พิมพ์หน้านี้ - "บวร"บ้าน-วัด-โรงเรียน สามประสานสร้างคุณธรรม

LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่21"

นานาสาระ => การศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2008, 07:18:21 AM



หัวข้อ: "บวร"บ้าน-วัด-โรงเรียน สามประสานสร้างคุณธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: แวมไพร์-LSVteam♥ ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2008, 07:18:21 AM
"บวร"บ้าน-วัด-โรงเรียน สามประสานสร้างคุณธรรม

(http://www.matichon.co.th/khaosod/images/ks.gif)

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/edu01220251p1.jpg)

แต่เดิมแนวคิดทางการศึกษาของไทยจะผูกพันกันระหว่าง "บ้าน-วัด-โรงเรียน" ที่จะให้ทั้งความรู้ และอบรมคุณธรรมแก่เด็ก โดยแนวคิดนี้ถูกเรียกว่า "บวร"

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาระดับคุณธรรมในเยาวชน และสังคม ลดลงจนน่าใจหาย เกิดการกระทำที่ขาดความยั้งคิด กลายเป็นคดีความมากมาย ทำให้แนวคิดเรื่องการจัดการศึกษาแบบ "บวร" ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้คำว่า "บวร" หรือ บ้าน วัด โรงเรียน จึงได้ถูกนำกลับมาสนใจอีกครั้ง ผ่านทัศนคติของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาชีพ และด้านจิตใจจากหลายองค์กร ที่นำเสนอในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "การฝึกนิสัยผ่าน "บวร" ทางออกของปัญหาคุณธรรมเยาวชน" ในงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม

น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ปัญหาที่พบในวัยรุ่นนั้นมีอยู่ 4 ปัญหาหลักคือ ความรุนแรง เพศ ยาเสพติด และ การฆ่าตัวตาย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าวัยรุ่นก่อปัญหาวันหนึ่งเฉลี่ยร้อยละ 1.3 เช่น วัยรุ่นช่างกลยกพวกตีกัน วัยรุ่นยิงกันบนรถเมล์ ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขของเด็กในสถานพินิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และที่น่าตกใจคือ เราพบว่าวัยรุ่นไทยมีเซ็กซ์ เฉลี่ยช่วงอายุน้อยที่สุดในโลก ซึ่งการแก้ปัญหาเราใช้แนวคิดของ "บวร" คือ บ้าน วัด โรงเรียน กล่าวคือครอบครัวปัจจุบันอาจดูเหมือนมีความสมบูรณ์ทางกายภาพ คือ เสมือนมีพ่อ แม่ ลูก อยู่ในบ้าน แต่ในทางจิตใจแล้วไม่สมบูรณ์ คือ พ่อแม่ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว การทำงานมากกว่าลูก คิดว่ามีเงิน มีโรงเรียนดีๆ พาไปเรียนพิเศษให้เกรดผ่านก็สมบูรณ์แล้ว

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/edu01220251p2.jpg)

"พ่อแม่เลี้ยงลูกจริง แต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูก ต่างคนต่างอยู่ ทำให้เด็กไม่มีวงจรการเรียนรู้ ฉะนั้นสถานศึกษาจึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากการปลูกฝังสิ่งที่ดีแล้ว ยังเป็นเหมือนบริบทมาทดแทนครอบครัวด้วย หากโรงเรียนยังหวังเพียงแต่ให้เด็กสอบผ่านชั้นแต่เด็กไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ เรื่องคุณธรรมต่างๆ เช่น การรับผิดชอบ การไม่ลักขโมย สำคัญรองลงไป แต่เน้นที่การสอน การเรียนมากกว่า ในที่สุดคุณธรรมของเด็กจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป วัดก็ถูกแยกออกจากโรงเรียน ดังนั้นชุมชนซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือครอบครัวและโรงเรียนอีกชั้นหนึ่งก็สลายไป"

พระอาจารย์กิตติ กิตติญาโณ ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เมตตาให้หลักในการแก้ปัญหาเยาวชนผ่านหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ว่า ต้องเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ นิสัย หรือพฤติกรรมเคยชิน ที่เราทำซ้ำๆ ทำเป็นประจำ ซึ่งเกิดจากการย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ผ่านการใช้ปัจจัย 4

"โดยฝึกจาก 5 ห้องแห่งชีวิต คือ ห้องที่ทุกคนใช้ตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องแต่งตัว ห้องทำงาน ซึ่งถ้าสร้างนิสัยที่ดีให้เกิดจาก 5 ห้องนี้ได้ ก็จะเป็นโรงเรียนบ่มเพาะนิสัยที่ดี เพราะห้องเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์หากทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เช่น ห้องนอนไม่ใช่แค่เอาไว้นอนแต่เอาไว้ใช้สอนนิสัยที่ดี เช่น การกราบเท้าพ่อแม่ก่อนนอน สอนความกตัญญู หรือการสวดมนต์ก่อนนอน สอนเรื่องความเห็นที่ถูกต้อง ในทางตรงข้ามถ้าปลูกฝังให้เด็กคิดว่าห้องนอนเอาไว้เล่นเกม เอาไว้ติดรูปดารา เด็กจะนอนไปกับสิ่งที่ไม่ได้สอนตัวเองในแต่ละวันเลย"

(http://www.matichon.co.th/news-photo/khaosod/2008/02/edu01220251p3.jpg)

อาจารย์วนิดา สุริยากุลพานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการบูรพา ให้ทรรศนะว่า "ทฤษฎี 21 วัน เปลี่ยนนิสัย" ของศ.ดร.แม็กซ์เวล มอลต์ ศัลยแพทย์ชาวอเมริกา ที่ศึกษาคนไข้ พบว่า คนไข้สามารถเปลี่ยนค่านิยมหรือพฤติกรรมของตนเองได้ หากทำอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 21 วัน คือแม่แบบสำคัญที่เรานำมาใช้ในการออกแบบงานวิจัย

ทางมหาวิทยาลัยบูรพา นำโดย ผศ.ดร.วัชรา ภรณ์ เขื่อนแก้ว ร่วมกับโรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี ได้ทดลองนำร่องกิจกรรม 3-TO-1 หรือการฝึกนิสัยให้มีคุณสมบัติ 3 อย่าง ตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ วินัย เคารพ และอดทน ภายใน 3 สัปดาห์ โดยทดลองให้เด็กในระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนชลกันยานุกูลปฏิบัติ วัตถุประสงค์เพื่อทดสอบว่ากิจกรรม 3-TO-1 นี้ จะสามารถสร้างนิสัยให้เด็กมีคุณสมบัติดังกล่าวได้หรือไม่ และมีความเหมาะสมสำหรับเยาวชนหรือไม่อย่างไร ซึ่งผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่าร้อยละ 78.80 ของกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงนิสัยที่ดีขึ้น ทั้งด้านความมีวินัย ความเคารพ และความอดทน

อาจารย์สิริพร เฉลิมวิสุตม์กุล อาจารย์โรง เรียนชลกันยานุกูล กล่าวเสริมว่า ทางโรงเรียนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรมในหมู่นักเรียนและเห็นด้วยในการใช้บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน ในการร่วมกันแก้ปัญหา โดยจากบทฝึกนิสัยที่เราทดลองอยู่ เราแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหวาน เป็นนักเรียนที่มีความประพฤติดีอยู่แล้ว กลุ่มอมเปรี้ยวอมหวาน คือเด็กที่มีพฤติกรรมกลางๆ และสุดท้าย กลุ่มเปรี้ยว คือ กลุ่มที่มีความประพฤติไม่ดี ซึ่งเราได้นำเด็กอมเปรี้ยวอมหวาน มาเป็นกลุ่มตัว อย่างในการทดลอง ผลที่ได้ คือ นอกจากเด็กจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้วยังสามารถลดความขัดแย้งและช่องว่างระหว่างครอบครัวของเด็กเอง หรือแม้แต่โรงเรียนที่บางครั้งเด็กเกิดความขัดแย้งกับครู นำมาซึ่งการแสดงออก เช่น การทำร้ายข้าวของ ทำร้ายคุณครู ซึ่งความขัดแย้งเล็กๆ ไม่ช้าก็จะลุกลาม แต่การใช้การทดลองให้เด็กทำกิจกรรม 3-TO-1 พบว่าเด็กเข้าใจครูและพ่อแม่ดีขึ้น

คุณญาณิศา มณีเขียว ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนชลกันยานุกูล กล่าวว่า จากการที่ตัวเองเป็นคนรักครอบครัว รักพ่อแม่ และสามีก็เป็นคนดี พอมีลูกเราก็เชื่อว่า เมื่อพ่อดีแม่ดี ลูกก็น่าจะเป็นคนดี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราเลี้ยงลูกมาอย่างดี ตั้งแต่เล็ก แต่พอขึ้นมัธยมลูกเปลี่ยนไป พูดจาไม่ดี แยกตัวไปอยู่คนเดียว แต่หลังจากที่ลูกได้ร่วมกิจกรรม 3-TO-1 แล้วก็เปลี่ยนไป ตัวกิจ กรรมมีการกระตุ้นให้เราพ่อแม่ลูก ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การที่ต้องส่งลูกเข้านอน และลูกก็จะกราบเท้าเรา ทำให้เราในฐานะพ่อแม่ต้องกลับมานั่งทบทวนตัวเองและปฏิบัติตัวเป็นต้นแบบให้ลูกเห็น

เมื่อ "บวร" หรือ บ้าน วัด โรงเรียน สามประสาน มาร่วมมือกันสร้าง "นิสัย" ที่ดีให้เยาวชนและคนในชุมชนได้ เยาวชนนั้นก็จะกลับมาพัฒนาชุมชนของตนให้เข้มแข็ง กลายเป็นวงจรคุณธรรมที่จะขยายวงกว้างจากหนึ่งชุมชน สู่สองชุมชนและหลายร้อยชุมชน จนกลายเป็นสังคมใหญ่ที่เข้มแข็ง

เมื่อนั้นคนไทยคงไม่ต้องปวดใจกับข่าวร้ายที่เกิดขึ้นรายวันอย่างตอนนี้อีกต่อไป