวานนี้ดิฉันกับสามีได้พาเพื่อนชาวอเมริกันไปดูการเข้าทรงที่บางแค ดูแล้วต่างก็รู้สึกสลดหดหู่ไปตาม ๆ กัน ดิฉันจะเล่าให้ท่านพระครูฟังนะเจ้าคะ

          คณะของเราไปถึงสถานที่ที่ใช้ทำพิธี ซึ่งเขาเรียกกันว่า “พระตำหนัก” เมื่อประมาณ ๗ นาฬิกา พระตำหนักสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง (คงราคาหลายล้าน) อยู่ในเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ หน้าพระตำหนักมีรูปหล่อของหลวงพ่อทวด ตั้งตระหง่านอยู่กลางสนาม

          ผู้ไปร่วมงานมีทั้งพระและฆราวาส เวลา ๗.๓๐ น. พระสงฆ์ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ พระที่มาเจริญพระพุทธมนต์นี้ส่วนใหญ่เป็นพระราชาคณะ มีสมเด็จอยู่องค์หนึ่ง นอกนั้นก็เป็นท่านเจ้าคุณ หลวงพ่อที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดสิงห์บุรีก็ไปร่วมงานด้วย หลังจากพระเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ก็มีการถวายภัตตาหาร และเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปนั้น เสร็จแล้วท่านก็พากันกลับ ไม่ได้อยู่ดูเขาเข้าทรง และท่านก็คงไม่ทราบว่าเขาทำอะไรกันบ้าง

          ดิฉันคิดว่าคนทรงเขาเข้าใจนิมนต์พระระดับสูงมา เพื่อจะเป็นเครื่องยืนยันว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เป็นการหลอกลวงสงฆ์อย่างแนบเนียนที่สุด หลอกลวงสงฆ์มาเพื่อจะใช้หลอกชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง

          เสร็จพิธีสงฆ์แล้วก็เป็นพิธีเข้าทรง ที่ดิฉันสะท้อนสะเทือนใจมาก ก็คือ คนทรงเป็นพระภิกษุ ดิฉันรู้สึกอับอายแทนชาวไทยพุทธทั้งประเทศ ที่ยังมีชาวพุทธบางคนโง่เขลางมงายไร้เหตุผล ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาแห่งปัญญา

          นอกจากคนทรงจะเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ยังมีพระภิกษุอยู่ร่วมงานอีกกว่าสองร้อยรูป ซึ่งท่านเหล่านี้อาจจะไม่ได้ศึกษาพระวินัย เพราะคงไม่ได้ตั้งใจบวช สามีของดิฉันต้องอธิบายให้เพื่อนชาวอเมริกันฟังว่า คนพวกนี้เป็นพระเทียม ไม่ใช่พระแท้ ที่ต้องอธิบายเพราะขานับถือพระพุทธศาสนา และได้ศึกษาพระวินัยมาอย่างดี ทั้งเคยบวชมาแล้วด้วย เขาจึงวิพากษ์วิจารณ์พระเหล่านี้ว่า กระทำผิดพระพุทธบัญญัติ

          ดิฉันจะเล่าเรื่องคนทรงต่อนะเจ้าคะ เขาโกนศีรษะ ห่มผ้าเหลือง แต่งตัวเรียนแบบพระ ทั้งยังประกาศตัวว่าเป็นพระอีกด้วย เขาอ้างว่าหลวงพ่อทวดมาเข้าฝัน ขอร้องให้เขาเป็นร่างทรงของท่าน เพื่อสร้างบารมี

          เมื่อจะเริ่มเข้าทรง เขาจุดรูปมัดใหญ่ทั้งมัด แล้วเสียบไว้ในกระถางข้างหน้า แล้วจึงจุดเทียนมัดใหญ่เช่นกัน มันเทียนตั้งไว้บนศีรษะให้น้ำตาเทียนไหลย้อยมาอาบใบหน้า จากนั้นก็นั่งขัดสมาธิ ประนมมือหลับตาร่ายคาถาด้วยเสียงอันดัง ภาษาที่ใช้จะว่าบาลีก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง เพราะปนเปกันไปหมดจนฟังไม่ออก แต่ที่พอจะจับได้คำหนึ่งคือ คำว่า “เทวา” เพราะพูดซ้ำ ๆ หลายครั้ง ขณะที่ร่ายคาถา ก็นั่งขยุกขยิกท่าทางหลุกหลิก ไม่มีการสำรวมเลย ร่ายคาถาจบ ลูกศิษย์ก็จะนำจานหมากที่ผสมไว้เรียบร้อยแล้วมาประเคน เขาก็ใช้มือหยิบใส่ปาก ทำท่าเคี้ยว ๆ ปล่อยน้ำหมากไหลย้อยลงมาเปรอะคาง

          เพื่อนชาวอเมริกันบอกน่าเกลียดมาก เหมือนแคร๊กคูล่ากำลังกินเลือด เพราะน้ำหมากแดงเหมือนเลือดจริง ๆ จากนั้นพวกลูกศิษย์ก็ช่วยกันยกขันบรรจุน้ำมาให้ทำน้ำมันต์ เป็นขันทองเหลืองขนาดมหึมาบรรจุน้ำได้ ๓๐ ลิตร เขาหยิบมันเทียนจากบนศีรษะ ลงมาจ่อที่ปากขัน ให้น้ำตาเทียนหยดลงน้ำ ลูกศิษย์ส่งถาดบรรจุพวกมาลัยดอกมะลิมาให้ เขายกถาดขึ้นสูงระดับศีรษะหลับตาทำปากขมุบขมิบ ทำทีว่า “เสก” แล้วเทพวงมาลัยลงในขันน้ำมนต์

          จากนั้นทั้งพระ (เทียม) และฆราวาส ก็จะเรียงแถวกันเข้ามารับน้ำมนต์ แถวพระเข้ามาก่อน เขาก็ใช้พวงมาลัยที่ลอยอยู่ในขันน้ำมนต์ตบที่ศีรษะพระ ซึ่งเข้าไปก้มศีรษะประนมมือรับอย่างนอบน้อม หมดจากแถวพระ (เทียม) ซึ่งมีประมาณสองร้อยรูป ก็เป็นแถวของฆราวาส ซึ่งมีนายทหารยศนายพลเดินนำหน้า

          ที่ดิฉันทราบเพราะเขาแต่งเครื่องแบบมา แล้วดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เป็นนายพลจริงหรือนายพลปลอม หากเป็นตัวจริงก็น่าสงสารมาก ที่ท่านตกเป็นเครื่องมือหากินของคนพวกนั้น ท่านพระครูเจ้าคะดิฉันสลดใจเหลือเกิน ชาวพุทธเราอับจนปัญญาและไร้ที่พึงพิงเสียแล้วหรือ จึงได้ฝากชีวิตไว้กับการเซ่นเจ้าเข้าทรงเช่นนี้ พระพุทธศาสนาใกล้จะถึงจุดจบเสียแล้วหรือ จึงถูกคนใจบาปหยาบช้านำมาใช้เป็นเครื่องมือกอบโกยเงินเข้ากระเป๋า

          เพื่อนชาวอเมริกันที่ดิฉันพามาดูได้แสดงความห่วงใย หากคนศาสนาอื่นเขามาพบเข้า ก็จะเป็นจุดให้เขาโจมตีได้ ท่านพระครูคิดว่าจะแก้ไขอย่างไรดีเจ้าคะ

          สามีของดิฉันบอกว่า อยากจะไปร้องเรียนต่อมหาเถรสมาคม หรือไม่ก็กรมการศาสนา ให้เขาสอดส่องดูแลบ้าง เพราะมันเป็นภัยร้ายแรงต่อพระศาสนาของเรา เป็นการเปิดช่องให้คอมมิวนิสต์และศาสนาอื่นเขาโจมตีเอาได้ ท่านพระครูกรุณาตอบปัญหาของดิฉันด้วยนะเจ้าคะ สิ่งที่ดิฉันอยากทราบมี ๒ ประการคือ

๑.     ท่านพระครูเชื่อหรือเปล่าเจ้าคะ ว่าหลวงพ่อทวดท่านมาเข้าทรงจริง ๆ

๒.    หากคนทรงและพระที่มารับน้ำมนต์ เป็นพระแท้ จะถือว่าเป็นการผิดวินัยตามพุทธบัญญัติหรือไม่

ขอกราบพระคุณล่วงหน้าเจ้าค่ะ

นมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                                      วรวิน นิลเนตร

จดหมายทุกฉบับที่ท่านพระครูได้รับ ไม่มีฉบับใดที่ไม่ทำให้ท่านไม่เครียด พูดให้ฟังง่ายเข้าก็คือทุกฉบับล้วนแล้วแต่ทำให้ท่านเครียด แต่ความรู้สึกเช่นนี้มันก็เกิดขึ้นไม่นาน เพราะเมื่อกำหนด “เครียดหนอ เครียดหนอ” มันก็หายไป แต่ฉบับของนางวรวิน นิลเนตร นี้สิ ท่านต้องกำหนดทั้ง “เครียดหนอ” และ “สลดใจหนอ” ควบคู่กันไป กระนั้นเจ้าความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้ มันก็ยังไม่ยอมเลือนหายไป ท่านจึงต้องลุกขึ้นเดินจงกรม ให้ความเจ็บปวดในแต่ละย่างก้าวนั้นมาช่วยฆ่าความเครียดและความสลดรันทดใจ!

“ว้าย หลวงลุงทำไมลุกขึ้นเดิน ตายแล้ว ๆ ประเดี๋ยวขาก็ไม่หายหรอก” นายขุนทองส่งเสียงวี้ดว้าย เมื่อขึ้นมาเห็นกับตาว่า หลวงลุงกำลังทำอะไรอยู่

“ข้าเดินมาตั้งร่วมชั่วโมงแล้ว เอ็งเพิ่งจะมาโวยวาย มีธุระอะไรกับข้าอีกล่ะ” ท่านหยุดเดินพลางถาม

“หลวงลุงนั่งก่อนดีกว่าฮ่ะ นั่งนะคนดี๊คนดีของขุนทอง” หลานชายพูดเหมือนกับว่า “หลวงลุง” เป็นเด็กสามขวบ

“นี่นี่เจ้าขุนทอง มันจะมากไป มันจะมากไป ข้าไม่ใช่เด็กอมมือนะ เอ็งอย่ามาพูดกะข้ายังงั้น” ท่านเอ็ดหลานชาย

“ไม่พูดก็ได้ แต่หลวงลุงนั่งก่อนซีนะฮะ หนูขอร้อง”

“นั่งก็นั่ง เอาละ มีอะไรก็ว่าไป” ท่านหายเครียด หายสลดหดหู่ แต่ก็มีอันต้องกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” แทน เพราะรู้สึกปวดระบมไปทั้งร่าง โดยเฉพาะที่ขาข้างขวา

“ผัวนังเตยมาตามฮ่ะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดรายงาน

“เอ็งรู้ได้ยังไงว่า เขาเป็นผัวแม่หนูคนนั้น เขาบอกเอ็งหรือ”

“เปล่าหรอกฮ่ะ แต่หลวงลุงเคยบอกไว้ว่า วันที่ ๕ มีนา ผัวนังเตยจะมารับไปแต่งงาน หนูเลยเดาเอา ก็เขามาถามหานังเตยนี่ฮะ”

“งั้นก็บอกเขาให้ขึ้นมาหาข้าก็แล้วกัน”

“ฮ่ะ” ชายหนุ่มรับคำสั่งแล้วจึงลงไปสักพักหนึ่ง ชายหนุ่มอีกคนก็ขึ้นมา แม้หน้าตาจะเศร้าสร้อย หากก็ดูหล่อเหลาชวนมอง “มิน่า แม่หนูคนนั้นถึงได้เผลอใจเผลอกาย” ท่านเจ้าของกุฏิลงความเห็นในใจ ชายหนุ่มกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วแนะนำตัวเอง

“ผมชื่อสุเมธ มาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ” ท่านพระครูนิ่งไม่พูดไม่ถามเพราะต้องการจะ “ดัดนิสัย” ลูกผู้ชายที่ประพฤติตัวไม่สมกับเป็นลูกผู้ชาย”

“ผมมาตามหาภรรยาครับ ได้ข่าวว่ามาบวชชีอยู่ที่วัดนี้” เขาพูดอีก หากท่านพระครูก็เฉยอีก

“มีผู้หญิงชื่อเตย มาบวชที่วัดนี้หรือเปล่าครับ” เมื่อท่านเจ้าของกุฏิเฉยอีก ชายหนุ่มก็หมดความอดทน เขาพูดด้วยเสียงเยาะเย้ยประชดประชนว่า

“ผมไม่นึกเลยว่า จะมาเจอเอาพระใบ้ เจ้ากระเทยนั่นก็ไม่ยักบอกว่า สมภารวัดนี้เป็นใบ้” ได้ผล เพราะท่านพระครูพูดขึ้นว่า

“อาตมาไม่ได้เป็นใบหรอกคุณ แต่อาตมาต้องการทดสอบคนที่มาวัดนี้ ทดสอบความอดทนไงล่ะ คนที่มาวัดนี้จะต้องอดทน อดได้ ทนได้ รอได้ คุณอยากพบภรรยาไม่ใช่หรือ”

“ครับ” คราวนี้เขาพูดเสียงอ่อนลง แม้ใจจะยังรู้สึกโกรธขึ้ง

“ถ้างั้นก็นั่งรอประเดี๋ยว เดี๋ยวอาตมาจะคุยด้วย ขอตอบจดหมายฉบับนี้ให้เสร็จก่อน” แล้วท่านก็ก้มหน้าก้มตาตอบจดหมาย ที่เป็นสาเหตุแห่งความเครียดของท่าน

เจริญพร โยมที่นับถือ

          อาตมาได้อ่านจดหมายของคุณโยมแล้ว รู้สึกสลดหดหู่ใจไม่แพ้คุณโยมเช่นกัน นึกไม่ถึงว่า เรื่องที่เล่ามานั้นมัจจะเกิดขึ้นได้

          ในเรื่องนี้อาตมาเห็นว่า ถ้าคนทรงเขาเป็นฆราวาส และไม่มีพระสงฆ์ไปรับน้ำมนต์ อาตมาจะไม่นึกตำหนิเลย เพราะมันเป็นวิธีการหากินของพวกเขา ที่จะหลอกคนโง่เขลาเบาปัญญา คุณโยมอย่าไปคิดว่า คนที่เป็นชาวพุทธนั้นจะเป็นผู้มีปัญญาไปเสียหมดทุกคน พระพุทธเจ้าแห่งคนไว้ ๔ ประเภท เปรียบเทียบกับบัว ๔ เหล่า คุณโยมคงพอจะจำได้ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ และ ปทปรมะ ฉะนั้นจะให้ฉลาดหลักแหลมเหมือนกันหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้

          หากจะถามความเห็นของอาตมาว่า เชื่อหรือไม่ว่า ผู้ที่มาเข้าทรงนั้นเป็นหลวงพ่อทวด อาตมาก็ขอตอบว่าไม่เชื่อ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ท่านจะต้องทำเช่นนั้น และที่ชอบอ้างกันว่า เทพมักจะลงมาสร้างบารมีในเมืองมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ที่พึ่งของชาวพุทธก็ไม่ใช้เทพยดา หรือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ไหน แต่คือพระรัตนตรัย คุณโยมคงจะจำบทสวดมนต์ได้ บทสวดที่ว่า

          นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง – สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า

            นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง ธัมโม เม สะระณัง วะรัง – สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระธรรมเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า

            นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง – สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า

            เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุสาสะเน – ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา

          คุณโยมเห็นแล้วใช่ไหม พระพุทธองค์ ไม่ทรงสอนให้ยึดสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากพระรัตนตรัยเท่านั้น แต่ชาวพุทธทุกวันนี้เขาไปยึดอะไรกันก็ไม่รู้ เลอะเลือนล่ามป้ามกันไปหมด จนหาข้อยุติไม่ได้

          คุณโยมไม่ต้องไปกลัวว่า คอมมิวนิสต์ หรือศาสนาอื่นเขาจะมาทำลายพระพุทธศาสนาของเราหรอก ไม่ต้องกลัว ผู้ที่จะทำลายก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี่แหละ พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า ศาสนาจะตั้งอยู่ได้นาน ก็เพราะพุทธบริษัท ๔ และจะเสื่อมไปก็เพราะพุทธบริษัท ๔ เช่นกัน ก็ยังดีที่ในปัจจุบันนี้ไม่มีภิกษุณีแล้ว ผู้ที่จะทำลายจึงเหลือเพียงสามคือ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา อาตมาเองพยายามอุทิศเวลาเพื่อพระศาสนา อุทิศทั้งเวลาและชีวิต จะพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด จนกว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง อาตมาทำได้เพียงเท่านี้

          ในที่สุด อาตมาขอสรุปสั้น ๆ ว่า เมื่อมีหลวงพ่อทวด ก็ต้องมีหลวงพ่อเทียบ หลวงพ่อเทียม มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้วสำหรับสมัยนี้ คนที่มีปัญญา เขาก็จะรู้เองว่า นี่เป็นหลวงพ่อเทียม ไม่ใช่หลวงพ่อทวด ส่วนคนเขลาเบาปัญญา ถึงคุณโยมจะไปบอกเขาว่า เป็นหลวงพ่อเทียม เขาก็ยังเชื่อว่าเป็นหลวงพ่อทวดอยู่นั่นเอง ก็ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา ขอให้คุณโยมวางใจเป็นอุเบกขาเถิด อาตมาขอเจริญพร..

 

มีต่อ........๖๕

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 26, 2007, 07:34:57 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00065
๖๕...

            พับจดหมายใส่ซองปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเอ่ยถามชายหนุ่มตรงหน้า “คุณว่าคุณมาตามภรรยาหรือ” ไม่ปรากฏบ่อยนักที่ท่านจะใช้คำว่า “คุณ” กับผู้ใด เพราะคำ ๆ นี้จะถูกนำมาใช้กับเฉพาะแต่กับคนที่ท่านรู้ว่าเขามีความรู้สึก “ห่างเหิน” ต่อท่านเท่านั้น ความรู้สึกดังกล่าวขึ้นอยู่กับ “คุณสมบัติทางใจ” ของแต่ละคน

            ผู้ที่มาวัดป่ามะม่วงส่วนใหญ่จะมาเพราะศรัทธานับถือในท่านพระครู หากก็มีบางคนที่มาแล้วเกิดความรู้สึกไม่ยอมรับนับถือท่าน ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติทางใจของเขาเป็นไปในทางลบ เช่นเป็นคนที่ชอบสร้างอกุศลกรรมเป็นเนืองนิตย์ จนจิตคุณเคยกับความชั่วร้าย ครั้นเมื่อมาพบบุคคลเช่นท่าน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติทางใจตรงข้ามกับของตน จึงไม่สามารถทำใจให้ยอมรับนับถือได้

            เมื่อเขามีความรู้สึกห่างเหินต่อท่านเช่นนี้ ท่านจึงต้องวางตนให้เหมาะสมกับความรู้สึกของเขาด้วย การไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงความเป็นกันเองให้เขาต้องอึดอัดขัดข้องใจ

            “ครับ เห็นเขาว่าเธอหนีมาบวชชีที่วัดนี้”

            “ทำไมถึงต้องหนีมาล่ะ” ท่านทดสอบ “คุณสมบัติทางใจ” ของบุรุษตรงหน้า

            “เรามีเรื่องกันนิดหน่อยครับ เรื่องของผัวเมีย” คำตอบนั้นบอกเป็นนัย ๆ ว่า “คนเป็นพระอย่ามายุ่ง”

         เอ ถ้าอย่างนั้นเห็นจะเป็นคนละคนเสียแล้ว เพราะแม่หนูคนที่ชื่อเตย เขาบอกอาตมาว่าเขายังไม่ได้แต่งงาน สงสัยคุณคงจะมาผิดวัดเสียแล้ว” ชายหนุ่มรู้สึกผิดหวัง แต่แล้วก็ถามอีกว่า

            “เขาท้องหรือเปล่าครับ ภรรยาผมเขาตั้งท้องอ่อน ๆ”

            “อันนี้อาตมาไม่ขอตอบ เพราะมันเป็นความลับของเขา ว่าแต่ว่าคุณเป็นสามีทำไมถึงปล่อยให้เขาหนีมาบวชล่ะ” ท่านซักไซ้เพื่อให้เขาสารภาพผิด

            “ผมเรียนท่านตั้งแต่ต้นแล้วนี่ครับว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย ท่านเป็นพระก็อยู่ส่วนพระ” นอกจากจะไม่ยอมสารภาพแล้ว เขายังใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรกับท่านอีกด้วย

            “ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็ต้องขอโทษที่เข้าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของคุณ ที่ถามเพราะอยากจะช่วยแก้ปัญหา แต่ในเมื่อคุณคิดว่าอาตมายุ่งก็ต้องขอโทษด้วย” เห็นท่านยอมรับผิด ชายหนุ่มจึงรุกอีกว่า

            “ท่านอนุญาตให้เขาบวชได้ยังไง คนหนีผัวมาท่านก็ยังบวชให้ ผมว่าท่านทำไม่ถูกต้องนะครับ”

            “ใครว่าอาตมาให้เขาบวชล่ะคุณ” เจ้าของกุฏิแย้ง รู้สึกสมเพชบุรุษตรงหน้าเสียนัก “กฎแห่งกรรม” ของเขาเปิดเผยให้เห็นว่าเขาไม่มี “ทุนเดิม” อยู่เลย ทุนเดิมที่หมายถึงบุญกุศล

            “อ้าว ถ้าไม่ได้บวชแล้วทำไมเขาหายมาตั้งร่วมยี่สิบวัน แล้วเขามอยู่ที่นี่ในฐานะอะไร หลวงพ่อให้เขาอยู่ในฐานะอะไรไม่ทราบ” ชายหนุ่มแสดงอาการก้าวร้าวและคิดอกุศลต่อท่านเจ้าอาวาสเพราะ ฤทธิ์หึง

            “คุณ อย่าคิดอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้หน่อยเลย มโนทุจริตก็มีทุกข์มีโทษนะคุณ อาตมาไม่เคยคิดอกุศลเช่นนั้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ประเดี๋ยวอาตมาจะให้เด็กเขาไปเรียกแม่หนูคนนั้นมา แล้วคุณลองไปคุยกับเขา ไปถามเขาดู ไม่ต้องถามต่อหน้าอาตมาก็ได้ เพราะเดี๋ยวจะไม่กล้าพูดความจริงต่อกัน คุณลงไปรอเขานะ ให้รออยู่ข้างล่างนั่นแหละ ถ้ายังมีข้อข้องใจสงสัยค่อยขึ้นมาถามอาตมา”

            “ขอผมไปรอเขาที่อื่นไม่ได้หรือข้างล่างเหม็นออกจะตายไป เหม็นตาแก่ที่นั่งหลับตาอยู่นั่น” เขาหมายถึงอาจารย์ชิต ช่วงที่มานั่งรอนายขุนทองขึ้นมารายงานท่านเจ้าของกุฏิ เขาต้องทนนั่งดมกลิ่นร้ายกาจที่โชยมาจากกายของบุรุษนั้น

            “งั้นก็ไปนั่งรอที่ศาลาริมแม่น้ำก็ได้ ที่นั่นอากาศดี แล้วบอกเด็กของอาตมา ให้พาแม่หนูเตยไปหาที่นั่น” ท่านแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นให้เขา

            “งั้นผมไปละ คงจะเป็นคนเดียวกับภรรยาผม” เขาว่า แล้วจึงลุกออกไปโดยมิได้ทำความเคารพ

            นายขุนทองนั่งรอฟังข่าวอยู่ครั้นเห็นเขาลงมาจึงถาม

            “ท่านว่ายังไงบ้างฮะพี่” คนถามอยากรู้

            “จะว่ายังไงกันไม่ใช่เรื่องของแก พาฉันไปรอที่ศาลาท่าน้ำ แล้วไปตามเมียฉันให้มาพบด้วย” คนถูกถามออกคำสั่ง นายขุนทองรู้สึกขัดเคืองกับถ้อยคำและกิริยาของอีกฝ่าย แรกเห็น เขาแอบชื่นชมในใจว่า “สุดหล่อ” ครั้นได้ฟังถ้อยคำ ได้เห็นกิริยาเย่อหยิ่งจองหองของชายหนุ่ม จึงประเมินค่าบุรุษนั้นในใจ หล่อแต่รูปจูบไม่หอม”

            “หลวงลุงสั่งหรือ” เขาถาม หากไม่ใช่คำสั่งของท่านพระครู เขาจะไม่ยอมไป ด้วยนึกชังน้ำหน้าคนยโสโอหัง

            “ทำไมต้องให้ท่านสั่ง ฉันสั่งไม่ได้หรือไง” ชายหนุ่มถามพาล ๆ

            “ได้ คุณสั่งได้ แต่ผมไม่จำเป็นต้องทำ เพราะคุณไม่ใช่เจ้านายผม แล้วผมก็ไม่ชอบให้ใครมาวางอำนาจที่กุฏิหลวงลุงของผม ขนาดรัฐมนตรีเขายังไม่วางอำนาจเลย แล้วคุณเป็นใครไม่ทราบ” ความโกรธทำให้นายขุนทองเรียกความรู้สึกความเป็นผู้ชายกลับคืนมา สายตาดูถูกดูแคลนของอีกฝ่าย ทำให้เขาต้องปิดบังซ่อนเร้นความรู้สึกที่อยากจะเป็นเอาไว้ คนทั้งสองทุ่มเถียงกันหนักขึ้นและเสียงก็ดังขึ้น ๆ ตามลำดับ อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ เสียงหนอ” อย่างแสนจะรำคาญ กระทั่งได้ยินนายสมชายเข้าห้ามทัพ

            “เรื่องอะไรกัน เกรงใจอาจารย์เขาบ้างซี”

            “ผู้ชายคนนี้ มาหาเรื่องกับผมก่อน” นายขุนทอง “ฟ้อง” ศิษย์วัดรู้สึกดีใจที่เพื่อนร่วมกุฏิใช้คำว่า “ผม” แทนที่จะเป็น “หนู” อย่างเคย ทั้งซุ่มเสียงก็ฟังดูเป็นผู้ชายเฉกเช่นคนอื่นเขา

            “ใครหาเรื่องใคร ฉันใช้แกดี ๆ แกก็มาพาลเอากะฉัน” คนมาตามหาเมียเถียง

            “เขาใช้อะไรเอ็งก็ไปทำเสียสิขุนทอง เขาเป็นแขกหลวงพ่อนะ” ชายหนุ่มเตือนสติคนอายุน้อยกว่า แล้วถามคนเป็นแขกว่า

            “คุณใช้เขาทำอะไรหรือครับ”

            “ฉันให้เขาช่วยพาไปที่ศาลาท่าน้ำแล้วก็ให้ตามเมียฉันไปที่นั่น” เห็นนายสมชายเข้าข้าง ชายหนุ่มยิ่งแสดงทีท่าว่าตัวเองสำคัญและยิ่งใหญ่

            “ขอโทษนะครับ ภรรยาคุณชื่ออะไรครับ ประเดี๋ยวผมจะจัดการให้”

            “ชื่อเตย แต่ฉันต้องการให้นายคนนี้จัดการ”

            “เอาเถอะครับ เรื่องแค่นี้ผมทำให้ได้ อย่าคิดไปเอาชนะคะคานกับเขาเลยครับ เพื่อนผมเขาเหมือนโคนันทวิศาล ถ้าพูดดี ๆ เขาทำใจขาดไปเลย แต่ถ้าพูดไม่เข้าหู ให้เอาไปฆ่าเขาก็ไม่ยอมทำให้หรอกครับ” ศิษย์วัดชี้แจง

            “งั้นก็ดีละ ฉันมันคนชอบเอาชนะเสียด้วย แกพาฉันไปเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นฉันจะขึ้นไปฟ้องหลวงพ่อ” ชายหนุ่มขู่

            “ผมไม่ไป” นายขุนทองปฏิเสธเสียงดังและเฉียบขาด นายสมชายสุดจะทานทน เพราะ “ขิงก็ราข่าก็แรง” เขาจึงจำต้องขึ้นไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง ท่านจึงบอกนายสมชายว่า

            “ลงไปบอกเจ้าขุนทองมันว่า ถ้าไม่พาไป ฉันจะเป็นคนพาไปเอง พาไปทั้งขาหัก ๆ ยังงี้แหละ” ท่านรู้ว่าแม้หลานชายจะมีทิฐิมากเพียงใดก็ยังพดพูดกันรู้เรื่อง แต่คนที่มีคุณสมบัติทางใจไปในทางลบนั้น ไม่มีวันพูดกันได้เลย

            เมื่อนายสมชายลงมาบอกกล่าว นายขุนทองจึงพูดกับชายผู้นั้นว่า

            “ตกลงผมยอมแพ้ เชิญทางนี้” เขาลุกขึ้นเดินนำ ความรักและห่วงใยในหลวงลุงมีมากกว่าความอยากเอาชนะเจ้าหนุ่มใจอกุศลผู้นี้ “ถ้าไม่ใช่เพราะข้าห่วงหลวงลุงละก็ อย่าหวังเลยว่าข้าจะยอมแพ้เอ็ง” ชายหนุ่มคิดอย่างคั่งแค้น ขณะพาว่าที่สามีนางสาวเตยเดินไปยังท่าน้ำ ส่งเขาแล้วจึงเดินไปยังโรงครัว เพื่อบอกกล่าวบุคคลผู้เป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยากที่เกิดขึ้น เขาไปพบนางบุญพาน้องสาวนางบุญรับ ผู้มีคุณสมบัติ “ปากคอเราะร้าย” ไม่แพ้พี่สาว นางอาสามาเป็นคนล้างจานชามและเป็นลูกมือให้แม่ครัว เช่น ช่วยหั่นผัก ปอกหอม ปอกกระเทียม เป็นต้น

            “ป้าเห็นนังเตยอยู่แถวนี้บ้างไหม” ชายหนุ่มถาม

            “ตะกี้มันมากินข้าว แหม พอถูกข้าสะกิดเข้าหน่อยหายหัวไปเลย สงสัยจะไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าโบสถ์ละมั้ง เอ็งลองตามไปดูซิ”

            “ป้าไปสะกิดอะไรเขาล่ะ” นายขุนทองถาม คนที่มาวัดนี้ใช่จะเป็นคนดีไปเสียหมด ก็ดูอย่างเจ้าหนุ่มคนนั้นและยายแก่คนนี้สิ น่าสงสารหลวงลุงแท้ ๆ ที่ท่านไม่มีโอกาสเลือกสรรคนดี ๆ มาช่วยงาน เขาเคยคิดเหมือนกัน คิดว่าจะเขียนป้ายไปติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้า เขียนว่า “วัดนี้ต้อนรับเฉพาะคนดี” ก็ว่าจะลองไปปรึกษาหลวงลุงดูเหมือนกัน ขณะเขาหันหลังกลับเพื่อจะเดินไปยังพระอุโบสถ นางบุญพายังอุตส่าห์ส่งท้ายให้ได้ยินว่า

            “สงสัยจะหลงรักเมียคนอื่น อีเตยจะหาพ่อให้ลูกได้กันคราวนี้แหละ” แม้จะโกรธเคืองกับวาจากล่าวร้ายเสียดสี หากนายขุนทองก็ระงับอารมณ์ได้ เขารู้ว่าหากไปมีเรื่องกับใครเข้า คนที่จะต้องเดือดร้อนมากที่สุดก็คือหลวงลุงของเขา อีกประการหนึ่งท่านก็อยู่ในภาวะอาพาธป่วยไข้ ควรหรือที่เขาจะหาเรื่องหักอกหนักใจไปให้

            นางสาวเตยกำลังนั่งสมาธิ หล่อนพยายามระงับอารมณ์โกรธขึ้งที่มีต่อนางบุญพา เมื่อชั่วโมงที่ผ่านมานี้เอง ขณะที่หล่อนนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ในโรงครัว นางบุญพาก็ด่าหมาด่าแมวประชด หล่อนอยากจะลืมถ้อยคำเสียดสีเหล่านั้น แต่ยิ่งนั่งก็ยิ่งดูเหมือนเสียงของนางบุญพาจะดังก้องอยู่ในโสตประสาท เสียงที่หล่อนไม่ปรารถนาจะได้ยินได้ฟัง “อีพวกแม่หม้ายผัวทิ้ง” นางด่าบรรดาหมาแมวที่มายุ่มย่ามอยู่แถวนั้น เพื่อรอคอยกินเศษอาหาร พรางปรายตามาทางหล่อน ครั้นไม่เห็นปฏิกิริยาตอบโต้จึงดำเนินการด่าต่อไป “พวกมึงก็ดีแต่แร่ด ๆ ไปวัน ๆ เสร็จแล้วก็ท้องไม่มีพ่อ อีพวกตูดไว ไม่เลือกว่าไทยว่าแขก ขอให้เป็นตัวผู้เป็นดิ๊ก ๆ เข้าใส่”

         “โกรธหนอ โกรธหนอ” หญิงสาวกำหนดอยู่ในใจ เกิดอาการคอแข็งกินข้าวไม่ลง ในที่สุดจึงลุกเดินออกมา ตั้งใจว่าจะไปนั่งสงบสติอารมณ์ที่หน้าโบสถ์ แต่แล้วหล่อนก็นั่งอยู่ไม่ได้เลยต้องลุกขึ้นเดินจงกรม ครั้นเห็นนายขุนทองเดินมามาหา ก็เอ่ยถาม

            “พี่มีธุระอะไรกับหนูหรือเปล่า หรือว่าหลวงพ่อให้มาตาม” หล่อนลืมไปแล้วว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ เพราะขะมักขะเม้นกับการปฏิบัติจนลืมวันลืมเวลา

            ผัวเอ็งมารออยู่ที่ศาลาท่าน้ำ รีบไปหาเขาเร็ว ๆ เข้า” บอกแล้วก็ตั้งท่าจะเดินกลับ นางสาวเตยเห็นผิดสังเกต เพราะทุกครั้งเขาจะพูดคุยต่อล้อต่อเถียงกับหล่อน ทว่าวันนี้ดูเขาเงียบขรึมผิดปกติ จึงถาม

            “วันนี้พี่ไม่สบายหรือเปล่า”

            “ข้าสบายดี รีบไปหาผัวเองก่อนเถอะ ประเดี๋ยวเขาจะพาลเอากะข้าอีกหรอก”

 

            “แสดงเขาพูดไม่ดีกับพี่ใช่ไหมล่ะ หนูพอจะรู้หรอก ผู้ชายคนนี้นิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หนูชักไม่อยากแต่งงานกับเขาแล้วละ” หล่อนพูดจากใจจริง ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับการมาของเขา ช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติ จิตใจของหล่อนละเอียดประณีตขึ้นตามลำดับ และบัดนี้ “ปัญญา” ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาในการมองสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงโดยไม่เอาตัณหา อุปาทานเข้าไปเกาะเกี่ยว

            “แต่เอ็งก็ต้องแต่งนะ เพราะเอ็งท้องกับเขาแล้ว นี่ถ้าเอ็งไม่ท้องไม่ไส้ ข้าก็จะไม่สนับสนุนให้เอ็งแต่งกับเขาหรอก” เห็นหญิงสาวไม่เข้าข้างหนุ่มคนรัก นายขุนทองก็อารมณ์ดีขึ้น จึงแสดงความห่วงใยออกมา

            “นั่นสิ แต่พูดก็พูดเถอะนะพี่ ถ้าหนูแต่งงานกับเขาแล้ว เขายังไม่เปลี่ยนนิสัย หนูก็จะเลิกกับเขา “ หนูเลี้ยงลูกเองได้ นี่หนูพูดจริง ๆ นะพี่” หล่อนพอที่จะมองเห็นอนาคต การร่วมชีวิตกับผู้ชายคนนั้นคงจะไม่ยั่งยืน หากเขายังคงเป็นเช่นที่กำลังเป็นอยู่

            “เอาเถอะ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน รีบ ๆ ไปหาเขาเถอะ ถ้าเอ็งไม่อยากให้ข้าต้องเดือดร้อน” พูดจบคนนำข่าวมาให้ก็เดินกลับไปยังกุฏิ นางสาวเตยตั้งสติกำหนด “ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย” ไปตลอดทางทุกย่างก้าว กระทั่งถึงศาลาริมน้ำ

            “เตย เตยจริง ๆ นั่นแหละ” คนที่คอยอยู่ลุกเดินเข้ามาหา ครั้นถึงตัวก็เข้าโอบกอด ผู้หญิงท้องดูเปล่งปลั่งสดใส จึงดูสะสวยไปทั้งร่าง

            “พี่เมธอย่าทำยังงี้ นี่มันในวัดในวานะ” นางสาวเตยว่า พลางแกะมือคนรักออกจากการโอบกอด

            “ในวัดที่ไหนกัน นี่มันนอกวัด นั่งไงประตู เขาชี้ไปที่ประตูที่เขาเดินออกมาสู่ศาลาแห่งนี้

            “ถึงยังงั้นก็เถอะ ฉันกำลังเข้ากรรมฐาน พี่จะมาทำยังงี้กะฉันไม่ได้ คำว่า “กรรมฐาน” ไม่เคยผ่านหูนายสุเมธ เขาจึงคิดอกุศลกับหล่อน

            “อ้อ เดี๋ยวนี้เธอรังเกียจพี่เสียแล้วหรือ ทีแต่ก่อนไม่เห็นเป็นนี่นา คงเจออะไรดี ๆ เข้าล่ะซี กับสมภารหรือกับลูกศิษย์ล่ะ”

            “พี่เมธ! หญิงสาวเรียกชื่อคนรักด้วยเสียงเกือบเป็นตะโกน

            “พี่อย่าเอานรกมาให้ฉันได้ไหม พี่รู้หรือเปล่าว่าพูดอะไรออกมา หลวงพ่อท่านรู้นะ พี่จะพูดจะคิดยังไงท่านรู้หมดนั่นแหละ”

            “อ้อ นี่เธอกำลังจะบอกพี่ว่าเขาเป็นผู้วิเศษงั้นซี” นายสุเมธพูดด้วยมีจิตริษยาในท่านพระครู

            “ไม่ใช่เขานะ พี่ต้องพูดว่า “ท่าน” ถึงจะถูก นี่ฉันพูดจริง ๆ นะว่าท่านรู้ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้เป็นผู้วิเศษ แต่ท่านก็รู้ ฉันคิดอะไร พูดอะไรกับใครท่านก็รู้หมด” แล้วหล่อนจึงเล่าเรื่องราวให้เขาฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยความมั่นใจว่าเขาจะต้องเกิดศรัทธาปสาทะบ้างไม่มากก็น้อย หากก็ต้องผิดหวังเมื่อนายสุเมธพูดว่า

         “โธ่เอ๊ย จ้างพี่ก็ไม่เชื่อ อะไรจะเก่งถึงปานนั้น พี่ว่าเดาเก่งเสียมากกว่า” นางสาวเตยคร้านจะพูดต่อ “ปัญญา” ทำให้หล่อนมองชายคนรักอย่างทะลุปรุโปร่ง ชายผู้นี้ “มืดบอด” จนไม่ยอมรับว่าแสงสว่างมีอยู่ในโลก!

         “ตกลง ฉันจะยังไม่กลับนะ อยากอยู่ให้สบายใจไปอีกซักสีห้าวัน” หญิงสาวพูดจากใจจริง

         “อ้อ อยู่มาร่วมยี่สิบวันยังไม่พอใจหรือ สมภารวัดนี้คงเสน่ห์แรงซีนะ เธอถึงได้อยากจะอยู่ต่อ” วจีทุจริตพรั่งพรูออกมาจากมโนทุจริต นางสาวเตยสุดจะทนฟัง หล่อนรู้ว่า หากขืนดื้อดึงอยู่ตอไปก็รังแต่จะทำให้ผู้ชายคนนี้ยิ่งบาปหนักหนามากขึ้น ถึงอย่างไรเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อของลูกในท้อง การจะทำให้เขาต้องมืดมนมากไปกว่านี้หาควรไม่

         “ตกลง กลับก็กลับ งั้นให้ฉันไปลาหลวงพ่อก่อนนะ มาอาศัยข้าวน้ำท่านตั้งหลายวัน ต้องไปกราบขอบคุณท่าน”

         “เธอขึ้นไปคนเดียวนะ พี่จะรออยู่ข้างล่าง อ้อ ชวนเจ้ากระเทยนั่นขึ้นไปเป็นเพื่อนด้วย” ชายหนุ่มพูด เขารู้สึกไม่ชอบท่านเอามาก ๆ ถึงกับไม่อยากขึ้นไปพบปะ อันที่จริง “กระแสบาป” ของเขาไม่อาจต้าน “กระแสบุญ” ของท่านได้ต่างหากเล่า

         ครู่ใหญ่ ๆ นายขุนทองก็นำนางสาวเตยขึ้นมาพบท่านเจ้าของกุฏิ นายสมชายตามขึ้นมาด้วย เพราะไม่อยากอยู่ดูหน้าชายคนนั้น อาจารย์ชิตรู้ว่าเขาคงจะรังเกียจ จึงเลี่ยงออกไปเดินจงกรมที่หน้าโบสถ์ ชั้นล่างของกุฏิจึงมีนายสุเมธนั่งรออยู่อย่างกระสับกระส่าย

         กราบท่านพระครูแล้ว นางสาวเตย ก็นั่งร้องไห้กระซิก ๆ “ร้องไห้ทำไมอีกล่ะ เขามารับแล้วไม่ใช่หรือ” ท่านถามอย่างปรานี

         “หนูไม่อยากไปค่ะหลวงพ่อ อยู่ที่นี่สบายอกสบายใจดีเหลือเกิน ถึงจะถูกยายบุญพาว่ากระทบกระเทียบหนูก็ทำใจได้ ดีเสียอีกจะได้ทำแบบฝึกหัดไปในตัว” หล่อนพรรณนา

         “กลับไปเถอะหนู ไปแต่งงานแต่งการให้เป็นเรื่องเป็นราว พ่อแม่เขาจะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้า เอาเถอะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนอะไรมันจะเกิดขึ้นภายหลังก็ค่อยว่ากันใหม่” ท่านเห็นกฎแห่งกรรมของคนคู่นี้แล้วว่าจะอยู่กันไม่ยืดเพราะ “ธรรมไม่เสมอกัน”

            “แต่หนูสังหรใจค่ะหลวงพ่อ สังหรณ์ใจว่าคงจะอยู่กันไม่ยืด หลวงพ่อมีความเห็นอย่างไรคะ” หล่อนถามเพราะรู้ว่าท่านต้อง “รู้”

         “ในตอนนี้หลวงพ่อยังไม่มีความเห็นอะไร แต่ถ้าต่อไปในภายภาคหน้า หากหนูมีปัญหาอะไรจะปรึกษาก็มาหาหลวงพ่อได้ หลวงพ่อยินดีรับปรึกษาโดยไม่คิดมูลค่า” ท่านตั้งใจพูดตลกเพื่อคลี่คลายบรรยากาศที่แสนจะเคร่งเครียดให้คลายความเครียดลง

         “เอาละ ในฐานที่หนูจะมีคู่ หลวงพ่อก็จะพูดถึงหลักธรรมของคู่ชีวิตให้ฟัง เพื่อหนูจะได้จดจำเอาไว้ประพฤติปฏิบัติ หลักธรรมของคู่ชีวิต คือธรรมที่ทำให้คู่สมรสมีชีวิตสม่ำเสมอกลมกลืนกัน อยู่ครองกันยืดยาว เราเรียกธรรมนั้นว่า “สมชีวิธรรม ๔”  ซึ่งได้แก่ สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน สมสีลา – มีศีลเสมอกัน สมจาคา – มีการเสียสละเสมอกัน และ สมปัญญา – มีปัญญาเสมอกัน คู่สมรสใดมีธรรมทั้ง ๔ นี้เหมือนกัน ก็จะอยู่ด้วยกันยืด แต่ถ้าคนหนึ่งมีศีล คนหนึ่งทุศีล ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ จริงไหม เพราะศีลไม่เสมอกัน ข้ออื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้” คำสอนของท่านพระครูทำให้นางสาวเตยสรุปได้ในเดี๋ยวนั้นว่าหล่อนกับนายสุเมธไม่มี “ธรรม” เสมอกันสักประการเดียว ไม่ว่าจะเป็น ศรัทธา ศีล การเสียสละ หรือ ปัญญา!

         “หลวงพ่อคะ หนูขอพรให้ลูกในท้องด้วยค่ะ” เมื่อพูดเรื่อง “ผัว” แล้วทำให้หล่อนไม่สบายใจ จึงเปลี่ยนมาพูดถึง “ลูก” แทน

         “หลวงพ่อขออวยพร ขอให้นักปราชญ์มาเกิดนะ แต่หนูก็ต้องทำให้พรนั้นสัมฤทธิ์ผลด้วย โบราณเขาสอนไว้ ถ้าเรือนสกปรก สัตว์นรกจะมาเกิด ถ้าเรือนสะอาด นักปราชญ์มาเกิด เรือนในที่นี้ก็หมายถึงเรือนกาย เรือนวาจา และเรือนใจ หรือจะหมายถึงที่อยู่อาศัยก็ได้ ถ้าเรามีกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ คนที่เขาจะมาเกิดกับเราก็ต้องมาจากที่ดี แต่ถ้าเรือนสกปรก แน่นอนเหลือเกินว่า ผู้ที่จะมาเกิดนั้นจะต้องมาจากนรก เราจะรู้ได้เลยว่าลูกเรานี่เป็นนักปราชญ์หรือเป็นสัตว์นรกมาเกิด

         ถ้าใครมีลูกที่มาจากนรกนะ เชื่อเถอะพ่อแม่หาความสุขไม่ได้เลย เพราะเขาจะเถียงพ่อแม่คำไม่ตกฟาก แล้วก็ขยันหาเรื่องเดือนร้อนมาให้ แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์มาเกิด ก็จะทำให้พ่อแม่สุขสบายทั้งกายทั้งใจ แล้วก็จะนำชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูล

            หนูหมั่นรักษากายวาจาใจให้สะอาดหมดจดด้วยการหมั่นเจริญกรรมฐานนะหนูนะ แล้วหนูจะประสบความสุขความเจริญในชีวิต เอาละ กลับไปได้แล้ว ประเดี๋ยวคู่รักเขาจะรอนาน” ท่านพูดเพราะ “รู้” ว่านายสุเมธกำลังนั่งด่าท่านในใจ ท่านยังรู้อีกว่าไม่นานนักหรอกที่คนคู่นี้จะต้องเลิกร้างกันไป และต่างก็จะพบกับคนที่มีธรรมเสมอกับตน คือมีคุณสมบัติทางใจเหมือน ๆ กัน...

 

            มีต่อ........๖๖

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 27, 2007, 07:52:01 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00066
๖๖...

         เป็นวันที่อาจารย์ชิตมาอยู่วัดป่ามะม่วงครบเดือนพอดี เขาตื่นนอนตอนตี ๔ เช่นเคย ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็เริ่มเดินจงกรมอยู่ภายในกุฏิเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงกำหนดนั่ง รู้สึกจิตตั้งมั่นได้เร็วกว่าทุกครั้ง อาการพอง-ยุบ ชัดเจนเป็นจังหวะ แม้จะรู้สึกปวดที่กกหูข้างขวา หากก็สามารถใช้สติข่มเวทนาได้ บัดนี้เขาไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก เพราะจิตสามารถรู้ได้เองว่าถึงเวลาที่กำหนดแล้วหรือยัง เป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้แต่เฉพาะกับผู้ที่ฝึกจิตไว้ดีแล้วเท่านั้น

         อีกสิบห้านาทีจะครบชั่วโมง บุรุษสูงวัยรู้สึกปวดที่แผลเป็นกำลัง ปวดราวกับจะไม่สามารถทานทนได้ น้ำเหลืองไหลออกมามากผิดปกติ จนเสื้อที่สวมอยู่เปียกขึ้น แล้วยังไหลเลยไปเปียกกางเกงอีกด้วย ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น เขารวบรวมสติตั้งจิตอธิษฐาน

            “สาธุ ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และบารมีของท่านพระครูเจริญแห่งวัดป่ามะม่วง หากทุกขเวทนาที่ข้าพเจ้ากำลังได้รับอยู่นี้ มีสาเหตุมาจากกรรมที่ข้าพเจ้าได้เคยทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือในอดีตชาติ ขอให้ข้าพเจ้าสามารถระลึกนึกย้อนไปถึงกรรมนั้นได้ เพื่อจะขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ขอให้ข้าพเจ้าจงหมดเวรกรรมในชาติปัจจุบันด้วยเทอญ”

         สิ้นคำอธิษฐาน ภาพยนตร์แห่งอดีตที่ตัวเขาเป็นผู้แสดงก็ฉายชัดขึ้นในมโนภาพ ผู้ชายอายุสามสิบกำลังขะมักเขม้นเรียนวิชาที่อาจารย์กำลังสอน คนคนนั้นคือตัวเขาเอง เมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในสาขาวิชาการเกษตร ในหลักสูตรมีวิชา “วิธีการฆ่า” รวมอยู่ด้วย และในการเรียน นักเรียนก็ต้องลงมือฆ่าสัตว์กันคราวละหลาย ๆ ตัว สัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหาร เช่น เป็ด ไก่ หมู และ วัว

         เขาจำได้ว่ากว่าจะจบหลักสูตร ได้ฆ่าสัตว์เหล่านี้ไปนับร้อย ๆ ชีวิต โดยการใช้มีดปลายแหลมแทงที่บริเวณคอ ผลกรรมอันนี้จึงทำให้เขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โชคยังดีที่เขาไม่ได้นำวิชานี้มาเปิดสอนนักศึกษาในเมืองไทย มิฉะนั้นก็คงก่อกรรมทำเข็ญมากกว่านี้

         เมื่อภาพยนตร์แห่งอดีตฉายจบลง เขาจึงตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ตนเคยฆ่า และคงจะได้ผล เพราะเขาได้ยินชัดเจน....เสียงที่ก้องอยู่ในโสตประสาทว่า “อโหสิ อโหสิ อโหสิ สาธุ อนุโมทามิ”

            สิ้นเสียงของเจ้ากรรมนายเวร อาการปวดแผลหายวับไปราวกับไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดเช่นนี้มาก่อน จิตของบุรุษสูงวัยรับรู้ว่าหมดเวลาของการนั่งแล้ว เขาจึงกำหนดลืมตา เอมือคลำที่ใต้กกหูข้างขวาก็ไม่ปรากฏว่ามีแผล แถมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นก็แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นชวนให้ขยะแขยงใด ๆ หลงเหลืออยู่ อารามดีใจเขาส่งเสียงเรียกนายสมชายและนายขุนทองดังลั่นกุฏิ

         “สมชาย ขุนทอง มานี่หน่อย นายขุนทองเข้ามาก่อนเพราะอยู่ใกล้ ส่วนนายสมชายนั้นเมื่อไม่ได้ทำหน้าที่หิ้วปิ่นโตตามหลังท่านพระครูในเวลาที่ท่านออกบิณฑบาต จึงถือโอกาสนอนตื่นสาย และไม่ได้ยินเสียงเรียกของบุรุษวัยหกสิบ

         “อาจารย์เรียกหนูเหรอฮะ” ชายหนุ่มถาม

         “ถูกแล้ว ช่วยขึ้นไปเรียนให้หลวงพ่อทราบหน่อยว่าผมมีธุระของพบด่วน”

         “ฮะ แต่หนูขออนุญาตล้างหน้าแปรงฟันก่อนได้ไหมฮะ” เขาต่อรองและแล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นท่าทางรีบร้อนของอีกฝ่าย “ตกลงฮะ หนูจะขึ้นไปเรียนท่านเดี๋ยวนี้” เขาหายขึ้นไปอึดใจหนึ่งก็ลงมา

         “หลวงลุงบอกให้ขึ้นไปได้เลยฮะ” อาจารย์ชิตจึงขึ้นไปกราบท่านพระครูสามครั้งอย่างสำนึกในบุญคุณ เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านเจ้าของกุฏิฟัง รู้สึกปีติจนน้ำใส ๆ คลอหน่วยตาทั้งสอง

         “อาตมาขออนุโมทนา โยมหมดเวรหมดกรรมแล้ว กรรมเก่าชดใช้แล้ว กรรมใหม่ก็อย่างสร้างอีก นี่อาตมาหมายเฉพาะกรรมชั่วนะ อย่าไปสร้างอีก ถ้าจะสร้างก็ขอให้เป็นกรรมดี เข้าใจหรือเปล่า”

         “เข้าใจครับ ผมเข็ดแล้วครับหลวงพ่อ เข็ดจริง ๆ ไม่นึกเลยว่าเวรกรรมจะให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ ผมลืมไปสนิทเลยครับว่าได้ทำกรรมนี้เอาไว้ ก็มันผ่านมาตั้งสามสิบปีแล้วนี่ครับ” บุรุษสูงอายุว่า

         “นั่นสิ อย่าว่าแต่สามสิบปีเลย แค่ผ่านไปเมื่อวานบางคนก็ยังลืมเสียแล้ว จริงไหม”

         “จริงครับ แต่หลวงพ่อครับ ผมสงสัยเหลือเกินว่าทำไมแผลจึงหายเร็วนัก ตอนเริ่มนั่งสมาธิผมยังปวดแทบจะทนไม่ไหว แต่บทจะหายก็หายไปโดยไม่ทิ้งร่องรองอะไรไว้ แม้แต่กลิ่นก็ไม่มีเหลือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ”

         “ก็อาตมาเคยบอกแล้วไม่ใช่หรือว่า โรคกรรมนั้นไม่เหมือนกับโรคทั่ว ๆ ไป ถ้าเจ้ากรรมนายเวรเขายังอาฆาต หมอก็รักษาให้หายไม่ได้ แต่พอเขาอโหสิ โรคก็หายไปเอง อย่าไปสงสัยเลย เป็นเรื่องของ “กรรมวิสัย” น่ะ พระพุทธองค์ท่านตรัสห้าม เพราะเป็นอจินไตย เรื่องนี้อาตมาเคยพูดไปครั้งหนึ่งแล้ว โยมคงจำได้”

         “ครับจำได้ ถ้าเช่นนั้นผมเห็นจะต้องเลิกสงสัย เพราะเดี๋ยวนี้ “เป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า” ดังที่พระพุทธองค์ตรัส” เขายิ้มทั้งน้ำตา

         “เอาละ ใกล้เวลาอาหารเช้าแล้ว ไปเตรียมล้างหน้าล้างตากันก่อน เดี๋ยวอาตมาก็จะลงไปสรงน้ำเหมือนกัน”

         “แล้วหลวงพ่อไม่ปวดขาหรือครับ เวลาเดินขึ้นเดินลงน่ะครับ”

         “ปวดก็ต้องทนเอา นี่ก็โรคกรรมเหมือนกัน แต่อาตมาลงวันละครั้งเท่านั้น ตอนเย็นก็งดสรงน้ำ ใช้เช็ดตัวแทน” อาจารย์ชิตกำลังจะลงมาข้างล่าง นายสมชายก็เดินออกมาจากห้องพอดี เห็นท่าทางสดชื่นเบิกบานของอีกฝ่ายจึงเอ่ยทัก

         “มาหาหลวงพ่อแต่เช้าเลย มีอะไรพิเศษหรือครับ”

         “ผมหมดเวรหมดกรรมแล้ว ดูสิแผลที่กกหูก็หายสนิทเลย แถมไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจด้วย ต้องขอขอบใจสมชายกับขุนทองที่ช่วยดูแลผมอย่างดี ต่อไปนี้ผมจะเดินไปรับประทานอาหารที่โรงครัวเอง ไม่ต้องลำบากเอามาให้ผม ขอเริ่มตั้งแต่มื้อนี้เลย” คนหายป่วยพูดจ้อย ๆ

         “ผมขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ” ศิษย์วัดแสดงมุทิตาจิต เมื่อเห็นเขาพ้นทุกข์พ้นร้อน

         “งั้นเดี๋ยวคุณล้างหน้าล้างตาแล้ว จะได้ไปนำอาหารมาถวายหลวงพ่อ ขออนุญาตให้ผมไปช่วยยกด้วยคนนะ ตอนนี้ผมไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจแล้ว” คนสูงวัยอาสา อยากทำหน้าที่นี้มานาน นับตั้งแต่ท่านพระครูได้รับอุบัติเหตุออกบิณฑบาตไม่ได้ แต่เมื่อนึกถึงกลิ่นกายที่ไม่พึงปรารถนาของตน ก็ต้องอดใจไว้

         “หลวงพ่อจะลงเดี๋ยวนี้เลยหรือเปล่าครับ ผมจะได้ช่วยประคองไป” นายสมชายจึงตอบแทนท่านพระครูว่า

         “คงไม่ต้องมั้งครับอาจารย์ ขนาดผมจะช่วยท่านก็ยังไม่ยอม บอกเดี๋ยวจะชดใช้กรรมไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องตามใจท่าน” ศิษย์วัดอดกระแนะกระแหนเสียมิได้

         “เอาละ ๆ อย่ามัวพูดมากอยู่เลย จะทำอะไรก็รีบ ๆ ไปทำซะ ฉันจะใช้เวลาตอบจดหมายอีกสักสองสามฉบับแล้วจึงจะลงไปล้างหน้า จะได้ไม่ต้องแย่งกันใช้ห้องน้ำ” ชายหนุ่มจึงลงมาทำธุระที่ห้องน้ำใต้บันได อาจารย์ชิตกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงตามลงมา ครั้นเห็นนายขุนทองกำลังเก็บที่นอนให้ตน จึงรีบเข้าไปช่วย

         “ขอโทษที ผมรีบขึ้นไปหาหลวงพ่อ เลยยังไม่ทันได้เก็บที่หลับที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อน”

         “ไม่เป็นไรฮะ อาจารย์คงมีเรื่องด่วนกับหลวงลุงใช่ไหมฮะ” คนถามอยากรู้

         “ก็ด่วนเหมือนกัน แต่เรียบร้อยแล้ว ผมเพียงแต่จะไปกราบเรียนท่านว่าผมหายแล้ว คุณดูนี่ซี แผลใต้กกหูข้างขวาผมหายสนิทเลย อัศจรรย์เหลือเกิน” พูดพร้อมกับเอียงหน้าให้เขาดูตรงที่เคยมีแผล

         “อุ๊ยจริง ๆ ด้วย แล้วกลิ่นก็หายไปด้วย อาจารย์ไปทำยังไงหรือฮะ”

         “ผมก็ปฏิบัติตามที่หลวงพ่อท่านแนะนำ เป็นเพราะบารมีของท่านแท้ ๆ เทียวที่ทำให้ผมหายจากโรคร้าย เหมือนตายแล้วเกิดใหม่เลยนะนี่”

         “งั้นอีกไม่นานอาจารย์ก็คงกลับไปอยู่บ้าน ใช่ไหมฮะ หนูคงคิดถึงอาจารย์แย่เลย เมื่อพูดถึงบ้าน อาจารย์วัยหกสิบรู้สึกคิดถึงภรรยาและลูก ๆ ขึ้นมาทันที ความขุ่นข้องหมองใจที่เคยมีต่อพวกเขาพลันมลายไปสิ้น

         “ผมก็คงคิดถึงที่นี่เหมือนกัน โดยเฉพาะหลวงพ่อ”

         “งั้นอาจารย์ก็อย่าเพิ่งกลับซีฮะ อยู่ไปอีกซักเดือนสองเดือน” ชายหนุ่มชวนให้เขาอยู่ต่อ

         “ผมตั้งใจจะอยู่จนกว่าหลวงพ่อจะหายเป็นปกติ อยากช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน เพื่อทดแทนบุญคุณที่ท่านชุบชีวิตใหม่ให้กับผม หลังจากนั้นก็ว่าจะกลับไปเยี่ยมบ้านสักพัก ใกล้เข้าพรรษาจะกลับมาบวชที่วัดนี้” ผู้สูงอายุวางแผนชีวิต

         “หนูขออนุโมทนาด้วยฮ่ะ แล้วก็ดีใจที่มีคนมาช่วยงานหลวงลุง ห้องน้ำว่างแล้ว เชิญอาจารย์เถอะฮ่ะ” เมื่ออาจารย์ชิตหายเข้าไปในห้องน้ำ นายขุนทองก็จัดการกวาดถูกุฏิชั้นล่างจนสะอาดสะอ้าน ส่วนชั้นบนเป็นหน้าที่ของนายสมชาย เพราะแบ่งงานกันแล้ว

         “ขุนทอง วันนี้เอ็งไม่ต้องไปช่วยข้ายกสำรับของหลวงพ่อนะ อาจารย์เขาจะจัดการเอง” นายสมชายลงมาบอกกล่าว

         “ก็ดีซีพี่ แบบนี้ขุนของก๊ด ส.บ.ม.”

         “อะไรของเอ็งวะ ส.บ.ม. อะไร” ศิษย์วัดไม่รู้เรื่อง

         “วุ๊ย พี่นี่เช้ยเชย ส.บ.ม. ก็ย่อมาจาก สบายมาก ไง” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดเฉลย อาจารย์ชิตออกมาจากห้องน้ำและเช็ดหน้าตาแห้งแล้ว นายสมชายจึงเอ่ยชวน

         “ไปกันหรือยังครับ”

         “แล้วขุนทองล่ะ” บุรุษสูงวัยถาม

         “สองคนก็พอฮ่ะ” หนูจะจัดถ้วยจัดจานขึ้นไปก่อน” เขาตอบ คนทั้งสองจึงเดินมุ่งหน้าไปยังโรงครัว เพื่อนำภัตตาหารมาถวายท่านพระครู

         หลังอาหารเช้า อาจารย์ชิตและนายสมชาย ก็ขึ้นไปช่วยงานท่านเจ้าของกุฏิอย่างเคย จดหมายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน และคนที่เขียนมาล้วนแต่ขอให้ท่านช่วยแก้ปัญหา ช่วยดับร้อนผ่อนทุกข์ บ้างก็พรรณนาถึงความคับแค้นใจที่สามีไปมีหญิงอื่น ไม่มีสักฉบับเดียวที่ท่านอ่านแล้วจะเกิดความชุ่มชื่นระรื่นจิต ด้วยไม่มีใครเขียนมาบอกว่า “หนูมีความสุขแล้ว หนูรวยแล้ว สามีหนูดีแล้ว ลูกหนูดีแล้ว หนูไมมีปัญหาใด ๆ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเหมือนคนอื่นเขา เพราะลูกก็ดี ผัวก็ดี คนใช้ก็ดี” ท่านอยากจะได้รับจดหมายในทำนองนี้บ้าง หากก็ไม่มีเลย เพราะถ้าเขามีความสุขกันแล้ว เขาก็จะไม่นึกถึงท่าน คนที่จะคิดถึงท่านก็คือ คนมีทุกข์ คนมีปัญหา!

         ภิกษุหนึ่งรูปกับฆราวาสสองคน เพิ่งจะช่วยกันตอบจดหมายไปได้ฉบับเดียว นายขุนทองก็ขึ้นมารายงาน

         “หลวงลุงฮะ ท่านรัฐมนตรีมาขอพบฮะ”

         “รัฐมนตรีไหนล่ะ” ท่านถาม เพราะวัดนี้มีรัฐมนตรีมาหลายคน อดีตรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีคนปัจจุบันบ้าง รัฐมนตรีในอนาคตบ้าง โดยเฉพาะประเภทหลังมีมากที่สุด เพราะใคร ๆ ก็ฝันอยากจะเป็นรัฐมนตรีกันทั้งนั้น

         “คนที่เคยมาเลี้ยงเพลเมื่อวันที่หลวงลุงไปเผาศพป้าเน้นน่ะฮะ” หลานชายตอบ นายสมชายรีบแย้งว่า

         “ไม่ใช่ป้าเน้ยหรอกขุนทอง ป้านวลศรีต่างหาก คนชื่อเน้ยเป็นลูกสาว เอ็งไปแช่งเขาซะแล้ว ระวังบาปจะกินหัวเอ็ง”

         “อ้าวไหงเป็นยังงั้นไปได้ ก็หนูไม่รู้จักตัว เคยได้ยินแต่ชื่อ เลยไม่รู้ว่าเป็นคนไหนเป็นแม่คนไหนเป็นลูก จะให้ลูกตายก่อนแม่ซะแล้ว

         “แต่ความจริงยังอยู่ทั้งแม่ทั้งลูกนั่นแหละ ยังไม่มีใครตายสักคน” ศิษย์วัดว่า

         “มี ก็ลูกเขยเขาไงล่ะ” คราวนี้คนที่แย้งคือท่านพระครู

         “อ้าว ทำไมถึงได้กลับตาลปัตรยังงั้นล่ะ” เขาถามนายสมชาย

         “เห็นหลวงพ่อบอกว่าเป็นเรื่องของกรรม ข้าก็ไม่ค่อยเข้าใจซักเท่าไหร่หร็อก เอ็งอยากรู้ก็ถามหลวงพ่อเอาเอง” ศิษย์วัดจัดการโยนกลองไปให้ท่านพระครู

         “มัวเถียงกันอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวรัฐมนตรีท่านก็คอยแย่ ลงไปเรียนท่านว่าข้าให้ขึ้นมาบ้างบนนี้” ท่านเจ้าของกุฏิ ออกคำสั่ง นายขุนทองจึงลงมาข้างล่างเพื่อเรียนให้รัฐมนตรีทราบ

         “ถ้าเช่นนั้นผมจะลงไปข้างล่างก่อนนะครับ เผื่อท่านจะมีอะไรจะคุยกับหลวงพ่อเป็นพิเศษ” อาจารย์ชิตพูดอย่างคนมีมารยาท

         “ไม่ต้องหรอกโยม ท่านเพียงแต่จะมาบอกว่าจะมาเลี้ยงเพลในวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิง”

         “จริงหรือครับ ทำไมหลวงพ่อทราบ”

         “เดี๋ยวโยมคอยดูก็แล้วกันว่าจะเหมือนที่อาตมาพูดไว้หรือเปล่า” พอดีกับรัฐมนตรีขึ้นมาถึงพร้อมผุ้ติดตามซึ่งแต่งเครื่องแบบนายตำรวจยศพันเอก คนทั้งสองกราบท่านสามครั้ง “เจริญพรท่านรัฐมนตรี อาตมาต้องขอประทานโทษ ที่ต้องให้ขึ้นมาบนนี้ เด็กเขาคงเรียนให้ท่านทราบแล้วว่าเพราะเหตุใด” ท่านหมายถึงนายขุนทอง

         “ครับ เขาบอกว่าหลวงพ่อตกบันไดขาหัก ทำไมหลวงพ่อไม่ไปหาหมอล่ะครับ”

         “อาตมาไม่ชอบโรงพยาบาล ขึ้นชื่อว่า “โรง” อาตมาไม่อยากเข้าสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล โรงพัก โรงศาล หรือโลงศพ” ท่านพูดแล้วหัวเราะ

         “ผมก็ไม่ชอบครับ ไม่ชอบสี่โรงหลัง แต่โรงแรกชอบครับ นี่ก็กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่ ไปนอนโรงแรมที่นั่น” นายขุนทองยกถาดเครื่องดื่มขึ้นมาบริการ เป็นกาแฟร้อนส่งกลิ่นหอมฉุย

         “ทำไมเอามาแค่สองถ้วยล่ะ ท่านมากันสามคนนะ” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงบอกหลานชาย

         “หลวงลุงตาฝาดมั้งฮะ ท่านมากันแค่สองคนเท่านั้น ก็หนูเห็นกะตานี่นา สงสัยจะต้องเปลี่ยนแว่นใหม่แล้วละหลวงลุงเนี่ย”

         “ตาข้าไม่ฝาดหรอกขุนทอง ไปชงกาแฟมาอีกถ้วยนึง แล้วไปบอกตุ๊กตาที่นั่งอยู่ในรถของท่านรัฐมนตรีมาที่นี่ บอกหลวงพ่อเชิญมาดื่มกาแฟก่อน” รัฐมนตรีสบตากับผู้ติดตามแล้วต่างก็ทำหน้างวยงง ก็อุตส่าห์ซ่อนแม่หนูคนนั้นไว้ในรถเบ๊นซ์ มีม่านลูกไม้ปิดกระจกอย่างมิดชิด เหตุไฉนท่านจึงมองเห็น มิหนำซ้ำรถก็จอดอยู่ลานวัดโน่น

         “ทำไมหลวงพ่อทราบล่ะครับ” รัฐมนตรีและผู้ติดตามถามขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

         “ทำไมอาตมาจะไม่ทราบล่ะ” ท่านพระครูถามยอกย้อน

         “เด็กของผู้กำกับเขา” รัฐมนตรีรีบโยนความผิดให้คนที่ทำหน้าที่ขับรถให้ ฝ่ายนั้นโยนกลับอย่างแยบยลด้วยการตอบว่า

         “ครับ เด็กของผมเอง ผมเป็นคนเลือกสรรมาให้ท่าน แล้วท่านก็โปรดปรานมากเลยครับ เป็นวาสนาของเด็ก”

         “ตอนนี้ ท่านรัฐมนตรีอายุเท่าไหร่” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

         “หกสิบเอ็ดครับ”

         “แล้วแม่หนูคนนั้นล่ะ” พันตำรวจเอก รีบตอบแทนเจ้านายว่า

         “สิบหกครับ อายุเท่ากันนะครับหลวงพ่อ เพียงแต่ตัวเลขสับที่กัน ๖๑ กับ ๑๖” คนตอบหวังเอาใจเจ้านาย

         “แบบนี้ถ้าจะว่าเป็นลูกสาวก็คงจะอ่อนเกินไป เป็นหลานสาวกำลังพอเหมาะ ท่านเล่นข้ามสองรุ่นเลยนะ” ท่านพระครูสัพยอก

         “โธ่หลวงพ่อครับ ผมเป็นคนไม่ชอบขัดใจใคร เขาให้อะไรมาก็ต้องรับไว้หมด ถ้าหลวงพ่อจะว่าก็ต้องว่าผู้กำกับเขานะครับ”

         “เอาละ ๆ ไม่ต้องเถียงกัน ว่าแต่ว่า ที่มานี่มีธุระอะไรกับอาตมาหรือเปล่า”

         “มีครับ คือคุณหญิงเขาให้มากราบเรียนหลวงพ่อว่า วันที่ ๓๑ เดือนนี้ เขาจะมาเลี้ยงเพลครับ วันครบรอบวันเกิดเขา ทุกปีก็เลี้ยงฉลองกันที่บ้าน มาปีนี้เขาอยากจะเปลี่ยนสถานที่ เขาบอกมาคราวนั้นแล้วติดใจ หลวงพ่อเทศน์เก่ง” พอดีกับนายขุนทองขึ้นมารายงานว่าสาวน้อยแรกรุ่นดรุณีไม่ยอมมา คงจะอับอายขายหน้าที่เป็นเมียคนอายุคราวปู่คราวตา เป็นเมียลับ ๆ เสียด้วย! “งั้นผมต้องกราบลาละครับ” รัฐมนตรีเอ่ยลาเพราะห่วงว่าสาวน้อยจะรอนาน นายขุนทองตามไปส่งถึงรถ ไม่ได้คิดจะประจบประแจงรัฐมนตรี แต่เพราะติดใจในความงามของสาวแรกรุ่น หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดตั้งจิตอธิษฐานว่า

         “เจ้าประคู้ณ ชาติหน้าฟ้าใหม่ขอให้ขุนทองสวยอย่างนี้บ้างเถิ้ด”

            “คนสมัยนี้เขาให้ของกำนัลกันแปลก ๆ นะโยมนะ” ท่านพระครูพูดกับอาจารย์ชิต หลังจากรัฐมนตรีและผู้ติดตามลงไปแล้ว

         “ครับ แล้วพวกข้าราชการสมัยนี้ก็เอาใจเจ้านายกันเก่งเหลือเกิน บางคนรู้กระทั่งวันเกิดของเมียน้อยนาย แต่ของเมียตัวเองกลับไม่รู้”

         “ยังงี้ละมังอาตมาถึงได้ยินเขาแปลงกลอนของสุนทรภู่ให้เข้ากับยุคสมัย สุนทรภู่ท่านแต่งไว้ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เขามาแปลงเสียใหม่เป็น “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้เลียขาเลียแข้งตำแหน่งดี” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ

 

            มีต่อ........๖๗

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 27, 2007, 07:54:30 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00067
๖๗...

         วันที่ ๓๐ มีนาคม ท่านพระครูลงรับแขกเป็นวันแรก หลังจากที่หยุดไปหนึ่งเดือนเต็ม ผู้คนมารอกันแน่นกุฏิเช่นเคย เพราะเป็นวันเสาร์

         เจ้าทุกข์รายหนึ่งเป็นสุภาพสตรีวัยสามสิบ ผิวขาว หน้าตาแม้จะดูเศร้าโศก หากก็แฝงเอาไว้ซึ่งความงดงามหาที่ติมิได้ หล่อนเข้าไปกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วเอ่ยทั้งน้ำตาว่า

         “หลวงพ่อคะ ช่วยหนูด้วย”

         “โยมจะให้อาตมาช่วยอะไรก็ว่ามาเลย” ท่านพูดอย่างปรานี ครั้นเห็นรอยฟกช้ำดำเขียวที่แขนทั้งสองข้างจึงถาม

         “นั่นไปโดนอะไรมา ถึงได้เนื้อตัวเขียวปั้ดออกอย่างนั้น” หล่อนร้องไห้หนักขึ้น แล้วตอบว่า

         “สามีตีค่ะ”

         “ทำไมถึงต้องตีด้วยล่ะ โยมไปทำอะไรให้เขาโกรธ เขาถึงได้ตีเอา แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะทุบตีกันแบบนี้ จะโกรธจะเคืองยังไง ก็น่าจะพูดกันได้ อาตมาไม่ชอบให้ทำอย่างนี้เลย” แล้วท่านจึงพูดกับบรรดาสุภาพบุรุษที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นว่า “คุณพ่อบ้านทั้งหลาย อาตมาอยากจะขอร้องนะ อย่าได้รังแกแม่บ้านเขายังงี้เลย มีอย่างที่ไหน มาทุบตีกันยังกะเขาเป็นวัวเป็นควาย แบบนี้ไม่ใช่วิสัยของสุภาพบุรุษ” มนุษย์เพศชายที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้น ต่างพากันสงสารหญิงสาวที่นั่งร้องไห้อยู่เบื้องหน้าท่านพระครู หนุ่มหนึ่งก็นึกในใจว่า “ถ้าเมียข้าสวยยังงี้ จ้างก็ไม่ตีให้โง่ แต่ที่ต้องตีเพราะมันไม่สวย”

         “จะสวยหรือไม่สวย ก็ห้ามตีเด็ดขาด ไม่ใช่ว่าต้องสวยถึงจะไม่ตี” ท่านเจ้าของกุฏิพูดพร้อมกับสบตาคนแอบนึก เจ้าหนุ่มจึงนึกต่ออีกว่า

         “โอ้โฮ หลวงพ่อนี่ชั้นหนึ่งเลย ขนาดเราอุตส่าห์พูดในใจ ยังได้ยินเสียอีกแน่ะ”

         “จะพูดในใจ หรือพูดนอกใจ อาตมาก็ได้ยินทั้งนั้น ถ้าอยากจะได้ยิน แต่ถ้าไม่อยากก็แล้วไป”

         “พระอรหันต์” หนุ่มนั้นสรุปในใจ

         “อาตมาไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ อย่างเก่งก็เป็นได้แค่พระอรเห เพราะใครมีทุกข์ก็พากันเหเข้ามาหา” ผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้น ชักจะงุนงงด้วยรู้สึกว่าท่านพูดอยู่คนเดียว แถมเรื่องที่พูดก็ไม่ไปด้วยกันอีกด้วย ท่านพระครูไม่อยากให้พวกเขาต้องงงนาน จึงถามหญิงสาวผู้นั้นว่า

         “โยมไปทำอะไรให้เขาโกรธหรือเปล่า เขาถึงได้ตีเอา”

         “ไม่ได้ทำค่ะ แต่เขาเป็นคนขี้หึง หนูคุยกับใครไม่ได้เลย เขาหาว่าหนูพยายามนอกใจเขา คนอะไรก็ไม่รู้หึงไม่ดูตาม้าตาเรือ หนูไม่อยากอยู่กับเขาแล้วค่ะหลวงพ่อ เขาตียังกะวัวกะควาย”

         “แล้วเขาทำงานอะไรล่ะ”

         “เป็นทหารค่ะ ทหารยศร้อยเอก อยู่ค่ายจังหวัดลพบุรีนี่เอง เวลาจะไปทำงาน เขาก็ใส่กุญแจขังหนูไว้ในบ้านไม่ให้ออกไปไหน เกิดฟืนไฟไหม้บ้านหนูคงถูกย่างสดตายอยู่ในนั้น”

         “โอ้โฮ หึงมากขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วมีลูกกี่คนล่ะ มีลูกด้วยกันหรือเปล่า”

         “มีค่ะ มีลูกชายสอง ลูกสาวสอง เข้าโรงเรียนหมดแล้ว”

         “ขนาดมีลูกสี่คน ก็ยังหึงหรือ”

         “ค่ะ หนูถึงไม่อยากจะทนอีกต่อไป หลวงพ่อดูซิคะ อยู่กันมาสิบปี เขาขังหนูไว้ในบ้านตลอด” หญิงสาวเล่า และท่านเจ้าของกุฏิก็ “รู้” ว่าหล่อนมิได้พูดเกินความจริง

         “ผมว่าแบบนี้ผิดปกติแล้วนะครับหลวงพ่อ สงสัยจะเป็นโรคจิต” หนุ่มที่อ้างในใจว่า “เพราะเมียไม่สวยถึงตี” เอ่ยขึ้น

         “นั่นสิ คนที่ชอบตีเมียน่ะเป็นโรคจิตทั้งนั้น” ท่านพระครูเห็นช่องทาง “ตีวัวกระทบคราด” พ่อหนุ่มนั่นจึงจำต้องนิ่ง

         “หลวงพ่อต้องช่วยหนูนะคะ” คนถูกสามีตี อ้อนวอน

         “จะให้ช่วยแบบไหนล่ะ ช่วยไม่ให้เขาตียังงั้นหรือ”

         “ช่วยให้หนูเลิกกับเขาน่ะค่ะ หนูเบื่อชีวิตแบบที่แล้ว ๆ มา มันเหมือนตกนรกทั้งเป็นค่ะ”

         “จะเลิกกันยังไงล่ะโยม ลูกเต้าก็มีด้วยกันตั้ง ๔ คน อาตมาไม่ชอบให้ผัวเมียเลิกร้างกัน เพราะมันจะเป็นปัญหากับลูกในภายหลัง จะให้ช่วยแบบนั้น อาตมาไม่ช่วยแน่นอน เพราะอาตมากลัวบาป” แล้วท่านจึงพูดกับผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นว่า “ญาติโยมทั้งหลายโปรดจำเอาไว้ การยุแหย่ให้ผัวเมียเขาเลิกกันนั้นบาปมาก ใครคิดจะทำก็ให้ล้มเลิกความคิดนั้นเสีย และใครที่เคยทำมาแล้ว ก็อย่าได้ทำอีก ไม่งั้นบาปกรรมจะตามมาถึงตัว ขอให้เชื่ออาตมาสักครั้ง” ท่านจงใจ “เทศน์” สตรีสามคนที่มานั่งรอคิวอยู่ “กฎแห่งกรรม” ของคนทั้งสามฟ้องว่า พวกหล่อนมีความสามารถในการ “ยุแยงตะแคงแซะ” ให้ผัวเมียเขาเลิกกัน และก็ทำจนประสบความสำเร็จมาหลายคู่แล้ว

         คนประเภทนี้จะรู้เรื่องของคนอื่นไปหมดทุกเรื่อง ผัวใครมีเมียน้อยไว้ที่ไหน พวกหล่อนรู้หมด แต่พอผัวตัวเองมีเมียน้อย พวกหล่อนกลับไม่รู้! ที่มาหาท่าน ก็ใช่ว่าจะเลื่อมใสศรัทธา แต่มาเพื่อขอเลขเด็ด กับขอให้ท่านดูดวงให้ เมื่อท่านปฏิเสธ พวกหล่อนก็จะไม่มาเหยียบวัดนี้อีก พร้อมกันนั้นก็จะเอาไปเที่ยวโพนทะนาว่า “หลวงพ่อวัดนี้ไม่ดี!”

         “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อช่วยให้เขาเลิกตีหนูนะคะ” สตรีวัยสามสิบอ้อนวอน

         “ตกลงโยม ถ้าช่วยแบบนี้ไม่บาป เอาละ อาตมาจะแนะวิธีการให้ ขุนทองช่วยหยิบแผ่นปลิวบทสวดมนต์มาให้โยมเขาแผ่นนึง” ท่านสั่งหลานชายแล้วพูดกับสตรีนั้นว่า

         “โยมสวดมนต์นะ สวดทุกวันแล้ว ก็อธิษฐานขอให้เขาเลิกตี วันไหนเขาทำท่าจะตี ก็หนีขึ้นไปห้องพระเลย ไปนั่งสวดมนต์อยู่ในห้องพระนั่นแหละ รับรองว่าเขาไม่กล้าตีคนที่กำลังสวดมนต์หรอก”

            “แต่ถ้าเขาตีล่ะคะ” หล่อนถามอย่างหวั่นหวาด

         “ให้มาตีอาตมาแทน บอกเขาเลยว่า ถ้าจะตีคนที่กำลังสวดมนต์ ก็ให้ไปตีหลวงพ่อวัดป่ามะม่วงโน่น” คราวนี้หล่อนยิ้มทั้งน้ำตา คนอื่น ๆ พลอยยิ้มไปด้วย

         “ถ้าเกิดเขามีตีหลวงพ่อจริง ๆ หนูก็บาปแย่นะซีคะ” หล่อนว่า

         “เขาไม่ตีหรอกหนู แหม อย่าไปดูถูกสามีเราถึงขนาดนั้นซี อาตมาดูแล้วเขาก็เป็นคนดีพอสมควร”

         “ถ้าดีแล้ว ทำไมต้องตีเมียด้วย” สตรีผู้หนึ่งถามขึ้น

         “ก็เขาหึง ทำไมถึงต้องหึง โยมรู้ไหม” ท่านถามสตรีผู้นั้น

         “ไม่ทราบค่ะ”

         “ไม่ทราบหรือคะ ถ้างั้นอาตมาจะตอบให้ ที่เขาหึงก็เพราะเขาหวง แล้วทำไมเขาถึงหวง โยมตอบซิ”

         “ไม่ทราบค่ะ” หล่อนยืนยันคำตอบเดิม ท่านพระครูจึงเฉลยว่า

         “เพราะเขาตกห้วงรัก” แล้วพูดกับบรรดาสุภาพบุรุษว่า “โยมผู้ชาย อย่าไปทำอย่างนั้นนะ อย่าไปตกห้วงรักถึงขนาดทุบตีแม่บ้านเขานะ เกิดเขาหนีไป แล้วใครจะหุ้งข้าวให้เรากิน ต้องเอาใจเขามาก ๆ เขาจะได้อยู่กับเรานาน ๆ”

         “หลวงพ่อครับ แต่ที่บ้านผม แม่ล้านเขาไม่ได้หุงข้าวให้ผมกินหรอกครับ ผมเป็นฝ่ายหุงให้เขากินครับ หุงมาตั้งแต่สมัยแต่งงานกันใหม่ ๆ จนเดี๋ยวนี้ลูกสามแล้ว” บุรุษร่างท้วมพูดฉาดฉาน ที่กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำ เพราะคนเป็นเมียไม่ได้มา หากว่าหล่อนมาด้วยแล้วไซร้ ใครเลยจะกล้าพูด นี่ก็มานิมนต์ท่านไปงานทำบุญวันเกิดเมีย

         “ก็ดีแล้วนี่ แสดงว่าโยมเป็นสามีที่ประเสริฐมาก ใครมีพ่อบ้านแบบนี้สบายไปเจ็ดชาติเลย” ท่านเจ้าของกุฏิชม

         “แต่ผมว่าไม่ดีนะครับหลวงพ่อ ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน ไม่ใช่ให้สามีมาทำให้กิน ผมยอมไม่ได้เด็ดขาด” พ่อบ้านผู้หนึ่งแสดงความคิดเห็น

         “ที่โยมว่ามานั้นมันก็ถูก แต่ถูกสำหรับคนรุ่นเก่า ที่ผู้ชายเป็นฝ่ายหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เป็นแม่บ้าน แต่สมัยนี้ ผู้หญิงต้องออกทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ชายจะมาทำงานบ้านแทนผู้หญิงเขาบ้าง” โยมเห็นด้วยไหม” ท่านถามคนหุงข้าวให้เมียกิน

         “เห็นด้วยครับหลวงพ่อ แล้วแม่บ้านของผม เขาก็ทำงานหนักมาก กลางวันสอนโรงเรียนมัธยม เย็นสอนพิเศษที่บ้าน กลางคืนก็ต้องเขียนบทความส่งนิตยสาร เลยไม่มีเวลามาทำหน้าที่แม่บ้าน ผมไม่ชอบเอาเปรียบผู้หญิง แล้วผมก็ไม่ใช่คนขี้อิจฉาด้วย ผู้ชายบางคนนะครับ อิจฉาแม้กระทั่งเมียตัวเอง กลัวเมียจะสบาย เลยต้องแกล้งใช้ให้ทำงานอย่างกับทาส” เขาตั้งใจพูดแดกดันผู้ชายคนนั้น

         “คุณว่าใคร พูดยังงี้หมายความว่ายังไง” บุรุษนั้นมีโทสะ ท่าทางเขาบอกชัดว่า พร้อมจะเอาเรื่อง

         “ผมก็ว่าคนที่เป็นอย่างที่ผมว่า คุณมาเดือดร้อนอะไรด้วย อ๋อ หรือว่าคุณเป็นอย่างที่ผมว่า” อีกฝ่ายตั้งใจยั่วโทสะ บุรุษนั้นสุดจะทานทน เขาผุดลุกขึ้นยืมท่ามกลางความตระหนกตกใจของคนทั้งกุฏิ

         “พูดยังงี้มันต้องสั่งสอนกันหน่อยละ” คนพูดถลกแขนเสื้อขึ้น

         “ขอโทษนะครับ ผมขอร้องว่า อย่ามีเรื่องมีราวกันในวัดในวาเลยนะครับ อย่างน้อยก็นึกว่าเห็นแก่หลวงพ่อท่าน” อาจารย์ชิตเอ่ยห้าม บุรุษเจ้าโทสะจึงนั่งลง แต่ยังแสดงอาการฮึดฮัดอย่างไม่พึงพอใจ เห็นอีกฝ่ายเอาจริง คนไม่ชอบเอาเปรียบเมียจึงต้องนิ่ง ขืนมีเรื่องมีราวกัน ก็รังแต่จะนำความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้คนเป็นเมีย

         “หลวงพ่อเจ้าคะ ทำบุญแทนกันได้ไหมเจ้าคะ” สตรีวัยกลางคนถาม

         “ทำแทนกันแบบไหนล่ะโยม”

         “คือยังงี้เจ้าค่ะ พ่อเด็กเขาเป็นคนไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อิฉันก็เตือนเขา เขาก็ไม่เชื่อ อิฉันก็ขอร้องเขาว่า ยังไง ๆ ก็หยุดฆ่าวันพระสักวันก็ยังดี พอถึงวันพระ อิฉันก็บอกเขา เขาก็ถามว่า วันนี้วันพระกี่ค่ำ อิฉันบอกสิบห้าค่ำ เขาก็ว่า “ดีแล้ว วันนี้ข้าจะต้องฆ่ามันได้สิบห้าตัว” พูดจบเขาก็ไปตลาดไปซื้อปลาหมอเป็น ๆ มาสิบห้าตัว มาฆ่าต่อหน้าต่อตาอิฉัน”

         “แล้วโยมทำยังไงล่ะ”

         “อิฉันก็ไม่ทราบจะทำยังไงเจ้าค่ะ ก็ได้แต่สงสารเขา เวลาอิฉันทำบุญใส่บาตร อิฉันก็จะอุทิศส่วนกุศลให้เขา อธิษฐานว่า บุญทั้งหมดที่อิฉันทำอิฉันขอยกให้สามี ขออย่าให้เขาต้องตกนรกเลย แบบนี้ได้ไหมเจ้าคะ อิฉันทำบุญแทนเขาแบบนี้ได้หรือเปล่า เพราะอย่างอื่นเขาดีหมด เสียอยู่เรื่องเดียวนี่แหละเจ้าคะ”

         “ทำกรรมแทนกันไม่ได้หรอกโยม บุญนั้นก็คือกุศลกรรม ใครทำใครได้ การจะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ตัวเองต้องทำเอง คนอื่นจะมาทำแทนไม่ได้ ใครทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว”

         “แล้วอิฉันจะช่วยเขายังไงเจ้าคะ เขาถึงจะไม่บาป”

         “เรื่องอย่างนี้มันก็พูดยากนะโยม เรื่องบุญเรื่องบาปใครทำใครได้ อย่าว่าแต่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะทำแทนกันไม่ได้เลย แม้แต่พระอรหันต์ท่านก็ยังทำแทนคนอื่นไม่ได้ อย่างเช่นเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์มีพระโอรสพระธิดาเป็นพระอรหันต์ คือ พระมหินท์ กับ นางภิกษุณีสังฆมิตตา แต่พระองค์ก็ยังไปเกิดเป็นงูเหลือม พระองค์เองก็ทำบุญไว้กับพระพุทธศาสนามาก แต่ทำไมถึงไปเกิดเป็นงูเหลือมโยมรู้ไหม”

         “ไม่ทราบเจ้าค่ะ”

         “เพราะโทสะ ตอนจะสวรรคตโกรธรัชทายาท คือตอนที่พระองค์ประชวรได้สั่งให้อำมาตย์นำพระราชทรัพย์มาบริจาคให้คนยากคนจน รัชทายาทก็ห้ามไม่ให้อำมาตย์ทำตาม บอกว่าพระองค์ทำบุญมากจนพระราชทรัพย์จะหมดพระคลังอยู่แล้ว อย่าทำอีกเลย พระองค์ก็ทรงพระพิโรธ คือโกรธรัชทายาทกระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อดับจิตในขณะที่จิตเป็นอกุศล ก็เลยไปเกิดในทุคติ คือเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ไปเป็นงูเหลือม

         วันหนึ่งพระมหินท์ซึ่งตอนนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์ก็อยากจะทราบว่า พระราชบิดาสวรรคตแล้วไปเกิดที่ไหน ก็ใช้ญาณตรวจสอบดู จึงได้ทรงทราบว่า พระราชบิดาไปเกิดเป็นงูเหลือม นี่เห็นไหม อบายน่ะ ไปง่ายเหลือเกิน เผลอสตินิดเดียวไปเกิดเป็นเดรัจฉานเสียแล้ว แล้วโยมรู้หรือเปล่าว่า ไปเกิดเป็นเดรัจฉานไม่ดียังไง”

         “ไม่ทราบเจ้าค่ะ”

         “ไม่ทราบอีกแล้ว แหม คนที่มาวัดนี้ ตอบเป็นอยู่อย่างเดียว “ไม่ทราบเจ้าค่ะ” ท่านเลียนแบบเสียงสตรีผู้นั้น

         “ก็อิฉันไม่ทราบจริง ๆ นี่เจ้าคะ” นางว่า

         “อ้อ ไม่ทราบจริง ๆ หรือเจ้าคะ อาตมานึกว่า แกล้งไม่ทราบเสียอีก” ท่านพูดยิ้ม ๆ คนอื่น ๆ พลอยยิ้มไปด้วย

         “เป็นเดรัจฉาน ไม่ดีตรงหมดโอกาสสร้างบุญกุศลน่ะโยม นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้ประกอบอกุศลกรรมได้ง่ายอีกด้วย เพราะตัวโมหะมันครอบงำ อย่างงูเหลือมตัวที่เคยเป็นพระเจ้าอโศกนั้น ตอนที่พระมหินท์ท่านเล็งญาณไปทอดพระเนตร โยมรู้ไหมว่ากำลังทำอะไรอยู่

         “ไม่ทราบเจ้าค่ะ”

         “ไม่ทราบอีกแล้ว ถ้าอย่างนี้มีอะไรบ้างที่โยมทราบน่ะ ไหนบอกอาตมาซิว่า โยมทราบอะไรบ้างเจ้าคะ”

         “ทราบว่าหลวงพ่อใจดีเจ้าค่ะ มาวัดนี้แล้วสบายใจ แล้วอาหารก็อร่อย แถมหลวงพ่อไม่เคยบอกบุญเรี่ยไรเงินอีกด้วย ใครมีศรัทธาจะทำก็ทำ ใครไม่ทำ หลวงพ่อก็ไม่ว่า ไม่เหมือนบางวัดที่พอไปถึง ยังไม่ทันจะนั่ง สมภารก็แจกใบฎีกาเสียแล้ว” คราวนี้คนไม่ทราบ สาธยายเสียยืดยาว

         “โอ้โฮ ทราบเยอะเหมือนกันนี่ แหม อาตมานึกว่าไม่ทราบอะไร” ท่านสัพยอก สตรีนั้นยิ้มเบิกบานกับคำชม

         “ตกลงงูเหลือมพระเจ้าอโศกกำลังทำอะไรอยู่เจ้าคะ” นางไม่ลืมที่จะทวงคำถาม

         “ก็ทำบาปน่ะซี ทำยังไงรู้ไหม อ้อ ไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะอาตมารู้แล้วว่า โยมจะตอบยังไง งูเหลือมตัวนั้น กำลังวิดน้ำ วิธีวิดน้ำของเขาก็คือ เอาหัวพาดต้นไม้ต้นหนึ่ง หางพาดอีกต้นหนึ่ง แล้วเอาลำตัววิดน้ำ วิดน้ำทำไมรู้ไหม โยมลองตอบซิ” ท่านถามสตรีที่ถูกสามีตี

         “ไม่ทราบค่ะ”

         “จะกินปลา ก็หนองน้ำมันมีปลา เขาก็อยากจะกินปลา แล้วก็ฉลาดเสียด้วย แต่ฉลาดในทางที่ผิด เพราะเป็นเดรัจฉาน จะไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ”

         “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อเคยเทศน์บนศาลาการเปรียญ วันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ที่จำได้คือ หลวงพ่อเทศน์ว่า คนที่ตายขณะที่จิตมีโทสะ จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้ามีโลภะ จะไปเกิดเป็นเปรต หรือ อสุรกาย แต่ถ้ามีโมหะ จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน แต่ทำไมพระเจ้าอโศกจึงไปเกิดเป็นงูเหลือม ทั้งที่ตอนดับจิต พระองค์โกรธรัชทายาท” บุรุษผู้หนึ่งถาม

         “เรื่องนี้มันลึกซึ้งนะโยม เรื่องของจิตนี่ลึกซึ้งมาก แต่อย่างไรก็ตาม คนที่กำลังจะตายนั้น ถ้าจิตเขาเป็นอกุศล เขาจะไม่รู้ตัวเลยว่า ขณะนั้นจิตของเขามีโลภะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ แต่เท่าที่อาตมาวิจัยนะ อาตมาว่ามีทั้งสามตัวนั่นแหละ เพียงแต่ว่าตัวไหนจะมากกว่าอีกสองตัว ถ้าดับจิตขณะที่ตัวไหนมีดีกรีสูง ก็จะไปเกิดตามกรรมนั้น ๆ

         ในกรณีของพระเจ้าอโศก แม้พระองค์มีโทสะอยู่ก็จริง แต่ก็เป็นโทสะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของโมหะ โมหะซึ่งมีกำลังแรงกว่า จึงส่งผลให้ไปอุบัติในกำเนิดเดรัจฉาน เห็นหรือยังว่า แม้พระองค์จะทรงสร้างคุณประโยชน์ใหญ่หลวงให้กับพระศาสนา แต่เมื่อถึงเวลาละโลกนี้ไป ก็ยังต้องไปเกิดในทุคติ นับประสาอะไรกับคนที่ไม่เคยสร้างคุณความดีเลย ขอให้ญาติโยมเก็บไปคิดเป็นการบ้านนะ”

            “ตกลง อิฉันไม่มีทางช่วยพ่อเด็กเขาได้เลยหรือเจ้าคะ” หน้าตาและท่าทางคนถามบ่งบอกว่าทุกข์ร้อน

         “ถ้าจะช่วยได้ โยมก็ต้องสวดมนต์ให้มาก ๆ แล้วอธิษฐานขอให้ส่วนกุศลที่โยมทำ ช่วยให้เขาเลิกทำปาณาติบาต ส่วนเขาจะเลิกได้หรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับกรรมของเขา”

         “ต้องให้เขาสวดด้วยไหมเจ้าคะ”

         “ไม่ต้องหรอก เพราะจะไปบอกยังไง ๆ เขาก็ไม่ยอมทำ เพราะเขาไม่เชื่อ คนเราลงไม่มีศรัทธาเสียแล้ว ก็เลิกพูดกัน”

         “งั้นก็แปลว่า ถึงแม้อิฉันจะสวดมนต์ แต่ก็ไม่อาจช่วยเขาได้ยังงั้นหรือเจ้าคะ” นางรู้สึกสับสน

         “ได้สิ ได้ในแง่ที่ว่า เมื่อโยมสวดมนต์มาก ๆ โยมก็จะรู้ว่า เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นั้นมันมีขอบเขตแค่ไหน เพียงใด แล้วโยมก็จะวางใจให้เป็นอุเบกขาได้ เขาก็จะไม่เป็นสาเหตุทำให้โยมทุกข์อีกต่อไป ยังไงล่ะ”

         “หลวงพ่อยิ่งพูด อิฉันยิ่งงง เจ้าค่ะ”

         “ทำไมจะไม่งงล่ะ ก็ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้มีไว้ให้พูดกันเฉย ๆ แต่มีไว้ให้ปฏิบัติ แล้วก็จะหายงงไปเอง ขอให้เชื่ออาตมาสักครั้ง เชื่อประเทศไทยสักครั้ง”

 

            มีต่อ........๖๘

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 27, 2007, 07:55:31 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00068
๖๘...

         เจ้าทุกข์รายต่อมาเป็นคู่สามีภรรยาวัยสี่สิบเศษ ใบหน้าของบุคคลทั้งสองดูหมดอาลัยตายอยากในชีวิต กราบท่านพระครูแล้ว คนเป็นเมียก็เอ่ยขึ้นว่า

         “หลวงพ่อช่วยทิดบวบเขาด้วยเถิดจ้ะ”

         “ช่วยอีกแล้ว แหม ใคร ๆ มาก็จะให้ช่วยทั้งนั้น ไม่มีสักรายที่จะมาบอกว่า “หลวงพ่อเจ้าคะ ดิฉันจะมาช่วยหลวงพ่อเจ้าค่ะ มีอะไรให้ดิฉันช่วยบ้างเจ้าคะ” ท่านพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน ลอยหน้าลอยตาเสร็จสรรพ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเคร่งเครียดให้เป็นครึกครื้นมีชีวิตชีวา คนอื่น ๆ พากันหัวเราะในมุขตลกของท่าน แต่สองผัวเมียหัวเราะไม่ออก เพราะความทุกข์ท่วมท้นทับอกอยู่

            “เอาละ โยมมีอะไรก็ว่าไปเลย อาตมาช่วยได้ก็จะช่วย”

            “แกเล่าแหละดีแล้ว ข้าใจคอไม่ดี เล่าไม่ถูก” ตาผัวว่า

         “มัวเกี่ยงกันอยู่นั่นแหละ เอาละใครเป็นต้นเหตุของเรื่อง ก็ให้คนนั้นเล่า” ท่านพระครูตัดสิน

         “ทิดบวบจ้ะหลวงพ่อ ตานี่แหละเป็นตัวต้นเหตุ ทำให้พี่น้องลูกหลานฉันพลอดเดือดร้อนไปหมด” คนเป็นเมียถือโอกาส “ฟ้อง”

         “เอ้า งั้นโยมบวบก็เล่าไปว่า ต้นสายปลายเหตุมันเป็นยังไง” นายบวบจึงเล่าว่า

         “คือยังงี้ครับหลวงพ่อ ผมถูกเขาใส่ร้ายว่าไปเผาไร่เขา คือผมมีอาชีพทำไร่ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ไปเผาไร่ เผาเสร็จ ผมก็ตรวจตราดูไฟมันดับเรียบร้อยแล้ว ผมก็กลับเข้าบ้าน พักใหญ่ ๆ ไร่ที่ติดกับไร่ผม เขาถูกไฟไหม้ เป็นไร่อ้อย ผมก็ไปช่วยเขาดับ แต่ช่วยไม่ไหว เพราะไฟมันลามมาทุกทิศเลย ในที่สุดมันก็ไหม้หมดทั้งแปลงเลยครับ”

         “แล้วยังไง เราไปช่วยเขาดับก็ดีแล้วนี่นา”

         “ครับ แต่เขามาโทษครับ มาโทษว่า ไฟจากไร่ผมลามไปไหม้ไร่เขา มีพยานรู้เห็นหลายคน เขามาบอกผมว่าไฟมันไหม้มาจากทิศทางที่ตรงข้ามกับไร่ผม เจ้าของเขาเจตนาเผาไร่ตัวเองแล้วโยนความผิดมาให้ผม” เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบ จะได้รู้ว่าใครผิดใครถูกกันแน่

         “อ้าว นี่โยมไปทำให้เขาโกรธนี่ เขาก็เลยใส่ร้ายเอาน่ะซี”

         “ทำให้เขาโกรธยังไงครับ” นายบวบไม่เข้าใจ

         “ก็เขาเจตนาจะเผ่าไร่เพื่อเอาเงินค่าประกัน แล้วโยมอุตส่าห์ไปดับของเขา เขาก็โกรธน่ะซี เรื่องมันยุ่งเสียแล้วละ”

         “ครับ ยุ่งมากเลยครับ พอเขากล่าวหา เขาก็เขียนหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งให้ผมเซ็นรับว่าเป็นคนเผ่าไร่เขาจริง และเขาเรียกค่าเสียหายสองหมื่นบาท”

         “แล้วโยมก็เซ็นให้เขาไปเรียบร้อย”

         “ครับ”

         “แหม ฉลาดจริง ๆ ฉลาดในการหาเรื่องเดือดร้อนมาให้ตัวเองและลูกเมีย”

         “นั่นซีจ๊ะหลวงพ่อ ผัวฉันมันฉลาดยังกะควาย นี่ไม่ได้หาเรื่องเดือดร้อนมาให้ลูกเมียเท่านั้น พี่น้องฉันก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย เขาจับไปขังคุกไว้คืนนึง หลานฉันต้องเอาที่ดินไปประกันถึงได้ออกมานั่งอยู่ที่นี่ได้” นางบัวผันพูดอย่างคั่งแค้น แค้นทั้งฝ่ายโจทก์ ทั้งฝ่ายผัวตัวดีนั่นแหละ

         “หลวงพ่อพอจะมีทางช่วยผมบ้างไหมครับ นี่เขาก็ฟ้องทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ผมไม่อยากติดคุกเลย แค่ไปอยู่ในห้องขังคืนเดียว ผมยังแทบบ้า”

         “แล้วพวกพยานเขาทำไมไม่มาเป็นพยานให้”

         “เขาไม่กล้าครับ เพราะเจ้าของไร่เป็นคนมีอิทธิพล ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานให้ผมหรอกครับ”

         “งั้นก็เห็นจะลำบากเสียแล้ว” ได้ยินท่านพูด นายบวบถึงกับน้ำตาตก

         “หลวงพ่อไม่มีทางช่วยผมเลยหรือครับ” เขาอ้อนวอนเสียงเครือ

         “หนักใจ เรื่องนี้อาตมาหนักใจจริง ๆ ก็โยมไปผูกไว้เสียแน่นแล้วจะมาให้อาตมาแก้ เรียนผูกแล้วก็ควรจะเรียนแก้ด้วยตัวเอง มันถึงจะถูก” ท่านเจ้าของกุฏิพูดอย่างอ่อนใจ

         “หลวงพ่อกรุณาผมด้วยเถิดครับ จะให้ผมทำอะไร ผมยอมทั้งนั้น ขออย่างเดียว อย่าให้ผมไปติดคุกเลย ผมกราบละครับ” เขาก้มลงกราบด้วยทีท่าน่าสงสาร

         “เอาละ ทางเดียวที่พอจะช่วยได้ ก็คือให้โยมสองคนพากันมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน ทำได้ไหมล่ะ” ท่านเสนอวิธีดีที่สุดให้

         “ผมคงมาไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ เพราะผมต้องทำไร่ นี่ก็จะเริ่มไถแล้ว พอฝนลงก็จะหยอดข้าวโพด” สามีนางบัวผันว่า ท่านพระครูรู้สึกสมเพชเวทนาบุรุษตรงหน้าเสียนัก จึงถามเขาว่า

         “แล้วถ้าโยมไปติดคุกล่ะ โยมจะมีโอกาสมาทำไร่ไหม อาตมาขอถามหน่อยเถอะ”

         “ไม่มีครับ ผมถึงมาขอความเมตตาหลวงพ่อให้ช่วยไงครับ โปรดช่วยอย่าให้ผมต้องติดคุกเลย” คนที่เมียยกย่องว่าฉลาดเหมือนควายชี้แจง

         “โยม” ท่านเจ้าของกุฏิเอ่ยด้วยน้ำเสียงที่แสนสุดระอา “ทำกรรมแทนกันไม่ได้หรอกนะ แล้วรับผลแทนกันก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เรื่องนี้โยมเป็นคนทำขึ้น โยมก็ต้องรับผล นี่อาตมาก็เสนอแนวทางที่ดีที่สุดให้แล้ว ถ้าโยมทำไม่ได้ อาตมารับรองว่าติดคุกแน่ เลือกเอาก็แล้วกันว่า ระหว่างติดคุกกับเข้ากรรมฐาน โยมจะเลือกอย่างไหน”

         “เลือกมาเข้ากรรมฐานครับ” คนตอบไม่รั้งรอ เข็ดเสียนักกับการนอนในคุก

         “หลวงพ่อครับ ทำไมผมถึงโชคร้ายอย่างนี้ครับ ผมหากินในทางสุจริตไม่เคยคดโกงใคร แต่ผมก็ต้องมาถูกใส่ร้าย ส่วนเจ้าคนที่มันใส่ร้ายผม มันหากินในทางทุจริต คนโกง เป็นชู้กับลูกเมียคนอื่น แต่มันกลับมั่งมีศรีสุขร่ำรวยเงินทองมหาศาล ขณะที่ผมจนลง ๆ แบบนี้ไม่เรียกว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีหรือครับ” นายบวบพูดอย่างคนที่มองโลกในแง่ร้าย บวกกับความโง่เขลาเบาปัญญา

         “โยมอย่าไปคิดว่า ความดีคือความรวย ความจนคือความชั่วสิ เพราะมันคนละเรื่องกัน อาตมาขอยืนยันว่า ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว คนทุกวันนี้ ให้ค่าทางวัตถุมากกว่าทางจิตใจ อะไร ๆ ก็วัดกันด้วยวัตถุ แม้แต่ความดี ความชั่ว คนดีก็คือคนรวย คนชั่วก็คือคนจนใช่ไหม เดี๋ยวนี้คนเขาคิดกันอย่างนี้ใช่ไหม”

            “ครับ คนส่วนใหญ่คิดอย่างนี้” คนไม่อยากติดคุกตอบ

         “นี่แหละ ๆ สังคมทุกวันนี้ถึงได้สับสนวุ่นวาย ก็เพราะคนพากันยึดถือค่านิยมผิด ๆ อย่างนี้ แล้วคนที่ยอมลดตัวลงไปเป็นทาสของเงิน ยอมทำบาปทำชั่วเพราะเงินตัวเดียว อาตมาเห็นแล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนสะเทือนในหัวใจ

         แต่โยมเชื่อไหมล่ะ เวลาที่กฎแห่งกรรมมาให้ผล เงินทองก็ช่วยอะไรไม่ได้ จริงอยู่ เราอาจจะเห็นว่า เงินทองมันสามารถซื้ออะไรได้เกือบทุกอย่าง ซื้อแม้กระทั่งคนบางคน แต่มันก็จะเป็นอย่างนี้เฉพาะในโลกมนุษย์เท่านั้น สำหรับปรโลก เงินทองไม่มีความหมายเลย คนที่ทำความชั่วจะต้องตกนรก ถึงจะเอาเงินสักสิบล้านไปจ้างยมบาลไม่ให้ลงโทษ เขาก็ไม่รับจ้าง เพราะเงินไม่มีความหมายสำหรับเขา

         ฉะนั้นโยมไม่ต้องน้อยอกน้อยใจว่า เราทำความดี แต่ทำไมถึงจน คนทุกความชั่วกลับร่ำรวย แล้วก็ไม่ต้องไปอิจฉาคนชั่ว ไม่ต้องไปอิจฉา กฎแห่งกรรมทำหน้าที่เมื่อไรเมื่อนั้นเขาก็จะรู้ละว่า ทำชั่วต้องได้ชั่ว”

            “ครับ ฟังหลวงพ่อแล้ว ผมสบายใจขึ้นมากเลยครับ ถ้าเช่นนั้นผมกับแม่บ้านขอกราบลา พรุ่งนี้จะมาเข้ากรรมฐานนะครับ”

         “เจริญพร ขอให้โยมจงหมดเคราะห์หมดโศก แล้วก็อย่าเปลี่ยนใจเสียล่ะ ถ้าไม่มาเข้ากรรมฐาน อาตมารับรองว่า ต้องติดคุกแน่”

         “ครับ เป็นตายยังไงผมต้องมาแน่ ขอกลับไปเอาเสื้อผ้าก่อนนะครับ” คนทั้งสองกราบลาท่านพระครูแล้วลุกออกไป หน้าตาดูสดชื่นขึ้นเพราะมีความหวัง

         “หลวงพ่อเจ้าคะ อิฉันไม่อยากจะพูดว่า ขอให้หลวงพ่อช่วย แต่อิฉันก็ไม่อยากมุสา เพราะที่มานั่งรอคิวตั้งแต่เช้านี่ ก็เพื่อมาให้ท่านช่วยเจ้าค่ะ” สตรีวัยห้าสิบอารัมภบท

         “จะให้ช่วยอะไรล่ะโยม เอาเถอะว่าไปเลย ไม่ต้องเกรงใจ เพราะถ้าเกรงใจ โยมก็คงไม่มาใช่ไหม”

         “แหม หลวงพ่อพูดแบบนี้ คนฟังก๊อสะดุ้งแย่ เขาเรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง” สตรีหน้าตาจิ้มลิ้มผู้หนึ่งต่อว่า

         “ก็หรือโยมว่าอาตมาพูดไม่จริงล่ะ ที่อาตมาพูดนั้นไม่จริงใช่ไหม” ท่านถามยิ้ม ๆ

         “จริงค่ะ แต่เป็นความจริงที่เสียดแทงใจคนฟัง หลวงพ่อไม่น่าพูดตรง ๆ อย่างนี้” หญิงสาวตัดพ้อ

         “ก็อาตมาเป็นคนตรง จึงต้องพูดตรง ๆ อ้อมค้อมกับใครเขาไม่เป็น เอาละ โยมมีอะไรก็ว่าไป” ท่านบอกสตรีวัยห้าสิบ

         “คือยังงี้เจ้าค่ะหลวงพ่อ อิฉันแสนจะอึดอัดกลัดกลุ้ม ชีวิตหาความสุขสงบไม่ได้เลย บ้านก็ขัด วัดก็ขูด พูดไม่ออกเจ้าค่ะ”

         “โอ้โฮ ขนาดพูดไม่ออก ยังพูดได้คล้องจองกันถึงปานนี้” ท่านเจ้าของกุฏิออกปากชม “ไหนว่าวัดขูดน่ะ เป็นยังไง ลองอธิบายให้อาตมาฟังซิ”

         “เป็นยังงี้เจ้าค่ะ คือว่า อิฉันมีอาชีพทำนา บ้านอยู่อ่างทอง รายได้ก็ไม่แน่ไม่นอน เพราะเดี๋ยวแล้งเดี๋ยวน้ำท่วม ความเป็นอยู่ค่อนข้างขัดสน ทีนี้สมภารข้างบ้านมาเรี่ยไร บอกปีนี้ขอเรี่ยไรสร้างโบสถ์ห้าพัน อิฉันกับพ่อเด็กก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ผลัดท่านว่า รอให้เก็บเกี่ยวขายข้าวได้แล้วค่อยให้ พออิฉันขายข้าวเสร็จท่านก็มาทวงทันที แต่ทีนี้มันยังงี้ซีเจ้าคะหลวงพ่อ” นางหยุดเล่าด้วยเกิดความรู้สึกลังเล เพราะเรื่องที่จะเล่านั้นเกี่ยวกันไปถึงคนเป็นพระ หากพระท่านเข้าข้างกัน นางนั่นแหละจะเดือดร้อน

         “มันยังงี้น่ะยังไง ว่าต่อไปซีโยม”

         “ฉันชักไม่กล้าเล่าแล้วละเจ้าค่ะ ดีไม่ดี หลวงพ่อจะพลอยโกรธฉันไปด้วย” คนเล่าพูดออกตัว

         “รับรอง อาตมาไม่โกรธ อาตมาเลิกโกรธมาหลายปีแล้ว โยมจะพูดอะไรพูดได้เลย” เมื่อท่านพูดเช่นนี้ นางจึงเล่าต่อไปว่า

         “คือปีนี้อิฉันขายข้าวได้แค่สองหมื่น ก็ใช้หนี้สินเขาไปหมื่นนึง เหลืออีกหมื่นนึง ก็ต้องเก็บไว้ทำทุนสำหรับปีต่อไป ถ้าเอาไปทำบุญเสียห้าพัน อิฉันกับครอบครัวก็จะต้องลำบาก อิฉันก็เลยต้องต่อรองท่านว่าขอทำสองพันจะได้หรือไม่”

         “แล้วท่านว่ายังไง”

         “ท่านไม่ยอมเจ้าค่ะ ท่านบอกพูดก็ต้องเป็นพูด โกหกพระโกหกเจ้าจะต้องตกนรก อิฉันก็กลุ้มใจ กลัวตกนรกเจ้าค่ะ หลวงพ่อช่วยบอกอิฉันทีว่าจะทำยังไง”

         “แล้วโยมคิดว่า จะทำยังไงล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิย้อนถาม

         “อิฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงซีเจ้าคะ ถึงได้มาเรียนถามหลวงพ่อ อิฉันจะทำยังงี้ได้ไหมเจ้าคะ”

         “ทำยังไง โยมว่าไปสิ อาตมากำลังฟัง”

         “ก็จะมาขอยืมหลวงพ่อสักห้าพันไปถวายสมภารท่าน ปีหน้าฟ้าใหม่ หากอิฉันเงยหน้าอ้าปากได้ ก็จะเอามาใช้เจ้าค่ะ”

         “แปลว่า จะมายืมเงินวัดนี้ ไปทำบุญวัดโน้น ว่างั้นเถอะ”

         “เจ้าค่ะ”

         “แหม โยมนี่เข้าใจแก้ปัญหานะ แก้ปัญหาได้แจ๋วเลย” ท่านตั้งใจประชด แต่คนฟังกลับคิดว่าท่านพูดจริงจึงถาม

         “แปลว่า หลวงพ่อจะให้อิฉันยืมใช่ไหมคะ”

         “อาตมายังไม่ได้พูดยังงั้น โยมอย่าเพิ่งเข้าใจผิด” ท่านรีบบอก

         “หรือว่าหลวงพ่อกลัวอิฉันจะโกง ไม่โกงแน่เจ้าค่ะ อิฉันเตรียมโฉนดที่นามาให้หลวงพ่อด้วย” พูดพลางหยิบโฉนดออกมาจากถุงกระดาษ

         “เอาละ ๆ ขอให้อาตมาพูดบ้าง โยมฟังนะ อาตมาไม่ได้มีอาชีพออกเงินให้กู้ เพราะอาตมาเป็นสงฆ์ ย่อมไม่เป็นการสมควรที่จะประกอบธุรกิจเช่นนั้น ถึงโยมจะเคยเห็นพระวัดอื่นเขาทำกัน แต่สำหรับอาตมาไม่เคยคิดจะทำ เคยมีบ้างเหมือนกันที่อาตมาให้ญาติโยมยืมเงิน แต่ก็ไม่ได้คิดดอกเบี้ย เพียงแต่จะช่วยสงเคราะห์ยามที่เขาเดือดร้อน แต่ในรายของโยม อาตมาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ยืม เพราะโยมไม่ได้เดือดร้อนอะไร

         การจะยืมเงินคนอื่นไปทำบุญนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แล้วโยมก็จะไม่ได้บุญอีกด้วย ญาติโยมทั้งหลายโปรดจำไว้ การทำบุญชนิดที่เรียกว่า “เมาบุญ” นั้นไม่ได้บุญแน่นอน เราต้องทำตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ หากทำแล้วตัวเองต้องเดือดร้อน จะไปได้บุญอะไรจริงไหม”

         “จริงครับ” บุรุษผู้หนึ่งตอบ แล้วเขาก็ถามอีกว่า

         “แล้วสมภารวัดนั้นจะได้บุญหรือครับหลวงพ่อ บังคับให้คนอื่นเขาทำบุญ ผมว่าไม่น่าจะได้บุญ”

         “ไม่ได้แน่นอน เพราะเท่ากับทำให้เขาเดือดร้อน อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เขาทุกข์ใจ จริงไหมโยม” ท่านถามเจ้าของเรื่อง

         “จริงเจ้าค่ะ อิฉันนอนไม่หลับมาหลายวัน ถึงได้ตัดสินใจมาหาหลวงพ่อ”

         “กลับไปนี่ก็หายกลุ้มนะ อย่าไปกลุ้ม เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อะไร”

         “แล้วอิฉันจะไปบอกสมภารวัดนั้น ยังไงดีเจ้าคะ”

         “ก็บอกอย่างที่อาตมาพูดนี่แหละ แต่อย่าไปอ้างชื่ออาตมาล่ะ ประเดี๋ยวท่านจะมาโกรธอาตมาอีกคน บอกท่านไปว่า โยมมีศรัทธาแค่นี้ ก็จะทำเท่านี้แหละ รับก็รับ ไม่รับก็แล้วไป บอกอย่างนี้ไม่บาปหรอก แล้วก็ไม่ตกนรกด้วย”

         “จริงหรือเจ้าคะ แหมอิฉันโล่งใจจริง ๆ กลัวตกนรกน่ะเจ้าค่ะ เมื่อท่านบอกว่าไม่ตก อิฉันก็ดีใจ ถ้างั้นอิฉันกราบลานะเจ้าคะ”

         “เจริญพร ทีนี้โยมก็เลิกบ่นได้แล้วนะ ไม่ต้องไปบ่นว่า “บ้านก็ขัด วัดก็ขูด พูดไม่ออก” เพราะถ้าทางบ้านกำลังขัดสนแล้วทางวัดยังมาขูด โยมจะต้องพูด อย่าไปทำเป็นพูดไม่ออก แล้วก็เก็บมากลุ้มอกกลุ้มใจแบบนี้ เข้าใจหรือเปล่า”

         “เข้าใจเจ้าค่ะ ต่อไปนี้อิฉันจะกล้าพูดแล้วเจ้าค่ะ กราบลานะเจ้าคะ” สตรีวัยห้าสิบลุกออกไปแล้ว ก็ถึงคิวของบุรุษวัยหกสิบ

         “หลวงพ่อครับ ลูกชายคนเล็กผมไม่เอาถ่านเลยครับ ส่งไปเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ก็ไม่เรียน ประพฤติตัวเกกมะเหรกเกเร ขอแต่เงิน หลวงพ่อช่วยหน่อยเถอะครับ” ท่านพระครูพิศใบหน้าของเขาแล้วรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นที่ไหนมาก่อน

         “อายุเท่าไหร่แล้วล่ะ ลูกชายที่ว่านี่”

         “สิบแปดครับหลวงพ่อ” เขาตอบท่านเจ้าของกุฏิพยายามนึกว่าเคยรู้จักบุรุษผู้นี้ที่ไหน เมื่อไหร่ ครั้นนึกไม่ออกจึงจำต้องพึ่ง “เห็นหนอ” แล้วท่านจึงตั้งสติกำหนด เห็นหนอ ตาคนนี้เป็นใครกันหนอ เคยรู้จักกับเราเมื่อไหร่หนอ อ้อ! นึกออกแล้วหนอ ตาคนนี้เราเคยโกงค่าก๋วยเตี๋ยวแกสมัยที่เรายังเป็นเด็กหนอ นี่แกก็มาขอความช่วยเหลือ เราได้โอกาสชดใช้กรรมอีกแล้วหนอ”

            “พรุ่งนี้พามาหาอาตมา” ท่านสั่ง “เจ้ากรรมนายเวร” แล้วจึงถามเขาว่า “โยมมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวใช่ไหม”

         “ครับหลวงพ่อ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ขายแล้ว เลิกมาได้สักสิบปีเข้านี่แล้ว”

         “ทำไมเลิกเสียล่ะ”

         “มันขายไม่ค่อยดีครับ ผมเลยหันไปซื้อขวดมาขาย กำไรดีกว่ากันเยอะ”

         “อ้อ สมัยอาตมาเป็นเด็ก ก็เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวโยมกินทุกวัน” ท่านเล่าความหลังต่อหน้าธารกำนัลเช่นนี้ ท่านยังไม่บอกหรอกว่า เงินที่ใช้ซื้อนั้น ก็ขโมยของแกนั่นแหละมาซื้อ คือแอบไปขโมยเงินทางด้านหลังแล้วอ้อมมาซื้อทางด้านหน้า!

         “หรือครับ ตอนนั้นผมขายจานละเท่าไหร่ครับ” คนถามรู้สึกตื่นเต้น ที่ได้พบ “ลูกค้าเก่า”

         “จานละสองสตางค์”ถ้าใส่ไข่สามสตางค์

         “ก็หลายสิบปีแล้วนะซีครับ  ครั้งสุดท้าย ก่อนที่ผมจะเลิกขาย ราคาก็ขึ้นมาเป็นจานละห้าสิบสตางค์” การสนทนาระหว่างท่านพระครู กับอดีตพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ทำให้ผู้ที่นั่งฟังรู้สึกหิว แล้วเหมือนกับสวรรค์โปรด เมื่อท่านเจ้าของกุฏิ พูดขึ้นว่า

         “ได้เวลาอาหารกลางวันแล้ว ขอเชิญญาติโยมทุกท่านรับประทานอาหารกันให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อน วันนี้แม่ครัวเขาทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทยเลี้ยง” ที่ท่านทราบเพราะ “เห็นหนอ” บอก...

           

            มีต่อ........๖๙

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ เมษายน 27, 2007, 07:56:17 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00069
๖๙...

            เจ้าทุกข์รายแรกของช่วงบ่ายเป็นสตรีสาวสวยซึ่งมาด้วยกันสามคน คนที่มีท่าทางเป็นผู้นำรายงานว่า “พวกหนูมาจากวิทยาลัยครู...ค่ะ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่น” หล่อนออกชื่อวิทยาลัยครูแห่งหนึ่ง

            “อ้อ” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองหน้าหล่อนทีละคนแล้วถาม “ชื่ออะไรกันบ้างล่ะ อาจารย์อะไรจ๊ะ”

            “หนูชื่อยุพาพร คนซ้ายมือชื่ออาจารย์กุลนที ส่วนคนขวามือชื่ออาจารย์กวิศญา คนนี้เพิ่งบรรจุค่ะ คนเป็นผู้นำพูดเสียงดังฟังชัด

            แล้วรู้จักวัดนี้ได้ยังไง ทำไมถึงมาถูกล่ะจ๊ะ”

            “คุณแม่หนูเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อค่ะ เคยมาเข้ากรรมฐานหลายครั้ง คุณแม่เป็นคนบอกทางให้ค่ะ ลูกสาวของลูกศิษย์ท่านพระครูตอบ

            “ยังงั้นหรอกหรือ คุณแม่ชื่ออะไรล่ะจ๊ะ”

            “ชื่อสอาดค่ะ หลวงพ่อจำได้หรือเปล่าคะ คุณแม่หนูสวย ผิวขาว ไม่ดำอย่างหนูหรอกค่ะ” คนชื่อกวิศญาพูดเสียงแจ๋ว ๆ

         “แล้วทำไมอาจารย์ถึงไม่ขาวเหมือนคุณแม่ล่ะ หรือว่าคุณพ่อผิวคล้ำ” ท่านเลี่ยงมาใช้คำว่า “คล้ำ” แทน “ดำ”

            “คุณพ่อก็ขาวค่ะ พี่น้องสามคนก็ผิวขาดหมด มีหนูดำอยู่คนเดียว เพราะตอนหนูอยู่ในท้องคุณแม่ คุณพ่อไปติเพื่อนบ้านคนนึง ชื่อนายหละ ติเขาได้ทุกวันว่า “ตาคนนี้ยิ้มเห็นแต่ฟัน” หนูออกมาก็เลยดำเหมือนตาหละค่ะ คุณแม่โกรธคุณพ่อมากเลย ทำไมคุณพ่อว่าคนอื่นแล้วกรรมต้องมาตกที่ลูกตัวด้วยล่ะคะ” หล่อนถาม

            “เขาเรียกว่า “กรรมจัดสรร” คนโบราณเขาถึงได้สอนเอาไว้ว่า เวลาท้องอย่าเที่ยวไปติใคร เหมือนคนที่อาตมารู้จัก แกไปติลูกของเพื่อนบ้านว่าปากแหว่ง พอแกคลอดลูกออกมา โอ้โฮ ปากแหว่งเหมือนลูกของเพื่อนบ้านเปี๊ยบเลย”

            “ถ้าอย่างนั้นเวลากำลังท้องต้องชมว่าเขาสวยใช่ไหมคะ” อาจารย์สาววัยยี่สิบเอ็ดบอกสองเรียนถาม

            “ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่หลับหูหลับตาชมนะ เดี๋ยวไปเห็นคนปากแหว่ง ตาเหล่ แล้วไปชมเขาว่าสวย ลูกออกมาก็เลยสวยอย่างนั้นบ้าง” คำพูดของท่านเรียกเสียงหัวเราะจากคนทั้งกุฏิ “อ้าว นี่พูดจริง ๆ นา อย่าทำเป็นหัวเราะ”

         “จริงค่ะหลวงพ่อ หนูก็เคยเห็นมาแล้ว ที่หน้าวิทยาลัยหนู มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อาชีพขายถ่าน ตัวดำทั้งคู่ แต่ลูกสาวแกสวยมาก ผิวขาวยังกับหยวก คนเขาสงสัยก็พากันไปถามแก แกก็เล่าให้ฟังว่า ตอนแกตั้งท้อง แกเอารูปนางงามมาติดไว้ข้างฝา แล้วก็ดูทุกวันวันละ ๔ เวลาหลังอาหารและก่อนนอน พอลูกแกออกมาก็เลยหน้าตาเหมือนนางงามในรูป เมื่องานฤดูหนาวที่ผ่านมา เขามีการประกวดนางงามประจำจังหวัด ลูกสาวแกได้ที่หนึ่งค่ะ” อาจารย์กุลนทีเป็นคนเล่า ท่านเจ้าของกุฏิจึงสรุปให้ญาติโยมฟังว่า

         “ที่พูดมานี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระนะ ญาติโยมโปรดจำไว้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นั้นมีผล มีวิบาก กฎแห่งกรราทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันจะปรากฏให้เห็นเร็วหรือช้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าใครกลัวทุกข์ ก็จงทำ จงพูด จงคิด แต่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เอาละ แล้วอาจารย์ทั้งสามมีอะไรจะให้อาตมาช่วยหรือเปล่า” ท่านเปิดโอกาสให้สตรีทั้งสาม

         “อาจารย์กวิศญาเขามีปัญหาค่ะหลวงพ่อ” อาจารย์ยุพาพรช่วยเกริ่นให้

         “ว่าไปเลยจ้ะ อาจารย์ว่าไปเลย” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าวอนุญาต

         “ให้พี่กุลนทีเล่าดีกว่าค่ะ เพราะเขาเป็นคนทำให้ปัญหาเกิดขึ้น” คนมีปัญหาเกี่ยงเพื่อน

         “ไม่ต้องเกี่ยงกัน เอาละ อาตมาจะเป็นคนตัดสินเอง ในฐานะที่อาจารย์ยุพาพรไม่ใช่คู่กรณี อาจารย์ลองเล่าไปตามความเป็นจริงก็แล้วกัน” เมื่อท่านพูดมาอย่างนี้ อาจารย์สาวจึงจำต้องเล่า

         “เรื่องเป็นอย่างนี้ค่ะหลวงพ่อ อาจารย์กวิศญาเขามาอยู่บ้านเดียวกับหนู เพราะยังไม่ได้บ้าน บ้านพักอาจารย์มีจำกัดค่ะ คนที่บรรจุใหม่จึงต้องรอ หากมีการโยกย้ายหรือมีการแต่งงานระหว่างอาจารย์ด้วยกัน คู่แต่งงานก็ต้องย้ายมาอยู่บ้านหลังเดียวกัน ก็จะมีบ้านว่างหนึ่งหลัง ทางวิทยาลัยก็จะจัดการว่าใครควรจะได้บ้านก่อนใคร

         ระหว่างที่รอบ้าน หนูจึงชวนเขามาอยู่ด้วย ก็อยู่กันสบาย ๆ ไม่มีปัญหาอะไร มาเมื่อสองวันก่อน อาจารย์กวิศญาเขาอยากกินมะม่วงน้ำปลาหวาน เขาก็โขลกกุ้งแห้งเป็นการใหญ่ แล้วจะเป็นเพราะเขาหิวมากหรือเขาแรงมากก็ไม่ทราบ คุณเธอโขลกเสียครกบ้านหนูแตกออกเป็นสองกระบิเลยค่ะ หนูก็บอกเขาว่าไม่เป็นไร แตกก็ซื้อใหม่ได้ ที่ตลาดมีเป็นพะเรอเกวียน เขาก็บอกจะไปซื้อมาใช้ พอดีอาจารย์กุลนทีมาเห็นเข้าเธอตกใจใหญ่ บอกว่าคนทางบ้านเธอเขาถือกันมาก ใครตำน้ำพริกจนครกแตก แสดงว่าคน ๆ นั้นกำลังมีเคราะห์จะต้องสะเดาะเคราะห์ด้วยการอุ้มครกที่แตกนั้นวิ่งรอบบ้านเจ็ดรอบ” อาจารย์สาวพูดเสียงดังฟังชัด

         “อ้อ ทางบ้านอาจารย์ คนเขาถือกันอย่างนี้หรือ” ท่านถามอาจารย์กุลนที

         “ค่ะ”

         “แล้วอาจารย์เชื่อเขาหรือเปล่า” ท่านถามคนทำครกแตก

         “เชื่อเหมือนกันค่ะหลวงพ่อ ก็อยากจะสะเดาะเคราะห์อย่างที่เขาว่า แต่หนูไม่กล้าค่ะ”

         “ทำไมถึงไม่กล้าล่ะ” อาจารย์ยุพาพรตอบแทนว่า

         “เพราะไม่ได้อุ้มครกวิ่งอย่างเดียวค่ะ แต่ต้อง...ต้อง...”

         “ต้องเปลือยกายวิ่งด้วยค่ะ คนเล่า เอามือปิดปากหัวเราะกิ๊ก ๆ คนฟังพากันหัวเราะครืน

         “โอ้โฮ ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิถาม เจ้าของปัญหาจึงว่า

         “นี่แหละค่ะ คือปัญหาของหนู หลวงพ่อช่วยหนูด้วยนะคะ คนมีเคราะห์อ้อนวอน ท่านพระครูส่ายหน้าช้า ๆ แล้ววิจารณ์ซึ่ง ๆ หน้า

         “อาตมาฟังแล้วไม่รู้จะร้องเพลงอะไรดี”

         “เป็นพระร้องเพลงได้หรือคะ” อาจารย์กุลนทีถามซื่อ ๆ คราวนี้ท่านพระครูรู้สึกอยากร้องไห้ นั่งปรับอารมณ์อยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง ท่านเจ้าของกุฏิจึงถามขึ้นว่า

         “อาจารย์สอนวิชาอะไร”

         “หนูสอนภาษาอังกฤษค่ะ ส่วนอาจารย์ยุพากับอาจารย์กุลนทีสอนภาษาไทย” อาจารย์กวิศญาตอบ

         “แล้วเรียนจบจากที่ไหน”

         หล่อนบอกชื่อมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

         “แหม จบจากสถาบันที่มีชื่อเสียงเสียด้วย เสียดายที่อุตส่าห์เป็นถึงบัณฑิตแต่แก้ปัญหาไม่ได้ แค่ทำครกแตกใบเดียวก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องวิ่งมาหาพระให้ช่วย” สตรีทั้งสามมองตากันปริบ ๆ เมื่อถูก “เทศน์” ต่อหน้าธารกำนัล

         “แล้วเป็นอาจารย์มาได้ยังไง้ น่าสงสารคนที่เป็นลูกศิษย์” สตรีผู้หนึ่งวิจารณ์ในใจ

         “อาจารย์เคยเข้าวัดกันบ้างไหม เคยไปฟังพระเทศน์หรือเปล่า” ท่านเจ้าของกุฏิถามอาจารย์สาว คนชื่อกุลนทีตอบว่า

         “ไม่เคยค่ะ นี่เป็นวัดแรกที่หนูเข้า แล้วก็คงจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่หนูจะเข้าวัด” ตอบตรงไปตรงมา

         “ทำไมล่ะอาจารย์ วัดนี้ไม่ดียังไง”

         “ก็หนูอุตส่าห์พากันมารอคิวตั้งครึ่งวัน เสร็จแล้วยังมาถูกหลวงพ่อว่าเสียอีก หลวงพ่อไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติม” อาจารย์สาวตัดพ้อ

         “จริงด้วย” เพื่อนสาวสองคนสนับสนุน

         “อาจารย์อยากให้อาตมาช่วยหรือเปล่าล่ะ” ท่านถามอาจารย์กวิศญา

         “อยากค่ะ หลวงพ่อช่วยหนูด้วยเถอะค่ะ ไหน ๆ หนูก็อุตส่าห์ดั้นด้นมาขอความเมตตา คุณแม่บอกว่าหลวงพ่อเป็นคนใจดี มีเมตตา หลวงพ่อต้องช่วยแน่ ๆ ค่ะ” หล่อนอ้างมารดา

         “แล้วทำไมคุณแม่เขาไม่ช่วยล่ะ”

         “ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ บอกแต่ว่าให้มาหาหลวงพ่อ” ท่านเจ้าของกุฏิให้สงสัยนัก เหตุใดคุณสอาดจึงไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูก ทำไมจะต้องส่งมาหาท่าน ด้วยความอยากรู้จึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบและก็ได้ทราบว่า เป็นอุบายของผู้เป็นแม่ที่จะชักจูงบุตรสาวให้เข้าวัดนั่นเอง

         “เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาจะช่วย อาจารย์สวดมนต์เป็นหรือเปล่า สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากา ได้ไหม”

         “สวดได้สามอย่างแรกค่ะ อย่างหลังสวดไม่ได้ แต่คิดว่าคุณแม่คงสวดได้ค่ะ คำทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น คุณแม่ก็ท่องได้ค่ะ ท่องได้แล้วก็แปลได้ด้วย” น้ำเสียงที่พูดบ่งบอกว่าภาคภูมิใจในมารดายิ่งนัก “แต่หนูสวดไม่เป็นสักอย่างเดียวค่ะ” อาจารย์กุลนทีว่า

         “ทำไมถึงไม่เป็นล่ะจ๊ะ”

         “เพราะไม่เคยสวด แล้วหนูก็ไม่เห็นความจำเป็นของการสวดมนต์ด้วย คนเราถ้ามีความสุขอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสวดมนต์ ไม่จำเป็นต้องเข้าวัด พวกที่เข้าวัดก็คือคนที่มีความทุกข์ มีปัญหา”

         “พูดดี ๆ นะคะอาจารย์ ยังกับว่าตัวเองไม่เคยมีความทุกข์งั้นแหละ” สตรีวัยกลางคนพูดขึ้นอย่างรู้สึกหมั่นไส้เสียเต็มประดา

            “ฉันไม่เคยมีความทุกข์จริง ๆ นะน้า ตั้งแต่เกิดมานี่ยังไม่เคยรู้เลยว่าความทุกข์มันเป็นยังไง นี่ฉันพูดจริง ๆ นะ ไม่ได้พูดยกตนข่มท่านแต่ประการใด” คนไม่รู้จักความทุกข์ว่า

         “สงสัยคงจะมีคนเดียวในโลก” สตรีนั้นพูดประชด

         “อันนั้นฉันไม่รู้ รู้แต่ว่าตัวเองโชคดี พ่อดี แม่ดี ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงดีหมด แล้วฉันก็มีความสุขมาก”

         “เอาเถอะ สักวันก็จะรู้ว่าความทุกข์มันเป็นยังไง คนอย่างอาจารย์นี่ต้องจัดอยู่ในประเภท “ไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตา”

         “ไม่จริงหรอกน้า บ้านฉันอยู่ติดกับร้ายขายโลงศพ ฉันเห็นโลกศพทุกวันแต่ไม่ยักกะหลั่งน้ำตา แล้วน้าจะมาว่าฉันเป็นคนประเภทนั้นได้ยังไง” อาจารย์สาวโต้ สตรีนั้นโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง หากก็มิรู้ที่จะโต้ตอบว่ากระไร จึงได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า “อย่าไปเถียงกะเขาเลย เขานั้นจบปริญญา ส่วนตัวข้าแค่ ป.๔”

         “แหม อาจารย์เห็นกุฏิอาตมาเป็นสนามโต้วาทีไปเสียแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิ ต่อว่าต่อขานด้วยใบหน้ายิ้ม ๆ

         “ก็ยังดีกว่าเห็นเป็นสนามมวยใช่ไหมคะ” อาจารย์สาวถามยิ้ม ๆ เช่นกัน

         “ดูเถอะ กับพระกับเจ้ายังไม่ยอมลดละ แบบนี้เป็นอาจารย์ได้ยังไง้ น่าสงสารลูกศิษย์จริง” คนจบ ป.๔ พูดกระทบกระเทียบ

         “ถึงว่าซี น้าน่าจะไปเป็นอาจารย์แทนฉันนะ พี่ยุพาพรว่าดีไหม ให้น้าคนนี้ไปเป็นอาจารย์แทนหนูดีไหม” คนจบปริญญาตั้งใจยั่วคนจบ ป.๔

         “ขอโทษนะครับ คุณสามคนเสร็จธุระหรือยัง ถ้าเสร็จแล้วก็เปิดโอกาสให้คนอื่นเขาบ้าง” บุรุษหนึ่งพูดขึ้นอย่างเหลืออด นึกหมั่นไส้แม่สามสาวนี่ตั้งแต่แรกแล้ว ท่านพระครูเห็นว่าอาจารย์สาวสามคนนี้จะต้องถูกคนอื่น ๆ ว่าอีก หากพวกหล่อนยังขืนต่อปากต่อคำกับท่านอยู่ จึงบอกพวกหล่อนว่า

         “เสร็จธุระแล้วใช่ไหม แล้วนี่จะกลับกันยังไง”

         “หนูขับรถมาค่ะ” อาจารย์กุลนทีตอบ”

         “หลวงพ่อยังไม่ได้ตอบปัญหาของหนูเลย” อาจารย์กวิศญาพ้อ

         “ก็ให้ไปสวดมนต์ไง สวมมนต์มาก ๆ แล้วจะเกิดปัญญาแก้ปัญหาได้เอง เอาเถอะให้ลองไปทำดู ได้ผลยังไงค่อยมาบอกทีหลัง” ท่านออกอุบายให้อาจารย์สาวมาวัดอีก

         “พี่ไม่มาเป็นเพื่อนอีกแล้วนะ” คนไม่ชอบเข้าวัดบอก

         “ไม่เป็นไร มากับพี่ก็ได้” อาจารย์ยุพาพรเอื้อเฟื้อ คนทั้งสามจึงกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วลุกออกมาท่ามกลางความรู้สึกโล่งอกโล่งใจของบรรดาผู้มีความทุกข์ทั้งหลาย

         “หลวงพ่อครับ ผมรู้สึกสงสารนักศึกษาวิทยาลัยครูแห่งนั้นเหลือเกินที่มีอาจารย์ปัญญานิ่ม ๆ อย่างนี้ แค่ทำครกแตกก็มีปัญหา ไม่รู้เป็นอาจารย์ได้ยังไง บุรุษผู้มีนิสัยชอบหมั่นไส้ผู้อื่นพูดขึ้น

         “แต่ถึงอย่างไรโยมก็อย่าไปเหมาว่าอาจารย์วิทยาลัยครูเป็นอย่างนี้ทุกคนนะ เพราะคนที่เขาปฏิบัติกรรมฐานเขาก็ไม่เป็นอย่างนี้ พูดก็พูดเถอะ บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เรียนจบด็อกเตอร์มาจากเมืองนอกเมืองนา ก็ยังมาให้ช่วยแก้ปัญหา ตัวเองจบถึงด็อกเตอร์ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมาให้คนจบมัธยม ๔ แก้ให้ คนประเภทนี้เขาเรียกว่า “ความรู้ท่วมตัวเอาหัวไม่รอด”

         “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ครับหลวงพ่อ” บุรุษนั้นแย้ง ท่านพระครูจึงแก้ว่า

         “มันก็เหมือนกันนั่นแหละโยม การศึกษาสมัยนี้ทำคนให้เป็นก้านไม้ขีด คือหัวโตแต่ตัวลีบ ก็เลยไปไม่ไหว โยมสังเกตไหม เดี๋ยวนี้โรงเรียนเขาไม่สอนเด็กสวดมนต์กันแล้ว สมัยที่อาตมาเป็นนักเรียนนะ ครูเขาให้สวดมนต์ทุกวัน เด็กสมัยก่อนจึงสวดมนต์เป็น สมัยนี้ครูเองยังสวดไม่เป็น นับประสาอะไรกับนักเรียน โยมว่าจริงไหม”

         “จริงครับ ทั้งครูทั้งอาจารย์สวดมนต์ไม่เป็น นักเรียนนักศึกษาก็เลยดำเนินรอยตาม ผมว่าถ้าขืนปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไข บ้านเมืองก็จะไปไม่รอดนะครับ” บุรุษนั้นแสดงความคิดเห็น

         “อาตมาว่าเราเลิกพูดเรื่องนี้กันดีกว่า เพราะยิ่งพูดมันก็ยิ่งเครียด เอาเถอะ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ขอให้เราทำหน้าที่ของตัวให้ดีที่สุดก็แล้วกันนะโยมนะ”

         “ครับหลวงพ่อ ประเทศไทยไม่ใช่ของเราคนเดียวจริงไหมครับ”

         “คงจริงมั้ง เอาเถอะโยมอยากจะคิดยังงั้นก็ตามใจ เรื่องความคิดมันห้ามกันไม่ได้ เอาละทีนี้ใครมีอะไรก็ว่าไป”

         สตรีวัยกลางคนคลานเข้ามาหา กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า “หลวงพ่อจ๊ะ ลูกสาวฉันมันหนีตามผู้ชายไป พ่อบ้านเขาโกรธมาก เขาวางแผนจะฆ่าลูกเขย ฉันห้ามก็ไม่เชื่อ จะทำยังไงดีจ๊ะ”

         “ไปบอกเขาเลยว่า ถ้าฆ่าติดคุกแน่ หลวงพ่อบอกว่าติดคุกแน่นอน แล้วตายไปก็ต้องตกนรกอีกด้วย จะไปฆ่าเขาทำไม”

         “ก็มันทำให้เสียชื่อ เสียศักดิ์ศรีน่ะจ้ะหลวงพ่อ เขาบอกมันเหยียบจมูกกันแบบนี้ เขายอมไม่ได้ ลูกสาวฉันไม่ก็ไม่ดี เถ้าแก่โรงสีเขามาขอ มันก็ไม่เอาเขา ไปเอาไอ้คนจน ๆ มาทำผัว” คนพูดเคียดแค้น

         “อ้าว ก็เขามาสู่ขอแล้วไม่ให้เขานี่นา ไปดูถูกดูแคลน ว่าเขายากจนข้นแค้น เอาเถอะ อย่าไปรังเกียจรังงอนเขาเลย ถึงเขาจะจนเขาก็เป็นคนดี โยมเชื่ออาตมาสักครั้งนะ แล้วกลับไปบอกพ่อบ้านว่า ยังไง ๆ ก็อย่าไปคิดพรากผัวพรากเมียเขา บาปกรรมเปล่า ๆ เชื่อประเทศไทยเถอะ”

         “แต่พ่อบ้านเขาอยากให้มันแต่งกับเถ้าแก่โรงสีจ้ะหลวงพ่อ”

         “แต่งได้ยังไง ก็เขามีลูกมีเมียแล้ว โยมอยากให้ลูกไปเป็นเมียน้อยเขาหรือไง เป็นเมียหลวงดี ๆ อยู่แล้ว เรื่องอะไรจะให้เขาไปเป็นเมียน้อย” ท่านพูดไปตามที่ “เห็นหนอ” รายงาน

         “แต่เมียเขาหนีตามชู้ไปนะจ๊ะหลวงพ่อ หนีไปกับชู้ซึ่งเป็นทนายความ” ท่านเจ้าของกุฏิช่วยพูดอีกว่า

         “แล้วทนายความก็มีลูกมีเมียแล้ว น่าสมเพชนะโยม ผู้หญิงหลงตัวผู้ชาย ข้างผู้ชายก็หลงเงินของผู้หญิง อาตมาเห็นกฎแห่งกรรมของคนคู่นี้แล้ว น่าสงสารจริง ๆ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เขาทำของเขาเอง เอาละ เรื่องลูกสาวของโยมนั้น เขาได้คู่ดีแล้ว ถ้าไปได้กับเถ้าแก่ อยู่กันไม่ยืด แล้วก็ไม่ต้องไปดูถูกดูแคลนว่าลูกเขยจน อีกห้าปีเขาจะรวย รวยกว่าเถ้าแก่โรงสีเสียอีก โยมสบายใจได้ กลับไปบอกพ่อบ้านเขาอย่างนี้นะ”

         “จ้ะหลวงพ่อ ฉันสบายใจขึ้นเป็นกอง ไม่เสียแรงที่อุตส่าห์มาหา”

         “โยมมาจากไหนล่ะ”

         “จากโคกสำโรงจ้ะหลวงพ่อ”

         “รู้จักคนชื่อจุกหรือเปล่า จุกที่อยู่ตลาดโคกสำโรงน่ะ เห็นเขาว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง” ท่านถามถึงคนเป็นหลานสะใภ้

         “รู้จักดีจ้ะหลวงพ่อ อีนังนี่มันขี้เหนียวอย่าบอกใคร ขนาดถูกหวยตั้งห้าแสน มันซื้อรองเท้าไปฝากหลวงน้ามันคู่เดียวเอง”

         “ยังงั้นหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิรับทราบ คงไม่จำเป็นต้องบอกหรอกว่าหลวงน้าของ “อีนังนี่” ก็คือตัวท่านนั่นเอง

         แขกคนสุดท้ายกลับไปเมื่อเวลาสองทุ่ม ท่านพระครูเรียกนายสมชาย มาสั่งการว่า

         “พรุ่งนี้ตีสี่เธอไปตลาดกับแม่ครัวเขา ไปซื้อของมาทำบุญเลี้ยงพระ คุณหญิงเขาจะมาเลี้ยงเพล แล้วก็ช่วยชื้อผ้าไตรมาให้ฉันหนึ่งสำรับด้วย เลือกชนิดที่เนื้อดีที่สุดนะไปซี ไปบอกแม่ครัวเขาไว้ก่อน พรุ่งนี้จะได้ไม่ยุ่ง” นายสมชายลุกออกไปแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดกับอาจารย์ชิตว่า

         “เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาทวงอีกรายแล้ว”

         “คราวนี้หลวงพ่อจะเป็นอะไรอีกหรือครับ” คนสูงอายุถามอย่างเป็นห่วง

         “ไม่เป็นอะไรแล้ว แต่ต้องเสียเงิน พรุ่งนี้คนขายก๋วยเตี๋ยวจะเอาลูกชายมาฝาก อาตมาจะให้เขาบวชเณรแล้วก็ปฏิบัติกรรมฐาน สักเดือนสองเดือนเขาก็จะรู้ดีรู้ชั่ว แล้วก็จะกลับไปเรียนหนังสืออย่างเดิม อาตมาก็ได้ใช้หนี้คนขายก๋วยเตี๋ยว โยมอยากรู้ไหมว่าหนี้อะไร”

         “หนี้อะไรครับ” บุรุษวัยหกสิบถาม

         “หนี้ค่าก๋วยเตี๋ยว อาตมาโกงค่าก๋วยเตี๋ยวแกทุกวัน วิธีโกงก็คือ ย่องไปขโมยเงินทางด้านหลังแก แล้วเอามาซื้อทางด้านหน้า แกยืนผัดก๋วยเตี๋ยวเหย็ง ๆ พอใครซื้อแกก็เอาเงินเหวี่ยงลงไปในตะกร้าซึ่งวางอยู่บนโต๊ะด้านหลังแก อาตมาก็กินก๋วยเตี๋ยวฟรีทุกวัน แถมบางวันยังหยิบเกินมาเป็นค่าน้ำแข็งใสอีกด้วย” คนเล่าหัวเราะ

         “เคยถูกจับได้บ้างไหมครับ” คนฟังถาม

         “ไม่เคย” ตอบอย่างภาคภูมิใจในความเก่งกาจของตน

         “มือชั้นนี้แล้ว ให้ถูกจับได้ ก๊อเสียชื่อหมด อาตมาเป็นคนดวงดีนะ ดวงทำบาปขึ้น เรื่องถูกจับได้นั้นไม่ต้องพูดถึง”

 

            มีต่อ........๗๐

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 01, 2007, 09:17:28 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00070
๗๐...

            อาจารย์ชิตกับนายสมชายช่วยท่านพระครูตอบจดหมายอยู่ถึงห้าทุ่ม จากนั้นคนทั้งสองจึงได้รับอนุญาตให้ไปพักผ่านหลับนอน ส่วนท่านเจ้าของกุฏิทำงานคนเดียวต่อไปจนถึงตีหนึ่ง เหลือเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงก่อนจำวัด สมภารวัยห้าสิบตั้งใจจะเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐาน ท่านรู้สึกกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงเอื้อมมือไปหยิบกระติกน้ำร้อน เพื่อจะนำมาชง “ชา” ดื่ม

            “ชา” ของท่านมิได้ทำจากใบชา หากทำมาจาก ต้นใต้ใบ กับ ต้นไมยราบ สับละเอียดตากแห้ง แล้วชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่มต่างน้ำชา นายสมชายเพิ่งจะเติมน้ำร้อนลงไปเมื่อตอนสี่ทุ่ม เมื่อท่านเปิดฝาชั้นนอกของกระติก ก็มีเสียงระเบิดดัง “ฟุ” น้ำร้อนพุ่งออกมาลวกต้นขาท่านจนปวดแสบปวดร้อนทั้งสองขา

            บัดดลท่านนึกถึงนังดำลาย เจ้าแมวเคราะห์ร้ายที่บังเอิญผ่านมาตอนที่ท่านสาดน้ำร้อนออกไปทางหน้าต่าง เมื่อตอนดึกของวันวาน มันส่งเสียงร้อง “แป๊ว” แล้ววิ่งหายไปทางศาลาการเปรียญ ท่าน “ตรวจสอบ” ดูก็รู้ว่า น้ำร้อนไปลวกขาทั้งสองข้างของมันจนเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน

            เพียงชั่วคืนเดียว “กรรม” นั้น ก็กลับมาสนองท่านรวดเร็วจนไม่ทันได้ตั้งตัว “นังดำลายเอ๋ย ขอบใจเอ็งมากนะ ที่มาทวงแต่เนิ่น ๆ อย่างนี้ เป็นอันว่าข้าใช้เอ็งแล้ว หมดหนี้หมดสินกันเสียที ชาติหน้าข้าจะไม่เกิดในโลกมนุษย์อีกแล้ว” ท่านรำพึงกับตัวเอง

            อันที่จริง ท่านมีคาถา “ดับพิษร้อน” เพียงแต่สำรวมจิตว่าคาถาแล้วเป่าพรวดลงไปตรงบริเวณที่เป็นอาการปวดแสบปวดร้อนก็จะหายไปในทันที แต่ท่านไม่ยอมทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นการเอาเปรียบนังดำลายเกินไป มันทุกข์ทรมานแค่ไหนนานเพียงไร ท่านก็ควรจะ “ใช้คืน” ในอัตราที่เท่าเทียมกันแม้จะได้แผ่เมตตาให้มันไปแล้วเมื่อตอนเช้าก็ตาม

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงหยิบ “ชา” ใส่ถ้วยกระเบื้อง แล้วเทน้ำร้อนลงไป โชคยังดีที่กระติกไม่แตก แล้วก็ยังมีน้ำร้อนเหลืออยู่อีกตั้งเกือบครึ่ง ไม่มีเหตุผลอะไรที่มันจะระเบิด นอกจากว่า ต้องการให้ท่านชดใช้กรรม กรรมที่ทำกับนังดำลายโดยมิได้มีเจตนาแม้สักนิด!

            ภิกษุสูงวัยยกถ้วยชาขึ้นดื่ม รสขมและเฝื่อนของต้นใต้ใบช่วยให้ท่านลืมความปวดแสบปวดร้อนที่ขาลงได้บ้าง ท่านดื่ม “ชา” ชนิดนี้มาได้หลายปีแล้ว และก็รู้ว่า มันเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้อย่างวิเศษที่สุด

            แม้จะมีทุกขเวทนาที่บริเวณต้นขาทั้งสองข้าง แต่เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงยังคงนั่งเขียนหนังสือต่อไป กระทั่งได้ยินเสียงยามเคาะแผ่นเหล็กสองครั้ง จึงเตรียมตัวจำวัด

            ภิกษุวัยห้าสิบเอนกายลงอย่างมีสติ ครั้นศีรษะถึงหมอน จึงหลับตาลงช้า ๆ และแล้วภาพใบหน้าคมคายของอาจารย์สาว ผู้มีนามว่ากวิศญากลับลอยวนเวียนอยู่ในห้วงมโนนึก “มันจะต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง”

            ท่านรำพึงกับตัวเอง วันหนึ่ง ๆ ท่านรับแขกหลายสิบคน และก็เมตตาช่วยเหลือเขาไปตามกำลังความสามารถ ช่วยแล้วก็แล้ว ไม่เคยเก็บปัญหาของใคร มาติดต่อเป็นการบ้าน เรื่องที่จะนึกโปรดปรานผู้หนึ่งผู้ใดเป็นพิเศษไม่เคยมี บางคนเห็นกันครั้งเดียวก็ไม่เคยเห็นกันอีก หรือบางคนแม้จะเห็นอีก ท่านก็จำไม่ได้เสียแล้ว เพราะเดือนหนึ่ง ๆ ปีหนึ่ง ๆ คนเข้าวัดเป็นพัน ๆ แต่เหตุใดภาพของอาจารย์คนนั้นจึงมาปรากฏในใจท่าน คงจะต้องมีความผูกพันเกี่ยวข้องกันมาอย่างแน่นอน

            “อย่ากระนั้นเลย เราควรจะให้ “เห็นหนอ ช่วยตรวจสอบดู” แล้ว “เห็นหนอ” ก็ทำหน้าที่อย่างแคล่วคล่องว่องไวด้วยการรำลึกนึกย้อนกลับไปยังอดีต...ถอยจากชาติปัจจุบันไป ๓ ชาติ

            เวลานั้น ท่านเกิดเป็นสะใภ้เขา ต้องถูกแม่ผัวกลั่นแกล้งทุกวี่ทุกวันจนหาความสุขไม่ได้ แล้วท่านก็มีลูกสาวถึง ๔ คน แม่ผัวอยากได้หลานผู้ชายก็หาเรื่องใส่ร้ายป้ายสี นางยุยงลูกชายว่า ท่านเป็นหญิงกาลกิณี จึงไม่สามารถมีลูกผู้ชายได้ แรก ๆ สามีท่านไม่เชื่อ ครั้นเมื่อถูกมารดายุยงหนักเข้าก็ชักจะหวั่นไหว บังเอิญท่านตั้งท้องลูกคนที่ ๕ แม่ผัวก็ตราหน้าว่าต้องเป็นลูกสาวอีก

            ครั้นถ้วนกำหนดทศมาส ท่านคลอดลูกออกมาเป็นชาย แม่ผัวดีใจสุดขีดถึงกับช็อคตายไป ท่านจึงถือว่า ลูกชายนำโชคมาให้ ช่างโชคดีที่แม่ผัวตายเสียได้!

         จากชาติลูกสะใภ้ ก็ไปเกิดเป็นแม่ทัพเอกสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากชาติแม่ทัพก็มาเกิดเป็นลูกชายของผัวเมียคู่หนึ่ง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ได้ตกน้ำตายเมื่ออายุยังไม่ครบ ๔ ขวบ ขณะนั้นมีน้องชายอายุสองขวบ และมาในชาตินี้น้องชายคนนั้นมาเกิดเป็นพระบัวเฮียว

            ส่วนลูกคนที่ ๕ ในชาติที่ท่านเป็นสะใภ้เขานั้น มาเกิดเป็นอาจารย์กวิศญา เห็นการเวียนว่ายวกวนอยู่ในวัฏสงสารแล้วท่านก็นึกท้อแท้และเบื่อหน่าย ไม่ปรารถนาจะเกิดอีกแม้แต่ชาติเดียว

            เมื่อภาพยนตร์แห่งภพชาติฉายจบลง เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงได้คำตอบว่า เหตุใดภาพของอาจารย์สาวจึงลอยวนเวียนอยู่ในห้องมโนนึก สมภารวัยห้าสิบ รำพึงกับตัวเองว่า “โธ่เอ๋ย ไอ้หนูลูกแม่ ทีแม่เกิดเป็นผู้หญิง เอ็งกลับเกิดเป็นผู้ชาย แต่พอแม่มาเกิดเป็นผู้ชาย เอ็งก็มากลายเป็นผู้หญิงเสียนี่ อนิจจัง วะตะสังขารา” ได้คำตอบเป็นที่พอใจแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เข้าสู่ห้วงนิทรารมณ์ และพร้อมที่จะตื่นขึ้นมาทำความเพียรในอีกสองชั่วโมงข้างหน้า

            ฉันเช้าเสร็จ ท่านพระครูก็ลงรับแขก สายใสพาลูกชายมานั่งรอคิวแต่เช้า เห็นหน้าเด็กหนุ่มแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิก็รู้ได้ทันทีว่า เด็กคนนี้จะไปได้ดิบได้ดีในภายภาคหน้า แต่ที่เกเรอยู่ขณะนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้ท่านได้ใช้หนี้ค่าก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง

            “ลูกชายท่าทางดีนี่นา ไม่เกหรอก” ท่านพูดให้กำลังใจทั้งพ่อและลูก

            “ไม่เกยังไงล่ะครับหลวงพ่อ ก็มันไม่ยอมเรียนหนังสือ” คนเป็นพ่อแย้ง ใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่งเมื่อได้ยินว่าลูกชายท่าทางดี

            “ต่อไปก็เรียน เชื่อสิ มาบวชวัดนี้แล้วออกไปดีทุกคน อาตมาดูหน้าขาแล้ว ไม่ใช่คนเกรเรเกเสอะไร ถ้าแกจริงป่านนี้ติดยาเสพติดเรียบร้อยไปแล้ว จริงไหมไอ้หนู” ท่านถามคนอายุสิบแปด

            “ก็ไม่แน่หรอกครับหลวงปู่ ตอนนี้ยังไม่ติด ต่อไปอาจจะติดก็ได้” คนอายุสิบแปดว่า ด้วยเจตนาจะแกล้งคนเป็นพ่อ

            “อย่านาไอ้หนูนา ขืนเอ็งทำยังงั้นก็เท่ากับตกนรกทั้งเป็นเชียวนา แล้วใคร ๆ ก็ช่วยเอ็งไม่ได้ เชื่อหลวงปู่เหอะ”

            “ตกลงหลวงพ่อจะให้มันบวชเมื่อไหร่ครับ” นายใสถาม ใจแป้วเมื่อฟังคำของคนเป็นลูก

            “อีกสามวัน ระหว่างนี้จะให้พระมหาบุญท่านช่วยสอนช่วยฝึกไปก่อน ไม่ต้องห่วง อาตมาจะจัดการให้เรียบร้อย”

            “แล้วผ้าไตรล่ะครับ จะให้ผมซื้อมา หรือว่าจะเอาเงินให้หลวงพ่อไปซื้อ”

            “ไม่ต้องทั้งสองอย่าง อาตมาให้สมชายไปซื้อมาให้แล้ว โยมไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ไว้เป็นธุระของอาตมาเอง”

            “ทำไมหลวงพ่อถึงได้เมตตาผมกับลูกมากมายถึงปานนี้ ผมนึกไม่ถึงเลยจริง ๆ ว่าในประเทศไทยยังมีคนดี ๆ เช่นท่านหลงเหลืออยู่ ขอให้หลวงพ่อจงมีอายุยืนยาวนะครับ” นายใสให้ศีลให้พร

            “อาตมาก็ตั้งใจว่าจะอยู่ไปจนกว่าจะตายนั้นแหละโยม” ท่านพระครูตอบยิ้ม ๆ แล้วถามเขาว่า

            “อยากรู้ไหมว่า ทำไมอาตมาถึงต้องดีกับโยมเป็นพิเศษ”

            “อยากครับ ทำไมหรือครับ”

            “เขถิบมาใกล้ๆ อาตมาไม่อยากให้คนอื่นได้ยิน มันเป็นความลับ” บุรุษวัยหกสิบจึงคลานเข้าไปจนชิดอาสนะ ท่านเจ้าของกุฏิก้มลงมากระซิบที่ข้างหูเขาว่า

            “รู้แล้วอย่าเที่ยวไปบอกใครนะ อาตมาต้องการใช้หนี้โยม หนี้ค่าก๋วยเตี๋ยว อาตมาขโมยเงินโยมมาซื้อก๋วยเตี๋ยวโยมกินทุกวัน แล้วจะช่วยอบรมลูกชายให้เป็นการใช้หนี้ ตกลงนะ ห้ามบอกใครนะ”

            “ครับ ผมรับรองว่าจะไม่บอกใคร ถ้างั้นผมลาละครับ ฝากไอ้หนูมันด้วย แล้ววันบวชผมจะมาใหม่” นายใสกราบท่านพระครู แล้วหันไปสั่งลูกชายว่า “ไอ้หนู เอ็งเชื่อฟังหลวงปู่ท่านนะ ท่านใช้ให้ทำอะไรก็ทำ พ่อไปก่อนละ” คนเป็นพ่อลุกออกไปแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงถามคนเป็นลูกว่า

            “ไอ้หนู เอ็งกินข้าวเช้ามาหรือยัง”

            “ยังเลยครับหลวงปู่ พ่อแกเร่งซะจนผมกินไม่ทัน” ไอ้หนูวัยสิบแปดตอบ

            “แล้วหิวหรือเปล่าล่ะ”

            “หิวซีครับหลวงปู่ หิวจนไส้กิ่วแล้ว” ลูกชายนายใสว่า

            “งั้นเดี๋ยวให้เขาพาไปกินที่โรงครัว สมชายประเดี๋ยวเธอพาไอ้หนูไปกินข้าว แล้วเอาไปส่งให้พระมหาบุญ บอกช่วยจัดการให้หน่อย อีกสามวันเขาจะบวชเณร” ศิษย์วัดจึงจัดการตามที่ท่านสั่ง เขาเดินนำเด็กหนุ่มไปยังโรงครัว รอจนฝ่ายนั้นรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญแล้วจึงพาไปหาพระมหาบุญ

            สนทนาปราศรัยและแก้ไขปัญหาให้ญาติโยม จนถึงเวลาสิบนาฬิกา ท่านเจ้าของกุฏิจึงบอกพวกเขาว่า

            “อาตมาต้องขึ้นศาลาก่อนนะ ได้เวลาแล้ว ใครไม่รีบกลับก็ขอเชิญไปฟังพระสวดธรรมจักรที่ศาลานะ วันนี้คุณหญิงเขามาเลี้ยงเพล อาตมาเลยนิมนต์พระสงฆ์สวดธรรมจักร เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดคุณหญิง อาตมาไปละนะ ใครจะฟังก็ตามมา” ท่านลุกจากอาสนะ จัดเครื่องนุ่งห่มให้เรียบร้อยแล้วเดินไปยังศาลา ญาติโยมหลายคนเดินตามท่านไป บางคนก็กลับบ้านเพราะเสร็จธุระแล้ว

            คุณหญิงและคณะมาถึงก่อนเวลาพระสวดเล็กน้อย คณะผู้ติดตามมีไม่มากเท่าครั้งที่แล้ว คงเป็นเพราะรัฐมนตรีไม่ได้มาด้วยนั่นเอง

            “เจริญพร คุณหญิงสบายดีหรือ” ท่านทักทาย

            “สบายดีค่ะ” คุณหญิงตอบ

            “ท่านรัฐมนตรีไม่มาด้วยหรือ”

            “ท่านไปราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ”

            “อ้าวยังไม่กลับอีกหรือ ไปนานจัง” ท่านนึกไปถึงสาวน้อยหน้าอ่อนที่คนเป็นรัฐมนตรีเอาซ่อนไว้ในรถ มีม่านปิดมิดชิด หากท่านก็ยังอุตส่าห์ “เห็น”

            หากถามเกี่ยวกับรัฐมนตรี คุณหญิงอาจจะรู้ระแคะระคาย ท่านจึงเปลี่ยนเรื่องถาม

            “วันนี้คุณหญิงอายุเท่าไหร่แล้ว”

            “ห้าสิบห้าปีเต็มค่ะ” คนเป็นคุณหญิงตอบ พอดีกับได้เวลาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงว่า

            “ญาติโยมตั้งใจฟังพระเจริญพระพุทธมนต์นะ อย่าไปคุยกัน ผู้ใดได้ฟังพระสวดธรรมจักรถือว่าเป็นสิริมงคล บางคนฟังแล้วเกิดปัญญา แก้ปัญหาได้ก็มี” จากนั้นพระสงฆ์ก็เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ และสวดธรรมจักรตามลำดับ คุณหญิงและคณะตั้งอกตั้งใจฟังเป็นอันดีเพราะต่างก็คิดว่าจะไม่ยอมให้เสียชื่อเหมือนคราวที่แล้ว

            พิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิง เสร็จสิ้นลงเมื่อเวลาใกล้เที่ยง พระภิกษุสามเณรกราบพระรัตนตรัยสามครั้งพร้อมกัน แล้วต่างแยกย้ายไปปฏิบัติกรรมฐานยังกุฏิของตน แต่ท่านพระครูยังไม่ลุกไปไหน

            “ขอเชิญญาติโยมรับประทานอาหารกันให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง” ท่านเชื้อเชิญบรรดาผู้มาร่วมพิธี

            แม่ชีเจียนรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็คลานเข้ามานั่งตรงหน้าท่านพระครู กราบท่านสามครั้งแล้วรายงานว่า

            “หลวงพ่อ เมื่อคืนฉันพยาบาลนังหนูส้มป่อยมันเกือบทั้งคืน แทบไม่ได้หลับได้นอนเลยจ้ะ”

            “เขาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเพชราแล้ว แม่ชีไม่รู้หรอกหรือ”

            “ทราบจ้ะ แต่ฉันมันติดเรียกชื่อเดิม ปากมันเคยจ้ะ”

            “เขาเป็นยังไงล่ะ ไหนลองเล่าไปซิ”

            “คือตอนหัวค่ำ เขาก็ปฏิบัติกรรมฐานตามปกติ พอตกดึกเขาบอกว่าปวดที่ถัน ฉันก็ให้เขาอดทน เขาก็แข็งใจทน แล้วก็ไม่อาละวาดเหมือนก่อน พอปวดหนัก ๆ เข้า เขาเลยร้องไห้ เสร็จแล้วแผลมันแตกจ้ะหลวงพ่อ ทั้งหนองทั้งหนอนไหลออกมาเหละ ๆ จากปากแผล หนอตัวท่านิ้วก้อยฉันเลย ฉันก็เอากระโถนมารอง โอ้โฮ เต็มกระโถนเลย กลิ่นก็เหม็น ฉันก็กำหนด “กลิ่นหนอ กลิ่นหนอ” พอหนองหยุดไหล ฉันก็รินยาให้ดื่ม เขาก็ดื่มแล้วก็หลับไปเลย เช้ามาก็หายเป็นปกติ แผลก็หาย แต่เขายังเพลีย ลุกไม่ขึ้น”

            “เขาหมดกรรมแล้ว เดี๋ยวช่วยไปบอกว่า อาตมาขออนุโมทนาด้วย อีกห้าหกวันก็ให้กลับไปอยู่บ้านได้ แต่ถ้าเขายังอยากจะอยู่ต่อก็ตามใจเขา”

            “จ้ะ แล้วฉันจะบอกเขาให้” เสร็จธุระแล้ว แม่ชีก็กราบสามครั้งแล้วคลานออกมา คุณหญิงคลานเข้าไปแทน

            “คุณหญิงอิ่มเร็วจัง กับข้าวไม่อร่อยหรือไง” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงถาม

            “อร่อยมากค่ะหลวงพ่อ แต่ดิฉันปลื้มอกปลื้มใจเสียจนทานไม่ลง”

            “ไม่ใช่เพราะท่านรัฐมนตรีไม่มา ก็เลยทานไม่ลงนะ” ท่านสัพยอก

            “ก็คงมีส่วนค่ะ” คุณหญิงยอมรับ แล้วพูดต่ออีกว่า

            “ทุกทีเคยไปไหนมาไหนด้วยกัน เพิ่งจะครั้งนี้แหละค่ะที่ท่านติดราชการมาไม่ได้” ฟังคนเป็นคุณหญิงพูดแล้วท่านพระครูให้รู้สึกสงสาร เพราะท่านรู้ว่าคุณหญิงไม่รู้ คุณหญิงไม่รู้หรอกว่า “ราชการ” ของผู้เป็นสามีนั้นคืออะไร นายขุนทองคลานเข้ามานั่งใกล้ ๆ คุณหญิง อยากจะดูเครื่องเพชรให้เต็มตาเพราะเห็นเม็ดเป้ง ๆ ทั้งนั้น

            “ขอประทานโทษ คุณหญิงมีบุตรกี่คน” ท่านสมภารเปลี่ยนเรื่องถามเมื่อเห็น “คนปากโป้ง” เข้ามาร่วมวง

            “สองค่ะ หญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง กำลังเรียนอยู่เมืองนอกทั้งคู่”

            “อีกหน่อยก็คงจะมีตัวเล็ก ๆ มาให้อุ้มอีกนะฮะ” คนปากโป้งว่า

            “โอ๊ย ไม่ไหวแล้ว ฉันแก่เกินไปแล้ว มีไม่ได้แล้ว” คนเป็นคุณหญิงรีบปฏิเสธ

            “คุณหญิงมีไม่ได้ แต่ท่านรัฐมนตรียังมีได้นี่ฮะ”

            “หา เธอว่าอะไรนะ” คุณหญิงฉุกใจกับคำพูดของชายหนุ่ม

            “ขุนทอง” ท่านพระครูเรียกชื่อหลานชาย นายขุนทองมองหน้าหลวงลุงก็เห็นท่านขยิบหูขยิบตา แต่เข้าไม่เข้าใจจึง “พล่าม” ต่อ

            “จริง ๆ นะฮะคุณหญิง หนูเห็นกะตาเลย”

            “ขุนทอง” คราวนี้ท่านพระครูถอดแว่นออก เพราะคิดว่าหลานชาย คงไม่เห็นตอนท่านขยิบตา

            “อ้าว หลวงลุงหลับตาปริ๊บ ๆ เป็นอะไรหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นลมเดี๋ยวนะ หนูจะไปชงยาหอมมาให้” พูดจบก็กุลีกุจอลุกออกไป

            “หมายความว่ายังไงคะหลวงพ่อ” คุณหญิงหันมา “เล่นงาน” ท่านสมภารแทน

            “ไม่มีอะไรหรอกคุณหญิง เจ้าหมอนี่มันธาตุไม่ค่อยจะดี เลยพูดจาเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหน่อย ไม่มีอะไรหรอก”

            “แต่ดิฉันว่า มันจะต้องมีอะไร หลวงพ่ออย่าปิดดิฉันเลยค่ะ” คนเป็นคุณหญิงพูดเสียงดังกว่าปกติ จนทำให้คนที่กำลังรับประทานอาหารกันอยู่หันมามอง

            “เบา ๆ หน่อยคุณหญิง อาตมาขอร้องเถอะนะ วันนี้ก็เป็นวันมงคลของคุณหญิง จึงควรที่จะต้องทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบาน อะไรที่ไม่ดีไม่งาม ไม่ต้องเก็บเอามาคิด นะคุณหญิงนะ” ท่านพระครูพูดเตือนสติคนเป็นคุณหญิง คิดว่าเสร็จงานนี้แล้ว จะต้องพิจารณาโทษพ่อหลานชายตัวดีสักหน่อย โทษฐานที่นำความลับของผู้อื่นมาเปิดเผย

            “ดิฉันขอโทษค่ะ เอาเถอะเมื่อหลวงพ่อไม่ให้คิด ดิฉันก็จะพยายามไม่คิด” ปากพูดอย่างนี้ หากใจนั้นคิดว่าเสร็จงานนี้แล้วจะต้อง “สัมภาษณ์” พ่อหนุ่มท่าทางกระตุ้งกระติ้งคนนั้นให้รู้ความจริงให้จงได้

            นายขุนทองประคองถาดใบเล็กมีถ้วยกระเบื้องใส่ยาลมซึ่งละลายเรียบร้อยแล้ว มาประเคนท่านพระครู ปากก็ว่า

            “หลวงลุงฉันยาลมหน่อย จะได้รู้สึกดีขึ้น” สมภารวัยห้าสิบจึงจำต้องรับถ้วยยาขึ้นมาดื่ม เพื่อไม่ให้คนเป็นคุณหญิงสงสัย ท่านพูดเบาๆให้หลานชายได้ยินแต่ผู้เดียวว่า “ความรู้สึกของข้าคงจะดีขึ้น ถ้าเอ็งไปให้พ้นหูพ้นตาข้า ไปเลย ไปเฝ้ากุฏิแทนสมชาย แล้วให้เขามาแทนเอ็งที่นี่” หลานชายทำตามคำสั่งผู้เป็นหลวงลุง เขาหายไปสักพัก นายสมชายก็ขึ้นมาบนศาลา ชายหนุ่มยกมือไหว้คุณหญิงแล้วมิได้พูดว่ากระไร ใจนั้นอยากจะถามว่าทำไมท่านรัฐมนตรีจึงไม่มาด้วย แต่ก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องอะไรของตน ท่านจะมาหรือไม่มา มันก็ไม่ใช่กงการอะไรของเขา

            เมื่อรับประทานอาหารกันเสร็จสรรพแล้ว คณะของคุณหญิงก็ค่อย ๆ ทยอยกันมานั่งสนทนากับท่านพระครู คุณหญิงจึงถือโอกาสลุกออกมาทำทีว่าจะไปห้องสุขา ครั้นพ้นสายตาเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงแล้ว เธอก็เดินไปที่กุฏิ มีคนมารอพบท่านพระครูหลายคน เธอจึงกวักมือเรียกนายขุนทองมาหา

            “คุณหญิงมีอะไรจะใช้หนูหรือฮะ” เขาถาม คุณหญิงยังไม่ตอบ เธอเปิดกระเป๋าถือ หยิบธนบัตรสีแดงออกมาจากกระเป๋าสตางค์สามใบ ส่งให้ชายหนุ่ม

            “เอาไว้ซื้ออะไรที่เธออยากจะซื้อ” คุณหญิงว่า

            หากเป็นนายสมชายจะต้องปฏิเสธ แต่นายขุนทองไม่ใช่นายสมชาย ชายหนุ่มรีบยกมือไหว้ พร้อมกล่าวคำขอบคุณ ใจนั้นกระหยิ่มยิ้มย่อง “คราวนี้อีขุนทองมีเงินดัดผมกะซื้อรองเท้าส้นสูงแล้ว”

            ให้สินบนเรียบร้อยแล้ว คุณหญิงจึงเริ่มเรื่อง นายขุนทองกลัวใครจะมาได้ยิน จึงชวนไปคุยกันที่ศาลาท่าน้ำ แล้วเขาก็เล่าให้คุณหญิงฟังทุกอย่างทุกประการ เหมือนจะให้คุ้มกับค่าเงินค่าจ้างสามร้อยบาทที่คุณหญิงให้! คนเล่าเล่าจบ คนฟังก็เข่าอ่อน มือไม้อ่อนรู้สึกเหมือนใจจะขาดเสียให้ได้ เธอร้องไห้คร่ำครวญพร้อมก่นด่าคนเป็นสามี

         ฮือ ๆ ไอ้แก่นะไอ้แก่ ทรยศกูจนได้ ไอ้งูเห่า เลี้ยงไม่เชื่อง กูอุตส่าห์ช่วยมันวิ่งเต้น เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ กูก็ทำ กว่าจะได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี กูลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็น พอได้ดิบได้ดีมึงก็มาทรยศกู ไอ้เวรห้าร้อย”

            นายขุนทองรู้สึกเสียใจที่ทำให้คนเป็นคุณหญิงต้องร้องไห้ และคนเป็นรัฐมนตรีต้องถูกด่า ไม่รู้ที่จะแก้ตัวอย่างไร จึงส่งเงินสามร้อยบาทคืนให้คุณหญิงเป็นการไถ่โทษ คิดว่ายังไงเสียเธอคงไม่ยอมรับคืน แต่ก็ผิดคาด เพราะคนเป็นคุณหญิงเอื้อมมือมากระชากเงินนั้นไปใส่กระเป๋าของตน ได้เงินคืนแล้วก็ยังไม่หยุดร้องไห้ นายขุนทองจึงปลอบว่า “คุณหญิงอย่าคิดอะไรมากเลยฮะ อีกหน่อยเขาก็เลิกกัน ผู้หญิงที่ไหนเขาจะโง่เอาคนจวนเข้าโลงมาทำผัว”

         “อ้อ นี่มึงว่ากูเหรอ มึงว่ากูโง่เหรอ” เธอแหวเข้าใส่ นายขุนทองตกใจจนอ้าปากค้าง นึกสมน้ำหน้าตัวเองที่อยู่ดีไม่ว่าดี คนเป็นคุณหญิงยังคงรำพันต่อไปว่า

         “ฮือ ๆ กว่ามันจะเลิกกัน กูก็หมดตัวพอดี นี่เงินทองได้มา คงเอาไปบำรุงบำเรออีนั่นหมด คอยดูนะ กูจะต้องสืบให้รู้จนได้ จะถลกหนังมันเอาเกลือทาเชียวละ”

         ค่ำคืนนั้น เมื่ออาคันตุกะกลับไปหมดแล้ว ท่านพระครูจึงเรียกตัวนายขุนทองมาซักฟอก

            เอ็งนี่มันแย่มากนะเจ้าขุนทอง มีอย่างที่ไหน ไปพูดให้ผัวเมียเขาแตกกัน ระวังจะตกนรก คราวหน้าคราวหลังอย่าทำอย่างนี้อีก ได้ยินไหม ข้าอุตส่าห์ถอดแว่นขยิบตาให้ เอ็งก็ยังไม่รู้เรื่อง ยังดีนะที่ข้าไหวทัน จึงใช้ให้เอ็งมาเฝ้ากุฏิแทนเจ้าสมชาย ไม่งั้นความลับแตกแน่ ๆ” นายขุนทองร้องไห้โฮ ๆ ออกมา จนท่านพระครูตกใจ

         “อะไร ว่าแค่นี่ก็ต้องร้องไห้ เกิดจะมีคุณธรรมสูงขึ้นมาเดี๋ยวนี้หรือไง” ท่านประชด

         “มันไม่แค่นี้ซีฮะหลวงลุง มันไม่แค่นี้” คนพูดร้องไห้สะอึกสะอื้น

         “แล้วมันแค่ไหนล่ะ”

         “มันหมดเปลือกเลยฮะ หนูแอบเล่าให้คุณหญิงฟังหมดเปลือกเลย เขาจ้างหนูสามร้อย พอเล่าจบเขาก็เอาเงินคืน  กรี๊ด!

 

            มีต่อ........๗๑

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 01, 2007, 09:18:33 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00071
๗๑...

            ถึงวันนี้เจ้าหมีก็โตเป็นหนุ่มเต็มตัวเช่นเดียวกับเจ้าโฮมและเจ้าขาว น้องร่วมท้องที่ลืมตาดูโลกในวันเดียวกันกับมัน กิจกรรมสำคัญของเจ้าหนุ่มสามตัวนี้ก็คือ การสอดส่ายสายตาเล็งแลหาคู่ชู้ชม

            บรรดาสาว ๆ ที่นางบุญพาให้สมญาว่า “อีพวกแม่หม้ายผัวทิ้ง” จึงมักพากันมาป้วนเปี้ยนอยู่แถว ๆ กุฏิเพื่อชม้อยชม้ายชายตาให้สามหนุ่มด้วยความสนิทเสน่หา

            เจ้าโฮมกับเจ้าขาวพากันตกหลุมรักหม้ายสาวไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่สบตากัน ยังเหลือก็แต่เจ้าหมีที่ยังไม่พลาดท่าเสียที หรือ ยอมตกร่องปล่องชิ้นกับตัวใด มันคงไม่อยากเป็นมือสองรองใครอื่นให้ต้องเสียชั้นเชิงชาย หรือไม่ก็คงถือคติ “ข้าเป็นหนุ่มทั้งแท่ง ควรหรือจะมากินแตงเถาตาย” หรือว่ามันอาจจะคิดอะไรที่นอกเหนือไปจากนี้ก็ไม่มีใครรู้ได้            แต่ที่รู้แน่ ๆ ก็คือเจ้าหมียังคงครองตัวเป็นโสด ไม่ยุ่งยิ่งสุงสิงกับหม้ายสาวตัวใดให้ต้องเสียความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะเหตุนี้ที่ทำให้มันเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของนายขุนทอง ยิ่งกว่าน้องสองตัวของมัน

            ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ เจ้าหมีนั้นดูเหมือนเป็นหมาที่ถือเนื้อถือตัวเป็นพิเศษ ผิดแผกจากหมาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือมันจะไม่ทำตัวสนิทสนมกับใครง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นหมาด้วยกันก็ตาม ยิ่งพวกเด็ก ๆ ด้วยแล้ว ดูจะไม่อยู่ในสายตาของมันเอาเสียเลย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยปรากฏว่ามันทำร้ายผู้ใด อย่างมากก็แค่แยกเขี้ยวใส่เท่านั้น

            เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน ท่านพระครูลงรับแขกตามปกติตามตารางที่นายขุนทองเป็นผู้จัดให้ เจ้าหนุ่มสามตัวเหมือนกับจะรู้ล่วงหน้าว่าวันนี้พวกมันจะมี “แขก” มาหา แล้วก็เป็น “แขก” ตัวจริงเสียด้วย

            ผู้หญิงสองคนเดินเข้ามาหยุดยืนอยู่หน้ากุฏิที่เจ้าโฮม เจ้าขาว และเจ้าหมีนอนเรียงรายกันอยู่ คนที่หน้าตาเหมือนแขก หยุดจ้องเจ้าสามหนุ่มด้วยท่าทางเหมือนคนตกตะลึง เพื่อนที่มาด้วยต้องสะกิดให้หล่อนคลานเข้าไปนั่งยังข้างในกุฏิ นั่งลงแล้วหล่อนยังหันไปมองเจ้าสุนัขสามตัวตาไม่กระพริบ จ้องไปจ้องมาน้ำตาหล่อนก็ไหลพราก ๆ อย่างไม่อาจจะกลั้นได้

            เมื่อถึง “คิว” เพื่อนที่มาด้วยกราบท่านพระครูสามครั้ง แต่ตัวหล่อนไม่กราบ ด้วยเหตุผลที่ว่า “หนูกราบหลวงพ่อไม่ได้หรอกค่ะ เพราะหนูเป็นมุสลิม ศาสนาอิสลามเขามีข้อห้ามไม่ให้ศาสนิกกราบไหว้พระหรือนักบวชศาสนาอื่น หลวงพ่อคงไม่ว่าหนูนะ”

            “ไม่ว่าหรอกจ้ะ หลวงพ่อกลับจะชมเชยเสียอีกว่า หนูเป็นคนเคร่งศาสนา ดีกว่าชาวพุทธบางคนที่ไม่เคยเข้าวัดเลยด้วยซ้ำ แต่นี่หนูนับถือศาสนาอื่นก็ยังอุตส่าห์มาวัด”

            “ที่จริงหนูก็ไม่ควรมาหรอกค่ะ เพราะคนที่เขาถือเคร่งจริง ๆ เขาจะไม่มาวัดของศาสนาอื่น แต่หนูไม่เคร่งถึงขนาดนั้น” หล่อนหันไปดูเจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาว ปากก็ถามว่า “หลวงพ่อคะ สุนัขสีดำตัวใหญ่นั่นชื่อเจ้าหมีใช่ไหมคะ”

            “ทำไมหนูรู้ล่ะ ถูกแล้วมันชื่อหมี” ท่านพระครูตอบ

            “ก็เขาไปหาหนูค่ะ” สาวมุสลิมว่า

            “ไปหาที่ไหน นี่หนูมาจากไหนกันจ๊ะ”

            “มาจากบางมดค่ะ บางมดฝั่งธนบุรี” เพื่อนที่มาด้วยถือโอกาสพูดบ้าง

            “แล้วเจ้าหมีไปหาหนูที่ไหนล่ะ หรือว่าไปหาถึงบางมดโน่น” ท่านเจ้าของกุฏิสงสัย

            “ค่ะหลวงพ่อ แต่เขาไปหาในฝันนะคะ ไปกับอีกสองตัวนั่น เรื่องมันแปลกมากเลยค่ะหลวงพ่อ แปลกที่สุดในโลก คนเล่ามีท่าทางตื่นเต้น

            “แปลกยังไงล่ะหนู เล่าให้หลวงพ่อฟังได้ไหม”

            “ได้ค่ะ คือเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หนูฝันเห็นเขาทั้งสามตัวเลยค่ะ” ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้นพากันหัวเราะและคิดในใจว่าหล่อนเพี้ยน แต่ท่านพระครูไม่คิดเช่นนั้น เพราะหากไม่ใช่เรื่องจริง หล่อนคงไม่ลงทุนมาถึงที่นี่ วัดนี้มักมีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นเสมอ ๆ”

            “เล่าต่อไปสิหนู หลวงพ่อกำลังฟัง” สาวมุสลิมจึงเล่าต่อว่า

            “ในฝันหนูกำลังนั่งร้องไห้ คือ หนูปลูกบ้านให้คนเช่าค่ะหลวงพ่อ แล้วหนูก็ถูกเขาโกงค่าเช่า เขามาเช่าอยู่ พอใกล้จะสิ้นเดือนก็หนีโดยไม่จ่ายเงิน หนูก็ขาดทุนทุกเดือน จนเป็นหนี้เป็นสินเพราะต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟแทนคนเช่า หนูกลุ้มใจนอนร้องไห้ทุกคืน

            เมื่ออาทิตย์ที่แล้วหนูก็นอนร้องไห้จนหลับไป แล้วหนูก็ฝันเห็นเขาทั้งสามตัว เจ้าหมีถามหนูว่า “น้า ๆ ร้องไห้ทำไม” หนูก็ตอบว่าน้าถูกโกงค่าเช่า เขาก็บอก “น้าไม่ต้องร้องไห้หรอก ไปหาหลวงพ่อวัดป่ามะม่วงซี หลวงพ่อท่านช่วยได้” แล้วเขาก็บอกชื่อหลวงพ่อ ชื่อจังหวัด แล้วก็ชื่อเขา พอหนูตื่นขึ้นมา

            ภาพในฝันยังแจ่มชัดอยู่ในความคิด แต่ว่าหนูลืมชื่อจังหวัด หนูจึงไปถามเพื่อน ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธว่า มีใครรู้จักวัดป่ามะม่วงบ้าง ก็หาคนรู้จักไม่ได้ บังเอิญเพื่อนคนนี้เขามีญาติซึ่งเคยมาวัดนี้ เขาเลยบอกทางให้ หลวงพ่อต้องช่วยหนูนะคะ” คนเล่าสรุปลงท้ายด้วยการขอความช่วยเหลือ

            ผู้ที่นั่งฟัง และคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไม่น่าเชื่อถือกลับพากันเปลี่ยนใจมาเชื่อ เพราะอย่างน้อยเจ้าหนุ่มสามตัวที่นอนเรียงรายอยู่หน้ากุฏิก็เป็นพยานหลักฐานได้เป็นอย่างดี

            “แหม เจ้าหมีมันใจบุญจริง ๆ อุตส่าห์ไปช่วยเขาถึงบางมดโน่น” ท่านพูดกับญาติโยมที่นั่งอยู่เต็มกุฏิ

            “สงสัยว่ามันคงกลัวอาตมาจะไม่มีงานทำ เลยไปช่วยหางานมาให้ เจ้านี่มันสำคัญนัก” ท่านพูดยิ้ม ๆ

            “หลวงพ่อต้องช่วยหนูนะคะ” คนเป็นมุสลิมย้ำ

            “จะให้ช่วยอะไรล่ะจ๊ะ”

            “ช่วยให้คนดี ๆ มาเช่าบ้านหนูจะได้ไม่ถูกโกงค่าเช่าค่ะ”

            “แต่คนดี ๆ นั้นหายากจังนะหนู หายากยิ่งกว่างมเขียงในมหาสมุทรเสียอีก” ท่านเจ้าของกุฏิเปรียบเทียบ

            “งมเข็มค่ะหลวงพ่อ ถ้าเขียงไม่ต้องงม เพราะมันลอยน้ำได้” เพื่อของสาวมุสลิมแย้ง

            “อ้อ ยังงั้นหรือ โอ้โฮ ถ้างมเข็มก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่เลยซีนะ หรือหนูว่ายังไง” ท่านถามคนนับถือศาสนาอิสลาม

            “แต่ถึงจะยากยังไง หนูก็เชื่อว่าหลวงพ่อต้องช่วยได้ค่ะ ไม่งั้นเจ้าหมีเขาคงไม่ลงทุนไปเข้าฝันหนู หลวงพ่อช่วยหนูด้วยนะคะ ได้โปรดเถอะค่ะ” หล่อนวิงวอน

            “เอาละ ช่วยก็ช่วย เจ้าหมีจะได้ไม่เสียหน้า หนูสวดมนต์เป็นไหมล่ะจ๊ะ สวดอิติปิโสได้หรือเปล่า”

            “สวดไม่เป็นค่ะ แล้วก็สวดไม่ได้ด้วย เพราะศาสนาหนูเขาห้าม”

            “แล้วศาสนาของหนูมีสวดมนต์หรือเปล่า”

            “มีค่ะ ก่อนละหมาดเราต้องสวดมนต์”

            “ถ้าอย่างนั้น ก็สวดไปตามที่ศาสนาของหนูสอนก็แล้วกัน พอสวดเสร็จ ก็ให้ตั้งใจแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร อ้อ ถ้าหลวงพ่อจะให้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๕ หนูไว้บูชาจะได้หรือเปล่า ศาสนาเขาห้ามไหม”

         “ไม่ห้ามค่ะ ถ้าเป็นในหลวงเขาไม่ห้าม แต่ถ้าเป็นพระถึงจะห้ามค่ะ”

         “งั้นก็ดีแล้ว หลวงพ่อจะให้หนูไปหนึ่งแผ่น หนูเอาไปใส่กรอบไว้บูชานะ แล้วก็อธิษฐานขอพระบารมีของพระองค์ให้ช่วยปกป้องคุ้มครอง ปฏิบัติตามที่หลวงพ่อบอกมานี่นะ ไม่เกินสองเดือนรับรองรู้ผล หนูจะทำได้ไหมล่ะ”

         “ได้ค่ะหลวงพ่อ หล่อนรับคำแข็งขัน แล้วดูเหมือนจะนึกอะไรขึ้นมาได้ จึงพูดขึ้นกับท่านเจ้าของกุฏิว่า

         “หลวงพ่อคะ หนูมีอะไรบางอย่างจะสารภาพกับหลวงพ่อค่ะ”

         “มีอะไรล่ะจ๊ะ จะสารภาพอะไร”

         “คือหนูยอมรับว่า ก่อนหน้านี้หนูไม่เคยนับถือพระเลยค่ะ ไม่ใช่ว่าเพราะหนูนับถือศาสนาอิสลามหรอกนะคะ แต่เพราะหนูไม่เคยเห็นพระดี ๆ สักคนเดียว

            เมื่อก่อนนี้บ้านหนูอยู่ติดกับวัดลุ่ม หนูเห็นพระวัดนั้นเปิดเพลงเต้นร็อคกันทุกวัน หนูเคยโผล่หน้าต่างไปจ้องดูหมายจะให้พวกเขาอาย แต่นอกจากจะไม่อายแล้วเขายักกวักมือเรียกหนู บอก “โยมมาเต้นด้วยกันไหมล่ะโยม” หนูก็ด่าไปว่า ขอโทษนะคะหลวงพ่อ อย่าหาว่าหนูหยาบคายนะคะ” หล่อนหยุดเล่า กล่าวคำขอโทษ แล้วจึงเล่าต่อ

         “หนูก็ด่าไปว่า “ไอ้พระบ้า ไอ้พระลามก” หนูด่าอย่างนี้บาปไหมคะหลวงพ่อ” หล่อนถาม

         “ถ้าจะบาปพระพวกนั้นท่านก็บาปกว่าหนูแหละ เป็นพระเป็นเจ้าไปทำงั้นได้ยังไง” ท่านพระครูตำหนิติเตียน

         “นั่นสิคะ พอหนูด่า ป๊ะหนูได้ยินเลยมาช่วยด่าอีกคน แล้วป๊ะยังขู่ว่าจะบอกตำรวจ พวกเขาก็เลยเลิกเต้น วันต่อ ๆ มา เวลาเขาจะเต้นกันเขาก็จะปิดหน้าต่างมิดชิด ได้ยินแต่เสียงเพลงดังออกมา ป๊ะหนูเขาเกลียดพระมากเลยค่ะหลวงพ่อ ป๊ะว่า “พวกพระน่ะเก่งอยู่สองอย่างเท่านั้น คือดูหมดกับให้หวย นอกนั้นไม่ได้เรื่องซักอย่าง”

         “แต่พระวัดนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ป๊ะหนูว่านะ เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เคยดูหมอเหมือนกัน แต่เลิกไปร่วมยี่สิบปีแล้ว ส่วนเรื่องให้หวยหลวงพ่อไม่เคยทำ วันหลังหนูชวนป๊ะมาด้วยซีหนู บอกหลวงพ่อให้มาพิสูจน์ว่า พระวัดนี้ไม่เหมือนวัดอื่น นะหนูนะ”

         “ป๊ะคงไม่มาหรอกค่ะ เพราะเขาเคร่งศาสนามาก ไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักกะฮ์ทุกปี นี่ถ้าป๊ะรู้ว่าหนูมาวัดคงโกรธน่าดูเลย” แล้วหันไปกำชับเพื่อนสาวว่า “นิด เธอต้องปิดเป็นความลับนะ ห้ามบอกป๊ะฉันเป็นอันขาด”

         “ตกลง แต่เธอต้องให้สินบนฉันนะ” เพื่อนหล่อนว่า

         “หลวงพ่อคะ คนที่นับถือศาสนาพุทธ เขาชอบเรียกสินบาท คาดสินบนอย่างนี้หรือคะ” สาวมุสลิมถามท่านพระครู

         “ก็ไม่ทุกคนหรอกหนู ที่เขาดี ๆ ก็มี แต่หนูอาจจะโชคร้ายสักหน่อยที่มาเจอแบบนี้”

         “แหม หลวงพ่อ หนูพูดเล่นต่างหากล่ะคะ” คนเป็นพุทธแก้ตัว

         “แต่ถ้าได้จริง ๆ ก็ดีใช่ไหมล่ะ” ท่านพูดแทงใจดำ

         “ก็ดีเหมือนกันค่ะ โธ่ หลวงพ่อคะ ใครบ้างไม่อยากได้เงิน” หญิงสาวพูดตรง ๆ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องพูดอ้อมค้อม

         “เสร็จธุระแล้วหนูถือโอกาสลาหลวงพ่อละค่ะ” หล่อนเอ่ยปากลาหากมิได้กราบ ด้วยเกรงจะขัดต่อคำสอนในศาสนาของตน ส่วนเพื่อนหล่อนกราบท่านพระครูสามครั้งแต่มิได้เอ่ยปากลา ผู้หญิงสองคนลุกออกไปแล้วผู้ชายหนึ่งคนก็ถามขึ้นว่า

         “เป็นไปได้หรือครับหลวงพ่อที่สุนัขจะไปเข้าฝันคน”

         “โยมไม่เชื่อใช่ไหม” ท่านเจ้าของกุฏิย้อนถาม

         “เชื่อครับ แต่ก็อยากได้รับคำยืนยันจากหลวงพ่อเพื่อความมั่นใจ” บุรุษนั้นตอบ

         “ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็ขอยืนยันว่า เจ้าหมีมันไปเข้าฝันแม่หนูคนนั้นจริง ๆ โยมอาจจะสงสัยว่ามันเป็นหมาทำไม่ถึงทำได้ ที่มันทำได้เพราะชาติที่แล้วมันเกิดเป็นคน ญาติโยมอยากรู้เรื่องราวของเข้าหมีไหมล่ะ อาตมาจะเล่าให้ฟัง อยากฟังไหม”

         “อยากฟังค่ะ”

         “อยากฟังครับ” สตรีและบุรุษที่นั่ง ณ ที่นั้นตอบพร้อมกัน ท่านเจ้าของกุฏิจึงว่า

         “ตกลง เมื่ออยากฟัง อาตมาก็จะเล่า แต่ก่อนอื่นญาติโยมจะต้องเชื่อเรื่องภพชาติ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดว่า เราต้องเวียนตายเวียนเกิดกันไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันชาติ เกิดเป็นมนุษย์บ้างเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเทพยดาบ้าง แล้วแต่กรรมที่ทำ เรื่องการเวียนว่ายนี้ มีหลักฐานปรากฏชัดเจนในคัมภีร์พระไตรปิฎก ญาติโยมคงจำกันได้ว่า ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธองค์ ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ขณะทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์

         ในยามต้นทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือทรงระลกชาติแต่หนหลังได้ อันนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าการเวียนว่ายตายเกิดนั้นมีจริง เราไม่ได้เกิดหนเดียวตายหนเดียวอย่างที่พวกวัตถุนิยมเขาเชื่อกัน แต่ทีนี้ทำไมบางคนถึงระลึกชาติได้ ทำไมบางคนระลึกชาติไม่ได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เขาไปเกิด เช่น สมมุติว่า นาย ก. ตายไปตกนรก พอหมดกรรมจากนรก ก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน จากสัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ถ้าเป็นอย่างนี้เขาจะระลึกชาติไม่ได้ คือจำชาติที่เคยเกิดเป็นนาย ก. ไม่ได้ เพราะระยะเวลาที่จะมาเป็นมนุษย์อีกนั้นมันถูกคั่นด้วยการไปเกิดในนรกกับไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

         ทีนี้สมมุติอีกคนหนึ่ง สมมุติว่านาย ข. เกิดเป็นมนุษย์ พออายุได้ยี่สิบปี ก็ตายเพราะอุบัติเหตุหรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อตายก็ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก เมื่อเขาเริ่มรู้ประสา เขาจะจำชาติที่แล้วของตัวได้ เพราะช่วงของระยะเวลาที่เกิดเป็นมนุษย์มันสั้นและต่อเนื่องกัน จึงทำให้เขาจำอดีตได้ เปรียบเทียบให้ใกล้ตัวเข้ามาอีก เช่น อย่างกับตัวเรานี่นะ เหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเราเมื่อวานนี้ กับเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเราเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว โยมคิดว่าโยมจะจะอันไหนได้ ที่เกิดเมื่อวาน หรือที่เกิดเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว”

         “ที่เกิดเมื่อวานค่ะ” สุภาพสตรีผู้หนึ่งตอบ

         “ถูกแล้ว เราจะจำสิ่งที่ใกล้ตัวได้ก่อนสิ่งที่ไกลตัว ทีนี้ในกรณีของเข้าหมีก็เหมือนกัน นี่อาตมาเคยสัมภาษณ์มันแล้วนะ มันรู้ภาษาคน เพราะชาติที่แล้วมันเคยเกิดเป็นคน เพียงแต่มันพูดไม่ได้เท่านั้น”

         “ในเมื่อมันพูดไม่ได้ แล้วหลวงพ่อสัมภาษณ์มันได้ยังไงล่ะครับ” บุรุษหนึ่งสงสัย

         “โยมอยากรู้จริง ๆ หรือว่าทำไมอาตมาถึงพูดกับมันรู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่มันพูดไม่ได้

“อยากรู้ครับ” เขาตอบ

“ไม่ยากหรอกโยม เพราะถึงมันจะพูดไม่ได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาพูด อาตมาใช้ภาษาจิตสัมภาษณ์มัน อย่าลืมนะ ภาษาจิตนี่เป็นภาษาสากล ถ้าต่างคนต่างฝึกจิตจนถึงขั้นสื่อสารกันได้ ถึงจะต่างชาติต่างภาษาก็คุยกันรู้เรื่อง ถ้าโยมอยากพิสูจน์เรื่องนี้ก็ต้องพยายามฝึกจิตด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าจิตถึงขั้นนะ โยมก็จะสามารถพูดกับคนต่างชาติได้”

“แบบนี้ก็แปลว่า เจ้าหมีมันต้องฝึกจิตด้วยใช่ไหมครับ มันถึงคุยกับหลวงพ่อรู้เรื่อง” บุรุษนั้นถามอีก

“เป็นเดรัจฉานทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกโยม เพราะการเกิดเป็นเดรัจฉาน ถือว่าเกิดในอบายภูมิ หมดโอกาสที่จะประกอบกุศลกรรม แต่ทีนี้ที่เจ้าหมีมันทำได้ เพราะมันมี “สัญญา” คือการจำได้หมายรู้ มันมีสัญญาติดตัวหลงเหลือมาจากชาติที่เป็นมนุษย์ จึงสามารถฟังภาษามนุษย์ได้รู้เรื่องทั้งที่พูดไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องแปลกนะ แปลกแต่จริง”

“แล้วมันเล่าให้หลวงพ่อฟังว่ายังไงบ้างครับ” คนถามอยากรู้

“มันเล่าว่า เมื่อชาติที่แล้วก่อนที่มันจะมาเกิดเป็นสุนัข มันเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็เป็นมรรคทายกของวัดนี้มาก่อน และที่ต้องมาเกิดเป็นสุนัข เพราะกรรมที่มันชอบไปเรี่ยไรเงินคนเขามาทำบุญ เรี่ยไรเก่งมาก แต่ตัวเองไม่เคยเรี่ยไรตัวเองเลย

แม้มันจะทำบุญแต่ก็เป็นเงินของคนอื่น ไม่ใช่เงินของตัวเอง ในที่สุดมันก็เลยต้องมาเกิดเป็นสุนัข แต่เรื่องกรรมมันซับซ้อนนะโยม มันซับซ้อนมาก เจ้าหมีมันจะต้องมีกรรมอื่นมาส่งผลด้วย บวกกับกรรมที่ไปเอาเงินคนอื่นมาทำบุญ จึงทำให้ต้องมาเกิดในอบายภูมิ คือมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันไม่ได้เกิดที่วัดนี้หรอก แต่หลานชายของอาตมาเอามันมาจากบ้านเขาซึ่งอยู่คนละอำเภอ พอมันมาอยู่ที่วัดนี้มันก็จำได้ เพราะเคยอยู่มาแต่ครั้งอดีตชาติ”

ท่านไม่ได้บอกพวกเขาว่าก่อนที่มันจะมาเกิดเป็นมรรคทายก ได้เกิดเป็นทหารคนสนิทของท่านในชาติที่ท่านเป็นแม่ทัพ ที่ไม่บอกเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องบอก คนที่เขาไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้จะพากันคิดว่าท่านเพี้ยน

“เอาละ ยุติเรื่องเจ้าหมีกันได้แล้ว และอาตมาก็อยากจะบอกกับญาติโยมว่า ถ้าใครอยากระลึกชาติได้ก็ให้หมั่นเจริญกรรมฐาน ถ้าระลึกชาติได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นโยมจะรู้ว่า การเวียนว่ายตายเกิดนั้นมันเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น อาตมาตั้งจิตอธิษฐานไว้เลยนะว่าขออย่าให้ต้องเกิดอีก จะเกิดเป็นมนษย์หรือเป็นเทวดาก็ไม่ต้องการทั้งนั้น แต่ก็นั่นแหละ ถ้ากรรมยังไม่สิ้นก็จำเป็นจะต้องเกิดอีก ไม่ว่าจะอยากเกิดหรือไม่อยากก็ตาม เอาละ ใครมีอะไรจะปรึกษาหารือก็เชิญ”....

 

            มีต่อ........๗๒

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 01, 2007, 09:19:35 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00072
๗๒...

วันเสาร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ท่านพระครูได้รับนิมนต์จากนายแพทย์สมเจตนา ให้ไปทำพิธีเปิดป้ายร้านเสริมสวยที่ในตัวจังหวัด นายสมชายขับรถพาท่านออกจากวัดป่ามะม่วงตั้งแต่เจ็ดนาฬิกา รถแล่นออกประตูวัดมาแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนขับก็ชวนคุย

“หมอสมแกนึกยังไงถึงหันมาเปิดกิจการร้านเสริมสวย อาชีพหมอก็รวยอยู่แล้ว จริงไหมครับ”

“ถ้าเธออยากรู้ก็ลองถามเขาดูสิ ไปถึงบ้านงานก็ถามเขาเลยนะ มาถามฉัน ฉันจะไปรู้อะไร”

“แต่ถ้าหลวงพ่อจะรู้ก็รู้ได้ หลวงพ่อรู้ได้ทุกอย่างที่อยากรู้” ศิษย์วัดว่า

“บังเอิญเรื่องนี้ฉันไม่อยากรู้ ก็เลยไม่รู้” สมภารวัยห้าสิบพูดขรึม ๆ

“หรือครับ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไรครับ” ชายหนุ่มวางท่าขรึมบ้าง หากก็ทำได้ไม่นาน เพราะรู้สึกเหมือนท้องจะแตก จึงต้องพูดขึ้นว่า

“ไม่รู้หมอสมแกจะอยากรวยไปถึงไหน ทั้งทำงานโรงพยาบาล ทั้งเปิดคลินิค และยังจะมาเปิดร้านเสริมสวยอีก นี่แหละน้าคนโบราณเขาถึงว่า “คนรวยก็รวยเสียเหลือล้น คนจน ก็จนเสียเหลือหลาย” เช่นนายสมชายเป็นต้น จนเสียจนไม่มีเงินจะแต่งงาน” ชายหนุ่มพูดไปเรื่อย ๆ เห็นท่านพระครูไม่พูด เขาจึงพูดต่ออีกว่า

“ลูกเมียหรือก็ไม่มี ยังจะงกอีก ได้ยินเขาเล่ากันว่า แกเคยแต่งงานนะครับ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนโน้น แกเคยแต่งงานกับลูกสาวเจ้าของโรงสี แต่ยังไงไม่ทราบ อยู่กันแค่อาทิตย์เดียว ก็หย่ากันเสียแล้ว แกก็เลยครองตัวเป็นพ่อหม้ายเนื้อหอมมาจนบัดนี้” แม้ท่านพระครูจะไม่พูด หากท่านก็ฟัง และ “รู้” ว่านั่นเป็นเพราะ “กรรม” กรรมตัวเดียวเท่านั้นที่บันดาลให้เหล่าสัตว์ต้องมีอันเป็นไป

“ใจคอหลวงพ่อจะให้ผมพูดอยู่คนเดียวอย่างนี้หรือครับ” นายสมชายถามภิกษุวัยห้าสิบที่นั่งเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหลังเขา

“ชอบไม่ใช่หรือ”

“จะว่าชอบก็ไม่เชิง แต่ครั้นจะว่าไม่ชอบก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่ทราบจะตอบหลวงพ่อยังไงดี หรือว่าหลวงพ่อจะให้ผมตอบว่ายังไงดีครับ” ชายหนุ่มยั่ว

“งั้นก็ไม่ต้องตอบ” ท่านพระครูพูดตัดบท

“แต่ผมอยากตอบนี่ครับ อยากตอบ แต่ไม่รู้จะตอบยังไง” คราวนี้เขายวน

“ฉันก็ไม่รู้ว่า จะช่วยเธอยังไงเหมือนกัน” ท่านยวนบ้าง

“แต่ถ้าหลวงพ่อตั้งใจจะช่วย ถึงไม่รู้ก็ช่วยได้นี่ครับ คือช่วยทั้ง ๆ ที่ไม่รู้”

“รู้สึกว่าเธอจะพูดมากไปแล้วนะ พูดมากปากไม่ได้พักผ่อน”

“ไม่เป็นไรครับ ปากผมยังหนุ่มยังแน่น ถึงไม่ได้พักผ่อนก็ยังแข็งแรง หลวงพ่ออย่าห่วงมันเลย ห่วงผมดีกว่า”

“เธอมีอะไรให้ห่วงล่ะ”

“ก็เรื่องห่วงไงครับ ผมอยากได้ห่วงสักห่วงมาผูกคอ แต่ไม่มีเงินไปซื้อครับ หลวงพ่อสัญญาว่าจะช่วย ป่านนี้ยังไม่มีวี่แววเลย หลวงพ่อลืมหรือยังครับ ที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กะผมน่ะครับ” คำพูดของศิษย์วัดทำให้ท่านพระครูนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้อธิษฐานจิต “ช่วย” ให้ชายหนุ่มได้แต่งงานสมความมุ่งมาดปรารถนาดังที่ได้สัญญาไว้กับเขา

“ถ้าเธอไม่เตือนก็คงจะลืมไปแล้ว เอาละ คืนนี้จะจัดการให้ ทีนี้ก็หยุดพูดได้แล้ว ฉันจะหลับละ” แล้วท่านจึงนั่งหลับตา กระทั่งรถแล่นมาถึงบ้านงาน

พิธีทำบุญเลี้ยงพระสิ้นลง เมื่อเวลา ๙.๑๙ นาฬิกา จากนั้นเป็นพิธีเปิดป้ายร้านเสริมสวย เมื่อพระสงฆ์ ๘ รูป ที่นิมนต์มาจากวัดอื่นขึ้นต้นสวด “ชะยันโต” เจ้าภาพคือ  นายแพทย์สมเจตนา จึงนิมนต์ท่านพระครูไปช่วยเจิมหน้าห้องเสริมสวย

เขาถือขันจอกทองเหลืองใบจิ๋ว ซึ่งวางอยู่บนพานทองเหลือง มี “ลิ้นพาน” รอง ในขันบรรจุ “แป้งเจิม” ซึ่งทำจากดินสอพองบดละเอียด ผสมกันน้ำมันจันทน์ เดินนำท่านพระครูไปยังห้องเสริมสวย เจิมห้องแรกเสร็จ เขาก็นิมนต์ไปเจิมห้องอื่น ๆ อีก ทั้งหมดนับได้ถึง ๗ ห้อง

สมภารวัดป่ามะม่วงรู้สึกแปลกใจว่า เหตุใด “ห้องเสริมสวย” จึงมีหลายห้องนัก แถมมีเลขที่ห้องเรียงลำดับจากหนึ่งถึงเจ็ดติดไว้ที่หน้าประตูของห้องอีกด้วย เมื่อเจิมเสร็จท่านจึงเดินกลับมายังห้องโถงที่ใช้ทำพิธี พวกหนุ่ม ๆ หน้าตาดีหลายคนพากันมากระเซ้าพลางหัวเราะคิกคัก คนหนึ่งถามขึ้นว่า

“หลวงพ่อไปทำอะไรในที่นั่นครับ คนเป็นพระเขาไม่ไปตรงนั้นกันหรอก” เขาหมายถึง “ห้องเสริมสวย”

“เขาให้ไปเจิมห้องเสริมสวย” คำตอบของท่าน ทำให้พวกหนุ่ม ๆ หัวเราะครืน คนเดิมพูดอีกว่า

“หลวงพ่อถูกหลอกซะแล้ว”

เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกเอะใจ ท่าทางจะไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว ท่านจึงกำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ นั่นมันห้องอะไรหนอ” แล้วท่านก็ต้องตกใจเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร “ตายแล้วหนอ นั่นมันซ่องนี่หนอ ซ่องโสเภณีหนอ เราถูกหมอสมเจตนาหลอกให้มาเปิดป้ายสำนักโสเภณีเสียแล้วสิหนอ” ท่านมองหน้านายแพทย์สมเจตนาคล้ายจะถามว่า “นี่มันอะไรกัน” หากฝ่ายนั้นทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้

เมื่อท่านกลับมานั่งที่เดิมแล้ว เจ้าภาพจึงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ ๙ รูป และรับพร เสร็จแล้วพระ ๘ รูปก็พากันกลับวัด ท่านพระครูยังไม่ยอมกลับ เพราะต้องการจะ “ผ่าตัด” คนเป็นหมอผู้ซึ่งผ่าตัดคนอื่นเขามามากแล้ว ถึงคราวที่ตัวเองจะต้องถูกผ่าตัดบ้างละ

ส่งพระสงฆ์และแขกเหรื่อกลับไปแล้ว เจ้าภาพก็มานั่งพับเพียบอยู่ต่อหน้าท่านพระครู

“ไงคุณหมอ นึกยังไงถึงต้มอาตมาเสียเปื่อยเลย เห็นอาตมาเป็นไก่ไปแล้วหรือไง”

“โธ่หลวงพ่อครับ ก็เพราะผมเคารพนับถือหลวงพ่อ หลวงพ่อเป็นพระสุปะฏิปันโน เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผมก็เลยอยากให้หลวงพ่อมาทำพิธีเปิด กิจการจะได้รุ่งโรจน์เรืองรองสืบไปในภายภาคหน้า” คนเป็นหมอสาธยาย

“แต่คุณหมอกำลังจะทำให้ “ศีลบริสุทธิ์” ของอาตมาต้องด่างพร้อย นี่โชคดีนะที่อาตมาไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย ไม่งั้นต้องอาบัติแน่ ๆ คุณหมอนะคุณหมอ ไม่น่าทำอาตมาเลย” ท่านตัดพ้อต่อว่า

“ผมกราบขอโทษครับหลวงพ่อ ขอโทษมาก ๆ เลย” เขาก้มลงกราบหนึ่งครั้ง

“ยังไม่แค่นี้นะ โทษของคุณหมอยังมีอีก รู้หรือเปล่าคุณหมอกำลังประกอบ “มิจฉาอาชีวะ” การค้ามนุษย์ไม่จัดว่าเป็นสัมมาอาชีวะ อาตมาไม่เข้าใจว่าทำไมคุณหมอต้องทำอย่างนี้ พูดกันตรง ๆ เลยนะ อาตมาขอตำหนิว่าคุณหมอช่างโลภมากเหลือเกิน เท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดของจังหวัดนี้ยังไม่พอใจหรือ”

“พอใจครับหลวงพ่อ ตัวผมน่ะพอใจในสิ่งที่ผมมี ผมเป็น ไม่เคยทะเยอทะยานหรอกครับ แต่ที่ต้องทำอย่างที่หลวงพ่อเห็นก็เพราะมันจำเป็นต้องทำครับ”

“จำเป็นยังไง พอจะบอกอาตมาได้หรือเปล่า”

“ได้ครับ คือมันเป็นความประสงค์ของพวกเด็ก ๆ เขา เขามาอ้อนวอนก็เลยต้องตามใจเขา

“เด็ก ๆ ไหน”

“ก็พวกหนุ่ม ๆ ที่นั่งหน้าตาสลอนอยู่นี่ไงครับ ถ้าผมไม่ตามใจพวกเขา เขาก็จะพากันทิ้งผมไป” หมอ สบตากับท่านพระครูเหมือนจะขอความเห็นใจ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเห็นแววตาที่บ่งบอกถึงความอ้างว้างว้าเหว่ ก็เข้าใจความรู้สึกของเขา ท่านนึกในใจว่า “ดูเอาเถอะ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก แต่ตาหมอคนนี้กลับมายึดพวกหนุ่ม ๆ ช่างน่าสังเวชใจเสียจริง” ต่อเมื่อเห็น “กฎแห่งกรรม” ของบุรุษตรงหน้าท่านแล้ว ท่านก็เข้าใจ ไม่นึกตำหนิติเตียนเขาอีก

         “แล้วพวกสาว ๆ ที่จะมาบริการแขกล่ะ ตอนนี้ไปอยู่กันที่ไหน” ท่านหมายถึงบรรดา”คุณตัว” ทั้งหลาย

         “ช่วยกันล้างถ้วยชามอยู่ในครัวบ้าง ต้อนรับแขกบ้างครับ” ท่านพระครูมองลงไปที่สนามหน้าบ้านซึ่งกางเต๊นท์ตั้งโต๊ะอาหารไว้บริการแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน มีสาวสวยสามสี่คนทำหน้าที่เป็นบริกร

         “ตอนนี้มีทั้งหมดกี่คน”

         “เจ็ดครับ มีห้องแค่เจ็ดห้อง เลยรับได้แค่เจ็ดคน ก็ผมเรียนหลวงพ่อตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ได้ตั้งใจจะยึดเป็นอาชีพ แต่ทำเพื่อจะเอาใจพวกเด็ก ๆ เขา” คนเป็นหมอว่า

         “อ้าว ก็เมื่อกี้คุณหมอพูดอยู่หยก ๆ ว่าที่เชิญอาตมามาทำพิธีเปิดก็เพื่อจะให้กิจการรุ่งโรจน์เรืองรอง เสร็จแล้วกลับมาว่าไม่ได้ตั้งใจจะยึดเป็นอาชีพ เอ๊ะ มันยังไงกันแน่ อาตมาชักงงแล้วนะ”

         “ผมเองก็งงเหมือนกันครับ คือ ผมหมายความว่าผมไม่ได้หวังรวยจากกิจการนี้ แต่ก็อยากให้มันรุ่งโรจน์และอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”

         “พวกเด็ก ๆ เขาจะได้อยู่กับคุณหมอนาน ๆ” ท่านพระครูต่อให้

         “ครับผม” ท่านพระครูมองเห็นทาง “แก้ลำ” คนเป็นหมอ จึงพูดขึ้นว่า

         “ถ้าคุณหมออยากให้เขาอยู่ด้วยนาน ๆ กิจการก็ต้องเจริญด้วย เอาอย่างนี้ คุณหมอให้เด็ก ๆ ของคุณหมอไปทำงานแทนพวกสาว ๆ แล้วเรียกพวกสาว ๆ มาหาอาตมา อาตมาจะทำพิธีลงนะหน้าทองให้” นายแพทย์วัยสี่สิบเศษจึงจัดการตามความประสงค์ของท่าน พวกหนุ่ม ๆ หน้าตาดีลุกออกไปสักพัก สาว ๆ เจ็ดคนก็พากันเข้ามากราบท่านพระครู

         “ขอประทานโทษ อาตมาต้องทำพิธีตามลำพังกับหนู ๆ พวกนี้ จึงขอความกรุณาคุณหมออย่าให้ใครเข้ามายุ่มย่าม และช่วยตามลูกศิษย์ที่มากับอาตมาให้มานั่งเป็นเพื่อนด้วย”

         เมื่อนายสมชายเข้ามานั่งในที่นั้นแล้ว นายแพทย์สมเจตนาก็ปลีกตัวออกไปอย่างคนมีมารยาท ห้องโถงนั้นจึงเหลือเพียงท่านพระครู นายสมชาย กับ “คุณตัว” ทั้งเจ็ด

         “ยังไงจ๊ะหนู คิดยังไงถึงได้มายึดอาชีพนี้” ท่าน “สัมภาษณ์” ทีละคน แล้วสรุปคำตอบได้ว่า ห้าคนทำด้วยความเต็มใจ มีสองคนเท่านั้นที่ถูกล่อลวงมา ท่านใช้ “เห็นหนอ” สำรวจดูกฎแห่งกรรมของคนทั้งเจ็ด ห้าคนที่มาด้วยความสมัครใจนั้น เพราะมี “กรรม” ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ และจะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกคนละ สามชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง และคนที่หน้าตาดีที่สุดนั้นจะต้องเป็นต่อไปอีกถึงเจ็ดชาติ! ส่วนอีกสองคนที่ถูกล่อลวงมานั้นเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องช่วยให้หล่อนพ้นจากขุมนรก

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจัดการรดน้ำมนต์ให้หญิงสาวทั้งห้า ให้ศีลให้พรเสร็จ จึงบอกให้พวกหล่อนลุกออกไปทำงานต่อ เหลืออีกสองคน ท่านพูดว่า “หนูอยากจะไปจากที่นี่ไหมล่ะ”

         “อยากค่ะ” ตอบพร้อมกัน

         “อยากไป แล้วทำไมถึงไม่ไปล่ะจ๊ะ”

         “หนูกลัวถูกซ้อมค่ะ เจ้าพวกหนุ่ม ๆ ของคุณหมอขู่ว่า ถ้าใครคิดหนีจะซ้อมให้ตาย หนูกลัวค่ะ”

         “อ้อ ยังงั้นหรือ แล้วถ้าหลวงพ่อจะช่วยให้ไปจากที่นี่ จะไปไหม”

         “ไปค่ะ” ตอบพร้อมกันอีก

         “บ้านหนูอยู่ที่ไหนล่ะ” คนหนึ่งตอบว่า

         “อุตรดิตถ์ค่ะ อยู่อำเภอปาด”

         “แล้วหนูล่ะ” ท่านถามอีกคน

         “อยู่ที่เดียวกันค่ะ เราเป็นพี่น้องกัน ถูกคนหลอกมาขายที่นี่ เขาบอกจะพาไปทำงานที่กรุงเทพฯ งานสบายรายได้ดี เราสองคนพี่น้องก็เลยมากับเขา” คนเป็นพี่เล่า

         “แล้วมาอยู่ที่นี่นานหรือยัง”

         “เดือนนึงแล้วค่ะ แต่ยังไม่ได้รับแขกนะคะ เพราะหมอบอกว่าต้องรอให้เปิดเป็นเรื่องเป็นราวเสียก่อน จะนิมนต์หลวงพ่อที่ดังที่สุดของจังหวัดมาเปิด แต่ถึงจะยังไม่ได้รับแขกข้างนอก แต่แขกข้างในก็รับเรียบร้อยแล้วค่ะ ก็พวกเด็ก ๆ ของหมอเขานั่นแหละ”

         “รวมทั้งหมอด้วยหรือเปล่า” นายสมชายเป็นคนถาม

         “เปล่าค่ะ หมอไม่เคยมายุ่งกับพวกเรา” หล่อนตอบ

         “สมภารย่อมไม่กินไก่วัด” ชายหนุ่มว่า

         “ไม่จริงหรอกพี่ สมภารคนนี้กินไก่วัด แต่ไม่กินไก่ตัวเมีย กินแต่ไก่ตัวผู้” คนพูดมีเลศนัย

         “หมายความว่ายังไง” ศิษย์วัดถาม

         “ก็แกไม่ยุ่งกะพวกหนู แต่ไปยุ่งกะพวกหนุ่ม ๆ นั่น ที่เปิดซ่องก็เพื่อจะเอาใจคนพวกนั้น” หญิงสาวพูดอย่างดูแคลน

         “หนูอย่าไปว่าเขาเลย มันเป็นกรรมนะหนู กรรมของเขา เขาทำมาอย่างนั้น เอาเถอะสำหรับหนูสองคนหลวงพ่อจะช่วย” ท่านพระครูหยิบเงินออกมาจากย่ามสองร้อย

         “เอ้า นี่นะค่ารถ เดี๋ยวหลวงพ่อจะพูดกับหมอเขาให้” ท่านใช้นายสมชายไปตามนายแพทย์สมเจตนามา แล้วกล่าวว่า

         “คุณหมอ อาตมาจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วรับรองว่ารุ่งโรจน์เรืองรอง ถ้า...” ท่านหยุดไว้เพียงนั้นเพื่อเพิ่มความอยากรู้ให้คนเป็นหมอ

         “ถ้าอะไรหรือครับหลวงพ่อ” คนอยากรู้ถาม

         “ถ้าคุณหมอจะไม่เอาแม่หนูสองคนนี่ไว้”

         “ทำไมหรือครับ สองคนนี้เป็นยังไง”

         “ดวงเขาไม่สมพงษ์กับอาชีพนี้ ไปอยู่สำนักไหนก็ไม่เจริญ ทางที่ดีต้องเลิก”

         “หรือครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะส่งเขาไปอยู่สำนักอื่น สำนักที่เป็นคู่แข่งของผม” คนเป็นหมอแสดงนิสัย “เจ้าเล่ห์”

         “คุณหมอ อาตมาขอร้องเถอะ เท่าที่คุณหมอทำอยู่นี่ มันก็ไม่ใช่สิ่งดีนะ อย่าได้ไปสร้างบาปกรรมเพิ่มขึ้นอีกเลย อาตมารู้ คนที่จะจบหมอได้นั้นต้องเป็นคนเก่ง คนฉลาด และคุณหมอก็มีคุณสมบัติอย่างนั้นครบถ้วน คงจะน่าเสียดายมาก ถ้าคุณหมอจะเอาความฉลาดไปใช้ในทางทุจริต คิดดูก็แล้วกัน ถ้าคุณหมอทำอย่างที่พูด เท่ากับสร้างบาปขึ้นมาอีกสองอย่าง อย่างแรกคือ ไปก่อศัตรูไปทำให้เขาพินาศล่มจม ซึ่งคนที่จะทำอย่างนั้นจะต้องเป็นคนจิตอกุศล มีจิตริษยา

         อย่างที่สองคือคุณหมอทำบาปกับเด็กสองคนนี้ เพราะเขาไม่สมัครใจ แต่ถูกบังคับ เปรียบเหมือนว่าคุณหมอถนัดในทางรักษาไข้ แต่พ่อแม่บังคับให้ไปชกมวย แล้วคุณหมอจะพอใจไหม คิดดูนะ ใจจริงแล้วอาตมาไม่สนับสนุนให้ใครทำผิดเลย แต่นี่อาตมาเห็นแล้วว่าเป็นกฎแห่งกรรม ที่จะต้องเป็นอย่างนั้น คือทั้งคุณหมอและทั้งแม่หนูทั้ง ๕ คนนั่นต่างก็มีกรรมร่วมกันมา อาตมาจึงไม่สามารถทัดทานได้

         อาตมาขออัญเชิญพุทธพจน์มากล่าวให้คุณหมอฟัง เพื่อเป็นคติสอนใจ คุณหมอเก็บไว้คิด ไว้พิจารณาเองก็แล้วกัน พุทธพจน์นั้นมีว่า “บุคคลเข้าถึงกุศลธรรม จะอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรม จะอยู่เป็นทุกข์ คับแค้น เดือดร้อน” อาตมาช่วยคุณหมอได้เท่านี้แหละ” คนจบ ม.๔ “เทศน์” โปรดคนจบปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต

         “ตกลงครับหลวงพ่อ ตกลงผมจะให้สองคนนี่ออก” นายแพทย์สมเจตนาพูดกับท่านพระครู หลังจากถูก “เทศน์” เสียยืดยาว

         “อาตมาขออนุโมทนา อย่างน้อยคุณหมอก็ได้ทำความดีให้แก่ตัวเอง และเด็กสองคนนี้ ไปสิหนู ไปเก็บเสื้อผ้า ประเดี๋ยวหลวงพ่อจะไปส่งที่ท่ารถ” ท่านสั่งสองศรีพี่น้อง ต้องจัด การพาไปเสียแต่วันนี้ ก่อนที่หมอสมเจตนาจะเปลี่ยนใจ เพราะคำยุยงของพวกหนุ่ม ๆ หน้าตาหล่อเหลาพวกนั้น

         ขากลับท่านพระครูย้ายไปนั่งด้านหน้าคู่กับคนขับ พี่น้องสองสาวนั่งข้างหลัง ขณะที่รถแล่นไปสู่สถานีขนส่งในตัวจังหวัด เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงแนะนำหญิงสาวทั้งสองว่า

         “หนูไม่ต้องกลับไปบ้านอำเภอน้ำปาดหรอกนะ กลับไปก็จะถูกพ่อแม่พี่น้องเขารังเกียจ เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงเขาก็จะติฉินนินทาด้วย”

         “แล้วหลวงพ่อจะให้หนูกับน้องไปอยู่ที่ไหนล่ะคะ หนูไม่รู้จักใครที่ไหนเลย” คนเป็นพี่ว่า

         “ไปสมัครงานที่ห้างขายทองนะหนู ห้างขายทองที่อยู่ในตลาดอุตรดิษถ์ ในตัวเมืองนั่นแหละ เขากำลังต้องการคนทำงานบ้าน อยู่กับเขาทั้งสองคน และช่วยกันทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อีกสองปีหนูจะร่ำรวย เชื่อหลวงพ่อเถอะ”

         “ขอบคุณหลวงพ่อมากค่ะ ที่เมตตาหนูกับน้อง ชีวิตนี้จะไม่ลืมพระคุณของหลวงพ่อเลย” คนเป็นพี่พูดเสียงเครือ

         ถึงท่ารถขนส่ง ท่านให้สองพี่น้องขึ้นรถ และรออยู่จนกระทั่งรถออก เพื่อแน่ใจว่าหล่อน “ปลอดภัย” ขณะนั่งรถกลับวัด ท่านพูดกับนายสมชายว่า “อีกสองปีคนพี่จะได้เป็นเถ้าแก่เนี้ย เพราะเมียเถ้าแก่จะตายด้วยโรคมะเร็ง เถ้าแก่ไม่อยากหาคนอื่นคนไกลมาเลี้ยงลูก ก็เลยยกฐานะลูกจ้างขึ้นเป็นเถ้าแก่เนี้ยแทน ส่วนคนน้องก็จะได้แต่งงานกับจ่าสิบตำรวจที่เฝ้าร้านทองนั่นแหละ แต่งงานแล้วก็จะได้เลื่อนเป็นนายร้อย เพราะคู่เขยของเขาสนับสนุนกัน เห็นไหมฉันแก้ลำหมอสมเจตนาได้เด็ดขาดไปเลย” ท่านพูดแล้วหัวเราะหึ ๆ

         คืนนั้นก่อนจำวัด เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงได้สวดมนต์แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์ แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ด้วยอำนาจของทาน ศีล ภาวนา ที่ข้าพเจ้าได้ประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขอให้ข้าพเจ้าสามารถอนุเคราะห์นายสมชาย ชื่นฉ่ำจิต ที่เขามีบุญคุณต่อข้าพเจ้าด้วยการรับใช้ช่วยเหลือมาเป็นเวลานาน

         บัดนี้เขาได้พบเนื้อคู่และตกลงใจจะแต่งงานกัน แต่ยังขาดปัจจัยที่จะนำไปเป็นค่าสินสอดทองหมั้น ข้าพเจ้าอยากจะอนุเคราะห์ หากก็ไม่มีปัจจัย จึงขออำนาจบารมีของข้าพเจ้าช่วยให้สิ่งที่ปรารถนาจงสำเร็จด้วยเทอญ” ตั้งจิตอธิษฐานเสร็จ ท่านก็ล้มตัวลงนอน ไม่ลืมที่จะกำหนด “เอนหนอ ลงหนอ ลงหนอ ถึงหนอ”  อย่างคล่องแคล่วว่องไว ก่อนที่จะเคลิ้มหลับ ก็มีเสียงกระซิบที่ข้างหูว่า “คำอธิษฐานวกวนไม่แจ่มแจ้ง ฉะนั้นต้องรออีกสิบห้าวันจึงจะสมปรารถนา”

 

            มีต่อ........๗๓

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 01, 2007, 09:21:30 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00073
๗๓...

         วันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านพระครู พระมหาบุญเล่าให้พระบัวเฮียวฟังว่า ในวันนั้น บรรดาศิษยานุศิษย์ผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือในท่านพระครูจะแสดงมุทิตาจิต ด้วยการบำเพ็ญบุญถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรตลอดจนแม่ชีและผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดป่ามะม่วง

            พระบัวเฮียวกำลังกังวลว่าท่านจะถวายสิ่งใดแด่พระอุปัชฌาย์ เพื่อเป็นของขวัญวันเกิด จึงขอคำแนะนะจากพระมหาบุญ ผู้ซึ่งบังเอิญมาแวะเยี่ยม

            “ผมเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องของขวัญวันเกิดพระ แล้วเรื่องอย่างนี้ก็ไม่มีระบุไว้ในคัมภีร์เสียด้วย เลยไม่รู้จะให้คำแนะนำแก่คุณว่าอย่างไร” ผู้อาวุโสกว่าพูดออกตัว

            “แล้วทุกปีที่ผ่าน ๆ มา หลวงพี่ถวายอะไรเป็นของขวัญวันเกิดท่านครับ” ภิกษุวัยยี่สิบหกถาม

            “ผมไม่ได้ถวายเป็นการส่วนตัว หากถวายในนามพระทั้งวัด” พระมหาบุญตอบไม่ตรงประเด็นนัก

            “คือผมอยากทราบว่าหลวงพี่ถวายอะไรมากว่าที่จะอยากทราบว่าหลวงพี่ถวายในนามของใครน่ะครับ” ผู้อ่อนวัยกว่าท้วงอย่างสุภาพ

            “แล้วคุณคิดว่าพวกผมถวายอะไรท่านล่ะ”

            “อย่าให้ผมคิดเลยครับ เพราะผมมักจะคิดอะไรไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขา” คนบวชได้เก้าเดือนว่า

            “ก็หัดคิดให้เหมือนซีคุณ หัดบ่อย ๆ อีกหน่อยก็เก่งไปเอง”

            “คงจะไม่หัดหรอกครับ เพราะใจจริงแล้วผมก็ไม่อยากจะเหมือนชาวบ้านเขา ก็เป็นพระนี่ครับ จะให้เหมือนชาวบ้านได้ยังไง” ภิกษุเชื้อสายญวนว่า

            “งั้นมาถามผมทำไม” พระมหาบุญชักฉิว

            “ผมอยากรู้น่ะซีครับ เพราะหากผมรู้ว่าคนอื่น ๆ เขาถวายอะไร ผมจะได้ไม่ถวายซ้ำกับเขา”

            “อย่าไปคิดอย่างนั้นเลยคุณ อย่าไปคิดว่าจะไปซ้ำกับคนอื่นหรือไม่ ส่งที่คุณควรคิดก็คือ คุณจะต้องรู้ก่อนว่าหลวงพ่อท่านเป็นใคร แล้วคุณก็จะได้ถวายสิ่งที่คู่ควรกับท่าน”

            “แล้วหลวงพ่อท่านเป็นใครล่ะครับ” พระบัวเฮียวถามซื่อ ๆ หากพระมหาบุญลงความเห็นว่าท่าน “เซ่อ”

            “อะไรกัน คุณอยู่ที่นี่มาตั้งเกือบปีแล้ว ยังไม่รู้หรือว่าหลวงพ่อท่านเป็นใคร”

            “แล้วหลวงพี่รู้หรือเปล่าครับ” แทนคำตอบ พระบัวเฮียวกับย้อนถาม

            “ทำไมผมจะไม่รู้”

            “กรุณาบอกผมเอาบุญเถิดครับ”

            “ตกลง ผมจะบอกให้เอาบุญ ฟังให้ดีนะ”

            “ครับ ผมกำลังตั้งใจฟัง”

            “ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอหรอกนะคุณ ถ้าจะให้ดีต้องกำหนด “ฟังหนอ” ด้วย” พระบัวเฮียวจึงกำหนด “ฟังหนอ” ตามคำแนะนำของพระมหาบุญ ผู้ซึ่งเฉลยว่า

            “หลวงพ่อ ท่านเป็นพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นคุณคิดว่าอะไรเล่าที่จะคู่ควรกับพระสงฆ์” คนฟังถูกถามอีก

            “พระสงฆ์หรือครับ เอ พระสงฆ์คู่ควรกับอะไรหนอ” ภิกษุหนุ่มมีท่าทีครุ่นคิด คิดอยู่ค่อนข้างนานจึงตอบ

            “รู้แล้ว นึกออกแล้วพระสงฆ์ก็ต้องคู่กับสีกา ใช่ไหมครับหลวงพี่ แต่เอ ถ้าผมถวายสีกาหลวงพ่อก็ต้องอาบัติน่ะซีครับ แล้วอีกอย่างน้ำหน้าอย่างผมจะไปหาสีกาที่ไหนมาถวายท่าน” พระบัวเฮียวยั่ว

            “เลอะเทอะใหญ่แล้วคุณบัวเฮียว ธาตุไม่ปกติหรือยังไง หรือว่านอนไม่เต็มอิ่ม” ผู้อาวุโสกว่าทักท้วงเพราะทนฟังไม่ไหว

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่างครับ”

            “เอาละ ๆ ผมจะเฉลยให้คุณฟังเดี๋ยวนี้ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว ฟังนะ”

            “หลวงพี่อย่าเลียนแบบหลวงพ่อซีครับ”

            “เลียนแบบยังไง”

            “ก็หลวงพี่พูดว่า “เอาละ ๆ” น่ะครับ คำ ๆ นี้หลวงพ่อท่านผูกขาด” พระบัวเฮียวพาออกนอนเรื่องจนได้

            “นี่คุณบัวเฮียว ผมชักจะหมดความอดทนแล้วนะ”

            “หมดก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้นี่ครับ เอ๊ะ นี่หลวงพี่โกรธผมหรือ อย่านาครับ เขาพูดกันว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” ฉะนั้นจึงไม่ควรโกรธ กำหนดซีครับหลวงพี่ “โกรธหนอ โกรธหนอ” พระมหาบุญเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถทนพูดคุยกับพระบัวเฮียวต่อไปได้ จึงลุกขึ้นเตรียมตัวกลับกุฏิของตน

            “อ้าวหลวงพี่จะไปแล้วหรือครับ ยังพูดกันไม่ทันรู้เรื่องเลย”

            “เพราะอย่างนั้นน่ะสิผมถึงจะกลับ ผมจะจำใส่ใจไว้ว่าหากจะพูดกับใคร ก็ต้องดูคนที่พอจะพูดกันรู้เรื่อง จะได้ไม่เสียเวลาและอารมณ์” ท่านประชด

            “งั้นผมเลิกยั่วหลวงพี่แล้ว จะได้พูดกันรู้เรื่อง ให้ผมแก้ตัวอีกครั้งนะครับ” คนชอบยั่วยอมจำนน

            “ก็ได้ ผมจะให้โอกาสคุณอีกครั้งเดียวเท่านั้นนะ เพราะผมเสียเวลามามากแล้ว”

            “ครับ ผมให้สัญญา หลวงพี่ตอบผมหน่อยซีครับ ว่าอะไรทีคู่ควรกับพระสงฆ์”

            “ก็ดอกไม้ยังไงล่ะ คุณไม่เห็นหรอกหรือ เวลาที่เราบูชาพระรัตนตรัย เราจะใช้ธูป เทียน และดอกไม้เป็นสัญญลักษณ์แทน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องสมมุติ หากก็เป็นการสมมุติที่มีเหตุผล

            จากการอ่านคัมภีร์ ทำให้ผมทราบว่า ครั้งพุทธกาล เขานิยมใช้ดอกไม้และของหอมเป็นเครื่องสักการะองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างเช่น พระจุนทเถระ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เมื่อท่านจะเข้าเฝ้าพระตถาคตก็จะสั่งช่างให้นำดอกไม้สดมาประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงาม คลุมด้วยตาข่ายที่บรรจงร้อยด้วยดอกมะลิ จากนั้นจึงนำไปถวายองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์”

            “ขอประทานโทษนะครับหลวงพี่ คือผมอยากทราบว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ หมายถึงพระพุทธเจ้าใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีหลายพระนาม เช่น “พระสมณโคดม” “พระบรมโลกเชษฐ์” “พระชินสีห์” “พระผู้พิชิตมาร” “พระสัพพัญญู” “พระตถาคต” ผมจำไม่ได้หมดหรอก ถ้าคุณอยากรู้วันหลังผมจะหาหนังสือมาให้”

            “ขอบคุณครับ พระจุนทะเถระต่อเถิดครับ”

            “ตกลง เล่าต่อก็ได้ คืออยู่มาวันหนึ่ง ท่านก็นำดอกไม้ของหอมซึ่งตกแต่งแล้วอย่างประณีตสวยงาม มาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสบุพพกรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำแต่ครั้งอดีตของพระจุนทเถระในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า

            พระจุนทเถระมิใช่จะถวายดอกไม้ของหอมแด่พระพุทธเจ้าเฉพาะในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ในอดีตชาติท่านก็ได้เคยถวายดอกไม้ของหอมแด่พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ มาแล้ว อานิสงส์แห่งการกระทำนั้น ๆ ทำให้ท่านได้สวรรค์สมบัติ ๗๔ ชาติ เป็นพระราชา ๓๐๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ จากนั้นจึงมาเป็นพระจุนทเถระ”

            “แต่อานิสงส์ที่ถวายดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าในชาติที่เป็นพระจุนทเถระคงจะไม่เหมือนเดิมแล้วนะครับ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว คงไม่ต้องการสวรรค์สมบัติอีก”

            “แหม คุยกันมาตั้งนาน คุณเพิ่งจะมาแสดงความฉลาดปราดเปรื่องตอนนี้นี่เอง ผมนึกว่าคุณไม่มีสิ่งนี้อยู่ในตัวเสียอีก” พระบัวเฮียวไม่ทราบชัดว่าถูกชมหรือถูกตำหนิกันแน่ จึงถาม

         “ที่ผมพูดมานี้ถูกหรือเปล่าครับ”

         “ถูกซี ผมถึงว่าคุณฉลาดไงล่ะ จริงอย่างที่คุณว่า เมื่อพระจุนทเถระท่านได้โลกุตตระสมบัติเสียแล้ว โลกียสมบัติก็หมดความหมาย เปรียบเหมือนซากสัตว์เน่าเหม็นย่อมเป็นอาหารอันโอชะของนกแร้ง หากเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนสำหรับพญาหงส์” พระมหาบุญเปรียบเทียบไม่ตรงประเด็นนัก หากพระบัวเฮียวผู้ซึ่งแน่ใจแล้วว่าท่านชม จึงชมตอบว่า

         “โอ้โฮ หลวงพี่ก็คารมคมคายไม่เบาเหมือนกัน”

         “ตกลงคุณตัดสินใจได้หรือยังว่า จะถวายอะไรเป็นของขวัญวันเกิดหลวงพ่อท่าน” คนถูกชมรู้สึกเขินจึงวกกลับมาพูดเรื่องเดิม

         “ได้แล้วครับ ผมก็ต้องถวายดอกไม้ซีครับ แต่จะเป็นดอกอะไรนั้นต้องขออุบไว้ก่อน รับรองว่าไม่ใช่ดอกมะลิแน่ เพราะผมไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่น”

         “ดีแล้วละคุณ แต่ก็หวังว่าคุณคงไม่อุตริเอาดอกอุตพิตถวายท่านนะ ต้องบอกไว้ก่อนเพราะคุณมักจะทำอะไรแผลง ๆ อยู่เรื่อย”

         “รับรองครับ โถใครจะไปทำนอกเสียจากว่าสติฟั่นเฟือน”

         “ถ้าอย่างนั้นผมก็ขออนุโมทนาล่วงหน้า หลวงพ่อท่านเคร่งนะ ไม่เคยติดในลาภสักการะอันทำให้เสียความเป็นผู้ทรงศีล เวลาที่ท่านได้รับนิมนต์ไปงานวันเกิดพระด้วยกัน ท่านก็มักจะนำแจกันดอกไม้สดไปถวาย ในทรรศนะของผมเห็นว่า ดอกไม้สดทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น แล้วยังเป็นอุปกรณ์สอนไตรลักษณ์ได้อีกด้วย”

            “ผมไม่เข้าใจครับ หลวงพี่กรุณาขยายความหน่อยเถิดครับ”

         “ก็แสดงให้เห็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้ อย่างที่พูดกันติดปากว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นยังไง”

         “อ้อ งั้นผมก็เข้าใจแล้วครับ คือ ดอกไม้เมื่อมันยังสดก็ดูสวยงาม ครั้นเหี่ยวเฉาโรยราก็หาความสวยงามไม่ได้ เหมือนบุรุษและสตรีเมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวก็ดูสดชื่นเปล่งปลั่ง ครั้นพอแก่เฒ่าก็เฉาเหี่ยวดุจเดียวกับดอกไม้ แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เพราะฉะนั้นบุคคลจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อย่างนั้นใช่ไหมครับ”

         “ก็คงใช่ เอาเถอะ คุยกันนานแล้ว ผมเห็นจะต้องกลับไปปฏิบัติที่กุฏิของผมละ” พระมหาบุญกลับไปแล้ว พระบัวเฮียวจึงเริ่มปฏิบัติบ้าง

         วันอาทิตย์ แรมสิบค่ำ เดือนแปด เวลาประมาณยี่สิบสองนาฬิกา ขณะที่นายสมชายกำลังไขกุญแจประตูด้านหลังของกุฏิ ก็ได้ยินเสียงเรียกชื่อเขา “สมชายใช่ไหม หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า” เมื่อชายหนุ่มเหลียวหลังไปดูก็พบว่าเป็นคหบดีมากับภรรยาและบุตรชายทั้งสาม แต่ละคนสวมชุดขาวราวกับจะมาเข้ากรรมฐาน เขายกมือไหว้สองสามีภรรยา ขณะที่เด็กหนุ่มสามคนยกมือไหว้เขา

         “ทำไมมาเสียดึกเชียวครับ” ชายหนุ่มถาม

         “มาแต่วันเกรงจะไม่พบหลวงพ่อ ได้ข่าวว่าท่านรับนิมนต์ไปข้างนอกแทบทุกวัน จริงหรือเปล่า”

         “ครับ บางทีคนก็นิมนต์ไปในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง” เขาหมายถึงนายแพทย์สมเจตนา ที่หลอกนิมนต์ท่านไปเปิดป้ายสำนักโสเภณี!

         “ต่อไปนี้ท่านบอกถ้าใครมานิมนต์ ท่านจะต้องสอบถามก่อนว่างานอะไร แล้วท่านก็จะพิจารณาว่าสมควรไปหรือไม่ เพราะงานท่านมากขึ้นทุกวัน แต่รับแขกอยู่ที่กุฏิก็รับแทนไม่หวาดไหว”

         “นี่แหละ เหตุผลที่ผมไม่มาตอนกลางวันก็เพราะไม่อยากรอคิวด้วย เลยเสี่ยงมาตอนกลางคืน คิดว่ายังไง ๆ ก็ต้องพบท่าน ฤดูนี้เป็นฤดูเข้าพรรษา โอกาสที่ท่านจะไปค้างแรมที่อื่นก็ไม่มี นอกเสียจากว่าจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

         “เชิญข้างในดีกว่าครับ” เขาเชิญคหบดีและครอบครัวเพราะยืนคุยกันข้างนอกมานาน เข้ามาแล้วชายหนุ่มจึงจัดการเปิดไฟภายในกุฏิ นำเครื่องดื่มร้อนมาบริการแขก เสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบเรียนท่านพระครู

         “ลงไปบอกเขาว่าอีกหนึ่งชั่วโมงฉันจะลงไป” ท่านเจ้าของกุฏิบอกเขาโดยไม่ละสายตาจากงานที่ทำ

         “ประเดี๋ยวเขาจะไม่กลับดึกเกินไปหรือครับ” ชายหนุ่มแสดงความห่วงใย

         “ดึกแน่ละเธอ เพราะฉันต้องการให้เขากลับหลังเที่ยงคืนไปแล้ว”

         “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับ”

         “เพราะถ้าไปก่อนเที่ยงคืนจะต้องตายหมดทั้งครอบครัว เอาละ เธอลงไปบอกเขาก็แล้วกันว่า ฉันสั่งให้ปฏิบัติกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง”

         “แล้วหลวงพ่อจะให้ผมบอกเขาหรือเปล่าครับว่า หากกลับไปก่อนเที่ยงคืนจะต้องตายทั้งครอบครัว”

         “หากเขาถามก็บอกไปตามนี้”

         “ครับ” เมื่อชายหนุ่มลงมาแจ้งให้คนทั้งห้าทราบ พวกเขาก็มิได้ซักถามอะไร ต่างพากันปฏิบัติกรรมฐานตามที่ท่านสั่ง นายสมชายรู้สึกแปลกใจด้วยคิดว่าอย่างไรเสียก็จะต้องถูกซักถาม ชายหนุ่มมิรู้ดอกว่า “ผู้เข้าถึงธรรมย่อมเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย”

         เวลายี่สิบสามนาฬิกา ท่านพระครูจึงลงรับแขกรอบดึกอันเป็นรอบที่ไม่มีในตาราง โชคยังดีที่คนจัดตารางหลับปุ๋ยไปนานแล้ว มิฉะนั้นก็คงมีเรื่องมีราวให้ท่านเจ้าของกุฏิต้องรับรู้อีก กราบท่านพระครูแล้วหนุ่มต้อมจึงเอ่ยขึ้นว่า “หลวงตาสบายดีหรือครับ ผมรู้สึกว่าหลวงตาดูซูบไป คงจะงานหนักมากใช่ไหมครับ”

         “แต่หลวงตาชินกับมันแล้วละหนู ชีวิตนี้หาความสุขสบายไม่ได้เลย หลวงตาเกิดมาใช้กรรมนะ ใช้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมด” ภิกษุวัยห้าสิบเศษตอบ

         “แล้วอีกนานไหมครับถึงจะหมด” หนุ่มต่อถามบ้าง

         “ยังตอบไม่ได้หรอกหนู หลวงตาก็อยากจะใช้ให้มันหมด ๆ แต่กรรมของหลวงตามีมากเหลือเกิน ทยอยกันมาให้ชดใช้อยู่เรื่อย ๆ เมื่อปลายเดือนกุมภาก็ใช้หนี้ที่ไปหักขานก หลวงตาเลยมีอันต้องตกบันไดขาหัก ไปไหนมาไหนไม่ได้อยู่เดือนเต็ม ๆ ช่วงนั้นก็มีอาจารย์จากเชียงใหม่มาใช้กรรมที่นี่เหมือนกัน เพิ่งกลับไปก่อนเข้าพรรษาไม่กี่วัน ตอนนี้บวชเป็นพระอยู่วัดกู่คำ” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิตผู้ซึ่งเปลี่ยนใจขอกลับไปบวชอยู่วัดใกล้บ้านหลังจากทราบว่าอีกสามปีภรรยาจะตายจาก

         สนทนาปราศรัยกันพอสมควรแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงถามจุดประสงค์ของการมา คหบดีตอบว่า

         “ผมพาครอบครัวมาทำบุญครับ คราวก่อนผมถวายปัจจัย แต่หลวงพ่อไม่ยอมรับ เพราะเงินที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ แต่คราวนี้เรามีปัจจัยที่บริสุทธิ์มาถวายครับ”

         “ไปได้มาจากไหนหรือ” ถามอย่างไม่ยินดียินร้ายตามวิสัยของสมณะ

         “ถูกรางวัลที่หนึ่งครับ นายต่อเขาซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดผม พอถูกเขาก็เสนอแนะว่าน่าจะถวายหลวงพ่อครึ่งหนึ่ง คนอื่น ๆ พลอยเห็นดีเห็นงามไปด้วย ผมจึงนำมาถวายหลวงพ่อสองแสนห้าหมื่นบาทครับ” บิดาของนายต่อกราบเรียนท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกย้อนไปถึงเสียงที่ได้ยิน ในวันอธิษฐานจิตช่วยนายสมชาย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาสิบห้าวันพอดี

         “อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตที่โยมและครอบครัวได้ร่วมใจกันมาบำเพ็ญบุญในครั้งนี้ แต่ว่าเงินจำนวนนี้ โยมระบุไปหรือเปล่าว่า จะให้อาตมานำไปใช้ทำอะไร”

         “ไม่ได้ระบุค่ะ แล้วแต่หลวงพ่อจะนำไปใช้อะไรก็ได้ พวกเราขอถวายเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของหลวงพ่อค่ะ” นางกิมเอ็งกราบเรียน

         “ถ้าอย่างนั้น อาตมาก็จะขออนุญาตนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการอนุเคราะห์คนที่เขามีบุญคุณกับอาตมา เขากำลังต้องการเงินจำนวนห้าหมื่นบาท ส่วนที่เหลืออีกสองแสนอาตมาจะเก็บไว้เป็นกองทุนสร้างหอประชุมเพื่อให้ญาติโยมใช้เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐาน เคยมีเศรษฐีสี่คนเขามาพบกันที่นี่โดยบังเอิญ และก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือจะมาสร้างหอประชุมถวายวัดนี้ เสร็จแล้วจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบ เกิดเปลี่ยนใจไม่สร้างแล้ว” ท่านหมายถึงเศรษฐีสี่คนที่ท่านตั้งสมญาว่า “จตุรชัย”

         “แบบนี้ก็บาปซีครับหลวงตา รับปากกับพระแล้วมากลับคำ” หนุ่มติ๋งว่า

         “ก็ไม่เชิงกลับคำหรอกหนู แต่มันมีเหตุปัจจัยอื่นมาทำให้เขาลืม อาจจะมัวยุ่งอยู่กับเรื่องธุรกิจการค้า” ท่านพระครูพูดปกป้องคนทั้งสี่

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงสนทนาอยู่กับคหบดี และ ครอบครัวจนถึงยี่สิบสี่นาฬิกา จึงอนุญาตให้พวกเขากลับ

         “วันนี้ดึกหน่อยนะ เอาละ แล้วโยมก็จะรู้เองว่า เหตุใดอาตมาจึงหน่วงเหนี่ยวโยมไว้ไม่ให้ไปก่อนเที่ยงคืน”

         คหบดีและครอบครัวลุกออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงมอบเงินให้นายสมชายห้าหมื่นบาทตามสัญญาที่เคยให้ไว้ ชายหนุ่มกราบท่านสามครั้งด้วยความซาบซึ้ง อดมิได้ที่จะเปรียบเปรยว่า

         “หลานสะใภ้หลวงพ่อถูกรางวัลที่หนึ่ง ซื้อรองเท้ามาถวายแค่แปดสิบบาท นี่เขาเป็นคนอื่นกลับถวายตั้งครึ่ง” เขาหมายถึง ครึ่งของห้าแสน ท่านพระครูจำต้องพูดปกป้องภรรยาของหลานชายว่า

         “มันไม่เหมือนกันหรอกนะสมชาย รายนั้นเขาจน แต่รายนี้เขามีเป็นร้อย ๆ ล้าน” ท่านมิได้พูดต่อถึงที่มาของเงินเหล่านั้น คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดีสมควรได้รับการสรรเสริญ ทว่าคนดีที่กลับกลายเป็นคนชั่วนี้สิน่าตำหนินัก

         เมื่อคหบดีขับรถพาครอบครัวมาถึงทางแยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็พบรถตำรวจทางหลวงเปิดไฟฉุกเฉินอยู่กลางถนน รถหลายคนต้องจอดรอ นายต้อมอาสาลงไปสืบดูได้ความว่า เกิดอุบัติเหตุรถเก๋งชนกับรถบรรทุก คนที่อยู่ในรถเป็นผู้ชายสี่คน หญิงหนึ่งคน พากันเสียชีวิตทั้งหมด คนทั้งห้ามีความรู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แล้วก็รู้เดี๋ยวนั้นว่า เหตุใดท่านพระครูจึงให้พวกเขาออกจากวัดหลังเที่ยงคืนไปแล้ว...

 

            มีต่อ........๗๔

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 03, 2007, 09:23:56 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00074
๗๔...

            เวลาสิบเอ็ดนาฬิกา ท่านพระครูเชื้อเชิญบรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ไปรับประทานอาหารที่โรงครัว ตัวท่านเองกำลังจะขึ้นไปตอบจดหมายยังกุฏิชั้นบน เถ้าแก่เส็งกับคนขับแท็กซี่ประคองชายสูงอายุร่างผอมบางเข้ามาในกุฏิ คนทั้งสามกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง แล้วคนที่อาวุโสที่สุดในที่นั้นก็กล่าวขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ จำเถ้าแก่บ๊ก น้องชายผมที่ขายทองอยู่เยาวราชได้ไหมครับ หลวงพ่อเคยเล่าว่าเคยพาลูกศิษย์เข้าไปซื้อทอง” ท่านพระครูนึกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งจึงตอบว่า

            “จำได้สิ แต่อาตมาไม่พาพวกเขาเข้าไปซื้อนะ เขาพากันเข้าไปเอง อาตมายืนรออยู่หน้าร้าน แล้วเถ้าแก่เจ้าของร้านเขานิมนต์เข้าไปดื่มน้ำชาแถมถวายเงินมาสร้างโบสถ์อีกสองพันบาท” ท่านเล่าเหตุการณ์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนโน้น

            “เป็นไง เดี๋ยวนี้โยมเตี่ยสบายดีหรือ” ท่านหมายถึงเถ้าแก่บ๊กผู้ซึ่งพูดกับท่าน ในสมัยที่ท่านเป็นเด็กว่า “วังนี้ลื้อเลียกอั๊วะไอ้เจ๊กบ้า วังหน้าลื้อต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ย” ยังจำเพลงโปรดที่ท่านแต่งขึ้นล้อเลียนฝ่ายนั้นได้ “เจ๊กบ๊กตกน้ำตาย เมียร้องไห้เสียดายเจ๊กบ๊ก”

            “โยมเตี่ยไหนครับ” เถ้าแก่เส็งถามงง ๆ เพราะหากท่านจะหมายถึงบิดาของเขาก็คงเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อเตี่ยของเขาได้ลาจากโลกนี้ไปนานนับสิบปีแล้ว

            “ก็โยมเตี่ยของอาตมาไงล่ะ โยมเตี่ยบ๊กน่ะ”

            “อ๋อ นี่ไงครับ ผมพามากราบหลวงพ่อด้วย” ท่านเจ้าของกุฏิเพ่งพิศดูบุรุษร่างผอมบางตรงหน้า จึงพบว่าเขาไม่ได้ผอมอย่างเดียว หากซูบซีดไร้ชีวิตชีวา ไม่ต่างไปจากซากศพ ภาพผู้ชายวัยกลางคนร่างกำยำล่ำสันที่ท่านคุ้นหูคุ้นตาในวัยเด็กไม่มีหลงเหลืออยู่ในตัวบุรุษผู้นี้

            “โยมเตี่ยทำไมถึงผอมอย่างนี้ล่ะ” ท่านทัก

            “ท่างไม่ต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ยก็ล่าย เลียกไอ้เจ๊กบ๊กอย่างเลิมก็ล่าย” บุรุษร่างผอมบางพูดเสียงแหบเครือ

            “หมอเขาบอกเป็นมะเร็งลำไส้ครับหลวงพ่อ เขาไม่รับรักษาแล้ว ผมก็เลยชวนมาหาหลวงพ่อ ยังไง ๆ ก็ยังดีกว่าอยู่กรุงเทพฯ หมอเขาให้เวลาอีกสามเดือน ผมก็เลยเกิดความคิดว่าในช่วงสามเดือน ถ้าเขามาอยู่วัดก็อาจจะได้บุญกุศลติดตัวไปภพหน้า ไม่มากก็น้อย” คนเป็นพี่ชายเล่า

            “แล้วโยมเตี่ยไม่คิดถึงลูกหลานหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิทดสอบสภาวะทางจิตใจคนป่วย

            “คิกถึงก็ต้องตักใจ ทำไงล่ายล่ะท่าง คงเลาเกิกเลี้ยวก็ต้องตาย อั๊วะทำงางหนักมาตาหลอกชีวิก เหลือเวลาอีกแค่สามเลือนก็ขอมาอยู่กับพะ ขอยึกเอาพะรักตะนะตัยเป็งที่พึ่ง เวลาตายจะล่ายตายตาหลับ ห่วงลูกหลานเลี้ยวตายตาไม่หลับ” น้องชายเถ้าแก่เส็งว่า

            “ดีจริงโยมเตี่ยคิดได้ยังงี้ดีมาก ๆ เลย เราต้องยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะนั่นเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ดังพุทธวจนะว่า” ท่านอัญเชิญพุทธพจน์มากล่าวให้คนทั้งสามฟังดังนี้

          มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ นั่นมิใช่สรณะอันเกษรมเลย นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

          ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐเครื่องถึงความระงับทุกข์

          นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

            “งั้งอั๊วะคิดถูกเลี้ยวใช่ไหมที่มาหาท่าง อั๊วะซำบายเลี้ยว ไม่กัวตายอีกต่อไปเลี้ยว” เถ้าแก่บ๊กกล่าวอย่างยินดี ท่านพระครูออกแปลกใจที่เห็นเขาไม่ทุรนทุรายเช่นคนที่เป็นมะเร็งโดยทั่ว ๆ ไป จึงถามขี้นว่า

            “โยมเตี่ยไม่ปวดหรือ อาตมาเห็นคนเป็นมะเร็ง เขาปวดร้อง โอย ๆ กัน แทบทั้งนั้น”

            “ปวกซีท่าง ทำไมจะไม่ปวก แต่ที่อั๊วะไม่แสดงอากางทุรงทุรายเพราะท่างช่วยอั๊วะ”

            “อาตมาช่วยโยมเตี่ยอย่างไรหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิไม่เข้าใจ

            “ช่วยซี ท่านช่วยอัวะมากจริง ๆ อั๊วะถึงอยากมาตายกะท่าง เฮียเส็งลื้อช่วยอธิบายให้ท่างฟังหน่อย อั๊วะเหนื่อย..” เขายั้งปากไว้ท่าน ไม่เช่นนั้นคำว่า “ชิกหายเลย” ก็จะต้องเล็ดอดออกมา ตั้งแต่พี่ชายสอนกรรมฐานให้ เขาลดละ “ผรุสวาจา” ลงไปได้โขทีเดียว

            “คืออย่างนี้ครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งอธิบาย

            “ตอนที่เขาป่วย ผมก็หมั่นไปเยี่ยมเขา ตอนนั้นเขามีอาการทุรนทุรายมากร้องโอดโอยจนถูกนางพยาบาลดุเอาบ่อย ๆ ลูกหลานไปเยี่ยมก็ด่าจนพวกเขาไม่ไปเยี่ยม พอพวกเขาไม่ไปก็ด่าอีก ผมก็เลยค่อย ๆ สอนกรรมฐานให้วันละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ให้ฝึกกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” เขาก็พยายามทำตาม พออาการปวดทุเลาลง ผมก็ให้เขาหัดกำหนด พอง-ยุบ เรียกว่าเรียนกรรมฐานบนเตียงคนไข้เลยแหละครับ เขาก็ทำตามและก็รู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหลานมาเยี่ยมก็เลิกด่า

            เขาอยู่โรงพยาบาลสองเดือน หมอเจ้าของไข้ก็มากระซิบกับผมว่า ควรจะกลับไปอยู่บ้านเพราะถึงอย่างไรก็ไม่หาย ไส้เน่าแล้ว ผ่าตัดก็คงไม่ได้ผล ผมก็มาถามเขาว่าสมมุติว่าเขาจะมีชีวิตอยู่อีกสามเดือน เขาอยากจะทำอะไร เขาตอบทันทีว่าอยากไปอยู่วัดป่ามะม่วง ผมก็เลยไปขอให้นายสุขเขาพามานี่แหละครับ”

            “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่อาตมาช่วยหรอก พี่ชายของโยมเตี่ยต่างหากที่ช่วย” ท่านเจ้าของกุฏิไม่ยอมรับความดีความชอบ

            “ท่างนั่งแหละช่วย เพาะถ้าท่างไม่สองกำมะถางให้เฮียเส็ง เฮียเส็งเขาก็มาสองอั๊วะไม่ล่าย จริงล่ะป่าว” เถ้าแก่บ๊กพยายามยัดเยียดความดีให้ท่านพระครู

            “เอาละ จริงก็จริง อาตมาขออนุโมทนากับโยมเตี่ยด้วย ยังไง ๆ โยมเตี่ยก็ไม่ไปอบายภูมิแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิแสดงมุทิตาจิตต่อเขา  เพื่อความแน่ใจว่าน้องชายเถ้าแก่เส็งจะต้องตายในอีกสามเดือนข้างหน้าจริงดังที่แพทย์บอกหรือไม่ ท่านจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบและก็ได้พบว่า บุรุษนี้มี “ทุนเดิม” อยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลืออีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ท่านจะจัดการให้เถ้าแก่เส็งช่วยสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยการเจริญกรรมฐาน แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ ส่วนอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์ ท่านจะเข้า “ผลสมาบัติ” สามวันสามคืนช่วย “ดีเหมือนกัน เราจะได้ชดใช้กรรมที่เคยทำไว้กับแกสมัยที่เราเป็นเด็ก” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงคิดในใจ รู้สึกยินดีที่จะได้ชดใช้ “หนี้” ที่ทำไว้แต่ครั้งอดีต

            “โยมเตี่ย อาตมาถามจริง ๆ เถอะ ว่ากลัวตายหรือเปล่า”

            “ไม่กัว อั๊วะไม่กัวตาย แต่ก็ไม่อยากตาย” คนเป็นมะเร็งลำไส้ตอบ

            “แล้วถ้าสมมุติว่าโยมเตี่ยจะมีอายุยืนต่อไปอีกห้าปี โยมเตี่ยจะทำอะไร”

            “อั๊วะจาปะติบักกำมะถางเหมืองเฮียเส็งเขา จะปาติบักทุกวัง”

            “แล้วสมมุตินะ สมมุติอีกว่ามีเทวดาจะมาต่ออายุให้เตี่ยอยู่ตอไปได้อีกห้าปี เตี่ยจะเอาไหม”

            “เทวาลาหน้าไหนอีจามาต่อให้อั๊วะล่ะท่าง แต่ถ้ามีนะ อั๊วะจะให้เงิงอีห้าหมื่ง คิกชาเหลี่ยปีละหมึ่ง ถ้าอีกต่อล่ายสองปีก็ให้อีสองหมื่ง”

            “แหม เตรียมให้สินบนเชียวนะโยมเตี่ย แต่เอาเถอะ อาตมาจะบอกเทวดาเขาว่าไม่ให้คิดเงิน ให้ต่อให้ฟรี อยากรู้ไหมว่าเทวดาองค์นั้นอยู่ที่ไหน”

            “ไม่ลู้”

            “นี่ไง เทวดาองค์นี้ไง” ท่านชี้เถ้าแก่เส็ง “วิธีการ” ตามที่ “เห็นหนอ” รายงาน เถ้าแก่บ๊กดีใจเสียนัก มีความรู้สึกเหมือนโรคภัยไข้เจ็บมลายหายไปในบัดดลนั้น เขาก้มกราบท่านเจ้าของกุฏิด้วยความซาบซึ้งใจ

            “ตกลงโยมเถ้าแก่อยู่ที่นี่เจ็ดวันนะ อยู่เป็นเทวดาช่วยโยมเตี่ยเขาหน่อย” ท่านบอกเถ้าแก่เส็ง

            “ยินดีครับหลวงพ่อ แต่ผมคงจะต้องไปเอาเสื้อผ้า ไม่ได้เอาชุดขาวมาเพราะคิดว่าส่งเถ้าแก่บ๊กเขาแล้วก็จะกลับ”

พี่ชายคนป่วยว่า

            “ไม่มีปัญหาโยม ไม่มีปัญหา ประเดี๋ยวเบิกของวัดไปใช้ จะต้องกลับไปให้เสียเวลาทำไม แล้วพวกยาสีฟัน แปรงสีฟัน ประเดี๋ยวจะให้ลูกศิษย์เขาจัดการหามาให้”

            “ครับ อย่างนั้นก็ได้ครับ งั้นผมจะฝากนายสุขไปบอกคุณกิมง้อ เขาจะได้ไม่ห่วง” เขาหมายถึงคนขับแทกซี่มาด้วย นายสุขจึงได้โอกาสกราบเรียนท่านว่า

            “หลวงพ่อจำผมได้ไหมครับ ที่เคยมากับเถ้าแก่ครั้งที่แล้ว เดี๋ยวนี้ผมสบายแล้วครับหลวงพ่อ หนี้สินก็จัดการใช้คืนเถ้าแก่เขาหมดแล้ว รถแท็กซี่ที่ใช้ขับหาเงินทุกวันนี้ก็เป็นของตัวเอง ไม่ต้องเช่าเขาแล้ว ผมดีใจ ภูมิใจที่เป็นพลเมืองดี หากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเถ้าแก่เอาผมเข้าคุกตั้งแต่ตอนนั้น ผมก็คงกลายเป็นไอ้มหาโจรไปแล้ว คุกไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีนะครับหลวงพ่อ เท่าที่ผมเคยเห็น คนดี ๆ ไปติดคุก ออกมา กลายเป็นคนชั่ว แล้วคนชั่วไปติดคุก ออกมายิ่งชั่วหนักเข้าไปอีก ผมว่ากิจการคุกนี่เลิกได้แล้วนะครับ สู้เอาคนชั่วมาเข้าวัดดีกว่า ยังพอจะมีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีได้บ้าง” คนขับแท็กซี่พูดเสียยืดยาวสมกับที่มีโอกาสได้พูด ท่านพระครูชอบอกชอบใจกับข้อเสนอแนะของเขา จึงชมว่า

            “เอ้อ เข้าที ความคิดของโยมเข้าที ถ้าอาตมามีโอกาสได้คุยกับท่านนายก จะลองเสนอท่านดูนะ” ท่านพูดยิ้ม ๆ

            “นี่ท่านข้าวกันมาหรือยัง คุยกันจนเพลิน ไปรับประทานอาหารกันเสียก่อนดีกว่านะ เชิญที่โรงครัวเลย สมชายมานี่หน่อย” ท่านเรียกหาศิษย์วัด

            “พาโยมเขาไปรับประทานอาหาร เสร็จแล้วพาไปหาที่พัก ให้พักห้องเดียวกันนะ จะได้ช่วยดูแลคนป่วย ให้โยมเถ้าแก่ช่วยดูแลโยมเตี่ย” ท่านจำต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง มิฉะนั้นศิษย์วัดก็จะเข้าใจว่าตัวเขาจะต้องไปนอนกับบุรุษทั้งสองด้วย “ขาดเหลืออะไรก็บอกเด็กเขานะโยม” ท่านบอกสองพี่น้อง

            “ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งพูดพร้อมกับยกมือไหว้หนึ่งครั้ง

            “ผมเลยถือโอกาสกราบลาหลวงพ่อเลยนะครับ” คนขับแท็กซี่กล่าวลา หากเขาอิ่มข้าวแล้วมาลาก็จะต้องรอคิวอีกนาน

            “เจริญพร แล้วเมื่อไหร่จะมาเข้ากรรมฐานล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “ผมปฏิบัติทุกวันเลยครับ เรียนมาจากเถ้าแก่” เขาบอก

            “ผมจะเปิดบ้านเป็นสำนักปฏิบัติแล้วนะครับหลวงพ่อ เดี๋ยวคนโน้นมาให้สอน เดี๋ยวคนนี้มาให้สอน” คนชื่อเส็งรายงาน

            “ดี ถ้าทำอย่างนั้นได้ถือเป็นกุศลมหาศาลทีเดียว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่ากรรมฐานอีกแล้ว สร้างโบสถ์เจ็ดหลังก็ยังได้บุญไม่เท่าการปฏิบัติกรรมฐาน แล้วก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอีกด้วย”

            คนทั้งสามลุกตามนายสมชายออกไปแล้ว บรรดาผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์ก็พากันทยอยเข้ามา เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงไม่มีเวลาขึ้นไปตอบจดหมายช่วงเพล

            เวลาตีสอง ท่านพระครูจำต้องพักการเขียนหนังสือเพราะต้องพักผ่อนหลับนอน ท่านรู้ว่าหากตรากตรำกับงานมากเกินไป สังขารร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ แม้เครื่องจักรก็ยังต้องหยุดพัก นับประสาอะไรกับคนซึ่งมีเลือดเนื้อและชีวิต

            ยังไม่ทันที่ท่านจะหลับ เสียงคุ้นหูก็ดังขึ้นว่า “จะบอกยาแก้โรคมะเร็งลำไส้ให้เอาไหม มะเร็งกะเพาะ มะเร็งลำไส้ ใช้ยานี้ได้”

          “ไปได้ตำรามาจากไหน” ท่านถามในใจ

            “ผีบอก” เสียงนั้นตอบ

            “ผีที่ไหน”

            “ที่ไหนก็อย่ารู้เลย แต่รับรองว่าหาย บอกคนหายมาหลายรายแล้ว”

            “แล้วรายนี้จะหายไหม ที่มาเมื่อตอนเพลน่ะ” ท่านทดสอบเสียงประหลาดว่าจะรู้จริงหรือไม่

            “หายพันเปอร์เซ็นต์ ก็ท่านจะเข้าผลสมาบัติช่วยเขาไม่ใช่หรือ”

            “ถ้ากินยาแล้วไม่ต้องช่วยไม่ได้หรือ”

            “รายอื่นได้ แต่รายนี้ไม่ได้”

            “ทำไมไม่ได้”

            “ก็ท่านลั่นวาจาไปแล้ว ถ้าไม่ทำตามนั้น ท่านก็เสียสัจจะน่ะซี”

            “งั้นก็บอกมา”

            “บอกแล้วต้องลุกขึ้นจดไว้นะ ไม่งั้นตอนเช้าลืมหมดไม่รู้ด้วย”

            “ต้องจดสิ อาตมาต้องจดไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นอย่างที่บอกจะได้ปรับ จะให้ปรับที่ใครล่ะ”

            “ปรับตัวเองนั่นแหละ เอาละนะ จะบอกละ จำให้แม่น ๆ นะ ยาแก้โรคมะเร็งที่ว่านี้ก็คือ ใช้กล้วยน้ำว้าดิบมาหั่นตามขวาง หั่นทั้งเปลือกนะ จำได้หรือเปล่า กล้วยน้ำว้านะ กล้วยอื่นไม่ได้ แล้วก็ต้องดิบ ๆ สุกไม่ได้อีกเหมือนกัน ไม่ต้องปอกเปลือก นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จ้างร้ายขายยาบดให้ละเอียด เวลาจะกิน ให้ชงกับน้ำร้อนเหมือนชงชา ดื่มวันละหลาย ๆ ครั้ง ยิ่งมากครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เอาละลุกขึ้นไปจดได้แล้ว”

          “จะไปแล้วหรือ อยู่คุยกันก่อนซี” เมื่อไม่มีเสียงตอบ ท่านจึงลุกขึ้นมาจด เสร็จแล้วจึงจำวัด

            วันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดกับนายสมชายและนายขุนทองว่า

            “ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ฉันจะงดรับแขกสามวัน”

            “หลวงพ่อจะไปไหนหรือครับ” นายสมชายถาม

            “จะเข้าผลสมาบัติ ให้เธอยายไปอยู่กับพระบัวเฮียวชั่วคราว แล้วใส่กุญแจขังฉันไว้ข้างบน ห้ามเยี่ยมห้ามประกัน จนกว่าจะครบสามวัน”

            “แล้วถ้ามีแขกมาหาล่ะฮะ” หลานชายถาม

            “ก็บอกไปตามนี้ อย่าลืมนะ ห้ามใครขึ้นไปรบกวนเป็นอันขาด ไม่ว่ากรณีใด”

            “แล้วถ้าเกิดไฟไหม้ล่ะฮะหลวงลุง” หลานชายเป็นห่วง แต่กลับถูกนายสมชายตำหนิติเตียน

            “นั่นปากหรือ ที่พูดน่ะปากหรือ”

            “ถ้าไม่ใช่ปากแล้วจะเอาอะไรพูดล่ะ พี่นี่ถามแปลก หรือว่าพี่เอาตูดพูดได้” นายขุนทองย้อน

            “นี่พอที ๆ อย่ามาทะเลาะกันต่อหน้าต่อตาข้า” ท่านพระครูปราม

            “ก็เขามาว่าหนูก่อนนี่ฮะ” หลานชายยังไม่ยอมหยุด

            “ก็ปากเอ็งมันดีนักนี่ พูดอะไรออกมาแต่ละทีฟังได้เสียเมื่อไหร่” นายสมชายก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน

            “เอาละ ๆ พอกันทั้งคู่นั่นแหละ ขุนทองเอ็งไม่ต้องห่วงข้าหรอก ถ้าไฟมันจะไหม้ก็ให้มันไหม้ เอ็งขนของของเอ็งออกไปก็แล้วกัน แล้วก็ไม่ใช่มัวแต่ขนของจนลืมขนตัวเองออกไปล่ะ” ท่านบอกหลานชาย

            “แต่หนูห่วงหลวงลุงนี่ฮะ” ชายหนุ่มว่า

            “เออน่า ไม่ต้องห่วงข้าหรอก รับรองข้าไม่ถูกไฟคลอกตายหรอกน่า ดวงข้าจะไม่ต้องตายด้วยไฟ อ้อ สมชายเธอจัดการปรุงยาให้โยมน้องชายเถ้าแก่ด้วยนะ” แล้วท่านจึงบอก “ยาผีบอก” แก่ศิษย์วัด

            “เอาละ เดี๋ยวไปจัดการตามที่สั่งก็แล้วกัน สมชายเธอเป็นคนเก็บลูกกุญแจไว้ เก็บให้ดี ๆ นะ ใครขอไม่ต้องให้บอกว่าฉันสั่ง” ท่านไว้ใจนายสมชายมากกว่า เพราะหลานชายนั้นหากได้ “สินบน” ก็ใจอ่อนใจเปลี้ยตามนิสัยของคนที่งกมาตั้งแต่ก่อนเกิด

            สังการเสร็จท่านก็ลงมือตอบจดหมาย คิดว่าตอบไปอีกสองสามฉบับก่อนลงรับแขกก็ยังดี เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงไม่เคยหายใจทิ้ง!

 

มีต่อ........๗๕

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 03, 2007, 09:24:41 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00075
๗๕...

            วันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็อธิษฐานจิต เข้าผลสมาบัติเป็นเวลาสามวันสามคืน และจะไปออกในวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๗

            ที่กุฏิชั้นล่าง บรรดาผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์ เมื่อได้รับการบอกเล่าจากนายขุนทองก็พากันกลับไปด้วยความผิดหวัง บางคนก็ตำหนิท่านในใจว่า “ไม่ทำหน้าที่ของพระ” ทั้งที่ความจริงแล้วพระก็มิได้มีหน้าที่รับแขกแต่ประการใด ในพระวินัยก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าพระมีหน้าที่รับแขก

            ส่วนคนที่ไม่มีความเกรงใจก็ถึงกับด่าให้นายขุนทองได้ยิน หลานชายท่านพระครูจึงต้องอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด เขาได้เห็น “ธาตุแท้” ของคนบางคน ที่พอไม่ได้ดังใจก็แสดงความหยาบคายร้ายกาจออกมา นึกถึงถ้อยคำของหลวงลุงที่มักจะพูดเสมอ ๆ ว่า “ผู้หญิงที่น่าเกลียดคือ ผู้หญิงที่ตามใจตัว ผู้ชายที่น่ากลัวคือผู้ชายที่ไม่เกรงใจคน” วันนี้เขาต้องผจญกับหญิงชายประเภทนี้หลายราย ถึงกับต้องท่องไว้ในใจว่า “อดทน อดกลั้น อดทน อดกลั้น”

            แต่ก็มิใช่ว่าจะมีแต่คนเลวร้ายไปเสียหมด เพราะคนดีมีคุณธรรมก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเมื่อพวกเขาได้ทราบเรื่องที่นายขุนทองบอกกล่าวต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ “สาธุหลวงพ่อท่านช่างมีเมตตาสูงเหลือเกิน ขอให้ท่านจงมีอายุยืนยาวเถิด เจ้าประคู้น”

            วันต่อมานายขุนทองก็ต้องปวดหัวหนักขึ้น เพราะคนที่มาขอพบหลวงลุงคือคุณหญิงปทุมทิพย์ คนที่แอบแช่งในใจว่า “ให้แล้วเอาคืน มะรืนนี้ตาย” แต่ก็เป็นการแช่งที่ไม่จริงจังอะไร คือมิได้ประกอบด้วยความอาฆาตมาดร้าย เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง คุณหญิงก็น่าจะตายตามคำแช่งของเขาไปแล้ว

            “นี่เธอ ฉันแอบสืบมาแล้ว ได้เรื่องแล้ว” คุณหญิงบอกเขาทันที่ที่พบหน้า

            “ได้เรื่องว่ายังไงฮะ” คนถามอยากรู้

            “ก็ได้เรื่องว่ามันแอบไปซื้อบ้านให้นังนั่นอยู่ แล้วตอนนี้ ตอนนี้...” คนเป็นคุณหญิงร้องไห้สะอึกสะอื้น

            “ตอนนี้เป็นไงฮะ” คนอยากรู้ซัก คุณหญิงใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา สั่งน้ำมูกอีกฟูดใหญ่ ๆ จึงตอบว่า

            “มันออกลูกแล้ว เห็นว่าไปออกที่โรงพยาบาลเอกชน ตอนที่เธอเห็นมันคราวนั้นน่ะ มันท้องได้สามเดือนแล้ว” คนเล่าร้องไห้โฮ ๆ อย่างไม่อายผีสางเทวดา

            “แล้วคุณหญิงจะทำยังไงล่ะฮะ” นายขุนทองถาม

            “ฉันก็จะมาถามหลวงพอว่ามันอยู่โรงพยาบาลอะไร” คนพูดไม่ได้บอกหรือว่าได้เตรียมขวดน้ำกรดใส่มาในกระเป๋าถือด้วย ถ้ารู้ตำแหน่งแห่งที่จะตามไปเอาน้ำกรดสาดหน้ามันทั้งแม่ทั้งลูกให้สมแค้น

            “หลวงลุงท่านเข้าผลสมาบัติสามวันครับ ช่วงนี้ห้ามไม่ให้ใครรบกวน มะรืนนี้ตอนเช้าจึงจะออก” หลานชายท่านพระครูรายงาน

            “ให้ฉันพบเดี๋ยวเดียวเอง ฉันจะถามท่านนิดเดียวแล้วก็จะกลับ ไม่อยู่รบกวนนานหรอก” คนที่ตามใจตัวเสียจนชินว่า

            “ไม่ได้หรอกฮะคุณหญิง หลวงลุงสั่งไว้แล้วว่าห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน” ชายหนุ่มยืนกราน

            “ทำไมท่านต้องเข้าสมาบัติด้วยล่ะ”

            “เพื่อช่วยเถ้าแก่คนหนึ่งน่ะฮะ เถ้าแก่แกเป็นมะเร็งลำไส้ จะต้องตายภายในสามเดือน หลวงลุงเลยจะช่วยต่ออายุให้

            “โอ๊ย เหลวไหลไร้สาระสิ้นดี เธอไปตามท่านแล้วกัน เพราะว่าเรื่องของฉันสำคัญกว่า ไปเรียนท่านว่า คุณหญิงปทุมทิพย์มาขอพบ”

          “ไม่ได้หรอกฮะคุณหญิง ไม่ได้จริง ๆ ฮะ หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดยังคงปฏิเสธ คุณหญิงจึงเปิดกระเป๋าถือ หยิบธนบัตรใบละร้อยสองใบออกมาจากกระเป๋าสตางค์ส่งให้ชายหนุ่ม นายขุนทองไม่ยอมรับเพราะกลัวคนให้จะเอาคืนเหมือนคราวที่แล้ว หากก็พูดเสียงอ่อนลงว่า “กุญแจไม่ได้อยู่ที่หนูหรอกฮะ”

            “แล้วอยู่ที่ใครล่ะ” คุณหญิงถามอย่างหงุดหงิด

            “อยู่ที่พี่สมชายฮะ”

            “งั้นก็ไปเอามา บอกว่าคุณหญิงปทุมทิพย์สั่ง” คนเป็นคุณหญิงบัญชา ลืมไปว่าที่นี่เป็นวัด ไม่ใช่บ้านของเธอเอง

            “เขาไม่ให้หรอกฮะ ยังไง ๆ ก็ไม่ให้” ชายหนุ่มบอกอย่างรู้นิสัยของ “ลูกพี่”

            “ไม่ให้ก็ให้มันรู้ไป มันอยู่ที่ไหนไปตามมาพบฉันหน่อย” คนเป็นคุณหญิงแสดงอำนาจ และเรียกศิษย์วัดว่า “มัน”

            “หนูตามให้ได้ฮะ แต่เขาจะมาหรือไม่มาหนูไม่ทราบ แล้วก็บังคับเขาไม่ได้ด้วยฮะ” ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปตามนายสมชายที่กุฏิพระบัวเฮียว เมื่อเขาลุกออกไป ที่กุฎิท่านพระครูจึงมีคุณหญิงนั่งอยู่เพียงผู้เดียว

            “ท่านพระครูอยู่หรือเปล่าครับ” ชายผู้หนึ่งเข้ามาถาม เขามากับสตรีผู้หนึ่ง อายุประมาณยี่สิบเศษ

            “อยู่ แต่ท่านไม่ลงรับแขก” คุณหญิงบอก รู้สึกขัดเคืองที่ชายหญิงคู่นี้ไม่รู้ว่าเธอเป็นคุณหญิง ความที่อยากจะแสดงตัวจึงถามเขาว่า

            “เธอสองคนไม่เคยดูทีวีหรือไง หรือว่าที่บ้านไม่มีทีวี” ถามอย่างเหยียด ๆ บุรุษที่มากับคู่หมั้นสาวรู้สึกไม่พอใจกับหญิงสูงอายุคนนี้เรียกเขาว่า “เธอ” ราวกับว่าเขาเป็นคนขับรถของหล่อน ตัวเขาเพิ่งจบด็อกเตอร์มาจากอังกฤษแล้วก็เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย คู่หมั้นของเขาก็จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่มาหาท่านพระครู ก็เพื่อจะให้ท่านหาฤกษ์แต่งงานให้

            “มีครับ ที่บ้านผมมีทีวีสีด้วย ซื้อมาจากอังกฤษ” ด็อกเตอร์หนุ่มถือโอกาสคุยทับ จะมีสักกี่คนกันเชียวที่มีโทรทัศน์สีดู

            “แล้วพวกเธอไม่เคยเห็นฉันในทีวีหรือไง” เธอถามอีก ก็พยายามติดตามรัฐมนตรีไปทุกงานเพื่อจะให้ใคร ๆ ได้รู้จัก โดยเฉพาะเวลาออกทีวี “ไม่เคยครับ ผมกับคู่หมั้นเพิ่งกลับจากอังกฤษ เมื่อเร็ว ๆ นี้ แล้วก็กำลังยุ่งเรื่องเตรียมการแต่งงาน เลยไม่มีเวลาดูทีวี”

            “อ๋อ” ได้ยินว่าคนคู่นี้เพิ่งกลับจากอังกฤษ คุณหญิงจึงถือโอกาสคุยบ้าง” ฉันก็เคยไปอังกฤษหลายครั้ง ไปเยี่ยมลูก เคยได้ยินชื่อคุณหญิงปทุมทิพย์ ภรรยาท่านรัฐมนตรีผดุงเดชหรือเปล่า ฉันนี่แหละ” เธอคิดว่าคนทั้งสองจะต้อง  ยินดีปรีดาที่ได้รู้จักคุณหญิง หากก็ต้องผิดหวัง เมื่อฝ่ายนั้นพูดว่า

            “ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลยครับ โดยเฉพาะรัฐมนตรีเมืองไทย เราเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยเสียจนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร” ฟังแล้วคุณหญิงอยากจะร้องกรี๊ด พอดีกับนายขุนทองเดินเข้ามา

            “พี่สมชายไม่อยู่หรอกฮะคุณหญิง หลวงพี่บอกว่าไปซื้อของที่ตลาดกับแม่ครัวตั้งแต่เช้า หนูก็ลืมสังเกตว่ารถไม่อยู่”

            “แล้วกุญแจล่ะ มันฝากกุญแจไว้หรือเปล่า”

            “เปล่าครับ เขาเอาไปด้วย”

            “แหม ร้ายจริง ๆ แล้วนี่ฉันจะต้องรออีกกี่ชั่วโมงกันนี่”

            “คุณหญิงค่อยมาวันอื่นดีไหมฮะ มาวันที่ ๑๑ ก็ได้ ท่านกำหนดออกจากสมาบัติวันนั้น”

            “โอ๊ย ฉันรออีกไม่ไหวแล้ว เอาอย่างนี้แล้วกัน เธอรู้จักพระเกจิอาจารย์ดัง ๆ ของจังหวัดนี้หรือเปล่า ฉันจะได้ไปหา ให้ท่านช่วยดูให้ยิ่งเป็นพระอรหันต์ก็ยิ่งดี” นายขุนทองแอบเถียงในใจว่า

            “โอ๊ย ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์จริง ท่านก็ไม่มาสนใจเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ อย่างนี้หรอกคุณหญิง” แต่ปากเขากลับพูดว่า “หนูไม่รู้จักหรอกฮะ”

            “อะไร เรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้ เธอนี่แย่จริง งั้นฉันไปถามคนขับรถของฉันก็ได้ ไม่น่าเสียเวลามาเลยกู” เธอบ่น คนเป็นด็อกเตอร์กับคนจบปริญญาโทรู้สึกสังเวชใจใน “กายกรรม” และ “วจีกรรม” ของคนเป็นคุณหญิง หากก็มิได้พูดอะไรออกมา นายขุนทองเสียอีกที่ด่าไล่หลังว่า “อีคนเป็นคุณหญิงเพราะผัว” แล้วอธิบายให้หญิงชายคู่นั้นฟังว่า

            “พี่รู้ไหม ยายคุณหญิงนี่อาศัยบารมีผัวถึงได้เป็นคุณหญิง ถ้าผัวไม่เป็นรัฐมนตรีมีหรือจะได้เป็น จริงไหมพี่” คนฟังเพียงแต่ยิ้ม ๆ หากไม่ยอมออกความเห็น คนพูดจึงเปลี่ยนเรื่องถาม

            “พี่มีธุระมาหาหลวงลุงหรือฮะ”

            “ครับ ผมจะมาขอให้ท่านหาฤกษ์แต่งงาน” ฝ่ายชายบอก

            “ท่านงดรับแขกสามวันฮะ วันที่ ๑๑ พี่มาใหม่ก็แล้วกัน” คนพูดคาดว่าคงจะได้รับการต่อว่าต่อขานอีก เช่นเดียวกับรายอื่น ๆ หากก็ต้องผิดคาดเพราะเขาพูดว่า

            “งั้นวันที่ ๑๑ ผมจะมาใหม่นะครับ” พูดจบก็ลุกออกไป ไม่ถามเสียด้วยซ้ำว่าเหตุใดท่านพระครูจึงไม่ลงรับแขก

            “สาธุ ขอให้คนที่มาหาหลวงลุงน่ารักเหมือนคนคู่นี้ทุก ๆ คนเถิด เจ้าประคู้น” นายขุนทองแอบตั้งจิตอธิษฐาน

            ครู่หนึ่งเขาก็ได้ยินเสียงร้องกรี๊ด ๆ ดังมาจากลานจอดรถ เสียงนั้นแหลมลึกอย่างประหลาด ชายหนุ่มจึงวิ่งไปยังที่มาของเสียง แล้วก็พบคุณหญิงปทุมทิพย์ยืนเต้นเร่า ๆ ส่งเสียงกรี๊ด ๆ อยู่ข้างรถเบ๊นซ์ ชายวัยกลางคนแต่งชุดทหารยศพันตรียืนงงงันอยู่

            “เกิดอะไรขึ้นหรือฮะ” เขาถามนายทหาร

            “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เห็นคุณหญิงท่านเดินผ่านต้นปีบมา ผมก็เตรียมลงมาเปิดประตูให้ท่าน แล้วท่านก็มายืนร้องกรี๊ด ๆ อย่างที่คุณเห็นนี่แหละ”

            “คุณหญิงฮะ คุณหญิง” ผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง เข้าไปจับตัวคุณหญิงเขย่าแรง ๆ หมายจะให้เธอรู้สึกตัว

            “ว้าย อย่ามาถูกต้องตัวข้านะ” เสียงแหลมกรี๊ดใส่ นายขุนทองรู้ทันทีว่านั่นมิใช่คุณหญิง แต่จะเป็นใครนั้นต้องถาม

            “ข้าน่ะใครล่ะ แกเป็นใคร”

            “เป็นใครก็ช่างข้า อยากรู้จริง ๆ ก็ไม่ถามหลวงพ่อซี “วิญญาณ” ในร่างของคุณหญิงปทุมทิพย์ตอบ

            “บอกเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ ทำไมจะต้องถามหลวงพ่อ ท่านกำลังอยู่ในสมาบัติ จะถามได้ยังไง”

            “ก็เพราะอย่างนี้ซี ข้าถึงมาเข้านังคุณหญิง หมั่นไส้มันตั้งแต่วันนั้นแล้ว แต่ที่ไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงใจหลวงพ่อ” แขกเหรื่อที่ตั้งใจจะมาหาท่านพระครู เมื่อเดินผ่านลานจอดรถจึงพากันหยุดดู รวมทั้งด็อกเตอร์กับคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเดินไปที่รถของตน ประเดี๋ยวหนึ่ง บรรดาแม่ครัวก็ยกขบวนกันมานำหน้าด้วยนางบุญพา นางสาวนางบุญรับ

            “อะไรกันวะขุนทอง” นางถามหลานชายท่านพระครู

            “ไม่รู้เหมือนกัน ป้าดูเอาเองสิ” ชายหนุ่มบอก นางบุญพาจึงเข้าไปเขย่าตัวคุณหญิง พลางถามเสียงอ่อนหวาน

            “คุณหญิงเจ้าขา เป็นอะไรไปเจ้าคะ “ร่าง” ของคุณหญิงสะบัดอย่างแสนจะรังเกียจสัมผัสของฝ่ายนั้น

            “อย่ามาจับข้านะ นังคนสกปรก”

            “อิฉันอาบน้ำแล้วเจ้าค่ะ อาบเสร็จก็มานี่แหละ” นางบุญพาตอบ ครั้นสบตากับคุณหญิง ก็ถึงกับขนลุกซู่ เพราะคุณหญิงจ้องนางตาไม่กระพริบ รู้ได้ทันที่ว่านั่นมิใช่คุณหญิงแต่เป็น “ผี” จึงก้มกราบปะหลก ๆ “โอ๊ยกลัว...กลัวแล้วจ้ะ อย่าถือสาหาความอะไรกะฉันเลย ไปที่ชอบ ๆ เถอะ”

            “ข้าไม่ไป ข้าจะอยู่ช่วยหลวงพ่อดูแลวัด แกนังคนสกปรก คนอย่างแกต่อให้อาบน้ำอีกสักสิบตุ่มก็ไม่สะอาด เพราความสกปรกมันอยู่ที่ใจแก มันแนบเนื่องอยู่ในกาย ในใจของแก ข้ารู้ข้าเห็นมานานแล้ว แต่ที่ไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจหลวงพ่อ ขอให้รู้ไว้ว่าข้ารอโอกาสนี้มานานแล้ว”

            “ได้โปรดเถอะจ้ะ อย่าทำฉันเลย ฉันไม่เคยทำผิดคิดร้ายใคร” คราวนี้ “วิญญาณ” ในร่างคุณหญิงเท้าสะเอวด้วยมือซ้าย ส่วนมือขวาชี้หน้าคนที่กำลังก้มกราบปะหลก ๆ กราบจนหยุดไม่ได้

            “หนอยแน่ะ พูดออกมาได้ว่าไม่เคยทำผิดคิดร้าย คนอย่างแกมันชั่วแล้วก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองชั่ว ชั่วทั้งกาย วาจา ใจ นึกว่าข้าไม่รู้หรือ แกมาทำครัวช่วยหลวงพ่อน่ะ แกบริสุทธ์ใจหรือก็เปล่า เวลาพวกแม่ครัวเขาเผลอ แกก็แอบเอาหอมกระเทียมบ้าง มีดบ้าง หมูบ้าง ปลาเค็มบ้าง ใส่พกกลับไปบ้าน ถึงคนอื่น ๆ จะไม่เห็น แต่ข้าก็เห็น” บรรดาแม่ครัวพากันจ้องหน้านางบุญพา แล้วถามเป็นเสียงเดียวกัน

            “จริงหรือ” นางกำลังจะปฏิเสธ “คุณหญิง” ก็ขู่ว่า

            “ถ้าพูดไม่จริง แม่จะหักคอทิ้งเดี๋ยวนี้แหละ”

            “โอ๊ย กลัวแล้วจ้ะกลัวแล้ว อย่าทำลูกช้างเลย หลวงพ่อช่วยลูกช้างด้วย” นางบุญพาร้องเสียงหลง นายสมชายกลับจากจ่ายตลาดกับหัวหน้าแม่ครัว เห็นคนยืนมุงอยู่ที่ลานจอดรถ จึงพูดกับหัวหน้าแม่คร้วว่า

            “เกิดอะไรขึ้นไม่รู้นะป้านะ หลวงพ่อท่านก็มาตัดสินให้ไม่ได้เสียด้วย ยังไง ๆ ผมก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญาจนถึงที่สุด” เขานำรถเข้ามาจอดใกล้ ๆ แล้วชวนหัวหน้าแม่ครัวลงไปดู นายขุนทองรีบวิ่งมารายงาน

            “คุณหญิงถูกวิญญาณเข้าสิงแน่ะพี่ ด่ายายบุญพาใหญ่เลย” ศิษย์วัดดูประเดี๋ยวเดียวก็รู้ว่า นายขุนทองไม่ได้พูดเล่น จากประสบการณ์ที่เคยตามท่านพระครูไป “จับผี” หลายครั้ง จึงรู้ว่าผีที่มาเข้าคุณหญิงไม่ใช่ผีปลอม

            “ไปตามหลวงพี่บัวเฮียวมาด่วน” นายขุนทองรีบวิ่งไปยังกุฏิของพระบัวเฮียว เห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่จึงว่า

            “ขออภัยนะฮะหลวงพี่ คุณหญิงถูกผีเข้าฮะ หลวงพี่ช่วยไปดูหน่อย” ภิกษุวัยเลยเบญจเพสพักการปฏิบัติไว้ชั่วคราว แล้วตามนายขุนทองไป

            เมื่อท่านไปถึง คนที่มุงดูอยู่พากันหลีกทางให้ท่านเข้าไปในวง “คุณหญิง” ก้มลงกราบสามครั้ง กราบอย่างสวยงามที่สุดเท่าที่นายสมชายเคยเห็น “ผีกราบพระก็เป็นด้วย กราบได้สวยกว่าคนเสียอีกแน่ะ” ศิษย์วัดคิดในใจ กราบพระบัวเฮียวแล้ว “คุณหญิง” ก็รายงานด้วยเสียงที่แสนจะไพเราะ

            “ดิฉันต้องขอกราบประทานโทษพระคุณเจ้านะเจ้าคะที่บังอาจมาก้าวก่ายเรื่องของมนุษย์ ดิฉันทนไม่ไหวจริง ๆ เจ้าค่ะ”

            “โยมมาจากไหนล่ะ” ภิกษุเชื้อสายญวนถาม

          “ดิฉันมากับเสานั่นเจ้าค่ะ เสาสีดำที่พิงอยู่ใต้ต้นปีบ”

            “การมาของโยมมีจุดประสงค์อะไรหรือ”

            “ดิฉันจะมาช่วยหลวงพ่อเจ้าค่ะ มาช่วยดูแลทำความสะอาดวัด”

            “แล้วทำไมต้องมาเข้าคุณหญิงเขาด้วยล่ะ ไม่น่าจะทำอย่างนี้” ภิกษุหนุ่มพูดเสียงตำหนิ

            “ก็อยากจะสั่งสอนเจ้าค่ะ สั่งสอนทั้งคุณหญิงและยายบุญพา”

            “แล้วสั่งสอนเสร็จหรือยัง”

            “เสร็จแล้วเจ้าค่ะ ดิฉันจะไปเดี๋ยวนี้แหละเจ้าค่ะ” พูดจบก็ก้มลงกราบสามครั้ง แต่ครั้งที่สามไม่ยอมเงย คุณหญิงปทุมทิพย์ฟุบอยู่ตรงนั้นในท่ากราบ

            “เอ้าโยมแม่ครัวช่วยนำคุณหญิงไปกุฏิหลวงพ่อหน่อย” บรรดาแม่ครัวยกเว้นนางบุญพา ต่างช่วยกันหามคุณหญิงด้วยความทุลักทุเล เพราะคนถูกหามคงจะน้ำหนักเจ็ดสิบกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย!

            ช่วยกันเยียวยาอยู่สักครู่ คุณหญิงก็รู้สึกตัว

            “นี่ฉันมาอยู่ที่นี่ได้ยังไง” นายทหารผู้ทำหน้าที่ขับรถพามา จึงเล่าเหตุการณ์ให้เธอฟัง เล่าจบผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้น ต่างพากันเหลียวหาทางบุญพา หากไม่มีผู้ใด ได้เห็นแม้แต่เงาของนาง! ผู้หญิงคนนั้นหนีไปแล้ว นางจะไม่กลับมาที่วัดนี้อีก

            เห็นหน้านายสมชาย คุณหญิงก็เริ่มแสดงอำนาจบารมี

            “นี่เธอ ช่วยเปิดประตูให้ฉันหน่อย ฉันจะขึ้นไปพบหลวงพ่อ” เธอออกคำสั่ง

            “ไม่ได้หรอกครับคุณหญิง ท่านสั่งผมไว้เลยว่าห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

            “นั่นเพราะท่านไม่ทราบว่าฉันจะมาน่ะซี เอาเถอะไม่ต้องพูดมาก เปิดประตูให้ฉันก็แล้วกัน อะไรเกิดขึ้นฉันขอรับผิดชอบเอง”

            “ไม่ได้หรอกครับคุณหญิง ยังไง ๆ ผมก็เปิดให้ไม่ได้” ชายหนุ่มยืนกราน

            “นี่เธอลืมไปแล้วหรือว่าฉันเป็นใคร” คุณหญิงปทุมทิพย์พูดเสียงกร้าว

            “ผมไม่ลืมหรอกครับ ไม่ลืมว่าคุณหญิงเป็นภรรยาของท่านรัฐมนตรีผดุงเดช” ในใจนั้นอดไม่ได้ที่จะเยาะเย้ย “อดีตภรรยา ส่วนภรรยาคนปัจจุบันเป็นเด็กอายุสิบหก”

            “ก็ในเมื่อรู้แล้วทำไมจึงกล้าขัดคำสั่งของฉัน” นายสมชายรู้สึกสมเพชคนเป็นคุณหญิงเสียนัก ผู้หญิงที่หลงยึดหลงติดกับหัวโขน! ชายหนุ่มระงับความขัดข้องหมองใจเอาไว้ แล้วพูดด้วยเสียงที่เป็นปกติว่า

            “ขอประทานโทษนะครับคุณหญิง ผมเปิดให้ไม่ได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภรรยารัฐมนตรีหรือ แม้กระทั่งภรรยานายกรัฐมนตรี ผมก็ไม่สามารถเปิดให้ได้ คุณหญิงค่อยมาวันอื่นเถิดครับ” คนเป็นคุณหญิงอยากจะร้องกรี๊ด หากก็ต้องระงับอารมณ์เอาไว้

            เมื่อเห็นว่าไม่สามารถจะทำให้ชายหนุ่มยินยอมได้ คุณหญิงจึงคิดจะขอยืมมือนายทหารวัยกลางคน จึงพูดขึ้นว่า

            “อันที่จริงฉันไม่น่าลดตัวลงมาพูดกับเธอหรอกนะ ควรจะเป็นหน้าที่ของคนขับรถของฉันมากกว่า บุญช่วยเธอจัดการให้ฉันที จัดการให้เขาทำตามคำสั่งของฉันด้วย แม้จะต้องใช้กำลังเธอก็ต้องทำ” เธอยื่นคำขาด

            “จะเอาผมไปฆ่าไปแกง ผมก็ไม่ยอมทำตามคำสั่งของคุณหญิง ถ้าผู้พันอยากได้ลูกกุญแจก็ข้ามศพผมไปก่อน” ศิษย์วัดพูดอย่างเด็ดเดี่ยว พันตรีบุญช่วยรู้สึกลำบากใจ เขายอมมาทำหน้าที่เป็นคนขับรถให้คุณหญิงก็เพราะหวังจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพันโท พันเอก กระทั่งถึงนายพล นี่ก็ไต่เต้ามาตั้งแต่เป็นนายสิบ อุตส่าห์ตามใจผู้หญิงอ้วนที่เอาแต่ใจตัวเองไปเสียทุกเรื่อง เบื่อจนสุดเบื่อหน่ายจนสุดหน่าย คิดว่าไปรับอาสาเป็นคนขับรถให้เมียร้อยรัฐมนตรียังจะดีเสียกว่า มีทางก้าวหน้ามากกว่านี้แยะ เด็กสาวคนนั้นคงจะไม่จู้จี้ขี้บ่นเหมือนยายแก่หมูตอนคนนี้

            “นั่งเซ่ออยู่ทำไม จัดการตามที่ฉันสั่งเดี๋ยวนี้”

            “ถ้าผมไม่ทำล่ะครับ” คนไต่เต้ามาจากนายสิบตัดสินใจแล้ว “เป็นไงเป็นกัน”

            “หา เธอพูดอะไรนะ” คุณหญิงแผดเสียงลั่นกุฏิ ดีที่ว่าพวกแม่ครัวพากันลุกออกไปทำหน้าที่ของตนแล้ว หลังจากที่มองหานางบุญพาไม่เห็น

            “คุณหญิงฟังไม่ถนัดหรือครับ ถ้างั้นฟังอีกครั้งนะครับ ผมจะพูดช้า ๆ ชัด ๆ” เขารวบรวมความกล้าอีกครั้ง แล้วพูดด้วยเสียงที่สั่นนิด ๆ ว่า “ผมไม่สามารถทำตามคำที่คุณหญิงสั่งได้หรอกครับ”

            “ดีละ งั้นฉันจะถอดยศเธอกลับไปเป็นนายสิบอย่างเก่า” คุณหญิงปทุมทิพย์ขู่

            “ถอดก็ถอดซีครับ แล้วผมจะไปขอให้ท่านรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ใหม่ก็ได้ ไปรับอาสาขับรถให้เมียน้อยของท่าน ขี้คร้านจะได้เป็นถึงนายพล!”     

 

มีต่อ........๗๖

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 03, 2007, 09:25:24 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00076
๗๖...

            เวลาหกนาฬิกา ของเช้าวันที่ ๑๑ สิงหาคม ท่านพระครูออกจากผลสมาบัติดังที่ได้อธิษฐานจิตไว้ตอนก่อนจะเข้า ที่ต้องอธิษฐานจิตให้ออกตอนเช้าก็เพื่อจะได้ฉันภัตตาหารหลังจากที่ไม่ได้ฉันมาสามวันเต็ม ๆ เพราะนั่งขัดสมาธิอยู่กับที่เป็นเวลา ๗๒ ชั่วโมงติดต่อกัน

            เนื่องจากการเข้าสมาบัติในครั้งนี้มิได้เป็นไปอย่างปกติสามัญ หากต้องการจะต่ออายุให้เถ้าแก่บ๊ก ดังนั้นอาการที่ปรากฏหลังออกจากสมาบัติจึงผิดไปจากที่ได้เคยเป็น กล่าวคือแทนที่จะได้เสวยสุขเวทนาอันเกิดแต่สมาธิ กลับต้องมาเสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ถึงกับต้องกำหนด “ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ” อยู่ชั่วขณะ แล้วจึงกำหนดรู้ว่าทุกขเวทนาที่กำลังได้รับอยู่นั้น เป็นการถ่ายเทโรคภัยไข้เจ็บในตัวเถ้าแก่บ๊กมาสู่ตัวท่าน

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกปวดท้องเป็นกำลัง ปวดท้องและคลื่นไส้อยากจะอาเจียน ท่านหยิบกระโถนมาวางใกล้ตัวและก้มหน้าอาเจียนโอ้ก ๆ สิ่งที่ออกจากปากมีทั้งเสมหะ น้ำลาย น้ำหนอง และตามด้วยโลหิตสด ๆ สีแดงฉาน ถ่ายเทของเสียออกมาแล้วรู้สึกสบายขึ้น หากก็เพียงชั่วขณะ หลังจากนั้นก็รู้สึกปั่นป่วนภายในท้องอีก คราวนี้ไม่มีทีท่าว่าจะพุ่งขึ้นทางลำคอแล้วออกทางปาก แต่กลับพุ่งลงไปทางเบื้องต่ำ

            ภิกษุวัยห้าสิบค่อย ๆ พยุงกายลุกขึ้น ตั้งสติให้มั่นคง มือยึดราวบันได เท้าก้าวลงช้า ๆ อย่างมีสติ พยายามกลั้นสิ่งที่อยู่ภายในท้องมิให้ไหลเลอะออกมาก่อนที่จะถึงห้องน้ำ

            ท่านใช้เวลาอยู่ในห้องสุขายี่สิบนาที เป็นยี่สิบนาทีแห่งความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะไม่เพียงแต่จะถ่ายเป็นอุจจาระปะปนกับมูกเลือดออกมาเท่านั้น หากลมได้ตีกลับขึ้นเบื้องบน ผ่านลำคอออกมาทางปากอีกทางหนึ่ง

            ท่านรู้สึกเหนื่อยอ่อน หมดเรี่ยวแรงเหมือนว่าจะต้องดับดิ้นสิ้นชีวิตอยู่ภายในห้องแคบ ๆ นั้น แต่แม้จะรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงสักปานใดก็มีสติระลึกรู้ รู้ว่าท่านจะต้องไม่สิ้นชีวิตอยู่ในห้องน้ำนี้ เพราะ “กฎแห่งกรรม” บอกว่าท่านจะต้องเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถคว่ำ

            เมื่อโรคภัยไข้เจ็บที่รับมาจากเถ้าแก่บ๊กถูกถ่ายเทออกมาภายนอกจนหมดสิ้นแล้ว ท่านรู้สึกเบาเนื้อเบาตัวและสบายขึ้นเป็นลำดับ จึงจัดการสรงน้ำชำระร่างกายจนสะอาดสะอ้าน เสร็จแล้วจึงเดินขึ้นชั้นบนเพื่อรอฉันภัตตาหาร เสียงท้องร้องจ๊อก ๆ เพราะไม่มีอาหารอยู่ในกระเพาะเลย “รู้แล้วน่าว่าเอ็งหิว ข้าเองก็อดมาสามวันสามคืนเท่ากับเอ็งนั่นแหละ” ท่านพูดกับท้อง

            ครู่ใหญ่ ๆ นายสมชายกับนายขุนทอง ก็ช่วยกันลำเลียงอาหารและน้ำร้อนน้ำชาขึ้นมาถวาย เห็นท่าทางอิดโรยของท่านเจ้าของกุฏิ คนทั้งสองต่างพากันตกใจ

            “ทำไมหลวงพ่อดูซีดเซียว ไม่เอิบอิ่มเหมือนทุกครั้งที่ออกจากสมาบัติเลยนะครับ” ศิษย์วัดว่า

            “หลวงลุงไม่สบายหรือเปล่าฮะ” หลานชายถาม ท่านพระครูยอมรับว่า

            “หนักที่สุดในชีวิต เธอรู้ไหมสมชาย การช่วยครั้งนี้ฉันเกือบจะต้องเอาชีวิตของตัวเองเข้าแลก ถ้ากฎแห่งกรรมไม่บอกไว้ก่อนว่าฉันจะต้องตายเพราะอะไรแล้วละก็ ฉันคงจะตายไปแล้ว เธอจำไว้นะ เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่เหนือฟ้าขึ้นไปก็ยังมีกฎแห่งกรรม”

            จัดอาหารเสร็จแล้วคนทั้งสองจึงช่วยกันประเคน ท่านเจ้าของกุฏิ ฉันได้สักสองสามช้อนก็อิ่ม เพราะรู้สึกอ่อนเพลียจนฉันไม่ลง จึงได้แต่ดื่ม “น้ำชา” ที่รสชาติทั้งเฝื่อนทั้งขม

            “ฉันเสร็จ หลวงพ่อพักผ่อนสักหน่อยดีกว่าครับ อย่าเพิ่งลงรับแขกตอนนี้เลย” ศิษย์วัดขอร้อง วันนี้แขกมากันแน่นกุฏิ เพราะหยุดกิจการไปถึงสามวัน บางคนก็มารอตั้งแต่ตีสี่ นับวันคนก็ยิ่งมีทุกข์กันมากขึ้น ความเจริญทางวัตถุไม่ช่วยให้ความทุกข์ของพวกเขาลดลงแต่ประการใด

            “ขืนฉันพักผ่อน คนจะต้องขึ้นมาพังกุฏิฉันแน่ เอาละ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ฉันจะลงไปเดี๋ยวนี้แหละ ยังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร ถือเสียว่าเป็นการชดเชยช่วงที่หยุด”

            คนที่มาตั้งแต่ตีสี่เป็นบุรุษวัยห้าสิบแปด เห็นท่านพระครูลงมาก็แทบจะวิ่งเข้าไปกอด “หลวงพ่อครับช่วยผมด้วย” ประโยคแรกที่เขาเอื้อนเอ่ยก็คล้าย ๆ กันกับของคนอื่น ๆ

            “โยมจะให้ช่วยอะไรล่ะ” ประโยคแรกของท่านพระครูที่พูดกับเขา ก็เหมือนกับพูดกับคนอื่น ๆ เช่นกัน

            “แม่เด็กหนีไปซะแล้ว หลวงพ่อช่วยตามให้หน่อย”

            “หนีไปไหนล่ะ”

            “ไม่ทราบครับ ถึงต้องมาถามหลวงพ่อไง”

            “อ้าว ก็นอนอยู่ด้วยกันยังไม่ทราบ แล้วอาตมาไม่ได้ไปนอนกะแม่เด็กเขา จะไปทราบได้ยังไงล่ะ” ท่านย้อนคนเมียหนี

            “แต่หลวงพ่อต้องทราบ เพราะใคร ๆ เขาก็มาหาหลวงพ่อกันทั้งนั้นเวลาที่เมียหนี หลวงพ่อตามกลับได้ทุกรายเลยด้วย” คนอายุห้าสิบแปดว่า

            “แต่ตอไปนี้อาตมาว่า จะเลิกตามให้แล้ว พระไม่ได้มีหน้าที่มาตามเมียให้ชาวบ้าน เมียใครก็ตามกันเอาเอง” ท่านแกล้งปฏิเสธ

            “โธ่หลวงพ่อ ช่วยผมสักครั้งเถอะครับ ผมกราบละ” เขาก้มลงกราบหนึ่งครั้ง

            “ไปทำยังไงเข้าล่ะ เขาถึงได้หนี”

            “ไม่ได้ทำอะไรครับ” คนตอบไม่พูดความจริง

            “ไม่ทำแล้วเขาจะหนีทำไมล่ะ ก็อยู่กันมาจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร แล้วทำไมถึงมาหนีไปตอนแก่ล่ะ บอกมาตรง ๆ ดีกว่าว่าไปทำอะไรเขา ถ้าโกหกไม่ช่วยนะเอ้า” ท่านเจ้าของกุฏิขู่ คนถือไม้เท้ายอดทองจึงพูดเสียงอ่อย ๆ

            “ก็แค่เอาฝาโอ่งทุบหัวทีเดียวเอง”

            “ฝาโอ่งนั่นทำด้วยอะไร อะลูมิเนียม หรือไม้”

            “ไม้ครับหลวงพ่อ ไม้ประดู่” รายนี้ท่านพระครูไม่จำเป็นต้องใช้ “เห็นหนอ” ช่วยตรวจสอบหรือช่วยตาม เพราะเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สตรีวัยห้าสิบเศษร้องไห้ร้องห่มมาหาพร้อมก้มให้ดูศีรษะซึ่งโนเป็นลูกมะกรูด

            “หลวงพ่อดูซีคะ พ่อบ้านเขาใช้ฝาโอ่งฟาดหัวอีฉัน ฝ่าโอ่งทำด้วยไม้ประดู่หนักห้ากิโล!”

          “ไปทำอะไรให้เขาโกรธล่ะ”

          “เขาหาว่าอีฉันทำกับข้าวไม่อร่อยค่ะ แหม! อยู่กันมาจนมีเขยมีสะใภ้แล้ว เกิดจะมาติว่ากับข้าวไม่อร่อย อีฉันไม่กลับไปอยู่กะมันแล้ว มาอยู่วัดป่ามะม่วงดีกว่า” แล้วนางก็อยู่ที่วัดนี้มาตั้งแต่วันนั้น

            รู้ต้นสายปลายเหตุแล้ว ท่านเจ้าของกุฏิจึงถามบุรุษวัยใกล้หกสิบว่า “เอายังงี้ไหมเล่า อาตมาจะตามให้ แต่โยมจะต้องกราบขอขมาเขา กราบงาม ๆ ตอหน้าอาตมาด้วย ทำได้ไหมเล่า ถ้าไม่ได้ก็ไม่ตามให้” คนเมียหนีตอบทันทีว่า

            “ผมทำไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ เรื่องอะไรจะไปกราบผู้หญิง ขนาดแม่ผมแท้ ๆ ยังไม่เคยกราบ นี่หลวงพ่อจะให้มากราบเมีย” เขาต่อว่า

            “ไม่เป็นไร กราบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาละ ใครมีปัญหาอะไรก็ว่าไป” ท่านถามรายต่อไปโดยไม่สนใจคนอายุห้าสิบแปดที่นั่งคอตกอยู่หน้าอาสนะ

            ทหารยศพลตรีเข้ามากราบแล้วถามว่า “หลวงพ่อจำผมได้หรือเปล่าครับ ที่เคยมาบวชอยู่วัดนี้เมื่อปี ๒๕๐๐”

            “จำไม่ได้หรอกโยม ตั้งเกือบยี่สิบปีแล้ว ใครจะไปจำได้” ท่านพระครูพูดตรง ๆ นายพลตรีจึงส่งซองจดหมายเก่า ๆ ให้ท่านหนึ่งซอง ท่านเจ้าของกุฏิเปิดซองออกก็พบข้อความที่เขียนด้วยลายมือของท่านเอง กระดาษที่ใช้เขียนออกสีเหลือง เพราะความล่วงไปแห่งกาลเวลา ข้อความที่ปรากฏบนแผ่นกระดาษนั้นมีว่า

            “อาตมาขอบิณฑบาตนะโยม ขอให้เลิกประพฤติผิดศีลข้อสาม ถ้าเลิกไม่ได้ เวรกรรมจะไปตกที่ลูกสาวทั้งสามคนของโยม ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป ลงชื่อ พระครูเจริญ ฐิตธัมโม วัดป่ามะม่วง วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐”

            อ่านจบท่านเจ้าของกุฏิก็นึกถึงเรื่องราวแต่หนหลังได้ สมัยนั้นนายพลตรี มียศเป็นร้อยเอก ภรรยาเป็นทหารยศร้อยตรี มีลูกสาวสามคน ปี ๒๕๐๐ เขาได้ลาราชการมาบวชที่วัดนี้หนึ่งพรรษา บวชโดยมิได้มีศรัทธาแต่ประการใด มารดาขอให้บวชก็บวชไปอย่างนั้นเอง

            ระหว่างที่อยู่ในวัดก็ไม่ยอมปฏิบัติกรรมฐาน เพราะไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง และเพราะไม่เชื่อจึงก่อกรรมทำชั่วอย่างไม่สะทกสะท้าน ท่านเคยเตือนให้เลิกผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน เพราะก่อนมาบวชก็มีเรื่องอื้อฉาวคาวโลกีย์อยู่เป็นประจำ ครั้นมาบวชท่านขอบิณฑบาต เขาก็ไม่ยอมยกให้ ท่านจึงต้องเขียนข้อความข้างต้นให้เขาไว้ เพื่อสอนใจ คนเป็นนายพลกล่าวทั้งน้ำตาว่า

            “ผมเสียใจเหลือเกินครับ เสียใจที่ไม่เชื่อหลวงพ่อ สึกออกไปผมยังคงประพฤติระยำตำบอน เจ้าชู้ไม่เลือกลูกเขาเมียใคร เพราะไม่เชื่อหลวงพ่อ เพิ่งจะสำนึกเมื่อวานนี้เอง เลยชวนภรรยามาหาหลวงพ่อ คิดว่าหลวงพ่อต้องช่วยได้” ท่านเจ้าของกุฏิรู้ว่า เรื่องที่เขาจะพูดเป็นความลับจึงว่า

            “เชิญไปคุยกันข้างบนดีกว่า” ท่านลุกขึ้นแล้วพูดกับผู้ที่นั่งรอว่า “ขอตัวประเดี๋ยวนะ เดี๋ยวจะลงมาใหม่” พลตรีและภรรยาซึ่งขณะนี้มียศเป็นพันโทหญิง ลุกตามท่านเจ้าของกุฏิไปยังชั้นบน

            “เรื่องมันเป็นยังไง” ท่านพระครูถาม คนทั้งสองต่างกันร้องไห้ แล้วคนที่เป็นนายพลก็พูดขึ้นว่า

            “เวรกรรมเล่นงานผมแล้วครับหลวงพ่อ ลูกสามผมหนีออกจากบ้านทั้งสามคน ต่อมามีคนไปพบว่า พากันไปขายตัวอยู่ที่หาดใหญ่ ผมอับอายเหลือเกินครับหลวงพ่อ เสียศักดิ์ศรี เสียเชื่อเสียงวงศ์ตระกูล พ่อเป็นนายพล แม่เป็นนายพัน แต่ลูกเป็นโสเภณี”

            “เป็นความผิดของใครล่ะ ความผิดของลูกอย่างนั้นหรือ”

            “ความผิดของผมเองครับ เพราะผมไม่เชื่อหลวงพ่อ”

            “แล้วตอนนี้เชื่อหรือยัง”

            “เชื่อแล้วครับ โปรดช่วยผมด้วยเถอะครับ ผมสงสารลูก ไม่อยากให้เขาต้องไปมีอาชีพอย่างนั้น”

            “โยมทั้งสองอยากให้ลูกกลับมาหรือเปล่า”

            “อยากครับ ภรรยาผมก็อยากแต่ก็กลัวจะอับอายขายหน้า ผมคิดไม่ตกเลยครับว่าจะทำยังไงดี หลวงพ่อโปรดชี้ทางให้ผมด้วย”

            “ถ้าโยมอยากให้ลูกกลับก็ต้องยอมอายนะ ทำยังไงได้ ถึงเวลาที่ต้องอาย ก็ต้องยอม แต่ถึงอย่างไร อาตมาคิดว่ายังน่าอายน้อยกว่าที่เราทำความชั่ว ขออภัยนะที่อาตมาพูดตรง ๆ”

            “ดิฉันจะยอมอายค่ะหลวงพ่อ คิดถึงลูกเหลือเกิน” พันโทหญิงรำพัน คนเป็นนายพลต้องตัดสินใจอย่างหนัก ในที่สุดจึงพูดขึ้นว่า

            “ผมก็ยอมอายครับ ผมปลงตกเสียแล้ว ยังไง ๆ ลูกเขาก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ส่วนตำแหน่งหน้าที่เป็นเพียงหัวโขน อีกประการหนึ่ง ลูก ๆ ต้องมาเป็นอย่างนี้ เพราะผมเป็นคนสร้างกรรมให้เขา หลวงพ่อช่วยผมหน่อยเถิดครับ ช่วยตามลูกสาวผมกลับด้วย” เขาวิงวอน ท่านเจ้าของกุฏิจึงเปรยขึ้นว่า

            “ไม่รู้อะไรกันนักหนา รายแรกจะให้ตามเมีย รายที่สองจะให้ตามลูก ทั้ง ๆ ที่อาตมาไม่มีทั้งลูกและเมีย” คนเป็นนายพลนายพันพากันยิ้มทั้งน้ำตา ท่านพระครูจึงบรรลุจุดประสงค์ในการทำให้คนทั้งสองคลายเครียด

            “เอาละ เป็นอันว่าอาตมาจะช่วยแต่จะต้องมีข้อแม้ คือโยมจะต้องอนุญาตให้อาตมานำเรื่องนี้ไปสั่งสอนคนอื่น ๆ ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับคนที่เขาไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้คิด โยมจะตกลงไหม”

            “ตกลงค่ะหลวงพ่อ ถ้าเขาไม่เชื่อ ดิฉันยอมมาเป็นพยานให้อีกด้วย พร้อมกันนี้ดิฉันขอฝากหลวงพ่อให้ช่วยเตือนบรรดาพ่อแม่ที่ทำแต่งานโดยไม่เอาใจใส่ดูแลลูกเต้า ถึงเขาจะได้เป็นใหญ่เป็นโต แต่ถ้าลูกกลายเป็นคนติดยาหรือลูกสาวไปทำตัวเหลวแหลกอย่างลูกของดิฉัน มันก็ไม่คุ้มกันเลย ดิฉันพลาดไปแล้วจึงไม่อยากให้พ่อแม่คนอื่น ๆ ต้องเป็นอย่างดิฉันอีก” พันโทหญิงสาธยาย

          “ผมด้วยครับหลวงพ่อ ผมขอฝากเตือนบรรดาเจ้าชู้ประตูดินทั้งหลายว่า อย่าได้ประพฤติผิดศีลธรรมอีกเลย บาปกรรมมันตามทันตาเห็นเชียวละ ผมเข็ดแล้วครับ เข็ดจริง ๆ” อดีตนักเลงหญิงว่า

            “เอาละ ๆ อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตของโยมทั้งสองที่ยังอุตส่าห์ห่วงคนอื่น คนบางคนนะ เมื่อเขาประสบความหายนะ เขาก็อยากจะให้คนอื่นหายนะเช่นตัวบ้าง แต่โยมสองคนมีจิตใจดีจริง ๆ ขอกุศลจิตนี้ จงดลบันดาลให้ลูกสาวของโยมกลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่โดยเร็วนะโยมนะ อาตมาขอเอาใจช่วย เอาละ ทีนี้ก็จะบอกวิธีที่จะเรียกลูกกลับบ้านภายในเจ็ดวัน โยมต้องมาเข้ากรรมฐานทั้งสองคน ประเดี๋ยวกลับไปจัดการลางานซะ ลามาเจ็ดวันเลย”

            “ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือครับหลวงพ่อ” คนเป็นนายพลถามเพราะห่วงงาน

            “ไม่มี วิธีนี้ดีที่สุด อาตมาไม่ชอบให้ของปลอมใคร อย่างอื่นเป็นของปลอม แต่กรรมฐานเป็นของแท้และไม่มีวิธีใดที่จะแก้ปัญหาได้ดีเท่ากับการมาเข้ากรรมฐาน เอาละ โยมทำตามี่อาตมาบอกก็แล้วกัน มาอยู่วัดเจ็ดวัน กลับไปบ้านได้พบลูกแน่นอน แล้วก็ต้องสัญญากับอาตมานะว่าอย่าไปด่าเขา อย่าไปพูดถึงอดีตของเขา เรื่องเก่าอย่าเอามารื้อฟื้น ให้พูดกับเขาดี ๆ แล้วก็พามาหาอาตมานะ พามาทั้งสามคนนั่นแหละ อาตมาจะให้เขาเรียนกรรมฐานก่อน จากนั้นก็จะให้เรียนมหาวิทยาลัย”

            “คงเรียนไม่ได้มังครับหลวงพ่อ รู้สึกอายุจะเกินแล้ว” คนพูดหมายถึงเรียนมหาวิทยาลัย

            “ได้สิ ก็มหาวิทยาลัยเปิดมีไม่ใช่หรือ อาตมาจะให้เขาเรียนมหาวิทยาลัยเปิด รับรองว่าต้องจบแน่นอน เพราะเขามีดวงการศึกษาดีทั้งสามคน และต่อไปก็จะมีงานมีการทำเป็นหลักเป็นฐาน แล้วก็ได้สามีดีทุกคน โยมทำที่อาตมาแนะนำก็แล้วกัน ขอให้เชื่ออาตมาเถอะ เชื่อประเทศไทยสักครั้ง เอาละ รีบกลับไปขออนุญาตลางานกันได้แล้ว อาตมาจะลงไปรับแขกข้างล่างละ วันนี้แขกมากันแน่นกุฏิเลย”

            รายที่สามเป็นหญิงสาวหน้าตาคมคายละม้ายคล้ายแขก แล้วหล่อนก็เป็นแขกจริง ๆ เสียด้วย

            “หลวงพ่อจำหนูได้หรือเปล่าคะ” หล่อนถาม

            “เอ ก็คลับคล้ายคลับคลา แต่ยังนึกไม่ออก หนูเคยมาที่นี่บ่อยไหมจ๊ะ”

            “เคยมาครั้งเดียวค่ะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง หนูนำธูปเทียนแพมากราบหลวงพ่อค่ะ” พูดจบหล่อนก็ประเคนพานใส่ธูปเทียนแพ แล้วกราบสามครั้ง

            “หนูเป็นอิสลามไม่เคยกราบพระ หลวงพ่อเป็นพระคนแรกและคนสุดท้ายที่หนูจะกราบ”

            “ทำไมหรือหนู” ท่านเจ้าของกุฏิสงสัย

            “ก็หลวงพ่อช่วยให้หนูหายทุกข์ ตอนมาคราวที่แล้วหนูกำลังมีความทุกข์เพราะถูกโกงค่าเช่าบ้าน หลวงพ่อก็ช่วยจนหนูสามารถใช้หนี้ใช้สินเขาหมดแล้ว หนูจึงต้องมากราบหลวงพ่อ” ท่านพระครูจึงนึกออกว่า หญิงสาวผู้นี้คือคนที่เจ้าหมีไปเข้าฝันนั่นเอง

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรับแขกอยู่จนถึงเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา จึงบอกให้พวกเขาไปรับประทานอาหาร ตัวท่านก็กำลังจะขึ้นข้างบนเพื่อฉันเพลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากร่างกายทรุดโทรมเพราะการต่ออายุให้เถ้าแก่บ๊ก คนอื่น ๆ พากันลุกเดินออกไปยังโรงครัว ยกเว้นบุรุษวัยห้าสิบแปดที่มาขอให้ท่านพระครูช่วยตามเมีย

            บุรุษสูงวัยใช้ความคิดอย่างหนัก คิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิด “หลวงพ่อนี่ประหลาดคนพิลึก มีอย่างรึ แค่เรามาขอให้ช่วยตามแม่อีหนูให้หน่อย กลับจะมาให้เรากราบเมีย หนอยแน่ขนาดแม่เรายังไม่เคยกราบ เรื่องอะไรจะต้องไปกราบเมีย”

            ครั้นนึกเห็นภาพที่ตนใช้ฝาโอ่งฟาดหัวคนเป็นเมียก็นึกสงสารจนน้ำตาไหล

            “เป็นไงเป็นกันวะ”  เขาตัดสินใจ “ถึงจะไม่เคยกราบแม่ แต่วันนี้จะกราบเมียละวะ” พอคิดตกก็ปรากฏว่าท่านพระครูเดินขึ้นข้างบนไปแล้ว

            “ไอ้หนูช่วยเรียกหลวงพ่อให้ลุงทีเหอะ” เขาบอกนายขุนทอง

            “อย่ากวนท่านเลยลุง ท่านกำลังไม่สบาย” ชายหนุ่มว่า

            “งั้นก็ช่วยขึ้นไปบอกท่านทีว่าลุงยอมกราบแม่อีหนูเขาแล้ว ให้ท่านช่วยตามให้ด้วย”

            “เดี๋ยวลุงพูดกับท่านเอาเองก็แล้วกัน รอให้ท่านลงมาเสียก่อน” บุรุษวัยใกล้หกสิบรู้สึกหงุดหงิด หากก็ปักหลักรอต่อไป ความจริงแล้วท่านเจ้าของกุฏิได้ยินที่เขาพูด แต่ท่านต้องการจะทรมานคนรังแกเมีย!

 

มีต่อ........๗๗

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 03, 2007, 09:26:14 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00077
๗๗...

          เมื่อมาถึงกุฏิ คุณหญิงปทุมทิพย์ไม่พบนายขุนทอง จึงถามถึงบุรุษวัยห้าสิบเศษ ที่นั่งอยู่เพียงผู้เดียวตรงหน้าอาสนะ

          “ไปไหนกันหมด หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า”

          “อยู่ครับ ท่านอยู่ข้างบน กำลังฉันเพล” เขาตอบ

          “งั้นช่วยขึ้นไปเรียนท่านด้วยว่า เสร็จแล้วให้ลงมาพบคุณหญิงปทุมทิพย์หน่อย” คน “ใหญ่ผิดที่” บัญชา

          “คงไม่ได้หรอกครับ ผมเองก็ยังต้องนั่งรอท่านอยู่ที่นี่” เขาปฏิเสธ เมื่อไม่ได้ดังใจ คนเป็นคุณหญิงก็ “แว้ด”

          “โอ๊ย ไม่รู้อะไรกันนักหนา ไปวัดไหน ๆ เจ้าอาวาสท่านก็รับรองอย่างดี ไม่เห็นจะเรื่องมากเหมือนเจ้าอาวาสวัดนี้เลย”

          “ก็ไปวัดอื่นซีครับ” คนกำลังหงุดหงิดเพราะเมียหนีพูดแดกดัน

          คุณหญิงหันมาค้อนแล้วว่า “ก็ไปมาแล้ว แต่มันไม่สำเร็จ”

          ฉันเสร็จท่านพระครูรีบลงมารับแขก ด้วยไม่อยากให้ญาติโยมต้องรอนาน ท่านสั่งให้นายขุนทองไปตามภรรยาของบุรุษผู้นั้นมา แล้วจัดการตามที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้

          บุรุษวัยใกล้หกสิบก้มลงกราบขอขมาคนเป็นเมียต่อหน้าท่านพระครูและคุณหญิงปทุมทิพย์ ปลอบใจตัวเองว่า “ก็ยังดีกว่ากราบต่อหน้าคนทั้งกุฏิแหละวะ” จากนั้นจึงพากันกลับบ้าน

          ผู้มีความทุกข์ทั้งหลาย เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแล้วก็พากันเดินกลับมาที่กุฏิ แล้วก็เลยต้องต่อคิวคุณหญิงผู้ซึ่งกำลังคุยอยู่กับท่านเจ้าอาวาส

          “คุณหญิงจะอยากรู้ไปทำไม” ท่านพระครูถาม เมื่อคุณหญิงปทุมทิพย์บอกจุดประสงค์ของการมาพบท่าน

          “ดิฉันจะได้ไปเยี่ยมเขาค่ะ เยี่ยมทั้งแม่ทั้งลูก” เธอไม่บอกความจริง

          “แล้วก็เอาน้ำกรดใส่กระเป๋าถือไปฝากด้วยใช่ไหม ขวดน้ำกรดที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าถือของคุณหญิงน่ะ” ท่านพระครูเห็นเพราะ “เห็นหนอ” บอก

          “ทำไมหลวงพ่อทราบคะ ดิฉันอุตส่าห์ซ่อนมาอย่างดี ดิฉันเจ็บใจค่ะ” คราวนี้เธอร้องไห้เพราะความคับแค้นใจ

          “แล้วการทำอย่างนั้นจะช่วยให้คุณหญิงหายเจ็บใจหรือ” คนเป็นคุณหญิงไม่ต่อบ ได้แต่ก้มหน้าร้องไห้กระซิก ๆ

          “อาตมาขอบิณฑบาตเถิดนะ อย่างได้สร้างเวรสร้างกรรมให้ตัวเองอีกเลย ที่คุณหญิงต้องมาเป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมเก่านะ ขอให้นึกเสียว่ากำลังใช้กรรม อาตมาสอนญาติโยมเสมอ ๆ ว่า “กรรมเก่าให้รีบใช้ กรรมใหม่อย่าไปสร้าง” คุณหญิงเชื่ออาตมาเถิดนะ”

          “ดิฉันทำกรรมอะไรไว้หรือคะหลวงพ่อ ถึงต้องมาเป็นเช่นนี้ ก่อนที่จะมาแต่งงานกับรัฐมนตรี ดิฉันก็เคยมีสามีมาก่อน แล้วก็ถูกเพื่อนแย่งไป” ถามทั้งน้ำตา

          “ถ้าคิดตามหลักของเหตุผลก็ต้องว่า เพราะคุณหญิงเคยไปแย่งของคนอื่นเขา ถ้าชาตินี้ไม่ได้ทำก็แสดงว่าต้องเคยทำมาแต่ครั้งอดีตชาติ แล้วกรรมนั้นมันติดตัวมาเกินหกสิบเปอร์เซ็นต์ อาตมาวิจัยไว้แล้วว่า ใครก็ตามที่ผิดศีลข้อสาม และบาปนั้นติดตัวมาเกินหกสิบเปอร์เซ็นต์ รับรองได้ว่ามีสามี สามีก็ต้องมีเมียน้อย มีภรรยา ภรรยาก็มีชู้ และถ้ามาในชาตินี้ยังเลิกไม่ได้ บาปกรรมก็จะไปตกกับลูกหลาน มีตัวอย่างแล้ว เพิ่งกลับไปเมื่อกี้นี้เอง สามีเป็นพลตรี ภรรยาเป็นพันโท มีลูกสาวสามคน ไปเป็นโสเภณีหมด เพราะพ่อเจ้าชู้ ลูกก็เลยต้องรับกรรม มาร้องไห้กับอาตมาทั้งผัวและเมีย เพิ่งกลับไปเมื่อสักครู่ อาตมาสั่งให้มาเข้ากรรมฐานเพื่อแก้กรรม ให้มาทั้งคู่เลย ไม่งั้นช่วยลูกให้เลิกอาชีพโสเภณีไม่ได้”

          “แล้วรายของดิฉันล่ะคะ ทำยังไงเขาถึงจะเลิกกัน” เธอถามอย่างสนใจ

          “ไม่ต้องทำอะไร เขาก็ต้องเลิกกันอยู่ดีนั่นแหละคุณหญิง ผู้หญิงอายุ ๑๖ ผู้ชายอายุ ๖๑ จะอยู่กันไปได้สักกี่น้ำ คุณหญิงไม่ต้องไปทำอะไรเขาหรอก ถ้าจะให้ดีก็สวดมนต์แผ่เมตตาให้เขามีความสุขความเจริญกัน” คุณหญิงปทุมทิพย์รีบค้านว่า

          “ดิฉันทำไม่ได้หรอกค่ะ มันฝืนกับความรู้สึกที่แท้จริง”

          “ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ แต่อาตมาขอเตือนนะ อย่าไปทำร้ายเขาอย่างที่คิด ใคร ๆ ก็มีกรรมด้วยกันทั้งนั้น อาตมาเห็นกฎแห่งกรรมของท่านรัฐมนตรีแล้ว อีกห้าปีคุณหญิงก็จะรู้อย่างที่อาตมารู้และเห็นอย่างที่อาตมาเห็น ไปจดไว้ได้เลยนะว่าปี ๒๕๒๒ จะเกิดอะไรขึ้นกับท่านรัฐมนตรี และคุณหญิงก็จะต้องทนทรมานไปอีกสามปี จนถึงปี ๒๕๒๕ จึงจะหมดกรรม นี่เฉพาะกรรมเก่านะ ถ้าคุณหญิงจะสร้างกรรมใหม่อีกก็เชิญ แล้วอย่ามาหาว่าอาตมาไม่เตือนก็แล้วกัน”

          “แต่ดิฉันเกลียดมันค่ะหลวงพ่อ ดิฉันเกลียดนังเด็กนั่น เกลียดลูกของมันด้วย”

          “คุณหญิงเคยเห็นลูกเขาแล้วหรือถึงได้เกลียด”

          “ยังไม่เคยค่ะ ตัวแม่มันดิฉันก็ยังไม่เคยเห็น”

          “แล้วทำไมต้องไปเกลียดล่ะ เอาเถอะ ต่อไปข้างหน้าคุณหญิงจะรักเด็กคนนี้ จำคำของอาตมาไว้ก็แล้วกันว่า คุณหญิงจะรักลูกของเขา”

          “เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ ใครจะไปรักลูกของศัตรู” เธอเถียง

          “รักหรือไม่รักก็คอยดูไปก็แล้วกัน อาตมาจะไม่เถียงกับคุณหญิงหรอก เถียงไปก็เปล่าประโยชน์ รอให้เวลานั้นมาถึงค่อยพูดกันใหม่”

          “ตกลงหลวงพ่อจะไม่บอกดิฉันจริง ๆ หรือคะว่ามันอยู่โรงพยาบาลอะไร”

          “บอกไม่ได้หรอกคุณหญิง ไว้คุณหญิงหายโกรธแค้น หายอาฆาตเขาเสียก่อน แล้วอาตมาจะบอก ตกลงไหม”

          “ตกลงค่ะ ถ้าอย่างนั้นดิฉันเลิกโกรธแค้น เลิกอาฆาตพยาบาทก็ได้ หลวงพ่อกรุณาบอกดิฉันเถิดค่ะ” เธออ้อนวอน

          “อาตมาก็ขอยืนยันอยู่อย่างเดิมว่าบอกไม่ได้ เพราะคุณหญิงเลิกแต่ปาก ส่วนใจนั้นยังโกรธยังอาฆาตเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่ามาพูดปดกับอาตมาเลย อาตมารู้ทั้งนั้นแหละ เรื่องอย่างนี้ใครจะมาโกหกอาตมาไม่ได้

          เอาอย่างนี้นะ อาตมาจะยกตัวอย่างโทษของความโกรธ ความริษยาอาฆาตให้คุณหญิงฟังสักเรื่อง เล่าย่อ ๆ นะ คือเรื่องของเจ้าหญิงโรหิณี ซึ่งเป็นขนิษฐาของ พระอนุรุทธเถระ และเป็นพระญาติของพระพุทธองค์

          หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ได้เสด็จมายังกรุง      กบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดาเป็นครังที่สอง พระอนุรุทธเถระก็ตามเสด็จด้วย บรรดาพระประยูรญาติต่งพากันมาเข้าเฝ้า ยกเว้นเจ้าหญิงโรหิณีผู้ซึ่งเป็นโรคผิวหนังพุพองทั่วพระวรกาย ดุน่าเกลียดมาก จึงไม่ยอมมาเข้าเฝ้า พระอนุรุทธเถระจึงเสด็จไปยังพระตำหนักของพระขนิษฐา

          เจ้าหญิงโรหิณีกราบทูลพระเชษฐาถึงสาเหตุที่ไม่ยอมไปเข้าเฝ้า และทูลถามว่าพระนางเคยทำกรรมอะไรไว้จึงได้มีร่างกายพุพองน่าเกลียดเช่นนี้ พระอนุรุทธเถระ ตรัสเล่าปุพพกรรมแต่ครั้งอดีตชาติให้พระขนิษฐาฟังว่า

          สมัยหนึ่งพระนางได้เกิดเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต แห่งเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีพระสนมหลายคน คนหนี่งเป็นนางรำรูปร่างหน้าตาสวยงามจึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตมากกว่าใคร ๆ พระมเหสีมีจิตริษยาในนางรำผู้นั้น วันหนึ่งจึงแอบนำผงเต่าร้างไปโรยไว้ในกระปุกใส่แป้งของนาง คุณหญิงรู้จัดผงเต่าร้างหรือเปล่า” ท่านเจ้าของกุฏิถามคนเป็นคุณหญิง

          “ไม่ทราบค่ะ” เธอตอบ

          “หมามุ่ยใช่ไหมคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งตอบและถามในประโยคเดียวกัน

          “ถูกแล้ว คุณหญิงรู้จักหมามุ่ยหรือเปล่า” คุณหญิงปทุมทิพย์ถูกถามอีก

          “ทราบค่ะ เห็นเขาว่าคันอย่าบอกใคร”

          “นั่นแหละ ๆ พระมเหสีก็เอาผงเต่าร้างไปโรยไว้ในกระปุกแป้งของนางรำเพราะความริษยา เมื่อนางทาแป้งก็เกิดอาการคันและมีตุ่มผื่นคันพุพองทั่วร่าง ทำให้ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก จากผลกรรมนั้นทำให้เจ้าหญิงโรหิณีต้องมาเป็นโรคผิวหนัง ญาติโยมอย่าลืมนะว่าโรคกรรมนั้นไม่มีหมอที่ไหนรักษาได้ เหมือนอย่างเจ้าหญิงโรหิณีที่แพทย์หลวง กี่คน ๆ ก็ไม่สามารถรักษาได้ เมื่อพระนางได้ทราบกรรมครั้งอดีตชาติแล้ว จึงทูลถามพระอนุรุทธเถระว่าจะแก้กรรมได้อย่างไร”

          “ต้องเข้ากรรมฐานใช่ไหมครับ” บุรุษผู้หนึ่งตอบ มาวัดนี้ท่านสมภารพูดแต่เรื่องกรรมฐาน ๆ ใครจะแก้กรรมก็ต้องมาเข้ากรรมฐาน

          ท่านพระครูยิ้มด้วยนึกขำในคำตอบของบุรุษนั้น จึงสัพยอกเขาว่า

          “ถ้าเจ้าหญิงโรหิณีมาที่วัดนี้ อาตมาก็คงจะต้องให้เข้ากรรมฐาน แต่บังเอิญพระนางไม่ได้มา”

          “แล้วพระอนุรุทธเถระท่านทรงแนะนำให้พระขนิษฐาทำอย่างไรเพคะ” คุณหญิงถาม ผู้ที่นั่งฟังพากันหัวเราะคำถามของคนเป็นคุณหญิงซึ่งลงท้ายด้วย “เพคะ” ท่านเจ้าของกุฏิเองก็ขำ

          “ท่านทรงแนะนำให้พระขนิษฐาขายเครื่องประดับทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วนำทรัพย์ที่ได้ไปสร้างเป็นศาลาที่พักพระภิกษุที่เดินทางไกลผ่านมายังเมืองนี้ ให้ท่านได้รับความสะดวกมีทั้งที่พักและอาหาร ในยามค่ำคืนก็จุดประทีปโคมไฟให้แสงสว่างแก่ท่าน เจ้าหญิงโรหิณีทรงทำตามคำแนะนำของพระเชษฐา แผลพุพองนั้นก็ค่อย ๆ หายไป ๆ จนในที่สุดพระนางก็มีผิวพรรณผุดผ่องสวยงามเหมือนแต่ก่อน และในเวลาต่อมาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน”

          เล่าจบ ท่านเจ้าของกุฏิจึงถามคนเป็นคุณหญิงว่า “คุณหญิงเห็นโทษของความอาฆาตพยาบาทหรือยัง นี่ขนาดเอาผงเต่าร้างใส่ลงไปในแป้งก็ยังต้องมาเป็นโรคผิวหนังพุพองน่าเกลียด แล้วถ้าเอาน้ำกรดไปสาดเขา จะต้องรับกรรมสาหัสสากรรจ์สักเพียงใด อาตมาถึงต้องขอบิณฑบาตไงล่ะ”

          “ตกลงค่ะ ดิฉันยกให้ ที่หลวงพ่อขอบิณฑบาต ดิฉันยินดียกให้” พูดจบก็เปิดกระเป๋าถือหยิบขวดน้ำกรดซึ่งห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาลอย่างมิดชิดวางไว้บนอาสนะ กราบสามครั้งจึงรีบลุกออกไป ด้วยรู้สึกอับอายขายหน้าเหลือเกินแล้ว

          “หลวงพ่อครับผมขอความกรุณาช่วยเปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ผมใหม่ด้วยครับ” ทหารยศพันเอกพูดขึ้น

          “เปลี่ยนทำไมเล่า ชื่อเก่าก็ดีอยู่แล้ว พ่อแม่ตังให้ไม่ต้องเปลี่ยน ยิ่งนามสกุลด้วยแล้วห้ามเปลี่ยนเด็ดขาด คนเราจะดีจะเลวไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่อยู่ที่การกระทำ ใครมาขอเปลี่ยนชื่อ อาตมาไม่เคยเปลี่ยนให้สักราย

          บางคนเขาเชื่อหมอดู บอกหมอดูให้เปลี่ยน เพราะชื่อเดิมเป็นกาลกิณี เขาว่าคนเกิดวันจันทร์ ชือจะต้องไม่มีสระเพราะจะเป็นกาลกิณี อาตมาก็บอกไม่ต้องเปลี่ยน แล้วก็ยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนชื่อรวยแต่จนก็มี คนที่ชื่อสวยแต่ขี้เหร่ก็มี นี่ที่วัดนี้ มีคนเขามาบอกอาตมาว่าพรุ่งนี้จะพาลูกสาวชื่อสวยมากราบอาตมา ตอนนั้นอาตมาก็ยังหนุ่ม อายุซักยี่สิบกว่า ๆ โอ้โฮ คืนนั้นนอนไม่หลับเลย นึกถึงแต่หน้าแม่คนที่ชื่อสวย แล้วก็วาดภาพไว้ว่าคงจะสวยหยาดเยิ้มเหมือนเพชรา พอรุ่งเช้าเขาก็มา...”

          “สวยไหมคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งกระเซ้า ท่านตอบว่า

          “สวยซี โอ้โฮ แม่สวยคนนี้สวยจริง ๆ แต่สวยน่าเกลียดพิลึก ตัวดำ ตาตี่ แถมฟันยื่น อาตมาจะเป็นลมเสียให้ได้ นี่ถ้าอาตมาเชื่อหมอดูก็คงจะแนะนำแม่เขาให้เปลี่ยนชื่อลูกสาวเสียใหม่แล้วละ”

          “เปลี่ยนเป็นอะไรคะ” สตรีคนเดิมกระเซ้าอีก

          “เปลี่ยนเป็น “สวยน่าเกลียด” อีกรายนะ รายนี้เป็นผู้ชาย มาแบบเดียวกัน อายุจะหกสิบแล้วมาบอก “หลวงพ่อช่วยเปลี่ยนชื่อให้ผมหน่อย เมียด่าไม่พักเลย หมอดูเขาบอกถ้าเปลี่ยนชื่อใหม่เมียจะเลิกด่า” อาตมาก็ถามว่าใครตั้งชื่อให้ล่ะ เขาบอกพ่อตั้งให้ แต่พ่อตายไปแล้ว รับรองว่าแกไม่รู้ว่าผมไม่ใช้ชื่อที่แกตั้ง

          อาตมาก็ทักว่าอย่าเปลี่ยนเลย ถ้าเปลี่ยนรับรองเมียด่าคูณสอง ที่เคยด่าวันละสามชั่วโมงก็จะเพิ่มเป็นวันละหก เขาก็โกรธอาตมา เลยไปหาพระวัดอื่นเปลี่ยนให้ หลวงพ่อวัดนั้นก็ว่าต้องเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ ชื่อบุญช่วยเป็นกาลกิณี ต้องเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ รับรองผู้หญิงรัก เมียก็จะเลิกด่า แกก็เลยไปเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ เสร็จแล้วกลับมาเล่าให้อาตมาฟังว่า

          “หลวงพ่อ จริงอย่างที่หลวงพ่อพูด เมียผมด่าสามวันสามคืนเลย บอก ไอ้โง่ ชื่อบุญช่วยก็ดีอยู่แล้ว เสือกไปเปลี่ยนเป็นสมศักดิ์สมบ้าอะไรก็ไม่รู้” นี่เห็นไหม อยากไม่เชื่ออาตมา” คนฟังพากันหัวเราะครื้นเครง เพราะขำในเรื่องที่ท่านเล่า

          “แต่ของผมมันไม่เหมือนกับที่หลวงพ่อเล่านะครับ” นายพันว่า

          “ไม่เหมือนยังไงล่ะผู้พัน”

          “คือตัวผมเองไม่อยากเปลี่ยน แล้วผมก็เป็นคนไม่เชื่อหมอดู เมียก็ไม่ด่าผม แต่ที่ผมอยากเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล เพราะผมติดแหง่กอยู่แค่พันเอกพิเศษมาหลายปีแล้ว ขอเลื่อนขึ้นเป็นนายพล พอนายเขาเห็นชื่อก็ฉีกทิ้งทุกที เขาว่าผมปากเสีย ก็ผมมันคนตรง นายทำมิดีมิชอบ เช่นฉ้อราษฎร์บังหลวง ร่วมมือกับพวกพ่อค้าตัดไม้ทำลายป่า ผมก็ว่าเอาไม่เกรงใจ เขาก็เลยว่าผมปากเสีย แล้วก็ไม่ยอมเลื่อนให้ผมเป็นนายพล ทั้งที่ผลงานผมมีมาก ผมก็เลยจะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลเสียใหม่เพื่อตบตานาย ได้เป็นนายพลเมื่อไหร่จะเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิมนามสกุลเดิมทันที หลวงพ่อกรุณาเปลี่ยนให้ผมด้วยเถิดครับ”

          “ตกลง ตกลง กรณีนี้อนุโลมได้ เอาละ เดี๋ยวอาตมาจะเปลี่ยนให้แจ๋วไปเลย แล้วก็จะเสกให้ด้วย รับรองผู้พันได้เป็นนายพลแน่ อาตมารับรองพันเปอร์เซ็นต์”

          “ขอบพระคุณครับ ได้เป็นนายพลเมื่อไหร่ ผมแก้แค้นไอ้นายเฮงซวยคนนี้แน่ ๆ ผมมันคนตรงครับ ใครดีก็ว่าดี ใครชั่วก็ว่าชั่ว ไม่เหมือนไอ้พวกที่ชอบเลียแข้งเลียขา นายเลวยังไงมันก็ยกยอว่าดี นายมีเมียน้อยไปแย่งเมียชาวบ้านมา มันก็ยกย่องเมียน้อยนาย

          บางคนก็ถึงกับเกาะชายกระโปรงเมียน้อยนายขึ้นมาเป็นนายพันนายพล แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ มันละอายใจ แล้วผมก็ว่าด้วย ไม่กลัวใครทั้งนั้น นายเขาก็เลยไม่ชอบผม แล้วก็หาว่าผมปากหมา” คนเล่าหยุดหายใจ ท่านพระครูหยิบกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง เขียนชื่อและนามสกุลให้เขาใหม่ แล้วพับใส่ซองหลับตาทำปากขมุบขมิบ เป่าเพี้ยง ๆ สองครั้งแล้วส่งให้นายพันเอกพิเศษ

          “เอ้า รับรองชื่อนี้ได้เป็นนายพลแน่ แล้วอย่าลืมเปลี่ยนกลับเสียเล่า กลับมาใช้ชื่อเดิมที่พ่อแม่ตั้งให้”

          “ครับ ผมขอกราบของพระคุณมากครับ โอกาสนี้ผมขอถวายปัจจัยแด่หลวงพ่อไว้สำหรับใช้สอยส่วนตัว” เขาประเคนซองสีขาวแก่ท่าน

          “อ้อ ค่าจ้างเปลี่ยนชื่อหรือ” ท่านถามยิ้ม ๆ

          “หามิได้ครับ ผมตั้งใจจะทำบุญอยู่แล้วครับ” เขากราบสามครั้งแล้วจึงลุกออกไป

          “หลวงพ่อคะ ก็ไหนหลวงพ่อเคยพูดว่าไม่ชอบทางเสกเป่า แล้วทำไมวันนี้ หลวงพ่อทั้งเสกทั้งเป่าให้ผู้พันคนนั้นล่ะคะ” สตรีผู้หนึ่งทักท้วง

          “มันจำเป็นน่ะโยม กฎทุกกฎก็ยังต้องมีข้อยกเว้น แล้วทำไมกฎของอาตมาจะมีข้อยกเว้นบ้างไม่ได้ คืออย่างนี้นะโยม ใครที่มีทุนเดิมอยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว อาตมาถึงจะช่วย ไม่ใช่ช่วยสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างรายนี้เขาต้องได้เป็นนายพลแน่ ๆ อยู่แล้ว อาตมาก็เลยช่วยลุ้นเขาหน่อย เอาละ ใครมีอะไรก็ว่าไป

          เวลาสามทุ่ม แขกคนสุดท้ายลุกออกไปแล้ว หากท่านพระครูยังไม่ยอมลุกจากอาสนะ นายสมชายจึงถามว่า “หลวงพ่อเหนื่อยจนลุกไม่ไหวหรือเปล่าครับ ผมจะช่วยประคองขึ้นไปข้างบนนะครับ”

          “ไม่ต้องหรอก แขกกำลังจะมาอีกรายนึง เจ้าหมีมันวิ่งออกไปรับถึงหน้าประตูวัดแน่ะ” ท่าน “เห็น”

          “เป็นไปได้หรือครับ ก็เจ้าหมีมันไม่เคยเป็นมิตรกับใคร ทำไมเกิดจะไปญาติดีกับรายนี้”

          “ก็เหลนมัน มันมีศักดิ์เป็นปู่ทวดของแขกรายนี้ เห็นไหม พอเขาลงจากรถ มันก็เข้าไปเลียแข้งเลียขา เลียหมดทุกคน ทั้งลูก ๆ เขาด้วย”

          “ผมไม่เห็นหรอกครับ เพราะผมมองทะลุฝาอย่างหลวงพ่อไม่ได้” ชายหนุ่มว่า

          “ถ้าอยากทำได้ก็ต้องหมั่นปฏิบัติกรรมฐาน”

          “ผมว่าผมอยู่อย่างนี้ดีแล้วครับ ขืนเก่งเหมือนหลวงพ่อ ผมคงทนไม่ได้ ทำงานทั้งวันทั้งคืน แถมได้นอนวันละแค่สองชั่วโมง” พอดีกับเจ้าหมีนำ “อาคันตุกะ” เข้ามาในกุฏิ เป็นชายวัยสามสิบเศษ มากับภรรยาวัยเดียวกัน พ่วงท้ายด้วยบุตรชายหญิงวัยไล่เลี่ยกันถึงห้าคน

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอโทษที่มารบกวนในยามวิกาล”

          “โยมมาจากไหนล่ะ” ท่านถามเหลนเจ้าหมี คนเป็นปู่ทวดส่งเสียงงี้ดง้าด แล้วก็เดินเลียลูกของเหลนอย่างรักใคร่จนครบทั้งห้าคน

          “ผมมาจากภูเก็ตครับ ทำเหมืองแร่อยู่ที่นั่น ผมกำลังจะพาครอบครัวไปเที่ยวเชียงใหม่ เพื่อนเขาสั่งมาว่า ให้แวะกราบหลวงพ่อที่วัดป่ามะม่วงให้ได้ เขาบอกว่าพอถึง ก.ม.ที่ ๑๓๐ ก็ให้เลี้ยวรถเข้าไป เขาพูดถึงหลวงพ่อให้ผมฟังบ่อย ๆ จนผมอยากจะมารู้จักหลวงพ่อ เพื่อนผมเขาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ เขาชื่อจรินทร์ครับ”

          “อ้อ โยมจรินทร์นั่นเอง แล้วโยมทานอาหารกันมาแล้วหรือยัง หิวหรือเปล่า”

          “เรียบร้อยแล้วครับ หลวงพ่อครับ ผมขอถวายปัจจัยร่วมทำบุญกับหลวงพ่อครับ ถ้ามีนักเรียนยากจนขัดสน หลวงพ่อกรุณานำเงินจำนวนนี้ไปมอบเป็นทุนการศึกษาแก่เขาด้วย ผมขอถวายหนึ่งหมื่นบาทครับ” เขาประเคนซองสีขาวแด่ท่านเจ้าของกุฏิ

          “อาตมาขออนุโมทนาในกุศลจิตของโยมและครอบครัว ตกลงอาตมาจะจัดการให้ตามความประสงค์ และจะตั้งชื่อทุนนี้ว่า “ทุนเสริมสมอง” ถ้าใครจะมาสมทบอีก อาตมาก็จะได้ตั้งเป็นมูลนิธิ การช่วยให้คนยากจนได้เรียนหนังสือ จะทำให้ได้อานิสงส์คือลูกหลานของเราก็จะเรียนหนังสือเก่งและได้เป็นเจ้าคนนายคน อาตมาขออนุโมทนา”

          เมื่อเขาลากลับ เจ้าหมีก็กุลีกุจอไปส่งถึงรถ เลียแข้งเลียขาเหลนและลูก ๆ ของเหลน และวิ่งตามรถเบ๊นซ์คันนั้นไปจนถึงประตูหน้าวัด แล้วก็มิได้กลับเข้ามานอนที่กุฏิชั้นล่างเหมือนดังแต่ก่อน ท่านพระครู “รู้” ว่ามันจะลาโลกนี้ไปในวันรุ่งขึ้น เพราะหมดห่วงแล้ว เหลนของมันได้มาทำบุญที่วัดป่ามะม่วงตามที่มันคาดหวังและรอคอยมานาน

          รุ่งเช้า หญิงชราที่เข้ามาปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในวัดป่ามะม่วงได้มาเล่าให้ท่านพระครูฟังว่า พบเจ้าหมีนอนหายใจระทดระทวยอยู่หน้ากุฏิกรรมฐาน จึงเรียกคนมาช่วยกันอุ้มมันไปอาบน้ำถูสบู่จนสะอาดสะอ้าน แล้วปูผ้าขาวให้มันนอน มันก็นอนตายอย่างสงบ เมื่อเวลาประมาณ ๙ นาฬิกา

          ท่านพระครูรับทราบแล้วจึงให้นายสมชายไปนิมนต์เณร ๔ รูปมาบังสุกุลให้มันพร้อมกับนำเงินใส่ซองถวายเณรไปรูปละ ๕๐ บาท

          บังสุกุลแล้ว นายสมชายก็จัดการขุดหลุมฝังศพเจ้าหมีไว้ที่ใต้ต้นปีบ เจ้าโฮมกับเจ้าขาวมาร่วมงานฝังศพพี่ชายของมันด้วย แต่มิได้ร้องไห้ คนที่ร้องไห้จะเป็นจะตายก็คือนายขุนทอง!

 

มีต่อ........๗๘

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 05, 2007, 09:02:24 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00078
๗๘...

         ก่อนเข้าสู่พิธีมงคลสมรสซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๘ นายสมชายก็เข้ากรรมฐานเป็นเวลา ๑๕ วัน ตามที่ได้สัญญาไว้กับท่านพระครู ชายหนุ่มตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อจะให้ได้บุญเท่ากับบวชหนึ่งพรรษา

            ในวันสุดท้ายของการปฏิบัติ เขารู้สึกอิ่มอกอิ่มใจนัก กลอนบทหนึ่งผุดขึ้นในความคิดและเขาก็จำได้แม่นยำทุกตัวอักษร

            โลกวุ่นนักขัดข้องลองมานี่

                 เพราะเรามีธัมมะจะให้ท่าน

                          ป่ามะม่วงร่มเย็นให้เป็นทาน

                                  อย่าได้ผ่านไปเปล่าเชิญเข้ามา

            เมื่อตนได้ลิ้มรสแห่งความสุขอันเกิดจากความสงบแล้ว จึงอยากให้คนเป็นคู่หมั้นได้มาสัมผัสกับสภาวะเช่นนี้บ้าง จึงไปเรียนปรึกษาท่านพระครู เพื่อขออนุญาต เพราะเหลือเวลาอีกตั้ง ๒๐ วัน กว่าจะถึงวันแต่งงาน

            “เป็นความคิดที่ดีทีเดียว ฉันอยากให้คู่สมรสทุกคู่เขาคิดอย่างเธอ เพราะจะทำให้ชีวิตแต่งงานเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยต่างฝ่ายต่างก็มีธรรมเสมอกัน” ท่านพระครูเห็นดีเห็นงามไปด้วย

            “ให้เขาเข้าสักเจ็ดวันก็พอนะครับหลวงพ่อ เวลาที่เหลือจะได้เอาไว้เตรียมงาน” ชายหนุ่มออกความเห็น

            “ก็ได้ เจ็ดวันก็ได้ ตามใจเขาก็แล้วกัน”

            “แล้วผมจะรวยไหมครับหลวงพ่อ พากันมาเข้ากรรมฐานแล้วจะรวยอย่างทิดจ่อยกับพี่จุกเขาหรือเปล่า”

            “แน่นอน ถึงไม่รวยโภคทรัพย์ ก็รวยอริยทรัพย์ หรือไม่ก็รวยทั้งสองอย่าง”

         “อริยทรัพย์คืออะไรครับ” ชายหนุ่มไม่เข้าใจ

            “คือทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์ในที่นี้ก็คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา” ท่านพระครูอธิบาย ครั้นเห็นคนเป็นศิษย์ทำหน้าไม่เข้าใจ จึงขยายความต่อไปอีกว่า

            “อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในจิตใจ จึงดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ทั้งยังไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย”

            “แต่ผมคิดว่าทรัพย์ภายนอกดีกว่านะครับ เพราะใช้ซื้ออะไรต่อมิอะไรที่ต้องการได้” ชายหนุ่มแย้ง

            “เธอมันก็เป็นเสียอย่างนี้ ชอบตะแบงอยู่เรื่อย ๆ ฉันไม่อยากพูดกับเธอแล้ว พูดไปก็เหมือนเป่าปี่ให้ความฟัง” ท่านพระครูเปรียบเทียบค่อนข้างรุนแรง

            “โธ่หลวงพ่อ อยู่ดีไม่ว่าดี มาด่าผมว่าเป็นความซะแล้ว คนอย่างผมออกฉลาดปราดเปรื่อง” ศิษย์วัดโวยวาย

            “ใช่ซี คนอย่างเธอน่ะฉลาด แต่ฉลาดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่องกลับไม่ฉลาด” ท่านหลีกเลี่ยงไม่ใช่คำว่า “โง่”

            “ทำไมจะไม่เป็นเรื่องเล่าครับ หลวงพ่อให้ผมเข้ากรรมฐาน ผมก็เข้าแล้ว แถมยังจะให้คู่หมั้นมาเข้าอีกด้วย แล้วอย่างนี้ไม่ฉลาดหรือครับ นี่ผมชักน้อยใจแล้วนะ หลวงพ่อไม่เคยเห็นความดีของผมเลย” คนพูดรู้สึกน้อยใจจริงดังวาจา

            “เข้าเค้าแล้ว” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ

            “มีอะไรอีกหรือครับ” ถามงง ๆ

            “เธอเคยได้ยินคนเขาพูดกันไหมว่า คนหัวล้านมักใจน้อย แสดงว่าใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว”

            “เถอะครับ อะไรมันจะเกิดก็ให้มันเกิด ผมไม่อยากจะคิดมากแล้ว” ชายหนุ่มพูดปลง ๆ

            “ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี จะได้ไม่มีทุกข์ ว่าแต่ว่าเรามาพูดเป็นงานเป็นการกันดีกว่า ฉันคิดว่าหลังจากเธอแต่งงานแล้ว เธอก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิงเขา แล้วฉันก็จะต้องหาคนมาอยู่รับใช้แทนเธอ เจ้าขุนทองคนเดียวมันคงไม่ไหว แล้วฉันก็ไม่ค่อยจะไว้วางใจมันสักเท่าไหร่ เจ้านี่มันคุ้มดีคุ้มร้าย เอาแน่ไม่ได้ เธอคิดจะไปหางานอื่นทำหรือว่าจะยังมาขับรถให้ฉันล่ะ พูดมาตรง ๆ เลยไม่ต้องเกรงใจ”

            “ผมจะมารับใช้หลวงพ่อเหมือนเดิมครับ แต่ขอมาเช้าเย็นกลับ หรือถ้าวันไหนหลวงพ่อจะต้องไปธุระตั้งแต่ตีสี่ ผมก็จะมานอนที่วัด รับรองว่าไม่ให้บกพร่องในหน้าที่เลยครับ” ชายหนุ่มให้คำมั่นสัญญา

            “ดีแล้ว ขอบใจที่ยังเป็นห่วง แล้วฉันก็จะขึ้นเงินเดือนให้เธอจากเดือนละพันเป็นเดือนละพันสอง พอใจไหม”

            “เป็นพระคุณอย่างสูงครับ ว่าแต่ว่าหลวงพ่อจะให้ใครมาอยู่แทนผมครับ” เขาถาม

            “ฉันก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน เธอพอจะมองเห็นใครที่จะเข้ากับเจ้าขุนทองได้บ้าง คือมาอยู่แล้วจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันให้ฉันต้องปวดหัวน่ะ” ชายหนุ่มครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งจึงตอบว่า

            “เจ้าสมชาติน้องชายผมซีครับหลวงพ่อ เจ้าหมอนี่มันใจเย็นแล้วก็ไม่ขัดใจใคร เจ้าขุนทองต้องชอบแน่ ๆ เลย”

            “แล้วตอนนี้เขาทำงานอะไร เธอคิดว่าเขาจะมาอยู่กับฉันหรือ”

            “มาแน่ครับ เจ้านี่มันเชื่อผม แล้วมันก็เคยบ่นว่าขี้เกียจทำนา คงไม่มีปัญหารับ เรื่องนี้ผมจะจัดการให้เรียบร้อย” ศิษย์วัดรับคำแข็งขัน

            “งั้นก็รีบไปจัดการเสียเลย ให้มาวันนี้พรุ่งนี้ได้ยิ่งดี”

            แล้ววันสำคัญที่สุดในชีวิตของนายสมชายก็มาถึง เป็นวันที่เขาแต่งตัวอย่างหล่อเหลาที่สุด และเจ้าสาวของเขาก็สวยสะดุดตากว่าทุกวัน

            แขกเหรื่อพากันมาร่วมงานอย่างคับคั่ง และส่วนมากก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านพระครู โดยเฉพาะเถ้าแก่บ๊กนั้น “รับไหว้” คู่บ่าวสาวเป็นเงินถึงหนึ่งหมื่นบาท

            เมื่อหายจากโรคร้าย บุรุษนั้นไม่ลืมวาจาที่เคยพูดไว้ ว่าจะให้เทวดาที่ต่ออายุให้ โดยคิดเฉลี่ยปีละหมื่นและเพราะเห็นว่านายสมชายมีบุญคุณ นำยามาให้อย่างสม่ำเสมอ จึงตั้งใจจะช่วยเหลือเขาจนสุดความสามารถ

            หลังจากปฏิบัติกรรมฐานอยู่ที่วัดป่ามะม่วงครบสามเดือนแล้ว ชายชราจึงกลับบ้าน และนำเงินมาถวายท่านพระครูห้าหมื่นบาท เพื่อสมทบทุนสร้างหอประชุม และทุนเสริมสมอง รายการละสองหมื่นบาท ส่วนอีกหนึ่งหมื่นบาทเขาถวายท่านพระครูไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็ได้นำเงินจำนวนนั้นมา “รับไหว้” คนเป็นศิษย์

            เพียงสองรายแรก คู่บ่าวสาวก็ได้เงินก้นถุงเป็นจำนวนถึงสองหมื่นบาท แล้วก็ยังมีรายละห้าพันบาทอีกสามรายคือ เถ้าแก่เส็ง คหบดี และอาจารย์ชิต โดยเฉพาะอาจารย์ชิตนั้นได้กำชับนักกำชับหนาว่าหากนายสมชายจะแต่งงานให้ส่งการ์ดเชิญไปให้เขาด้วย เพราะต้องการจะตอบแทนบุญคุณที่ชายหนุ่มได้ดูแลช่วยเหลือเขาเป็นอย่างดีระหว่างที่ป่วยอยู่ที่วัดป่ามะม่วง

            นอกจากรายใหญ่ ๆ ห้ารายแล้ว ก็มีรายละพัน รายละห้าร้อย ลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ และรายที่น้อยที่สุดก็คือห้าบาท ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดและส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงซึ่งจะยกกันมาทั้งครอบครัว แล้วพากันกินอย่างอิ่มหนำสำราญด้วยเงินช่วยเพียงห้าบาทเท่านั้น

            สัปดาห์ต่อมานายสมชายก็พาภรรยามากราบท่านพระครูที่วัดป่ามะม่วงและนำเงินมาถวายห้าหมื่นบาท

            “ผมขอถวายคืนหลวงพ่อ เพื่อสมทบทุนสร้างหอประชุมตามเจตนารมณ์ของคหบดีเขาครับ” เขาเรียนชี้แจง

            “ไปเอาเงินมาจากไหน” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “เงินที่เขารับไหว้และเงินช่วยงานครับ เบ็ดเสร็จได้ถึงเจ็ดหมื่น เพราะบารมีของหลวงพ่อทีเดียว ผมถึงได้เงินช่วยมากมายถึงปานนี้ แถวบ้านผมไม่เคยมีใครได้มากเท่านี้มาก่อนเลยครับ” ชายหนุ่มพูดอย่างภูมิใจ

            “แต่ถ้าเธอจะทำบุญก็ถือว่าเป็นเงินของเธอนะ เพราะคหบดีเขาให้เธอแล้ว เป็นอันว่างานนี้คหบดีได้บุญสองต่อ” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าว

            “ครับ งั้นผมก็โชคดีที่ได้ทำบุญเป็นเงินจำนวนมากมายอย่างนี้”

            “แหม ถ้าหนูแต่งแล้วได้เงินช่วยมาก ๆ ยังงี้คงดีใจตายเลย” นายขุนทองว่า

            “ถ้างั้นก็อย่าแต่งเลยวะ ข้ายังไม่อยากให้เอ็งตาย อยากให้อยู่รับใช้หลวงพ่อไปก่อน” คนมากวัยกว่าออกความเห็น

            “แหม พี่ละก็ หนูแค่พูดเล่น ๆ เท่านั้นเอง อยู่กะหลวงลุง ขืนดีใจตายก๊อเสียชื่อหลวงลุงแย่ หนูรู้หรอกน่าเวลาดีใจมาก ๆ ต้องกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” รับรองว่าไม่ตาย” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดบวกอีกหนึ่งอธิบาย ท่านเจ้าของกุฏิจึงกล่าวเสริมอีกว่า

            “เออ รู้อย่างนี้ก็ดีแล้ว คนเราสมัยนี้ไม่ค่อยจะฝึกสติกัน ดีใจมากก็ช็อคตาย เพราะไม่รู้จักกำหนดสติ ไม่รู้จักวางเฉยในโลกธรรมทั้งฝ่ายอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ บางคนถูกรางวัลที่หนึ่งตั้งห้าแสนแต่กลับไม่ได้ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว เพราะดีใจจนช็อคตายไปเสียก่อน”

         “ก็เขาไม่ได้มาเรียนกรรมฐานกับหลวงลุง จึงไม่รู้จักกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” ถ้าเป็นขุนทองเรอะ ส.บ.ม.”

            “แต่พูดกับทำไม่เหมือนกันหรอกนะเจ้าขุนทอง ข้าว่าเอ็งน่าจะลองปฏิบัติดู ไม่ใช่รู้แต่ทฤษฎี คนที่เรียนว่ายน้ำจากทฤษฎี พอตกน้ำก็ตายเรียบร้อยทุกราย”ท่านเจ้าของกุฏิเปรียบเทียบ

            “เอาไว้วันหนังหนูค่อยลอง รอให้ใจคอมันปลอดโปร่งกว่านี้อีกสักหน่อย” หลานชายผัดผ่อน

            “มัวผัดวันประกันพรุ่งอยู่นั่นแหละ ระวังจะสายเกินไป” ท่านพระครูเตือน

            “เถอะน่า รับรองว่าไม่สาย ไว้ใกล้ ๆ แต่งงานแล้วหนูค่อยเข้ากรรมฐาน แบบพี่สมชายไง” ชายหนุ่มให้เหตุผล

            “แล้วตอนนี้จวนหรือยัง จวนแต่งหรือยังจ๊ะ” ภรรยานายสมชายกระเซ้า

            “จวนแล้วฮ่ะ ยังขาดอีกอย่างเดียว” เขาตอบ

            “ขาดอะไร เผื่อพี่พอจะหาให้ได้” หล่อนแสดงน้ำใจไมตรี

            “ยังขาดเจ้าบ่าวฮะ นอกนั้นพร้อมแล้ว”

            “มันจะมากไปเจ้าขุนทอง มันจะมากไป” ท่านพระครูว่าคนเป็นหลาน

            “ไม่มากหรอกหลวงลุง ไม่เชื่อหลวงลุงจะลองดูก็ได้ ลองหาเจ้าบ่าวมาให้หนูซักคน แล้วดูซิว่าหนูจะยอมเข้ากรรมฐานหรือไม่”

            “ข้าไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาให้เอ็ง ถ้าหาเจ้าสาวละก็พอจะหาให้ได้” คนเป็นสมภารรู้สึกอ่อนใจ

            “อุ๊ย หนูจะเอามาทำไมเจ้าสาวน่ะ ก็หนูเป็นเจ้าสาวอยู่แล้ว ขืนหามาอีกได้ฟ้าผ่าตายปะไร หลวงลุงนี่พิลึกจริง ๆ”

            “ข้าว่าเอ็งนั่นแหละพิลึก สมชายเธอเห็นด้วยไหม” ท่านถามคนเป็นศิษย์

            “อย่าไปเถียงกับมันเลยครับหลวงพ่อ ปวดหัวเปล่า ๆ มันจะว่ายังไงก็ปล่อยให้มันว่าไปคนเดียว อ้อหลวงพ่อครับ เจ้าสมชาติน้องชายผมไปไหนเสียล่ะครับ” ชายหนุ่มถามถึงน้องชายซึ่งได้มาอยู่รับใช้ท่านพระครูแทนเขาประมาณสิบวันแล้ว

            ช่วงก่อนแต่งงานเขามีธุระยุ่งมาก ประกอบกับท่านเจ้าของกุฏิไม่ได้มีธุระไปไหน เขาจึงไม่ได้มาวัดและไม่เห็นน้องชายเสียหลายวัน ท่านพระครูยังไม่ทันตอบ คนถูกถามหาก็เดินเข้ามาพอดี

            “อุ๊ยตาย พี่สมชาย พี่แป้งร่ำ มายังไงกันนี่ แหม ดีใจ๊ดีใจ” คนชื่อสมชาติทักทายดวยเสียงมีจริตจะก้าน นายสมชายมองหน้าท่านพระครู เหมือนจะถามว่าได้เกิดอะไรขึ้น

            “ดูเอาเอง” ท่านเจ้าของกุฏิตอบโดยไม่รอให้ถาม

            “สมชาติ เอ็งเป็นอะไรไป ก็เป็นผู้ชายอยู่ดี ๆ ไหงมากระตุ้งกระติ้งยังกะผู้หญิงล่ะ” คนเป็นพี่ชายสงกา

            “ก็ถามขุนทองเขาดูซี นิขุนทองนิ” ชายหนุ่มหันไปพยักพเยิดกับนายขุนทอง หนุ่มวัยยี่สิบสองหมาด ๆ ยิ้มอย่างมีชัยแล้วว่า

            “เขาเรียกออสโมซิสฮ่ะ คนเราจะอยู่ด้วยกันก็ต้องมีอะไร ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ถึงจะอยู่ด้วยกันยืด”

            “แล้วที่เองอยู่กับข้ามานาน ทำไมเอ็งถึงไม่ปรับตัวให้เหมือนข้าหือ”นายสมขายแย้ง

            “พี่ไม่ปรับตัวเขาหาหนูต่างหากล่ะ สมชาติเขาฉลาดกว่าพี่เยอะตรงที่รู้จักปรับตัว.” คนเป็นหลานท่านพระครูว่า

            “เอาอีกแล้ว ว่าข้าโง่อีกแล้ว” สามีนางแป้งร่ำว่า

            “พี่สองคนมาธุระอะไรหรือเปล่าฮะ” นายสมชาติถามขึ้น คนเป็นพี่ชายจึงว่า

            “ก็จะมาดูเอ็งนั่นแหละว่าอยู่สุขสบายดีหรือเปล่า”

            “แล้วพี่เห็นว่าหนูสบายหรือเปล่าล่ะฮะ คนเป็นน้องย้อนถาม”

            “ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ที่รู้แน่ ๆ คือตัวข้านี่แหละยังไม่สบาย มาเห็นเอ็งเป็นแบบเจ้าขุนทองไปอีกคน บอกตามตรงว่าข้าไม่สบายใจเลย หลวงพ่อทำไมเลี้ยงผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิงล่ะครับ” เขาถือโอกาสต่อว่าท่านพระครู

         “ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เลี้ยงมันเหมือนที่เลี้ยงเธอทุกอย่างนั่นแหละ แต่ทำไมมันถึงไม่เหมือนเธอก็ไม่รู้”

         “ต้องยกให้เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ใช่ไหมครับ”

         “ก็คงต้องเป็นยังงั้น แต่ที่เธอเห็นนี่ยังไม่เท่าที่ฉันเห็นหรอก” ท่านโน้มตัวมากระซิบข้างหูคนเป็นศิษย์ว่า

         “ที่ฉันเห็นนะ เจ้าสองคนนี่มันเพี้ยนหนักกว่านี้อีก เวลามีพวกเด็กหนุ่ม ๆ หล่อ ๆ มาเข้ากรรมฐาน มันจะแวะเวียนไปแถวกุฏิกรรมฐานวันละหลายเวลา ไปแอบดูเขาแล้วก็เอามาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหล่อยังงั้นยังงี้ บางทีก็ย่างกันเสียด้วยซ้ำ ท่าทางมันจะกู่ไม่กลับทั้งคู่นั่นแหละ” ท่านพระครูแฉพฤติกรรมของคนทั้งสอง

         “หลวงลุงนินทาอะไรหนู” หลานชายว่า

         “ข้าเปล่านินทา ข้าพูดความจริงต่างหากล่ะ”

         “ก็ถ้าพูดความจริงแล้วทำไมต้องกระซิบด้วยล่ะฮะ” นายขุนทองแย้ง

         “นั่นเพราะเอ็งไม่ยอมรับความจริงต่างหากล่ะ ข้าก็เลยต้องกระซิบน่ะซี หรือเอ็งจะเถียง”

         “ไม่เถียงก็ได้ฮะ ว่าแต่ว่าหลวงลุงลงรับแขกเถอะฮ่ะ หนูปล่อยให้พวกเขารอนานแล้ว” หลานชายเตือนนายสมชายและภรรยาจึงกราบลาท่านเจ้าของกุฏิ

         “ถ้าหลวงพ่อจะมีธุระไปไหนก็ให้เจ้าสมชาติไปตามผมนะครับ แต่ถ้ายังไม่มี ผมก็จะขอพักอีกสักสองสามวันแล้วค่อยมาทำงาน”

         “ไม่เป็นไร เชิญพักผ่อนตามสบายเถอะ ฉันยังไม่มีรายการไปไหนในช่วงนี้ ว่าจะสะสางให้เสร็จ ๆ เสียที โดยเฉพาะงานเขียนหนังสือ” ก่อนกลับชายหนุ่มยังสั่งนายขุนทองและนายสมชาติว่า

         “เอ็งสองคนช่วยกันดูแลหลวงพ่อให้ดีนะ อย่ามัวแต่ไปเที่ยวแอบดูหนุ่ม ๆ ล่ะ”

         “รับรองฮ่ะ ทีนี้ถ้าจะไปก็จะผลัดเวรกันไป จะไม่ไปพร้อมกัน ใช่ไหมขุนทอง” คนชื่อสมชาติพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน

         “ใช่แล้วสมชาติ” คนพูดตั้งใจลากเสียงยาวจนเกิดความจำเป็น

         เมื่อท่านพระครูลงรับแขกที่กุฏิชั้นล่าง มีเจ้าทุกข์รออยู่แล้วประมาณยี่สิบคน สตรีวัยห้าสิบเศษเข้ามากราบ

         “จะให้ช่วยอะไรหรือโยม” ท่านเอ่ยขึ้นก่อน

         “คืออย่างนี้ค่ะ ลูกชายดิฉันมันหลงเมียเสียจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ดิฉันทนไม่ได้ค่ะ”

         “ทำไมถึงทนไม่ได้ล่ะโยม”

         “มันหมั่นไส้ค่ะ หมั่นไส้เหลือเกิน” คนเป็นแม่ผัวตอบ

         “อย่าไปหมั่นไส้เขาเลย เราน่าจะดีใจเสียอีกที่เห็นเขารักใคร่ปรองดองกัน คนเป็นแม่จะต้องมีมุทิตาจิต ไม่ใช่ไปหมั่นไส้เขา นะโยมนะ”

         “มันทำใจไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ ดิฉันไม่เคยพบเห็นผู้ชายที่ไหนหลงเมียถึงปานนี้ ขนาดพ่อเด็กเขาก็ยังไม่เคยหลงดิฉันอย่างนี้มาก่อน”

         “โยมก็เลยอิจฉาลูกสะใภ้ใช่ไหมล่ะ” ยังไง ๆ ท่านก็เข้าข้างคนเป็นสะใภ้ เพราะยังจำฤทธิ์ร้ายของคนเป็นแม่ผัวในอดีตชาติได้ดี แม้ปัจจุบันจะไม่เคืองแค้น หากก็ยัง “จำ” ความร้ายกาจของฝ่ายนั้นได้

         “มันก็ไม่เชิงอิจฉานะคะ ถ้าเขาจะทำตัวดีกว่านี้ ดิฉันจะไม่อิจฉาเขาเลยค่ะ”

         “เขาทำตัวยังไงล่ะ”

         “โอ๊ย อย่าให้พูดเลยค่ะหลวงพ่อ พูดแล้วมันช้ำใจ” ว่าแล้วก็ร้องไห้ด้วยเคียดแค้นชิงชังในคนเป็นสะใภ้

         “ก็ถ้าไม่พูดแล้วอาตมาจะรู้ได้ยังไงล่ะ”

         “จริงซีคะ แหม ดิฉันไม่น่าโง่เลย” นางว่าตัวเอง แล้วเริ่มต้นเล่าเป็นฉาก ๆ อย่างชำนิชำนาญ เพราะเคยเล่าให้เพื่อนบ้านฟังทุกบ้านและทุกวันจนหาคนฟังไม่ได้ จึงต้องมาวัดป่ามะม่วงเพื่อเล่าให้ท่านพระครูฟัง

         “คืออย่างนี้นะคะหลวงพ่อ ลูกสะใภ้ของดิฉันน่ะ สวยก็ไม่สวยความรู้ก็ไม่สูง กิริยามารยาทหรือก็ไม่บ่งบอกว่าเป็นชาติผู้ดี แถมฐานะก็ยากจนข้นแค้น ดิฉันก็ไม่รู้ว่าไอ้ลูกชายของดิฉันมันไปหลงได้ยังไง ดิฉันจะไปขอลูกสาวเศรษฐีให้ เขาทั้งสวยทั้งรวยมันก็ไม่สนใจเขา ดันไปคว้าแม่นี่มาเป็นเมีย”

         “ก็เขาชอบของเขานี่โยม เขาคงจะเป็นเนื้อคู่กัน ปล่อยเขาไปเถอะอย่าไปยุ่งกับเขาเลย” สมภารวัดป่ามะม่วงกล่าวเตือน

         “ไม่ยุ่งได้ยังไงล่ะคะ หลวงพ่อดิฉันสงสารลูกชายค่ะ มันใช้ลูกชายฉันยังกะขี้ข้า หาเงินมาเลี้ยงมันแล้วยังต้องมานั่งหุงข้าวทำกับข้าวให้มันกิน ต้องซักผ้าให้ ซักแม้กระทั่งกางเกงในของมัน ขนาดดิฉันเป็นแม่แท้ ๆ ยังไม่เคยให้ลูกซักกางเกงใน” คนเป็นแม่ผัวพรรณนา

         “มันจะมากไป มันจะมากไป ถ้าถึงขนาดให้ผัวซักผ้าให้แบบนั้นก็แย่น่ะซี คนอย่างนี้หากินไม่ขึ้น โบราณเข้าถือนักหนา ผู้ชายที่รักเมียถึงขนาดนี้ อาตมาไม่สรรเสริญแน่ ไม่น่าสรรเสริญเลย” เป็นครั้งแรกที่ท่านเข้าข้างแม่ผัว

         “แล้วดิฉันจะทำยังไงคะหลวงพ่อ”

         “พามาหาอาตมา แล้วจะช่วยอบรมให้ พามาทั้งสองคนนั่นแหละ”

         “ค่ะ แล้วดิฉันจะพามา ของพระคุณหลวงพ่อมาก ดิฉันถือโอกาสกราบลาละค่ะ”

         รายต่อมาเป็นบุรุษวัยห้าสิบเศษ หน้าตาเขาหมองคล้ำเหมือนคนที่กำลังมีทุกข์อย่างหนัก กราบท่านพระครูแล้วจึงเรียนว่า “เรื่องของผมเป็นความลับครับ ถ้าหลวงพ่อจะกรุณา ผมอยากปรึกษาตัวต่อตัวครับ”

         “ไม่เป็นไร พูดเบา ๆ พอได้ยินกันสองคนก็ได้ โยมมีอะไรก็ว่าไปเลย” ท่านไม่อนุญาตให้ขึ้นข้างบน ด้วยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

         “คืออย่างนี้ครับหลวงพ่อ คุณแม่ผมอายุแปดสิบ แล้วแกก็หลง หลงมาตั้งแต่ยังไม่เจ็ดสิบ ผมไม่กล้าพาไปไหน เพราะอับอายขายหน้ามาก แกมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ เห็นเข้าก็ต้องตำหนิติเตียน ผมจะบาปไหมครับถ้าเอาความลับของผู้บังเกิดเกล้ามาเปิดเผยให้หลวงพ่อทราบ”

         “โยมมีจุดประสงค์อะไรที่ต้องทำเช่นนั้นล่ะ คือหมายถึงว่าโยมมีเจตนาดีหรือเจตนาร้ายต่อท่าน”

         “เจตนาดีครับ ที่ต้องเอามาเปิดเผยก็เพื่อจะช่วยแกน่ะครับ เมื่อหลวงพ่อฟังแล้วเผื่อจะแนะนำผมได้ว่าจะมีวิธีแก้อย่างไร” ท่านเจ้าของกุฏิตอบเขาว่า

         “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่บาป เพราะโยมทำด้วยเจตนาดี” เขาหันซ้ายหันขวาเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครมาได้ยิน แล้วจึงเล่าด้วยเสียงที่เบาที่สุด

         “คือแม่ผมแกชอบล้วงเข้าไปในผ้านุ่งครับ เอามือล้วงเข้าไปตรงนั้นแล้วก็ควักมาดม เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อายุยังไม่เจ็ดสิบ ผมไม่กล้าพาแกไปไหน เพราะอับอายชาวบ้าน ก่อนหน้าที่ผมไม่ทราบว่าแกมีพฤติกรรมอย่างนี้ ผมก็พาแกไปทอดกฐินที่วัดต่างจังหวัด ซึ่งผมเป็นประธานของงาน ความที่ผมอยากให้แม่ได้บุญเลยพาแกไปด้วย แล้วแกก็ไปทำอย่างนี้ ทำให้ผมกับภรรยาอับอายเขามาก เพราะกรรมอะไรครับ แล้วผมจะแก้ไขอย่างไร” ท่านพระครูรู้สึกสังเวชใจที่ได้ยินได้ฟัง และท่านก็เห็นกฎแห่งกรรมของสตรีวัยแปดสิบอย่างทะลุปรุโปร่ง

         “มันเป็นกฎแห่งกรรมน่ะ โยมคุณแม่ของโยมทำกรรมไว้ตอนสาว แล้วกรรมนั้นก็มาให้ผลในตอนแก่ โดยอยากทราบไหมว่าท่านทำกรรมอะไรไว้”

         “อยากทราบครับ กรุณาบอกผมด้วยเถิดครับ”

         “โยมเชื่อเรื่องเสน่ห์ยาแฝดหรือเปล่า เรื่องผู้หญิงที่ชอบทำเสน่ห์ให้สามีหลง เคยได้ยินไหม”

         “เคยได้ยินครับ แต่ไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะเป็นไปได้ คือผมหมายถึงว่ามันจะได้ผลน่ะครับ” คนมีแม่อายุแปดสิบตอบ

         “จะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันก็ขึ้นอยู่กับคนถูกทำนะโยม ถ้าคนถูกทำจิตอ่อนก็ได้ผล แต่ถ้าเขาจิตแข็ง เสน่ห์ยาแฝดที่ว่าก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ทีนี้ในกรณีของคุณแม่โยมนั้นได้ผล เพราะคนพ่อโยมเป็นคนจิตอ่อน ที่อาตมาพูดมานี้โยมอาจจะไม่เชื่อ เพราะฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระใช่ไหม แต่ถ้าโยมคิดและพิจารณาตามหลักของเหตุผลแล้ว พฤติกรรมของคุณแม่โยมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีที่สุด”

         คำพูดของท่านพระครู ทำให้บุรุษวัยห้าสิบเศษหวนระลึกถึงเหตุการณ์สมัยที่เขายังเด็ก และมารดามักจะนั่งคร่อมบนอาหารที่จะให้บิดารับประทาน และหากเป็นผักสดและผลไม้ นางก็จะเอาซุกเข้าไปในผ้านุ่งเช็ดถูกับบริเวณใต้ท้องน้อยแล้วจึงนำไปให้บิดารับประทาน ท่านเจ้าของกุฏิให้เวลาเขาในการรำลึกนึกย้อนกลับไปยังอดีต เสร็จแล้วจึงพูดขึ้นว่า

         “เรื่องการทำเสน่ห์มันเป็นไสยศาสตร์ เป็นเดรัจฉานวิชา เมื่อคนถูกทำเสน่ห์ตายลง มันก็จะกลับมาหาตัวคนทำ โยมสังเกตหรือเปล่า คุณแม่โยมเริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้หลังจากที่คุณพ่อเสียไปแล้ว”

         “ครับ คงจะจริงอย่างที่หลวงพ่อว่า คุณพ่อผมเสียชีวิตตอนคุณแม่อายุหกสิบเศษ ๆ หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่ก็มีพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างที่เป็นอยู่” คนพูดรู้สึกร้อนอกร้อนใจที่มารดามามีอันเป็นเช่นนี้ได้

         “ผมจะช่วยแกได้อย่างไรครับ” ถามเสียงละห้อย

         “ช่วยไม่ได้หรอกโยม คนแก่จนหลงแล้วไม่มีทางแก้ได้ ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา สิ่งที่เกิดแล้วแก้ไม่ได้ ในกรณีนี้แก้ไม่ได้ โยมจำไว้เลย แล้วก็ไปสอนลูกหลานว่าอย่าไปทำเสน่ห์ สามีเขาจะรักหรือไม่รักก็ช่างเขา เพราะมันจิตใจของเขา เราไปห้ามไม่ได้ ถ้าไปทำเสน่ห์ให้เขามารัก บาปกรรมจะต้องตกอยู่ที่ตัวเรา เพียงแต่ว่ามันจะปรากฏผลให้เห็นเร็วหรือช้าเท่านั้น อาตมาเสียใจที่ไม่อาจช่วยคุณแม่ของโยมได้”

         “แต่ถึงจะช่วยแม่ไม่ได้ แต่ก็ช่วยผมได้ครับ เพราะเมื่อผมรู้เช่นนี้แล้วก็ทำใจได้ แม่แกเป็นคนทำกรรม แกก็ต้องรับผลของมัน แล้วผมก็จะสอนลูกหลานไม่ให้เอาเยี่ยงอย่างแก ถึงอย่างไรผมก็ได้รับประโยชน์จากการมาครั้งนี้ครับ” เขากล่าวด้วยใบหน้าที่ดูดีขึ้นนิดหนึ่ง นิดเดียวจริง ๆ

 

            มีต่อ........๗๙

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 05, 2007, 09:03:03 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00079
๗๙...

            วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๑ บรรดาศิษยานุศิษย์ได้จัดงานวันคล้ายวันเกิดให้เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอย่างสมเกียรติที่สุด หลายคนรู้ว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยอีกสองเดือนข้างหน้า ท่านจะต้องประสบอุบัติเหตุถึงแก่มรณภาพ ผู้ที่ยังตัดไม่ลงปลงไม่ตก พากันแอบร้องไห้ไว้ล่วงหน้า พระบัวเฮียวนั้นแม้จะตัดใจได้ หากก็ยังรู้สึกเสียดายอาลัยอาวรณ์

         ในความคิดของภิกษุหนุ่ม ปูชนียบุคคลเช่นท่านพระครูคงหายากนักในโลกอันแสนวุ่นวายนี้

         แจกันสีครามบรรจุดอกดาวเรืองสีเหลืองอร่ามตัดกับสีเขียวของใบเตยดูสวยแปลกตา ภิกษุเชื้อสายญวนตั้งใจตกแต่งอย่างประณีตที่สุด ด้วยรู้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อพระอุปัชฌายาจารย์ วงมโหรีปี่พาทย์ที่มาบรรเลงในงานเป็นวงเดียวกับที่เคยมาเล่นทุกปี ทว่าครั้งนี้คนฟังกลับรู้สึกว่าแต่ละเพลงที่บรรเลงนั้นฟังเศร้าสร้อยเสียดลึกเข้าไปถึงหัวใจหัวจิต ไม่ผิดกับบรรเลงในงานศพ!

         หอประชุมหลังใหญ่ขนาด ๗ x ๒๐ วา สิ้นเงินค่าก่อสร้างหนึ่งล้านห้าแสนบาท เสร็จทันเวลา และ ได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันเกิดครั้งสุดท้ายของท่านสมภารผู้ซึ่งสั่งเสียพระบัวเฮียวไว้ว่า ให้ใช้หอประชุมแห่งนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้สนใจใคร่ธรรม ตลอดจนญาติโยมผู้มีความทุกข์ เพราะต่อแต่นี้ไปจะไม่มีผู้ใดมาช่วยไขปัญหาหรือขจัดปัดเป่าทุกข์ให้เหมือนเช่นแต่ก่อน พวกเขาจะต้องแก้ปัญหาแก้ทุกข์ด้วยตัวเองโดยการมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

         สำหรับมูลนิธิ “ทุนเสริมสมอง” นั้นมีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกว่าหนึ่งล้านบาท เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมอบหมายให้พระมหาบุญเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ นำดอกผลมาใช้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน ส่วนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเถ้าแก่เส็งและเถ้าแก่บ๊กได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ขึ้นนั้น พระบัวเฮียวจะเป็นผู้เก็บรักษาและนำมาแจกญาติโยมที่สนใจในด้านการปฏิบัติ กิจการงานทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยดี ไม่มีอะไรติดขัดหรือคั่งค้าง ท่านพระครูเจริญคิดว่าท่านเตรียมตัวตายได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด และคงจะยังไม่มีผู้ใดทำได้เช่นนี้มาก่อน

         เวลา ๙ นาฬิกา บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งพระและฆราวาสพากันทยอยเข้ามาถวายดอกไม้สด และ กราบคารวะท่านพระครูผู้ซึ่งนั่งเด่นเป็นสง่าอยู่บนตั่งไม้สักสลักลายนกอ่อนช้อยงดงาม เบื้องหน้ามีแจกันและกระเช้าดอกไม้ตั้งเรียงรายจนล้นออกไปทางด้านข้างทั้งซ้ายและขวา รับประเคนดอกไม้จากศิษย์แล้ว ท่านจึงนำสิ่งของไปมอบให้โยมมารดาวัยเจ็ดสิบที่นั่งพับเพียบอยู่หน้าอาสนะสงฆ์ ของที่นำไปมอบมีผ้าโจงกระเบนลายไทยหนึ่งผืน เสื้อตัดด้วยผ้าลูกไม้อย่างดีหนึ่งตัว และปัจจัยอีกสองร้อยบาท ท่านประคองห่อของขวัญเดินเข้าไปคุกเข่าตรงหน้าโยมมารดา วางของไว้ทางด้านขวามือ แล้วก้มกราบมารดาสามครั้งแบบเดียวกับกราบพระ ด้วยถือว่ามารดาบิดาเป็นพระอรหันต์ของบุตร กราบเสร็จจึงหยิบห่อของขวัญมอบให้

         “โยมแม่ อาตมาขอกราบลา ขอให้โยมแม่จึงมีอายุยืนยาว มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิ” ท่านอวยพรมารดา

         “ท่านจะลาไปไหน” โยมมารดาถาม

         “อาตมาจะไปบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีต่อในปรโลก วันที่ ๑๔ ตุลาคม อาตมาจะออกเดินทาง” พระลูกชายตอบคำถามโยมมารดา

         “ขอให้ท่านโชคดี ขอให้บรรลุมรรค ผล สมดังความตั้งใจนะท่านนะ ไม่ต้องเป็นห่วงโยม พี่ ๆ น้อง ๆ ของท่านเขาคงจะดูแลโยมอย่างดี”

         “อาตมาขอกราบขอบพระคุณ พร้อมกันนี้อาตมาก็ขออโหสิกรรมจากโยมแม่ หากอาตมาได้พลาดพลั้งล่วงเกินโยมแม่ ไม่ว่าจะด้วยกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม ขอโยมแม่โปรดอโหสิกรรมให้อาตมาด้วย”

         “โยมอโหสิให้ท่านทุกอย่าง และโยมก็ขออโหสิกรรมจากท่านเช่นกัน”

         “อาตมาอโหสิให้โยมแม่” ท่านก้มลงกราบโยมมารดาอีกสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นกลับไปนั่งพับเพียบบนตั่งไม้สัก

         เวลาสิบนาฬิกา พระสงฆ์ ๙ รูปซึ่งนิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัด เริ่มเจริญพระพุทธมนต์และสวดธรรมจักรไปจนถึงเวลาสิบเอ็ดนาฬิกายี่สิบเก้านาที จากนั้นญาติโยมช่วยกันประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูป และพระภิกษุ สามเณรแห่งวัดป่ามะม่วงซึ่งมีทั้งสิ้น ๙๐ รูป รวมทั้งท่านเจ้าของวันเกิด เป็นปีที่มีพระเณรจำพรรษามากที่สุดนับตั้งแต่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้

         ภิกษุวัยห้าสิบเศษมีทีท่าว่าจะไม่ฉันภัตตาหารเหมือนเช่นเคย นายสมชายจึงไปกระซิบอาจารย์ชิตให้ช่วยคะยั้นคะยอให้ท่านฉัน บุรุษวัยหกสิบสี่จึงคลานเข้าไปนั่งคุกเข่าตรงหน้าตั่ง ประนมมือแล้วกล่าว “นิมนต์หลวงพ่อฉันสักนิดเถิดครับ ลูกศิษย์ลูกหารู้สึกไม่สบายใจที่เห็นท่านไม่ฉัน”

         ท่านพระครูมองอาหารคาวหวานที่ลูกศิษย์จัดใส่พานกระไหล่ทองมาถวาย แล้วจึงฉันไปสองสามคำเพื่อไม่ให้พวกเขาเสียน้ำใจ เสร็จแล้วจึงรวบช้อน ยกถ้วยบรรจุ “น้ำชา” ขึ้นดื่ม ตลอดชีวิตของท่าน มิเคยที่จะติดใจหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจ กามคุณ ๕ ไม่เคยมามีอิทธิพลเหนือความรู้สึกนึกคิดของท่าน

         เมื่อภิกษุและสามเณรทั้ง ๙๙ รูปเสร็จจากฉันภัตตาหาร บรรดาญาติโยมช่วยกันประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม

         “ปัจจัย” ที่พวกเขาถวายท่านพระครู มีจำนวนกว่าสองแสนบาท ซึ่งท่านตั้งใจจะนำไปสมทบทุนมูลนิธิ “ทุนเสริมสมอง” ต่อไป จากนั้นอาจารย์ชิตประกาศทางไมโครโฟนว่า ท่านพระครูจะแสดงธรรมเทศนาโปรดโยมมารดาและญาติโยม เพื่อให้คนฟังได้บุญอันเกิดจากการฟังธรรม หรือที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ธัมมัสสวนมัย”

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอารัมภบทก่อนแสดงธรรมว่า “กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพและขอเจริญพรญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่รักและนับถือทุกท่าน อาตมารู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาญาติโยมและศิษยานุศิษย์ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดให้อาตมา เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ทำบุญสร้างกุศลร่วมกัน กิจกรรมดังกล่าวนี้ แม้จะมิได้มีบัญญัติไว้ในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากพุทธศาสนิกชนก็ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานจนกลายเป็นประเพณี คือประเพณีทำบุญวันเกิด

         อย่างไรก็ตาม การจัดการวันเกิดที่อาตมาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ก็คือการร่วมวงสรวลเสเฮฮาดื่มสุรายาเมากัน เพราะการกระทำเช่นนั้น นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังได้บาปอีกด้วย บางคนดื่มสุราเสียเมามายในวันเกิดแล้วขับรถไปชนกันถึงแก่ความตายก็มี ญาติโยมลองพิจารณาดู การตายแบบนั้นมันดีหรือไม่ อาตมารับรองได้ว่าเขาจะต้องไปทุคติ เพราะคนที่ตายขณะขาดสติเช่นนั้นไม่มีทางที่จะไปสุคติได้ อาตมาขอบิณฑบาตอย่าไปจัดฉลองวันเกิดกันแบบนั้นเลย เพราะนอกจากจะหาประโยชน์มิได้แล้วยังสื้นเปลืองเงินทองอีกด้วย” บรรดาญาติโยมที่ฟังอยู่ ไม่มีผู้ใดคิดโต้แย้งหรือคัดค้านในสิ่งที่ท่านพูด บางคนที่เคยทำเช่นนั้นก็ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะไม่ทำอีก

         “เอาละ ในโอกาสที่ญาติโยมได้พร้อมใจกันจัดงานวันเกิดให้อาตมาในวันนี้ อาตมาก็จะตอบแทนบุญคุณด้วยการแสดงพระธรรมเทศนาให้ญาติโยมฟัง โดยจะเทศน์เรื่อง “พระคุณแม่” และก็คงจะเป็นการเทศน์ครั้งสุดท้าย เพราะปีต่อ ๆ ไปคงจะไม่มีการจัดงานวันเกิดของอาตมาอีก” ท่านบอกเป็นนัย ๆ ซึ่งหลายคนรู้ว่าท่านหมายถึงอะไร

         “ที่อาตมาเลือกเทศน์เรื่องพระคุณแม่ เพราะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่าน ถ้าไม่มีแม่เราทุกคนก็ไม่ได้เกิด อันนี้เป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ ผู้ใดก็ตามที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อฟังเทศน์แล้วให้กลับไปหาแม่ ไปกราบเท้าขอศีลขอพรจากท่าน จะได้มั่งมีศรีสุข ส่วนคนที่เคยทำไม่ได้ไว้กับท่านก็นำธูปแพเทียนแพไปกราบขออโหสิกรรม ล้างเท้าให้ท่านด้วย เป็นการขอขมาลาโทษ

         บางคนไปรังเกียจคุณแม่ว่าแก่เฒ่าไม่สวยไม่งาม พอตัวเองแก่ก็เลยถูกลูกหลานรังเกียจ จึงเป็นกงกรรมกงเกวียนยืดเยื้อกันต่อไปอีก ใครที่คุณแม่ล่วงลับไปแล้วก็ให้หมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน และถ้าจะทำบุญด้วยการมาเจริญกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไป การทำเช่นนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุดทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ”

         คนฟังซึ่งมีทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาสต่างพากันรำลึกนึกถึงมารดาตน คนที่เคยเถียงพ่อเถียงแม่คำไม่ตกฟาก ก็เพิ่งจะรู้ตัวว่าได้สร้างกรรมทำเข็ญไว้กับผู้บังเกิดเกล้า จึงคิดที่จะกลับไปทำตามที่ท่านพระครูแนะนำ

         “ญาติโยมโปรดจำไว้ วันเกิดของลูกคือวันตายของแม่ เพราะวันที่ลูกเกิดนั้นแม่อาจต้องเสียชีวิต การออกศึกสงครามเป็นการเสี่ยงชีวิตสำหรับคนเป็นพ่อฉันใด การคลอดลูกก็เป็นการเสี่ยงตายสำหรับคนเป็นแม่ฉันนั้น

         ในสมัยโบราณที่วิทยาการต่าง ๆ ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ อัตราการตายเพราะการคลอดมีสูงมาก คนโบราณเขาจึงกล่าววันเกิดของลูกคือวันตายของแม่

         เมื่อคลอดลูกแล้ว แม่ก็ยังต้องประคบประหงมเลี้ยงดู ให้ดื่มเลือดในอกเป็นอาหาร ยามที่ลูกเจ็บป่วยก็อมยาพ่นฝนยาทารักษากันไปตามมีตามเกิด แม้เฝ้ากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่กระทั่งลูกแต่งงานมีเหย้ามีเรือนไปแล้ว แม่ก็ยังเฝ้าห่วงใยรักใคร่ไม่จืดจาง” ท่านหยุดจิบ “น้ำชา” จากถ้วย แล้วจึงเทศนาต่อ

         “อาตมาเห็นความทุกข์อย่างแสนสาหัสของคนเป็นแม่ก็ตอนที่เป็นหมอตำแยทำคลอดให้พี่สาว แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านพ้นมาเกือบสี่สิบปีก็ยังจำภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ติดตาติดใจมากระทั่งทุกวันนี้ อาตมาจะเล่าให้ญาติโยมฟัง” ท่านหยุดทบทวนเรื่องราวแต่หนหลังแล้วเล่าว่า

         “สมัยนั้นอาตมาอายุสิบหาแต่ยังไม่ประสีประสาอะไร ยังเปลือยกายโดดน้ำตูม ๆ กับเพื่อนอย่างสนุกสนาน แต่เด็กสมัยนี้อายุสิบหกเป็นหนุ่มกันแล้ว” ท่านเล่าถึงชีวิตแสนลำเค็ญในครั้งนั้นว่า “อาตมาอาศัยอยู่กับยาย ลำบากลำบนมาก ต้องหาเงินเรียนเอง ตื่นตั้งแต่ตีสาม หาบของไปขายในตลาดบางขาม ห่างจากบ้านไป ๑๔ กิโลเมตร ถึงตลาดตี ๔ กว่า ๆ ก็นั่งขายของซึ่งเป็นพวกผักสวนครัวที่ช่วยกันปลูกกับยาย พอตีห้าก็ขายหมด บางวันขายไม่ค่อยดี ก็ไปหมดเอา ๗ โมง จากนั้นก็หาบกระจาดเปล่ากลับบ้าน หิวข้าวก็ต้องทนเอาเพราะยายสั่งไม่ให้ซื้อเขากิน ให้กลับมากินบ้านเรา ยายว่าซื้อเขากินมันแพง จานละตั้งสามสตางค์ สู้กลับมากินข้าวที่บ้านไม่ได้ อาตมาก็จำเป็นต้องเชื่อยาย บางทีกว่าจะถึงบ้านหิวแทบลมจับ

         อยู่มาวันหนึ่งขณะที่อาตมาหาบกระจาดเปล่ากลับบ้านพบกับพี่สาวกลางทาง เขากำลังท้องแก่จะเดินทางไปคลอดลูกที่บ้านแม่ของเขาซึ่งเป็นป้าของอาตมา ที่ต้องเดินทางไปคลอดบ้านแม่เพราะเขาอยู่กับพ่อผัว แม่ผัว ซึ่งรังเกียจว่าเขาจนและไม่ยอมช่วยเหลือเกื้อกูลแต่ประการใด เดินไปได้ครึ่งทางก็เกิดปวดท้องนอนร้องครวญครางอยู่ใต้ต้นไทร พอเห็นอาตมาเดินผ่านมา เขาก็ดีใจพูดกับอาตมาว่า

         “น้องเอ๋ยช่วยพี่ด้วย พี่ปวดท้องใจจะขาดอยู่แล้ว ช่วยเอาลูกออกให้พี่ที” อาตมาถึงจะอายุสิบหกแต่ก็ยังไม่รู้ว่าเขาออกลูกกันยังไง ผู้ใหญ่เขาเคยพูดให้ฟังว่าเขาออกลูกทางปาก บางคนก็บอกออกทางสะดือ บางคนก็ว่าออกทางก้น อาตมาก็เชื่อ นึกว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ที่แท้ก็ถูกผู้ใหญ่หลอก เพิ่งมารู้ความจริงตอนทำคลอดให้พี่สาวนี่แหละ

         พี่สาวเขาก็ร้องใหญ่ เขาบอกปวดมาก แล้วก็เป็นลูกท้องแรกจึงยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการคลอดลูกมาก่อน ได้ยินพี่สาวร้องโอย ๆ อาตมาก็ทำอะไรไม่ถูก เลยถามเขาว่าจะให้ช่วยยังไง เขาก็บอกช่วยดึงเด็กออกจากท้องให้เขาที มันกำลังจะออกแล้ว อาตมาก็ยังงงอยู่เลยนึกถึงเทวดา ก็นึกตามประสาเด็ก ๆ ไม่รู้ว่าเทวดามีจริงหรือเปล่า แต่ยายเคยเล่าให้ฟังบ่อย ๆ ก็คิดว่าคงจะมีมั้ง เลยประนมมือบอกรุกขเทวดาประจำต้นไทรให้ช่วย แล้วก็ร่ายคาถาชุมนุมเทวดาที่ยายเคยสอนจนจำได้ขึ้นใจ” แล้วท่านจึงร่ายบทชุมนุมเทวดาด้วยเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้งว่า...

            สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะ ระตะเฎ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฎเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะ วัตถุมหิ เขตเต ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฎฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ

            ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตาฯ

         คนฟังพากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ รู้สึกว่าหูของตนมีบุญที่ได้ฟังท่านร่ายพระคาถา

         “พอว่าคาถาจบ เทวดาเข้าสิงอาตมาเลย ที่รู้ว่าเทวดาเข้าสิงเพราะท่านมากระซิบข้างหูว่า “ดึงเด็กออกมา ดึงเด็กออกมา” อาตมาถาม “ดึงยังไง เด็กอยู่ที่ไหน” เทวดาบอก “อยู่ในท้อง เอามือล้วงเข้าไปในผ้านุ่งก็จะเจอหัวเด็ก” อาตมาก็ทำตาม ดึงพรวดสุดแรงเลย เสียงพี่สาวร้องกรี๊ดแล้วสลบเหมือดไปเลย อาตมาก็ตกใจ เพราะเห็นไส้ยาว ๆ ติดตัวเด็กออกมา คิดว่าเราคงดึงไส้พี่สาวออกมาหมดท้องแล้วมัง พี่สาวคงต้องตายแน่ ๆ จะทำยังไงดีหนอ เสียงเทวดากระซิบข้างหูว่า

         “ไม่ตายหรอก แค่สลบไปเท่านั้น ไปจัดการตัดสายรกให้เด็กก่อน ที่เธอเห็นนั่นเรียกว่าสายรก ไม่ใช่ใส้ของพี่สาวเธอหรอก” อาตมาก็ถามว่า “เอาอะไรตัดล่ะ มีดพร้าก็ไม่มี” เทวดาบอก “เอาเล็บของเธอนั่นแหละ จิกแน่น ๆ แล้วดึงมันจะขาดเอง” สมัยนั้นพวกหนุ่มรุ่น ๆ เขานิยมไว้เล็บยาวกัน เรียกว่าเป็นแฟชั่น อาตมาก็ไว้กับเขา คือเขาจะไว้เล็บข้างละสองนิ้ว นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วก้อย อาตมาก็ทำตามที่เทวดาบอก พอรกขาดเลือดพุ่งเลย เด็กส่งเสียงร้องอุแว้ ๆ ลั่นป่า เทวดาบอกอีกว่า “ไปเอาฝุ่นมาโรงตรงแผล” อาตมาก็กอบฝุ่นโรงลงไปปรากฏว่าเลือดหยุดไหลแต่เด็กไม่หยุดร้อง เทวดาก็บอกอีกว่า “เอากระบอกไม้ไผ่อันหนึ่งที่แขวนอยู่ที่กิ่งไทร ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครนำไปแขวนไว้ อาจเป็นเทวดาก็ได้นะ” ท่านพูดยิ้ม ๆ คนฟังยิ้มตาม

         “ข้าง ๆ ต้นไทรมีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่ง อาตมาจึงหยิบกระบอกเดินไปตักน้ำมาหยอดใส่ปากเด็ก เจ้าหนูหยุดร้องไห้เลย ดูดหยดน้ำจากนิ้วมืออาตมา เสียงดังจุ๊บ ๆ เป็นภาพที่ซึ้งใจอาตมามาจนทุกวันนี้ ได้เห็นสัญชาตญาณการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิตก็ตอนที่เจ้าหนูดูดน้ำจากนิ้วมือนี่แหละ พอได้น้ำเจ้าหนูก็หยุดร้อง

         เทวดาก็กระซิบข้างหูอีกว่า “ช่วยพี่สาวด่วน ดูดปากเอาเลือดที่คั่งออก” อาตมาก็เอามือง้างปากพี่สาว ดูดเลือดและเสมหะของพี่สาวแล้วบ้วนทิ้ง ไม่ได้นึกรังเกียจเพราะกลัวเขาจะตาย สักพักพี่สาวก็ฟื้น ถามว่า “น้องเอ๋ย ลูกพี่ผู้หญิงหรือผู้ชาย” พอรู้ว่าได้ลูกชายเขาก็ดีใจ อาตมาก็เลยช่วยพากลับบ้านทั้งแม่ทั้งลูก ปัจจุบันพี่สาวอายุเกือบ ๆ จะหกสิบ ส่วนหลานชายที่อาตมาทำคลอดอายุเกือบสี่สิบแล้ว นี่แหละที่ทำให้อาตมาเห็นใจคนเป็นแม่ แล้วก็รักแม่มาตั้งแต่บัดนั้น” เมื่อท่านเทศน์จบ หลายคนแอบเช็ดน้ำตารวมทั้งโยมมารดาของผู้เทศน์ด้วย

 

            มีต่อ........๘๐

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ช่างเล็ก(LSV) ที่ พฤษภาคม 05, 2007, 09:03:58 AM
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๘๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00080
๘๐...

            เช้าตรู่ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ขณะที่ท่านพระครูกำหนดจิตออกจากผลสมาบัติ เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นใกล้หู “วันนี้ใช้หนี้นกเป็ดน้ำ” ท่านตอบในใจว่า “รู้แล้ว” เมื่อหกเดือนก่อนก็มาเตือนครั้งหนึ่งแล้ว” และยังไม่ทันจะลืมตา เสียงเดิมบอกอีกว่า “ใช้หนีเต่าด้วย”

            “ก็ใช้ไปแล้วไง ใช้ไปเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ ทำไมถึงมาทวงอีก” ท่านยังจำได้แม้เหตุการณ์จะผ่านมาจึงเจ็ดปีเต็ม ๆ “วันนั้นใช้แค่เงินต้น แต่วันนี้จะคิดดอกเบี้ย”

         “เป็นอันว่า วันนี้ใช้สองงานเลยก็ดีจะได้หมดหนี้หมดสิน” จากนั้นท่านจึงตั้งจิตแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวร โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำฝูงนั้นกับเต่าอีกเจ็ดตัวที่รับจ้างเขาต้ม เสร็จกิจดังกล่าว จึงลงไปสรงน้ำ แปรงฟัน แล้วออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ โดยมีนายสมชายหิ้วปิ่นโตเดินตามหลัง

         “โยม อาตมาขอขอบใจที่ใส่บาตรให้ฉันมานาน วันนี้จะเป็นวัดสุดท้าย เพราะเวลาเที่ยงสี่สิบห้า อาตมาจะได้รับอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักตาย มาบิณฑบาตไม่ได้อีก ขอให้โยมจงมีความสุขความเจริญนะโยมนะ” ท่านจะพูดเช่นนี้กับผู้มาใส่บาตรทุกคน หลายคนเชื่อและรู้สึกเสียใจที่จะไม่ได้พบเห็นท่านอีก แต่บางคนก็คิดว่า “หลวงพ่อวัดป่ามะม่วงท่าจะเพี้ยนเสียแล้ว มีอย่างที่ไหน มาบอกว่าจะตายวันนี้ ใครเล่าจะรู้วันตายของตัวเอง พิกลแท้ ๆ”

         กลับจากบิณฑบาตโปรดสัตว์ ท่านฉันภัตตาหารแล้วจึงจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนเช้า เสียงที่มาเตือนนั้นถูกท่านบันทึกไว้ทุกถ้อยคำ เสร็จแล้วจึงลงมารับแขกยังกุฏิชั้นล่าง ประโยคแรกที่พูดกับพวกเขาคือ “ต่อไปนี้ญาติโยมต้องช่วยตัวเองแล้วนะ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปะโร สิยา – ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้” อาตมาเองก็จะไปในวันนี้แล้ว”       

         “หลวงพ่อจะไปไหนคะ” สตรีผู้หนึ่งถาม

         “ไปตาย” ท่านเจ้าของกุฏิตอบยิ้ม ๆ

         “หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ลูกศิษย์ลูกหาใจฝ่อหมด อย่าพูดเล่นอย่างนั้นเลยครับ ผมขอร้อง” บุรุษผู้มาถึงเป็นคนแรกที่เข้าใจว่าท่านพูดเล่น

         “อาตมาพูดจริง ๆ นะ เมื่อเช้ามืด เจ้ากรรมนายเวรเขามาทวงแล้ว อาตมาเคยหักคอนกเป็นสิบ ๆ ตัว แล้วก็รับจ้างต้มเต่า วันนี้เที่ยงสี่สิบห้าต้องรถคว่ำคอหักตาย” คนฟังพากันตระหนก สตรีวัยกลางคนแนะนำว่า

         “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อก็อย่าออกไปไหนซีคะ อย่าไปขึ้นรถ จะได้ไม่ต้องรถคว่ำ”

         ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกโยม นี่จะมาแนะนำให้อาตมาโกงเสียแล้ว โกงใครไม่โกง จะให้โกงกฎแห่งกรรม อาตมาทำไม่ได้หรอกโยม”

         “แล้วหลวงพ่อไม่เสียใจ ไม่เสียดายชีวิตหรือครับ” บุรุษอีกผู้หนึ่งถาม

         “เสียดายทำไมเล่าโยม คนที่เสียดายชีวิต แสดงว่า เขายังไม่เข้าใจคติแห่งความตาย การตายก็เหมือนการย้ายบ้าน คนที่ทำกรรมดีไว้มากก็จะได้ย้ายไปอยู่บ้านที่ดีกว่าหลังเก่า คือสะดวกสบายกว่า แต่คนที่ทำชั่วอาจจะต้องย้ายไปอยู่บ้านในนรก สำหรับอาตมาคงจะได้ไปอยู่บ้านที่ดีกว่านี้ จะนอนตื่นสักเที่ยงวัน เพราะไม่ต้องลงรับแขก” คราวนี้คนฟังหัวเราะ

         “แล้วกัน มาหัวเราะเยาะกันเสียแล้ว นี่อาตมาพูดจริง ๆ นะ บ้านนี้หาความสุขไม่ได้เลย ต้องทำงานหนักแสนหนัก จนแทบไม่มีเวลากินเวลานอน”

         “หนูไม่เคยเห็นใครเป็นแบบหลวงพ่อเลยค่ะ” หญิงสาวอายุน้อยที่สุดพูด “ขนาดรู้ว่าจะต้องตาย แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจ กลับทำหน้าที่ได้ตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

         “นี่ พูดอย่างนี้แสดงว่ายังไม่เข้าใจ อุตส่าห์เปรียบเทียบให้ฟังก็แล้ว เอาอย่างนี้นะ สมมุติว่าหลวงพ่อเป็นข้าราชการชั้นโท แล้วอีกสองสามชั่วโมงข้างหน้า เขาจะเลื่อนให้เป็นชั้นเอก หลวงพ่อต้องมานั่งเศร้าโศกเสียใจหรือเปล่า หนูตอบมาซิ”

         “หลวงพ่อจะแน่ใจได้อย่างไรล่ะคะ เขาอาจจะลดลงไปเป็นชั้นตรีก็ได้” หญิงสาวยังคลางแคลง

         “ไม่ต้องห่วงหรอกหนู หลวงพ่อรับรองว่าจะไม่เป็นอย่างที่หนูคิด ถ้าหนูอยากรู้จริง ก็ต้องมาเข้ากรรมฐาน ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อใดเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง เมื่อนั้นความลังเลสงสัยก็จะหมดไป”

         “ก็หลวงพ่อจะไปแล้วใครจะมาสอนหนูล่ะคะ หลวงพ่อมีตัวแทนที่สามารถทำหน้าที่แทนหลวงพ่อได้ทุกอย่าง มีหรือเปล่าคะ”

         “ไม่มีหรอกหนู ถ้าจะให้หาแบบนั้นหาไม่ได้แน่ เพราะไม่มีใครจะเหมือนกันไปหมดทุกอย่าง แม้แต่ฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกัน จิตใจยังต่างกัน”

         “ถ้าเป็นอย่างนั้น คนคงไม่มาวัดนี้อีก ที่เขามาก็เพราะศรัทธาในหลวงพ่อ ไม่มีหลวงพ่อเสียแล้ว หนูเองก็คงไม่มา หนูพูดจริง ๆ นะคะ”

         “หนูอย่าไปยึดที่ตัวบุคคลซีจ๊ะ การเข้าวัดก็เพื่อมาแสวงหาธรรมะ แต่บางคนเข้าวัดเพราะไปชอบสมภาร ยิ่งสมภารหนุ่ม ๆ โอ้โฮ สาวแก่แม่หม้ายติดกันเกรียวเลย แบบนี้รับรองไม่ได้บุญ เอาละ ถึงแม้จะไม่มีอาตมาอยู่ในวัดนี้อีกต่อไป ญาติโยมก็ควรจะมาเข้ากรรมฐาน หอประชุมมีพร้อมแล้ว คนสอนก็มีแล้ว คือพระบัวเฮียว แล้วท่านก็สามารถเข้าผลสมาบัติได้ ซึ่งแปลว่า ท่านมีคุณธรรมสูงพอที่จะสอนคนอื่น ๆ ได้” ท่านแจ้งให้ญาติโยมทราบเกี่ยวกับพระบัวเฮียว

         “แสดงว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลใช่ไหมครับหลวงพ่อ เพราะผู้ที่จะเข้าผลสมาบัติได้ จะต้องเป็นพระอริยบุคคล ผมว่าอย่างน้อย ๆ ท่านต้องเป็นพระโสดาบัน ใช่ไหมครับ” ชายหนุ่มถาม

         “ก็คงจะเป็นอย่างนั้น”

         “ถ้าเช่นนั้น ผมจะมาเรียนกรรมฐานกับท่าน ผมแสวงหาพระอริยบุคคลมานานแล้ว ขอกราบเรียนตามตรงว่า ผมเริ่มจะเบื่อพระ เพราะเจอแต่ประเภทที่สอนเก่ง แต่ปฏิบัติไม่ได้ อย่างเช่น พระรูปหนึ่งซึ่งผมเคยศรัทธาท่านมาก หากเอ่ยชื่อ ผมว่าใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก ท่านสอนเก่ง สอนออกวิทยุกระจายเสียงทุกวัน แต่เบื้องหลังชั่วร้ายอย่าบอกใคร เปรอะไปหมดทั้งเรื่องเหล้าเรื่องผู้หญิง เห็นว่าท่านมีเงินเป็นร้อย ๆ ล้าน แต่ผมเชื่อว่า เงินช่วยให้ท่านพ้นจากขุมนรกไม่ได้แน่ นับวันพระประเภทนี้จะมีมากขึ้นนะครับ” แม้จะรู้ว่าบุรุษนั้นพูดความจริง หากท่านพระครูก็จำต้องวางอุเบกขา ท่านพูดตัดบทว่า

         “กรรมของเขาน่ะโยม อย่าไปสนใจเรื่องของคนอื่นเลย พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน ๔ ให้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งล้วนแต่อยู่ในตัวเราทั้งสิ้น อย่าเอาเรื่องนอกตัวเข้ามา แค่แบกขันธ์ ๕ ของตัวเอง ก็ทุกข์พอแล้ว อย่าเอาขันธ์ ๕ ของคนอื่นมาแบกอีกเลย ๕ ขันธ์หนักพอแล้ว อย่าไปเอา ๑๐ ขันธ์เลย” ท่านเปรียบเทียบตลก ยังผลให้คนฟังอมยิ้ม

         “วันนี้หลวงพ่อจะไปไหนหรือคะ” สตรีวัยกลางคนถามขึ้น

         “ไปบรรยายธรรมที่ วัดกวิศาวราราม จังหวัดลพบุรี เขาจะส่งรถมารับ” ท่านพระครูตอบ นายสมชายไม่ได้ทำกรรมมากับท่าน จึงไม่ต้องไปร่วมชะตากรรมในครั้งนี้

         เวลาสิบเอ็ดนาฬิกา นายแพทย์สมมิ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัด พาครอบครัวมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรวัดป่ามะม่วง เขามิได้มานิมนต์ไว้ล่วงหน้า ด้วยต้องการจะให้เป็น “สังฆทาน” อย่างสมบูรณ์แบบ

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงฉันภัตตาหารได้มากกว่าทุกครั้ง ยังผลให้ญาติโยมปลาบปลื้มใจ เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน ฉันเสร็จท่านถือโอกาสแสดงพระธรรมเทศนา เพราะต้องการสงเคราะห์ญาติโยมเป็นครั้งสุดท้าย โยมผู้หญิงคนหนึ่งแอบนินทาท่านว่า “แหมหลวงพ่อท่านไม่ยอมหายใจทิ้งเลยนะ ทุกเวลานาทีของท่านช่างมีค่าเสียจริง” แม้จะกระซิบเบา ๆ หากผู้ถูกนินทาก็ได้ยิน ท่านพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า

         “คนที่หายใจทิ้งเป็นคนไม่มีประโยชน์ ไม่สมควรจะมีชีวิตอยู่ เปลืองออกซิเจนเปล่า ๆ”

คนฟังพากันยิ้มทั้งที่ในอกสุดแสนเศร้า ด้วยรู้ว่า อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าพวกเขาจะต้องสูญเสียปูชนียบุคคล เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

         แม้จะเป็นการเทศน์ครั้งสุดท้าย หากคนฟังก็มิได้ตั้งใจฟังเท่าที่ควร ด้วยมัวกังวลกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เทศน์จบ ท่านพระครูบอกญาติโยมว่า “เดี๋ยวอาตมาจะต้องไปบรรยายธรรมที่วัดกวิศ แต่จะไปไม่ถึง เพราะจะเกิดอุบัติเหตุรถชนคอหักตายเวลาเที่ยงสี่สิบห้า อาตมาตั้งใจจะออกจากวัดเที่ยงครึ่ง จะได้ไม่ต้องไปตายไกลวัด เขาจะได้เอาศพกลับได้สะดวก” ท่านพูดด้วยสีหน้าท่าทางปกติ

         “อยากรู้ไหมว่า ทำไมอาตมาถึงต้องตายในวันนี้” ท่านถาม ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ ด้วยต่างก็ทำใจไม่ได้ ทั้งสงสารทั้งเสียดายปูชนียบุคคลเช่นท่าน

         “เอาละ ไม่อยากรู้ก็ไม่เป็นไร แต่อาตมาอยากเล่า ญาติโยมจะได้เก็บไปคิดเป็นการบ้าน จะได้เชื่อว่าเวรกรรมนั้นมีจริง” เห็นคนฟังหน้าตาเศร้าสร้อย ท่านจึงพูดขึ้นว่า

         “ญาติโยมที่รักทั้งหลาย คนที่กำลังจะตายคืออาตมานะ ไม่ใช่ญาติโยม ทำไมต้องทำหน้าหมดอาลัยตายอยากกันอย่างนั้น” สตรีวัยกลางคนถึงกับปล่อยโฮ พูดละล่ำละลักว่า

         “ถ้าอีฉันตายแทนหลวงพ่อได้ อีฉันยอมตายจริง ๆ ชีวิตอีฉันหาประโยชน์มิได้ อยู่ไปก็เปลืองออกซีเจนอย่างหลวงพ่อว่า” ท่านพระครูยิ้มเพราะขำในถ้อยคำของหล่อน คนอื่น ๆ ก็ทำหน้าปั้นยาก จะยิ้มก็ไม่ใช่ร้องไห้ก็ไม่เชิง

         “เอาละ ๆ ขอบใจที่จะตายแทนอาตมา แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทำกรรมแทนกันไม่ได้หรอกโยม ที่อาตมาต้องตายในวันนี้ก็เพราะ กรรมที่เคยหักคอนกกับรับจ้างต้มเต่า ตอนยิงนกนั่นอยู่มัธยมสาม อยู่กับยาย เวลาไปโรงเรียนก็ไม่เข้าเรียน แต่หนีครูไปเที่ยวยิงนกตกปลา แอบขโมยปืนแก๊ปของตาไป แล้วอาตมาก็มีความสามารถในการก่อกรรมทำเข็ญมาก เรียกว่าทำบาปขึ้น ยิ่งปืนแม่น เปรี้ยงเดียวนกเป็ดน้ำร่วงมาเป็นร้อยเลย ใครอยากรู้เทคนิคการยิงก็มาถามได้ เดี๋ยวอาตมาตายแล้วจะไม่มีใครบอก” ท่านพูดยิ้ม ๆ ทว่าคนฟังกลับยิ้มไม่ออก

         “ไม่มีใครถามหรือ งั้นอาตมาก็จะไม่บอก ให้วิชานี้มันตายตามอาตมาไปก็แล้วกัน” ท่านพูดเล่นเพราะหากมีผู้ถามขึ้นมาจริง ๆ ท่านก็จะไม่บอก เพราะสมณะย่อมไม่แนะนำบุคคลไปในทางชั่ว

         “ก็รวบรัดตัดใจความได้ว่า อาตมาเป็นแชมป์ยิงปืน แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็หนีไปยิงนกอีก พอลั่นไกเปรี้ยงนกก็ร่วงลงมาทั้งฝูง แต่มีตัวหนึ่งมันไม่ยอมตาย แค่ปีกหักบินไม่ได้ ความรักชีวิตทำให้มันวิ่งหนี อาตมาก็วิ่งตาม พอจับตัวได้มันก็จิกมืออาตมาเลือดพุ่งเลย ด้วยความโกรธ อาตมาหักคอมันทันที แถมถลกหนังหัวมันอีกด้วย ตอนนั้นเป็นคนจิตใจเหี้ยมโหดมาก เสร็จแล้วก็โยนทิ้ง มันยังดิ้นกระแด่ว ๆ และคงจะอาฆาตพยาบาทอาตมากระทั่งมันสิ้นใจ

         ส่วนเรื่องต้มเต่านั้น ทำตอนอยู่มัธยมหนึ่ง แล้วก็ใช้หนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ แต่เจ้ากรรมนายเวรเขาบอกตอนนั้นมันแค่เงินต้น วันนี้เขาจะคิดดอกเบี้ย แหมขนาดใช้หนี้กรรมก็ยังต้องใช้ทั้งต้นทั้งดอก นะโยมนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับโยมคนหนึ่ง แล้วเล่าต่อ “เรื่องมีอยู่ว่า พวกขี้เมาเขาเกิดอยากจะกินเต่าแกล้มเหล้า ก็ไปซื่อเต่ามา ๗ ตัว แล้วจ้างอาตมาต้ม ให้ค่าจ้างหนึ่งบาท

         “บาทเดียวเองหรือคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งถาม

         “บาทเดียวน่ะมากแล้วนะโยม สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละสามสตางค์ เงินหนึ่งบาทซื้อก๋วยเตี๋ยวกินได้หนึ่งเดือนกับสามวัน อาตมาเอาเงินเขามา แล้วก็จัดการก่อไฟ เอาหม้อดินใบใหญ่ใส่น้ำขึ้นตั้งบนเตา พอน้ำเดือดก็เทเต่าเจ็ดตัวลงไป เต่ามันดิ้นใหญ่ คงจะสามัคคีกันดิ้น เพราะหม้อแตกเลย พอหม้อดินแตก มันก็พากันตะเกียกตะกายหนีเอาตัวรอดเข้ากอไผ่ไป โยมเชื่อไหม น้ำตามันไหลพราก ๆ แล้วมันก็ใช้สองขาหน้าปาดน้ำตา ที่โบราณเขาเปรียบเทียบว่า ร้องไห้น้ำตาเป็นเผ่าเต่า อาตมาก็เพิ่งประจักษ์ตอนนั้นแหละ เห็นแล้วรู้สึกทุเรศนัยน์ตา เลยปล่อยให้มันหนีไป พวกขี้เหล้าเขาก็โกรธ จะเอาค่าจ้างคืน อาตมาก็ไม่ยอมคืนให้ เลยไปลักปลาเค็มป้ามาปิ้งให้เขากินแทนเต่า โดนป้าด่าแหลกเลย นี่แหละกรรมที่อาตมาทำไว้ในวัยเด็ก แล้วก็กำลังจะไปใช้หนี้อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า” ขณะนั้นเวลาเที่ยงครึ่ง รถที่ทางวัดกวิศาวรารามส่งมารับนั้นรออยู่แล้ว

         “เอาละ อาตมาเห็นจะต้องลา ขอให้ญาติโยมจงหมั่นเจริญกรรมฐาน ถ้าใครคิดถึงอาตมา ก็ให้ปฏิบัติมาก ๆ เอาละ ขอให้โชคดีมีความสุขทุก ๆ คนนะโยมนะ”

         รถที่มารับท่านพระครูเป็นรถสองแถวเก่า ๆ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งหน้าคู่กับคนขับ ส่วนอุบาสกในชุดนุ่งขาวห่มขาวที่มาด้วย ได้ย้ายมานั่งข้างหลัง รถแล่นออกจากวัดตรงไปยังถนนสายเอเชีย เมื่อถึงทางแยกเข้าจังหวัดลพบุรี คนขับจึงชิดขวาเตรียมตัวเลี้ยว ถนนฝั่งตรงข้ามมีรถวิ่งมาหลายคัน จึงต้องหยุดรอจังหวะที่จะเลี้ยว

         ขณะนั้น รถทัวร์ของบริษัททันจิตวิ่งแซงรถคันอื่นมาด้วยความเร็วสูงถึง ๑๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนขับมองไม่เห็นรถสองแถวที่เปิดไฟเลี้ยวขวาอยู่ข้างหน้า จึงชนโครมเสียงดังก้องราวกับฟ้าถล่ม ร่างของภิกษุวัยห้าสิบเศษ กระเด็นออกจากตัวรถในลักษณะถลาร่อนดุจเดียวกับนกที่ถูกยิง ลอยละลิ่วไปตกลงบนพื้นถนน ห่างจากตัวรถถึงยี่สิบวา คอหักพับลงมาถึงราวนม หนังศีรษะเปิดตั้งแต่หน้าผากถึงท้ายทอย ท่านพระครูเจริญได้ชดใช้กรรมของท่านอย่างกล้าหาญที่สุด เมื่อเวลาสิบสองนาฬิกาสี่สิบห้านาที ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑.

 

            จบบริบูรณ์

 


หัวข้อ: Re: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ มิถุนายน 11, 2012, 09:18:26 PM
สาธุกับท่าน ช่างเล็กๆ(LSV) ที่นำข้อมูลและเรื่องราวดีๆมีประโยชน์มาฝากครับ